ฉบับที่ 277 ชีวิตภาคสอง : หากเราได้เจอกันอีกสักครั้ง อยากขอกอดเธอไว้ให้อุ่นเหมือนเก่า

         นักปรัชญากรีกโบราณอย่างเฮราไคลตัสเคยกล่าววาทะที่คลาสสิกบทหนึ่งเอาไว้ว่า “you cannot step into the same river twice” หรือแปลความเป็นภาษาไทยว่า “คุณไม่สามารถจะก้าวลงไปในแม่น้ำสายเดียวกันได้เป็นครั้งที่สอง”                คำคมของเฮราไคลตัสข้างต้นนี้ อธิบายความโดยนัยได้ว่า เวลาไม่เคยหยุดนิ่ง แต่ดำเนินอยู่บนกฎแห่งความเปลี่ยนแปลง แค่เพียงเราก้าวเท้าลงแม่น้ำ สายน้ำก็ไหลไปอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ภายใต้กฎความเปลี่ยนแปลงแห่งเวลาเช่นนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ “สายน้ำจะหวนคืนกลับ” หรืออีกนัยหนึ่ง โอกาสของมนุษย์แทบจะไม่มีทางย้อนกลับมาเกิดเป็นครั้งที่สองได้เลย         แต่จะเป็นเช่นไร หากสายน้ำบังเอิญได้หวนกลับ และโอกาสในชีวิตของคนเราได้ย้อนทวนหวนคืนมาอีกเป็นคำรบที่สอง คำตอบข้อนี้เป็นเส้นเรื่องหลักที่ผูกไว้อยู่ในละครโทรทัศน์แนวดรามาเรื่อง “ชีวิตภาคสอง”         ด้วยพล็อตเรื่องที่ประหนึ่งโชคชะตาเล่นตลกกับผู้ชายสองคนจากต่างรุ่นวัยและต่างชนชั้นทางเศรษฐกิจสังคม ละครได้เปิดเรื่องด้วยการแนะนำให้ผู้ชมได้รู้จักกับตัวละครแรกคือ “ปรเมศ” พ่อม่ายนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง แต่มีความสัมพันธ์อันไม่ลงรอยกับ “ปิ่น” บุตรสาวเพียงคนเดียวของเขา กับอีกตัวละครหนึ่งคือ “สอง” ชายหนุ่มแสนดี แต่มีฐานะยากจนและมีชีวิตหาเช้ากินค่ำไปในแต่ละวัน         แล้วความขัดแย้งของเรื่องก็ยิ่งปะทุหนักขึ้น เมื่อปรเมศตัดสินใจเข้าสู่ประตูวิวาห์อีกครั้งกับ “รตา” หญิงสาวที่มีอายุรุ่นลูก ซึ่งปิ่นเชื่อว่า รตาต้องการแต่งงานกับบิดาสูงวัยของเธอเพียงเพื่อปอกลอกสมบัติจากปรเมศเท่านั้น ปัญหาความขัดแย้งระหว่างพ่อลูกจึงเพิ่มดีกรีมากขึ้น จนพ่อกับลูกสาวทะเลาะกัน และทำให้ปรเมศเกิดอาการโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันขึ้นมา         ประจวบเหมาะกับในเวลาเดียวกันนั้น ทางฝั่งของแรงงานรับจ้างรายวันหนุ่มอย่างสอง ก็เกิดอาการโรคหัวใจกำเริบขึ้นเฉียบพลัน จนเข้าขั้นโคม่า และได้เข้ามานอนบนเตียงโรงพยาบาลแห่งเดียวกับที่ปรเมศถูกแอดมิทอยู่นั่นเอง        บนความบาดหมางไม่ลงรอยกันระหว่างพ่อกับลูกนี้เอง นำไปสู่การจากไปแบบกะทันหันของปรเมศ โดยที่ทั้งคู่ยังไม่ได้คลี่คลายความขัดแย้งกัน กลายเป็นปมติดค้างในใจที่ทั้งปรเมศและปิ่นต่างก็เหมือนจะมีเสียงร้องก้องอยู่ว่า “ใจฉันยังคิดถึงเหมือนเคย ไม่มีใครแทนที่เธอได้เลย” ในเวลาเดียวกับที่ปิ่นผู้เป็นบุตรสาวเองก็ยังคงมีข้อสงสัยในสาเหตุการตายของบิดา และคิดว่าเป็นฝีมือการวางแผนฆาตกรรมของรตาที่ต้องการฮุบสมบัติทั้งหมดไว้เป็นของตน         แต่ทว่า ภายใต้ปมในใจที่ค้างคาระหว่างพ่อลูก ภายใต้ปมปริศนาการเสียชีวิตของตัวละครที่ยังไม่คลี่คลาย และภายใต้ห้วงนาทีชีวิตที่มีความเป็นกับความตายเป็นเส้นกั้นแบ่งบางๆ อยู่ระหว่างกลางนั้น ความมหัศจรรย์แห่งโชคชะตาก็บังเกิดขึ้นในชีวิตของผู้ชายทั้งสองคน         ในเสี้ยวชีวิตที่วิญญาณของปรเมศหลุดลอยออกจากร่างนั้น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่สองได้หมดสิ้นลมหายใจลง เพราะฉะนั้นดวงจิตของเขาจึงถูกโชคชะตา “โอนไฟล์” เข้ามาอยู่ในร่างของสองแทน ในขณะที่ร่างจริงของปรเมศก็ได้ถูกรตาเร่งจัดการฌาปนกิจจนเป็นเถ้าสลายหายไป             “ถ้าเราได้เจอกันอีกสักวัน อยากถาม เธอจำฉันได้อยู่หรือเปล่า เธอจะยิ้มให้ฉันหรือเปล่า…” หลังจากที่ปรเมศได้ “โอกาสที่สอง” หรือ “second chance” ในร่างของชายหนุ่มที่ชื่อว่าสองเช่นนี้ เขาจึงต้องการใช้โอกาสดังกล่าวเพื่อแก้ไขปมขัดแย้งต่างๆ ที่ผูกมัดไว้เมื่อเขายังมีลมหายใจอยู่ในคราแรก         เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า สำหรับกลุ่มทุนที่เป็นชนชั้นนำบนยอดปิรามิดของสังคมไทยนั้น แม้ชีวิตของคนกลุ่มนี้จะประสบความสำเร็จในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจการเมืองมาช้านานแล้วก็ตาม แต่ในชีวิตทางสังคมนั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลก็คือชนวนเหตุหลักแห่งความขัดแย้งต่างๆ และก็มักลุกลามเข้าไปมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกครอบครัวของคนกลุ่มดังกล่าว         เมื่อชนชั้นนำมีความเปราะบางยิ่งในชีวิตครอบครัว   ดังนั้นการกลับมาสิงสถิตอยู่ในร่างของผู้ชายอีกคน ปรเมศจึงค้นพบข้อเท็จจริงหลายอย่าง ตั้งแต่เงื่อนงำการเสียชีวิตของเขาที่มีรตากับชู้รักอย่าง “จิรัน” สมคบคิดวางแผนฆาตกรรมอยู่เบื้องหลัง และในขณะเดียวกัน รตาเองก็ยังร่วมมือกับทั้ง “อรัญญา” ผู้เป็นมารดา “สิตางค์” ลูกพี่ลูกน้อง และ “เฮียหมง” เจ้าของธุรกิจสีเทา เพียงเพื่อจะยึดครองมรดกทางธุรกิจที่เขาก่อร่างสร้างไว้ให้บุตรสาวมาทั้งชีวิต         ด้วยเส้นเรื่องของการที่มนุษย์ผู้หนึ่งสามารถได้ในสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “second chance” นี้เอง ก็อาจจะไม่เกินการคาดเดาได้ว่า “โอกาสที่สอง” ของปรเมศ ต้องสัมฤทธิ์ผลในท้ายที่สุดแน่นอน เพียงแต่ละครจะทำให้เราลุ้นกันว่า กว่าจะคลี่คลายปมขัดแย้งทั้งหมดได้นั้น ตัวละครทั้งหลายจะมีเส้นทางฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ กันด้วยวิธีการใด         เพราะฉะนั้น เมื่อมาอยู่ในร่างที่ต่างไปจากเดิม แต่สิงไว้ด้วยจิตสำนึกใหม่ที่ต้องการแก้ไขข้อผิดพลาดในครั้งเก่า ปรเมศในร่างของสองจึงคอยช่วยเหลือปิ่นที่ต้องปะทะประมือกับรตาและสหพรรคพวกเกินกว่าครึ่งเรื่อง จนปิ่นเองก็ยิ่งเกิดความสงสัยในตัวตนที่แท้จริงของสอง เพราะไม่เพียงเขาจะรู้เรื่องทุกอย่างเกี่ยวกับปรเมศ หรือมีพฤติกรรมคล้ายกับบิดา แต่สองยังดูคุ้นเคยและปรับตัวเข้ากันได้ดีกับสุนัข “ไฟเตอร์” ที่ปรเมศรักและเลี้ยงดูมาตั้งแต่ครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่         ยิ่งเมื่อความโหดร้ายของรตาเริ่มอัพเลเวลทับทวีขึ้นเรื่อยๆ ปรเมศในร่างของสองก็คอยทุ่มเทปกป้อง เพื่อใช้ “โอกาสที่สอง” ยืนยันกับลูกสาวของตนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่มีชีวิตอยู่จนถึงวิญญาณหลุดไปอยู่ในร่างชายหนุ่มรุ่นลูก แต่ความรักที่พ่อมีให้กับปิ่นนั้น “ยังคงเหมือนเดิม ไม่เคย…จางหายไป…”         “มีพบก็ต้องมีจาก” เป็นสัจธรรมที่มิอาจปฏิเสธได้ เหมือนกับภาษิตจีนที่กล่าวว่า “การได้พบกันถือเป็นโชคชะตา การจากลาก็เช่นเดียวกัน” ด้วยเหตุนี้ แม้ในตอนท้ายเรื่อง ความบาดหมางระหว่างพ่อลูกจะแก้ไขไปได้แล้วก็ตาม แต่เพราะปรเมศได้ตัดสินใจใช้ “โอกาสที่สอง” เอาชีวิตของตนปกป้องบุตรสาวในห้วงเวลาความเป็นความตาย ทำให้ทั้งคู่ต้องพลัดพรากจากกันอีกครั้ง ทั้งๆ ที่รู้ว่าคงไม่มี “โอกาสที่สาม…สี่…ห้า…” ให้ได้กลับมาพบลูกสาวของตนครั้งใหม่ก็ตาม         เมื่อฉากละครจบลง และฉากชีวิตของครอบครัวชนชั้นนำของปรเมศและปิ่นได้รับ “โอกาสที่สอง” เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไม่เข้าใจกันผ่านพื้นที่ของโลกสัญลักษณ์กันผ่านไปแล้ว บางทีก็น่าคิดเหมือนกันว่า แล้วกับมนุษย์ผู้หาเช้ากินค่ำหรือมีสถานะเป็นชนชั้นล่างของสังคมอย่างสองนั้น “โอกาสที่สอง” จะบังเกิดขึ้นในชีวิตของคนกลุ่มนี้เฉกเช่นเดียวกับที่ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นกับปรเมศได้บ้างหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >