ฉบับที่ 163 ดาวเคียงเดือน : กับความลงตัวบนความต่าง

ระบบคิดของคนไทยสมัยก่อนเชื่อกันว่า “ความเหมาะสม” คือคำตอบที่ถูกต้องของ “ความลงตัว” แบบที่สำนวนไทยมักจะอธิบายว่า “ขนม” ต้องให้ “พอสมกับน้ำยา” จึงจะมีรสชาติอร่อย หรือแม้แต่ในชีวิตของการครองรักครองเรือน ที่เราก็มีคำพูดว่า “กิ่งทอง” ก็ต้องคู่กับ “ใบหยก” จึงจะทำให้คนสองคนที่ “ควรคู่” ได้ครองรักเป็น “คู่ควร” กันจริงๆ เพราะฉะนั้น เมื่อความเหมาะเจาะลงตัวเกิดเนื่องมาแต่ “ความเหมือน” หรือ “ความเสมอกัน” เยี่ยงนี้ กลไกที่คนโบราณใช้ก็คือ ประเพณีการคลุมถุงชน ที่จะอาศัยสายตาของญาติผู้ใหญ่เป็นผู้จำแนกแยกแยะและตัดสินว่าใครเหมาะกับใคร ใครคู่ควรกับใคร จึงจะเสมอกันด้วยศักดิ์ชั้น ฐานะ และชาติตระกูล แต่เมื่อกาลสมัยเปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดคำถามขึ้นมาใหม่ว่า แล้ว “ความลงตัว” จำเป็นต้องพ่วงมาด้วย “ความเสมอกัน” เสมอไปหรือไม่ คำถามเรื่อง “ความลงตัว” เช่นนี้ ก็คือสิ่งที่เธอและเขาซึ่งเป็นตัวละครหลายๆ คู่ ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ดาวเคียงเดือน” ร่วมกันหาคำตอบให้กับการใช้ชีวิตคู่ของตนเอง เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องราวของ “ดาริกา” หลานสาวของสัปเหร่อที่มาทำงานอยู่บริษัทออร์แกไนเซอร์ และจับพลัดจับผลูถูกไหว้วานจากเพื่อนสนิทให้มาช่วยดูแลคอนโดฯสุดหรูชั่วคราว จนได้มาพบกับพระเอกหนุ่มเจ้าระเบียบอย่าง “หม่อมหลวงจันทรกานต์” หรือ “คุณจันทร์” ลูกท่านหลานเธอเจ้าของห้างสรรพสินค้าแกรนด์ และพักอยู่ห้องติดกันในคอนโดฯ เดียวกับดาริกา ความวุ่นวายของเรื่องจึงเกิดขึ้น เพราะดาริกาเข้าใจผิดว่าคุณจันทร์กับเลขานุการส่วนตัว “วิวิทธิ์” เป็นเกย์คู่รักกัน ยิ่งเมื่อบริษัทของเธอต้องมารับจัดงานครบรอบ 50 ปีของห้างแกรนด์ ดาริกาก็บังเอิญรู้เท่าไม่ถึงการณ์จัดฉากให้คุณจันทร์มารับแสดงบทบาทเจ้าชายเชิญกุญแจเปิดห้าง จนนำความไม่พอใจมาให้กับ “ดาราราย” มารดาของคุณจันทร์นับตั้งแต่นั้นมา   แม้จะถูกดารารายขัดขวางความรักของคนทั้งสอง เพราะเล็งเห็นความ “ไม่ควรคู่” ระหว่างศักดิ์ชั้นของคุณจันทร์กับความเป็นหลานสาวสัปเหร่อของดาริกา แต่สำหรับคุณจันทร์แล้ว ไม่เพียงแต่เขาจะประทับใจดาริกาที่เป็นผู้หญิงชนชั้นล่างที่ต่อสู้ชีวิตเท่านั้น เมื่อได้มาเจอกับตาสัปเหร่อและแม่ของดาริกา เขาก็พบว่า ครอบครัวที่เล็กๆ แต่อบอุ่นแบบนี้ คงไม่ใช่เรื่องของฐานานุรูปหรือชนชั้นหรอกที่จะเป็นคำตอบเรื่องความเหมาะสมในการครองรักและครองเรือน ในส่วนของดาริกา แม้จะเข้าใจผิดทั้งที่ว่าคุณจันทร์เป็นเกย์ และที่ต้องยอมให้ถูกจับคลุมถุงชนกับ “อิงฟ้า” ลูกสาวคนเดียวของ “หม่อมราชวงศ์หญิงอรชร” ก็คงเพื่อปกปิดรสนิยมแบบชายรักชายของตน แต่ลึกๆ แล้ว เธอเองก็ประทับใจในความดีและความติดดินของคุณจันทร์ที่แม้จะชั้นศักดิ์สูงกว่าเธอก็ตาม แบบเดียวกับที่ดาริกาได้สารภาพความในใจกับคุณจันทร์ ก่อนที่เขาจะถูกทำร้ายจนหมดสติไปว่า “ฉันรักคุณตั้งแต่แรกเห็น รักทั้งๆ ที่เข้าใจว่าคุณเป็นเกย์ รักทั้งๆ ที่รู้ว่าคุณสูงส่งและฉันต่ำต้อยแค่ไหน รักทั้งๆ ที่เราต่างกันเหลือเกิน...” เพราะฉะนั้น ในขณะที่ดารารายและคุณหญิงอรชรจะเห็นว่า ความเหมาะสมและทัดเทียมกันคือความลงตัว แต่กฎกติกามารยาทนี้คงไม่ใช่สำหรับคนอีกเจนเนอเรชั่นหนึ่งที่พบว่า ความรักและความลงตัวไม่จำเป็นต้องใช้เกณฑ์ความแตกต่างเรื่องศักดิ์ชั้นหรือรสนิยมทางเพศมาเป็นเส้นกั้นแบ่งแยกจำแนกคน เฉกเช่นเดียวกับตัวละครคู่อื่นๆ ในท้องเรื่อง ก็ดูจะเจริญรอยตามและตั้งคำถามที่ปฏิเสธเส้นแบ่งความแตกต่างดังกล่าวไม่ต่างกันเลย ไม่ว่าจะเป็นวิวิทธิ์และอิงฟ้า ที่แม้เขาจะต่ำศักดิ์แต่ก็มุมานะต่อสู้ชีวิต ส่วนเธอที่สูงศักดิ์แต่ก็รักช่วยเหลือสังคมในฐานะประธานชมรมช่วยเหลือเด็กเร่ร่อน ความไม่คู่ควรที่นำเสนอเป็นภาพตัดสลับตัวละครวิวิทธิ์กับภาพของ “สุนัขที่เห็นเครื่องบิน” นั้น ก็ดูไม่ใช่คำตอบที่จะกีดกันความรักของคนคู่นี้เลย หรือกรณีของ “พิชญา” ที่แอบหมายปองคุณจันทร์มานานหลายปี แต่ต้องตัดสินใจมาแต่งงานกับ “หม่อมหลวงจักรพัฒน์” ลูกพี่ลูกน้องของคุณจันทร์ แต่เมื่อรู้ว่าครอบครัวของจักรพัฒน์ไม่มีทรัพย์สมบัติใดติดตัว ทั้งคู่ก็ระหองระแหงเพราะผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน แต่ทว่าถึงที่สุดแล้ว ความแตกต่างของผลประโยชน์ก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดความคู่ควรและความเข้าใจของทั้งคู่แต่อย่างใด ส่วนกรณีของ “วรางค์” เจ้านายสาวของดารารายกับ “อาร์ตี้” คนรักหนุ่มที่อ่อนวัยกว่านั้น ด้วยช่องว่างระหว่างวัยที่เหมือนจะเป็นอุปสรรคสำคัญ แต่หากไม่นับเรื่องของอายุที่อุปโลกน์มาเป็นเส้นกั้นแล้ว ความลงตัวก็เป็นไปได้ในความแตกต่างระหว่างวัยเช่นกัน รวมไปถึงคู่รักรุ่นเล็กที่ต่างกันสุดลิ่มทิ่มประตูอย่าง “ป๊อบ” น้องชายของวรางค์ และ “นาง” ที่ดูติ๊งต๊องไม่เป็นโล้เป็นพาย แม้จะมาจากฐานครอบครัวที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ในมุมเล็กๆ ความแตกต่างที่สิ้นเชิง ก็ไม่ใช่ความแตกต่างที่แยกขาดได้แบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์จริงๆ จะว่าไปแล้ว เมื่อเทียบกันในแง่ความสุกสกาวสว่างไสวนั้น “ดาว” กับ “เดือน” ก็ยากที่จะคู่ควรกันได้ เหมือนกับ “หิ่งห้อยฤๅจะไปแข่งกับแสงจันทร์” แต่ปรากฏการณ์แบบ “ดาวที่เคียงกับเดือน” ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้นั้น ก็พิสูจน์ให้เห็นว่า ในความต่างบางอย่างก็อาจเป็นความลงตัว แบบที่ฝ่ายหนึ่งจะขาดซึ่งอีกฝ่ายหนึ่งไปไม่ได้เลย เหมือนกับที่ดาริกาเคยเตือนสติให้กับป๊อบ ที่พยายามขัดขวางความรักของพี่สาวเพียงเพราะความแตกต่างเรื่องวัยกับแฟนหนุ่มว่า ความรักของคนสองคนนั้นจริงๆ แล้ว เป็น “ความลงตัวบนความต่าง ความต่างที่ลงตัว” และเป็น “ความรักที่ลองผิดลองถูก ผ่านทดสอบกันครั้งแล้วครั้งเล่า ความรักของเขาทั้งคู่อยู่บนความต่าง แต่ก็เป็นความต่างที่มั่นคง” สำหรับสังคมไทยในยุคนี้ “ความลงตัวบนความต่าง” ในความรักดังกล่าว ก็คงไม่ต่างไปจากการที่เราเพียรพยายามลบเส้นแบ่ง และสลายสีเสื้อหรือความแตกต่างทางความคิดที่ห่อหุ้มตัวเราอยู่เท่าใดนัก แต่หากจะเป็นไปได้ นอกจากจะพยายามหาความลงตัวบนความขัดแย้งระหว่างจุดยืนทางการเมืองแล้ว เราเองก็น่าจะหาทางลบเส้นกั้นแบ่งความแตกต่างอื่นๆ ระหว่างศักดิ์ชั้น เพศวิถี อายุ และผลประโยชน์ต่างๆ ลงด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อนั้น “ดาว” กับ “เดือน” จะได้เคียงคู่กันอย่างคู่ควรจริงๆ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point