ฉบับที่ 243 ลูกจ้างรายวันไปทำละเมิดคนอื่น นายจ้างต้องรับผิดด้วยหรือไม่

เมื่อวันก่อนมีข่าวเกี่ยวกับการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมาก  ผู้ประกอบธุรกิจหลายแห่งก็ปิดกิจการเพราะทนพิษโควิดไม่ไหว หลายคนต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะครับ  กลับมาในประเด็นของเรา เมื่อพูดถึงลูกจ้าง ทุกคนคงพอทราบว่า ลูกจ้างเมื่อทำงานให้แก่นายจ้าง หากเกิดปัญหากับบุคคลภายนอก ทำให้เขาเสียหายใดๆ ก็ตาม กฎหมายเรากำหนดให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างด้วย แต่มีคนสงสัยว่า หากเป็นลูกจ้างรายวัน ความรับผิดในส่วนของนายจ้างจะมีแค่ไหน เพียงใด         ในกรณีนี้ เคยมีการฟ้องคดีกันจนถึงศาลฏีกา เป็นเรื่องที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง จ้างลูกจ้างรายวันให้ขับรถบรรทุกไปส่งสินค้า แต่ปรากฏว่าลูกจ้างคนดังกล่าวขับรถไปเฉี่ยวชนกับรถโดยสารทำให้เกิดความเสียหาย นายจ้างก็ไปคุยเจรจาต่อรองค่าเสียหายที่โรงพัก พร้อมทั้งยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหาย ศาลจึงตัดสินว่า พฤติการณ์ที่นายจ้างกระทำดังกล่าวเป็นการยอมรับว่ายอมรับผิดร่วมกับลูกจ้างผู้ก่อเหตุ แม้ จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของแล้วก็ตาม ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555         จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถโดยสารของโจทก์ได้รับความเสียหายแม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงสวมใส่ชุดทำงาน ในวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 3 ไปพบพนักงานสอบสวนกับจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 แต่กลับยอมรับต่อตัวแทนฝ่ายโจทก์และพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และยังร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหายโดยไม่ได้แจ้งหรือแสดงพฤติการณ์ใดให้เห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 รับโดยปริยายแล้วว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเมื่องานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้างที่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างก่อให้เกิดขึ้นด้วย        อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ แม้ลูกจ้างที่รับจ้างขับรถส่งของ จะเลือกใช้เส้นทางที่นอกคำสั่งของนายจ้าง และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบก็ตาม ก็ยังถือได้ว่าการปฏิบัติงานที่ได้กระทำไปนั้นอยู่ในทางการที่จ้าง ผู้เป็นนายจ้างจะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้         คำพิพากษาฎีกาที่ 501-504/2517               จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ให้ขับรถบรรทุกน้ำมันไปส่งที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยใช้เส้นทางถนนพหลโยธินและถนนมิตรภาพไปถึงจังหวัดหนองคายแต่หลังจากส่งน้ำมันเสร็จ ขากลับจำเลยที่ 2 ขับรถมาถึงจังหวัดนครราชสีมาแล้วก็แยกเข้าถนนสายนครราชสีมา-กบินทร์บุรีเพื่อจะกลับมายังบางนางเกรง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่จอดรถโดยไม่ใช้เส้นทางเดิมอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบของจำเลยที่ 1แล้วเกิดเหตุชนกับรถยนต์อื่นที่อำเภอเมืองชลบุรี แม้จำเลยที่ 2 จะขับรถออกนอกเส้นทาง ก็ยังถือได้ว่าการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปนั้นอยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 จะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 กระแสต่างแดน

รถยนต์ความเสี่ยงสูง ข่าวนี้สร้างความสั่นสะเทือนให้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในอินเดียไม่น้อย เมื่อองค์กรทดสอบรถยนต์ Global NCAP ได้ทดสอบความปลอดภัยของรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ผลิตและจำหน่ายในอินเดียจำนวน 5 รุ่น และพบว่าระดับคะแนนความปลอดภัยของทุกรุ่นเท่ากับ ... 0 ดาว (จากคะแนนเต็ม 5 ดาว) เขาทดสอบด้วยการชนด้านหน้า ที่ความเร็ว 64 กิโลเมตร/ชั่วโมง โดยรถรุ่นพื้นฐาน (ซึ่งไม่มีการติดตั้งถุงลมนิรภัย) เขาพบว่าโครงสร้างของ Suzuki Maruti Alto 800 / Tata Nano และ Hyundai i10 มีความปลอดภัยต่ำเสียจนกระทั่งแม้จะมีถุงลมนิรภัยก็ไม่สามารถช่วยป้องกันการบาดเจ็บสาหัสจากการชนได้ ส่วนอีก 2 รุ่นคือ Ford Figo และ Volkswagen Polo นั้น ยังพอทำเนาตรงที่มีโครงสร้างแข็งแรงกว่า และการติดตั้งถุงลมนิรภัยก็จะช่วยให้ปลอดภัยขึ้นได้ (หลังการทดสอบครั้งนี้ Volkswagen ประกาศเลิกขายรุ่นที่ไม่ทีถุงลมนิรภัย) Max Mosley ประธาน Global NCAP กล่าวว่าขณะนี้ระบบความปลอดภัยของรถยนต์อินเดียยังล้าหลังยุโรปหรืออเมริกาอยู่ถึง 20 ปี อีกครั้งที่ประชากรของประเทศที่สามารถผลิตรถยนต์ที่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัยเพื่อส่งออกไปขายทั่วโลก กลับต้องขับรถยนต์ตกมาตรฐานอยู่ในบ้านตัวเอง ปีที่ผ่านมา รถยอดนิยมทั้ง 5 รุ่นมียอดขายรวมกันเป็นร้อยละ 20 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในอินเดีย     เลือกกินไม่ได้ ข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่าความหลากหลายของการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารในช่วงศตวรรษที่ 20 ลดลงไปถึงร้อยละ 75 และยิ่งไปกว่านั้น 1ใน 3 ของความหลากหลายที่เหลืออยู่ ณ วันนี้อาจจะหายไปภายในปี 2050 ด้วย ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาอาหารการกินของผู้คนในโลกเปลี่ยนไป และโลกาภิวัฒน์ด้านอาหารก็ทำให้ผู้คนที่อยู่ต่างถิ่นกันบริโภคอาหารที่เหมือนกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่ให้พลังงานสูงอย่าง ข้าว มันฝรั่ง อ้อย และข้าวสาลี (อย่างหลังนี้เป็นหนึ่งในอาหารหลักในร้อยละ 97 ของประเทศทั่วโลก)  และพืชที่ไม่เคยมีความสำคัญเลยเมื่อ 50 ปีก่อนก็กลับมีความสำคัญขึ้น โดยเฉพาะพืชที่ปลูกเพื่อสกัดน้ำมันเช่น ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในอาหารใน 3 ใน 4 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก แม้พืชเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความหิวโหยของประชากรโลกได้ แต่การบริโภคพืชที่ให้พลังงานสูงเป็นหลักก็เป็นสาเหตุของอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเช่นโรคหัวใจหรือโรคเบาหวานด้วยเช่นกัน นี่ยังไม่นับว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นเสี่ยงต่อความแห้งแล้ง แมลงศัตรูพืช และโรคต่างๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นเมื่อสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง และพันธุ์พืชบางชนิดยังถูกครอบครองโดยบรรษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่ราย ซึ่งนิยมลงทุนในพืชเพียงไม่กี่สายพันธุ์อีกด้วย ทางเลือกในการกินของเราจึงถูกจำกัดด้วยประการฉะนี้     “มีฉลากก็ไม่ช่วย” ภายใต้กฎหมาย Affordable Care Act ของอเมริกานั้น ผู้ประกอบการตู้ขายอาหารอัตโนมัติหยอดเหรียญจะต้องติดฉลากโภชนาการแสดงปริมาณแคลอรี่ ไว้ในบริเวณใกล้ๆ กับจุดที่วางอาหาร(ขนมหวาน ของขบเคี้ยว น้ำอัดลม) กฎหมายที่จะมีผลภายในหนึ่งปีนี้มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่มีตู้ขายอาหารอัตโนมัติตั้งแต่ 20 ตู้ขึ้นไป(ข่าวบอกว่ามีประมาณ 10,800 ราย) ร้านอาหารที่มีสาขามากกว่า 20 สาขาขึ้นไป ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายของชำด้วย แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโยบายจาก Heritage Foundation บอกว่าที่ผ่านมานั้นชัดเจนแล้วว่าฉลากเปลี่ยนพฤติกรรมของคนอเมริกันไม่ได้ เขาว่ารัฐบาลอาจมาผิดทาง เพราะปัญหาคือประชาชนยังไม่สามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหารอย่างถูกต้อง จึงควรให้ความรู้เรื่องแคลอรี่ในอาหารกับผู้บริโภคเสียก่อน เพื่อให้ผู้บริโภคอยากควบคุมปริมาณแคลอรี่ด้วยตนเอง ด้านผู้ประกอบการ(ซึ่งกว่าร้อยละ 75 เป็นรายย่อยที่มีลูกจ้างไม่เกิน 3 คน) บอกว่าเรื่องนี้มีค่าใช้จ่ายมากโขอยู่ บริษัทขนาดเล็กจะมีค่าใช้ประมาณ 2,400 เหรียญในปีแรก และ 2,200 เหรียญในปีต่อๆ ไป และเงินที่ลงไปก็ไม่ได้สร้างผลตอบแทนทางธุรกิจด้วย อัตราส่วนประชากรต่อตู้ขายอาหารอัตโนมัติของอเมริกาอยู่ที่ 40 คนต่อ 1 ตู้ และร้อยละ 5 ของเงินที่คนอเมริกันใช้จ่ายนอกบ้านเป็นการใช้จ่ายกับตู้เหล่านี้    มันช่างน่าอิจฉายิ่งนัก นอกจากเนเธอร์แลนด์จะมีนายกอินดี้ที่ขี่จักรยานไปทำงาน (ขออภัยพี่น้องประชาชนที่ต้องการหาเลขเด็ดเพราะจักรยานเขาไม่มีหมายเลขทะเบียน) องค์กรผู้บริโภคของเขาก็ยังเปรี้ยวไม่แพ้กันอีกด้วย Netherlands Authority for Consumers and Markets หรือ ACM บอกว่าปีที่ผ่านมาเขาสามารถช่วยชาวบ้านประหยัดเงินได้ถึง 300 ยูโร (13,400 บาท) ต่อครัวเรือนเลยทีเดียว รวมๆ แล้วการทำงานของ ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของผู้บริโภคลงได้มากกว่า 1,850 ล้านยูโร (80,000 ล้านบาท) จากค่าแก๊ส ไฟฟ้า ค่าบริการโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ต ถ้าเป็นวงดนตรีก็ต้องเรียกว่าเป็น “ซูเปอร์กรุ๊ป” เพราะเป็นการรวมตัวของ 3 องค์กรที่ดูแลผู้บริโภค เหมือนการรวม สคบ. เข้ากับ กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เข้าด้วยกัน ล่าสุด ACM ขู่จะเข้าไปตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากร้านค้าปลีกว่ามาสเตอร์การ์ดเก็บค่าธรรมเนียมจากพวกเขาแพงเกินไป แต่ยังไม่ทันลงมือ มาสเตอร์การ์ดก็ยอมปรับลดค่าธรรมเนียมลงจากปัจจุบันที่ร้อยละ 0.9 เหลือ 0.7 ในเดือนมิถุนายนและลดลงไปเรื่อยๆ จนเหลือร้อยละ 0.3 ในเดือนมกราคมปี 2016 แน่นอนจริงๆ แค่เงื้อก็ได้ผลแล้ว หมายเหตุ : เรื่องร้องเรียน 3 อันดับต้นของผู้บริโภคชาวดัทช์ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน บริการโทรคมนาคม(ซึ่งปีนี้ถูกเบียดตกมาอยู่อันดับสอง) และบริการขนส่งและการท่องเที่ยว   ฟินแลนด์ ไม่น่าเชื่อว่าประเทศฟินแลนด์จะยังไม่มีข้อกำหนดเรื่องเงื่อนไขการจ้างงานในฟิตเนส จนทำให้บรรดาครูฝึกต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดแบบใครตัวมัน แม้จะไม่มีองค์กรด้านวิชาชีพนี้อย่างจริงจัง แต่ ERTO องค์กรด้านแรงงานก็เคยเสนอค่าจ้างที่เหมาะสมสำหรับงานครูผู้ฝึกสอนในฟิตเนสไว้ที่ชั่วโมงละ 29.90 ยูโร (1,300 บาท) ในเมืองหลวง และ 26.10 ยูโร(1,165 บาท) ในพื้นที่อื่นๆ แต่ไม่มีใครจ่ายอัตราที่ว่าเลย ผู้ประกอบการฟิตเนสบางรายจ่ายค่าจ้างพื้นฐานต่ำกว่า 5 ยูโร แล้วให้ค่าหัวตามจำนวนผู้เรียนในคลาสหัวละ 50 เซนต์ (ถ้าครูฝึกสอนคลาสละ 10 คน ก็จะได้ค่าจ้างรวมชั่วโมงละ 10 ยูโรเท่านั้น)  ส่วนบางแห่งก็จ่ายเพียงชั่วโมงละ 20 ยูโร ให้กับครูฝึกที่มีประสบการณ์การสอนมากกว่า 10 ปี การปริปากบ่นก็ไม่ใช่ทางเลือก เพราะเจ้าของฟิตเนสพร้อมที่จะหาครูหน้าใหม่ไร้ประสบการณ์เข้ามาแทนที่อยู่เสมอ หรือไม่ก็อาจถูกย้ายช่วงเวลาสอนไปอยู่ในช่วงที่ไม่ค่อยมีคนมาใช้บริการ นอกจากนี้ยังจ่าย “โบนัสวันอาทิตย์” น้อยกว่าที่ควรด้วย ปกติแล้วโบนัสนี้ต้องจ่ายตามค่าแรงรายชั่วโมง แต่ผู้ประกอบการหัวใสกลับแจ้งค่าจ้างรายชั่วโมงต่ำกว่าที่จ่ายจริง เช่นในจำนวน 30 ยูโรที่จ่ายนั้น มีเพียง 10 ยูโรที่แจ้งเป็นค่าแรง ที่เหลือกลับเรียกว่าเงินที่ชดเชยให้สำหรับเวลาที่ใช้เตรียมสอน เป็นต้น   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 กระแสต่างแดน

มาดริดอาจต้องคิดใหม่ ช่วงนี้ชาวเมืองมาดริดมีเรื่องให้ได้เซ็งกันอย่างต่อเนื่อง เพิ่งจะได้ทราบข่าวร้ายว่าไม่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2020 ไปได้ไม่นาน ล่าสุดพนักงานกวาดถนนและเก็บขยะในเมืองก็พากันประท้วงหยุดงานอีก ผู้ประท้วงไม่พอใจที่เทศบาลประกาศปลดพนักงานกว่า 1,135 คน (จากทั้งหมด 7,000 คน) และลดเงินเดือนพนักงานที่ยังได้ทำงานต่อลงไปเกือบร้อยละ 40  รวมถึงบริษัทที่รับเหมางานจากเทศบาลก็บอกเลิกจ้างคนงานไป 350 คนแล้วเช่นกัน ทั้งหมดเป็นผลจากการที่ส่วนหน่วยงานราชการต้องรัดเข็มขัดตัดงบประมาณ   หลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นการบริหารจัดการที่แย่มากของนายกเทศมนตรี อนา โบเทลลา เธอเลือกที่จะไม่พูดถึงการแก้ปัญหาเรื่องการจ้างงานหรือการเพิ่มค่าแรง แต่กลับขู่ผู้ประท้วงว่าถ้าไม่กลับไปจับไม้กวาดมาทำงานต่อภายใน 48 ชั่วโมง เธอจะเลิกจ้างพวกเขาไปเลย เนื่องจากไม่มีการกวาดถนนหรือเก็บขยะมาตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน ภาพเมืองหลวงของสเปนที่มีประชากร 3.2 ล้านคนที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกจึงเป็นภาพเมืองที่มีขยะกองเกลื่อนเต็มถนนหนทาง คนมาดริดอาจเซ็งต่อได้อีกถ้าผู้ว่าฯ และทีมงานยังไม่เริ่มคิดใหม่ทำใหม่ ก่อนการประท้วง จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนมาดริดลดลงไปร้อยละ 7.7 ทั้งๆ ที่จำนวนคนที่เดินทางมาสเปนนั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 คงจะถึงเวลาแล้วที่มาดริดจะต้องทำให้เหมือนกับในคลิปวิดีโอที่ส่งเข้าประกวดชิงตำแหน่งเจ้าภาพโอลิมปิกที่ย้ำว่า “Madrid makes sense” ไม่เช่นนั้นมาดริดอาจจะถูกปฏิเสธเป็นครั้งที่ 4   มีขึ้น แต่ไม่มีลง ข่าวบอกว่าคอกาแฟที่เดนมาร์ก (และอาจจะที่บ้านเราด้วย) ยังจ่ายเงินซื้อกาแฟในราคาเท่าเดิมทั้งๆ ที่ราคาเมล็ดกาแฟต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ปัจจุบันราคาเมล็ดกาแฟอาราบิกาในตลาดโลกอยู่ที่กิโลกรัมละ 14 โครน (80 บาท) แต่ราคาที่คนเดนมาร์กรับรู้ยังคงเป็นราคากาแฟในช่วงที่อากาศในอเมริกาใต้ไม่เป็นใจกับการเพาะปลูก ซึ่งสูงถึง 34 โครน (195 บาท) ต่อกิโลกรัม ผู้เชี่ยวชาญบอกว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาในประเทศตะวันตกที่ผู้ประกอบการมักได้ประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคไม่รู้ความเป็นไปในตลาด และมักให้เหตุผลเดิมๆ เรื่องค่าใช้จ่ายในการขนส่ง บรรจุหีบห่อ ภาษีและค่าจ้างพนักงานเวลาที่ตั้งราคาสินค้า แสดงว่าถ้าภาษีลด ราคาสินค้าก็จะลดลง? มันอาจไม่เป็นเช่นนั้นเพราะหลังจากที่รัฐบาลเดนมาร์กประกาศลดภาษีเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลงร้อยละ 15 ราคาขายปลีกของสินค้าเหล่านี้ก็ยังคงเท่าเดิม ในเดือนมีนาคมปี 2012 เทศบาลโคเปนเฮเกนประกาศลดค่าธรรมเนียมการประกอบการร้านอาหารกลางแจ้ง เพื่อช่วยผู้บริโภคให้สามารถซื้อเครื่องดื่มในราคาที่ถูกลง แต่ผลการสำรวจปรากฏว่าแทบไม่มีร้านไหนปรับราคาเครื่องดื่มลงเลย ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการกลับใช้โอกาสที่รัฐเรียกเก็บภาษีมาเป็นเหตุผลในการขึ้นราคาสินค้า คงยังจำกรณีภาษีไขมันที่เรียกเก็บจากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวเป็นส่วนประกอบมากกว่าร้อยละ 2.3 กันได้ งานสำรวจโดยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและกระทรวงภาษีของเดนมาร์กพบว่ามีการตั้งราคาสินค้าเกินจากส่วนที่ต้องเสียภาษีไขมันเพิ่มไปมากทีเดียว เช่น ราคาซาวครีมน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.6 เมื่อรวมภาษีแล้ว แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งราคาขายแพงขึ้นจากเดิมไปถึงร้อยละ 17.3 และที่ตลกที่สุดคือ ปัจจุบันภาษีดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ราคาสินค้าเหล่านั้นก็ยังไม่ถูกลง ค่อยๆ เรียน ไม่ได้มีแต่เมืองไทยที่ปรับลดเวลาเรียนลง หลักสูตรประถมศึกษาของเวียดนามหลังปี 2015 ก็จะทำให้เด็กๆ ได้มีเวลาเล่นมากขึ้น ระยะเวลาเรียนจะลดลงจาก 37 สัปดาห์เป็น 35 สัปดาห์ และวิชาเรียนจะมีเพียง 3 วิชาเท่านั้น จากปัจจุบันที่เรียนอยู่ 8 วิชา สถาบันวิจัยการศึกษาเวียดนามเสนอหลักสูตรใหม่สำหรับระดับประถมศึกษาเพราะเชื่อว่าเวียดนามควรมีระบบการศึกษาที่เน้นการบูรณาการและให้ความสนใจกับความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน มากกว่าการให้เพียงความรู้ทางวิชาการแบบเมื่อก่อน ปัจจุบันเด็กชั้นประถมปีที่ 1 ต้องเรียนทั้งหมด 8 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาเวียดนาม ศีลธรรม ธรรมชาติและสังคม ดนตรี ศิลปะ งานฝีมือ และพลศึกษา รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาอีก 2 กิจกรรม แต่หลังจากปี 2015 พวกเขาจะเรียนแค่ คณิตศาสตร์ ภาษาเวียดนาม และวิชา “ชีวิตรอบตัวเรา” ซึ่งคาดว่าจะเป็นวิชาที่บูรณาการความรู้ในเรื่องธรรมชาติและสังคม รวมกับกิจกรรมเสริมหลักสูตรอย่าง ศิลปะและกีฬา เป็นต้น เด็กๆจะได้เรียนภาษาต่างประเทศเมื่อพวกเขาขึ้นชั้นประถมปีที่ 3  ส่วนนักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 – 5 นั้นจะมีวิชาเรียนไม่เกิน 6 วิชา แต่ปัญหาหลักของเวียดนามขณะนี้คือการไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่รวบรวม/จัดทำตำราเรียน หนังสือที่ใช้กันอยู่เป็นตำราที่เขียนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือครูผู้สอน ซึ่งแม้จะมีความรู้ความชำนาญในสาขาต่างๆ แต่ก็ยังไม่เชี่ยวชาญการเขียนตำราเรียน เห็นมากับตา โฆษณามาสคาร่ามักจัดเกินเสมอเพราะรู้ว่าขนตาหนางอนงามในสามโลกเป็นสิ่งที่สาวๆ ปรารถนา และนั่นคือสิ่งที่เมย์เบลลีนใช้กับโฆษณามาสคาร่ารุ่น Volume Express the Rocket ในนิตยสารแฟชั่น ที่นางแบบมีขนตาหนาสุดๆ ด้วยมาสคาร่า ... และขนตาปลอม หลังจากที่มีการร้องเรียน หน่วยงานที่ดูแลเรื่องโฆษณาของออสเตรเลีย National Advertising Division ได้ออกข้อกำหนดว่าต่อไปนี้ห้ามใช้ขนตาปลอมในโฆษณามาสคาราเด็ดขาด หรือถ้าจะใช้ก็ต้องแจ้งในตัวโฆษณาให้ผู้บริโภคมองเห็นได้ชัดเจน โฆษณาดังกล่าวที่อ้างว่าผลิตภัณฑ์สามารถทำให้ขนตาหนาขึ้น 8 เท่านั้น มีตัวหนังสือเล็กๆ ระบุไว้ด้านล่างว่านางแบบใช้ขนตาปลอม แต่คำตัดสินฟันธงว่าการมีข้อความที่ขัดต่อหรือเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสิ่งที่ต้องการสื่อในโฆษณานั้น ไม่สามารถแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้บริโภคได้ เมย์เบลลีนกำลังอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบโฆษณาแห่งชาติ National Advertising Review Board ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการควบคุมกันเองโดยความสมัครใจของภาคธุรกิจ ผู้ใหญ่ของบริษัทลอรีอัลซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เมย์เบลลีน ยืนยันว่าเขียนตัวเล็กๆ ก็พอแล้ว สาวๆ เขารู้ดีว่าผลจากการใช้ผลิตภัณฑ์มันแตกต่างกันตามรูปลักษณ์และเทคนิคการแต่งหน้าของแต่ละคน พวกเธอไม่ได้คาดหวังว่าจะตัวเองจะมีขนตาเหมือนนางแบบหรอก ด้านเลขาธิการขององค์กร Truth in Advertising องค์กรไม่แสวงหากำไรที่รณรงค์คัดค้านการโฆษณาหลอกลวง ตั้งคำถามว่า “ถ้าคุณจะขายของผ่านโฆษณาที่เป็นภาพถ่าย อย่างน้อยๆ ภาพถ่ายนั้นก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงมิใช่หรือ?” ใครเอาเนยแข็งของร้านไป? การขโมยของในห้างที่อังกฤษเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 จากเมื่อสองปีก่อน ร้อยละ 36 ของการขาดทุนของร้านค้าปลีกในอังกฤษก็เกิดจากการถูกมือดีมาขโมยของในร้านนั่นเอง ข่าวบอกว่าอาจเป็นเพราะความกดดันที่เกิดขึ้นกับภาวะการเงินครอบครัวในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ มีข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ผู้กระทำผิดมักเป็นคนรายได้น้อย แต่เดี๋ยวนี้คนชั้นกลางจำนวนหนึ่งก็หันมาลักขโมยกับเขาด้วยเพราะยังอยากมีวิถีชีวิตแบบเดิมแม้รายได้จะลดลง ร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตพบว่าปัจจุบันสินค้าที่ถูกขโมยมากขึ้นคือ อาหารราคาแพง เช่น เนื้อสด แฮม เบคอน อกไก่ เนยแข็ง กาแฟ ไวน์ และว้อดกา ถ้ารวมมูลค่าความเสียหายแล้วก็ตกประมาณ 3,400 ล้านปอนด์ (1.7 แสนล้านบาท) นอกจากนี้ Euromonitor International ยังระบุว่าหนึ่งในสามของการลักขโมยสินค้าในร้าน เกิดจากพนักงานของทางร้านเอง ความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะในอังกฤษเท่านั้น ข้อมูลจาก Global Retail Theft Barometer ระบุว่าการขโมยสินค้าในห้าง ทั้งโดยคนทั่วไปและโดยขบวนการต่างๆ นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกแห่งในโลก พูดง่ายๆ คือมีคนลงมือขโมยกันมากขึ้น และแต่ละครั้งที่ขโมยก็จะขโมยในปริมาณมากขึ้นด้วย ทางออกของห้างร้านเหล่านี้ก็คงจะหนีไม่พ้นการลงทุนกับระบบรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนั่นหมายความว่าราคาสินค้าก็คงจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กลุ้มกันไปทุกฝ่าย เพราะดูเหมือนว่าสาเหตุที่เนยแข็งหายไปนั้น เป็นเพราะรายได้ที่หายไปนั่นเอง   //

อ่านเพิ่มเติม >