ฉบับที่ 186 ศัลยกรรมแล้วไม่เป็นที่คิด

การศัลยกรรมในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้ทำศัลยกรรมดูดี หรือมีความมั่นใจในรูปร่างหน้าตาของตนเองมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามหากเราตัดสินใจแก้ไขส่วนใดส่วนหนึ่งไปแล้ว แต่ไม่พอใจกับผลลัพธ์ที่ได้เราควรทำอย่างไรคุณปราณีเข้ารับการศัลยกรรมเสริมจมูกและตัดปีกจมูกที่คลินิกแห่งหนึ่ง ในอัตราค่าบริการ 45,000 บาท ภายหลังการผ่าตัด 2 อาทิตย์พบว่า ปีกจมูกไม่เท่ากัน ด้านซ้ายมีการยุบตัวมากกว่าด้านขวา มีขาซิลิโคนนูนออกมาทางด้านขวาของจมูก และมีอาการปวดที่จมูกด้านขวา เธอจึงกลับไปที่คลินิกอีกครั้ง เพื่อให้แพทย์ท่านเดิมตรวจรักษา แต่แพทย์คนดังกล่าวกลับแจ้งว่าต้องรอประมาณ 1 เดือน จมูกจึงจะเข้าที่และหากมีอาการปวดให้รับประทานยาแก้ปวดไปก่อน อย่างไรก็ตามด้วยความไม่สบายใจเธอไปเข้ารับการรักษาที่คลินิกแห่งอื่น ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าต้องเอาซิลิโคนออก เนื่องจากเกรงว่าขาซิลิโคนอาจทะลุ ทำให้เธอต้องผ่าตัดใหม่และเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังต้องทนทุกข์ทรมานจากการเจ็บปวดดังกล่าว เธอจึงมีความประสงค์ให้ทางคลินิกเดิมรับผิดชอบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และแจ้งมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาภายหลังการเจรจาผู้ร้องมีข้อเสนอต่อทางคลินิกคือ ขอให้ชดเชยเยียวยาที่จ่ายไปแล้วจริง และค่ารักษาพยาบาลต่อเนื่องในอนาคตเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท โดยผู้ร้องไม่ได้เรียกร้องค่าทำศัลยกรรมจมูกจำนวน 45,000 บาทคืน ซึ่งทางคลินิกแห่งนี้ได้ชี้แจงว่าสำหรับกรณีของผู้ร้องเป็นกรณีแก้ไข เพราะคนไข้เคยรับการรักษามาแล้วจากคลินิกอื่น ซึ่งคลินิกของตนได้ให้คำปรึกษาและทำการรักษาให้ตามที่คุยและตกลงกันไว้ อย่างไรก็ตามเมื่อคนไข้ทำการผ่าตัดไหมไป 7 วัน พบว่าคนไข้มีความกังวลเป็นอย่างมาก ว่าจมูกไม่เท่ากัน ทรงจมูกไม่สวยอย่างที่ต้องการ ทางคลินิกจึงแนะนำให้รอสักพัก เพราะศัลยกรรมต้องใช้เวลาเพื่อให้แผลหายดีและเข้าที่ภายใน 3-6 เดือน ซึ่งในขณะนั้นจมูกของคนไข้ยังมีอาการบวมอยู่ ต่อมา 2 อาทิตย์ คนไข้ได้เข้ามาให้แพทย์ดูอีกครั้งว่า มีตุ่มข้างในรูจมูกด้านขวา แพทย์ได้ทำการตรวจและนำแนะให้คนไข้ว่า อาจเป็นอาการบวมที่ยังไม่ยุบดี หรือเป็นแผลนูนจากการผ่าตัด ซึ่งเป็นไปได้ขึ้นอยู่กับชนิดของผิวคนไข้ หรืออาจจะเป็นปลายซิลิโคน ที่ยังไม่เข้าที่ แพทย์จึงแนะนำให้คนไข้ฉีดยา และทานยา เพื่อลดอาการอักเสบ และอาการบวม ซึ่งต้องรอเป็นเวลา 1 อาทิตย์ จึงจะยุบลง นอกจากนี้ได้อธิบายขั้นตอนการดูแลรักษา แต่คนไข้ไม่พอใจและเรียกร้องให้คลินิกรับผิดชอบ ซึ่งคลินิกเห็นว่าการทำศัลยกรรมต้องรอคอย เพราะแต่ละกรณีการหายของแผลไม่เหมือนกัน แต่คนไข้ปฏิเสธที่จะรักษาและเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งทำให้ทางคลินิกเห็นว่าเกินกว่าเหตุ เพราะไม่ได้ทำให้คนไข้พิการหรือจมูกผิดรูป ดังนั้นจะยินยอมเยียวยาค่าเสียหายให้เป็นจำนวนเงิน 5,000 บาท เป็นค่าเอาซิลิโคนออกให้ ซึ่งถ้าทางผู้เสียหายไม่พอใจ สามารถดำเนินคดีทางกฎหมายได้     เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้ และต้องดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป อย่างไรก็ตามสำหรับใครที่ต้องการทำศัลยกรรม จำเป็นต้องเก็บหลักฐานต่างๆ เอาไว้ให้ครบถ้วนเผื่อในกรณีที่เกิดปัญหาเช่นนี้ โดยควรถ่ายรูปเปรียบเทียบให้ชัดเจน สำหรับก่อนและหลังทำศัลยกรรม ใบเสร็จรับเงิน รวมถึงใบรับรองแพทย์ที่น่าเชื่อถือ เมื่อเราเข้ารับคำปรึกษาเพื่อแก้ไขในส่วนต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 รู้เท่าทันการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

ปัจจุบัน เวลาที่เด็กๆ เป็นหวัด หรือคัดจมูกจากโรคภูมิแพ้ เมื่อไปหาแพทย์แผนปัจจุบัน มีแพทย์แผนปัจจุบันหลายท่านแนะนำให้ทำการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเพื่อที่จะชะล้างฝุ่นละอองที่ติดค้างในช่องจมูกออกไป จะลดการแพ้อากาศได้  การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือนั้นมีที่มาจากการแพทย์อายุรเวทของอินเดีย     การล้างจมูกด้วยการฉีดพ่นละอองน้ำเกลือหรือล้างด้วยน้ำเกลือนั้นช่วยลดความรุนแรงของอาการหวัด คัดจมูก หรือช่วยให้ผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่หายเร็วขึ้นจากไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่จริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะความเป็นมา    โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน ได้แก่ ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ และการติดเชื้อของคอหอย จมูก หรือไซนัส  ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการติดเชื้อไวรัสและหายได้เอง  แม่ว่าอาการอาจยังคงมีอยู่เป็นเวลาหลายสัปดาห์หลังจากการติดเชื้อหายแล้วก็ตาม  การรักษาอาการไข้หวัดจึงเน้นการบรรเทาอาการ ลดอาการไอ การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือหรือฉีดพ่นละอองน้ำเกลือได้เป็นวิธีการรักษาที่นิยมมากขึ้นในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน  และมีการพบว่ามีประสิทธิผลสำหรับไซนัสโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง  อย่างไรก็ตาม ประสิทธิผลในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลันหรืออาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง การศึกษาวิจัย        ทางห้องสมุดโคเครนได้ค้นหาการศึกษางานวิจัยใน CENTRAL (2014, Issue 7), MEDLINE (1966 to กรกฎาคม สัปดาห์ที่ 5, 2014), EMBASE (1974 - สิงหาคม 2014), CINAHL (1982 -สิงหาคม 2014), AMED (1985 – สิงหาคม 2014) and LILACS (1982 – สิงหาคม 2014)  พบว่า มี 5 รายงาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 749 รายและมีผู้เข้าร่วมการศึกษาที่ให้ข้อมูลที่ตอบคำถามงานวิจัยและเข้าเกณฑ์คัดกรองเป็นเด็ก 544 ราย (การศึกษา 3 รายงาน) ผู้ใหญ่ 205 ราย (การศึกษา 2 รายงาน) ทั้งหมดเปรียบเทียบการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือกับการรักษาทั่วไปหรือการพ่นจมูกอื่นๆ  การศึกษาเหล่านี้ได้ครอบคลุมขอบเขตที่กว้างขวางของอายุ  ขนาดตัวอย่าง  วิธีการที่กำหนดขนาดของสิ่งที่ใช้และความถี่ และระยะเวลาตั้งแต่เกิดอาการโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน  มีความแตกต่างในการออกแบบและอาการที่ใช้ในการวัดหรือประเมิน  ทั้งนี้เนื่องจากการขาดการตรวจวัดอาการและสิ่งตรวจพบที่เชื่อถือได้หรือคงที่  ทำให้ผลลัพธ์ที่ใช้ร่วมกันได้มีน้อยเมื่อนำผลศึกษามาวิเคราะห์ร่วมกัน  หลักฐานจากการศึกษาสำเร็จในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2014ผลการศึกษา    มีการนำรายงานการศึกษาเพิ่มเติมอีก 2 รายงานเนื่องจากการทบทวนอย่างเป็นระบบแรกเริ่มไม่มีข้อมูลเพียงพอทั้งขนาดหรือคุณภาพ  เฉพาะการศึกษาที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งศึกษาเด็ก 401 ราย อายุระหว่าง 6-10 ปี  พบว่ามีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญในด้านอาการ ได้แก่ น้ำมูกไหล เจ็บคอ คะแนนการหายใจและการอุดตันของรูจมูก  รวมทั้งการลดการใช้ยาลดน้ำมูกหรืออาการคัดจมูก  นอกจากนี้ยังมีการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของคะแนนสถานะสุขภาพ  มีการลดลงของเวลาในการฟื้นหรือหายจากอาการไข้หวัด ซึ่งมีรายงานในการศึกษาที่เป็นผู้ใหญ่ 2 รายงาน แต่ไม่มีความแตกต่างที่สำคัญในทางคลินิก  การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือมีความปลอดภัย แต่อาจมีการระคายเคืองหรือแสบๆ เล็กน้อย โดยเฉพาะถ้าใช้อุปกรณ์ที่มีแรงฉีดสูงหรือน้ำเกลือเข้มข้นสรุป    ผู้ทบทวนได้สรุปว่า การล้างจมูกด้วยน้ำเกลืออาจมีประโยชน์ในการบรรเทาอาการของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนเฉียบพลัน  อย่างไรก็ตาม การศึกษามีขนาดเล็กเกินไปและมีความเสี่ยงสูงในการมีอคติ ทำให้ลดความน่าเชื่อถือของหลักฐานที่สนับสนุน  การศึกษาในอนาคตควรมีจำนวนผู้เข้าร่วมมากกว่านี้และรายงานตัวชี้วัดที่ได้มาตรฐานและมีความหมายทางคลินิกหมายเหตุ  ศึกษาเพิ่มเติมใน Cochrane Database Syst Rev. 2015 Apr 20;4:CD006821. doi: 10.1002/14651858.CD006821.pub3.

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point