ฉบับที่ 277 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2567

เตือน อินฟลูฯ ดาราไทย อย่ารับรีวิวอาหารเสริมเกินจริง        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เปิดเผยว่า ได้มีการตรวจพบการรีวิวสินค้า ประเภทอาหารเสริมโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง มีการอ้างรักษาโรค ลดความอ้วน ซึ่งมีการใช้ดารา นักแสดง พิธีกร ผู้ประกาศข่าว อินฟลูเอนเซอร์ แพทย์ รวมถึงเภสัชกรจำนวนมากมารีวิว         อย. ได้เตือนว่าการกระทำดังกล่าว มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ดังนี้        ·     มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 70         ·     มาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณ ของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 71         หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที  บขส. แจ้งกรณีปิดพื้นที่ขาเข้าหมอชิต แต่ “ถูกแท็กซี่เรียกค่าบริการเพิ่ม”         มีนาคม 2567 ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ประกาศชี้แจงกรณีที่ทาง บขส. ปิดพื้นที่ทางขาเข้าสถานีหมอชิต 2 ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งได้ให้รถโดยสารทุกคันเข้าจอดส่งผู้โดยสารที่บริเวณชานชาลาขาออก ช่องที่ 112-130 นั้น พบว่ามีแท็กซี่บางรายฉวยโอกาสเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม 50 บาทกับผู้โดยสาร ดังนั้น ทาง บขส. ขอแจ้งว่าไม่มีนโยบายดังกล่าวสำหรับการให้รถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นจะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด สามารถแจ้งเรื่องเรียนได้ที่สายด่วน 1584 ลูกหลานใส่ใจ ระวังมิจฉาชีพพุ่งเป้าผู้สูงอายุ         เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง ออกมาเตือนกรณีพบว่ามีผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณจำนวนมากมักตกเป็นเป้าหมายในกลุ่มมิจฉาชีพ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) ซึ่งใช้กลลวงหลอกเอาเงิน เช่น การแอบอ้างเป็นประกันสังคม หลอกเอาเงินบำเหน็จ-บำนาญ รวมถึงแอบอ้างเป็นสรรพากร ทางตำรวจสอบสวนกลางจึงได้แนะนำวิธีป้องกันผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ ดังนี้          1. อย่ารีบเชื่อทันที หาเหตุและผลให้ดีก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่         2. เปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง หาข้อมูลให้ได้มากที่สุด นำมาชั่งน้ำหนักดูว่าเป็นเรื่องเท็จจริงหรือไม่         3. เช็กข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์ ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง การแชร์ในสิ่งที่ผิดเป็นผลเสียตามเสมอ        4. เลือกดูสื่อที่น่าเชื่อถือเท่านั้น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเข้าไปอ่าน        5. หากมิจฉาชีพอ้างถึงหน่วยงานต่างๆ ให้โทรไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้วยตัวเองว่าจริงหรือไม่        6. ควรปรึกษาคนใกล้ตัว ลูก-หลาน ก่อนที่จะเชื่อกลอุบายต่างๆ ที่มิจฉาชีพนำมาหลอก เพื่อจะได้ให้ช่วยกันหาข้อมูลว่าจริงหรือไม่         ทั้งนี้ ตำรวจสอบสวนกลางจึงอยากให้ลูกหลานคอยระวังผู้สูงอายุและผู้ใหญ่อย่างสม่ำเสมออีกด้วย จับแล้วทุจริต “โครงการสามล้อเอื้ออาทร”         จากกรณีกลุ่มผู้เสียหาย 200 ราย ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินคดีกับสหกรณ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง สืบเนื่องจากสหกรณ์ดังกล่าว ได้เป็นผู้ประสานการขอสินเชื่อระหว่างสมาชิกและธนาคาร เพื่อทำโครงการสินเชื่อพัฒนาองค์กรชุมชน แต่ภายหลังพบว่าทางสหกรณ์กลับนำเงินฝากของสมาชิกไปชำระสินเชื่อกับธนาคาร ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง จนเป็นเหตุให้สมาชิกถูกธนาคารฟ้องร้องเนื่องจากผิดชำระหนี้และผิดสัญญาค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงที่ทางสหกรณ์ไม่สามารถจัดซื้อรถสามล้อได้ตรงตามคุณภาพที่กำหนดไว้ และติดต่อจ้างอู่หลายแห่งให้ประกอบสามล้อแล้วนำมาจำหน่ายให้สมาชิก และเพิ่มค่าส่วนต่างถึง 75,000-180,000 บาท สุดท้ายแล้วมีการนำเงินส่วนต่างดังกล่าวไปเป็นของตนเอง มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาทนั้น         ล่าสุดตำรวจสอบสวนกลาง ได้นำกำลังเข้าจับกุม นายสุรชัย อายุ 43 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 487/2567  ฐานความผิด “ร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการตาม มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562” เพื่อนำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ผู้บริโภค เฮ! คดีหลอกขายเครื่องนอนยางพารา ชนะศาลฎีกา         จากกรณีผู้เสียหายหลายราย ฟ้องร้องเพจเฟซบุ๊กออนไลน์ที่อ้างว่าขายที่นอนยางพารา แต่เมื่อสั่งของมากลับพบว่าได้รับของที่ไม่ได้คุณภาพ หรือ ไม่ได้สินค้าเลย กว่า 10 เพจนั้น และได้มาร้องเรียนทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ล่าสุดวันที่ 15 มีนาคม 2567 ณัฐวดี เต็งพาณิชกุล ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า คดีนี้ต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2563 ตั้งแต่ศาลชั้นต้นถึงศาลอุทธรณ์ จนกระทั่งมกราคม 2567 ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ลงโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เห็นควรลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ศาลให้จำเลยชำระเงิน 6,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2562 นับจากวันที่จำเลยกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม         อย่างไรก็ตาม อีกคดีศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ภาค 1 โดยให้จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดยเป็นชัยชนะของผู้บริโภค 2 ราย ในจำนวน 120 ราย ที่ได้มาร้องต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อปี 2563 ในส่วนของการได้เงินคืนทางโจทก์ต้องไปทำการสืบทรัพย์จำเลยตามกระบวนการบังคับคดีตามเงื่อนไขของคดีแพ่งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >