ฉบับที่ 148 ไฟใต้ดับ เหตุสุดวิสัยหรือไร้ประสิทธิภาพ

ไฟฟ้าดับเมื่อค่ำคืนของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ถือเป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะเป็นปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคใต้ ครบถ้วนทั้ง 14 จังหวัด

ในค่ำคืนนั้นประชาชนที่อยู่อาศัยทางภาคใต้ต้องตระหนกอกสั่นกันถ้วนทั่ว โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่อยู่ในสี่ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อพบว่าเมืองทั้งเมืองตกอยู่ในความมืดมิดโดยไม่มีใครรู้ถึงสาเหตุ หลายคนคิดเลิยเถิดว่าเป็นการก่อการร้ายครั้งใหญ่ของผู้ไม่หวังดีเลยทีเดียว

วันรุ่งขึ้น 22 พฤษภาคม 2556 นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดเผยเป็นทางการว่า เมื่อเวลา 18.52 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เกิดปัญหาไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เนื่องจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน 2 ขัดข้อง ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ได้

ผู้ว่าการ กฟผ. ได้ขยายรายละเอียดเพิ่มเติมว่า สายส่งที่จ่ายไฟฟ้าไปยังภาคใต้มี 4 เส้น คือ สายส่ง 500 KV จำนวน 2 เส้น และสายส่ง 230 KV จำนวน 2 เส้น โดยในช่วงเช้าเวลา 08.00 น. ของวันเกิดเหตุ กฟผ. ได้ปลดสายส่ง 500KV จำนวน 1 เส้น เพื่อทำการซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ในเวลา 17.26 น. สายส่ง 500 KV เส้นที่ 2 เกิดการชำรุดคาดว่าเกิดเนื่องจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าลงภาคใต้ได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งเส้น 230 KV ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทำให้สายส่งจ่ายไฟฟ้าเกินกำลังส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ ประกอบกับจากการที่ภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอและต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งดังกล่าว โดยความต้องการใช้ไฟฟ้า ณ วันที่ 21 พ.ค. 2556 มีสูงถึง 2,200 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าภาคใต้เดินเครื่องอยู่ 1,600 เมกะวัตต์ ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นในภาคใต้ อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าเขื่อนรัชชประภา ถูกปลดออกจากระบบโดยอัตโนมัติเนื่องจากความถี่ไฟฟ้าลดลงต่ำกว่ามาตรฐาน 50 Hz (เฮิร์ต) เพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า

กฟผ. ได้เร่งแก้ไขสถานการณ์  ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทุกโรงในภาคใต้อย่างเต็มกำลังการผลิต รวมทั้งยังเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันดีเซลที่ จ.สุราษฎร์ธานี และทางมาเลเซียได้ส่งไฟมาช่วยอีก 200 เมกะวัตต์ ทำให้สามารถจ่ายไฟให้ประชาชนได้ทั้งหมดเมื่อเวลา 23.00 น.

ต่อมากระทรวงพลังงานได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว ซึ่งได้มีผลสรุปออกมาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2556 โดยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมของ กฟผ. เนื่องจากเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าได้พยายามควบคุมการจ่ายไฟตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ทุกขั้นตอนแล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

สำหรับสาเหตุสรุปได้ 3 ประเด็น คือ 1.สายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 2 ถูกปลดเพื่อบำรุงรักษาฉุกเฉิน (Unplanned) 2. เกิดฟ้าผ่าบนสายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรที่ 1 และ 3. ระบบ HVDC ที่ กฟผ. รับไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียเกิดขัดข้องทำให้ระบบไฟฟ้าของภาคใต้ถูกแยกออกจากระบบไฟฟ้าหลักของประเทศ หลังจากนั้นก็เกิดไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้  ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในระยะเวลาที่สั้นมาก คือประมาณ 5.2 วินาที

ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ กฟผ. เริ่มทยอยนำสายส่งเชื่อมโยงระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ ทั้งระบบ 500 เควี และ 230 เควี เข้าใช้งานตามลำดับ เพื่อใช้ในการเริ่มเดินเครื่องโรงไฟฟ้า สามารถเริ่มจ่ายไฟฟ้าให้กับสถานีไฟฟ้าแรงสูงหลังสวน จังหวัดชุมพรเป็นแห่งแรก ตั้งแต่เวลา 19.05 น. และสามารถทยอยจ่ายไฟฟ้าครบทุกสถานีไฟฟ้าแรงสูงในภาคใต้ของ กฟผ. ในเวลา 20.12 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามคู่มือปฏิบัติที่กำหนดไว้ในทุกขั้นตอน

ขณะที่นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ กล่าวว่า การเกิดไฟฟ้าดับที่ภาคใต้ที่ผ่านมาถือเป็นเหตุสุดวิสัย ดังนั้นจึงไม่ต้องมีผู้รับผิดชอบ ส่วนความเสียหายที่เกิดจากการซื้อไฟฟ้าของมาเลเซียมาชดเชยชั่วคราว 380 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงิน 13 ล้านบาทนั้น ต้องกลายเป็นภาระที่ประชาชนต้องแบกรับแทน โดยจะมาเกลี่ยเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในงวดถัดไป (ก.ย.-ธ.ค.2556) ซึ่งคิดเป็นค่าเอฟทีที่ประชาชนต้องจ่ายเพิ่มไม่ถึง 1 สตางค์ต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม เรกูเลเตอร์ยังเหลือเงินค่าปรับที่เรียกเก็บจากหลายส่วนในหลายกรณีอีกกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำมาเกลี่ยเป็นค่าเอฟทีของประชาชนในงวดหน้าทั้งหมด จบข่าว.

ข้อค้นพบและข้อสังเกต

แม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของกระทรวงพลังงานจะมีผลสรุปว่าเป็นเหตุสุดวิสัย (สื่อบางสำนักบอกว่า เป็นผลสรุปที่เป็นไปตามคาด) แต่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีข้อค้นพบและข้อสังเกตว่าปัญหาไฟฟ้าภาคใต้ดับทั่วทั้งภาคอาจไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แต่จะเป็นความบกพร่องในการบริหารจัดการในการผลิตและการส่งไฟฟ้าหรือไม่นั้น ชวนมาร่วมพิจารณากัน

  1. สถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้า...ยืนยันว่า กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาค

ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้รวบรวมข้อมูลกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของภาคใต้ ทั้งจากเว็บไซต์ของ กฟผ. และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงงาน และการยืนยันข้อมูลจาก อ.เดชรัต  สุขกำเนิด นักวิชาการที่ติดตามด้านกิจการไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด พบว่า กำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้มีทั้งหมด 2,494 เมกะวัตต์  ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกำลังไฟฟ้าจากสายส่งภาคกลาง 600 เมกะวัตต์ และจากมาเลเซีย 300 เมกะวัตต์ ซึ่งช่วยทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงขึ้น โดยเมื่อรวมกันแล้วจะมีกำลังไฟฟ้าสำรองทั้งหมด 3,394 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้ที่ 2,424 เมกะวัตต์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2556  เมื่อเวลา 19.30 น.

2. แม้ว่ากำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้จะมีปริมาณที่เพียงพอต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2556 ตามที่กล่าวมา แต่นั่นก็เป็นเพียงตัวเลขและต้นทุนที่ประชาชนจ่ายผ่านค่าไฟฟ้าฐาน เพราะจากการรายงานของส่วนประชาสัมพันธ์ กฟผ. ผ่านเฟสบุ๊ค GG News และเอกสารประกอบการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของ กฟผ. ได้ให้รายละเอียดถึงโรงไฟฟ้าที่หยุดซ่อมทั้งตามแผนและซ่อมฉุกเฉิน รวมถึงปัญหาของสายส่งไฟฟ้าจากมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าลดลงไปอย่างมากจนอยู่สถานะที่ไม่มั่นคง โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟดับโรงไฟฟ้าในภาคใต้มีการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าหรือมีกำลังผลิตพร้อมจ่ายเพียง 1,662.2 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 67 ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดของภาคใต้ และเมื่อมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวันของภาคใต้ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 2,200 – 2,400 เมกะวัตต์ กฟผ. แก้ปัญหาด้วยการรับไฟฟ้าจากภาคกลางและจากมาเลเซียมาเสริม โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ไฟดับได้รับไฟฟ้าจากภาคกลาง 430 เมกะวัตต์ และรับจากมาเลเซียเพียง 30 เมกะวัตต์  รายละเอียดของโรงไฟฟ้าภาคใต้ที่หยุดซ่อมทั้งตามแผนและนอกแผน รวมทั้งปัญหาระบบสายส่งจากมาเลเซีย มีดังนี้

2.1            โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซขนอม จ.นครศรีธรรมราช ปลดเครื่องบางส่วนออกจากระบบเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. - 13 มิ.ย. 56 กำลังไฟฟ้าที่ผลิตไม่ได้ 100 เมกะวัตต์

2.2            โรงไฟฟ้าพลังความร้อนกระบี่ ปลดเครื่องออกจากระบบเพื่อทำการบำรุงรักษาตามแผน ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. - 25 พ.ค. 56 กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 340 เมกะวัตต์

2.3            โรงไฟฟ้ากังหันก๊าซสุราษฎร์ฯ ได้ปลดเครื่องออกจากระบบส่วนหนึ่ง เพื่อทำการบำรุงรักษาฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 56 เป็นต้นมา (ก่อนเกิดเหตุไฟดับเพียง 2 วัน)ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไปราว 100 เมกะวัตต์

2.4            โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา  จำนวน 1 หน่วยจาก 3 หน่วย ไม่พร้อมเดินเครื่อง ตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. 56 ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าหายไป 24 เมกะวัตต์

2.5            การรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียผ่าน HVDC 300 เมกะวัต์และ HVAC 85 เมกะวัตต์ ไม่ได้รับเต็มที่ 385 MW ตามที่ทำสัญญาฯ โดยรับ-ส่งเพียงพลังไฟฟ้าขั้นต่ำคือ HVDC 30 MW เท่านั้นต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายวันแล้ว GG News ให้ข้อมูลว่าอาจเกิดจาก TNB หรือการไฟฟ้ามาเลเซีย แจ้ง Shortfall (กำลังผลิตไฟฟ้าพร้อมจ่ายไม่พอ) หรือไม่พร้อมขายให้ไทย…

2.6            รายงานของ กฟผ. และกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กเพียงแค่ 20.2 เมกะวัตต์เท่านั้น  โดยไม่ให้รายละเอียดว่า เหตุใดจึงไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มีกำลังผลิตรวมกันกว่า 128 เมกะวัตต์ เข้ามาใส่ระบบไฟฟ้าของภาคใต้

3. เมื่อสถานการณ์กำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้ขาดความมั่นคง โดยสาเหตุหลักใหญ่มาจากมีโรงไฟฟ้าหยุดซ่อมเป็นจำนวนมาก ตามที่กล่าวมาในข้อ 2 ดังนั้น การถ่ายเทไฟฟ้าจากภาคกลางลงสู่ภาคใต้โดยอาศัยสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ จึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะทำให้ระบบไฟฟ้าภาคใต้มีความมั่นคง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้ทำการปรับปรุงระบบสายส่งจาก 115 กิโลโวลต์เป็น 230 กิโลโวลต์ และเพิ่มสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์(KV) เข้ามาอีก 2 เส้น เพื่อให้สามารถถ่ายเทพลังงานไฟฟ้าภาคกลาง-ภาคใต้ได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตามความต้องการใช้  ดังนั้น การปลดและซ่อมสายส่งที่ลงสู่ภาคใต้ขนาด 500 กิโลโวลต์(KV) จำนวน 1 เส้น ในช่วงเช้าเวลา 08.00 น.ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 โดยปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งเส้นใหญ่ที่เหลืออยู่โดยไม่มีมาตรการหรือแผนรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินทั้งโดยมนุษย์หรือธรรมชาติ นับว่าเป็นการปฏิบัติการที่ประมาทเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลดังนี้

3.1            เป็นที่ทราบกันดีว่า พื้นที่ภาคใต้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเคยมีการเผาหรือวางระเบิดระบบสายส่งเกิดเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง

3.2            เคยมีประวัติเกิดข้อขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้าอยู่บ่อยครั้ง จากรายงานประจำปี 2555 ของ กฟผ. ระบุว่า ในปี 2555 เกิดข้อขัดข้องในระบบส่งไฟฟ้า ทำให้เกิดไฟฟ้าดับด้วยสาเหตุต่างๆ ที่เป็น Forced Outage (สายส่งหลุดออกจากระบบ) รวม 73 ครั้ง โดยเป็นเหตุขัดข้องจากสายส่ง 14 ครั้ง

3.3            ที่ภาคใต้มีประวัติเคยเกิดเหตุการณ์ไฟดับใหญ่มาแล้ว จากรายงานประจำปี 2555 ของ กฟผ. ระบุว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2555 เวลา 15.56 น. เกิดเหตุการณ์ Partial Blackout (ไฟดับทั่วทั้งจังหวัดหรือทั้งภาค) ที่ภาคใต้ตอนล่างรวม 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล รวมมีไฟดับทั้งหมด 641.4 เมกะวัตต์ นานที่สุด 26 นาที

3.4            แม้จะมีสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์เหลืออยู่ 1 เส้น และมีสายส่งไฟฟ้าขนาด 230 กิโลโวลต์เป็นตัวช่วย แต่สายส่งไฟฟ้าเส้นรองลงมานี้สามารถรับกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน 400 เมกะวัตต์เท่านั้น จึงอาจมีปัญหาแรงดันที่แตกต่างกันได้ อีกทั้งไฟฟ้าที่ป้อนสู่ภาคใต้ในวันที่เกิดเหตุก็สูงกว่าคืออยู่ที่ 430-470 เมกะวัตต์

4. เมื่อจะมีการซ่อมสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ภาคกลางและอาจทำให้ต้องลดกำลังส่งไฟฟ้าลงมาเพื่อความปลอดภัยของระบบสายส่งไฟฟ้า เหตุใด กฟผ. จึงไม่มีการเตรียมการรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น กลับยังคงใช้ไฟฟ้าจากมาเลเซียเพียงแค่ 30 เมกะวัตต์ นับเป็นความเสี่ยงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง เรื่องนี้การชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องยังไม่กระจ่าง  จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับการไฟฟ้ามาเลเซีย (Tenaga Nasional Berhad : TNB) ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าผ่านจุดเชื่อมโยงไฟฟ้า 2 จุดด้วยกัน

4.1            ระบบส่งเชื่อมโยง HVAC จำนวน 85 เมกะวัตต์ เป็นการซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะที่ทั้งสองฝ่ายตกลงทำข้อเสนอราคาขายไฟฟ้าล่วงหน้าเดือนต่อเดือนที่ 3 ระดับราคา คือ Price A (ราคาต่ำ) Price B (ราคาปานกลาง) และ Price C (ราคาสูง) ในช่วงที่เกิดเหตุ กฟผ. ไม่ได้ใช้จาก HVAC เลย

4.2            ระบบเชื่อมโยง HVDC ปริมาณซื้อขายสูงสุด 300 เมกะวัตต์ โดยเป็นการซื้อขายไฟฟ้าแบบ Non-Firm ในลักษณะ Bulk Energy โดยอัตรารับซื้อไฟฟ้าคิดเป็น Tier ในปริมาณ Tier ละ 25-30 ล้านหน่วย โดยจะมีราคาลดหลั่นลงตามลำดับ ทำให้การรับซื้อไฟฟ้าปริมาณมากมีราคาเฉลี่ยถูกลง แต่ปัจจุบันรวมถึงตอนที่จะปลดสายส่งเพื่อซ่อมบำรุงในวันที่เกิดเหตุ กฟผ. กลับรับซื้อเพียง 30 เมกะวัตต์เท่านั้น และเมื่อเกิดไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาค กฟผ. ต้องย้อนกลับไปขอซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียอย่างฉุกเฉินทำให้ถูกคิดค่าไฟที่ราคาแพงมาก (บางแหล่งข่าวบอกว่าสูงถึง 16 บาท/หน่วย)

 

บทสรุป

แม้ว่าคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะมีบทสรุปออกมาเรียบร้อยแล้วว่า เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯหรือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในฐานะเรกูเลเตอร์ แต่ข้อค้นพบและข้อสังเกตที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่าบทสรุปดังกล่าว ไม่มีการกล่าวถึง ความบกพร่องในการซ่อมระบบสายส่งไฟฟ้าเส้นหลักภาคกลาง-ภาคใต้ ที่ไม่มีมาตรการรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างใดอย่างหนึ่งจากมนุษย์หรือจากธรรมชาติเลย  อีกทั้งยังชี้ให้เห็นจุดโหว่ในการจัดการปัญหาไฟฟ้าดับทั้งภาคหรือทั้งประเทศอย่างเด่นชัด ว่ายังมีความบกพร่องอยู่มากและห่างไกลจากการกล่าวอ้างในโฆษณาประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมาก  ปัญหาเหล่านี้หากไม่มีการตรวจสอบแก้ไขกันอย่างจริงจังและจริงใจ แล้วพยายามไปแก้ไขด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นที่ภาคใต้ แม้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าล้นเหลือแต่หากบริหารจัดการไม่ดี ปัญหาไฟฟ้าดับทั่วทั้งภาคหรือทั้งประเทศก็อาจเกิดขึ้นอีกได้ไม่ยากเย็นนัก

 

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

250 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ไฟฟ้า ภาคใต้ ดับ

ฉบับที่ 278 ลูกชิ้นปลา ทำฟันระเบิด!

        ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเนื้อ ลูกชิ้นปลา ของกินสุดแสนอร่อยที่ใครหลายคนชื่นชอบ มีขายอยู่ทั่วเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทย ถึงขนาดปัจจุบันก็มีร้านเฟรนไชส์ขายลูกชิ้นกันให้เกลื่อนเต็มไปหมด ซึ่งถ้าพูดถึงร้านเฟรนไชส์เราก็คงจะคาดหวังว่าอาหารที่เราจะซื้อคงจะสะอาดปลอดภัย ถูกสุขอนามัยทุกขั้นตอนใช่ไหมล่ะ (เป็นมาตรฐานที่ควรจะมีสำหรับการขายอาหารอยู่แล้ว) แต่ดันไม่ใช่กับเคสของคุณจุ๊บ        คุณจุ๊บเข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เธอซื้อลูกชิ้นปลาร้านเฟรนไชส์เจ้าหนึ่งมารับประทาน จำนวน 1 ถ้วย ราคา 55 บาท พอได้รับสินค้ามาแล้วเธอก็รับประทานทันที แต่ในระหว่างที่กำลังเคี้ยวอยู่นั้น ก็เหมือนกับเจออะไรแข็งๆ โดนที่ฟัน ซึ่งพอเอาออกมาดูก็พบกับเศษเหล็กและฟันกรามของเธอที่แตกหักเสียหาย เธอจึงติดต่อไปยังเฟรนไชส์ดังกล่าวให้รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียเวลาทำงานและอื่นๆ เป็นเงินจำนวน 69,300 บาท         ทั้งนี้ จากที่คุณจุ๊บติดต่อไปยังบริษัทเฟรนไชส์ลูกชิ้นปลาดังกล่าว ทางบริษัทก็ได้มารับชิ้นส่วนดังกล่าวไปตรวจสอบ หลังจากนั้นทางบริษัทก็ได้ติดต่อผู้เสียหายมาว่าทางบริษัทได้ให้ทางโรงงานที่ผลิตตรวจสอบแล้ว ไม่พบชิ้นส่วนเหล็กดังกล่าว อย่างไรก็ตามจะขอชดเชยค่าเสียหายดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท แทน คุณจุ๊บเองนั้นไม่โอเคกับขอเสนอดังกล่าวเนื่องจากเธอนั้นตั้งครรภ์อยู่จึงไม่สามารถทำฟันได้ทันที และการที่เธอได้รับประทานลูกชิ้นดังกล่าวไปในขณะตั้งครรภ์อยู่ทำให้ไม่สบายใจเป็นอย่างมาก พร้อมกับหน้าที่การงานของเธอนั้นต้องใช้หน้าตาในการให้บริการลูกค้า ซึ่งตั้งแต่เกิดเรื่องเธอต้องถือเอาเรื่องโควิดมาช่วยแก้สถานการณ์ในการทำงานโดยต้องใส่แมสก์ตลอดเวลา เพราะไม่มั่นใจ ไม่กล้ายิ้มหรือพูดคุยได้เหมือนปกติ ที่สำคัญอีกอย่างคือค่าเสียหายทั้งหมดที่เธอต้องเสียไปในการรักษาพยาบาลก็มากกว่าจำนวนเงินที่ทางบริษัทเสนอมาอีกด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา         เพื่อติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปยังคุณจุ๊บอีกครั้ง ทำให้ได้ทราบว่าคุณจุ๊บมีการเจรจากับทางบริษัทอีกครั้ง โดยทางบริษัทฯ เจ้าของเฟรนไชส์ลูกชิ้นปลาได้มีการส่งตัวแทนเข้าไกล่เกลี่ยและยื่นข้อเสนอเป็นเงินชดเชยจำนวน 50,000 บาท ทางคุณจุ๊บยินยอมรับข้อเสนอดังกล่าว เป็นอันว่าจบไปได้ด้วยดี         ก่อนจะเข้าร้องเรียนที่มูลนิธิฯ คุณจุ๊บเองได้มีการไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน พร้อมกับตรวจเช็กร่างกายนำใบเสร็จและใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐาน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการรวบรวมหลักฐานเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย อย่าลืมถ่ายรูปอาหารที่มีสิ่งแปลกปลอมหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ใบเสร็จหรือสลิปโอนเงินก็เป็นหลักฐานอย่างดีว่าเราซื้อหรือใช้บริการจริง ผู้บริโภคทุกคนควรใส่ใจ  

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 อย่ายอม ! หากโรงแรมให้ไปจอดรถในที่มืดๆ

        โรงแรมเป็นสถานที่พักที่ต้องจัดให้บริการให้เป็นไปมาตรฐานที่ทั้งต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าพัก มีความสะอาด ปลอดภัย หากไม่เป็นไปตามนี้อาจเสี่ยงทำให้ทรัพย์สินของผู้มาใช้บริการเสียหายได้ เช่นเรื่องราวของคุณนัท         เรื่องราวคือ คุณนัทได้เข้าไปใช้บริการโรงแรมมีชื่อแห่งหนึ่งย่านรัชดา เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ในเวลา 19.40 น. โดยได้ติดต่อขอใช้บริการห้องพักชั่วคราวกับโรงแรมเป็นเวลา 2 ช.ม. และได้ชำระเงิน 600 บาท โดยเป็นค่าห้องพัก 300 บาท และค่ามัดจำกุญแจ 300 บาท หลังชำระเงินเสร็จแล้ว จึงค่อยมาทราบทีหลังว่าไม่สามารถนำรถไปจอดหน้าห้องพักตามปกติได้ทั้งที่คุณนัทเคยมาใช้บริการก่อนหน้านี้สามารถนำรถมาจอดหน้าห้องพักได้เลย         ในครั้งนี้พนักงานให้คุณนัทนำรถไปจอดฝั่งตรงข้ามโรงแรม  คุณนัทจึงได้ขอยกเลิกคืนเงินในทันทีแต่โดนปฏิเสธการคืนเงิน จึงจำใจต้องใช้บริการแต่เมื่อทำเลื่อนรถไปจอดฝั่งตรงข้าม พนักงานยังไม่มีแจ้งสถานที่จอดรถที่ชัดเจน ทั้งยังไม่มีป้ายบอกหรือแสดงข้อความที่ชัดเจนว่าต้องเข้าจอดตรงไหน ตลอดจนไปที่จะให้ความสว่างก็มีไม่เพียงพอ เรียกว่าเกือบมืดเลยแหละ คุณนัทไม่รู้ว่าจะจอดรถอย่างไร พนักงานจึงเดินมาบอกให้ขับเข้าไปจอดด้านในมืดๆ         คราวนี้คุณนัทรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยจึงตัดสินใจยอมทิ้งค่าห้องพัก ไม่พักแล้ว เพราะบริการของโรงแรมไม่ได้มาตรฐานและหากต้องจอดรถในที่มืด ไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัยใดๆ รถก็เสี่ยงเสียหายได้ คุณนัทจึงตัดสินใจเชคเอ้าท์ออกในเวลา 19.53 โดยได้รับเงินค่ามัดจำกุญแจคืน จำนวน 300 บาท และจ่ายค่าห้องพัก 2 ช.ม. ไปฟรี 300 บาท โดยที่ไม่ได้เข้าพัก         คุณนัทจึงมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะการบริการของโรงแรมดังกล่าวไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ ไม่ได้เป็นไปตามาตรฐานของโรงแรงตามที่ควรเป็นหลายประการ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้ติดต่อกับโรงแรมดังกล่าว สอบถามถึงข้อปัญหาที่บกพร่อง ต่อมาเจ้าของหน้าที่ของโรงแรมได้ประสานและรายงานแสดงผลกับมูลนิธิฯ ว่าได้ปรับปรุงจุดที่มีปัญหาแล้ว คือได้ทำให้ไฟหน้าห้องพักใช้งานได้ตามปกติ  ติดตั้งป้ายและไฟในที่จอดรถแล้ว และได้โทรศัพท์แจ้งผลการปรับปรุงให้คุณนัททราบด้วย คุณนัทจึงพึงพอใจไม่ติดใจโรงแรมอีก         มาตรฐานของโรงแรมแล้วนั้น กฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรมพ.ศ. 2551 โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้           1.ให้มีโทรศัพท์หรือระบบการติดต่อสื่อสารต้องมีจำนวนเพียงพอ        2. การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อส่งไปยังสถานพยาบาลใกล้เคียง         3. ระบบรักษาความปลอดภัยอย่างทั่วถึงตลอด 24 ชั่วโมง         4. จัดให้มีห้องน้ำและห้องส้วมในส่วนที่ให้บริการสาธารณะโดยจัดแยกชายและหญิง          5. มีการรักษาความสะอาด มีการจัดแสงสว่างอย่างเพียงพอ และมีระบบระบายน้ำ บำบัดน้ำเสีย และระบบระบายอากาศที่ถูกสุขลักษณะ         6. ทุกชั้นต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง และเครื่องดับเพลิงต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา         7. ต้องติดตั้งระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้         8. ต้องมีทางหนีไฟหรือบันไดหนีไฟตามหลักเกณฑ์ 9. ต้องจัดให้มีระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน ใช้ได้อัตโนมัติเมื่อระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าปกติหยุดทำงาน 10. ต้องอยู่ห่างจากแม่น้ำ คู คลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 10 เมตร         นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่จะช่วยทำให้มาตรฐานความปลอดภัยถูกยกระดับมากยิ่งขึ้น อีกหลายประการ เช่น กล้องวงจรปิด ,บัตรผ่านจอดรถ ,คีย์การ์ด ,สัญญาณกันขโมย ,ไม้กั้นอัตโนมัติ เป็นต้น         หากผู้บริโภคท่านอื่นๆ พบเจอปัญหาเช่นคุณนัท ก็สามารถร้องเรียนได้ เพราะมาตรฐานการบริการของโรงแรมมีกฎหมายกำหนดไว้อย่างเข้มงวด ชัดเจน 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 ผู้โดยสารร้องแท็กซี่ไม่กดมิเตอร์ ปล่อยลงกลางทาง

        แม้หลายคนจะเคยได้รับรู้ข่าวปัญหาจากการเดินทางด้วยรถแท็กซี่ตามหน้าสื่อต่างๆ ว่าผู้โดยสารบางคนโบกแล้วแท็กซี่ไม่จอด จอดแล้วไม่ไปบ้าง ขับพาอ้อมบ้าง ไม่กดมิเตอร์บ้าง โก่งราคาบ้าง หรือกระทั่งถูกปล่อยทิ้งกลางทาง แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่าตัวเองจะเจอปัญหานี้ คุณริต้าก็เช่นกัน แต่เธอก็เจอแจ็กพ็อตจนได้         ในเช้าวันหนึ่ง คุณริต้ามีธุระต้องเดินทางไปดอนเมือง เธอมายืนเรียกแท็กซี่อยู่ที่หน้าสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามเป้า รอสักพักก็มีรถแท็กซี่คันหนึ่งผ่านมาและจอดรับ เธอขึ้นรถตอนเจ็ดโมงกว่าๆ เกือบแปดโมงเช้า คุณโชเฟอร์เขาขับรถออกไปโดยไม่ได้กดมิเตอร์ตามปกติ แต่กลับหันมาเรียกเก็บค่าโดยสารจำนวน 600 บาทแทน คุณริต้าตกใจ แต่ก็มีสติพอที่จะไม่จ่ายให้เพราะรู้สึกว่าแพงเกินไป         เมื่อผู้โดยสารปฎิเสธ คนขับแท็กซี่ก็เลยจอดรถและให้เธอลงกลางทางที่หน้าปากซอยพหลโยธิน 2 แล้วมุ่งหน้าไปยังถนนวิภาวดี เรียกว่าปล่อยเธอไว้กลางทาง ตอนนั้นเธอรู้สึกไม่พอใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากเรียกแท็กซี่คันใหม่ในบริเวณนั้นให้ไปส่งที่ดอนเมืองแทน เมื่อถึงปลายทางเธอจ่ายค่าโดยสารไปเพียง 163 บาท ทำให้เธอเชื่อว่าแท็กซี่คันแรกนั้นต้องจ้องจะเอาเปรียบผู้โดยสารแน่ๆ เธอจึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับคนขับแท็กซี่ที่ไม่กดมิเตอร์ เรียกเก็บค่าโดยสารแพงเกินจริงและทิ้งผู้โดยสารไว้กลางทางรายนี้    แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแล้วก็ได้ประสานไปที่กรมการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมขนส่งทางบก ขอให้ดำเนินการตรวจสอบแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่กรมขนส่งฯ กรณีมีการแจ้งให้ตรวจสอบแท็กซี่จากหน่วยงาน หากในหนังสือระบุข้อมูลเบอร์ติดต่อผู้เสียหาย ทางกรมขนส่งฯ จะติดต่อผ่านผู้เสียหายเองเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หากมีข้อมูลตกหล่นหรือหากต้องการข้อมูลเพิ่มสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อโดยสารรถแท็กซี่คือ ผู้โดยสารควรจดจำทะเบียนรถหรือชื่อคนขับรถแท็กซี่ไว้ เผื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นจะได้ติดต่อตามตัวมาได้อย่างรวดเร็ว  และสายด่วนเพื่อร้องเรียนพฤติกรรมของผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ คือ สายด่วน 1584 กรมการขนส่งทางบก

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 นั่งกินหมูกระทะแต่กลับได้แผลกลับบ้าน

        มาตรฐานของร้านอาหารนอกจากเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยในอาหารแล้ว ความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมในการรับประทานอาหารทั้งโต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปรุงอาหารก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะไม่อย่างนั้น แค่เพียงไปนั่งรับประทานหมูกระทะก็อาจจะได้แผลกลับมาเหมือนเรื่องของคุณสุดเขตต์         เรื่องราวเริ่มเมื่อคุณสุดเขตต์ไปรับประทานหมูกระทะกับแฟน ในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา คุณสุดเขตต์ก็นั่งรับประทานตามปกติ แต่แค่เพียงขยับขาเปลี่ยนท่านั่งเข่าก็ไปชนกับ ก้นของเตาเข้าอย่างจังจนทำให้สะดุ้ง ชักขากลับแทบไม่ทัน         แม้ขาจะชนขอบเตาเพียงไม่นานแต่ก็เกิดเป็นแผล เริ่มแรกเป็นเพียงรอยแดงถลอก ต่อมาไม่กี่ชั่วโมงจึงเริ่มพุพอง         “เตาหมูกระทะของร้านนั้น เขาติดตั้งแบบเขาเจาะหลุมกลางโต๊ะ แล้วก็หย่อนตัวเตาลงไป ก้นเตาที่อยู่ด้านล่าง มันยาวกว่า 20 เซ็นได้ แล้วเตามันก็ใหญ่ มันทำให้ชิดกับขาของคนนั่ง ตอนแรกที่นั่ง ยังไม่รู้ เพราะยังไม่ได้ทันสังเกตแต่พอโดนเข้าแล้วแบบนี้ เราก้มดู ติดตั้งเตาแบบนี้อันตรายมาก ใครนั่งก็โดน เด็กๆ มานั่งยิ่งโดนไม่ปลอดภัยจริงๆ ”         หลังจากรับประทานหมูกระทะในวันนั้น คุณสุดเขตต์ได้เข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาแผลพุพองที่ได้จากการไปกินหมูกระทะ และกลายเป็นแผลที่เข่าขนาดกว้าง ยาวกว่า 1 นิ้ว รักษาอยู่ต่อเนื่อง 4 – 5 วันจึงค่อยหายดีแล้วคุณสุดเขตต์จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะสามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้าง   แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อประชาชนพบเจอปัญหาเช่นคุณสุดเขตต์ คือได้รับความไม่ปลอดภัยจากร้านอาหารให้ดำเนินการ สองแนวทาง คือ หนึ่งเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลร้านอาหาร เช่น กรุงเทพฯ ให้เข้าร้องเรียนที่สำนักงานเขตที่ร้านอาหารนั้นตั้งอยู่ โดยกรุงเทพมหานครได้มีสำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครประจำอยู่ในแต่ละสำนักเขตพื้นที่ มีอำนาจหน้าที่คือตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยร้านอาหารในพื้นที่ และออกคำสั่งให้ร้านปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐาน  สำหรับต่างจังหวัดคือเทศบาลของแต่ละพื้นที่         สอง รวบรวมหลักฐาน ทั้งหลักฐานการจ่ายเงินว่าได้เข้ารับประทานอาหารในร้านดังกล่าวจริง รูปถ่ายความเสียหายและเอกสารจากการเข้ารับการตรวจรักษา เพิ่มเติมด้วยการเข้าบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ และเจรจาเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลกับทางร้านอาหาร  กรณีของคุณสุดเขตต์ ซึ่งเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั้น ขณะนี้กำลังประสานงานเพื่อจะดำเนินการเรียกร้องสิทธิให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ร้านอาหารเยียวยาค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)