ฉบับที่ 196 การกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมในเยอรมนี : กรณีศึกษาการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากบริษัทโฟล์คสวาเก้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย

จากเหตุการณ์ที่กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา( EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์คสวาเกน  (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงเกี่ยวกับการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่า ในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด ต่อกรณีดังกล่าวนี้ ตามกฎหมายเยอรมัน ให้สิทธิผู้บริโภคในการจัดการกับเรื่องดังกล่าว หากรถยนต์ที่ซื้อมามีปัญหาชำรุด บกพร่อง นอกจากนี้ ยังให้สิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อยของโฟล์คสวาเก้น เป็นผู้บริโภคที่สามารถฟ้องร้องคดีเพื่อขอเงินคืนต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมูลค่าหุ้นที่ตกลงอย่างฮวบฮาบในช่วงเวลาข้ามคืนได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนในมุมมองของการคุ้มครองผู้บริโภคที่อีกบทบาทหนึ่งคือ เป็นนักลงทุนรายย่อยกรณีของผู้ที่ถือหุ้นตามกฎหมายหลักทรัพย์ของเยอรมัน มีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่มูลค่าหุ้นลดต่ำลง โดยที่ทางบริษัทไม่ได้แจ้งถึงผู้ถือหุ้นให้ทันการณ์จากการการฟ้องคดีที่กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา( EPA) ที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โวล์กสวาเกน (VW) และทางโฟล์คสวาเก้นก็ได้ยอมรับต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว จากเหตุการณ์นี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ทางผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมูลค่าหุ้นที่ร่วงลงมา (Schadenersatz fÜr Kursverlust) และ ความเสียหายที่เกิดจาก ผลต่างมูลค่าหุ้น (Kursdifferenzschaden) อย่างไรก็ตามผู้ถือหุ้นต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อพิสูจน์ว่า ทางบริษัทได้ละเมิดต่อผู้ถือหุ้นโดยแจ้งสถานการณ์ล่าช้าต่อสาธารณะในประเทศเยอรมนีการคำนวณความเสียหายสำหรับผู้ถือหุ้นผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายสองประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะมีมูลค่าต่างกัน สำหรับการคิดค่าเสียหายแบบแรก  คือ ความเสียหายจากผลต่างมูลค่าหุ้น(Kursdifferenzschaden) ซึ่งจะคิดคำนวณสำหรับผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 20 กันยายน 2015 ซึ่งมูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่าง 56- 60 ยูโรต่อหุ้น แล้วแต่ว่าศาลจะกำหนดให้เป็นมูลค่าเท่าใดสำหรับการคำนวณความเสียหายอีกประเภทหนึ่ง คือ แบบ(Kursverlustschaden) ฐานคิดค่าเสียหายแบบนี้ จะคิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายสูงกว่าแบบแรก แต่จะคำนวณได้ยากกว่า เพราะต้องใช้การพิสูจน์ และขึ้นอยู่กับคำพิพากษาคดีเป็นรายๆ ไป เนื่องจากในระบบกฎหมายเยอรมันไม่มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม( Class action)ถึงไม่มีการพิจารณาคดีแบบกลุ่มศาลก็อำนวยความสะดวกในการฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ทางศาลสูงแห่งเมืองบราวชไวก์ ( Braunschweig)  ได้กำหนดแนวทางการฟ้องคดีโดยใช้กระบวนการ  ดำเนินคดีหุ้น ที่เป็นแบบอย่าง(Kapital Musterverfahren) โดยที่มีบริษัทลูกของธนาคารออมสิน คือ บริษัท Deka Investment ที่เป็นแม่แบบในการฟ้องคดี มีลูกค้าผู้ถือหุ้นที่ประสงค์จะฟ้องคดี 1502 ราย และมีมูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า 2000 ล้านยูโร และผู้เสียรายอื่นก็สามารถมาร้องสมทบได้เช่นกัน กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นคุณ กับผู้ร้อง การชดใช้ค่าเสียหายกับผู้เสียหายราบอื่นก็มีผลผูกพันด้วยเช่นกันผู้เสียหายรายอื่นสามารถยื่นความจำนงในการร้องสอดคดีได้กำหนดเวลาสำหรับการยื่นเรื่องขอฟ้องร้องสอดคดีนี้ คือ 8 กันยายน 2017 การที่ศาลอำนวยความสะดวกด้วยการกำหนด การฟ้องร้องพิจารณาคดีแบบนี้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการพิจารณาคดีรายบุคคลมากบทสรุปที่ได้จากกรณีการฟ้องร้องคดีแบบนี้ คือ การอำนวยความสะดวกที่ให้อำนาจศาลในการกำหนดพิธีพิจารณาคดี สำหรับมีผู้เสียหายจากการละเมิดเป็นจำนวนมาก แม้ว่า ในระบบกฎหมายของเยอรมันจะไม่มีการพิจารณาคดีแบบกลุ่ม แต่ก็เปิดช่องให้ศาลสามารถใช้กระบวนการพิจารณาคดีความลักษณะนี้ในการอำนวยความสะดวกในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน(ที่มา นิตยสาร Finanztest 6/2017)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษกับคดีรถโดยสารสาธารณะ

ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ คืออะไร พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติให้อำนาจศาลพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายเชิงลงโทษไว้ใน  มาตรา 42 ว่า“ ถ้าการกระทำที่ถูกฟ้องร้องเกิดจากการที่ผู้ประกอบธุรกิจกระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภคหรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้บริโภค ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่างๆ เช่น ความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้บริโภคมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจกำหนดได้ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด แต่ถ้าค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดมีจำนวนเงินไม่เกินห้าหมื่นบาท ให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้ไม่เกินห้าเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนด ”โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณา ดังต่อไปนี้1) กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม2) จงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย3) ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค4) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ขอยกตัวอย่างจากกรณีศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาคดีรถโดยสารเปรมประชา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2560  จำนวน  2  คดี  ในคดีที่นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ และคดีนายวรัญญู อยู่สุภาพ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอิ่นแก้ว มูลสุข และบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด เป็นจำเลยคดีผู้บริโภค ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ว่า บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ประกอบกิจการขนส่งคนโดยสารอันเป็นกิจการที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต ทรัพย์สินและความปลอดภัยของสาธารณชน แต่เหตุครั้งนี้เกิดจากนายอิ่นแก้ว มูลสุข ลูกจ้างของบริษัท ที่ขับรถโดยสารรับผู้โดยสารเกินอัตราบรรทุกที่กฎหมายกำหนด ประมาทขับรถด้วยความเร็วสูง ลงทางโค้งเนินเขาโดยปราศจากความระมัดระวัง แม้จะมีผู้โดยสารร้องเตือนแล้ว แต่นายอิ่นแก้ว มูลสุข ยังคงไม่สนใจและยังคงขับรถด้วยความเร็วต่อไป ทำให้เกิดอุบัติเหตุมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จึงถือว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551  มาตรา 42   ซึ่งบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจและเป็นนายจ้างของนายอิ่นแก้ว มูลสุข จะต้องรับผิดชอบด้วย พิพากษาแก้เป็นว่าให้ บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด กับพวกร่วมกันชำระเงิน ให้กับ นายลำพูน – นางทอง เจริญเกียรติ รวมเป็นเงิน 1,030,000  บาท  และนายวรัญญู อยู่สุภาพ  เป็นเงิน  186,740  บาท  กับให้บริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากค่าเสียหายที่แท้จริงอีกคดีละ 50,000  บาท  พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5  ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ            จำนวนเงิน 50,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ ก็คือ ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ ตามมาตรา 42 นี้ ที่กำหนดขึ้นเพื่อเป็นค่าเสียหายที่เพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากค่าเสียหายที่โจทก์พิสูจน์ได้ (ศาลพิพากษา) หรือค่าเสียหายที่แท้จริง ทั้งนี้เพื่อเป็นการลงโทษผู้ประกอบธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป และยังมุ่งหมายเพื่อเป็นการป้องปรามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นมีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน โดยฝ่ายผู้บริโภคที่เป็นโจทก์ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ค่าเสียหายส่วนนี้ เพราะศาลจะเป็นผู้พิจารณากำหนดเองตามความเหมาะสม โดยคำนึงถึงลักษณะความร้ายแรง สภาพและปริมาณความเสียหายที่โจทก์ได้รับ ตลอดจนฐานะทางเศรษฐกิจของจำเลยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ  ขอบคุณข้อมูลจาก 1. คำอธิบายกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ดร.ไพโรจน์ วายุภาพ2. คำอธิบาย : วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค วินัย หนูโท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ใครจ่ายเมื่อบาดเจ็บ

หากเราประสบอุบัติเหตุไม่คาดฝัน สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งบางครั้งเราอาจไม่ทราบว่าสามารถเบิกจากที่ไหนได้บ้าง ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสุชาติส่งเรื่องมาขอคำปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า เขาประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้มแขนหัก ขณะที่กำลังขี่ไปทำงาน ทำให้ต้องหยุดพักรักษาตัวเป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งทางบริษัทได้ออกค่านอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้ อย่างไรก็ตามคุณสุชาติพบว่าตนเองได้ทำประกันตาม พ.ร.บ. ไว้กับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ด้วย จึงต้องการทราบว่าสามารถเบิกค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมได้อีกหรือไม่แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้ชี้แจงการเบิกใช้สิทธิ พ.ร.บ. ในวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้น ดังนี้กรณีบาดเจ็บ เบิกจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาล ในวงเงินตามที่รักษาจริงไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน (ปรับเพิ่มจากเดิมคุ้มครองเพียง 15,000 บาท) โดยผู้ประสบภัยจะเบิกเองหรือมอบอำนาจให้โรงพยาบาลตั้งเบิกกับบริษัทกลางฯ ผ่านระบบออนไลน์ก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทกลางฯ ได้จัดทำระบบสินไหมอัตโนมัติ (ระบบสินไหมอัตโนมัติ หรือ e-claim online บริษัทกลางฯ จะโอนเงินจ่ายคืนโรงพยาบาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ส่งเรื่องตั้งเบิก) และขอความร่วมมือโรงพยาบาลทุกแห่งเข้าใช้ระบบ เพื่อลดภาระของประชาชนและผู้ประสบภัยจากรถอย่างไรก็ตามในกรณีที่ค่ารักษาพยาบาลเกินกว่านี้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิจากวงเงินค่าเสียหายเบื้องต้นไปก่อน 30,000 บาท ส่วนเกินที่เหลือสามารถเบิกจ่ายเพิ่มเติมได้จาก 1.สิทธิบัตรทอง 30 บาท (ถ้ามี) 2.สิทธิประกันสังคม (ถ้ามี) หรือ 3.ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งในกรณีนี้ต้องรอผลสรุปทางคดีและสามารถเรียกร้องเอาจากคู่กรณีได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายเกินจริง

หากเราตัดสินใจเช่าซื้อรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามที่ตกลงกันไว้ ทางออกที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือ ให้บริษัทยึดรถคันดังกล่าวไปขายทอดตลาด และเราก็รอชำระหนี้ส่วนต่างที่เหลืออยู่ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องกลับถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้เท่ากับราคาขายทอดตลาด ซึ่งเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรเราลองมาดูกัน   เมื่อปี 2549 คุณสุชัยเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่งยี่ห้อ Honda รุ่น Accord ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท จากบริษัทแห่งหนึ่ง โดยตกลงแบ่งชำระเป็นงวดจำนวน 60 เดือน หลังผ่อนชำระไปได้ 17 งวดก็ประสบปัญหาทางการเงิน ทำให้ค้างชำระติดกันเป็นเวลาหลายเดือน จึงตัดสินใจโทรศัพท์แจ้งให้ธนาคารมารับรถคืนไป โดยคิดว่าคงมีการนำรถไปขายทอดตลาด และให้ชำระหนี้ส่วนต่างที่เหลืออยู่ แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังผ่านไป 8 ปีกลับมีหมายศาลมาที่บ้านว่า เขาเป็นหนี้รถยนต์คันดังกล่าวอยู่กว่า 7 แสนบาท ซึ่งเขารู้สึกว่าเป็นราคาที่เกินจริง เนื่องจากไม่มีการแจ้งก่อนหน้านี้ว่ารถคันดังกล่าวขายได้ราคาเท่าไร ทำให้คุณสุชัยส่งเรื่องมาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายแนวทางการแก้ไขปัญหาทนายความของศูนย์พิทักษ์สิทธิช่วยทำคดีนี้ให้คุณสุชัย เพราะเมื่อตรวจสอบย้อนหลังพบว่า ทางธนาคารหรือผู้ให้เช่าซื้อ ได้นำรถยนต์คันดังกล่าวขายทอดตลาดไปแล้ว ทั้งยังอ้างว่าได้ราคากว่า 7 แสนบาท แต่ทางบริษัทกลับมาเรียกร้องเอาเงินจำนวนดังกล่าวกับคุณสุชัยอีก อย่างไรก็ตามเมื่อฟ้องร้องคดีในศาลก็ได้รับข้อยุติว่า บริษัทไม่ได้นำสืบให้เห็นชัดแจ้งว่า ทางธนาคารได้รับรถยนต์คันดังกล่าวคืนจากผู้ร้องเมื่อใด และขณะนั้นรถยนต์มีสภาพทรุดโทรมหรือได้รับความเสียหายเท่าใด ดังนั้นราคาขายทอดตลาดรถยนต์คันเช่าซื้อที่บริษัทอ้างจึงมีน้ำหนักน้อย ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าราคาเช่าซื้อที่ขาดเป็นจำนวนตามที่ฟ้องนอกจากนี้เบี้ยปรับตกลงไว้ ถือเป็นการกำหนดความรับผิดล่วงหน้าในลักษณะทำนองเบี้ยปรับ จึงเห็นว่าราคาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องมีการคิดราคาบวกด้วยผลประโยชน์และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่ราคาทรัพย์ที่แท้จริง ดังนั้นเมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รับค่าเช่าซื้อบางส่วนกับราคาขายรถยนต์คันนี้แล้ว จึงกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้เพียง 50,000 บาท โดยคำนวณจากราคาที่ผู้ร้องได้ชำระไปแล้ว รวมราคาที่บริษัทอ้างว่าขายทอดตลาดได้ นำไปหักลบจากราคารถยนต์ในขณะที่ทำสัญญา พร้อมให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น จนกว่าจะชำระหนี้เสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ตามหลักตามกฎหมายสัญญาเช่าซื้อ กำหนดเรื่องการคืนรถยนต์ไว้ว่า เมื่อผู้ให้เช่าซื้อได้รับรถยนต์คันดังกล่าวกลับคืนไปแล้ว ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกัน ผู้ร้องไม่ต้องชดใช้ค่างวดรถตามสัญญาแล้ว โดยเมื่อมีการนำรถขายทอดตลาด ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบไม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามจำนวนหนี้คงค้างตามสัญญา หากนำรถขายได้ราคาน้อยกว่าหนี้ที่ค้าง ผู้เช่าซื้อตกลงรับผิดชอบส่วนที่ขาดเฉพาะในกรณีที่เจ้าของได้ขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสม ซึ่งถือว่าเป็นข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อที่ไม่ได้กำหนดให้ผู้เช่าซื้อต้องรับภาระสูงเกินกว่าที่ควร นอกจากนี้สำหรับใครที่ต้องการคืนรถไม่ว่าจะเป็นรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ ควรเก็บหลักฐานสำคัญไว้ด้วย ดังนี้ รูปถ่ายสภาพรถหลายๆ มุม ใบประเมินราคารถว่าในขณะนั้นหากขายทอดตลาดจะได้ราคาประมาณเท่าไร รวมทั้งเอกสารการส่งรถคืน เนื่องจากจะได้มีหลักฐานยืนยันหากเกิดกรณีฟ้องร้องขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 147 ตีค่าราคามนุษย์ เยียวยาความเสียหายหรือเอาเงินฟาดหัว?

วันที่ 17 เมษายน 2556 วันสุดท้ายของโครงการ 7 วันอันตราย ตามนโยบายของรัฐบาลบนถนนสายหนึ่งในกรุงเทพมหานคร  หนุ่มสาวยังคงสนุกสนานกับการเล่นน้ำ ยิ่งรถติดยิ่งสนุกโครม!! เสียงรถเมล์สาย 15 ชนกับท้ายรถยนต์คันหนึ่ง แต่ไม่รุนแรงมากนัก ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ จึงมีการถ่ายผู้โดยสารจากรถเมล์ที่เกิดอุบัติเหตุมายังรถเมล์สายเดียวกันที่แล่นตามมา เมื่อรวมผู้โดยสารทั้งหมดมาอยู่ในคันเดียวกัน ทำให้เกิดความแออัดยัดเยียดเบียดกันมาถึงบริเวณด้านหน้ารถติดคนขับ“ผู้โดยสารด้านหน้าช่วยเขยิบด้วยครับ ผมมองกระจกข้างไม่เห็น” เสียงลุงคนขับรถเมล์ตะโกนบอกแต่ด้วยเสียงเครื่องยนต์ที่ดังทำให้ผู้โดยสารคนนั้นไม่ได้ยิน ลุงคนขับจึงขยับตัวเอื้อมมือไปสะกิดผู้โดยสารคนที่ยืนบังกระจกมองข้าง โดยที่รถยังแล่นด้วยความเร็ว และเรื่องไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นโครม!!! ลุงคนขับล้มลง ทำให้มือที่จับพวงมาลัยอยู่นั้น หักเข้าชนต้นไม้ข้างทางเข้าอย่างจัง ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บกว่า 20 รายวันที่ 23 เมษายน 2556 บริษัทประกันภัยที่รับทำประกันไว้กับรถเมล์คันที่เกิดเหตุ ได้นัดผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บมาเจรจาค่าเสียหาย วันนั้นเป็นวันธรรมดาผู้บาดเจ็บแต่ละคนต้องลางานมา  เมื่อผู้จัดการบริษัทประกันภัยมาถึง“เอ้า .. ใครก่อนดีครับ?” ผู้จัดการบริษัทประกันภัยตะโกนร้องเรียกเหมือนมาแจกของที่โรงทาน“ชั้นก่อนละกัน เดี๋ยวต้องรีบไปเปิดร้านขายของต่อ” หญิงคนหนึ่งยกมือแสดงตัว “300 พอมั้ย” ผู้จัดการคนนั้นเสนอตัวเลข โดยไม่ถามถึงความเสียหาย หรืออาการบาดเจ็บเลยแม้แต่น้อย“บ้าเหรอ  300  ชั้นหน้าบวมปูดไปตั้งหลายวันนะ ไปทำงานก็ไม่ได้ ชั้นมีใบเสร็จนะ”“ใบเสร็จนี้มันใช้ไม่ได้ มันไม่ได้ลงวันที่ .. เอางี้ ผมให้ 1,000 บาท จบเรื่องเลย ถือว่าผมช่วยละกัน” ผู้จัดการคนเดิมตอบ“ 1,000 ก็ได้ ชั้นกลัวเสียเวลา” หญิงคนนั้นตอบเมื่อตกลงตัวเลขเงินค่าเสียหายกันได้ด้วยวิธีแบบที่ว่ามา ผู้จัดการบริษัทประกันภัย จะส่งเรื่องให้ลูกน้องอีก 2-3 คน ดำเนินการเรื่องการประนีประนอมยอมความ และจัดการให้ผู้เสียหายแต่ละรายลงลายมือชื่อยอมให้รับเงินและไม่ติดใจเอาความทางคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อไป จากนั้นผู้จัดการบริษัทประกันภัยก็ทำสิ่งที่เรียกว่า การเจรจาเพื่อเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บาดเจ็บ” แบบเดิมซ้ำๆ จนครบทั้ง 20 คนคำถามคือ มาตรฐานการชดเชยเยียวยาของประกันภัยในอุบัติเหตุรถโดยสารอยู่ตรงที่ไหน? อยู่ที่ความเขี้ยวของตัวแทนประกัน หรือควรอยู่บนที่ตั้งแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น แนวทางแก้ไขปัญหาดร.สุเมธ  องกิตติกุล  แห่งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ได้ทำการศึกษา “อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ : ผลกระทบ การประกันภัย การชดเชยเยียวยา” ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ได้เปิดเผยว่า การชดเชยเยียวยาต่อผู้ประสบอุบัติเหตุจากระบบประกันภัยนั้นพบว่า วงเงินค่าเสียหายยังไม่มีความเหมาะสมเท่าที่ควรนอกจากนั้น ยังพบปัญหาการขาดการเชื่อมโยงระหว่างบริษัทประกัน ผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตอย่างบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)  และบทบาทของบริษัทประกันมีอยู่น้อยในการสร้างระบบตรวจสอบ และป้องกันการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารจากการกำหนดเบี้ยประกัน ดังนั้นจึงเสนอให้มีการกำกับดูแลผู้ประกอบการ ทั้งผู้ประกอบการที่ถือใบอนุญาตและผู้ประกอบการที่ร่วมบริการอย่างเข้มงวด รวมถึงให้เข้มงวดในการให้ใบอนุญาตที่พิจารณาถึงประวัติด้านอุบัติเหตุด้วย นอกจากนี้ยังต้องสร้างกลไกของบริษัทประกันภัยในการกำหนดเบี้ยที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้ประกอบการแต่ละรายด้วยนอกจากนี้ ดร.สุเมธได้เสนอให้มีการปรับปรุงเงินชดเชยเยียวยาความเสียหายสำหรับ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 หรือประกันภัยภาคบังคับที่รถยนต์ทุกคันต้องทำ โดยให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากไม่เกิน 15,000 บาท เพิ่มเป็นไม่เกิน 150,000 บาท ส่วนค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ให้กับจาก 200,000 บาทเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาท และหากสูญเสียอวัยวะหรือพิการ ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตควรปรับให้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น 240,000 บาทและระบบประกันภัย ควรปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคปัญหาในการเรียกร้องค่าเสียหายของผู้ประสบอุบัติเหตุ ได้แก่ ความล่าช้าในการพิสูจน์ถูก-ผิด และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การติดต่อประสานงานที่ไม่มีใบเสร็จ ทำให้ใช้เรียกร้องค่าเสียหายได้ยากด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 แสนสิริแพ้คดีบ้านไม่ได้มาตรฐาน ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 2 แสนบาท

 ที่มาที่ไปของเรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2548ในวันนั้น ด้วยความชื่นชมหลงใหลในแบบบ้านและคำโฆษณาของโครงการบ้านเศรษฐศิริ-รามอินทรา ซึ่งรับประกันคุณภาพด้วยชื่อเสียงของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) คุณสุริยุ  และครอบครัวได้ตัดสินใจทำสัญญาซื้อบ้านหนึ่งหลังจากโครงการฯ ราคา 6,690,000 บาท พร้อมรับประกันการซ่อมแซม 1 ปีเมื่อรับโอนกรรมสิทธิบ้านกันเรียบร้อย คุณสุริยุก็ฮัมเพลง “บ้านคือวิมานของเรา” ขนข้าวของและพาสมาชิกครอบครัวเข้าพักอาศัยด้วยหัวใจอิ่มเอิบสมหวังแต่อยู่มาไม่นานสมาชิกของบ้านหลังนี้ก็ค่อยๆ พบว่า บ้านมีจุดชำรุดบกพร่องหลายแห่งผู้เสียหายได้พบว่า บ้านราคาเหยียบ 6.7 ล้านบาทหลังนี้มีความชำรุดบกพร่องหลายแห่งเวลาฝนตกหนักๆ น้ำรั่วเข้าห้องแม่บ้านทุกครั้ง ทำให้วอลเปเปอร์และเฟอร์นิเจอร์ในห้องได้รับความเสียหายเมื่อช่วยดูกันดีๆ พบว่าน้ำฝนรั่วเข้าทางวงกบประตูและหน้าต่าง ส่วนหลังคาด้านระเบียงบ้านชั้นล่างก็มีน้ำฝนรั่วซึม นอกจากนี้ยังมีการแตกร้าวของปูนตามผนังรอบตัวบ้าน ผนังบันไดและรั้วบ้าน มีการแตกร้าวของประตูห้องนอนและห้องน้ำ และยังพบว่าขนาดของประตูไม่มาตรฐานตามที่ใช้ในท้องตลาดต้องสั่งทำพิเศษ ส่วนชานบันไดชั้นสองช่างติดตั้งไม่ได้มาตรฐานเวลาเดินมีเสียงดังออดแอด พอขึ้นไปดูชั้นสอง พื้นชั้นสองปูด้วยไม้วีเนียร์ ปูไม่แน่นทำให้เวลาเดินพื้นจะยุบตัวลงและมีเสียงดัง ขณะที่ตามรายการวัสดุมาตรฐานท้ายสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่าต้องเป็นพื้นไม้ปาร์เก้ แต่ที่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดซึ่งมาพบในภายหลัง คือ มีการก่อสร้างบ้านผิดแบบแปลนจากที่ได้ทำสัญญาตกลงกัน จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ที่ว่ามา เนื่องจากแบบแปลนบ้านไม่ตรงนั่นเอง คุณสุริยุ จึงได้แจ้งให้บริษัทฯ เข้ามาซ่อมแซมและแก้ไข ซึ่งบางแห่งก็สามารถซ่อมแซมได้  แต่บางแห่งซ่อมแซมแล้วอาการยังเป็นเหมือนเดิม คุณสุริยุได้แจ้งบริษัทฯ มาตลอดเพื่อให้ซ่อมแซมอาการชำรุดให้แล้วเสร็จ แต่บริษัทฯไม่ดำเนินการแก้ไข  และพยายามผัดวันประกันพรุ่งมาตลอดท้ายสุด จึงตัดสินใจนำเรื่องยื่นฟ้องบริษัท แสนสิริฯ เป็นคดีผู้บริโภคที่ศาลแขวงมีนบุรีด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน  2552   ฐานผิดสัญญา เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  258,448  บาท  และขอให้ศาลมีคำสั่งให้บริษัทฯ ต้องส่งมอบแปลนบ้านที่ถูกต้องให้ด้วย หรือหากส่งมอบไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน  20,000 บาทแทนฝ่ายบริษัทแสนสิริที่ตกเป็นจำเลย ได้ยื่นคำให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิด โดยอ้างว่าการก่อสร้างเป็นไปตามแบบแปลนและยกเรื่องอายุรับประกันบ้านขึ้นต่อสู้ว่าการรับประกันการซ่อมเนื่องจากการก่อสร้างนั้นมีกำหนดระยะเวลาถึงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549  เท่านั้น และยังอ้างว่าบ้านชำรุดบกพร่องเกิดจากการใช้งาน หรือการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติของวัสดุซึ่งเจ้าของบ้านมีหน้าที่ต้องดูแลระมัดระวังและบำรุงรักษาในระหว่างการใช้งาน จึงขอปฏิเสธค่าเสียหายที่เรียกมา ขอชดใช้ค่าเสียหายเพียง 30,000 บาทศาลแขวงมีนบุรีได้นัดไกล่เกลี่ย 3 ครั้ง ในช่วงเดือน มกราคม , มีนาคม และ พฤษภาคม 2553  ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลจึงนัดสืบพยานจำเลยและสืบพยานโจทก์ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2554แม้การฟ้องคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคจะสามารถฟ้องคดีด้วยตนเองได้โดยไม่ต้องใช้ทนายความ แต่เมื่อถึงขั้นที่ต้องพิจารณาคดีมีการสืบพยานกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน คุณสุริยุจึงร้องมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องมาถึงขั้นนี้ จำเป็นต้องส่งผู้บริโภคให้ถึงฝั่ง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงต้องจัดหนักทนายความจากศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคของมูลนิธิฯ ได้เข้าช่วยเหลือผู้บริโภครายนี้ในการพิจารณาคดี  และมีการสืบพยานเสร็จสิ้นในวันที่ 1 เมษายน 2554 วันที่ 26 พฤษภาคม 2554 คือวันประกาศชัยของผู้บริโภคศาลนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาตัดสินให้บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคเป็นเงิน 196,674.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันที่ฟ้องเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2552 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ส่งมอบแบบแปลนที่ถูกต้องให้แก่ผู้บริโภค  หรือถ้าไม่ส่งมอบก็ให้ใช้ราคาค่าจ้างเขียนแบบแปลนใหม่แทนจำนวน  20,000  บาท  พร้อมให้บริษัทจ่ายค่าทนายความจำนวน 5,000 บาท แทนผู้บริโภคด้วย ถือเป็นคำพิพากษาที่ค่อนข้างจัดหนักเช่นกัน บริษัท แสนสิริ ในฐานะจำเลยไม่อุทธรณ์  ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้บริโภคทั้งหมดที่ศาลมีนบุรีในวันที่ 7 กันยายน 2554“รู้สึกพอใจคำพิพากษาอย่างมากที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้ว่า  ไม่ควรเอาเปรียบผู้บริโภค  และคิดว่ากระบวนการทางกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคใช้สิทธิได้อย่างเต็มที่  และขอบคุณมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ให้ความช่วยเหลือด้านคดีโดยจัดหาทนายความให้  และสนับสนุนให้มีองค์กรที่เป็นประโยชน์ให้อยู่คู่กับผู้บริโภคต่อไป” คุณสุริยุกล่าวด้วยความซาบซึ้ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 118 นมยูเอชทีบูด จะเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

เที่ยงวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม 2553 ณ ห้างกาฬสินธุ์พลาซ่า จังหวัดกาฬสินธุ์คุณวัลภาซื้อผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ ยูเอชที รสสตรอเบอรี่ ขนาด 225 ซีซี จำนวน 1 แพ็คกับห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ เมื่อนำนมยูเอชทีกลับมาถึงบ้าน จึงได้นำไปแช่ในตู้เย็นเตรียมไว้ให้ลูกกินไม่นาน...ลูกชายคนเล็กวัย 3 ขวบของคุณวัลภา ได้หยิบนมจากตู้เย็นมาดื่ม เพียงแค่อึกแรกที่ดูดจากหลอด เจ้าตัวน้อยทำหน้าเบะหันไปบอกพี่สาวทันทีว่า “นมบูด”ลูกสาวคนโตของคุณวัลภาจึงนำนมกล่องนั้นเททิ้ง และบอกให้คุณวัลภาทราบว่าน้องคนเล็กเจอนมบูดหนึ่งกล่องในเย็นวันนั้นทันที คุณวัลภาไม่ได้ว่าอะไรคิดว่าอาจเป็นไปได้ที่นมจะเน่าเสียบ้าง ไม่อยากจะร้องเรียนให้เสียเวลาแต่พอวันต่อมา คุณวัลภาได้นำนมกล่องที่ซื้อมาเปิดดื่มด้วยตนเอง พบว่านมกล่องที่สองก็บูดเสียเช่นกัน เจอกับตัวเองแบบนี้ คุณวัลภาเริ่มเครียดนึกถึงตอนเจ้าตัวเล็กดื่มนมบูดเข้าใจอารมณ์ของลูกทันที เลยหยิบกล่องที่สามขึ้นมาดูดเพื่อพิสูจน์ว่าจะบูดอีกหรือเปล่า คุณวัลภาไม่ผิดหวัง เพราะดูดปั๊บรู้ทันทีว่าบูดเหมือนกัน คว้ากล่องที่สี่มาดูดอีก็บูดอีกคุณวัลภาดูดไปหน้าก็บูดเบ้ไปตามจำนวนกล่องนมที่เจาะดูดพิสูจน์ไปด้วย กว่าจะได้บทสรุปว่านมที่ซื้อมาจากห้างบูดเสียทั้งแพ็ค ใบหน้าคุณวัลภาในวันนั้นก็บูดเบ้เสียทรงไปมากทีเดียว เมื่อตรวจดูวันหมดอายุระบุ 11/11/10 หรือวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดหมดอายุ อีกหลายเดือนในขณะนั้น “ทีแรกคิดว่าช่างมันเถอะเพราะคงแค่บูดกล่องเดียว แต่นี่เป็นทั้งแพ็คเลย” คุณวัลภาจึงได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน และร้องเรียนกับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทแสดงความรับผิดชอบ ก่อนที่ศูนย์ฯ แห่งนี้จะส่งเรื่องร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคให้ทำการช่วยเหลือผู้บริโภคต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหาการที่นมปรุงแต่งซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องที่ปิดสนิทเกิดการเน่าเสียก่อนถึงกำหนดวันหมดอายุ ปัญหานี้อาจเกิดจากการผลิต การบรรจุ หรือเก็บรักษาไว้โดยไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งเป็นลักษณะของอาหารไม่บริสุทธิ์ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับมูลนิธิฯ จึงได้มีจดหมายถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ในฐานะผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนม “โฟร์โมสต์” และกรรมการผู้จัดการบริษัท กาฬสินธุ์พลาซ่า จำกัด ในฐานะผู้จำหน่ายสินค้า ให้ร่วมกันตรวจสอบในปัญหาที่เกิดขึ้นและพิจารณาเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งต่อมาผู้บริโภคได้พิจารณาเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 5,000 บาทโดยหวังให้ผู้ประกอบธุรกิจจะได้มีความระมัดระวังในการผลิตและจำหน่ายสินค้าของตนให้มากยิ่งขึ้นไม่นานตัวแทนของ บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ ได้นำผลิตภัณฑ์จำนวนหนึ่งไปมอบให้แก่ผู้ร้องเพื่อแทนคำขอบคุณสำหรับการแจ้งขอมูล ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นบริษัทฯ รับที่จะนำข้อมูลและตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจสอบหาสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยืนยันว่า บริษัทฯ ทำงานด้วยความตั้งใจที่จะมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอนด้วยระบบเครื่องมือตรวจสอบที่ทันสมัยผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพต่างๆ ทั้ง GMP , HACCPs , ISO 9001 และ ISO 22000 และในเวลาต่อมา บริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ ได้รับผิดชอบต่อข้อร้องเรียนของผู้บริโภคเพิ่มเติม ด้วยการจ่ายเงินเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ร้องเรียนเป็นจำนวน 5,000 บาทผู้ร้องมีความพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาของบริษัท ฟรีสแลนด์ ฟู้ดส์ โฟร์โมสต์ฯ จึงขอขอบพระคุณบริษัทฯ ผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ประกอบธุรกิจอย่างมีคุณภาพ โดยได้ดูแลผู้บริโภคเป็นอย่างดีเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 ตกร่องน้ำในห้างดัง เรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

พื้นที่ในห้างสรรพสินค้าถือเป็นพื้นที่ของเอกชนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าใช้บริการได้ตามเวลาที่กำหนด ซึ่งเจ้าของพื้นที่มีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยให้กับผู้ใช้บริการอย่างเหมาะสม หากวันใดคุณเกิดอุบัติเหตุหกล้มหัวร้างข้างแตกเพราะทางห้างมิได้จัดอุปกรณ์ป้องกันภัยให้เหมาะสม ในฐานะผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ในเวลาเย็นย่ำของวันที่ 12 มกราคม 2550 ระหว่างที่คุณสุดา กำลังเดินทางจากกรุงเทพฯ เพื่อไปยังจังหวัดลำปาง เธอได้ขับรถยนต์แวะเข้าไปใช้บริการที่ห้างบิ๊กซีซูปเปอร์ สาขาลำปาง เพื่อซื้อเครื่องใช้ส่วนตัว ครั้นซื้อสินค้าเสร็จสิ้นและกำลังเดินทางกลับมาขึ้นรถที่บริเวณลานจอดรถ ตรงทางสามแยกปรากฏว่ามีรถยนต์คันหนึ่งวิ่งตรงมาตามทางเดินรถที่ไม่มีลูกระนาดด้วยความเร็วในระยะประชิด คุณสุดาตกใจเกรงว่าตนจะถูกรถชน จึงก้าวขึ้นไปบนเกาะกลางถนนที่ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อหลบรถยนต์ที่วิ่งเข้าใส่“เฮ้อ....” คุณสุดา ถอนหายใจด้วยความโล่งอกที่ไม่ต้องถูกรถมาเชี่ยวชน เพื่อความปลอดภัยเธอจึงตัดสินใจหลบไปอีกด้านหนึ่งและก้าวลงจากเกาะกลางถนนด้านที่มืดสลัว โดยไม่ทันได้สังเกตว่าจุดที่ก้าวเท้าเหยียบลงไปนั้นเป็นร่องรางน้ำรูปตัววีที่ไม่มีฝาปิด ทำให้เท้าทั้งสองข้างลื่นไถลตกลงร่องรางน้ำรูปตัววีต่างระดับนั้นและเสียหลักลื่นล้มลงอย่างแรง กระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตกหัก อาการหนักพอดู....หลังเกิดเหตุคุณสุดาถูกนำตัวส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเขลางค์นครราม-ลำปาง แต่ถึงอาการจะหนัก เธอยังพอมีสติที่จะถามเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวแทนของห้างฯที่มาเยี่ยม “เอ่อ..ทางห้างฯ ต้องขอยอมรับกับสภาพที่เกิดเหตุที่มีปัญหาและจะเร่งแก้ไขนะครับ และสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นทางห้างฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเองครับ โดยเราขอให้คุณพักรักษาตัวที่ลำปางนี้นะครับ” ตัวแทนของห้างแจ้งให้ทราบ ในขณะที่คุณสุดายังไม่ได้คิดอะไร เพราะมึนกับอาการบาดเจ็บวันต่อมาคุณสุดา ครุ่นคิดในใจหลังได้ปรึกษากับญาติและทีมแพทย์ของโรงพยาบาลพระมงกุฎฯที่กรุงเทพ ที่แนะนำให้มาฟื้นฟูร่างกายที่กรุงเทพฯ จะดีกว่า เนื่องจากเธอเป็นคนสูงอายุและไม่ใช่คนในพื้นที่ การที่ญาติจะมาดูแลย่อมเป็นเรื่องที่ลำบาก เธอจึงตัดสินใจแจ้งกับตัวแทนของห้างฯ เพื่อขอย้ายตัวมารักษาฟื้นฟูร่างกายที่กรุงเทพฯ แทน “ทางเรายังคงขอให้คุณรักษาตัวที่นี่ต่อไปนะครับ ห้างฯ สาขาลำปางไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนอกพื้นที่จังหวัดลำปางได้ครับ แต่ยังไงต้องขอนำข้อเสนอนี้กลับไปเรียนผู้บริหารอีกครั้งก่อน และจะแจ้งกลับมาให้ทราบอีกครั้งครับ “ ตัวแทนระดับหัวหน้าผู้ดูแลลูกค้าแจ้งให้ทราบคุณสุดา เฝ้ารอคำตอบจากห้างอยู่สองวันก็ยังไม่มีคำตอบใดๆ จึงตัดสินใจเดินทางเพื่อมารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลพระมงกุฎฯ กรุงเทพฯ ตามคำแนะนำของญาติและแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดในเวลาเดียวกัน คุณโสภณเพื่อนของคุณสุดาที่อยู่ลำปางนั้นได้เข้าพบตัวแทนของห้างระดับผู้บริหารเพื่อรับฟังคำอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งคำอธิบายที่ได้รับฟังนั้นสอดคล้องกับหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงของห้างที่มีถึงคุณสุดาว่า บริษัทมีความมั่นใจโดยสุจริตว่า บริษัทมิได้มีส่วนที่ต้องรับผิดชอบต่อความบาดเจ็บทั้งหมด.....”สรุปง่ายๆ คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นคุณสุดาทำเองไม่เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยของห้างฯ เลย และจากคำชี้แจงฉบับลายลักษณ์อักษรของห้างฯ นับเป็นการแสดงความรับชอบแต่ไม่รับผิด ในฐานะผู้ประกอบการที่ปราศจากความระมัดระวังในการให้บริการประชาชนผู้บริโภคที่เข้ามาใช้บริการแต่อย่างใดคุณสุดา จึงแจ้งเรื่องเข้ามาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เพื่อขอเรียกร้องสิทธิทางกฎหมายและความรับผิดชอบจากทางห้าง และอยากให้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแนวทางแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ร่วมกับศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค ได้ดำเนินการสรุปเรื่องและส่งฟ้องบริษัทบิ๊กซีซูปเปอร์เซ็นเตอร์เป็นจำเลยในคดีต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เรียกค่าเสียหายจำนวน 1,231,205 บาท ในประเด็นความผิดพลาดและความประมาทในฐานะผู้ประกอบการที่มีพื้นที่ให้ประชาชนจำนวนมากเข้าใช้บริการ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายของผู้ใช้บริการศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีเหตุผลอันควรที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ จากความประมาทและผิดพลาดในการจัดการพื้นที่ภายในห้างสรรพสินค้า ศาลจึงมีคำพิพากษาให้บริษัทบิ๊กซีซูปเปอร์เซ็นเตอร์ในฐานะจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับคุณสุดาเป็นเงินจำนวน 405,808.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5% นับแต่วันที่ละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น และดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 81,275 บาทภายหลังสิ้นสุดคดีในศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาล ทั้งนี้จำเลยได้ขอใช้สิทธิทุเลาการบังคับคดีเพื่อไม่ให้ต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งศาลได้ให้โอกาสจำเลยในการนำหลักทรัพย์มาวางประกันต่อศาล แต่จำเลยกลับประวิงเวลาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลในการนำหลักทรัพย์มาวางประกันในชั้นทุเลาบังคับคดี ดังนั้นศาลอุทธรณ์ จึงมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาบังคับคดีของจำเลยเสีย.... ซึ่งแสดงว่า โจทก์ในคดีนี้สามารถตั้งเรื่องยึดทรัพย์บังคับคดีจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ในระหว่างอุทธรณ์นั่นเอง.... เป็นเวลาเกือบสองปีสำหรับการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของคุณสุดา “ประเด็นสำคัญของการใช้สิทธิทางกฎหมายคือ เราอยากให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะ ให้สังคมได้รับรู้ในสิ่งที่ห้างสรรพสินค้าในฐานะผู้ประกอบการจะต้องมีความรับผิดชอบที่ดีต่อประชาชนผู้บริโภค ซึ่งถือว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง“ คุณสุดากล่าวทิ้งท้าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 101 กระแสต่างแดน

น้ำขวดหรือจะสู้น้ำประปา บริษัทที่ขายน้ำดื่มในอเมริกานั้นทำกำไรได้ปีละหลายล้านเหรียญจากความเชื่อที่ว่าน้ำดื่มบรรจุขวดนั้นสะอาดบริสุทธิ์กว่าน้ำประปาบ้านๆ แต่หารู้ไม่ว่าการผลิตน้ำขวดดังกล่าวมีการควบคุมดูแลน้อยกว่าน้ำประปาด้วยซ้ำ รายงานที่นำเสนอในสภาคองเกรสของสหรัฐระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐมีอำนาจน้อยมากในการกำกับดูแลความปลอดภัยของน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่ในบางมลรัฐที่พอจะมีอำนาจจัดการอยู่บ้างก็ให้ความสำคัญกับการควบคุมการผลิตน้ำประปามากกว่า บาร์ท สตูพัค ผู้แทนจากรัฐมิชิแกนบอกว่า คนอเมริกันยินดีจ่ายเงินซื้อน้ำบรรจุขวด ซึ่งมีราคามากกว่าน้ำจากก๊อกถึง 1,900 เท่า และใช้พลังงานมากกว่า 2,000 เท่าในการผลิตและการขนส่ง ในขณะที่มีน้ำดื่มบรรจุขวดถูกเรียกคืนเพราะมีการปนเปื้อนของสารหนู โบรเมท เชื้อรา และแบคทีเรีย อยู่เป็นระยะๆ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา   แม้แต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวว่ามีเด็กนักเรียนนับสิบรายที่ป่วยหลังจากดื่มน้ำบรรจุขวดที่ซื้อจากตู้ขายน้ำอัตโนมัติ รายงานดังกล่าวยังระบุว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐไม่ได้ควบคุมปริมาณของสารประกอบ DEHP (ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ในน้ำดื่มบรรจุขวด ในขณะที่หน่วยงานที่ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมมีการควบคุมปริมาณสารดังกล่าวในน้ำประปา แต่ทางสมาคมผู้ผลิตน้ำบรรจุขวดบอกว่า มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะมีสารนี้ในน้ำดื่มบรรจุขวดซึ่งผ่านการควบคุมมาหลายขั้นตอนแล้ว สมาคมฯ บอกว่าในปีที่ผ่านมา คนอเมริกันนั้นดื่มน้ำกันไปทั้งหมด 8,700 ล้านแกลลอน หรือ ประมาณคนละ 28.5 แกลลอน รายได้จากการขายน้ำดื่มบรรจุขวดในปีดังกล่าวสูงถึง 11,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณกว่า 380,000 ล้านบาท) ที่นี่ไม่มีน้ำขวดคราวนี้ข้ามทวีปมาที่ออสเตรเลียกันบ้าง มาดูปรากฏการณ์น่าสนใจที่เมืองบันดานูน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของซีดนีย์ ประชากร (ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 2,500 คน) ของเมืองท่องเที่ยวแห่งนี้เห็นร่วมกันว่าควรจะกำจัดสิ่งที่เรียกว่า “น้ำดื่มบรรจุขวด” ออกไปจากเมืองเสียที เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขั้นตอนการบรรจุขวดและการขนส่ง แต่ไม่ต้องกลัวว่าไปเที่ยวเมืองนี้แล้วจะไม่มีน้ำดื่มดับกระหายนะพี่น้อง เขามีขวดเปล่าเอาไว้ให้รองน้ำจากตู้กดน้ำที่ตั้งไว้ทั่วไปตามท้องถนนเอาไว้ดื่มกันให้เปรม ส่วนกับทางร้านค้านั้น เขาก็ไม่ได้บังคับขืนใจให้หยุดขายน้ำดื่มบรรจุขวดแต่อย่างใด ปล่อยให้เป็นความสมัครใจของร้านค้าต่างๆ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 ร้าน การรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นเพราะมีบริษัทที่ชื่อว่า นอร์เล็กซ์ โฮลดิ้ง จะมาตั้งโรงงานเพื่อสูบเอาน้ำจากเมืองนี้แล้วส่งเข้าไปบรรจุขวดในโรงงานที่ซีดนีย์ ซึ่งอยู่ห่างออกไป 120 กิโลเมตร ผู้คนที่เมืองนี้คัดค้านแผนการดังกล่าว และขณะนี้บริษัทฯ ก็ยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ต่อศาล เป็นใครก็คงรับไม่ได้ ถ้าจะมีคนมาสูบน้ำไปจากบ้านเราแล้วเอาไปใส่ขวดกลับมาขายเราอีก การรณรงค์ของชาวเมืองบันดานูนนี้ถือว่าได้ผลทีเดียวเพราะรัฐนิวเซาท์เวลส์ก็รับลูกทันที ผู้ว่าการรัฐออกมาประกาศว่าต่อไปนี้ห้ามหน่วยงานของรัฐใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดเด็ดขาด คนออสซี่ก็ใช้เงินไปกับการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดไม่น้อย ถึงปีละ 500 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 13,000 กว่าล้านบาท) เลยทีเดียว ผู้หญิงเชิญตู้อื่น... นะครับใครจะไปนึกว่าวันหนึ่งคุณสุภาพบุรุษชาวญี่ปุ่นเขาจะออกมาเรียกร้องขอรถไฟตู้พิเศษสำหรับชายล้วน ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่ต้องมีการเบียดเสียดกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพราะว่ากลัวจะโดนผู้หญิงแต๊ะอั๋งหรอกนะ แต่เป็นเพราะไม่อยากถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคุณสุภาพสตรีมากกว่า ก็รถมันแน่นซะขนาดนั้น จะทำตัวล่องหนก็วิทยายุทธ์ยังไม่แก่กล้าพอ จากข้อมูลของตำรวจญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2550 มีคุณผู้ชายถูกจับข้อหาลวนลามสตรีเพศถึง 2,000 คนเลยทำให้บริษัทที่จัดการเรื่องรถไฟต้องมีการกำหนดให้ตู้โดยสารบางตู้เป็นเขตปลอดผู้ชาย ที่นี้เลยทำให้เกิดไอเดียสุดเจ๋งตามมา คือมีการขอตู้โดยสารสำหรับชายล้วนๆ บ้าง ผู้ที่เสนอไอเดียเรื่องตู้โดยสารสำหรับชายล้วนนี้ได้แก่ผู้ถือหุ้นจำนวนสิบคน (ข่าวไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง) ของบริษัทเซบุ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟในเขตโตเกียว ที่เสนอทางออกในการแก้ปัญหาหลังจากที่บริษัทได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณผู้หญิงจำนวนมากว่าถูกลวนลาม และในขณะเดียวกันก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ชายที่ถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคนอื่นๆ ทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ทำด้วย ว่าแล้วก็เลยเสนอว่าน่าจะจัดตู้พิเศษสำหรับชายล้วนด้วยมันถึงจะเท่าเทียม แต่คณะกรรมการเขาลงมติไม่รับข้อเสนอนี้ โดยให้เหตุผลว่าจนถึงขณะนี้มีผู้โดยสารชายออกมาโวยวายน้อยมาก ก็เลยต้องขอรบกวนให้นั่งตู้เดียวกับคุณผู้หญิงต่อไป งานนี้ไม่รู้ใครกลัวใครแล้ว ผิดด้วยหรือที่ไม่อยากโชว์แขน ร้านเสื้อผ้ายี่ห้อดัง อะเบอร์ครอมบี้แอนด์ฟิทช์ (Abercrombie & Fitch) ถูกพนักงานขายฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 25,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1.4 ล้านบาท โทษฐานที่เลือกปฏิบัติต่อเธอ พนักงานขายคนนี้ชื่อ เรียม ดีน เป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน เธออายุ 22 ปีและใช้แขนเทียมมาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ตอนแรกที่รับเธอเข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขายนั้น ทางร้านอะเบอร์ครอมบี้ ในย่านหรูของลอนดอน อนุญาตให้ดีนใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดแขนเทียมไว้ในขณะให้บริการลูกค้าได้ แต่ผ่านไปไม่กี่วันทางร้านก็บอกกับเธอว่าเธอต้องถอดเสื้อคลุมแขนยาวนั้นออกให้เหลือแต่เสื้อยืดตัวในเหมือนพนักงานคนอื่นๆ เมื่อเธอปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น จึงเท่ากับว่าเธอฝ่าฝืนนโยบายเรื่องการแต่งกายของบริษัท เธอจึงถูกย้ายเข้าไปทำงานในห้องเก็บสินค้า ทั้งนี้ผู้ใหญ่ของบริษัทให้เหตุผลว่าควรให้ดีนทำงานอยู่หลังร้านไปจนกว่าจะถึงฤดูหนาวที่พนักงานทุกจะได้ใส่เสื้อแขนยาวได้โดยไม่ผิดระเบียบ เมื่อมีข่าวเรื่องนี้ออกมา ทางร้านก็ปฏิเสธเสียงแข็งว่าดีนคงเข้าใจอะไรผิดไปแน่ๆ เพราะความจริงแล้วทางบริษัทมีนโยบายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างแข็งขันเลยทีเดียวนะ แต่ดีนอาจจะเข้าใจถูกก็ได้ เพราะในปี พ.ศ. 2547 เพียงปีเดียว บริษัทนิว อัลบานี เจ้าของแบรนด์ดังกล่าว ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ก็เคยถูกฟ้องร้องเพราะการเลือกปฏิบัติ และต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานเป็นจำนวนถึง 50 ล้านเหรียญ (ประมาณ 1,700 ล้านบาท) มาแล้ว อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดภายในปี พ.ศ. 2555 กว่า 1.3 ล้านครัวเรือนในนิวซีแลนด์ จะต้องติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้อยู่อาศัยกับบริษัทที่ให้บริการไฟฟ้า และช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดเงินค่าไฟได้ นี่ย่อมเป็นเรื่องดีเห็นๆ แต่ปัญหามันอยู่ที่รัฐบาลปล่อยให้บรรดาผู้ให้บริการไฟฟ้า (ซึ่งในนิวซีแลนด์มีอยู่ถึง 11 บริษัท) เป็นผู้ที่รับผิดชอบติดตั้งมิเตอร์เหล่านี้กันเอง โดยไม่มีการควบคุมดูแล แจน ไรท์ กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐสภานิวซีแลนด์ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้บรรดาผู้ประกอบการเหล่านั้น พยายามหลีกเลี่ยงการตั้งการทำงานของมิเตอร์ดังกล่าวในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งคุณไรท์ก็บอกว่าไม่น่าแปลกใจ เพราะการใช้ไฟมากขึ้นย่อมหมายถึงผลกำไรที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการนั่นเอง ความจริงแล้วมิเตอร์อัจฉริยะที่ว่านี้นอกจากจะทำให้บริษัทสามารถรู้ปริมาณการใช้ไฟของแต่ละครัวเรือนโดยไม่ต้องส่งคนมาเดินจดแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินและสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าอัตราค่าไฟในขณะนั้นเป็นเท่าไร และช่วงไหนเป็นช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ากันมาก โดยไมโครชิพในมิเตอร์จะทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแบบอัจฉริยะที่จะมีออกมาจำหน่ายในอนาคตอันใกล้นี้ มิเตอร์ที่ว่าจะปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะได้โดยอัตโนมัติ ในช่วงที่มีการใช้ไฟสูง แต่บริษัทกลับไม่ได้ใส่ไมโครชิพที่ว่าให้กับมิเตอร์ที่กำลังติดตั้งกันอยู่ในขณะนี้ให้กับ 800,000 ครัวเรือน และมิเตอร์เหล่านั้นก็ไม่มีระบบแสดงข้อมูลตามเวลาจริงเพื่อช่วยในการตัดสินใจของผู้บริโภคด้วย เช่น บางคนอาจจะยังเปิดเครื่องทำน้ำอุ่นในสระว่ายน้ำไว้เพราะไม่รู้ตัวว่าค่าไฟได้ขึ้นราคาไปแล้ว เป็นต้น คุณไรท์ตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ติดตั้งไมโครชิพที่ว่านี้ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะออกมาขายทำไม และถ้าจะติดตั้งเพิ่มในภายหลังก็จะมีค่าใช้จ่ายอีกถึง 60 ล้านเหรียญนิวซีแลนด์ (ประมาณ 1,300 ล้านบาท) อีกด้วย สรุปว่าถ้ารัฐบาลยิ่งปล่อยให้เป็นไปอย่างนี้ ก็จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคต้องติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะที่ไม่ค่อยฉลาดกันไปโดยไม่รู้ตัว

อ่านเพิ่มเติม >