ฉบับที่ 193 นักสื่อสารกับสังคม ธรากร กมลเปรมปิยะกุล


“นักโฆษณาที่เบื่อโลกโฆษณาแล้วเอาทักษะที่เรามี มาเล่าเรื่องแบบนี้ คุณเชื่อไหมผมทำเรื่องพวกนี้ผมสนุกมากเลย มีความสุขเพราะผมไม่ต้องหลอกคน และยังได้เอาเรื่องดีๆ ไปบอกชาวบ้านด้วย” คุณพงศ์ หรือ ธรากร กมลเปรมปิยะกุล นักสื่อสารเพื่อสังคม เล่าให้เราฟังถึงการทำงานของเขา การเลือกที่จะสื่อสารบางสิ่งออกมา ..บอกในสิ่งที่คนทำโฆษณาไม่เคยคิดจะบอก


มาเป็นนักสื่อสารเพื่อสังคมได้อย่างไร

จะเล่าให้ฟังสั้นๆ ก็คือผมมาทำงานให้กับสำนัก 5 (สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.) มันจะมีเรื่องสุขภาวะทางปัญญา ซึ่งผมเป็นคนที่ต้องย่อยเรื่องที่มันไม่เป็นชุดข้อมูล มาทำเป็นชุดข้อมูล ตอนนั้นทำอยู่กับคุณหมอประเวศ วะสี ท่านเคยบอกว่า คุณจะสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงภายในมันจะต้องรู้ว่ามันไม่ใช่มีแค่นั่งสมาธิเท่านั้น มันมีหลายวิธี อาจารย์พูดไว้ 2 - 3 ปีแล้ว ผมก็ทำชุดข้อมูล 8 ทาง ว่ามีอะไรบ้างแล้ว ใครทำอะไรอยู่บ้าง พอมันถูกเปิดเผยออกมาแล้วขึ้นไปอยู่บนออนไลน์ คนก็จะเข้ามาสนใจเรื่องนี้ อาจารย์ประเวศบอกว่า เวลาขับเคลื่อนงานทั้งหมด สื่อเป็นเหมือนกระดูกล้อกลางที่จะดึงข้อมูลมาแล้วระเบิดออกไป คนถึงจะมาช่วยเรา คือผมรู้เลยพี่น้องตรงนี้(สสส.)ทำงานกันดีมาก แต่ก็ต้องมีทีมสื่อที่มีประสิทธิภาพด้วย หน่วยงานของผมก็เหมือนหน่วยงานอิสระที่ไปช่วยด้านสื่อสาร ก็ มีไอแคร์ ครีเอทีฟมูฟ วายนอท ชูใจ เขาก็คล้ายๆ ผม นักโฆษณาที่เบื่อโลกโฆษณาแล้วเอาทักษะที่เรามีมาเล่าเรื่องแบบนี้ คุณเชื่อไหมผมทำเรื่องพวกนี้ผมสนุกมากเลย มีความสุขเพราะผมไม่ต้องหลอกคน และยังได้เอาเรื่องดีๆ ไปบอกชาวบ้านด้วย สมัยก่อนผมต้องโฆษณาเรื่องอะไรก็ไม่รู้ มันหลอกชาวบ้าน ผมเคยทำมาหมดแล้ว ทีมข่าวบ้าบอคอแตกอะไรพวกนี้ ดังนั้นผมว่าน่าทำ ผมยินดี


เทรนด์ของการสื่อสารกับสังคมคุณมองอย่างไร

จะเห็นได้ว่า 10 ปีที่ผ่านมาเทรนด์ในการใส่ใจเรื่องของสังคมมันเริ่มเป็นที่ถูกมองถูกเรียกร้องของผู้บริโภคมากขึ้น แล้วภาคเอกชนเองก็เริ่มตระหนักถึงส่วนนี้ ตอนนี้ผมมองว่าบริษัทภาคเอกชนนั้นแบ่งออกเป็นหลายความตระหนักในเรื่องนี้ หลายคนก็ยังทำในแบบเก่าคือว่าทำเพื่อให้เห็นว่าต้องทำนะ ทำเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมแต่ยังไม่ได้รู้สึกหรือว่าควบรวมมาเป็นภารกิจขององค์กร ระดับนี้ก็ยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย แต่ระดับที่เพิ่มขึ้นและเป็นทิศทางที่ดี ต้องยอมรับว่าผมทำไอแคร์ประมาณ 7 ปีก่อนหน้านี้ คือ 7 ปีก่อนคำว่า ซีเอสอาร์หรือโซเชียลเอนเตอร์ไพร์ซใหม่มากเลยและเมื่อ 7 - 8 ปีก่อน ตอนนั้นมันจะเป็นภาระเหมือนที่ผมพูดคือ ธุรกิจส่วนหนึ่ง เพื่อสังคมส่วนหนึ่ง ผมเห็นเทรนด์ที่ดีมากในรอบ 5 - 6 ปีมานี้ มันจะเห็นได้ว่าผู้บริหารรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เริ่มรู้ว่ามันไม่ใช่แค่ทำเป็นว่าทำเพื่อสังคมแล้ว แต่ถ้าคุณไม่ใส่ใจสังคมแบรนด์คุณก็อยู่ไม่ได้ด้วย เพราะสมัยนี้ผู้บริโภคไม่ได้เชื่อโฆษณาหรือเชื่อจากภาพถ่ายอีกต่อไป เขารู้ว่าคุณเป็นคนยังไง รู้ว่าคุณเป็นแบรนด์แบบไหน ถ้าคุณเป็นแบรนด์ที่ให้ความสะดวกขายของได้เต็มที่ แต่คุณไม่ได้นึกถึงคนอื่นมากพอ ผู้บริโภคเดี๋ยวนี้เขาก็ไม่เชื่อโฆษณานะ เขาเชื่อสิ่งที่คุณเป็น ดังนั้นในภาคเอกชนภาคธุรกิจต่างๆ พอเขาเริ่มรู้ตัวว่าตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ผู้บริโภคจะเข้าถึง เขาก็เริ่มตระหนักคิดมากกว่าแค่กิจกรรมแล้ว เขามองว่ามันจะต้องเป็นส่วนหนึ่งที่เขาต้องรับผิดชอบจริงๆ ไม่ใช่แค่การสร้างภาพอีกต่อไป

 

ผมมองว่าอย่างองค์กร(ไอแคร์) ที่เราทำอยู่ เราทำอยู่ 2 ลักษณะเลย คือตัวธุรกิจคือเรียลเอสเตทนั้น เราต้องมองสิ่งที่ดีให้กับลูกบ้านของเราจริงๆ แล้ววิสัยทัศน์ของเจ้านายก็คือ ถ้าเรามีงบให้สังคมเราจะทำอย่างไรให้เกิดผลสูงสุด ก็เห็นว่าการเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมทดลองทำบางอย่างหรือพอจะทำสื่อได้เพราะสื่อเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากในการนำความคิดผู้คน เราก็เลยตั้งใจลงทุนใน 2 สิ่งนี้ ก็เลยเป็นที่มาของไอแคร์ แต่ถามว่าตรงนี้ก็ยังได้เป็นที่สุดที่ภาคธุรกิจไปถึงได้ในการทำเพื่อสังคม ยุคใหม่ๆ นี่โดยเฉพาะหลายๆ สตาร์ทอัพนั้นจะเป็นแบบนี้ คือเขาจะผนวกปัญหาของสังคมเป็นภารกิจของธุรกิจเลย ธุรกิจของคุณดำรงอยู่เพื่อแก้ปัญหาสังคมบางอย่างเลยไปดูได้สตาร์ทอัพทั้งหลายนั้นจะบอกว่าการเกิดขึ้นของธุรกิจหรือนวัตกรรมของคุณแก้ปัญหาอะไรบ้างหรือทำให้โลกใบนี้ดีขึ้นในด้านใด ตอนนี้ผมรู้สึกว่าเทรนด์เรื่องนี้เริ่มเกิดขึ้น คนรุ่นใหม่เริ่มทำธุรกิจที่ดีกับสังคม นี่จะเป็นคำตอบที่น่าจะทำให้ทุกอย่างมันดีขึ้น มันจะไม่ใช่แค่ขายของอย่างหนึ่ง โฆษณาอย่างหนึ่งสร้างภาพอีกอย่างหนึ่ง แต่ธุรกิจมันต้องคิดเพื่อคนอื่นเลย 


เทรนด์นี้จะเริ่มอย่างไรได้บ้างโดยเฉพาะกลุ่มภาคธุรกิจ

คุณต้องประเมินตัวเองก่อนว่าอยู่ในภาวะไหน ยังมองว่าเรื่องเพื่อสังคมเป็นการสร้างภาพ กฎหมายบังคับหรือคุณแค่ทำ แต่มันยังมีขั้นตอนต่อไป ถ้าคุณเห็นแล้วรู้สึกว่าคุณมีส่วนในการทำให้สังคมมันดีขึ้นจากตรงนี้ได้ ซึ่งตรงจุดนี้ถ้าผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ที่ดีเขาจะรู้ตัวเขานำของสิ่งนี้มาสู่องค์กร มันจะเพิ่มขวัญและกำลังใจให้พนักงาน ผมพบบางองค์กรที่ได้แค่เงินแล้วธุรกิจนั้นมันไม่เป็นประโยชน์ต่อโลกใบนี้ คนรุ่นใหม่เขาก็ไม่อยากทำ เขาอยากทำในองค์กรที่รู้สึกว่าได้เงินด้วยมีบริษัทช่วยโลกด้วย คือธุรกิจที่ได้เงินเยอะๆ ผมว่ามันล้าสมัยแล้วทุกวันนี้ มีบริษัทใหญ่ๆ ที่ถูกโจมตีอยู่เยอะแยะไป ผมว่ามันใกล้จะถึงยุคที่ภาพลักษณ์มันจะไม่มีความหมายแล้ว เพราะวันนี้เราคุยเรื่องโฆษณา เรื่องสื่อสารเห็นว่าคนรู้แล้วว่าอะไรคือโฆษณา อะไรคือความเป็นจริง หมายความว่าธุรกิจยุคใหม่ๆ ถ้าคุณยังไม่รู้ว่าการรับผิดชอบต่อสังคมหรือการคืนสู่สังคมเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงอยู่ของธุรกิจในระยะยาวมันก็จะไปได้ยาก เพราะไม่เพียงแต่ผู้บริโภคเท่านั้นแต่คุณจะหาพนักงานที่ดีที่สุดมาทำงานกับคุณไม่ได้ คนรุ่นใหม่ไม่ใช่ว่าไม่มีความอดทนแต่บางทีเขาไม่ได้มีปัญหาเรื่องเงินเขาแค่อยากมาหางานที่มีความหมาย พอเขาไปอยู่ในองค์กรเก่าๆ ที่มันทำไว้เพื่อเงินเพื่อการแข่งขันเขาก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่  อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ภาคธุรกิจบางที่ต้องมองปัญหาเรื่องนี้เหมือนกัน แต่โอเคมันจะมีเด็กรุ่นใหม่ที่อ่อนแอ หรือไม่มีความมั่นคงอะไรก็ตามแต่อันนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมว่าธุรกิจระยะยาวมันจะไปไม่ได้เลยถ้าคุณปฏิเสธภาคสังคม ดังนั้นถ้าถามว่าภาคธุรกิจจะทำอย่างไร ก็ต้องรู้ตัวคุณเองก่อนว่าอยู่ในระดับไหน คุณอยากเป็นองค์กรแบบเก่าสร้างภาพอย่างเดียวหรือคุณรู้ว่าองค์กรที่คุณมีอยู่จะธุรกิจ 10 ล้านหรือ 1,000 ล้านของคุณมันทำให้โลกใบนี้ดีได้ด้วยสิ่งที่คุณทำ ตรงนั้นคุณจะเป็นคนตัดสินใจเองว่า คุณจะพาองค์กรไปทางไหน เริ่มจากเรื่องเล็กๆ ก็ได้ เป็นซีเอสอาร์ จนถึงทำให้พนักงานมีความสุข จนถึงชวนพนักงานมาทำบางอย่างให้ธุรกิจมันดีและโลกใบนี้มันดีด้วยมันมีหลายขั้นตอน 


มันยากไหมกับการที่จะทำให้ภาคธุรกิจปรับในแง่ของมุมมองหรือทัศนคติด้านความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค

ทั้งยากและง่าย เพราะมันเป็นจิตสำนึกของผู้ประกอบการนะ ต้องยอมรับว่าการแข่งขัน มันก็ดุเดือด ทั้งต้องรักษาต้นทุนทำให้ได้กำไร รักษาธุรกิจมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายมันก็อาจจะมีเหตุผลบางอย่างที่ทำให้เขาทำบางอย่างที่ไม่ถูกต้องเลยเลือกวิธีที่ไม่ได้ดีที่สุด  แต่มันมีอีกวิธีในการทำธุรกิจแต่ผมเชื่อว่า ถ้าเขาทำทุกอย่างถูกต้อง ดีที่สุดต่อผู้บริโภคเขากลับจะพาตัวเองไปสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ต่างหาก กลุ่มเป้าหมายที่อยากได้ของดี อยากได้แบรนด์ที่นานๆ ไม่มีลูกค้าคนไหนอยากซื้อของกับนักธุรกิจที่หลอกลวงจริงไหม แต่ว่าสัดส่วนมันก็ยังต่างกัน ผมว่าแล้วแต่ว่าเขาจะเลือกเอง ว่าจะเด่นทางไหน มีเหมือนกันนะนักธุรกิจที่ดีที่ทำทุกอย่างดีจนเกินมาตรฐานแล้วขายของแพงเป็นบ้า แต่ก็ยังมีคนซื้อ มันแล้วแต่คนจะเลือก ผมทำโครงการอยู่โครงการหนึ่ง ชื่อว่า New Heart New World องค์กรผมยังเห็นชัดเพราะมันต้องขึ้นอยู่กับผู้นำองค์กรเขามองเห็นอะไร เห็นกำไรเป็นที่ตั้งแล้วไม่สนใจสิ่งอื่น หรือเห็นว่าถ้าบริษัทอยู่รอดแต่สังคมไม่รอด คุณต้องเลือกว่าคุณจะมองเห็นแบบไหน ถ้าคุณเลือกแต่ความอยู่รอดมันก็ไม่ผิดหรอกที่จะเลือกทางแบบนั้น แต่มันก็คับแคบแล้วระยะยาวคุณก็ไม่มีความสุขจนกว่าคุณจะเห็นว่าถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงได้คุณก็ต้องเลือกต้องเติมสิ่งใหม่ๆ ตรงนี้เป็นการตัดสินใจของผู้นำขององค์กรนะ 


คิดว่าเรื่องสิทธิผู้บริโภค มันจำเป็นกับบ้านเราอย่างไร

ผมว่าจำเป็นมากเลย และบางทีผมลืมเรื่องนี้ไปนานแล้ว บางทียิ่งตามการเติบโตของโลกออนไลน์ ทุกคนขึ้นมาทำอะไรขายกันได้เยอะแยะมากมายในออนไลน์แล้วสิ่งที่น่าตกใจมากคือวันนั้นผมเห็น คือผมเคยทำงานโฆษณามาก่อน เวลาทำโฆษณา เรื่องยาลดความอ้วนหรือผิวขาว กว่าโฆษณาจะผ่าน ผมส่งเรื่องไป อย. นานมาก คือมันห้ามพูดโอเวอร์เคลม วันนั้นผมเห็นโฆษณาบนยูทูป ผมรู้เลยว่าโฆษณาตัวนี้มันไม่ได้ผ่าน อย. มันพูดโอเวอร์เคลมน่าเกลียดมาก ซึ่งเขาทำได้เพราะเป็นเรื่องของยูทูปไม่ต้องส่ง อย. ผมมองว่าผู้บริโภคกำลังถูกข้อมูลใหม่ๆ ที่น่ากลัวมากเข้ามา ผมว่าความสำคัญของการเข้าถึง การรู้เท่าทันข้อมูล องค์กรที่ทำเรื่องพวกนี้สำคัญมาก เพราะมันไม่ควรจะให้ผู้บริโภคเป็นเด็กน้อยๆ เป็นลูกแกะ ให้ผู้ประกอบการมาบอกเสนอหรือชี้นำอะไรก็ได้  ความจริงมันต้องรู้  เช่นกันผู้บริโภคก็ต้องตื่นตัว ต้องมีวิจารณญาณ ต้องมีความรู้เท่าทันสื่อ Media Literacy (การรู้เท่าทันสื่อ) ซึ่งเรื่องเหล่านี้โซเชียลมีเดียก็มีส่วนให้คนเข้าใจเรื่องพวกนี้และแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เคยมีคนบอกว่าโซเชียลมีเดียนั้น ทำให้คนสุดท้ายแล้วมีเรื่องแย่ๆ เยอะในออนไลน์ก็จริง แต่มันทำให้คนฉลาดขึ้น คนที่แลกเปลี่ยนข้อมูลกันมันไม่ใช่ฝั่งเจ้าของสินค้าที่พูดสายตรงออกมาคือมันมีการพูดคุย แต่เราจะคุยแลกเปลี่ยนกันว่าอะไรมันคือความถูกต้อง ผมว่าตรงนี้มันจะทำให้ภาพรวมของการรู้เท่าทันน่าจะดีขึ้น และผมว่าสุดท้ายการทำงานลักษณะนี้มันจะเพิ่มพลังให้ผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ใช่ให้คนทำสินค้าแย่ๆ  มาเอาเปรียบเรา ผมว่าอันนี้สำคัญ 


พวกสื่อในรูปแบบต่างๆ เช่น Youtube หรือไวรัล ที่ในปัจจุบันมีอิทธิพลมากมองอย่างไร 

ควบคุมคงยาก โลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ค โซเชียลมีเดียมันมีความเป็นธรรมชาติสูง บางเรื่องมันเร็วมากเป็นไฟลามทุ่ง ผมว่ายุคนี้ยิ่งน่าทำมากคือเรื่อง Media Literacy (การรู้เท่าทันสื่อ) ทั้งความเข้าใจในการรับสื่อ กฎกติการมารยาทที่พึงทำในโลกออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ต้องมีการทำออกมา ภาครัฐบางทีการใช้กฎหมายบังคับมันเป็นที่ปลายเหตุ ต้องสร้างจิตสำนึกของผู้ทำสื่อกับผู้บริโภคสื่อให้ได้ ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน ถ้าทำได้นะเรื่องความรู้ความเข้าใจ มันไม่ใช่การไปประกาศบอกอะไรแต่มันต้องชี้ให้เห็นคุณและโทษหรือชี้ให้เห็นตัวอย่าง ผมว่าน่าจะมีการทำชุดข้อมูลพวกนี้และต้องยอมรับจริงๆ ว่าถ้าภูมิคุ้มกันของผู้รับสารไม่มีมากพอโอกาสที่จะถูกหลอกก็ง่ายมาก 


แล้วเราต้องเลือกเสพอะไรบ้าง 

ผมว่าคนที่อ่าน “ฉลาดซื้อ” เป็นคนที่ใส่ใจอยู่แล้วและมีความคิดที่จะเติมความรู้ทุกสิ่งทุกอย่างดีอยู่แล้ว นอกจากรู้แล้วนั้นผมว่าอีกอย่างที่สำคัญคือการช่วยกันบอกต่อข้อมูล อย่างที่บอกข้อมูลเหล่านี้เราเป็นองค์กรทำด้วยงบประมาณมันไม่ได้เท่ากับองค์กรภาคเอกชนคือมันคนละระดับกันแต่น้ำหนักของข้อมูลเวลามันมาจากความจริง มาจากผู้บริโภคส่งถึงกันมันมีพลังมากกว่า ตรงนี้ถ้าเราจะทำให้ผู้ประกอบการมีจิตสำนึกมากขึ้น การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ก็สำคัญและการรวมกันเพื่อที่จะแชร์สิ่งเหล่านี้ออกไปผมว่ามันเป็นพลังที่ดี ผมไม่เชื่อเรื่องการที่เราไปตั้งตัวเป็นศัตรูกับผู้ประกอบการแต่เราเป็นส่วนหนึ่งที่มาคุยกันน่าจะดีกว่า  


 ไอแคร์ (iCARE) เป็นองค์กรสร้างสรรค์เพื่อสังคม 

นำโดย ธรากร กมลเปรมปิยะกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด


แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

300 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ธรากรกมลเปรมปิยะกุล

ฉบับที่ 277 อยู่ยากไหมในวันที่ “เอไอ” ล้อมเมือง

        วันที่ 15 มีนาคมของทุกปีเป็นวันผู้บริโภคสากล และในปี 2024 นี้สหพันธ์องค​กรผู้บริโภคสากล หรือ Consumers International ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วโลกรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ในเรื่องผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ต่อการใช้ชีวิตของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งแง่มุมของการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างเป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ         ในโอกาสดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค ประเทศไทย ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “เราจะช่วยกันยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคไทยได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต และ ฉลาดซื้อ ได้มีโอกาสคุยกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.โซธี ราชการ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนิไล (Nilai University) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรที่ได้รับเชิญมาในงานเสวนาดังกล่าว______ เรามีประเด็นที่น่าสนใจจากวงเสวนาและการพูดคุยมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ความท้าทายของผู้บริโภคในยุค AI         ผมตั้งข้อสังเกตว่า ใน “ระเบียบโลกใหม่” ที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำธุรกิจแทบทุกประเภท เราจะพบความเหลื่อมล้ำมากขึ้นระหว่างคนที่สามารถและคนที่ไม่สามารถเข้าถึงถึงเทคโนโลยี ยกตัวอย่างที่มาเลเซียซึ่งการประปาฯ ได้ยกระดับการบริหารจัดการและนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาจัดการทั้งหมด รวมถึงเรื่องการแจ้งข่าวสารเรื่องการให้บริการ/การหยุดจ่ายน้ำ แต่ปัญหาคือการแจ้งอัตโนมัตินี้มันจะส่งไปยังผู้ใช้สมาร์ตโฟนเป็นหลัก คำถามคือแล้วคนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนจะรู้ข่าวนี้ได้อย่างไร         แล้วเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอัปเกรดอยู่ตลอดเวลา พอเราเริ่มเข้าใจ เริ่มจะเชี่ยวชาญการใช้ มันก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว ขณะเดียวกันรูปแบบตลาดก็เริ่มเปลี่ยนจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน “สินค้า” เป็นการซื้อขาย “บริการ” มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง         นอกจากความไม่แน่นอนเรื่อง “ความเสถียร” ของระบบที่ทำให้มันง่ายต่อการเจาะ ผู้บริโภคก็มีโอกาสพบปัญหามากขึ้น เช่น มีแนวโน้มจะถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น หรืออาจถูกมิจฉาชีพหลอกลวงได้ง่ายขึ้น โฆษณาที่เราเห็นก็ถูกออกแบบมาให้ตรงความต้องการของเรามากขึ้น หรือแม้แต่เมื่อเราจะทำ “สัญญา” กับผู้ประกอบการ เราแต่ละคนก็อาจได้สัญญาที่เนื้อหาสาระไม่เหมือนกัน (ทั้งที่ซื้อผลิตภัณฑ์เดียวกัน) ซึ่งเป็นผลงานของอัลกอรึธึม นั่นเอง         ที่น่ากังวลอีกอย่างคือผู้บริโภคยังมีความเข้าใจค่อนข้างน้อยในเรื่อง “ตัวตนดิจิทัล” ที่เราใช้ในการซื้อสินค้าออนไลน์ ทั้งๆ ที่ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับตัวเรา ธุรกรรมของเรา ถูกบันทึกจัดเก็บอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการรายใหญ่มีอำนาจเหนือเรามากขึ้น เราควรทำอย่างไร         ก็ต้องยอมรับความจริงว่าเราต้องอยู่กับเทคโนโลยีนี้ หลีกเลี่ยงมันไม่ได้ สิ่งที่ควรจะต้องมีก็คือการกำกับดูแลที่ดีขึ้นด้วยการ “คิดใหม่ทำใหม่” เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ในยุคของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เราจะเห็นว่ามีธุรกิจทั้งรายใหญ่รายเล็กเพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา ถามว่าหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคจะรับมือกับผู้ประกอบการเป็นล้านรายเหล่านี้ได้อย่างไร ไม่ว่าประเทศไหนก็ไม่สามารถจัดหาบุคลากรมารับมือกับเรื่องนี้ได้เพียงพอหรอก ต่อให้คุณมีเจ้าหน้าที่สักหมื่นคน คุณคิดว่าจะจัดการพวกนี้ได้หมดไหม         ที่เราทำกันอยู่ตอนนี้คือการออกไปสุ่มตรวจเป็นครั้งคราว หรือจัดการแก้ไขเรื่องที่ผู้บริโภคมาร้องเรียน ส่วนตัวผมมองว่าเราต้องเพิ่มบทบาทของมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ การรายงานต่อสังคมโดยบริษัท         เราต้องมีวิธีที่ดีขึ้นในการที่จะทำให้คนเหล่านี้ปฏิบัติตามกฎหมาย และสร้างวัฒนธรรมที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมาร้องเรียนพฤติกรรมแย่ๆ ของผู้ประกอบการไปเลย         ผมมองว่าสิ่งที่เราต้องการคือ การเปลี่ยน “วัฒนธรรม” ในเรื่องนี้ ไม่ใช่ใครทำผิดก็ตามปรับมันไปเรื่อย แปลว่าใครจ่ายค่าปรับได้ก็ทำผิดได้อย่างนั้นหรือ ผมยกตัวอย่างกรณีของออสเตรเลีย ถ้าคุณไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วราคาที่ปรากฎตรงแคชเชียร์มันแพงกว่าที่แสดงไว้บนชั้นวาง คุณจะได้ของชิ้นนั้นกลับบ้านไปเลยโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ต้องให้ใครโทรเรียกผู้จัดการให้ลงมาเคลียร์ หรือต้องกรอกแบบฟอร์มร้องเรียนอะไรให้ยุ่งยาก มันต้องทำให้ธุรกิจมีกฎระเบียบในการจัดการตัวเองเมื่อทำผิด ไม่ใช่แค่มีหน่วยงานรัฐมาบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย         แล้วหลังจากนั้นเราค่อยมาพูดกันเรื่องการให้ความรู้กับผู้บริโภค การรับเรื่องร้องเรียนยังสำคัญไหม         แน่นอน อีกประเด็นที่ผมอยากพูดคือ เรื่องที่คนเขาร้องเรียนเข้ามาก็สำคัญนะ มันควรจะมีการ “ออดิท” ข้อมูลเรื่องร้องเรียนโดยบุคคลภายนอกด้วย ถ้าองค์กรหนึ่งเคลมว่าสามารถแก้ไขเรื่องร้องเรียนได้ร้อยละ 98 ร้อยละ 99 ผมว่าทำใจให้เชื่อได้ยากเหมือนกันนะ เขาอาจจะทำได้จริงก็ได้ แต่เราก็ควรมีคนนอกมาตรวจสอบ แล้วคำว่า “แก้ไข” หมายถึงอะไร หรือแม้แต่ “เรื่องร้องเรียน” มันหมายความว่าอะไร ถ้าผมโทรมาแจ้งว่าไฟฟ้าที่บ้านดับแพราะมีอุปกรณ์บางอย่างเสีย แล้วเขาก็ส่งคนมาซ่อมให้ แบบนี้เรียกว่าเรื่องร้องเรียนไหม หรือว่าเรื่องร้องเรียนในที่นี้คือกรณีที่ผมต้องรอถึงสามวันกว่าจะมีช่างมาซ่อมให้           หลักๆ คือ เราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่าเรื่องแบบไหนถือเป็นเรื่องร้องเรียน         ขั้นที่สองคือต้องแยกแยะว่าเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาเป็นชนิดไหน แล้วสาม ซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ผู้ร้องเรียนเป็นใคร คนจนร้องเรียนเข้ามาไหม คนเปราะบางร้องเรียนไหม คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลร้องเรียนเข้ามาไหม หรือว่าคนที่ร้องเรียนก็คือคนเดิมที่ร้องเข้ามาเป็นประจำ ความจริงอาจจะมีคนที่ไม่ได้ร้องเข้ามาเพราะไม่ถนัดเขียนอีเมล ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีสมาร์ตโฟน ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีปัญหา         แล้วหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนเองก็มีทรัพยากรจำกัด ไม่ว่าจะด้านเงิน บุคลากร หรืออื่นๆ เราต้องตั้งคำถามว่าเรากำลังใช้ทรัพยากรเหล่านั้นเพื่อช่วยเหลือคนที่ “จำเป็น” ต้องได้รับความช่วยเหลือจริงหรือเปล่า ถ้าเรามีข้อมูลรอบด้านทั้งที่เกี่ยวกับปัญหาที่ร้องเรียน รวมถึงตัวผู้ร้องเรียน ก็จะตอบคำถามนี้ได้ การคุ้มครองผู้บริโภคในมาเลเซีย         โดยรวมแล้วมาเลเซียมีกฎหมายที่ดี ครอบคลุม มีการปรับปรุงแก้ไขให้เท่าทันสถานการณ์ปัญหามาโดยตลอด เช่น ล่าสุดมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งผมมองว่าทำได้ดีก่อนหน้านี้กฎหมายเราไม่ครอบคลุมการซื้อขายออนไลน์ ก็แก้ไขให้ครอบคลุม แต่น่าเสียดายที่เรายังไม่ได้เพิ่มเขี้ยวเล็บให้กับกฎหมายอีคอมเมิร์ซมากเท่าที่ควร         ในเรื่องของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตอนนี้มาเลเซียให้อำนาจกับเจ้าหน้ารัฐที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน ในการเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงซอร์สโค้ดได้         ส่วนเรื่องของความยั่งยืน ตอนนี้รัฐกำหนดให้มีการให้ความรู้ประชาชนเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน รวมถึงด้านผู้ประกอบการก็ต้องมีการผลิตที่ยั่งยืนด้วย เรามีกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทส่งรายงานประจำปีว่าด้วยความยั่งยืน (ทางสิ่งแวดล้อม สังคม และการพัฒนา)         ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูล “รอยเท้าคาร์บอน” แต่เรื่องนี้ก็มีผลทางลบเหมือนกัน สายการบินในมาเลเซียขอขึ้นค่าโดยสารโดยอ้างว่าบริษัทต้องมีการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม         เราได้เห็นความพยายามที่จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการมากขึ้น แต่ผมสงสัยว่ามันจริงแค่ไหน หรือเป็นแค่การกล่าวอ้างให้เป็นไปตามเทรนด์เราทุกคนล้วนเปราะบาง         “เมื่อก่อนนี้พอพูดถึง “กลุ่มเปราะบาง” เราจะนึกถึงคนยากจน ผู้ป่วย หรือผู้พิการ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองดูแลเป็นพิเศษ แต่ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้ในการทำธุรกิจมากขึ้น “เราทุกคน” มีความเปราะบางในบริบทที่แตกต่างกัน เช่น คนมีการศึกษาที่ไม่ถนัดเรื่องไอที หรือ คนรู้กฎหมายที่ไม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการเงินการธนาคาร ก็อยู่ในกลุ่มเปราะบางเช่นกัน”         อีกเรื่องที่ผมมองว่าเป็นปัญหาในปัจจุบันนี้คือดูเหมือนเราจะไม่ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในแบบที่มีมนุษยธรรมมากพอ เราทำให้คนอื่นต้องอับอาย ด่าว่าเขาออกสื่อ มีแต่เรื่องลบๆ ในโซเชียลมีเดียที่สร้างความเกลียดชัง อาจเป็นความเกลียดชังระหว่างชุมชน เชื้อชาติ เราต้องช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ที่น่าเป็นห่วงคือนักการเมืองก็กำลังหาประโยชน์จากเรื่องแบบนี้        เรื่องดีเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งที่อินโดนีเซียที่ผ่านมาคือ ไม่มีผู้สมัครคนไหนเอาเรื่องที่ผู้คนโจมตีกันในโซเชียลมีเดียมาใช้ในการหาเสียงเลย เขาพูดกันแต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการพัฒนา ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะมีการกำหนดกติกาอย่างจริงจังโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการเลือกตั้ง หรือแม้แต่กรณีที่ผู้บริโภคที่ใช้วิธีโพสต์ต่อว่าผู้ประกอบการออกสื่อ ทั้งที่ความจริงแล้วการแก้ไขปัญหาจริงๆ ควรเป็นการพูดคุยกับผู้ประกอบการโดยตรง เอาข้อเท็จจริงมาคุยกันมากกว่า         เราไม่มี “ผู้หลักผู้ใหญ่” ในโซเชียลมีเดียที่ออกมาพูดอะไรเรื่องนี้บ้างหรือ ผมว่ามันแปลกมาก ผู้คนในภูมิภาคนี้เวลาเจอกันตัวต่อตัวก็สุภาพตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา แต่ทำไมตัวตนออนไลน์ของพวกเขาถึงได้ร้ายกาจขนาดนั้น หรือเพราะความห่างเหิน ห่างไกล ในสื่อสารผ่านเทคโนโลยีก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 ผังเมืองกรุงเทพต้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

        ช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา หลายปัญหาได้วิกฤตขึ้นในกรุงเทพมหานคร ทั้งปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ลุกลามมาถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด และปัญหาฝุ่น PM 2.5  ทั้งหมดนี้ ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร         ปัจจุบัน เมื่อกรุงเทพมหานคร ได้กำลังจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ภาคประชาสังคมในวันนี้ได้ตื่นตัว ให้ความสนใจเพราะอยากให้ผังเมืองฉบับใหม่เอื้อให้คนกรุงเทพมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เกิดขึ้นจริงๆ  ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในผู้ที่ ติดตามการพัฒนาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่เริ่มจัดทำตั้งแต่ในปี 2562 ปฐมพงศ์สนใจและเข้ามาเกี่ยวข้อง เคลื่อนไหวด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ช่วงปี 2540 ที่เขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการอยู่อาศัยในคอนโดโดยตรง การทำงานที่ผ่านมาจากในบทบาทผู้อยู่อาศัยคนเล็กๆ ในเมืองใหญ่ สู่การเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการสร้างอาคารสูงในซอยแคบที่ส่งผลเดือดร้อนต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม วันนี้เขายืนยันว่ายังคงต้องคัดค้านผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ฉบับนี้ หากยังไม่มีการเริ่มต้นจัดทำใหม่ด้วยการเปิดรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง   ขอเริ่มคำถามง่ายๆ ก่อนว่า ผังเมือง คืออะไร เพราะหลายคนอาจยังไม่ทราบ และจะได้เข้าใจว่า กฎหมายผังเมืองจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองอย่างไร         ถ้าพูดให้เห็นภาพว่า ผังเมืองคืออะไรให้ลองนึกถึงว่า สมมุตว่าเรามีบ้านหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้เราก็จะผังบ้านของเราว่ากว้างยาวเท่าไหร่ มีคอกสัตว์ แปลงผัก ไปจนถึงขอบเขตรั้วบ้านอยู่ตรงไหน แผนผังนี้คือกระดาษที่เหมือนเวลาเรามองลงมาจากที่สูง จะบอกทุกอย่างว่ามีอะไรบ้างซึ่งตรงนี้แค่บ้านหลังหนึ่ง พอใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้าน ตำบลย่อมต้องมีแผนที่แบบนี้แน่นอน ที่สำนักงานเขตเขาก็จะมีแผนที่ แผนที่ทุกคนคงจะนึกออก แต่ผังเมือง  จะมีรายละเอียดข้างในด้วยที่กำหนดให้อะไรอยู่ตรงไหน ศูนย์การค้าอยู่ตรงนี้ ที่อยู่อาศัยอยู่ตรงนี้ ผังเมืองคือแผนที่อันหนึ่งที่จะบอกว่าในเมืองๆ นั้นมีอะไรบ้าง           แต่นอกจากผังเมืองจะบอกว่า อะไรอยู่ตรงไหนแล้ว ผังเมืองยังมีข้อกำกับลงไปด้วยว่า ไม่ให้มีอะไร หรือ ห้ามสร้าง ห้ามปลูกอะไร ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอาจมาจากตรงนี้คือห้ามสร้าง เมื่อมาสร้างจึงผิดกฎหมาย         กฎหมายผังเมืองจึงเป็นกฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชนด้วยเช่นกัน หากเป็นบ้านเราเองจะปลูกต้นไม้ ดอกไม้ หรือจะตั้งถังขยะตรงไหน ย่อมทำได้ แต่พอเป็นเมืองแล้ว ผังเมืองจะกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนที่อยู่อาศัยในเมือง จึงกำหนดข้อห้ามสำคัญเช่นพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ห้ามสร้างตึกสูงใดๆ  ตรงนี้ห้ามสร้างตึกสูงเกินเท่าไหร่ ในแต่ละจังหวัดตอนนี้มีผังเมืองจังหวัด  ผังเมืองกรุงเทพ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง           ผังมืองรวมกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา เรามีมาแล้วทั้งสิ้น 4 ฉบับ ทั้ง 4 ฉบับเป็นไปตามพระราชบัญญัติผังเมืองปี 2518  ครั้งนี้เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 4 หากมีการประกาศใช้จะเป็นฉบับที่ 5  ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 เริ่มมีปัญหาจากจุดไหน         ต้องบอกว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพ เรามีมาตั้งแต่ปี 2556 และทุก 5 ปี กฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำใหม่ และหลังจากประกาศใช้ทุก 2 ปี จะให้มีการประเมิน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำมาเช่นนี้ แต่การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพที่ถึงกำหนดในปี 2561 มีกฎหมายสำคัญคือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดว่ากฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชนในด้านต่างๆ ก่อนจะดำเนินการต้องไปทำประชาพิจารณ์ก่อน  นอกจากนี้ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับที่ปรับปรุงในปี 2561 กว่าจะทำเสร็จยังมีการประกาศใช้ของ พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562 มาแทนฉบับปี 2518         การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพ ครั้งที่ 4 ครั้งนี้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562  สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจาก พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2518 ที่กำหนดให้มีการจัดทำผัง 4 ประเภท ได้แก่ 1) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้นำแนกประเภท 2) แผนผังแสดงที่โล่ง 3) แผนผังแสดงโครงสร้างคมนาคมและขนส่ง และ 4) แผนผังโครงการกิจการสาธารณูปโภค ขณะที่ พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 กำหนดให้มีการจัดทำผัง 6 ประเภท โดยเพิ่มแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำเข้ามาด้วย         พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 ยังกำหนดให้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวม                ดังนั้นการที่กรุงเทพมหานคร นำร่างผังเมืองรวมที่ทำมาตั้งแต่ปี 2561 - 2562 มาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเลย จึงเป็นการทำมาแล้ว ว่าอยากให้อะไรอยู่ตรงไหน  ไม่ได้เป็นการเปิดรับฟังเสียงจากประชาชนเพื่อทำขึ้นใหม่จริงๆ   ความเดือดร้อนนี้ที่ทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านจำนวนมาก         ใช่ กฎหมายผังเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั้งหมด และกรุงเทพมีพื้นที่ 50 เขต แต่ละเขต มันต่างกันมาก บางขุนเทียนเป็นพื้นที่มีชายฝั่งทะเล  เราไม่อยากให้มีการกัดเซาะ จึงไม่ค่อยมีการตั้งอุตสาหกรรม  ส่วนพื้นที่หนองจอกส่วนใหญ่ทำนา การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดิมต้องคำนึงสภาพที่เป็นและข้อจำกัดด้วย         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นี้ยังจะมีการขยายพื้นที่ถนน พื้นที่แก้มลิง พื้นที่รับน้ำ ทำให้ประชาชนถูกเวนคืนที่ดิน บางพื้นที่หมู่บ้านหายไปหมด ถนนจาก 4 เมตร จะขยายเป็น 12 เมตร  คนจะเดือดร้อนมาก เรามองว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้มุ่งเน้น เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์   การขยายถนน การกำหนดพื้นที่ให้เปลี่ยนจากพื้นที่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นปานกลาง จากหนาแน่นปานกลางเป็นหนาแน่นสูง หรือให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม  ทั้งหลายนี้เหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ในความเป็นจริง กรุงเทพไม่อาจขยายตัวได้มากแล้ว จึงเกิดอาคารสูงกระจุกตัวอยู่ส่วนกลาง แต่เมืองนี้เราไม่ได้มีแต่คนรวย  ยังมีคนเข็นผักในตลาด รปภ. ตำรวจ พยาบาล ทหาร บุรุษไปรษณีย์ การถูกเวนคืนที่  การเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เป็นความเดือดร้อนที่ค่อยบีบคนอยู่อาศัยธรรมดาให้ออกจากเมือง  การที่ยังให้มีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบทั้งที่สร้างไม่ได้ ได้สร้างความเดือดร้อนให้ทุกคนในซอย รถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่แค่ช่วงเข้าไปสร้าง ก็เดือดร้อนแล้ว อาคารที่สูงมากๆ ก็จะสร้างขยะเยอะ ใช้ไฟเยอะ  น้ำเสีย มันเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยทั้งหมด            แล้วข้อความเห็นว่าเหมือนบีบคนออกจากเมือง เขาก็บอกว่าก็มีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ขยายออกไปเรื่อยๆ แต่ระบบรถ BTS ของเรามันไม่ได้เชื่อมต่อกัน ประชาชนยังแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4  ยังมีโบนัสให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายเรื่องมากๆ ที่ดำเนินการแล้ว เขาสามารถนำไปเพิ่มพื้นที่การสร้างอาคารให้สูงขึ้นได้  ช่วยขมวด 3 เรื่องสำคัญที่ประชาชนควรช่วยกันเฝ้าระวังในผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ครั้งนี้           หนึ่ง ผังเมืองรวมฉบับนี้ทำให้ กรุงเทพมีพื้นที่หนาแน่นขึ้น เดิมความหนาแน่นของกรุงเทพตอนนี้คือราว  3,500 คน/ ตร.กม แต่หากรวมประชากรแฝงเราคาดว่าน่าจะถึง 10,000 คนต่อ / ตร.กม เมื่อคนอยู่อาศัยกันแน่นขึ้น ปัญหาอีกสารพัดจึงจะตามมาอีกมาก  สอง ผังเมืองรวมฉบับนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการระบายน้ำ  เรามีน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 มาแล้ว ยิ่งคนเข้ามาแน่น ปัญหาน้ำท่วมเราจะยิ่งวิกฤต เพราะตอนนี้ฝนตกหนักครั้งเดียว เราก็แย่แล้ว สาม เมื่อนำผังเมืองที่เขาทำไว้แล้วในปี 2562  มารับฟังความเห็นจากประชาชน  ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้ ยังไม่คิดตอนที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 กับเรื่องโรคระบาด         เราเป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้การอยู่อาศัยของคนในเมืองแย่ลง ทั้งน้ำท่วม การจราจร ฝุ่นPM2.5  โรคระบาด สิ่งแวดล้อมมันแย่ลงมากกว่าดีขึ้น สิ่งที่เราบอกว่ามันจะมีปัญหา เราไม่ได้จินตนาการเอาเอง ปัญหามีประจักษ์มาแล้ว เรื่องโรคระบาด ตอนเป็นโควิดเราเห็นแล้วว่า เราต้องการพื้นที่ปลอดภัย ต้องการพื้นที่จะระยะห่างบ้าง  เราเป็นห่วงคนในชุมชนคลองเตยมาก เพราะเขาต้องอาศัยกันอย่างแออัด  เขาบอกว่า เมืองว่าเมืองจะเจริญ แต่ตอนนี้สภาพแวดล้อมเราออกห่างจากคำว่าธรรมชาติมากขึ้นทุกที คนต้องหนีออกจากเมืองมากกว่าจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้         การระบายน้ำ ขยะ การจราจร โรคระบาด ทั้งหมดนี้คือคุณภาพการใช้ชีวิตของคน  เราไม่สามารถอยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ว่าห้องจะหรูหรา มีเครื่องฟอกอากาศดีแค่ไหน แล้วเราไม่ออกไปไหน เราต้องออกไปข้างนอก         เรากังวล เป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองแย่ลง   เราอยากให้มีผังเมืองที่ตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่แล้วยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาด้วย อยากให้ประชาชน สังคมโดยทั่วไป ร่วมกันมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง         อย่างที่ผมบอกว่า ผังเมืองเกี่ยวข้องกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกมิติ หลายคนที่เขายังรู้สึกว่า เขาไม่ได้รับผลกระทบ เขาอาจะวางเฉยได้ หรือเขาอาจจะรู้ว่า มีผลกระทบมาถึงตัวได้แต่ยังคิดว่า อาจไม่ใช่เร็วๆ นี้ ต้องออก พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ยังรอได้  แต่ผมคาดว่ามันไม่ได้นาน หลายพื้นที่ตอนนี้เริ่มโดยเวนคืนที่ดินแล้ว และผังเมืองรวมกรุงเทพยังส่งผลกระทบกับปริมณฑล  เครือข่ายถนนทั้งหมดเชื่อมโยงกับพื้นที่ใกล้เคียง นนทบุรี สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี  ฉะเชิงเทรา  สมุทรปราการ              การต่อสู้เรื่อง เราต้องศึกษาเรื่องกฎหมายด้วย เพราะเราสู้เรื่องกระบวนการที่ต้องดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายด้วยเราอาจะต้องสู่กันกันถึงศาลปกครอง แล้วหากเราตื่นตัว ร่วมกันลงชื่อเยอะๆ ผมคิดว่ามันมีผลกระทบ มันมีพลังที่จะทำให้เราสามารถทำให้หน่วยงานรัฐเริ่มทำผังเมืองกรุงเทพใหม่ได้ ผมก็สื่อสารเรื่องนี้ อยู่ตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 องค์กรผู้บริโภคต้องทำงานแบบเสริมพลังกัน

        การรวมตัวกันเพื่อการทำงานคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้บริโภค เริ่มมาอย่างยาวนานและชัดเจนตั้งแต่ปี 2526 กว่า 40 ปี ระบบนิเวศของการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคจึงเต็มไปด้วยความเบ่งบานของกลุ่มองค์กรหลากหลายรูปแบบทุกระดับทุกพื้นที่ที่ต่างล้วนทำงานมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้มแข็งสิทธิได้รับการพิทักษ์คุ้มครอง การเติบโตอย่างเข้มข้นนี้เป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเกิดการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้สำเร็จ ในปี 2563 หลังจากเริ่มต้นผลักดันมาตั้งแต่ปี 2540          รศ.ภญ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ  ผู้จัดการศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส) และผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) มีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งเสริม สร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคโดยเฉพาะด้านยาและสุขภาพมาตั้งแต่ต้น สะท้อนมุมมองว่าในทศวรรษปัจจุบันและต่อไปหลังจากนี้ การเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้สำเร็จก็ยังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบัน การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคในระดับพื้นที่เข้มแข็ง มีคุณภาพยังเป็นเรื่องสำคัญที่ รศ.ภญ.ดร.วรรณา เลือกทำมาตั้งแต่ต้นและยังจะทำต่อไปอย่างแน่นอน      ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  คือหน่วยงานอะไร         ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หรือ คคส. เราเป็นศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เป็นศูนย์วิชาการที่เราทำงานกันมานานตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2549 และปัจจุบันเราขยายงานเป็นวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) ด้วย         คคส. เป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สสส. ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เมื่อพูดถึง คคส. เราไม่ได้ทำงานแต่เฉพาะองค์กรผู้บริโภค  เราทำงานกับผู้ประกอบการวิชาชีพเภสัชกรรม  นักวิชาการสาธารณสุขเยอะมาก งานของเราจึงออกเป็นลักษณะแผนงานวิชาการที่มีหลายเรื่อง งานวิชาการ งานพัฒนาศักยภาพคน จัดการพวกสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และติดตามเรื่องของกฎหมายด้วย  ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  ทำงานอะไรบ้าง         เรามีแผนงานส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่  มีวัตถุประสงค์ในการทำงาน 4 เรื่อง หนึ่ง คือพัฒนากลไกและศักยภาพเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่ สอง พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่ สาม จัดการความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และสี่ ติดตามอย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เราทำงานด้วยเราอยากเห็นผลลัพธ์ที่เรามุ่งหวังคือ ชุมชน องค์กรผู้บริโภค ภาคี เครือข่ายมีศักยภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค  มีการจัดการสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย   นิยามองค์กรผู้บริโภคไว้อย่างไร         องค์กรผู้บริโภคที่เราทำงานด้วยต้องบอกว่า เป็นกลุ่มคนที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่เฉพาะการทำงานประจำตามหน้าที่ เป็นราชการเราไม่ได้สนใจเฉพาะตรงนั้น เราทำงานทั้งกับผู้บริโภค อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภค เราคิดว่าทุกคนเป็นผู้บริโภคตลอดเวลา แต่เป็นข้าราชการบางเวลาเพราะฉะนั้นการก้าวเข้ามาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คคส. เราถือว่าถ้ารวมกลุ่มกัน เป็นองค์กรผู้บริโภคหมด       ที่จุฬาเองตั้งแต่อดีต  เรามีอดีตอาจารย์กับนิสิตเภสัชศาสตร์ รวมตัวกันมา ตั้งกลุ่มเฝ้าระวังเรื่องยา อาจารย์ในเวลาก็เป็นเป็นข้าราชการสอนหนังสือ แต่อาจารย์ยังนำความรู้ของอาจารย์มาทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้วย จึงเกิดการรวมตัว รวมกลุ่มและกิจกรรมต่างๆ ขึ้นจนถึงปัจจุบันตอนนี้ก็มีข้าราชการทั้งเกษียณและไม่เกษียณทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ เราก็เรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา ไม่ใช่ข้าราชการก็เป็นองค์กรผู้บริโภคด้วย น้องๆ เภสัชที่อยู่ตามต่างจังหวัด รวมตัวกันเป็นเภสัชชนบทก็เป็นองค์กรผู้บริโภคในนิยามของ คคส.  ภาพรวมขององค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่ คคส. ทำงานร่วมด้วยเป็นอย่างไร           ภารกิจของ คคส. เราทำงานส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เราจึงทำงานเข้มข้นได้ไม่ทุกเรื่อง เรามองว่าการทำงานกับองค์กรผู้บริโภค เราทำทั้งทางตรงและทางอ้อม  งานที่ทำทางตรงกับองค์กรผู้บริโภค เช่น การพัฒนาศักยภาพ การอบรม การตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคเครือข่าย แต่ถ้าเป็นลักษณะของการที่ทำงานเฝ้าระวัง บางจุดหรือประเด็นที่เขาต้องการ เราก็จะพัฒนาศักยภาพน้องๆ เภสัชกรที่เขาก้าวเข้ามาด้วยความสนใจให้เป็นเภสัชกรที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือนักวิชาการสาธารณสุขที่ขยับมาทำเรื่องการจัดการสินค้าไม่ปลอดภัย งานจึงมีทั้งทางตรงและทางอ้อม  แบ่งองค์กรผู้บริโภคเป็นแบบไหนบ้าง กี่ประเภท แต่ละประเภทมีความเข้มแข็งแตกต่างกันมากน้อย อย่างไร         ถ้าตามกฎหมาย เราแบ่งเป็น 2 กลุ่ม  คือกลุ่มองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562  คือตามเกณฑ์ เงื่อนไขและกลุ่มที่ 2 คือ องค์กรผู้บริโภคแต่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน         แต่ถ้ามองในมุมของ คคส. เรามีการพัฒนาเกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพขึ้น ซึ่งเราทำมานานก่อนที่จะมีสภาองค์กรผู้บริโภคอีกเพื่อไปตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคว่าการทำงานอย่างมีคุณภาพ มีโครงการสร้างองค์กร  กระบวนการทำงาน และผลลัพธ์ของการทำงานที่พัฒนาขึ้นต่อเนื่อง คคส. จึงตั้งเป็นเกณฑ์ผู้บริโภคคุณภาพ และ MOU กับหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เราได้รับการยอมรับ เกิดความเชื่อมั่นเมื่อเราเดินสายไปตรวจและรับรอง หากใช้เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพเป็นตัวตั้ง  ก็จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ผ่านการรับรองตัวประเมิน และจัดเป็นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ กับองค์กรทั่วไปที่เขาอาจยังไม่พร้อมให้เราประเมิน หรือว่าเพิ่งเริ่มต้นทำงาน เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพจะมีมากกว่าเกณฑ์ตามกฎหมาย    ส่วนที่สมาชิกของสภามักจะไม่ค่อยผ่านคือเรื่องของผลงาน และกระบวนการทำงาน  ปัญหาที่พบตอนที่ลงไปทำงานกับองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ ได้เสริมจุดแข็งหรืออะไรไปบ้าง         แน่นอนว่าพอเราลงไปตรวจ เราจะเจอทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง  แต่เราก็บอกเลยว่า เราพร้อมตรวจใครที่คิดว่ามีความเข้มแข็งให้เราไปตรวจ เราก็พร้อม แต่เท่าที่ลงไปตรวจแล้วเราจะเห็นข้อบกพร่องของเขา เช่น เรื่องของการที่ไม่มีรายงานการประชุม ไม่มีการบันทึกเลย คือคนทำงาน เขาทำงานแต่การเก็บบันทึก รายละเอียดงานยังน้อยทำให้มีปัญหาคนภายนอกอาจมองว่าไม่มีผลงานกิจกรรมเลย ก่อนมี พ.ร.บ. สภาฯ  เราตรวจไป 226 องค์กร  พวกนี้เขาก็มีความพร้อมพอสมควร พอมีสภาองค์กรของผู้บริโภคเกณฑ์ของเราถูกนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินองค์กรของผู้บริโภคตามกฎหมายด้วยบางส่วน แต่บางอันในเรื่องของคุณภาพยังไม่ได้นำไปใช้  การทำงานของเราตอนนี้พอลงตรวจแล้วรู้แล้วว่าขาดอะไร เช่นยังขาดส่วนวิชาการในลักษณะของการนำเสนอนโยบายซึ่งมีความสำคัญเวลาเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำเสนอนโยบายในการประชุมเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอหรือระดับประเทศ พอตรงนี้ขาดเราก็พัฒนาหลักสูตร เปิดอบรม ขอแค่สนใจอยากพัฒนาตัวเองเราจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดเพราะเรามีความร่วมมือกับ สสส.         องค์กรผู้บริโภคเล็กๆ จากที่เราไปตรวจราว 300 – 400 องค์กร เราเห็นแล้วว่าบางทักษะอย่าง การ เขียนรายงานการประชุม เขียนโครงการของบประมาณแบบนี้ยังไม่เป็น การจัดทำบัญชีรับจ่าย การทำทะเบียน วัสดุและครุภัณฑ์ต่างๆ เขายังไม่ทำ เขาบอกว่าเขาเป็นจิตอาสา ไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไร ไม่มีการทำบัญชี แต่การเป็นองค์กรที่ทำงานได้ด้วยการสนับสนุน เราสู้เพื่ออะไรหลายเรื่อง เราต้องมีความโปร่งใส  การทำงานกิจกรรมต่างๆ หากไม่รวบรวมเป็นเอกสารข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบวันนี้ เมื่อจะขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรโดยกฎหมายขอสภาองค์กรของผู้บริโภค  สำนักนายกก็ตั้งคำถามแล้วเพราะผลงานกิจกรรมไม่มีแสดง ซึ่งไม่แปลกเพราะเขาไม่ได้ลงมาคลุกคลีใกล้ชิด         เราจะเติมส่วนขาดตรงนี้ลงไปในพื้นที่ เพราะองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดเขาอยู่ในพื้นที่ เขาจะดูแลกัน ตลอดไปเป็นอะไรที่ยั่งยืน ขณะที่บางครั้งเราเข้าไปอบรมแล้วกลับมา มันไม่เกิดอะไร เราจึงสร้างคนโดยการให้เข้าอบรม 8 เดือน แล้วเป็นเภสัชกรสาขาคุ้มครองผู้บริโภค  ภายใต้วิชาชีพเภสัชกรรมตอนนี้ เรามี นคบส. หรือผู้ผ่านการอบรมทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ 100 กว่าคนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เราเหมือนเป็นพี่เลี้ยง คอยสนับสนุน ส่วนน้องๆ เภสัชเขาเองอยู่ในระบบราชการ เขาก็ทำหน้าที่ราชการด้วย หลายคนไปเป็นที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิประจำองค์กรผู้บริโภค ในหน่วยงานประจำจังหวัด เราต่างหนุนเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภค เรามองว่าช่วยกันทำงาน  มันเป็นความงดงาม ความเก่งขององค์กรผู้บริโภค และความเก่งของเภสัชช่วยกันทำงานไร้รอยต่อ สามารถส่งต่ออะไรที่ดีๆ ให้กันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดของตัวเอง  อันนี้มันก็เป็นอะไรที่มันเห็นการขับเคลื่อน  ตัวอย่างของงานที่เป็นความสำเร็จขององค์กรผู้บริโภคและแนวโน้ม         เรื่องของความสำเร็จพี่มองว่าคือการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นการการต่อสู้ยาวนานตั้งแต่ ปี 2540 จนนำมาสู่การจัดตั้งสภาฯ องค์กรได้ แต่การมีอยู่ตอนนี้ยังไม่ถือว่าสำเร็จ เป็นช่วงเริ่มต้น เพราะความสำเร็จที่แท้จริง คือต้องทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง สามารถคุ้มครองตัวเองได้  ซึ่งตอนนี้มีเรื่องของการโฆษณา เรื่องของอะไรที่มันหลอกลวงมากขึ้น  ถ้าผู้บริโภคเข้มแข็งสามารถที่จะคุ้มครองตัวเองได้  ไม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามนี่คือสุดยอด แต่การทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคตอนนี้มีองคาพยพที่ใหญ่ขึ้น และต้องเคลื่อนไปด้วยกัน และยังเข้มแข็งในบางจังหวัดด้วย เรายังต้องช่วยหนุนเสริมกันอีกมาก  การเกิดของสภาองค์กรผู้บริโภคเพียงพอหรือไม่ต่อการสนับสนุนองค์กรของผู้บริโภค         สภาองค์กรผู้บริโภค อย่างที่บอกว่าเพิ่งเริ่มต้น ตอนนี้ยิ่งมีองคาพยพเยอะขึ้น  การทำงานยังต้องกระจายให้ได้ ครอบคลุมทุกจังหวัด ตอนนี้เรายังพบว่ายังไม่ทั่วประเทศและยังเป็นการกระจุก  บางจังหวัดที่มีองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นมาก เราวิเคราะห์ว่าเพราะสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สาธารณสุขจังหวัด เภสัชกร โรงพยาบาล ชมรม อสม. รพสต. องค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไม่ว่าจะรูปแบบ ชมรม ทั้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือไม่ เขามีความร่วมมือกัน การลงไปตรวจประเมิน เราทำจริงจังเราได้เห็นทุกอย่าง พื้นที่ที่เขาพร้อม ทำงานจริง ลงไปทุกครั้ง เราจะเห็นคนที่ทำงานอยู่ตลอด หลายครั้งทำให้เราได้เจอคนที่มีศักยภาพเป็นเพชรเป็นแกนได้ เราสามารถพัฒนาส่งเสริมเขาต่อได้ด้วยหลายคนมากแล้ว เราจะไม่มีวันเจอถ้าเราไม่ได้ออกไปทำงาน ออกไปติดตามโครงการแลกเปลี่ยนพูดคุย  เราได้คนที่เราไม่รู้จักเยอะเป็นน้องเภสัชที่ประกาศตัวและก้าวเท้าเข้ามาฝึกอบรมเป็นเภสัชกรเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแล้วหลายคน  สิ่งที่อยากฝาก         วันนี้องค์กรผู้บริโภคต้องมีทักษะทั้งขับเคลื่อนได้ งานวิชาการได้  แต่ยังมีหลายจุด ทักษะที่เขายังขาด แต่เขาต้องทำงานหลายด้าน  หน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยกันหนุนเสริมองค์กรผู้บริโภคเราต้องทำให้เขาเข้มแข็งจริงๆ  ความเข้มแข็งจะต้องไม่อยู่ที่หน่วยงานของเราเพียงอย่างเดียว จะต้องไม่ได้อยู่แต่ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค อย. แต่ต้องอยู่ที่หน่วยงานประจำจังหวัดและองค์กรสมาชิกด้วย สมาชิกต้องเข้มแข็งเพราะพื้นที่ หากเราทำให้ระดับจังหวัดเข้มแข็ง เขาจะต่อยอดในพื้นที่ได้ เป็นในระดับอำเภอ ตำบล  วันนี้เรามองว่าแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ วันนี้คนในจังหวัดที่เขามีหน่วยงานประจำจังหวัด ถ้ามีเขามีทุกข์ แล้วหน่วยงานรัฐไม่ตอบโจทย์เขาได้ การเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดตอบโจทย์เขาได้แต่จังหวัดที่ไม่มีก็แสดงว่าเขายังขาดอีกหลายจุด และเมื่อมีแล้ว เราฝากว่าการทำงานร่วมกัน  การช่วยกันทำงานมันควรเหมือนยา ช่วยกันทำงานต้องเสริมพลังกัน เราต้องรู้ว่าเราเก่งกันคนละแบบ เราต้องให้กำลังใจกัน หากเข้าขากัน ผลลัพธ์ประสิทธิภาพมันไม่ใช่ 1 บวก 1 แล้ว 2 มันอาจจะเป็น 3 หรือ 4  หรืออาจจะมากกว่านี้ได้มากๆ 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 สิริลภัส กองตระการ: จากวันที่หัวใจแบกรับความเจ็บปวดไม่ไหวสู่การเป็นเสียงเพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

        โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องส่วนบุคคลจริงหรือ? มันเป็นความอ่อนแอก็แพ้ไปของคนคนหนึ่งเท่านั้นหรือไม่? คนที่ฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้าเป็นคนคิดสั้นหรือ? ฯลฯ ในสังคมไทยมีคำถามมากมายที่ผลักไสโรคซึมเศร้าให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่เข้มแข็ง เปราะบาง เป็น loser เป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ ยังมีตราประทับอีกอย่างชิ้นที่สังคมและคนที่ไม่เข้าใจพร้อมจะแปะให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า         ถ้าเป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เหตุใดจึงยังมีมหาเศรษฐี ดารา นักร้องที่ประสบความสำเร็จฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้า สิ่งนี้อาจบอกเป็นนัยๆ ว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคของคนขี้แพ้หรืออ่อนแอ แต่มีปัจจัยที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก         “คนไม่ป่วยไม่รู้ มันเป็นทั้งความรู้สึกที่ทั้งอัดอั้นทั้งเจ็บปวด” เป็นคำพูดของ สิริลภัส กองตระการ ส.ส.พรรคก้าวไกล กรรมมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร กล่าว         เธอคือผู้ที่ลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณประจำปี 2567 ด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่าจำนวนเงินไม่สอดคล้องกับขนาดของปัญหาที่ดำรงอยู่ เนื่องจากงบประมาณส่วนนี้มุ่งให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด แต่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ น้อยเกินไป สิริลภัสอภิปรายในสภาว่า ผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เกิดจากสารเสพติดมีจำนวน 2 แสนกว่าคน ขณะที่ผู้ป่วยทางสุขภาพจิตอื่นๆ มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน แตกต่างกันถึง 5 เท่า โดยในส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ปีล่าสุดมีมากถึง 360,000 คน         อีกทั้งงบประมาณปี 2567 ของกรมสุขภาพจิตได้รับก็เป็นเพียงร้อยละ 1.8 ของงบกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ทั้งที่กรมสุขภาพจิตของบประมาณไป 4,300 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรงบมาเพียง 2,999 ล้านบาท เรียกว่าโดนตัดไปมากกว่าร้อยละ 69.4         ทำไมสิริลภัสผู้เคยครองตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 มิสทีนไทยแลนด์ ประจำปี 2546 ผ่านเข้ารอบ 12 คนสุดท้ายบนเวทีการประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2552 และนักแสดง ก่อนจะผันตัวสู่สนามการเมืองจึงใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ         นั่นก็เพราะเธอเคยผ่านประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่พยายามฆ่าตัวตาย โรคที่คนไม่เป็น (อาจ) ไม่มีวันเข้าใจความเจ็บปวดของโรคนี้         “หมิวยังจำวันที่ทำร้ายตัวเอง วันที่พยายามจะจบชีวิตตัวเองได้เป็นอย่างดี เพราะเราไม่อยากเจ็บที่ใจอีกแล้ว เจ็บที่ใจไม่ไหวแล้ว หมิวขอไปโฟกัสความเจ็บตรงอื่นบ้างได้มั้ย เราแบกรับความรู้สึกอารมณ์ที่บีบอัดในใจเราไม่ไหวอีกแล้ว เราพยายามตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดจากความรู้สึกที่ดําดิ่งแล้ว เหมือนคนที่กําลังจมน้ำแล้วมีหินถ่วงตลอดเวลา แต่ ณ วันนั้นเรารู้สึกว่าเราแบบตะเกียกตะกายยังไงเราก็ขึ้นมาหายใจไม่ได้สักทีก็เลยอยากปล่อยทุกอย่างไปเลย” ในวันที่หม่นมืด         สิริลภัสได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าจากกรรมพันธุ์ที่ถูกส่งต่อมาจากมารดา ในที่สุดเธอก็ต้องเผชิญกับมันด้วยตัวเองจริงๆ เธอเข้ารับการรักษามาเกือบ 10 ปีแล้ว นับจากวันที่เริ่มมีอาการนอนไม่หลับ ใจหวิว เครียดจนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หลังจากทานยาและรับการบำบัดผ่านไประยะหนึ่งอาการก็ดีขึ้นเธอจึงหยุดยาเอง ซึ่งนี่เป็นข้อห้ามที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่รู้หรือรู้แต่ก็เลือกที่จะหยุด มันทำให้อาการของเธอเหวี่ยงไหวกลับมาหนักหน่วงกว่าเดิม         “ภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งปีก็ทําให้อาการแย่ลงกว่าเดิม แล้วก็ไปเจอกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาณตอนนั้น เลยทําให้อาการกลับมาค่อนข้างแย่ลงกว่าเดิมในช่วงประมาณสามถึงสี่ปีที่แล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนักมาก ไปหาหมอบ่อยมาก ค่าใช้จ่ายสูง”        เธอจึงหาคลินิกเอกชนที่คิดค่าบริการถูกลงเพื่อลดภาระส่วนนี้ ทานยาต่อเนื่อง รับการบำบัด สร้างแรงจูงใจโดยการหาเป้าหมายให้ชีวิต อาการของเธอจึงดีขึ้นถึงปัจจุบัน         “แต่ก็ยังต้องทานยาเพื่อที่จะเมนเทนตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วก็พูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อให้คอยประเมินเพราะบางทีเรามาทํางานการเมืองด้วยนิสัยเราเป็นคนชอบกดดันตัวเองว่าอยากให้ประสิทธิภาพของงานออกมาดี เราอยากแก้ปัญหานี้ให้ได้ มันก็จะมีความใจร้ายกับตัวเองอยู่บ้าง คุณหมอก็ให้ยามาเพื่อช่วยลดความเครียด คลายวิตกกังวล ซึ่งตอนนี้หมิวรู้สึกว่ามันค่อนข้างคงที่แล้ว ส่วน pain point ที่เราเจอน่าจะเป็นเรื่องค่ารักษานี่แหละเพราะว่าครั้งหนึ่งก็เกือบหลักหมื่น ต่ำสุดก็เป็นหลักหลายพัน” สวัสดิการสุขภาพเชื่องช้าและไม่ครอบคลุม         ‘ฉลาดซื้อ’ ถามว่าทำไมเธอจึงไม่ใช่สิทธิสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่ คำตอบที่ได้คงเหมือนกับผู้ป่วยคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคใดนั่นคือต้องใช้ระยะเวลารอนานกว่าจะได้พบแพทย์เฉพาะทาง เธอยกตัวอย่างแม่ของเธอที่ใช้สิทธิข้าราชการในโรงพยาบาลรัฐ เมื่อพบจิตแพทย์ครั้งหนึ่งแล้ว นัดครั้งต่อไปคืออีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ยาที่ได้รับมีผลข้างเคียงค่อนข้างมากจนต้องเลือกว่าจะหยุดยาหรือจะทานต่อไปอีก 6 เดือนเพื่อพบจิตแพทย์         จากประสบการณ์ข้างต้นเธอจึงเลือกใช้บริการคลินิกเอกชนที่ไม่ต้องรอนานและได้พบแพทย์เพื่อติดตามอาการทุกอาทิตย์ เพราะด้วยอาชีพนักแสดงสภาวะจิตใจย่อมส่งผลต่อการทำงาน เธอจึงไม่สามารถรอและอยู่กับยาที่ส่งผลข้างเคียงได้ ซึ่งต้องแลกด้วยค่ารักษาพยาบาลที่สูงกว่าเพื่อแลกกับประสิทธิภาพในการรักษา         แน่นอนว่าสำหรับคนที่ไม่มีกำลังพอก็ต้องเลือกรับการรักษาตามสิทธิที่ตนมี แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้ก็ยังไม่ครอบคลุม สิริลภัสยกตัวอย่างสิทธิประกันสังคมว่า บางครั้งการรักษาที่มีประสิทธิภาพผู้ป่วยจะต้องพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาควบคู่กัน แต่สิทธิที่มีนั้นครอบคลุมเฉพาะการพบจิตแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสม         “หมิวอภิปรายให้เห็นตัวเลขไปแล้วว่าจํานวนผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดกับจํานวนผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ มันต่างกันยังไง พอไปดูในงบโครงการต่างๆ ก็เป็นโครงการบําบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยที่เกี่ยวกับยาเสพติดโครงการป้องกันไม่ให้เยาวชนเค้าถึงยาเสพติด คือโครงการต่างๆ เน้นหนักไปที่ผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากยาเสพติด แต่ผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน อย่างที่ได้อภิปรายไว้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงหลายหลายครั้งสาเหตุเกิดจากผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยคนนั้นขาดยา มีอาการหลอนแล้วก็ออกมาก่อความรุนแรง” โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล         นอกจากนี้ ตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายสําเร็จก็สูงขึ้นทุกปี กลุ่มสํารวจที่พยายามฆ่าตัวตายจำนวนมากเป็นวัยรุ่นต่อด้วยคนวัยทํางาน         “กลุ่มคนเหล่านี้กําลังจะเป็นบุคลากรที่ทํางานจ่ายภาษีให้กับรัฐเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศต่อไป เราเห็นรัฐบาลชุดนี้ส่งเสริมเรื่องการมีบุตรเพื่อเติบโตมาเป็นบุคลากรทางสังคม ทํางาน เสียภาษี ในขณะที่มีผู้สูงวัยเยอะขึ้น แต่ปัจจุบันคุณไม่ได้มองปัญหาว่าเรามีบุคลากรที่เป็นวัยรุ่น วัยทํางาน ที่กําลังเสียภาษีให้คุณอยู่ แต่กลุ่มคนเหล่าส่วนหนึ่งที่ป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต และจํานวนหนึ่งมีความพยายามฆ่าตัวตาย”         สิริลภัสเสริมว่าในการสำรวจกลุ่มวัยรุ่นใช้เกณฑ์อายุที่ 15 ปี แต่ปัจจุบันเด็กอายุตั้งแต่ 14 ลงไปที่ต้องพบกับการกลั่นแกล้งรังแก ความรุนแรงในครอบครัว ความกดดันและความคาดหวังจากครอบครัว และสังคมรอบข้างที่ทุกคนต่างพยายามนำเสนอชีวิตด้านดี ด้านที่ประสบความสำเร็จของตนผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันลงบนบ่าของวัยรุ่นกลุ่มนี้โดยที่พวกเขาอาจไม่รู้ว่าเบื้องหลังภาพชีวิตกินหรูอยู่ดี 1 ภาพอาจไม่ได้สวยหรูดังที่เห็น         แต่ภาพที่เสพมันได้หล่อหลอมให้พวกเขาต้องพยายามผลักดันตัวเองให้เป็นเช่นภาพที่เห็น อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งเป้าหมายไว้สูง ตามค่านิยมต่างๆ ในสังคม กลุ่มวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 15 ลงไปจึงอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าที่ตกสำรวจ หมายความว่าตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าอาจมีมากกว่าที่ปรากฏในผลสำรวจ         “ส่วนวัยทํางานก็เช่นเดียวกัน ตื่นเช้ามาฝ่ารถติดไปทํางาน ทํางานเสร็จหมดวันต้องฝ่ารถติดกลับบ้าน แล้วก็วนลูปเป็นซอมบี้ในทุนนิยม แล้วบางคนต้องส่งเงินกลับไปเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน อย่างหมิวมีครอบครัว เราต้องดูแลครอบครัวเราด้วย ดูแลพ่อแม่ด้วย นี่คือภาวะแซนด์วิช ทุกอย่างมันกดทับเราไว้หมดเลย สุดท้ายแล้วบางคนหมดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ไม่มีเวลาแม้กระทั่งนั่งนิ่งๆ แล้วหายใจกับตัวเองดูว่าวันนี้ฉันทําอะไรบ้าง ฉันเหนื่อยกับอะไร เพราะแค่ต้องฝ่าฟันรถติดกลับบ้านก็หมดพลังแล้ว”         เมื่ออยู่ในภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล และหมดไฟเป็นเวลานาน คนกลุ่มนี้ก็เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยจิตเวช แต่ถ้ารับการดูแล ป้องกัน และรักษาแต่เนิ่นๆ หรือมีความรู้สามารถดูแลตัวเองได้ก่อนย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ปัญหาคือขณะนี้ระบบสาธารณสุขมีบุคลากรด่านหน้าไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ด่านหน้ายังอ่อนแอ         แม้ทางภาครัฐจะพยายามพัฒนาและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจและเข้าถึงการใช้บริการแอปพลิเคชั่นอย่างหมอพร้อม มีแบบประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเอง แต่จากประสบการณ์ของสิริลภัสพบว่าระบบไม่เป็นมิตรต่อการใช้งาน        “ขอโทษนะคะหมิวพยายามเข้าแอปหมอพร้อมแล้วนะ ต้องลงลงทะเบียน ใส่รหัสเลขประจําตัวประชาชน หมิวไม่รู้ว่าของคนอื่นเป็นยังไงนะ แต่จะต้องลงทะเบียนว่าแบบเกิดปีที่เท่าไหร่ต้องไปไล่ปีเอาเอง บางทีก็รู้สึกว่ามันตอบโจทย์หรือเปล่า มันออกแบบมาได้โอเคแล้วหรือยัง แต่เขาบอกว่ามีแบบประเมินในหมอพร้อมก็ถือเป็นเรื่องดี”นะคะอะย้อนกลับมาตรงบุคลากรสายด่วนสุขภาพจิต”         ส่วนสายด่วนสุขภาพจิต สิริลภัสเล่าว่าเคยให้ทีมงานที่ทําข้อมูลทดลองโทร กว่าจะมีคนรับสายต้องรอนานถึง 30นาที เธอบอกว่าคนกําลังจะตัดสินใจฆ่าตัวตายแล้ว แค่นาทีเดียวเขาอาจจะไม่รอแล้ว อีกทั้งค่าตอบแทนของบุคลากรสายด่วนสุขภาพจิตก็ได้รับเพียง 50 บาทต่อครั้งและเงื่อนไขว่าจะจ่ายเฉพาะรายที่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ หมายความว่าผู้ที่โทรเข้าไปต้องบอกชื่อนามสกุล หมายเลขบัตรประจําตัวประชาชนถ้าผู้ใช้บริการเพียงแค่ต้องการปรึกษา ไม่สะดวกแจ้งข้อมูล แสดงว่าบุคลากรด่านหน้าจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใช่หรือไม่         ยังไม่พูดถึงประเด็นคุณภาพในการให้บริการ เพราะถ้าผู้ให้บริการให้คําปรึกษาแบบลวกๆ จะเกิดอะไรขึ้น จากการตรวจสอบเสียงสะท้อนการใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิตพบปัญหาว่า หนึ่ง-รอนาน สอง-โทรไปแล้วรู้สึกดิ่งกว่าเดิมหรือได้รับการให้คําปรึกษาที่ไม่ได้ทําให้ดีขึ้น เธอจึงเสนอให้ต้องพัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากรด่านหน้าและเพิ่มตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจ เพิ่มบุคลากร         “และมันไม่ควรจบแค่นี้ ควรจะมีเซสชั่นอื่นๆ ที่ทําให้คนที่รู้สึกว่าชั้นอยากจะได้รับการรักษาหรือได้รับการบําบัด มีทางเลือกให้เขาเข้าถึงด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีน้อยมาก ทีนี้พอผ่านบุคลากรด่านหน้าไปแล้วถ้าจะต้องส่งถึงจิตแพทย์จริงๆ ก็พบอีกว่าจิตแพทย์ในประเทศไทยก็มีน้อยมากและกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ”         ตัดมาที่ภาพในต่างจังหวัด กรณีต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ซึ่งอาจอยู่ไกลจากบ้านมาก ทำให้มีต้นทุนด้านค่าเดินทางสูงเพราะระบบขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดไม่ครอบคลุม         “เสียค่าเดินทางไม่พอยังเสียเวลาอีก กว่าจะหาหมอได้แต่ละครั้งคือรอคิวนานมาก ย้อนกลับไปที่ประเด็นแรกเลยว่าถ้ายามีเอฟเฟคก็ต้องเหมือนรีเซ็ตระบบการรักษาตัวเองใหม่ ซึ่งทําให้การเข้าถึงบริการการรักษาปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนมีน้อยและจํากัดมาก ทําให้จํานวนตัวเลขผู้ป่วยที่มีอยู่เพิ่มมากขึ้น เพราะเราต้องมองว่าผู้ป่วยหนึ่งคนกว่าที่เขาจะเข้ารับการบําบัดรักษาฟื้นฟูมันไม่สามารถประเมิน เพราะมันคือเรื่องความรู้สึก มันต้องประเมินร่วมกันระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่จะต้องทํางานควบคู่กันไป ซึ่งต้องใช้เวลา”         ทันทีที่ผู้ป่วยหลุดออกจากระบบเท่ากับว่าอัตราการป่วยยังคงอยู่หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูจนสามารถใช้ชีวิตปกติได้ก็ใช่ว่าจะไม่กลับมาป่วยอีก เพราะหากเจอเหตุการณ์ที่กระตุ้น (trigger) อารมณ์ความรู้สึกก็สามารถป่วยซ้ำได้ สิริลภัสจึงเห็นว่าถ้าสามารถเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรด่านหน้าได้มากก็จะช่วยป้องกันไม่ให้จํานวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและเพิ่มจำนวนผู้ที่กลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น โดยต้องคำนึงถึงว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเองก็มีความหลากหลายทั้งด้านเพศ อายุ สถานภาพ ชาติพันธุ์ การศึกษา การมีบุคลากรที่เพียงพอจึงเป็นแนวทางแรกที่จะโอบรับความหลากหลายได้         สิริลภัสได้รับข้อมูลล่าสุดจากรองอธิบดีกรมสุขภาพจิตว่าจะมีทุนเพื่อผลิตจิตแพทย์เพิ่มขึ้นเป็น 50-70 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนจิตแพทย์เป็น 1.8 คนต่อประชากรแสนคนจากเดิมที่อยู่ประมาณ 1.2 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้างต้นก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ยังไม่นับว่าต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าจะผลิตจิตแพทย์ได้ 1 คน         นอกจากปัญหาการผลิตบุคลากรสาธารณสุขแล้ว ปัจจุบันยังมีนักบำบัดที่สามารถดูแลสุขภาพจิตให้แก่ผู้มาใช้บริการได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการมอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้แก่คนกลุ่มนี้ทำให้ไม่สามารถตั้งสถานประกอบวิชาชีพเองได้ ทั้งที่นักบำบัดเหล่านี้ถือเป็นด่านหน้าอีกด่านหนึ่งที่ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิต         ถึงกระนั้น การบำบัดหลากหลายรูปแบบที่มีอยู่ตอนนี้ก็มีราคาค่อนข้างสูง สิริลภัสคิดว่าถ้าสามารถนำการบำบัดต่างๆ เข้าสู่ระบบสวัสดิการสุขภาพได้ย่อมดีที่สุดสําหรับผู้ป่วย เธอยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการที่ค่าบริการการบำบัดยังสูงอยู่เพราะผู้ให้บริการยังมีน้อย ขณะที่ผู้ต้องการใช้บริการมีมาก ราคาจึงเป็นไปตามกลไกตลาด         “หมิวเชื่อว่าราคาจะถูกลงกว่านี้ได้ถ้ามีมากขึ้น การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะทําให้ซัพพลายเพิ่มมากขึ้น คือตอนนี้เรามีนักบําบัด แต่เขาต้องไปแปะตัวเองอยู่กับคลินิกหรือสถานที่ใดสักที่หนึ่งเพราะเขาไม่สามารถเปิดสถานที่บําบัดของตนได้ พอเป็นแบบนี้มันก็จะนําไปสู่การเกิดลัทธิต่างๆ เพราะเมื่อเข้าเซสชั่นบำบัดไปขุดเจอปมในใจเข้า ผู้ใช้บริการก็รู้สึกว่าคนนี้นี่แหละที่นําแสงสว่างมาให้ แล้วก็กลายเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคลไปเลย” ความหวัง         สิริลภัสแสดงความเห็นอีกว่าต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรับฟังเสียงจากประชาชน เพื่อตอบสนองให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง เช่น ควรเพิ่มยาที่มีประสิทธิภาพและมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งจะช่วยลดภาระค่ายาของผู้ป่วย         จากทั้งหมดนี้จึงกล่าวได้ว่าระบบสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่เวลานี้ไม่เพียงพอในการรับมือปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนที่กำลังเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องผลักดันทั้งเชิงนโยบายของภาครัฐและการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สังคมในวงกว้าง         “เราอยากเห็นการจัดสรรงบที่ตรงจุด ตอนนี้เราควรให้ความสําคัญกับการทํายังไงก็ได้ให้ประชาชนที่เป็นแล้วเข้าถึงการรักษาได้มากที่สุด ไม่เพิ่มจํานวนผู้ป่วย และลดจํานวนผู้ป่วยที่มีอยู่เดิม”         โรคซึมเศร้าไม่ใช่ปัญหาเชิงปัจเจกเพียงลำพัง หากมีปัจจัยแวดล้อมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ระบบบริการสาธารณสุข หรือแม้กระทั่งระบบขนส่งสาธารณะ การจะจัดการปัญหาทั้งระบบพร้อมๆ กันย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย         สิ่งที่เราต้องการมากๆ เวลานี้อาจจะเป็น ‘ความหวัง’ เพราะหัวใจมนุษย์แตกสลายเองไม่ได้หากไม่ถูกทุบทำลายจากภายนอก

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)