ฉบับที่ 272 รู้หรือไม่ งานทวงหนี้ ต้องขออนุญาต

        หลังที่โรคระบาดโควิดเริ่มซาลง สภาพเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้น หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง หมุนเงินไม่ทัน ก็ต้องวิ่งเข้าหาแหล่งเงินกู้ ซึ่งแน่นอนว่าสมัยนี้ การกู้ยืมเงินสะดวกมากขึ้น ผู้บริโภคมีช่องทางกู้เงินมากมาย และหนึ่งในช่องทางที่ได้รับความนิยมคือ การกู้ยืมเงินผ่านออนไลน์ หรือแอปพลิเคชั่นกู้เงิน แต่อย่างไรก็ตาม ช่องทางดังกล่าวนี้ ก็มีความเสี่ยง เพราะเห็นในหน้าสื่อต่างๆ อยู่เสมอว่า คนที่กู้เงินผ่านช่องทางพวกนี้ มักเจอการถูกโกงในการกู้เงิน ได้เงินไม่เต็มบ้าง ถูกคิดดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าทวงหนี้สูงเกินไปบ้าง หรือบางรายเจอการทวงหนี้ที่น่ากลัว ข่มขู่ จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ  ในฉบับนี้ จึงขอแนะนำความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการทวงถามหนี้ เพื่อประโยชน์ของทุกคน จะได้มีวิธีรับมือกับพวกแก๊งค์กู้เงินผิดกฎหมายครับ 
        ก่อนอื่น หลายคนไม่ทราบว่า “คำข่มขู่” ของแก๊งค์ทวงหนี้บางเรื่อง มีการอ้างข้อกฎหมายที่ไม่จริง ทำให้คนที่ไม่รู้ หลงเชื่อ  เช่น ขู่ว่าเป็นหนี้ไม่จ่ายจะติดคุก ซึ่งอันนี้ น่าจะเจอกันบ่อยที่สุด ซึ่งอันที่จริง การไม่จ่ายหนี้เป็นความผิดทางแพ่งไม่ใช่ความผิดตามกฎหมายอาญา ดังนั้นไม่มีการติดคุกแน่นอน แต่ความผิดทางแพ่งเจ้าหนี้ต้องไปใช้สิทธิฟ้องศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้   อีกกรณีคือการขู่ว่าจะมายึดทรัพย์ลูกหนี้ทันทีถ้าไม่จ่าย ซึ่งความจริงคือ เจ้าหนี้จะไปยึดทรัพย์สินลูกหนี้ตามอำเภอใจไม่ได้ ต้องมีคำสั่งศาลจนคดีถึงที่สุดก่อน ดังนั้น ก็ต้องไปฟ้องศาลก่อนเช่นกัน และหากเผลอมายึดจริงก็อาจมีความผิดฐานลักทรัพย์ได้
         เมื่อพูดถึงเรื่องกฎหมาย หลายคนอาจไม่ทราบว่า รัฐได้ออกกฎหมายคุ้มครองลูกหนี้เพื่อไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากการทวงหนี้อย่างไม่เป็นธรรม ชื่อว่า “พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558” ซึ่งกฎหมายนี้ ให้การคุ้มครองผู้บริโภคในหลายประการ เช่น ห้ามการติดตามทวงหนี้ ซึ่งมีลักษณะการพูดจาข่มขู่ ดูหมิ่น การเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ การใช้ความรุนแรงทำให้ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย อาจจะถูกดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท 
        หากใครประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องมีการขออนุญาตตามกฎกระทรวงการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558  หากใครฝ่าฝืนไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาท ส่วนเจ้าหนี้คนไหนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินในกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย คิดดอกเบี้ยแพงเกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือนหรือร้อยละ 15 ต่อปี ถือว่าเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท 
        ดังนั้น เราจะเห็นว่า ความจริงแล้วคนที่ทำผิดกฎหมาย เสี่ยงติดคุกไม่ใช่ลูกหนี้ แต่เป็นบรรดาเจ้าหนี้และแก๊งค์ทวงหนี้มากกว่า เพราะคนเหล่านี้ทำผิดหลายอย่าง ทั้งเจ้าหนี้ที่คิดดอกเบี้ยแพง ก็ถือว่าคิดดอกเบี้ยผิดกฎหมาย ดอกเบี้ยส่วนนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับ เงินที่จ่ายต้องเอาไปหักเงินต้นทั้งหมด หรือพวกทวงหนี้ที่ใช้คำหยาบ ทวงไม่เป็นเวลา หรือไม่ขออนุญาตก็ถือว่าเป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมาย 
ถ้าใครเจอปัญหาทวงหนี้ดังกล่าว ขอให้รีบดำเนินการ ดังต่อไปนี้
        1. หยุดจ่าย หยุดสร้างหนี้ใหม่ และรวบรวมหลักฐานเหล่านี้ เพื่อไปแจ้งความดำเนินคดีทางกฎหมาย ได้แก่ รายการเดินบัญชี (Statement) ที่กู้เงินออนไลน์ ชื่อและหน้าแอปฯ กู้เงินเถื่อน หลักฐานการแช็ต และแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อให้ดำเนินคดีถึงที่สุด
        2. ติดต่อสายด่วนแก้หนี้ 1213 หรือ สายด่วนชนะหนี้ 1443
        3. เล่าข้อเท็จจริงและรูปแบบการกระทำของมิจฉาชีพ ลงบนโซเชียลมีเดียเพื่อเตือนภัยให้กับคนรู้จัก
        4. หากถูกปลอมแปลงหรือขโมยข้อมูลออนไลน์จากการโหลดแอปกู้เงินเถื่อน แจ้งสายด่วน 1559 
        นอกจากนี้ การทวงหนี้ที่ไม่ถูกต้อง เคยมีประเด็นฟ้องร้องต่อศาล และศาลฏีกาได้ตัดสินวางหลักที่น่าสนใจไว้ เป็นกรณี การประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ ต้องจดทะเบียนตามกฎหมาย หากไม่จดมีความผิดทางอาญา ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2562
 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3047/2562 
        “พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บัญญัติว่า  ผู้ใดจะประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต่อนายทะเบียน...ดังนั้น ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า  เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2560 เวลากลางวัน  จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยรับจ้างบุคคลผู้มีชื่อทวงถามหนี้เงินกู้จาก ร.และประชาชนอื่นซึ่งเป็นลูกหนี้อันเกิดจากการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด  โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจทวงถามหนี้...จึงเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแห่งความผิดแล้ว  ส่วนจำเลยทั้งสองจะรับจ้างจากบุคคลใดและประชาชนผู้ใดบ้างที่ถูกจำเลยทั้งสองทวงถามหนี้  หาใช่องค์ประกอบความผิดอันจะต้องบรรยายมาในคำฟ้องด้วยไม่  แต่เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก็นำสืบได้ในชั้นพิจารณา  การที่โจทก์มิได้ระบุชื่อผู้ว่าจ้างหรือชื่อประชาชนผู้ถูกทวงถามหนี้มาในฟ้อง  จึงไม่ถือว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม  ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158(5) 
        ความผิดฐานประกอบธุรกิจทวงถามหนี้โดยไม่ได้จดทะเบียนตาม พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 มาตรา 5, 39  มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี  จึงไม่ใช่ข้อหาที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น...เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ  ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องโดยไม่สืบพยานต่อไปก็ได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 176 วรรคหนึ่ง”

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

0 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค เงิน การเงิน กู้ยืม ดอกเบี้ย

ฉบับที่ 278 โฆษณาคือส่วนหนึ่งของสัญญา ได้บ้านไม่ตรงปกฟ้องให้รับผิดตามโฆษณาได้

        เชื่อว่าทุกคนในยุคนี้ เวลาจะซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมสักหลัง คงหาข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ ทั้งทำเล ราคา โปรโมชั่นต่างๆ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าก่อนจะจ่ายเงินก้อนออกไปจากกระเป๋า และโฆษณาชวนเชื่อที่บอกว่าบ้านจะมีสาธารณูปโภคหรือสิ่งอำนวยความสะดวกแบบนั้น แบบนี้ จะมีพื้นที่ส่วนกลาง มีสระว่ายน้ำ มีห้องออกกำลังกาย ก็เป็นสิ่งที่เรามักจะเอามาพิจารณาเสมอก่อนเข้าทำสัญญา แต่บางครั้งเราอาจเจอปัญหาสินค้าไม่ตรงปก ไม่ตรงตามโฆษณาและมาทราบภายหลังทำให้เราเกิดเปลี่ยนใจหรือรู้สึกเหมือนถูกหลอกจากโฆษณา         มีคดีหนึ่งที่ผู้บริโภคได้เห็นโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจห้องชุด การโฆษณารูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุดทำให้เข้าใจว่าเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ตนสามารถใช้ประโยชน์ได้  แต่ปรากฎมาทราบภายหลังว่า ไม่ใช่พื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งตอนโฆษณาผู้ประกอบธุรกิจห้องชุดก็ไม่บอกให้ชัด ศาลจึงตัดสินว่าเป็นการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรม และต้องถือว่าโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา จึงพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจห้องชุดดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์ส่วนกลางของเจ้าของร่วมโดยปลอดภาระผูกพัน คำพิพากษาฎีกาที่  5351/2562         แผ่นพับโฆษณาเป็นประกาศโฆษณาที่จำเลยแจกจ่ายแก่ผู้ซื้อห้องชุด เพื่อจูงใจให้ผู้พบเห็นเข้าทำสัญญากับจำเลย สิ่งที่จำเลยกำหนดในแผ่นพับที่เป็นสื่อกลางโฆษณาให้ผู้ซื้อทราบว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทนการเข้าทำสัญญาซื้อห้องชุดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อ ดังที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจึงมีหน้าที่ตามมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมที่จะต้องแจ้งข้อที่ผู้บริโภคควรทราบให้กระจ่างชัด ทั้งต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมในการโฆษณาต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับ สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการไม่ว่าในทางใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) บัญญัติว่า ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด แต่ตามแผ่นพับโฆษณา รูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยอันมีผลต่อสถานะความเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของจำเลยจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) จำเลยจึงต้องรับผลแห่งการโฆษณานั้น         การที่จำเลยไม่แสดงให้ชัดแจ้งเพื่อให้ปรากฏแก่ผู้ซื้อ ซึ่งเป็นผู้บริโภคว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา ในขอบมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมกับภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย ดังที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 และแม้ลักษณะที่แสดงตามแผ่นพับจะแสดงว่าทางและที่ดินติดชายหาดเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของโรงแรมและอาคารชุดก็ตาม ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ก็ยังคงมีสถานะเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมอยู่ด้วย         การที่โรงแรมมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ด้วยหาทำให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมไม่ ทั้งทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดนั้น นอกจากทรัพย์สินอื่นๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ยังหมายความถึงทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังบัญญัติความตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15 ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะขึ้นทะเบียนอาคารชุดระบุว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่หรือเจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 66572 และโฉนดเลขที่ 66574 เฉพาะส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของโจทก์โดยปลอดภาระผูกพัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 จองรถ แล้วถูกเลื่อน ขอคืนเงินจองได้ไหม

        ภายใต้สภาพการขนส่งมวลชนที่ยังไม่เชื่อมโยงให้การเดินทางเป็นไปโดยสะดวก ผู้บริโภคจึงให้ความสนใจกับการมีรถยนต์ส่วนตัว เพื่อใช้ขับขี่ในการใช้ชีวิตประจำวัน และการซื้อรถยนต์ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่จะมีการทำสัญญาจองรถยนต์กันก่อน และแน่นอนว่าต้องมีระยะเวลาหนึ่ง กว่าจะได้รถมา สิ่งที่ผู้บริโภคเจอปัญหาจากการจองรถ ส่วนหนึ่งคือ ไม่ได้รถตามกำหนดเวลาที่จองไว้ เช่นนี้ หลายคนจึงสงสัยว่าในฐานะผู้บริโภคที่จองรถเราจะมีสิทธิอะไรบ้าง วันนี้ จึงขอนำเสนอตัวอย่างคำพิพากษาของศาลฏีกาที่น่าสนใจ ซึ่งได้ตัดสินวางบรรทัดฐานในเรื่องนี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยได้วินิจฉัยในกรณีที่ผู้ซื้อได้บอกเลิกสัญญาจองรถพร้อมเรียกให้คืนเงินมัดจำแล้ว แต่ผู้ขายยังคงเพิกเฉยไม่สงมอบรถหรือเยียวยาด้วยวิธีอื่นใด ซึ่งศาลก็พิพากษาให้คืนเงินจองแก่ผู้บริโภค โดยคดีนี้แม้ว่าการจองจะไม่มีกำหนดเวลาส่งมอบที่ชัดเจน แต่ศาลก็ถือว่าการส่งมอบรถก็ควรดำเนินการในเวลาอันควร หากไม่ดำเนินการ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญา ขอเงินจองหรือเงินมัดจำคืนได้         คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2816/2540                 โจทก์สั่งจองซื้อรถยนต์จากจำเลยไว้ 1 คัน ในราคา 2,370,000 บาท โดยวางเงินมัดจำไว้ 50,000 บาท หลังจากสั่งจองแล้วจำเลยไม่ติดต่อให้โจทก์ไปรับรถ โจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยบอกเลิกการจองซื้อรถและขอรับเงินมัดจำคืน แม้ใบสั่งจองรถยนต์จะมิได้กำหนดเวลาให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่สั่งจองไว้ แต่การสั่งจองได้ระบุยี่ห้อ แบบ และรุ่นของรถยนต์ไว้ ตามปกติผู้ที่ซื้อรถยนต์ใหม่ก็ต้องมีความประสงค์จะได้รถยนต์รุ่นใหม่ที่ทันสมัย ซึ่งก็เป็นที่คาดกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายว่าจะต้องส่งมอบรถยนต์ที่จองไว้ในเวลาอันสมควร ไม่ล่าช้ามากเกินไป นับจากวันที่โจทก์สั่งจองซื้อรถยนต์จนถึงวันที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกการจองและขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำ  เป็นเวลา 5 เดือนเศษ จำเลยก็ยังไม่ส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์ ทั้งหลังจากนั้นจำเลยก็ยังเพิกเฉย หาได้เสนอที่จะชำระหนี้โดยส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์แต่อย่างใดไม่ ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยาย สัญญาจองรถยนต์ที่โจทก์จำเลยทำไว้จึงไม่มีผลผูกพันต่อไป โจทก์และจำเลยต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 วรรคหนึ่ง                นอกจากนี้ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้การจองรถยนต์ต้องทำเป็นสัญญา มีลักษณะและข้อความ ดังต่อไปนี้         สัญญาจองรถยนต์ ที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภค ต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน มีขนาดของตัวอักษรไม่เล็กกว่าสองมิลลิเมตร และต้องใช้ข้อสัญญาที่มีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้         (1) รายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ ดังนี้             – ยี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์             – รายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถมหรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ (ถ้ามี)             – จำนวนเงิน หรือสิ่งที่รับไว้เป็นมัดจำ (ถ้ามี)             – ราคา         รวมถึงมีบัญญัติคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาจองรถ ว่าในกรณี 1. ปรับเปลี่ยนราคารถยนต์สูงขึ้น 2.ไม่ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคภายในระยะเวลาที่กำหนด 3.ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มียี่ห้อ รุ่น ปีที่ผลิต สี และขนาดกำลังเครื่องยนต์ตรงตามที่กำหนดในสัญญา และ 4. ไม่ส่งมอบรถยนต์ที่มีรายการอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติมและของแถม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กำหนดในสัญญา  ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 ระวังโดนครอบครองปรปักษ์

        มีโฉนด อย่าวางใจ อาจโดนแย่งสิทธิความเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านได้ ด้วยหลักกฎหมาย “ครอบครองปรปักษ์”         ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ในสายตาของกฎหมาย ที่ดินระหว่างเอกชน สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ ในปัจจุบันก็มีบางคนกว้านซื้อที่ดินจำนวนมาก จนเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และนำออกจำหน่ายให้ผู้บริโภคเพื่อหากำไร และแน่นอนเมื่อมีคนที่ทำเช่นนี้ หรือได้ที่ดินมาด้วยวิธีใดๆ จนถือครองที่ดินจำนวนมาก ก็อาจมีปัญหาไม่สามารถไปดูแลหรือใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งหมดของตนเองได้ หรือบางคนไม่ได้บอกลูกบอกหลานไว้ เมื่อตนเองจากไป ลูกหลานก็ไม่ทราบ และไม่ได้เข้าไปจัดการดูแลที่ดินหรือใช้ประโยชน์ ทำให้ที่ดินถูกปล่อยทิ้งไว้  ดังนั้น กฎหมายจึงมุ่งคุ้มครองการใช้ประโยชน์ของที่ดินเป็นสำคัญ จึงเกิดหลักกฎหมายที่เรียกว่า “ครอบครองปรปักษ์”ขึ้น เพื่อจะส่งเสริมให้คนที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง แต่เห็นประโยชน์ของที่ดินที่เจ้าของไม่ได้มาดูแล ได้แสดงตนเป็นเจ้าของและครอบครองนานเกินกว่าสิบปี โดยที่เจ้าของที่ดินนั้นไม่ได้มาโต้แย้งคัดค้านสามารถได้กรรมสิทธิ์ของที่ดินนั้นมาเป็นของตนได้  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382         มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยสุจริต โดยความสงบและโดย เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็น สังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”         อย่างไรก็ตาม การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ และมีข้อสังเกตที่สำคัญ ดังนี้         1.ต้องเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเท่านั้น หากเป็นที่ดินประเภทอื่นๆที่มีเพียงสิทธิครอบครอง เช่น ส.ค.1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน) หรือ น.ส.3 หรือ น.ส.3 ก. (หนังสือรับรองการทำประโยชน์) หรือที่ดินมือเปล่าไม่สามารถครอบครองปรปักษ์ได้ และที่ดินของรัฐก็ไม่ได้เช่นกัน         2. หากเป็นผู้เช่า ไม่ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ เพราะเป็นการทำสัญญาเช่าอาศัยหรือใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยผู้ครอบครองรู้ตัวอยู่แล้วว่าครอบครองแทนเจ้าของเพียงชั่วคราว และมีการตกลงทำสัญญากันไว้เป็นหลักฐาน ไม่ใช่การครอบครองเพื่อเป็นเจ้าของ         3.ไม่นับผู้ซื้อที่อยู่ระหว่างรอทำสัญญาซื้อขาย เพราะการที่ผู้ซื้อครอบครองที่ดินตามสัญญาซื้อขาย ถือว่าเป็นการครอบครองแทนผู้ขายจนกว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์        4.หากเจ้าของที่ดินอนุญาตให้ใช้ประโยชน์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์         5.หากมีการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างนั้นจะไม่ถือว่าครบ 10 ปี โดยผู้รับโอนได้กรรมสิทธิ์มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน มีผลให้การครอบครองปรปักษ์ก่อนหน้านี้สิ้นผลไป ต้องเริ่มนับระยะเวลาครอบครองใหม่         เมื่อการครอบครองปรปักษ์ คือการแย่งชิงกรรมสิทธิ์ของคนอื่นมาเป็นของตนเอง ย่อมเกิดคดีพิพาทกันได้เพื่อพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ จึงเกิดคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินไว้จำนวนมาก โดยขอหยิบยกคำพิพากษาที่น่าสนใจ ดังนี้         การนับเวลาครอบครองปรปักษ์ ถ้าเข้าครอบครองก่อนมีโฉนด ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป         คำพิพากษาฎีกาที่ 4676/2560         จำเลยซื้อที่ดินมือเปล่าจากมารดาโจทก์แล้วเข้าครอบครองอยู่อาศัย จึงเป็นการครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ ต่อมามารดาโจทก์ขอออกโฉนดที่ดินรวมไปถึงที่ดินที่จำเลยซื้อ เมื่อจำเลยยังคงครอบครองที่ดินที่ซื้อโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมา ระยะเวลาแห่งการครอบครองปรปักษ์ที่ดินจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ออกโฉนดที่ดินเป็นต้นไป และจำเลยไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ยึดถือแทนจึงไม่ต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการครอบครองไปยังผู้ขาย เมื่อนับถึงวันฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์         คำพิพากษาฎีกาที่ 13969/2558         บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่น ที่ดินนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เสียก่อน จึงจะถูกอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ ที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง แม้จะมีเจตนาครอบครองอย่างเป็นปรปักษ์ก็หาได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นสิทธิคนละประเภทกับสิทธิครอบครองที่มีอยู่แต่เดิมไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน น.ส. 3 ก. ที่มีเพียงสิทธิครอบครอง โจทก์จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทได้         คำพิพากษาฎีกาที่ 679-682/2559         การที่จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองปลูกบ้านอาศัยอยู่ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่เคยถูกผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก่อนหน้านั้น จึงถือเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาตลอด รวมเวลาของผู้โอนกับเวลาที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยทั้งสี่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382  อีกทั้งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้อย่างแจ้งชัดว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองนั้น จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น ข้อสำคัญมีเพียงว่า การครอบครองนั้นมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นผู้อาศัยหรือผู้เช่า แม้ผู้ครอบครองจะเข้าใจว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของตน แต่ความจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ ก็หาทำให้สิทธิจากการครอบครองเสียไปไม่

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 แผ่นพับโฆษณา คือส่วนหนึ่งของสัญญา

        ถ้าเราจะซื้อบ้านหรือคอนโดสักหลัง แน่นอนว่าเราย่อมต้องอยากเห็นก่อนว่าบ้านหรือคอนโดที่จะซื้อนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร         ปัจจุบันผู้ประกอบการมักชอบประกาศขายบ้านตั้งแต่ยังสร้างไม่เสร็จ มีการโฆษณาในช่องทางต่างๆ รวมถึงใช้เอกสารแผ่นพับโฆษณาเพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราได้เห็นได้ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจ อย่างไรก็ตามภาพที่นำมาใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อก็มักทำให้เราวาดฝัน หลงเชื่อว่าจะได้บ้านหรือคอนโดตามที่โฆษณาไว้ เมื่อจ่ายเงินไปแล้ว บางครั้งเราก็ไม่ได้บ้านหรือคอนโดตามโฆษณาเรียกว่าได้ของไม่ตรงปกเช่นนี้ ทำให้เกิดปัญหาฟ้องร้องของผู้บริโภคตามมา อย่างเช่นในคดีหนึ่งเรื่องมีอยู่ว่า...         แผ่นพับโฆษณาขายอาคารชุดของผู้ประกอบการ แสดงรูปแผนผังทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด ผู้ซื้ออาคารชุดเมื่อเห็นรูปแผนผังก็ทำให้เข้าใจว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด แต่ปรากฎว่าผู้ประกอบการไม่ยอมจดทะเบียนที่ดินทางพิพาทให้เป็นทรัพย์ส่วนกลาง ผู้บริโภคก็เห็นว่าแผ่นพับข้อมูลโฆษณาทำให้เกิดความเข้าใจผิด คิดว่าได้คอนโดติดชายหาด จึงนำเรื่องฟ้องต่อศาลซึ่งในคดีนี้ ศาลฏีกาได้ตัดสินไว้ว่า แผ่นพับโฆษณาขายคอนโดของผู้ประกอบการถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อห้องชุด เมื่อผู้ประกอบการทำการโฆษณาโดยปกปิดไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับที่ดินทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของผู้ประกอบการจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค จึงตัดสินให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนโอนที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของโจทก์โดยปลอดภาระผูกพัน เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค         คำพิพากษาฎีกาที่  5351/2562         แผ่นพับโฆษณาเป็นประกาศโฆษณาที่จำเลยแจกจ่ายแก่ผู้ซื้อห้องชุด เพื่อจูงใจให้ผู้พบเห็นเข้าทำสัญญากับจำเลย สิ่งที่จำเลยกำหนดในแผ่นพับที่เป็นสื่อกลางโฆษณาให้ผู้ซื้อทราบว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทนการเข้าทำสัญญาซื้อห้องชุดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อ ดังที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจึงมีหน้าที่ตามมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมที่จะต้องแจ้งข้อที่ผู้บริโภคควรทราบให้กระจ่างชัด ทั้งต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมในการโฆษณาต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับ สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการไม่ว่าในทางใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) บัญญัติว่า ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด แต่ตามแผ่นพับโฆษณา รูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยอันมีผลต่อสถานะความเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของจำเลยจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) จำเลยจึงต้องรับผลแห่งการโฆษณานั้น การที่จำเลยไม่แสดงให้ชัดแจ้งเพื่อให้ปรากฏแก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา ในขอบมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมกับภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย ดังที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 และแม้ลักษณะที่แสดงตามแผ่นพับจะแสดงว่า ทางและที่ดินติดชายหาดเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของโรงแรมและอาคารชุดก็ตาม ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ก็ยังคงมีสถานะเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมอยู่ด้วย         การที่โรงแรมมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ด้วย หาทำให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมไม่ ทั้งทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดนั้น นอกจากทรัพย์สินอื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ยังหมายความถึงทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังบัญญัติความตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15 ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะขึ้นทะเบียนอาคารชุดระบุว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่หรือเจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 66572 และโฉนดเลขที่ 66574 เฉพาะส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของโจทก์โดยปลอดภาระผูกพัน         จากคดีนี้ จึงเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคทุกท่าน เวลาที่เราซื้อบ้านหรือคอนโดควรเก็บหลักฐานแผ่นพับ หรือภาพการโฆษณาต่างๆ ไว้ เพื่อหากวันหนึ่ง บ้านหรือคอนโดที่เราซื้อไม่มีตามที่โฆษณาจะได้นำเป็นหลักฐานในการเรียกร้องสิทธิหรือให้ชดเชยเยียวยาได้ครับ

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)