ฉบับที่ 270 ไข่ฮ้างฮัง

        มีคลิปหนึ่งที่ถูกโพสต์ลง TikTok มีเนื้อหาประมาณว่า เมื่อคุณแม่ซื้อไข่ฮ้างฮังมาแต่ยังไม่ได้กินเพราะไม่อยู่บ้าน 3 วันในหน้าร้อน เมื่อกลับมาบ้านต้องตกใจเมื่อเปิดประตูบ้านมาเจอลูกเจี๊ยบกว่าสิบตัววิ่งอยู่ในบ้าน ในขณะที่บางตัวกำลังฟักออกจากไข่         ผู้เขียนขอสารภาพว่า ไม่เคยได้ยินคำว่าไข่ฮ้างฮัง หรือที่บางคนให้ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่า อาจเรียกว่า ไข่ฮ้างรังหรือไข่ค้างรัง จึงเข้าค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วพบข้อมูลประมาณว่า ไข่ฮ้างฮัง คือไข่ที่ฟักยังไม่สำเร็จแต่ถึงเวลาแล้วที่แม่ไก่บ้านต้องไปเลี้ยงลูกเจี๊ยบส่วนใหญ่ที่ออกจากไข่ก่อน (ปรกติแล้วแม่ไก่ฟักไข่ประมาณ 21 วัน) จึงต้องทิ้งรังไปตามวิถีชีวิตธรรมชาติของแม่ไก่ที่ต้องพาลูกไปหากิน ส่วนไข่ที่เหลือยังฟักไม่สำเร็จผู้เลี้ยงไก่มักนำไปบริโภค โดยไข่ฮ้างฮังแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ไข่ตัว คือไข่มีเชื้อที่เริ่มเจริญเป็นตัวอ่อน และตายในระยะใดระยะหนึ่ง ไม่สามารถฟักเป็นตัวออกมาจากไข่เป็นลูกเจี๊ยบได้และ ไข่ข้าว คือไข่ที่ไม่มีเชื้อ ไม่มีการเจริญเป็นตัวอ่อน แต่ได้รับการฟักทำให้สภาพของเนื้อไข่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากความร้อนจากการฟักของแม่ไก่ทำให้ไข่ข้าวแตกต่างจากไข่ไก่สดทั่วไป (ข้อมูลนี้ผู้เขียนยังสงสัยอยู่ว่ามันเป็นอย่างนี้จริงหรือ)         อย่างไรก็ดีมีกระทู้หนึ่งใน pantip.com (ในเดือนเมษายน 2566) เรื่อง ลักษณะไข่แบบนี้ไข่เน่าหรือไข่ค้างรัง ให้ข้อมูลต่างออกไปบางส่วนประมาณว่า ไข่ข้าวคือ ไข่ที่ถูกผสมด้วยน้ำเชื้อของไก่ตัวผู้แล้วถูกฟักแต่ยังไม่เป็นลูกเจี๊ยบคนก็เอามากินก่อน หรือคนเลี้ยงไก่เขาเจตนาทำให้เป็นไข่ข้าวเพื่อขาย (น่าจะได้ราคากว่าขายไข่ต้ม) ส่วนไข่ฮ้างฮังเป็นไข่ที่ผสมน้ำเชื้อแล้วแต่แม่ไก่กกไข่ฟักยังไม่เสร็จก็ทิ้งรังไปดูลูกเจี๊ยบตัวอื่น ตัวอ่อนในไข่ใบนั้นก็ตายกลายเป็นไข่ฮ้างฮัง หรือคนเลี้ยงไก่เขาเจตนาทำให้เป็นไข่ฮ้างฮังเพื่อขาย         หลังจากได้อ่านข้อมูลเกี่ยวกับไข่ฮ้างฮังแล้วก็นึกย้อนหลังไปเมื่อราว 60 ปีก่อน สมัยยังเด็กเคยเห็นรถเข็นขายไข่ต้มซึ่งมีไข่ต้มลักษณะหนึ่งที่ส่วนไข่แดงกลายเป็นลูกเจี๊ยบขนขึ้นเล็กน้อยแล้ว จึงถามแม่ของผู้เขียนว่า มันคืออะไร แม่ได้อธิบายว่าเขาเรียกว่า ไข่ข้าว ซึ่งคนที่ซื้อกินนั้นเชื่อว่า กินแล้วสมรรถภาพทางเพศจะดีขึ้น ซึ่งผู้เขียนฟังแล้วก็เก็บข้อมูลไว้ในสมองเฉยๆ จนมาได้ดูข่าวที่กล่าวถึงข้างต้นจึงรำลึกได้ แต่ก็ยังมีประเด็นที่เป็นคำถามเพราะสงสัยอยู่ว่า คนไทยกินไข่ฮ้างฮังทำไม เหมือนฝรั่งที่กินหรือไม่         คำตอบแรกนั้นมีในอินเทอร์เน็ตว่า เพราะชอบกลิ่นและรส ส่วนเหตุที่มีคำถามถึงฝรั่งนั้นก็เพราะนึกได้ว่า สมัยเรียนที่สหรัฐอเมริกานั้นมีโอกาสได้อ่านบทความในนิตยสาร PlayBoy (ซึ่งเพื่อนในหอพักซื้อมาอ่านแล้ววางไว้ในห้องนั่งเล่น) มีบทความหนึ่งเกี่ยวกับฝรั่งแถวสแกนดิเนเวียนิยมกินลูกไก่ที่ยังอยู่ในเปลือกไข่เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะทางเพศหรือ Libido ดังนั้นผู้เขียนจึงลองค้นหาข้อมูลทางวิชาการในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับงานวิจัยไข่ที่มีลักษณะของไข่ฮ้างฮังว่ามีหรือไม่ ซึ่งพบว่ามีไม่มากนักและที่น่าสนใจคือบทความเรื่อง Fibroblast growth factor (FGF) identification of a fertilized chicken egg whites and their effects on stem cells regeneration in the pancreas of hyperglycemia mice ในวารสาร Der Pharma Chemica ของปี 2016 ซึ่งบทความนี้เป็นผลการวิจัยของชาวอินโดนีเชียที่ให้ข้อมูลว่า สาร Fibroblast Growth Factor ที่สกัดได้จากตัวอ่อนในไข่ที่ถูกฟักแต่ยังไม่ออกเป็นตัวสามารถกระตุ้นให้เซลล์ต้นกำเนิดของตับอ่อนที่นำออกมาจากหนูที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (เพราะได้รับสาร alloxan ซึ่งทำลายเซลล์ที่สร้างอินซูลินของตับอ่อน) พัฒนาไปเป็นเซลล์ที่หลั่งอินซูลินได้ ส่งผลให้มีการตั้งความหวังว่า สารสกัดจากไข่ที่มีตัวอ่อนนั้นน่าจะถูกใช้ช่วยกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดในอวัยวะต่างๆ พัฒนาไปทำงานทดแทนเซลล์เดิมซึ่งหมดความสามารถ         สิ่งที่น่าสนใจคือ เว็บ https://synergisticnutrition.com มีบทความเรื่อง Fertilized & Incubated Chicken Eggs and Fibroblast Growth Factors ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการที่ไข่ซึ่งได้รับการปฏิสนธิแล้วถูกฟักนาน 9 วันขึ้นไปนั้นมีปัจจัยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ (fibroblast growth factors) ซึ่งเดิมทีนั้นในปี 1929 มีนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งได้ตั้งสมมุติฐานแล้วทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ว่า ปัจจัยสำคัญในไข่ดังกล่าวอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง แต่น่าเสียดายที่ผู้ศึกษาได้ตายไปในปี 1943 ทุกอย่างจึงถูกลืม จนผ่านไปเกือบ 50 ปีต่อมา ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยไข่ระดับแนวหน้าของนอร์เวย์กลุ่มหนึ่งได้ตั้งสมมุติฐานว่า ไข่ไก่ที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วถูกฟักนั้นมีองค์ประกอบหนึ่งเป็นของผสมของกรดอะมิโน เปปไทด์ และโปรตีนขนาดเล็กรวมกันที่น่าจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค เพราะไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิและถูกฟัก 9 วันนั้นมีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นชีวิตใหม่ (ของลูกไก่) สารสำคัญต่าง ๆ ที่คิดกันว่าเป็นปัจจัยต่อการเจริญเติบโตของเซลล์ไฟโบรบลาสต์นั้นน่าจะมีความสามารถในลักษณะการสั่งให้เกิดการดูดซับกรดอะมิโน เปปไทด์ และสารอาหารเพื่อกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดให้เปลี่ยนเป็นเซลล์ของอวัยวะ กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อสมองและอื่น ๆ ของตัวอ่อน สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับของผสมที่ช่วยให้ลูกไก่เจริญได้ระหว่างฟักนั้น บทความเรื่อง Basic Fibroblast Growth Factor in the Chick Embryo: Immunolocalization to Striated Muscle Cells and their Precursors ในวารสาร The Journal of Cell Biology ของปี 1989 ให้ข้อมูลว่า สารจำเป็นต่อการเจริญของตัวอ่อนในไข่ไก่นั้นเริ่มปรากฏขึ้นราววันที่ 2 ของการฟักและจะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในวันที่ 11 ของการฟักไข่         เซลล์ต้นกำเนิดนั้นมีอยู่ทั่วร่างกายมนุษย์และสัตว์ชั้นสูงแม้จะโตเติมที่แล้ว โดยเป็นเซลล์ที่รอการกระตุ้นที่เหมาะสมเพื่อรับสารอาหารสำหรับแปลงเซลล์เหล่านั้นให้เป็นเซลล์ใหม่ที่ทำงานได้เหมือนเซลล์ที่เสียหายไปในเนื้อเยื่อของอวัยวะนั้น ๆ ดังนั้นจึงเป็นความหวังว่า องค์ประกอบที่สกัดได้จากไข่ไก่ที่ผ่านการปฏิสนธิและถูกฟักแล้วระยะหนึ่งอาจช่วยให้เกิดเซลล์ใหม่มาแทนเซลล์ที่เสื่อมไปของสมอง หัวใจ ตับอ่อน ไต ต่อมหมวกไต เยื่อบุลำไส้ หรือเนื้อเยื่ออื่นๆ ซึ่งอาจรวมถึงเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ของร่างกาย เพื่อฟื้นคืนชีพการทำงานของอวัยวะและกระตุ้นความต้องการทางเพศให้กลับคืนมา         คำถามที่น่าสนใจต่อไปคือ มีงานวิจัยเกี่ยวกับสินค้าที่มีองค์ประกอบในลักษณะเดียวกันกับไข่ฮ้างฮังบ้างหรือไม่ คำตอบคือ มีสินค้าซึ่งอ้างว่าเพิ่มสมรรถนะทางเพศของชาย โดยสินค้านั้นมีส่วนประกอบเป็นสารสกัดจากไข่ที่ปฏิสนธิแล้วและฟักได้ระยะหนึ่ง ผู้เขียนพบว่ามีบทความของนักวิจัยชาวนอร์เวย์เรื่อง Sexual Desire in Men: Effects of Oral Ingestion of a Product Derived from Fertilized Eggs ในวารสาร Journal of International Medical Research ของปี 1997 ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่อ้างว่าให้ผลต่อความรู้สึกทางเพศหรือ Libido (Libid, Libbido, Erosom และ Ardorare เป็นชื่อที่ใช้ในการทำตลาด) มีส่วนประกอบที่ได้มาจากไข่ไก่ที่ได้รับการปฏิสนธิและฟักช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาความต้องการทางเพศที่ลดลงในผู้ชาย ผลลัพธ์ที่ได้จากการทดลองที่มีกลุ่มควบคุมด้วยยาหลอกแบบ double-blind cross-over บ่งชี้ว่า ในระยะเวลา 2 สัปดาห์ของการศึกษาพบว่า 58% ของผู้เข้าร่วมการศึกษาชาวนอร์เวย์ที่มีความต้องการทางเพศต่ำลง มีความรู้สึกดีขึ้นตามที่ได้ประเมินโดยใช้ Visual Analog Scale ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากผู้บริโภคชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่สำคัญต่อความถี่ของการมีเพศสัมพันธ์ ความมั่นใจในตนเองที่เพิ่มขึ้น ระดับความสุขที่ได้รับ และความแข็งแกร่งในความเป็นชาย นอกจากนี้ยังมีอีกการศึกษาในชายสวีเดนที่แยกศึกษาต่างหากพบว่า 84% ของผู้ชาย 31 คน รายงานความต้องการทางเพศที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 สัปดาห์หลังกิน Libido โดยต้องใช้เวลา 1 - 2 สัปดาห์ของการกิน Libido 3 กรัมต่อวันๆ ละสองครั้งก่อนที่จะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน         ผู้เขียนได้เข้าไปดูข้อมูลในเว็บ https://www.pdr.net ซึ่งเป็นเว็บที่ให้ข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ดูว่าเชื่อถือได้ เพราะเป็นแหล่งที่พิมพ์หนังสือ Physicians' Desk Reference (ปัจจุบันให้ข้อมูลฟรีบางส่วนแบบ online) ซึ่งแพทย์ส่วนใหญ่รู้จักดี ได้มีบทความเรื่อง Laminine (dietary supplement) - Full Prescribing Information ได้ให้ข้อมูลว่า ผลิตภัณฑ์ Laminine (ตั้งชื่อล้อกับคำว่า laminin ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนทำหน้าที่เป็นโครงสร้างรากฐานเครือข่ายโปรตีนที่อยู่ระหว่างเซลล์ของอวัยวะส่วนใหญ่ของสัตว์ทุกชนิด) ได้ติดฉลากบนสินค้าว่า มีสารสกัดจากไข่ไก่ที่ปฏิสนธิพร้อมด้วยส่วนผสมของโปรตีนที่เว็บไม่ได้ให้ความชัดเจนว่าคืออะไร เพื่อให้มีกรดอะมิโนที่จำเป็นทั้งหมดและกล่าวอ้างว่า ผลิตภัณฑ์นี้มีเปปไทด์ที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดให้พัฒนาเพื่อซ่อมแซมเซลล์ชราที่เสียสภาพได้         สำหรับคำถามที่ว่า การกินไข่ข้าวหรือไข่ฮ้างฮังของคนไทยนั้นจะได้ผลเหมือนการที่ฝรั่งกินผลิตภัณฑ์ที่กล่าวถึงข้างต้นหรือไม่นั้น คำตอบง่ายๆ คือ คงต่างกัน เพราะไข่ข้าวที่ขายตามรถเข็นนั้นถูกปิ้งด้วยความร้อน ดังนั้นสาร Basic Fibroblast Growth Factor ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นโปรตีนคงเสียสภาพไปหมด ในขณะที่ส่วนสกัดที่ได้จากไข่ข้าวของฝรั่งนั้นผลิตด้วยวิธีการสกัดทางชีวเคมีในห้องปฏิบัติการแล้วทำให้แห้งด้วยวิธี  freez-drying ดังนั้นส่วนสกัดที่ได้จึงน่าจะยังคงสภาพการทำงานอยู่ในระดับหนึ่ง โดยสรุปแล้วคนไทยที่กินไข่ฮ้างฮังแล้วรู้สึกอร่อยก็คงกินไปโดยไม่ต้องหวังอะไร อีกทั้งสินค้าของฝรั่งที่อาจมีขายออนไลน์นั้นก็อย่าได้หวังอะไรนัก เพราะการโฆษณานั้นเป็นการให้ข้อมูลบางส่วนที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ค้าสินค้านั้นเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ผลทดสอบยาปฎิชีวนะตกค้างในเนื้อกุ้ง

        ทุกปีนิตยสารฉลาดซื้อยังคงมุ่งมั่นเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในอาหาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าอาหารการกินของเราได้รับการใส่ใจทั้งในภาคการเกษตร ประมงและภาคอุตสาหกรรมอาหาร เรื่องการตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหาร เป็นหนึ่งประเด็นที่ทางนิตยสารฉลาดซื้อ โดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดลำดับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากปัญหาการดื้อยายาต้านจุลชีพที่ทวีความรุนแรงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากการที่มีการนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในการเกษตร ประมง หากวิธีการเลี้ยงตลอดจนการดูแลสัตว์ทำไม่ได้มาตรฐานย่อมก่อให้เกิดผลกระทบของการตกค้างของตัวยาปฏิชีวนะในวัตถุดิบที่นำมาปรุงอาหารได้และอาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพ         การดื้อยาต้านจุลชีพ (AMR) แสดงถึงภัยคุกคามระดับโลกที่สำคัญต่อมนุษย์ สัตว์ พืช อาหารและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2019 มีการประมาณการว่ามีผู้เสียชีวิตเกือบ 5 ล้านคนที่เกี่ยวข้องกับ AMR จากแบคทีเรียรวมถึง  1.27 ล้านคนที่เสียชีวิตจากสาเหตุโดยตรง (ที่มา WHO)          ในปีนี้ ฉลาดซื้อ ร่วมกับโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จากการสนับสนุนของ สสส. ดำเนินการเก็บตัวอย่าง “กุ้งขาว” สัตว์เศรษฐกิจของไทย ซึ่งมีการพบรายงานของการตกค้างในเนื้อกุ้งขาว ฉลาดซื้อจึงสุ่มตัวอย่างกุ้งขาว ในปี 2566 นี้เพื่อนำมาทดสอบหาการตกค้างของยาปฏิชีวนะเพื่อให้เป็นชุดการเฝ้าระวังในด้านวัตถุดิบอาหารจากที่เคยทำมาในปีก่อนหน้า ได้แก่ ฟาสต์ฟู้ด เนื้อหมู เนื้อไก่และเครื่องในไก่ น้ำส้มคั้น ปลาทับทิม         เราเก็บตัวอย่างกุ้งขาวจากแหล่งที่เป็นตลาดสดในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ได้แก่ ตลาดธนบุรี ตลาดยิ่งเจริญ ตลาดไท ตลาดท่าน้ำนนทบุรี ตลาดปากน้ำ สมุทรปราการ ตลาดมหาชัย สมุทธสาคร ตลาดคลองเตยและห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ได้แก่ กูร์เมต์ สยามพารากอน ทอปส์ บิ๊กซี ฟู้ดแลนด์ กูรเม่ต์ มาร์เกต เดอะมอลล์ ห้างโลตัส และห้างแมคโคร  รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 14 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ISO 17025 เพื่อทดสอบหาตัวยา 4 กลุ่ม ได้แก่ Nitrofurans metabolites , Chloramphenicol , Veterinary drug residues (Tetracycline group) และ Malachite green ผลการทดสอบ        เป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะทั้ง 4 กลุ่ม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2565

เชียงใหม่อันดับ 1 เสี่ยงสารเคมีการเกษตรตกค้างในร่างกาย        สสส.ระบุ เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเป็นอันดับ 1         นางประภาศรี บุญวิเศษ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่พบว่ามีสารเคมีตกค้างในเลือดสูงเป็นอันดับ 1 จำเป็นต้องเร่งสร้างความรู้ด้านอาหารให้แก่เกษตรกรร่วมมือกับร้านอาหาร ตลาด โรงแรม ช่วยกันพัฒนาแหล่งอาหารที่ปลอดภัยในชุมชน เลือกซื้ออาหารที่มีโภชนาการที่เหมาะสมจากการปลูกผักที่ปลอดภัยด้วยตนเอง         จากข้อมูลของ รศ.ดร.วินิตา บุณโยดม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุภาคเหนือ คือภาคที่มีสารเคมีตกค้างในร่างกายของประชาชนในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยมากกว่า 10 ปีแล้ว โดยปี 2565 มีสารเคมีตกค้างกว่า 70.3% ภาคใต้ 58.65%  ภาคกลางและภาคตะวันออก 41.19% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 37.14% และข้อมูลจาก ศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. อีกเช่นกันระบุว่า พืชผักที่มีสารเคมีตกค้างมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ คะน้า ผักกาดขาว มะเขือเทศ กะเพรา พริกขี้หนู และส่งผลให้สารเคมีในเลือดอาสาสมัคร 189 คน อยู่ระดับเสี่ยงถึง 56.25% ระดับไม่ปลอดภัย 28.08% แต่ระดับปลอดภัยและปกติ อยู่เพียง 9.18 และ 6.49 เท่านั้น พบเนื้อสัตว์แช่ฟอร์มาลิน ส่งขายร้านหมูกระทะ         นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 จากด่านกักกันสัตว์ชลบุรีว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิตภัณฑ์แปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์ จ.ชลบุรี เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการลักลอบผลิตเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ พบว่าไม่มีการขออนุญาตผลิตอาหารและใบอนุญาตอื่นๆ ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาด พ.ศ.2558 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 นอกจากนี้  วัตถุดิบชิ้นส่วนเครื่องในโค เครื่องในสุกร มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ซึ่งประกอบไปด้วย ฟอร์มาลิน โซดาไฟ ไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไซด์ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของกลางดังกล่าวไว้ เช่น ชิ้นส่วนเนื้อและเครื่องในสุกรและโค จำนวน 25,000 กิโลกรัม พร้อมด้วยแกลลอนบรรจุสารเคมีฟอร์มาลิน 50 แกลลอน และใบเสร็จที่มีการขายให้กับร้านหมูกระทะและร้านอาหารอีสานกว่า 66 ราย    6 แอปพลิเคชันเรียกรถถูกกฎหมาย         นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า ทางรัฐบาลได้ส่งเสริมการผลักดันให้บริการทางเลือกรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยกระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวงรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2564 ให้ภาครัฐสามารถควบคุมและกำกับการดูแลการให้บริการที่ปลอดภัย รวมทั้งเกิดการแข่งขันในการพัฒนาใต้กติกาเดียวกัน          ทั้งนี้ บริการทางเลือกรถยนต์รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันคือการให้บริการผ่านแอปฯ ที่กระทรวงคมนาคมให้การรับรอง มีความปลอดภัย ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ แสดงค่าโดยสารล่างหน้าชัดเจน ตรวจสอบได้ มีประกันครอบคลุมตามกฎหมายคุ้มครองประสบภัยกำหนด ซึ่งปัจจุบันได้ให้การรับรองแอปพลิเคชันแล้ว จำนวน 6 ราย ได้แก่ แกร็บ,โรบินฮู้ด,ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส,บอนกุ,เอเชีย แค็บ,และ “Airasia Super App” นอกจากนี้ ผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ สามารถอบรมทางออนไลน์ได้ที่ www.dlt-elearning.com ชาวไอทีแนะอย่าโหลดแอปพลิเคชันแปลกนอก Store ดีสุด         จากโพสต์ของผู้ใช้ทวิตเตอร์  Chanon Ngernthongdee  ซึ่งทดลองเป็นเหยื่อของแกงค์คอลเซนเตอร์เพื่อทดสอบว่าอะไรคือสิ่งที่แกงค์ดังกล่าวใช้เล่นงานผู้บริโภค โดยเขาออกมาเตือนว่า วิธีป้องกันอย่างง่ายที่สุดคือ ไม่โหลด app นอก Store หรือ Block installation of unmanaged mobile apps          ทั้งนี้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ท่านนี้บอกว่า ตนเองพยายามตกเป็นเหยื่อ call center อยู่นานมากเพื่อจะได้รู้ว่าเขาหลอกยังไง ให้ลง app (แอปพลิเคชัน) อะไร สุดท้ายในที่สุดก็ได้ app นั้นมา ทำให้ตนเข้าใจแล้วว่าทำไม app นั้นถึงสามารถไปดึงข้อมูลและสั่งให้ app ธนาคารทำธุรกรรมทางการเงินของเหยื่อได้ คนเขียน app นั้นใช้ AccessibilityService เพื่อควบคุมนั่นเอง มพบ.จัดอบรมให้เยาวชนเท่าทันทางการเงินจากโลกออนไลน์                   วันที่ 1-2 ธันวาคม 2565 ณ โรงเรียนวัดสุทธาโภชน์ กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตร “เยาวชนเท่าทันการเงิน” เพื่อเสริมทักษะให้การเยาวชนไทยเรื่องการเงิน โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลที่ทางมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน เช่น บัตรเครดิต การชำระหนี้ การจัดการหนี้ การทวงหนี้ไม่เป็นธรรม มากเป็นลำดับต้นๆ ส่วนใหญ่สาเหตุหลักคือ ประชาชนไทยยังขาดทักษะ ความเข้าใจการใช้บัตรเครดิต การวางแผนทางการเงิน การเท่าทันภัยการเงินทางออนไลน์         ทั้งนี้ นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ กล่าวว่า โครงการเยาวชนรู้เท่าทันทางการเงิน เริ่มดำเนินการอบรมมาตั้งแต่ ปี2563  เข้าร่วมกว่า 30 โรงเรียน ทั้งภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคอีสาน มูลนิธิฯ ยังคงดำเนินการด้วยความเชื่อมั่นว่า ถ้าเด็กและเยาวชนไทยมีความรู้เท่าทันทางการเงิน วางแผนการจัดการรายได้และรายจ่าย ย่อมเป็นทักษะสำคัญที่สร้างชีวิตที่มีคุณภาพได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ผลทดสอบสารตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท

        ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ส้มก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไทยแพน หรือจากผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเอง และทุกครั้งที่มีการสะท้อนสถานการณ์ปัญหาก็จะมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างทั้งจากหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อจะติดตามว่า ส้มไทยปลอดภัยต่อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และไทยแพน  จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ทำการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง           การสุ่มเก็บตัวอย่างส้มทำในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-10 มกราคม 2565 โดยเก็บจากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์  เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง  ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ แต่ไม่รวมสารกำจัดวัชพืชพาราควอตและไกลโฟเซต ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025   รายละเอียดการเก็บตัวอย่างทดสอบ          ส้ม เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง ส้มเขียวหวาน 12 ตัวอย่าง ส้มโชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มแมนดาริน 8 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มนาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มเมอร์คอท 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง ส้มกัมควอท 1 ตัวอย่าง ส้มซันคิสท์ 1 ตัวอย่าง ส้มเอินชู 1 ตัวอย่าง และส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และหากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 12 ตัวอย่างใน 41 ตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ เป็นตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) 11 ตัวอย่าง และ ThaiGAP 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง ได้แก่ Aro, Tipco, Chabaa, UFC, Malee, DoiKham, Sunfresh, Harvey Fresh, Green Garden และ Smile   สรุปผลการทดสอบจากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า        1. ส้มทั้ง 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดกำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ. 2563 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 57 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็น 95% ของกลุ่มตัวอย่าง  และพบว่า 5% หรือ 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่ , Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต และ ส้มเช้ง ร้านเจ๊อ้อย 201 ผลไม้ ตลาดไท        2. น้ำส้มในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง มี 5 ตัวอย่างที่ไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่  น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco, น้ำส้ม 100% ตรา UFC,  น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน) และน้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh และ Harvey Fresh อีก 5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตราARO , น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA, น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ, น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น และ น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE ทั้งนี้จากการตรวจสอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  พบว่าไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างไว้ จึงไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบกับปริมาณสารพิษตกค้างที่พบ ข้อสังเกตจากการทดสอบ         จากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100% ในขณะที่ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน         สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง โชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง และส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใดๆ 29 ตัวอย่าง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ แมนดาริน 5 ตัวอย่าง ส้มไต้หวัน 3 ตัวอย่าง เมอร์คอท 2 ตัวอย่าง นาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง เอินชู 1 ตัวอย่าง กัมควอท/กิมจ๊อ 1 ตัวอย่าง ซันคิสต์ 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง สายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง มีเพียงส้มสายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และส้มเมอร์คอท 1 ตัวอย่าง ที่พบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีก 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  สำหรับชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้        1. สารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos โดยพบในส้ม 56, 52 และ 49 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 93.33%, 86.67% และ 81.67% ตามลำดับ         2. ในขณะที่สามอันดับแรกของสารป้องกันและกำจัดโรคพืชคือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz โดยพบใน 48, 42 และ 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 80.0%, 70.0% และ 51.67% ตามลำดับ         3. สารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite พบใน 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 51.67%         4. พบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้แล้ว) 50% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง         “กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้วในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อกของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการ”  รายการวิเคราะห์ ชนิดและปริมาณค่าสารพิษตกค้าง สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ https://thaipan.org/action/2519  และสามารถดาวน์โหลด ผลทดสอบส้มฉลาดซื้อแนะ        • เลือกการสนับสนุนส้มที่ผลิตโดยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี หรือผลผลิตที่ทราบที่มาและเชื่อถือได้ว่ามาจากกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย         • ล้างส้มทุกครั้งที่บริโภค แม้ไม่สามารถลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างได้ทั้งหมด เพราะมีสารเคมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ดูดซึมไปสู่เนื้อส้มได้ แต่ก็เป็นการลดปริมาณของสารเคมีได้ระดับหนึ่ง         • ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปการผลิต การจัดจำหน่าย และกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจพบส้มไทยมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง

        สภาองค์กรของผู้บริโภค ไทยแพน ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจพบส้มไทยมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง ตอกย้ำปัญหาส้มพิษยังไม่ถูกแก้ไข เสนออาจต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตใหม่        สภาองค์กรของผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท แบ่งเป็นส้มจำนวน 60 ตัวอย่างและน้ำส้ม 10 ตัวอย่าง พบว่า ส้มที่มาจากการปลูกในประเทศจำนวน 41 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ทุกตัวอย่าง (100%) ส่วนส้มที่มาจากการนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง (84.21%) มีเพียง 3 ตัวอย่างที่มีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท พบ 50% ของกลุ่มตัวอย่างมีการตกค้างของสารพิษ         วันนี้ (10 มีนาคม 2565) ในงานแถลงข่าวผลการตรวจสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้ม นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ส้มก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไทยแพน หรือจากผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเอง และทุกครั้งที่มีการสะท้อนสถานการณ์ปัญหาก็จะมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างทั้งจากหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อจะติดตามว่า ส้มไทยปลอดภัยต่อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน มพบ.และไทยแพน  จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ทำการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง           การสุ่มเก็บตัวอย่างส้ม คณะทำงานเลือกช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-10 มกราคม 2565 จากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ โดยครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์  เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง   สำหรับส้ม เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง ส้มเขียวหวาน 12 ตัวอย่าง ส้มโชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มแมนดาริน 8 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มนาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มเมอร์คอท 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง ส้มกัมควอท 1 ตัวอย่าง ส้มซันคิสท์ 1 ตัวอย่าง ส้มเอินชู 1 ตัวอย่าง และส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และหากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 12 ตัวอย่างใน 41 ตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ เป็นตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) 11 ตัวอย่าง และ ThaiGAP 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง ได้แก่ Aro, Tipco, Chabaa, UFC, Malee, DoiKham, Sunfresh, Harvey Fresh, Green Garden และ Smile         ทั้ง 70 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025จากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า รายการวิเคราะห์ ชนิดและปริมาณค่าสารพิษตกค้าง สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ https://thaipan.org/action/2519  และสามารถดาวน์โหลด ผลทดสอบส้ม        1.    ส้มทั้ง 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดกำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติ อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 57 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็น 95% ของกลุ่มตัวอย่าง  และพบว่า 5% หรือ 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่ , Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต และ เป็นส้มเช้ง ร้านเจ๊อ้อย 201 ผลไม้ ตลาดไท ซึ่งทั้งสามตัวอย่างเป็นส้มนำเข้าจากต่างประเทศ        2.    จากตัวอย่างน้ำส้มในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง มี 5 ตัวอย่างที่ไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่  น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco, น้ำส้ม 100% ตรา UFC,  น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน) และน้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh และ Harvey Fresh อีก 5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตราARO , น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA, น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ, น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น และ น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE ทั้งนี้จากการตรวจสอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  พบว่าไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างไว้ จึงไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบกับปริมาณสารพิษตกค้างที่พบ         ด้านนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100% ในขณะที่ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน         สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง โชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง และส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใดๆ 29 ตัวอย่าง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ แมนดาริน 5 ตัวอย่าง ส้มไต้หวัน 3 ตัวอย่าง เมอร์คอท 2 ตัวอย่าง นาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง เอินชู 1 ตัวอย่าง กัมควอท/กิมจ๊อ 1 ตัวอย่าง ซันคิสต์ 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง สายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง มีเพียงส้มสายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และส้มเมอร์คอท 1 ตัวอย่าง ที่พบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีก 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน         สำหรับชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้        1. สารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos โดยพบในส้ม 56, 52 และ 49 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 93.33%, 86.67% และ 81.67% ตามลำดับ        2. ในขณะที่สามอันดับแรกของสารป้องกันและกำจัดโรคพืชคือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz โดยพบใน 48, 42 และ 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 80.0%, 70.0% และ 51.67% ตามลำดับ        3. สารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite พบใน 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 51.67%         4. พบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้แล้ว) 50% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง         “กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้วในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อกของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการ” นางสาวปรกชลกล่าว         นางสาวทัศนีย์ กล่าวเสริมว่า หากดูจากรายงานผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้ มันยังคงสะท้อนสถานการณ์ปัญหาการตกค้างของสารพิษในส้มว่าไม่ได้ดีขึ้น ส้มเกือบทุกตัวอย่างที่สุ่มมามีการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้นคงจะต้องขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้มีส่วนในห่วงโซ่ของการผลิตส้ม ได้โปรดช่วยกันหาทางเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน หรืออาจจะต้องถึงขั้นเปลี่ยนระบบการผลิตครั้งใหญ่หรือไม่         นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่าการเฝ้าระวัง ทดสอบสินค้าและบริการเป็นอำนาจหนึ่งของสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งกำหนดให้สภาฯ มีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภค และมีอำนาจดำเนินการเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค  การสนับสนุนการทดสอบเรื่องส้มในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าหรือบริการ และหลีกเลี่ยงสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ทั้งนี้ ตนเองมองว่า กระทรวงสาธารณสุขควรดำเนินการเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในน้ำส้มและผลิตภัณฑ์น้ำผักผลไม้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะจนมั่นใจว่าไม่มีการตรวจพบสารตกค้าง และประกาศให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลทุกครั้ง อีกทั้งต้องการเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการผลิตพืชอาหารอย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่ต้นทางของการผลิตอาหาร         สรุปข้อเสนอจากรายงานการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยข้อเสนอต่อภาครัฐ        1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์             • ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักลอบนำเข้า ครอบครอง หรือมีไว้จำหน่ายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสารเคมีที่ประเทศไทยยกเลิกการใช้หรือไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนแล้ว             • ปฏิรูประบบการรับรอง GAP  เพื่อให้มั่นใจว่าผลผลิตหรือสินค้าที่ได้รับการรับรองจะไม่ตรวจพบการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน             • ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรมอินทรีย์เพื่อให้เป็นทางเลือกในการผลิตของเกษตรกรและผู้บริโภค         2.กระทรวงสาธารณสุข             • เพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักผลไม้ที่ด่านนำเข้า            • พัฒนากลไกเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในระดับพื้นที่และประเทศ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน             • ควรยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีน้ำส้มหรือน้ำผลไม้ในภาชนะบรรจุปิดสนิท รวมถึงประเมินความเสี่ยงจากการบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้ป่วยข้อเสนอต่อภาคเอกชน ผู้จัดจำหน่าย        1. ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ตลอดจนร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นแหล่งจัดจำหน่ายส้มขนาดใหญ่ควรสนับสนุนข้อมูลเรื่องที่มาของส้ม ที่นำมาจำหน่ายอย่างโปร่งใส  (Traceability) เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งผลิต สารเคมีที่ใช้ การเก็บเกี่ยว การบรรจุ ฯลฯ ได้อย่างสะดวกด้วยเทคโนโลยีเช่นการสแกนคิวอาร์โค้ด             2. ผู้ผลิตที่นำส้มมาแปรรูป ควรคำนึงถึงแหล่งที่มาตลอดจนการคัดเลือกวัตถุดิบอย่างเป็นระบบเพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์         ทางเลือกและการแก้ปัญหาของผู้บริโภค             • เลือกการสนับสนุนส้มที่ผลิตโดยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี หรือผลผลิตที่ทราบที่มาและเชื่อถือได้ว่ามาจากระบวนการผลิตที่ปลอดภัย             • ล้างส้มทุกครั้งที่บริโภค แม้ไม่สามารถลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างได้ทั้งหมด เพราะมีสารเคมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ดูดซึมไปสู่เนื้อส้มได้ แต่ก็เป็นการลดปริมาณของสารเคมีได้ระดับหนึ่ง            • ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปการผลิต การจัดจำหน่าย และกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 241 ใบแจ้งหนี้ที่ไม่แจ้งยอดหนี้

        หลายบริษัทไฟแนนซ์เมื่อเราซึ่งเป็นลูกค้ากลายเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระ หนี้ของเราจะถูกโอนไปให้สำนักงานทนายความมารับคดีไปทำ ซึ่งเวลาที่ผู้บริโภคจะติดต่อเรื่องราวก็ต้องทำกับสำนักงานทนายความ เพราะบริษัทไฟแนนซ์บอกว่า ให้ติดต่อสำนักงานทนายความเลย แต่หากสำนักงานทนายความไม่ยอมแจ้งยอดหนี้ว่าจริงๆ คือเท่าไร ลูกหนี้อย่างเรามีสิทธิทำอะไรได้บ้าง         ศาลมีคำพิพากษาให้คุณภูผาชำระหนี้ส่วนต่างค่ารถยนต์กับบริษัทไฟแนนซ์ จำนวน 172,000 บาท  ซึ่งบริษัทไฟแนนซ์เจ้านี้ได้ให้สำนักงานทนายความเข้ามาดำเนินคดีแทนตั้งแต่แรก เวลาติดต่อเรื่องการชำระหนี้ก็จะต้องติดต่อสำนักงานทนายความนี้ หลังจากมีคำพิพากษาประมาณ 1 เดือน สำนักงานทนายความโทรศัพท์มาติดตามให้เขาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทบทุกวัน จนกระทั่งเขาหาเงินมาจ่ายหนี้ได้ ในวันชำระหนี้ทนายความให้เขาไปรอที่ธนาคารเพื่อจะให้ชำระหนี้ ทนายความจะส่งเอกสารในการชำระหนี้มาให้         เมื่อเขาไปถึงธนาคารก็บอกทนายไปว่ามาถึงแล้ว สักพักทนายส่งเอกสารใบแจ้งหนี้มาให้ ในใบแจ้งหนี้มีแต่ชื่อตัวเขาและคิวอาร์โค้ดสำหรับการชำระหนี้เท่านั้น เขางงว่าทำไมทนายความส่งมาให้แบบนี้ไม่เห็นบอกยอดหนี้ที่เขาต้องชำระเลย เขาจึงสอบถามทนายความไปว่าทำไมไม่แจ้งยอดหนี้มาในใบแจ้งหนี้ ทนายความก็บอกเพียงแต่ว่าให้เอาเอกสารนี้ยื่นให้ธนาคาร ใบแจ้งหนี้มีเท่าที่เห็นไม่มีการบอกตัวเลขยอดหนี้ ซ้ำทนายความยังขู่ให้โอนทันที แต่คุณภูผา “ไม่ไว้ใจ” สงสัยว่าทำไมทนายความถึงไม่แจ้งยอดหนี้ในใบแจ้งหนี้ บอกเพียงปากเปล่าเท่านั้น จึงสอบถามมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา          ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะนำว่า ผู้ร้องมีสิทธิที่จะทราบรายละเอียดและเงื่อนไขการกู้ เงินต้น ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมต่างๆ ดังนั้นผู้ร้องสามารถแจ้งทนายความได้เลยว่า ผู้ร้องเป็นลูกหนี้ควรต้องรู้รายละเอียดในการชำระหนี้ของตนเอง ถ้าเราไม่รู้รายละเอียดยอดหนี้ก็คงไม่สามารถชำระหนี้ได้         ส่วนกรณีที่ผู้ร้องถูกขู่ อาจเข้าข่ายเป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ทวงหนี้ พ.ศ. 2558 สามารถร้องเรียนได้ที่ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง คณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้ประจำจังหวัด กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยิ่งกรณีของผู้ร้องเป็นทนายความด้วย ผู้ร้องสามารถร้องเรียนมรรยาททนายความกับทนายความ และสำนักงานทนายความได้ที่ สภาทนายความฯ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 เปลี่ยนวิธีคิด เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณ ใครก็ต้องการผักผลไม้ที่ปลอดภัย

        กรณีสารเคมี 3 ตัว พาราควอต คลอไพรีฟอส และไกลโฟเสต ได้สร้างความเข้าใจผิดต่อคน จำนวนมากว่า หากเรายกเลิกสารเคมีสามตัวนี้ มีคนได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลัง ต้องตอบว่า องค์กรผู้บริโภคไม่ได้มีผลประโยชน์ ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมี หรือไม่ใช้วิธีหนีเสือปะจระเข้ แต่สนับสนุนวิธีการอื่นๆที่เป็นทางเลือกที่มีอยู่จริงและหลากหลายทาง แต่จะก้าวพ้นความคิดที่มีมาตลอดในเวลา 50 ปี หากจะปลูกอะไรต้องรองสารเคมีก้นหลุม การใช้ เครื่องจักรกำจัดหญ้า สารกำจัดแมลงด้วยวิธีอินทรีย์ทั้งหลายที่มีมากขึ้น การเกษตรแบบอินทรีย์มีอยู่จริงและสามารถทำได้ในระดับอุตสาหกรรมเกษตร         อีกความเข้าใจผิดที่อ้างว่า หากยกเลิก 3 สารเคมีนี้ จะไม่มีพืชผักผลไม้รับประทานและราคาแพง ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นและไม่น่าจะเป็นความจริง หรือขณะที่เรามีสารเหล่านี้ใช้ ราคาผลไม้ที่ราคาถูกก็แพงจับใจในปัจจุบัน ปัญหาราคาคงมีเหตุผลอีกหลายปัจจัย ตราบเท่าที่เรายังมีพืชผักผลไม้ส่งออกหรือนำเข้าได้ ย่อมต้องมีจำหน่ายในประเทศไทยแน่นอน แถมหากยังใช้สารเคมีจะเป็นเหตุผลให้ส่งออกไม่ได้ คนไทยต้องได้รับอันตรายจากสารเคมีอันตรายที่ตกค้างเหล่านี้มานาน เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง พาร์กินสัน เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และโรคอื่นๆอีกมากมาย          อันตรายชัดเจนต่อผู้บริโภคจากสารเคมีสามตัวที่ตกค้างในพืชผักผลไม้จากการตรวจสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ไม่น้อยกว่าห้าปีที่ผ่านมาพบว่า 1 ใน 3 ของผัก ผลไม้ มีสารเคมีตกค้างและบางส่วนตกค้างเกินมาตรฐานหรือแม้กระทั่งการสำรวจล่าสุดของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็พบว่าตกค้างสูงถึง 26.6 %         อันตรายถึงชีวิตต่อผู้ที่ฉีดพ่น ซึ่งมีอาชีพรับจ้างพ่นสารเคมี คนกลุ่มนี้ไม่มีทางเลือกมาก เพราะเจ้าของสวนหรือไร่นา หรือแปลงขนาดใหญ่ไม่ได้มีการดำเนินการฉีดพ่นเอง ดังที่ในสหรัฐอเมริกา โดยศาลสั่งให้บริษัทมอนซานโต ผู้ผลิตสารเคมีสำหรับการเกษตร จ่ายค่าชดเชย 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9,619 ล้านบาท) ให้ ดีเวย์น จอห์นสัน ซึ่งฟ้องร้องเมื่อปี 2016 ว่ายาฆ่าหญ้าราวด์อัพ และยากำจัดศัตรูพืช แรนเจอร์ โปร มีส่วนก่อมะเร็งต่อมน้ำเหลือง จะเป็นบรรทัดฐานสำหรับคดีที่เหลือกว่า 5,000 คดี ที่โจทก์ยื่นฟ้องว่าผลิตภัณฑ์ของมอนซานโตมีส่วนก่อมะเร็ง https://www.posttoday.com/world/560676 การใช้ที่ถูกวิธีทำได้ลำบากและไม่เป็นความจริง เพราะประเทศไทยเป็นประเทศร้อน อันตรายตกกับเกษตรกรรับจ้างพ่นสารเคมีอันตราย ซึ่งคำแนะนำในการจัดการปัญหาสารเคมีทั่วโลก เสนอให้แก้ปัญหาที่ต้นทางคือการลดสารเคมีที่เป็นอันตรายให้ได้มากที่สุด         ส่วนปัญหาราคาแพง หากเราคิดและยอมรับว่า เกษตรกรเป็นผู้อุปการคุณต่อผู้บริโภคที่ทำงานหนัก รายได้ต่ำ สินค้าเกษตรราคาถูกเกินไปจนเกษตรกรไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ จึงต้องมีราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ เกษตรกรได้ขายสินค้าในราคาถูก ปัญหาดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่ การส่งเสริมการตลาดสำหรับเกษตรกร หรือ การจำหน่ายตรงสำหรับเกษตรกร การกำกับพ่อค้าคนกลาง ขณะที่ผู้บริโภคต้องจ่ายราคาแพงในปัจจุบัน         ส่งผลกระทบที่เสียหายชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อม การตกค้างในดิน สิ่งแวดล้อม ผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และกลับมาในห่วงโซ่อาหารในท้ายที่สุดส่วนปัญหาราคาแพง เช่นกรณีน้ำปู๋ที่พบการตกค้างสารเคมีกลุ่มนี้มากกว่าปูนา         ทุกรัฐบาลต้องมีนโยบายประกันราคา จำนำสินค้าเกษตร หรือประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งในทางปฏิบัติ จะทำอย่างไรให้ใช้มาตรการนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่เกษตรอินทรีย์ให้มากที่สุด รวมทั้งมีเป้าหมายในการขยายเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรยั่งยืนที่ชัดเจน         สุขภาพต้องมาก่อนการค้า หลักการป้องกันไว้ก่อน คงเป็นเหตุผลเพียงพอ ว่า ทำไมต้องเพิกถอนทะเบียน ห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและจำหน่ายสารเคมีอันตราย 3 ตัวนี้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 สารเคมีตกค้าง

การใช้สารเคมีในภาคเกษตรนับเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรและผู้บริโภคภายในประเทศจำนวนมาก จนนำมาสู่การเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐยกเลิกสารเคมีหลายตัวที่หลายประเทศ แม้แต่ประเทศผู้ผลิตก็ได้ยกเลิกการใช้ไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าผู้เกี่ยวข้องจะดูใจเย็นกับเรื่องนี้เหลือเกินทั้งๆ มีรายงานตัวเลขผู้เจ็บป่วยและเสียชีวิต ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในภาคเกษตรนับเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) อยู่ที่หลักหลายพันคนต่อปี หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ เฝ้าระวังผลผลิตที่วางจำหน่ายในท้องตลาด จะออกมาป่าวประกาศถึงสถานการณ์สารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ ในระดับที่น่าเป็นห่วงก็ตาม  ล่าสุด นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ให้ข้อมูลกับ ฉลาดซื้อ ว่าแต่ละปีมีการสำรวจสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้ แตกต่างกัน ซึ่งช่วงแรกๆ ที่ทำร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเมื่อประมาณ 7 ปีก่อน มีการตรวจยาฆ่าแมลงแค่ 2 กลุ่ม ก่อนจะพัฒนามาเป็น 4 กลุ่มสารเคมี (organophosphates, carbamates, organochlorine  และ pyrethroids) ปัจจุบันมีการส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องแลปที่อังกฤษ ซึ่งสามารถวิเคราะห์สารเคมีได้มากกว่า 4 กลุ่ม ทำให้ช่วงหลังพบสารเคมีตกค้างมากขึ้น          สำหรับปี 2562 มีการเก็บตัวอย่างผัก ผลไม้จากห้างสรรพสินค้าและตลาดสด พบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานประมาณ 41% ขณะที่สองปีก่อนส่งไปตรวจที่อังกฤษเหมือนกันพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 46% แต่ถ้าดูเฉพาะสารสี่กลุ่มที่ประเทศไทยสามารถวิเคราะห์ได้ จะพบปัญหาการตกค้างเกินค่ามาตรฐานลดลงเรื่อยๆ เหลือ 30% จนกระทั่งล่าสุดเหลืออยู่ที่ 20% และไม่ลงไปกว่านี้ อย่างไรก็ตาม แม้ของไทยจะลดลงแต่ยังถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหภาพยุโรป ที่สามารถตรวจได้ในระดับเดียวกันกับอังกฤษ การพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐานอยู่ที่ ประมาณ 1-3% สำหรับสารที่ปีนี้ที่พบมากสุดคือ คาร์เบนดาซิม (carbendazim) ซึ่งเป็นสารป้องกันการเกิดเชื้อรา เป็นสารดูดซึมที่ไม่สามารถล้างออกได้ ยกตัวอย่าง หากตกค้างใน “ส้ม” ถึงจะปอกเปลือกออก สารนี้ก็ยังอยู่ในเนื้อ  ปัจจุบันหลายประเทศยกเลิกการใช้แล้วเพราะทำให้คนที่ได้รับสารนี้มีโอกาสเป็นหมัน  นางสาวปรกชล ยังบอกอีกว่า จากการตรวจวิเคราะห์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในกลุ่ม “ผัก” ปัญหาจะหมุนเวียนชนิดกัน ขึ้นๆ ลงๆ เช่น ผักกวางตุ้ง คะน้า พริก กระเพรา ผักชี ถั่วฝักยาว จะอยู่ในอันดับต้นๆ ทุกปี ส่วน “ผลไม้” ที่เป็นอันดับหนึ่งที่พบสารเคมีตกค้างมาตลอด คือส้ม ตามมาด้วย องุ่น สลับกับ ฝรั่ง หรือ มะละกอ ชมพู่ และมีความเป็นไปได้ ที่ผัก ผลไม้หนึ่งตัวอย่างจะเจอสารเคมีตกค้างมากกว่าหนึ่งชนิด         “อย่างสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 41% อีกเกินครึ่งก็เจอสารเคมีในระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน ซึ่ง 2 ใน 3 ของกลุ่มนี้มีสารเคมีตกค้างมากกว่าสองชนิดในหนึ่งตัวอย่าง มากสุดคือสารเคมีตกค้าง 20 ชนิดในหนึ่งตัวอย่าง ถือว่าเป็นปัญหามาก เพราะหน่วยงานภาครัฐไม่มีการประเมินความเสี่ยงสารตกค้างร่วมกับผู้บริโภคจึงไม่มีทางรู้เลยว่ารับประทานเข้าไปแล้วจะเกิดผลกระทบมากน้อยแค่ไหน”         ที่น่าสังเกตคือเราพบว่าตัวอย่างผัก ผลไม้ที่ขายในห้างฯ มีสารเคมีตกค้างมากกว่าที่วางขายในตลาดสดเล็กน้อย  แม้ว่าผลผลิตที่ขายในห้างฯ จะมีตรารับรองมาตรฐาน อย่างเช่น Q หรือ Organic Thailand ยังพบว่าไม่มีความปลอดภัย สารตกค้างยังคงเกินค่ามาตรฐาน ส่วนตัวมองว่าระบบการตรวจสอบรับรองยังคงมีช่องว่าง รวมถึงกระบวนการในการกำกับดูแลหลังให้ใบรับรองไปแล้ว ซึ่งเป็นไปได้ที่บางครั้งอาจจะไปถูกสวมสิทธิ์ที่ห้างหรือซับพลายเออร์ เท่ากับว่ากระบวนการให้ใบรับรองยังไม่แข็งแรงพอ ทำให้เรายังมั่นใจไม่ได้ 100% กับสินค้าที่มีตรารับรอง             “การล้างทำความสะอาดสามารถล้างสารพิษออกได้นิดหน่อย แต่ถ้าเป็นสารประเภทดูดซึมจะล้างไม่ออก ปีนี้เราพบสารพิษตกค้าง 90 ชนิด ในจำนวนนี้ 50 ชนิดเป็นสารตกค้างประเภทดูดซึม ล้างไม่ออกแน่ๆ ปอกเปลือกออกก็อยู่ในเนื้อ ส่วนที่ล้างออกประมาณ 40 ชนิด บางอย่างก็ล้างออกง่าย แค่เปิดน้ำไหลผ่าน การแช่ด่างทับทิม น้ำส้มสายชู เบคกิ้งโซดา ซึ่งสามารถขจัดสารเคมีได้แตกต่างกัน การล้างผัก ผลไม้จึงแค่เป็นการทำให้ตัวเองสบายใจ”         นางสาวปรกชล ระบุว่า เรื่องการใช้สารเคมีที่มีมากในประเทศไทยที่จริงเป็นปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมสารเคมี เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น 1.ไม่มีระบบการเฝ้าระวังและการแจ้งเตือนภัยให้กับผู้บริโภค หน่วยงานภาครัฐที่มีการตรวจก็เก็บข้อมูลไว้ไม่ได้เปิดเผยให้ผู้บริโภคทราบ ทำให้ผู้บริโภคไม่มีข้อมูล จึงไม่สามารถแสดงความต้องการอาหารที่ปลอดภัย หรือความต้องการที่จะสนับสนุนสินค้าที่มีคุณภาพที่ไหนได้2. สารเคมีหลายตัวที่พบ เป็นสารที่หลายประเทศยกเลิกการใช้ไปแล้ว โดยเฉพาะประเทศต้นทางที่ผลิตสารเคมีเอง เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค แต่ประเทศไทยกลับยังนำเข้ามาใช้     แสดงว่าระบบการคัดกรองสารเคมีเหล่านี้ของประเทศไทยยังไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากสารเคมี 3 ตัวที่ขอให้แบนคือพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต แล้ว ยังมีสารเคมีอีกกว่า 100 ชนิด ที่ต้องมีการจัดการเช่นเดียวกัน         “วันนี้จึงทำให้เราประสบภาวะที่ว่านอกจากสารเคมีเกินค่ามาตรฐานแล้วยังมีสารเคมีหลายตัวที่ร้ายแรงมาก” 3.เกษตรกรมองว่าการใช้สารเคมีในภาคเกษตรคือคำตอบที่ถูกต้องและสมบูรณ์แบบ เนื่องจากบริษัทนำเข้าไม่ต้องเสียภาษีเลย เพราะฉะนั้นราคามันเลยไม่ได้รวมผลกระทบภายนอกทั้งทางด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เลยทำให้ดูเป็นทางเลือกที่ราคาถูกที่สุดในการทำเกษตรกรรม เกษตรกรจึงนิยมใช้ แถมยังไม่ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขาย จึงทำให้มีการใช้มากเกินความจำเป็น        เพราะฉะนั้น วันนี้ ทางเลือกของผู้บริโภคอาจจะต้อง “เหนื่อย” และต้องการข้อมูลของผัก ผลไม้ว่ามีที่มาที่ไปอย่าง ไร ผักประเภทไหนเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย เพราะไม่สามารถดูได้จากหน้าตาผัก ผลไม้ ต่อให้มีรอยแมลงกัดก็ไม่สามารถการันตีอะไร ตรารับรองก็ไม่สามารถเชื่อมั่นได้ 100% ที่จริงแล้วผู้บริโภคมีอำนาจเต็ม เพราะเงินอยู่ในกระเป๋าเรา ทุกครั้งที่ใช้จ่ายจะเป็นการแสดงเจตจำนงว่ากำลังสนับสนุนเกษตรกรที่ใช้สารเคมี หรือจะสนับสนุนเกษตรกรที่ไม่ใช้สารเคมี ซึ่งราคาไม่ได้สูงเสมอไปหากไม่ซื้อในห้างฯ หรือให้เกษตรกรจัดส่งให้ที่บ้านก็ยังได้ ราคาถูกด้วย อีกทางหนึ่งควรปลูกผักกินเองบาง เช่น พริก กระเพรา เป็นต้น         นางสาวปรกชล ย้ำว่า สิ่งที่ไทยแพนอยากเห็นคือเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องพื้นฐาน ถ้ามีสารเคมีตกค้างก็ต้องไม่เกินมาตรฐานกำหนด ซึ่งประชาชนต้องช่วยกันกดดันภาครัฐให้มีการตรวจสอบและลงโทษกลุ่มเกษตรกรที่มีการใช้สารเคมี ปล่อยให้เกินค่ามาตรฐาน แถมยังเคลมว่าปลอดภัย แล้วขายในราคาแพงๆ หรือกดดันให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีบางตัวที่หลายประเทศยกเลิกไปแล้ว ทำไมไทยถึงยังยอมให้เข้ามาในระบบอาหารของไทย และช่วยกันส่งเสียงกระตุ้นให้เกิดระบบเฝ้าระวังและเตือนภัย ซึ่งสำคัญมาก เพราะการมีข้อมูลที่ชี้ปัญหาจะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้         อันที่จริงสถานการณ์ก็เหมือนจะดีขึ้น มีจำนวนเกษตรที่ลุกขึ้นมาปลูกผักที่ลดการใช้สารเคมี การเพิ่มตลาดสีเขียว ผู้บริโภคตื่นตัวมากขึ้น  แต่ว่าในภาพใหญ่ระดับโครงสร้างนโยบายที่ยังคงมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้องอาจจะยังต้องสู้กันอีกยาว ตรงนี้ต้องใช้พลังผู้บริโภคลุกขึ้นมาส่งเสียงว่าต้องการอาหารปลอดภัยและต้องร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการปรับพฤติกรรมอุดหนุนเกษตรกรที่ปลูกผัก ผลไม้โดยไม่ใช้สารเคมี และอุดหนุนให้หลากหลายเพื่อเปิดตลาดให้กว้าง         รวมถึงการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการแสดงฉลาก เช่น ใช้ก็บอก ไม่ใช่ก็บอก มีการเรียกร้องให้โรงงานน้ำตาลแจ้งบนถุงน้ำตาลเลยว่า อ้อยมาจากการปลูกโดยใช้พาราควอตหรือไม่ และผู้บริโภคจะตัดสินใจเอง นี่คือการส่งเสียงเพื่อให้รัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย         ด้าน นพ.พูนลาภ ฉันทวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าการปลูกผัก ผลไม้ในเมืองไทยยังมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีอยู่ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้มีการใช้มากเกินไปจนเกิดการตกค้างในผลผลิตเกินค่ามาตรฐาน จึงเป็นที่มาว่าเมื่อมีการสุ่มตรวจสารตกค้างในผลผลิตเหล่านี้แล้วยังเจอบ้าง ไม่เจอบ้าง แต่ถ้าไม่ได้มีปริมาณเกินค่ามาตรฐานก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่มีความปลอดภัย เกิดการตรวจการเฝ้าระวัง         “หากจะให้ไม่มีสารเคมีเลยนั้นยอมรับว่ายังยาก ดังนั้นคำแนะนำสำหรับประชาชนคือไม่ว่าจะซื้อผักผลไม้จากแหล่งใดก็ตามจะต้องมีการนำมาล้างด้วยวิธีการปล่อยให้น้ำไหลผ่านหรือการแช่น้ำเกลือ หรือเบกกิ้งโซดา สักช่วงเวลาหนึ่งก็จะช่วยลดปริมาณสารเคมีลงได้”         อย่างไรก็ตามในเรื่องของสารเคมีนั้นทางอย.ไม่ได้มีการดูโดยตรง และไม่เคยมีการออกตราสัญลักษณ์เพื่อรับรองมาตรฐาน หรือรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษแต่อย่างใด เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ แต่สิ่งที่อย.ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน คือกรณีที่มีการแบ่งบรรจุจำหน่ายผัก ผลไม้นั้น ให้ ทางห้างฯ ติดฉลากแหล่งที่มาของผลผลิตนั้นๆ ให้ชัดเจน เพราะหากตรวจเจอสารเคมีเกินค่ามาตรฐานก็จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งที่มาและดำเนินการเอาผิดได้ ฐานเป็นอาหารไม่ปลอดภัย ตามพ.ร.บ.อาหาร มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท        ทั้งนี้ ที่ผ่านมาต้องเรียนว่ายังไม่มีการลงโทษถึงขั้นนั้นเนื่องจากเราต้องการใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือป้องปรามและการเฝ้าระวัง พยายามสร้างความตระหนักและทำให้เกษตรกร ไม่ใช้สารพิษในปริมาณที่มากเกินไปมากกว่า ซึ่งจากข้อมูลผัก ผลไม้ที่มีการแบ่งบรรจุขายในห้างสรรพสินค้า ในตลาดสดคิดเป็น 30% อีก 70% เป็นการขายส่ง ซึ่งผลจากแนวปฏิบัติดังกล่าว รวมถึงการขอความร่วมมือจากชุมชนท้องถิ่นให้ช่วยกันสุ่มตรวจผัก ผลไม้ โดยอาศัย พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 แก้ไข พ.ศ.2560 เข้ามาดำเนินการ ก็พบว่าปัญหาเรื่องสารพิษตกค้างในผัก ผลไม้ดีขึ้น อย่างที่ไทยแพนได้มีการสุ่มตรวจก็พบว่าน้อยลงเช่นกัน  ด้านกรมอนามัยได้มีการออกเอกสารเผยแพร่คำแนะนำแก่ประชาชน โดยใจความระบุว่าการรับประทานผักผลไม้เป็นประจำย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือปัญหาการตกค้างของสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพื่อความปลอดภัยประชาชนจึงควรใส่ใจการล้างผักให้สะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างหรือการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค โดยให้แช่ในน้ำนาน 15 นาที จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านและคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร นาน 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด หรือใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) ครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด ซึ่งทั้ง 3 วิธีนี้ สามารถลดสารเคมีตกค้างจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายได้ ขณะที่ นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกซ์แฟมในประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อดูจากสถานการณ์ปัจจุบันโดยยังไม่ได้ดูในแง่ของสถิติจะพบว่ามีห้างสรรพสินค้ากว่า 3 พันสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศไทย ทั้งห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก ยังไม่นับรวมร้านสะดวกซื้ออีกจำนวนมาก ทำให้เห็นแนวโน้มว่าผู้บริโภคเลือกที่จะไปซื้อสินค้าที่ห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เพราะสะดวกสบายไปครั้งเดียวก็ได้ของครบทุกอย่าง         ทั้งนี้ถ้ามองในแง่ของสถิติ นอกจากการกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศแล้วยังพบว่ามีการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ แอปพลิเคชั่นต่างๆ ยิ่งเพิ่มความสะดวกในการซื้อสินค้ามากขึ้น แม้ตัวจะยังอยู่ที่บ้านก็ตาม เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าผู้บริโภคกับห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกมีความใกล้ชิดกัน อย่างน้อยในหนึ่งสัปดาห์ น่าจะเข้าห้างสรรพสินค้าราวๆ 1-2 ครั้ง         สำหรับการจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารสด ผัก ผลไม้ นั้นทางอ็อกซ์แฟมยังไม่ได้มีการสำรวจและประเมิน จึงยังไม่สามารถบอกถึงความนิยมได้ เพราะที่มีประเมินอยู่คือ มิติทางด้านสังคม เช่น ความโปร่งใส เรื่องแรงงาน เรื่องเกษตรกรรายย่อย เรื่องความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมบทบาทสตรี เป็นต้น          “ถ้าจับจากพฤติกรรมคนทั่วไปก็เห็นได้ว่า ทุกวันนี้คนนิยมซื้อสินค้าอาหารสด ผัก ผลไม้ในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น แทนการเดินตลาดสด ซึ่งปัจจุบันตลาดสดเองก็เริ่มมีน้อยลง แต่ถ้าพูดถึงคุณภาพ สินค้าและความปลอดภัยแล้ว ตนมองว่าปัจจุบันก็ค่อนข้างปฏิบัติตามมาตรฐานกฎหมายและค่อนข้างมีการพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภค”          อย่างไรก็ตาม ประมาณปลายปี 2562 หรือ ต้นปี 2563 จะมีการสำรวจ ประเมินมิติด้านความปลอดภัยทางอาหารร่วมด้วย ซึ่งจะครอบคลุมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สารเคมีต่างๆ รวมถึงการจัดซื้อที่เป็นมิตร แต่สิ่งที่อ็อกซ์แฟมและภาคีเครือข่ายดำเนินการอยู่ขณะนี้ คือการสนับสนุนให้ห้างฯ ซึ่งเป็นตลาดปลายทางที่รับสินค้ามาจากเกษตรกรถึงมือผู้บริโภค มีนโยบายเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับเกษตรกร ผู้แปรรูปอาหารต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกสินค้าที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ถ้ามีการออกเป็นนโยบายแล้วจะทำให้เกิดการปฏิบัติเหมือนกันของห้างฯ ทุกสาขา และมีการปฏิบัติอย่างยั่งยืน เพราะปัจจุบันแนวปฏิบัติด้านต่างๆ ของห้างสรรพสินค้าในประเทศไทยยังคงเป็นแบบโครงการ กิจกรรมซีเอสอาร์ ซึ่งตนไม่ได้บอกว่าโครงการเหล่านี้ไม่ดี เพียงแต่กรณีแบบนี้เมื่อจบโครงการก็คือจบ ถ้ามีการกำหนดเป็นนโยบายจะมีความยั่งยืนมากกว่า “นโยบายหมายความว่าจะต้องใช้กับทุกพื้นที่ ทุกผลิตภัณฑ์ และอยู่ถาวร มีการดึงมาสู่แผนงานแผนปฏิบัติ มี KPI หากปฏิบัติตามไม่ได้ก็ต้องปรับปรุง มีความยั่งยืน ถ้าไม่ดีก็ปรับปรุง ดังนั้นอยากให้ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ยั่งยืนถาวรมากขึ้น เชื่อว่าห้างค้าปลีกไทยมีศักยภาพที่จะทำ เพราะดูจากนวัตกรรมทางการตลาดและการขยายธุรกิจไม่ได้น้อยหน้าต่างประเทศ หากเกิดนโยบายเชิงบวกเพื่อให้ผู้ผลิตอาหารในประเทศไทยรวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่จะส่งผลให้คุณภาพชีวิตของคนในประเทศดีขึ้น”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 216 เมา..ไม่ค้าง

คนชอบกินเหล้ามักกังวล(นิดหน่อย) กับอาการ เมาค้าง หรือที่ฝรั่งใช้คำว่า hangover ซึ่งมีการอธิบายอาการของผู้เมาค้างในเว็บไทยต่างๆ ว่า “ปัสสาวะบ่อย น้ำตาลในเลือดต่ำ ปวดหัว คลื่นไส้ พะอืดพะอมแต่ไม่อาเจียน หมดแรง อ่อนเพลีย ลุกไม่ขึ้น เดินไม่คล่อง มึน งุนงง สับสน นอนไม่หลับ ลืมตาไม่ขึ้น คอแห้ง ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออก ตัวเย็น กล้ามเนื้อเกร็งหรืออาจเป็นตะคริวร่วมด้วย เบื่ออาหาร ลิ้นไม่รับรส ปวดท้อง ท้องเสีย ความดันโลหิตตัวบนสูงขึ้น ชีพจรเต้นเร็วขึ้น เหงื่อออกมาก บ้านหมุน คนเป็นโรคหัวใจอาจตายได้” ซึ่งอาการเหล่านี้คงไม่เป็นที่พึงประสงค์ของนายจ้างของผู้ที่เมาค้างแน่นอน ดังนั้นจึงมีคนที่พยายามหาทางถอนเมาค้างออกเพื่อช่วยให้คนชอบกินเหล้าสามารถทำงานได้เหมือนผู้คนอื่น ๆในเว็บไทยต่างๆ ได้พูดถึงอาหารและเครื่องดื่มแก้เมาค้าง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ “น้ำเปล่า เครื่องดื่มร้อนๆ น้ำหวาน น้ำอัดลม นมอุ่นๆ เครื่องดื่มวิตามิน เครื่องดื่มเกลือแร่ กาแฟเอสเพรสโซ่เข้มๆ ชาเขียว น้ำส้มคั้น น้ำผึ้งผสมมะนาว น้ำขิงอุ่น น้ำผึ้งมะนาวผสมขิง ชาโสม ชาสะระแหน่ผสมน้ำผึ้ง น้ำมะพร้าว น้ำอ้อยคั้นสด น้ำแตงกวาดอง นมช็อกโกแลตผสมชีสพาย น้ำสต๊อกปลา น้ำผักผลไม้สีเขียว น้ำผลไม้ผสมเกลือ สมูทตี้ผลไม้ สมูทตี้ขิงกับส้ม สมูทตี้แตงโมผสมแตงกวา สมุนไพร ได้แก่ น้ำเก๊กฮวย น้ำกระเจี๊ยบ ดอกคำฝอย ลูกใต้ใบ เปลือกต้นควินินแห้งต้มกับน้ำ ผงปลาไหลเผือกชงกับน้ำอุ่น ดอกประยงค์ ใบหรือรากรางจืด ถั่วแปบ บ๊วย  มัลเบอร์รี่ หอมแดง อาหารประเภทโปรตีน (เช่น ไข่ต้ม) ขนมปัง โจ๊ก ข้าวต้ม น้ำซุปใส ต้มยำน้ำใส ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ เกาเหลา ซุปมิโซะ แฮจังกุก ผลไม้รสเปรี้ยว ช็อกโกแลตแท่งหรือของหวานจัด ๆ” เป็นต้น เห็นได้ว่าสิ่งที่ถูกสรรหามาใช้แก้อาการเมาค้างนั้น ต่างคนต่างหา ได้ผลบ้างลักษณะที่เรียกว่า placebo effect) หรือไม่ได้เรื่องเลยนอกจากนี้ท่านผู้อ่านที่เข้าใจภาษาอังกฤษ สามารถหาข้อมูลจาก pinterest ซึ่งมีแผนภาพมากมายให้มั่วซั่วตาม โดยคุยว่าแก้เมาค้างได้ ซึ่งคงได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง เพราะผู้ให้ความรู้นั้นต่างมีคำจำกัดความของคำว่า เมาค้าง แบบต่างคนต่างเข้าใจอย่างไรก็ตามมีผู้ตระหนักความจริงในเรื่อง เมาค้าง กล่าวในเว็บภาษาอังกฤษหนึ่ง ที่ผู้เขียนไปพบว่า อาหารหรือเครื่องดื่มแก้เมาค้างอาจไม่มีจริง เพราะยังไม่มีใครพิสูจน์ได้จริงว่า อัลดีไฮด์ (aldehyde) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนเอ็ททานอล (แอลกอฮอล) ในเครื่องดื่มมึนเมาไปเป็น อะเซ็ตตัลดีไฮด์ (acetaldehyde ซึ่งเรียกง่ายๆ ว่า อัลดีไฮด์) ด้วยเอ็นซัม อัลกอฮอลดีไฮโดรจีเนส (alcoholdehydrogenase) นั้นคือ สาเหตุที่ทำให้เมาค้าง ที่พูดกันในตำรานั้นเป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น เนื่องจากอัลดีไฮด์นั้นมีความเป็นพิษสูงกว่าเอ็ททานอลหลายเท่า ดังนั้นการแก้อาการเมาค้างนั้นจึงเป็นไปได้ยาก        ผู้รู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพท่านหนึ่งในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า จริงแล้วอาการเมาค้างนั้นมีผลต่อเกือบทุกอวัยวะในร่างกาย ตั้งแต่ระบบทางเดินอาหาร ไปถึงระบบประสาท และไปถึงระบบที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ ดังนั้นจึงไม่มียาวิเศษหรืออาหารอะไรที่จะครอบจักรวาล บำบัดปัญหาที่อาจเกิดกับเกือบทุกอวัยวะในร่างกายเราได้พร้อมกัน        จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นข่าวร้ายสำหรับคอเหล้า ก็ยังมีข่าวที่อาจจะดี สำหรับผู้นิยมชมชอบในน้ำเมา เพราะมีข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ในอังกฤษที่เว็บไทยพาดหัวข่าวประมาณว่า เหล้าแห้งกำลังมาแรง        ผู้เขียนติดใจคำว่า เหล้าแห้ง ที่มีการพาดหัวข่าว ซึ่งเคยได้ยินมานานแล้วแต่ไม่ได้สนใจว่ามันคืออะไร ปรากฏว่าเมื่อเข้าไปถามอากู๋(google) ว่า เหล้าแห้งนั้นคืออะไร อากู๋ลุกขึ้นตอบทันใด เหล้าแห้งนั้นไซร้คือ ยาเสพติดชนิดหนึ่งประเภทกดประสาทสมอง เป็นยานอนหลับจําพวกบาร์บิทูเรต ซึ่งผลิตออกมาในรูปของโซเดียมเซโคบาร์บิทัล และเรียกกันสั้นๆ ว่า เซโคนัล และทางแพทย์ใช้เป็นยานอนหลับประเภทออกฤทธิ์ระยะสั้น ซึ่งปรากฏว่าเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉลาดซื้อฉบับนี้        ข่าวจากเมืองผู้ดีกล่าวว่า สิ่งที่จะมาช่วยให้ผู้ชอบใช้ช่วงหลังเลิกภารกิจในชีวิตประจำวันเป็นช่วงที่หลุดไปจากโลกแห่งความเป็นจริง(ภาษาอังกฤษใช้คำว่า high) สมใจนั้นเป็นเครื่องดื่มที่ชื่อว่า Alcosynth ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นมาโดยแพทย์ชาวอังกฤษชื่อ David Nutt         หมอ Nutt ได้อ้างว่าสาระสำคัญในเครื่องดื่มนี้ ไม่ส่งผลต่อตับหรือหลอดเลือดหัวใจในแบบแอลกอฮอล์ธรรมชาติ(ขอให้ฟังหูไว้หู) แต่สามารถทำให้ เมา ขาดสติสัมปชัญญะ ไม่รู้ผิดชอบชั่วดี โดยไม่เกิดอาการเมาค้างในตอนเช้า หนังสือพิมพ์ในอังกฤษจึงได้ประโคมเป็นข่าวใหญ่ของปี 2018 เนื่องจากการดื่มเพื่อให้เมานั้นเป็นชีวิตจิตใจของคนอังกฤษที่มีข้อมูลว่า การดื่มเหล้าเป็นสาเหตุลำดับที่สาม ที่ทำให้คนอังกฤษตายในแต่ละปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 การตกค้างของยาปฏิชีวนะในอกไก่และตับไก่สด

ปัญหาเชื้อดื้อยาในระบบอาหารของโลก โยงไปถึงปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความห่วงใย มีงานศึกษาวิจัย ลักษณะต่างๆ  เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้งการประกาศนโยบาย ยุทธศาสตร์ ในระดับต่าง ๆ ทั้งระดับนานาชาติและระดับประเทศ ในเรื่องอาหาร และการตกค้างยาปฏิชีวนะ เกี่ยวข้องกับสิทธิผู้บริโภคในอย่างน้อยสามประเด็น เรื่องข้อมูลในการเลือกหา  เรื่องความปลอดภัย และเรื่องบริโภคศึกษา ดังนั้นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการประกันความปลอดภัย ด้วยการเฝ้าระวัง ตรวจตรา และกระจายข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเพื่อการตัดสินใจเลือกหาและใช้สินค้า จึงเป็นเรื่องสำคัญมากฉลาดซื้อ และโครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างอกไก่และตับไก่สด เพื่อตรวจสอบสถานการณ์การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์อีกครั้ง (ปี 2559ตรวจในฟาสต์ฟู้ด 2560 ตรวจในเนื้อหมูดิบ) โดยความร่วมมือจากเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ออกสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างสรรพสินค้า ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2561 จำนวนทั้งสิ้น 62 ตัวอย่าง แบ่งเป็นอกไก่สด จำนวน 32 ตัวอย่าง และตับไก่สด จำนวน 30 ตัวอย่าง นำมาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด จาก 3 กลุ่ม ดังนี้ผลการตรวจวิเคราะห์ ผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด (ใน 3 กลุ่ม) จากตัวอย่างทั้งหมด 62 ตัวอย่าง พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 26 ตัวอย่าง (คิดเป็นร้อยละ 41.93) แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 คือ Enrofloxacin หรือ Endrofloxacin (เอนโรฟลอคซาซิน) 5 ตัวอย่าง และ Doxycycline (ด็อกซีไซคลิน) 21 ตัวอย่าง โดยตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะกลุ่มที่ 3 ชนิด Amoxicillin (อะม็อกซีซิลลิน) ส่วนอีก 36 ตัวอย่าง นั้น ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะทั้งสามกลุ่ม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้างตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดให้พบปริมาณการตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit, MRL) ของยาในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) ในสัตว์ปีก เช่น นก ไก่ ไก่งวง เป็ด ห่าน ไก่ต๊อก ในส่วนของกล้ามเนื้อ ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และ ในส่วนของตับไม่เกิน 600 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมจากผลตรวจวิเคราะห์พบ ยาเอนโรฟลอคซาซิน (Enrolfloxacin) จำนวน  5 ตัวอย่าง ซึ่งไม่ได้เป็นรายการยาในบัญชีแนบท้ายประกาศ ซึ่ง อย. อนุญาตให้ใช้ยานี้ได้ แต่ต้องไม่พบการตกค้างเลย โดยมีความผิดตามมาตรา 60 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 โทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท  และพบว่า ไม่มีตัวอย่างใดที่พบปริมาณยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Tetracycline (เตตราไซคลีน) เกินเกณฑ์มาตรฐานตามที่ประกาศกำหนด ข้อเสนอเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 5 ข้อ 1. ผู้บริโภคไม่ต้องการอาหารที่มีการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เพราะการเกิดเชื้อดื้อยาเกิดได้ทั้งปริมาณการตกค้างทั้งน้อยและมาก 2. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ต้องปรับปรุงมาตรฐานการตกค้างให้ยอมรับได้น้อยที่สุด 3. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องบังคับใช้แผนปฏิบัติการในการลดการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์ม 4. สำนักงานงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมปศุสัตว์ จะต้องเข้มงวด และติดตามการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ให้ตกค้างเกินมาตรฐานที่กำหนด รวมถึงเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; line-height: 120% } 5. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการจัดการเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ และร้านค้าต่างๆ ควรตรวจสอบที่มาของอาหารก่อนนำเข้ามาจำหน่าย อีกทั้งในส่วนของร้านค้าในตลาด ทาง มพบ. จะทำหนังสือไปถึงสมาคมตลาดสดไทยเพื่อให้ตรวจสอบและเฝ้าระวังด้วย--------------------------------------------------------------------------------------------------------------ยาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อไก่ ผู้บริโภคมีสิทธิรู้ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้อง จริงจังและจริงใจโดย นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกไก่ทั่วโลก เป็นลำดับสี่ ในห้าประเทศ นอกจากนี้มี บราซิล สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน เมื่อกลับมาดูสถานการณ์ในประเทศ ก็น่าสนใจว่า สิทธิผู้บริโภคมีการปกป้องเพียงใดผลการสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สำหรับปี พ.ศ. 2561 นี้ พบยาปฏิชีวนะตกค้างในไก่สดและตับ (โดยตรวจยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด คือ Enrolfloxacin, Doxycycline, Amoxycillin ) พบยาปฏิชีวนะ 2 ชนิดแรก  แม้ปริมาณที่ตรวจพบจะไม่เกินปริมาณที่กำหนดตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550   เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง มีการระบุขนาดต่าง ๆ ของยาปฏิชีวนะที่ยอมรับให้มีในไก่ หรือสัตว์ปีกจำนวน 16 รายการ เช่น Oxytetracycline มีได้ในเนื้อไก่ไม่เกิน200 ug/kg ในตับไม่เกิน 600 ug/kg แต่จากผลการศึกษาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับพบมีการใช้ยานอกเหนือจากรายการที่ระบุประกาศ เช่น Enrolfloxacin มีข้อน่าสังเกต จากผลการสำรวจดังกล่าว ที่ควรได้วิเคราะห์ และทบทวนไปสู่ข้อเสนอต่อไป1. การสำรวจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ของการตกค้างยาปฏิชีวนะ เป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรผู้บริโภคในเรื่องการตรวจสอบ และสะท้อนการจัดการ  รวมครั้งนี้มี 3 ครั้ง  (1) ตัวอย่างอาหารฟาสต์ฟู้ดสำเร็จรูป จากร้านอาหารชนิดมีสาขามาก (ฉลาดซื้อ ตุลาคม 2559) (2) ตัวอย่างเนื้อหมูสด (ฉลาดซื้อ มีนาคม 2560) และ ในครั้งนี้ สำรวจในตัวอย่างเนื้อไก่สดและตับ (รวม 62 ตัวอย่าง)  ผลคือพบการตกค้างยาปฏิชีวนะจำนวน 26 ตัวอย่าง (41.98%) แม้จะไม่เกินปริมาณที่กำหนด แต่แสดงว่ามีการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในวงจรอาหาร เป็นไปได้ว่ามีการใช้ในฟาร์ม ในการเลี้ยงไก่ (ผสมอาหาร ผสมน้ำ เป็นยาฉีด) และอาจรวมถึงการปนเปื้อนในวงจรอาหารส่วนที่เหลือ เช่น โรงเชือด การชำแหละ หรือตลาด   2. รายการยาที่ทำการตรวจครั้งนี้มี จำนวน 3 รายการ ยังพบว่ามียาที่อยู่นอกเหนือจากรายการยาที่ประกาศขนาดที่ยินยอมให้มีตกค้าง อาจเป็นไปได้ว่ามีการลักลอบใช้โดยไม่อนุญาต หรือกระทรวงได้มีการประกาศรายการเพิ่มเติมอีก แต่ยังไม่เห็น และพบว่ามีการอ้างอิงประกาศฉบับนี้ในการแถลงข่าวของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี พ.ศ. 2560 3. การสำรวจครั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่ได้ตรวจหา colistin เป็นที่น่าเสียดาย เพราะมีงานวิจัย พบว่ามีการใช้ ยาตัวนี้ในการเลี้ยงไก่ในประเทศไทยด้วย (อ้างอิง1)  โดยรายการยาปฏิชีวนะที่พบใช้ในฟาร์มไก่ คือ  amoxicillin, colistin, oxytetracycline, doxycycline และ  tilmicosin.  การศึกษาที่เชียงใหม่(อ้างอิง2)   พบใช้ Enrolfloxacin และ Sulfadimethoxin ในฟาร์มไก่ไข่ ส่วนในต่างประเทศ มีงานวิจัยระบุการตกค้างยาปฏิชีวนะหลายชนิดในเนื้อไก่ในบังคลาเทศ(อ้างอิง3)   ส่วนในเวียดนาม(อ้างอิง4)   ได้ศึกษาทั้งชนิดยา และยีนการดื้อยาด้วย4. งานศึกษานี้ยังไม่มีการสำรวจ เรื่องการตกค้างของเชื้อดื้อยา ซึ่งมีงานวิจัยในไทย เมื่อ พ.ศ. 2555(อ้างอิง5)   สำรวจเนื้อไก่ในซูเปอร์มาร์เก็ต พบมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน มียีนเชื้อดื้อยาจากเชื้อจุลินทรีย์บางชนิดที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายชนิด และต่อมามีงานวิจัยมากมายที่ศึกษายีนดื้อยาชนิดต่าง ๆ รวมทั้งชนิดรุนแรง (เช่น MCR-1) จากเนื้อไก่ ในประเทศจีน(อ้างอิง6-7)  -   เนเธอร์แลนด์(อ้างอิง8)    สิงคโปร์(อ้างอิง9)    เป็นต้น5. ภาครัฐควรได้ทำการเฝ้าระวังตรวจการตกค้างของยาปฏิชีวนะในฟาร์ม โรงเชือด ไก่สด หรือในอาหารสำเร็จรูปและแจ้งผลการสำรวจให้ประชาชนทราบอย่างกว้างขวาง และกระทำอย่างสม่ำเสมอ แต่ผลการค้นหาทางอินเตอร์เน็ต พบว่ารายงานจากภาครัฐถึงการ ให้ผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลให้ค้นคว้าได้ง่าย ๆ มีไม่มากนัก ล่าสุดที่ค้นหาได้จาก ทางอินเตอร์เน็ต คือ ผลการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปีพ.ศ. 2560 (อ้างอิง10)    ไม่มีรายละเอียดมากนัก มีเพียงระบุว่าจากการสุ่ม 105 ตัวอย่าง ใน 12 จังหวัด ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ไม่พบการตกค้างของยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อไก่และเนื้อวัวทุกตัวอย่าง แต่ตรวจพบการตกค้างของยาต้านจุลชีพเกินมาตรฐานเพียง 1 ตัวอย่าง ในเนื้อหมู ซึ่งผลการสำรวจในไก่นั้น ไม่สอดคล้องกับผลที่ทางมูลนิธิ ตรวจพบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในตัวอย่างถึงเกือบครึ่ง6. เป็นประเด็นคำถาม ว่าควรอนุญาตให้มียาปฏิชีวนะตกค้างในเนื้อสัตว์ที่นำมาทำเป็นอาหารหรือไม่ ในมุมมองผู้บริโภค ย่อมไม่ต้องการให้มีการตกค้าง แต่ระบบควบคุมจะจัดการได้อย่างไร แม้จะมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (อ้างอิง11)   ห้ามใช้ยาต้านจุลชีพทุกชนิดผสมลงในอาหารสัตว์ในวัตถุประสงค์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้อาหารสัตว์. โดยยังอนุญาตให้ใช้เพื่อป้องกัน และรักษาอาการป่วย (ใช่หรือไม่) แต่ผลการติดตามการบังคับใช้ให้เป็นไปตามกติกานั้นคงต้องมีความเข้มงวด ต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับการนำเข้าสารเคมีจนถึงการใช้ในฟาร์ม และติดตามการตกค้างในอาหารสดที่ตลาด พร้อมการดำเนินการจัดการตามหน้าที่ เพื่อนำมาเปิดเผยให้ผู้บริโภคได้ทราบ อย่างสม่ำเสมอ7. ควรอนุญาตให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการผสมในอาหารสัตว์หรือไม่  ห้ามทั้งหมด หรือห้ามบางรายการ เป็นอะไรบ้าง เพียงใด และอย่างไร มีงานวิจัยที่รองรับมาตรฐานอย่างไรบ้างในการประกาศ ทั้งนี้คำศัพท์ ที่ผู้บริโภคควรรู้จัก  Chicken with antibiotic free (ตรวจไม่พบยาปฏิชีวนะในตัวอย่าง) หรือ raise without antibiotics  (เลี้ยงสัตว์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นเมื่อป่วย ต้องแยกคอก) คำแถลงจาก อธิบดี กรมปศุสัตว์(อ้างอิง12)  “กรมปศุสัตว์มุ่งพัฒนาการผลิตเนื้อสัตว์เพื่อยกระดับมาตรฐานให้สูงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการควบคุม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังยาหรือสารตกค้างในเนื้อสัตว์อย่างเข้มงวดที่สอดคล้องกับมาตรฐานโลก และมีมาตรการลงโทษตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องหากมีการตรวจพบ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่ รายกลาง และเกษตรกรรายย่อย ได้ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ว่าได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัยจากยาและสารตกค้าง สามารถสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิต”8. ผลกระทบของยาปฏิชีวนะนั้นรุนแรงมาก เกิดผลเสียต่อสุขภาพ แม้จะใช้ปริมาณไม่มาก  การดื้อยา การแพ้ยา เป็นความห่วงใยแรก นอกจากนี้เด็กเล็กถ้าได้รับยาปฏิชีวนะในขณะช่วงอายุแรก ๆ ยิ่งถ้าได้รับบ่อย จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วน(อ้างอิง13)  ปัญหาคือ ผู้บริโภคจะทราบได้อย่างไรว่าอาหารที่เรารับประทานนั้นมีการตกค้างของยาปฏิชีวนะหรือยีนเชื้อดื้อยาหรือไม่    Sir Alexander Fleming ได้บรรยายเมื่อรับรางวัลโนเบล(อ้างอิง14)   ถึงความห่วงใยการดื้อยา ว่า “ I would like to sound one note of warning. Penicillin is to all intents and purposes non-poisonous so there is no need to worry about giving an overdose and poisoning the patient. There may be a danger, though, in underdosage. It is not difficult to make microbes resistant to penicillin in the laboratory by exposing them to concentrations not sufficient to kill them, and the same thing has occasionally happened in the body ”  9. แนวทางการดำเนินงานโรงพยาบาลอาหารปลอดภัย ในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข  นั้นเป็นเรื่องที่ดี จะติดตามเรื่องการตกค้างยาปฏิชีวนะ หรือยีนเชื้อดื้อยาในวัตถุดิบได้อย่างไร  หากประกันคุณภาพได้ รัฐบาลควรจะได้ขยายแนวคิดอาหารปลอดภัยให้ครอบคลุมทุกท้องที่ และให้ประชาชนในประเทศไทยทุกคนได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากนโยบายนี้10. ไทยมียุทธศาสตร์การจัดการดื้อยาต้านจุลชีพ ประเทศไทย พ.ศ.2560-2564.  โดยทำแผนปฏิบัติการแล้ว ทั้งนี้ยุทธศาสตร์มีพัฒนาการมาจากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8  คงต้องมีการติดตามผลงานที่เกี่ยวข้องที่ใกล้ตัวผู้บริโภค ทั้งเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากโรงพยาบาล ในลักษณะสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) อย่างจริงจัง----------------------------------------------------------------------------------------(อ้างอิง1)  Wongsuwan G, et al (2017) Antibiotic use in poultry: a survey of eight farms in Thailand.  Bull World Health Organ  96(2): 94–100.(อ้างอิง2)  ณัฐธิดา สุขสาย และคณะ (2559) การใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มปศุสัตว์ : กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ . วารสารเภสัชกรรมไทย 8(2): 282-294.(อ้างอิง3) Sarker YA, et al (2018) Screening of antibiotic residues in chicken meat in Bangladesh by Thin Layer Chromatography.   J Adv Vet & Animal Res 5(2): 140-145.(อ้างอิง4)  Nguyen TH, et al (2018) Antimicrobial residue and resistance against critically important antimicrobials in non-typhoidal Salmonella from meat sold at wet-markets and supermarkets in Vietnam. Int J Food Microbiol 266:301-309.(อ้างอิง5) Chaisatit C, et al (2012) Molecular Characterization of Antibiotic-Resistant Bacteria in Contaminated Chicken Meat Sold at Supermarkets in Bangkok, Thailand.  Jpn. J. Infect. Dis., 65, 527-534. (อ้างอิง6)Hang J, et al (2018) Molecular detection of colistin resistance genes (mcr-1, mcr-2 and mcr-3) in nasal/oropharyngeal and anal/cloacal swabs from pigs and poultry.  Sci Rep. 8: 3705.(อ้างอิง7)Liu J, et al (2018)  Isolation of an IncP-1 plasmid harbouring mcr-1 from a chicken isolate of Citrobacter braakii in China. Int J Antimicrob Agents. 51(6):936-940.  (อ้างอิง8) Schrauwen EJA, et al (2017) High prevalence of the mcr-1 gene in retail chicken meat in the Netherlands in 2015. Antimicrob Resist Infect Control. 6: 83.(อ้างอิง9) Zwi YH, et al (2018) Prevalence, sequence types, antibiotic resistance and, gyrA mutations of Salmonella isolated from retail fresh chicken meat in Singapore.  Food Control 90: 233-240.(อ้างอิง10)  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เฝ้าระวังยาต้านจุลชีพตกค้างในเนื้อสัตว์ 27  ก.ค. 2560   (accessed July 2018)http://www3.dmsc.moph.go.th/post-view/136 (อ้างอิง11) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เรื่องกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด ลักษณะ หรือคุณสมบัติของวัตถุที่ห้ามใช้ผสมในอาหารสัตว์  พ.ศ. 2558  (อ้างอิง12) กรมปศุสัตว์ระวังยาปฎิชีวนะตกค้าง ในเนื้อสัตว์ตามมาตรฐานสากล (accessed July 2018) http://certify.dld.go.th/certify/index.php/th/2016-04-30-03-59-03/2016-05-01-02-55-53/476-2016-11-21-03-29-40 (อ้างอิง13) Rasmussen SH, et al (2018) Antibiotic exposure in early life and childhood overweight and obesity: A systematic review and meta-analysis. Diabetes, Obesity, and Metabolism  20: 1508-1514.(อ้างอิง14) AL E X A N D E R F L E M I N G (1945) Penicillin Nobel Lecture, December 11, 1945https://www.nobelprize.org/nobel_prizes/medicine/laureates/1945/fleming-lecture.pdf  @page { margin: 0.79in } p { margin-bottom: 0.1in; direction: ltr; line-height: 120%; text-align: left; orphans: 2; widows: 2 } a:link { color: #0563c1 }

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 เนื้อหมูกับการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

เมื่อปีที่แล้ว เรารายงานไว้ในนิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 188 ตุลาคม 2559 ว่าพบ การตกค้างของยาปฏิชีวนะ 1 ตัวอย่าง คือ เมนูแซนวิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน โดยพบ Doxycycline ในกลุ่มยา Tetracycline ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม(ug/kg)  จากการสุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 18 ตัวอย่าง ภายหลังการแถลงข่าวของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและฉลาดซื้อ ทางตัวแทนของซับเวย์ได้ติดต่อขอรายละเอียดและเมื่อได้พิจารณาผลการทดสอบของทางฉลาดซื้อแล้ว ได้ชี้แจงกลับมาว่า จะปรับปรุงเรื่องซับพลายเออ ซึ่งทางซับเวย์ในประเทศไทยใช้ซับพลายเออในประเทศ อีกทั้งยังให้คำมั่นว่า ประเทศไทยจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ทางซับเวย์จะวางนโยบายเลิกใช้เนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ  ต่อมาในเดือนมกราคม 2560 มีการทำข่าวเชิงลึกโดย หนังสือพิมพ์คมชัดลึก เรื่อง อันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มหมู โดยเฉพาะยา โคลิสติน ซึ่งเป็นยาต้านแบคทีเรียในลำดับสุดท้ายที่โลกมีอยู่ในฟาร์มหมูอย่างไม่เหมาะสมและในปริมาณที่มากจนน่าเป็นห่วง เนื่องจากมีรายงานจากประเทศจีนว่า การเลี้ยงหมูด้วยยาโคลิตินเป็นสาเหตุให้เกิดยีนดื้อยาที่เรียกว่า mcr-1   ซึ่งจะทำให้ยาโคลิสตินหมดประสิทธิภาพในการต้านหรือฆ่าเชื้อ หมายถึงเราจะไม่มียาสำหรับการฆ่าเชื้อแบคทีเรียอีกต่อไป ดังนั้นฉลาดซื้อจึงไม่ได้นิ่งนอนใจ เราขออาสาไปตรวจสอบเนื้อหมูสดในตลาดอีกรอบ โดยเก็บตัวอย่างเนื้อหมูสันในจากตลาดสด 6 แห่งใน กรุงเทพฯ ห้างค้าปลีก 8 แห่ง และสั่งซื้อออนไลน์ 1 แห่ง รวม 15 ตัวอย่าง เพื่อตรวจหายาปฏิชีวนะตกค้าง 5 ชนิด โดยห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ผลการทดสอบพบ 2 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 13.3 มีการตกค้างของยา คลอร์เททระไซคลีน (Chlortetracycline) ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย โดยปริมาณที่พบ คือ 20.28 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(ug/kg)   ในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดใหม่บางแค และ 42.57 ไมโครกรัม/กิโลกรัม(ug/kg)   และในตัวอย่างเนื้อหมูจากตลาดยิ่งเจริญ  ถึงแม้จะไม่เกินมาตรฐานที่ทางกระทรวงสาธารณสุขกำหนด แต่ในทางวิชาการแล้ว ปริมาณไม่ใช่สิ่งสำคัญเพียงพบว่ามีการตกค้าง ก็อาจหมายถึงสาเหตุหนึ่งของการเกิดเชื้อดื้อยาได้เช่นกัน ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง เพื่อใช้ควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ ข้อมูลตามบัญชีแนบท้ายของประกาศฉบับนี้ กำหนดให้พบการตกค้างของยาในกลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) ในเนื้อหมู(กล้ามเนื้อ) สูงสุดได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อ 1 กิโลกรัม---------------------------------------------------------รู้หรือไม่ว่า ในอาหารที่เรากิน เราอาจเจอได้ทั้ง ยาปฏิชีวนะ เชื้อโรคที่ดื้อยา และยีนของเชื้อที่ดื้อยา ตัวหลังนี้สำคัญเพราะมันข้ามสายพันธุ์กันได้ในหมู่เชื้อ ทำให้เชื้อโรคต่างก็พากันดื้อยา สถานการณ์ปัจจุบันพบว่า มียีนที่เรียกว่า mcr-1   เกิดขึ้นแล้วพบในจีน อเมริกา อินเดีย หรือในประเทศไทยอย่างน้อยก็มีรายงานว่าพบแล้วสามคน ที่มียีนดื้อยาอยู่ในร่างกาย ยีนตัวนี้สำคัญอย่างไร ยีนดื้อยาตัวนี้ มันไม่กลัวยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะตัวที่แรงสุดในปัจจุบันคือ ยาโคลิสติน เรียกว่า ถ้ายานี้เอาเชื้อโรคไม่อยู่แล้วก็หมดยาที่จะใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 โดนยึดบ้านไม่รู้ตัว

การตกลงซื้ออะไรก็ตาม หากเราต้องผ่อนชำระเป็นงวดๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การชำระให้ตรงตามกำหนดเวลา เพราะหากเราผิดนัดติดๆ กันหลายงวด อาจทำให้เสียเครดิตหรือถูกยึดสิ่งของนั้นคืนไปไม่รู้ตัวได้ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณสมชายซื้อบ้านเอื้ออาทร ของการเคหะแห่งชาติและตกลงชำระค่างวดๆ ละ 2,500 บาท โดยให้ตัดยอดผ่านบัญชีธนาคารในวันที่ 11 ของทุกเดือน อย่างไรก็ตามเมื่อครบกำหนดชำระของเดือนที่ผ่านมา กลับพบว่าไม่มีการตัดยอดค่างวดดังกล่าว คุณสมชายจึงตัดสินใจไปชำระเงินกับธนาคาร เพราะคิดว่าอาจเกิดจากความผิดพลาดของระบบ แต่ธนาคารกลับปฏิเสธการชำระเงิน โดยแจ้งว่า ทางการเคหะได้ซื้อบ้านของเขาคืนไปแล้ว ซึ่งหากเขาต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถไปติดต่อกับทางการเคหะแห่งชาติด้วยตนเองภายหลังพูดคุยกับการเคหะแห่งชาติก็ได้รับคำยืนยันว่า บ้านของเขาถูกซื้อคืนไปจริง เนื่องจากคุณสมชายผิดนัดชำระค่างวดติดต่อกันหลายเดือน ซึ่งหากต้องการบ้านคืนจริงๆ สามารถทำได้โดยการทำสัญญาใหม่ พร้อมเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 20,000 บาทสำหรับการทำสัญญาใหม่ คุณสมชายมีข้อสังเกตซึ่งได้ชี้แจงกับการเคหะฯ ว่า เขาไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองผิดนัดชำระค่างวด เนื่องจากสั่งตัดยอดจากบัญชีธนาคารทุกเดือน ทางการเคหะฯ จึงแนะนำให้เขาโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดการชำระเงินกับธนาคาร เพื่อหาหลักฐานมายืนยันเมื่อคุณสมชายติดต่อไปยังธนาคารเพื่อขอข้อมูลการชำระเงินค่างวดย้อนหลังก็พบว่า ตั้งแต่ตกลงผ่อนชำระค่างวดบ้านมา 7 เดือน มีบางเดือนติดกันที่ธนาคารไม่สามารถตัดยอดชำระได้ เนื่องจากเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ทำให้เกิดยอดค้างชำระและดอกเบี้ยสะสม รวมเป็นเงินเกือบ 2,000 บาท ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางการเคหะซื้อบ้านคืนไป เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้คุณสมชายจึงรู้สึกว่า ไม่เป็นธรรมนัก เนื่องจากที่ผ่านมาเขาไม่ทราบเลยว่า ตนเองผิดนัดชำระค่างวด เพราะธนาคารไม่เคยส่งหนังสือหรือเอกสารแจ้งเตือนให้ไปชำระยอดที่ค้างอยู่ รวมทั้งทางการเคหะก็ไม่ได้แจ้งรายละเอียดใดๆ ก่อนซื้อบ้านคืนไป จึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ดำเนินการช่วยผู้ร้องโดยทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ, กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และหัวหน้าสำนักงานเคหะนนทบุรี 1 เพื่อเชิญมาเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยผู้ร้องต้องการบ้านคืนและใช้สัญญาในเงื่อนไขเดิม คือ ชำระค่างวดที่ค้างอยู่พร้อมชำระค่าเสียหายวันละ 100 บาท แต่ไม่ขอเสียค่าใช้จ่ายสำหรับกรณีซื้อบ้านคืนและทำสัญญาใหม่จำนวน 20,000 บาท ซึ่งภายหลังการเจรจาทางธนาคารได้ยินยอมข้อเสนอดังกล่าว เป็นอันว่าจบกันไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม ฝากเป็นข้อเตือนใจสำหรับทุกท่าน หากว่าท่านได้ทำสัญญาการผ่อนชำระเงินค่างวดใดๆ ท่านควรตรวจสอบสถานะทางบัญชีว่ามีเพียงพอในการจ่ายค่างวดในสินค้าหรือบริการที่ได้ตกลงทำสัญญาไว้หรือไม่ และควรมีเอกสารการรับเงินจากคู่สัญญาที่ท่านได้ทำไว้ เพื่อเป็นหลักฐานไว้ใช้ในการดำเนินการใดๆ หากเกิดปัญหาไม่คาดคิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 บอกเลิก (บริการโทรคมนาคม) อย่างไรให้ได้ผล (ตอนที่ 3)

บริการโทรคมนาคม มือถือ อินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ สมัครง่ายแต่เลิกยาก เพราะทุกบริษัทมัวแต่แข่งกัน หาลูกค้า จนอาจลืมใส่ใจพัฒนาคุณภาพบริการให้เพียงพอกับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น หลายคนอยากยกเลิกบริการที่ใช้อยู่ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะบริษัทจะมีข้ออ้างสารพัดที่จะปฏิเสธ ไม่ให้เรายกเลิกบริการได้ง่าย ๆ ซึ่งผมได้แนะนำวิธีรับมือไว้ 2 ตอนแล้ว สรุปสั้น ๆ อีกครั้ง ก็คือ คุณสามารถยกเลิกบริการโทรคมนาคมได้ โดยการทำหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร แจ้งให้บริษัทรับรู้ จะส่งจดหมาย แฟกซ์ หรือ อีเมล์ ก็ได้ทั้งนั้น แค่แจ้งแล้วจบเลย สำหรับคนที่ใช้แบบรายเดือน (Post Paid) เมื่อจะยกเลิกบริการ จะมีประเด็นเรื่องการคิดค่าบริการเดือนสุดท้ายที่ต้องดูให้ดี เพราะรายการส่งเสริมการขายทุกวันนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นแพ็คเกจแบบเหมาจ่ายรายเดือน เช่น จ่าย 540 บาท โทรฟรีได้ 550 นาที และเล่นเน็ตได้ไม่อั้น ค่าโทรส่วนเกินคิดนาทีละ 1.50 บาท ถ้าคุณจะยกเลิกบริการในระหว่างที่ยังไม่ครบรอบบิล คำถามคือ คุณจะต้องจ่ายค่าบริการเต็มจำนวนไหม โดยหลักทั่วไป คำตอบ คือ จ่ายตามสัดส่วนการใช้งานจริง ไม่ต้องจ่ายเต็มแพ็คเกจ เช่น ถ้ายกเลิกบริการตอนครึ่งเดือน ก็จ่ายแค่ครึ่งเดียว 270 บาท แต่ในชีวิตจริง มันอาจจะไม่ง่ายอย่างนั้น เพราะมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากเสียเปรียบบริษัท พอรู้ว่าจะกลางเดือนนี้จะยกเลิกบริการ ก็เลยใช้สิทธิโทรเต็มที่ โทรไป 540 นาที แต่ปรากฏว่าโดนบริษัทคิดค่าบริการเพิ่ม โดยอ้างว่าใช้บริการครึ่งเดือน บริษัทก็ลดค่าบริการให้ครึ่งหนึ่งแล้ว แต่สิทธิในการใช้บริการโทรฟรีก็ต้องลดลงครึ่งหนึ่งเช่นกัน จึงเหลือสิทธิโทรฟรีแค่ 275 นาที ดังนั้น ส่วนที่เกินไป 265 นาที จะต้องจ่ายในอัตรานาทีละ 1.50 บาท ต้องจ่ายเพิ่มอีก 397.50 บาทสรุปว่า ลูกค้าใช้แพ็คเกจ 540 บาท/เดือน แต่พอยกเลิกบริการระหว่างรอบบิล กลายเป็นว่าต้องจ่ายเงิน 667.50 บาท ซึ่งแพงกว่าแพ็คเกจที่ใช้งานเต็มเดือนซะอีก งานนี้จึงมีการร้องเรียนว่าบริษัทคิดค่าบริการเกิน เขาควรจ่ายแค่ 270 บาทเท่านั้น เพราะยังโทรไม่เกินแพ็คเกจเลย ซึ่งบริษัทก็โต้แย้งว่า ถ้าจ่ายค่าบริการแค่ครึ่งเดียวแต่ใช้สิทธิเต็มที่ขนาดนี้เขาก็เสียเปรียบเหมือนกันตัวอย่างที่ยกมานี้ เป็นเรื่องจริงนะครับ ซึ่งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้ว่า บริษัทมีสิทธิปรับลดระยะเวลาการโทรฟรี และคิดค่าบริการแบบเฉลี่ยตามสัดส่วนวันที่มีการใช้งานจริง (คือ มีสิทธิคิดค่าบริการแค่ 270 บาท และลดสิทธิโทรฟรีเหลือแค่ 275 นาที) แต่ในกรณีนี้ บริษัทจะคิดค่าบริการในส่วนที่เกินจากสิทธิโทรฟรีโดยเฉลี่ยในอัตรา 1.50 บาท/นาที ไม่ได้ เพราะผู้ร้องเรียนมิได้ใช้สิทธิโทรฟรีเกินจากแพ็คเกจ (ผู้ร้องเรียนใช้โทรศัพท์ไป 540 นาที เกินจากสิทธิโดยเฉลี่ยไป 265 นาที แต่ไม่เกินสิทธิตามแพ็คเกจทั้งหมด 550 นาที) ค่าโทรในส่วนที่เกินสิทธิการใช้งานโดยเฉลี่ย จะต้องคิดในอัตราค่าบริการที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย คือ คิดตามราคาที่แท้จริงของบริการที่มีการใช้งาน สำหรับแพ็คเกจที่รวมทั้งค่าโทรและค่าเน็ตไว้ด้วยกัน ก็ต้องแยกแยะว่าค่าบริการแต่ละประเภท คิดอัตราเท่าไร ซึ่งอาจจะซับซ้อนหน่อยแต่สามารถทำได้ครับ โดยสรุป ตามตัวอย่างที่ยกมา อัตราค่าโทรในแพ็คเกจจะอยู่ที่ประมาณ 0.23 /นาที ดังนั้นส่วนที่เกินมาจากสิทธิโดยเฉลี่ย 265 นาที จะต้องคิดในอัตรานาทีละ 0.23 บาท ซึ่งเป็นเงินแค่ 60.95 บาท สรุปว่า ผู้บริโภคต้องจ่าย 270 + 60.95 = 330.95 บาท แต่บริษัทคิดเงินไป 667.50 บาท ก็ต้องคืนส่วนต่างให้ผู้บริโภคส่วนใครที่ใช้บริการแบบเติมเงิน (Pre Paid) เมื่อยกเลิกบริการก็จะไม่ต้องวุ่นวายกับการคิดคำนวณค่าบริการเดือนสุดท้าย แต่อย่าลืมตรวจสอบว่ามีเงินคงเหลือในระบบหรือไม่ ซึ่งถ้ามีเงินเหลือ คุณสามารถขอคืนจากผู้ให้บริการได้นะครับ เพราะเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองไว้ ในข้อ 34 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 “เมื่อสัญญาเลิกกัน ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องคืนเงินนั้นให้แก่ผู้ใช้บริการ ในการคืนเงินดังกล่าว เมื่อผู้ให้บริการได้ตรวจสอบหลักฐานแล้วว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับผู้ใช้บริการหรือเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้ใช้บริการอย่างถูกต้องแล้ว ให้ผู้ให้บริการคืนเงินภายในสามสิบวันนับแต่วันเลิกสัญญาทั้งนี้ การคืนเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการ อาจคืนด้วยเงินสด เช็ค หรือนำเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ใช้บริการ หรือตามวิธีการที่ผู้ใช้บริการได้แจ้งความประสงค์ไว้ กรณีผู้ให้บริการไม่สามารถคืนเงินค้างชำระให้แก่ผู้ใช้บริการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดผู้ให้บริการจะต้องชำระค่าเสียประโยชน์ในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ให้บริการคิดจากผู้ใช้บริการกรณีผู้ใช้บริการผิดนัดไม่ชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการแก่ผู้ให้บริการ แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิผู้ใช้บริการที่จะเรียกค่าเสียหายอย่างอื่น” ก็เป็นอันว่า ถ้าทำตามคำแนะนำทั้ง 3 ตอนที่ผ่านมา ก็รับรองว่า ท่านผู้อ่านจะสามารถยกเลิกบริการโทรคมนาคมได้แบบ Happy Ending แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 เทรนด์ใหม่มาแรง..แย่งอาหารจิ้งหรีด

จำได้ว่าสมัยเด็กๆ  ผมเคยได้ยินผู้ใหญ่บอกว่า ถ้าอยากเสียงดี ต้องไปกินน้ำค้างที่ยอดหญ้าเหมือนจิ้งหรีด ตอนนั้นยังขำๆ กับคำพูดนี้  จนปัจจุบัน ได้มาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค  มิคาดว่าเรื่องเล่าขานตำนานน้ำค้าง มันจะกลายมาเป็นจริง เพราะเดี๋ยวนี้มีผลิตภัณฑ์จำหน่าย โดยแจ้งว่าเป็น น้ำค้างเพื่อสุขภาพ นี่เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร? ผลิตภัณฑ์ที่ผมกำลังพูดถึง มีการประกาศขาย โดยให้สั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ต ระบุว่าเป็น  “น้ำค้างบริสุทธิ์แท้” ที่รวบรวมน้ำค้างจากธรรมชาติ โดยใช้อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมา เพื่อใช้จับน้ำค้างโดยเฉพาะ  ทำให้ได้น้ำค้างที่มีความบริสุทธิ์และมีคุณสมบัติเทียบเท่ากับน้ำค้างที่เกาะบนใบหญ้า 100%  จึงอุดมไปด้วยออกซิเจนจากธรรมชาติ และมีโครงสร้างโมเลกุลขนาดเล็กที่เรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ  เสมือนน้ำที่บริสุทธิ์ที่สุดในธรรมชาติ ไหนๆ ก็พร่ำพรรณนากระบวนการผลิตมาขนาดนี้แล้ว เรื่องสรรพคุณคงไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนแล้ว เพราะเล่นบรรยายจะเคลิบเคลิ้มไปเลย.. ขายเด่นๆ ที่อ้าง คือการเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้กับอวัยวะต่างๆ และเกิดผลได้อย่างมหัศจรรย์ เช่น  เพิ่มให้กับสมอง(ทำให้สมองปลอดโปร่ง คลายเครียด ความจำดี และมีสมาธิมากขึ้น บรรเทาอาการปวดศีรษะ ไมเกรน และลดภาวะสมองขาดออกซิเจน) เพิ่มให้กับตับ (ทำให้ตับสามารถกำจัดสารพิษต่างๆ ในร่างกายได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันอันตรายต่อเซลล์ตับจากสารพิษต่างๆ จากอาหารเครื่องดื่มและยาที่ปนเปื้อนสารพิษ ชำระล้างของเสียที่สั่งสมมานานออกไปจากร่างกาย) เพิ่มให้กับผิวหนังและเนื้อเยื่อ(ทำให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้นสดใส เพิ่มการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้แผลหายเร็ว) เพิ่มปริมาณออกซิเจนธรรมชาติให้กับเลือด(ทำให้เม็ดเลือดและเกล็ดเลือดมีจำนวนมากขึ้น ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันป้องกันการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายจากภาวะขาดเลือด รักษาระดับความดันเลือดให้ปกติ) เพิ่มให้กับข้อต่อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อ(ทำให้ข้อต่อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อผ่อนคลาย ช่วยเจือจางระดับของกรดยูริก บรรเทาอาการปวดเมื่อย และอาการข้อเสื่อม) เพิ่มให้กับปอด (ป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด และภูมิแพ้) ส่วนเรื่องราคาจะขายถูกเหมือนน้ำดื่มบรรจุขวดทั่วไปก็จะกระไรอยู่ น้ำค้างบริสุทธิ์นี้ ขวด 300 มิลลิลิตร ราคาขายประมาณ 120 – 144 บาท หวังว่าผู้บริโภคที่ฉลาดคงจะตัดสินใจได้นะครับว่า ผลิตภัณฑ์นี้มันมีสรรพคุณมหัศจรรย์พันลึกได้อย่างที่ว่าหรือเปล่า ยังไงก็ฝากเตือนๆ เพื่อนฝูงด้วยนะครับ “ การดื่มน้ำสะอาดเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าน้ำสะอาด แต่ดันโอ้อวดเกินจริง ถึงไม่ตาย ก็อาจเสียเงินเกินเหตุได้นะครับ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 ค้างชำระค่างวดรถ โดนยึดทันทีจริงหรือ

หนึ่งในปัญหาเรื่องการเช่าซื้อรถทั้งรถจักรยานยนต์และรถยนต์ ที่สร้างความปวดหัวให้กับผู้เช่าซื้อมาตลอดคือ การค้างชำระค่างวดรถแล้วไม่แน่ใจว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรดี เพราะรถกำลังจะโดนบริษัทมายึดไปแล้ว ดังกรณีของผู้ร้องรายนี้ผู้ร้องซื้อรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ โดยตกลงกันให้มีการผ่อนชำระเดือนละ 1,130 บาท อย่างไรก็ตามภายหลังการผ่อนชำระไปได้ไม่กี่เดือน ผู้ร้องก็มีปัญหาทางการเงิน ทำให้ต้องหยุดการผ่อนค่างวดรถคันดังกล่าวเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งภายหลังพนักงานของบริษัทก็เดินทางมายึดรถไป โดยไม่มีหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์ที่เตือนให้มีการชำระค่างวดที่ค้างไว้ก่อนแต่อย่างใด แม้จะพยายามเจรจาด้วยการขอชำระค่างวดทั้งหมดในขณะนั้นทันที แต่พนักงานก็ไม่ยอมและยืนยันที่จะยึดรถคืนแนวทางการแก้ไขปัญหาสำหรับกรณีนี้แม้ผู้ร้องจะผิดชำระค่างวดรถมอเตอร์ไซค์ แต่บริษัทก็ไม่สามารถดำเนินการยึดรถคืนได้ทันที เพราะตามประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์กำหนดว่า บริษัทสามารถยึดรถคืนได้ กรณีที่ผู้เช่าซื้อค้างชำระค่างวด 3 งวดติดๆ กัน โดยผู้ให้เช่าซื้อต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอีก 30 วัน ดังนั้นถ้ายังไม่ครบกำหนด 4 เดือน ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถยึดรถ หากฝ่าฝืนถือว่าผู้ให้เช่าซื้อผิดสัญญา และผู้เช่าซื้อสามารถร้องเรียนหรือฟ้องต่อศาลคุ้มครองผู้บริโภคได้ ทั้งนี้หากเราพบว่าโดนเอาเปรียบด้วยการกระทำดังกล่าว จึงไม่จำเป็นต้องส่งรถคืนแต่ควรเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจ พร้อมรายละเอียดการค้างชะระค่างวดและขอให้มีการเจรจา แต่ถ้าในกรณีที่บริษัทได้แจ้งเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว และเราก็ยังไม่สามารถชำระค่างวดได้ สิ่งที่ควรทำคือ1. ให้มีการประเมินสภาพรถหรือราคาเบื้องต้นก่อนการส่งมอบ เพื่อเป็นหลักฐานในกรณีที่บริษัทนำรถคันดังกล่าวไปขาย และเรียกร้องให้เราจ่ายค่าส่วนต่างที่เหลือให้ครบ2. ในกรณีที่เราอยากได้รถคืนก็ต้องกลับไปติดต่อที่บริษัทดังกล่าวและจ่ายค่างวด รวมทั้งเบี้ยปรับต่างๆ ให้ครบ หรือหากไม่ต้องการรถคันดังกล่าวแล้ว ก็รอจ่ายเงินส่วนต่างที่เหลือภายหลังบริษัทนำรถไปขาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 ค้างค่างวดรถ 3 งวด แต่จะให้จ่าย 6 ไหวไหม

สมัยนี้ยังจะมีใครซื้อรถด้วยเงินสดๆ แบบจ่ายทีเดียวไหม คงน้อยมากๆ แม้แต่คนที่มีเงินมาก ก็ไม่ทำเพราะระบบลิซชิ่งหรือระบบเช่าซื้อรถยนต์มันทำให้บริหารเงินได้ดีกว่าที่จะเอาเงินเยอะๆ ไปทุ่มในครั้งเดียว และยังช่วยให้คนเงินน้อยสามารถมีรถยนต์เป็นของตนเองได้ บริษัทรถยนต์ก็ขายได้มากขึ้น ยังไม่รวมนโยบายรถคันแรกที่รัฐบาลออกมาช่วยกระตุ้นยอดขายด้วย เราจึงเห็นปรากฏการณ์ยอดขายรถยนต์สูงลิ่วในทุกปีการเช่าซื้อหรือทำสัญญาเช่าซื้อ (Hire-Purchase) คือ สัญญาที่เจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ให้เช่าซื้อนำทรัพย์สินออกให้เ ช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินหรือให้ทรัพย์สินตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้เช่าซื้อ เมื่อผู้เช่าซื้อได้ชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาแล้วการเช่าซื้อรถยนต์เราจึงยังไม่ได้เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์แต่เป็นเพียงผู้เช่าซื้อ โดยมีสัญญาว่าจะชำระเงินให้เป็นงวดๆ ให้แก่เจ้าของจริง ซึ่งก็คือบริษัทที่ให้บริการเช่าซื้อรถยนต์ ถ้าสามารถจ่ายเงินได้ตรงงวดคงไม่มีปัญหา ปัญหามาเกิดเอาตรงที่จ่ายไม่ทันและถ้าไม่ทัน 3 งวดติด เจ้าของเขาก็จะมายึดรถ(ทรัพย์)ของเขาทันทีคุณพิมลวรรณเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง(ประเทศไทย) จำกัด เป็นราคาค่าเช่า 857,247 บาท โดยจะชำระงวดละ 8,733 บาท แต่เกิดปัญหาขึ้นเมื่อคุณพิมลวรรณขาดส่งไป 3 งวด ไม่นานทางบริษัทลิสซิ่ง ได้ให้พนักงานมานำรถไปพร้อมบอกว่า ให้ไปไถ่ถอน ด้วยการชำระเงิน 3 งวดที่ขาดส่งไป รวมค่าปรับ ค่าติดตามรถ พร้อมค่าไถ่ถอนทั้งสิ้น 36,624 บาท โดยให้เวลาดำเนินการ 6 เดือน แต่เมื่อคุณพิมลพรรณติดต่อกลับไปทางโทรศัพท์เพื่อขอทราบรายละเอียดค่าบริการค่าปรับต่างๆ ก็ได้ข้อมูลใหม่ชวนตกใจว่า คุณพิมลพรรณต้องชำระทั้งหมด 89,022 ซึ่งเป็นยอดที่รวมค่าเช่าล่วงหน้าอีก 6 เดือน จึงจะมารับรถคืนได้ แนวทางแก้ไขปัญหาทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้สอบถามข้อมูลจากคุณพิมลพรรณ พบว่า ยอดค่าใช้จ่ายที่ถูกเรียกเก็บเกิดจากการเจรจาความกันทางโทรศัพท์ ซึ่งคุณพิมลพรรณมิได้รับหนังสือบอกกล่าวจากบริษัทแต่อย่างใดตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์นั้น ความข้อ 3 มีสาระสำคัญและมีเงื่อนไข ที่เกี่ยวข้องดังนี้ (4) ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อย 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือและผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น (5) เมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและกลับเข้าครอบครองรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้เช่าซื้อ เพื่อนำออกขายให้แก่บุคคลอื่น     ก. ก่อนขายให้แก่บุคคลอื่น ผู้ให้เช่าซื้อต้องแจ้งล่วงหน้าให้ผู้เช่าซื้อทราบเป็นหนังสือไ ม่น้อยกว่า 7 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ       ข. ในกรณีที่ผู้ให้เช่าซื้อนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขาย หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะคืนเงินส่วนที่เกินนั้นให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่หากได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ในส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อจะรับผิดส่วนที่ขาดนั้นเฉพาะกรณีการขายโดยวิธีประมูลหรือขายทอดตลาดที่เหมาะสมเท่านั้นเมื่อไม่มีหนังสือแจ้งบอกกล่าว เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงได้ติดต่อกลับไปยัง บริษัท โตโยต้า ลิสซิ่ง เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง อีกทั้งแจ้งให้ทางผู้ร้องชำระเงินค่างวดที่ค้างไว้ 3 งวดแก่บริษัทฯ เพื่อให้สัญญากลับคืนสู่สภาพ ทางศูนย์ฯ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทฯ ว่า ผู้ร้องผิดสัญญาเพราะผิดนัดชำระ 3 งวด ในหนังสือบอกกล่าวก็ระบุไว้ว่าให้ชำระทันที จุดนี้ทางศูนย์ฯ แย้งว่า ผู้ร้องไม่ได้รับหนังสือบอกกล่าวจากทางบริษัทแต่อย่างใด อีกทั้งการชำระทันทีก็ยังต้องอยู่ในเงื่อนไขตามประกาศของ สคบ. คือ ไม่เกิน 30 วัน จึงถือว่ากรณีนี้ผู้ร้องมิได้กระทำผิดสัญญาและยังได้ชำระค่างวดที่ค้างอยู่ทั้งหมดแล้ว ทางบริษัทจึงต้องคืนรถยนต์ให้กับผู้ร้องโดยทันทีเมื่อแย้งกลับไปด้วยข้อกฎหมายทางฝ่ายบริษัทฯ เลยขอพักการเจรจาก่อนบอกว่า ตนเองมิใช่คนดูแลโดยตรง จะติดต่อกลับในภายหลังต่อมาผู้ร้องได้แจ้งว่า บริษัทฯ ติดต่อให้ไปรับกุญแจคืนและตนก็ได้ไปรับตรวจรถเรียบร้อยแล้ว จึงขอขอบคุณมูลนิธิฯ มา ณ ที่นี้   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 112-113 สามีไปม็อบ - ไม่ยอมส่งค่างวดรถ

เหตุการณ์เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาลยังไม่สามารถขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผุ้ชุมนุมเสื้อแดงได้  เช้าวันหนึ่งของต้นเดือนพฤษภาคม 2553  คุณวรรณาโทรศัพท์เข้ามาที่มูลนิธิฯ ด้วยเสียงกระหืดกระหอบปนแค้นๆ เธอบอกว่า ตนเองทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าให้กับสามีที่มีอาชีพขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยให้พี่สาวเป็นคนค้ำประกัน ส่วนสามีของเธอเป็นผู้ส่งค่างวด ที่ผ่านมาสามีก็ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและรับส่งเธอซึ่งทำงานเป็นลูกจ้างร้านค้า มีเงินไปชำระค่างวดอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาดต่อมาประมาณต้นปี 2553 มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง สามีก็ไปเข้าร่วมม็อบด้วยโดยอ้างว่าอยากเข้าร่วมการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ช่วงที่มีม็อบแถวสนามหลวงก็ไปๆ มาๆ  แต่ก็กลับเอาเงินมาให้ที่บ้านทุกวัน จนกระทั่งเสื้อแดงย้ายมาที่ราชประสงค์สามีเริ่มไม่กลับบ้าน อ้างว่าเป็นการ์ดต้องอยู่ช่วยคนเสื้อแดง จนเดือนมีนาคมสามีเธอไม่กลับบ้านเลย ติดต่อไปก็อ้างโน่นอ้างนี่ จนกระทั่งต้นเดือนพฤษภาคม เธอได้รับเอกสารติดตามทวงหนี้ค่างวดรถที่ค้างชำระจำนวน 2 งวดจากไฟแนนซ์ทำให้ทราบว่า สามีไม่ได้ส่งค่างวดรถมาตั้งแต่เดือนมีนาคมด้วยความร้อนใจจึงโทรมือถือไปหาสามี ปรากฏว่าติดต่อไม่ได้  จึงได้ไปดักรอเพื่อนของสามีที่ไปม็อบเสื้อแดงด้วยกันแล้วกลับมาแถวบ้าน  เพื่อนสามีบอกว่า สามีของเธอไปติดผู้หญิงในม็อบเสื้อแดงด้วยกัน  คงไม่กลับบ้านแล้วคุณวรรณาโกรธมากที่สามีนำรถไปใช้กลับไม่รับผิดชอบอะไร ซ้ำยังไปมีผู้หญิงใหม่อีก แต่ก็กัดฟันบอกกับเพื่อนสามีให้ไปบอกกับสามีในม็อบว่า ไฟแนนซ์ทวงค่างวดรถมาให้เอาเงินไปจ่ายด้วย เพื่อนของสามีแจ้งว่าคงไม่เข้าไปแล้ว เพราะสถานการณ์กดดันและกลับบ้านยากมากกว่าจะออกจากม็อบได้  เธอจึงสอบถามถึงการปัญหาติดต่อทางโทรศัพท์ เพื่อนสามีบอกว่า ไม่สามารถติดต่อได้หรอก เพราะคนที่พาเข้าไปเค้าไม่ให้เปิดมือถือ คุณวรรณาเล่าด้วยความแค้นใจที่สามีทรยศ และรู้สึกทุกข์ใจที่ทำให้พี่สาวต้องเดือดร้อน นอกจากนี้ก็ยังกังวลว่าสามีอยู่ในม็อบเสื้อแดงถ้านำรถไปใช้ในทางไม่ดีผู้ร้องจะติดร่างแหไปด้วยหรือเปล่า จึงต้องการรถคืน  และยินดีผ่อนค่างวดรถเอง  แต่ไม่รู้จะทำยังไงต่อไปดีแนวทางการแก้ไขปัญหาเราได้ให้ข้อแนะนำกับคุณวรรณาว่า หากกังวลเรื่องจะมีการนำรถจักรยานยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ก็ให้ไปแจ้งความไว้กับตำรวจเพื่อขอให้ทำบันทึกไว้เป็นหลักฐานว่ารถมอเตอร์ไซค์คันนี้ถูกสามีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสนำไปใช้โดยที่ตนไม่ได้ให้ความยินยอม ในระหว่างที่ยังลูกผีลูกคนยังไม่รู้ว่ามอเตอร์ไซค์จะพาสามีกลับมาบ้านได้หรือไม่ ก็ต้องผ่อนส่งค่างวดอย่าให้ติดค้างเป็นดีที่สุด เพราะเมื่อสถานการณ์คลี่คลายสามารถติดตามรถมาจากสามีได้ก็ได้ใช้ต่อไป ส่วนตัวสามีนั้นจะใช้งานในฐานะสามีต่อไปหรือไม่ก็ขอให้คุณวรรณาได้พิจารณาเอาเองก็แล้วกัน เรื่องนี้ไม่ขอเกี่ยวครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 ขอปิดใช้บริการมือถือ แต่ทำไมยังมีหนี้อยู่

“ซิมฟรีครับพี่ ซิมฟรี 1 ชั่วโมง จ่ายแค่ 5 นาที แถมนาทีละหกสลึง ถูกอย่างนี้มีที่ไหนครับพี่...” เสียงประกาศเชิญชวนของหนุ่มนักขายซิมมือถือ ร้องเรียกผู้คนที่เดินผ่านไปมาบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง คุณนิสาอยากรับขวัญลูกชายที่ไปเรียนอยู่ต่างประเทศและหยุดปิดเทอมกลับมาพักผ่อนที่เมืองไทยเป็นเวลา 1 เดือน จึงเดินเข้าไปยื่นบัตรประชาชนเพื่อขอรับซิมฟรี กะเอาไปให้ลูกชายใช้ระหว่างที่อยู่เมืองไทย ซึ่งเป็นซิมมือถือของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส ตอนแรกคุณนิสาเข้าใจว่า เป็นซิมฟรี แต่เมื่อมาดูรายละเอียดแล้วถึงได้รู้ว่าตัวเองเสียค่าโง่ เพราะซิมตามโปรโมชั่นดังกล่าวจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนๆ ละ 99 บาท ส่วนค่าโทรนั้นคนขายซิมก็ดันพูดไม่หมด ก็เข้าใจว่าใช้ชั่วโมงหนึ่งจ่ายแค่ 5 นาทีเท่านั้น ทีนี้ล่ะฉันจะใช้โทรเท่าไหร่ก็ได้เพราะจ่ายแค่ 5 นาที นาทีละ 1.50 บาทเอง แต่ความจริงก็คือ โปรโมชั่นนี้เขาให้ส่วนลดเพียงแค่ 1 ชั่วโมงแรกที่เปิดใช้บริการเท่านั้นที่จะคิดค่าบริการเพียงแค่ 5 นาที แต่หลังจากชั่วโมงนั้นแล้วก็คิดค่าบริการนาทีละ 1.50 บาททุกๆ นาทีที่ใช้ ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นอัตราค่าโทรที่ถูกนักเมื่อเปรียบเทียบกับโปรโมชั่นบางตัวที่คิดค่าโทรเพียงแค่นาทีละ 1 บาท หรือ 50 สตางค์ “อ๊ะ.. ไหน ๆ ก็ได้มาแล้วและก็ให้ลูกใช้แค่เดือนเดียว คงไม่เป็นไร” คุณนิสาคิดกับตัวเอง ก่อนที่จะนำซิมที่ได้มาให้ลูกชายเปิดใช้บริการ ซิมนี้ถูกเปิดใช้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และคุณนิสาได้ไปแจ้งขอปิดใช้บริการที่ศูนย์บริการในอีกเดือนถัดมาหลังจากที่ลูกชายเดินทางกลับไปต่างประเทศ โดยชำระค่าบริการที่ค้างจ่ายทั้งหมดให้กับพนักงาน เรื่องน่าจะจบไม่มีปัญหาอะไร แต่ปรากฏว่าต่อมาในเดือนเมษายน มีใบเรียกเก็บค่าบริการโทรมือถือหมายเลขที่ได้แจ้งปิดไปแล้วมาถึงคุณนิสาจำนวน 1,070.54 บาท คุณนิสาก็เป็นงง เพราะตั้งแต่วันที่แจ้งยกเลิกก็ไม่ได้ใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์นั้นอีก แล้วจะมียอดหนี้มาได้อย่างไร จึงได้ติดต่อไปที่ศูนย์บริการ AIS Shop สาขาเดิมเพื่อขอตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่าให้รอเอกสารการตรวจสอบภายใน 15 วัน แต่รอจนแล้วจนเล่าก็ไม่เห็นมีคำชี้แจงใดๆ กลับมา ซ้ำในเดือนพฤษภาคมยังมีบิลเรียกเก็บเงินอีก 95.34 บาท เมื่อไม่มีความชัดเจนคุณนิสาจึงไม่ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้กับเอไอเอส  ทีนี้ล่ะครับงานเข้าครับงานเข้า...ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม มีจดหมายทวงหนี้จากสำนักงานกฎหมาย เซนิท ลอว์ จำกัด แจ้งว่าคุณนิสายังมีหนี้ค้างกับ เอไอเอส อยู่ 1,165.88 บาท แถมยังมีข้อความในลักษณะข่มขู่คุกคามที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอีก เช่น ขู่ว่าถ้าไม่ชำระหนี้ภายใน 48 ชั่วโมง จะถูกฟ้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด , จะส่งรายชื่อเข้าข้อมูลเครดิตกลาง จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายความ ดอกเบี้ยค้างชำระ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการออกหมายอายัดรายได้ และหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาด คุณนิสารู้สึกโกรธมากอะไรจะปานนั้น หนี้แค่พันกว่าบาท จะยึดทรัพย์กันเลยหรือ จึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษา แนวทางแก้ไขปัญหาบริการโทรศัพท์มือถือนั้น ถือเป็นบริการโทรคมนาคมประเภทหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคมที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เป็นผู้กำกับดูแล กรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาว่า ค่าบริการที่บริษัทมือถือเรียกเก็บมานั้นถูกต้องหรือไม่ ผู้ใช้บริการสามารถที่จะร้องเรียนโดยตรงได้กับบริษัทมือถือ และถือเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องเป็นผู้พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าบริการต่าง ๆ และจะต้องแจ้งข้อมูลให้กับผู้ใช้บริการทราบโดยเร็วแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ใช้บริการมีคำขอ หากผู้ให้บริการไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ให้บริการสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในจำนวนที่มีการโต้แย้งโดยทันที ข้อกฎหมายเขาเขียนไว้อย่างนั้นครับแต่ในทางปฏิบัติคนละเรื่องเลย ผู้ใช้บริการเขาอุตส่าห์ไปขอให้ตรวจสอบค่าบริการที่เรียกเก็บตั้งแต่เดือนเมษายน แต่บริษัทกลับแจ้งยอดหนี้เพิ่มและส่งจดหมายทวงหนี้ที่ไร้มารยาทมาให้อีก มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายร้องเรียนไปถึงเอไอเอสโดยทันที หลังจดหมายออกไปประมาณ 1 เดือน เอไอเอสถึงได้มีจดหมายตอบกลับแจ้งว่า ไม่พบเอกสารการขอยกเลิกการใช้บริการแต่อย่างใดในวันที่คุณนิสาไปแจ้งขอยกเลิก (แสดงว่าแจ้งไปแล้วแต่พนักงานไม่ยอมยกเลิกให้ ?) และหนี้ที่เรียกเก็บในเดือนเมษายนนั้นเป็นค่าบริการที่มีการใช้โทรจริง และเนื่องจากระบบข้อมูลยังคงเห็นว่าคุณนิสายังอยู่ในสถานะใช้บริการอยู่จึงมีค่ารายเดือนต่อมาอีก 1 เดือน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้เอไอเอสจึงดำเนินการมอบส่วนลดค่าใช้บริการให้จำนวน 783.72 บาท (รวมภาษี) จากยอดที่เรียกมาทั้งหมด 1,165.88 บาท ยังมียอดคงเหลืออีก 382.16 บาท ซึ่งคุณนิสาตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นค่าโทรที่ลูกชายใช้จริงจึงยินดีที่จะจ่ายเงินส่วนนี้ให้ ปัญหาหนี้ค่าโทรจึงเป็นอันยุติ ข้อเตือนใจสำหรับคนใช้มือถือ ต้องจำไว้ว่ามือถือแบบจดทะเบียนเป็นบริการที่เข้าง่ายออกยากประเภทหนึ่ง หากคิดจะบอกเลิกสัญญาอย่าแจ้งทางวาจาเพียงอย่างเดียว ต้องมีเอกสารการบอกเลิกสัญญาลงลายมือชื่อเราให้ชัดเจนส่งถึงบริษัท ทำอย่างนี้จะไม่มีปัญหาในภายหลังครับ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 97 เขาหาว่าผมค้างค่างวดรถ

คุณเดชาเดินทางมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยสีหน้าบอกบุญไม่รับ พร้อมกับยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์พิทักษ์สิทธิมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “พี่ช่วยผมด้วยครับ” เจ้าหน้าที่รับกระดาษมาอ่านในรายละเอียด เห็นหัวกระดาษเป็นชื่อและที่อยู่ของบริษัทกรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด เนื้อหาแจ้งว่า คุณเดชาได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น M’TX ตอนเดียว จำนวน 1 คัน จากบริษัท กรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2547 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หนังสือแจ้งว่าคุณเดชาไม่เคยชำระค่าเช่าซื้อเลยสักงวด จึงมีหนังสือฉบับนี้มาถึงคุณเดชาเพื่อให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา หนี้ที่คุณเดชาจะต้องจ่ายคือค่างวดเช่าซื้อ 48 งวดเป็นเงิน 254,976 บาท ค่าเบี้ยปรับโดยคิดจากยอด ณ วันที่ออกหนังสือ เป็นเงิน 401,954 บาท และค่าผิดสัญญาค่าติดตามอีก 10,000 บาทรวมเป็นเงิน 666,930 บาท เมื่อเจ้าหน้าที่อ่านรายละเอียดในกระดาษเสร็จจึงเงยหน้าขึ้น “จะให้เราช่วยยังไงครับ ไม่ใช่จะให้เราช่วยชำระหนี้แทนนะครับ” เจ้าหน้าที่เอ่ยถามด้วยอาการเสียวๆ เพราะมีคนเป็นหนี้หลายรายคิดว่ามูลนิธิฯเป็นแหล่งปล่อยเงินกู้ “ไม่ใช่อย่างงั้นครับพี่ คือไอ้สัญญาฉบับที่ไฟแนนซ์เขาอ้างมาในจดหมายทวงหนี้น่ะ ผมไม่เคยเห็นมันมาก่อนเลยครับ ไม่รู้เคยไปเซ็นอะไรไว้ตรงไหน คนค้ำประกันผมก็ไม่รู้จักตอนนี้ผมอายุ 27 ปี ถ้าผมไปทำสัญญาจริงๆ ตอนนั้นผมก็อายุแค่ 22 ปียังเดินเตะฝุ่นหางานทำอยู่เลยครับ ไฟแนนซ์หน้าไหนจะปล่อยเงินให้ผมไปซื้อรถ อยู่ดีๆ ก็มีจดหมายทวงหนี้โผล่มาที่บ้าน...แม่ผมแทบช็อกตาย หนี้ตั้ง 5 แสน 6 แสน บ้านผมทำนาคงไม่มีปัญญาจะหาเงินไปใช้หนี้เขาได้หรอกครับ ช่วยผมที” “เอ้า...ช่วยก็ช่วย” เจ้าหน้าที่รับปาก  แนวทางแก้ไขปัญหาในเรื่องของการเช่าซื้อรถยนต์นั้น คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ประกาศให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 โดยมีสัญญาข้อหนึ่งที่ให้สิทธิผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้หากมีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน...แต่กรณีนี้บริษัทปล่อยให้หนี้ค้างอยู่ได้ตั้ง 48 งวด แถมไม่เคยมีการติดตามทวงถามกันมาก่อนเลย เมื่อสอบถามกับคุณเดชาว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเคยได้รับใบแจ้งหนี้ ใบทวงหนี้มาก่อนหรือเปล่า ได้รับคำตอบว่ามีโทรศัพท์มาทวงหนี้อยู่ครั้งเดียว ก่อนที่จะได้รับจดหมายทวงหนี้ฉบับดังกล่าวเท่านั้น แปลกไหมล่ะครับ ถ้าผู้บริโภคท่านใดเจอหนี้แปลกพิสดารแบบนี้ สิ่งที่ควรทำโดยทันทีคือการทำจดหมายทักท้วงปฏิเสธหนี้ดังกล่าวโดยทันทีส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและเก็บใบตอบรับไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งหากบริษัทไฟแนนซ์ยืนยันที่จะเรียกเก็บหนี้ต่อไปก็ต้องมั่นใจในเอกสารที่เกี่ยวข้องในการทำสัญญาว่า เป็นเอกสารที่ได้มาโดยชอบ และดำเนินการฟ้องต่อศาลต่อไป แต่หากเป็นการ “ลักไก่” เรียกเก็บหนี้กับคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เมื่อเรารู้ทัน เขาก็ต้องยุติการติดตามทวงหนี้ไปโดยปริยาย กรณีของคุณเดชา มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือทักท้วงแจ้งปฏิเสธการชำระหนี้ดังกล่าวส่งไปถึงบริษัทฯ ซึ่งขณะนี้สัญญาณตอบรับจากบริษัทยังคงเงียบฉี่ ติดต่อไม่ได้ในขณะนี  

อ่านเพิ่มเติม >