ฉบับที่ 159 เหยื่อรถทัวร์ผี ความสูญเสียที่ไม่มีวันได้คืน

เทศกาลสงกรานต์หลายครอบครัวคงมีความสุขที่ได้กลับมาอยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา แต่สำหรับครอบครัว นันตะนะ นี่คือการสูญเสียอย่างไม่มีวันได้คืน...

เช้า 13 เมษายน 2553  บุญถม นันตะนะ ได้รับงานด่วนให้ไปที่จังหวัดอุบลราชธานี   บุญถมจึงรีบโทรศัพท์จองตั๋วกับ บ.รถทัวร์ แต่ทุกที่บอกเพียงว่า “ ให้มาก่อน บางทีเผื่อจะมีคนยกเลิกตั๋ว ไม่ก็มีรถเสริม ”  คล้อยบ่ายบุญถม จึงรีบเดินทางไปสถานีขนส่งหมอชิต 2  โดยหวังว่าจะมีตั๋วว่างสำหรับคืนนี้

ค่ำวันนั้น “  พ่อได้ตั๋วแล้วนะแม่ ซื้อที่ช่องขายตั๋วเลย รถจะออกตอนสี่ทุ่มครึ่ง เดี๋ยวถึงแล้วจะโทรหาแม่นะ ” ...นี่คือเสียงสุดท้ายที่ ชุติกาญจน์ ได้ยินเสียงจากสามี  เพราะเช้ามืดวันที่ 14 เมษายน 2553  รถทัวร์ที่บุญถมนั่งไปประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำที่จังหวัดนครราชสีมา บุญถม พร้อมผู้โดยสารอีกหลายราย เสียชีวิตทันที และมีคนบาดเจ็บจำนวนมาก

หลังการเสียชีวิตของบุญถม ชุติกาญจน์ได้รับจดหมายแจ้งสิทธิการให้ความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เธอจึงมาร้องขอความช่วยเหลือ เพื่อให้ช่วยเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน

เพื่อให้ชุติกาญจน์ได้รับการเยียวยาตามสิทธิที่มีก่อนนั้น มูลนิธิฯ ได้นำเรื่องยื่นต่ออนุญาโตตุลาการ เพื่อมีคำสั่งให้บริษัทกมลประกันภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับชุติกาญจน์ตามกรมธรรม์โดยทันที ผลการเจรจาไกล่เกลี่ย บริษัทยอมจ่ายค่าสินไหมตามกรมธรรม์ให้กับชุติกาญจน์ได้สำเร็จ

ส่วนข้อเท็จจริงทางคดีจากทะเบียนรถยนต์คันเกิดเหตุ พบว่า รถทัวร์คันที่เกิดเหตุนั้น เป็นรถโดยสารไม่ประจำทางของบริษัท เฟิร์สแฟรงค์ทัวร์ จำกัด ที่นำมาเสริมวิ่งรับคนโดยสารในช่วงเทศกาลสงกรานต์กับบริษัท ขนส่ง จำกัด  แต่ บริษัท ขนส่ง จำกัด กลับปฏิเสธ อ้างไม่มีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์นี้ เพราะรถคันนี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาวิ่งรับคนโดยสารในวันดังกล่าว ทำให้การเจรจาไม่สามารถยุติได้ ชุติกาญจน์ จึงจำเป็นต้องนำเรื่องขึ้นฟ้องนายชำนาญ มหาสังข์ คนขับ จำเลยที่ 1 , บริษัท เฟิร์สแฟรงค์ทัวร์ จำกัด เจ้าของรถ จำเลยที่ 2 และ บริษัท ขนส่ง จำกัด  จำเลยที่ 3 ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีผู้บริโภค เพื่อเรียกค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554

ในชั้นพิจารณาคดี ทั้งสองฝ่ายนำพยานเข้าสืบ ฝ่ายโจทก์ มีชุติกาญจน์ เบิกความยืนยันถึงความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ภายหลังที่สามีเสียชีวิต โดยมีคุณวิลาวรรณ  ผู้รอดชีวิตที่ขึ้นรถคันเดียวกับบุญถม มาเป็นพยานนำชี้จุดซื้อตั๋วและทางเดินไปที่ชานชาลา พร้อมยืนยันการขึ้นรถในสถานีขนส่ง ขณะที่ฝ่ายจำเลย  บริษัท ขนส่ง จำกัด จำเลยที่ 3  ปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องทุกอย่าง โดยมีพยานเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัท มาเป็นพยานเบิกความถึงขั้นตอนการขออนุญาตนำรถเสริมเข้ามาวิ่งร่วมรับส่งคนโดยสารกับบริษัทในเทศกาลดังกล่าว

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ว่าจำเลยที่ 3 ที่จะนำพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่เบิกความทำนองว่า รถยนต์โดยสารที่จะนำเข้ามาวิ่งรับส่งคนโดยสารร่วมกับจำเลยที่ 3 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะต้องได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 3 และกรมการขนส่งทางบกก่อน ตามหนังสือขออนุญาตของจำเลยที่ 3 และจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจใบอนุญาตตั้งแต่ปากทางเข้าและทางออกอยู่ตลอดเวลานั้น

แต่ตามหลักฐานเอกสารการขออนุญาตนำรถเข้าวิ่งร่วมของจำเลยที่ 3 ที่นอกจากจะระบุให้เจ้าของรถร่วมหมวด 2 มาร่วมวิ่งแล้ว ยังระบุให้สมาคมผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารด้วยรถโดยสารไม่ประจำทางมาร่วมวิ่งเสริมได้ด้วย ซึ่งรถยนต์คันเกิดเหตุอาจอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะนำรถเข้าวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 และได้รับอนุญาตให้นำรถเข้ามาวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 ได้ แม้จะไม่มีตราหรือสัญลักษณ์ใดๆ ของจำเลยที่ 3 ติดอยู่ก็ตาม เพราะมิฉะนั้นรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุคงไม่สามารถเข้ามาวิ่งร่วมรับคนโดยสารได้เพราะจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุมยึดรถได้

นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวยังระบุว่าให้เจ้าของรถร่วมและสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารไม่ประจำทางทุกคันต้องใช้ตั๋วรถโดยสารตามแบบตั๋วโดยสารที่จำเลยที่ 3 กำหนด นั้น ก็เป็นการสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานโจทก์ที่ว่าได้ซื้อตั๋วโดยสารที่ช่องจำหน่ายตั๋วและขึ้นรถที่ชานชาลาในสถานีขนส่งหมอชิต 2 อีกด้วย

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้อนุญาตจำเลยที่ 2 รถโดยสารเข้าร่วมวิ่งรับขนคนโดยสารกับจำเลยที่ 3 ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เป็นการชั่วคราวโดยมีผลประโยชน์ร่วมกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และ จำเลยที่ 2  เมื่อพิเคราะห์จากความเสียหายที่โจทก์ได้รับแล้ว จึงกำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวมเป็นเงิน 1,312,000 บาท เมื่อหักจากเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยไปแล้ว คงเหลือเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามต้องจ่ายทั้งสิ้นจำนวน  682,000 บาท

กรณีนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญและเป็นคดีตัวอย่างของผู้บริโภคที่อาจจะไม่มีทางเลือก และหลงใช้บริการรถทัวร์ผี ที่เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว อาจจะไม่มีผู้ใดออกมารับผิดชอบ แต่กรณีนี้โชคดีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้เสียชีวิตซื้อตั๋วที่ช่องจำหน่ายตั๋วและขึ้นรถภายในสถานีขนส่งหมอชิต 2

ซึ่งแม้คดีจะจบลงด้วยศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยทั้งสามร่วมกันจ่ายค่าเสียหาย แต่คดีก็ใช้เวลานานกว่า 3 ปี อีกทั้งจำเลยทั้งสามยังมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาต่อได้ ทำให้คดียังไม่สิ้นสุด ชุติกาญจน์ จึงยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างแท้จริง

แต่อุปสรรคดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ชุติกาญจน์ยอมแพ้  แม้จะเจ็บช้ำ แต่เธอยังมีหน้าที่ต้องสู้เพื่อสิทธิของครอบครัวเธอต่อไป  สู้จนกว่าเธอจะชนะ

 

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

250 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ รถทัวร์ เหยื่อ สูญเสีย

ฉบับที่ 275 ประกันมะเร็งต้องอ่านเงื่อนไขดีๆ

        มะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่การรักษานั้นค่อนข้างยาก ใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งมีสถิติที่พรากชีวิตคนไทยในแต่ละปีค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งจัดรูปแบบกรมธรรม์เพื่อคุ้มครองเรื่องการรักษามะเร็ง มาเป็นตัวเลือกสำหรับผู้บริโภค         เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ เป็นข้อเตือนใจจากคุณน้ำ ซึ่งเข้ามาขอคำปรึกษาในคดีหนึ่ง แต่เรื่องที่เล่านี้เป็นประสบการณ์เก่าที่เธอเคยประสบจากการทำประกันโรคมะเร็ง ซึ่งผ่านมาหลายปีแล้ว เมื่อมองย้อนไปคุณน้ำพบว่าตัวเองพลาดที่ไม่ได้อ่านเงื่อนไขให้ดีจึงเสียโอกาสที่จะได้รับการคุ้มครองจากการทำประกันมะเร็ง ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จึงได้ขออนุญาตนำเรื่องนี้มีเล่าเพื่อฝากไว้ให้ผู้บริโภคได้ใช้เป็นบทเรียน         คุณน้ำ เริ่มต้นทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน เธอจึงวางแผนการใช้เงินอย่างรัดกุม นอกจากค่าใช้จ่ายรายเดือน เธอได้วางแผนการออมเงินด้วย ทั้งออมเงินแบบฝากกับธนาคาร และการทำประกันชีวิตหลายฉบับเพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ โดยคาดการณ์ว่าเพื่อเป็นการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไม่ลำบาก ทั้งนี้ ประกันชีวิต  1 ฉบับในหลายฉบับที่ทำคือ ประกันมะเร็ง เพราะคิดว่า มะเร็งเป็นโรคที่ต้องใช้เงินในการรักษาสูงมาก หากเป็นหนึ่งในความเสี่ยงก็ควรทำประกันไว้ก่อน แม้ว่าค่าเบี้ยประกันจะค่อนข้างแพง         จากวันแรกๆ ที่เริ่มงานผ่านมาจนถึงหลังวัยเกษียณ เมื่อเธอเกษียณได้ไม่นาน แพทย์ตรวจพบว่าเธอเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น คุณน้ำตกใจแต่ก็รู้สึกว่า เอาน่ายังดีนะที่เธอได้ทำประกันมะเร็งเอาไว้ เธอจึงติดต่อตัวแทนบริษัทประกันเจ้าของกรมธรรม์ ต่อมาตัวแทนประกันซึ่งได้ขอเอกสารรายละเอียดที่หมอตรวจพบโรคมะเร็งพร้อมกับรายละเอียดการรักษาต่างๆ ไปจากเธอได้ไม่นานนัก ก็แจ้งกับเธอว่า บริษัทไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ได้ เพราะมะเร็งระยะที่กรมธรรม์คุ้มครองคือ ระยะที่ 2          คุณน้ำได้ฟังก็ถึงขั้นตกใจมาก เพราะที่เข้าใจมาตลอดคือ เมื่อตรวจเจอว่าเป็นมะเร็ง บริษัทจะคุ้มครอง ทันที แต่ตัวแทนบริษัทได้อธิบายว่า ในเอกสาร/เงื่อนไขสัญญาเขียนว่า จะคุ้มครองในระยะที่สอง ซึ่งคุณน้ำก็ได้แต่คิดว่า เมื่อแพทย์ตรวจพบมะเร็งแพทย์ก็ต้องเริ่มรักษาทันที ซึ่งไม่น่าจะมีใครรอให้โรคพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 2  จึงเริ่มรักษาเพื่อหวังให้ประกันคุ้มครองแน่นอน         นี่เป็นบทเรียนที่คุณน้ำประสบมา จึงขอนำมาฝากเตือนผู้บริโภคท่านอื่นๆ ว่า เมื่อจะทำประกันโรคร้ายแรง อย่างเช่น มะเร็ง ต้องอ่านรายละเอียดของประกันมะเร็งด้วยว่า มีความคุ้มครองครอบคลุมถึงประเด็นไหนบ้าง  เช่น มะเร็งทุกอวัยวะไหม หรือเฉพาะบางอวัยวะ หรือเจอมะเร็งจ่ายทันที คุ้มครองมะเร็งทุกระยะ รักษามะเร็งทุกขั้นตอน ฯลฯ ถามต่อตัวแทนประกันให้อธิบายอย่างละเอียด ตลอดจนซักถามตัวแทนประกันให้ละเอียดรอบคอบถึงข้อจำกัดต่างๆ  รวมทั้งต้องปรึกษาแพทย์เมื่อพบคำศัพท์เฉพาะทางทางการแพทย์ด้วย         ที่ควรพิจารณต่อมาคือ เรื่องเบี้ยประกันและวงเงินคุ้มครองเหมาะสมหรือเปล่า โดยต้องประเมินวงเงินคุ้มครองว่า หากเจ็บป่วยขึ้นมาวงเงินที่จะได้รับนั้น เพียงพอต่อค่ารักษาพยาบาลหรือการใช้จ่ายระหว่างการรักษาตัวหรือไม่ เช่น หากต้องการรักษากับโรงพยาบาลเอกชนก็จะต้องประเมินว่าค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ เพื่อจะได้เลือกแผนประกันที่วงเงินคุ้มครองเหมาะสมที่สุด เป็นต้น         เลือกด้วยความรอบคอบว่าเราอยากได้เงินคุ้มครองลักษณะไหน เช่น ในกรณีที่เป็นการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล อาจเหมาะกับผู้ที่ยังไม่มีประกันสุขภาพและต้องการให้ประกันคุ้มครองเฉพาะการรักษาพยาบาลตลอดการรักษา ขณะที่ประกันแบบจ่ายเงินทันทีที่ตรวจพบมะเร็งนั้น อาจเหมาะกับผู้ที่มีประกันสุขภาพอยู่แล้วแต่ต้องการเงินก้อน เพื่อนำไปใช้ในการรักษาส่วนเกินจากประกันสุขภาพหรือนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น         อย่างไรก็ดีสำคัญที่สุดคือ อย่าพลาดการอ่านเงื่อนไขสัญญาให้ละเอียดเพื่อให้สิทธิประโยชน์ที่เราจะได้รับนั้นคุ้มค่ากับการลงทุน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 เจอแมลงสาบในแพ็คน้ำดื่ม อีกแล้ววว

        ขึ้นชื่อว่า น้ำดื่มสะอาด ก็ต้องสะอาด เพราะเราบริโภคเข้าไปในร่างกายอยู่ทุกวันแต่กรณีของคุณหยาด เมื่อเธอซื้อน้ำดื่มบรรจุแพ็ค กลับเจอแมลงสาบเข้าไปอยู่ในแพ็คเสียอย่างนั้น แล้วแบบนี้จะจัดการอย่างไรดี        เรื่องนี้เกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ  คุณหยาดได้ซื้อน้ำดื่มตามปกติแต่ในครั้งนี้กลับพบแมลงสาบตัวเบ้อเริ่มเข้าไปนอนตายสนิทอยู่ในแพ็คน้ำดื่ม ... แถมยังอยู่ตรงใกล้ปากขวดน้ำเสียด้วย  คุณหยาดไม่มีความรู้ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรเพราะแมลงสาบไม่ได้เข้าไปอยู่ในขวดน้ำดื่มแต่อยู่ในแพ็คน้ำซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากโรงงานที่ผลิต หรือทางร้านค้าที่จัดจำหน่าย แต่คุณหยาดมองว่าเรื่องนี้ไม่ควรเกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคควรได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคอาหารทุกชนิด เมื่อข้างขวดมีฉลากระบุข้อมูลการผลิตที่ชัดเจน คุณหยาดจึงส่งเรื่องเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทันทีแนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณหยาดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ให้คำแนะนำกับคุณหยาดว่า เมื่อพบเจอสินค้าอาหาร เครื่องดื่มที่ไม่ปลอดภัย คุณหยาดสามารถแจ้งร้องเรียนได้ทั้งกับ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้ลงตรวจสอบสถานที่ไม่ว่าจะเป็นแหล่งจำหน่าย ร้านค้า และโรงงานที่ผลิตได้ ซึ่งหลังจากให้คำปรึกษากับคุณหยาดแล้ว มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  เพื่อขอให้ตรวจสอบสถานที่ผลิต รวมถึงสำเนาไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อตรวจสอบสถานที่จำหน่ายด้วย         ทั้งนี้ในเรื่องน้ำดื่มบรรจุแพ็คต้องสะอาดและถูกสุขลักษณะเป็นไปตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 61 ที่กำหนดให้น้ำบริโภคและเครื่องดื่มเป็นอาหารควบคุม ต้องมีคุณภาพได้ตามมาตรฐาน ไม่พบจุลินทรีย์ที่อันตรายต่อสุขภาพ และต้องมีฉลากแสดงตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่อง  ฉลาก ประชาชนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คณะกรรมการอาหารและยา > กองอาหาร > กฎหมายอาหาร >น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  https://food.fda.moph.go.th/food-law/f2-drinking-water

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 โดนคิดค่าสินค้าไม่ตรงกับป้ายราคา

        เชื่อว่าผู้บริโภคหลายๆ คน เมื่อถึงเวลาต้องจับจ่ายใช้สอยสินค้าเข้าบ้าน การไปเดินห้างค้าปลีกหรือเดินไปซูเปอร์มาร์เก็ตน่าจะเป็นตัวเลือกแรกๆ เพราะมีสินค้าครบครันในราคาที่อาจมีลด มีแถม แต่หากเมื่อถึงเวลาจ่ายเงิน “ราคาที่จ่าย ดันไม่ตรงกับราคาป้าย” คงเป็นเรื่องที่ไม่โอเคเลยใช่ไหมล่         เหมือนกับคุณจู ที่ได้มาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เธอเล่าว่าได้ไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งแถวบ้าน วันนั้นเธอได้ซื้อเห็ดชิเมจิ ยี่ห้อ Mao Xiong มา 1 ถุง ราคาที่ติดตามป้ายบนชั้นวาง 9 บาท แต่พอถึงเวลาจ่ายเงิน ราคาเห็ดที่ติดป้ายว่า 9 บาท ราคาจริงดัน 13 บาท อ้าว...ไม่ตรงตามป้ายที่ติดซะงั้น! เธอจึงมาสอบถามมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าแบบนี้คือการหลอกลวงประชาชาชนหรือไม่ และควรทำอย่างไรดี?                แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียน ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ติดต่อไปหาผู้ร้อง เธอแจ้งว่าหลังเกิดเหตุการณ์ได้ให้พนักงานตรวจสอบราคาสินค้าอีกครั้ง เนื่องจากราคาไม่ถูกต้องและทางพนักงานก็ยอมแก้ไขใบเสร็จให้ถูกต้องและคืนเงินเรียบร้อยแล้ว เธอจึงไม่ติดใจอะไร เนื่องจากทางซูเปอร์มาร์เก็ตก็ได้แก้ไขปัญหาให้เธอแล้ว         แต่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยากแนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้บริโภคบางรายที่เจอปัญหานี้เช่นกัน ดังนี้หากเจอกรณีราคาสินค้าไม่ตรงตามป้าย สามารถโทรร้องเรียนไปที่สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำการร้องเรียน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ อย่าลืมถ่ายรูปราคาบนป้ายสินค้า และเก็บใบเสร็จที่จ่ายเงินเพื่อเป็นหลักฐานอีกด้วยในการร้องเรียนอีกด้วย เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมาย         สำหรับ ผู้ที่แจ้งเบาะแสนั้น ทางหน่วยงานมีรางวัลนำจับให้ ในกรณีมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งผู้ร้องจะได้รับรางวัลนำจับร้อยละ 25 ของค่าปรับ         นอกจากนี้ อย่าลืมรักษาสิทธิผู้บริโภคของตัวเองด้วยการตรวจเช็กราคาความถูกต้อง สินค้าที่ซื้อครบถ้วนหรือไม่ ก่อนออกจากร้านทุกครั้งจะดีที่สุด              

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 ซิมฟรี ไม่มีอยู่จริง

        ในประกาศของ กสทช. ระบุไว้ชัดเจน เรื่องมาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 6 กำหนดให้ ผู้ให้บริการมีหน้าที่ต้องแจ้งรายละเอียดของการใช้บริการโทรคมนาคมในของแต่ละบริการให้ชัดเจนและครบถ้วน และผ่านสื่อที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้ผู้บริโภคทราบและใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ในการเข้าทำสัญญาและเลือกใช้บริการได้อย่างถูกต้อง         ถ้าทุกค่ายมือถือทำตามมาตรฐานนี้ คุณแก้วคงไม่ต้องมาเสียความรู้สึกจากความไว้วางใจในครั้งนี้         คุณแก้วเป็นลูกค้าของค่ายมือถือสีแดงมานานแล้ว จู่ๆ วันหนึ่งมีพนักงานค่ายมือถือนี้โทร.มาเสนอว่าจะส่งซิมโทรศัพท์มาให้ที่บ้าน เป็นแบบจ่ายรายเดือน 250 บาท ซึ่งถ้าได้รับแล้วยังไม่ใช้ก็ไม่เก็บเงิน สนใจไหม คุณแก้วเห็นว่าเป็นซิมฟรีถ้าไม่ใช้ก็ไม่เสียเงิน จึงตอบตกลง ก็มันฟรีเผื่อจะได้ใช้ประโยชน์ในวันหนึ่ง         หลังส่งสำเนาบัตรประชาชนให้ไปตามที่พนักงานบอกว่าจะใช้เป็นหลักฐานในการรับซิมแจกนี้ จากนั้น 2 อาทิตย์ พนักงานก็โทร.มาถามว่าได้รับซิมหรือยัง เธอก็ตอบไปว่าได้รับแล้ว คิดว่าเรื่องคงจบตรงนี้ใช่ไหม แต่ไม่นานเธอถูกเรียกเก็บเงินจากซิมเบอร์นี้ เป็นเงิน 89.70 บาท ทั้งๆ ที่เธอยังไม่เคยแกะซองและนำซิมมาใช้เลยด้วยซ้ำ         “ตอนแรกยังนึกไปออกว่าเป็นเบอร์ใครนะคะ แต่พอคิดไปคิดมาก็เลยไปหยิบซิมที่ได้แจกมาดู โป๊ะเชะ! เป็นเบอร์เดียวกัน” คุณแก้วเล่าแบบติดโมโห ไหนพนักงานบอกว่ายังไม่ใช้ซิมก็ยังไม่ต้องจ่ายไงล่ะ เธอจึงโทร.ไปถามคอลเซ็นเตอร์ทันที พนักงานตอบว่า “ถึงจะใช้หรือไม่ใช้ ถ้าเกินกำหนดเวลาก็ต้องเสียเงินค่ะ” รู้สึกเหมือนโดนหลอก เธอจึงขอยกเลิกซิมเบอร์นี้ แต่พนักงานไม่ยอมให้ยกเลิกจนกว่าเธอจะจ่ายเงินตามใบแจ้งหนี้เสียก่อน แม้เป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่เธอจะไม่ยอมถูกเอาเปรียบเด็ดขาด จึงโทร.มาปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อพิจารณาในส่วนของสัญญาใช้บริการระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้บริโภคนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกัน แต่ในกรณีนี้ คุณแก้วไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับทางบริษัทแต่อย่างใด เธอให้สำเนาบัตรประชาชนไปก็เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับซิมแจกฟรีตามที่พนักงานบอกเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่เกิดเป็นสัญญาการให้บริการหรือใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการรายเดือนเกิดขึ้นระหว่างค่ายมือถือสีแดงกับคุณแก้ว         ทางมูลนิธิฯ แนะนำให้คุณแก้วทำหนังสือบอกยกเลิกสัญญาและปฏิเสธการชำระเงินที่มีใบแจ้งหนี้ส่งมา โดยส่งถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทของค่ายมือถือนี้ เพื่อให้ยุติการเรียกเก็บค่าบริการพร้อมระบุเหตุผลว่า ตั้งแต่ได้รับซิมมายังไม่เคยได้ใช้ซิมแต่กลับมีใบแจ้งหนี้ส่งมา หรือการให้บริการไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ แล้วส่งไปแบบไปรษณีย์ตอบรับเท่านั้น เพื่อให้มีหลักฐานในการตอบรับจากค่ายมือถือ โดยสำเนาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ กสทช. ด้วย หรือจะโทรศัพท์แจ้งยกเลิกการบริการที่ศูนย์ของซิมฟรีนั้นก็ได้ แต่วิธีนี้จะไม่มีหลักฐานเหมือนกับการส่งจดหมาย

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)