ฉบับที่ 278 โฆษณาคือส่วนหนึ่งของสัญญา ได้บ้านไม่ตรงปกฟ้องให้รับผิดตามโฆษณาได้

        เชื่อว่าทุกคนในยุคนี้ เวลาจะซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมสักหลัง คงหาข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจ ทั้งทำเล ราคา โปรโมชั่นต่างๆ เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าก่อนจะจ่ายเงินก้อนออกไปจากกระเป๋า และโฆษณาชวนเชื่อที่บอกว่าบ้านจะมีสาธารณูปโภคหรือสิ่งอำนวยความสะดวกแบบนั้น แบบนี้ จะมีพื้นที่ส่วนกลาง มีสระว่ายน้ำ มีห้องออกกำลังกาย ก็เป็นสิ่งที่เรามักจะเอามาพิจารณาเสมอก่อนเข้าทำสัญญา แต่บางครั้งเราอาจเจอปัญหาสินค้าไม่ตรงปก ไม่ตรงตามโฆษณาและมาทราบภายหลังทำให้เราเกิดเปลี่ยนใจหรือรู้สึกเหมือนถูกหลอกจากโฆษณา         มีคดีหนึ่งที่ผู้บริโภคได้เห็นโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจห้องชุด การโฆษณารูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุดทำให้เข้าใจว่าเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ตนสามารถใช้ประโยชน์ได้  แต่ปรากฎมาทราบภายหลังว่า ไม่ใช่พื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งตอนโฆษณาผู้ประกอบธุรกิจห้องชุดก็ไม่บอกให้ชัด ศาลจึงตัดสินว่าเป็นการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรม และต้องถือว่าโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา จึงพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจห้องชุดดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์ส่วนกลางของเจ้าของร่วมโดยปลอดภาระผูกพัน คำพิพากษาฎีกาที่  5351/2562         แผ่นพับโฆษณาเป็นประกาศโฆษณาที่จำเลยแจกจ่ายแก่ผู้ซื้อห้องชุด เพื่อจูงใจให้ผู้พบเห็นเข้าทำสัญญากับจำเลย สิ่งที่จำเลยกำหนดในแผ่นพับที่เป็นสื่อกลางโฆษณาให้ผู้ซื้อทราบว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทนการเข้าทำสัญญาซื้อห้องชุดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อ ดังที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจึงมีหน้าที่ตามมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมที่จะต้องแจ้งข้อที่ผู้บริโภคควรทราบให้กระจ่างชัด ทั้งต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมในการโฆษณาต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับ สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการไม่ว่าในทางใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) บัญญัติว่า ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรม ดังนี้ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด แต่ตามแผ่นพับโฆษณา รูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยอันมีผลต่อสถานะความเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของจำเลยจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) จำเลยจึงต้องรับผลแห่งการโฆษณานั้น         การที่จำเลยไม่แสดงให้ชัดแจ้งเพื่อให้ปรากฏแก่ผู้ซื้อ ซึ่งเป็นผู้บริโภคว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา ในขอบมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมกับภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย ดังที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 และแม้ลักษณะที่แสดงตามแผ่นพับจะแสดงว่าทางและที่ดินติดชายหาดเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของโรงแรมและอาคารชุดก็ตาม ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ก็ยังคงมีสถานะเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมอยู่ด้วย         การที่โรงแรมมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ด้วยหาทำให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมไม่ ทั้งทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดนั้น นอกจากทรัพย์สินอื่นๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ยังหมายความถึงทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังบัญญัติความตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15 ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะขึ้นทะเบียนอาคารชุดระบุว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่หรือเจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 66572 และโฉนดเลขที่ 66574 เฉพาะส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของโจทก์โดยปลอดภาระผูกพัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 277 มือถือหาย 4 ปี แต่โดนเรียกเก็บหนี้ย้อนหลัง

        ปัจจุบันอุปกรณ์ที่สำคัญในชีวิตประจำวันสำหรับใครหลายคนไปโดยปริยาย ก็คงไม่พ้นสมาร์ทโฟนเพราะนอกจากใช้โทร ส่งข้อความ ยังใช้ทำได้ทุกอย่างอีกด้วยไม่ว่าจะทำงาน ทำธุรกรรมทางการเงิน ฟังเพลงหรือเล่นโซเชียลต่างๆ  แต่ถ้ามือถือสุดที่รักที่เป็นแทบจะทุกอย่างเลยของเราดันหายไป และแถมยังโดนเรียกเก็บเงินเงินย้อนหลังอีกล่ะ ควรจะทำอย่างไรดี         เหมือนกับเคสของคุณโรส เธอได้มาปรึกษากับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า มีจดหมายแจ้งหนี้มาถึงที่ทำงานของเธอว่า ให้เธอไปชำระหนี้ค่าบริการซึ่งใช้กับมือถือเครื่องเก่า (ที่หายไป) จำนวน 7,400 บาท ซึ่งเบอร์ที่เคยใช้บริการพร้อมกับโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นระยะเวลามันผ่านไป 4 ปีแล้ว          ตอนที่มือถือหายก็ว่าเสียใจมากแล้ว แต่ก็พยายามทำดีสุดในความคิดของเธอคือ รีบแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจและไปที่สำนักงานใหญ่ค่ายมือถือ ตอนนั้นมันช่วงโควิดที่ห้ามการเดินทางโดยไม่จำเป็น  โดยขอให้ค่ายมือถือช่วยตามหาสัญญาณจากเบอร์ของเธอ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถตามหาสัญญาณได้ จึงต้องทำใจปล่อยไป กระทั่งปัจจุบันมีจดหมายส่งมาที่ทำงานของเธอ ทำให้ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ เพราะยอดดังกล่าวนั้นเธอไม่ได้ใช้สิ เพราะเธอได้เปลี่ยนเครื่องใหม่กับเบอร์ใหม่ไปแล้วด้วย อีกอย่างเครื่องเก่าที่หายเธอก็ผ่อนชำระหมดไปแล้วด้วยซ้ำ        อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเรื่องก็ต้องหาทางแก้ไข เธอเลยต้องไปที่ศูนย์บริการค่ายมือถือดังกล่าว (ดีหน่อยไม่ต้องไปถึงสำนักงานใหญ่) พร้อมกับแจ้งเรื่องที่เกิดขึ้น ทางบริษัทมือถือจึงได้แนะนำว่าให้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ โดยขอให้แจ้งความแบบดำเนินคดี (ขอเอกสารตราครุฑ) ไม่ใช่การลงบันทึกประจำวัน หลังจากนั้นนำหลักฐานมาแจ้งความกับทางบริษัทเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณโรสบอกว่า เธอได้ไปแจ้งความตามที่บริษัทแนะนำและได้นำหลักฐานไปแจ้งต่อบริษัทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางบริษัทได้แจ้งต่อเธอว่าจะส่งเรื่องให้ฝ่ายกฎหมายตรวจสอบอีกครั้งผลเป็นอย่างไรจะติดต่อไปอีกครั้ง จนปัจจุบันทางบริษัทยังไม่มีการติดต่อกลับมาฉลาดซื้อ อยากแนะนำเพิ่มเติมว่า          1.ในกรณีมือถือหายแนะนำไปแจ้งความแบบต้องการดำเนินคดี (เอกสารที่ตำรวจออกให้จะต้องมีตราครุฑ         2.นำเอกสารไปแจ้งต่อศูนย์บริการค่ายมือถือทันที เพื่อให้พนักงานระงับการใช้งานเบอร์ดังกล่าวไว้ก่อน และป้องกันนำไปแอบอ้างใช้งานอีกด้วย         3.ในกรณีที่ยังไม่หายก็อยากแนะนำให้โหลดแอปพลิเคชันที่สามารถติดตามสัญญาณตัวเครื่องไว้หน่อย เพื่อไว้มีช่องทางในการตามหาได้ และควรตั้งรหัสมือถือไว้ตลอด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ว่าด้วย “รายการส่งเสริมการขาย” ในโลกของบริการมือถือ

        ในความหมายทั่วไป รายการส่งเสริมการขายหมายถึงข้อเสนอพิเศษที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวเพื่อการส่งเสริมการขาย หรือ Sale Promotion โดยเป็นวิธีการทางการตลาดที่ใช้เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าสนใจและตัดสินใจซื้อสินค้าในทันที ดังนั้นข้อเสนอพิเศษดังกล่าวจึงต้องมีลักษณะ “ว้าว” มากพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและเป็นเรื่องเร่งด่วน นั่นคือเป็นโอกาสที่ต้องรีบคว้าไว้ หากชักช้าอาจพลาดได้         โดยทั่วไปแล้ว รายการส่งเสริมการขายจึงมีลักษณะชั่วคราว จัดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ และบางครั้งมีการตั้งวัตถุประสงค์หรือกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง รูปแบบหลักที่มีการใช้มากที่สุดก็คือ การลด แลก แจก แถม         แต่สำหรับรายการส่งเสริมการขายในโลกของบริการมือถือ จะมีลักษณะที่แตกต่างออกไปในทางตรงกันข้ามเลยทีเดียว กล่าวคือจะเป็นเรื่องของการเสนอขายบริการในลักษณะที่มีการรวมรายละเอียดของบริการต่างๆ เป็นชุด  และเสนอขายเป็นการปกติทั่วไป ไม่มีทั้งการลด แลก แจก แถม และไม่มีความพิเศษหรือเร่งด่วนจนต้องรีบคว้าเอาไว้ หรือต้องรีบตัดสินใจ         ความหมายของรายการส่งเสริมการขายในบริการมือถือแท้จริงแล้วจึงค่อนข้างจะตรงกับคำว่า แพ็กเกจ (Package) ที่แปลว่าการซื้อขายเหมาเป็นชุด ซึ่งในวงการก็มีการใช้สองคำดังกล่าวในลักษณะทดแทนกันอยู่แล้ว         และรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือก็จะมีอยู่มากมายหลายๆ แพ็กเกจ         เมื่อรายการส่งเสริมการขายบริการมือถือคือชุดของบริการที่บรรจุรายละเอียดบริการต่างๆ เอาไว้ จึงเท่ากับเป็นกรอบกำหนดปริมาณและคุณภาพของบริการ เช่นว่า ในแพ็กเกจ ก. อาจใช้บริการโทรได้ 100 นาทีและใช้อินเทอร์เน็ต 5G ความเร็วสูงสุดได้ 10 GB ดังนั้น ในโลกของการให้บริการมือถือ แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายจึงเป็นส่วนที่ใช้ในการโฆษณา ซึ่งจุดนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นประเด็นปัญหาอย่างยิ่ง         ดังที่ผู้บริโภคทั่วไปคงรู้สึกได้ว่า ในวงการโทรคมนาคมด้านบริการมือถือ มีการโฆษณาที่เข้าข่ายเกินจริง มีการใช้คำหรือข้อความโฆษณาลักษณะ เร็วสุด, แรงสุด, ทั่วไทย ฯลฯ กันเป็นปกติ และยังมีปัญหาลักษณะการยัดเยียดโฆษณาจนเป็นการรบกวนผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาลักษณะของการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายไม่ชัดเจนเพียงพอด้วย ตัวอย่างเช่น รายการส่งเสริมการขายมีข้อกำหนดว่าโทรฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แต่มีเงื่อนไขในรายละเอียดพ่วงด้วยว่า ส่วนที่ฟรีนั้นจำกัดเฉพาะในส่วน 30 นาทีแรกของการโทรแต่ละครั้งเท่านั้น แต่ในการโฆษณาหรือแจ้งรายการส่งเสริมการขายดังกล่าวไม่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขรายละเอียดนี้         ปัญหาประการสำคัญในส่วนนี้คือ การไม่ได้รับบริการที่เป็นไปตามรายการส่งเสริมการขาย ทั้งๆ ที่ในทางกฎหมายแล้ว แพ็กเกจหรือรายการส่งเสริมการขายของบริการมือถือย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา โดยคุณภาพบริการที่ใช้งานได้จริงต้องเป็นไปตามที่พรรณนาหรือบรรยายไว้ในการโฆษณารายการส่งเสริมการขาย เรื่องนี้มีปัญหามากในส่วนบริการอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการไม่ได้ความเร็วตามกำหนด หรือใช้ได้ไม่ครบตามปริมาณที่กำหนด         ปัญหาอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับรายการส่งเสริมการขายที่ผู้บริโภคมักประสบเป็นเรื่องของการเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขาย โดยมีปัญหาทั้งในลักษณะไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือถูกทางบริษัทผู้ให้บริการเปลี่ยนให้โดยพลการ ปัญหาทั้งสองลักษณะเท่ากับเป็นการจำกัดหรือละเมิดสิทธิการเลือกบริการของผู้บริโภค ทำให้ต้องผูกติดอยู่กับแพ็กเกจใดแพ็กเกจหนึ่ง หรือถูกบังคับใช้แพ็กเกจตามความพึงพอใจของบริษัทผู้ให้บริการ         ปัญหาประการหลังสุดนี้ขัดกับสิทธิผู้บริโภคประการที่ 2 ใน 5 ประการที่พระราชบัญญัติฃคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้ว่าเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครอง นั่นคือ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ แต่ในส่วนของกฎหมาย กสทช. ไม่มีข้อกำหนดโดยตรงในเรื่องนี้ มีเพียงข้อกำหนดที่ว่า กรณีผู้ใช้บริการมิได้ปฏิเสธข้อเสนอใด จะถือว่าตกลงใช้บริการไม่ได้         ส่วนในเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณา แม้กสทช. จะไม่ได้มีกฎหมายกำกับควบคุม แต่ในมิติของการให้ข้อมูลที่เพียงพอ ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการให้บริการโทรคมนาคมในแต่ละบริการอย่างชัดเจนและครบถ้วน ผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย ซี่งตรงกับสิทธิของผู้บริโภคตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 บัญญัติไว้เป็นสิทธิประการที่ 1 นั่นคือ สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ         ส่วนประเด็นเรื่องการให้บริการที่ต้องเป็นไปตามสัญญา รวมถึงโฆษณา เป็นไปตามหลักที่ว่า โฆษณาถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ดังนั้น เมื่อรายการส่งเสริมกำหนดไว้อย่างไร บริการที่ผู้บริโภคได้รับย่อมต้องเป็นไปตามนั้น         ในโลกของบริการมือถือ รายการส่งเสริมการขาย จึงไม่ใช่การส่งเสริมการขาย แต่คือสาระสำคัญของบริการที่ผูกโยงกับปัญหาที่ผู้บริโภคอาจประสบและเกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ข้อสัญญาที่กำหนดว่า “ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี” ใช้บังคับได้หรือไม่ (ตอนที่ 2)

        จากความเดิมในฉบับที่แล้ว ผู้ประกอบธุรกิจบางรายมักจะเขียนเงื่อนไขในสัญญาว่า ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี สามารถกระทำได้หรือไม่ เรื่องนี้มีตัวอย่างปัญหาผู้บริโภคขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกามีการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะข้อสัญญาดังกล่าว โดยถือว่าเป็นการใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563         ...ดูก่อนหน้าจากฉบับ 273         อย่างไรก็ตามหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย ศ.  และจำเลยไม่อาจริบเงินได้  เท่ากับจำเลยต้องรับผิดคืนเงินแก่นาย  ศ. แม้เป็นกรณีที่นาย  ศ. ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการต้องรับภาระที่หนักกว่าของจำเลยเมื่อเปรียบเทียบกับของนาย  ศ.  ดังนี้  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษที่จำเลยกำหนดให้ตนไม่ต้องคืนเงินจองแก่นาย ศ. ในทุกกรณี  ซึ่งย่อมรวมถึงกรณีที่การซื้อขายมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยและด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้รวมอยู่ด้วยนั้น  จึงเป็นข้อตกลงที่ทำให้นาย  ศ. ซึ่งเป็นผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญารวมอยู่ด้วย  ข้อสัญญาส่วนนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ.  ๒๕๔๐  มาตรา  ๔ มีผลให้ใช้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ซึ่งหมายถึงหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเฉพาะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  จำเลยชอบจะใช้สิทธิริบเงินซึ่งเป็นมัดจำตามข้อตกลงส่วนนี้ได้ เมื่อการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ที่ไม่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่นาย  ศ. ปฏิเสธคำเสนอที่อนุมัติให้สินเชื่อและเกิดจากการที่นาย  ศ. ละเลยไม่เสนอขอให้บริษัทเมอร์ซิเดส  เบนซ์  ลีสซิ่ง  จำกัด  พิจารณาสินเชื่อแก่ตนในเงื่อนไขอื่นแล้วทำคำเสนอใหม่แก่ตน ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกสัญญาจองระหว่างนาย  ศ. กับจำเลย เมื่อการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  จำเลยจึงมีสิทธิริบเงินมัดจำ  200,000  บาท  ได้          อย่างไรก็ตามกรณีอยู่ใต้บังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ. 2540 มาตรา 7 ที่บัญญัติว่า  “ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ  หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ  ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน  ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้” แม้การดำเนินการเพื่อให้ได้สินเชื่อไม่เกิดขึ้นโดยเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  แต่ผู้ประกอบธุรกิจในฐานะเช่นจำเลยซึ่งเป็นผู้ให้บริการแก่ลูกค้า  ชอบที่จะแจ้งเตือนให้นาย  ศ. ดำเนินการเพื่อให้ขอสินเชื่อภายใต้เงื่อนไขใหม่  ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจเช่นจำเลย  นอกจากจะรักษาผลประโยชน์ในทางธุรกิจของตนตามที่ควรจะได้รับโดยชอบแล้ว  ยังมีหน้าที่ต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ที่นาย ศ. ผู้ซื้ออันเป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการจากตนพึงได้รับตามสมควรด้วย  การที่จำเลยละเลยไม่แจ้งเตือนนาย  ศ. ว่าสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการอนุมัติสินเชื่อได้เพื่อให้นาย ศ. ทราบถึงสิทธิที่จะต่อรองเจรจาเพื่อขอสินเชื่อต่อไปซึ่งอาจทำให้การขอสินเชื่อสำเร็จได้ในเงื่อนไขที่เห็นชอบทั้งสองฝ่าย แต่จำเลยไม่กระทำ  จำเลยกลับใช้สิทธิริบเงินมัดจำตามข้อตกลงแล้วขายรถยนต์พิพาทให้แก่ผู้อื่นไปโดยไม่ได้ให้โอกาสแก่นาย  ศ. ที่จะรักษาประโยชน์ของตนซึ่งเป็นผู้บริโภคตามสมควร  ทั้งจะเป็นการรักษาประโยชน์ของจำเลยไปในขณะเดียวกันเพื่อให้ขายรถยนต์พิพาทที่มีอุปกรณ์พิเศษแก่นาย  ศ. ได้โดยไม่ขาดทุน         การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมไม่ใช่มาตรฐานปกติประเพณีการค้าที่พึงปฏิบัติต่อผู้บริโภค  ดังนี้  การที่จำเลยต้องขายรถยนต์พิพาทไปในราคาขาดทุนดังจำเลยอ้าง  จำเลยจึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วย  เมื่อคดีไม่ปรากฏความเสียหายที่แท้จริงจากข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบและเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ที่จำเลยมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายอยู่ด้วย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยริบเงินมัดจำได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงที่กำหนดให้  120,000 บาท  จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำ  80,000 บาท  แก่นาย  ศ.  และกรณีเป็นเรื่องการคืนมัดจำที่สูงเกินส่วนตามที่ศาลกำหนด  หาใช่กรณีจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือเป็นกรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมจากการเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  224  วรรคหนึ่ง  และมาตรา  391  วรรคสองไม่  จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าดอกเบี้ยนับแต่รับเงินมัดจำไว้  อย่างไรก็ตาม  เมื่อเป็นหนี้เงินและความรับผิดเกิดแต่คำพิพากษาของศาล  จึงกำหนดให้จำเลยรับผิดค่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  7.5 ต่อปี  ของต้นเงิน  80,000 บาท  นับแต่วันอ่านคำพิพากษาเป็นต้นไป        สรุปว่า หากการซื้อขายระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจไม่เกิดขึ้นเฉพาะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย  ศ.  ผู้ประกอบธุรกิจชอบจะใช้สิทธิริบเงินซึ่งเป็นมัดจำตามข้อตกลงส่วนนี้ได้  และในคดีนี้ ศาลยังเห็นว่า เงินมัดจำนั้น หากผู้ประกอบธุรกิจเรียกเก็บสูงเกินไป ศาลมีอำนาจศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 ข้อสัญญาที่กำหนดว่า “ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี” ใช้บังคับได้หรือไม่ (ตอนที่ 1)

        ปัจจุบันเราจะพบว่า ปัญหาการเอาเปรียบผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจใช้สัญญาที่ตนเขียนขึ้นมาฝ่ายเดียวและมีการกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค กรณีที่พบเจอบ่อยๆ คือ เรื่องของการริบเงินมัดจำ ซึ่งแน่นอนว่ามัดจำเป็นเงินที่ผู้ประกอบธุรกิจอาจริบได้ หากผู้บริโภคไม่เข้าทำสัญญา อย่างไรก็ตามเราจะพบว่า ผู้ประกอบธุรกิจบางรายมักจะเขียนเงื่อนไขในสัญญาว่า ไม่คืนเงินมัดจำทุกกรณี จึงมีประเด็นว่าการกำหนดไว้เช่นนี้ใช้บังคับได้หรือไม่เพียงใด  ซึ่งเรื่องนี้ก็มีตัวอย่างปัญหาผู้บริโภคขึ้นสู่ศาล และศาลฏีกาได้มีการวินิจฉัยเกี่ยวกับการกำหนดลักษณะข้อสัญญาดังกล่าว โดยถือว่าเป็นการใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ให้ใช้บังคับได้เท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น  ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563          คำพิพากษาฎีกาที่ 8424/2563         ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา  เรื่อง  ให้ธุรกิจการขายรถยนต์ที่มีการจองเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา  พ.ศ. 2551   เอกสารหมาย  จ.13  ออกโดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา  ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ.  2522  มาตรา  35  ทวิ  จึงมีผลใช้บังคับตามกฎหมาย ความตามข้อ  3  (4)  ของประกาศกำหนดว่า  “ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิบอกเลิกสัญญา  หากมีข้อเท็จจริงที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับทราบว่า  ผู้บริโภคต้องขอสินเชื่อเพื่อการซื้อรถยนต์ และผู้บริโภคไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอภายในกำหนดเวลาตาม  (2)” ความตามข้อ  3  (2)  กำหนดว่า  “กำหนดเวลาที่คาดว่าจะส่งมอบรถยนต์”  ความตามข้อ  3  (5)  กำหนดว่า  “เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาตาม  (3)  หรือ  (4)  แล้ว  ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินหรือสิ่งใดที่รับไว้เป็นมัดจำทั้งหมดแก่ผู้บริโภคภายใน  15  วัน”  และความตาม  ข้อ  4  กำหนดว่า  “ข้อสัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคต้องไม่ใช้ข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือมีความหมายทำนองเดียวกัน  ดังต่อไปนี้  ...(2)  ข้อสัญญาที่ให้สิทธิผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาการส่งมอบรถยนต์หรือเงื่อนไขต่าง ๆ  ตามที่กำหนดในสัญญาจองรถยนต์  ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญา...” ดังนี้          การวินิจฉัยว่า  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่  จึงต้องพิจารณาว่า  เป็นข้อตกลงที่ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญาหรือไม่         เมื่อได้ความว่าขณะสั่งจองรถยนต์นาย  ศ. ทราบดีว่า  จำเลยต้องมีค่าใช้จ่ายเป็นต้นทุนพิเศษต่างหากจากรถยนต์รุ่นปกติทั่วไปที่จำเลยต้องเสียไปในการสั่งรถยนต์นำเข้ามาให้แก่นาย  ศ. เป็นการเฉพาะ  และทราบดีถึงการที่จำเลยไม่อาจจำหน่ายรถยนต์นั้นเป็นการทั่วไปในท้องตลาดได้ดังเช่นรถยนต์รุ่นปกติ  แต่นาย ศ. ก็ยังยืนยันประสงค์จะให้จำเลยสั่งรถยนต์ที่มีอุปกรณ์พิเศษเช่นนั้นจากผู้ผลิตและประกอบรถยนต์ในต่างประเทศเข้ามาเพื่อความประสงค์ของตนเป็นการเฉพาะเจาะจง  โดยนาย ศ. ยินยอมตกลงกับจำเลยในเงื่อนไขไม่ต้องคืนเงินจองให้ไม่ว่ากรณีใด  ซึ่งหมายความว่า  ในกรณีการซื้อขายไม่เกิดขึ้น  นาย ศ. ยินดีให้จำเลยริบเงินจองนั้นได้         เมื่อพิเคราะห์ถึงความรู้  ความเข้าใจ  สถานะของนาย  ศ. ที่เป็นกรรมการของบริษัทจำกัด  ตลอดจนอำนาจต่อรองและทางเลือกอย่างอื่นรวมทั้งทางได้เสียทุกอย่างของทั้งสองฝ่าย  ประกอบปกติประเพณีของการทำสัญญาจองรถยนต์กับโอกาสที่นาย  ศ.  มีในการไตร่ตรองทบทวนข้อตกลงไม่คืนเงิน  เวลาและสถานที่ในการทำสัญญาของนาย  ศ.  แล้ว  เห็นว่า  หากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยก็ดีหรือด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้ก็ดี  ย่อมเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจที่จำเลยต้องรับผิดชอบและจำเลยจะแสวงประโยชน์จากข้อตกลงให้ริบเงินนั้นมิได้  เพราะมิได้เกิดแต่การกระทำของนาย  ศ. อย่างไรก็ตามหากการซื้อขายระหว่างจำเลยกับนาย  ศ. ไม่เกิดขึ้นเพราะเหตุอันเกิดแต่การกระทำของนาย ศ.  และจำเลยไม่อาจริบเงินได้  เท่ากับจำเลยต้องรับผิดคืนเงินแก่นาย  ศ. แม้เป็นกรณีที่นาย  ศ. ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการต้องรับภาระที่หนักกว่าของจำเลยเมื่อเปรียบเทียบกับของนาย  ศ.  ดังนี้  ข้อตกลงไม่คืนเงินจองกรณีสั่งซื้อรถที่มีคำสั่งซื้อพิเศษที่จำเลยกำหนดให้ตนไม่ต้องคืนเงินจองแก่นาย ศ. ในทุกกรณี  ซึ่งย่อมรวมถึงกรณีที่การซื้อขายมิได้เกิดขึ้นเพราะความผิดของฝ่ายจำเลยและด้วยเหตุอันจะโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้รวมอยู่ด้วยนั้น  จึงเป็นข้อตกลงที่ทำให้นาย  ศ. ซึ่งเป็นผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มขึ้นมากกว่าภาระที่เป็นอยู่ในเวลาทำสัญญารวมอยู่ด้วย  ข้อสัญญาส่วนนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม  พ.ศ.  ๒๕๔๐  มาตรา  ๔ มีผลให้ใช้บังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น...อ่านตอนที่ 2 ได้ที่ฉบับ 274   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 271 อยากเลิกต้องเลิกได้

        เขียนเรื่องเลิกอีกแล้วไม่ใช่เพราะหมกมุ่นกับการเลิกหรอกนะ แต่เพราะในช่วงนี้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ถูกปฏิเสธไม่ให้ยกเลิกบริการอินเทอร์เน็ต เว้นแต่จะต้องจ่ายค่าปรับอุปกรณ์และค่าแรกเข้าที่ทางเครือข่ายผู้ให้บริการอ้างว่าได้ยกเว้นให้เมื่อตอนสมัครใช้บริการ โดยแลกกับการต้องอยู่ใช้บริการกันไปไม่น้อยกว่า 1 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น...ก็แล้วแต่จะกล่าวอ้างกันไป         อย่างที่เคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้แล้วว่า ตามกติกาที่ กสทช. กำหนดนั้น มีการให้สิทธิผู้ใช้บริการในการยกเลิกบริการได้เสมอ ดังที่ระบุไว้ในข้อ 32 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 (แม้เป็นประกาศของ กทช. แต่ก็มีผลใช้บังคับต่อมาจนถึงยุค กสทช.) ว่า        “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ” ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับ”        ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเหตุที่ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันทีไว้ 4 ประการ เช่น ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา        ตามนัยของข้อ 32 นี้จึงเท่ากับว่า ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิที่จะขอยกเลิกสัญญาหรือเลิกใช้บริการเมื่อไรก็ได้ เพียงแต่จะต้องแจ้งผู้ให้บริการทราบแบบเป็นลายลักษณ์อักษร โดยที่การยกเลิกจะมีผลในอีก 5 วันหลังการแจ้งนั้น การยกเลิกนี้จะมีเหตุผลอะไรอย่างไรหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็น กล่าวคือ ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลหรือแสดงเหตุผลอันใด แค่อยากเลิกก็เลิกได้         ส่วนกรณีที่การใช้บริการมีปัญหา เมื่อแจ้งยกเลิกแล้ว ตามกฎหมายก็ถือว่ามีผลทันทีเลย เพียงแต่ว่าเรื่องยุ่งยากมักตามมาในแง่ที่ว่า ผู้ให้บริการอาจไม่ยอมรับว่าบริการมีปัญหาตามที่ผู้บริโภคกล่าวอ้าง จากนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงและพิสูจน์กันยืดยาว        อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายอนุญาตให้ผู้บริโภคยกเลิกบริการโทรคมนาคมเมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ แต่สำหรับกรณีที่มีการรับมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อสัญญาสิ้นสุดก็ต้องส่งคืนอุปกรณ์เหล่านั้นแก่ผู้ให้บริการด้วย ซึ่งในกรณีอินเทอร์เน็ตบ้าน อย่างน้อยต้องมีเราเตอร์ ซึ่งหากเสียหายหรือไม่มีคืนให้ ก็ต้องชดใช้ตามราคาจริงในตลาดขณะนั้น        ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า ถ้าหากผู้บริโภคคนใดไม่ต้องการใช้บริการโทรคมนาคมใดอีกต่อไปแล้ว ก็มีหน้าที่เพียงแค่บอกเลิกกันไปให้เป็นเรื่องเป็นราว และ “มีหลักฐาน” ส่วนข้าวของก็ส่งคืนให้ครบถ้วน หากมีการสูญหายหรือสึกหรอก็ต้องชดใช้ตามสัดส่วน แต่สำหรับเรื่องของ “ค่าปรับ” ตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ผู้ให้บริการเรียกเก็บ “ค่าปรับ” ใดๆ จากผู้บริโภคได้ทั้งสิ้น         กติกามีความตรงไปตรงมาเช่นนี้ และตั้งอยู่บนหลักการที่ค่อนข้างเรียบง่าย ซึ่งให้ความคุ้มครองทั้งสองฝ่ายเสมอภาคกัน  เพียงแต่ว่าในโลกความเป็นจริงมักมีเรื่องซับซ้อนกว่านั้น เช่นว่า บริการเน็ตบ้านมักถูกเสนอขายพ่วงมากับบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ กล่องรับชมรายการโทรทัศน์ หรือกระทั่งเครื่องโทรศัพท์มือถือ        ถ้าเน็ตบ้านเป็นบริการหลัก ซึ่งในทางกฎหมายเท่ากับสัญญาใช้บริการเน็ตบ้านคือสัญญาหลัก เมื่อสัญญาหลักเลิกกันแล้วจึงมักมีประเด็นว่า แล้วบริการพ่วงอื่นๆ จะอยู่ในสถานะใด ความซับซ้อนจึงเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในแง่ที่ว่า ผู้บริโภคอาจยังประสงค์ใช้บริการอื่นๆ อยู่ เช่น ยังอยากเก็บกล่องไว้ดูทีวีต่อไป  หรือผู้บริโภคบางคนอาจเพียงแค่ลืมไปแล้วว่า “ตอนนั้น” มี “ซิมฟรี” ให้มาด้วยนะ แต่ด้วยความที่ไม่เคยได้เอามาใช้เลย จึงไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนแล้ว และไม่คิดว่าต้องทำอะไรกับซิมนั้นทั้งสิ้น จนกระทั่งเดือนถัดมา คราวนี้ก็ว้าวุ่นเลย เนื่องจากถูกเรียกเก็บค่าบริการ บางรายการเป็นการเรียกเก็บในอัตราที่เพิ่มขึ้น บางรายการเป็นสิ่งที่โผล่มาใหม่ จากที่ไม่เคยมีการเรียกเก็บมาก่อน        เบื้องหลังของสิ่งที่เกิดขึ้น ในมุมของผู้ให้บริการอธิบายได้ว่า เมื่อการรับชมช่องรายการโทรทัศน์ไม่ใช่บริการที่พ่วงกับอินเทอร์เน็ตที่เป็นบริการหลักแล้ว ค่าบริการที่เคยคิดในอัตราลดพิเศษก็ต้องถูกคิดแบบเต็มจำนวน ส่วนซิมโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นการให้บริการแบบรายเดือนในอัตราเหมาจ่าย เพียงแต่ที่ผ่านมาอยู่ในฐานะบริการแถม จึงไม่เคยมีการเรียกเก็บค่าบริการ แต่เมื่อสัญญาหลักหมดไป ก็กลับสู่การคิดค่าบริการตามปกติ        ในชีวิตจริงของการเลิกเน็ตบ้านที่มีบริการต่างๆ พ่วงอยู่ด้วยจึงไม่ง่ายนัก         ในทางปฏิบัติ ผู้บริโภคจึงจำเป็นต้องตัดสินใจในส่วนของบริการพ่วงทั้งหลายด้วยว่าจะเอาอย่างไร ส่วนใดที่ไม่ได้จะใช้ต่อไปหรือไม่เคยใช้ก็ต้องยื่นยกเลิกไปพร้อมกัน ส่วนบริการที่อยากเก็บไว้ ก็ควรต้องทำสัญญาหรือทำความตกลงกันใหม่ให้มีความชัดเจน ว่าบริการส่วนนั้นๆ จะมีอัตราค่าบริการเป็นอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรบ้างหรือไม่        และเพื่อหลีกเลี่ยงความว้าวุ่นในอนาคต ควรที่จะเก็บหลักฐานการยกเลิกบริการทั้งหลายเอาไว้สักระยะหนึ่งด้วย เผื่อไว้สำหรับกรณีมีการเรียกเก็บค่าบริการขึ้นมาอีกในภายหลัง เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีเรื่องร้องเรียนจำนวนหนึ่งที่ผู้บริโภคประสบปัญหาว่ายังคงถูกเรียกเก็บค่าบริการส่วนที่ยกเลิกไปแล้ว ซึ่งถ้าหากมีหลักฐานก็จะทำให้ไม่ต้องยุ่งยากในการพิสูจน์ และไม่ต้องโต้แย้งกันโดยยากจะหาข้อยุติ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ไม่ให้สัญญากู้ยืมเงินแก่ผู้กู้ได้หรือไม่

        ปัจจุบันอัตราภาวะเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่ายภายในครอบครัว เงินสดทันใจก็เป็นที่พึ่งของใครหลายคนผู้ให้กู้ก็มีหลายเจ้า เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว แต่...         ภูผามีค่าใช้จ่ายเพิ่มพูนขึ้นจำนวนมากเดือดร้อนหนักชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องการหาเงินมาหมุนเพื่อครอบครัวของเขาสามารถไปต่อได้ เขาเห็นโฆษณาของบริษัทสินเชื่อสีฟ้าแถวบ้าน ซึ่งมีสาขามากมายทั่วประเทศ ให้กู้ง่าย สะดวก รวดเร็ว แค่มีโฉนดที่ดินก็กู้ได้ ไม่ต้องจำนองด้วย เขาจึงลองเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทสินเชื่อสาขาใกล้บ้านเจ้านั้น เมื่อดูท่าทีว่ามีความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่และบริษัทสินเชื่อที่มีโฆษณาทางทีวี เขาจึงนำโฉนดที่ดินที่เป็นที่สวนของตัวเองเข้าไปกู้ยืมเงินกับบริษัทสินเชื่อ โดยเขากู้เงิน 150,000 บาท เซ็นชื่อในเอกสารของบริษัทเรียบร้อย มีการหักค่าธรรมเนียม ค่าดำเนินการอะไรต่างๆ ของบริษัทประมาณ 3,000 บาท เจ้าหน้าที่ของบริษัทก็ให้บัตรมาใบหนึ่งมีรายละเอียดว่าให้ชำระหนี้ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน หลังจากดำเนินการเรื่องเอกสารเรียบร้อยสักประมาณ 1 ชั่วโมงก็มีเงินโอนเข้าบัญชีเงินฝากเขาจากบริษัท         หลังจากกู้เงินมาได้ 1 สัปดาห์ เขาก็เล่าให้ลูกชายว่าไปกู้เงินกับบริษัทสีฟ้ามา ลูกชายก็บ่นๆ เขา ว่าทำไมพ่อไม่บอก ไม่น่าไปกู้เงินมาเลย ลูกชายเขาจะได้หาทางช่วย ลูกชายขอพ่อดูสัญญากู้ เขาบอกว่าบริษัทให้บัตรรายละเอียดที่ต้องชำระเงินมา ไม่รู้ว่าบัตรนี้เรียกสัญญาไหม เมื่อเขาคุยกับลูกชายไปมาก็ถึงบางอ้อว่า เอกสารที่บอกว่ากู้เงินกี่บาท ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ต้องชำระยังไง เขาเรียกว่าสัญญา ก็คือเอกสารที่เขาได้เซ็นไปนั่นแหละ สรุปว่าภูผาไม่ได้สัญญากลับมา         พอเห็นว่าพ่อไม่ได้สัญญามาไว้กับตัว ลูกชายจึงให้เขาไปขอสัญญาเงินกู้กับบริษัทสินเชื่อ เมื่อภูผาไปขอสัญญาจากบริษัทฯ พนักงานบริษัทฯ ก็บอกว่าเดี๋ยวให้ๆ วันนี้กลับไปก่อนนะครับ จนเวลาได้ล่วงเลยมา 2 เดือนหลังจากกู้ยืมเงิน ลูกชายเขาเข้าใจว่าบริษัทในฐานะผู้ให้กู้ต้องให้สัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่วันที่ให้พ่อของเขากู้ไม่ใช่หรอ นี่ไปของสัญญากู้ตั้งนานแล้วทำไมยังไม่ได้ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา         ลูกชายของผู้ร้องเข้าใจถูกแล้วว่าเมื่อกู้ยืมเงินกันสัญญากู้ต้องทำเป็นสองฉบับ ฉบับหนึ่งผู้ให้กู้เก็บไว้ ส่วนอีกฉบับหนึ่งให้ผู้กู้เก็บไว้ หรือทำสัญญาฉบับเดียวแล้วถ่ายสำเนาสัญญากู้ให้อีกพร้อมหนึ่งเก็บไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย         ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๔ ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดอย่างชัดเจนไว้ว่า “ผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งมอบสำเนาหรือคู่ฉบับสัญญาเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินให้แก่ผู้บริโภคไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับทันทีที่ผู้บริโภคลงนามในสัญญา” ดังนั้นบริษัทสีฟ้าต้องส่งมอบสัญญาให้ผู้ร้องทันทีเมื่อได้เซ็นสัญญากัน หากไม่ทำตามมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         ทั้งนี้ผู้ร้องสามารถดำเนินการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงและให้บริษัทสินเชื่อส่งสัญญาให้ผู้ร้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 คอนโดฯ สร้างไม่เสร็จตามกำหนด ผู้บริโภครวมพลังขอยกเลิกสัญญา ทวงเงินคืน

        ...ผ่อนดาวน์จนครบแล้ว แต่คอนโดฯ ก็ยังสร้างไม่เสร็จ พอติดต่อไปขอให้คืนเงิน ก็ติดต่อไม่ได้เลย อยากได้เงินคืนมาก ทำยังไงดี...         ...ไปฟ้องศาลคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อขอเงินดาวน์ทั้งหมดคืน จนบริษัทส่งตัวแทนขอไกล่เกลี่ยผ่อนชำระ 4 งวด แต่หลังจากนั้นกลับไม่เคยได้รับเงิน แถมติดต่อใครไม่ได้เลยในทุกช่องทาง...         นี่คือตัวอย่างเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้เสียหาย ในกรณีคอนโดฯ สร้างไม่เสร็จตามกำหนดที่ปรากฎเป็นข่าวฮือฮาบนหน้าสื่อเมื่อไม่นานมานี้ จนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ซึ่งแม้บริษัทเจ้าของโครงการจะออกมาชี้แจงแสดงความรับผิดชอบแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ตามมา กลุ่มผู้เสียหายส่วนหนึ่งจึงหมดความอดทนที่จะรอคอยอย่างไร้ความหวังอีกต่อไป         จนกระทั่งเมื่อ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา กลุ่มผู้เสียหายนับร้อยคนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม 4 ปีแต่สร้างไม่เสร็จตามสัญญานี้ ได้รวมพลังเข้าร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอให้ช่วยดำเนินการทางกฎหมายกับ บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างคอนโดฯ 5 แห่งในย่านต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ที่สร้างไม่เสร็จตามกำหนดดังที่เป็นข่าว โดยผู้เสียหายทุกคนเห็นตรงกันว่า “ต้องการยกเลิกสัญญา” และ “เรียกเงินคืนทั้งหมด”         ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมกันได้ข้อสรุปว่า เบื้องต้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะดำเนินการในขั้นตอนเชิญผู้ประกอบการมาเจรจาไกล่เกลี่ย และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือในการแก้ปัญหาในครั้งนี้ แต่หากไม่มาตามนัดจะยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการบังคับคดี-อายัดทรัพย์ เพื่อนำเงินมาเฉลี่ยคืนให้ผู้เสียหายต่อไป         ในวันนั้น  “ฉลาดซื้อ” ได้คุยกับ คุณมนตรี เหมวิจิตร ซึ่งเป็นผู้เสียหายหนึ่งในกลุ่มนี้ เขาได้เล่าถึงมูลค่าความเสียหายของตนและครอบครัวว่า         “ผมและครอบครัวได้ซื้อคอนโดฯ โครงการของบริษัทนี้ที่พหลโยธิน ทั้งผม ภรรยาและครอบครัว ซื้อรวมกัน 5 ห้อง เราก็ทำสัญญาจ่ายเงินจองแล้วก็ผ่อนงวดดาวน์ตามปกติ ส่วนของผมและภรรยา จ่ายครบ 36 งวดแล้ว ส่วนของลูกชายยังไม่ครบจ่ายไปได้เพียง 26 งวดเท่านั้น โดยรวมแล้วผมกับครอบครัวจ่ายเงินไปแล้วคิดเป็นมูลค่าโดยประมาณ 2,299,000 บาท” ซื้อคอนโดฯ โครงการนี้ถึง 5 ห้อง         ตอนนั้นเหตุผลที่ซื้อก็เพราะเราเชื่อมั่นในโครงการฯ เนื่องจากบริษัทก็เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์เราเชื่อว่าบริษัทสามารถที่จะดำเนินการจนลุล่วงได้ เมื่อเกิดปัญหาก่อนหน้านี้ได้ไปร้องเรียนเรื่องที่ใดมาบ้าง         ผมเองยังไม่ได้ไปสักที่เลย เนื่องจากว่าในสัญญานั้นครบกำหนดคือสิ้นธันวาคม 2564 แล้วในสัญญาก็เขียนว่าสามารถจะต่อสัญญาได้อีก 1-2 เดือน ก็ประมาณมกราคม กุมภาพันธ์ (2565) ประกอบกับเรื่องของโควิด-19 เข้ามา ผมเลยยังไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ แต่ผมเองก็ได้โทร.เข้าไปที่บริษัท 3 - 4 ครั้งได้รับคำตอบทุกครั้งว่า “เดี๋ยวจะติดต่อกลับ” พอผ่านมาถึงเดือนมีนาคม เมษายนแล้วเลยโทร.ไปอีกที มีคนรับสายนะแต่บอกว่าจะนัดคุยเจรจาแล้วก็เงียบหายไปอีก เรามองว่าทำอย่างนี้ไม่ได้นะไม่เหมาะสมเลย เนื่องจากบริษัทนี้ก็เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เราเคยเชื่อมั่นว่าบริษัทต้องสามารถที่จะทำตามกฎของตลาดด้วยคือเรื่องของจรรยาบรรณตามมาตรฐานตลาดหลักทรัพย์ คือสิ่งที่เรามองว่าเขาควรจะต้องทำให้ถูกต้อง ทำไมจึงตัดสินใจรวมกลุ่มกันมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ผมรู้สึกว่าคงไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้ว เพราะบริษัทนี้คงไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามสัญญาได้ แล้วเราเชื่อมั่นในมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะเป็นตัวแทนของผู้บริโภคเพื่อรักษาสิทธิอันชอบธรรมของเรา เงินทุกบาททุกสตางค์ของพวกเราทุกคนที่มาร้องเรียนนี้ เราก็อยากจะได้คืนเนื่องจากว่าเราก็ผิดหวังที่ไม่ได้ห้องในโครงการแล้วแต่ทำไมไม่คืนเงินเราล่ะ นั่นคือสิ่งที่อยากให้มูลนิธิฯ เข้ามาช่วยเหลือพวกเรา หวังว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งหลายได้ปฏิบัติตามสัญญาอย่างถูกต้องเหมาะสมและยุติธรรม เราเห็นว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่เราจะอาศัยหน่วยงานสาธารณกุศลนี้ช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้ทุกฝ่ายได้เข้ามาเรียกร้องสิทธิ คิดว่าการที่เรามีปัญหาแล้วรวบรวมกันมา จะดีกว่าที่เราใช้สิทธิตรงนี้คนเดียวไหม         โดยส่วนตัวเท่าที่ผมดู หลายคนใช้สิทธิคนเดียวสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ขึ้นอยู่กับความหนักเบา และความรุนแรง ในกรณีนี้ผมเห็นหลายๆ คนก็ไปสคบ.(สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) กว่าจะเจรจากว่าจะไกล่เกลี่ยก็ใช้เวลา 3 - 4 เดือนกันเป็นแถว ถ้าคนที่ไปยื่นสคบ. เมื่อเดือนมีนาคม เมษายน พฤษภาคม พอถึงมิถุนายนที่พวกผมมาวันนี้ก็ไม่ต่างกัน ผมว่าถ้าไป 1 คนที่ สคบ. กว่าจะเจรจาส่งตัวแทนมาขอเลื่อนนัดก็หมดเวลาแล้วครับ ผมเชื่อว่าพลังของมดตัวน้อยๆ จากหลายๆ คนที่มารวมกันวันนี้จะเป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ผู้ประกอบการหันมาใส่ใจในสิทธิของผู้บริโภคด้วย สำหรับคนอื่นที่กำลังประสบปัญหาเหมือนกับเราจะแนะนำเขาอย่างไร         ผมอยากให้ผู้บริโภคที่มีปัญหาไม่ว่าจะเป็นบริษัทใดก็ตาม ขอให้ออกมาเรียกร้องสิทธิและมารวมตัวกันไปหน่วยงานที่เขาช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างที่นี่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอให้ผู้เสียหายรวมตัวกัน แล้วมูลนิธิฯ จะเป็นแกนนำของผู้บริโภคได้ นี่คือความตั้งใจและความศรัทธาในมูลนิธิฯ ครับ        “ผมและทุกคนที่มาในวันนี้ อยากให้กรณีนี้เป็นแรงบันดาลใจ เพื่อที่จะให้ผู้บริโภคลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิที่ควรจะได้รับ การมารวมพลังกันนี่แหละครับคือความสำคัญ” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 แฝงสัญญาค้ำประกันในการเช่าซื้อข้อตกลงให้รับผิดแบบลูกหนี้ร่วม ใช้บังคับได้หรือไม่

        สวัสดีทุกท่านครับ  ในฉบับนี้มีเรื่องน่าสนใจเป็นเรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าซื้อที่มีรูปแบบการทำสัญญาที่แปลกและน่าสนใจ คือผู้ให้เช่าซื้อทำสัญญากับผู้เช่าซื้อที่เป็นผู้บริโภครายหนึ่ง แต่มีการให้บุคคลที่มิใช่ผู้เช่าซื้ออีกคนหนึ่งมาร่วมทำสัญญาและให้ร่วมรับผิดด้วย         โดยบุคคลนี้ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ ตามสัญญา แต่หากเกิดการผิดนัด ผิดสัญญาต้องมาร่วมรับผิดกับผู้เช่าซื้อด้วย เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นสู่ศาล ฝ่ายผู้ให้เช่าซื้อก็มาฟ้องบุคคลที่ร่วมทำสัญญาคนดังกล่าวมาร่วมรับผิดโดยอ้างว่ามีข้อตกลงในสัญญา คดีนี้ศาลมองเจตนาของการทำสัญญา ปกติประเพณีการทำสัญญาเช่าซื้อโดยทั่วไป ก็ไม่มีการทำสัญญาลักษณะแบบนี้และตั้งข้อสงสัยว่า เป็นเรื่องที่ผู้ให้เช่าซื้อต้องการหลีกเลี่ยงข้อกฎหมายค้ำประกันที่แก้ไขใหม่หรือไม่ ซึ่งกำหนดห้ามมิให้มีข้อสัญญาให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแบบลูกหนี้ร่วม และเมื่อมีข้อสงสัย ศาลก็ต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณกับคนที่อาจเสียหาย คือคนที่ทำสัญญาร่วมรับผิด โดยเห็นว่าสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการหลบเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน ยังเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ของสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาจึงตกโมฆะไปทั้งฉบับ มาฟ้องให้รับผิดไม่ได้         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8418/2563         ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 บัญญัติว่า “ข้อตกลงใดที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ” มีเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกันซึ่งมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น แต่เป็นเพียงบุคคลภายนอกที่ยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้ ในการที่จะชำระหนี้ แทนลูกหนี้เท่านั้น สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่แสดงเจตนาต่อกันเป็นสัญญายินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น แม้ชื่อและลักษณะของสัญญาจะมิใช่สัญญาค้ำประกัน แต่ในการตีความการแสดงเจตนา ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยเนื้อหาของสัญญามิได้ระบุให้จำเลยที่ 2 มีสถานะเป็นผู้เช่าซื้อ    อย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 สัญญาดังกล่าวคงมีเพียงข้อกำหนดหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ที่ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ กับจำเลยที่ 1 จนสิ้นเชิง จำเลยที่ 2 มิได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆ อย่างผู้เช่าซื้อด้วย สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ทำขึ้นในลักษณะนี้ จึงเพ่งเล็งให้เห็นเจตนาและวัตถุประสงค์ของโจทก์ผู้ประกอบธุรกิจได้ว่า โจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 2 เข้ามาผูกนิติสัมพันธ์กับตนเพื่อเป็นประกันร่วมรับผิดในกรณีจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อเพิกเฉยไม่ชำระหนี้  อันเป็นสัญญาที่ก่อประโยชน์แก่โจทก์ไม่แตกต่างจากการที่บุคคลภายนอกทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ เมื่อลูกหนี้ผิดนัดตามกฎหมายค้ำประกัน ก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1         นอกจากนี้หากพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีในการทำสัญญาเช่าซื้อที่ถือปฏิบัติกันมา ไม่ปรากฏว่าโจทก์หรือผู้ให้เช่าซื้อโดยทั่วไปมีวิธีการทำสัญญาโดยให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อฉบับหนึ่ง แล้วให้บุคคลอื่นเข้าทำสัญญาค้ำประกันยินยอมร่วมรับผิดชำระหนี้ กับผู้เช่าซื้อเป็นอีกฉบับ หรือมีการทำสัญญาโดยให้ผู้เช่าซื้อทำสัญญาเช่าซื้อ แล้วให้บุคคลอื่นเข้าทำสัญญายินยอมร่วมรับผิดชำระหนี้ อย่างลูกหนี้ร่วมกับผู้เช่าซื้ออีกฉบับหนึ่งดังเช่นคดีนี้ จึงนับว่ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับสัญญาว่า สัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาที่คู่สัญญากระทำเพื่อหลบเลี่ยงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 ที่ห้ามตกลงกันให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมหรือไม่ เมื่อมีข้อสงสัยย่อมต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11         ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตีความและรับฟังได้ว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 2  ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม แต่ไม่อาจทำเป็นสัญญาค้ำประกันให้มีข้อตกลงเช่นนั้นได้    จึงหลบเลี่ยงการทำสัญญาค้ำประกันที่มีข้อจำกัดมิให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วม สัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่มีวัตถุประสงค์ในการหลบเลี่ยงกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองและให้เป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน ยังเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ของสัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อไม่มีส่วนใดที่สมบูรณ์แยกส่วนออกมาได้จึงตกเป็นโมฆะทั้งฉบับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอาศัยสัญญาตกลงยินยอมร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ที่ตกเป็นโมฆะมาฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้         จากคำพิพากษาของศาล ก็เป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งว่า เมื่อมีการปรับแก้กฎหมายเพื่อคุ้มครองให้ความเป็นธรรมกับผู้ค้ำประกันมากขึ้น ฝั่งผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการต้องมีผู้ค้ำประกัน ก็พยายามหาทางหลีกเลี่ยงกฎหมาย กำหนดข้อสัญญาเพื่อประโยชน์ของตนเอง ซึ่งเมื่อเจอพฤติกรรมเช่นนี้และศาลได้ตัดสินไว้เป็นแนวทาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมสัญญาให้เกิดความเป็นธรรม โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ที่มีคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาที่ดูแลธุรกิจเช่าซื้อ เช่าห้องชุด เช่าที่อยู่อาศัย และสัญญาอื่นๆ ก็ควรพิจารณาเรื่องมาตรการควบคุมสัญญาเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 การบอกเลิกสัญญาโดยปริยาย

        สวัสดีครับ ในฉบับนี้จะขอหยิบยกเรื่องใกล้ตัวพวกเรา ที่หลายคนอาจไม่ได้สนใจมากนัก มาเล่าสู่กันฟัง นั่นคือเรื่องของการบอกเลิกสัญญา แน่นอนว่าเมื่อเราต้องการผูกพันเรื่องใดเรื่องหนึ่งและต้องการให้เกิดความชัดเจน มีหลักฐานยืนยันกันได้ และกฏหมายยอมรับ ก็ต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร แต่หลังจากทำสัญญาไปแล้ว บ่อยครั้งที่มักเกิดปัญหา ไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ ก็อาจมีเหตุที่อยากจะเลิกสัญญากัน ซึ่งหลายคนคงเข้าใจว่าการบอกเลิกสัญญาก็ต้องทำเป็นหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร เช่นกัน แต่ความจริง การบอกเลิกสัญญาอาจเกิดจากพฤติการณ์บางอย่าง ซึ่งศาลก็เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่า หากเป็นกรณีใดที่ถือว่ามีผลบอกเลิกสัญญาโดยปริยายบ้าง เช่น  เจ้าของทางพิพาทนำลวดหนามขึงกั้นทางพิพาท ไม่ให้ใช้ทางอีกต่อไป ก็ถือว่าเป็นการบอกเลิกสัญญาให้ใช้ทางโดยปริยาย  หรือทำสัญญาซื้อขายที่ดิน เมื่อผู้ขายส่งมอบที่ดินขาดตกบกพร่อง ผู้ซื้อจึงไม่รับโอน และไม่ชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ พฤติการณ์เช่นนี้ ถือเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยปริยายแล้ว โดยไม่ต้องทำเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญา และผลของการบอกเลิกสัญญาทำให้คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กล่าวคือ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเสมือนไม่เคยทำสัญญากันมาก่อน ฝ่ายที่รับเงินไว้ก็ต้องคืนเงินหรือส่งมอบทรัพย์คืนแก่คู่สัญญา         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4645/2540           จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ทางพิพาทได้ แต่เมื่อไม่มีข้อกำหนดเวลากันไว้ โจทก์จึงใช้ทางได้ตราบเท่าที่จำเลยยินยอม หากจำเลยไม่ยินยอมโจทก์ก็ไม่มีสิทธิใช้ทาง เพราะสิทธิของโจทก์เกิดจากความยินยอมของจำเลย แม้การที่จำเลยอนุญาตให้โจทก์สร้างทางได้ทำสัญญากันไว้เป็นหนังสือ แต่ในกรณีบอกเลิกสัญญาเช่นนี้ ไม่มีกฎหมายบังคับไว้ว่าจะต้องบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือจำเลยจะบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่ก็ได้ ดังนั้นการที่จำเลยนำลวดหนามขึงกั้นทางพิพาทไว้จึงเป็นการบอกเลิกสัญญาโดยปริยายแล้ว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5228/2539           จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์น้อยกว่าจำนวนเนื้อที่ที่ตกลงซื้อขายกันตามสัญญาถึงเกือบครึ่ง เป็นการส่งมอบที่ดินที่ขาดตกบกพร่องถึงขนาดซึ่งหากโจทก์ได้ทราบก่อนแล้วคงจะมิได้เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 อย่างแน่นอนโจทก์จึงมีสิทธิบอกปัดเสียหรือเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 การที่โจทก์บอกปัดไม่ยอมรับโอนที่ดินพิพาทและไม่ชำระราคาที่ดินพิพาทส่วนที่เหลือให้จำเลยที่ 1 ตามสัญญากรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคสอง แล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391 จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์                 อีกประเด็นที่สำคัญคือ เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาแล้ว ทำให้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะไม่ได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ย ในกรณีที่ผิดสัญญาไว้ก็ตาม แต่ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามมาตรา 391 วรรคสอง         คำพิพากษาฎีกาที่ 5196/2548               โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินกับจำเลย โจทก์ผ่อนชำระเงินดาวน์แก่จำเลยครบถ้วนตามสัญญาและต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทั้งให้นำเงินที่เหลือไปชำระ แสดงว่าจำเลยได้ยืนยันต่อโจทก์ว่าจำเลยได้พัฒนาที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัด ส่วนที่หนังสือของจำเลยระบุว่าก่อนถึงวันนัดให้โจทก์มีหนังสือแจ้งแก่จำเลยก่อนวันที่กำหนดในหนังสือเพื่อเป็นการยืนยันว่าจะไปรับโอนกรรมสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่จำเลยกำหนดขึ้นเองฝ่ายเดียว โดยไม่มีเงื่อนไขดังกล่าวระบุในสัญญา อย่างไรก็ตามการที่โจทก์มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยว่าจำเลยยังพัฒนาที่ดินไม่เรียบร้อย แต่โจทก์ก็พร้อมที่จะไปรับโอนกรรมสิทธิ์ตามวันเวลาที่จำเลยกำหนดนัด เพียงพอที่จะถือได้ว่าโจทก์มีหนังสือตอบรับยืนยันไปยังจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยมิได้ไปตามกำหนดนัดจึงถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายได้         การบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินในกรณีเช่นนี้ไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ การมอบอำนาจให้บอกเลิกสัญญาจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือเช่นกัน การที่โจทก์ได้เบิกความยืนยันในชั้นพิจารณาว่าได้มอบหมายให้ทนายโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย แสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์ว่าได้ยอมรับการกระทำของทนายความที่กระทำแทนโจทก์ในกรณีดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 การบอกเลิกสัญญาจึงชอบแล้ว         โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและการบอกเลิกสัญญาของโจทก์มีผลสมบูรณ์แล้ว แม้ต่อมาจำเลยจะมีหนังสือนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอีกครั้งหนึ่งและโจทก์ไปที่สำนักงานที่ดินตามกำหนดนัดดังกล่าว ก็เป็นเพียงการให้โอกาสแก่จำเลยในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อจะได้ไม่มีปัญหาข้อพิพาทกันอีกต่อไป แต่ปรากฏว่าฝ่ายจำเลยก็ยังผิดนัดอีก พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่ติดใจที่จะเลิกสัญญากับจำเลยอีกต่อไป         เมื่อเลิกสัญญาต่อกันแล้วคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับให้แก่โจทก์และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นับแต่วันที่รับไว้ด้วย ซึ่งการคิดดอกเบี้ยในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการคิดดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด แต่เป็นเรื่องที่จำเลยประพฤติผิดสัญญา และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะไม่ได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยที่โจทก์จะคิดจากจำเลยในกรณีที่จำเลยผิดสัญญาไว้ก็ตาม แต่โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ตามมาตรา 391 วรรคสอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 เครื่องบินบินไม่ได้ ขออะไรคืนได้บ้าง

        ช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระบาดหนัก มีคำสั่งล็อกดาวน์ หรือคำขอความร่วมมือไม่ให้เดินทางข้ามจังหวัด หรือประกาศให้พื้นที่ในจังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม การเดินทางต่างๆ ยากลำบาก ถ้าได้จองรถโดยสาร เครื่องบิน เราจะสามารถยกเลิกหรือขอเงินคืนได้ไหม เราไปตามไปดูผู้บริโภครายนี้กันว่าเขาจะได้อะไรคืนบ้างในการขอยกเลิกการเดินทาง         คุณภูผาต้องการไปทำงานที่จังหวัดสตูลกับเพื่อนร่วมงานอีก 2 คน เขาวางแผนเลือกเดินทางโดยเครื่องบินจากกรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่และต่อรถไปจังหวัดสตูล จึงได้จองตั๋วเครื่องบินของสายการบินหนึ่ง เที่ยวบินกรุงเทพฯ ถึงหาดใหญ่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และจองขากลับเที่ยวบินหาดใหญ่ ถึงกรุงเทพฯ วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 รวมเป็นเงิน 10,030 บาท แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ระบาด รัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมืองดเว้นการท่องเที่ยวและการเดินทาง และจังหวัดสตูลประกาศ ให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสีแดงต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน เพื่อให้ความร่วมมือในการปฎิบัติตามกฎหมายและมาตรการของรัฐ ช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เขาและเพื่อนร่วมงานจึงไม่สามารถเดินทางตามวันเวลาที่จองตั๋วของสายการบินไว้ได้ จึงต้องการยกเลิกการจองและขอเงินจำนวน 10,030 บาท คืน จึงมาปรึกษามูลนิธิว่าเขาควรดำเนินการอย่างไรต่อไป แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำผู้ร้องว่า ให้ผู้ร้องทำหนังสือถึงบริษัทสายการบิน เพื่อยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน โดยส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับ     หลังจากนั้นศูนย์พิทักษ์ได้ติดต่อสอบถามไปยังสายการบิน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้อง สายการบินแจ้งว่าผู้ร้องไม่ได้แจ้งความประสงค์ว่าจะขอเงินคืน สายการบินจะคืนผู้ร้องเป็นเครดิตในเที่ยวบินกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ โดยยืดระยะเวลาออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 โดยสายการบินได้แจ้งเงื่อนไขนี้ให้ผู้ร้องทราบแล้ว ผู้ร้องตกลงยอมรับในเงื่อนไขที่สายการบินเสนอ ส่วนเที่ยวบินหาดใหญ่-กรุงเทพฯ ผู้ร้องได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ผู้รับเหมาใช้วัสดุผิดแบบจึงขอยกเลิกสัญญา

        "สัญญาก่อสร้าง หรือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง" คือ เอกสารสัญญาที่ระบุความตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างผู้ว่าจ้าง (เจ้าของบ้าน) ในการจ่ายค่าตอบแทนให้กับงานที่ดำเนินการก่อสร้างตามที่กำหนดตามข้อตกลง และผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมาก่อสร้าง) ที่รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างตามรายละเอียดที่ตกลงก่อสร้างตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาว่าจ้างจนแล้วเสร็จ        เมื่อสัญญาไม่เป็นสัญญา ผู้รับเหมาทำผิดข้อตกลง เจ้าของบ้านก็บอกยกเลิกสัญญาได้         ย้อนไปเมื่อ 10 ตุลาคม 2563 คุณใบโพธิ์ได้ตกลงทําสัญญาจ้างรับเหมาก่อสร้างบ้านพักอาศัยชั้นเดียวกับ บริษัทรับเหมาสร้างบ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น แต่สร้างไปสร้างมา คุณใบโพธิ์สังเกตว่าการก่อสร้างดูเหมือนไม่ค่อยได้มาตรฐาน จึงลองตรวจสอบดู แล้วก็พบว่าบริษัทผู้รับเหมาลดขนาดวัสดุที่ใช้ซึ่งไม่ตรงตามสเปกที่ระบุไว้ในเอกสารแนบสัญญา คุณใบโพธิ์จึงบอกให้ช่างหยุดก่อนและถามหาความรับผิดชอบ         ต่อมาแม้ทางบริษัทชี้แจงว่าจะแก้ไขให้เป็นไปตามแบบ แต่คุณใบโพธิ์ไม่เห็นด้วยกับวิธีการแก้ไขที่จะปล่อยให้เลยตามเลยแบบนี้ และมองว่ายังไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น อีกทั้งเขาเองก็ไม่ไว้วางใจให้ช่างของบริษัทนี้มาสร้างบ้านให้อีกต่อไปแล้วด้วย คุณใบโพธิ์ต้องการจะขอยกเลิกสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายกับบริษัท ตามที่มีข้อตกลงกันไว้ในสัญญา จึงได้ส่งสำเนาหนังสือบอกเลิกสัญญามาร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผ่านทางอีเมล และปรึกษาว่าควรจะทำยังไงต่อไป    แนวทางการแก้ไขปัญหา        ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อกลับไปยังคุณใบโพธิ์ เพื่อขอให้ส่งสำเนาสัญญาว่าจ้าง ใบเสร็จเงินค่างวดงานแต่ละงวดที่จ่ายไปแล้ว สลิปโอนเงิน รูปภาพก่อสร้าง เป็นต้น เพื่อใช้ประกอบการแก้ไขปัญหา โดยเบื้องต้นได้แนะนำให้คุณใบโพธิ์ทำหนังสือไปยังบริษัทให้ดำเนินการตามสัญญาแล้ว แต่บริษัทกลับเงียบเฉย ในกรณีนี้คุณใบโพธิ์สามารถดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเรื่องการผิดสัญญาได้ โดยว่าจ้างให้ช่างหรือบริษัทรับเหมารายอื่นมาประเมินความเสียหายว่า การก่อสร้างบ้านหลังนี้ไม่เป็นไปตามแบบอย่างไร ใช้วัสดุลดขนาดอย่างไร แล้วเหลืองานที่ไม่เสร็จอีกเท่าไหร่ คำนวณเป็นจำนวนเงินออกมา เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการเรียกค่าเสียหายในคดีต่อไป ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาเพื่อให้การก่อสร้างสามารถดำเนินต่อไปได้ โดยไม่เสียประโยชน์ในฝ่ายของคุณใบโพธิ์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 โฆษณาคือส่วนหนึ่งของสัญญา ถ้าไม่ทำตามที่โฆษณาเรามีสิทธิอย่างไร

ฉบับนี้ ผมก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับกฎหมายใกล้ตัวมาเสนออีกเช่นเคย ในช่วงโควิดระบาดเช่นนี้ ธุรกิจหลายอย่างได้รับผลกระทบ ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจซื้อขายห้องชุดหรือคอนโดมิเนียม หลายคนก็อาศัยช่วงนี้ที่ราคาคอนโดถูกลงเพื่อจับจองเป็นเจ้าของ ซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักแสนจนหลักสิบล้าน การที่เราจะตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญ ผมจึงอยากนำเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ มาแบ่งปันเพื่อประโยชน์แก่ทุกท่านในการซื้อคอนโดครับ         หลายท่านคงเริ่มจากค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและไปดูสถานที่จริง อย่างไรก็ดีเราจะพบว่าฝั่งโครงการ ซึ่งเป็นผู้ขายมักมีการทำโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ เพื่อให้เราตัดสินใจเลือกง่ายขึ้น มีทั้งทำโฆษณาในออนไลน์ แจกแผ่นพับ โปสเตอร์ป้ายใหญ่โต แต่เมื่อเราตัดสินใจทำสัญญาซื้อคอนโดไปแล้ว ผู้ขายมักไม่ทำตามคำโฆษณาและทำให้เกิดข้อพาทกัน เช่นในคดีหนึ่ง ผู้ประกอบการได้ทำเปิดขายอาคารชุด มีการแจกแผ่นพับโฆษณาโดยมีรูปแผนผังทำให้ผู้ซื้อเชื่อว่าที่ดินทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดเป็นทรัพย์ส่วนกลางที่ผู้ซื้อจะสามารถใช้สอยได้  แต่ต่อมากลับแจ้งผู้ซื้อว่าที่ดินดังกล่าว ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อมาฟ้องศาลเพื่อให้ทำตามที่โฆษณาไว้         ต่อมาศาลก็ได้ตัดสินให้ผู้ประกอบการต้องทำตามที่โฆษณาโดยให้เหตุผลว่าเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5351/2562         แผ่นพับโฆษณาเป็นประกาศโฆษณาที่จำเลยแจกจ่ายแก่ผู้ซื้อห้องชุด เพื่อจูงใจให้ผู้พบเห็นเข้าทำสัญญากับจำเลย สิ่งที่จำเลยกำหนดในแผ่นพับที่เป็นสื่อกลางโฆษณาให้ผู้ซื้อทราบว่าจะได้รับสิ่งใดเป็นการตอบแทนการเข้าทำสัญญาซื้อห้องชุดจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างจำเลยกับผู้ซื้อ ดังที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 จำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจจึงมีหน้าที่ตามมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรมที่จะต้องแจ้งข้อที่ผู้บริโภคควรทราบให้กระจ่างชัด ทั้งต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมในการโฆษณาต่อผู้บริโภคเกี่ยวกับ สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการไม่ว่าในทางใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) บัญญัติว่า ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรม         ดังนี้ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ส่วนของจำเลยเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด แต่ตามแผ่นพับโฆษณา รูปแผนผังที่ปรากฏทางพิพาทที่เป็นทางเข้าออกและพื้นที่ติดชายหาดติดต่อกับพื้นที่อาคารชุด มีลักษณะที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ซึ่งเป็นพื้นที่ใช้สอยอันมีผลต่อสถานะความเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุด ทำให้ผู้ซื้อเข้าใจไปว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นพื้นที่ที่เจ้าของร่วมจะได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของอาคารชุด การโฆษณาของจำเลยจึงเป็นการโฆษณาด้วยข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ดังบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 22 (2) จำเลยจึงต้องรับผลแห่งการโฆษณานั้น การที่จำเลยไม่แสดงให้ชัดแจ้งเพื่อให้ปรากฏแก่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้บริโภคว่าที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดซึ่งเป็นหน้าที่ของจำเลยผู้ประกอบธุรกิจต้องกระทำให้ปรากฏอย่างชัดเจนในการโฆษณา ในขอบมาตรฐานทางการค้าที่เหมาะสมกับภายใต้ระบบธุรกิจที่เป็นธรรม         แม้จำเลยไม่มีเจตนาลวงผู้บริโภค จำเลยก็ต้องผูกพันตามแผนผังในแผ่นพับโฆษณา ซึ่งถือเป็นข้อตกลงอันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาด้วย ดังที่บัญญัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 และแม้ลักษณะที่แสดงตามแผ่นพับ จะแสดงว่า ทางและที่ดินติดชายหาดเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันของโรงแรมและอาคารชุดก็ตาม ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ก็ยังคงมีสถานะเป็นทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมอยู่ด้วย การที่โรงแรมมีส่วนร่วมใช้ประโยชน์ด้วย หาทำให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมไม่ ทั้งทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดนั้น นอกจากทรัพย์สินอื่นๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ยังหมายความถึงทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วมซึ่งกฎหมายบัญญัติให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลางด้วยดังบัญญัติความตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15 ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะขึ้นทะเบียนอาคารชุดระบุว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่หรือ เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย          จากคำพิพากษาข้างต้น ยังมีหลักกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางที่น่าสนใจคือ ทรัพย์ที่เป็นทรัพย์ส่วนกลางนั้นคือทรัพย์ที่มีไว้เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันของเจ้าของร่วม ไม่ว่าทรัพย์นั้นทะเบียนอาคารชุดจะระบุไว้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เจ้าของทรัพย์สินนั้นจะแสดงเจตนายกกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้นให้เป็นทรัพย์ส่วนกลางหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นกรณีตกเป็นทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดโดยผลของกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 และมาตรา 15

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 เมื่อผู้ค้ำประกันถูกฟ้องให้ใช้หนี้

คุณสุภาพร  พันธุ์เลิศวิไล เป็นผู้ค้ำประกันเช่าซื้อรถยนต์ให้คุณพ่อ  เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดจึงทำหนังสือแจ้งขอพักชำระหนี้ถึงบริษัทฯ  แต่บริษัทฯ ไม่ตอบ คุณสุภาพรในฐานะผู้ค้ำประกันจึงผ่อนชำระต่อ  แต่กลับถูกบริษัทฟ้องคดี  เธอเล่าเรื่องราวให้ฉลาดซื้อฟังว่า         หนูเป็นผู้ค้ำประกันให้คุณพ่อค่ะ ทีนี้เราผ่อนชำระมาเกินครึ่งทางแล้ว แล้วมีสถานการณ์โควิดรอบแรก คุณพ่อเลยไปทำหนังสือขอพักชำระหนี้หกเดือน เสร็จแล้วพอยื่นไปใช่ไหมคะ บริษัทเขาก็มีการเซ็นต์รับทราบกลับมาค่ะ แต่ว่าเขาก็ไม่ได้บอกว่าเขาไม่ร่วมโครงการ (โครงการพักชำระหนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินเพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้) หรืออะไร ทีนี้พอมันใกล้ๆ ถึงกำหนดชำระที่เราขอยื่นไป เขาก็โทรมาแจ้งว่าเขาไม่ได้ร่วมโครงการนะ พอเขาไม่ได้ร่วมเราก็ต้องส่งต่อใช่ไหมคะ เราก็ส่งต่อไปประมาณสักสองเดือน สองสามเดือนนี่แหละค่ะ         หลังจากนั้นก็มีหนังสือแจ้งมาที่ผู้ค้ำประกันว่าขอยกเลิกสัญญาเช่าซื้อ แล้วขอให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ประมาณแสนนิดๆ เราเห็นแล้วว่าเราจ่ายมาประมาณหนึ่งแล้ว ถ้าจะให้เราจ่ายอีกแสนกว่าบาทก็คิดว่าเรามีเงินก้อนอยู่สำหรับมาเติมตัวนี้ได้ น่าจะปิดดีลรถคันนี้ได้ เราก็เลยไปเจรจาตั้งแต่วันที่เขาส่งจดหมายแจ้งมาเลยว่าขอปิดยอดรถคันนี้ โดยที่จะเอาเงินสดไปจ่ายให้ ทางบริษัทเขาอยากให้เราไปเจรจาก่อน เขาก็พูดว่าถ้าไปเจรจาลดได้เยอะ อย่างโน้นอย่างนี้            เราคุยกับพนักงานของบริษัทใช่ไหมคะ         ใช่ค่ะ พอเราไปถึงบริษัทเราไปดูยอดจริงๆ ปรากฎว่ายอดของเขามันไม่เคยตรงกับยอดที่เราส่งเลย เพราะว่าเขาหักต้นหักดอกแบบไม่ใช่ร้อยละ 15 ตามที่เคยสัญญาไว้ ซึ่งเขาบอกว่าการหัก การคิดของเขามันเป็นการคิดทางธุรกิจ ซึ่งเราก็ว่ามันไม่ใช่ แล้วเราก็บอกว่ามันควรจะเหลือยอดเท่านี้สิ เราขอจ่ายยอดเท่านี้ เพราะเราจ่ายล่วงหน้าสองปี ก็ไม่ควรที่จะคิดดอกเบี้ยเรา แต่เขาก็ไม่ยอมลดค่ะ พอไม่ลดเราก็จ่ายของเราปกติก็คือไม่เจรจาแล้ว เราก็ผ่อนของเราไปตามปกติ พอเดือนมกราคมที่ผ่านมาก็คือเท่ากับผ่อนหลังโควิดมาประมาณสี่ถึงห้างวดแล้วนะคะ พอเดือนมกราคมเขาก็ไปฟ้องศาล ฟ้องขอรถคืนหรือให้ชำระราคารถ         ทั้งที่เราผ่อนส่งตามปกติแต่เขาก็ยังเดินหน้าฟ้องเรา        เขาก็ไม่ได้ว่าอะไรตอนที่เข้าไปเจรจา เขาก็โอเค ไม่ได้ปิดยอด เราก็ผ่อนไปตามปกติ แต่เขาฟ้องคดีค่ะ ทนายที่คุยด้วยบอกว่าฟ้องแล้วก็ให้เราไปเจรจาในศาลแทน ซึ่งเราต้องการอย่างนั้นอยู่แล้ว อยากจะไปเจรจาเพื่อปิดยอดรถคันนี้ในศาลแทน เพราะว่าศาลท่านลดให้มากกว่า ถูกไหมคะ คือศาลท่านจะเมตตากว่า อะไรที่มันเกินความเป็นจริง เขาจะไม่ได้มาคิดจากเราไม่ได้หรอก         ทีนี้พอขึ้นศาล นัดแรกเลย ขึ้นไปนัดเดียวนะคะ ศาลบอกว่าท่านสามารถพิพากษาให้ได้ว่าจ่ายตามที่เราต้องการได้ แต่รู้ไหมว่าบริษัทไม่ยอมโอนรถให้ ศาลท่านพูดแบบนี้ ศาลพูดขึ้นมาให้ก่อนเลย คือศาลคำนวณมาให้คร่าวๆ เลย ก็ตรงกับที่เราคำนวณไป คือเราทำการบ้านคำนวณไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ ตรงกันใกล้เคียงกันมากเลย ผู้พิพากษาท่านก็พูดว่าเคสแบบนี้บริษัทไม่โอนหรอก ท่านไม่ได้เจอมาเคสแรกนะ  ท่านเจอมาหลายเคสแล้ว ทนายบริษัททำหน้างงว่า ไม่นะเขาเคยได้ ศาลก็บอกไม่จริงไม่เชื่อให้โทรถามที่บริษัทเดี๋ยวนี้เลยว่าโอนหรือไม่โอน ให้ทนายโทรหน้าบัลลังก์เลย แล้วทางบริษัทก็บอกว่าไม่โอนให้จริงๆ ด้วย         บริษัทให้เหตุผลว่าอย่างไรคะ         ไม่ได้ให้เหตุผลอะไร ทนายบอกว่าเขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าเคสเป็นอย่างนี้ไม่โอนรถให้ ซึ่งเราไม่เชื่อไงว่าไม่รู้ แต่เราก็ไม่อะไรนะเพราะว่าเราทำตามศาลท่านมีคำวินิจฉัย ศาลบอกให้ไปคุยเลยให้ไปคุยกับที่บริษัทนี้อีกครั้งหนึ่ง เราก็เลยไปเจรจาอีกรอบ ซึ่งต้องขอบคุณทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ส่งผู้แทนคือคุณนฤมล เมฆบริสุทธิ์ ไปกับเราด้วย  พอไปคุยแล้ว ทางเราบอกตัวเลขไป เขาไม่โอเค เราก็เลยบอกว่าไม่เอาแล้วค่ะ คืนรถไปเลย         บริษัทกำหนดให้เราจ่ายเท่าไหร่         เขาก็ยังให้ตัวเลขมาเท่าเดิมกับที่เจรจาครั้งแรกก่อนไปศาลอยู่ดี ตัวเลขที่เราคุยกับเขารอบแรก มีการบอกว่านี่เป็นยอดหลังฟ้อง นี่เป็นยอดก่อนฟ้อง ซึ่งเราคิดว่าคุณจะให้เป็นยอดไหนเราก็ไม่โอเคตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เขาลดให้หนึ่งหมื่นบาท ก็ไม่รู้จะเอาไปทำไม เราก็จ่ายดอกเบี้ยมาให้เยอะแล้ว สรุปคือเราเอารถไปคืนแล้ว ตอนนี้เขากำลังทำเรื่องถอนคดี         ส่วนเรื่องที่ว่าจะมีการขายทอดตลาดนั้น ในกรณีเราก็คือ ในส่วนของค่าขาดประโยชน์ ก็คือจะเป็นแค่ในช่วงที่รถอยู่กับเรา อันนี้เราก็จ่ายปกติคือเราจ่ายไปแล้ว แล้วบริษัทคุณรับเงินในตรงนั้นไปแล้ว โดยไม่แจ้งอะไรเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเราเลย จุดนี้คือถือว่ามันเป็นลาภไม่ควรได้ที่บริษัทจะได้อยู่แล้ว ดังนั้นมันต้องหักกันตั้งแต่ตอนที่คุณบอกว่าไม่เอาไม่ให้จ่ายแบบนี้ แล้วก็ยกเลิกสัญญาไป ถูกไหมคะ ไม่ให้ผ่อนผันตอนโควิด  แต่ว่าคุณให้เราผ่อนมาตลอดๆ ตอนนั้น         ฝากบทเรียนต่อผู้บริโภคท่านอื่นๆ         อยากจะฝากว่าการคำนวณเรื่องค่างวด ค่าดอกเบี้ย  เราต้องคำนวณของเราไว้เองด้วย โดยที่ว่าเขามีในเอกสารมาว่า เวลาที่เราผ่อนชำระต่อเดือนเท่านี้ มันจะเป็นดอกเบี้ยเท่าไหร่ ดอกเบี้ย 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าภาษี 7 เปอร์เซ็นต์อะไรของเขา คือเราก็ทำตามสูตรเขานั่นแหละ แต่เมื่อถึงเวลาจริง ถ้าเขามาอ้างตัวเลขกับเรา เขาก็จะบอกว่าเป็นหักเงินต้นแค่เท่านี้หักดอกแค่เท่านี้ ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะว่าอัตราของเขามันคือ อัตราคงที่ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเท่ากันทุกเดือน มันไม่ใช่ลดต้นลดดอก ตรงนี้ต้องตามเขาให้ทัน แล้วตอนนี้มีกฎหมายใหม่ที่ออกมาแล้ว ว่าต้องมีการลดต้นลดดอก         แล้วส่วนหนึ่งที่เป็นข้ออ้างของบริษัทคือ เขามักอ้างว่า รถแท็กซี่กับรถยนต์ส่วนบุคคล มันไม่เหมือนกัน แต่ในเมื่อคดีที่เขาฟ้องเรามันก็เป็น “คดีผู้บริโภค” เหมือนกัน อย่างแรกเลยคุณใช้กฎหมายตัวไหนในการฟ้องคดีผู้บริโภค เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม คือ คนที่เป็นผู้ค้ำประกันแบบเรา หรือจะเป็นคนที่เป็นลูกหนี้เองก็ตาม ถ้าหากว่าเราจ่ายหรือทำอะไรไปเช่นการเจรจา คุณก็ต้องเก็บหลักฐานตรงนั้นไว้ให้หมดทุกอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร หรือหนังสือสัญญาต่างๆ เราต้องเก็บไว้ทั้งหมดเก็บทุกเดือน หรือสิ่งที่เรายื่นอะไรให้ทางบริษัท แล้วบริษัทเซ็นรับทราบกลับมาเราก็เก็บเอาไว้ ตอนก่อนที่จะเอารถไปคืน ก็เช็คสภาพมาอย่างไรโดยมีช่างให้หนังสือรับรอง (จริงๆ กรณีของเราก็ไม่ได้บอกที่บริษัทนะว่าเราเช็คสภาพรถมาก่อนคุณอีก แต่เราทำเช็คสภาพเผื่อไว้ก่อน) แล้วถ้าบริษัทเขาเช็คส่วนอะไรบ้าง เราก็ต้องคอยดูเขาเพื่อเปรียบเทียบกัน เออ...ตอนมามันเป็นอย่างไร เราก็จะต้องมีการยืนยันกับเขาได้ แล้วหลังจากนี้เมื่อบริษัทถอนฟ้องเสร็จแล้ว   เราควรจะต้องไปคัดสำเนาถอนฟ้องไว้นะคะ         การเป็นผู้ค้ำประกันต้องดูละเอียดแบบเดียวกับคู่สัญญาเลยนะคะ             อย่างแรกเลยคือคงต้องมองที่บริษัท เพราะว่าพูดตามตรงนะคะว่าตรงนี้ก็พลาดไปเหมือนกัน เพราะว่าคุณพ่อเขาก็ไม่ได้ดูข้อมูลอะไรมาเลย นอกจากการชักชวนกันไปแล้วบอกว่าอันนี้โอเค แต่จริงๆ แล้วเราควรดูข้อมูลบริษัท เพราะบริษัทพวกนี้มันมีตั้งเยอะแยะเราสามารถเลือกได้ ถ้าเราไม่โอเคกับบริษัทนี้ เราเป็นผู้ค้ำประกันก็คงจะบอกได้ว่าอย่าไปทำกับบริษัทนี้เลยไปทำกับที่อื่นดีกว่า         พอรู้ว่าจะต้องเป็นผู้ค้ำประกันแล้วก็ควรที่จะหาข้อมูล หาข้อมูลทั้งบริษัท หาข้อมูลทั้งคนที่เราจะค้ำประกันให้ด้วย โดยเฉพาะคนที่ไม่ใช่ญาติ ควรจะเก็บเอกสารทุกอย่างให้ดี คือถ้าเป็นผู้ค้ำประกันคงต้องคอยติดตามลูกหนี้ด้วยเหมือนกัน เพราะว่าถ้าลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้มาผู้ค้ำก็เดือดร้อน กรณีนี้คือเป็นคุณพ่อเราสามารถคุยได้ว่าเอกสารเอามาให้เราเก็บนะ เอกสารอยู่ที่ไหน อะไรอย่างไร แต่ถ้าเกิดเขาเป็นผู้ค้ำอย่างเช่นช่วยเพื่อนอย่างนี้ จะได้ติดตามเรื่องว่าเอกสารเรียบร้อยไหม หรือถ้าเพื่อนไม่ได้ชำระตามเวลาเราจะได้ไปตาม จริงๆ การเป็นผู้ค้ำก็ต้องใส่ใจเขานิดหนึ่งเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นผู้ค้ำแล้วจบ         ถ้าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับหนี้ก็ควรที่จะเผชิญหน้าสู้กับมัน คุณมีหนี้ก็ต้องใช้หนี้ ปรึกษาผู้ที่รู้ ปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ได้ค่ะ เราไม่ควรจะหนีหนี้ ทุกอย่างมันมีทางออก แก้ปัญหาให้เร็วที่สุด เราจะได้เริ่มต้นใหม่ให้เร็วที่สุด พอเราตั้งต้นใหม่ได้เร็ว ชีวิตเราก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ไม่จมอยู่กับมัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 สมัครคอร์สดูแลสุขภาพแล้วพบว่าป่วยจะบอกเลิกสัญญาได้ไหม

        ใครๆ ก็อยากมีสุขภาพดีแล้วถ้ามีวิธีไหนที่จะทำให้สุขภาพดีและมีรูปร่างดูดีด้วยแล้ว เราก็คงอยากจะทำ เช่น คอร์สดูแลสุขภาพพร้อมความงาม แต่ถ้าเราตกลงแล้วจ่ายเงินเป็นค่าคอร์สไปเรียบร้อยแล้ว แต่พบว่าเราป่วยเป็นโรคร้ายแรง และหากยังฝืนทำตามคอร์สที่ซื้อมาอาจทำให้อาการป่วยเราแย่ลงจะขอเงินที่จ่ายไปแล้วคืนได้ไหม         คุณนวล ได้รับโทรศัพท์เชิญชวนให้ “เขา” เข้าตรวจสุขภาพของศูนย์ดูแลสุขภาพแห่งหนึ่ง เขาตอบรับคำชวนและเข้ารับการตรวจสุขภาพเพราะฟังคำเชิญชวนแล้วรู้สึกดีมาก ผลการตรวจพนักงานวิเคราะห์ว่า เขาสุขภาพไม่ค่อยดีนักมีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ซึมเศร้า ไตไม่ดี และอื่นๆ ถ้าอยากจะรักษาต้องมีการตรวจเลือดแล้วนำผลเลือดมาพบแพทย์เพื่อห้วินิจฉัยโรคต่อไปซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายในคอร์สนี้ 499,000 บาท         คุณนวลชะงักไปเมื่อได้ยินค่าใช้จ่าย บอกพนักงานไปว่าเขาเกษียณแล้วจะเอาเงินมากมายขนาดนั้นมาจากไหน พนักงานเสนอราคาพิเศษลดให้เหลือ 199,000 บาท แต่เขาก็ยังไม่มีเงินพออยู่ดี จึงต่อรองกับพนักงานและจ่ายไปก่อน 30% เป็นเงิน 59,700 บาท ด้วยบัตรเครดิตโดยรายละเอียดคอร์สนี้จะต้องได้รับการรักษา 17 ครั้ง เท่ากับเฉลี่ยครั้งละ 3,512 บาท         หลังจากพบคุณหมอที่ศูนย์ดูแลสุขภาพ เขาได้รับการฉีดวิตามิน 2 ตัว และ Zinc เมื่อฉีดวิตามินแล้วเขารู้สึกเหมือนว่าหน้าอกเขาเริ่มใหญ่ขึ้น(พองขึ้น) และเจ็บที่หน้าอก หลังจากนั้นเขาได้รับวิตามินอีก 4 ครั้ง มีอาการเจ็บหน้าอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงกังวลใจรีบได้ไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล ผลออกมาว่าเขาเป็นมะเร็งปอด ต้องรับการรักษาด่วน         เมื่อคุณนวลแจ้งกับแพทย์ของโรงพยาบาลว่า เขาสมัครคอร์สดูแลสุขภาพไว้ โดยรับการฉีดวิตามินและอื่นๆ  แพทย์บอกว่าให้หยุดการรักษาทุกอย่างก่อนเพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นจะไม่รู้ว่าสาเหตุของอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมาจากสาเหตุใด         หลังจากนั้นเขาไปปรึกษาแพทย์ที่ศูนย์ดูแลสุขภาพ แพทย์เห็นด้วยว่า ควรหยุดการรักษาที่ศูนย์สุขภาพฯ ก่อน และเซ็นเอกสารให้ยกเลิกการรักษา คุณนวลจึงทำหนังสือยกเลิกสัญญาและขอเงินส่วนต่างที่ยังไม่ใช้บริการจำนวน 42,140 บาทคืน แต่ทางศูนย์ฯ โดยพนักงานยึกยักแจ้งว่าสามารถคืนได้เพียง 22,140 บาทเท่านั้น มิเช่นนั้นก็ให้ชวนคนอื่นเข้ามารักษาแทน (โอนสิทธิ) โดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย คุณนวลไม่สบายใจ เมื่อไม่อาจตกลงกันได้จึงมาขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากคุณนวลขอยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนเพราะมีเหตุผลด้านสุขภาพ คุณนวลย่อมมีสิทธิได้รับเงินส่วนต่างคืนตามยอดที่ได้ใช้จ่ายไปจริง โดยการเข้าคอร์ส​ครั้ง​นี้​พนักงาน​ได้​เรียก​เก็บ​เงิน​ไป​เป็​นเงินจํานว​น ​59,700 บาท​ ซึ่ง​จะ​ต้อง​ได้​รับ​การ​รักษา​ทั้ง​หมด​ 17 ครั้ง​ เท่ากับเป็นการ​รักษา​ครั้ง​ละ​ 3,512 บาท​ แต่คุณนวลได้รับการ​รักษาไปเพียง 5 ครั้ง​ รวม​เป็น​เงิน​ทั้ง​สิ้น​จํานว​น 17,560 บาท​ ดังนั้นจึง​มี​จํานวน​ส่วน​ต่าง​ที่จะ​ต้องได้คืนคือ ​42,140 บาท         ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แนะนำให้คุณนวลทำหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน หลังจากที่หนังสือถึงศูนย์สุขภาพ ทางเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ติดต่อไปยังศูนย์สุขภาพโดยช่วยคุณนวลอธิบายเรื่องสิทธิของลูกค้าที่จะได้รับเงินคืนและนัดวันเวลาเพื่อเจรจาเรื่องจำนวนเงินส่วนต่างที่จะต้องคืนให้แก่คุณนวล          ต่อมาทราบจากคุณนวลว่า ศูนย์สุขภาพฯ จะคืนเงินส่วนต่างให้เขาจำนวน 37,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่คุณนวลพอใจจึงขอยุติเรื่องร้องเรียนไป

อ่านเพิ่มเติม >

สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะ อ่านฉลากก่อนบริโภคอาหารจานด่วนแบบแช่แข็ง เลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย

        วันนี้ (26 มกราคม 2564 ) สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ภายใต้โครงการติดตามปริมาณโซเดียมในอาหารพร้อมบริโภคและกึ่งสำเร็จรูปเพื่อการรณรงค์ลดเค็ม ลดโรค สุ่มสำรวจอ่านฉลากค่าโซเดียมกลุ่มอาหารจานหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็ง  สำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จำนวน 53 ตัวอย่าง ได้จัดแถลงข่าวเพื่อผลักดันให้ผู้บริโภครู้เท่าทันการอ่านฉลากและเตือนอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย          นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ คือ หนึ่ง เพื่อผลักดันให้ผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการอ่านฉลากก่อนเลือกบริโภคเพื่อเลี่ยงภาวะเสี่ยงไตวาย สอง เพื่อโน้มน้าวให้ผู้ประกอบการลดปริมขาณโซเดียมในกลุ่มอาหารจานด่วนแบบแช่เย็น แช่แข็ง และสาม เพื่อให้เกิดการแก้ไขกฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในกลุ่มอาหารแบบแช่เย็น แช่แข็ง เพราะเป็นอาหารสะดวกซื้อ ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย รวมไปถึงสนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหารในทางธุรกิจด้วย          ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการครั้งนี้ ทางสมาคมฯ เริ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 3 พฤศจิกายน - วันที่ 18 ธันวาคม 2563 โดยมีตัวอย่างอาหารมื้อหลัก แบบแช่เย็น แช่แข็งสำหรับอุ่นร้อนพร้อมรับประทานจำนวน 53 ตัวอย่าง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1.กลุ่มอาหารจานด่วน ได้แก่ ผัดไทย ข้าวผัดปู ข้าวผัดกะเพรา จำนวน 35 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 450 – 1,390 มิลลิกรัม 2. กลุ่มอาหารอ่อน ได้แก่ ข้าวต้มหมู เกี๊ยวกุ้ง โจ๊กหมู จำนวน 15 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 380 – 1,340 มิลลิกรัม และ 3.กลุ่มขนมหวาน ได้แก่ บัวลอยมันม่วงมะพร้าวอ่อน สาคูถั่วดำมะพร้าวอ่อน บัวลอยเผือก จำนวน 3 ตัวอย่าง พบปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210 – 230  มิลลิกรัม          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ  อาจารย์แพทย์ประจำสาขาวิชาโรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม  กล่าวว่า คนไทยกินเค็มเกินความต้องการของร่างกายถึงเกือบ 2 เท่า เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ โดยปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (กลุ่มโรค NCDs) ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จากผลงานวิจัยล่าสุดที่ได้รับการพิมพ์ในวารสาร Journal of Clinical Hypertension ชื่อ Estimated dietary sodium intake in Thailand: A nation-wide population survey with 24-hour urine collections (J Clin Hypertens. 2021;00:1-11.) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชน 2,388 คน จากทุกภาคทั่วประเทศไทย พบว่า  ค่าปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยในประชาชนไทยเท่ากับ 3,636 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือถึง 1.8 ช้อนชา ขณะที่ องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ผลการวิจัย พบ ปริมาณการบริโภคโซเดียมเฉลี่ยสูงที่สุดในประชากรภาคใต้ จำนวน 4,108 มก./วัน รองลงมา คือ ภาคกลาง จำนวน 3,760 มก./วัน อันดับสาม คือ ภาคเหนือ จำนวน 3,563 มก./วัน อันดับสี่ คือ กรุงเทพมหานคร จำนวน 3,496 มก./วัน และ อันดับสุดท้าย คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน  3,316 มก./วัน ตามลำดับ          รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่มาของการได้รับโซเดียมนั้นมาจากหลายแหล่งในกลุ่มอาหารที่รับประทานเข้าไป ทั้งจากอาหารที่ปรุงขึ้นมาและโซเดียมที่ได้รับมาตามธรรมชาติ ซึ่งโซเดียมส่วนมากพบเครื่องปรุง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ปลาร้า กะปิ น้ำพริกต่าง ๆ หรือเกลือจากการถนอมอาหาร นอกจากนี้ยังมีโซเดียมแฝงที่ไม่เค็ม ได้แก่ ผงชูรสหรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซุปก้อน รวมถึงผงฟูที่ใส่ขนมปัง หรือ เบเกอรี่ต่าง ๆ และจากการสำรวจของเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หรือจากภาครัฐโดยกรมควบคุมโรค หรือแม้แต่การสำรวจของภาคเอกชน (Nielsen) พบข้อมูลตรงกันว่า คนไทยรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น โดยพึ่งพาอาหารอาหารแช่เย็น แช่แข็ง อุ่นร้อนพร้อมรับประทาน จากร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต จากเดิมประมาณร้อยละ 20 เพิ่มเป็นร้อยละ 25 เและอีกร้อยละ 40 ทานอาหารข้างทาง ตลาดนัด ร้านข้าวแกงมากขึ้น          “การสำรวจในครั้งนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกชนิดหรือประเภทของอาหารแช่เย็นแช่แข็งพร้อมบริโภคอย่างมาก และหากผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดโซเดียมหรือเกลือที่ใส่ลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปลงได้ ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน คือ ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนลงได้ อาจจะทำให้ขายดีขึ้นด้วย ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ เช่น ในบางประเทศฮังการี ผู้ประกอบการที่มีการปรุงอาหารให้มีรสเค็มน้อย จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว        มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มพบ. ได้มีการผลักดันนโยบายเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจซื้อโดยการอ่านฉลากผลิตภัณฑ์อาหารที่เข้าใจง่ายสำหรับผู้บริโภค ซึ่งสอดคล้องกับสิทธิผู้บริโภคสิทธิที่จะได้รับข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันฟู้ดช้อยส์ (FoodChoice) ซึ่งเป็นแอปที่ให้ผู้บริโภคสแกนบาร์โค้ดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการรับประทานหรืออยากทราบข้อมูล เมื่อสแกนแล้วจะมีข้อมูลบนฉลากโภชนาการที่ถูกแสดงในรูปแบบสีเขียว เหลือง แดงเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถข้าใจได้ง่าย และช่วยในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะเดินหน้าพลักดันเรื่องฉลากสีสัญญานไฟจราจร เขียว เหลือง แดง บนฉลากอาหาร ให้เป็นกฎหมายที่บังคับใช้จริงต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ประวีณมัย บ่ายคล้อย “ทำอย่างไรเมื่อคอนโดฯ ที่ทำสัญญาไว้สร้างไม่เสร็จตามกำหนด”

ทุกคนมีสิทธิ์ฉบับนี้มาเรียนรู้บทเรียนในการซื้อคอนโดจากคุณตาล ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศ ข่าวช่อง 3 ซึ่งเธอเล่าว่า นอกจากเรื่องทำเล เรายังต้องดูที่เอกสารหรือสัญญาว่าข้อสัญญาเป็นธรรมกับเราไหม มีรายละเอียดตรงไหนบ้าง เพราะแม้ก่อนหน้านี้ตัวเองเคยซื้อคอนโดมาบ้าง แต่ก็ยังมีปัญหาถึงกับต้องขึ้นโรงขึ้นศาลแบบไม่มีทนายมาแล้ว การซื้อคอนโดครั้งนี้เจอปัญหาอย่างไร         คอนโดอันนี้(ที่มีปัญหา) คือซื้อเพื่ออยู่เองนะคะ เราก็นึกภาพไปว่าถ้าเกิดว่าเรามีที่พักอยู่ที่นี่เอาไว้แบบตอนแก่ๆ เกษียณอะไรอย่างนี้ มีที่พักอยู่ปากช่อง ซื้อคอนโดก็ตอบโจทย์ที่ไม่ต้องเรื่องเยอะ ดูแลง่าย เลยไปซื้อโครงการหนึ่งที่ปากช่อง นครราชสีมา ดู Developer นี้แล้วพบว่าเป็นบริษัทชื่อดังบริษัทมหาชนด้วย คือพูดชื่อนี้ก็เป็น Big Name ของคนทำก่อสร้างคอนโดอยู่แล้ว เลยตัดสินใจว่าเราซื้อละกัน         พอซื้อแล้วก็ดูสัญญา เราเคยซื้อคอนโดมาบ้างหลายครั้งที่เราเจอว่าในสัญญาของโครงการจะไม่ได้ใช้สัญญามาตรฐาน หลายๆ ที่ไม่ได้ใช้สัญญามาตรฐาน อย่าง Case นี้เจอเหมือนกันว่าไม่ได้ใช้สัญญามาตรฐาน ส่วนตัวเวลาพิจารณาสัญญาข้ออื่นดูผ่านๆ แต่ข้อที่เพ่งคือจะดูเรื่องของการผิดนัดของทางผู้ที่จะขาย แล้วดูว่าถ้าเราผิด เช่น เราไม่มีกำลังในการผ่อนอย่างนี้เราจะโดนปรับอะไรบ้าง อันนี้เป็นไปตามสัญญาไหม และดูว่าถ้าผู้จะขายโครงการผิด เช่น ก่อสร้างไม่ทันหรือว่างานไม่มีคุณภาพนี่เราจะเอาผิดอย่างไรกับเขาได้บ้าง ซึ่งตรงข้อนี้ส่วนใหญ่เลยที่เจอ เท่าที่ตาลเจอคือสัญญาฝั่งผู้ที่จะขายจะเขียนค่าปรับตรงนี้ไม่เท่าในสัญญามาตรฐาน คือในสัญญาเขียนน้อยกว่า         เขียนน้อยกว่า อันนี้ใช่ค่ะ ซึ่งจริงๆ ใน Case นี้เราก็อาจจะไม่ใช่ผู้บริโภคที่แบบว่าทำหน้าที่เข้มแข็งนะคะ คือบางคนอาจจะบอกว่าแก้สัญญาเลยสิ ให้มันเป็นสัญญามาตรฐานได้ไหม แต่เราก็รู้สึกว่าไม่เป็นไรเดี๋ยวถ้าเกิดว่าผิดจริงๆ เราค่อยไปคุยกันตอนที่มีปัญหาละกัน เพราะว่าเราก็อยากได้โครงการนี้ พอดูสัญญาเสร็จแล้วจนถึงช่วงเวลาที่ต้องโอนแล้ว เราดูอาการออกเลยว่า พอถึงวันที่ต้องโอนโครงการไม่สามารถโอนได้แน่ เราก็รู้สึกว่าถ้าโอนไม่ได้ น่าจะยึดเยื้อน่าจะก่อสร้างแบบดีเลย์ไปเป็นปีสองปี “ความคืบหน้ามันน้อยมากค่ะ ดีเลย์ไปเป็นปีแน่นอน เราก็เลยบอกเลิกสัญญาดีกว่า ทีนี้พอบอกเลิกสัญญาเราเข้าใจว่า โครงการคุณก็ต้องจ่ายเงินต้นที่เราได้จ่ายไปแล้วพร้อมดอกเบี้ย” บอกเลิกสัญญาทำอย่างไร         บอกเลิกสัญญาก็คือ ในสัญญาเขาจะบอกว่าถ้าเขาสร้างไม่เสร็จเราสามารถบอกเลิกได้ พี่ก็โทรไปแจ้งเซลล์คนที่เราติดต่อด้วยว่าอยากจะบอกเลิกสัญญา เซลล์บอกว่าต้องทำจดหมายมาถึงบริษัท เราก็ทำจดหมายไป ซึ่งความคาดหวังของเราคือบอกเลิกสัญญาจะต้องได้เงินต้นพร้อมกับค่าปรับ ก็คือดอกเบี้ยตามสัญญามาตรฐานของกฎหมายที่กำหนดเอาไว้         แต่ว่าตรงนี้พอคุยกันแล้วมีปัญหาเพราะว่าโครงการเขาบอกว่าจริงๆ แล้วเขาจะจ่ายเฉพาะเงินต้นไม่ยอมจ่ายค่าปรับให้ เราก็ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ เลยนำมาซึ่งการคุยกับเขาแต่ว่าตอนนั้นก็ตกลงกันไม่ได้ เคสตาลมันก็จะมีรายละเอียดอีกนิดหนึ่ง คือว่ามาถกเถียงกันเรื่องรายละเอียดว่าในสัญญามันจะมีข้อหนึ่งที่เขาเขียนเอาไว้บอกว่า ถ้าเกิดว่าโครงการมีปัญหาในการก่อสร้างประสบปัญหา โครงการเขาจะส่งหนังสือแจ้งมาว่าเขาจะขอขยายระยะเวลาการก่อสร้าง ไอ้ประโยคนี้ถ้าผู้บริโภคที่อาจจะเพิ่งเคยซื้อคอนโดหรือไม่ดูในสัญญา ก็อาจจะคิดว่าทุกกรณีเลยหรือ ถ้าเกิดว่าเขาอยากจะขยายเวลาการก่อสร้าง แต่ว่าพอดูเจตนารมณ์ตามกฎหมายคือการขยายเวลามันต้องมีเหตุผลจริงๆ เช่น แบบอย่างช่วงน้ำท่วมหรือว่ามีปัญหาเรื่องโควิดอะไรอย่างนี้ แต่ว่ารายละเอียดเขาต้องแจ้งมาที่คนซื้อด้วยว่าขยายเวลา ขอขยายจากเหตุอะไรแล้วก็ต้องแจ้งหลังจาก 7 วันที่เกิดเหตุนั้นแล้ว อันนี้คือรายละเอียด         แต่ว่าสัญญาไม่ระบุขนาดนี้แล้วโครงการเขาก็บอกว่าเขาแจ้งมาแล้ว ประเด็นคือเขาบอกเขาส่งหนังสือแจ้งมาตอนธันวา คือธันวาเขาต้องส่งงานประมาณต้นธันวาเขาส่งจดหมายมาแต่ตาลไม่ได้รับ ไม่มีจดหมาย พอมีเรื่องกันแล้วพอไปทวนกันดู  เขาบอกว่าเขาส่งมาแล้วแต่เขาไปส่งในที่อยู่ในบัตรประชาชนไง ซึ่งไม่ใช่ที่อยู่ในสัญญา ที่อยู่ตามบัตรเราไม่ได้อยู่ที่นั่นเราก็ไม่รู้เรื่องแล้ว แต่เราไปตามดูจดหมายนะว่ามีไหมก็ไม่มี อะไรอย่างนี้คะ ก็เลยเป็นที่ถกเถียงกัน เขายืนยันว่าเขาส่งแล้วเขามีสิทธิขอขยาย แต่เรายืนยันว่าคุณผิดสัญญาเราจะขอเลิกสัญญา  เขามีไปรษณีย์ตอบรับไหมคะว่ามีใครเซ็นจดหมาย         มีคะ ก็คือเหมือนกับว่าเขาส่งไปคนเซ็นเป็น รปภ.เขาก็เอาใบนั้นมาให้เราดู แต่ว่าคิดดูนะถ้าเราไม่ไปตามหาจดหมายจริงๆ เราก็ไม่ได้นะคะ ซึ่งอันนี้มันก็ยังสงสัยอยู่ว่าจริงๆ แล้วถ้า Developer มาอ้างแบบนี้ว่าเขาส่งไปที่ที่อยู่แล้ว แต่ว่าเป็นที่อยู่ตามบัตรประชาชนไม่ใช่อยู่ในสัญญา อันนี้จะใช้ได้หรือเปล่า อันนี้เรื่องหนึ่งทีนี้พอตกลงกันไม่ได้ก็เลยคิดว่าจะอย่างไรดี ซึ่งถ้าเกิดได้คืนเฉพาะเงินต้นมันไม่โอเคอยู่แล้ว เพราะรู้สึกว่า Developer เอาเปรียบเราเกินไป แล้วเป็นบริษัทใหญ่ด้วย         ใช่คะ ก็เลยนำมาซึ่งการฟ้องคดี บริษัทควรมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค  ฟ้องเองเลยไม่ใช้ทนาย         ต้องบอกว่าฟ้องเองเลย ลองฟ้องดู คือเข้าไปอ่านรีวิว รีวิวใน Pantip เขาบอกว่าเขาก็ฟ้องกันนี่ แล้วทีนี้ก็เลยเริ่มหาข้อมูลแล้วก็โทรศัพท์ไปที่ศาล เพราะว่าตอนแรกยังสับสนเรื่องของการฟ้องคดีต้องฟ้องในพื้นที่ไหน ทางศาลเจ้าหน้าที่ท่านรับโทรศัพท์ก็ให้คำแนะนำที่ดีมากเลยนะคะ แล้วก็กระบวนการในการฟ้องก็ไม่ได้หนักอย่างที่คิด คือตอนแรกเรารู้สึกว่ากระบวนการมันน่าจะแบบว่าเป็นปีเลยหรือเปล่า แต่ปรากฏว่ากระบวนการก็คือเตรียมเอกสารไป ทางเจ้าหน้าที่ศาลก็แนะนำว่าถ้าจะให้ดีเอกสารเตรียมให้พร้อม แล้วถ้าเป็นไปได้อาจจะเขียนพิมพ์เป็น File ก็ได้ว่าเหมือนกับเล่าว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร Timeline เป็นอย่างไร สิ่งที่อยากเรียกร้องคืออะไร อย่างนี้ค่ะ เราก็เลยทำเป็น File ไป เสร็จแล้วจะมีเจ้าหน้าที่ที่เราโทรปรึกษา เขาก็จะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเขียนสำนวนให้ ซึ่งตรงนี้คือเรารู้สึกว่ากระบวนการไม่ได้ยากอย่างที่คิดจริงๆ ถึงแม้ว่าเราไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายไม่รู้ภาษากฎหมายไม่รู้จะเขียนสำนวนอย่างไรก็คือเดี๋ยวเขาก็จะไปปรับให้เอง (ตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคจะมีเจ้าพนักงานคดีซึ่งผู้บริโภคสามารถเล่าเหตุการณ์ปากเปล่า บอกว่าเรามีปัญหาอย่างไรแล้วเขาก็จะเขียนให้ตามนั้น แต่ว่าของคุณตาลจะพิเศษตรงที่ตรงไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ไปให้ด้วย)         ที่ชอบก็คือ เจ้าหน้าที่เขาก็ใส่ใจมากเลยเหมือนกับว่าก่อนที่จะไปให้ดูอีกครั้งหนึ่งเพื่อจะให้มันรวดเร็วเขาก็ส่ง File E-mail กลับมาเลย บอกว่าเราโอเคในสำนวนนี้ไหม ถูกต้องไหม ให้ตรวจทานดูอีกทีหนึ่งรู้สึกว่ากระบวนการมันไม่ช้า ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ก็ใช้เวลาสองเดือนพอดีถึงวันที่ที่ศาลเริ่มนัดวันแรก จริงๆ ต้องนัดภายใน 30 วัน         ใช่ค่ะเป็นช่วงโควิดพอดี เขาต้องทำภายใน 30 วันใช่ไหมคะ เห็นทางเจ้าพนักงานก็แจ้งว่าช่วงนี้คดีเยอะแล้วก็ช้า (ดีเลย์) ไปเพราะว่าโควิดด้วย จริงๆ ก็คือสองเดือนของคดีนี้ถือว่าเร็วแล้ว แต่ด้วยความที่ไม่เคยไปศาล ไม่เคยมีคดีอะไรมาก่อนเลยในชีวิต  อันนี้เป็นคดีแรกเราก็รู้สึกว่าจริงๆ เรื่องราวมันก็ไม่ได้ซับซ้อน คือจริงๆ น่าจะมีผู้เสียหายคล้ายๆ กันหรือว่าเจอยิ่งกว่าเราอีกหลายคดี เรารู้สึกว่าคดีเราก็เป็นคดีเล็กมากๆ ตอนแรกที่ไปเราก็เข้าใจว่าน่าจะมีการมาไกล่เกลี่ยพูดคุย ทาง Developer น่าจะชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ว่าตอนแรกที่ไปเจอทาง Developer เขาส่งทนายความมาท่านเดียว แล้วก็ให้เหตุผลว่าไม่สามารถติดต่อผู้มีอำนาจของบริษัทที่จะมาพูดคุยได้ ดังนั้นคือขอให้ทางศาลได้เลื่อนแล้วก็นัดกันใหม่ เพื่อไปคุยกันนัดหน้าก็เลยใช้เวลาไปอีกสองเดือน         แต่ว่าช่วงสองเดือนนี้เลยได้กลับมาทบทวนเรื่องของสำนวนเพราะว่ามีคนทักมาเหมือนกันว่า ฟ้องคดีคนเดียวเขาก็เป็นห่วงว่า เดี๋ยวสำนวนมันจะไม่รัดกุมหรือเปล่า หรือว่าจะมีจุดไหนที่เพลี่ยงพล้ำหรือเปล่า เราก็เลยกลับมาเอาสำนวนของทาง Developer มานั่งดูว่าเขาก็ยืนยันว่าเขาไม่ได้ผิดอะไร อย่างไร มีประเด็นไหนที่ต้องดูเป็นพิเศษ เราเลยเอาสำนวนเอาคดีมาปรึกษาทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ตาลได้รับคำแนะนำในเบื้องต้นว่าในเรื่องกฎหมายหรือว่าการฟ้องคดี จริงๆ อาจจะไม่ต้องใช้ทนายก็ได้ แต่ว่ามีประเด็นไหนที่เราควรจะรู้แล้วก็เตรียมข้อมูลไปในวันที่จะมีการไต่สวน แต่ว่าสุดท้ายเรื่องก็มาลงเอยที่เราก็เตรียมตัวไป แต่ว่าช่วงใกล้ๆ เวลาที่จะมีคณะไต่สวนทาง Developer ก็ส่งทนายมาแล้วก็บอกว่าโอเค ก็อยากประนีประนอมกัน แล้วก็จะตกลงตามที่เราเรียกร้องไปกคือคืนเงินต้นแล้วก็เบี้ยปรับตามที่เราบอกไป พอฟ้องคดีถึงมีการเจรจาคืนเงินต้นคืนเบี้ยปรับให้เราทั้งที่ตอนแรกไม่ได้ให้         ตอนแรกไม่ได้ให้แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างจะกระชั้นเหมือนกันคือ ศาลจะนัดไต่สวนวันพรุ่งนี้ วันนี้มาทำประนีประนอมกัน สุดท้ายเราก็ยอมที่จะประนีประนอมไป ขอให้ช่วยแชร์ประสบการณ์ผู้ที่จะซื้อคอนโดต้องดูอะไรบ้าง         จริงๆ แล้วเรื่องสัญญาคือถ้าเป็นไปได้อยากให้ศึกษาให้ละเอียดหน่อยว่าถ้าสัญญาตรงไหนเราไม่เข้าใจหรือเราเห็นว่ามันคลุมเครือหรือว่าเราจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์ก็ศึกษาสัญญาให้ดีก่อนที่จะเซ็น จริงๆ อันนี้ประสบการณ์ตัวเองที่เอามาแชร์ได้ก็คือ บางทีเราไปหลงเป็นเหยื่อการตลาด คือเราเห็นโปรโมชันแล้วเคลิ้ม อย่างปีนี้คอนโดมีเนียมโครงการต่างๆ มีโปรโมชันดีมากเลย คืออาจจะต้องถามความจำเป็นของตัวเองก่อนว่าเราซื้อคอนโดเพื่ออะไร จำเป็นไหม แล้วได้โปรโมชันมานี่มันคุ้มค่าจริงหรือเปล่า ค่อยๆ พิจารณาว่าอันนี้เป็นเหตุผลที่เราจะซื้อจริงๆ ใช่ไหม         เสร็จแล้วพอไปดูในสัญญา อย่างข้อที่อยากให้ดูมากๆ เลย ก็คือเรื่องนี้ว่าเบี้ยปรับหรือทางกรณีผู้ที่จะขายหรือว่าโครงการผิดสัญญาเขาจะโดนลงโทษอย่างไร หรือว่าเราเรียกร้องอะไรได้บ้างตรงนี้อยากให้เคลียร์กับเขาไปเลยว่ามันต้องเป็นอย่างไร แล้วอาจจะบอกไปได้เลยได้ว่าอันนี้มันไม่ใช่เป็นตามสัญญามาตรฐานนะ เราขู่เลยได้ไหมพี่ว่าอันนี้เดี๋ยวไปฟ้อง สคบ.ได้นะว่าสัญญาไม่ใช่สัญญามาตรฐาน         อันนี้คือให้แบบชัดเจนอยู่ในสัญญามันจะดีมาก แล้วก็อีกอย่างหนึ่งก็คือภาพที่เราเห็นตอนโฆษณาอย่างนี้ต้องเก็บไว้เป็นหลักฐานให้หมดเลย ตั้งแต่โบชัวร์ที่เราเห็นโฆษณาที่เขาติดไว้ เกิดมีปัญหาตรงนี้มันจะได้เอาเป็นข้อมูลที่จะเอาไว้เรียกร้องได้รวมถึงใบเสร็จต่างๆ ที่เราจ่ายค่างวดไป แล้วก็มีอันหนึ่งที่เป็นรายละเอียดเหมือนกันก็คือถ้าเกิดโครงการบอกว่าจะมีอะไรให้ เช่น แถมเฟอร์นิเจอร์กี่ชิ้น ก็ให้เขาแนบรูปเฟอร์นิเจอร์ที่แบบตรงตามสเปคที่เขาจะให้จริงๆ เพราะเคยเจอเหมือนกันบอกว่าจะแถมเฟอร์นิเจอร์แล้วแบบว่ามันครบไหม หรือว่าบางทีคุณภาพมันไม่ได้เหมือนกับตอนที่เขาโฆษณาไว้ สุดท้ายอยากฝากอะไรถึงผู้บริโภคหรือ Developer ที่กำลังทำโครงการ         Developer บ้านเราก็อยากจะให้คำนึงถึงจิตใจของผู้บริโภคเรื่องของสิ่งที่ผู้บริโภคเขามีความคาดหวัง จริงๆ ก็ทำตามสัญญาทำตามมาตรฐานที่คุณเป็น ทำตามสัญญาให้ได้ ส่วนฝั่งผู้บริโภคตาลคิดว่าจริงๆ สิทธิของผู้บริโภคเป็นเรื่องสำคัญแต่ว่าหลายคนอาจจะคิดว่ามันเสียเวลาหรือว่ามันไม่คุ้ม มันลำบาก มันยากอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่จริงๆ แล้วคืออยากเชิญชวนว่าในเมื่อมันเป็นสิทธิของเรา คือถ้าเกิดผู้บริโภคเข้มแข็งเรียกร้องสิทธิที่เราพึงมีพึงได้ มันก็เป็นตัวที่จะช่วยกำกับการทำงานของ Developer ให้เขาควบคุมคุณภาพให้ดีด้วย ดังนั้นเราศึกษาก่อนว่าเรามีสิทธิอะไรบ้าง ถ้าเราเสียสิทธิเราควรจะเรียกร้องสิทธิที่เรามีคืนมา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 อะพาร์ตเมนต์ไม่ให้สัญญาเช่า แถมจะริบเงินประกัน

        อะพาร์ตเมนต์แทบทุกแห่ง ล้วนมีการเก็บเงินประกันจากผู้เช่า เพื่อเป็นการประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น แต่ทั้งนี้รายละเอียดต่างๆ ต้องถูกระบุไว้ในสัญญาเช่า รวมถึงวิธีการคืนเงินประกัน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริโภค อย่างไรก็ตามผู้บริโภคหลายคนอาจเคยประสบปัญหาการถูกเรียกเก็บค่าประกันอย่างไม่เป็นธรรมหรือการไม่คืนเงินประกันเมื่อยกเลิกสัญญาเช่าพักอาศัยแล้ว มาดูกันว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างกับปัญหาลักษณะนี้         คุณก้องเกียรติเช่าอะพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น โดยก่อนย้ายเข้าได้วางเงินประกันเอาไว้จำนวนหนึ่ง ไม่กี่เดือนถัดมาคุณก้องเกียรติมีเหตุจำเป็นต้องย้ายออกอย่างกะทันหัน ซึ่งก็ได้ชำระค่าเช่าเดือนสุดท้ายไปแล้วเว้นแต่ค่าไฟฟ้าและน้ำประปา เพราะยังไม่มีการแจ้งราคามา อย่างไรก็ตามคุณก้องเกียรติ คิดเอาว่า ผู้ดูแลอะพาร์ตเมนต์จะหักเอาจากส่วนของเงินประกันที่ทางอะพาร์ตเมนต์ยังไม่ได้คืนให้        หนึ่งเดือนต่อมาผู้ดูแลอะพาร์ตเมนต์ได้ติดต่อมาทวงค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าทำความสะอาดห้อง รวมเป็นเงิน 900 กว่าบาท ทั้งยังบอกว่าจะริบเงินประกันที่ได้วางไว้ เพราะคุณก้องเกียรติผิดเงื่อนไขข้อตกลงไม่ยอมแจ้งย้ายออกก่อนล่วงหน้า 30 วัน        คุณก้องเกียรติได้จ่ายเงินค่าสาธารณูปโภคไปตามจำนวนที่ผู้ดูแลเรียกเก็บ แต่ก็รู้สึกว่าตนเองถูกเอาเปรียบ หากจะโดนริบเงินประกัน เพราะตอนเข้าพักอาศัยก็ไม่เคยได้รับเอกสารสัญญาเช่า หรือใบเสร็จรับเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละเดือน เรื่องการแจ้งย้ายออกล่วงหน้า 30 วันก็เช่นกัน ตนเองไม่ทราบมาก่อนว่าสิ่งนี้จะเป็นเงื่อนไขให้ถูกริบเงินประกันได้ จึงปรึกษามาว่าควรทำอย่างไร แนวทางแก้ไขปัญหา         ห้องพัก บ้าน อาคารชุด อะพาร์ตเมนต์ สำหรับการให้เช่าเพื่อพักอาศัย เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2562  โดยผู้เช่าและผู้ให้เช่าทำสัญญาเช่าระหว่างกัน โดยแต่ละฝ่ายต้องได้รับเอกสารสัญญาเช่าที่มีข้อความถูกต้องตรงกันคนละฉบับ         โดยในสัญญาเช่าต้องมีรายละเอียดของผู้ให้เช่าและผู้เช่า ชื่อสถานที่ตั้งและสภาพของอาคาร ทรัพย์สินเครื่องใช้ต่างๆ ระยะเวลาเช่า จำนวนเงินประกัน ค่าเช่าล่วงหน้า อัตราค่าเช่า อัตราค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา (โดยต้องแสดงวิธีคิดคำนวณ) รวมถึงอัตราค่าใช้จ่ายในการให้บริการอื่นๆ ที่ต้องคิดตามจริงและมีเหตุผลอันสมควร เงื่อนไขการผิดสัญญา รวมถึงมีใบแจ้งหนี้ที่แสดงรายการค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายในการให้บริการ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ และ ใบเสร็จรับเงินให้กับผู้เช่าด้วย         ดังนั้นเมื่อตกลงทำสัญญากันแล้ว ผู้บริโภคต้องขอเอกสารสัญญาเช่าไว้กับตนเองหนึ่งฉบับ และอ่านรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดการเสียเปรียบหรือเสียสิทธิอันพึงได้ หากผู้บริโภคไม่ได้รับเอกสารสัญญาเช่า ใบแจ้งหนี้ที่แสดงรายการค่าใช้จ่ายหรือไม่ได้รับใบเสร็จรับเงิน สามารถร้องเรียนไปยัง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง (สคบ. หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัด หรือ สายด่วน สคบ. 1166 ได้ เพื่อปกป้องสิทธิของตนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 210 เมื่อชุมชนปฏิเสธเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ใกล้ชุมชน-โรงเรียน

ท่ามกลางความสับสนเรื่องอันตรายจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ หลายประเด็นยังถกกันไม่จบ อย่างไรก็ตามเมื่อมีความเสี่ยงต่อสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง คนที่น่าจะได้มีส่วนตัดสินใจว่าจะยินยอมให้มีการเข้ามาตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ใกล้บ้านใกล้ชุมชนหรือไม่นั้นก็ควรเป็นคนในพื้นที่เอง เรามีกรณีน่าสนใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิชุมชนในการตัดสินใจต่อเรื่องดังกล่าวมาฝาก เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่น โดยศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสาน เป็นผู้นำเรื่องราวมาถ่ายทอดดังนี้  เมื่อวันอังคารที่  19  มิถุนายน  2561 ที่ผ่านมา ที่ศาลาชุมชนหมู่ที่ 4 บ้านคำบอน ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น  ได้จัดให้มีการประชุมเพื่อชี้แจงการจัดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน  โดยมีประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมเป็นจำนวนกว่า 100 คน  ในการประชุมมีการตั้งโต๊ะลงทะเบียนจำนวน 2 ชุด หนึ่งชุด  ไม่มีรายการว่าลงเพื่อทำอะไร  อีกหนึ่งชุดเป็นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) เขียนว่าเป็นการเข้าร่วมประชุมชี้แจงกับทางบริษัททรูฯ พร้อมทั้งแจกแผ่นพับจาก กสทช. เรื่อง “ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเสาส่งสัญญาณมือถือและสุขภาพ ” และมีการถ่ายรูประหว่างคนรับแผ่นพับกับตัวแทนของบริษัทฯ    เริ่มต้นมีกำนันตำบลโคกสูงได้ชี้แจงว่า วันนี้ไม่ใช่การทำประชาคม  แต่เป็นการชี้แจงของทางบริษัทฯ ที่จะมาตั้งเสาในชุมชนเท่านั้น  เมื่อเริ่มต้นการประชุม   มีผู้หญิงคนหนึ่งแนะนำตัวว่า เป็นตัวแทนจากบริษัทฯ ได้นำเสนอสไลด์เรื่อง คลื่นจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับคน  และอ้างว่าองค์กรอนามัยโลกประกาศว่าคลื่นจากเสาไม่เป็นอันตราย  จากนั้นได้เปิดวีดิทัศน์ที่ไปถ่ายทำสัมภาษณ์คนที่อยู่ใกล้เสาจากสถานที่ต่างๆ ว่าไม่เป็นอันตราย โดยมีพิธีกรของงานกล่าวย้ำว่า คลื่นจากเสาไม่เป็นอันตรายต่อมาเมื่อเปิดให้ชาวบ้านได้ซักถาม มีตัวแทนชาวบ้านได้พูดโดยกล่าวอ้างอิง ข้อมูลจากงานเขียนของนักวิชาการท่านหนึ่งว่า คลื่นจากเสานั้นก่อให้เกิดอันตรายกับคนที่อยู่ใกล้ในรัศมี  300 เมตร ก่อให้เกิดอาการปวดหัว  นอนไม่หลับ  ความจำเสื่อม  สายตาพร่ามัว  อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย   ซึมเศร้า  วิงเวียน  ขาดสมาธิ  มีผลต่อสมอง  เชลล์สืบพันธุ์  หัวใจวาย  มะเร็ง  เป็นหมัน  หน้ามืด   สับสน  อ่อนเพลีย  ความจำเสื่อม  ชักกระตุก  มะเร็งเต้านม  มะเร็งต่อมลูกหมาก  มะเร็งเม็ดเลือดขาว  ล้วนแล้วแต่เป็นบ่อเกิดสารพัดโรค  เพื่อค้านข้อมูลจากฟังของบริษัทฯ และตัวแทนชาวบ้านคนถัดมา ซึ่งเป็นลูกหลานชาวบ้านท่านหนึ่งที่เรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้พูดว่า “ข้อมูลที่ทางบริษัทนำเสนอมีแต่สิ่งดีๆ  จึงอยากให้พี่น้องชาวบ้าน ได้ฟังเรื่องราวข้อมูลอีกด้านไว้เพื่อชั่งน้ำหนัก   และชาวบ้านก็ไม่ได้มาคัดค้านการตั้งเสาส่งสัญญาณด้วยว่าเห็นประโยชน์ในเรื่องการสื่อสาร  แต่ต้องการให้ตั้งออกห่างจากชุมชนและโรงเรียน ตามประกาศ กสทช. ที่ให้หลีกเลี่ยงตั้งใกล้ชุมชน  โรงเรียน”  พร้อมนำคลิปข่าวมาเปิดให้ชาวบ้านชม ซึ่งเป็นข่าวที่ทางช่อง 7 ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เสาว่า ได้รับผลกระทบจากคลื่นอย่างไรบ้าง เช่น ปวดหัว  อ่อนเพลีย  จนท้ายที่สุด เมื่อบริษัทฯ ได้สอบถามชาวบ้านที่มาประชุมวันนั้น ว่าท่านใดต้องการให้มีการตั้งเสาใกล้ชุมชน-โรงเรียน ผลปรากฏว่าไม่มีใครยกมือสนับสนุน  พอสอบถามว่ามีท่านใดไม่ต้องการให้ตั้งเสาใกล้ชุมชน-โรงเรียน  กลับปรากฏว่า เกือบทุกคนในที่ประชุมยกมือไม่เห็นด้วยกับการตั้งเสา  จึงเป็นข้อยุติว่า  การที่บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) จะมาตั้งเสาในพื้นที่ใกล้ชุมชนและโรงเรียนในหมู่ที่ 4 บ้านคำบอนนั้น คนในชุมชน  “ ไม่เห็นด้วย ” บริษัทฯ จึงต้องยุติเรื่องดังกล่าวไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 กระแสข่าวในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2561ประกาศ “ควบคุมสัญญาห้องเช่า” ยังมีผล เมื่อศาลปกครองกลางไม่รับคุ้มครองชั่วคราว 14 มิ.ย.61 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งยกคำร้องขอให้ศาลพิจารณาไต่สวนเพื่อมีคำสั่งระงับการบังคับใช้ ประกาศสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เรื่อง ให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2561 เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจนถึงที่สุด ในคดีที่เครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจให้เช่าอาคารเพื่อที่อยู่อาศัยยื่นฟ้องคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา และ สคบ. ต่อศาลปกครองกลาง ว่าร่วมกันออกประกาศดังกล่าว โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา กำหนดให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่ออยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา เพื่อให้ สคบ. ใช้เป็นมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคจากการทำสัญญาเช่าให้บรรลุผล และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย หากศาลมีคำสั่งทุเลาตามคำร้องก็จะทำให้ สคบ.ขาดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค และทำให้ สคบ. ไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบได้ทันท่วงที ส่วนการออกประกาศดังกล่าวจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เป็นประเด็นแห่งคดีที่ศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาต่อไปกฟภ. เตือนชาวบ้าน ระวังมิจฉาชีพลวงติดชุดประหยัดไฟ นายพิชัย ตติยสุขพร พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.คง จ.นครราชสีมา ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีกลุ่มบุคคลอ้างเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าไปตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า และพูดจาหว่านล้อมให้เหยื่อติดตั้งชุดประหยัดไฟ และเครื่องป้องกันไฟช๊อตในราคา 7,500 บาท จึงได้ไปตรวจสอบและพบกลุ่มบุคคลดังกล่าว พร้อมได้บันทึกภาพถ่ายเก็บไว้ แต่ปรากฏว่ามีการเรียกพรรคพวกหลายสิบคนเข้ามาห้อมล้อมคุกคามให้ลบภาพถ่ายดังกล่าวออก แล้วรีบขึ้นรถขับออกไปอย่างรวดเร็วจึงอยากขอฝากเตือนพี่น้องประชาชนอย่าได้หลงเชื่อบุคคลที่มาแอบอ้างว่าเป็นพนักงานการไฟฟ้า ถ้ามีกลุ่มคนมาแอบอ้างในลักษณะนี้ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ ให้ร้องเรียนที่สายด่วนศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้า 1129  หรือ แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เข้าตรวจสอบทันทีกสทช.ประกาศยุติการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เหตุค่ายมือถือเมินนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ประกาศยุติประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ตซ (MHz) หลังจาก บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งเป็นรายสุดท้ายได้ประกาศไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จากก่อนหน้านี้ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ได้ทำหนังสือถึงกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เรื่องการไม่ยื่นขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น 1800 MHz ไปแล้ว ต่อจาก กลุ่มทรู ที่เป็นรายแรก ในการไม่ขอเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800ทั้ง 3 ราย ให้เหตุผลว่า การประมูลครั้งนี้ ไม่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาวนั้น เลขาธิการ กสทช. ยอมรับว่า คาดการณ์ผิด เนื่องจากการประมูลที่เกิดขึ้นเป็นไปตามแนวทางของผู้ประกอบการที่ต้องการให้ กสทช. จัดการประมูล ก่อนคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย. 2561 นี้ พร้อมระบุว่า ราคาตั้งต้นการประมูลไม่สามารถปรับลดเหลือ 16,000 ล้านบาท ตามที่ดีแทคเสนอ เนื่องจากจะเกิดความเสียหายกับผู้ประกอบการ 2 ราย คือ เอไอเอส และ ทรู ที่ชนะการประมูลรอบที่แล้วในราคา ประมาณ 40,000 ล้านบาท และได้จ่ายค่าใบอนุญาตมาแล้วร้อยละ 70 ส่วนมาตรการเยียวยาคลื่น 1800 MHz จะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่มีการเปิดประมูลไม่ทันก่อนหมดอายุสัมปทาน อย่างไรก็ตาม กสทช. จะเสนอเรื่องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะเดินหน้าอย่างไรต่อไป ส่วนการเปลี่ยนแปลงราคา กสทช. คงปรับลดราคาลงไม่ได้ เพราะจะเกิดข้อครหากับสังคม เนื่องจากผู้ที่ประมูลได้ก่อนหน้านี้กำลังจะจ่ายค่าประมูลครบถ้วนแล้ว  สรรพากรชี้แจง ข่าวขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 9% ไม่เป็นจริงสำนักข่าวไทย รายงานว่ากรมสรรพากรได้ออกประกาศชี้แจงกรณีข่าวในโซเชียลระบุรัฐบาลจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เพิ่มเป็น 9% มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 นั้นไม่เป็นความจริง ที่ผ่านมาได้มีกระแสความเข้าใจคลาดเคลื่อนลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งกรมสรรพากรก็ได้ชี้แจงทำความเข้าใจมาโดยตลอด ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกหลงเชื่อข่าวดังกล่าวและขอให้ช่วยแชร์ข้อมูลนี้ เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกันต่อๆ ไปด้วย ทั้งนี้หากผู้ประกอบการหรือผู้เสียภาษีมีข้อสงสัยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากเว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์สารนิเทศสรรพากร โทร.1161คอบช. ยื่นข้อเสนอ ก.พลังงาน ปฏิรูปโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบเมื่อ 13 มิ.ย.61 คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ด้านบริการสาธารณะ ได้เดินทางไปยังกระทรวงพลังงานเพื่อยื่นข้อเสนอการแก้ปัญหาราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค 8 ข้อ ได้แก่ 1) ขอให้ยกเลิกการคำนวณราคา ณ โรงกลั่น สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล เบนซิน และแก๊สโซฮอล์) ซึ่งใช้กลไกราคาเสมือนการนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ที่มีการบวกค่าขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทย รวมเข้ากับราคาน้ำมันประเทศสิงคโปร์ และเปลี่ยนมาใช้กลไกราคาเทียบเท่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปประเทศสิงคโปร์และไม่เกินราคาของประเทศสิงคโปร์ที่มีราคาต่ำกว่า 2) ให้ปรับปรุงราคาเอทานอลที่ผลิตได้ในประเทศ ให้มีราคาใกล้เคียงกับราคาจากประเทศผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ของโลก เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเพิ่มประสิทธิภาพในการลดต้นทุนการผลิตเอทานอลทั้งภาคเกษตรและภาคการผลิต3) กำหนดราคาก๊าซแอลพีจี (LPG) หรือ ก๊าซหุงต้ม ไว้เท่าเดิมที่ 333 เหรียญต่อตัน โดยไม่ต้องนำเงินกองทุนน้ำมันไปจ่ายชดเชย และให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก่อนเป็นอันดับแรก4) หยุดการเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงานชั่วคราว 5) แก้ไขการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 โดยเก็บจากราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นก่อน6) ขอให้ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 7) ให้รัฐบาลใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นกลไกควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยไม่ใช้กองทุน8) ขอให้รัฐบาลจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ หรือ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ให้เสร็จก่อนการเปิดประมูลให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ

อ่านเพิ่มเติม >