ฉบับที่ 109 ไทยแอร์เอเซีย ชดใช้ผู้บริโภคเหตุเครื่องบินดีเลย์

image0040

เรื่องนี้...เป็นเรื่องยาวข้ามประเทศครับ

คุณรุจน์ และภรรยา มีกิจธุระที่ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย และเลยไปท่องเที่ยวยังเมืองที่ชื่อว่า ย๊อกยาการ์ตา ซึ่งอยู่ในประเทศอินโดนีเซียเช่นกัน

ทั้งสองสามีภรรยาเลือกใช้บริการสายการบินราคาประหยัดไทยแอร์เอเซีย โดยซื้อตั๋วจากเว็บไซต์ของสายการบินแห่งนี้ ได้ตั๋วขาไปออกเดินทางในวันที่ 21 มีนาคม 2552 ออกจากกรุงเทพฯ เวลา 20.15 น. และถึงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียเวลา 23.45 น. และตั๋วขากลับเครื่องบินจะออกจากจาการ์ตาในวันที่ 29 มีนาคม 2552 เวลา 16.20 น. และถึงกรุงเทพฯ เวลา 19.45 น. ทั้งนี้เพื่อจะกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ให้ทันในเช้าวันรุ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 29 มีนาคมซึ่งเป็นวันที่ต้องเดินทางกลับนั้น สองสามีภรรยายังอยู่ที่เมืองย๊อกยาการ์ตา เพื่อไม่ให้พลาดเที่ยวบินขากลับจากจาการ์ตาไปกรุงเทพฯ ทั้งสองจึงได้ซื้อตั๋วจากไทยแอร์เอเซียเที่ยวบินจากย๊อกยาการ์ตามาถึงจาการ์ตาในเวลา 12.45 – 13.45 น. อีกด้วย

คุณรุจน์และภรรยาทราบจากโฆษณาว่า สายการบินแอร์เอเซีย เป็นสายการบินที่ให้บริการแบบ “จุดต่อจุด” ไม่ได้ให้บริการเที่ยวบินต่อเนื่อง ผู้โดยสารต้องรับผิดชอบตัวเองในการไปเช็คอินให้ทันเที่ยวบินถัดไป คุณรุจน์จึงไม่ประมาทเพราะกลัวตกเครื่องบิน ก่อนออกเดินทางคุณรุจน์และภรรยาจึงช่วยกันเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อรวบรวมข้อมูลเที่ยวบินของสายการบินอื่นๆ ที่ให้บริการในเส้นทางย๊อกยาการ์ตา – จาการ์ตา ในเวลาใกล้เคียงกันกับเที่ยวบินของไทยแอร์เอเซียไว้เผื่อเหนียว

ขาไปไม่มีปัญหาอะไร ทำธุระและท่องเที่ยวอยู่ในอินโดนีเซียจนถึงวันที่ 26 มีนาคม 2552 จึงได้เดินทางมาถึงเมืองย๊อกยาการ์ตา ก่อนออกจากสนามบินย๊อกยาการ์ตาจึงได้นำตั๋วเครื่องบินเส้นทางย๊อกยาการ์ตา – จาการ์ตา และ จาการ์ตา – กรุงเทพฯ ที่ซื้อไว้แล้วไปยืนยันการเดินทางกับพนักงานไทยแอร์เอซีย พนักงานก็จิ้ม ๆ ดูข้อมูลในคอมพิวเตอร์แล้วบอกว่าเที่ยวบินที่สำรองที่นั่งไว้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ คุณรุจน์และภรรยาจึงออกจากสนามบินไปท่องเที่ยวและทำธุระในเมืองย๊อกยาการ์ตาอย่างสบายใจ

พอถึงวันเดินทางกลับในวันที่ 29 มีนาคม 2552 ซึ่งจะต้องบินออกจากย๊อกยาการ์ตาไปจาการ์ตาในเวลา 12.45 น. คุณรุจน์และภรรยา จึงรีบเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า เดินทางมาถึงสนามบินย๊อกยาการ์ตา และเช็คอินในเวลา 10.30 น. ได้ถามพนักงานไทยแอร์เอเซียว่าเที่ยวบิน “ตรงเวลา” หรือเปล่า ได้รับคำตอบจากพนักงานยืนยันว่าเที่ยวบินนี้ตรงเวลา

จนถึงเวลา 12.15 น. พนักงานของท่าอากาศยานได้ประกาศเรียกให้ผู้โดยสารของสายการบินไทยแอร์เอเซียเที่ยวบินที่จะไปจาการ์ตาเข้าไปรอที่หน้าประตูทางออก คุณรุจน์และภรรยาก็เบาใจว่าได้ขึ้นเครื่องบินตรงเวลาแน่ จึงได้ผ่านกระบวนการซื้อสิทธิการใช้ท่าอากาศยานและผ่านการตรวจค้นอาวุธเพื่อไปรอที่ประตูทางออก

รอกันอยู่ที่ประตูทางออกจนถึงเวลาที่เครื่องบินจะต้องออกคือเวลา 12.45 น. ไม่เห็นวี่แววจะมีเครื่องบินของไทยแอร์เอเซียมารับไปจาการ์ตาเสียที มองไปที่ลานบิน เห็นเครื่องบินของสายการบินอื่นที่ได้เล็งไว้เผื่อเป็นเที่ยวบินสำรองเวลามีเหตุฉุกเฉิน ก็ทยอยโผผินบินไปทีละลำๆ

โอย...นี่มันเหตุฉุกเฉินแล้วนี่ คุณรุจน์และภรรยามองหน้ากันเลิ่กลั่ก และทำสิ่งที่อาจหาญที่สุดเท่าที่เคยทำในชีวิตที่ผ่านมาด้วยการ ขออนุญาตพนักงานรักษาความปลอดภัยของสนามบินวิ่งย้อนออกไปถามข้อมูลเรื่องความล่าช้าของเที่ยวบินกับพนักงานไทยแอร์เอเซีย

กระทั่งเวลาบ่ายโมงเศษถึงได้รับข้อมูลว่า เครื่องบินที่จะใช้เดินทางนั้นเกิดความล่าช้าในการบินจากสนามบินสิงคโปร์มาสนามบินย๊อกยาการ์ตา ทำให้ต้องเลื่อนการเดินทางออกจากย๊อกยาการ์ตาเป็นเวลา 15.00 น. และถึงจาการ์ตา เวลา 16.00 น.

การที่พนักงานไทยแอร์เอเซียเพิ่งมาบอกข้อมูลการดีเลย์ของเที่ยวบิน ทำให้คุณรุจน์และภรรยาหมดสิทธิที่จะไปเช็คอินเที่ยวบินจาการ์ตา – กรุงเทพฯ ได้ทัน เพราะเครื่องบินจะออกเวลา 16.20 น. แต่ต้องเช็คอินก่อนเครื่องบินออกอย่างน้อย 45 นาที สองสามีภรรยาจึงได้แต่นั่งทำใจ

หลังจากนั่งทำใจอยู่ในสนามบินย๊อกยาการ์ตาจนเบื่อแล้วเบื่ออีก ท้ายที่สุด คุณรุจน์และภรรยาได้ขึ้นเครื่องจากย๊อกยาการ์ตาในเวลา 15.30 น. ล่าช้าไปกว่ากำหนดการเดิม 2 ชั่วโมงครึ่ง และถึงจาการ์ตาเวลา 16.30 น. ซึ่งเที่ยวบินที่ซื้อจองไว้โบยบินไปกรุงเทพฯ เรียบร้อยแล้ว

ทำให้คุณรุจน์และภรรยาต้องควักเงินซื้อตั๋วเครื่องบินหาทางกลับกรุงเทพฯ ใหม่ทั้งหมด และกลับมาถึงกรุงเทพฯ เกือบเที่ยงคืน นับเป็นการเดินทางที่ต้องใช้ความพยายามอย่างแสนสาหัสและต้องจดจำไปอีกนาน

แนวทางการแก้ไขปัญหา
หลังเกิดปัญหา คุณรุจน์และภรรยา ได้พยายามติดต่อไปที่ไทยแอร์เอเซียเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบใช้เวลาไปอีก 26 วัน ถึงจะได้คำตอบว่า ไทยแอร์เอเซีย ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ โดยอ้างว่าความล่าช้าของเที่ยวบินที่เกิดขึ้น เป็นความล่าช้าจากระบบของสนามบินสิงคโปร์ที่ขัดข้องอย่างกะทันหัน ทำให้เครื่องบินของไทยแอร์เอเซียจากสิงคโปร์ไม่สามารถบินมารับผู้โดยสารที่ย๊อกยาการ์ตาได้ตรงตามเวลา

เมื่อเห็นการปัดความรับผิดชอบเช่นนั้น คุณรุจน์และภรรยาจึงอีเมลล์ไปสอบถามข้อเท็จจริงกับทางท่าอากาศยานสิงคโปร์ ไม่นานได้รับคำตอบกลับมาว่า เหตุล่าช้าของเที่ยวบินเจ้าปัญหานั้น เกิดความบกพร่องของสายการบินไทยแอร์เอเซียเอง ไม่ใช่ความผิดพลาดของสนามบินสิงคโปร์ คำตอบดังกล่าวทำให้ลิมิตความอดทนของคุณรุจน์และภรรยาขาดสะบั้น แบกความชอกช้ำระกำใจจูงมือกันมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อให้ช่วยทำเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับไทยแอร์เอเซียให้หลาบจำเสียที

ศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องทั้งสอง ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายกับไทยแอร์เอเซีย โทษฐานผิดสัญญาการให้บริการ รวมเป็นเงิน 65,000 บาทเศษ

ศาลได้นัดเจรจาไกล่เกลี่ย ท้ายที่สุดไทยแอร์เอเซีย ยอมชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าตั๋วเครื่องบิน ค่ารถแท๊กซี่ ในการที่ต้องวิ่งวุ่นไปมา ตามจำนวนที่ถูกเรียกร้องมาทั้งหมดคือ 15,844 บาท และยังยอมชดใช้ค่าเสียความรู้สึกอีกเป็นเงิน 30,000 บาท จากที่เรียกร้องไปในส่วนนี้ 50,000 บาท ทำให้คุณรุจน์ได้รับการเยียวยาความเสียหายจากการเดินทางด้วยความทรมานของสายการบินไทยแอร์เอเซียเป็นเงินทั้งสิ้น 45,844 บาท

ถือเป็นบรรทัดฐานสำหรับผู้โดยสารอื่นๆ ว่า ปัญหาเที่ยวบินดีเลย์แล้วไม่รับผิดชอบนั้น อย่าปล่อยให้สายการบินลอยนวลโดยเด็ดขาด

 

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

250 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ไทยแอร์ เครื่องบิน ดีเลย์ เดินทาง

ฉบับที่ 278 ลูกชิ้นปลา ทำฟันระเบิด!

        ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเนื้อ ลูกชิ้นปลา ของกินสุดแสนอร่อยที่ใครหลายคนชื่นชอบ มีขายอยู่ทั่วเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทย ถึงขนาดปัจจุบันก็มีร้านเฟรนไชส์ขายลูกชิ้นกันให้เกลื่อนเต็มไปหมด ซึ่งถ้าพูดถึงร้านเฟรนไชส์เราก็คงจะคาดหวังว่าอาหารที่เราจะซื้อคงจะสะอาดปลอดภัย ถูกสุขอนามัยทุกขั้นตอนใช่ไหมล่ะ (เป็นมาตรฐานที่ควรจะมีสำหรับการขายอาหารอยู่แล้ว) แต่ดันไม่ใช่กับเคสของคุณจุ๊บ        คุณจุ๊บเข้ามาร้องเรียนกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เธอซื้อลูกชิ้นปลาร้านเฟรนไชส์เจ้าหนึ่งมารับประทาน จำนวน 1 ถ้วย ราคา 55 บาท พอได้รับสินค้ามาแล้วเธอก็รับประทานทันที แต่ในระหว่างที่กำลังเคี้ยวอยู่นั้น ก็เหมือนกับเจออะไรแข็งๆ โดนที่ฟัน ซึ่งพอเอาออกมาดูก็พบกับเศษเหล็กและฟันกรามของเธอที่แตกหักเสียหาย เธอจึงติดต่อไปยังเฟรนไชส์ดังกล่าวให้รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียเวลาทำงานและอื่นๆ เป็นเงินจำนวน 69,300 บาท         ทั้งนี้ จากที่คุณจุ๊บติดต่อไปยังบริษัทเฟรนไชส์ลูกชิ้นปลาดังกล่าว ทางบริษัทก็ได้มารับชิ้นส่วนดังกล่าวไปตรวจสอบ หลังจากนั้นทางบริษัทก็ได้ติดต่อผู้เสียหายมาว่าทางบริษัทได้ให้ทางโรงงานที่ผลิตตรวจสอบแล้ว ไม่พบชิ้นส่วนเหล็กดังกล่าว อย่างไรก็ตามจะขอชดเชยค่าเสียหายดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท แทน คุณจุ๊บเองนั้นไม่โอเคกับขอเสนอดังกล่าวเนื่องจากเธอนั้นตั้งครรภ์อยู่จึงไม่สามารถทำฟันได้ทันที และการที่เธอได้รับประทานลูกชิ้นดังกล่าวไปในขณะตั้งครรภ์อยู่ทำให้ไม่สบายใจเป็นอย่างมาก พร้อมกับหน้าที่การงานของเธอนั้นต้องใช้หน้าตาในการให้บริการลูกค้า ซึ่งตั้งแต่เกิดเรื่องเธอต้องถือเอาเรื่องโควิดมาช่วยแก้สถานการณ์ในการทำงานโดยต้องใส่แมสก์ตลอดเวลา เพราะไม่มั่นใจ ไม่กล้ายิ้มหรือพูดคุยได้เหมือนปกติ ที่สำคัญอีกอย่างคือค่าเสียหายทั้งหมดที่เธอต้องเสียไปในการรักษาพยาบาลก็มากกว่าจำนวนเงินที่ทางบริษัทเสนอมาอีกด้วย แนวทางการแก้ไขปัญหา         เพื่อติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อไปยังคุณจุ๊บอีกครั้ง ทำให้ได้ทราบว่าคุณจุ๊บมีการเจรจากับทางบริษัทอีกครั้ง โดยทางบริษัทฯ เจ้าของเฟรนไชส์ลูกชิ้นปลาได้มีการส่งตัวแทนเข้าไกล่เกลี่ยและยื่นข้อเสนอเป็นเงินชดเชยจำนวน 50,000 บาท ทางคุณจุ๊บยินยอมรับข้อเสนอดังกล่าว เป็นอันว่าจบไปได้ด้วยดี         ก่อนจะเข้าร้องเรียนที่มูลนิธิฯ คุณจุ๊บเองได้มีการไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐาน พร้อมกับตรวจเช็กร่างกายนำใบเสร็จและใบรับรองแพทย์มาเป็นหลักฐาน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญของการรวบรวมหลักฐานเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย อย่าลืมถ่ายรูปอาหารที่มีสิ่งแปลกปลอมหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ใบเสร็จหรือสลิปโอนเงินก็เป็นหลักฐานอย่างดีว่าเราซื้อหรือใช้บริการจริง ผู้บริโภคทุกคนควรใส่ใจ  

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 อย่ายอม ! หากโรงแรมให้ไปจอดรถในที่มืดๆ

        โรงแรมเป็นสถานที่พักที่ต้องจัดให้บริการให้เป็นไปมาตรฐานที่ทั้งต้องอำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าพัก มีความสะอาด ปลอดภัย หากไม่เป็นไปตามนี้อาจเสี่ยงทำให้ทรัพย์สินของผู้มาใช้บริการเสียหายได้ เช่นเรื่องราวของคุณนัท         เรื่องราวคือ คุณนัทได้เข้าไปใช้บริการโรงแรมมีชื่อแห่งหนึ่งย่านรัชดา เมื่อวันที่ 10 ก.พ. ในเวลา 19.40 น. โดยได้ติดต่อขอใช้บริการห้องพักชั่วคราวกับโรงแรมเป็นเวลา 2 ช.ม. และได้ชำระเงิน 600 บาท โดยเป็นค่าห้องพัก 300 บาท และค่ามัดจำกุญแจ 300 บาท หลังชำระเงินเสร็จแล้ว จึงค่อยมาทราบทีหลังว่าไม่สามารถนำรถไปจอดหน้าห้องพักตามปกติได้ทั้งที่คุณนัทเคยมาใช้บริการก่อนหน้านี้สามารถนำรถมาจอดหน้าห้องพักได้เลย         ในครั้งนี้พนักงานให้คุณนัทนำรถไปจอดฝั่งตรงข้ามโรงแรม  คุณนัทจึงได้ขอยกเลิกคืนเงินในทันทีแต่โดนปฏิเสธการคืนเงิน จึงจำใจต้องใช้บริการแต่เมื่อทำเลื่อนรถไปจอดฝั่งตรงข้าม พนักงานยังไม่มีแจ้งสถานที่จอดรถที่ชัดเจน ทั้งยังไม่มีป้ายบอกหรือแสดงข้อความที่ชัดเจนว่าต้องเข้าจอดตรงไหน ตลอดจนไปที่จะให้ความสว่างก็มีไม่เพียงพอ เรียกว่าเกือบมืดเลยแหละ คุณนัทไม่รู้ว่าจะจอดรถอย่างไร พนักงานจึงเดินมาบอกให้ขับเข้าไปจอดด้านในมืดๆ         คราวนี้คุณนัทรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยจึงตัดสินใจยอมทิ้งค่าห้องพัก ไม่พักแล้ว เพราะบริการของโรงแรมไม่ได้มาตรฐานและหากต้องจอดรถในที่มืด ไม่มีระบบป้องกันความปลอดภัยใดๆ รถก็เสี่ยงเสียหายได้ คุณนัทจึงตัดสินใจเชคเอ้าท์ออกในเวลา 19.53 โดยได้รับเงินค่ามัดจำกุญแจคืน จำนวน 300 บาท และจ่ายค่าห้องพัก 2 ช.ม. ไปฟรี 300 บาท โดยที่ไม่ได้เข้าพัก         คุณนัทจึงมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพราะการบริการของโรงแรมดังกล่าวไม่ปลอดภัยต่อทรัพย์สินของผู้ใช้บริการ ไม่ได้เป็นไปตามาตรฐานของโรงแรงตามที่ควรเป็นหลายประการ  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว ได้ติดต่อกับโรงแรมดังกล่าว สอบถามถึงข้อปัญหาที่บกพร่อง ต่อมาเจ้าของหน้าที่ของโรงแรมได้ประสานและรายงานแสดงผลกับมูลนิธิฯ ว่าได้ปรับปรุงจุดที่มีปัญหาแล้ว คือได้ทำให้ไฟหน้าห้องพักใช้งานได้ตามปกติ  ติดตั้งป้ายและไฟในที่จอดรถแล้ว และได้โทรศัพท์แจ้งผลการปรับปรุงให้คุณนัททราบด้วย คุณนัทจึงพึงพอใจไม่ติดใจโรงแรมอีก         มาตรฐานของโรงแรมแล้วนั้น กฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรมพ.ศ. 2551 โดยมีรายละเอียดสำคัญดังนี้           1.ให้มีโทรศัพท์หรือระบบการติดต่อสื่อสารต้องมีจำนวนเพียงพอ        2. การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อส่งไปยังสถานพยาบาลใกล้เคียง         3. ระบบรักษาความปลอดภัยอย่างทั่วถึงตลอด 24 ชั่วโมง         4. จัดให้มีห้องน้ำและห้องส้วมในส่วนที่ให้บริการสาธารณะโดยจัดแยกชายและหญิง          5. มีการรักษาความสะอาด มีการจัดแสงสว่างอย่างเพียงพอ และมีระบบระบายน้ำ บำบัดน้ำเสีย และระบบระบายอากาศที่ถูกสุขลักษณะ         6. ทุกชั้นต้องติดตั้งเครื่องดับเพลิงแบบมือถือไม่น้อยกว่าชั้นละ 1 เครื่อง และเครื่องดับเพลิงต้องอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ตลอดเวลา         7. ต้องติดตั้งระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้         8. ต้องมีทางหนีไฟหรือบันไดหนีไฟตามหลักเกณฑ์ 9. ต้องจัดให้มีระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉิน ใช้ได้อัตโนมัติเมื่อระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าปกติหยุดทำงาน 10. ต้องอยู่ห่างจากแม่น้ำ คู คลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะไม่น้อยกว่า 10 เมตร         นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่จะช่วยทำให้มาตรฐานความปลอดภัยถูกยกระดับมากยิ่งขึ้น อีกหลายประการ เช่น กล้องวงจรปิด ,บัตรผ่านจอดรถ ,คีย์การ์ด ,สัญญาณกันขโมย ,ไม้กั้นอัตโนมัติ เป็นต้น         หากผู้บริโภคท่านอื่นๆ พบเจอปัญหาเช่นคุณนัท ก็สามารถร้องเรียนได้ เพราะมาตรฐานการบริการของโรงแรมมีกฎหมายกำหนดไว้อย่างเข้มงวด ชัดเจน 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 ผู้โดยสารร้องแท็กซี่ไม่กดมิเตอร์ ปล่อยลงกลางทาง

        แม้หลายคนจะเคยได้รับรู้ข่าวปัญหาจากการเดินทางด้วยรถแท็กซี่ตามหน้าสื่อต่างๆ ว่าผู้โดยสารบางคนโบกแล้วแท็กซี่ไม่จอด จอดแล้วไม่ไปบ้าง ขับพาอ้อมบ้าง ไม่กดมิเตอร์บ้าง โก่งราคาบ้าง หรือกระทั่งถูกปล่อยทิ้งกลางทาง แต่คงไม่มีใครคาดคิดว่าตัวเองจะเจอปัญหานี้ คุณริต้าก็เช่นกัน แต่เธอก็เจอแจ็กพ็อตจนได้         ในเช้าวันหนึ่ง คุณริต้ามีธุระต้องเดินทางไปดอนเมือง เธอมายืนเรียกแท็กซี่อยู่ที่หน้าสถานีรถไฟฟ้า BTS สนามเป้า รอสักพักก็มีรถแท็กซี่คันหนึ่งผ่านมาและจอดรับ เธอขึ้นรถตอนเจ็ดโมงกว่าๆ เกือบแปดโมงเช้า คุณโชเฟอร์เขาขับรถออกไปโดยไม่ได้กดมิเตอร์ตามปกติ แต่กลับหันมาเรียกเก็บค่าโดยสารจำนวน 600 บาทแทน คุณริต้าตกใจ แต่ก็มีสติพอที่จะไม่จ่ายให้เพราะรู้สึกว่าแพงเกินไป         เมื่อผู้โดยสารปฎิเสธ คนขับแท็กซี่ก็เลยจอดรถและให้เธอลงกลางทางที่หน้าปากซอยพหลโยธิน 2 แล้วมุ่งหน้าไปยังถนนวิภาวดี เรียกว่าปล่อยเธอไว้กลางทาง ตอนนั้นเธอรู้สึกไม่พอใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากเรียกแท็กซี่คันใหม่ในบริเวณนั้นให้ไปส่งที่ดอนเมืองแทน เมื่อถึงปลายทางเธอจ่ายค่าโดยสารไปเพียง 163 บาท ทำให้เธอเชื่อว่าแท็กซี่คันแรกนั้นต้องจ้องจะเอาเปรียบผู้โดยสารแน่ๆ เธอจึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับคนขับแท็กซี่ที่ไม่กดมิเตอร์ เรียกเก็บค่าโดยสารแพงเกินจริงและทิ้งผู้โดยสารไว้กลางทางรายนี้    แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแล้วก็ได้ประสานไปที่กรมการขนส่งทางบก เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป โดยทำหนังสือถึงอธิบดีกรมขนส่งทางบก ขอให้ดำเนินการตรวจสอบแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่กรมขนส่งฯ กรณีมีการแจ้งให้ตรวจสอบแท็กซี่จากหน่วยงาน หากในหนังสือระบุข้อมูลเบอร์ติดต่อผู้เสียหาย ทางกรมขนส่งฯ จะติดต่อผ่านผู้เสียหายเองเพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หากมีข้อมูลตกหล่นหรือหากต้องการข้อมูลเพิ่มสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเมื่อโดยสารรถแท็กซี่คือ ผู้โดยสารควรจดจำทะเบียนรถหรือชื่อคนขับรถแท็กซี่ไว้ เผื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นจะได้ติดต่อตามตัวมาได้อย่างรวดเร็ว  และสายด่วนเพื่อร้องเรียนพฤติกรรมของผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ คือ สายด่วน 1584 กรมการขนส่งทางบก

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 278 นั่งกินหมูกระทะแต่กลับได้แผลกลับบ้าน

        มาตรฐานของร้านอาหารนอกจากเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยในอาหารแล้ว ความปลอดภัยของสภาพแวดล้อมในการรับประทานอาหารทั้งโต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการปรุงอาหารก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะไม่อย่างนั้น แค่เพียงไปนั่งรับประทานหมูกระทะก็อาจจะได้แผลกลับมาเหมือนเรื่องของคุณสุดเขตต์         เรื่องราวเริ่มเมื่อคุณสุดเขตต์ไปรับประทานหมูกระทะกับแฟน ในวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา คุณสุดเขตต์ก็นั่งรับประทานตามปกติ แต่แค่เพียงขยับขาเปลี่ยนท่านั่งเข่าก็ไปชนกับ ก้นของเตาเข้าอย่างจังจนทำให้สะดุ้ง ชักขากลับแทบไม่ทัน         แม้ขาจะชนขอบเตาเพียงไม่นานแต่ก็เกิดเป็นแผล เริ่มแรกเป็นเพียงรอยแดงถลอก ต่อมาไม่กี่ชั่วโมงจึงเริ่มพุพอง         “เตาหมูกระทะของร้านนั้น เขาติดตั้งแบบเขาเจาะหลุมกลางโต๊ะ แล้วก็หย่อนตัวเตาลงไป ก้นเตาที่อยู่ด้านล่าง มันยาวกว่า 20 เซ็นได้ แล้วเตามันก็ใหญ่ มันทำให้ชิดกับขาของคนนั่ง ตอนแรกที่นั่ง ยังไม่รู้ เพราะยังไม่ได้ทันสังเกตแต่พอโดนเข้าแล้วแบบนี้ เราก้มดู ติดตั้งเตาแบบนี้อันตรายมาก ใครนั่งก็โดน เด็กๆ มานั่งยิ่งโดนไม่ปลอดภัยจริงๆ ”         หลังจากรับประทานหมูกระทะในวันนั้น คุณสุดเขตต์ได้เข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาแผลพุพองที่ได้จากการไปกินหมูกระทะ และกลายเป็นแผลที่เข่าขนาดกว้าง ยาวกว่า 1 นิ้ว รักษาอยู่ต่อเนื่อง 4 – 5 วันจึงค่อยหายดีแล้วคุณสุดเขตต์จึงมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าจะสามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้าง   แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อประชาชนพบเจอปัญหาเช่นคุณสุดเขตต์ คือได้รับความไม่ปลอดภัยจากร้านอาหารให้ดำเนินการ สองแนวทาง คือ หนึ่งเข้าร้องเรียนกับหน่วยงานที่กำกับดูแลร้านอาหาร เช่น กรุงเทพฯ ให้เข้าร้องเรียนที่สำนักงานเขตที่ร้านอาหารนั้นตั้งอยู่ โดยกรุงเทพมหานครได้มีสำนักงานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครประจำอยู่ในแต่ละสำนักเขตพื้นที่ มีอำนาจหน้าที่คือตรวจสอบมาตรการความปลอดภัยร้านอาหารในพื้นที่ และออกคำสั่งให้ร้านปรับปรุงให้ได้ตามมาตรฐาน  สำหรับต่างจังหวัดคือเทศบาลของแต่ละพื้นที่         สอง รวบรวมหลักฐาน ทั้งหลักฐานการจ่ายเงินว่าได้เข้ารับประทานอาหารในร้านดังกล่าวจริง รูปถ่ายความเสียหายและเอกสารจากการเข้ารับการตรวจรักษา เพิ่มเติมด้วยการเข้าบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ และเจรจาเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลกับทางร้านอาหาร  กรณีของคุณสุดเขตต์ ซึ่งเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั้น ขณะนี้กำลังประสานงานเพื่อจะดำเนินการเรียกร้องสิทธิให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ร้านอาหารเยียวยาค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายต่อไป

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)