ฉบับที่ 189 ดวงใจพิสุทธิ์ : สิทธิแห่ง “ผ้าขาว” ที่กำลังถูกล่วงละเมิด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้นิยามคำว่า “เด็ก” เอาไว้ว่า หมายถึง “คนที่มีอายุยังน้อย” ความหมายตามนิยามดังกล่าวอาจดูเป็นกลางๆ และง่ายต่อความเข้าใจก็จริง แต่ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว การรับรู้ความหมายของ “เด็ก” ในทัศนะของคนทั่วไปก็มีความหลากหลายและซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้นแม้จะเป็น “คนที่มีอายุยังน้อย” แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็อาจให้นิยามของ “เด็ก” แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น “เด็กคือผ้าขาว” หรือ “เด็กคือความบริสุทธิ์ไร้เดียงสา” หรือ “เด็กคือตัวแทนของธรรมชาติ” หรือ “เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า”อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเด็กอาจมีสถานภาพประหนึ่ง “ผ้าขาว” หรือเป็นภาพแห่ง “ความบริสุทธิ์” แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว นิยามอีกชุดหนึ่งของเด็กก็คือ กลุ่มคนในสังคมที่ถูกกระทำและล่วงละเมิดสิทธิมากที่สุด และข้อเท็จจริงที่สำคัญอีกเช่นกันก็คือ พื้นที่ที่สิทธิของเด็กถูกคุกคามอย่างเข้มข้นที่สุดก็หนีไม่พ้นพื้นที่ของครอบครัวนั่นเอง“ดวงใจพิสุทธิ์” ดูจะเป็นละครเล็กๆ แต่ร่วมสมัย ที่ฉายภาพความหมายของเด็กในฐานะ “ผ้าขาว” ซึ่งกำลังถูกล่วงละเมิดสิทธิในลักษณะดังกล่าวเอาไว้ค่อนข้างชัดเจนเนื้อเรื่องของละครอาจจะมีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวละครเด็กผู้ “ไร้เดียงสา” ก็จริง หากแต่โครงที่ผูกเป็นเรื่องราวไว้นั้นกลับดู “เดียงสา” ยิ่งนัก โดยได้นำเสนอภาพชีวิตตัวละครเด็กชายเด็กหญิงคือ “ลูกหมี” และ “ปุ๊คกี้” ที่เรื่องราวช่วงแรกๆ มีการตัดภาพสลับกันไปมา ก่อนที่เด็กน้อยทั้งสองคนจะโคจรมาพบและเป็นเพื่อนที่คอยดูแลกันและกันในช่วงหลังในส่วนของลูกหมีนั้น เนื่องจากพ่อและแม่ของเด็กชายจอมซนมีภารกิจต้องไปรั้งตำแหน่งงานสถานทูตไทยในต่างประเทศ ลูกหมีจึงได้มาอยู่ในความดูแลของ “ชินานาง” และ “ชนนี” ผู้มีศักดิ์เป็นคุณอาและคุณย่า แม้ว่าจะมีแง่งอนงัดข้อกันบ้างระหว่างอากับหลานที่ต้องปรับตัวเข้าหากัน แต่เพราะด้วยความรักความอบอุ่นที่ทั้งคุณอาและคุณย่าต่างมอบให้อย่างเต็มที่ ลูกหมีจึงถูกฉายภาพให้เป็นตัวละครเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่แม้จะไม่ใช่อุดมคติแบบ “พ่อแม่ลูก” แต่ก็สามารถเป็นเด็กที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุขตัดสลับกับภาพที่ตรงกันข้ามของปุ๊คกี้ ที่แม้ตอนแรกจะเติบโตมาอย่างมีความสุข เพราะได้รับความรักความดูแลจาก “ภาวนา” ผู้เป็นคุณย่าและเป็นเศรษฐินีประจำจังหวัดสงขลา แต่เพราะ “ชลีกร” ป้าสะใภ้มีความโลภและอิจฉาที่ภาวนาไม่ค่อยแบ่งปันความรักมาให้กับลูกๆ ของเธอบ้าง อคติที่ครอบงำชลีกรทำให้เธอวางแผนให้พ่อแม่ของปุ๊คกี้ประสบอุบัติเหตุจนเสียชีวิต และฆาตกรรมคุณย่าภาวนาในเวลาถัดมาเมื่อขาดผู้เลี้ยงดูที่รักและเอาใจใส่ตั้งแต่พ่อแม่จนมาถึงคุณย่า จาก “ผ้าขาว” ที่เคยถูกมองว่าบริสุทธิ์ไร้เดียงสา ปุ๊คกี้จึงถูกทารุณกรรมจากป้าสะใภ้ทั้งต่อกาย วาจา และจิตใจอย่างต่อเนื่องภาพฉากที่ชลีกรเอาขนมทั้งกล่องยัดใส่ปากเด็กน้อย หรือภาพฉากการข่มขู่และทำร้ายปุ๊คกี้อีกมากมายลับหลัง “สาวิตร” คุณลุงแท้ๆ ของเธอ สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ความรุนแรงเชิงกายภาพและความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่มีต่อเด็กๆ ในสังคมไทยนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็มักเกิดและสืบเนื่องอยู่ในสถาบันครอบครัวที่ใกล้ชิดกับชีวิตของเด็กมากที่สุดนั่นเองความรุนแรงเชิงโครงสร้างดังกล่าวนี้ แม้จะมีป้าสะใภ้อย่างชลีกรเป็นจำเลยหมายเลขหนึ่งของเรื่องราวก็ตาม แต่จริงๆ แล้ว แม้แต่ตัวคุณลุงสาวิตร หรือคุณอาแท้ๆ อย่าง “ลดามณี” เอง ก็ตกเป็นจำเลยผู้กระทำและล่วงละเมิดสิทธิของเด็กไม่แตกต่างกัน ในขณะที่สาวิตรเป็นคนที่เอาแต่บ้างาน จึงเพียงแต่สนใจแค่สอบถามความเป็นอยู่ของปุ๊คกี้จากชลีกรไปวันๆ เพื่อให้ตนเองได้สบายใจและดูดีว่าเป็นคุณลุงแสนดีผู้ปฏิบัติภารกิจดูแลหลานสาวตัวน้อยไปแล้ว ในส่วนของลดามณีเองก็ทำตัวใส่ใจรักใคร่หลานสาว เพียงเพราะต้องการใช้เด็กน้อยเป็นเครื่องมือและเป็นสะพานเชื่อมให้เธอได้ใกล้ชิดกับ “หัฏฐ์” พระเอกของเรื่องเท่านั้น หลังจากบุคลิกภาพของปุ๊คกี้เปลี่ยนแปลงจากเด็กน้อยโลกสวย มาเป็นเด็กที่เก็บกดและหวาดกลัวต่อโลกรอบตัว ชลีกรก็วางแผนหาทางผลักดันให้ปุ๊คกี้ไปอยู่ในความดูแลของหัฏฐ์และ “หทัย” ผู้เป็นน้าแท้ๆ ที่กรุงเทพแทน เพื่อเธอจะได้ยึดครองบ้านและมรดกทั้งหมดของภาวนาได้ในที่สุด เมื่อปุ๊คกี้มาอยู่กับหัฏฐ์ที่รั้วบ้านติดกันกับบ้านลูกหมีและชินานาง ก็เข้าตำราที่ร้องเป็นเพลงว่า “บ้านก็ปลูกติดกัน ปลูกติดกันพอดี เปิดหน้าต่างทุกที ทุกทีหน้าเราก็ชนกัน” เพราะฉะนั้น เด็กน้อยสองคนที่จุดเริ่มต้นให้มีเหตุต้องพลัดพรากจากพ่อแม่ไม่แตกต่างกัน ก็โคจรมาเจอและสานต่อมิตรภาพระหว่างกัน จนในที่สุดบาดแผลในจิตใจของปุ๊คกี้ก็ค่อยๆ ได้รับการเยียวยาจากคนรอบข้างและเพื่อนในวัยเดียวกันเชื่อกันว่า เด็กๆ เป็นกลุ่มสังคมที่มีวัฒนธรรมและสร้างพื้นที่การสื่อสารบางอย่างในแบบของพวกเขาเองขึ้นมา ดังนั้น เมื่อปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กเกิดเนื่องมาแต่ผู้ใหญ่ในครอบครัวของตน ความลับข้อนี้ของปุ๊คกี้จึงถูกสื่อสารถ่ายทอดมายังลูกหมีในฐานะมิตรสหายที่อยู่ในกลุ่มพื้นที่ทางสังคมวัฒนธรรมเดียวกันในฉากไคลแม็กซ์ของเรื่องที่แม้ปุ๊คกี้จะถูกอำนาจของชลีกรคุกคามจนหวาดกลัวและไม่กล้าเป็นพยานในศาล เพราะรับรู้การฆาตกรรมในครัวเรือนของตน แต่ความลับดังกล่าวก็ถูกเปิดเผยออกมาโดยมิตรแท้ที่เด็กหญิงวางใจที่สุดอย่างลูกหมี จนในที่สุดก็เป็นแรงผลักให้ปุ๊คกี้เกิดความกล้าที่จะพูดความจริงทั้งหมดที่ไม่เคยบอกให้กับบรรดาตัวละครผู้ใหญ่ ซึ่งครั้งหนึ่งเด็กหญิงแทบจะหมดความไว้เนื้อเชื่อใจไปแล้วความเข้าอกเข้าใจที่ลูกหมีกับปุ๊คกี้สานสัมพันธ์กันไว้นี้ ไม่เพียงแต่จะมีผลานิสงส์ให้หัฏฐ์กับชินานางได้มาตกหลุมรักกันจริงตามขนบของท้องเรื่องละครเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนให้เห็นพลังของเด็กที่แม้จะมีอำนาจน้อย แต่ก็พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิแห่งตนซึ่งกำลังถูกละเมิดคุกคามอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแม้ว่าเด็กๆ จะถูกนิยามว่า “มีอายุยังน้อย” แต่พวกเขาและเธอก็มีสถานะเป็น “คน” ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ ดังนั้น เด็กๆ อย่างลูกหมีและปุ๊คกี้ จึงมี “สิทธิ” และ “ความชอบธรรม” ที่จะเรียกร้องให้ทุกคนเคารพศักดิ์ศรีตัวตน และหมุนฟันเฟืองเล็กๆ เหล่านี้ให้มี “ดวงใจพิสุทธิ์” และเป็นอนาคตของสังคมระดับใหญ่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >