ฉบับที่ 270 ‘บัญชีรายรับ-รายจ่าย’ ทำเถอะ ดีต่อเงินของเรา

        คนที่เริ่มศึกษาการจัดการการเงินส่วนบุคคล เรื่องแรกๆ ที่มักได้รับคำแนะนำจากโค้ชการเงินหรือหนังสือหนีไม่พ้นการรู้จักตนเอง การวางเป้าหมาย บลาๆๆ และที่ขาดไม่ได้คือการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่มักถูกมองข้ามเพราะรู้สึกยุ่งยาก ไม่เข้าใจ แล้วก็ชอบลืม 
        ก็แค่ใช่จ่ายประหยัดๆ กับแบ่งเงินไปออม ไปลงทุนไม่ได้รึไง? ได้ แต่ไม่ค่อยเวิร์ค เวลาที่บอกว่าใช้จ่ายประหยัดบางทีก็ไม่รู้ว่าเราประหยัดจริงหรือเปล่า เงินส่วนใหญ่หมดไปกับอะไรบ้าง เอาเงินไปออมแล้วมีเงินเหลือใช้จ่ายเท่าไหร่ ฯลฯ 
        บัญชีรายรับ-รายจ่ายครัวเรือนเลยคล้ายๆ งบการเงินของบริษัทที่คอยบอก คอยเตือนเราว่าตอนนี้ใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือยเยอะไปแล้ว ตอนนี้สภาพคล่องเหลือเฟือจะทำยังไงกับเงินที่เหลือดี เป็นต้น มันคอยช่วยบอกพฤติกรรมการใช้เงินของเราว่ายังอยู่ในลู่ในทางที่นำไปสู่เป้าหมายทางการเงินของเราหรือเปล่า 
        ปัญหาต่อมาคือแล้วจะทำบัญชียังไง อันนี้ก็ไม่ยาก เพราะเดี๋ยวนี้มีแอปพลิเคชั่นมากมายสำหรับช่วยทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงิน เป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องไปเลือกว่าแอปไหนเหมาะกับตัวเอง 
        เรื่องที่ต้องรู้คือรายรับ-รายจ่ายต่างหาก เราต้องรู้ว่ารายรับในแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง อะไรไม่ใช่รายรับ ตรงกันข้ามแล้วรายจ่ายล่ะคืออะไร อย่าสับสนเป็นอันขาด เพราะบัญชีรายรับ-รายจ่ายเป็นตัวช่วยบอกสภาพคล่องทางการเงินของคุณ 
        ยกตัวอย่าง คุณคิดว่าเงินออมเป็นรายรับหรือรายจ่าย เอาล่ะสิ ถึงตรงนี้ชักเริ่มสับสน เงินที่เราเอาไปฝากธนาคารไว้หรือลงทุนในสินทรัพย์ก็ยังอยู่กับเรา มันก็น่าจะเป็นรายรับสิ ผิด มันคือรายจ่าย เพราะมันคือเงินสดที่เราจ่ายออกไปจากกระเป๋า เหมือนสมการที่นำเสนอกันว่า รายรับ-เงินออม-รายจ่าย=เงินคงเหลือ แม้เงินออมจะไม่ใช่รายจ่าย แต่ก็เป็นเงินที่เรานำออกไปและมีผลต่อสภาพคล่อง 
        แล้วถ้าเดือนนั้นเราใช้จ่ายมือเติบ ชักหน้าไม่ถือหลัง เลยยืมเงินเพื่อนมา อันนี้ถือเป็นรายรับที่เข้าเพิ่มสภาพคล่องซึ่งมีภาระต้องจ่ายคืนทีหลัง แล้วตอนที่จ่ายคืนนั่นแหละมันคือรายจ่าย 
        ในเว็บของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand) หรือ SET แบ่งรายจ่ายเป็น 3 ส่วน คือค่าใช้จ่ายเพื่อการออมและการลงทุน ค่าใช้จ่ายคงที่ และค่าใช้จ่ายผันแปร 3 อย่างนี้แตกต่างกันอย่างไร ไม่เฉลย 
        ลองไปค้นหาคำตอบด้วยตัวเองดู ในเว็บยังแนะนำวิธีทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายด้วย รู้แล้วก็ทำซะ

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

0 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค เงิน การเงิน ลงทุน รายรับ เงินออม รายจ่าย เงินคงเหลือ

ฉบับที่ 279 ‘ออมทอง’ vs ‘กองทุนทอง’ (2) เลือกแบบไหนดี

        รู้แล้วว่าไม่ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ก็สามารถซื้อทองเก็บไว้เป็นสินทรัพย์ทางเลือกเพื่อลดความผันผวนของพอร์ตได้         แต่ที่ไม่แน่ใจคือจะซื้อในรูปแบบไหน? จะออมทองจนได้น้ำหนักตามเกณฑ์แล้วเปลี่ยนเป็นทองคำจริงมาเก็บไว้ หรือจะซื้อกองทุนทองที่ไม่ได้จับต้องทองคำสักบาทดี ...คงต้องตอบว่าแล้วแต่ความชอบหลังจากพิจารณาว่าแบบไหนเหมาะกับเรามากที่สุด         ปัจจุบัน ร้านทองขนาดใหญ่หลายแห่งเปิดบริการออมทองแก่ผู้สนใจ จะออมหลักร้อยหรือหลักพันขึ้นกับว่าร้านทองนั้นๆ กำหนดกติกาอย่างไร ผู้ออมก็สร้างวินัยในการออม ส่วนจะได้ทองคำปริมาณเท่าไหร่ขึ้นกับราคาทอง ณ วันที่ซื้อขาย ผู้ออมทองจึงสามารถซื้อขายเพื่อเก็งกำไรจากส่วนต่างได้ โดยทองคำที่ออมมักเป็นทองคำแท่งมากกว่าทองรูปพรรณ เนื่องจากอย่างหลังต้องบวกค่ากำเหน็จเพิ่มเข้าไปด้วย ซึ่งคุณคงไม่ได้ต้องการลวดลายความสวยงามอะไรจากการออมทองอยู่แล้ว         พอถึงเกณฑ์คุณสามารถเปลี่ยนเป็นทองคำแท่งมาเก็บไว้ หรือจะเปลี่ยนเป็นเงิน หรือจะให้ที่ร้านทองเก็บไว้ก็ได้ เพราะการเอาทองคำแท่งออกมาครอบครองย่อมมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย แต่ก่อนจะทำการออมคุณต้องเช็คให้ชัวร์ว่าร้านทองที่คุณออมด้วยมีความน่าเชื่อถือและต้องเช็คด้วยว่าเป็นร้านทองจริงๆ ไม่ใช่มิจฉาชีพปลอมตัวมาเป็นร้านทอง         ส่วนการลงทุนผ่านกองทุนรวมก็มีข้อดีคล้ายๆ กันตรงที่ว่าใช้เงินน้อย ทยอยออมได้ตามกำลัง จุดต่างอยู่ว่ากองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนดูแลให้สำหรับคนที่ไม่มีเวลาคอยตามราคาทองคำ ไม่มีทองคำแท่งออกมาให้เก็บแล้วกลัวขโมยขึ้นบ้าน นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีกองทุนรวมทองคำประเภทลดหย่อนภาษีได้ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการวางแผนภาษี         จุดต่างอีกประการหนึ่งคือกองทุนรวมทองคำจะอิงตามมูลค่าในตลาดทองคำโลก เมื่ออิงกับโลกย่อมต้องมีเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเกี่ยวข้องเสมอ ผู้ที่ลงทุนในกองทุนทองคำอาจต้องทำความเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงในจุดนี้ให้ได้         ส่วนในแง่ความสะดวกสบาย จะออมทองหรือกองทุนรวมทองคำเดี๋ยวนี้สามารถทำผ่านแอปพลิเคชั่นได้แล้ว ไม่ยุ่งยาก ดังนั้น ถ้าเลือกได้แล้วก็ลงมือเลย

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 279 สหรัฐอเมริกาติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วรวมกว่า 5 ล้านชุด!

        เรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่กว้างมาก ครอบคลุมทุกมิติของชีวิตเราตั้งแต่เรื่องค่าใช้จ่ายในครัวเรือนไปจนถึงคุณภาพอากาศที่เราหายใจเข้าไปและรวมถึงเรื่องสงครามด้วย เพราะสงครามส่วนมากเกิดจากการแย่งชิงแหล่งพลังงานกัน แต่ผมมักจะหยิบเอาเรื่องโซลาร์เซลล์มาเขียนถึงบ่อยๆ ใน “ฉลาดซื้อ” ก็เพราะเชื่อว่า ผู้บริโภคสามารถลงมือปฏิบัติได้ด้วยตนเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น ถ้ามีความพร้อม คือ มีเงินสะสม มีบ้าน ก็ควรจะลงทุนได้เลย มันคุ้มมาก ยิ่งเป็นผู้ที่อยู่บ้านในเวลากลางวันยิ่งคุ้มทุนได้เร็วขึ้น ถ้าไม่มีเงินพอก็ไปกู้ธนาคารดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีก็ยังคุ้ม และถ้าใครยังไม่พร้อมอีกก็ควรร่วมกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้คนอื่นได้รับผลประโยชน์ ตลอดจนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กำลังก่อปัญหาโลกร้อนอย่างรุนแรงมากในวันนี้ และจะยิ่งรุนแรงขึ้นกว่านี้อีกในอนาคต ในเมื่อรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ยังไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องพลังงานทั้งๆ ที่แทบทุกพรรคในรัฐบาลชุดนี้ได้หาเสียงกับประชาชนไว้แล้วในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2566 เช่น จะแจกโซลาร์เซลล์ฟรีบ้างละ จะส่งเสริมโดยการใช้ระบบหักลบหน่วยไฟฟ้า(Net Metering) ระหว่างบ้านที่ติดโซลาร์เซลล์กับการไฟฟ้าบ้างละ เป็นต้น         บทความในครั้งนี้ผมจึงขอนำความก้าวหน้าด้านนโยบายโซลาร์เซลล์ของประเทศสหรัฐอเมริกามาเล่าสู่กันฟัง ผมมีอยู่ 2 เรื่อง โดยเริ่มต้นจากข่าวของ “สมาคมอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์(SEIA)” ที่บอกถึงความก้าวหน้าของการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวคือ ในช่วงประมาณ 44 ปีแรก (1973-2016) ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกามีการติดตั้งแล้ว 1 ล้านชุด แต่ในช่วง 8 ปีสุดท้าย (2017-2024) มีการติดตั้งจนครบ 5 ล้านชุดแล้ว คือเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ประธานสมาคมฯได้ให้เหตุผลถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วว่า “โซลาร์เซลล์ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะสัญญาในการส่งไฟฟ้าที่คงเส้นคงวา เพื่อลดค่าไฟฟ้า สนับสนุนการพึ่งตนเองของชุมชนและการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ปัจจุบัน(2024) 7% ของบ้านในสหรัฐอเมริกาได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วและจะเพิ่มเป็น 15% ภายในปี 2030 พลังงานแสงอาทิตยกำลังจะเป็นแหล่งพลังงานไฟฟาที่มากที่สุดในระบบสายส่งของประเทศ ส่งผลให้ชุมชนได้หายใจเอาอากาศที่สะอาดกว่าและนำไปสู่ชีวิตที่มีสุขภาพดีกว่าเดิม”         ผมได้สรุปบางส่วนที่สำคัญและอ้างอิงไว้ในภาพข้างล่างนี้         นอกจากนี้ทางสมาคมฯได้พยากรณ์ว่าจำนวนโซลาร์เซลล์จะเพิ่มเป็น 10 และ 15 ล้านชุด ภายในปี 2030 และปี 2034 ตามลำดับ         สมาคมฯได้ไฮไลท์ข่าวของตนเองว่า “อเมริกาใช้เวลา 50 ปีเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ 5 ล้านชุด แต่คาดว่าจะใช้เวลาอีก 6 ปีเท่านั้นเพื่อให้ถึง 10 ล้านชุด” นี่คือความก้าวหน้าในยุคที่โลกมันเปลี่ยนเร็วมาก เพิ่มในอัตราเร่ง         โซลาร์เซลล์ 5 ล้านชุด สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เทียบเท่ากับการเผาไหม้น้ำมันจำนวนประมาณ 100,000 ล้านลิตร โดยที่น้ำมันจำนวนนี้เพียงพอสำหรับการขับรถยนต์ประเภทเผาไหม้ภายในได้เท่ากับระยะทางไปกลับจากโลกถึงดวงอาทิตย์เกือบ 3,000 เที่ยว เขาว่ามาอย่างนั้นนะ         ข่าวนี้ได้รายงานในตอนท้ายว่า 97% ของจำนวนที่ติดตั้งเป็นภาคครัวเรือน โดยนับถึงสิ้นปี 2023 ภาคครัวเรือนได้ติดตั้งไปแล้วรวม 36,000 เมกะวัตต์ เหตุผลก็เพราะว่า  “โซลาร์เซลล์ภาคครัวเรือนมีอัตราการเติบโตมากเป็นประวัติกาลเพราะได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นการลงทุนที่เจ้าของบ้านสามารถควบคุมรายจ่ายค่าพลังงานของตนได้” สำหรับความก้าวหน้าของบ้านเราไปได้อย่างเชื่องช้ามากๆ ลองไปเปิดดูฉบับก่อนๆ ผมขอไม่กล่าวถึงในที่นี้นะครับ         มาฟังเรื่องที่สองกันต่อนะครับ         ในขณะที่รัฐบาลเศรษฐา ทวีสินกำลังวุ่นหรือหมกมุ่นอยู่กับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาทให้กับประชาชน 50 ล้านคนอย่างเกือบจะไม่จำแนกเลย ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความคุ้มค่าและจำเป็นจากนักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์ทั่วประเทศจำนวนมาก รัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน  ได้ออกมาประกาศเนื่องวันเฉลิมฉลอง “วันคุ้มครองโลก (Earth Day)” เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567  ว่าจะมอบเงินจำนวน 7,000 ล้านดอลลาร์ให้กับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยจำนวนเกือบ 1 ล้านครอบครัวทั่วประเทศ เพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา บ้านและอพาร์ตเมนท์พร้อมกับขยายความว่า “ทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายค่าไฟฟ้าในครัวเรือนได้ปีละประมาณ 400 ดอลลาร์ นาน 25 ปี” (ดูภาพประกอบ)         โครงการนี้เป็นการมอบเงินของรัฐบาลกลางผ่านไปทางองค์การปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Environment Protection Agency) ไปตามรัฐต่างๆรวม 50 รัฐ คิดเป็นจำนวนเงินรวม 7 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้โดยผ่านโครงการที่ชื่อว่า Solar for ALL  ทางโครงการคาดว่า ผู้ได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการจะสามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้อย่างน้อย 20%  เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีโครงการ         โครงการ Solar for ALL เกิดจากกฎหมายฉบับใหม่ที่ออกในสมัยรัฐบาลโจ ไบเดน ที่ชื่อ Inflation Reduction Act (IRA) เมื่อสิงหาคม 2022  โดยผ่านสภาสูงด้วยคะแนนเฉียดฉิว 51 ต่อ 50 เสียง โดยไม่มีใครแตกแถวของพรรคการเมืองเลยแม้แต่คนเดียว วัตถุประสงค์หลักของกฎหมายฉบับนี้มี 4 ด้านด้วยกัน โดยด้านที่ 4 คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามที่รัฐบาลได้แสดงเจตจำนงไว้กับองค์การสหประชาชาติ         สหรัฐอเมริกาเองปล่อยเรือนกระจกมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศจีน รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศเจตจำนงต่อองค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2015 ว่าจะลดการปล่อยก๊าซฯ ลง 26-28% เมื่อเทียบกับระดับปี 2005 ภายในปี 2030 แต่ผ่านมา 8 ปีจนถึงสิ้นปี 2023 เพิ่งลดได้เพียง 17.2% ยังเหลือเวลาอีก 2 ปี ทำได้จริงเกินครึ่งของเป้าหมาย จำนวนผู้ได้รับการแจกโซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นผู้เปราะบางนี้คิดเป็นเพียง 0.67% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ จะได้รับโซลาร์เซลล์คิดเป็นมูลค่าคนละประมาณ 1.2 แสนบาท ในขณะที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตของไทยจำนวนผู้ที่จะได้รับแจกมีจำนวน 50 ล้านคน หรือประมาณ 75% ของจำนวนประชากร  นั่นคือ ทุกๆ 4 คนจะได้รับแจก 3 คนๆละ 10,000 บาท ไม่ว่าจะมีความจำเป็นหรือไม่ก็ตาม โดยต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน หลังจากนั้นก็เอาเงินภาษีของเรานี่แหละไปใช้คืน พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละเท่าใดยังไม่ทราบ         ท่านผู้อ่าน “ฉลาดซื้อ” คิดอย่างไรกับ 2 ข่าวนี้ครับ หากเห็นด้วยก็ลงมือติดตั้งโซลาร์เซลล์และร่วมกันผลักดันเชิงนโยบายเลยครับ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของเรา เพื่ออากาศที่สะอาดกว่าและเพื่อลดโลกร้อนด้วยครับ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 รวมมิตรปัญหา SMS (2)

        มาตรการทางกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องการส่งข้อความสั้น หรือ SMS รบกวนและ/หรือเรียกเก็บเงินนั้น ตามที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ บัญญัติไว้ว่า ให้มี “หลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด” เพื่อให้ กสทช.มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการใดๆ ของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ที่น่าจะเข้าข่าย “เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ”         ตั้งแต่มีการตรากฎหมายดังกล่าวออกมาบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2553 ปรากฏว่าในช่วงหลายปีแรก ทาง กสทช. (ชุดแรก/ชุดที่แล้ว) ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในเรื่องดังกล่าวเลย กระทั่งในปี 2558 ประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. 2558 จึงได้ประกาศออกมา มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กันยายน         อย่างไรก็ตาม ในช่วงสองสามปีแรกที่ประกาศมีผลบังคับใช้ ประกาศซึ่งมักเรียกกันโดยย่อว่า “ประกาศเอาเปรียบฯ” ก็ยังไม่ถูกนำมาใช้ในทางปฏิบัติอีก ในขณะที่ปัญหาลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคในเรื่องการส่งข้อความสั้น หรือ SMS นั้น รุนแรงขึ้นอย่างชัดเจน         กระทั่ง 3-4 ปีหลังมานี้ ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคที่ประสบปัญหา SMS จึงเริ่มมีการใช้ประกาศเอาเปรียบฯ แต่ด้วยความที่ประกาศนี้กำหนดไว้ว่า กรณี กสทช. เห็นว่า “ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมดำเนินการประการใดที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค” สิ่งที่ทำได้ก็คือการมีคำสั่งให้ผู้ประกอบกิจการนั้น “ระงับการดำเนินการดังกล่าวโดยทันที”         จึงเท่ากับว่า ถึงแม้พบกรณีที่เข้าข่ายกระทำความผิดแล้ว ก็ยังลงโทษไม่ได้ ทำได้เพียงสั่งประมาณว่า “หยุดนะ อย่าทำอีก” เท่านั้น         ต้องรอจนกระทั่งคำสั่งไม่เป็นผล คือมีการกระทำแบบเดิมขึ้นอีก คราวนี้ กสทช. จึงจะสามารถ “ปรับ” ได้ ซึ่งประกาศกำหนดเพดานไว้ตามที่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 77 กำหนด นั่นคือไม่เกินห้าล้านบาท และหากยังคงพบการฝ่าฝืนคำสั่งต่อไป ก็ให้ปรับทางปกครองได้อีกวันละไม่เกินหนึ่งแสนบาท         ความหมายของการปรับทางปกครองก็คือปรับเพื่อเป็นการบังคับให้ปฏิบัติตามคำสั่ง ดังนั้น เรื่องอัตราค่าปรับจึงเป็นประเด็นว่าควรจะต้องสูงกว่าผลประโยชน์ที่ได้จากการกระทำที่สั่งห้ามนั้น เพราะหากส่วนได้มากกว่าส่วนที่เสียค่าปรับ ก็จะยังคงมีแรงจูงใจให้กระทำการดังเดิมต่อไป         อัตราค่าปรับให้หยุดการกระทำที่กำหนดเพดานไว้ที่ห้าล้านบาท และปรับรายวันหนึ่งแสนบาท แม้ดูเหมือนสูงพอสมควร แต่ในความจริงของกิจการโทรคมนาคมถือว่าไม่สูงเลย เพราะคิดง่ายๆ ว่า หากมีเรียกเก็บเงินค่า SMS จากลูกค้าเพียงรายละ 1 บาทต่อวัน เรียกเก็บได้จาก 1% ของลูกค้าทั้งหมด ซึ่งแต่ละเจ้ามีลูกค้ากันเป็นหลักสิบยี่สิบล้าน ส่วนต่างรายได้กับค่าปรับก็ยังเป็นหลักแสนบาท คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม         แต่นี่เป็นปัญหาปลายทาง ยังมีปัญหาต้นทางว่า (1) กว่าจะมีหลักฐานทำให้ กสทช. เชื่อได้ว่าเกิดการกระทำอันเป็นการเอาเปรียบขึ้นแล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญคือมีขั้นตอนยาวนาน (2) หลังมีคำสั่งแล้ว การจะติดตามตรวจสอบว่ายังคงมีการกระทำดังเดิมหรือไม่ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หากสำนักงาน กสทช. ไม่เอาจริงเอาจัง ขั้นตอนที่จะถึงการลงโทษย่อมไม่เกิด         ไม่นับว่า (3) ขั้นตอนการดำเนินการเมื่อพบว่ามีการละเมิดคำสั่งแล้ว การปรับจะไม่ได้เกิดขึ้นทันที วิถีปฏิบัติที่สำนักงาน กสทช. ทำคือต้องให้โอกาสผู้ประกอบกิจการชี้แจงก่อน แล้วยังมีขั้นตอนการแจ้งอัตราค่าปรับเพื่อเตือนก่อนอีกครั้ง         ที่ผ่านมาจึงเพิ่งมีเพียงกรณีเดียวที่มาถึงขั้นการปรับจริง ทั้งๆ ที่ กสทช. ได้เคยมีคำสั่งให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) ทุกราย ระงับการกระทำในเรื่องการส่ง SMS ไปยังผู้บริโภคและเรียกเก็บเงินค่า SMS นั้น โดยที่ไม่มีหลักฐานว่าผู้บริโภคสมัครใช้บริการดังกล่าว         กลับมาว่าด้วยปัญหาเรื่อง SMS ใช่ว่าจะมีเฉพาะเรื่องของ SMS รบกวน กินเงิน และหลอกลวง เท่านั้น ยังมีปัญหาลักษณะอื่นที่พบจากกรณีการร้องเรียนต่างๆ ที่น่าสนใจได้แก่        1. กรณีการถูกเรียกเก็บค่าบริการส่ง SMS ส่วนที่เกินกว่าข้อตกลงการใช้ฟรี เป็นจำนวนถึงกว่า 4,000 บาท โดยจุดตั้งต้นคือบริษัทผู้ให้บริการได้ให้ “โบนัส” เป็นการส่ง SMS ฟรี 50 ข้อความ ซึ่งผู้บริโภคยืนยันว่าตนเองส่งไม่เกิน 50 ครั้ง แต่บริษัทอ้างว่าเกิน เนื่องจากสิ่งที่ส่งในแต่ละครั้งนั้นเกินกว่า 50 ตัวอักษร ทำให้การส่งแต่ละครั้งกลายเป็นการส่งหลายข้อความ         2. กรณีบริษัทผู้ให้บริการมีการให้บริการส่ง SMS แจ้งกลับว่าการส่งออก SMS ของผู้บริโภคแต่ละครั้งสำเร็จหรือไม่ โดยที่มีการคิดค่าบริการ SMS แจ้งกลับดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคเสียค่าบริการเป็น 2 เท่าในทุกครั้งของการส่งออก SMS         ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า กรณีปัญหาทั้ง 2 ประการนี้เป็นปัญหาลักษณะ SMS ขาออก ซึ่งแตกต่างจาก SMS รบกวน กินเงิน และหลอกลวง ที่เป็นการได้รับ SMS เข้ามา         ในส่วน SMS ขาออกจึงมีมิติที่ไม่แตกต่างจากการใช้บริการส่วนอื่น ที่จำเป็นต้องตั้งต้นด้วยความเต็มใจเข้าใช้บริการ เช่น ผู้บริโภคต้องรู้ตัวและที่จริงควรเป็นฝ่ายเลือกว่าตัวเองต้องการ SMS ที่แจ้งกลับมาว่า SMS ที่ส่งออกไปนั้นส่งสำเร็จไหม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการคิดค่าบริการ จากนั้นก็ควรที่จะต้องได้รับข้อมูลรอบด้านเพียงพอด้วย เช่น หนึ่งข้อความ SMS จำกัดไว้กี่ตัวอักษร เหล่านี้ก็ควรรับทราบตั้งแต่แรก ไม่ใช่เรื่องที่ควรต้องทำให้เกิดเซอร์ไพรส์         เพราะแท้ที่จริงแล้ว เรื่องของสิทธิที่จะเลือก หลักความเป็นอิสระในการทำสัญญา และการต้องได้รับข้อมูลข่าวสารครบถ้วนเกี่ยวกับสินค้าและบริการนั้น เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคอยู่แล้ว

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 ‘ออมทอง’ vs ‘กองทุนทอง’ (1) ไม่ต้องมีเงินก้อนก็ซื้อทองได้

        ณ เวลาที่เคาะแป้นพิมพ์อยู่ ราคาขายทองรูปพรรณตกราวๆ บาทละ 41,000 บาทไปแล้ว ใครเห็นราคาแล้วเป็นต้องตกใจและเสียใจที่ไม่ได้ซื้อทองตอนราคาต่ำกว่านี้ ไม่ต้องเสียใจหรอก ไม่ว่ากับสินทรัพย์อะไรก็มักเป็นอย่างนี้เสมอแหละ         ทองคำจัดเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ถูกแนะนำให้มีติดพอร์ตไว้เพราะมันช่วยลดความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ ตอนปี 2540 ราคาทองคำคือ 4,869 บาท 27 ปีผ่านไปราคาพุ่งขึ้นมาเกือบ 10 เท่า เห็นได้ว่าทองคำมันก็ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอัตราเงินเฟ้อ การถือครองทรัพย์สินเป็นทองคำจึงเท่ากับลดความเสี่ยงของพอร์ตสินทรัพย์ทั้งหมด        คำถามมีอยู่ว่า ถ้าฉันจะซื้อทองใส่พอร์ตต้องทำยังไง?         คำถามเหมือนง่าย...ก็เอาเงินไปซื้อทองสิ แต่คำตอบยากกว่าที่คิด สิ่งแรกคือคุณต้องมีเงินก้อนเกือบๆ ครึ่งแสนถ้าคิดจะซื้อทองรูปพรรณหนัก 1 บาท ใช่ว่าทุกคนจะมีเงินเยอะขนาดนั้น ปัญหาต่อมา สมมติว่าคุณมีเงินซื้อการเก็บรักษาทองคำให้ปลอดภัยก็ดูยุ่งยาก การแขวนไว้ที่คอเป็นทางเลือกแรกๆ ที่หลายคนคิด แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่ามันก็เหมือนแขวนเหยื่อล่ออาชญากรไว้ที่คอ หรือต่อให้เก็บไว้ที่บ้านก็ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะปลอดภัย คนรวยๆ เลยใช้วิธีเอาทองไปเก็บไว้ที่ธนาคารที่มีบริการตู้เซฟแบบที่เห็นในหนังนั่นแหละ ถามว่าคุณมีทองและเงินมากพอจะทำหรือเปล่า ถ้ามี การเก็บรักษาทองคำก็ไม่เป็นปัญหาอะไรนัก         แต่ระบบทุนนิยมก็ช่วยแก้ปัญหาให้คนที่อยากเก็บทองคำไว้ในพอร์ตโดยลดความยุ่งยากที่ว่ามาข้างต้น ปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธีหลักๆ คือออมทองกับซื้อกองทุนทองคำ         โดยข้อดีของ 2 วิธีนี้ก็คือคุณไม่จำเป็นต้องมีเงินสี่ซ้าห้าหมื่นหอบไปซื้อทองที่ร้าน แต่สามารถค่อยๆ ซื้อตามกำลังเงินในมือได้ตามมูลค่าขั้นต่ำที่ร้านทองหรือกองทุนทองนั้นๆ กำหนด บางทีมีแค่ 100 เดียวก็ซื้อทองได้แล้ว         100 อาจจะได้ทองคำประมาณหนวดกุ้ง แต่คุณไม่ต้องสะดุ้งจนเรือนไหวกลัวใครจะปล้น ที่สำคัญคือคุณสามารถใช้วิธีเดียวกับการลงทุนหุ้นหรือกองทุนหุ้นได้ นั่นก็คือ DCA หรือ Dollar Cost Average หรือการซื้อทุกเดือนด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กัน ซึ่งก็ได้ผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกับการซื้อทองคำแท่งด้วยตนเอง แต่สะดวกกว่า         ปัญหาอยู่ที่ว่าจะซื้อออมทองหรือทยอยซื้อทองทุกเดือนๆ หรือจะซื้อผ่านกองทุนทองคำดี         ไว้มาติดตามกันต่อตอนหน้า

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)