ฉบับที่ 207 กินเปลี่ยนโลก กินทุกวันเปลี่ยนโลกทุกวัน


แก้วตา ธัมอิน ผู้ประสานงานโครงการกินเปลี่ยนโลก ผู้หลงรักเรื่องราวของอาหารและบทกวี เธอจะบอกเล่าถึงแหล่งที่มาของอาหารจากท้องถิ่นสู่เมืองกรุง ผ่านร้านชื่อเดียวกันกับโครงการ ซึ่งต้อนรับเราในเช้าวันต้นฤดูฝน ถึงที่มาของ Growing Diversity Shop&Cafe by Foodforchange ที่เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา


“กินเปลี่ยนโลก” เป็นโครงการที่เกิดตั้งแต่ปี 2553 ก็ประมาณ 8 ปีแล้ว เนื่องจากเราทำงานที่ผู้บริโภคเข้าตั้งคำถามเกี่ยวกับอาหารเป็นหลัก มาจากไหน อย่างไร และเราก็สนับสนุนให้ผู้บริโภคสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย นอกจากเกษตรกรรายย่อยทั่วไปจะได้กระจายรายได้อุดหนุนคนที่หลากหลายแล้วนั้น หลักๆ เลยคือเราคิดว่าเขาคือทางเลือก เป็นทางออกในการซื้ออาหารก็คือเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรกรรมที่ไม่ใช้สารเคมี นอกจากได้สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยแล้วยังได้อาหารที่ดีสำหรับผู้บริโภคด้วย แล้วก็เพิ่มกิจกรรมมาทำเกี่ยวกับเครื่องปรุงเพราะว่าเราก็ส่งเสริมการทำกินเอง พอเราได้ผลิตผลมาจากเกษตรกรรายย่อยแล้วเราก็อยากให้ผู้บริโภคทำอาหารกินเองเพราะว่า การทำกินเองมันง่ายกับการที่คุณจะเลือกของที่ดีมากกว่าไปซื้อคนอื่น เราสามารถเลือกของที่คุณภาพที่เราพึงพอใจได้ เพราะเราสนับสนุนเรื่องการทำกินเองแล้ว 


“กินเปลี่ยนโลก” เป็นโครงการที่เกิดตั้งแต่ปี 2553 ก็ประมาณ 8 ปีแล้ว เนื่องจากเราทำงานที่ผู้บริโภคเข้าตั้งคำถามเกี่ยวกับอาหารเป็นหลัก มาจากไหน อย่างไร และเราก็สนับสนุนให้ผู้บริโภคสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย นอกจากเกษตรกรรายย่อยทั่วไปจะได้กระจายรายได้อุดหนุนคนที่หลากหลายแล้วนั้น หลักๆ เลยคือเราคิดว่าเขาคือทางเลือก เป็นทางออกในการซื้ออาหารก็คือเกษตรกรที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรกรรมที่ไม่ใช้สารเคมี 


เราทำงานกับเกษตรกรรายย่อยที่มีผักเยอะแยะมากมาย ผักที่ดีไม่ใช้สารเคมี แล้วก็มีข้าวพื้นบ้านหลายสายพันธุ์ที่รสชาติดี แต่ว่ามันมาเจอปัญหาหรือ “ตัน” ตอนปรุงเพราะว่าเวลาเลือกเครื่องปรุงจากท้องตลาดมักจะเป็นเครื่องปรุงที่มีการเติมสารเคมี พวกสารกันบูด สารปรุงรส และช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราก็เห็นว่านวัตกรรมการปรุงรสมันค่อนข้างก้าวกระโดด อย่างเช่นจากที่เราโตมาจะมีผงชูรสตัวเดียว แต่ตอนนี้มีผงชูรส 5 - 6 ตัว เยอะมากและก็หลีกเลี่ยงว่าตัวเองเป็นผงชูรส สร้างความบิดเบือนให้กับผู้บริโภค 


“เราก็เลยคิดว่า อยากจะอุดช่องโหว่นี้โดยการให้ความรู้กับผู้บริโภคเรื่องเครื่องปรุงและสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยและผู้ผลิตรายย่อยที่ทำเครื่องปรุงรสพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาล น้ำปลา เรามีเครือข่ายเป็นผู้ผลิตน้ำตาลโตนดเยอะมาก แต่การผลิตก็น้อยลงมากเช่นกัน หมายถึงคนที่ยังสืบทอดอาชีพ การขึ้นตาลโตนด การเคี่ยวน้ำตาลโตนดก็น้อยลง ถึงแม้ว่าตลาดยังต้องการน้ำตาลโตนดที่เป็นน้ำตาลแว่น ที่หน้าตายังเป็นแบบนั้นอยู่ แต่ความจริงแล้วมันสอดไส้น้ำตาลทรายเป็นหลักเพราะว่าต้นทุนด้วย ความรู้ของคนกินด้วย เราก็เลยคิดว่าการขายเครื่องปรุงและให้ความรู้ว่าวัตถุดิบแท้ๆ มันควรเป็นอย่างไร น้ำตาลอ้อย น้ำตาลโตนด น้ำตาลมะพร้าวต่างกันอย่างไรรสชาติก็ต่างกัน เหมาะที่จะเอาไปปรุงอาหารต่างกันไป เกลือที่เราขายก็เลือกเกลือทะเลจากพื้นที่บางปะกง และเราก็อยากได้วัตถุดิบที่มีเรื่องราวด้วย เพราะเราเองก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่อง” 


นี่คือจุดเริ่มต้นของร้าน  กินเปลี่ยนโลก Growing Diversity Shop&Cafe by Foodforchange


เรื่องที่อยากเล่า การบริโภคของเรากระทบกับทุกสิ่ง

การเปลี่ยนแปลงหรือว่าผลกระทบที่เกิดจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือว่าผลกระทบจากการพัฒนาภาพรวม อย่างเช่น พื้นที่ชายทะเลที่มันจะโดนเขตเศรษฐกิจบ้างหรือเปล่า การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมที่อยู่แนวชายทะเลมันก็เกิดการกว้านซื้อที่ดิน จากครอบครัวที่เขาทำเกลือแต่ก่อนจนแทบจะไม่เหลือครอบครัวที่เป็นเจ้าของที่ดินที่ยังทำนาเกลืออยู่ ที่เราเห็นทำนาเกลือกันเยอะๆ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นที่ดินเช่า เพราะที่เคยเป็นของตัวเองขายไปแล้ว แล้วก็เช่าเขาทำ ส่วนเกลือที่เราเอามาจากบางปะกงนั้นเป็นครอบครัวที่เขายืนยันว่าจะรักษาที่ดินเอาไว้แล้วจะสืบทอดการทำนาเกลือและมีความตั้งใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือยกระดับเพิ่มมูลค่าให้กับมัน 


เราก็รู้สึกว่านอกจากเราจะขายสินค้าแล้วเราอยากขายเรื่องราวด้วยการบอกเล่า โดยใช้สินค้าเป็นตัวเล่าเรื่อง ที่มันเกิดขึ้นกับระบบอาหารของเราว่ามันมีอะไรมากกว่าสิ่งที่คุณเห็น อย่างเช่นเกลืออีสานที่เราไปเลือกมาก็เป็นเกลือที่ทำจากพื้นที่ริมน้ำมูล คือพื้นที่นี้ถ้าฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมแต่ถ้าหน้าแล้งก็จะมีขี้ทาเกลือ เราก็จะไปขูดมากรองแล้วก็ต้มเป็นเกลือสินเธาว์ แต่ว่าหลังจากมีเขื่อนปากมูลแล้ว ที่ที่เป็นแบบนั้นคือที่เวลาน้ำแห้งแล้วจะมีขี้เกลือมันถูกน้ำท่วมหมดเลย คนทำเกลือก็น้อยลง แต่เราก็พยายามไปหามาขาย สินค้าที่มันเป็นเรื่องราวเฉพาะ เราก็อยากให้คนได้รู้เรื่องราวที่มันเกิดขึ้นอยู่ในที่ต่างๆ ถึงผลกระทบที่พวกเขาได้รับด้วย 


นี่คือส่วนหนึ่งในการเล่าเรื่องแบบนั้นจากสินค้าหลายๆ ตัวที่เราดึงมา ก่อนจะซื้อเราก็อยากจะเล่าที่มาของสินค้าให้ทุกคนฟัง หอมแดงกับกระเทียมอันนี้ก็มาจากราษีไศล ซึ่งราษีไศลก็เป็นกลุ่มที่เขาทำเรื่องเขื่อนปากมูล แล้วก็เรื่องการเสียที่ดินทำกิน แต่พื้นที่ราศีไศลเป็นพื้นที่ที่ทำหอมกระเทียมกันอยู่แล้วดั้งเดิม ประมาณ 4 - 5 ปีที่แล้วถึงมาปรับเปลี่ยนระบบการผลิตให้เป็นหอมและกระเทียมอินทรีย์ซึ่งทำยากมากเพราะมันมีศัตรูพืชเยอะเลยค่อนข้างยาก แล้วมีคนที่ยอมเปลี่ยนน้อยแต่ก็ค่อยๆ ทำกัน เราก็เลยอยากจะช่วยอุดหนุนเพื่อให้คนที่ทำสามารถอยู่ได้ ให้เขาเห็นว่าถ้าคุณทำมาดีมันมีคนพร้อมสนับสนุน เป็นแรงจูงใจของผู้ผลิตที่จะเปลี่ยนซึ่งมันก็ดีกว่าจริงๆ นะ เพราะหอม กระเทียมทั่วไปพอมันเริ่มแก่แล้วใกล้จะเก็บเกี่ยวเขาจะฉีดยาฆ่าหญ้าเพื่อให้ใบมันแห้งสม่ำเสมอไม่อย่างนั้นจะเกิดเชื้อรา


วิถีผลิตที่น่าประทับใจ

ชอบตอนไปหาน้ำปลามาก ตามหาน้ำปลาทั้งน้ำปลาทะเล น้ำปลาน้ำจืด ที่เป็นโรงงานพื้นบ้านหายากมาก เข้าถึงยาก หาข้อมูลว่ามันอยู่แถวไหนแล้วก็ลงไปถามหา บางทีก็ไปเจอแต่ว่าน้อยมากจนไม่สามารถเอาออกมาขายได้ เขาก็เล่าให้ฟังว่าโรงงานเล็กๆ เดี๋ยวนี้ก็เลิกผลิตไปเยอะแล้วพวกโรงงานที่เป็นธุรกิจท้องถิ่น แต่ก็สนุกทุกครั้งที่ลงไปหาวัตถุดิบ ไปเจอคนทำจริงๆ ไปดูกรรมวิธีการผลิต ตอนไปหาน้ำปลาที่กงไกรลาศก็สนุกมากได้ไปเจออำเภอหนึ่งที่มีโรงงานทำน้ำปลาน้ำจืดประมาณ 6 - 7 โรงงาน เป็นลานที่มีโอ่งเต็มไปหมด ข้างในก็มีแต่น้ำปลา มีเหมือนตะกร้าสอดไว้ในโอ่งเลย ตรงกลางก็เป็นน้ำใสใส เป็นน้ำปลาดิบแบบไม่ต้องไปต้ม กรองมาจากในโอ่งแล้ว ทำให้เราเข้าใจว่า ของที่เรากินไปหน้าตาแบบนี้ มันมาจากกระบวนการแบบไหนมากขึ้น ก็เลยคิดว่ามันสำคัญที่คนจะต้องจินตนาการออก บางทีไม่มีประสบการณ์เลยมันจินตนาการไม่ได้เลยว่าของสิ่งนี้มันมาอย่างไรเพราะฉะนั้นมันไม่สามารถโยงได้ว่ามันควรจะมีหรือไม่มีอะไร ควรจะใส่อะไรหรือไม่ใส่อะไร ถ้าเราไม่เข้าใจกระบวนการของมัน 


“เหมือนคนที่อยู่ห่างไกลระบบเกษตรก็จะนึกภาพไม่ออกเลยว่าผักพวกนี้กว่าจะได้มาคนปลูกต้องทำอย่างไร นอกจากจะไม่เข้าใจสิ่งที่กินเข้าไปแล้วนั้น ไม่เข้าใจคนอื่นด้วย ขาดความเห็นอกเห็นใจในสิ่งที่บางคนลงมือทำ” กลายเป็นไม่เห็นคุณค่าสิ่งของหรือคนอื่น ก็เลยไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ฉันลอยอยู่เหนือปัญหาที่เป็นพื้นฐานมากเลย ที่เราควรจะเข้าใจเพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะจัดการ ถ้าพูดถึงในมุมของการเป็นพลเมือง คนยุคใหม่มันลอยออกจากสังคมจริงๆ มีให้ใช้ก็ใช้ ไม่ได้มาคิดว่ามันมาจากไหน อย่างไร


อาหารคลีนที่แท้จริง

คืออาหารคลีนในสังคมเรา ที่มันถูกถ่ายทอดโดยภาพที่เราเห็นกันอยู่ในสื่อต่างๆ มันกลายเป็นหน้าตาที่มาก่อนเนื้อแท้ของความหมายที่แท้จริง เป็นอะไรที่มีบล๊อคโคลี่หน้าตาเขียวๆ ผักลวกนิดหน่อยแล้วก็มีไก่ 1 ชิ้น ขาวๆ ซีดๆ จืดๆ แล้วก็ดูคลีน ความจริงแล้วอาหารคลีนน่าจะต้องดูที่กระบวนการผลิตไหม มันต้องคลีนตั้งแต่ที่มาเพราะถึงแม้ว่าคุณจะทำพะโล้ใส่ซีอิ๊วดำ ซึ่งดูสีเข้มเข้มมันก็เป็นอาหารคลีนได้ ถ้าคุณใช้หมูที่คุณเลี้ยงมาโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะและก็ใช้ซีอิ๊วที่ไม่เป็น GMO ลดหวาน ลดเค็มด้วยตัวคุณเองก่อน แบบนี้ก็คลีนเหมือนกันผักก็ไม่ใช่ว่าสีเขียวๆ แล้วจะคลีน คุณต้องรู้ว่าปลูกมาอย่างไร ใช้สารเคมีหรือเปล่า เพราะฉะนั้นมันเหมือนเป็นมายาคติของคำว่าอาหารคลีนที่ทำให้คนก็ยังไปไม่ถึงอาหารหน้าตาพื้นบ้าน อย่างแกงเผ็ดมันดูร้อนแรงจะเป็นอาหารคลีนได้ไหมเพราะมันไม่ซีด เลยกลายเป็นว่าอาหารคลีนมาบล็อกกระแสอาหารท้องถิ่น จากที่อาหารท้องถิ่นมันจะยกระดับไปเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้ ก็ต้องอธิบายกันต่อไป


เป็นสินค้าออแกนิค

ส่วนใหญ่แล้วผลผลิตที่เรารับมาจะเรียกว่าออแกนิค ออแกนิคคือการไม่ใช้สารเคมี แต่ว่าในเชิงการตลาดมันอาจจะไม่ใช่เพราะว่าออแกนิคที่สถาบันเขารับรองต้องมีเงื่อนไขข้อจำกัดเยอะแยะ เพราะฉะนั้นแล้วหลักๆ สินค้าที่เราได้มาก็จะเป็นระบบรับรองตัวเองใช้ระบบการรับรองอย่างมีส่วนร่วม ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเครือข่ายที่เราทำงานด้วย แล้วได้ลงไปเห็น


ร้านที่มีมากกว่าการขายสินค้า 

ของกินเปลี่ยนโลกจะเป็นการทำอาหาร อาจจะเป็น Cooking class ต่างๆ อย่างวันนี้ที่เราอบรมทำซีอิ๊วกัน อยากให้คนหันมาพึ่งพาตัวเองในระบบอาหาร ก็อาจจะมีการชวนพ่อครัวแม่ครัวที่มีชื่อเสียงหน่อยมาร่วมกิจกรรม มาแชร์ ชวนพูดคุยกับเชฟอะไรต่างๆ แบบนี้ นอกนั้นก็อาจจะเป็นพวก Workshop เกี่ยวกับเรื่องการทำสวน การปลูกผักในเมืองอะไรประมาณนี้ 


ต่อไปสินค้าที่เราน่าจะมีเพิ่มมากขึ้นนอกจากอาหารก็จะเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันพวกน้ำยาล้างจาน แชมพูเพื่อเป็นทางเลือก ก็อาจจะมีเป็น Workshop ด้วย สามารถติดตามได้ที่เพจกินเปลี่ยนโลกก็ได้ ส่วนคาเฟ่เราก็พยายามจะทำร้านนี้ให้มันเป็นพื้นที่ศึกษาในเรื่องที่เราอยากจะคุยอย่างเช่นเครื่องปรุงในเครื่องดื่ม คือทุกคนกินเครื่องดื่มที่หวานมาก และใช้ไขมันทรานส์เยอะมาก อย่างพวกนมข้นหวานหรือครีมเทียมก็ทำมาจากน้ำมันปาล์มเราก็รู้สึกว่ามันก็ไม่ได้ดีต่อสุขภาพมากนักแต่คุณก็ติดความหวานมันแบบนั้น จะทำอย่างไรที่เราจะเอาสิ่งที่ไม่ดีต่อสุขภาพเหล่านั้นออกไป ในเมนูเราก็เลยนำเสนอเฉพาะเมนูกาแฟ กาแฟจริงๆ ที่มีระบบการผลิตด้วยกระบวนการที่ดี มันอร่อยด้วยกาแฟของมันจริงๆ ใส่แต่นมสดแค่นั้น ใส่น้ำตาลที่มาจากชาวบ้าน ก็อาจจะเป็นอีกรสชาติหนึ่งที่นำเสนอ ที่มันก็อร่อยได้เหมือนกัน


สิ่งที่เปลี่ยนยากแต่เปลี่ยนได้ 

ที่ร้านเราก็จะฝึกพฤติกรรมไม่มีถุงพลาสติกให้ด้วย ไม่มีจริงๆ เราต้องแข็งใจมากเลยเวลามีคนขอถุง เพราะเราอยากให้ทุกคนจดจำได้เลยว่ามาที่นี่ต้องพกถุงมาเองถ้าต้องการถุงคุณต้องซื้อ เพื่อให้เขาเห็นว่ามันมีต้นทุน และมันยังมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมด้วย ใช้ไปแล้วทิ้งก็เป็นภาระ เป็นขยะ เป็นมลพิษ เป็นสิ่งไม่สวยงามที่คุณก็ไม่อยากดูหลังจากที่คุณใช้แล้วก็ทิ้งไป เราก็ต้องปฏิเสธว่าไม่มีถุงให้แน่นอน แล้วก็ไม่มีแก้ว Take Away ถ้าอยากพกกาแฟออกไปกินก็ต้องเอาแก้วมาเองถ้าไม่มีแก้วมาก็นั่งกินในร้าน 


“กินเปลี่ยนโลก” เป็นโครงการรณรงค์อาหารท้องถิ่น มีกิจกรรมส่งเสริมเชื่อมโยงผู้ผลิตกับผู้บริโภค ให้สามารถสนับสนุนสินค้าของท้องถิ่น สนับสนุนเกษตรกรสร้างตลาดที่เป็นธรรม และสนับสนุนให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่ดี ปลอดภัย เปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เช่น ข้าวสาร น้ำตาลโตนด น้ำตาลอ้อย กะปิ น้ำปลา ฯลฯ โดยผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในอาหารเล่าเรื่องราวของการปกป้องทรัพยากร การปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารจากภัยคุกคามต่างๆ เช่น นโยบายการพัฒนาขนาดใหญ่ และความมั่นคงทางอาหารของชุมชน โดยรณรงค์เรื่องอาหารท้องถิ่น และระบบเกษตรกรรมยั่งยืน 


สามารถติดตามโปรแกรมดีๆ จากแฟนเพจ ร้านกินเปลี่ยนโลก Growing Diversity Shop&Cafe by Foodforchange

3/12 สวนชีววิถี ซอยบางอ้อ2 หมู่ 6 ต.ไทรม้า อ.เมือง 11000 Nonthaburi

โทรศัพท์ 02 985 3838

https://www.facebook.com/GDShopByFoodforchange

www.food4change.in.th


แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

300 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค กินเปลี่ยนโลก

ฉบับที่ 278 ทันตกรรมต้องเท่าเทียม เมื่อสิทธิผู้บริโภคก็คือสิทธิมนุษยชน

        ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนานในสังคมไทย           ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดตัวอย่างหนึ่งคือ สิทธิทางทันตกรรม ซึ่งสำนักงานประกันสังคมกำหนดเพดานให้ทั้งการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด จำกัดในวงเงินเพียง 900 บาท ต่อคนต่อปี ตัวเลขดังกล่าวย่อมไม่อาจทำให้ประชาชนไทยมีคุณภาพทันตกรรมที่ดีได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกองุทนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 'บัตรทอง' และระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ที่ต่างกำหนดให้เบิกได้ตามความจำเป็นจริง         ล่าสุด ความเดือดร้อนนี้ประชาชนได้นำเข้าร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแล้ว สุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับเรื่องไว้ตั้งแต่วันแรกและยังคงส่งเสียงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันยกระดับสิทธิของผู้ประกันตนในประกันสังคม เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติ สร้างความเป็นธรรมในสังคมไทย  คุุณสุภัทราช่วยแนะนำตัวให้ หลายๆ คนได้รู้จักหน่อยค่ะ         ปัจจุบันทำงานเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นกรรมการสิทธิในสายเรียกว่า เป็นผู้มีประสบการณ์ ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ไม่น้อยกว่า 10 ปี พื้นฐานพี่เป็นนักกฎหมาย  เป็นทนายความ เริ่มต้นทำงานเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ได้เป็นมูลนิธิ แล้วก็ได้ไปทำงานที่กลุ่มเพื่อนหญิง ในปี 2536 มาทำงานทางด้านเอช ไอวี  จนตั้งองค์กร ชื่อว่า ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ซึ่งทำงานกับคนหลายกลุ่มทั้งผู้ใช้ยาเสพติด แรงงานข้ามชาติ แล้วทำเรื่องนี้มาจนกระทั่งมาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเลย         การได้เข้ามาร่วมในงานคุ้มครองผู้บริโภคก็เป็นพันธมิตรอยู่แล้ว ทำด้วยกันมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่ผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิทธิผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ พี่ได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ แล้วก็มาช่วยเครือข่ายผู้บริโภคขับเคลื่อนเรื่องกฎหมาย จนสุดท้ายออกมาเป็น พ.ร.บ. จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เราก็ทำงานกับผู้บริโภคมาโดยตลอด พี่มองว่าสิทธิผู้บริโภคก็คือสิทธิมนุษยชน  มีประชาชนเข้าไปใช้สิทธิร้องเรียนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่น้อยและหลากหลายเรื่อง         ใช่ ต้องเริ่มจากการเข้าใจ บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก่อน เรามีอำนาจตาม พระราชบัญัติประกอบรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมาทั้งจากคนมาร้องเรียนหรือกรรมการสิทธิฯ จะยกขึ้นมาเองก็ได้เช่น เรื่องทหารตายในค่าย หากเราสงสัยว่าเป็นการซ้อมทรมานหรือเปล่า เราอาจจะเขียนเป็นข่าวเสนอให้ยกขึ้นมาตรวจสอบก็ได้ ถ้าพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็จะต้องมีรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนออกมา และมีข้อเสนอแนะไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา หรือใครก็ตามเพื่อให้ป้องกัน แก้ไข  เยียวยา ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก         การทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำมากกว่ากฎหมายภายในประเทศ ในมาตรา 4  เขียนว่ากฎหมายสิทธิมนุษยชนมากกว่ากฎหมายภายในประเทศ เป็นพันธะกรณีกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยให้การรับรองทั้งหมด จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่มีกฎหมายภายในประเทศแล้วเราจะไม่คุ้มครอง เราก็อาจจะยื่นข้อเสนอให้มีการตรากฎหมายให้มันสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนก็ได้  บทบาทที่หนึ่งจึงเป็นการคุ้มครองสิทธิ  ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ สอง คือการส่งเสริมสังคมเคารพสิทธิมนุษยชน  เรามีหน้าที่ส่งเสริมหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สร้างการเรียนรู้  เรื่องสิทธิมนุษย์ชนเพื่อให้คนเคารพกัน ไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อกัน และสาม คือเรามีหน้าที่ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ ไม่ว่าจะเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับ ใด ๆ ที่มีคนร้องว่า กฎระเบียบนี้ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เช่นที่เขาจะเลือกตั้งกรรมการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมออกประกาศว่า  ผู้เลือกตั้งประกันสังคมต้องมีสัญชาติไทย เรากรรมการสิทธิจึงเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ชี้แจงสอบถาม สุดท้ายก็เป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะผู้ที่ส่งเงินสบทบที่ไม่ใช่สัญชาติไทยมีอยู่กว่า 1,400,000 คน เป็นการกีดกัน         กรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบัน มี 7 ท่านแต่ละท่านก็จะแบ่งงานกันงานกันไปในประเด็นต่าง ๆ พี่ดูเรื่องสิทธิผู้บริโภค สิทธิแรงงาน สิทธิของกลุ่มเปราะบาง ความหลากหลายทางเพศ เราแบ่งงานกันดูแลแต่เมื่อจะออกรายงานหรือมีข้อเสนอออกไป เราก็ได้คุยกันทุกคน จนมีมติร่วมกันเรื่องล่าสุดที่เพิ่งออกรายงานไป คือเรื่องประกันโควิด   มีผู้เสียหายหลายหมื่นคน และความเสียหายประมาณ 68,000 ล้าน  ต้องใช้เวลาประมาณ 40 ปี ถึงจะใช้หมด แล้วเราก็เชิญหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยกันหาทางออก   เมื่อปี 2566 มีประชาชนได้เข้าไปร้องเรียนเรื่องสิทธิทันตกรรม ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร         ใช่ค่ะ  มีคนมาร้องว่าเขาเป็นผู้ประกันตน มีสิทธิประกันสังคม แล้วไปใช้สิทธิในการทำฟัน แล้วปรากฎว่า เขาก็ได้แค่ 900 บาท ซึ่งเมื่อเทียบแล้วน้อยกว่าสิทธิบัตรทอง เมื่อเทียบแล้วเขาจ่ายเงินสมทบด้วย แต่ทำไมเขาได้สิทธิน้อยกว่า บัตรทอง แล้ว 900 ครอบคลุมแค่ 4 อย่าง ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และถอน/ผ่าฟันคุด นอกนั้นไม่ครอบคลุม เขารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เขาเลยอยากให้เราตรวจสอบ เราจึงเชิญ กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม สำนึกทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ทันตแพทยสภา เชิญชุมชนผู้ประกันตน  องค์กรผู้บริโภค เชิญทุกฝ่ายมาชี้แจงให้ข้อมูล         มุมมองของสำนักงานประกันสังคมเขามองว่าปฏิบัติต่อผู้ประกันตนเสมอเหมือนกัน ไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือกีดกัน ความหมายของเขาคือในกลุ่มผู้ประกันตน เขาปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันคือได้แค่ 900/คน / ปี ผู้ประกันตนทุกคนก็ได้เหมือนกัน แต่การออกประกาศกำหนดให้ผู้ประกันตน  มีสิทธิเบิกค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด จำกัดในวงเงินเพียง 900 บาทต่อคนต่อปี ขัดกับพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่จะต้องได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน และเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน         ผู้ที่มาร้องเรียนเขายังมองอีกว่า ในสิทธิประกันสังคมยังเป็นกลุ่มที่เขาจ่ายเงินตนเองเข้าไปสมทบ แต่สิทธิยังได้น้อยกว่า คนประกันสังคมเป็นคนกลุ่มเดียวที่ยังต้องจ่ายค่าสุขภาพของตัวเอง ขณะที่สิทธิของประชาชนในบัตรทองสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนมันจึงเป็นความเหลื่อมล้ำ สิทธิของประกันสังคมไม่ควรจะต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง เพราะว่าประกันสังคมยังมีการจ่ายเงินเพิ่มเข้าไปอีก         หลังจากฟังได้ข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติรับรองว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องใดจะกระทำมิได้และบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ  โดยรัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและบัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งสอดคล้องกับกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) เราจึงถือได้ว่า สำนักงานประกันสังคมกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ประกันตน ปัจจุบันเรื่องนี้ ดำเนินการอยู่ในขั้นตอนไหน         เราจัดวงที่รับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายไปเมื่อช่วงต้นปีนี้ หลังจากนั้นเรามีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปยังคณะกรรมการประกันสังคม (ผู้ถูกร้อง) และคณะกรรมการการแพทย์  ให้ปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โดยยกเลิกการกำหนดเพดานค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานในวงเงินไม่เกิน 900 บาท ต่อคนต่อปี และกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมให้ไม่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง         นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้คณะกรรมการประกันสังคมและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันดำเนินการให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ตามมาตรา 5 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว มีข้อเสนอที่เราออกไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 และเราได้ส่งรายงานและข้อเสนอแนะไปให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานประกันสังคมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)         หลังจากนี้คณะกรรมการสิทธิเรามีคณะกรรมการติดตามข้อเสนอแนะว่า หลังจากมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว เขาได้ดำเนินการต่อไปอย่างไร ได้ดำเนินการหรือไม่ ติดขัดหรือมีอุปสรรคอะไรที่เราจะเข้าไปช่วยได้ เราก็อยากให้ข้อเสนอเราเป็นจริงในทางปฏิบัติ ไม่ได้แค่เสนอไป ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงของการติดตามการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ  ความเหลื่อมล้ำในการได้รับสิทธิเข้ารับบริการสาธารณสุขของทั้ง 3 กองทุนมีมานานแล้ว เป็นไปได้ไหมที่จะมีความเปลี่ยนแปลงให้เท่าเทียมกัน หรือพูดง่ายๆ ว่ารวมกันหมด         พี่เชื่อว่าทำได้ ถ้าพูดในหลักการ เชิงการบริหารจัดการแต่การทำได้ต้องมีความกล้าหาญทางการเมือง เพราะจุดเริ่มต้น มาจากสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการเริ่มมีก่อน แล้วมีประกันสังคม แล้วมีบัตรทอง จริงๆ แต่ถึงสิทธิบัตรทองจะเกิดขึ้นภายหลัง แต่ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติย่อมต้องการให้ประชาชนไทยทุกคนได้สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว การที่แยกบริหารมันก็เป็นความสิ้นเปลือง   แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ยุบสำนักงานประกันสังคมแต่ประกันสังคมก็ไม่ได้มีความชำนาญ ไม่ได้มีหมอเป็นของตนเอง อย่างน้อยที่สุด ไม่รวม 3 กองทุน ก็รวม 2 คือรวมประกันสังคมกับบัตรทอง  แล้วรัฐบาลก็จ่ายค่าหัวให้เหมือนกับบัตรทองส่วนสำนักงานประกันสังคมก็ดูแลอีก 6 สิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนเหมือนเดิม แต่สิทธิทางด้านการรักษาพยาบาลด้านสาธารณสุขนำมารวมกัน แล้วอาจทำให้เงินที่เราจะได้จากสำนักงานประกันสังคม เพื่อเอามาใช้ตอนแก่ มีมากขึ้นก็ได้ สิทธิการรักษาของข้าราชการหลายคนก็อาจจะมองว่าดี แต่ทุกสิทธิมีช่องโหว่นะ สิทธิการรักษาของข้าราชการ เมื่อใช้สิทธิฉุกเฉินก็ทำให้ต้องจ่ายเงินเองเยอะได้ ส่วนสวัสดิการบัตรทองมีกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อเข้ารับการรักษาแล้วได้รับความเสียหายที่ไม่ใช่จากพยาธิสภาพของโรค เช่นไปผ่าตัดแต่มีอะไรหลงลืมไว้ในท้อง ส่วนของข้าราชการไม่มีกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้นแบบนี้มีอะไรต้องไปฟ้องศาลกันอย่างเดียวเลย   ปัจจุบันคุณสุภัทรามองว่ามีสถานการณ์อะไรที่ผู้บริโภคควรจะต้องตื่นตัวหรือตื่นรู้ให้เท่าทันบ้าง         คือในปัจจุบันพี่คิดว่า โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ ปัญหามันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตอนนี้โจทย์เรื่องการทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็งเป็นโจทย์ใหญ่  ซึ่งเหตุผลของการมีสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าเป็นเหตุผลสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภค มันเป็นเรื่องที่ถูกพิสูจน์มาทั้งโลก จากการที่เราไปประชุมระดับโลกมาแล้ว เขาพบว่า ต่อให้มีกฎหมายดีเข้มแข็งแค่ไหนแต่ถ้าผู้บริโภคไม่เข้มแข็งก็ไม่ค่อยจะมีผลอะไรมากนัก  ฉะนั้นการทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็งจึงมีความสำคัญมากๆ          แล้วความเข้มแข็งคืออะไร ก็คือการที่ผู้บริโภครู้สิทธิ รู้ช่องทาง ร้องเรียนและมีการรวมกลุ่ม เพราะการไปสู้กับผู้ประกอบการ ประชาชนตัวเล็กๆ ควรต้องรวมตัวกัน เมื่อรวมกลุ่มแล้วจะได้ช่วยกันส่งเสริมต่อรอง เรียกร้องสิทธิ เผยแพร่เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ขณะเดียวกันเราก็ต้องดูด้วยว่ากฎหมายของเรามีช่องว่างอะไรที่อาจทำให้ไม่เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ ก็ต้องทำให้เป็นมาตรฐานสากล   การใช้สิทธิร้องเรียนของผู้บริโภค คุณสุภัทราเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร         แน่นอน คือเราไม่มีทางรู้เลยนะว่าปัญหาของผู้บริโภคคืออะไร ถ้าผู้บริโภคไม่มาร้องเรียนซึ่งปัจจุบันเราก็มีตัวเลขชัดเจนเลยนะว่า สถิติการร้องเรียนของผู้บริโภคยังมีแค่ 2 % เท่านั้นที่มาร้องเรียน กลุ่มสองเปอร์เซ็นต์นี้เขาเป็นหน่วยกล้าตายมากเลยเพราะถ้าไม่เหลือทนจริงๆ เขาก็ไม่มาร้องเรียนหรือว่าดำเนินการถูกไหม ดังนั้นการร้องเรียนสำคัญมาก ไม่อยากให้เก็บไว้ บางเรื่องมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่เมื่อนับจำนวนคนที่ต้องมาเจอปัญหาหรือมาถูกหลอกก็เป็นมูลค่ามหาศาล อยากจะให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิของเรา เรามีสิทธิที่จะได้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน เพียงพอในการตัดสินใจในการซื้อหรือไม่ซื้อบริการ และเมื่อเราซื้อสินค้าและบริการไปแล้วมันไม่ตรงปก เราก็ไม่ควรจะเก็บเรื่องเอาไว้ว่า ช่างมันเถอะ แค่ 50 บาท 80 บาท 100 บาท แต่รวมแล้วกี่คนที่ต้องมาถูกหลอก การที่บอกว่าร้องเรียนหนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง  มันก็ยังจริง  บ่นแล้วมันไม่เกิดประโยชน์อะไร การร้องเรียนคือ การเดินออกมาบอกว่ามันเกิดอะไรขึ้นและจะไม่ปล่อยให้ปัญหามันอยู่ต่อ จะต้องมีการแก้ไข  เพื่อไม่ให้ปัญหามันเเกิดขึ้นต่อไป         มีเรื่องหนึ่งที่่อยากจะแชร์มาก นานแล้วมีกรณีที่โรงพยาบาลจะเก็บเงินค่าบำรุง  20 บาท มีใบเสร็จให้ด้วยแล้วมีประชาชนเอาเรื่องนี้ไปฟ้องศาลปกครองว่า การเก็บเงินค่าบำรุงแบบนี้ใช้อำนาจตามกฎหมายอะไร แล้วเงินบำรุงมันควรจ่ายตามความสมัครใจไหม ไม่ใช่การเก็บอัตโนมัติ  เขาก็ไปฟ้องศาลปกครอง ศาลก็พิจารณาอยู่เป็นปี คนอื่นอาจมองว่ามันแค่ 20 บาท แต่สุดท้ายศาลมีคำวินิจฉัยว่าไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายใด ที่ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเก็บเงินบำรุงได้ แล้วเงินบำรุงไปดูระเบียบโรงพยาบาลมันเหมือนเงินบริจาคมันต้องสมัครใจไม่ใช่การเก็บแบบแบบอัตโนมัติแบบนี้  พอศาลมีคำพิพากษาแบบนี้โรงพยาบาลต่างๆ  ก็ยกเลิกการเก็บเงินบำรุงทั้งหมด คนที่ไปอาจเริ่มจากตนเอง แต่คุณอาจไม่รู้ว่ามันจะนำไปสู่อะไรบ้าง นี่คือตัวอย่างที่เกิดขึ้น เรื่องเล็กๆ ก็เป็นฐานของเรื่องใหญ่ๆ ถ้ามันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง มันก็ส่งผลให้คนอีกหลายคน อาจทั้งสังคมได้รับประโยชน์ด้วย  

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 อยู่ยากไหมในวันที่ “เอไอ” ล้อมเมือง

        วันที่ 15 มีนาคมของทุกปีเป็นวันผู้บริโภคสากล และในปี 2024 นี้สหพันธ์องค​กรผู้บริโภคสากล หรือ Consumers International ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วโลกรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ในเรื่องผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ต่อการใช้ชีวิตของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งแง่มุมของการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างเป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ         ในโอกาสดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค ประเทศไทย ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “เราจะช่วยกันยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคไทยได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต และ ฉลาดซื้อ ได้มีโอกาสคุยกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.โซธี ราชการ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนิไล (Nilai University) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรที่ได้รับเชิญมาในงานเสวนาดังกล่าว______ เรามีประเด็นที่น่าสนใจจากวงเสวนาและการพูดคุยมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ความท้าทายของผู้บริโภคในยุค AI         ผมตั้งข้อสังเกตว่า ใน “ระเบียบโลกใหม่” ที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำธุรกิจแทบทุกประเภท เราจะพบความเหลื่อมล้ำมากขึ้นระหว่างคนที่สามารถและคนที่ไม่สามารถเข้าถึงถึงเทคโนโลยี ยกตัวอย่างที่มาเลเซียซึ่งการประปาฯ ได้ยกระดับการบริหารจัดการและนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาจัดการทั้งหมด รวมถึงเรื่องการแจ้งข่าวสารเรื่องการให้บริการ/การหยุดจ่ายน้ำ แต่ปัญหาคือการแจ้งอัตโนมัตินี้มันจะส่งไปยังผู้ใช้สมาร์ตโฟนเป็นหลัก คำถามคือแล้วคนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนจะรู้ข่าวนี้ได้อย่างไร         แล้วเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอัปเกรดอยู่ตลอดเวลา พอเราเริ่มเข้าใจ เริ่มจะเชี่ยวชาญการใช้ มันก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว ขณะเดียวกันรูปแบบตลาดก็เริ่มเปลี่ยนจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน “สินค้า” เป็นการซื้อขาย “บริการ” มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง         นอกจากความไม่แน่นอนเรื่อง “ความเสถียร” ของระบบที่ทำให้มันง่ายต่อการเจาะ ผู้บริโภคก็มีโอกาสพบปัญหามากขึ้น เช่น มีแนวโน้มจะถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น หรืออาจถูกมิจฉาชีพหลอกลวงได้ง่ายขึ้น โฆษณาที่เราเห็นก็ถูกออกแบบมาให้ตรงความต้องการของเรามากขึ้น หรือแม้แต่เมื่อเราจะทำ “สัญญา” กับผู้ประกอบการ เราแต่ละคนก็อาจได้สัญญาที่เนื้อหาสาระไม่เหมือนกัน (ทั้งที่ซื้อผลิตภัณฑ์เดียวกัน) ซึ่งเป็นผลงานของอัลกอรึธึม นั่นเอง         ที่น่ากังวลอีกอย่างคือผู้บริโภคยังมีความเข้าใจค่อนข้างน้อยในเรื่อง “ตัวตนดิจิทัล” ที่เราใช้ในการซื้อสินค้าออนไลน์ ทั้งๆ ที่ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับตัวเรา ธุรกรรมของเรา ถูกบันทึกจัดเก็บอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการรายใหญ่มีอำนาจเหนือเรามากขึ้น เราควรทำอย่างไร         ก็ต้องยอมรับความจริงว่าเราต้องอยู่กับเทคโนโลยีนี้ หลีกเลี่ยงมันไม่ได้ สิ่งที่ควรจะต้องมีก็คือการกำกับดูแลที่ดีขึ้นด้วยการ “คิดใหม่ทำใหม่” เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ในยุคของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เราจะเห็นว่ามีธุรกิจทั้งรายใหญ่รายเล็กเพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา ถามว่าหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคจะรับมือกับผู้ประกอบการเป็นล้านรายเหล่านี้ได้อย่างไร ไม่ว่าประเทศไหนก็ไม่สามารถจัดหาบุคลากรมารับมือกับเรื่องนี้ได้เพียงพอหรอก ต่อให้คุณมีเจ้าหน้าที่สักหมื่นคน คุณคิดว่าจะจัดการพวกนี้ได้หมดไหม         ที่เราทำกันอยู่ตอนนี้คือการออกไปสุ่มตรวจเป็นครั้งคราว หรือจัดการแก้ไขเรื่องที่ผู้บริโภคมาร้องเรียน ส่วนตัวผมมองว่าเราต้องเพิ่มบทบาทของมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ การรายงานต่อสังคมโดยบริษัท         เราต้องมีวิธีที่ดีขึ้นในการที่จะทำให้คนเหล่านี้ปฏิบัติตามกฎหมาย และสร้างวัฒนธรรมที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมาร้องเรียนพฤติกรรมแย่ๆ ของผู้ประกอบการไปเลย         ผมมองว่าสิ่งที่เราต้องการคือ การเปลี่ยน “วัฒนธรรม” ในเรื่องนี้ ไม่ใช่ใครทำผิดก็ตามปรับมันไปเรื่อย แปลว่าใครจ่ายค่าปรับได้ก็ทำผิดได้อย่างนั้นหรือ ผมยกตัวอย่างกรณีของออสเตรเลีย ถ้าคุณไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วราคาที่ปรากฎตรงแคชเชียร์มันแพงกว่าที่แสดงไว้บนชั้นวาง คุณจะได้ของชิ้นนั้นกลับบ้านไปเลยโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ต้องให้ใครโทรเรียกผู้จัดการให้ลงมาเคลียร์ หรือต้องกรอกแบบฟอร์มร้องเรียนอะไรให้ยุ่งยาก มันต้องทำให้ธุรกิจมีกฎระเบียบในการจัดการตัวเองเมื่อทำผิด ไม่ใช่แค่มีหน่วยงานรัฐมาบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย         แล้วหลังจากนั้นเราค่อยมาพูดกันเรื่องการให้ความรู้กับผู้บริโภค การรับเรื่องร้องเรียนยังสำคัญไหม         แน่นอน อีกประเด็นที่ผมอยากพูดคือ เรื่องที่คนเขาร้องเรียนเข้ามาก็สำคัญนะ มันควรจะมีการ “ออดิท” ข้อมูลเรื่องร้องเรียนโดยบุคคลภายนอกด้วย ถ้าองค์กรหนึ่งเคลมว่าสามารถแก้ไขเรื่องร้องเรียนได้ร้อยละ 98 ร้อยละ 99 ผมว่าทำใจให้เชื่อได้ยากเหมือนกันนะ เขาอาจจะทำได้จริงก็ได้ แต่เราก็ควรมีคนนอกมาตรวจสอบ แล้วคำว่า “แก้ไข” หมายถึงอะไร หรือแม้แต่ “เรื่องร้องเรียน” มันหมายความว่าอะไร ถ้าผมโทรมาแจ้งว่าไฟฟ้าที่บ้านดับแพราะมีอุปกรณ์บางอย่างเสีย แล้วเขาก็ส่งคนมาซ่อมให้ แบบนี้เรียกว่าเรื่องร้องเรียนไหม หรือว่าเรื่องร้องเรียนในที่นี้คือกรณีที่ผมต้องรอถึงสามวันกว่าจะมีช่างมาซ่อมให้           หลักๆ คือ เราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่าเรื่องแบบไหนถือเป็นเรื่องร้องเรียน         ขั้นที่สองคือต้องแยกแยะว่าเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาเป็นชนิดไหน แล้วสาม ซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ผู้ร้องเรียนเป็นใคร คนจนร้องเรียนเข้ามาไหม คนเปราะบางร้องเรียนไหม คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลร้องเรียนเข้ามาไหม หรือว่าคนที่ร้องเรียนก็คือคนเดิมที่ร้องเข้ามาเป็นประจำ ความจริงอาจจะมีคนที่ไม่ได้ร้องเข้ามาเพราะไม่ถนัดเขียนอีเมล ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีสมาร์ตโฟน ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีปัญหา         แล้วหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนเองก็มีทรัพยากรจำกัด ไม่ว่าจะด้านเงิน บุคลากร หรืออื่นๆ เราต้องตั้งคำถามว่าเรากำลังใช้ทรัพยากรเหล่านั้นเพื่อช่วยเหลือคนที่ “จำเป็น” ต้องได้รับความช่วยเหลือจริงหรือเปล่า ถ้าเรามีข้อมูลรอบด้านทั้งที่เกี่ยวกับปัญหาที่ร้องเรียน รวมถึงตัวผู้ร้องเรียน ก็จะตอบคำถามนี้ได้ การคุ้มครองผู้บริโภคในมาเลเซีย         โดยรวมแล้วมาเลเซียมีกฎหมายที่ดี ครอบคลุม มีการปรับปรุงแก้ไขให้เท่าทันสถานการณ์ปัญหามาโดยตลอด เช่น ล่าสุดมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งผมมองว่าทำได้ดีก่อนหน้านี้กฎหมายเราไม่ครอบคลุมการซื้อขายออนไลน์ ก็แก้ไขให้ครอบคลุม แต่น่าเสียดายที่เรายังไม่ได้เพิ่มเขี้ยวเล็บให้กับกฎหมายอีคอมเมิร์ซมากเท่าที่ควร         ในเรื่องของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตอนนี้มาเลเซียให้อำนาจกับเจ้าหน้ารัฐที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน ในการเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงซอร์สโค้ดได้         ส่วนเรื่องของความยั่งยืน ตอนนี้รัฐกำหนดให้มีการให้ความรู้ประชาชนเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน รวมถึงด้านผู้ประกอบการก็ต้องมีการผลิตที่ยั่งยืนด้วย เรามีกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทส่งรายงานประจำปีว่าด้วยความยั่งยืน (ทางสิ่งแวดล้อม สังคม และการพัฒนา)         ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูล “รอยเท้าคาร์บอน” แต่เรื่องนี้ก็มีผลทางลบเหมือนกัน สายการบินในมาเลเซียขอขึ้นค่าโดยสารโดยอ้างว่าบริษัทต้องมีการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม         เราได้เห็นความพยายามที่จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการมากขึ้น แต่ผมสงสัยว่ามันจริงแค่ไหน หรือเป็นแค่การกล่าวอ้างให้เป็นไปตามเทรนด์เราทุกคนล้วนเปราะบาง         “เมื่อก่อนนี้พอพูดถึง “กลุ่มเปราะบาง” เราจะนึกถึงคนยากจน ผู้ป่วย หรือผู้พิการ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองดูแลเป็นพิเศษ แต่ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้ในการทำธุรกิจมากขึ้น “เราทุกคน” มีความเปราะบางในบริบทที่แตกต่างกัน เช่น คนมีการศึกษาที่ไม่ถนัดเรื่องไอที หรือ คนรู้กฎหมายที่ไม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการเงินการธนาคาร ก็อยู่ในกลุ่มเปราะบางเช่นกัน”         อีกเรื่องที่ผมมองว่าเป็นปัญหาในปัจจุบันนี้คือดูเหมือนเราจะไม่ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในแบบที่มีมนุษยธรรมมากพอ เราทำให้คนอื่นต้องอับอาย ด่าว่าเขาออกสื่อ มีแต่เรื่องลบๆ ในโซเชียลมีเดียที่สร้างความเกลียดชัง อาจเป็นความเกลียดชังระหว่างชุมชน เชื้อชาติ เราต้องช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ที่น่าเป็นห่วงคือนักการเมืองก็กำลังหาประโยชน์จากเรื่องแบบนี้        เรื่องดีเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งที่อินโดนีเซียที่ผ่านมาคือ ไม่มีผู้สมัครคนไหนเอาเรื่องที่ผู้คนโจมตีกันในโซเชียลมีเดียมาใช้ในการหาเสียงเลย เขาพูดกันแต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการพัฒนา ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะมีการกำหนดกติกาอย่างจริงจังโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการเลือกตั้ง หรือแม้แต่กรณีที่ผู้บริโภคที่ใช้วิธีโพสต์ต่อว่าผู้ประกอบการออกสื่อ ทั้งที่ความจริงแล้วการแก้ไขปัญหาจริงๆ ควรเป็นการพูดคุยกับผู้ประกอบการโดยตรง เอาข้อเท็จจริงมาคุยกันมากกว่า         เราไม่มี “ผู้หลักผู้ใหญ่” ในโซเชียลมีเดียที่ออกมาพูดอะไรเรื่องนี้บ้างหรือ ผมว่ามันแปลกมาก ผู้คนในภูมิภาคนี้เวลาเจอกันตัวต่อตัวก็สุภาพตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา แต่ทำไมตัวตนออนไลน์ของพวกเขาถึงได้ร้ายกาจขนาดนั้น หรือเพราะความห่างเหิน ห่างไกล ในสื่อสารผ่านเทคโนโลยีก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 ผังเมืองกรุงเทพต้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

        ช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา หลายปัญหาได้วิกฤตขึ้นในกรุงเทพมหานคร ทั้งปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ลุกลามมาถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด และปัญหาฝุ่น PM 2.5  ทั้งหมดนี้ ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร         ปัจจุบัน เมื่อกรุงเทพมหานคร ได้กำลังจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ภาคประชาสังคมในวันนี้ได้ตื่นตัว ให้ความสนใจเพราะอยากให้ผังเมืองฉบับใหม่เอื้อให้คนกรุงเทพมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เกิดขึ้นจริงๆ  ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในผู้ที่ ติดตามการพัฒนาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่เริ่มจัดทำตั้งแต่ในปี 2562 ปฐมพงศ์สนใจและเข้ามาเกี่ยวข้อง เคลื่อนไหวด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ช่วงปี 2540 ที่เขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการอยู่อาศัยในคอนโดโดยตรง การทำงานที่ผ่านมาจากในบทบาทผู้อยู่อาศัยคนเล็กๆ ในเมืองใหญ่ สู่การเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการสร้างอาคารสูงในซอยแคบที่ส่งผลเดือดร้อนต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม วันนี้เขายืนยันว่ายังคงต้องคัดค้านผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ฉบับนี้ หากยังไม่มีการเริ่มต้นจัดทำใหม่ด้วยการเปิดรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง   ขอเริ่มคำถามง่ายๆ ก่อนว่า ผังเมือง คืออะไร เพราะหลายคนอาจยังไม่ทราบ และจะได้เข้าใจว่า กฎหมายผังเมืองจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองอย่างไร         ถ้าพูดให้เห็นภาพว่า ผังเมืองคืออะไรให้ลองนึกถึงว่า สมมุตว่าเรามีบ้านหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้เราก็จะผังบ้านของเราว่ากว้างยาวเท่าไหร่ มีคอกสัตว์ แปลงผัก ไปจนถึงขอบเขตรั้วบ้านอยู่ตรงไหน แผนผังนี้คือกระดาษที่เหมือนเวลาเรามองลงมาจากที่สูง จะบอกทุกอย่างว่ามีอะไรบ้างซึ่งตรงนี้แค่บ้านหลังหนึ่ง พอใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้าน ตำบลย่อมต้องมีแผนที่แบบนี้แน่นอน ที่สำนักงานเขตเขาก็จะมีแผนที่ แผนที่ทุกคนคงจะนึกออก แต่ผังเมือง  จะมีรายละเอียดข้างในด้วยที่กำหนดให้อะไรอยู่ตรงไหน ศูนย์การค้าอยู่ตรงนี้ ที่อยู่อาศัยอยู่ตรงนี้ ผังเมืองคือแผนที่อันหนึ่งที่จะบอกว่าในเมืองๆ นั้นมีอะไรบ้าง           แต่นอกจากผังเมืองจะบอกว่า อะไรอยู่ตรงไหนแล้ว ผังเมืองยังมีข้อกำกับลงไปด้วยว่า ไม่ให้มีอะไร หรือ ห้ามสร้าง ห้ามปลูกอะไร ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอาจมาจากตรงนี้คือห้ามสร้าง เมื่อมาสร้างจึงผิดกฎหมาย         กฎหมายผังเมืองจึงเป็นกฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชนด้วยเช่นกัน หากเป็นบ้านเราเองจะปลูกต้นไม้ ดอกไม้ หรือจะตั้งถังขยะตรงไหน ย่อมทำได้ แต่พอเป็นเมืองแล้ว ผังเมืองจะกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนที่อยู่อาศัยในเมือง จึงกำหนดข้อห้ามสำคัญเช่นพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ห้ามสร้างตึกสูงใดๆ  ตรงนี้ห้ามสร้างตึกสูงเกินเท่าไหร่ ในแต่ละจังหวัดตอนนี้มีผังเมืองจังหวัด  ผังเมืองกรุงเทพ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง           ผังมืองรวมกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา เรามีมาแล้วทั้งสิ้น 4 ฉบับ ทั้ง 4 ฉบับเป็นไปตามพระราชบัญญัติผังเมืองปี 2518  ครั้งนี้เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 4 หากมีการประกาศใช้จะเป็นฉบับที่ 5  ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 เริ่มมีปัญหาจากจุดไหน         ต้องบอกว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพ เรามีมาตั้งแต่ปี 2556 และทุก 5 ปี กฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำใหม่ และหลังจากประกาศใช้ทุก 2 ปี จะให้มีการประเมิน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำมาเช่นนี้ แต่การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพที่ถึงกำหนดในปี 2561 มีกฎหมายสำคัญคือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดว่ากฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชนในด้านต่างๆ ก่อนจะดำเนินการต้องไปทำประชาพิจารณ์ก่อน  นอกจากนี้ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับที่ปรับปรุงในปี 2561 กว่าจะทำเสร็จยังมีการประกาศใช้ของ พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562 มาแทนฉบับปี 2518         การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพ ครั้งที่ 4 ครั้งนี้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562  สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจาก พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2518 ที่กำหนดให้มีการจัดทำผัง 4 ประเภท ได้แก่ 1) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้นำแนกประเภท 2) แผนผังแสดงที่โล่ง 3) แผนผังแสดงโครงสร้างคมนาคมและขนส่ง และ 4) แผนผังโครงการกิจการสาธารณูปโภค ขณะที่ พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 กำหนดให้มีการจัดทำผัง 6 ประเภท โดยเพิ่มแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำเข้ามาด้วย         พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 ยังกำหนดให้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวม                ดังนั้นการที่กรุงเทพมหานคร นำร่างผังเมืองรวมที่ทำมาตั้งแต่ปี 2561 - 2562 มาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเลย จึงเป็นการทำมาแล้ว ว่าอยากให้อะไรอยู่ตรงไหน  ไม่ได้เป็นการเปิดรับฟังเสียงจากประชาชนเพื่อทำขึ้นใหม่จริงๆ   ความเดือดร้อนนี้ที่ทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านจำนวนมาก         ใช่ กฎหมายผังเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั้งหมด และกรุงเทพมีพื้นที่ 50 เขต แต่ละเขต มันต่างกันมาก บางขุนเทียนเป็นพื้นที่มีชายฝั่งทะเล  เราไม่อยากให้มีการกัดเซาะ จึงไม่ค่อยมีการตั้งอุตสาหกรรม  ส่วนพื้นที่หนองจอกส่วนใหญ่ทำนา การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดิมต้องคำนึงสภาพที่เป็นและข้อจำกัดด้วย         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นี้ยังจะมีการขยายพื้นที่ถนน พื้นที่แก้มลิง พื้นที่รับน้ำ ทำให้ประชาชนถูกเวนคืนที่ดิน บางพื้นที่หมู่บ้านหายไปหมด ถนนจาก 4 เมตร จะขยายเป็น 12 เมตร  คนจะเดือดร้อนมาก เรามองว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้มุ่งเน้น เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์   การขยายถนน การกำหนดพื้นที่ให้เปลี่ยนจากพื้นที่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นปานกลาง จากหนาแน่นปานกลางเป็นหนาแน่นสูง หรือให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม  ทั้งหลายนี้เหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ในความเป็นจริง กรุงเทพไม่อาจขยายตัวได้มากแล้ว จึงเกิดอาคารสูงกระจุกตัวอยู่ส่วนกลาง แต่เมืองนี้เราไม่ได้มีแต่คนรวย  ยังมีคนเข็นผักในตลาด รปภ. ตำรวจ พยาบาล ทหาร บุรุษไปรษณีย์ การถูกเวนคืนที่  การเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เป็นความเดือดร้อนที่ค่อยบีบคนอยู่อาศัยธรรมดาให้ออกจากเมือง  การที่ยังให้มีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบทั้งที่สร้างไม่ได้ ได้สร้างความเดือดร้อนให้ทุกคนในซอย รถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่แค่ช่วงเข้าไปสร้าง ก็เดือดร้อนแล้ว อาคารที่สูงมากๆ ก็จะสร้างขยะเยอะ ใช้ไฟเยอะ  น้ำเสีย มันเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยทั้งหมด            แล้วข้อความเห็นว่าเหมือนบีบคนออกจากเมือง เขาก็บอกว่าก็มีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ขยายออกไปเรื่อยๆ แต่ระบบรถ BTS ของเรามันไม่ได้เชื่อมต่อกัน ประชาชนยังแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4  ยังมีโบนัสให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายเรื่องมากๆ ที่ดำเนินการแล้ว เขาสามารถนำไปเพิ่มพื้นที่การสร้างอาคารให้สูงขึ้นได้  ช่วยขมวด 3 เรื่องสำคัญที่ประชาชนควรช่วยกันเฝ้าระวังในผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ครั้งนี้           หนึ่ง ผังเมืองรวมฉบับนี้ทำให้ กรุงเทพมีพื้นที่หนาแน่นขึ้น เดิมความหนาแน่นของกรุงเทพตอนนี้คือราว  3,500 คน/ ตร.กม แต่หากรวมประชากรแฝงเราคาดว่าน่าจะถึง 10,000 คนต่อ / ตร.กม เมื่อคนอยู่อาศัยกันแน่นขึ้น ปัญหาอีกสารพัดจึงจะตามมาอีกมาก  สอง ผังเมืองรวมฉบับนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการระบายน้ำ  เรามีน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 มาแล้ว ยิ่งคนเข้ามาแน่น ปัญหาน้ำท่วมเราจะยิ่งวิกฤต เพราะตอนนี้ฝนตกหนักครั้งเดียว เราก็แย่แล้ว สาม เมื่อนำผังเมืองที่เขาทำไว้แล้วในปี 2562  มารับฟังความเห็นจากประชาชน  ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้ ยังไม่คิดตอนที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 กับเรื่องโรคระบาด         เราเป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้การอยู่อาศัยของคนในเมืองแย่ลง ทั้งน้ำท่วม การจราจร ฝุ่นPM2.5  โรคระบาด สิ่งแวดล้อมมันแย่ลงมากกว่าดีขึ้น สิ่งที่เราบอกว่ามันจะมีปัญหา เราไม่ได้จินตนาการเอาเอง ปัญหามีประจักษ์มาแล้ว เรื่องโรคระบาด ตอนเป็นโควิดเราเห็นแล้วว่า เราต้องการพื้นที่ปลอดภัย ต้องการพื้นที่จะระยะห่างบ้าง  เราเป็นห่วงคนในชุมชนคลองเตยมาก เพราะเขาต้องอาศัยกันอย่างแออัด  เขาบอกว่า เมืองว่าเมืองจะเจริญ แต่ตอนนี้สภาพแวดล้อมเราออกห่างจากคำว่าธรรมชาติมากขึ้นทุกที คนต้องหนีออกจากเมืองมากกว่าจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้         การระบายน้ำ ขยะ การจราจร โรคระบาด ทั้งหมดนี้คือคุณภาพการใช้ชีวิตของคน  เราไม่สามารถอยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ว่าห้องจะหรูหรา มีเครื่องฟอกอากาศดีแค่ไหน แล้วเราไม่ออกไปไหน เราต้องออกไปข้างนอก         เรากังวล เป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองแย่ลง   เราอยากให้มีผังเมืองที่ตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่แล้วยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาด้วย อยากให้ประชาชน สังคมโดยทั่วไป ร่วมกันมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง         อย่างที่ผมบอกว่า ผังเมืองเกี่ยวข้องกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกมิติ หลายคนที่เขายังรู้สึกว่า เขาไม่ได้รับผลกระทบ เขาอาจะวางเฉยได้ หรือเขาอาจจะรู้ว่า มีผลกระทบมาถึงตัวได้แต่ยังคิดว่า อาจไม่ใช่เร็วๆ นี้ ต้องออก พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ยังรอได้  แต่ผมคาดว่ามันไม่ได้นาน หลายพื้นที่ตอนนี้เริ่มโดยเวนคืนที่ดินแล้ว และผังเมืองรวมกรุงเทพยังส่งผลกระทบกับปริมณฑล  เครือข่ายถนนทั้งหมดเชื่อมโยงกับพื้นที่ใกล้เคียง นนทบุรี สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี  ฉะเชิงเทรา  สมุทรปราการ              การต่อสู้เรื่อง เราต้องศึกษาเรื่องกฎหมายด้วย เพราะเราสู้เรื่องกระบวนการที่ต้องดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายด้วยเราอาจะต้องสู่กันกันถึงศาลปกครอง แล้วหากเราตื่นตัว ร่วมกันลงชื่อเยอะๆ ผมคิดว่ามันมีผลกระทบ มันมีพลังที่จะทำให้เราสามารถทำให้หน่วยงานรัฐเริ่มทำผังเมืองกรุงเทพใหม่ได้ ผมก็สื่อสารเรื่องนี้ อยู่ตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 องค์กรผู้บริโภคต้องทำงานแบบเสริมพลังกัน

        การรวมตัวกันเพื่อการทำงานคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้บริโภค เริ่มมาอย่างยาวนานและชัดเจนตั้งแต่ปี 2526 กว่า 40 ปี ระบบนิเวศของการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคจึงเต็มไปด้วยความเบ่งบานของกลุ่มองค์กรหลากหลายรูปแบบทุกระดับทุกพื้นที่ที่ต่างล้วนทำงานมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้มแข็งสิทธิได้รับการพิทักษ์คุ้มครอง การเติบโตอย่างเข้มข้นนี้เป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเกิดการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้สำเร็จ ในปี 2563 หลังจากเริ่มต้นผลักดันมาตั้งแต่ปี 2540          รศ.ภญ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ  ผู้จัดการศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส) และผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) มีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งเสริม สร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคโดยเฉพาะด้านยาและสุขภาพมาตั้งแต่ต้น สะท้อนมุมมองว่าในทศวรรษปัจจุบันและต่อไปหลังจากนี้ การเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้สำเร็จก็ยังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบัน การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคในระดับพื้นที่เข้มแข็ง มีคุณภาพยังเป็นเรื่องสำคัญที่ รศ.ภญ.ดร.วรรณา เลือกทำมาตั้งแต่ต้นและยังจะทำต่อไปอย่างแน่นอน      ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  คือหน่วยงานอะไร         ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หรือ คคส. เราเป็นศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เป็นศูนย์วิชาการที่เราทำงานกันมานานตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2549 และปัจจุบันเราขยายงานเป็นวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) ด้วย         คคส. เป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สสส. ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เมื่อพูดถึง คคส. เราไม่ได้ทำงานแต่เฉพาะองค์กรผู้บริโภค  เราทำงานกับผู้ประกอบการวิชาชีพเภสัชกรรม  นักวิชาการสาธารณสุขเยอะมาก งานของเราจึงออกเป็นลักษณะแผนงานวิชาการที่มีหลายเรื่อง งานวิชาการ งานพัฒนาศักยภาพคน จัดการพวกสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และติดตามเรื่องของกฎหมายด้วย  ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  ทำงานอะไรบ้าง         เรามีแผนงานส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่  มีวัตถุประสงค์ในการทำงาน 4 เรื่อง หนึ่ง คือพัฒนากลไกและศักยภาพเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่ สอง พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่ สาม จัดการความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และสี่ ติดตามอย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เราทำงานด้วยเราอยากเห็นผลลัพธ์ที่เรามุ่งหวังคือ ชุมชน องค์กรผู้บริโภค ภาคี เครือข่ายมีศักยภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค  มีการจัดการสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย   นิยามองค์กรผู้บริโภคไว้อย่างไร         องค์กรผู้บริโภคที่เราทำงานด้วยต้องบอกว่า เป็นกลุ่มคนที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่เฉพาะการทำงานประจำตามหน้าที่ เป็นราชการเราไม่ได้สนใจเฉพาะตรงนั้น เราทำงานทั้งกับผู้บริโภค อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภค เราคิดว่าทุกคนเป็นผู้บริโภคตลอดเวลา แต่เป็นข้าราชการบางเวลาเพราะฉะนั้นการก้าวเข้ามาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คคส. เราถือว่าถ้ารวมกลุ่มกัน เป็นองค์กรผู้บริโภคหมด       ที่จุฬาเองตั้งแต่อดีต  เรามีอดีตอาจารย์กับนิสิตเภสัชศาสตร์ รวมตัวกันมา ตั้งกลุ่มเฝ้าระวังเรื่องยา อาจารย์ในเวลาก็เป็นเป็นข้าราชการสอนหนังสือ แต่อาจารย์ยังนำความรู้ของอาจารย์มาทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้วย จึงเกิดการรวมตัว รวมกลุ่มและกิจกรรมต่างๆ ขึ้นจนถึงปัจจุบันตอนนี้ก็มีข้าราชการทั้งเกษียณและไม่เกษียณทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ เราก็เรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา ไม่ใช่ข้าราชการก็เป็นองค์กรผู้บริโภคด้วย น้องๆ เภสัชที่อยู่ตามต่างจังหวัด รวมตัวกันเป็นเภสัชชนบทก็เป็นองค์กรผู้บริโภคในนิยามของ คคส.  ภาพรวมขององค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่ คคส. ทำงานร่วมด้วยเป็นอย่างไร           ภารกิจของ คคส. เราทำงานส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เราจึงทำงานเข้มข้นได้ไม่ทุกเรื่อง เรามองว่าการทำงานกับองค์กรผู้บริโภค เราทำทั้งทางตรงและทางอ้อม  งานที่ทำทางตรงกับองค์กรผู้บริโภค เช่น การพัฒนาศักยภาพ การอบรม การตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคเครือข่าย แต่ถ้าเป็นลักษณะของการที่ทำงานเฝ้าระวัง บางจุดหรือประเด็นที่เขาต้องการ เราก็จะพัฒนาศักยภาพน้องๆ เภสัชกรที่เขาก้าวเข้ามาด้วยความสนใจให้เป็นเภสัชกรที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือนักวิชาการสาธารณสุขที่ขยับมาทำเรื่องการจัดการสินค้าไม่ปลอดภัย งานจึงมีทั้งทางตรงและทางอ้อม  แบ่งองค์กรผู้บริโภคเป็นแบบไหนบ้าง กี่ประเภท แต่ละประเภทมีความเข้มแข็งแตกต่างกันมากน้อย อย่างไร         ถ้าตามกฎหมาย เราแบ่งเป็น 2 กลุ่ม  คือกลุ่มองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562  คือตามเกณฑ์ เงื่อนไขและกลุ่มที่ 2 คือ องค์กรผู้บริโภคแต่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน         แต่ถ้ามองในมุมของ คคส. เรามีการพัฒนาเกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพขึ้น ซึ่งเราทำมานานก่อนที่จะมีสภาองค์กรผู้บริโภคอีกเพื่อไปตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคว่าการทำงานอย่างมีคุณภาพ มีโครงการสร้างองค์กร  กระบวนการทำงาน และผลลัพธ์ของการทำงานที่พัฒนาขึ้นต่อเนื่อง คคส. จึงตั้งเป็นเกณฑ์ผู้บริโภคคุณภาพ และ MOU กับหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เราได้รับการยอมรับ เกิดความเชื่อมั่นเมื่อเราเดินสายไปตรวจและรับรอง หากใช้เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพเป็นตัวตั้ง  ก็จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ผ่านการรับรองตัวประเมิน และจัดเป็นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ กับองค์กรทั่วไปที่เขาอาจยังไม่พร้อมให้เราประเมิน หรือว่าเพิ่งเริ่มต้นทำงาน เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพจะมีมากกว่าเกณฑ์ตามกฎหมาย    ส่วนที่สมาชิกของสภามักจะไม่ค่อยผ่านคือเรื่องของผลงาน และกระบวนการทำงาน  ปัญหาที่พบตอนที่ลงไปทำงานกับองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ ได้เสริมจุดแข็งหรืออะไรไปบ้าง         แน่นอนว่าพอเราลงไปตรวจ เราจะเจอทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง  แต่เราก็บอกเลยว่า เราพร้อมตรวจใครที่คิดว่ามีความเข้มแข็งให้เราไปตรวจ เราก็พร้อม แต่เท่าที่ลงไปตรวจแล้วเราจะเห็นข้อบกพร่องของเขา เช่น เรื่องของการที่ไม่มีรายงานการประชุม ไม่มีการบันทึกเลย คือคนทำงาน เขาทำงานแต่การเก็บบันทึก รายละเอียดงานยังน้อยทำให้มีปัญหาคนภายนอกอาจมองว่าไม่มีผลงานกิจกรรมเลย ก่อนมี พ.ร.บ. สภาฯ  เราตรวจไป 226 องค์กร  พวกนี้เขาก็มีความพร้อมพอสมควร พอมีสภาองค์กรของผู้บริโภคเกณฑ์ของเราถูกนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินองค์กรของผู้บริโภคตามกฎหมายด้วยบางส่วน แต่บางอันในเรื่องของคุณภาพยังไม่ได้นำไปใช้  การทำงานของเราตอนนี้พอลงตรวจแล้วรู้แล้วว่าขาดอะไร เช่นยังขาดส่วนวิชาการในลักษณะของการนำเสนอนโยบายซึ่งมีความสำคัญเวลาเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำเสนอนโยบายในการประชุมเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอหรือระดับประเทศ พอตรงนี้ขาดเราก็พัฒนาหลักสูตร เปิดอบรม ขอแค่สนใจอยากพัฒนาตัวเองเราจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดเพราะเรามีความร่วมมือกับ สสส.         องค์กรผู้บริโภคเล็กๆ จากที่เราไปตรวจราว 300 – 400 องค์กร เราเห็นแล้วว่าบางทักษะอย่าง การ เขียนรายงานการประชุม เขียนโครงการของบประมาณแบบนี้ยังไม่เป็น การจัดทำบัญชีรับจ่าย การทำทะเบียน วัสดุและครุภัณฑ์ต่างๆ เขายังไม่ทำ เขาบอกว่าเขาเป็นจิตอาสา ไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไร ไม่มีการทำบัญชี แต่การเป็นองค์กรที่ทำงานได้ด้วยการสนับสนุน เราสู้เพื่ออะไรหลายเรื่อง เราต้องมีความโปร่งใส  การทำงานกิจกรรมต่างๆ หากไม่รวบรวมเป็นเอกสารข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบวันนี้ เมื่อจะขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรโดยกฎหมายขอสภาองค์กรของผู้บริโภค  สำนักนายกก็ตั้งคำถามแล้วเพราะผลงานกิจกรรมไม่มีแสดง ซึ่งไม่แปลกเพราะเขาไม่ได้ลงมาคลุกคลีใกล้ชิด         เราจะเติมส่วนขาดตรงนี้ลงไปในพื้นที่ เพราะองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดเขาอยู่ในพื้นที่ เขาจะดูแลกัน ตลอดไปเป็นอะไรที่ยั่งยืน ขณะที่บางครั้งเราเข้าไปอบรมแล้วกลับมา มันไม่เกิดอะไร เราจึงสร้างคนโดยการให้เข้าอบรม 8 เดือน แล้วเป็นเภสัชกรสาขาคุ้มครองผู้บริโภค  ภายใต้วิชาชีพเภสัชกรรมตอนนี้ เรามี นคบส. หรือผู้ผ่านการอบรมทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ 100 กว่าคนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เราเหมือนเป็นพี่เลี้ยง คอยสนับสนุน ส่วนน้องๆ เภสัชเขาเองอยู่ในระบบราชการ เขาก็ทำหน้าที่ราชการด้วย หลายคนไปเป็นที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิประจำองค์กรผู้บริโภค ในหน่วยงานประจำจังหวัด เราต่างหนุนเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภค เรามองว่าช่วยกันทำงาน  มันเป็นความงดงาม ความเก่งขององค์กรผู้บริโภค และความเก่งของเภสัชช่วยกันทำงานไร้รอยต่อ สามารถส่งต่ออะไรที่ดีๆ ให้กันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดของตัวเอง  อันนี้มันก็เป็นอะไรที่มันเห็นการขับเคลื่อน  ตัวอย่างของงานที่เป็นความสำเร็จขององค์กรผู้บริโภคและแนวโน้ม         เรื่องของความสำเร็จพี่มองว่าคือการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นการการต่อสู้ยาวนานตั้งแต่ ปี 2540 จนนำมาสู่การจัดตั้งสภาฯ องค์กรได้ แต่การมีอยู่ตอนนี้ยังไม่ถือว่าสำเร็จ เป็นช่วงเริ่มต้น เพราะความสำเร็จที่แท้จริง คือต้องทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง สามารถคุ้มครองตัวเองได้  ซึ่งตอนนี้มีเรื่องของการโฆษณา เรื่องของอะไรที่มันหลอกลวงมากขึ้น  ถ้าผู้บริโภคเข้มแข็งสามารถที่จะคุ้มครองตัวเองได้  ไม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามนี่คือสุดยอด แต่การทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคตอนนี้มีองคาพยพที่ใหญ่ขึ้น และต้องเคลื่อนไปด้วยกัน และยังเข้มแข็งในบางจังหวัดด้วย เรายังต้องช่วยหนุนเสริมกันอีกมาก  การเกิดของสภาองค์กรผู้บริโภคเพียงพอหรือไม่ต่อการสนับสนุนองค์กรของผู้บริโภค         สภาองค์กรผู้บริโภค อย่างที่บอกว่าเพิ่งเริ่มต้น ตอนนี้ยิ่งมีองคาพยพเยอะขึ้น  การทำงานยังต้องกระจายให้ได้ ครอบคลุมทุกจังหวัด ตอนนี้เรายังพบว่ายังไม่ทั่วประเทศและยังเป็นการกระจุก  บางจังหวัดที่มีองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นมาก เราวิเคราะห์ว่าเพราะสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สาธารณสุขจังหวัด เภสัชกร โรงพยาบาล ชมรม อสม. รพสต. องค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไม่ว่าจะรูปแบบ ชมรม ทั้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือไม่ เขามีความร่วมมือกัน การลงไปตรวจประเมิน เราทำจริงจังเราได้เห็นทุกอย่าง พื้นที่ที่เขาพร้อม ทำงานจริง ลงไปทุกครั้ง เราจะเห็นคนที่ทำงานอยู่ตลอด หลายครั้งทำให้เราได้เจอคนที่มีศักยภาพเป็นเพชรเป็นแกนได้ เราสามารถพัฒนาส่งเสริมเขาต่อได้ด้วยหลายคนมากแล้ว เราจะไม่มีวันเจอถ้าเราไม่ได้ออกไปทำงาน ออกไปติดตามโครงการแลกเปลี่ยนพูดคุย  เราได้คนที่เราไม่รู้จักเยอะเป็นน้องเภสัชที่ประกาศตัวและก้าวเท้าเข้ามาฝึกอบรมเป็นเภสัชกรเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแล้วหลายคน  สิ่งที่อยากฝาก         วันนี้องค์กรผู้บริโภคต้องมีทักษะทั้งขับเคลื่อนได้ งานวิชาการได้  แต่ยังมีหลายจุด ทักษะที่เขายังขาด แต่เขาต้องทำงานหลายด้าน  หน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยกันหนุนเสริมองค์กรผู้บริโภคเราต้องทำให้เขาเข้มแข็งจริงๆ  ความเข้มแข็งจะต้องไม่อยู่ที่หน่วยงานของเราเพียงอย่างเดียว จะต้องไม่ได้อยู่แต่ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค อย. แต่ต้องอยู่ที่หน่วยงานประจำจังหวัดและองค์กรสมาชิกด้วย สมาชิกต้องเข้มแข็งเพราะพื้นที่ หากเราทำให้ระดับจังหวัดเข้มแข็ง เขาจะต่อยอดในพื้นที่ได้ เป็นในระดับอำเภอ ตำบล  วันนี้เรามองว่าแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ วันนี้คนในจังหวัดที่เขามีหน่วยงานประจำจังหวัด ถ้ามีเขามีทุกข์ แล้วหน่วยงานรัฐไม่ตอบโจทย์เขาได้ การเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดตอบโจทย์เขาได้แต่จังหวัดที่ไม่มีก็แสดงว่าเขายังขาดอีกหลายจุด และเมื่อมีแล้ว เราฝากว่าการทำงานร่วมกัน  การช่วยกันทำงานมันควรเหมือนยา ช่วยกันทำงานต้องเสริมพลังกัน เราต้องรู้ว่าเราเก่งกันคนละแบบ เราต้องให้กำลังใจกัน หากเข้าขากัน ผลลัพธ์ประสิทธิภาพมันไม่ใช่ 1 บวก 1 แล้ว 2 มันอาจจะเป็น 3 หรือ 4  หรืออาจจะมากกว่านี้ได้มากๆ 

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)