ฉบับที่ 276 PFAS อุบัติภัยสารเคมีอันตรายที่เข้าสู่มนุษย์ทุกช่องทาง

        ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกหวั่นวิตกและส่งสัญญาณเตือนถึงอันตรายของสารเคมีกลุ่ม PFAS หรือ Per- and Polyfluoroalkyl Substances  อย่างแพร่หลาย         ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงจะพาไปทำความรู้จักถึงอันตรายและการรับมือที่เราจะสามารถทำได้ PFAS  คืออะไร         PFAS  (per-and polyfluoroalkyl substances)        เป็นกลุ่มของสารเคมีที่มีคุณลักษณะมีพันธะทางเคมีระหว่างอะตอมของคาร์บอนและฟลูโอรีน ที่ยึดเหนี่ยวกันแน่นมากทำให้มีความเสถียรสูงและสลายตัวยาก สารเคมีกลุ่ม PFAS คุณสมบัติสำคัญคือต้านความร้อน น้ำมันและน้ำได้ดี  ปัจจุบันสารเคมีกลุ่มนี้มีมากถึง 14,000 ชนิดและถูกนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม         PFAS เป็นสารเคมีที่มนุษย์สร้างขึ้น ถูกค้นพบตั้งแต่ใน ค.ศ. 1940 คุณสมบัติด้านความทนทาน ยากต่อการสลายตัว และเมื่อสลายแล้วยังแปรเปลี่ยนสภาพเป็นอีกสารหนึ่งได้ตลอดเวลา ดังนั้นทั่วโลกจึงขนานนาม สารเคมีกลุ่มนี้ในอีกชื่อว่า “สารเคมีตลอดกาล”          PFAS  พบได้ทั้งในดิน แหล่งน้ำ สัตว์น้ำ เช่น ปลา อาหารแปรรูป น้ำดื่ม เสื้อผ้า อุปกรณ์เครื่องครัว บรรจุภัณฑ์บรรจุอาหาร เช่น กล่องพิซซ่า ถุงใส่ป๊อบคอร์น ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น แชมพู เครื่องสำอาง ไหมขัดฟันและยังอีกมากมาย  อันตรายของสารเคมี  PFAS         ราว 4 เดือนผ่านมาแล้วที่ทีมข่าวของสำนักข่าว Bloomberg ได้ลงไปสอบสวนถึงการปนเปื้อนของ PFAS  ในชุมชนแห่งหนึ่งซึ่งอยู่บนหมู่เกาะแฟโร         หมู่เกาะแห่งนี้อยู่แอตแลนติกเหนือ ชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพประมงมากว่าร้อยปี พวกเขายืนยันว่าในพื้นที่ไม่มีการประกอบอุตสาหกรรมเคมีใดๆ เลยแต่ตอนนี้สารเคมี PFAS กลับกำลังปนเปื้อนในชุมชนของเขาอยู่เต็มไปหมด         PFAS  เดินทางไปแล้วทุกๆ ที่แม้ในพื้นที่ห่างไกลจนอาจยากจะจินตนาการถึง ด้านผลกระทบต่อสุขภาพยิ่งชัดเจน แต่เมื่อย้อนมองกลับไปยังพื้นที่จุดต้นกำเนิดของสาร  PFAS        ณ ฝั่งตะวันออกของรัฐมินิโซตาใกล้กับสำนักงานใหญ่ของบริษัท 3M บริษัทที่เริ่มผลิตสารเคมีมาตั้งแต่ปี 1902 ซึ่งในปี 1960 บริษัทได้ฝังกลบสารเคมีขนาดใหญ่ไว้ในพื้นที่ ต่อมาสารเคมีดังกล่าวได้รั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อมเป็นบริเวณกว้าง สิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างเงียบๆ แต่สถิติมะเร็งในเด็กในพื้นที่บริเวณนี้ต่างหากที่ส่งเสียงดังเพราะเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ          เอมี่ (Amy) มารดาของบุตรสาวชื่อ Lexi ที่เป็นมะเร็งตั้งแต่วัยเด็กเล่าว่าเธอเริ่มสงสัยว่า บุตรสาวเป็นมะเร็งจากสภาพแวดล้อมในเมืองโอ๊คเดล รัฐมินนิโซตา เพราะเธอดื่มน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชน นอกจากนั้น Lexi ยังได้รับประทานปลาจากทะเลสาบในพื้นที่โดยรอบอยู่เสมอเพราะคนในครอบครัวชอบตกปลา และนั่นอาจทำให้เธอต้องกลับมาฉุกคิดว่าสภาพแวดล้อมที่เธออยู่นี้ อาจไม่ได้ปลอดภัยต่อลูกน้อย เมื่อต้องสัมผัสทั้งน้ำดื่มและอาหาร ที่ล้วนมาจากแหล่งน้ำในพื้นที่อยู่อาศัย Lexi ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นมะเร็งตั้งแต่เธอยังเด็ก และต้องเข้ารับการบำบัดในโปรแกรมอย่างเคร่งคัดกว่า 5ปี  ปัจจุบันอาการของ Lexi ดีขึ้น แต่เด็กหลายคนไม่โชคดีเหมือนเธอ เมื่อสถิติข้อมูลระบุว่าผู้เสียชีวิตในเมืองโอ๊คเดล จากปี 2003 – 2015 กว่า 171% นั้น เสียชีวิตจากมะเร็งเมื่อเปรียบเทียบการการเสียชีวิตนอกพื้นที่การปนเปื้อน  PFAS ไม่เพียงทำให้เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง         การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ในขณะนี้พบว่า PFAS ส่งผลต่อการลดอัตราการเจริญพันธุ์  การทำงานของตับ ระบบเลือดและหัวใจ เพิ่มความดันในหญิงตั้งครรภ์ ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้า  ลดภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ในการปกป้องคุ้มครองโรคให้อ่อนแอลง         การแพร่กระจายของ PFAS ได้กระจายกว้างออกไปอย่างมากในปัจจุบัน ในปี 2023  หน่วยงานสำรวจเชิงธิรณีวิทยาของรัฐบาลกลางสหรัฐ เผยแพร่ผลงานวิจัยล่าสุดที่บ่งชี้ว่า น้ำประปากว่าเกือบครึ่งประเทศมีการปนเปื้อนสาร PFAS  และไม่เหมาะสำหรับการบริโภค เพราะเสี่ยงทำให้เกิดโรคต่างๆ ทั้งโรคมะเร็ง ไทรอยด์ โรคอ้วน ทำลายตับและระบบฮอร์โมนของร่างกาย         ปี 2023 เช่นเดียวกันที่นักวิทยาศาสตร์จาก Environmental Working Group ได้ตรวจตัวอย่างปลาน้ำจืด 500 ตัวอย่างในสหรัฐอเมริกาเป็นปลาน้ำจืด 44 สายพันธุ์ เช่น กลุ่มปลากะพง ปลากดอเมริกัน ปลาคอด ซึ่งเป็นปลาที่นิยมนำมาทำเป็นอาหาร ผลการศึกษาพบกลุ่มตัวอย่างมีปริมาณสารเคมี PFAS เฉลี่ย 9,500 นาโนกรัมต่อเนื้อปลา 1 กิโลกรัม ทำให้ปลาน้ำจืดมีสารเคมีตกค้างสูงมากกว่าปลาทะเลถึง 280 เท่า         นักวิทยาศาสตร์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการบริโภคปลาน้ำจืดหนึ่งครั้งต่อปีอาจเท่ากับการดื่มน้ำ ที่มีสารเคมี PFAS เป็นเวลาหนึ่งเดือน ซึ่งเป็นการรับเคมีในปริมาณที่สูงและอันตราย        ทั่วโลกร่วมส่งเสียงเตือนอันตรายของ PFAS             แม้ชื่อสารเคมี PFAS จะเริ่มปรากฏในหน้าสื่อต่างๆ ในช่วงระยะ  5 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อเข้าสู่การรับรู้ของผู้คนมากขึ้นแล้ว กลับถูกนักวิทยาศาสตร์กล่าวถึงกันอย่างมาก ทั้งนี้ เพราะทั้งงานวิจัยตลอดจนการออกมาเรียกร้องของนักวิทย์ซึ่งพยายามให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ควบคุมการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มนี้ มีมานานกว่า 10 ปี แต่กลับไม่เคยได้รับการขานรับ  ทั้งที่มันอันตรายต่อมนุษย์อย่างมาก         ในปี 2022 นักวิทยาศาสตร์อิสระกว่า 110 คนได้รวมตัวกันออกมาเตือนถึงอันตรายของ PFAS ในน้ำดื่ม ทั้งยังตอกย้ำว่า มาตรฐานคุณภาพน้ำดื่มที่กำหนดให้มีสาร PFOA และ PFOS ซึ่งเป็นสาร 2 ชนิดในกลุ่มสารเคมี PFAS ที่พบได้บ่อยไม่ได้เป็นมาตรฐานที่ทำให้ประชาชนปลอดภัยจาก PFAS ได้         ปัจจุบันประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวถึงผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจาก PFAS  และเริ่มมีมาตรการ ควบคุม จำกัด ไปจนถึงการห้ามใช้สาร PFAS ในหลายระดับที่แตกต่างกัน  สหภาพยุโรป         ในสหภาพยุโรปการกำกับควบคุมการใช้สารเคมีอยู่ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วย สารมลพิษที่ตกค้างยาวนาน โดยองค์การจัดการสารเคมีแห่งสหภาพยุโรป European Chemical Agency (ECHA) ได้สร้างระเบียบเครื่องมือกลไกให้ประเทศสมาชิกร่วมปฎิบัติตามอนุสัญญาฯ เพื่อปกป้องทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม          ปัจจุบันการควบคุมการใช้สารเคมี PFAS ในสหภาพยุโรปมีหลายระดับ บางชนิดมีการห้ามใช้แล้วเช่น การห้ามใช้ PFAS ในโฟมกันไฟตั้งแต่ปี 2011 และยังคงอยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านการห้ามใช้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมีการกำหนดกลุ่มที่ให้ใช้อย่างจำเป็น ซึ่งมีการกำกับ ควบคุมอย่างเคร่งครัด     สหภาพยุโรป เป็นภูมิภาคแรกๆ ที่ตื่นตัว เห็นถึงอันตรายของสาร PFAS และแม้จะมีความต้องการให้ยุติการใช้ PFAS อย่างสิ้นเชิงแต่ยังเป็นเรื่องยากเพราะได้เผชิญกับการแทรกแซงของภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมต่างๆ อย่างหนักมาโดยตลอด   สหรัฐอเมริกา         ปัจจุบันหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ ผ่านกฎหมายเพื่อ ‘ห้าม’ หรือ ‘จำกัด’ การใช้สาร PFAS แล้วโดยรัฐแคลิฟอร์เนียได้ห้ามใช้ PFAS ทั้งหมดในเครื่องสำอางในเดือน ตั้งแต่กันยายน 2022 โดยมีช่วงเปลี่ยนผ่านสำหรับการบังคับใช้หลังวันที่ 1 มกราคม 2025  และไม่นานนี้เอง รัฐมินิโซต้าได้ผ่านกฎหมายห้ามใช้ PFAS โดยตั้งใจในผลิตภัณฑ์ต่างๆ และให้เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป จนถึงในปี 2032 ซึ่งได้กำหนดให้เป็นปีที่บรรลุการไม่มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้สาร PFAS  โดยสมบูรณ์          อย่างไรก็ตามหลายรัฐของสหรัฐอเมริกายังมีสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เช่น นอร์ทแคโรไลนา ช่วงปลายปี 2023  ที่สหประชาชาติหรือ UN ถึงกับตั้งคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ลงตรวจสอบและเตือนภัยให้ประชาชนทราบถึงอันตรายของสารเคมี PFAS ในภูมิภาคนี้หลังพบว่า โรงงาน The Fayetteville โดยบริษัท Chemours เป็นแหล่งสำคัญที่ปล่อย PFAS ออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยแม้ UN ได้ส่งจดหมายถึงบริษัทและระบุถึงงานวิจัยที่ตรวจพบสารเคมี PFAS ของ Chemours ในปลาและพืชผล รวมถึงตัวอย่างเลือดของคนในคนในภูมิภาคนี้กว่า 97% แต่ก็ยังไม่รับการตอบรับที่จะเฝ้าระวังให้มากขึ้น         ในรัฐเทกซัสในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกษตรสองรายยังได้ยื่นฟ้องบริษัทSynagro บริษัทจัดการของเสียขนาดใหญ่ที่ได้นำโคลนหมักมาขายให้เกษตรโดยอ้างว่าเป็นดินโคลนที่มีสารอาหารใช้ทดแทนเป็นปุ๋ยทางเลือกได้และราคาถูกกว่า แต่เมื่อเกษตรนำมาโคลนเหลวเข้ามาใช้แล้ว ไม่นานสุขภาพก็เริ่มแย่ลง สัตว์เลี้ยงตายลง สารเคมีปนเปื้อนในน้ำดื่ม ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ที่ส่งออกจำหน่ายด้วย         การเข้าไปทดสอบโดยองค์กร PEER หรือ Public Employees for Environmental Responsibility ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรยังพบว่าในฟาร์มของเกษตรกรดังกล่าว ในน้ำดื่มปนเปื้อน PFAS มากกว่าค่ามาตรฐานถึง 13,000 เท่า ปนเปื้อนในเนื้อสัตว์เกินระดับที่ปลอดภัยถึง 250,000 เท่า สิ่งที่น่าตกใจ คือ ความเสียหายที่ยิ่งใหญ่นี้กำลังแพร่ไปข้ามรัฐในอเมริกาเมื่อมีการขายโคลนในลักษณะนี้ไปในหลายๆ ที่ เกษตรกรจึงยื่นฟ้องต่อบริษัท Synagro เนื่องจากบริษัท ควร/น่าจะคาดหมายได้ หรือตรวจสอบก่อนว่าสินค้าที่ขายออกไปมีความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือไม่         ในสหรัฐอเมริกาสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือ EPA ได้จัดตั้งสภาด้าน PFAS ขึ้นมาโดยตรง ตั้งแต่ปี  2021 เพื่อกำหนดแผนยุทธศาสตร์เพื่อปกป้องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากผลกระทบจาก PFAS และรัฐบาล ได้ทุุ่มงบประมาณเพื่อกำจัดสาร PFAS และควบคุมผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทุกปี  นิวซีแลนด์        ปัจจุบันนิวซีแลนด์ได้ผ่านกฎหมายห้ามใช้สารเคมี PFAS ในเครื่องสำอางโดยให้มีผลตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป ปัจจุบันจึงนับเป็นช่วงระยะเวลาของการเปลี่ยนผ่าน ให้ภาคผู้ผลิตมองหา คิดค้น สารทดแทนใหม่  นิวซีแลนด์นับเป็นประเทศแถวหน้าที่ปกป้องประชาชนเชิงรุกจากสารเคมี PFAS ทั้งนี้เพราะคณะวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Auckland  ได้ตรวจเครื่องสำอางที่นำเข้าภายในประเทศพบว่าถึง 90% ปนปื้อนสาร PFAS จึงทำให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงอันตรายร่วมกันอย่างชัดเจน  ออสเตรเลีย         ตั้งแต่ปี 2023 ประเทศออสเตรเลียประกาศที่จะเป็นประเทศที่ควบคุมการใช้ PFAS ทั้งตั้งแต่การผลิตภายในประเทศ การนำเข้าและการส่งออก  ควบคุมในแผนงานเจ็ดอุตสาหกรรมสารเคมีใน  ออสเตรเลียที่ห้ามใช้สารเคมีที่จะส่งผลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง โดยรัฐบาลจะประกาศรายชื่อสารเคมี ที่ห้ามใช้ภายในวันที่ 1 ก.ค. 2025 กลุ่มธุรกิจสารเคมีทั้งหมดจึงต้องหาสารตัวเลือกอื่นๆ มาใช้ทดแทน โดยจะให้มีการใช้สารเคมี PFAS เพื่อการศึกษาวิจัยเท่านั้น        ก่อนหน้านี้ รัฐบาลออสเตรเลียได้พัฒนาโปรแกรมให้ภาคธุรกิจ ยุติการใช้สารเคมี PFAS แบบสมัครใจมาแล้วและยังกำหนดการใช้อย่างเคร่งครัดในโฟมกันไฟ การประกาศแผนการควบคุม PFAS ครั้งล่าสุดจึงเป็นการยกระดับขึ้นอีกขั้นของความจริงจังในการปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชน         สถานการณ์ของ PFAS ในประเทศไทย        ในปี 2566 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ห้ามใช้สารPFAS รวมถึงอนุพันธ์ของสาร 13 รายการ ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2566 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง พ.ศ. 2566         เช่นเดียวกับประเทศในสหภาพยุโรปและอาเซียน เนื่องจากจัดเป็นสารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์โดย ต่อมา อย.ยังได้ตรวจสอบเครื่องสำอางที่ขออนุญาตจดแจ้งในประเทศไทยแล้ว ไม่พบการใช้สาร PFAS (Per- and polyfluoroalkyl substances) หรือสารเคมีอมตะ         อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมี PFAS ในเครื่องสำอางเป็นเพียงอุตสาหกรรมหนึ่งเท่านั้น ปัจจุบันมีการนำสาร PFAS ไปใช้เป็นวัตถุตั้งต้นทั้งในอุตสาหกรรมพลาสติกเครื่องปรับอากาศ สิ่งทอ ยานยนต์ ปิโตรเคมี ไฟฟ้า รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมทางการแพทย์และอีกมากมาย         เดือน กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ร่วมกับ เครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ หรือ IPEN ศึกษาทดสอบการปนเปื้อนของสาร PFAS "สารเคมีตลอดกาล" ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอใน 13 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งตัวอย่างเสื้อผ้าเข้าทดสอบ จากทั้งหมด 13 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศในยุโรป 7 ประเทศ (เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ สหราชอาณาจักร เซอร์เบีย มอนเตเนโกร) 4 ประเทศในเอเชีย (บังคลาเทศ อินเดีย ศรีลังกา ไทย) สหรัฐอเมริกา และเคนยา         ผลการตรวจวิเคราะห์เสื้อผ้าทั้งหมดจาก 13 ประเทศรวม 72 ตัวอย่าง (แจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง และเสื้อผ้าประเภทอื่นอีก 16 ตัวอย่าง) พบว่ามี 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 65.3) ที่มีสาร PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว และจากแจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง มีถึง 35 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) ที่มีสารเคมี PFAS หรือมีระดับ EOF ที่บ่งชี้ว่ามีสารดังกล่าว ทั้งนี้พบเสื้อกลุ่มแจ็กเก็ต 16 ตัวอย่าง มีปริมาณสารเคมี PFAS เกินระดับที่สหภาพยุโรปกำหนด         ในกรณีของประเทศไทยพบการปนเปื้อนในทุกตัวอย่างที่ส่งไป 6 ตัวอย่าง หากเปรียบเทียบกันระหว่างตัวอย่างที่มีสาร PFAS สูงที่สุดของแต่ละประเทศในเอเชียด้วยกัน จะพบว่า ตัวอย่างที่ ที่ซื้อจากอินเดียมีปริมาณ PFAS สูงสุด (702.2 นาโนกรัม/กรัม) ตามด้วยตัวอย่างจากไทย (379.9 นาโนกรัม/กรัม) ในขณะที่ตัวอย่างจากบังคลาเทศและศรีลังกามีสาร PFAS ในปริมาณ 6.8 และ 2.7 นาโนกรัม/กรัม ตามลำดับ         การศึกษาวิจัยครั้งนี้ IPEN และเครือข่ายองค์กรสมาชิก จึงได้เสนอต่อรัฐบาลทุกประเทศ เร่งดำเนินการดังนี้         1.ออกประกาศห้ามใช้สารเคมี PFAS ในเสื้อผ้าและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ         2. สนับสนุนการพัฒนาข้อกำหนดในการควบคุมสารเหล่านี้ทั้งหมดในระดับสากล (รวมถึงฟลูออริเนตโพลีเมอร์แบบสายโซ่ด้านข้างและฟลูออโรโพลิเมอร์) และปฏิบัติตามอย่างกลไก         3. บังคับให้มีการเปิดเผยวัสดุและสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ เช่น ออกกฎหมายที่บังคับให้ผู้ผลิตแจ้งส่วนประกอบในสินค้าต่อประชาชนทั่วไป ร้านค้าปลีก และหน่วยงานกำกับดูแล         4. วางแผนและส่งเสริมให้เกิดผลประโยชน์ทางธุรกิจ การสนับสนุนทางการเงิน และการช่วยเหลือต่างๆ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปใช้ทางเลือกที่ปลอด PFAS โดยดูแลให้การเปลี่ยนผ่านนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรมต่อพนักงานและชุมชน         5.เพิ่มทรัพยากรและศักยภาพของศุลกากรในการตรวจวิเคราะห์สินค้านำเข้าที่มีการใช้หรือปนเปื้อนสาร  PFAS         ในมุมมองของ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มองว่า เนื่องจากมีการใช้สาร PFAS ในหลากหลายอุตสาหกรรม การที่หน่วยงานรัฐแม้มีงบประมาณจำกัด แต่ได้ตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้า เช่นที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ได้ตรวจสาร PFAS ในเครื่องสำอาง การตรวจสินค้าอุปโภค บริโภคที่สาร PFAS มีความเสี่ยงจะเข้าสู่ร่างกายในลักษณะนี้มีประโยชน์อย่างยิ่ง ช่วยให้ประชาชน ได้เฝ้าระวังอันตรายและสุขภาพ จึงควรการดำเนินให้เกิดความต่อเนื่องและหลากหลายสินค้า และสำหรับกลุ่มผู้ผลิต เมื่อการเปลี่ยนผ่านสู่การยุติการใช้สาร PFAS อาจจะใช้เวลายาวนาน         ปัจจุบันการมีฉลากที่ให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคว่าสินค้าที่ซื้อหรือใช้ มีสาร PFAS ชนิดใดและปริมาณเท่าใด พร้อมทั้งแนวทางปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการใช้สินค้าดังกล่าว        จึงเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มดำเนินการได้แล้วตั้งแต่วันนี้ เพื่อการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนทุกคน                                   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 275 สารเคมีตลอดกาลในเสื้อผ้า

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ชวนคุณไปดูผลทดสอบสิ่งทอที่ระบุว่ามีคุณสมบัติกันละอองน้ำ คราวนี้ไม่ใช่การทดสอบเปรียบเทียบคุณสมบัติการใช้งานหรือความพึงพอใจของผู้บริโภค แต่เป็นการวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารเคมีกลุ่ม PFAS (per-and polyfluoroalkyl substances) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “สารเคมีตลอดกาล” ซึ่งใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อเพิ่มคุณสมบัติกันน้ำกันคราบสกปรกเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ (International Pollutants Elimination Network หรือ IPEN)* และองค์กรสมาชิก เจาะจงตรวจวิเคราะห์หาสาร PFAS ในเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เนื่องจากเป็นกลุ่มสารที่สามารถทำให้ผู้ที่ทำงานในโรงงานได้รับอันตรายสะสม ลูกค้าที่ซื้อไปสวมใส่ก็สัมผัสกับสารเหล่านี้โดยตรง และการซักทำความสะอาดยังทำให้สารเหล่านี้แพร่ไปสู่อากาศหรือแหล่งน้ำ ที่สำคัญคือมันสามารถสะสมและคงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้อย่างยาวนานด้วย   การทดสอบครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรสมาชิกของ IPEN ใน 13 ประเทศจากเอเชีย อัฟริกา ยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้แก่ ไทย อินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เคนยา เยอรมนี โปแลนด์ เซอร์เบีย มอนเตเนโกร เนธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเชก สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา โดยองค์กรสมาชิกในประเทศไทยที่ร่วมส่งตัวอย่างเข้าทดสอบได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศตัวอย่างทั้งหมด 72 ตัวอย่าง ที่ได้จากการสุ่มซื้อในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ปี 2565 ถูกส่งไปตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการของสถาบันสิ่งแวดล้อมศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยชารลส์ ในสาธารณรัฐเชกเนื่องจากมีสารเคมี PFAS หลายพันชนิดที่ถูกใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ การทดสอบจึงแบ่งออกเป็นสองส่วน ได้แก่ การตรวจหาสารกลุ่ม PFAS ตัวที่ระบุ 58 ชนิด และการวัดระดับ EOF (Extractable Organic Fluorine) หรือสารฟลูออรีนอินทรีย์ที่สกัดได้ ซึ่งผลที่ได้จะสัมพันธ์กับการใช้สารเคมีกลุ่ม PFAS   ผลการตรวจวิเคราะห์ในภาพรวมเราพบว่ามีถึง 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 65) จากเสื้อผ้าทั้งหมด 72 ตัวอย่าง ที่มีการใช้หรือการปนเปื้อนของสารในกลุ่ม PFAS หากดูเฉพาะตัวอย่างที่เป็นแจ็กเก็ต 56 ตัวอย่าง พบว่ามีถึง 16 ตัวอย่างที่มีระดับสารเคมีในกลุ่ม PFAS เกินระดับที่สหภาพยุโรปกำหนด ในกรณีของประเทศไทยพบการปนเปื้อนในทุกตัวอย่างที่ส่งไป (6 ตัวอย่าง)การตรวจวิเคราะห์พบสาร FTOHs (หนึ่งในสารกลุ่ม PFAS) และผลผลิตจากการสลายตัวของสารดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าคุณสมบัติด้านความทนทาน การสะท้อนน้ำ และการป้องกันรอยเปื้อน ในตัวอย่างที่ส่งตรวจ เกิดจากการใช้โพลีเมอร์ที่ได้จากฟลูโรเทโลเมอร์แบบสายโซ่ด้านข้างและ FTOHs ตัวที่พบมากที่สุดคือ PFOA ซึ่งเป็นสารเคมีที่จัดอยู่ในรายการ “ต้องกำจัด” ภายใต้อนุสัญญาสตอกโฮล์ม จึงไม่ควรนำมาใช้ในการผลิตเสื้อผ้าทำไมเราถึงเรียกมันว่า “สารเคมีตลอดกาล”? สารเคมีในกลุ่ม PFAS ทุกตัวมีพันธะทางเคมีระหว่างอะตอมของคาร์บอนและฟลูโอรีนที่ยึดเหนี่ยวกันแน่นมาก ทำให้มีความเสถียรสูงและสลายตัวยาก เราจึงเรียกมันว่า “สารเคมีตลอดกาล” งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า PFAS สามารถถูกปล่อยออกมาในสิ่งแวดล้อมได้ตลอดช่วงชีวิตของมัน ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การใช้ ไปจนถึงการกำจัด และเพราะมันกำจัดได้ยาก ความเข้มข้นของสารเคมีเหล่านี้ในสิ่งแวดล้อมจึงเพิ่มขึ้นตลอดเวลา นักวิจัยพบ PFAS ทั้งในดิน น้ำ อากาศ รวมถึงแหล่งน้ำดื่ม และฝุ่นผงตามบ้าน มีหลักฐานว่ามันสามารถแพร่กระจายไปได้ไกลถึงขั้วโลกเหนือเลยทีเดียวเราจำเป็นต้องใช้มันหรือไม่?ปัจจุบันมีสารชนิดอื่นที่สามารถนำมาใช้แทนได้โดยให้คุณสมบัติอย่างเดียวกัน เห็นได้จากผลการทดสอบครั้งนี้ เราพบเสื้อผ้าที่มีฟังก์ชันคล้ายกันที่ผลวิเคราะห์ระบุว่าปราศจากสาร PFAS ถึง 21 ตัวอย่าง หากเปรียบเทียบกันระหว่างตัวอย่างที่มีสาร PFAS สูงที่สุดของแต่ละประเทศในเอเชียด้วยกันจะพบว่าตัวอย่างที่ซื้อจากอินเดียมีปริมาณ PFAS สูงสุด (702.2 นาโนกรัม/กรัม) ตามด้วยตัวอย่างจากไทย (379.9 นาโนกรัม/กรัม) ในขณะที่ตัวอย่างจากบังคลาเทศและศรีลังกามีสาร PFAS ในปริมาณ 6.8 และ 2.7 นาโนกรัม/กรัม ตามลำดับถ้ามองในภาพรวมจากทั้ง 13 ประเทศจะพบว่าตัวอย่างจากสาธารณรัฐเชก ครองอันดับสิ่งทอที่มี PFAS ในปริมาณมากที่สุด (1304.7 นาโนกรัม/กรัม) อันดับสองตัวอย่างจากสหรัฐ (983 นาโนกรัม/กรัม) อันดับสามได้แก่อีกหนึ่งตัวอย่างจากสาธารณรัฐเชก (825.1 นาโนกรัม/กรัม) ส่วนตัวอย่างจากไทยนั้นเข้ามาเป็นอันดับที่ 9·     คำอธิบายEOF (Extractable Organic Fluorine) หมายถึงปริมาณสารฟลูออรีนอินทรีย์ที่สกัดได้ LOD (Limit of Detection) หมายถึงปริมาณต่ำสุดที่สามารถวัดได้ 

อ่านเพิ่มเติม >