ฉบับที่ 218 โรงพยาบาลพลังแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทย ด้วยพลังจากผู้บริโภค



กองทุนแสงอาทิตย์(Thailand Solar Fund) หรือ กองทุนเพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายองค์กร ได้ตั้งเป้าหมายติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลในโครงการฯ โดยการ ขอรับบริจาคจากประชาชน (ใช้งบดำเนินการประมาณ 1.1 ล้านบาทต่อโรงพยาบาล รวม 7 โรงพยาบาล จะเป็นเงินที่ขอรับบริจาคทั้งสิ้น 7.7 ล้านบาท) ซึ่งเมื่อได้รับบริจาคครบ 7.7 ล้านบาทแล้ว กองทุนแสงอาทิตย์จะปิดรับบริจาคทันที ในเฟสที่ 1 
        ทั้งนี้เมื่อได้เงินบริจาค 1.1 ล้านบาทแรกแล้ว กองทุนแสงอาทิตย์จะทยอย ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงพยาบาลแห่งแรกทันที ซึ่งเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมากองทุนได้ไปส่งมอบและทำการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาของโรงพยาบาลแก่งคอย .สระบุรี โดยท่านพระครูวิมล ปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม .อุบลราชธานีผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรมโรงเรียนพลังงานแสงอาทิตย์ และประธานกองทุนแสงอาทิตย์  มีเมตตาเล่าถึงที่มาของกองทุนว่ามีความสำคัญ และมีแนวความคิด นี้ได้อย่างไร





        กองทุนนี้เริ่มมาจากกลุ่มของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค     แล้วก็เครือข่ายที่ร่วมกันประมาณสิบเครือข่าย 10องค์กร เห็นความสำคัญของพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้มีแนวคิดมีอะไรผลักดันกันไปเรื่อยๆ ก็ยังไม่เป็นเม็ดเป็นผล ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง มีแต่พูดมันก็ไม่ดี เราก็น่าจะทำด้วย ก็เลยคิดว่าถ้าเรารวมตัวกันทำขึ้นมา เป็นองค์กรขึ้นมา เป็นหน่วยงาน เรียกว่ากองทุนใช่ไหม เป็นกองทุนขึ้นมา และก็ติดตั้งให้กับโรงพยาบาลที่ยินดีเข้าร่วม ซึ่งกระจัดกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ให้ทั่วประเทศ ซึ่งเบื้องต้นก็ใช้ 7 โรงพยาบาลเป็นหลัก คือโครงการแรกเราจะใช้ 7 โรงพยาบาล แล้วก็ตั้งเป้าไว้ที่ 30 กิโลวัตต์ เพื่อจะให้ลดค่าไฟลง เดือนละประมาณ18,000 บาท หรือว่าปีละสองแสนกว่าบาท อันนี้ก็เป็นแนวคิดขึ้นมา แล้วก็มีคณะกรรมการก็ประชุมปรึกษาหารือกันแล้วก็มาวางแผนคัดเลือกว่าลงโรงพยาบาลไหน ก็ได้มาลงที่โรงพยาบาลแก่งคอยเป็นแห่งแรก ที่นี้ก็มีผู้มีจิตศรัทธาขอบริจาค แล้วก็ระบุว่ามาลงที่โรงพยาบาลแก่งคอยเป็นหลัก อันนี้ก็เลยได้เริ่มอันดับที่หนึ่ง ส่วนอันดับถัดไปก็จะเรียงลำดับเรื่อยๆ ถ้าครบ ถ้างบประมาณเราครบที่สองเราก็จะลงแห่งที่สองแห่งที่สามไปเรื่อยๆ คือก็จะรอเงินบริจาคเป็นหลัก 




ทำไมถึงต้องเลือกเป็นโรงพยาบาล ทำไมไม่เลือกเป็นสถานที่อื่นๆ เช่น โรงเรียน 
        ด้วยข้อจำกัดของเรื่องของงบประมาณ ซึ่งเราต้องพึ่งเงินของบริจาคอย่างเดียว จริงๆ มันทุกที่ๆ ใช้ไฟเป็นหลัก  ก็คือหน่วยงานของราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือว่าที่ไหนที่ใช้ไฟกลางวันเป็นหลัก อันนี้จุดคุ้มค่าหรือความคุ้มค่าของระบบโซลาร์เซลล์  ระบบผลิตไฟฟ้าใช้เองจะคุ้มมาก แต่ว่าโรงพยาบาล รู้สึกว่าจะเป็นเป้าหมายหลัก เพราะว่าอย่างการที่ระดมทุนวิ่งสนับสนุนหาทุนช่วยโรงพยาบาล ต่างคนก็ต่างช่วยกันถ้าเราทำแสงอาทิตย์เข้าไปอีกก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลลงบางส่วน และก็จะสามารถนำไปพัฒนาหรือว่าไปปรับปรุงบริการหรือว่าไปลดไปเติมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของโรงพยาบาลได้ ซึ่งก็มาเน้นทีโรงพยาบาล ส่วนหน่วยงานอื่นอาจจะเดือดร้อนเหมือนกัน แต่ว่าระดับความสำคัญแล้วโรงพยาบาลจะหนักสุด ก็เลยคัดเลือกโรงพยาบาลก่อน ไม่ใช่ว่าหน่วยงานอื่นไม่ทำนะ อันอื่นก็จะทำแต่ว่าขอดูโรงพยาบาลก่อนเพราะว่าด้วยโครงการที่เปิดตัวใหม่ แล้วก็ยังไม่เคยมีมาก่อนก็ทำให้การระดมทุนการบริจาค ก็อาจจะช้านิดหน่อย




แล้วการลงทุนหนึ่งครั้ง ในหนึ่งโรงพยาบาลใช้ได้ประมาณนานไหมครับ 
        ถ้าอายุของอุปกรณ์ แผ่นโซลาร์เซลล์เป็นหลัก  แล้วก็มีตัวอินเวอร์เตอร์  แผ่นโซล่าเซลล์จะอยู่ได้ 25 ปี อายุการ ใช้งาน แล้วจะค่อยลดลงปีละ 2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าประมาณ 25 ปี ยังมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ยังใช้ได้ ส่วนอุปกรณ์สำคัญอันดับที่สองก็คือตัวแปลงไฟ หรือว่าอินเวอร์เตอร์เขาจะรับประกัน 12 ปี หมายความว่า 12 ปี เราก็ต้องเปลี่ยนครั้งหนึ่ง อยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่าย ส่วนการซ่อมบำรุง ก็มีครั้งเดียวก็คือเปลี่ยน นอกจากนั้นก็คือการบำรุงรักษา คือรักษาความสะอาดไม่ให้แผ่นมีฝุ่น มีอะไรแค่นั้นเอง ไม่มีการบำรุงรักษาอย่างอื่น
  
เหตุที่เลือกโรงพยาบาลแก่งคอยเป็นแห่งแรก
        แก่งคอยก็อยู่ในเป้าหมาย แล้วก็มีผู้มีจิตศรัทธาอยู่ในพื้นที่ คือมีคนในพื้นที่ขอบริจาค และก็ระบุว่าให้ติดตั้งที่โรงพยาบาลแก่งคอย เราก็ทำตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค ถ้ามีโรงพยาบาลอื่นติดต่อขอเข้ามาลักษณะเดียวกันนี้ เราก็จะทำให้เขาก่อน


 
จะมีโครงการต่อเนื่องหลังจากนี้เป็นอะไรบ้างครับ 
    สถานที่เป้าหมายต่อไป โรงพยาบาลต่อไปก็จะเป็นที่โรงพยาบาลหลังสวน  ส่วนอันดับที่สามก็จะไป  สังขละบุรี อันนี้ก็จะไล่ๆ กันไปตามลำดับ คือมีเงินบริจาคครบทำได้ตามเป้าหมายคือ 30 กิโลวัตต์   33 กิโลวัตต์ เราก็ทำให้ ทำให้ตามลำดับไป เราก็ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณล้านเอ็ด (1.1 ล้านบาทต่อโรงพยาบาล) แต่จริงๆ แล้วทางผู้ติดตั้งผู้รับเหมาเขาก็ลดราคาให้นะ มีส่วนบริจาคก็คือทำช่วยกัน ไม่คิดกำไร ประมาณนี้ งบจริงๆ ต่ำกว่าล้าน
 
ได้การตอบรับดีไหมในการรับบริจาค การลงทุนเพื่อโรงพยาบาล 
    ประชาชนให้การเป็นสมาชิกในแฟนเพจ หรือว่าเฟซบุ๊คมันก็ยังไม่เปิดกว้าง เพราะสื่อหลักๆ ก็ยังไม่ค่อยกระจายไปมาก คนยังไม่รู้จักหน้าเฟซของโครงการฯ  ถ้าโครงการนี้คนรู้จักมาก อาจจะมีการช่วยเหลือ มีการระดมทุนเข้ามาช่วย แต่ก็ขยับไปก่อน เหมือนว่าเรามีกำลังแค่นี้เราก็ทำไปก่อน ถ้าครบโรงพยาบาลทั้ง 7 แห่งแล้วมีเป้าหมายที่จะทำโรงเรียนต่อไป



นพ.ประสิทธิ์ชัย มังจิตร์
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแก่งคอย จังหวัดสระบุรี
 
เกณฑ์ในการคัดเลือกโรงพยาบาลร่วมโครงการ
        ก็เอาโรงพยาบาลที่สนใจเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ก่อน แล้วก็คิดว่ามีประโยชน์กับโรงพยาบาลก็เชิญชวนโรงพยาบาลที่สนใจเข้ามาร่วมโครงการ ตรงนี้อาจจะเป็นธีมที่ว่า  หนึ่งก็คือเพื่อลดค่าใช้จ่ายโรงพยาบาล  ช่วยกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลรู้จักคุณค่าของพลังงาน แล้วก็เป็นพลังงานที่สะอาด ที่จะมาใช้ตรงนี้นะครับ คือถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้ โดยการระดมทุนจากประชาชน ประชาชนก็จะมีความตระหนักเรื่องนี้ด้วย เข้าใจถึงโซลาร์เซลล์มากขึ้น และประชาชนก็จะได้บุญจากการมาบริจาคให้โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็จะไม่ต้องไปจ่ายค่าไฟเยอะ ก็จะสามารถที่จะมีงบประมาณใช้จ่ายในการซื้อครุภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วยได้อีกมากขึ้น
 
โซลาร์เซลล์จะช่วยประชาชนและผู้ป่วยในด้านใดบ้าง 
        ตรงๆ เลยว่าบริจาคมา อย่างเช่นที่นี่บริจาคมา 33 กิโลวัตต์   ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เดือนละประมาณสองหมื่น ปีละประมาณสองแสน แล้วสองแสนนี่เราก็ย้อนกลับไปในการซื้อยา ซื้อเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ครุภัณฑ์ทางการแพทย์มาดูแลผู้ป่วยได้ อันนี้ตรงๆ เลยที่ได้จากตรงนี้
ที่แก่งคอย 33.75 กิโลวัตต์ คือติดตั้งเรียบร้อยแล้ว พร้อมใช้ทุกอย่าง เปิดใช้งานวันนี้นะครับ (3 เมษายน 2562)
 
สมมติว่าเราจะต่อขยายเพิ่มไปในอนาคตอีกได้ไหมครับ 
        เอาจริงๆ ที่นี่ก็ 33 กิโลวัตต์คงจะไม่เพียงพอสำหรับในส่วนโรงพยาบาลแก่งคอย จริงๆ ต้องใช้อีก อีกสักประมาณ 15 เท่า เพราะเราใช้ค่าใช้จ่ายไฟเดือนละประมาณสี่แสน ถ้าใช้ตรงนี้ก็ต้องใช้อีกประมาณสิบกว่าชุด เราก็ค่อยๆ พยายามขยายจุดต่ออื่นๆ อีกต่อๆ ไป ยิ่งขยายได้เยอะเราก็มีค่าใช้จ่ายที่ลดลง แล้วสามารถมาดูแลผู้ป่วยได้ดีขึ้น
 
สำหรับคนที่อยากบริจาคเพิ่มเติม คุณหมอจะฝากข้อความอะไรบ้างไหมครับ
        การบริจาคอันนี้เป็นการทำบุญที่เป็นการทำบุญต่อยอด คือ        บริจาคเสร็จเรียบร้อยไม่ได้ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง บริจาคครั้งเดียวมีการใช้งานได้ถึง 25 ปี  ตรงนี้ก็จะเป็นการสะสมบุญ บริจาคทีเดียวก็คือมีบุญไปถึง 25 ปี อันนี้ก็จะเป็นส่วนที่เกิดประโยชน์กับโรงพยาบาลแล้วเราก็คิดว่ากระตุ้นที่จะทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของพลังงานมากขึ้นด้วยครับ
        หนึ่งก็คือ โรงพยาบาลก็เป็นส่วนที่ให้บริการประชาชน ถ้าเกิดสามารถมาบริจาคให้โรงพยาบาลแก่งคอยหรือโรงพยาบาลอื่นได้ ก็จะทำให้โรงพยาบาลลดค่าใช้จ่าย แล้วมีเงินไปใช้จ่ายดูแลประชาชน คนเจ็บป่วยได้ดีขึ้น อย่างที่สองเราคงต้องมาช่วยกันประหยัดพลังงานให้มากขึ้น ทำให้ลดภาวะโลกร้อน ลดการใช้พลังงานจากส่วนที่ไม่ได้อยากตัดออกจากธรรมชาติ จากถ่านหิน หรือจากส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็จะเป็นผลระยะยาว PM 2.5 ก็ลดลง  โรคภัยไข้เจ็บก็ลดลง
 
หมายเหตุ
        กองทุนแสงอาทิตย์(Thailand Solar Fund) กองทุนเพื่อความเป็นธรรมด้านพลังงาน เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายส่วนประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน(คอบช), สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ), เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค, สมาคมประชาสังคมชุมพร ,มูลนิธิป่า-ทะเลเพื่อชีวิต, บริษัทศูนย์บ่มเพาะวิศวกร จำกัด , Solarder, โรงเรียนศรีแสงธรรม, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด), เครือข่ายสลัม4ภาค, มูลนิธิภาคใต้สีเขียว, เครือข่ายลันตาโกกรีน Lanta Goes Green, มูลนิธิสุขภาพไทยและ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  
ต้องการบริจาคสนับสนุนกองทุนร่วมบริจาคกับกองทุนแสงอาทิตย์ได้ที่ บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สาขาเซ็นเตอร์วัน ช้อปปิ้งพลาซ่า ชื่อบัญชีกองทุนแสงอาทิตย์ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเลขที่บัญชี 429-017697-4
การบริจาคเงินสามารถใช้ในการลดหย่อนภาษีประจำปีได้ ด้วยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ ลำดับที่ 576 ตามประกาศกระทรวงการคลัง

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

300 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน ผู้บริโภค กองทุนแสงอาทิตย์ โซลาร์เซลล์

ฉบับที่ 278 ทันตกรรมต้องเท่าเทียม เมื่อสิทธิผู้บริโภคก็คือสิทธิมนุษยชน

        ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนานในสังคมไทย           ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดตัวอย่างหนึ่งคือ สิทธิทางทันตกรรม ซึ่งสำนักงานประกันสังคมกำหนดเพดานให้ทั้งการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด จำกัดในวงเงินเพียง 900 บาท ต่อคนต่อปี ตัวเลขดังกล่าวย่อมไม่อาจทำให้ประชาชนไทยมีคุณภาพทันตกรรมที่ดีได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกองุทนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 'บัตรทอง' และระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ที่ต่างกำหนดให้เบิกได้ตามความจำเป็นจริง         ล่าสุด ความเดือดร้อนนี้ประชาชนได้นำเข้าร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแล้ว สุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับเรื่องไว้ตั้งแต่วันแรกและยังคงส่งเสียงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันยกระดับสิทธิของผู้ประกันตนในประกันสังคม เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติ สร้างความเป็นธรรมในสังคมไทย  คุุณสุภัทราช่วยแนะนำตัวให้ หลายๆ คนได้รู้จักหน่อยค่ะ         ปัจจุบันทำงานเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นกรรมการสิทธิในสายเรียกว่า เป็นผู้มีประสบการณ์ ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ไม่น้อยกว่า 10 ปี พื้นฐานพี่เป็นนักกฎหมาย  เป็นทนายความ เริ่มต้นทำงานเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ได้เป็นมูลนิธิ แล้วก็ได้ไปทำงานที่กลุ่มเพื่อนหญิง ในปี 2536 มาทำงานทางด้านเอช ไอวี  จนตั้งองค์กร ชื่อว่า ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ซึ่งทำงานกับคนหลายกลุ่มทั้งผู้ใช้ยาเสพติด แรงงานข้ามชาติ แล้วทำเรื่องนี้มาจนกระทั่งมาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเลย         การได้เข้ามาร่วมในงานคุ้มครองผู้บริโภคก็เป็นพันธมิตรอยู่แล้ว ทำด้วยกันมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่ผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิทธิผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ พี่ได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ แล้วก็มาช่วยเครือข่ายผู้บริโภคขับเคลื่อนเรื่องกฎหมาย จนสุดท้ายออกมาเป็น พ.ร.บ. จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เราก็ทำงานกับผู้บริโภคมาโดยตลอด พี่มองว่าสิทธิผู้บริโภคก็คือสิทธิมนุษยชน  มีประชาชนเข้าไปใช้สิทธิร้องเรียนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่น้อยและหลากหลายเรื่อง         ใช่ ต้องเริ่มจากการเข้าใจ บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก่อน เรามีอำนาจตาม พระราชบัญัติประกอบรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมาทั้งจากคนมาร้องเรียนหรือกรรมการสิทธิฯ จะยกขึ้นมาเองก็ได้เช่น เรื่องทหารตายในค่าย หากเราสงสัยว่าเป็นการซ้อมทรมานหรือเปล่า เราอาจจะเขียนเป็นข่าวเสนอให้ยกขึ้นมาตรวจสอบก็ได้ ถ้าพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็จะต้องมีรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนออกมา และมีข้อเสนอแนะไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา หรือใครก็ตามเพื่อให้ป้องกัน แก้ไข  เยียวยา ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก         การทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำมากกว่ากฎหมายภายในประเทศ ในมาตรา 4  เขียนว่ากฎหมายสิทธิมนุษยชนมากกว่ากฎหมายภายในประเทศ เป็นพันธะกรณีกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยให้การรับรองทั้งหมด จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่มีกฎหมายภายในประเทศแล้วเราจะไม่คุ้มครอง เราก็อาจจะยื่นข้อเสนอให้มีการตรากฎหมายให้มันสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนก็ได้  บทบาทที่หนึ่งจึงเป็นการคุ้มครองสิทธิ  ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ สอง คือการส่งเสริมสังคมเคารพสิทธิมนุษยชน  เรามีหน้าที่ส่งเสริมหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สร้างการเรียนรู้  เรื่องสิทธิมนุษย์ชนเพื่อให้คนเคารพกัน ไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อกัน และสาม คือเรามีหน้าที่ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ ไม่ว่าจะเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับ ใด ๆ ที่มีคนร้องว่า กฎระเบียบนี้ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เช่นที่เขาจะเลือกตั้งกรรมการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมออกประกาศว่า  ผู้เลือกตั้งประกันสังคมต้องมีสัญชาติไทย เรากรรมการสิทธิจึงเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ชี้แจงสอบถาม สุดท้ายก็เป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะผู้ที่ส่งเงินสบทบที่ไม่ใช่สัญชาติไทยมีอยู่กว่า 1,400,000 คน เป็นการกีดกัน         กรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบัน มี 7 ท่านแต่ละท่านก็จะแบ่งงานกันงานกันไปในประเด็นต่าง ๆ พี่ดูเรื่องสิทธิผู้บริโภค สิทธิแรงงาน สิทธิของกลุ่มเปราะบาง ความหลากหลายทางเพศ เราแบ่งงานกันดูแลแต่เมื่อจะออกรายงานหรือมีข้อเสนอออกไป เราก็ได้คุยกันทุกคน จนมีมติร่วมกันเรื่องล่าสุดที่เพิ่งออกรายงานไป คือเรื่องประกันโควิด   มีผู้เสียหายหลายหมื่นคน และความเสียหายประมาณ 68,000 ล้าน  ต้องใช้เวลาประมาณ 40 ปี ถึงจะใช้หมด แล้วเราก็เชิญหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยกันหาทางออก   เมื่อปี 2566 มีประชาชนได้เข้าไปร้องเรียนเรื่องสิทธิทันตกรรม ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร         ใช่ค่ะ  มีคนมาร้องว่าเขาเป็นผู้ประกันตน มีสิทธิประกันสังคม แล้วไปใช้สิทธิในการทำฟัน แล้วปรากฎว่า เขาก็ได้แค่ 900 บาท ซึ่งเมื่อเทียบแล้วน้อยกว่าสิทธิบัตรทอง เมื่อเทียบแล้วเขาจ่ายเงินสมทบด้วย แต่ทำไมเขาได้สิทธิน้อยกว่า บัตรทอง แล้ว 900 ครอบคลุมแค่ 4 อย่าง ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และถอน/ผ่าฟันคุด นอกนั้นไม่ครอบคลุม เขารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เขาเลยอยากให้เราตรวจสอบ เราจึงเชิญ กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม สำนึกทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ทันตแพทยสภา เชิญชุมชนผู้ประกันตน  องค์กรผู้บริโภค เชิญทุกฝ่ายมาชี้แจงให้ข้อมูล         มุมมองของสำนักงานประกันสังคมเขามองว่าปฏิบัติต่อผู้ประกันตนเสมอเหมือนกัน ไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือกีดกัน ความหมายของเขาคือในกลุ่มผู้ประกันตน เขาปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันคือได้แค่ 900/คน / ปี ผู้ประกันตนทุกคนก็ได้เหมือนกัน แต่การออกประกาศกำหนดให้ผู้ประกันตน  มีสิทธิเบิกค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด จำกัดในวงเงินเพียง 900 บาทต่อคนต่อปี ขัดกับพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่จะต้องได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน และเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน         ผู้ที่มาร้องเรียนเขายังมองอีกว่า ในสิทธิประกันสังคมยังเป็นกลุ่มที่เขาจ่ายเงินตนเองเข้าไปสมทบ แต่สิทธิยังได้น้อยกว่า คนประกันสังคมเป็นคนกลุ่มเดียวที่ยังต้องจ่ายค่าสุขภาพของตัวเอง ขณะที่สิทธิของประชาชนในบัตรทองสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนมันจึงเป็นความเหลื่อมล้ำ สิทธิของประกันสังคมไม่ควรจะต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง เพราะว่าประกันสังคมยังมีการจ่ายเงินเพิ่มเข้าไปอีก         หลังจากฟังได้ข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติรับรองว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องใดจะกระทำมิได้และบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ  โดยรัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและบัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งสอดคล้องกับกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) เราจึงถือได้ว่า สำนักงานประกันสังคมกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ประกันตน ปัจจุบันเรื่องนี้ ดำเนินการอยู่ในขั้นตอนไหน         เราจัดวงที่รับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายไปเมื่อช่วงต้นปีนี้ หลังจากนั้นเรามีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปยังคณะกรรมการประกันสังคม (ผู้ถูกร้อง) และคณะกรรมการการแพทย์  ให้ปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โดยยกเลิกการกำหนดเพดานค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานในวงเงินไม่เกิน 900 บาท ต่อคนต่อปี และกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมให้ไม่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง         นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้คณะกรรมการประกันสังคมและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันดำเนินการให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ตามมาตรา 5 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว มีข้อเสนอที่เราออกไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 และเราได้ส่งรายงานและข้อเสนอแนะไปให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานประกันสังคมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)         หลังจากนี้คณะกรรมการสิทธิเรามีคณะกรรมการติดตามข้อเสนอแนะว่า หลังจากมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว เขาได้ดำเนินการต่อไปอย่างไร ได้ดำเนินการหรือไม่ ติดขัดหรือมีอุปสรรคอะไรที่เราจะเข้าไปช่วยได้ เราก็อยากให้ข้อเสนอเราเป็นจริงในทางปฏิบัติ ไม่ได้แค่เสนอไป ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงของการติดตามการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ  ความเหลื่อมล้ำในการได้รับสิทธิเข้ารับบริการสาธารณสุขของทั้ง 3 กองทุนมีมานานแล้ว เป็นไปได้ไหมที่จะมีความเปลี่ยนแปลงให้เท่าเทียมกัน หรือพูดง่ายๆ ว่ารวมกันหมด         พี่เชื่อว่าทำได้ ถ้าพูดในหลักการ เชิงการบริหารจัดการแต่การทำได้ต้องมีความกล้าหาญทางการเมือง เพราะจุดเริ่มต้น มาจากสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการเริ่มมีก่อน แล้วมีประกันสังคม แล้วมีบัตรทอง จริงๆ แต่ถึงสิทธิบัตรทองจะเกิดขึ้นภายหลัง แต่ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติย่อมต้องการให้ประชาชนไทยทุกคนได้สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว การที่แยกบริหารมันก็เป็นความสิ้นเปลือง   แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ยุบสำนักงานประกันสังคมแต่ประกันสังคมก็ไม่ได้มีความชำนาญ ไม่ได้มีหมอเป็นของตนเอง อย่างน้อยที่สุด ไม่รวม 3 กองทุน ก็รวม 2 คือรวมประกันสังคมกับบัตรทอง  แล้วรัฐบาลก็จ่ายค่าหัวให้เหมือนกับบัตรทองส่วนสำนักงานประกันสังคมก็ดูแลอีก 6 สิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนเหมือนเดิม แต่สิทธิทางด้านการรักษาพยาบาลด้านสาธารณสุขนำมารวมกัน แล้วอาจทำให้เงินที่เราจะได้จากสำนักงานประกันสังคม เพื่อเอามาใช้ตอนแก่ มีมากขึ้นก็ได้ สิทธิการรักษาของข้าราชการหลายคนก็อาจจะมองว่าดี แต่ทุกสิทธิมีช่องโหว่นะ สิทธิการรักษาของข้าราชการ เมื่อใช้สิทธิฉุกเฉินก็ทำให้ต้องจ่ายเงินเองเยอะได้ ส่วนสวัสดิการบัตรทองมีกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อเข้ารับการรักษาแล้วได้รับความเสียหายที่ไม่ใช่จากพยาธิสภาพของโรค เช่นไปผ่าตัดแต่มีอะไรหลงลืมไว้ในท้อง ส่วนของข้าราชการไม่มีกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้นแบบนี้มีอะไรต้องไปฟ้องศาลกันอย่างเดียวเลย   ปัจจุบันคุณสุภัทรามองว่ามีสถานการณ์อะไรที่ผู้บริโภคควรจะต้องตื่นตัวหรือตื่นรู้ให้เท่าทันบ้าง         คือในปัจจุบันพี่คิดว่า โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ ปัญหามันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตอนนี้โจทย์เรื่องการทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็งเป็นโจทย์ใหญ่  ซึ่งเหตุผลของการมีสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าเป็นเหตุผลสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภค มันเป็นเรื่องที่ถูกพิสูจน์มาทั้งโลก จากการที่เราไปประชุมระดับโลกมาแล้ว เขาพบว่า ต่อให้มีกฎหมายดีเข้มแข็งแค่ไหนแต่ถ้าผู้บริโภคไม่เข้มแข็งก็ไม่ค่อยจะมีผลอะไรมากนัก  ฉะนั้นการทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็งจึงมีความสำคัญมากๆ          แล้วความเข้มแข็งคืออะไร ก็คือการที่ผู้บริโภครู้สิทธิ รู้ช่องทาง ร้องเรียนและมีการรวมกลุ่ม เพราะการไปสู้กับผู้ประกอบการ ประชาชนตัวเล็กๆ ควรต้องรวมตัวกัน เมื่อรวมกลุ่มแล้วจะได้ช่วยกันส่งเสริมต่อรอง เรียกร้องสิทธิ เผยแพร่เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ขณะเดียวกันเราก็ต้องดูด้วยว่ากฎหมายของเรามีช่องว่างอะไรที่อาจทำให้ไม่เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ ก็ต้องทำให้เป็นมาตรฐานสากล   การใช้สิทธิร้องเรียนของผู้บริโภค คุณสุภัทราเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร         แน่นอน คือเราไม่มีทางรู้เลยนะว่าปัญหาของผู้บริโภคคืออะไร ถ้าผู้บริโภคไม่มาร้องเรียนซึ่งปัจจุบันเราก็มีตัวเลขชัดเจนเลยนะว่า สถิติการร้องเรียนของผู้บริโภคยังมีแค่ 2 % เท่านั้นที่มาร้องเรียน กลุ่มสองเปอร์เซ็นต์นี้เขาเป็นหน่วยกล้าตายมากเลยเพราะถ้าไม่เหลือทนจริงๆ เขาก็ไม่มาร้องเรียนหรือว่าดำเนินการถูกไหม ดังนั้นการร้องเรียนสำคัญมาก ไม่อยากให้เก็บไว้ บางเรื่องมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่เมื่อนับจำนวนคนที่ต้องมาเจอปัญหาหรือมาถูกหลอกก็เป็นมูลค่ามหาศาล อยากจะให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิของเรา เรามีสิทธิที่จะได้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน เพียงพอในการตัดสินใจในการซื้อหรือไม่ซื้อบริการ และเมื่อเราซื้อสินค้าและบริการไปแล้วมันไม่ตรงปก เราก็ไม่ควรจะเก็บเรื่องเอาไว้ว่า ช่างมันเถอะ แค่ 50 บาท 80 บาท 100 บาท แต่รวมแล้วกี่คนที่ต้องมาถูกหลอก การที่บอกว่าร้องเรียนหนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง  มันก็ยังจริง  บ่นแล้วมันไม่เกิดประโยชน์อะไร การร้องเรียนคือ การเดินออกมาบอกว่ามันเกิดอะไรขึ้นและจะไม่ปล่อยให้ปัญหามันอยู่ต่อ จะต้องมีการแก้ไข  เพื่อไม่ให้ปัญหามันเเกิดขึ้นต่อไป         มีเรื่องหนึ่งที่่อยากจะแชร์มาก นานแล้วมีกรณีที่โรงพยาบาลจะเก็บเงินค่าบำรุง  20 บาท มีใบเสร็จให้ด้วยแล้วมีประชาชนเอาเรื่องนี้ไปฟ้องศาลปกครองว่า การเก็บเงินค่าบำรุงแบบนี้ใช้อำนาจตามกฎหมายอะไร แล้วเงินบำรุงมันควรจ่ายตามความสมัครใจไหม ไม่ใช่การเก็บอัตโนมัติ  เขาก็ไปฟ้องศาลปกครอง ศาลก็พิจารณาอยู่เป็นปี คนอื่นอาจมองว่ามันแค่ 20 บาท แต่สุดท้ายศาลมีคำวินิจฉัยว่าไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายใด ที่ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเก็บเงินบำรุงได้ แล้วเงินบำรุงไปดูระเบียบโรงพยาบาลมันเหมือนเงินบริจาคมันต้องสมัครใจไม่ใช่การเก็บแบบแบบอัตโนมัติแบบนี้  พอศาลมีคำพิพากษาแบบนี้โรงพยาบาลต่างๆ  ก็ยกเลิกการเก็บเงินบำรุงทั้งหมด คนที่ไปอาจเริ่มจากตนเอง แต่คุณอาจไม่รู้ว่ามันจะนำไปสู่อะไรบ้าง นี่คือตัวอย่างที่เกิดขึ้น เรื่องเล็กๆ ก็เป็นฐานของเรื่องใหญ่ๆ ถ้ามันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง มันก็ส่งผลให้คนอีกหลายคน อาจทั้งสังคมได้รับประโยชน์ด้วย  

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 อยู่ยากไหมในวันที่ “เอไอ” ล้อมเมือง

        วันที่ 15 มีนาคมของทุกปีเป็นวันผู้บริโภคสากล และในปี 2024 นี้สหพันธ์องค​กรผู้บริโภคสากล หรือ Consumers International ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วโลกรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ในเรื่องผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ต่อการใช้ชีวิตของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งแง่มุมของการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างเป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ         ในโอกาสดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค ประเทศไทย ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “เราจะช่วยกันยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคไทยได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต และ ฉลาดซื้อ ได้มีโอกาสคุยกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.โซธี ราชการ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนิไล (Nilai University) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรที่ได้รับเชิญมาในงานเสวนาดังกล่าว______ เรามีประเด็นที่น่าสนใจจากวงเสวนาและการพูดคุยมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ความท้าทายของผู้บริโภคในยุค AI         ผมตั้งข้อสังเกตว่า ใน “ระเบียบโลกใหม่” ที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำธุรกิจแทบทุกประเภท เราจะพบความเหลื่อมล้ำมากขึ้นระหว่างคนที่สามารถและคนที่ไม่สามารถเข้าถึงถึงเทคโนโลยี ยกตัวอย่างที่มาเลเซียซึ่งการประปาฯ ได้ยกระดับการบริหารจัดการและนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาจัดการทั้งหมด รวมถึงเรื่องการแจ้งข่าวสารเรื่องการให้บริการ/การหยุดจ่ายน้ำ แต่ปัญหาคือการแจ้งอัตโนมัตินี้มันจะส่งไปยังผู้ใช้สมาร์ตโฟนเป็นหลัก คำถามคือแล้วคนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนจะรู้ข่าวนี้ได้อย่างไร         แล้วเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอัปเกรดอยู่ตลอดเวลา พอเราเริ่มเข้าใจ เริ่มจะเชี่ยวชาญการใช้ มันก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว ขณะเดียวกันรูปแบบตลาดก็เริ่มเปลี่ยนจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน “สินค้า” เป็นการซื้อขาย “บริการ” มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง         นอกจากความไม่แน่นอนเรื่อง “ความเสถียร” ของระบบที่ทำให้มันง่ายต่อการเจาะ ผู้บริโภคก็มีโอกาสพบปัญหามากขึ้น เช่น มีแนวโน้มจะถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น หรืออาจถูกมิจฉาชีพหลอกลวงได้ง่ายขึ้น โฆษณาที่เราเห็นก็ถูกออกแบบมาให้ตรงความต้องการของเรามากขึ้น หรือแม้แต่เมื่อเราจะทำ “สัญญา” กับผู้ประกอบการ เราแต่ละคนก็อาจได้สัญญาที่เนื้อหาสาระไม่เหมือนกัน (ทั้งที่ซื้อผลิตภัณฑ์เดียวกัน) ซึ่งเป็นผลงานของอัลกอรึธึม นั่นเอง         ที่น่ากังวลอีกอย่างคือผู้บริโภคยังมีความเข้าใจค่อนข้างน้อยในเรื่อง “ตัวตนดิจิทัล” ที่เราใช้ในการซื้อสินค้าออนไลน์ ทั้งๆ ที่ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับตัวเรา ธุรกรรมของเรา ถูกบันทึกจัดเก็บอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการรายใหญ่มีอำนาจเหนือเรามากขึ้น เราควรทำอย่างไร         ก็ต้องยอมรับความจริงว่าเราต้องอยู่กับเทคโนโลยีนี้ หลีกเลี่ยงมันไม่ได้ สิ่งที่ควรจะต้องมีก็คือการกำกับดูแลที่ดีขึ้นด้วยการ “คิดใหม่ทำใหม่” เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ในยุคของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เราจะเห็นว่ามีธุรกิจทั้งรายใหญ่รายเล็กเพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา ถามว่าหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคจะรับมือกับผู้ประกอบการเป็นล้านรายเหล่านี้ได้อย่างไร ไม่ว่าประเทศไหนก็ไม่สามารถจัดหาบุคลากรมารับมือกับเรื่องนี้ได้เพียงพอหรอก ต่อให้คุณมีเจ้าหน้าที่สักหมื่นคน คุณคิดว่าจะจัดการพวกนี้ได้หมดไหม         ที่เราทำกันอยู่ตอนนี้คือการออกไปสุ่มตรวจเป็นครั้งคราว หรือจัดการแก้ไขเรื่องที่ผู้บริโภคมาร้องเรียน ส่วนตัวผมมองว่าเราต้องเพิ่มบทบาทของมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ การรายงานต่อสังคมโดยบริษัท         เราต้องมีวิธีที่ดีขึ้นในการที่จะทำให้คนเหล่านี้ปฏิบัติตามกฎหมาย และสร้างวัฒนธรรมที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมาร้องเรียนพฤติกรรมแย่ๆ ของผู้ประกอบการไปเลย         ผมมองว่าสิ่งที่เราต้องการคือ การเปลี่ยน “วัฒนธรรม” ในเรื่องนี้ ไม่ใช่ใครทำผิดก็ตามปรับมันไปเรื่อย แปลว่าใครจ่ายค่าปรับได้ก็ทำผิดได้อย่างนั้นหรือ ผมยกตัวอย่างกรณีของออสเตรเลีย ถ้าคุณไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วราคาที่ปรากฎตรงแคชเชียร์มันแพงกว่าที่แสดงไว้บนชั้นวาง คุณจะได้ของชิ้นนั้นกลับบ้านไปเลยโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ต้องให้ใครโทรเรียกผู้จัดการให้ลงมาเคลียร์ หรือต้องกรอกแบบฟอร์มร้องเรียนอะไรให้ยุ่งยาก มันต้องทำให้ธุรกิจมีกฎระเบียบในการจัดการตัวเองเมื่อทำผิด ไม่ใช่แค่มีหน่วยงานรัฐมาบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย         แล้วหลังจากนั้นเราค่อยมาพูดกันเรื่องการให้ความรู้กับผู้บริโภค การรับเรื่องร้องเรียนยังสำคัญไหม         แน่นอน อีกประเด็นที่ผมอยากพูดคือ เรื่องที่คนเขาร้องเรียนเข้ามาก็สำคัญนะ มันควรจะมีการ “ออดิท” ข้อมูลเรื่องร้องเรียนโดยบุคคลภายนอกด้วย ถ้าองค์กรหนึ่งเคลมว่าสามารถแก้ไขเรื่องร้องเรียนได้ร้อยละ 98 ร้อยละ 99 ผมว่าทำใจให้เชื่อได้ยากเหมือนกันนะ เขาอาจจะทำได้จริงก็ได้ แต่เราก็ควรมีคนนอกมาตรวจสอบ แล้วคำว่า “แก้ไข” หมายถึงอะไร หรือแม้แต่ “เรื่องร้องเรียน” มันหมายความว่าอะไร ถ้าผมโทรมาแจ้งว่าไฟฟ้าที่บ้านดับแพราะมีอุปกรณ์บางอย่างเสีย แล้วเขาก็ส่งคนมาซ่อมให้ แบบนี้เรียกว่าเรื่องร้องเรียนไหม หรือว่าเรื่องร้องเรียนในที่นี้คือกรณีที่ผมต้องรอถึงสามวันกว่าจะมีช่างมาซ่อมให้           หลักๆ คือ เราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่าเรื่องแบบไหนถือเป็นเรื่องร้องเรียน         ขั้นที่สองคือต้องแยกแยะว่าเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาเป็นชนิดไหน แล้วสาม ซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ผู้ร้องเรียนเป็นใคร คนจนร้องเรียนเข้ามาไหม คนเปราะบางร้องเรียนไหม คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลร้องเรียนเข้ามาไหม หรือว่าคนที่ร้องเรียนก็คือคนเดิมที่ร้องเข้ามาเป็นประจำ ความจริงอาจจะมีคนที่ไม่ได้ร้องเข้ามาเพราะไม่ถนัดเขียนอีเมล ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีสมาร์ตโฟน ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีปัญหา         แล้วหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนเองก็มีทรัพยากรจำกัด ไม่ว่าจะด้านเงิน บุคลากร หรืออื่นๆ เราต้องตั้งคำถามว่าเรากำลังใช้ทรัพยากรเหล่านั้นเพื่อช่วยเหลือคนที่ “จำเป็น” ต้องได้รับความช่วยเหลือจริงหรือเปล่า ถ้าเรามีข้อมูลรอบด้านทั้งที่เกี่ยวกับปัญหาที่ร้องเรียน รวมถึงตัวผู้ร้องเรียน ก็จะตอบคำถามนี้ได้ การคุ้มครองผู้บริโภคในมาเลเซีย         โดยรวมแล้วมาเลเซียมีกฎหมายที่ดี ครอบคลุม มีการปรับปรุงแก้ไขให้เท่าทันสถานการณ์ปัญหามาโดยตลอด เช่น ล่าสุดมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งผมมองว่าทำได้ดีก่อนหน้านี้กฎหมายเราไม่ครอบคลุมการซื้อขายออนไลน์ ก็แก้ไขให้ครอบคลุม แต่น่าเสียดายที่เรายังไม่ได้เพิ่มเขี้ยวเล็บให้กับกฎหมายอีคอมเมิร์ซมากเท่าที่ควร         ในเรื่องของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตอนนี้มาเลเซียให้อำนาจกับเจ้าหน้ารัฐที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน ในการเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงซอร์สโค้ดได้         ส่วนเรื่องของความยั่งยืน ตอนนี้รัฐกำหนดให้มีการให้ความรู้ประชาชนเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน รวมถึงด้านผู้ประกอบการก็ต้องมีการผลิตที่ยั่งยืนด้วย เรามีกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทส่งรายงานประจำปีว่าด้วยความยั่งยืน (ทางสิ่งแวดล้อม สังคม และการพัฒนา)         ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูล “รอยเท้าคาร์บอน” แต่เรื่องนี้ก็มีผลทางลบเหมือนกัน สายการบินในมาเลเซียขอขึ้นค่าโดยสารโดยอ้างว่าบริษัทต้องมีการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม         เราได้เห็นความพยายามที่จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการมากขึ้น แต่ผมสงสัยว่ามันจริงแค่ไหน หรือเป็นแค่การกล่าวอ้างให้เป็นไปตามเทรนด์เราทุกคนล้วนเปราะบาง         “เมื่อก่อนนี้พอพูดถึง “กลุ่มเปราะบาง” เราจะนึกถึงคนยากจน ผู้ป่วย หรือผู้พิการ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองดูแลเป็นพิเศษ แต่ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้ในการทำธุรกิจมากขึ้น “เราทุกคน” มีความเปราะบางในบริบทที่แตกต่างกัน เช่น คนมีการศึกษาที่ไม่ถนัดเรื่องไอที หรือ คนรู้กฎหมายที่ไม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการเงินการธนาคาร ก็อยู่ในกลุ่มเปราะบางเช่นกัน”         อีกเรื่องที่ผมมองว่าเป็นปัญหาในปัจจุบันนี้คือดูเหมือนเราจะไม่ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในแบบที่มีมนุษยธรรมมากพอ เราทำให้คนอื่นต้องอับอาย ด่าว่าเขาออกสื่อ มีแต่เรื่องลบๆ ในโซเชียลมีเดียที่สร้างความเกลียดชัง อาจเป็นความเกลียดชังระหว่างชุมชน เชื้อชาติ เราต้องช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ที่น่าเป็นห่วงคือนักการเมืองก็กำลังหาประโยชน์จากเรื่องแบบนี้        เรื่องดีเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งที่อินโดนีเซียที่ผ่านมาคือ ไม่มีผู้สมัครคนไหนเอาเรื่องที่ผู้คนโจมตีกันในโซเชียลมีเดียมาใช้ในการหาเสียงเลย เขาพูดกันแต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการพัฒนา ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะมีการกำหนดกติกาอย่างจริงจังโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการเลือกตั้ง หรือแม้แต่กรณีที่ผู้บริโภคที่ใช้วิธีโพสต์ต่อว่าผู้ประกอบการออกสื่อ ทั้งที่ความจริงแล้วการแก้ไขปัญหาจริงๆ ควรเป็นการพูดคุยกับผู้ประกอบการโดยตรง เอาข้อเท็จจริงมาคุยกันมากกว่า         เราไม่มี “ผู้หลักผู้ใหญ่” ในโซเชียลมีเดียที่ออกมาพูดอะไรเรื่องนี้บ้างหรือ ผมว่ามันแปลกมาก ผู้คนในภูมิภาคนี้เวลาเจอกันตัวต่อตัวก็สุภาพตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา แต่ทำไมตัวตนออนไลน์ของพวกเขาถึงได้ร้ายกาจขนาดนั้น หรือเพราะความห่างเหิน ห่างไกล ในสื่อสารผ่านเทคโนโลยีก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 ผังเมืองกรุงเทพต้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

        ช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา หลายปัญหาได้วิกฤตขึ้นในกรุงเทพมหานคร ทั้งปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ลุกลามมาถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด และปัญหาฝุ่น PM 2.5  ทั้งหมดนี้ ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร         ปัจจุบัน เมื่อกรุงเทพมหานคร ได้กำลังจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ภาคประชาสังคมในวันนี้ได้ตื่นตัว ให้ความสนใจเพราะอยากให้ผังเมืองฉบับใหม่เอื้อให้คนกรุงเทพมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เกิดขึ้นจริงๆ  ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในผู้ที่ ติดตามการพัฒนาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่เริ่มจัดทำตั้งแต่ในปี 2562 ปฐมพงศ์สนใจและเข้ามาเกี่ยวข้อง เคลื่อนไหวด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ช่วงปี 2540 ที่เขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการอยู่อาศัยในคอนโดโดยตรง การทำงานที่ผ่านมาจากในบทบาทผู้อยู่อาศัยคนเล็กๆ ในเมืองใหญ่ สู่การเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการสร้างอาคารสูงในซอยแคบที่ส่งผลเดือดร้อนต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม วันนี้เขายืนยันว่ายังคงต้องคัดค้านผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ฉบับนี้ หากยังไม่มีการเริ่มต้นจัดทำใหม่ด้วยการเปิดรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง   ขอเริ่มคำถามง่ายๆ ก่อนว่า ผังเมือง คืออะไร เพราะหลายคนอาจยังไม่ทราบ และจะได้เข้าใจว่า กฎหมายผังเมืองจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองอย่างไร         ถ้าพูดให้เห็นภาพว่า ผังเมืองคืออะไรให้ลองนึกถึงว่า สมมุตว่าเรามีบ้านหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้เราก็จะผังบ้านของเราว่ากว้างยาวเท่าไหร่ มีคอกสัตว์ แปลงผัก ไปจนถึงขอบเขตรั้วบ้านอยู่ตรงไหน แผนผังนี้คือกระดาษที่เหมือนเวลาเรามองลงมาจากที่สูง จะบอกทุกอย่างว่ามีอะไรบ้างซึ่งตรงนี้แค่บ้านหลังหนึ่ง พอใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้าน ตำบลย่อมต้องมีแผนที่แบบนี้แน่นอน ที่สำนักงานเขตเขาก็จะมีแผนที่ แผนที่ทุกคนคงจะนึกออก แต่ผังเมือง  จะมีรายละเอียดข้างในด้วยที่กำหนดให้อะไรอยู่ตรงไหน ศูนย์การค้าอยู่ตรงนี้ ที่อยู่อาศัยอยู่ตรงนี้ ผังเมืองคือแผนที่อันหนึ่งที่จะบอกว่าในเมืองๆ นั้นมีอะไรบ้าง           แต่นอกจากผังเมืองจะบอกว่า อะไรอยู่ตรงไหนแล้ว ผังเมืองยังมีข้อกำกับลงไปด้วยว่า ไม่ให้มีอะไร หรือ ห้ามสร้าง ห้ามปลูกอะไร ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอาจมาจากตรงนี้คือห้ามสร้าง เมื่อมาสร้างจึงผิดกฎหมาย         กฎหมายผังเมืองจึงเป็นกฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชนด้วยเช่นกัน หากเป็นบ้านเราเองจะปลูกต้นไม้ ดอกไม้ หรือจะตั้งถังขยะตรงไหน ย่อมทำได้ แต่พอเป็นเมืองแล้ว ผังเมืองจะกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนที่อยู่อาศัยในเมือง จึงกำหนดข้อห้ามสำคัญเช่นพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ห้ามสร้างตึกสูงใดๆ  ตรงนี้ห้ามสร้างตึกสูงเกินเท่าไหร่ ในแต่ละจังหวัดตอนนี้มีผังเมืองจังหวัด  ผังเมืองกรุงเทพ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง           ผังมืองรวมกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา เรามีมาแล้วทั้งสิ้น 4 ฉบับ ทั้ง 4 ฉบับเป็นไปตามพระราชบัญญัติผังเมืองปี 2518  ครั้งนี้เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 4 หากมีการประกาศใช้จะเป็นฉบับที่ 5  ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 เริ่มมีปัญหาจากจุดไหน         ต้องบอกว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพ เรามีมาตั้งแต่ปี 2556 และทุก 5 ปี กฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำใหม่ และหลังจากประกาศใช้ทุก 2 ปี จะให้มีการประเมิน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำมาเช่นนี้ แต่การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพที่ถึงกำหนดในปี 2561 มีกฎหมายสำคัญคือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดว่ากฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชนในด้านต่างๆ ก่อนจะดำเนินการต้องไปทำประชาพิจารณ์ก่อน  นอกจากนี้ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับที่ปรับปรุงในปี 2561 กว่าจะทำเสร็จยังมีการประกาศใช้ของ พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562 มาแทนฉบับปี 2518         การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพ ครั้งที่ 4 ครั้งนี้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562  สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจาก พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2518 ที่กำหนดให้มีการจัดทำผัง 4 ประเภท ได้แก่ 1) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้นำแนกประเภท 2) แผนผังแสดงที่โล่ง 3) แผนผังแสดงโครงสร้างคมนาคมและขนส่ง และ 4) แผนผังโครงการกิจการสาธารณูปโภค ขณะที่ พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 กำหนดให้มีการจัดทำผัง 6 ประเภท โดยเพิ่มแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำเข้ามาด้วย         พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 ยังกำหนดให้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวม                ดังนั้นการที่กรุงเทพมหานคร นำร่างผังเมืองรวมที่ทำมาตั้งแต่ปี 2561 - 2562 มาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเลย จึงเป็นการทำมาแล้ว ว่าอยากให้อะไรอยู่ตรงไหน  ไม่ได้เป็นการเปิดรับฟังเสียงจากประชาชนเพื่อทำขึ้นใหม่จริงๆ   ความเดือดร้อนนี้ที่ทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านจำนวนมาก         ใช่ กฎหมายผังเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั้งหมด และกรุงเทพมีพื้นที่ 50 เขต แต่ละเขต มันต่างกันมาก บางขุนเทียนเป็นพื้นที่มีชายฝั่งทะเล  เราไม่อยากให้มีการกัดเซาะ จึงไม่ค่อยมีการตั้งอุตสาหกรรม  ส่วนพื้นที่หนองจอกส่วนใหญ่ทำนา การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดิมต้องคำนึงสภาพที่เป็นและข้อจำกัดด้วย         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นี้ยังจะมีการขยายพื้นที่ถนน พื้นที่แก้มลิง พื้นที่รับน้ำ ทำให้ประชาชนถูกเวนคืนที่ดิน บางพื้นที่หมู่บ้านหายไปหมด ถนนจาก 4 เมตร จะขยายเป็น 12 เมตร  คนจะเดือดร้อนมาก เรามองว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้มุ่งเน้น เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์   การขยายถนน การกำหนดพื้นที่ให้เปลี่ยนจากพื้นที่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นปานกลาง จากหนาแน่นปานกลางเป็นหนาแน่นสูง หรือให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม  ทั้งหลายนี้เหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ในความเป็นจริง กรุงเทพไม่อาจขยายตัวได้มากแล้ว จึงเกิดอาคารสูงกระจุกตัวอยู่ส่วนกลาง แต่เมืองนี้เราไม่ได้มีแต่คนรวย  ยังมีคนเข็นผักในตลาด รปภ. ตำรวจ พยาบาล ทหาร บุรุษไปรษณีย์ การถูกเวนคืนที่  การเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เป็นความเดือดร้อนที่ค่อยบีบคนอยู่อาศัยธรรมดาให้ออกจากเมือง  การที่ยังให้มีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบทั้งที่สร้างไม่ได้ ได้สร้างความเดือดร้อนให้ทุกคนในซอย รถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่แค่ช่วงเข้าไปสร้าง ก็เดือดร้อนแล้ว อาคารที่สูงมากๆ ก็จะสร้างขยะเยอะ ใช้ไฟเยอะ  น้ำเสีย มันเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยทั้งหมด            แล้วข้อความเห็นว่าเหมือนบีบคนออกจากเมือง เขาก็บอกว่าก็มีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ขยายออกไปเรื่อยๆ แต่ระบบรถ BTS ของเรามันไม่ได้เชื่อมต่อกัน ประชาชนยังแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4  ยังมีโบนัสให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายเรื่องมากๆ ที่ดำเนินการแล้ว เขาสามารถนำไปเพิ่มพื้นที่การสร้างอาคารให้สูงขึ้นได้  ช่วยขมวด 3 เรื่องสำคัญที่ประชาชนควรช่วยกันเฝ้าระวังในผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ครั้งนี้           หนึ่ง ผังเมืองรวมฉบับนี้ทำให้ กรุงเทพมีพื้นที่หนาแน่นขึ้น เดิมความหนาแน่นของกรุงเทพตอนนี้คือราว  3,500 คน/ ตร.กม แต่หากรวมประชากรแฝงเราคาดว่าน่าจะถึง 10,000 คนต่อ / ตร.กม เมื่อคนอยู่อาศัยกันแน่นขึ้น ปัญหาอีกสารพัดจึงจะตามมาอีกมาก  สอง ผังเมืองรวมฉบับนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการระบายน้ำ  เรามีน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 มาแล้ว ยิ่งคนเข้ามาแน่น ปัญหาน้ำท่วมเราจะยิ่งวิกฤต เพราะตอนนี้ฝนตกหนักครั้งเดียว เราก็แย่แล้ว สาม เมื่อนำผังเมืองที่เขาทำไว้แล้วในปี 2562  มารับฟังความเห็นจากประชาชน  ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้ ยังไม่คิดตอนที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 กับเรื่องโรคระบาด         เราเป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้การอยู่อาศัยของคนในเมืองแย่ลง ทั้งน้ำท่วม การจราจร ฝุ่นPM2.5  โรคระบาด สิ่งแวดล้อมมันแย่ลงมากกว่าดีขึ้น สิ่งที่เราบอกว่ามันจะมีปัญหา เราไม่ได้จินตนาการเอาเอง ปัญหามีประจักษ์มาแล้ว เรื่องโรคระบาด ตอนเป็นโควิดเราเห็นแล้วว่า เราต้องการพื้นที่ปลอดภัย ต้องการพื้นที่จะระยะห่างบ้าง  เราเป็นห่วงคนในชุมชนคลองเตยมาก เพราะเขาต้องอาศัยกันอย่างแออัด  เขาบอกว่า เมืองว่าเมืองจะเจริญ แต่ตอนนี้สภาพแวดล้อมเราออกห่างจากคำว่าธรรมชาติมากขึ้นทุกที คนต้องหนีออกจากเมืองมากกว่าจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้         การระบายน้ำ ขยะ การจราจร โรคระบาด ทั้งหมดนี้คือคุณภาพการใช้ชีวิตของคน  เราไม่สามารถอยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ว่าห้องจะหรูหรา มีเครื่องฟอกอากาศดีแค่ไหน แล้วเราไม่ออกไปไหน เราต้องออกไปข้างนอก         เรากังวล เป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองแย่ลง   เราอยากให้มีผังเมืองที่ตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่แล้วยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาด้วย อยากให้ประชาชน สังคมโดยทั่วไป ร่วมกันมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง         อย่างที่ผมบอกว่า ผังเมืองเกี่ยวข้องกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกมิติ หลายคนที่เขายังรู้สึกว่า เขาไม่ได้รับผลกระทบ เขาอาจะวางเฉยได้ หรือเขาอาจจะรู้ว่า มีผลกระทบมาถึงตัวได้แต่ยังคิดว่า อาจไม่ใช่เร็วๆ นี้ ต้องออก พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ยังรอได้  แต่ผมคาดว่ามันไม่ได้นาน หลายพื้นที่ตอนนี้เริ่มโดยเวนคืนที่ดินแล้ว และผังเมืองรวมกรุงเทพยังส่งผลกระทบกับปริมณฑล  เครือข่ายถนนทั้งหมดเชื่อมโยงกับพื้นที่ใกล้เคียง นนทบุรี สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี  ฉะเชิงเทรา  สมุทรปราการ              การต่อสู้เรื่อง เราต้องศึกษาเรื่องกฎหมายด้วย เพราะเราสู้เรื่องกระบวนการที่ต้องดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายด้วยเราอาจะต้องสู่กันกันถึงศาลปกครอง แล้วหากเราตื่นตัว ร่วมกันลงชื่อเยอะๆ ผมคิดว่ามันมีผลกระทบ มันมีพลังที่จะทำให้เราสามารถทำให้หน่วยงานรัฐเริ่มทำผังเมืองกรุงเทพใหม่ได้ ผมก็สื่อสารเรื่องนี้ อยู่ตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 องค์กรผู้บริโภคต้องทำงานแบบเสริมพลังกัน

        การรวมตัวกันเพื่อการทำงานคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้บริโภค เริ่มมาอย่างยาวนานและชัดเจนตั้งแต่ปี 2526 กว่า 40 ปี ระบบนิเวศของการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคจึงเต็มไปด้วยความเบ่งบานของกลุ่มองค์กรหลากหลายรูปแบบทุกระดับทุกพื้นที่ที่ต่างล้วนทำงานมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้มแข็งสิทธิได้รับการพิทักษ์คุ้มครอง การเติบโตอย่างเข้มข้นนี้เป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเกิดการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้สำเร็จ ในปี 2563 หลังจากเริ่มต้นผลักดันมาตั้งแต่ปี 2540          รศ.ภญ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ  ผู้จัดการศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส) และผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) มีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งเสริม สร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคโดยเฉพาะด้านยาและสุขภาพมาตั้งแต่ต้น สะท้อนมุมมองว่าในทศวรรษปัจจุบันและต่อไปหลังจากนี้ การเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้สำเร็จก็ยังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบัน การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคในระดับพื้นที่เข้มแข็ง มีคุณภาพยังเป็นเรื่องสำคัญที่ รศ.ภญ.ดร.วรรณา เลือกทำมาตั้งแต่ต้นและยังจะทำต่อไปอย่างแน่นอน      ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  คือหน่วยงานอะไร         ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หรือ คคส. เราเป็นศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เป็นศูนย์วิชาการที่เราทำงานกันมานานตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2549 และปัจจุบันเราขยายงานเป็นวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) ด้วย         คคส. เป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สสส. ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เมื่อพูดถึง คคส. เราไม่ได้ทำงานแต่เฉพาะองค์กรผู้บริโภค  เราทำงานกับผู้ประกอบการวิชาชีพเภสัชกรรม  นักวิชาการสาธารณสุขเยอะมาก งานของเราจึงออกเป็นลักษณะแผนงานวิชาการที่มีหลายเรื่อง งานวิชาการ งานพัฒนาศักยภาพคน จัดการพวกสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และติดตามเรื่องของกฎหมายด้วย  ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  ทำงานอะไรบ้าง         เรามีแผนงานส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่  มีวัตถุประสงค์ในการทำงาน 4 เรื่อง หนึ่ง คือพัฒนากลไกและศักยภาพเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่ สอง พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่ สาม จัดการความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และสี่ ติดตามอย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เราทำงานด้วยเราอยากเห็นผลลัพธ์ที่เรามุ่งหวังคือ ชุมชน องค์กรผู้บริโภค ภาคี เครือข่ายมีศักยภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค  มีการจัดการสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย   นิยามองค์กรผู้บริโภคไว้อย่างไร         องค์กรผู้บริโภคที่เราทำงานด้วยต้องบอกว่า เป็นกลุ่มคนที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่เฉพาะการทำงานประจำตามหน้าที่ เป็นราชการเราไม่ได้สนใจเฉพาะตรงนั้น เราทำงานทั้งกับผู้บริโภค อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภค เราคิดว่าทุกคนเป็นผู้บริโภคตลอดเวลา แต่เป็นข้าราชการบางเวลาเพราะฉะนั้นการก้าวเข้ามาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คคส. เราถือว่าถ้ารวมกลุ่มกัน เป็นองค์กรผู้บริโภคหมด       ที่จุฬาเองตั้งแต่อดีต  เรามีอดีตอาจารย์กับนิสิตเภสัชศาสตร์ รวมตัวกันมา ตั้งกลุ่มเฝ้าระวังเรื่องยา อาจารย์ในเวลาก็เป็นเป็นข้าราชการสอนหนังสือ แต่อาจารย์ยังนำความรู้ของอาจารย์มาทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้วย จึงเกิดการรวมตัว รวมกลุ่มและกิจกรรมต่างๆ ขึ้นจนถึงปัจจุบันตอนนี้ก็มีข้าราชการทั้งเกษียณและไม่เกษียณทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ เราก็เรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา ไม่ใช่ข้าราชการก็เป็นองค์กรผู้บริโภคด้วย น้องๆ เภสัชที่อยู่ตามต่างจังหวัด รวมตัวกันเป็นเภสัชชนบทก็เป็นองค์กรผู้บริโภคในนิยามของ คคส.  ภาพรวมขององค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่ คคส. ทำงานร่วมด้วยเป็นอย่างไร           ภารกิจของ คคส. เราทำงานส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เราจึงทำงานเข้มข้นได้ไม่ทุกเรื่อง เรามองว่าการทำงานกับองค์กรผู้บริโภค เราทำทั้งทางตรงและทางอ้อม  งานที่ทำทางตรงกับองค์กรผู้บริโภค เช่น การพัฒนาศักยภาพ การอบรม การตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคเครือข่าย แต่ถ้าเป็นลักษณะของการที่ทำงานเฝ้าระวัง บางจุดหรือประเด็นที่เขาต้องการ เราก็จะพัฒนาศักยภาพน้องๆ เภสัชกรที่เขาก้าวเข้ามาด้วยความสนใจให้เป็นเภสัชกรที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือนักวิชาการสาธารณสุขที่ขยับมาทำเรื่องการจัดการสินค้าไม่ปลอดภัย งานจึงมีทั้งทางตรงและทางอ้อม  แบ่งองค์กรผู้บริโภคเป็นแบบไหนบ้าง กี่ประเภท แต่ละประเภทมีความเข้มแข็งแตกต่างกันมากน้อย อย่างไร         ถ้าตามกฎหมาย เราแบ่งเป็น 2 กลุ่ม  คือกลุ่มองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562  คือตามเกณฑ์ เงื่อนไขและกลุ่มที่ 2 คือ องค์กรผู้บริโภคแต่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน         แต่ถ้ามองในมุมของ คคส. เรามีการพัฒนาเกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพขึ้น ซึ่งเราทำมานานก่อนที่จะมีสภาองค์กรผู้บริโภคอีกเพื่อไปตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคว่าการทำงานอย่างมีคุณภาพ มีโครงการสร้างองค์กร  กระบวนการทำงาน และผลลัพธ์ของการทำงานที่พัฒนาขึ้นต่อเนื่อง คคส. จึงตั้งเป็นเกณฑ์ผู้บริโภคคุณภาพ และ MOU กับหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เราได้รับการยอมรับ เกิดความเชื่อมั่นเมื่อเราเดินสายไปตรวจและรับรอง หากใช้เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพเป็นตัวตั้ง  ก็จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ผ่านการรับรองตัวประเมิน และจัดเป็นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ กับองค์กรทั่วไปที่เขาอาจยังไม่พร้อมให้เราประเมิน หรือว่าเพิ่งเริ่มต้นทำงาน เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพจะมีมากกว่าเกณฑ์ตามกฎหมาย    ส่วนที่สมาชิกของสภามักจะไม่ค่อยผ่านคือเรื่องของผลงาน และกระบวนการทำงาน  ปัญหาที่พบตอนที่ลงไปทำงานกับองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ ได้เสริมจุดแข็งหรืออะไรไปบ้าง         แน่นอนว่าพอเราลงไปตรวจ เราจะเจอทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง  แต่เราก็บอกเลยว่า เราพร้อมตรวจใครที่คิดว่ามีความเข้มแข็งให้เราไปตรวจ เราก็พร้อม แต่เท่าที่ลงไปตรวจแล้วเราจะเห็นข้อบกพร่องของเขา เช่น เรื่องของการที่ไม่มีรายงานการประชุม ไม่มีการบันทึกเลย คือคนทำงาน เขาทำงานแต่การเก็บบันทึก รายละเอียดงานยังน้อยทำให้มีปัญหาคนภายนอกอาจมองว่าไม่มีผลงานกิจกรรมเลย ก่อนมี พ.ร.บ. สภาฯ  เราตรวจไป 226 องค์กร  พวกนี้เขาก็มีความพร้อมพอสมควร พอมีสภาองค์กรของผู้บริโภคเกณฑ์ของเราถูกนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินองค์กรของผู้บริโภคตามกฎหมายด้วยบางส่วน แต่บางอันในเรื่องของคุณภาพยังไม่ได้นำไปใช้  การทำงานของเราตอนนี้พอลงตรวจแล้วรู้แล้วว่าขาดอะไร เช่นยังขาดส่วนวิชาการในลักษณะของการนำเสนอนโยบายซึ่งมีความสำคัญเวลาเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำเสนอนโยบายในการประชุมเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอหรือระดับประเทศ พอตรงนี้ขาดเราก็พัฒนาหลักสูตร เปิดอบรม ขอแค่สนใจอยากพัฒนาตัวเองเราจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดเพราะเรามีความร่วมมือกับ สสส.         องค์กรผู้บริโภคเล็กๆ จากที่เราไปตรวจราว 300 – 400 องค์กร เราเห็นแล้วว่าบางทักษะอย่าง การ เขียนรายงานการประชุม เขียนโครงการของบประมาณแบบนี้ยังไม่เป็น การจัดทำบัญชีรับจ่าย การทำทะเบียน วัสดุและครุภัณฑ์ต่างๆ เขายังไม่ทำ เขาบอกว่าเขาเป็นจิตอาสา ไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไร ไม่มีการทำบัญชี แต่การเป็นองค์กรที่ทำงานได้ด้วยการสนับสนุน เราสู้เพื่ออะไรหลายเรื่อง เราต้องมีความโปร่งใส  การทำงานกิจกรรมต่างๆ หากไม่รวบรวมเป็นเอกสารข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบวันนี้ เมื่อจะขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรโดยกฎหมายขอสภาองค์กรของผู้บริโภค  สำนักนายกก็ตั้งคำถามแล้วเพราะผลงานกิจกรรมไม่มีแสดง ซึ่งไม่แปลกเพราะเขาไม่ได้ลงมาคลุกคลีใกล้ชิด         เราจะเติมส่วนขาดตรงนี้ลงไปในพื้นที่ เพราะองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดเขาอยู่ในพื้นที่ เขาจะดูแลกัน ตลอดไปเป็นอะไรที่ยั่งยืน ขณะที่บางครั้งเราเข้าไปอบรมแล้วกลับมา มันไม่เกิดอะไร เราจึงสร้างคนโดยการให้เข้าอบรม 8 เดือน แล้วเป็นเภสัชกรสาขาคุ้มครองผู้บริโภค  ภายใต้วิชาชีพเภสัชกรรมตอนนี้ เรามี นคบส. หรือผู้ผ่านการอบรมทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ 100 กว่าคนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เราเหมือนเป็นพี่เลี้ยง คอยสนับสนุน ส่วนน้องๆ เภสัชเขาเองอยู่ในระบบราชการ เขาก็ทำหน้าที่ราชการด้วย หลายคนไปเป็นที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิประจำองค์กรผู้บริโภค ในหน่วยงานประจำจังหวัด เราต่างหนุนเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภค เรามองว่าช่วยกันทำงาน  มันเป็นความงดงาม ความเก่งขององค์กรผู้บริโภค และความเก่งของเภสัชช่วยกันทำงานไร้รอยต่อ สามารถส่งต่ออะไรที่ดีๆ ให้กันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดของตัวเอง  อันนี้มันก็เป็นอะไรที่มันเห็นการขับเคลื่อน  ตัวอย่างของงานที่เป็นความสำเร็จขององค์กรผู้บริโภคและแนวโน้ม         เรื่องของความสำเร็จพี่มองว่าคือการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นการการต่อสู้ยาวนานตั้งแต่ ปี 2540 จนนำมาสู่การจัดตั้งสภาฯ องค์กรได้ แต่การมีอยู่ตอนนี้ยังไม่ถือว่าสำเร็จ เป็นช่วงเริ่มต้น เพราะความสำเร็จที่แท้จริง คือต้องทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง สามารถคุ้มครองตัวเองได้  ซึ่งตอนนี้มีเรื่องของการโฆษณา เรื่องของอะไรที่มันหลอกลวงมากขึ้น  ถ้าผู้บริโภคเข้มแข็งสามารถที่จะคุ้มครองตัวเองได้  ไม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามนี่คือสุดยอด แต่การทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคตอนนี้มีองคาพยพที่ใหญ่ขึ้น และต้องเคลื่อนไปด้วยกัน และยังเข้มแข็งในบางจังหวัดด้วย เรายังต้องช่วยหนุนเสริมกันอีกมาก  การเกิดของสภาองค์กรผู้บริโภคเพียงพอหรือไม่ต่อการสนับสนุนองค์กรของผู้บริโภค         สภาองค์กรผู้บริโภค อย่างที่บอกว่าเพิ่งเริ่มต้น ตอนนี้ยิ่งมีองคาพยพเยอะขึ้น  การทำงานยังต้องกระจายให้ได้ ครอบคลุมทุกจังหวัด ตอนนี้เรายังพบว่ายังไม่ทั่วประเทศและยังเป็นการกระจุก  บางจังหวัดที่มีองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นมาก เราวิเคราะห์ว่าเพราะสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สาธารณสุขจังหวัด เภสัชกร โรงพยาบาล ชมรม อสม. รพสต. องค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไม่ว่าจะรูปแบบ ชมรม ทั้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือไม่ เขามีความร่วมมือกัน การลงไปตรวจประเมิน เราทำจริงจังเราได้เห็นทุกอย่าง พื้นที่ที่เขาพร้อม ทำงานจริง ลงไปทุกครั้ง เราจะเห็นคนที่ทำงานอยู่ตลอด หลายครั้งทำให้เราได้เจอคนที่มีศักยภาพเป็นเพชรเป็นแกนได้ เราสามารถพัฒนาส่งเสริมเขาต่อได้ด้วยหลายคนมากแล้ว เราจะไม่มีวันเจอถ้าเราไม่ได้ออกไปทำงาน ออกไปติดตามโครงการแลกเปลี่ยนพูดคุย  เราได้คนที่เราไม่รู้จักเยอะเป็นน้องเภสัชที่ประกาศตัวและก้าวเท้าเข้ามาฝึกอบรมเป็นเภสัชกรเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแล้วหลายคน  สิ่งที่อยากฝาก         วันนี้องค์กรผู้บริโภคต้องมีทักษะทั้งขับเคลื่อนได้ งานวิชาการได้  แต่ยังมีหลายจุด ทักษะที่เขายังขาด แต่เขาต้องทำงานหลายด้าน  หน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยกันหนุนเสริมองค์กรผู้บริโภคเราต้องทำให้เขาเข้มแข็งจริงๆ  ความเข้มแข็งจะต้องไม่อยู่ที่หน่วยงานของเราเพียงอย่างเดียว จะต้องไม่ได้อยู่แต่ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค อย. แต่ต้องอยู่ที่หน่วยงานประจำจังหวัดและองค์กรสมาชิกด้วย สมาชิกต้องเข้มแข็งเพราะพื้นที่ หากเราทำให้ระดับจังหวัดเข้มแข็ง เขาจะต่อยอดในพื้นที่ได้ เป็นในระดับอำเภอ ตำบล  วันนี้เรามองว่าแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ วันนี้คนในจังหวัดที่เขามีหน่วยงานประจำจังหวัด ถ้ามีเขามีทุกข์ แล้วหน่วยงานรัฐไม่ตอบโจทย์เขาได้ การเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดตอบโจทย์เขาได้แต่จังหวัดที่ไม่มีก็แสดงว่าเขายังขาดอีกหลายจุด และเมื่อมีแล้ว เราฝากว่าการทำงานร่วมกัน  การช่วยกันทำงานมันควรเหมือนยา ช่วยกันทำงานต้องเสริมพลังกัน เราต้องรู้ว่าเราเก่งกันคนละแบบ เราต้องให้กำลังใจกัน หากเข้าขากัน ผลลัพธ์ประสิทธิภาพมันไม่ใช่ 1 บวก 1 แล้ว 2 มันอาจจะเป็น 3 หรือ 4  หรืออาจจะมากกว่านี้ได้มากๆ 

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)