ฉบับที่ 275 กระท่อมอำพราง

        หลังจากที่รัฐสภาได้เห็นชอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) ถอดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไปแล้ว ทำให้พืชกระท่อมไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ประชาชนทั่วไปจึงสามารถครอบครอง ปลูก และขายใบสดได้เสรี หรืออาจนำมาต้มเป็นน้ำกระท่อมเพื่อดื่มเองหรือแจกจ่ายได้  ภาพที่เราเห็นทั่วไปในระยะแรกๆ คือ มีการนำใบพืชกระท่อมมาวางจำหน่ายในที่ต่างๆ รวมทั้งตามริมถนน         “แต่ระยะหลัง ไม่ได้มีแค่ใบพืชกระท่อมที่วางขาย หลายพื้นที่พบว่ามีการต้มน้ำกระท่อมใส่ขวดขายด้วย” ซึ่งข้อเท็จจริงตามกฎหมาย การนำพืชกระท่อมไปทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนผสมในอาหารเพื่อขายนั้น พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ยังไม่ปลดล็อกให้นำพืชกระท่อมไปทำอาหารหรือผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายได้ (อ้างอิงตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424 ) พ.ศ.2564 ออกตามความใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งกำหนดให้อาหารที่ปรุงจากพืชกระท่อมเป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้าหรือจำหน่าย)         “แม้กระทั่งน้ำต้มกระท่อมที่ไม่ได้ผสมกับสิ่งใดเลยก็เป็นสิ่งที่ห้ามผลิต เพื่อจำหน่ายตามประกาศฉบับนี้” การฝ่าฝืน โดยผลิต และขายอาหารที่พ.ร.บ.อาหารห้าม มีโทษตามมาตรา 50 จำคุก 6 เดือนถึง 2 ปี ปรับ 5,000-20,000 บาท         มีข้อมูลว่าที่สมุทรสงคราม ตำรวจได้ดำเนินการตรวจจับการขายน้ำกระท่อมซึ่งผู้ขายใช้วิธีอำรางเพื่อหลีกเลี่ยงโดย โดยนำน้ำกระท่อมไปใส่ในขวดน้ำเชื่อมสำหรับปรุงอาหาร (syrup) แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจและสาธารณสุขสงสัย เลยส่งน้ำเชื่อมขวดดังกล่าวไปวิเคราะห์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ฯ ผลการตรวจพบว่ามีส่วนผสมยาแผนปัจจุบัน Diphenhydramine HCl และ Chlorpheniramine ในน้ำเชื่อมขวดดังกล่าว สรุปง่ายๆ คือ “ต้มน้ำกระท่อมแล้วนำมาผสมกับยาแก้แพ้แบบ 4x100 ที่เคยระบาดในกลุ่มเยาวชนแล้วตบตาตำรวจโดยนำไปบรรจุในขวดน้ำเชื่อมแทน”         ส่วนกรณีที่สงสัยว่า จะนำพืชกระท่อมไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยแจ้งว่ามีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการต่างๆนั้น ต้องไปขออนุญาตตามกฎหมายของกระทรวงสาธารณสุข เพราะมี พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 ควบคุมอยู่เช่นกัน         ในขณะที่การควบคุมยังทำได้ไม่เต็มที่ ผู้บริโภคพบเห็นการขายพืชกระท่อมแบบผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือศูนย์ดำรงธรรมติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงได้เลย เพื่อความปลอดภัยของลูกหลานเราเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2566

อย. เรียกคืนยาความดันโลหิต “เออบีซาแทน”        หลังจากกรณีที่ต่างประเทศมีการเรียกคืนยาความดันโลหิตสูง(เออบีซาแทน) เนื่องจาก บริษัทผู้ผลิตพบการปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งในวัตถุดิบที่ใช้ผลิตยานั้น         ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา จึงเร่งให้บริษัทผู้ผลิตตรวจสอบพร้อมทั้งเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบที่ไม่ปนเปื้อน พร้อมกับการเฝ้าระวังในท้องตลาด โดยทาง อย.ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า วัตถุดิบบางรุ่นปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งเกินเกณฑ์สากล จึงได้เรียกเก็บคืนยาสำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบปนเปื้อน พร้อมเรียกคืนไปยังโรงพยาบาล คลินิก ร้านยาต่างๆ และประสานให้ผู้ผลิตเปลี่ยนยาเป็นรุ่นที่ผลิตอื่นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ยาความดันโลหิตที่ปนเปื้อนสารที่อาจก่อมะเร็งพบเพียงเฉพาะบางรุ่นการผลิตเท่านั้น และยาที่เรียกคืนมีทั้งหมด 42 รุ่นการผลิต จาก 5 บริษัท ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าวไม่ควรหยุดยาทันที เนื่องจากเป็นยาที่ต้องใช้อย่างต่อเนื่อง แนะนำตรวจสอบยาที่ใช้อยู่หากเป็นรุ่นผลิตที่เรียกคืน ให้ปรึกษาแพทย์และเภสัชกร ตำรวจยึดตู้กดน้ำพืชสมุนไพรอัตโนมัติ (น้ำกระท่อม)        21 ตุลาคม 2566 ทางตำรวจ สภ.หาดใหญ่ ได้ยึดตู้กดน้ำดื่มพืชสมุนไพรแบบอัตโนมัติ 2 ตู้ ในพื้นที่บริเวณริมถนนราษฎร์อุทิศ ซอย 16 ถนนเพชรเกษม ซอย38 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังจากมีผู้ร้องเรียนว่าทางตู้กดน้ำดื่มสมุนไพรอัตโนมัติดังกล่าว นอกจากขายน้ำดื่มพืชสมุนไพรแล้วยังมีการแฝงขายน้ำกระท่อมให้กับลูกค้าอีกด้วย        ลักษณะของตู้ดังกล่าว คือ ด้านหน้ามีสติ๊กเกอร์ระบุว่า "ตู้น้ำสมุนไพร" แก้วละ 10 บาท บริการทั้งน้ำ เก็กฮวย กระเจี๊ยบ และ น้ำพืชกระท่อม” และมีการติดตั้งให้บริการ มา 3-4 เดือนแล้ว หลังจากเรียกเจ้าของตู้กดน้ำมารับทราบข้อกล่าวหา ทางเจ้าของตู้ อ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าขายน้ำต้มพืชกระท่อมผิดกฏหมาย เนื่องจากเห็นร้านค้าทั่วไปใน อ.หาดใหญ่ วางขายได้อย่างเสรี ทั้งนี้ ทางตำรวจ จึงได้แจ้งข้อหากับเจ้าของตู้น้ำพืชกระท่อมดัดแปลง ฐานความผิดขายน้ำกระท่อมโดยเครื่องช่วยขายอัตโนมัติ มีโทษปรับ 50,000 บาท คุมเข้ม แอปฯ ธนาคาร ห้ามล่มไม่เกิน 8 ชม./ปี        นายภิญโญ ตรีเพชราภรณ์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับและตรวจสอบความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ได้เผยว่า ทางธนาคารจะมีการออกแก้ไขประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสารเทศของสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งมีการระบุบทลงโทษ กรณีระบบขัดข้องนานเกินที่กำหนด โดยได้กำหนดว่าระบบโมบายแบงก์กิ้งขัดข้องหรือล่มได้ไม่เกิน 8 ชม./ปี หากเกินทางแบงก์ชาติจะมีบทลงโทษ ตามระดับความรุนแรง พร้อมทั้งตักเตือนให้แก้ไขดำเนินการปรับปรุง บทลงโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท/ครั้ง ซึ่งหากไม่ดำเนินการปรับปรุงจะปรับ 5,000 บาท/วันศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลชั้นตั้นให้รับฟ้องได้ กรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค"        จากกรณีการควบรวม "ทรู - ดีแทค" ที่ภาคประชาชนออกมาต่อต้านเพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการผูกขาดและผู้เสียประโยชน์คือประชาชน จึงเป็นที่มาของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องศาลปกครองเมื่อมีนาคม 2566 นั้น ต่อมาศาลปกครองกลาง (ศาลปกครองชั้นต้น) ไม่รับคำฟ้อง ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด กระทั่งเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคคดีควบรวมทรู-ดีแทค แล้ว        ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุด เผยแพร่เอกสารลงวันที่ 4 ตุลาคม ออกคำสั่งให้ศาลปกครองชั้นต้นรับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ฟ้องเอาผิดคณะกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่างผู้ให้บริการคลื่นความถี่โทรศัพท์มือถือ 2 ราย คือ ทรู และ ดีแทค โดยข้อความท้ายเอกสารระบุว่า "การที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป"        ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2566 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟ้องศาลปกครองชั้นต้นให้เพิกถอน มติ กสทช. ที่รับทราบและอนุญาตให้ ทรู และ ดีแทค ควบรวมกิจการกันเมื่อเดือนตุลาคม ปีก่อนหน้า อ้างว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการอนุญาตให้บริษัททั้ง 2 รายนี้กระทำการดังกล่าว แต่ต่อมาศาลปกครองชั้นต้นไม่รับคำฟ้องนี้ไว้ โดยให้เหตุผลหนึ่งว่า มาตรา 49 ของ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง กำหนดให้ต้องฟ้องภายใน 90 วันหลังจากทราบว่ามีเหตุให้ฟ้อง แต่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทราบเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 แต่กว่าจะมาฟ้องคือวันที่ 8 มีนาคม 2566 ซึ่งพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว         อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองสูงสุด เห็นว่ามติของ กสทช. เรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค นี้ เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงเข้าข่ายมาตรา 52 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว ที่อนุญาตให้ฟ้องเมื่อใดก็ได้ ไม่มีกำหนด         ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภคและยังเป็นผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้รับผลกระทบจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง         จึงถือเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง การจะแก้ไข บรรเทาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับนั้นต้องมีคำบังคับของศาลปกครองตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 โดยสั่งให้เพิกถอนมติของ กสทช.ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 49 วรรค 1 แห่งกฎหมายเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >