ฉบับที่ 190 ค้นหาคำตอบ ‘วัคซีน HVP’ ปลอดภัยหรือไม่? คุ้มค่าหรือไม่?

ร้อยละ 12 ของผู้หญิงทั่วโลกเป็นมะเร็งปากมดลูก 470,000 ราย คือ ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี 233,000 ราย คือ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ และร้อยละ 83 ของผู้ป่วยทั้งหมดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาในประเทศไทย ความรุนแรงของสถานการณ์มะเร็งปากมดลูกไม่ได้น้อยหน้าระดับโลก มันเป็นโรคภัยที่พบในผู้หญิงไทยบ่อยเป็นอันดับ 2 แต่คร่าชีวิตหญิงไทยสูงเป็นอันดับ 1 ในปี 2551 พบว่าอัตราการเป็นมะเร็งปากมดลูกของผู้หญิงไทยเท่ากับ 16.7 ต่อประชากร 100,000 คน เท่ากับว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่ 6,000 ราย และเสียชีวิตกว่า 2,000 รายต่อปี คุณค่าชีวิตที่สูญเสียประเมินค่าไม่ได้ ขณะที่มูลค่าของราคาที่ต้องจ่ายไปกับโรคนี้ก็มหาศาล ปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผล ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ถ้าโรคอยู่ในระยะลุกลามแปลว่าอะไร? แปลว่าถ้าตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า ผู้หญิงไทยมีความรู้และยินยอมสละเวลาไปตรวจกันมากแค่ไหนด้วยตัวเลขที่น่าพรั่นพรึง หน่วยงานด้านสาธารณสุขของไทยจึงมองหาหนทางลดความสูญเสียจากมะเร็งปากมดลูก วัคซีน HPV เป็นหนึ่งในคำตอบที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้พฤษภาคม 2559 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่กำหนดชนิดวัคซีนและตารางการให้วัคซีนที่เหมาะสมสำหรับประชากรไทย มีมติเห็นชอบแนะนำให้นำวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกมาใช้ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคโดยเร็ว เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง และเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2559 คณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ก็มีมติเห็นชอบและให้บรรจุวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยถือเป็นวัคซีนตัวที่ 11 ในรอบ 17 ปีแต่ก่อนหน้านั้น กรุงเทพมหานครได้ริเริ่มโครงการให้บริการวัคซีนป้องกันเอชพีวีในโรงเรียนสังกัด กทม. ไปก่อนแล้วตั้งแต่ปีการศึกษา 2558 โดยมีเด็กนักเรียนหญิงระดับประถมศึกษาปีที่ 5 ในสังกัดกรุงเทพมหานครได้รับวัคซีน HPV ร้อยละ 98 สำหรับปีการศึกษา 2559 กรุงเทพฯ ได้ดำเนินโครงการไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2559 มีนักเรียนหญิงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในสังกัดที่ได้รับบริการวัคซีนจำนวน 16,468 คนการใช้วัคซีน HVP ติดตามมาด้วยคำถามเรื่องความปลอดภัย จากกระแสข่าวการฟ้องร้องในประเทศญี่ปุ่น เพราะพบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีนเกิดอาการอัมพาตอ่อนแรงและชัก กับอีกด้าน คือ ความคุ้มค่าของวัคซีนว่าราคาที่งบประมาณรัฐต้องจ่ายไปคุ้มกับสิ่งที่ได้คืนมาหรือไม่‘ฉลาดซื้อ’ ฉบับนี้จะไปค้นหาคำตอบสำหรับ 2 คำถามนี้องค์การอนามัยโลกรับรองวัคซีน HPV ปลอดภัยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ถูกใช้เป็นกรณีตัวอย่างประเด็นผลกระทบจากวัคซีน HPV เพราะมันถูกรัฐบาลประกาศให้ถูกรวมอยู่ในโปรแกรมฉีดวัคซีนพื้นฐานเพียง 3 เดือนเท่านั้น คือ เมษายน-มิถุนายน 2556 จากนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นก็เพิกถอนคำแนะนำ เนื่องจากมีรายงานและการร้องเรียนว่า มีผู้ได้รับผลกระทบหลังฉีดวัคซีนเข้าไป และช่วงกลางปีที่ผ่านมาผู้หญิงชาวญี่ปุ่น 64 คน ยื่นฟ้องรัฐบาลและผู้ผลิตวัคซีน HPV หลังได้รับผลข้างเคียงเป็นเงินคนละ 15 ล้านเยน และค่าเสียหายจะเพิ่มขึ้นอีกตามอาการข้างเคียงที่อาจปรากฏในภายหลังนี่เองที่ทำให้ภาคประชาสังคมและเอ็นจีโอไทยเฝ้าดูด้วยความวิตก นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพหรือไฮแทป (Health Intervention and Technology Assessment Program: HITAP) และอีกสถานะหนึ่ง คือ กรรมการด้านวิจัยและพัฒนาวัคซีนขององค์การอนามัยโลก ในฐานะนักพัฒนานโยบายและนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ให้ข้อมูลกับเราว่า“ณ ข้อมูลปัจจุบันที่เป็นหลักฐานที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อถือ พบว่า ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนไม่มีความปลอดภัย”ทวนอีกรอบ ‘ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าวัคซีน HPV ไม่มีความปลอดภัย’ เราสอบถามกลับด้วยคำถามลักษณะเดียวกันว่า แล้วมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันได้หรือไม่ว่า ‘ปลอดภัย’ นพ.ยศ ตอบว่า“โดยหลักการยาหรือวัคซีนทุกตัวจะให้บอกว่าปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นไปไม่ได้ แน่นอน ทุกคนยอมรับว่าวัคซีนตัวนี้เมื่อฉีดไปแล้วมีอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรงเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย แต่ถึงกับบอกว่าไม่ปลอดภัยและไม่ควรใช้ มันยังสรุปแบบนั้นไม่ได้ เพราะอาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ที่เจอคือหน้ามืด เป็นลม วิงเวียน และพบเจอทั่วโลก และอาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ซึ่งก็เป็นอาการทั่วไปของวัคซีน“แต่วัคซีนตัวนี้ยังไม่เจอผลข้างเคียงรุนแรง ถ้าจะสื่อสารกับประชาชนก็ต้องบอกว่า ณ ปัจจุบันนี้ 10 กว่าปีผ่านมาที่วัคซีนยังอยู่ในท้องตลาด ในทางวิทยาศาสตร์เรายังไม่สามารถสรุปได้ว่าวัคซีนไม่ปลอดภัย ถึงแม้ว่าจะเจอผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก”สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น นพ.ยศ อธิบายว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมความเชื่อในการต่อต้านวัคซีนที่ฝังอยู่ในสังคมญี่ปุ่นมาค่อนข้างนานแล้ว คนญี่ปุ่นจึงมักมีความรู้สึกกับวัคซีนในแง่ลบ เคยมีปัญหาวัคซีนหลายตัวในญี่ปุ่นที่คนขาดความเชื่อถือ เมื่อเกิดเรื่องกับวัคซันตัวใหม่อย่าง HPV ทำให้กระแสจุดติดได้ง่าย เพราะมีกลุ่มเอ็นจีโอและภาคประชาสังคมกลุ่มหนึ่งเฉพาะที่คอยต่อต้านวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนตัวไหนกลุ่มนี้ก็จะระแวงไว้ก่อน และทำให้การฟ้องร้องกรณีผลกระทบจากวัคซีนในญี่ปุ่นทำได้ง่าย เนื่องจากมีกลุ่มและระบบสนับสนุนจำนวนมาก“ที่ผมได้อ่านจากเอกสารวิชาการที่ตีพิมพ์ มีการสอบสวนโดยการไปดูเวชระเบียนของคนญี่ปุ่นที่มีปัญหาข้างเคียง ก็เจอว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่าเป็นผลจากวัคซีน”นอกจากนี้ นพ.ยศ ยังได้ระบุว่า ปัจจุบันนี้ จุดยืนขององค์การอนามัยโลกถือว่าวัคซีนตัวนี้มีความปลอดภัยอย่างไรก็ตาม การที่จะรู้ว่ายาหรือวัคซีนตัวหนึ่งมีผลกระทบรุนแรงหรือไม่ ต้องอาศัยเวลายี่สิบถึงสามสี่ปีเป็นเครื่องพิสูจน์ นพ.ยศ แนะนำว่า หากประเทศไทยจะนำวัคซีน HPV มาใช้ ในแง่ความปลอดภัยไม่มีอะไรต้องวิตกกังวล แต่ก็ไม่ควรฝากชีวิตประชาชนไทยกับข้อมูลของต่างประเทศ รัฐบาลจึงควรสร้างระบบติดตามความปลอดภัยและประสิทธิผลของวัคซีนเชิงรุกที่เป็นข้อมูลของคนไทยวัคซีน HPV คุ้มค่า แต่ไม่คุ้มทุนเรื่องความปลอดภัยดูเหมือนจะเคลียร์แล้ว(ในระดับหนึ่ง) ส่วนคุ้มค่าหรือไม่ ต้องค้นหาคำตอบกันต่อโดยปกติแล้ว การจะบอกว่าการใช้เงินกับสิ่งใด คุ้มค่าหรือไม่ต้องมีสิ่งเปรียบเทียบ อดีตที่ผ่านมามีการศึกษาความคุ้มค่าของวัคซีน HPV อยู่หลายครั้ง ซึ่งบางครั้งก็เป็นการศึกษาโดยบริษัทยา เปรียบเทียบระหว่างฉีดกับไม่ฉีดวัคซีนและไม่ทำอะไรใดๆ ทั้งสิ้น ก็แน่นอนว่าด้วยลักษณะการเปรียบเทียบเช่นนี้ การฉีดวัคซีน HPV ย่อมคุ้มค่ากว่าแต่ของไฮแทป ศึกษาโดยเปรียบเทียบกับการตรวจคัดกรองเพื่อป้องกัน 3 วิธีที่เป็นที่นิยมและยอมรับในปัจจุบัน คือหนึ่ง-การทำ Pap Smear ซึ่งเป็นวิธีที่แพร่หลายในไทย โดยทำการตรวจภายในและป้ายเซลล์จากมดลูกป้ายสไลด์และส่งตรวจ วิธีนี้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว สอง-Wisual Inspection with Acetic acid หรือ VIA เป็นการใช้น้ำส้มสายชูป้ายปากมดลูกเพื่อดูว่ามีจุดสีขาวปรากฏขึ้นมาหรือไม่ ถ้ามี ก็ใช้ความเย็นจี้ทำลายเซลล์ที่เริ่มผิดปกติตั้งแต่เริ่มต้น และสุดท้าย-เป็นวิธีการตรวจที่เรียกว่า HPV DNA Test คือการนำเซลล์ปากมดลูกไปตรวจอย่างละเอียดในระดับพันธุกรรม ซึ่ง นพ.ยศ กล่าวว่า ทั้ง 3 วิธีนี้คุ้มทุนมากกว่าการฉีดวัคซีน แต่วัคซีนมีความคุ้มค่ากว่า สรุปคือวัคซีน HPV คุ้มค่า แต่ไม่คุ้มทุนอ่านถึงตรงนี้ คงเริ่มสับสนชีวิต นพ.ยศ อธิบายว่า “คุ้มค่าแปลว่า คุณยอมจ่ายของแพงกว่าเพื่อให้ได้ประโยชน์มากกว่า วัคซีน HPV มีประโยชน์มากกว่าการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกชนิด แต่แพงกว่า คำถามคือเมื่อมันดีกว่า แพงกว่า แล้วเมื่อไหร่จะคุ้ม ประเทศไทยได้ทำการศึกษาจนได้เกณฑ์ว่า ยาและวัคซีนจะคุ้มค่าก็ต่อเมื่อใช้เงินไม่เกิน 160,000 บาทต่อ 1 ปีสุขภาวะ เพราะใช้เงินจำนวนนี้จะทำให้คนไทยอายุยืนยาวขึ้นอย่างสมบูรณ์ 1 ปีถือว่าคุ้ม เช่น ออกยาใหม่ อยากรู้ว่ายาใหม่คุ้มหรือไม่ ก็นำมาเทียบกับยาเดิม ถ้ายาใหม่ทำให้อายุคนไข้ยืนขึ้น 1 ปีและเป็น 1 ปีที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง เช่น เป็นโรคมะเร็ง คุณภาพชีวิตไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ สมมติว่าแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ของคนทั่วไป อายุยืนขึ้น 1 ปีเท่ากับ 0.5 ปีสุขภาวะ ถ้าอายุยืนขึ้นแบบนี้ 2 ปีจึงจะเท่ากับ 1 ปีสุขภาวะ ถ้าใช้เงินไม่เกิน 160,000 บาททำให้อายุยืนขึ้น 2 ปีแบบที่มีคุณภาพชีวิตแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็เท่ากับคุ้มค่าในประเทศไทย ข้อมูลนี้มีประโยชน์ใช้เปรียบเทียบยากับทุกตัวได้ถ้าเทียบวัคซีนตัวนี้เทียบว่าแพงกว่าและดีกว่า อยู่ภายใต้ 160,000 บาทต่อปีสุขภาวะหรือไม่ ใช่ คือคุ้มค่าแล้ว แต่ไม่คุ้มทุนเป็นอย่างไร เนื่องจากวัคซีนอ้างว่าเมื่อฉีดวันนี้สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกในอนาคต แปลว่าในอนาคตเราต้องประหยัดเงินได้จากการรักษาโรคมะเร็ง แสดงว่าเรานำเงินที่ต้องจ่ายในอนาคตเพื่อรักษาโรคมะเร็งมาซื้อวัคซีนวันนี้ โดยที่เราไม่ต้องลงทุนเพิ่มขึ้น อย่างนี้ถือว่าคุ้มทุน แต่ ณ ราคาวันนี้ที่บริษัทเสนอให้ยังถือว่าไม่คุ้มทุน”ราคาวัคซีนที่บริษัทยาเสนอให้กับรัฐบาลตอนนี้คือ 375 บาทต่อเข็ม โดยจะต้องฉีด 3 เข็ม ซึ่งยังเป็นราคาที่ไม่คุ้มทุน แต่ราคาที่คุ้มทุนคือ 300 บาท เรื่องเกิดขึ้นขณะที่ทั้งฝ่ายเราและบริษัทยากำลังต่อรองราคากันอยู่นั้น รองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งกลับพูดในที่สาธารณะว่า ประเทศไทยต้องใช้วัคซีน HPV แน่นอน และนั่นทำให้การต่อรองราคาจบลงด้วยราคา 375 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่คุ้มทุน“อาจจะเกิดการสับสนเวลาที่แพทย์หรือบริษัทยาบอกว่า โรคมะเร็งรักษาทีเป็นแสน แล้วทำไมการฉีดยาเข็มละ 375 บาทจึงไม่คุ้มทุน คำตอบคือสมมติว่าคนไทยทั้งประเทศป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ย 12 คนต่อ 100,000 คน ฉีดวัคซีนไปแสนคน เท่ากับคุณป้องกันไม่ให้ป่วยแค่ 12 คนเท่านั้น เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นมะเร็ง เราทำวิจัยและทั่วโลกก็ยืนยันเหมือนกัน ถ้าเราฉีดให้ทุกคน แล้วนำเวลาของอายุที่ยืนยาวขึ้นของคนไทยโดยเฉลี่ยหลังได้รับการฉีดวัคซีน อายุจะยืนยาวขึ้นเฉลี่ยแค่ 5-7 วันเท่านั้น ที่น้อยเพราะบางคนไม่ได้อายุยืนยาวขึ้น เนื่องจากไม่ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดทั้งชีวิตเขาก็ไม่ได้เป็นมะเร็งปากมดลูกอยู่แล้ว”เราแลกเปลี่ยนถกเถียงกับ นพ.ยศ ว่า แต่ถ้านับค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาส ค่าเดินทาง ที่ผู้หญิงจะต้องเดินทางไปตรวจคัดกรองด้วย 3 วิธีข้างต้นทุกๆ 5 ปี การฉีดวัคซีน HPV ก็ยังไม่ถือว่าคุ้มค่าและคุ้มทุนกว่าอย่างนั้นหรือ?“การฉีดสะดวกกว่า ไม่ต้องเสียเวลา เสียโอกาส แต่ผมอธิบายแบบนี้ สิ่งที่เรากลัวกันอยู่คือวัคซีนป้องกันได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงทั้งหมดที่จะเกิดขึ้น ทั่วโลกจึงแนะนำว่าเมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็ต้องทำ 3 วิธีนี้เหมือนเดิมมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งชนิดที่ค่อยๆ เป็น ใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการลุกลามจนกระทั่งรักษาไม่ได้ ดังนั้น จึงมีการแนะนำให้ตรวจมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี ถ้าผู้หญิงไทยทุกคนทำ วัคซีนไม่จำเป็น แถมการตรวจยังดีกว่าด้วย เพราะป้องกันร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ประเด็นคือทุกวันนี้ผู้หญิงไทยไปตรวจกัน 60-70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น พอเอาวัคซีนมาฉีดก็ป้องกันได้เหมือนเดิมคือ 60-70 เปอร์เซ็นต์ เพราะวัคซีนไม่ได้ป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นคุณจะปล่อยคนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ให้เป็นมะเร็งโดยที่ไม่รักษา”คำอธิบายของ นพ.ยศ น่าจะทำให้เข้าใจได้แล้วว่า วัคซีน HPV คุ้มค่าแต่ไม่คุ้มทุนอย่างไร.........ปัจจุบัน วัคซีน HPV เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่าจะได้รับการบรรจุเข้าไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์หรือไม่ทิ้งท้ายตรงนี้ว่า ตอนวัคซีน HPV เข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ต้นทุนเพียงเข็มละ 90 บาทเท่านั้น แต่ราคาที่ขายคือ 5,000 บาทต่อเข็ม“เราต่อ 300 ยังไม่อยากลดราคา เพราะกลัวเสียราคา” นพ.ยศ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม >