ฉบับที่ 278 ข้าวโพดขึ้นรา..อร่อยหรือกร่อย

        คลิปหนึ่งใน TikTok ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความนิยมของคนเม็กซิกันในการกินข้าวโพดที่ขึ้นราจนเมล็ดมีลักษณะผิดปรกติ โดยเนื้อข่าวมีประมาณว่า คนเม็กซิกันไม่โยนข้าวโพดที่ขึ้นราจนเมล็ดดูน่าเกลียดทิ้ง แต่กลับชอบนำมาทอดทำเป็นอาหารกิน อีกทั้งยังเป็นสินค้าเกษตรที่มีราคาแพงเป็นพิเศษเพราะ (ในความรู้สึกของคนเม็กซิกัน) ข้าวโพดดังกล่าวมีรสชาติดีและมีกรดอะมิโนจำเป็นคือ lysine สูงกว่าข้าวโพดปรกติ นอกจากนี้ยังมีการอธิบายด้วยว่า เป็นภูมิปัญญาโบราณของคนพื้นเมือง Aztec ที่สูญหายไปจากสังคมโลกแล้ว (แต่อาจซ่อนตัวอยู่ในป่าลึกส่วนที่ไม่ใครรู้เห็นได้)... ท้ายสุดของคลิปนั้นได้ตั้งประเด็นที่นักพิษวิทยาได้ยินแล้วสยองว่า “ไม่รู้ว่าข้าวโพดที่ขึ้นราในประเทศไทยกินได้แบบนี้หรือไม่ เพราะถ้าได้….หมายความว่า รายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นมากมาย”         มีคำถามว่า ราชนิดที่ขึ้นบนเมล็ดข้าวโพดที่ยังอยู่ในฝักดังแสดงในคลิปวิดีทัศน์นั้นคืออะไร ซึ่งเมื่อสืบหาข้อมูลจากอินเตอร์ตามช่องทางต่างๆ ก็พบว่า รานี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ Ustilago maydis (อุสติลาโก เมย์ดิส) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อสามัญว่า "ราดำ", "ทรัฟเฟิลเม็กซิกัน","huitlacoche (ฮ์วีท-ลา-โค-เช่ะ)" หรือ "cuitlacoche (ค์วีท-ลา-โค-เช่ะ)" คำหลังนี้ใช้น้อยกว่าคำแรกมาในคลิปต่าง ๆ ใน YouTube         เชื่อกัน (แต่หลักฐานไม่ชัดเจน) ว่า ที่มาของคำว่า ฮ์วีทลาโคเช่ะ หรือ ค์วีท-ลา-โค-เช่ะ นั้นเป็นคำในภาษาของอารยธรรมแอซเท็ก ซึ่งมาจากคำว่า cuitla (ขี้) และ cochi (หมู) โดยรวมแล้ว ฮ์วีทลาโคเช่ะ จึงหมายถึง ขี้หมู ซึ่งผู้เขียนไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เหมือนขี้หมูนั้นคือ กลิ่นหรือเปล่า แต่เวลาคูคลิปที่มีการปรุงเป็นอาหาร ทุกคนดูมีความสุขดีในการกิน         บทความเรื่อง Huitlacoche (Ustilago maydis), an Iconic Mexican Fungal Resource: Biocultural Importance, Nutritional Content, Bioactive Compounds, and Potential Biotechnological Applications ในวารสาร Molecules ของปี 2023 ให้ข้อมูลว่า อุสติลาโก เมย์ดิส เป็นเชื้อราที่เกิดบนข้าวโพดที่ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่สำคัญในประเทศต่างๆ แต่ในทางกลับกันการบริโภคข้าวโพดขึ้นรานี้ (ฮ์วีทลาโคเช่ะ) กลายเป็นเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมอาหารเม็กซิกัน และมีมูลค่าทางการค้าสูงในตลาดภายในประเทศ บทความให้ข้อมูลต่อว่า ฮ์วีทลาโคเช่ะเป็นแหล่งสารอาหารที่ดีเยี่ยม เช่น โปรตีน ใยอาหาร กรดไขมัน แร่ธาตุ และวิตามิน อีกทั้งยังมีหลักฐานว่า เป็นแหล่งสำคัญของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีคุณสมบัติเสริมสร้างสุขภาพอีกด้วย โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แสดงให้เห็นว่า สารสกัดหรือสารประกอบที่แยกได้จากฮ์วีทลาโคเช่ะมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านจุลชีพ ต้านการอักเสบ ต้านการก่อกลายพันธุ์ ต้านเกล็ดเลือด (แสดงถึงศักยภาพในการบำบัดโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ อาการเจ็บหน้าอกที่มีสาเหตุจากหัวใจ เป็นต้น) และมีฤทธิ์โดปามิเนอร์จิค (คือ มีฤทธิ์ที่มีบทบาทสำคัญในอารมณ์ เพิ่มแรงจูงใจและความสุข จึงมักถูกเรียกว่าเป็น "สารก่อความรู้สึกดี" เพราะมันถูกปล่อยออกมาเพื่อตอบสนองต่อประสบการณ์ที่น่าพึงพอใจและสามารถช่วยยกระดับอารมณ์ได้)         สำหรับความน่าสนใจในทางอุตสาหกรรมนั้น มีความพยายามนำฮ์วีทลาโคเช่ะมาทดลองใช้ในการสังเคราะห์อนุภาคนาโนอนินทรีย์ ใช้ในการกำจัดโลหะหนักออกจากตัวกลางที่เป็นน้ำ ใช้ช่วยในการควบคุมทางชีวภาพ ใช้สำหรับกระบวนการผลิตไวน์ ใช้เป็นแหล่งของสารลดแรงตึงผิวทางชีวภาพ (bio-surfactant) และเอ็นซัมบางชนิดที่มีศักยภาพในบางอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ประเด็นที่น่าสนใจคือ มีแนวโน้มว่าจะนำเอาฮ์วีทลาโคเช่ะมาใช้เป็นส่วนผสมในการพัฒนาอาหารสุขภาพ (น่าจะหมายถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) เนื่องจากมีคุณสมบัติในการลดคอเลสเตอรอล เป็นต้น        ความจริงนั้นรา อุสติลาโก เมย์ดิส เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่เกษตรกรไทย เพียงแต่เรียกกันเป็นชื่ออื่น นักวิชาการจัดรานี้ว่า เป็นรากลุ่ม basidiomycetes fungus ก่อโรคในข้าวโพดเรียกว่า โรคราเขม่าดำข้าวโพด (corn smut disease) ซึ่งสมาคมนักโรคพืชแห่งประเทศไทยเมื่อ 11 ตุลาคม 2559 ให้ข้อมูลใน Facebook ของสมาคมว่า โรคสมัท (Smut) หรือราเขม่าดำ เกิดจากเชื้อรา อุสติลาโก เมย์ดิส พบระบาดทั่วไปในแหล่งที่มีการปลูกข้าวโพดทั่วโลก ทำให้ผลผลิตเสียหายเล็กน้อยไปจนถึง 6 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตและทำความเสียหายกับข้าวโพดหวานเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยลักษณะอาการแสดงให้เห็นบนส่วนต่าง ๆ ของพืชที่อยู่เหนือดิน ลำต้น ใบ ฝักและเกสรตัวผู้ เชื้อราสร้างปม (gall) ขึ้นโดยครั้งแรกมีขนาดใหญ่สีขาว ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อแก่ปมจะแห้งผนังที่หุ้มปมจะแตกออก ภายในมีผงสีดำ คือ สปอร์ (spore) ของเชื้อรา ซึ่งเป็นตัวแพร่ระบาดของโรคในฤดูต่อๆ ไป         นอกจากนี้เอกสาร ข่าวเตือนการระบาดศัตรูพืชประจำสัปดาห์ ของกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร ปีที่ 15 ฉบับที่ 51 ประจำวันที่ 5 เมษายน 2560 มีบทความเรื่อง โรคราเขม่าดำข้าวโพด (Smut Disease) ได้แจ้งเตือนเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดทุกชนิดให้ระวังโรคราเขม่าดำหรือโรคสมัทที่มักพบได้ในข้าวโพดทั่วประเทศไทย อีกทั้งโรคนี้ยังสามารถทำความเสียหายแก่ พืชไร่ เช่น อ้อย (โรคแส้ดำ) และธัญพืชต่าง ๆ หลายชนิด โดยเข้าทำลายเมล็ด เกิดการเพิ่มปริมาณผงสปอร์สีดำงอกเต็มผลผลิต ทำให้ผลผลิตเสียหายและคุณภาพลดลง ซึ่งในช่วงนี้ (เมษายน) สภาพอากาศเหมาะสมสำหรับเชื้อรานี้เจริญเติบโตแพร่ระบาดและทำความเสียหายรุนแรง ดังนั้น เกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเริ่มพบอาการของกลุ่มผงสีดำ หรือเมล็ดข้าวโพดเป็นปุ่มปมบวมพอง ให้รีบขอคำแนะนำเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อหาแนวทางควบคุม และป้องกันกำจัดก่อนเกิดการระบาดรุนแรง         ดังได้เกริ่นแล้วในตอนต้นของบทความว่า ผู้ที่ทำคลิปลง TikTok เกี่ยวกับ ฮ์วีทลาโคเช่ะ ได้ทิ้งท้ายในคลิปว่า ถ้าในประเทศไทยมีการระบาดของรา อุสติลาโก เมย์ดิส บนข้าวโพดบ้านเรา เกษตรกรคงได้เพลินในการเก็บเงินที่ได้จากการขายวีทลาโคเช่ะเป็นกอบเป็นกำเช่นเดียวกับเกษตรกรเม็กซิกัน ซึ่งความจริงแล้วในทางวิชาการนั้น การระบาดของราดังกล่าวเป็นหายนะของเกษตรกรต่างหาก เพราะบริบทของข้าวโพดขึ้นราที่เกิดขึ้นในไทยนั้นอาจมีลักษณะหลายประการที่ต่างจากข้าวโพดขึ้นราของชาวเม็กซิกัน อีกทั้งในการปรุงอาหารจานเด็ดดังกล่าวอาจต้องมีเคล็บลับบางประการที่ทำให้ผู้บริโภคเม็กซิกันดูมีความปลอดภัยดีหลังบริโภคฮ์วีทลาโคเช่ะ         ถ้า Mexican soft power เกี่ยวกับข้าวโพคขึ้นราดำนี้เข้ารุกรานไทย มีข้อมูลอะไรที่ผู้บริโภคชาวไทยควรสนใจบ้าง ก่อนอื่นผู้บริโภคควรตระหนักว่า ลักษณะข้าวโพดที่ติดโรคนั้นเป็นการกลายพันธุ์ของเมล็ดอย่างหนึ่ง เพราะราอุสติลาโก เมย์ดิส นั้นมีคุณสมบัติพิเศษในการเปลี่ยนแปลงการแสดงออกทางพันธุกรรมของเมล็ดข้าวโพดจนแสดงลักษณะผิดปรกติ ข้อมูลเชิงลึกทางวิชาการคือ อุสติลาโก เมย์ดิส ดังกล่าวเป็นเจ้าบ้าน (host) ของไวรัสจำเพาะคือ UmV (Ustilago maydis virus) ในลักษณะปรสิตที่ทำให้มีการสร้างสารพิษ killer toxins ออกมาได้ (ทำนองเดียวกับแบคทีเรียหลายชนิดมีไวรัสที่เรียกว่า phage หรือ bacteriophage เป็นปรสิต) ซึ่งสารพิษเหล่านี้สามารถฆ่าตัวเชื้อราเองได้ และมีศักยภาพในการนำไปใช้ควบคุมยีสต์ชนิดที่ไม่เป็นประโยชน์ในการผลิตไวน์ดังกล่าวถึงแนวโน้มในการประยุกต์ใช้รานี้ข้างต้น         ที่น่ากังวลใจแทนผู้บริโภคชาวเม็กซิกันคือ การที่ข้าวโพดถูกรุกรานด้วยรา อุสติลาโก เมย์ดิส ดังกล่าว เป็นการเอื้อให้ราชนิดอื่น เช่น ราที่สร้างสารพิษอัฟลาทอกซินและราที่สร้างสารพิษฟูโมนิสซิน เข้ารุกรานข้าวโพดได้ง่ายขึ้น ดังปรากฏในบทความเรื่อง Aflatoxin and Fumonisin in Corn (Zea mays) Infected by Common Smut Ustilago maydis ในวารสาร Plant Disease ของปี 2015 ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ผู้ที่นิยมกินฮ์วีทลาโคเช่ะอาจได้อร่อยไปพร้อมกับการได้รับอัฟลาทอกซินและฟูโมนิสซินเข้าไปเป็นของแถมด้วย ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะอัฟลาทอกซินนั้นมีสมาชิกสำคัญคือ อัฟลาทอกซิน บี1 ซึ่ง IARC จัดเป็นสารก่อมะเร็งตับในมนุษย์ ส่วนสารฟูโมนิสซินซึ่งเพิ่งค้นพบในราวปี 1988 นั้นมีข้อมูลพื้นฐานจัดว่า เป็นสารพิษที่ทำให้ม้าเสียการทรงตัวและตายเนื่องจากสมองถูกทำลาย ทำให้เกิดอาการลิ่มเลือดอุดตันในปอดของหมูส่งผลให้หมูเกิดอาการหอบเหนื่อยฉับพลัน หายใจถี่และระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ และสารพิษนี้เป็น non-genotoxic carcinogens (ก่อให้เกิดมะเร็งโดยไม่ทำให้สารพันธุกรรมกลายพันธุ์) โดยมีข้อมูลทางระบาดวิทยาว่า ก่อมะเร็งหลอดอาหารในประชากรของอัฟริกาใต้และในจีน รายละเอียดเกี่ยวกับฟูโมนิซินนั้นสามารถอ่านได้ในบทความเรื่อง ฟูโมนิซิน สารพิษจากเชื้อราที่มีความสำคัญต่อคนและสัตว์ ในวารสารสัตวแพทย์ศาสตร์ มข ปีที่ 11 พ.ศ. 2544 ซึ่งดาว์นโหลดมาอ่านได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 สำรวจปริมาณโซเดียมในขนมขบเคี้ยวจากข้าวโพด

        ข้าวโพดมีรสหวานหอมอร่อย กินแล้วได้วิตามินเอ วิตามินบี แร่ธาตุ เส้นใยอาหาร และเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ช่วยบำรุงสายตา ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ เป็นต้น         แล้วขนมกรุบกรอบที่ทำจากข้าวโพดล่ะ กินแล้วยังได้ประโยชน์ไหม ?         ขนมข้าวโพดอบกรอบ ข้าวโพดทอดกรอบ และข้าวโพดคั่ว ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส ที่มีหลากหลายรูปแบบและรสชาติให้เลือกละลานตา เป็นหนึ่งในขนมขบเคี้ยวยอดนิยมที่หลายคนชื่นชอบโดยเฉพาะเด็กๆ ที่ติดใจในกลิ่นหอมของข้าวโพด สัมผัสกรุบกรอบจากกระบวนการขึ้นรูปหรือแปรรูปขนม และรสชาติหวาน มัน เค็ม ติดปาก ชวนให้เคี้ยวเพลินจนหมดห่อแบบไม่รู้ตัว โดยไม่ทันเอะใจว่า ขนมที่กินเล่นอร่อยๆ นี้ มักเคลือบด้วยสารปรุงแต่งรสชาติต่างๆ ที่มีโซเดียมในรูปสารประกอบ ซึ่งหากกินบ่อยๆ กินมากครั้งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้         ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว จำนวน 400 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจเลือกเพื่อเลี่ยงสินค้าที่มีโซเดียมสูง โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ต้องเลือกขนมให้เด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของขนมประเภทนี้               ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ชุดนี้ โดยฉบับนี้เลือกขนมขบเคี้ยวที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ ที่สมาคมเพื่อนโรคไตฯ สุ่มสำรวจจำนวน 20 ตัวอย่าง 15 ยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ผลการสำรวจฉลากดูปริมาณโซเดียมในกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประเภทข้าวโพด        -ขนมจากข้าวโพดทั้งหมด 20 ตัวอย่างนี้ มีราคาขายห่อละ 15 – 29 บาท และมีน้ำหนักสุทธิ 35 - 75 กรัม         -เมื่อดูปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคบนฉลากพบว่า ยี่ห้อเซเว่นซีเล็ค ข้าวโพดอบกรอบ รสชีสมีโซเดียมสูงที่สุดคือ 390 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 25 มิลลิกรัม        -เมื่อดูขนาดบริโภคหรือปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก พบว่า ยี่ห้อโคบุค ขนมข้าวโพดกรอบ รสซุปข้าวโพด และยี่ห้อคอร์นพัฟฟ์ ข้าวโพดอบกรอบ รสดั้งเดิม มีปริมาณมากที่สุดคือ 36 กรัม ส่วนยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีปริมาณน้อยที่สุดคือ 20 กรัม ข้อสังเกต        -หากพิจารณาถึงความคุ้มค่า เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อทวิสตี้ ข้าวผสมข้าวโพดอบกรอบ รสเอ็กซ์ตรีมชีส ถูกสุดคือ 0.27 บาท ส่วนยี่ห้อโคบุค ขนมข้าวโพดกรอบ รสซุปข้าวโพด แพงสุดคือ 0.61 บาท        -ยี่ห้อ เซเว่นซีเล็ค ข้าวโพดอบกรอบ รสชีส มีราคาขายถูกที่สุด (15 บาท) ห่อเล็กที่สุด (น้ำหนักสุทธิ 35 กรัม) และมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุด (390 มิลลิกรัม) หากลองเปรียบเทียบกับยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม ที่มีราคาเท่ากัน มีปริมาณใกล้เคียงกัน (43 กรัม) แต่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด (25 มิลลิกรัม) จึงอาจชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการปรุงแต่งรสชาติกับปริมาณโซเดียมในขนมได้ ตัวอย่างในที่นี้คือรสชีสมีโซเดียมมากกว่ารสนม เพราะกรรมวิธีผลิตชีสนั้นใช้เกลือเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย        -ขนมข้าวโพดอบกรอบ/ทอดกรอบ รสชีส มีจำนวนมากที่สุดถึง 8 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคตั้งแต่ 140 - 390 มิลลิกรัม        -จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มักหยิบขนมไม่ว่าจากห่อเล็กห่อใหญ่เข้าปากเพลินจนหมดในคราวเดียว ดังนั้นเมื่อลองคำนวณปริมาณโซเดียมของขนมทั้งห่อแล้วจะพบว่า ยี่ห้อปาร์ตี้ คริสปี้ พาย ข้าวโพดทอดกรอบ รสคอร์นชีส มีโซเดียมมากที่สุดคือ 600 มิลลิกรัม และยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 53.75 มิลลิกรัม        -จากเกณฑ์การพิจารณาใช้สัญลักษณ์โภชาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.ที่กำหนดว่าขนมขบเคี้ยวต้องมีโซเดียมไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/100 กรัม (หรือ 150 มิลลิกรัม/ 30 กรัม) เมื่อลองคำนวณหาปริมาณโซเดียมใน 1 หน่วยบริโภคที่ 30 กรัมเท่ากันในทุกตัวอย่างชุดนี้ พบว่ามี 6 ตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์ คือมีโซเดียมไม่เกิน 150 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม, โรลเลอร์ คอร์น ข้าวโพดอบกรอบ รสนม, ทวิสตี้ ข้าวผสมข้าวโพดอบกรอบ รสเอ็กซ์ตรีมชีส, ชาโชส บีบีคิว โบนันซ่า(ทอร์ทิลล่า ชิพ), ชีโตส ข้าวโพดทอดกรอบ รสอเมริกันชีส แล้วก็ โตโร ข้าวโพดคลุกน้ำตาลและเนย คำแนะนำ        -มีข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลแนะนำว่า เด็กอายุ 2- 15 ปี โดยเฉลี่ย ควรบริโภคอาหารว่างไม่เกิน 2 มื้อ และแต่ละมื้อควรได้รับโซเดียมปริมาณไม่เกิน 100 มิลลิกรัม        -ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยแนะนำว่า ผู้ปกครองหรือเด็กเองควรอ่านฉลากโภชนาการ หรือฉลากหวาน มัน เค็ม บนห่อขนม และเลือกซื้อขนมที่มีโซเดียมต่ำ หากเป็นขนมสุดโปรดที่มีโซเดียมสูง ให้แบ่งกิน หรือไม่ควรกินบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น          - บางคนเลือกกินขนมกรุบกรอบห่อเล็กๆ เพราะเข้าใจว่ามีโซเดียมน้อย ซึ่งจริงๆ แล้วบางยี่ห้อแม้ห่อเล็กแต่กินหมดแล้วกลับได้โซเดียมมากกว่ากินห่อใหญ่ทั้งห่อก็มี             -พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างและฝึกให้เด็กไม่กินของจุบจิบหรือขนมระหว่างมื้อ ชวนให้เด็กมากินผัก ผลไม้ หรือขนมที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้อบแห้ง นมอัดเม็ด หรือถั่วต่างๆ และชวนเด็กมาออกกำลังกายด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ        - ปัจจุบันมีขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่มีปริมาณโซเดียมต่ำให้เลือกบริโภคบ้างแล้ว แต่ว่าอาจยังมีราคาสูง และยังไม่เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างเท่าไหร่นัก ในเบื้องต้นผู้บริโภคเลือกได้โดยมองหาสัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.บนฉลากของขนมนั้นๆ           - ขนมข้าวโพดอบกรอบปรุงรสมักมีสีเหลืองสวยชวนกิน ซึ่งอาจใช้สีผสมอาหารสีเหลือง 6 ซึ่งมาจากปิโตรเลียมใส่ลงไป และอาจมีการแต่งรสเทียม เช่น  Methyl benzoate และ Ethyl methylphenidate ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร โรคกระเพาะ และอาการเสพติดเหมือนกันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่        - ระวังเด็กเล็กๆ ที่อาจกินขนมข้าวโพดคั่วแล้วติดคอ เพราะมีเมล็ดข้าวโพดส่วนที่ยังแข็งอยู่ปนมาได้ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.pobpad.comhttps://thai.ac/news/show/354305http://healthierlogo.comhttps://kukr2.lib.ku.ac.th (บทความขนมขบเคี้ยวจากเครื่องเอกซ์ทรูดเดอร์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 ข้าวโพดฝักอ่อน

พืชตระกูลหญ้าที่นิยมบริโภคกันมาแต่โบราณ ต้องนับข้าวโพดให้เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งไม่เพียงกินได้เมื่อฝักแก่ ยามเป็นฝักอ่อนก็นำมากินได้ ว่ากันว่าชาวอินเดียนแดงเป็นผู้ริเริ่มปลูกข้าวโพดเพื่อใช้กินภายในครอบครัว ก่อนที่ข้าวโพดจะถูกแพร่พันธุ์มายังทวีปเอเชียและทวีปอื่นๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยก็เริ่มจากเพาะปลูกบริโภคกันในครัวเรือนก่อน จนต่อมามีการส่งเสริมให้ปลูกเป็นพืชไร่เพื่อเลี้ยงสัตว์ เมื่อเกษตรกรไทยเริ่มมีการนำฝักอ่อนมาบริโภคเช่นเดียวกับผักทั่วไป และมีเก็บขายในตลาดท้องถิ่น จึงเริ่มมีการส่งเสริมเพื่อให้เก็บเกี่ยวเฉพาะฝักอ่อนเพื่อเป็นพืชการค้า จนกลายเป็นสินค้าส่งออกไปทั่วโลก มีมูลค่าส่งออกมากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี ข้าวโพดฝักอ่อนก็คือ ฝักหรือซังข้าวโพดขนาดเล็กในระยะก่อนที่จะมีการผสมเกสร โดยเมื่อข้าวโพดมีอายุประมาณ 38 วัน ช่อดอกตัวผู้จะเริ่มโผล่ออกมาจากใบยอด เกษตรกรจะดึงช่อดอกตัวผู้ทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผสมเกสรกับฝักที่เป็นตัวเมีย ทิ้งเวลาไว้สักระยะเราจะได้ฝักอ่อนขนาดเท่านิ้วก้อยมารับประทาน ข้าวโพดฝักอ่อนจะใช้เป็นผักแนมกับน้ำพริก หรือผัด แกงได้หลายอย่าง รสชาติดี หวาน กรอบและมีคุณค่าทางอาหารสูง สำคัญคือ สารเคมีฆ่าแมลงจะไม่มาก เพราะว่าใช้เวลาผลิตสั้น แมลงจึงยังไม่รบกวนเท่าไร นับว่าเป็นผักอีกชนิดที่น่าสนใจ

อ่านเพิ่มเติม >