ฉบับที่ 255 ตรวจสารมารดำ กลับเจอสารมารขาว

        การทำงานคุ้มครองผู้บริโภค บางครั้งก็เจออะไรแปลกๆ คาหนังคาเขาโดยไม่ตั้งใจ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ทีมปกครองอำเภอ เทศบาล ผู้นำชุมชนและทีมรพ.สต กำลังทำหน้าที่ตรวจปัสสาวะเพื่อเฝ้าระวังหาสารเสพติดในร่างกายของประชาชน ปรากฎว่าผลตรวจปัสสาวะของพนักงานเทศบาลชายอายุ 28 ปีพบว่าเป็นสีม่วง ซึ่งหมายถึงอาจจะมีการใช้สารเสพติด แต่เมื่อแจ้งสอบสวนเพิ่มเติมพนักงานท่านนี้ตกใจ เนื่องจากตนเองไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด 
        เจ้าหน้าที่จึงสวมวิญญาณนักสืบ สอบถามข้อมูลมากขึ้นจึงทราบว่าพนักงานรายนี้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อหนึ่ง ที่สั่งซื้อจากทางออนไลน์ ราคาก็ไม่ธรรมดาซะด้วย เพราะแพงถึงเม็ดละ 100 บาท เมื่อใช้แล้วเกิดความรู้สึกไม่อยากอาหาร ตนใช้วันละ 1 เม็ด ก่อนอาหาร จนหมด 2 กล่อง ปรากฎว่าน้ำหนักลดลงถึง 10 กิโลกรัม 
        พนักงานเจ้าหน้าที่จึงประสานมายังกลุ่มงานเภสัชกรรมฯ เพื่อส่งตรวจหารสารในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารยี่ห้อนี้ ซึ่งผลตรวจจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่ามีสารไซบูทรามีนผสมอยู่ จึงแจ้งกลับมาเพื่อติดตามสอบถามแหล่งที่มาและส่งต่อข้อมูลไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตเพื่อทำการดำเนินการต่อไป 
        ไซบูทรามีนเป็นสารที่มีโครงสร้างคล้ายกับแอมเฟตามีน จึงทำให้ผลตรวจปัสสาวะของคนที่ได้รับสารไซบูทรามีนมีสีม่วงเหมือนกับคนที่ใช้สารแอมเฟตามีน สารไซบูทรามีน (Sibutramine) จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางทำให้รู้สึกไม่อยากอาหารและส่งผลข้างเคียงกับคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ ทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงต่อผู้บริโภคบางรายถึงขั้นเสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ไซบูทรามีนจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภทที่ 1 ผู้ใดผลิต นำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีไซบูทรามีนเป็นส่วนผสมจะมีความผิดตามกฎหมาย มีทั้งโทษถึงจำคุก 
        มีวิธีเบื้องต้นในการสังเกตผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่สงสัยว่าจะผสม Sibutramine ดังนี้
        1. มีคำโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เช่น ลดน้ำหนักได้ภายใน 7 วัน
        2. ไม่มีฉลากภาษาไทย หรือแสดงฉลากไม่ครบถ้วน เช่น ไม่ระบุสถานที่ผลิต
        3. ไม่มีเลขที่ขึ้นทะเบียนอย. เป็นต้น 
        อย่าลืมว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่สามารถลดความอ้วนได้ หากมีการโฆษณาว่าสามารถช่วยรักษาโรค ลดความอ้วน ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจมีส่วนผสมของสารอันตราย จะได้ไม่เอาชีวิตไปเสี่ยง 
        หากผู้บริโภคพบเห็นเบาะแสการโฆษณา การผลิต/จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือกลุ่มงานเภสัชกรรม ของโรงพยาบาล หรือกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดต่อไป

แหล่งข้อมูล: ภญ.จันทร์จรีย์ ดอกบัว ภก.ภาณุโชติ ทองยัง ชมรมเภสัชชนบท

200 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารเสริม

ฉบับที่ 278 น้ำท่อมผสมยาแก้ไอกระจายทั่วทั้งแผ่นดิน

        เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา  มีข่าวเผยแพร่ทางสื่อมวลชนว่ามีการตรวจจับร้านขายน้ำกระท่อมหลายแห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย  สิ่งที่พบไม่เพียงแต่เจอน้ำกระท่อมเท่านั้นแต่ยังพบยาน้ำแก้ไอเด็กเล็กที่ทั้งผสมในน้ำกระท่อมหรือบางร้านนำมาขายควบคู่กัน   โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนซึ่งน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง         “พืชกระท่อม” เดิมถูกจัดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522  แต่ถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติด เมื่อวันที่  24 สิงหาคม 2564 ด้วยประโยชน์ทางเภสัชวิทยาของใบกระท่อม  แต่ใดๆ ในโลกนี้ ไม่มีสิ่งใดดีเสมอไป ในเสียมีดี ในดีย่อมมีเสียด้วยเช่นกัน         ใบกระท่อมมีสารไมทราไจนีน (mitragynine)  ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง  โดยนิยมเอาใบมาต้มเป็นน้ำกระท่อมหรือน้ำท่อม  มาบรรจุขวดขายซึ่งคนที่ดื่มน้ำท่อมช่วงแรกๆ อาจจะรู้สึกร่าเริง สดใส กระปรี้กระเปร่า แต่ถ้าดื่มไปเรื่อยๆ จะเกิดอาการ ใจสั่น ปากแห้ง ฉี่บ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อน นอนไม่หลับ และยิ่งถ้าเสพเยอะเป็นระยะเวลานานจะทําให้มึนงง คลื่นไส้ ต่อมาผิวจะเริ่มคล้ำขึ้น สับสน ซึมเศร้า หวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้าย และถ้าเลิกกินน้ำท่อมหรือใบกระท่อมจะเกิดอาการถอน เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ่อนเพลีย ท้องเสีย น้ำมูกไหล แขนขากระตุก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่อยู่ในวัยศึกษาและจะเป็นกำลังสำคัญในอนาคตของชาติ         แม้ว่าในปัจจุบันกระท่อมจะไม่ใช่ยาเสพติด และมีสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ทางยา แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปและติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ดังที่กล่าวมาแล้ว ตามข้อกำหนดของกฎหมาย บอกไว้ว่าประชาชนสามารถปลูกและบริโภคพืชกระท่อมเองได้ตามวิถีชาวบ้าน แต่ห้ามขายให้เยาวชน  สตรีมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ห้ามขายในสถานศึกษา หอพัก สวนสาธารณะ สวนสนุก สวนสัตว์ สวนสนุก และห้ามขายโดยใช้เครื่อขาย  ห้ามนำไปผสมกับยาแผนปัจจุบันหรือสารเสพติดต่างๆ  ซึ่งผู้ฝ่าฝืนนอกจากจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติพืขกระท่อม พ.ศ.2565 แล้ว  ยังมีความผิดตามกฎหมายของสารที่ผสมไปด้วย  เช่น ผู้ผลิตหรือผู้ขายน้ำกระท่อมที่ผสมยาน้ำแก้ไอเด็กเล็ก จะมีความผิดฐานผลิตหรือขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 10,000 บาท 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 ยาชื่อพ้อง มองคล้าย อันตรายกว่าที่คิด

        จากข่าวแม่พาลูกชายวัย 1 ขวบที่ลื่นล้มศีรษะฟาดพื้นในห้องน้ำไปรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้โรงพยาบาลสแกนสมอง และโรงพยาบาลได้ส่งตัวลูกไปสแกนสมองที่โรงพยาบาลอีกแห่ง ระหว่างเดินทางพยาบาลที่นั่งไปด้วยให้น้องกินยานอนหลับ เพื่อที่น้องจะได้หลับไม่ดิ้นตอนเข้าเครื่องสแกน ปรากฎว่ายาที่ให้กลับไม่ใช่ยานอนหลับแต่เป็นยาที่มีกรดไตรคลอโรอะเซติก (TCA) ที่เป็นยาใช้ภายนอกสำหรับใช้ในการจี้-รักษาหูดหงอนไก่ เมื่อเด็กกินไปแล้วจึงเกิดอาการปากและลำคอไหม้ หลังจากเกิดเหตุมีการสืบสวนที่มาของยา เจ้าหน้าที่เภสัชที่จ่ายยาให้น้องกินอ้างว่าหยิบผิด เนื่องจากมีบรรจุภัณฑ์คล้ายกันกับยานอนหลับ         ปัญหายา “ชื่อพ้อง มองคล้าย”         ปัญหาลักษณะนี้ไม่ได้มีความเสี่ยงเฉพาะยาในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่ยังพบกับยาทั่วไปทั้งในร้านขายยา คลินิก สถานพยาบาลเอกชน รวมถึงร้านชำ ซึ่งมีทั้งเกิดจากความคล้ายกันโดยบังเอิญและความจงใจของบริษัทผู้ผลิตยา เนื่องมาจากผลประโยชน์เพื่อการโฆษณาทางการค้าที่คอยอาศัยช่องว่างทางกฎหมายการกำกับควบคุมเข้มงวดที่ต่างกัน กล่าวคือ โฆษณาสินค้าตัวหนึ่ง แต่วางสินค้าที่ชื่อพ้องกันหรือลักษณะภายนอกบรรจุภัณฑ์ที่คล้ายกัน ทั้งที่ตัวยาสำคัญออกฤทธิ์นั้นแตกต่างกัน จึงเกิดความเสี่ยงนำไปสู่การใช้ยาผิดจากข้อบ่งใช้หรืออาจได้รับยาผิดกลายเป็นยาที่เคยแพ้มาก่อนนี้ หรืออาจได้รับยาต่ำกว่าหรือเกินกว่าขนาดที่ปลอดภัย หรืออาจได้รับยาคนละชนิดแล้วเกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างกรณีที่เป็นข่าวนี้        ปัญหาความคล้ายคลึงของฉลากยาที่มีลักษณะ “ชื่อพ้อง มองคล้าย” เป็นปัญหาที่มีมานานและได้รับการแก้ไขในระดับองค์กรหรือโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจำเป็นต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหานี้ทั้งระบบอย่างเร่งด่วน ตั้งแต่ต้นทางการอนุญาต ไม่ให้มียาที่“ชื่อพ้อง มองคล้าย”เพื่อลดความเสี่ยงในการใช้ยาของประชาชน            ความโหดร้าย ยาหน้าคล้าย ที่หมายมุ่ง            น้าป้าลุง แยกออกไหม ใครใคร่สน        ทั้งผลิต โฆษณา บิดเบือนปน                              ระชาชน ทุกข์ยาก ลำบากกาย             แสวงหา ยารักษา ยามป่วยเจ็บ                        แก้อักเสบ หรือฆ่าเชื้อ เรียกหลากหลาย        เสี่ยงลองกิน ตามคำบอก จากตายาย                   อันตราย ถึงชีวิน สิ้นเหลียวแล             บริษัทยา ผู้ผลิต คิดอะไรอยู่                            กฎหมายรู้ ผลกระทบ ไม่แยแส        อนาคต สุขภาพไทย จะอ่อนแอ                           หากไม่แก้ ทำไม่รู้ อดสูใจ             ยาสามัญ ประจำบ้าน เรียกขานชื่อ                    แท้จริงคือ แค่โฆษณา ยาอยู่ไหน        มีทะเบียน ไม่ผลิต หรืออย่างไร                            ยาปลอดภัย ยาสามัญ เฝ้าฝันรอ

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 ไซบูทรามีน คืนชีพ

        ข่าวการเสียชีวิตของผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งที่จังหวัดอ่างทอง เมื่อกลางปี 2562 ผลชันสูตรพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผลการตรวจเลือดพบว่ามียา 4 ชนิด (ที่มีการผสมในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนักที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน) ได้แก่ ฟูลออกซิทีน (Fluoxetine) บิซาโคดิล (bisacodyl) ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (hydrochlorothaiazide) และ ไซบูทรามีน (cybutramine) ยาทั้ง 4 ชนิด ออกฤทธิ์ร่วมและเสริมกันทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนเสียชีวิต นำไปสู่การปราบปรามการแอบลักลอบปลอมปน “ไซบูทรามีน” ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญคืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพราะมีข้อมูลว่าเป็นต้นทางการลักลอบนำเข้าสารไซบูทรามีนจากประเทศเพื่อนบ้าน มีการตรวจค้นและพบวัตถุดิบสารไซบูทรามีนและการปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักจำนวนมากหลายยี่ห้อ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว         ล่าสุดในเดือนธันวาคม 2566 เครือข่ายเฝ้าระวังในจังหวัดเชียงราย รายงานว่าพบการกลับมาจำหน่ายและพบการบริโภคผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ “Lishou” และ “Bashi”ในหลายพื้นที่ โดยผลิตภัณฑ์ที่พบใครั้งล่าสุดนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ยี่ห้อนี้เคยตรวจพบการปลอมปนสารไซบูทรามีน และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เคยดำเนินคดีและแจ้งเตือนไปแล้ว แสดงให้เห็นว่าเครือข่ายธุรกิจการลักลอบผลิตยาลดความอ้วนไม่ได้หมดไป ยังคงคืนชีพดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การกลับมาระบาดครั้งนี้ยังพบว่ามีการโฆษณาขายในตลาดออนไลน์อย่างเปิดเผย        ขอเตือนภัยมายังผู้บริโภคให้สังเกตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่กำลังรับประทานอยู่ว่าได้ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หรือแม้จะมีเลข อย. หากรับประทานไปแล้วน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วหรือผอมเร็ว ให้ระวังว่าอาจมีสารไซบูทรามีนปลอมปนควรหยุดรับประทาน แล้วให้ส่งผลิตภัณฑ์ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านตรวจสอบและดำเนินการต่อไปเพื่อความปลอดภัย         ไซบูทรามีนคืออะไร : ไซบูทรามีนคือสารเคมีที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง (สมอง) ที่ทำให้ไม่รู้สึกหิว อิ่มเร็วและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย จึงมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดโดยนำมาลักลอบปลอมปนในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อ้างสรรพคุณลดน้ำหนัก แต่เนื่องจากสารนี้มีผลข้างเคียงต่อร่างกายทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ปากแห้ง ปวดศีรษะ นอนไม่หลับและท้องผูก ที่สำคัญมีรายงานผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต ประเทศไทยจึงจัดไซบูทรามีนเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และยกเลิกทะเบียนตำรับยาที่มีสารนี้ไปแล้วตั้งแต่ ปี 2553

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 กระท่อมอำพราง

        หลังจากที่รัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปแล้ว ทำให้พืชกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ประชาชนทั่วไปจึงสามารถครอบครอง ปลูก และขายใบสดได้เสรี หรืออาจนำมาต้มเป็นน้ำกระท่อมเพื่อดื่มเองหรือแจกจ่ายได้  ภาพที่เราเห็นทั่วไปในระยะแรกๆ คือ มีการนำใบพืชกระท่อมมาวางจำหน่ายในที่ต่างๆ รวมทั้งตามริมถนน         “แต่ระยะหลัง ไม่ได้มีแค่ใบพืชกระท่อมที่วางขาย หลายพื้นที่พบว่ามีการต้มน้ำกระท่อมใส่ขวดขายด้วย” ซึ่งข้อเท็จจริงตามกฎหมาย การนำพืชกระท่อมไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ยังไม่ปลดล็อกให้นำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ (อ้างอิงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย)         “แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลยก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิต เพื่อจำหน่ายตามประกาศฉบับนี้” การฝ่าฝืน โดยผลิต และขายอาหารที่พ.ร.บ.อาหารห้าม มีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท         มีข้อมูลว่าที่สมุทรสงคราม ตำรวจได้ดำเนินการตรวจจับการขายน้ำกระท่อมซึ่งผู้ขายใช้วิธีอำรางเพื่อหลีกเลี่ยงโดย โดยนำน้ำกระท่อมไปใส่ในขวดน้ำเชื่อมสำหรับปรุงอาหาร (syrup) แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและสาธารณสุขสงสัย เลยส่งน้ำเชื่อมขวดดังกล่าวไปวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ผลการตรวจพบว่ามีส่วนผสมยาแผนปัจจุบัน Diphenhydramine HCl และ Chlorpheniramine ในน้ำเชื่อมขวดดังกล่าว สรุปง่ายๆ คือ “ต้มน้ำกระท่อมแล้วนำมาผสมกับยาแก้แพ้แบบ 4x100 ที่เคยระบาดในกลุ่มเยาวชนแล้วตบตาตำรวจโดยนำไปบรรจุในขวดน้ำเชื่อมแทน”         ส่วนกรณีที่สงสัยว่า จะนำพืชกระท่อมไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆนั้น ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข เพราะมี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุมอยู่เช่นกัน         ในขณะที่การควบคุมยังทำได้ไม่เต็มที่ ผู้บริโภคพบเห็นการขายพืชกระท่อมแบบผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือศูนย์ดำรงธรรมติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เลย เพื่อความปลอดภัยของลูกหลานเราเอง 

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)