ฉบับที่ 181 เรื่องง่วงๆ กับกาแฟ

การดำเนินชีวิตของคนไทยตามเมืองใหญ่ในปัจจุบันต่างไปจากเมื่อ 30-40 ปีก่อนอย่างน้อย 2 ประการ กล่าวคือคนไทยมีสภาพคล้ายหุ่นคอหักเมื่อใช้สมาร์ทโฟนตามที่สาธารณะ นัยว่าเพื่อปลีกวิเวกเข้าสู่โลกส่วนตัว (แบบว่ามากันสามคนเพื่อนฝูงแล้วต่างคนต่างคุยกับคนอื่น ไม่ใยดีกับคนที่มาด้วย) และการที่คนไทยชอบถือถ้วยกาแฟขนาดครึ่งลิตรขึ้นไปเพื่อดื่มมันทุกสถานที่ ในลักษณะที่บรรพบุรุษซึ่งตายไปหมดแล้วระบุว่า เสียมรรยาทมากที่กินดื่มไม่เป็นที่เป็นทาง ผู้เขียนนั้นดื่มกาแฟมาตั้งแต่เล็กซึ่งเป็นพฤติกรรมไม่ดี ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพราะกาแฟทำให้นอนไม่หลับ(เนื่องจากดื่มเมื่อใดก็หลับได้ถ้าไม่มีเรื่องใดให้กังวล) แต่เป็นเพราะมันทำให้เด็กต้องเสียสตางค์ที่ควรนำไปซื้อของกินที่มีประโยชน์มากกว่าการดื่มกาแฟ สมัยก่อน(ราว 50 ปีมาแล้ว) กาแฟที่ขายมีประมาณ 4 แบบคือ กาแฟร้อนและกาแฟเย็น ทั้งใส่น้ำตาลทรายพร้อมนมข้นหวานและน้ำตาลทรายอย่างเดียว(...

สมาชิกอ่านต่อ...

แหล่งข้อมูล: ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ

250 point

LINE it!

  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ กาแฟ

ฉบับที่ 186 French Pressed Coffee กาแฟ(ระ)คายคอ

ผู้เขียนกินกาแฟมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่สมัยก่อนกล่าวห้ามไว้ เนื่องจากเด็กที่กินกาแฟแล้วมักนอนไม่หลับ แต่ในความเป็นจริงสำหรับผู้เขียนแล้วไม่เป็นเช่นนั้น เพราะถ้าได้เข้านอนก่อน 22.00 น.โดยไม่มีความกังวลใจเรื่องใด ต่อให้เพิ่งดื่มกาแฟก็หลับได้ เพียงแต่ต้องตื่นกลางดึกเพื่อใช้ห้องน้ำ เพราะแคฟฟีอีนในกาแฟนั้นเป็นสารกระตุ้นการถ่ายปัสสาวะมาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคที่กาแฟเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นและหนุ่มสาว การถือถ้วยกาแฟเย็นราคาไม่ต่ำกว่า 35 บาทดื่มในที่สาธารณะถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ในขณะที่ผู้เขียนได้เปลี่ยนพฤติกรรมการชงกาแฟดื่มแบบโบราณที่ใช้ถุงผ้าไปเป็นการดื่มกาแฟสำเร็จรูปที่เรียกว่า 3 in 1 เพื่อวัตถุประสงค์เพียงเพื่อคงระดับแคฟฟีอีนในร่างกาย โดยไม่ยึดติดกับรสชาติของกาแฟและไม่ดื่มกาแฟสด(ใส่นมและน้ำตาล) แบบที่ขายในปัจจุบันเพราะเป็นเครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงมากจนไม่เหมาะกับผู้ที่ต้องการคุมน้ำหนักท่านผู้อ่านหลายท่านที่ดื่มกาแฟเป็นประจำอาจได้เคยเห็นโฆษณาเปิดตัวกาแฟแบบ 3 in 1 หลายยี่ห้อ ซึ่งมีข้อความประมาณว่า “ดื่มแล้วคล้ายการดื่มกาแฟสด” คำกล่าวนี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า ควรลองซื้อยี่ห้อที่ถูกที่สุดมาชิมดู เพราะเมื่อคำนวณราคาแล้วตกเพียงซองละ 5.40 บาท แต่ถ้าไปดื่มตามร้านกาแฟ คงต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกสัก 5-10 เท่าในประเด็นของกาแฟสดนั้น คอกาแฟทั้งหลายคงพอทราบว่า คนฝรั่งเศสนั้นมีกาแฟสดชงในแบบที่เรียกว่า French Pressed Coffee หรือเรียกสั้นๆ ในสหรัฐอเมริกาว่า Pressed Coffee ซึ่งว่าไปแล้วเป็นวิธีการชงกาแฟที่ผู้บริโภคชงได้เองและปัจจุบันมีผู้นำอุปกรณ์การชง(แก้วชง) แบบนี้เข้ามาขายแล้วในประเทศไทยด้วยราคาที่ไม่แพงนักคือ 200-600 บาท ตามขนาดของอุปกรณ์ French Press นั้นเป็นวิธีชงกาแฟง่ายๆ เพียงแค่เลือกชนิดกาแฟตามที่ชอบแล้วชั่งน้ำหนัก(ซึ่งขึ้นกับขนาดแก้วชง) ตามที่คู่มือของเครื่องชงกาแฟให้ไว้ใส่ลงในแก้วชง(ที่ลวกด้วยน้ำเดือดก่อน) จากนั้นจึงเทน้ำเดือดตามปริมาตรที่คู่มือกำหนดไว้ลงในแก้ว ชงรอประมาณ 5-6 นาทีก็กดก้านที่ดันกากกาแฟลงไปอยู่ก้นแก้วชง แล้วรินแยกน้ำกาแฟออกมา เติมนมสดหรือครีมและน้ำตาลตามชอบ (คำเตือน: น้ำหนักกาแฟคั่ว ปริมาตรน้ำ และอุณหภูมินั้นเป็นตัวกำหนดรสชาติของน้ำกาแฟ ซึ่งต้องปฏิบัติตามคู่มือ ทางผู้ผลิตอุปกรณ์ไม่รับผิดชอบถ้ากาแฟไม่อร่อยอย่างที่คิดเนื่องจากไม่ทำตามข้อแนะนำ)ลักษณะเฉพาะของกาแฟสดชนิด French Pressed Coffee คือ การมีกากกาแฟเหลืออยู่ที่ก้นแก้วชง ซึ่งผู้ดื่มอาจรู้สึกถึงความสากคอ(ของกากกาแฟขนาดเล็กมากที่ลอยอยู่ในน้ำกาแฟ) แลกกับความรู้สึกที่เขาว่ากันว่า ผลิตให้ผู้บริโภคได้ฟินเหมือนดื่มกาแฟสด (ฟินมาจากคำว่า ฟินาเล่ ซึ่งแปลว่า จบแบบสมบูรณ์แบบ) รสสัมผัสหลังการดื่มกาแฟ 3 in 1 ที่เคลมว่าคล้ายกาแฟสด อึกแรกทำให้ผู้เขียนพบว่า มันมีความสากคออยู่ ในตอนแรกไม่รู้ว่าเป็นอะไรจึงได้แต่นึกในใจว่า กาแฟซองนี้มันตกสเปคหรือไรจึงสากคอ แต่หลังจากหยิบซองกาแฟมาอ่านฉลากก็พบว่า องค์ประกอบหนึ่งของกาแฟในซองคือ ผงกาแฟบดละเอียด (microground coffee) ผสมกับกาแฟสำเร็จรูปและอื่น ๆ การเติมผงกาแฟบดละเอียดนี้เองที่คงทำให้ให้กาแฟ 3 in 1 ชนิดนี้มีลักษณะสัมผัสและรสชาติหลังการชงละม้ายคล้ายกาแฟสดแบบ French Pressed Coffee ของจริง อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผู้เขียนระลึกได้หลังจากการดื่มกาแฟดังกล่าวนั้นคือ รสสัมผัสที่ไม่ต่างจากการดื่มกาแฟสดที่ชงด้วยถุงผ้าแบบโบราณของอาโก ซึ่งให้กากละเอียดลอยอยู่ในน้ำกาแฟเช่นกันความรู้เกี่ยวกับ French Pressed Coffee ที่ผู้เขียนตั้งใจนำมาฝากคือ มีบทความเรื่อง Pressed coffee is going mainstream — but should you drink it? เขียนโดย Heidi Godman เมื่อ 29 เมษายน 2016 ใน www.health.harvard.edu ซึ่งมีประเด็นที่ผู้เขียนสนใจว่าทำไมถึงมีคำถาม เราควรดื่มกาแฟที่ชงแบบนี้หรือไม่Heidi Godman เกริ่นว่า กาแฟชงด้วยเครื่องชงแบบฝรั่งเศสนี้กำลังเป็นที่นิยมมากในสหรัฐอเมริกา เพราะซื้อหาได้ง่ายในราคาถูก แถมวิธีชงก็ไม่ต้องการทักษะนัก ไม่ต้องเปลืองกระดาษกรองเหมือนวิธีชงด้วยเครื่องแบบอื่น แต่การไม่มีกระดาษกรองแล้วมีกากกาแฟผสมออกมากับน้ำกาแฟนั้น Heidi กล่าวว่ามันอาจก่อปัญหาบางอย่างได้โดยอธิบายดังนี้น้ำกาแฟแบบ  French Pressed Coffee นี้มีสารเคมีธรรมชาติที่ละลายในไขมันชนิดหนึ่งเรียกว่า ไดเทอร์ปีน(diterpene) มากกว่าการชงกาแฟแบบทั่วไป(อย่างน่าจะมีนัยสำคัญ) ซึ่งทำให้นักดื่มกาแฟมืออาชีพแซ่ซ้องว่า มันทำให้กาแฟอร่อยขึ้นกว่าเดิม แต่ปรากฏว่ามีอาจารย์แพทย์ชื่อ Dr. Eric Rimm ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านระบาดวิทยาและโภชนาการของ Harvard T.H. Chan School of Public Health ได้ทำลายบรรยากาศการดื่มกาแฟลักษณะนี้ โดยกล่าวว่า การดื่มกาแฟแบบ French Pressed Coffee ราว 5-7 แก้วต่อวันอาจทำให้ไขมันชนิด LDL (ซึ่งคนไทยรู้กันในชื่อ ไขมันตัวเลว) ในเลือดสูงขึ้นได้ เท่ากับว่ายิ่งเป็นการเพิ่มความกังวลให้กับคอกาแฟ จากเดิมที่นักดื่มกาแฟ(สมัครเล่น) กังวล กล่าวคือ ผู้ดื่มคออ่อนๆ มักนอนไม่หลับ กระส่ายกระสับและหัวใจเต้นแรงผิดปรกติพร้อมความดันโลหิตที่สูงขึ้น เนื่องจากการดื่มกาแฟสด จะทำให้ได้รับแคฟฟีอีนเกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปเมื่อเลิกดื่มกาแฟ อย่างไรก็ดีงานวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับกาแฟโดยทั่วไปยังคงสรุปว่า การดื่มกาแฟแบบคนธรรมดาที่ไม่เข้มข้นดุเดือดอย่างสบายๆ วันละแก้วสองแก้วนั้น ยังก่อประโยชน์ต่อร่างกายอยู่บ้าง เพราะอย่างน้อยผู้ดื่มจะมีความตื่นตัวสดชื่นขึ้น แคฟฟีอีนในกาแฟเป็นตัวกระตุ้นให้เอ็นซัมของระบบทำลายสารพิษในเซลล์ตับทำงานดีขึ้น กาแฟให้แร่ธาตุคือ แมกนีเซียม โปแตสเซียม และวิตามินคือ ไนอาซิน รวมทั้งสารต้านออกซิเดชั่นต่างๆ อีกทั้งมีข้อมูลว่า การดื่มกาแฟ อาจช่วยชะลอการเป็นเบาหวานแบบที่สอง ด้วยซ้ำดังนั้นสิ่งที่น่าจะเป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่ดื่มกาแฟแบบ French Pressed Coffee คือ เมื่อไปตรวจสุขภาพประจำปีควรถามแพทย์ที่อ่านผลเลือดของท่านว่า ระดับไขมัน LDL และโคเลสเตอรอลนั้นเพิ่มขึ้นจนเกินระดับมาตรฐานหรือไม่ พร้อมกับคอยสังเกตว่า กาแฟในถ้วยที่ดื่มต้องขมแบบที่กาแฟควรเป็น ไม่หวานจ๋อยด้วยน้ำตาลและไม่มันจนเลี่ยนด้วยครีมนม เพราะความหวานและมันในกาแฟนั้นมักเป็นสาเหตุทำให้แพทย์ ซึ่งดูแลสุขภาพท่านท้อใจในชีวิตการเป็นแพทย์ เนื่องจากแนะนำอย่างไรๆ ไขมันตัวเลวในเลือดคนไข้ก็ไต่ระดับขึ้นเอาๆ เพราะคนไข้ชอบดื่มกาแฟที่หวานและมัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 185 คอเลสเตอรอล..อาจไม่เลวอย่างที่คิด

ทุกครั้งก่อนกินข้าวผู้เขียนมักสำรวจอาหารในจานว่า ครบห้าหมู่หรือไม่ ถ้าเป็นการกินที่บ้านส่วนใหญ่มักครบ แต่ถ้าต้องกินนอกบ้านแล้วส่วนใหญ่ต้องกำหนดว่า เมื่อกลับถึงบ้านควรไปกินอะไรเพิ่มบ้าง นอกจากจำแนกอาหารว่าครบห้าหมู่หรือไม่แล้ว สิ่งหนึ่งที่พยายามสังเกตคือ อาหารจานนั้นน่าจะมีคอเลสเตอรอลมากหรือน้อย โดยดูจากองค์ประกอบส่วนที่เป็นไขมันและส่วนที่เป็นหนังเช่น หนังหมู ทั้งนี้เพราะเราถูกสอนมาให้เลี่ยงไขมันชนิดนี้เพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดเกี่ยวกับเส้นเลือดที่เลี้ยงหัวใจและสมองอย่างไรก็ดีในระยะหลังนี้ข่าวคราวเกี่ยวกับปัญหาของคอเลสเตอรอลต่อสุขภาพของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไป ทั้งนี้เพราะข้อมูลจากการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพของนักวิทยาศาสตร์ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาการนั้นต่างไปจากเดิมคือ มีมุมมองในการทำวิจัยเกี่ยวกับคอเลสเตอรอลที่กว้างไกลกว่าเดิม ผู้เขียนจึงขอนำมาเล่าต่อดังนี้ข้อมูลจากอินเตอร์กล่าวว่า ทุกๆ 5 ปี หน่วยงานรัฐการของสหรัฐอเมริกาคือ กระทรวงเกษตร (US. Department of Agriculture หรือ USDA )และกระทรวงสาธารณสุข (US. Department of Health and Human Services หรือ USHHS ) มีความร่วมมือในการสร้าง ข้อแนะนำในการกินอาหารของคนในชาติ หรือ Nation's dietary guidelines ซึ่งเป็นการระบุชนิดของอาหารและวิธีการบริโภคที่ทำให้ประชาชนมีสุขภาพดี ทั้งในด้านน้ำหนักตัวและการป้องกันโรค ข้อแนะนำนี้มีการนำไปใช้ประยุกต์กับโครงการต่างๆของรัฐที่เกี่ยวกับอาหารและสุขภาพของประชาชน เช่น โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน โครงการอาหารสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น สำหรับข้อแนะนำของปี 2015 เพื่อใช้ในช่วงปี 2016-2020 นั้นเป็นการแนะนำในกรอบกว้างๆ ที่หวังลดการได้รับสารอาหารบางชนิดที่มากเกินพอดีของคนอเมริกัน โดยรายงานของกรรมการที่สร้างข้อแนะนำนี้ยังยึดโยงกับข้อแนะนำในปี 2010 เป็นหลัก ซึ่งกล่าวถึงความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัยของอาหารต่างๆ เช่น ความปลอดภัยของกาแฟ คาเฟอีนและน้ำตาลเทียมชนิดแอสปาเตม แต่มีสิ่งซึ่งค่อนข้างสำคัญเกิดขึ้นในคำแนะนำใหม่นี้คือ การไม่กล่าวถึงการจำกัดปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารที่คนอเมริกันกินในแต่ละวัน จากเอกสาร Scientific Report of the 2015 Dietary Guidelines Advisory Committee ของสหรัฐอเมริกานั้นกล่าวว่า ข้อแนะนำในการกินอาหารของคนอเมริกันแต่เดิมนั้น ได้เคยแนะนำให้กินคอเลสเตอรอล ซึ่งอยู่ในอาหารต่างๆ รวมกันไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน(ซึ่งเท่ากับกินไข่ได้สองฟองต่อวันเท่านั้น) เพราะระดับความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้นในระบบไหลเวียนโลหิต เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการตีบตันของเส้นเลือด ถ้าเกิดขึ้นที่หัวใจอาจทำให้คุณหัวใจวายตาย (heart attack) หรือถ้าเกิดที่หลอดเลือดสมอง(stroke ) อาจนำสู่การเป็นอัมพาตบางส่วนของร่างกาย ดังนั้นข้อแนะนำในการบริโภคอาหารของคนอเมริกันเก่าในปี 2010-–2015 จึงมุ่งเน้นให้ประชาชนมองเห็นถึงอันตรายที่เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลสูงในระบบเลือดกว่าคนปรกติทั่วไป ทว่าในข้อแนะนำใหม่ที่จะใช้ต่อไปอีก 5 ปีนั้น ไม่จัดคอเลสเตอรอลเป็นสารอาหารที่ต้องกังวลในการกินเกินแล้ว เพราะคณะกรรมการผู้สร้างข้อแนะนำกล่าวว่า ข้อมูลทางวิชาการใหม่ๆ ไม่ได้แสดงว่าปริมาณคอเลสเตอรอลในอาหารนั้นมีความสัมพันธ์กับคอเลสเตอรอลในเลือด จริงๆ แล้วร่างกายเราเองสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นเพื่อใช้เองทุกวัน ซึ่งอาจมากกว่าปริมาณที่กินจากอาหาร ทั้งนี้ขึ้นกับข้อกำหนดทางพันธุกรรมว่า ร่างกายของแต่ละคนต้องการใช้คอเรสเตอรอลเท่าไรและกำจัดได้ดีเพียงใด ทั้งนี้เพราะอนุพันธ์ของคอเลสเตอรอลนั้น เป็นสารที่ร่างกายใช้เปลี่ยนเป็นวิตามินดี เมื่อผิวหนังได้รับแสงแดดช่วงเช้าและเย็น นอกจากนี้คอเลสเตอรอลยังถูกเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนบางชนิดและเปลี่ยนเป็นเกลือน้ำดีเพื่อช่วยในการย่อยไขมันจากอาหารที่เรากินเข้าไป อีกประการหนึ่ง ซึ่งสำคัญมากๆ คือ คอเลสเตอรอลนั้น เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นที่ต้องมีสอดแทรกในชั้นไขมันที่ทำหน้าที่เป็นผนังเซลล์ หรือผนังออร์กาเนล (คือเอ็นโดพลาสมิคเร็ทติคิวลัม) ของเซลล์ซึ่งเป็นบริเวณสร้างโปรตีนในเซลล์และทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงสารพิษก่อนถูกกำจัดออกจากร่างกายอาหารที่สามารถเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในร่างกาย ได้แก่ ไข่แดง หนังสัตว์ต่างๆ(โดยเฉพาะหนังของขาหมูพะโล้) เนื้อติดมัน หอยนางรม กุ้ง นม เนย เป็นต้น ส่วนการสร้างขึ้นเองในร่างกายนั้น ร่างกายเราสร้างได้จากไขมันธรรมดาที่กินเข้าสู่ร่างกาย โดยเซลล์ตับนั้น เป็นเซลล์ที่รับผิดชอบงานนี้ราวร้อยละ 20-25 ดังนั้นการกินอาหารไขมันสูงจึงเป็นการเพิ่มความสามารถในการสร้างคอเลสเตอรอลของร่างกายสู่ระดับสูงสุดได้ประเด็นที่น่าสนใจคือ บางขณะที่เราต้องการอาหารไขมันสูง เพื่อให้ได้พลังงานเนื่องจากต้องอยู่ในภูมิประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น อาจมีไขมันส่วนที่กินเกินไปเพิ่มการสร้างคอเลสเตอรอลได้ ดังนั้นประชาชนจึงควรทราบวิธีการลดปริมาณคอเลสเตอรอล   วิธีการลดปริมาณคอเลสเตอรอลโดยหลักการแล้วทำได้โดยการเพิ่มอาหารที่มีใยอาหารกลุ่มเพคตินเข้าไปในมื้ออาหาร เพื่อเร่งให้มีการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลไปเป็นสารอื่น อาหารที่มีใยอาหารกลุ่มเพคตินสูง ได้แก่ แตงต่างๆ มะม่วง แอปเปิ้ล ถั่วหลายชนิดมีเพคตินสูง สำหรับผลไม้นั้นเป็นที่รู้กันว่า ส้มต่างๆ เป็นแหล่งสำคัญของเพคติน ที่น่าสนใจมากคือ ขนมเปลือกส้มโอซึ่งเป็นการสกัดเอาเพคตินจากส่วนสีขาวของเปลือกมาผสมน้ำตาลแล้วทิ้งให้แข็งตัว ดังนั้นถ้าทำให้ขนมนี้มีปริมาณน้ำตาลต่ำ ขนมเปลือกส้มโอก็จะเป็นแหล่งที่ดีของเพคตินในราคาไม่แพงนัก บทบาทของเพคตินในการลดคอเลสเตอรอลคือ เพคตินสามารถจับเกลือน้ำดีในลำไส้ใหญ่แล้วพาเกลือน้ำดีออกจากร่างกายไปกับอุจจาระ ซึ่งเป็นการลดการดูดซึมเกลือน้ำดีกลับไปยังถุงน้ำดี(เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่) การลดปริมาณเกลือน้ำดีนี้เป็นการบังคับให้ตับต้องนำเอาคอเลสเตอรอลในเลือดที่ไหลผ่านตับไปสร้างเป็นเกลือน้ำดีใหม่ จึงทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดลดลง ประเด็นสำคัญของคอเลสเตอรอลที่เกี่ยวกับสุขภาพของท่านประเด็นสำคัญคือ คอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบของไลโปโปรตีนสำคัญในเลือด ซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า low density lipoprotein (LDL มีองค์ประกอบเป็นโปรตีนร้อยละ 25 คอเลสเตอรอลร้อยละ 50 และฟอสโฟไลปิดร้อยละ 21) ซึ่งควรมีในเลือดไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (หรือ 10 มิลลิลิตร) และ high density lipoprotein (HDL มีองค์ประกอบเป็นโปรตีนร้อยละ 33 คอเลสเตอรอลร้อยละ 30 และฟอสโฟไลปิดร้อยละ 29) ซึ่งควรมีในเลือดไม่ต่ำกว่า 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ไขมันทั้งสองนี้ได้ถูกแปลให้เข้าใจง่ายว่าเป็น คอเลสเตอรอลเลวและคอเลสเตอรอลดี ตามลำดับ เพราะว่าไลโปโปรตีนชนิดแรกนั้น ถ้ามีมากในเลือดแล้วจะเป็นดัชนีว่า หัวใจมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสูง ส่วนไลโปโปรตีนชนิดหลัง ถ้ามีมากในเลือด ก็หมายความว่า หัวใจมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาต่ำ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังขึ้นกับปัจจัยทาง พันธุกรรมและการใช้พลังงานในแต่ละวันด้วยอย่างไรก็ดีแม้ว่านักวิทยาศาสตร์สุขภาพชาวอเมริกันจะเห็นพ้องต้องกันในปัจจุบันว่า ความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลในเลือดนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่าไรแล้ว ท่านผู้บริโภคอย่าละเลยหลักการสำคัญทางโภชนาการที่ว่า ไม่พึงกินอะไรให้อิ่มมากเกินจำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารมันๆ นั้นควรกลัวเข้าไว้ มิเช่นนั้นเวลาไปตรวจสุขภาพแล้วผลเลือดออกมาว่า คอเลสเตอรอลสูงกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั่วไป คุณหมอที่ดูแลสุขภาพท่านอาจมีเคืองได้ในฐานที่ท่านไม่ใส่ใจในคำแนะนำ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 182 กิน อยู่ คือ อย่างอเมริกัน

ในประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านวิชาการที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สุขภาพนั้น รัฐบาลมักสร้างข้อแนะนำในการบริโภคอาหาร (Dietary Guidelines) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานด้านโภชนาการและสุขภาพซึ่งรวมถึงผู้วางนโยบายตลอดจนบุคลากรในวงการการศึกษานำไปเผยแพร่ (แบบที่เข้าใจง่าย ๆ) สู่ประชาชน โดยหวังว่าเมื่อคำแนะนำเหล่านี้ถูกถ่ายทอดถึงประชาชน แล้วประชาชนเชื่อจนทำตามจริง ๆ ประโยชน์จะกลับสู่รัฐโดยตรงเป็นมูลค่ามหาศาล ในการที่ไม่ต้องจ่ายเงินสนับสนุนการรักษาพยาบาลประชาชนที่ป่วยเป็นโรคที่ป้องกันได้   จากเว็บ www.hhs.gov/about/budget/fy2015/budget-in-brief ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณประจำปีของสหรัฐอเมริกานั้นพบว่า จากงบประมาณทั้งหมดในปี 2015 ที่ผ่านไปแล้วซึ่งมีตัวเลขเท่ากับ $1,010 Billion dollars (1,010,000,000,000 ดอลลาร์อเมริกัน) นั้น ร้อยละ 33 ถูกใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (Medicaid) ที่ให้แก่กระทรวงด้านสาธารณสุขคือ Department of Health and Human Services ซึ่งทำงานทั้งด้านการบริการ วิจัย และอื่น ๆ ปัจจุบันคนอเมริกันมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่ไม่ติดต่อค่อนข้างสูง โดยปรากฏการนี้เป็นแบบต่อเนื่องทุกปี (www.cdc.gov/nchs/hus/healthrisk.htm) โรคที่ว่าคือ ติดเหล้า ติดบุหรี่ มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง (เนื่องจากกินอาหารมันมาก) ความดันโลหิตสูง ติดยาเสพติด สุขภาวะเลวเนื่องจากขาดการออกกำลังกาย และน้ำหนักเกิน ด้วยข้อมูลลักษณะนี้จึงทำให้รัฐบาลจำต้องสร้างข้อเสนอแนะในการกินเพื่อสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนทุก 5 ปี โดยแอบตั้งความหวังว่าคนอเมริกันจะเชื่อ เหมือนอย่างที่กรมอนามัยบ้านเราหวังว่าคนไทยจะขยับตัววันละเยอะๆ เพื่อลดพุง เมื่อราวปลายปี 2015 คณะกรรมการของผู้สร้างข้อแนะนำการบริโภคอาหารสำหรับคนอเมริกันซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ส่งรายงานให้กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่อมาในวันที่ 7 มกราคม 2016 ข้อแนะนำดังกล่าวก็ได้ถูกพิมพ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่แก่บุคลากรของรัฐและเป้าหมายที่เหมาะสม พร้อมทั้งจำหน่ายแก่ผู้สนใจ ส่วนผู้ที่ไม่ประสงค์จะซื้อแต่ประสงค์จะอ่าน สามารถอ่านฟรีได้ที่ http://health.gov/dietaryguidelines/2015/guidelines/full/   ในข้อแนะนำใหม่(ซึ่งปรับปรุงจากของเก่า) นี้ คณะกรรมการผู้สร้างยังคงแนะนำให้คนอเมริกันเลี่ยงการกินอาหารที่ผ่านการปรุงแบบสลับซับซ้อนทางอุตสาหกรรม (ซึ่งใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการผลิตหลากหลายชนิด) รวมทั้งลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงและบริโภคแป้งที่ถูกป่นเป็นผง (ซึ่งคงไม่พ้นขนมปัง) แต่ให้หันไปกินอาหารที่มีพืชผักเป็นหลัก ซึ่งคณะกรรมการใช้ศัพท์ว่า plant-based foods (เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชทั้งเมล็ด ถั่วเปลือกอ่อน ถั่วเปลือกแข็ง และเมล็ดพืชต่าง ๆ) อีกทั้งคนอเมริกันควรกินอาหารมีพลังงานรวมต่ำ และกินเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงในลักษณะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่น ไม่ปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อน ใช้น้ำ ดินและพลังงานต่ำ (กรณีเนื้อสัตว์นี้คงลำบากมากสำหรับคนอเมริกัน เพราะระบบผลิตของฟาร์มใหญ่ในสหรัฐฯนั้นล้วนแต่ไม่เป็นไปตามที่กำหนดแทบทั้งสิ้น) นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยว่า ในกรณีเนื้อสัตว์ที่กินควรเป็นเนื้อที่ไม่แดงนัก(ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากสัตว์ปีกและปลา ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่าเป็นเนื้อขาวคือ อกไก่ ในขณะที่ส่วนน่องและสะโพกไก่น่าจะจัดว่าเป็นเนื้อแดง ซึ่งสังเกตได้หลังการต้มเนื้อเหล่านี้จะเห็นสีแดง) เพราะมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า เนื้อแดงนั้นเพิ่มความเสี่ยงในภาพรวมของการเป็นมะเร็ง เนื้อจากอวัยวะของสัตว์ที่มีสีออกแดงนั้น เป็นเพราะอวัยวะนั้นมีการใช้กล้ามเนื้อทำงานสูง จึงมีสารชีวเคมีที่เรียกว่า มัยโอกลอบิน (myoglobin) ในความเข้มข้นสูง สารชีวเคมีนี้ช่วยในการนำออกซิเจนมาใช้ในการสันดาปสร้างพลังงานให้กล้ามเนื้อนั้น แต่ข้อเสียที่เกิดจากการมีมัยโอกลอบินสูงคือ สารชีวเคมีนี้มีเหล็กเป็นองค์ประกอบ(ทำนองเดียวกับฮีโมกลอบินในเลือด) จึงทำให้ผู้ที่กินเนื้อแดงได้เหล็กสูง เหล็กนั้นเป็นธาตุโลหะที่มีคุณสมบัติทางเคมีที่เพิ่มความเสี่ยงในการก่อให้เกิดอนุมูลอิสระในร่างกาย ตามหลักการทางเคมีที่เรียกว่า Fenton reaction(ซึ่งหาความรู้เพิ่มเติมได้จาก Wikipedia) ประเด็นซึ่งเป็นที่ฮือฮาในข้อแนะนำใหม่นี้คือ ยกเลิกคำแนะนำให้จำกัดปริมาณโคเลสเตอรอลในอาหาร ทั้งนี้เพราะมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สรุปว่า ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการกินโคเลสเตอรอลจากอาหารทำให้โคเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น ทั้งนี้เพราะร่างกายของแต่ละคนต้องการโคเลสเตอรอลในระดับหนึ่ง ซึ่งตามปรกติต้องสร้างขึ้นมาเองเพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน ดังนั้นการได้โคเลสเตอรอลจากอาหารในประมาณที่ปรกติคนทั่วไปที่กินเพื่ออยู่นั้นจึงไม่น่ากังวลอะไร โคเลสเตอรอลนั้นเป็นองค์ประกอบของผนังเซลล์ในอวัยวะต่าง ๆ เป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามินดี สร้างเกลือน้ำดีเพื่อช่วยในการย่อยไขมันในลำไส้เล็ก เป็นต้น ดังนั้นถ้ากินอาหารที่ไม่ได้มีไขมันสูงเกินปรกติแล้ว ประมาณโคเลสเตอรอลในอาหารจะไปช่วยลดการสร้างเองของร่างกาย ยกเว้นกรณีผู้ที่มีทัศนคติ อยู่เพื่อกิน ที่ไขว่คว้าหาอาหารไขมันสูงมาก (เช่น ขาหมูพะโล้ ขาหมูเยอรมัน หรืออาหารอื่นที่มันมากๆ) มากินจนโคเลสเตอรอลสูงเกินความต้องการของร่างกาย พฤติกรรมลักษณะนี้จะทำให้ผู้บริโภคมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอันตรายที่เกี่ยวกับหัวใจเพิ่มขึ้น และอันตรายจะมากขึ้นถ้าเป็นคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกายหรือใช้แรงงานประจำวัน คำแนะนำในการกินเพื่อสุขภาพดีของคนอเมริกันที่คณะกรรมการย้ำแล้วย้ำอีกทุกครั้งที่มีการเสนอทุก 5 ปีคือ ไม่กินเค็ม ซึ่งเป็นลดการได้รับธาตุโซเดียมซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายต่อไตและทำให้เสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง ที่สำคัญนอกจากความเค็มแล้วยังก็ต้องเลี่ยงหวาน(มากเกินไป) ด้วย ข้อแนะนำที่ต้องขอให้ลดการกินเค็มคงเป็นเพราะ คนอเมริกันนั้นเสพติดมันฝรั่งทอดอย่างหนัก เนื่องจากเป็นอาหารที่ยิ่งกินยิ่งมัน และถ้าได้กินแกล้มเบียร์ในวันที่ได้ดูอเมริกันฟุตบอลทางโทรทัศน์แล้ว ไม่หมดถุงยักษ์เป็นไม่หยุด ส่วนความหวานนั้นเป็นที่รู้กันว่า ขนมและเครื่องดื่มที่ทำในสหรัฐฯนั้นออกหวานนำ ซึ่งต่างจากขนมที่ทำในฝั่งยุโรปที่มีความมันนำและไม่หวานนัก(แต่ก็ทำให้ลงพุงได้เช่นกัน) สำหรับประเด็นของการดื่มกาแฟซึ่งเป็นเครื่องดื่มหลักในมื้ออาหารของคนอเมริกันนั้น ข้อแนะนำกล่าวว่า การดื่มเพียง 3 ถึง 5 ถ้วย ต่อวันซึ่งทำให้ได้แคฟฟีอีนไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวันนั้น ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ดื่ม แต่มีประเด็นหนึ่งที่คณะกรรมการเตือนไว้คือ ไม่พึงเติมสารอาหารที่ทำให้กาแฟนั้นมีแคลอรีสูง เช่น ครีม นม หรือน้ำตาล ดังนั้นข้อแนะนำนี้จึงใช้ยากยกกำลังสองกับคนไทยเพราะหนุ่มสาวชาวไทยปัจจุบันได้กลายเป็นผู้เสพติดกาแฟเข้มข้นทั้งหวานทั้งมันไปแล้ว สังเกตจากการสั่งกาแฟแต่ละครั้งมักเป็นแก้วใหญ่ขนาดเกือบครึ่งลิตรเสียทุกคราว คณะกรรมการผู้ทำข้อแนะนำได้เอ่ยถึงน้ำตาลเทียมชนิดหนึ่งซึ่งขายมากที่สุดในโลกของผู้จำเป็นต้องใช้ว่า น่าจะปลอดภัยในการบริโภค แต่ก็ขอกั๊กไว้ว่า ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ดังนั้นขอให้ผู้บริโภคเผื่อใจไว้บ้าง เผื่อวันหนึ่งในอนาคตอาจมีข้อมูลด้านร้ายเกี่ยวกับน้ำตาลเทียมชนิดนี้ออกมา ก็จะได้ไม่ตกใจมากนัก สำหรับกรณีความหวานที่มาจากน้ำตาลนั้น ข้อแนะนำกล่าวว่า ควรลดลงและไม่ควรแทนที่ด้วยน้ำตาลเทียม และที่แนะนำสุดหัวใจก็คือ ถ้าเป็นไปได้ควรดื่มน้ำเปล่าในมื้ออาหารแทนน้ำหวานต่างๆ เรื่องนี้น่าสนับสนุนมากเมื่อกินอาหารที่บ้าน แต่ในกรณีที่กินอาหารนอกบ้านหลายคนอาจมีความรู้สึก(คล้ายผู้เขียน) ว่า เราขาดทุนเมื่อต้องดื่มน้ำเปล่าตามร้านอาหารซึ่งราคาเกือบหรือเท่าน้ำอัดลม (ซึ่งอร่อยและแก้เลี่ยนอาหารมันบางอย่างที่ขอแอบกินนิดหน่อย) ส่วนที่น่าสนใจที่สุดคือ ข้อแนะนำนี้ได้รวมไปถึงการงด (หรือลด) เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ที่ชาวโลกเป็นทาสอยู่ ซึ่งสามารถคาดการได้ว่า ข้อแนะนำสุดท้ายนี้คงไม่ได้ผลแน่ในประเทศไทย…ถ้าไม่ใช้ ม.44  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 อย่าวางใจ “ธรรมชาติ” บนฉลากอาหาร

ท่านผู้อ่านที่มีโอกาสเดินตามห้างสรรพสินค้าใหญ่หน่อยอาจเคยสงสัยว่า สินค้าที่มีวิตามินขนาดสูงๆ หรือเป็นสารสกัดจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาตินั้น ถูกนำมาวางขายบนหิ้งในห้างได้อย่างไร มันปลอดภัยแล้วหรือ ผู้เขียนเคยพบคลิปใน YouTube ให้ข้อมูลว่า ครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันปัจจุบันนั้น ซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซึ่งรวมถึงสารสกัดจากใบแปะก๊วยและรากวาเลอเรี่ยนมากินเอง โดยไม่ได้ปรึกษาผู้รู้เช่น แพทย์ เภสัชกร หรือนักโภชนาการ สารสกัดจากใบแปะก๊วย(Ginkgo Biloba extract) เป็นสารสกัดที่ใช้ลดความเสี่ยงหรือแก้ปัญหาอาการความจำเสื่อม แต่สารสกัดนี้ไม่ได้ช่วยให้ความจำดีขึ้นในคนปรกติ กล่าวคือ ฉลาดหรือโง่เพียงใดก็เป็นได้แค่นั้น การกินสารสกัดนี้เองอาจก่อปัญหาถ้าต้องเข้ารับการผ่าตัด เพราะสารนี้ทำให้เลือดหยุดไหลช้าจนอาจถึงตายได้) ส่วนสารสกัดจากรากวาเลอเรี่ยน (valerian root extract) นั้น การแพทย์ทางเลือกใช้ช่วยแก้ปัญหาหลับยาก แต่อาจมีผลข้างเคียงในการทำลายตับเมื่อกินมากไป ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำในการใช้สารสกัดเหล่านี้ว่า ให้ใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่รู้จริง ท่านผู้อ่านจึงควรถามตนเองในเรื่องความจำเป็น และสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ก่อนซื้อมาบริโภคทุกครั้ง แต่ปัญหาสำคัญที่มักเกิดขึ้นกับบางท่านคือ จะถามใครหรือหาข้อมูลได้จากที่ไหน มีข้อสังเกตว่า ผู้ขายสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติต่างๆ มักกล่าวอ้างแบบปากต่อปากถึงสรรพคุณของสินค้าว่า มีฤทธิ์ในการบำบัดอาการหรือเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเพราะเป็นสินค้าจากธรรมชาติ ประเด็นที่น่าสนใจคือ คำว่า ธรรมชาติ นั้นไม่ได้หมายความหรือแปลว่า ปลอดภัย แค่ดูตัวหนังสือที่ใช้เขียนก็เห็นความต่างแล้ว ผู้เขียนขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านลองเข้าไปดูคลิปของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์เรื่อง ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ปลอดภัยกว่าสารเคมีจริงหรือ ใน YouTube ( ลิงค์ยูทูปกดดูได้ )ก็คงเข้าใจได้ดีขึ้น ตัวอย่างที่คนอเมริกันซาบซึ้งใจดีเกี่ยวกับคำว่าธรรมชาติคือ การใช้สมุนไพรจีนชื่อ มาฮวง (Ma Huang ซึ่งรู้จักกันทั่วโลกในชื่อ Ephedra โดยมีชื่อเล่นว่า yellow horse) ในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดน้ำหนัก แต่สุดท้ายปรากฏว่า ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงคือ เพิ่มความดันโลหิตให้สูงกว่าปรกติพร้อมกับอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น (ซึ่งทั้งสองอาการนี้นำไปสู่อาการหัวใจวาย) ก่อปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อมดลูกจึงทำให้ถูกห้ามใช้อย่างเด็ดขาดในสตรีมีครรภ์ ข้อมูลจาก Wikipedia กล่าวว่า อย.มะกันได้ห้ามขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสารอัลคาลอยด์ซึ่งเป็นสารสำคัญในมาฮวงชื่อ อีฟีดรีน (ephedrine alkaloids) ตั้งแต่ปี 2004 แต่ไม่ได้ห้ามการขายมาฮวงหรือสารสกัดจากมาฮวงที่มีอีฟีดรีนไม่มากเกินปริมาณที่ อย.กำหนด ในรัฐยูทาห์มีการชงชาที่ใช้ใบมาฮวงแทนใบชาจีนเพราะไม่มีคาเฟอีน ซึ่งเป็นสารห้ามกินในศาสนานี้ จึงมีผู้เรียกชานี้ว่า Mormon tea จากตัวอย่างความหมายของคำว่า “ธรรมชาติ” ที่ยกให้เห็นเกี่ยวกับมาฮวงในสหรัฐอเมริกานั้น จะเห็นได้ว่าเมื่อคำนี้ปรากฏบนฉลากผลิตภัณฑ์ใดๆ โดยเฉพาะบนฉลากอาหารนั้น มัก เป็นคำที่ดูไร้สาระ ในความนึกคิดของชาวอเมริกันที่มีการศึกษาดี ดังนั้นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐอเมริกาจึงได้เริ่มขยับที่จะทำให้คำๆ นี้มีความหมายเป็นเรื่องราวเสียที ดังปรากฏในบทความชื่อ FDA Wants You to Define ‘Natural’ on Food Labels ซึ่งปรากฏในเว็บ www.care2.com เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2015 ใจความสำคัญในบทความนั้นกล่าวว่า องค์กรเอกชนในสหรัฐอเมริกาได้พยายามรวบรวมข้อเสนอแนะจากสาธารณะชน เพื่อขอ(กดดัน)ให้ อย.กำหนดความหมายที่ชัดเจนหรือห้ามการใช้คำๆ นี้บนฉลากอาหาร ประจวบกับทางหน่วยงานนี้ได้ถูกศาลของรัฐบาลกลางขอร้องให้ข้อแนะนำเพื่อการตัดสินคดีว่า สินค้าที่มีวัตถุดิบที่เป็นจีเอ็มโอ หรือใช้น้ำเชื่อมฟรัคโตสที่ทำจากข้าวโพดนั้น ใช้คำว่าธรรมชาติได้หรือไม่ โดยทั่วไปแล้วนักการตลาดที่ไร้เดียงสาในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มักมโนว่า ธรรมชาตินั้นมีความหมายเกี่ยวข้องเพียงสีธรรมชาติหรืออะไรประมาณนั้น ซึ่งบางครั้งการมโนแบบนี้ก็ได้กลายเป็นภาพลวงที่มักเกิดได้กับผู้ซื้อสินค้า(นักช็อป)มืออาชีพ จากรายงานการสำรวจของ Consumer Reports ในบทความเรื่อง Say no to 'natural' on food labels (โดย Deborah Pike Olsen ซึ่งถูกตีพิมพ์เมื่อ 16 มิถุนายน 2014 ใน www.consumerreports.org) กล่าวว่า กว่าร้อยละ 60 ของผู้ตอบแบบสอบถาม 1000 คน พยายามมองหาคำว่าธรรมชาติบนฉลากเมื่อต้องการซื้ออาหารสำเร็จรูป โดยที่สองในสามตีความสินค้าที่มีคำว่าธรรมชาติหมายถึงสินค้านั้นไม่มีองค์ประกอบที่เป็นสิ่งสังเคราะห์ ยาฆ่าแมลง และจีเอ็มโอ ในการสำรวจเดียวกันนั้นยังพบว่า 9 ใน 10 ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นควรให้ติดฉลากอาหารที่มีองค์ประกอบที่เป็นจีเอ็มโอตามมาตรฐานที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยที่กว่า 3 ใน 4 กล่าวว่าเรื่องนี้สำคัญมากสำหรับประชาชนที่ต้องหลีกเลี่ยงองค์ประกอบอาหารที่มาจากจีเอ็มโอ ในขณะที่ประเด็นนี้ทาง อย.มะกันไม่ได้รู้สึกร้อนรู้สึกหนาวในการจะบังคับให้มีการติดฉลากหรือสร้างมาตรฐานความปลอดภัย พฤติกรรมของ อย.มะกันเกี่ยวกับจีเอ็มโอนั้นเป็นที่สงสัยกันมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว ท่านผู้อ่านที่สนใจสามารถเข้าไปดูบทความเรื่อง Monsanto Controls both the White House and the US Congress ที่ www.globalresearch.ca/monsanto-controls-both-the-white-house-and-the-us-congress/5336422 แล้วใช้วิจารณญานของแต่ละบุคคลคิดเองว่ามันเป็นอย่างไร สำหรับประเด็นความหมายของคำว่า ธรรมชาติ สำหรับ อย.มะกันแล้ว มันมีอะไรมากกว่าที่มนุษย์ธรรมดาคิด กล่าวคือ อย.ได้พิจารณาว่า คำๆ นี้น่าจะหมายถึง การไม่มีของเทียมหรือสารสังเคราะห์(ซึ่งรวมถึงสีที่ใช้ใส่ในอาหาร โดยไม่คำนึงถึงแหล่งที่มาของสี ทำให้น่าจะหมายความว่า แม้แต่แตงโมที่ถูกเอาสีจากกระเจี๊ยบทาให้ดูแดงฉ่ำกว่าเดิม แตงโมนั้นก็ไม่เรียกว่าเป็นอาหารธรรมชาติแล้ว) เป็นองค์ประกอบหรือถูกเติมลงไปในอาหารนั้น อย่างไรก็ดี ความหมายของธรรมชาติที่ อย.มะกันมองนั้น ไม่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตว่าใช้หรือไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืช หรือขั้นตอนการผลิตใช้หรือไม่ใช้ความร้อนในการฆ่าเชื้อ หรือการฉายรังสี อีกทั้ง อย.มะกันก็ไม่ได้มองคำว่า ธรรมชาติ นั้นมีอะไรเกี่ยวข้องกับคุณค่าทางโภชนาการหรือสิ่งที่มีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ดังนั้นในปัจจุบัน อย.มะกันจึงพยายามมองหาผู้ร่วมอุดมการมาช่วยคิดว่า มันถึงเวลาแล้วในการกำหนดความหมายที่แน่นอนของคำว่า ธรรมชาติ และควรกำหนดด้วยวิธีใด อีกทั้งหน่วยงานนี้ก็ยังต้องการความเห็นว่า การใช้คำว่าธรรมชาติบนฉลากอาหารนั้นควรเป็นอย่างไรด้วย ความเห็นของผู้สนใจ(ชาวอเมริกัน)นั้นสามารถส่งให้ อย.มะกันได้ตั้งแต่ 12 พฤศจิกายน 2015 ถึง 10 กุมภาพันธ์ 2016 ซึ่งหลังจากนั้นก็คงรอกันอีกนานพอควรกว่าจะได้ข้อสรุปออกมาเป็นเรื่องเป็นราวให้ อย.ประเทศอื่นได้สำเนาไปใช้กัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ความคิดเห็น (0)