ฉบับที่ 181 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนมีนาคม 2559เริ่มเก็บค่าผ่านทางอัตราใหม่ “มอเตอร์เวย์ กรุงเทพฯ-ชลบุรี” 18 เม.ย.กรมทางหลวงออกประกาศว่า ในวันที่ 18 เมษายนนี้ จะเริ่มต้นเก็บค่าผ่านทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์) สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร โดยในระยะทางตอนแรกจากกรุงเทพฯ-ชลบุรี 78 กิโลเมตร จะเป็นระบบปิด คือเก็บตามระยะทางรับบัตรจากต้นทาง แล้วจ่ายเงินเมื่อออกจากด่าน เฉลี่ยกิโลเมตรละ 1 บาท จากเดิมที่เก็บในอัตราเดียวคือด่านละ 30 บาท โดยมี 5 ด่าน คือ ด่านลาดกระบัง ด่านบางบ่อ ด่านบางปะกง ด่านพนัสนิคม และด่านพานทอง ซึ่งอัตราค่าผ่านทางใหม่นี้จะทำให้ผู้ใช้เส้นทางได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เพราะเป็นการคิดตามระยะทางโดยอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทาง ประเภทรถ 4 ล้อ เริ่มต้นที่ 10 - 60 บาท รถ 6 ล้อ เริ่มต้นที่ 15 - 95 บาท และ รถที่มากกว่า 6 ล้อ เริ่มต้นที่ 20  – 140 บาท ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊คของกรมทางหลวง เพิ่มความคุ้มครองอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะถือว่าเป็นข่าวดี เมื่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีมติปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับทั้งกรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยเพิ่มความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตและทุพลภาพจาก 200,000 บาท เป็น 300,000 บาท และเพิ่มค่าชดเชยเป็นค่ารักษาพยาบาลจาก 50,000 บาท เป็น 80,000 บาท ซึ่งจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 59 นี้เป็นต้นไปนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่าการเพิ่มเติมวงเงินชดเชยครั้งนี้ เป็นข้อสรุปที่ได้จากการร่วมประชุมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และตัวแทนบริษัทประกันภัย ซึ่งการปรับปรุงเพิ่มความคุ้มครองครั้งนี้ จะครอบคลุมกับผู้ที่ทำประกันทั้งหมด ทั้งผู้ประกันรายใหม่และผู้ที่ทำประกันเดิมที่ยังไม่สิ้นสุดระยะเวลาประกัน ที่สำคัญคือค่าเบี้ยประกันยังคิดในอัตราเดิมไม่มีการปรับเพิ่มขึ้น   เมืองไทยยังขาดแคลนนักบินปัจจุบันนี้ในบ้านเราการสัญจรโดยเครื่องบินโดยเฉพาะการเดินทางภายในประเทศมีแน้วโน้มความต้องการการใช้บริการที่มีแต่จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยราคาที่ถูกลง จำนวนเที่ยวและสายการบินที่เพิ่มขึ้น แต่ในทางตรงกันข้ามขณะนี้เรากำลังประสบปัญหาขาดแคลนนักบินจากการเปิดเผยข้อมูลโดย สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) พบว่าขณะนี้ไทยมีนักบินอยู่จำนวน 2,500 - 3,000 คน ซึ่งในแต่ละปี ธุรกิจการบินต้องการนักบินใหม่เพื่อเพิ่มและทดแทนปีละ 400 - 500 คน แต่ปัจจุบันสามารถผลิตนักบินได้เพียงปีละ 200 - 300 คน รวมถึงกลุ่มวิศวกรด้านการบินและช่างอากาศยาน มีทั้งสิ้น 8,000 - 9,000 คน แต่ละปีสามารถผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรมการบินได้เพียง 300 - 400 คนต่อปี จากความต้องการมากกว่า 400 คนต่อปีด้าน ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจคุณภาพของหลักสูตรของสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เปิดสอนด้านการบิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรด้านการบิน จำนวน 26 แห่ง โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีจำนวนนักศึกษาสนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี ตามการขยายตัวของธุรกิจการบินในประเทศ แต่สายการบินส่วนใหญ่โดยเฉพาะสายการบินที่เปิดใหม่ก็ยังมีความต้องการนักบินและช่างอากาศยานที่มีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์มากกว่านักบินหรือช่างที่จบใหม่ ทำให้เกิดการขาดช่วงแรงงาน เอาผิด “สุรชัย Face Off” โฆษณาเกินจริงกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เอาผิดโรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมล หลังมีความผิดจากการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง กรณีทำศัลยกรรมเสริมความงามให้แก่ นายสุรชัย สมบัติเจริญ นักร้องลูกทุ่ง ในโครงการ “เฟซออฟ ผ่าแหลก ศัลยกรรม 10 อย่างบนหน้ากระชากความแก่จาก 60 ให้เหลือ 35 โดย ดร.เซปิง” โรงพยาบาลศัลยกรรมตกแต่งกมล มีการยินยอมให้มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณบริการเสริมความงาม เนื่องจากไม่ได้มีการทักท้วงหรือปฏิเสธ การโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวเลย ซึ่งถือว่าผิดมาตรา 38 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 11 พ.ศ. 2546 เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาล โดยจะมีการเปรียบเทียบปรับเป็นจำนวน 20,000 บาท และจะปรับต่อวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะยุติการเผยแพร่การโฆษณา นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภาได้ให้ความเห็นถึงการโครงการ “เฟซออฟ” ผ่าตัดศัลยกรรมใบหน้าให้ดูอ่อนวัยลงครั้งนี้ว่า “การทำศัลยกรรมของคุณสุรชัยครั้งนี้ เป็นการทำเฟซลิฟต์ (Face Lift) คือ การดึงหน้าให้ตึงขึ้น ทั้งส่วนของหน้าผาก การดึงแก้มไปซ่อนที่หลังหู นอกจากนี้ ยังมีการทำตา ฉีดโบท็อกซ์เพื่อลดการหดตัวของกล้ามเนื้อไม่ให้เกิดร่องลึก และฟิลเลอร์ให้เต่งตึง ซึ่งตรงนี้จะอยู่ได้ประมาณ 6 เดือน การทำศัลยกรรมดึงหน้าและทำตา ถือว่าเป็นหัตถการที่ไม่เสี่ยงมาก หากประชาชนทั่วไปอยากทำก็สามารถทำได้ แต่ต้องพิจารณาฝีมือของหมอด้วย”   เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเราคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้ร่วมรณรงค์ในประเด็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญอย่างเรื่อง การปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะในอาหารซึ่งส่งผลต่อมายังสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่ง สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้ยกเป็นประเด็นรณรงค์ที่สำคัญและเร่งด่วน โดยได้มีการขอความร่วมมือไปยังร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก ให้เลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตอาหารโดยเฉพาะพวกเนื้อสัตว์ที่มาจากการเลี้ยงที่ปลอดจากการใช้ยาปฏิชีวนะนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสมาชิกสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล ได้กล่าวว่า ในต่างประเทศร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังอย่าง  แมคโดนัลด์ เริ่มตื่นตัวกับปัญหานี้บ้างแล้ว โดยสาขาในอเมริกาได้ให้คำมั่นว่าจะรับซื้อเฉพาะเนื้อไก่จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดที่ใช้ในคนภายในปี พ.ศ. 2560 การรณรงค์ในประเทศไทยครั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ร้านฟาสต์ฟู้ดที่เปิดสาขาในเมืองไทยเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ด้วยด้าน ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการ กพย. กล่าวว่า การดื้อยาทำให้เกิดวิกฤติทางสุขภาพของผู้คนทั่วโลก สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในการเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้คาดว่าการใช้ยาปฏิชีวนะในภาคการเกษตรจะเพิ่มขึ้นจาก 63,200 ตันในปี พ.ศ. 2553 เป็น 105,600 ตันในปี พ.ศ. 2573 ถ้าไม่จัดการปัญหาดังกล่าว ซึ่งการดื้อยาจะส่งผลต่อการรักษาอาการป่วยบางโรค อาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจเป็นเป็นโรคร้ายแรงที่คร่าชีวิตคนได้การรณรงค์ครั้งนี้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนให้เกิดการยกเลิกการใช้ยาปฏิชีวนะในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ได้ที่ www.change.org ในหัวข้อ เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเรา (Antibiotics Off the Menu)

อ่านเพิ่มเติม >