ฉบับที่ 177 ขอเป็นเจ้าสาวสักครั้งให้ชื่นใจ : ในโลกนี้ไม่มีความจริงแบบสมบูรณ์

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา กรอบความคิดแบบ “วิทยาศาสตร์” ดูเหมือนจะเข้ามาครอบงำ และให้คำอธิบายความจริงในชีวิตของมนุษย์เราเอาไว้อย่างเข้มข้น


    หลักการทางวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ในโลกนี้มี “ความจริงแบบสมบูรณ์” หรือที่ภาษาอังกฤษอาจเรียกว่า “absolute truth” ดังนั้น หน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ก็คือ ต้องพยายามพิสูจน์ถึงสัจจะความจริงแบบสมบูรณ์และเป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวนี้ โดยปราศจากอคติใดๆ เข้ามาแปดเปื้อนปะปน


    ภายใต้หลักการดังกล่าว หากความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว คำตอบต่อสรรพสิ่งจึงต้องเป็นหนึ่งเดียว ถ้าไม่ใช่คำตอบว่า “yes” ก็ต้องเป็น “no” หรือถ้าไม่ใช่ “ขาว” ก็ต้องเป็น “ดำ” อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยมิอาจย้อนแย้งเป็นสองอย่างได้ในเวลาเดียวกัน และนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องพิสูจน์ความจริงแท้ข้อนี้ออกมาให้เห็นเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์แจ้งแก่สายตาให้ได้เท่านั้น


    แม้วิธีคิดเช่นนี้จะครอบงำโลกทัศน์ของมนุษย์มานานหลายศตวรรษ แต่ทว่า ทฤษฎีความจริงแบบสมบูรณ์นี้ก็ถูกท้าทายเรื่อยมาโดยตลอด และที่สำคัญ ก็ยังถูกตั้งคำถามผ่านสายตาของตัวละครอย่าง “วีว่า” สาวนักเรียนนอกเจ้าของ “วรรณวิวาห์เวดดิ้ง” บริษัทรับจัดงานแต่งงานแบบครบวงจรด้วยเช่นกัน


    ด้วยความใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเด็ก วีว่าปรารถนาที่จะโตขึ้นด้วยกราฟชีวิตที่มุ่งไปข้างหน้า และเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม เธอก็อยากจะสวมชุดเจ้าสาวสุดหรู และมีพิธีแต่งงานที่สุดแสนจะโรแมนติก โดยเฉพาะกับคำมั่นสัญญาของคู่หมั้นอย่าง “ลาภิศ” ที่ให้ไว้ว่า เมื่อเขาเรียนจบจากเมืองนอกกลับมา จะขอเธอแต่งงานทันที

    จากความฝันวัยเยาว์และคำสัญญาของคู่หมั้น วีว่าจึงคิดเสมอว่า คำตอบในชีวิตของคนเราจะต้องเป็นเส้นตรงเท่านั้น และมีสิ่งนี้เป็นสัจจะความจริงแบบสมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียว


    แต่ทว่า โชคชะตาก็ไม่ได้ขีดเส้นตรงเส้นเดียวให้กับมนุษย์อย่างวีว่าได้เดินเสมอไป หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ในขณะที่หลักการวิทยาศาสตร์มีแนวโน้มจะเชื่อว่า เหตุผลของมนุษย์ย่อมมีเหตุผลหลักได้เพียงข้อเดียว แต่วีว่าเองกลับพบว่า ถ้ามีเหตุผลข้อ ก.ไก่ เกิดขึ้นได้ ก็ใช่ว่าเหตุผลแบบ ข.ไข่ ค.ควาย หรือ ง.งู จะอุบัติขึ้นไม่ได้เช่นกัน


    ดังนั้น ภายหลังจากการสิ้นลมของ “คุณปู่จรัส” โดยไม่คาดฝัน ทำให้เหตุผลและเส้นกราฟชีวิตของวีว่ากลับตาลปัตรไปจนหมด วีว่าผู้ที่ทุกคนคาดว่าจะได้ครอบครองทรัพย์สินของวงศ์ตระกูล กลับพบว่าคุณปู่ของเธอได้ยกมรดกและกิจการทั้งหมดให้กับลูกบุญธรรมอย่าง “ปูรณ์” ผู้มีศักดิ์เป็นอาของวีว่าในอีกทางหนึ่ง


    เมื่อมรดกในพินัยกรรมเปลี่ยนมือไป ทั้งลาภิศและ “คุณหญิงแขอุไร” ผู้เป็นมารดาจึงเป็นเดือดเป็นร้อน เพราะหมายหมั้นปั้นมือที่จะเป็นเจ้าของกองมรดกและธนาคารไทยธนกิจ ลาภิศจึงตัดสินใจล้มเลิกการแต่งงานกับวีว่า ในขณะที่คุณหญิงแขอุไรก็สะบั้นความสัมพันธ์กับตระกูลวรรณดำรงไปในทุกๆ ทาง


    ความจริงบางอย่างที่เราเห็นอยู่ใน “หน้าฉาก” ว่าบริสุทธิ์และเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ ก็อาจจะมีความจริงอีกชุดหนึ่งซึ่งเป็น “หลังฉาก” และปนเปื้อนไปด้วยอคติกับผลประโยชน์อยู่ ซึ่งนั่นก็คือสัจธรรมที่วีว่าค่อยๆ ได้เรียนรู้ แบบที่เธอประกาศกับ “คุณย่าพริ้มเพรา” และญาติผู้ใหญ่ภายหลังจากถูกยกเลิกงานวิวาห์ว่า “ก็อย่างที่วีว่าบอก...เรื่องมรดกทำให้วีว่าได้รู้ว่า ใครที่รักวีว่าจริงๆ หรือใครที่รักวีว่าเพราะเงิน...”


    ไม่เพียงแต่วีว่าจะได้เข้าใจว่า ความจริงโดยสมบูรณ์หรือจริงแท้โดยปราศจากอคติเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยนั้น อีกด้านหนึ่ง การปรากฏตัวของ “คุณลึกลับ” ชายในชุดสีขาว ที่จะเป็นเทพก็ไม่ใช่ ผีก็ไม่เชิง หรือเป็นนิมิตมายาอะไรบางอย่าง ก็ยิ่งตอกย้ำให้วีว่าได้พบความเป็นไปไม่ได้ของสิ่งที่เธอเคยเข้าใจว่าเป็น “ความจริงหนึ่งเดียว” อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นอีก


    เพราะพลันที่วีว่าถูกมือปืนยิงจนนอนสลบเป็นเจ้าหญิงนิทรา ในจังหวะเดียวกับดารานางแบบอย่าง “มุกริน” ที่ฆ่าตัวตายเพราะผิดหวังจากความรักที่มีต่อลาภิศ วิญญาณของมุกรินได้หลุดพ้นไปสู่สัมปรายภพ แต่ทว่าไฟล์ดวงจิตของวีว่ากลับถูก “install” เข้ามาอยู่ในร่างของ “มุกริน แม็กซ์เวลล์” แทน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นแห่งปมปัญหาใหม่ในชีวิตของวีว่าขึ้นมา


    ในด้านหนึ่ง วีว่าในร่างของมุกรินอาจจะได้ค้นพบความจริงในชีวิตของตัวละครอื่นๆ ที่มีบางด้านซ่อนเร้นอยู่เป็นเบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นลาภิศผู้มีบาดแผลจากการถูกมารดากำหนดชะตาชีวิตจนแทบเดินไปทางอื่นไม่ได้ มุกรินที่เบื้องหน้าของชีวิตดาราซึ่งต้องยิ้มสู้กล้องอยู่ตลอดเวลา แต่ด้านหลังก็เคยดำเนินชีวิตผิดพลาดเพราะทำแท้งมาก่อน ไปจนถึงคุณย่าพริ้มเพราที่เกลียดหลานบุญธรรมอย่างปูรณ์ เพียงเพราะความเจ็บปวดจากความรักที่ฝังรากมาตั้งแต่วัยสาว


    แต่ในเวลาเดียวกัน วีว่าก็ยังได้เข้าใจอีกข้อเท็จจริงด้วยว่า ในขณะที่มนุษย์เรามี “โลกความจริงทางกายภาพ” แบบที่วิทยาศาสตร์พยายามพิสูจน์จับต้องออกมาให้ได้ แต่ก็ยังมี “โลกความจริง” อีกชุดหนึ่ง (หรืออาจจะเรียกว่า อีกภพหนึ่ง) ของคุณลึกลับที่ดำเนินคู่ขนานไป และวิทยาศาสตร์ก็มิอาจหยั่งรู้ถึงความจริงดังกล่าวได้เลย


    เมื่อวีว่าพยายามจะขอความช่วยเหลือจากอาปูรณ์ให้กู้ไฟล์ดวงจิตของเธอกลับคืนสู่ร่างจริงๆ เขาเองก็แสดงให้เห็นว่าตนเชื่อมั่นอยู่ตลอดว่า เหตุผลและโลกความจริงต่างภพที่คู่ขนานกับโลกทางกายภาพแบบนี้คือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย


    จนกระทั่งวีว่าในร่างมุกรินเลือกที่จะกระโดดลงน้ำประหนึ่งจะฆ่าตัวตาย เธอก็ได้ “พิสูจน์” ให้อาปูรณ์ประจักษ์เห็นว่า โลกความจริงที่เราสัมผัสด้วยสายตา ก็เป็นเพียงความจริงชุดหนึ่งๆ เท่านั้น และเป็นชุดความจริงหนึ่งที่อยู่ท่ามกลางความจริงอีกมากมายหลายชุด ซึ่งมนุษย์อาจจะเข้าถึงด้วยอายตนะแห่งตนได้ยากยิ่งนัก


    จนเมื่อมาถึงบทสรุปของเรื่องที่วีว่าได้บรรลุการ “ขอเป็นเจ้าสาวสักครั้งให้ชื่นใจ” ของอาปูรณ์ ภาพฉากความจริงที่ทั้งคู่ฮันนีมูนสวีทหวานบนเรือสำราญกลางทะเล ซึ่งละครบรรจงตัดสลับกับภาพความจริงของลาภิศและมุกรินที่ได้ลงเอยเคียงคู่ความรักกันในอีกภพหนึ่ง ก็ไม่ต่างจากการให้คำตอบกับคนดูอย่างเราๆ ว่า ในโลกที่เราเห็นและจับต้องกันอยู่ทุกวันนี้ อาจไม่มีความจริงใดๆ ที่จะกลายเป็นความจริงแบบสมบูรณ์หนึ่งเดียวได้เลย


แหล่งข้อมูล: สมสุข หินวิมาน

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ขอเป็นเจ้าสาวสักครั้งให้ชื่นใจ

ฉบับที่ 276 กลเกมรัก : สงสารแต่ลูกปลาบู่…

                “สงสารแต่แม่ปลาบู่ อาศัยอยู่ในฝั่งคงคา นางเอื้อยเป็นลูกกำพร้า ถึงเวลามาร่อนรำ…”         นิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” เล่าถึงชีวิตของ “เอื้อย” เด็กน้อยผู้กำพร้ามารดาตั้งแต่ยังเล็ก แต่ด้วยความรักความผูกพัน แม่ของเด็กหญิงเลยกลับชาติมาเกิดเป็นปลาบู่ทอง แต่ก็มิวายถูก “อ้าย” น้องสาวต่างมารดา ตามราวีจับแม่ปลาบู่ทองมาฆ่ามาแกง กลายเป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะชีวิตลำเค็ญที่สืบต่อรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน         แม้ข้อคิดหลักของนิทานเรื่อง “ปลาบู่ทอง” จะยืนยันกับเด็กๆ ว่า ให้รู้จักคิดดีทำดีแล้วจะได้ดี รู้จักให้อภัย ไม่อิจฉาริษยา อดทนยึดมั่นกตัญญูแม้จะถูกกลั่นแกล้งต่างๆ นานา หากทว่าสิ่งหนึ่งที่ถูกตอกย้ำซ้ำทวนเอาไว้ในเรื่องราวก็คือ ภาพความน่าสงสารของเด็กกำพร้า เพราะขาดซึ่งพ่อหรือแม่ที่เฝ้าคอยปกป้องดูแล         พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 กำหนดความหมายของ “เด็ก” ว่า เป็นบุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ และนิยามถึง “เด็กกำพร้า” เอาไว้ว่า เป็นเด็กที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิต เด็กที่ไม่ปรากฏบิดามารดา หรือไม่สามารถสืบหาบิดามารดาได้         แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะนิยามความหมายของ “เด็กกำพร้า” เอาไว้แบบกลางๆ แต่ก็เป็นเรื่องชวนประหลาดใจว่า เมื่อภาพเด็กกำพร้ามาปรากฏอยู่ในจินตกรรมของเรื่องแต่งทั้งหลาย เด็กกำพร้ากลับมักถูกกำหนดคุณค่าให้ดูน่าสงสาร และมีชะตากรรมที่ทุกข์ยากลำเค็ญ ไล่เรียงตั้งแต่นิทานคลาสสิกเรื่อง “ปลาบู่ทอง” ไปจนถึงละครโทรทัศน์แนวรักสี่เส้าเรื่อง “กลเกมรัก”         เริ่มต้นเรื่องขึ้นมาด้วยการฉายให้เห็นภาพของ “อนล” พระเอกหนุ่มลูกชายของ “อาทิตย์” รองประธานบริษัท KTP ของตระกูลกำธรภูวนาถ ที่ต้องการเวนคืนที่ดินจากกลุ่มคนจนในสลัม เพราะคุณอาทิตย์มีปณิธานประจำใจที่คอยสอนบุตรชายอยู่เสมอว่า “คนจนก็ไม่ต่างจากมดปลวก ไร้ค่า ไร้ประโยชน์”         แต่ในเวลาเดียวกัน “ภูมิ” ผู้เป็นน้องชายของอาทิตย์ และรั้งตำแหน่งประธานบริษัท KTP กลับไม่เห็นด้วย ทำให้พี่น้องต้องขัดแย้งกัน ไม่ใช่เพียงเพราะความคิดเห็นที่แตกต่าง แต่ยังเป็นเพราะผลประโยชน์ที่แบ่งกันไม่ลงตัว จนเป็นศึกสายเลือดภายในตระกูลเดียวกันของกลุ่มทุนรายใหญ่         ภูมิมีบุตรชายที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับอนลชื่อ “ภีม” ซึ่งมองว่า “บ้าน” ไม่ใช่เพียง “สิ่งที่เป็นอาคารสถานที่อยู่อาศัย” หากแต่เป็น “ทุนของความสุข” สำหรับทุกคนโดยไม่แบ่งชนชั้นหรือฐานะทางสังคม ดังนั้น ไม่เพียงแต่รุ่นพ่อที่ขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างกัน แต่รุ่นลูกก็ยังไม่ลงรอยกันด้วยโลกทัศน์ที่หล่อหลอมมาคนละชุด         ตัดภาพจากฉากชีวิตครอบครัวชนชั้นนำ อีกด้านหนึ่งละครก็จำลองภาพรูปแบบความเป็นครอบครัวซึ่งต่างออกไปของคนอีกกลุ่ม ที่ใช้ชีวิตอยู่ในมูลนิธิเด็กกำพร้าบ้านสายชล กับตัวละครนางเอก “อันดา” และเพื่อนรัก “ลลิษา” ที่เติบโตมาด้วยกัน และแม้จะเป็นเพื่อนรักและสนิทกันมาแต่เด็ก และแม้จะถูกเลี้ยงดูมาโดย “หมอเบญ” ผู้เป็นประหนึ่งแม่บุญธรรมในมูลนิธิบ้านสายชล แต่ชะตาชีวิตของทั้งอันดาและลลิษาก็ไม่ต่างจากเอื้อยและอ้ายในตำนานเรื่องเล่า “ปลาบู่ทอง” เอาเสียเลย                 ในขณะที่อันดาเป็นตัวแทนของสาวน้อยสดใสแสนดี และคอยช่วยเหลือเพื่อนรักทุกครั้งที่ทำผิดและหมอเบญคาดโทษเอาไว้ แต่ทว่ากับลลิษาแล้ว ลึกๆ มีแต่ความอิจฉาริษยา เพราะคิดวาหมอเบญและใครต่อใครต่างพากันมอบความรักความเอ็นดูให้แต่กับอันดาเพียงคนเดียว         และแล้วชะตากรรมของตัวละครทั้งสี่ชีวิตก็มีอันต้องโคจรมาพบกัน เมื่อ “รมิตา” ได้ทราบความจริงจาก “ถาวร” บิดาผู้เป็นนายทุนใหญ่เจ้าของธุรกิจตระกูลอัศวชานนท์ว่า ลูกสาวคนเดียวของเธอยังมีชีวิตอยู่ เธอจึงตัดสินใจออกตามหา ประจวบกับภีมที่ได้รับบาดเจ็บเพราะอุบัติเหตุจากคนปองร้าย ได้หนีมาหลบซ่อนตัวอยู่ใกล้ๆ กับมูลนิธิบ้านสายชล ทำให้ตัวละครทั้งหมดได้เข้าไปผูกพันทั้งกับความลับของบุตรสาวที่หายตัวไปของรมิตา และกับความขัดแย้งที่ปะทุอยู่ในตระกูลเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ไปโดยปริยาย         เพราะเสียงก้องในหัวใจของสาวน้อยผู้กำพร้าบุพการีอย่างลลิษาได้แต่ครวญเพลง “ก็อยากเป็นคนที่ถูกรัก” อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน และเพราะเธอแอบไปรู้ความลับที่หมอเบญปกปิดเอาไว้ว่า อันดาน่าจะเป็นบุตรสาวที่สาบสูญไปของรมิตา ลลิษาจึงสวมวิญญาณ “เพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อ” และสวมรอยเป็นลูกสาวมหาเศรษฐี เพื่อแย่งชิงทุกอย่างไปจากอันดา ไม่ต่างจากต่อมริษยาของอ้ายที่มีต่อเอื้อยลูกสาวแม่ปลาบู่ทองแต่อย่างใด         เมื่อมี “mission” อันแน่วแน่ที่จะพรากทุกอย่างมาจากเพื่อนรัก ลลิษาจึงลงมือปฏิบัติการ “กลเกม” ต่างๆ ที่จะทำให้เธอหลุดพ้นไปจากบ่วงในใจของเด็กกำพร้าผู้ที่ไม่เคยมีใคร และยังเป็นผู้ที่ไม่เคยมีอะไร เพื่อให้ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งได้เข้าไปครอบครองคฤหาสน์หลังใหญ่ที่ใฝ่ฝันมาแต่เด็ก         ไม่ว่าจะเป็นการใช้ล็อคเก็ตของอันดามาสวมอ้างเป็นทายาทเศรษฐีนี ลงทุนกรีดข้อเท้าเพื่อสร้างตำหนิให้เหมือนแผลเป็นของเพื่อนรัก หลอกใช้ “กระทิง” ชายคนรักให้ร่วมมือในปฏิบัติการดังกล่าว ไปจนถึงกำจัดอีกหลายชีวิตที่ล่วงรู้ความลับ รวมถึงฆาตกรรมทั้งหมอเบญผู้อุปการะเลี้ยงดูเธอจนเติบโต และ “ซอนญ่า” ที่แอบเอาดีเอ็นเอของหญิงสาวไปตรวจพิสูจน์ความจริง          ศึกรบที่อันดาต้องเผชิญก็ว่าหนักหน่วงแล้ว ศึกรักที่ต้องประมือกับลลิษาก็ยังหนักหน่วงไม่แพ้กัน เพราะเมื่อลูกพี่ลูกน้องสองคนที่ขัดแย้งกันในกลเกมธุรกิจ มาแอบหลงรักชอบพออันดา ลลิษาที่หวังในตัวของพระเอกหนุ่มจึงเพิ่มดีกรีของเสียงร้องในใจขึ้นไปอีกด้วยว่า “ถ้าเลวแล้วได้ครอบครอง ฉันยอมให้มองว่าร้าย…”         เมื่อกลเกมแห่งธุรกิจมาบรรจบกับกลเกมแห่งความรัก ความขัดแย้งของสองพระเอกหนุ่มลูกพี่ลูกน้องในวงศ์วานเดียวกันที่ฟั่นเกลียวกับความขัดแย้งของหญิงสาวกำพร้าสองคนที่กลายมาเป็น “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” จึงกลายเป็นเส้นเรื่องหลักที่ทำให้ผู้ชมได้ลุ้นไปกับบทสรุปว่า ตกลงแล้วข้อขัดแย้งในกลเกมเรื่องรบและเรื่องรักจะคลี่ลายได้อย่างไร และความลับเรื่องปมชาติกำเนิดที่จะทำให้ลูกปลาบู่ทองอย่างอันดากลับคืนสู่อ้อมอกของมารดาจะออกมาในแบบไหน         อนุสนธิจากความลับของอันดาที่มีล็อคเก็ตและตำหนิแผลเป็นช่วยนำพาให้เธอกลับคืนสู่บัลลังก์ครอบครัวอัศวชานนท์ ในขณะเดียวกับที่ลลิษาก็ถูกลงโทษให้ตายตกไปตาม “กลกรรม” ที่ได้กระทำมาตลอดทั้งเรื่อง ก็คงยืนยันอุทาหรณ์เดียวกับนิทานพื้นบ้าน “ปลาบู่ทอง” ที่สอนให้เราคิดดีทำดี และเฉพาะเด็กหญิงที่รู้จักมุ่งมั่นทำความดีเท่านั้น จากเด็กน้อยผู้น่าสงสารก็จะกลายเป็น “เจ้าหญิงในนิยาย” ที่กลับคืนสู่อ้อมอกแม่ และได้อยู่ครองคู่กับ “เจ้าชายรูปงาม” ได้ในที่สุด       ดูละคร “กลเกมรัก” จนจบ ได้แต่รำพึงรำพันอนิจจาน่าเวทนาก็แต่ลูกปลาบู่อย่างลลิษา ผู้ที่ทำแม้ในสิ่งที่ผิด เพียงเพื่อเขยิบสถานะจากเด็กผู้ใฝ่ฝัน “อยากเป็นคนที่ถูกรัก” สักครั้งในชีวิต ถึงที่สุดก็ต้องกลายเป็นคนที่ไม่มีอะไรและไม่เหลือใครสักคน งานนี้ก็คงได้แต่ครวญเพลงบทใหม่ว่า “สงสารแต่ลูกปลาบู่…” แล้วกระมัง

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 พรหมลิขิต : ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น

        “พรหมลิขิตบันดาลชักพา ดลให้มาพบกันทันใด ก่อนนี้อยู่กันแสนไกล พรหมลิขิตดลจิตใจ ฉันจึงได้มาใกล้กับเธอ…”         บทเพลง “พรหมลิขิต” ที่ขับร้องโดยคุณวินัย จุลละบุษปะ แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ เมื่อราว 7 ทศวรรษที่ผ่านมาได้ บ่งบอกนัยความเชื่อของสังคมไทยที่รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งนับถือเทพตรีมูรติทั้งสามองค์ คือ พระพรหมผู้สร้างและควบคุมทุกอย่างที่พระเจ้าได้สร้างขึ้น พระวิษณุผู้ปกป้องโลกและควบคุมโชคชะตาของมนุษย์ และพระศิวะผู้ทำลายทุกชีวิตแต่ก็เป็นผู้ให้ชีวิตใหม่ได้เช่นกัน         เฉพาะกับความเชื่อเรื่องพระพรหมในฐานะเป็นผู้สร้างโลกและลิขิตชะตาชีวิตของบุคคลต่างๆ นับแต่เกิดจนตาย หรือแม้แต่ดลบันดาลให้เกิดความรักระหว่างบุคคลดังเนื้อร้องทำนองเพลงข้างต้นนั้น แม้เมื่อเราแปลคำภาษาอังกฤษ “destiny” ที่มีความหมายถึงอำนาจซ่อนเร้นบางอย่างซึ่งกำหนดอนาคตของปัจเจก คนไทยก็ยังซ่อนซุกร่องรอยไว้ด้วยว่า คงเป็นเพราะพระพรหมท่านที่ได้ขีดเขียนชะตากรรมให้เป็นเช่นนั้นแล         อย่างไรก็ดี เมื่อเรื่องราวของ “destiny” มาปรากฏอยู่ในโลกแห่งละครโทรทัศน์กันบ้าง และตัวละครต่างก็พูดคำว่า “destiny” กันซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดทั้งเรื่อง ก็ชวนให้สงสัยและไขข้อข้องใจว่า มาถึงทุกวันนี้แล้ว “ตกลงยังเป็นพรหมลิขิตอยู่ใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” กันจริงๆ         กับละครโทรทัศน์แนวเดินทางข้ามเวลาภาคต่อ ที่ขานรับกระแส “ออเจ้าฟีเวอร์” ซึ่งฮือฮาเมื่อราว 5 ปีก่อนหน้าเรื่อง “บุพเพสันนิวาส” มาสู่ภาคใหม่ในชื่อเรื่อง “พรหมลิขิต” ก็สื่อนัยความหมายไม่มากก็น้อยถึงอิทธิฤทธิ์ของพระพรหมท่านที่จะลิขิตบันดาลหรือกำหนดชะตาชีวิตของตัวละครให้เป็นเช่นนั้นเช่นนี้         เรื่องราวของละครโทรทัศน์ภาคต่อเล่าถึงนางเอก “พุดตาน” ณ กาลสมัยปัจจุบัน มีเหตุบังเอิญไปเจอเข้ากับหีบโบราณลึกลับ พลันที่เธอเปิดหีบนั้น ก็ได้พบกับสมุดข่อยโบราณ ซึ่งก็คือ “มนต์กฤษณะกาลี” ที่ถูกฝังดินไว้ และทันทีที่พุดตานได้สัมผัสกับสมุดข่อยศักดิ์สิทธิ์ ร่างของเธอก็ถูกกลืนหายไปจากปัจจุบันขณะ ย้อนกลับไปปรากฏตัวเมื่อกว่า 300 ปีในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาโน่นเลย         และแล้วตำนานรักโรแมนติกบทใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อพุดตานได้ลืมตามาพบกับ “หมื่นมหาฤทธิ์” หรือ “พ่อริด” พระเอกหนุ่มบุตรชายฝาแฝดของ “ออกญาวิสูตรสาคร” และ “คุณหญิงการะเกด” หรือก็คือ “เกศสุรางค์” ผู้ที่ครั้งหนึ่งก็เคยเดินทางข้ามกาลเวลามา แต่บัดนี้ได้กลายเป็นชาวกรุงศรีอยุธยาไปเสียแล้ว         ด้วยเป็นภาคต่อของละครโทรทัศน์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” นี้เอง คู่ขนานไปกับการคลี่คลายปมของตัวละครทั้งหลายที่ถูกผูกไว้ตั้งแต่ภาคก่อน เส้นเรื่องของ “พรหมลิขิต” จึงยังคงเดินหน้าถ่ายทอดความรักรุ่นลูกระหว่างพ่อริดกับพุดตาน โดยมีการตั้งคำถามหลักว่า เหตุการณ์อันมหัศจรรย์ที่คนสองคนข้ามเวลามารักกันเยี่ยงนี้เป็นเพราะ “destiny” กันจริงหรือไม่         แม้จุดเริ่มเรื่องพุดตานจะพยายามแย่งสมุดข่อยลึกลับคืนจากพ่อริด เพราะคิดว่าเป็นประตูกาลเวลาซึ่งจะนำพาให้เธอกลับสู่สามร้อยกว่าปีที่จากมาได้ แต่ด้วยเหตุที่ครั้งหนึ่งคัมภีร์กฤษณะกาลีเคยทำให้คุณหญิงการะเกดเกือบต้องตายจากไปตลอดกาล พ่อริดจึงเอาสมุดข่อยต้นเรื่องไปฝากไว้กับ “หมื่นณรงค์ราชฤทธา” หรือ “พ่อเรือง” แฝดผู้พี่ที่พำนักอยู่เมืองสองแควพิษณุโลก อันเป็นเหตุให้พุดตานต้องใช้ชีวิตติดอยู่ในรัชสมัย “ขุนหลวงท้ายสระ” กับดินแดนที่เธอไม่รู้สึกคุ้นเคยแต่อย่างใด         ด้วยเหตุฉะนี้ ใจความหลักของเรื่องจึงวนเวียนอยู่กับการนำไปสู่บทสรุปตอนท้ายว่า ตกลงแล้วพุดตานจะกลับคืนสู่ภพชาติปัจจุบันได้หรือไม่ และยืนยันให้คำตอบที่พ่อริดสงสัยอยู่เนืองๆ ต่อ “destiny” ว่า “ออเจ้ามาที่นี่เพราะพรหมลิขิตกระนั้นหรือ”         ที่น่าประหลาดใจยิ่งก็คือ ในขณะที่พุดตานก็อธิบายถึง “destiny” ให้พ่อริดฟังว่า “คนที่เชื่อเรื่องพรหมลิขิต ไม่เชื่อว่าจะมีอะไรขัดขวางพระพรหมได้ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเพราะพรหมลิขิตไว้” หากทว่า เรื่องราวของละครกลับมีพล็อตที่คู่ขนานกันไปด้วยว่า เหตุปัจจัยที่ตัวละครหลากหลายได้โคจรมาบรรจบพบกันนั้น อีกฟากหนึ่งก็กลับมีกรรมเก่าที่ทำร่วมกันมาแต่ปางก่อนเป็นเงื่อนไขกำหนด         ทั้งนี้ พุดตานผู้เดินทางย้อนเวลาข้ามภพมา จริงๆ ก็คือ “แม่หญิงการะเกด” ที่เพราะทำกรรมไว้แต่ชาติปางบรรพ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็ตั้งแต่ละครภาคก่อน ดังนั้น การที่เธอได้มาพบรักกับพ่อริด พบเจอกับออกญาวิสูตรสาครและเกศสุรางค์ จนถึงกลับมาปะทะคารมกับ “คุณหญิงจำปา” และ “แม่ปริก” หรือมาเจอะเจอกับ “ผิน” และ “แย้ม” บ่าวรับใช้ในอดีต ก็หาใช่เหตุบังเอิญไม่ แต่เป็นเพราะกรรมเก่าที่ยังไม่ได้ชำระปลดเปลื้องไปนั่นเอง         โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวละคร “แม่กลิ่น” หลานสาวของ “ยายกุย” ที่เอาแต่ตั้งแง่รังเกียจกลั่นแกล้งพุดตานแบบไม่รู้ต้นสายปลายเหตุด้วยแล้ว ละครก็มาเฉลยความในตอนท้ายว่า แม่กลิ่นก็คือ “แดง” เจ้ากรรมนายเวรที่เมื่อชาติก่อนเคยถูกการะเกดทำให้ตกน้ำตาย จนชาตินี้พุดตานต้องกลับมาช่วยชีวิตแม่กลิ่นที่กำลังจมน้ำ เพื่อแก้กรรมและอโหสิกรรมให้หลุดพ้นจากวังวนวัฏฏะที่ทำกันมาตั้งแต่ภพภูมิเก่า         อย่างไรก็ตาม แม้ “destiny” ที่พุดตานกับพ่อริดจะร่วมกันสร้างขึ้นด้วยส่วนผสมระหว่าง “พรหมลิขิต” กับ “กรรมลิขิต” ก็ตาม แต่ทว่า ในอีกแง่มุมหนึ่ง ละครก็ได้นำเสนอเส้นขนานคู่ที่สามที่ตั้งคำถามไปอีกว่า แล้วปัจเจกบุคคลอย่างเราๆ มีอำนาจที่จะลิขิตชีวิตของตนเองได้ด้วยหรือไม่         ด้วยเหตุนี้ เมื่อมาถึงฉากตอนท้ายที่พุดตานต้องถูกถวายตัวเป็นบาทบริจาริกาให้กับขุนหลวง นางเอกสาวก็เลือกประกาศเจตนารมณ์ข้อใหม่กับพ่อริดและใครต่อใครว่า “กฎเกณฑ์ที่สร้างขึ้นต้องเปลี่ยนแปลงได้” และประวัติศาสตร์ที่จะขีดเขียนใหม่ให้เกิดเป็นจริงขึ้นได้ ก็ไม่ใช่รอคอยให้เป็นไปตามยถากรรม แต่ต้องได้มาด้วยจิตสำนึกและลงมือกระทำการโดยตัวของมนุษย์เองเท่านั้น         ดังนั้น ควบคู่ไปกับการพูดคำศัพท์ร่วมสมัยให้กับผู้คนยุคกรุงศรีฯ การลงมือปรุงสำรับอาหารหลากหลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ยั่วน้ำลายผู้ชม หรือการปฏิเสธค่านิยมคลุมถุงชนและหลายผัวหลายเมียแบบโบราณ เราจึงได้เห็นฉากที่ปัจเจกบุคคลอย่างพุดตานลุกขึ้นมาปฏิเสธการเข้าถวายตัว อันเป็นข้อกำหนดที่เคยเชื่อว่ามิอาจเปลี่ยนแปลงได้ จนนำไปสู่บทสรุปความรักที่สมหวังกับชายหนุ่มที่เธอได้รักและได้เลือกจริงๆ         หากจะย้อนกลับไปสู่คำถามว่า แล้วกับ “destiny” นั้น “ตกลงคือพรหมลิขิตใช่ไหม ที่เขียนให้เป็นอย่างนั้น” บางทีคำตอบจากละครที่มีชื่อเรื่องว่า “พรหมลิขิต” ก็น่าจะบอกเราได้ว่า พระพรหมอาจจะลิขิตให้คนสองคนรักกัน และกรรมก็อาจลิขิตชีวิตไปตาม “ชะตา(แห่ง)กรรม” แต่กระนั้น ก็ยังเป็นปัจเจกบุคคลที่สามารถลุกขึ้นมาท้าทาย เปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ และลิขิตขีดเขียน “destiny” ของตนเอาไว้ได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 พนมนาคา : เชื่อในสิ่งที่(ไม่ควร)เห็น เห็นในสิ่งที่(ไม่อยาก)เชื่อ

        เมื่อครั้งสังคมบุพกาลนานมา คนไทยได้ถักทอความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกรอบตัวเอาไว้อย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับสิ่งที่มองเห็นจับต้องได้ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน หรือมนุษย์กับสิ่งของหรือธรรมชาติแวดล้อม ไปจนถึงความสัมพันธ์กับโลกแห่งนามธรรม ที่แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่คนเราก็ยึดโยงตนเองกับสายสัมพันธ์ที่มิอาจเข้าถึงได้ด้วยอายตนสัมผัสทั้งห้าด้าน         ตัวอย่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกนามธรรมที่มองไม่เห็นและสัมผัสไม่ได้นี้ สะท้อนออกมาในลักษณะของความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ เช่น เรื่องของภูตผีปีศาจ วิญญาณ การบูชาทวยเทพเทวดา รวมไปถึงการเคารพบูชาพญานาค หรือที่เรียกว่า “นาคาคติ” ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์อันผูกโยงความสัมพันธ์กับคู่ตรงข้ามที่มีความเป็นอื่น หรือที่คนเราเรียกว่าเป็น “อมนุษย์”         เสฐียรโกเศศ อันเป็นนามปากกาของพระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์ผู้เอกอุทางด้านวัฒนธรรม เคยอธิบายว่า ผีเป็น “อะไรๆ ที่ลึกลับ ซึ่งเรายังไม่รู้และยังคิดไม่ออก ทั้งโดยปกติก็ไม่เคยเห็นตัว หากว่าเคยเห็นผี ก็ต้องเป็นรูปร่างต่างๆ แล้วแต่ผู้เห็น เพราะฉะนั้น ผีจึงเป็นพวกไม่ใช่คน เป็นอมนุษย์อยู่เหนือคน แต่ผีก็มีลักษณะลางอย่างคล้ายคน คือ มีทั้งผีชั้นสูงชั้นต่ำ มีทั้งผีดีผีร้าย”         ด้วยคำอธิบายของปัญญาชนแห่งสยามประเทศในอดีตเช่นนี้ บรรดาอมนุษย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผีหรือพญานาค จึงไม่เพียงแต่มีความเป็นอื่น หากทว่าคือความเป็นอื่นที่มนุษย์เองก็เชื่อโดยมิพักต้องสงสัยหรือสืบถาม แม้ว่าเราจะเคยเห็น หรือไม่เคยเห็น หรือไม่ควรเห็นในสิ่งเหนือธรรมชาติลี้ลับดังกล่าวนั้นก็ตาม         ความเชื่อในความเป็นอื่นที่ไม่ควรเห็น หรือการเห็นในสิ่งเราเองก็มองไม่เห็นหรือไม่ควรเห็นเช่นนี้ ดูจะเป็นความคิดหลักที่กลายเป็นแก่นเรื่องซึ่งเล่าผ่านละครโทรทัศน์แนวแฟนตาซีดรามาอย่าง “พนมนาคา” อันมีเนื้อหาว่าด้วยตำนานพญานาคผู้รอคอยหญิงคนรักแบบข้ามภพข้ามชาติมานับเป็นพันๆ ปี         เรื่องราวของละคร “พนมนาคา” นำเสนอภาพกาลสมัยปัจจุบันของ “เอเชีย” นางเอกสาวผู้เป็นกุมารแพทย์สมัยใหม่ และเบื้องลึกปฏิเสธที่จะเชื่อในเรื่องเร้นลับซึ่งวิทยาศาสตร์มิอาจพิสูจน์ให้ประจักษ์เห็นได้ โดยตั้งแต่เริ่มต้นเรื่องนั้น ความเชื่อมั่นในศาสตร์ความรู้สมัยใหม่ของหมอเอเชียก็ถูกท้าทาย เมื่อคุณหมอสาวที่กำลังรักษาคนไข้อยู่ถูกญาติของคนไข้เอาน้ำมนต์สาดหน้า เพราะเธอไม่เชื่อว่าผู้ป่วยถูกสิ่งเหนือธรรมชาติเล่นงาน และยังไปปรามาสว่าสิ่งที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาช่างดูไร้สาระงมงาย         ต่อมาละครก็ค่อยๆ เพิ่มบททดสอบอีกหลายระลอกเพื่อสั่นคลอนความยึดมั่นถือมั่นในองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในห้วงสำนึกของหมอเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นฉากที่หญิงสาวพลัดตกจากดาดฟ้าของโรงพยาบาล แล้วทุกอย่างก็หยุดนิ่ง พร้อมกับมีกายทิพย์ของชายหนุ่มรูปงามคนหนึ่งลอยตัวมาโอบรับตระกองเธอลงมาสู่พื้นดิน หรือการที่นางเอกสาวเริ่มรู้สึกลึกๆ ว่า ชายหนุ่มลึกลับคนเดียวกันนี้ เฝ้าติดตาม “ส่อง” ดูชีวิตเธออยู่ในโลกนิมิตหรือโลกคู่ขนานที่เกินกว่าอายตนะทั้งห้าของเธอจะสัมผัสได้         การปะทะกันระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติกับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เช่นนี้ ต่อมาได้กลายเป็นเหตุปัจจัยนำพาให้หมอเอเชียเดินทางสู่หมู่บ้านไกลโพ้นริมตะเข็บชายแดนไทย-เขมรที่ชื่อ “พนมนาคา” และ ณ หมู่บ้านอีสานโบราณแห่งนี้เอง ที่เด็กจำนวนมาก รวมทั้งเด็กชาย “วันเนตร” ป่วยเป็นโรคประหลาดคล้ายกับมีเกล็ดงูขึ้นตามตัว ซึ่งชาวบ้านต่างเชื่อกันว่าเป็นเพราะคำสาปของพญานาค ในขณะที่คุณหมอกุมารเวชกลับยืนกรานว่านี่คืออาการของโรคที่ชื่อฟังดูแปลกหูว่า “อิชไธโอซิส”         ในขณะที่กำลังสืบหาสาเหตุต่ออาการป่วยแปลกประหลาดของเด็กๆ ในหมู่บ้านอยู่นั้น ยิ่งค้นหาคำตอบ ก็ยิ่งพบกับเรื่องเร้นลับปาฏิหาริย์ชวนสนเท่ห์ใจขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหมอเอเชียก็ได้พบกับ “อนันตชัย” ชายหนุ่มลึกลับในภาพนิมิตของเธออีกครั้ง และบังเกิดความรู้สึกว่า เธอกับเขาผูกพันกันมานานแสนนาน         จากนั้นความจริงของเรื่องก็ค่อยๆ เปิดเผยออกมาว่า พระเอกหนุ่มอนันตชัยก็คือ “พ่อปู่” หรือพญานาคผู้คุ้มครองหมู่บ้านพนมนาคา และในอดีตชาตินับพันปีก่อน เอเชียก็คือ “อนัญชลี” หญิงคนรักของเขา แต่เพราะ “อเนกชาติ” พญานาคผู้น้องมีความอิจฉาพี่ชาย และหวังจะครอบครองอนัญชลีเพื่อขึ้นเป็น “นาคาธิบดี” หรือเจ้าผู้เป็นใหญ่ในหมู่พญานาคทั้งปวง จึงวางแผนให้อนัญชลีเข้าใจเขาผิดจนฆ่าตัวตายและกล่าวสัจวาจาสาปแช่งให้ตนรังเกียจอนันตชัยในทุกภพทุกชาติไป         เพราะอนันตชัยเองก็ตระหนักว่า “วันวานมันคืนย้อนมาไม่ได้ และวันพรุ่งนี้ยังไม่รู้ ฉันพร้อมจะอยู่ ฉันพร้อมจะตายเพื่อรักคำเดียว…” เขาจึงติดตามและปกป้องเธอจากอเนกชาติมาแบบข้ามภพชาติ โดยมุ่งหมายจะรื้อถอนไฟล์ความทรงจำที่ผิดพลาด และทำพิธีกรรมถอนคำสาปให้หญิงคนรักได้กลับมาครองคู่กับเขาอีกครั้งในชาติปัจจุบัน         “ไม่ว่าเธอจะเคยเป็นใคร จะผ่านอะไรมาขอจงอย่าเป็นกังวล นี่คือคนของเธอ” อนันตชัยจึงต้องฝ่าฟันกับคำสาปในอดีตที่อนัญชลีได้ปฏิญาณว่า “ไม่ว่าชาติไหนก็จะไม่ขอรักชายคนนี้อีก” และยังต้องฝ่าด่านความรู้สมัยใหม่ เพื่อยืนยันกับเอเชียว่า “ในโลกนี้มีอะไรอีกมากมายที่วิทยาศาสตร์ของคุณพิสูจน์ไม่ได้ สิ่งที่มองไม่เห็นใช่ว่าจะไม่มี” และทำให้เธอเชื่อการมีอยู่ของพญานาคด้วยตนเอง ไม่ใช่เชื่อเพียงเพราะคนอื่นบอกว่ามีจริง         โดยโครงเรื่องที่พระเอกหนุ่มจากต่างภพภูมิเฝ้ารอคอยการกลับมาครองคู่กับหญิงคนรักเช่นนี้ เราก็พอจะคาดเดาฉากอวสานได้ไม่ยากว่า หลังจากผ่านอุปสรรคนานัปการ อนันตชัยก็สามารถกอบกู้และดีลีทไฟล์ความทรงจำอันผิดพลาดคลาดเคลื่อน และลงเอยความรักกับหมอเอเชียได้ในที่สุด ซึ่งตรงข้ามกับอเนกชาติที่ก็ต้องถูกเมืองบาดาลลงโทษไปตามกฎแห่งกรรม         ในด้านหนึ่ง การวางพล็อตเรื่องแบบรักอมตะระหว่างพญานาคากับมนุษย์ปุถุชนก็ไม่ต่างจากการสืบทอดคติความเชื่อลึกๆ ของคนไทย ที่ยอมรับการดำรงอยู่ของสายสัมพันธ์ข้ามเผ่าพันธุ์หรือข้ามวัฒนธรรม         แต่ในอีกทางหนึ่ง เมื่อหมอเอเชียกับผองมิตรที่ทำกรรมร่วมกันในปางก่อนอย่าง “พุ่มข้าวบิณฑ์” และ “สิทธา” ได้สัมผัสเรื่องเหลือเชื่อครั้งแล้วครั้งเล่า และประจักษ์แก่สายตาว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของพ่อปู่นาคราชผสานกับการรักษาโรคด้วยแพทย์แผนใหม่ช่วยเยียวยาให้เด็กๆ พนมนาคาหายขาดจากอาการโรคเกล็ดงูได้ จากที่เคย “ไม่เชื่อแต่ไม่กล้าลบหลู่” ก็กลายเป็น “เชื่อได้โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคำถาม” แต่อย่างใด        กับโลกที่เรามองเห็นและสัมผัสด้วยอายตนะทั้งห้านั้น เรื่องบางเรื่องเราอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และพิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ทั้งเรื่องชาติภพ บุญกรรม การกลับชาติมาเกิด หรือคติความเชื่อในพญานาค แต่ความรักข้ามภพของอนันตชัยกับอนัญชลีกับความศรัทธาต่อพ่อปู่ที่ชาวบ้านพนมนาคาต่างเคารพ คงให้ข้อสรุปได้ว่า ไม่ว่าจะเห็นหรือไม่เห็น แต่ขอเพียงเชื่อโดยไม่ตั้งคำถาม เราก็สัมผัสถึงได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 273 เกมรักทรยศ : คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด

        ภายใต้ระบอบสังคมแบบปิตาธิปไตยหรือสังคมแบบชายเป็นใหญ่นั้น บุรุษเพศมักมีอหังการว่า ตนมีอำนาจกำหนดชะตากรรมของผู้หญิง และในระบอบสังคมดังกล่าวนี้ ผู้หญิงจำนวนหนึ่งต้องทนทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจอย่างแสนสาหัส จนอาจจะนำไปสู่บทสรุปให้กับผู้หญิงว่า “คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด” ก็เป็นได้         แบบเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่าง “เจนพิชชา” หรือ “หมอเจน” จิตแพทย์สาวชื่อดังในจังหวัดภูเก็ต กับสามีที่อยู่กินกันมานานอย่าง “อธิน” จนมีโซ่ทองคล้องใจสองคนคือ “พัชร์” กับ “พลอย” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “เกมรักทรยศ” ที่ฉายภาพชีวิตคู่ซึ่งต้องภินท์พังลงเพราะความลุแก่อำนาจแบบชายเป็นใหญ่ และด้วยการออกแบบพล็อตเรื่องของละคร ก็อาจทำให้บรรดาสามีทั้งหลายต้องผาดตาสัมผัสผู้หญิงที่นอนร่วมเตียงเคียงหมอนกันด้วยมุมมองแบบใหม่         เปิดฉากละครมาด้วยภาพชีวิตครอบครัวพ่อแม่ลูกที่แสนจะอุดมคติ อบอุ่นลงตัว ควบคู่ไปกับอีกด้านที่อาชีพการงานของหมอเจนก็ดูจะเจริญก้าวหน้าในฐานะแพทย์สาวด้านจิตเวชมือต้นๆ ของโรงพยาบาล จนกระทั่งจุดหักเหของเรื่องเกิดขึ้นเมื่อหมอเจนไปพบเส้นผมของผู้หญิงติดอยู่บนผ้าพันคอของอธิน เพราะไฟไหม้อย่างไรก็ต้องมีควัน และเพราะหมอเจนมีคติประจำใจว่า “ความโง่ที่สุดของผู้หญิงคือการคิดว่าตนเองฉลาดกว่าคนอื่น” ดังนั้นเธอจึงเริ่มตั้งสมุฏฐานที่ว่า สามีที่เธอไว้ใจน่าจะกำลังนอกใจเธออยู่หรือไม่         ยิ่งสงสัยก็ยิ่งสืบค้น ยิ่งขุดค้นก็ยิ่งทยอยเจอหลักฐาน จากเส้นผมปริศนา มาเจอช่องลับในรถยนต์ เจอรูปลับในโทรศัพท์ เจอพฤติกรรมแปลกๆ ของสามีและคนรอบข้างเธอ เรื่อยไปถึงข้ออ้างที่อธินมักไปเยี่ยมแม่ที่สถานพักฟื้นคนชรา จนกลับบ้านค่ำมืดดึกดื่น         หลังจากปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ของเรื่องราว หมอเจนก็บรรลุคำเฉลยว่า เรื่องที่เธอกำลังระแวงว่า สามีแอบไปมี “โลกสองใบ” นั้นมีมูลความจริงอยู่ และก็ค่อยๆ ค้นพบต่อไปด้วยว่า ผู้หญิงที่สวมบทบาทเป็นภรรยาเก็บลับๆ ของอธินก็คือ “เคท” นักศึกษาไฮโซสาวสวยใสซื่อ ลูกผู้มีอิทธิพลด้านธุรกิจของจังหวัด         และที่สำคัญ สมการของเรื่องก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น เมื่อหมอเจนยิ่งสืบค้น เธอก็ยิ่งได้คำตอบที่ซุกซ่อนซ้อนทับลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า ไม่ใช่เพียงสามีเท่านั้นที่ปิดบังเรื่องการนอกใจ หากแต่บุคคลรอบตัวของเธอและอธินเอง ต่างก็รู้เห็นเป็นใจ และก็ช่วยกันปกปิดความจริงจนทำให้เธอดูราวกับเป็น “ผู้หญิงโง่ๆ” คนหนึ่ง         ไม่ว่าจะเป็น “ชัช” และ “อันนา” สองสามีภรรยาเพื่อนบ้านที่หมอเจนคิดเสมอว่าเป็นเสมือนญาติพี่น้องที่สนิทที่สุด “โรส” หมออายุรเวทเพื่อนสนิทของอธินและก็เป็นเพื่อนที่หมอเจนมอบความไว้ใจมานาน “จูน” เลขานุการของอธินที่มักมาปรับทุกข์เรื่องชีวิตครอบครัวกับหมอเจน รวมไปถึง “สร้อยสน” มารดาของอธินที่เอาแต่ปกป้องลูกชายโดยไม่คำนึงถึงจิตใจของลูกสะใภ้แต่อย่างใด         เพราะ “คนที่ไว้ใจสุดท้ายร้ายที่สุด” และยิ่งเป็น “ทุกๆ คนที่ไว้ใจ” ซึ่งอยู่ใกล้ชิดรอบตัวที่ใช้ทฤษฎีสมคบคิดทำร้ายจิตใจของเธอด้วยเหตุผลแตกต่างกันไป แบบที่หมอเจนพูดกับโรสว่า “มันไม่ใช่เส้นผมเส้นเดียวน่ะสิ แต่มันเป็นเส้นผมที่บังตาฉันมาตลอด” ด้วยเหตุนี้ หมอเจนที่ “ตาสว่าง” จึงตัดสินใจแน่วแน่วว่า คงต้องเป็นเธอเองที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ์ในการรับรู้และจัดการกับสามีที่มีบ้านหลังที่สอง         แม้หมอเจนจะเคยกล่าวกับโรสว่า “ความเชื่อใจเป็นพื้นฐานความสัมพันธ์อันมั่นคง” แต่เมื่อหมดซึ่ง “ความเชื่อใจ” ที่มีต่อสามีและผู้คนรอบข้างไปเสียแล้ว หมอเจนจึงเลือกเดินเกมรุกเพื่อต่อสู้ในสมรภูมิแห่ง “เกมรักทรยศ” ในครั้งนี้                 ในขณะที่หน้าฉากของครอบครัวคือสถาบันที่สมาชิกในบ้านต้องปั้นภาพลักษณ์ให้คนอื่นๆ เห็นเพียงด้านความสุขสมานฉันท์กลมเกลียว ดังสำนวนที่ว่า “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” แต่เอาจริงๆ แล้ว หลังฉากของสถาบันครอบครัว บ่อยครั้งก็ไม่ต่างจากสนามรบที่มีการเมืองระหว่างเพศปะทุคุกรุ่นเป็นระยะๆ         ดังนั้น เมื่อฉากหลังเป็นยุทธสงครามจาก “เกมรัก” ที่พรางตาเธอด้วยความ “ทรยศ” หมอเจนจึงมุ่งหมายว่า เธอต้องเอาคืนทุกอย่างทั้งหมดที่เป็นของตนมาเสียจากอธิน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ทรัพย์สมบัติ และลูกทั้งสองคน จะมียกเว้นก็แต่สามีเท่านั้นที่เธอต้องการฟ้องหย่า และไม่คิดที่จะถือครองกรรมสิทธิ์อีกต่อไป         เริ่มต้นจากที่หมอเจนส่ง “เตย” อดีตคนไข้ที่เธอวางใจให้ไปเช่าห้องพักอยู่ข้างห้องของเคท และทำทีตีสนิทเพื่อสืบสาวเรื่องราวความลับหรือแม้แต่ปั่นหัวศัตรูอยู่ตลอดเวลา จากนั้นเธอก็ยอมหลับนอนกับชัช เพราะไม่เพียงต้องการสั่งสอนอันนาให้เข้าใจความเจ็บปวดจากการถูกทรยศโดยคนใกล้ตัวเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการคุมเกมการใช้ “เพศสัมพันธ์” แบบ one-night stand เป็นเครื่องมือทางอำนาจเพื่อแบล็คเมล์ให้ชัชเอาเอกสารบัญชีการเงินที่ติดลบของสามีมาใช้ต่อรองตอนฟ้องคดีหย่าร้างกัน         จนนำไปสู่ฉากที่หมอเจนเปิดโปงวีรกรรมของเคทกลางโต๊ะกินข้าวต่อหน้า “ท่านบุญณ์ญาณ์” และ “คุณหญิงมินตรา” เพื่อกระชากหน้ากาก “ลูกสาวที่แสนดี” ของทั้งคู่ว่า กำลังคบชู้กับอธินจนตั้งท้อง รวมถึงตอกหน้าเคทด้วยวลีเด็ดแห่งยุคว่า “จะตบหน้าฉันอีกเหรอ ตบมาตบกลับนะครั้งนี้ ไม่โกง”         หลังจากที่จัดฉากต่างๆ จนเขี่ยสามีให้ระเห็จออกไปจากชีวิตได้ หมอเจนก็กลับพบว่า “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” ยิ่งมีจิตสำนึกแบบผู้ชายเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจเป็นเดิมพัน แบบที่อธินก็กล่าวกับตนเองว่า “บางทีผู้ชายก็รับไม่ได้ที่เห็นว่าเมียตัวเองเก่งกว่า ดีกว่า” เพราะฉะนั้นความพ่ายแพ้ในเกมยกแรกจึงทำให้หลายปีที่ผ่านไปเขาก็ยังเลือกจะกลับมาเพื่อทวงคืนแก้แค้นกับภรรยาอีกครั้ง         และเพราะนักจิตวิทยาอย่างหมอเจนก็รู้ถึงสัจธรรมที่ว่า สิ่งที่ผู้ชายทั้งหลายกลัวก็คือ สายตาของคนอื่นที่มองว่าเขาเป็นคนขี้แพ้หรือเป็นคนที่น่าสมเพชเวทนา ดังนั้น ในยกหลังของเกม หมอเจนจึงจัดการวางกลอุบายที่จะสั่งสอนให้อธินในครั้งนี้ไม่เหลือสิ่งใด แม้แต่ครอบครัวใหม่กับเคทและอนาคตของเขา         หากในการเมืองเรื่องอำนาจระหว่างเพศจะทำให้หมอเจนต้องเรียนรู้ความสูญเสีย โดยเฉพาะกับพัชร์บุตรชายที่เลือกจะหนีออกไปจากเกมขัดแย้งของพ่อและแม่ แต่เธอก็ได้คำตอบว่า ระหว่างการรักษาความสัมพันธ์กับสามีที่เป็นเพียง “ผู้ชายห่วยๆ” คนหนึ่ง กับเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะหลุดพ้นจากสายโซ่ที่ร้อยรัดไว้ด้วยบรรทัดฐานของภรรยาที่ดีที่ต้อง “แสร้งโง่” ตลอดเวลา เธอควรจะอยู่กับตัวเลือกข้อใด         คำตอบคงไม่ต่างจากฉากที่หมอเจนเอาเครื่องพ่นไฟมาลนหลอมแหวนแต่งงานจนไม่เหลือซากความทรงจำอัน “ลวงตา” ของอดีต คู่ขนานไปกับประโยคในท้ายเรื่องที่เธอกล่าวกับอันนา และกระแทกมาในใจของผู้ชมได้อย่างน่าขบคิดยิ่งว่า “เรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดมาจากผู้ชายห่วยๆ คนหนึ่ง แต่ทำไมคนที่ต้องลุกขึ้นมาทำสงครามฟาดฟันกันไม่จบไม่สิ้นต้องเป็นพวกผู้หญิงด้วย”

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)