ฉบับที่ 262 กระแสต่างแดน

หาเงินง่าย         ปีที่แล้วมีหนุ่มสาวออสซี่ที่ต้องการหางานทำ ถูกหลอกให้ “วางเงิน” ไปไม่ต่ำกว่า 3,000 คน (ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 25 – 44 ปี) คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 8.7 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 200 ล้านบาท คณะกรรมาธิการการแข่งขันและผู้บริโภคของออสเตรเลีย (ACCC) เตือนผู้ที่กำลังหางานทำให้ระวัง “ข้อเสนอจ้างงาน”​ ที่พบเห็นในโซเชียลแพลตฟอร์ม ที่มักอ้างว่าเป็นงานเบา งานง่าย แต่รายได้ดีสุดๆแค่นั่งคลิกส่งคำสั่งซื้อสินค้าในแอปฯ หรือกดส่งรีวิว ก็ได้เงินวันละ 1,000 เหรียญแล้ว และถ้าขยันทำทุกวัน ก็ได้ปีละ 365,000 เหรียญ (8.3 ล้านบาท) เลยทีเดียว นอกจากจะขโมยข้อมูลส่วนตัวของผู้สมัครงานตอนที่ “ลงทะเบียน” เช่น ชื่อ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์ แล้ว มิจฉาชีพซึ่งอ้างตัวเป็นฝ่ายบุคคลของบริษัทชื่อดังที่ไม่ว่าใครก็ต้องรู้จัก จะขอให้ผู้สมัครวาง “เงินประกัน” ไว้ด้วยนั่นเอง  เหนือการควบคุม         เทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาเทศบาลกรุงปราก เมืองหลวงของสาธารณะรัฐเช็ก สั่งห้ามการจุดพลุหรือเล่นดอกไม้ไฟด้วยเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและการลดความเดือดร้อนรำคาญของคนในพื้นที่ แต่ไม่ค่อยมีคนเชื่อฟัง ตำรวจจับและปรับผู้ฝ่าฝืนแทบไม่ไหว เจ้าหน้าที่กู้ภัยก็ได้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุคนบาดเจ็บจากการเล่นพลุถึง 83 สาย ยังมีกระจกหน้าต่างอาคารกว่า 30 หลังแตกกระจาย แถมด้วยเหตุไฟลุกไหม้บนหลังคาซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้พลุและดอกไม้ไฟยังเป็นของที่หาได้ง่าย ประเทศนี้เป็นผู้ส่งออกพลุรายใหญ่อันดับ 7 ของโลกด้วย สาธารณรัฐเช็กเคยเป็น “ประเทศคอมมิวนิสต์ที่เสรีมาก” ผู้คนซื้อหาเหล้าบุหรี่ราคาถูกมาดื่มหรือสูบกันได้ทุกที่ ใครจะปลูกกัญชาที่บ้านกี่ต้นก็ได้แม้จะมีกฎหมายห้าม รัฐบาลยุคนั้นมองว่าอิสระเล็กน้อยพวกนี้ทำให้ผู้คนไม่ลุกฮือขึ้นมาเรียกร้องเสรีภาพ แต่มันกลับส่งผลให้รัฐบาลยุคต่อมาไม่สามารถควบคุมเรื่องใดได้อย่างจริงจังอีกเลย  ภาษีบินบ่อย         งานวิจัยพบว่าในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 20 ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาบนโลกใบนี้เกิดจากร้อยละ 1 ของประชากรเท่านั้น พฤติกรรมการเดินทางของคนกลุ่มที่มีรายได้มากกว่า 124,000 ยูโร หรือ 4.4 ล้านบาทต่อปี จึงถูกจับจ้องเป็นพิเศษ ในสหภาพยุโรป ครึ่งหนึ่งของรายได้จากค่าโดยสารเครื่องบินมาจากร้อยละ 20 ของคนรายได้สูง ไม่ต่างกันกับที่อเมริกาเหนือ ทำให้ข้อเสนอเรื่องการจัดเก็บภาษีแบบบินมากจ่ายมาก ถูกพูดถึงอีกครั้ง นักวิจัยเสนอว่าภายในปี 2050 รัฐจะมีรายได้จากภาษีนี้มากถึง 121,000 ล้านเหรียญ เพื่อใช้เป็นทุนในการแก้ปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้ยังไม่มีการพูดถึงการเก็บภาษีจากเหล่าซูเปอร์ริช ที่ใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็สร้างคาร์บอนได้ในปริมาณที่คนทั่วไปต้องใช้เวลาถึงหนึ่งปีอย่าง ไคลี เจนเนอร์ ที่มักไปไหนมาไหนใกล้ๆ ด้วยเครื่องบินส่วนตัว หรือโรมัน อับราโมวิช เจ้าของเรือยอทช์ที่มีทั้งสระว่ายน้ำและลานจอดเฮลิคอปเตอร์ อยู่ก่อนขาย         โฆษณาขายแฟลตมือสองในราคา 688,888 เหรียญ (ประมาณ 17 ล้านบาท) ในเว็บไซต์ สร้างความสงสัยให้กับชาวเน็ตในสิงคโปร์อย่างมาก ไม่ใช่เพราะราคาแฟลตขนาด 5 ห้อง ที่แพงขึ้นจาก 50,000 เหรียญ (ประมาณ 4 แสนกว่าบาท) ที่ Housing Development Board (HDB) ขายให้กับผู้ซื้อเมื่อปี 2017 แต่เพราะสภาพใหม่เอี่ยมเหมือนไม่เคยมีผู้อยู่อาศัยมาก่อนต่างหาก ตามกฎหมายสิงคโปร์ เจ้าของแฟลตไม่มีสิทธิขายห้องก่อนจะได้อยู่อาศัยเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี หากไม่ต้องการอยู่ ก็จะต้องคืนห้องให้กับ HDB ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายเพื่อการเข้าถึงที่อยู่อาศัยอย่างเท่าเทียม (มีข้อยกเว้นกรณีของบุคคลล้มละลายหรือคนที่ต้องการหย่าร้างจากคู่สมรส ที่สามารถขออนุญาตเป็นพิเศษได้) การฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวมีค่าปรับสูงสุด 50,000 เหรียญ และอาจถูกรัฐบาลริบห้องคืนด้วย   มาเร็วกว่ารถไฟ         ในปี 2024 ฝรั่งเศสจะเริ่มโครงการก่อสร้างทางรถไฟเพื่อรองรับขบวนรถไฟความเร็วสูงที่จะทำให้การเดินทางระหว่างเมืองบอร์โดและตูลูส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส สามารถเป็นไปได้ใน 3 ชั่วโมง โดยผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในระยะขับรถถึงใน 1 ชั่วโมงจากสถานีรถไฟ (ทั้งหมด 2,340 ชุมชน) จะถูกเรียกเก็บภาษีเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2023 รัฐบาลประเมินว่าจะสามารถเก็บภาษี SET หรือ Special Equipment Tax ได้ถึงปีละ 29.5 ล้านยูโร (ประมาณหนึ่งพันล้านบาท) โครงการรถไฟความเร็วสูงที่จะเปิดใช้ในปี 2032 มีมูลค่า 14,300 ล้านยูโร (ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท) งบประมาณร้อยละ 40 มาจากรัฐบาลท้องถิ่น ร้อยละ 20 จากสหภาพยุโรป เพราะรถไฟดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับสเปน ส่วนที่เหลือเป็นของรัฐบาลกลาง  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ฟาสต์แฟชันยังคงฟาสต์ฟอร์เวิร์ด

        หลายคนคงได้ยินข่าวเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าสหภาพยุโรปประกาศข้อเรียกร้องต่ออุตสาหกรรมแฟชัน ขอให้ผลิตสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนและความสะดวกในการซ่อมแซมหรือรีไซเคิล รวมไปถึงการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค เช่น ระยะเวลาการใช้งาน หรือหลักฐานสนับสนุนว่าสินค้าตนเอง “รักษ์โลก” อย่างไร            สหภาพยุโรปมีสถิติการนำเข้าเสื้อผ้าสูงที่สุดในโลก และในช่วงสิบปีที่ผ่านมามูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทเสื้อผ้าของยุโรปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62 เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะกระแส “ฟาสต์แฟชัน” ที่แพร่ขยายไปทั่วโลก ปัจจุบันผู้คนสามารถซื้อเสื้อผ้าได้บ่อยและมากกว่าเดิม ด้วยราคาที่ถูกลง รวมถึงคอลเลคชันใหม่ๆ ที่ออกมาดึงดูดใจลูกค้าอยู่ตลอดเวลาจนเสื้อผ้าที่มีอยู่ดู “เอ๊าท์” ไปโดยปริยาย และถ้าเบื่อหรือไม่ชอบก็แค่ซุกมันไว้หรือไม่ก็ทิ้งไปแล้วซื้อใหม่ สถิติระบุว่าคนในสหภาพยุโรปทิ้งเสื้อผ้ากันคนละประมาณ 11 กิโลกรัมต่อปี          แต่นั่นก็ยังไม่เท่าไรเมื่อเทียบกับประเทศที่มี “การบริโภคเสื้อผ้าต่อคน“ เป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีอัตราการทิ้งเสื้อผ้าของประชากรอยู่ที่ 37 กิโลกรัมต่อคนต่อปี  ในขณะที่ออสเตรเลียตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยสถิติการซื้อเสื้อผ้าคนละ 27 กิโลกรัม และทิ้งในอัตรา 23 กิโลกรัมต่อปี         ผู้บริโภคอาจไม่คิดว่าการมีเสื้อผ้าล้นตู้จะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากมายนัก เมื่อไม่มีพื้นที่จัดเก็บ ก็แค่นำไปบริจาคให้มูลนิธิต่างๆ หรือขายเป็นเสื้อผ้ามือสองหาเงินเข้ากระเป๋า บริษัทที่รับซื้อเสื้อผ้าเก่าเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศอื่นก็มี ... แต่เดี๋ยวก่อน รู้หรือไม่ว่าร้อยละ 10 ของก๊าซเรือนกระจกในโลกเรามาจาก “ขยะเสื้อผ้า” ที่ชาวโลกร่วมสร้างกันปีละไม่ต่ำกว่า 92 ล้านตัน (เทียบเท่ากับการนำเสื้อผ้าหนึ่งคันรถบรรทุกไปเทลงบ่อขยะหรือเตาเผาทุกหนึ่งวินาที) และหากไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงเทรนด์นี้ นักวิชาการคาดการณ์ว่าโลกเราจะมีขยะเสื้อผ้า 134 ล้านตันในปี 2030         แม้การ “รีไซเคิล” ดูจะเป็นทางออก แต่ปัจจุบันมีเสื้อผ้าเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว ด้วยความซับซ้อนของดีไซน์เสื้อผ้ายุคนี้ ส่วนประกอบตกแต่ง เส้นใยหลากหลายชนิด รวมถึงสีเคมีที่ใช้ย้อม ล้วนเป็นอุปสรรคที่ทำให้การรีไซเคิลเป็นเรื่องยากและมีต้นทุนสูง           ในขณะที่อีกร้อยละ 80 ของเสื้อผ้าเหล่านี้จะถูก “ส่งต่อ” ไปยังประเทศที่สามเพื่อขายเป็นเสื้อผ้ามือสอง แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างที่คิด ฉลาดซื้อขอพาคุณไปดูเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศกานา ที่กำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมจาก “ขยะเสื้อผ้า”  หน้าผาหลากสี        ทุกสัปดาห์จะมีเสื้อผ้าใช้แล้วจากยุโรป อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย จำนวน 60 ตู้คอนเทนเนอร์ (หรือประมาณ 15 ล้านชิ้น) ถูกส่งเข้ามายังเมืองอักกรา เมืองหลวงของกานา ฮับเสื้อผ้ามือสองที่ใหญ่ที่สุดในอัฟริกาตะวันตก และที่ตั้งของ “ตลาดคันตามันโต” ที่มีแผงค้าเสื้อผ้ามือสองกว่า 5,000 แผง         ก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่มีการเปิดกระสอบ (ที่ผู้ค้าทุนหนาซื้อมาในราคา 95,000 เหรียญ) พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยจะกรูกันเข้ามาแย่งกันหยิบฉวย “เสื้อผ้าแบรนด์เนม” ที่สามารถนำไปขายทำราคาได้สูงๆ แต่เดี๋ยวนี้แค่แย่งให้ได้ “เสื้อผ้าสภาพดีพอขายได้” ก็เก่งมากแล้ว         เพราะปัจจุบันในบรรดาเสื้อผ้าใช้แล้วที่นำเข้ามายังกานา มีเพียงร้อยละ 60 เท่านั้นที่สภาพดีพอที่จะนับเป็น “สินค้า” ส่วนที่เหลือต้องคัดทิ้งเป็นขยะ ที่สำคัญยังมีส่วนที่เป็น “ขยะ” อยู่แล้วปะปนมาในกระสอบด้วย         ภาระนี้จึงตกเป็นของชาวเมืองที่นี่ ศักยภาพในการกำจัดขยะของเมืองอักกราอยู่ที่วันละ 2,000 ตัน เมื่อขยะทั่วไปของเมืองรวมกับขยะเสื้อผ้าอีก 160 ตันต่อวัน จึงเกินความสามารถที่จะจัดการได้ ส่วนที่เหลือจึงถูกนำไปเผา แต่เนื่องจากปริมาณของมันมหาศาลจึงไม่สามารถเผาได้หมด เสื้อผ้าที่เหลือจากการเผาก็จะถูกนำไปกองรวมกันให้เผชิญแดดลมและความชื้นไปตามสภาพ เกิดเป็นกองขยะริมชายฝั่งทะเล ที่ถูกอัดแน่นพอกพูนขึ้นทุกวันจนดูคล้ายกับหน้าผาหลากสี ที่กลายเป็น “แลนด์มาร์ก” ของเมืองนี้ไป         แต่มันคงจะไม่ถูกพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเร็วๆ นี้ เพราะนอกจากจะเป็นมลพิษทางสายตาแล้ว พลาสติกหรือสารเคมีจากสีย้อมที่รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำยังสร้างความลำบากให้กับชีวิตชาวบ้านที่ต้องอาศัยใช้น้ำและชีวิตของสัตว์น้ำในทะเลด้วย         ประเทศในอัฟริกาประเทศอื่นก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน บางแห่งรุนแรงจนรัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซง เช่น กรณีของรวันดา ที่ตัดสินใจแบนการนำเข้าเสื้อผ้าเหล่านี้ไปเลย เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปกป้องอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในประเทศ ในขณะที่เคนยา และแทนซาเนีย กลับไม่สามารถทำอย่างนั้นได้เพราะติดเงื่อนไขที่ทำไว้กับสหรัฐอเมริกา หากไม่รับ “ขยะ” เหล่านี้ ก็จะต้องพบกับปัญหาเศรษฐกิจที่จะตามมา ฟาสต์แฟชันยังคงฟาสต์ฟอร์เวิร์ด >>>         ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา แบรนด์เสื้อผ้าจากฝั่งยุโรปที่เคยจำหน่ายเสื้อผ้าปีละ 2 ซีซัน ก็สามารถผลิตออกมาวางขายได้ถึงปีละ 12 ถึง 24 คอลเลคชัน และเป็นที่รู้กันของ “สายแฟ” ว่าเดี๋ยวนี้มีเสื้อผ้าออกใหม่ทุกสัปดาห์ (เท่ากับ 52 ไมโครซีซัน เลยทีเดียว)         นอกจากนี้การเปิดตัวของร้านเสื้อผ้าออนไลน์ที่รองรับการสั่งซื้อตลอด 24 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น SHEIN ร้านเสื้อผ้าออนไลน์ (ประเภทไม่มีหน้าร้าน) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทมียอดขาย 6,200 ล้านเหรียญในปี 2020 และ 15,000 ล้านเหรียญในปี 2021 และความร้อนแรงนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัทซึ่งมีมูลค่า 100,000 เหรียญสหรัฐ ยังสามารถระดมทุนได้อีก 1,000 ล้านเหรียญ         ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ SHEIN คือสหรัฐฯ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงในวัยต่ำกว่า 25 ปี เรื่องนี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่ระบุว่ากลุ่มคนที่ซื้อเสื้อผ้ามากที่สุดคือวัยรุ่นผู้หญิง เขาพบว่าคนกลุ่มนี้ซื้อเสื้อผ้าปีละ 50 ถึง 60 ชิ้น และในจำนวนนี้มีมากกว่าร้อยละ 10 ที่ไม่เคยหยิบออกมาใส่        กระแสสังคมโซเชียลที่กระตุ้นการซื้อด้วยวาทกรรม “ของมันต้องมี” ภาพการหิ้วถุงพะรุงพะรังเดินหัวเราะร่าเริงออกจากร้าน รวมถึงการนำเสนอว่าการซื้อเสื้อผ้าเพื่อมาใส่ (เพียงครั้งเดียว) ในโอกาส “พิเศษ” นั้นเป็นเรื่องปกติ ล้วนมีอิทธิพลต่อ “คนรุ่นใหม่”         งานสำรวจจากอังกฤษพบว่า หนึ่งในสามของสาวๆ ที่นั่นมองว่าเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วหนึ่งหรือสองครั้ง ถือเป็นเสื้อผ้า “เก่า”  ในขณะที่หนึ่งในเจ็ดบอกว่าการปรากฏตัวซ้ำในภาพถ่ายด้วย “ชุดเดิม” เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ที่น่าสนใจคือ คน Gen Z และมิลเลนเนียล ที่ขึ้นชื่อว่าตระหนักถึงปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้า และให้การยอมรับ “เสื้อผ้ามือสอง” มากกว่าคนรุ่นก่อน กลับไม่ตั้งคำถามว่าถ้าเสื้อผ้าราคาถูกขนาดนี้ คนที่เกี่ยวข้องในสายการผลิต (เช่น เกษตรกร เจ้าของโรงงาน พนักงานโรงงาน ธุรกิจขนส่ง) จะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมหรือไม่                                                                         ข้อมูลอ้างอิงhttps://ecdpm.org/talking-points/sustainable-fashion-cannot-stop-eu-borders/?fbclid=IwAR0QRttzmKb8VB7cT2p0_N4ObdoNBWKEDOZTbgW1GJEy0DaZ-zNiJW63DTYhttps://www.abc.net.au/news/2021-08-12/fast-fashion-turning-parts-ghana-into-toxic-landfill/100358702?fbclid=IwAR2HZoRrPYBNtPLrsd0vN1V1dGSiJf7a4tXiNleJ7QP00bHoh_DT8lAtM1ghttps://www.abc.net.au/news/2021-06-11/textile-waste-consumption-under-estimated/100184578?fbclid=IwAR08GFcy-Y-PJAwx6Qris5Qk7l_cwZ-_KQZb9UovsdXeSjnEJqJ1Fa6jOfMhttps://www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3173201/why-does-gen-z-buy-so-much-fast-fashion-if-theyre-so?fbclid=IwAR1kNqi92pJPbFdett3nJH6Z99Dq8LQlMu7iJ3lJ5RUW15s-EEWoaF3oSR0https://www.bbc.com/future/article/20200710-why-clothes-are-so-hard-to-recyclehttps://fashiondiscounts.uk/fast-fashion-statistics/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 อู่ซ่อมรถด้วยอะไหล่มือสองไม่มีคุณภาพ ทำอย่างไรได้บ้าง

        รถยนต์เกิดความเสียหายเนื่องจากอุบัติเหตุ เมื่อนำเข้าอู่ซ่อมตามที่บริษัทประกันรถแนะนำ ก็ยังไม่วายโดนดี มีการซ่อมแซมด้วยอะไหล่มือสองของไม่มีคุณภาพ แถมยังกักรถไว้ต่อรองเรียกเงินอีก นี่คือสิ่งที่คุณชนิกาและสามีร้องเรียนมาเพื่อขอคำปรึกษา เรามาดูกันว่าเรื่องเป็นมาอย่างไรและควรจัดการอย่างไร         เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา คุณชนิกาขับรถอยู่ดีๆ ในช่องทางที่ถูกต้อง ก็มีรถยนต์อีกคันพุ่งมาชน โชคดีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่โชคร้ายที่รถยนต์ได้รับความเสียหายจนใช้งานไม่ได้ อย่างไรก็ตามรถยนต์คันนี้มีประกันภัย ชั้นสอง บวกทุนค่าซ่อมรถยนต์ 1,000,000 บาท กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งไว้ ขอเรียกว่า บริษัท A จึงพอให้อุ่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องการซ่อม        เจ้ากรรมรถยนต์ที่อุตส่าห์ลากไปยังอู่ที่รู้จักปฏิเสธให้บริการด้วยเหตุผลว่า ไม่ใช่อู่ที่อยู่ในเครือของบริษัทประกัน A จึงปรึกษากับตัวแทนบริษัทประกันว่า ควรเข้าซ่อมที่อู่ไหน ซึ่งบริษัทแนะนำ อู่ ช. ว่าเป็นอู่ในเครือของประกัน เธอจึงนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าซ่อมแซมกับอู่ดังกล่าว อู่กับบ.ประกันทำสัญญาซ่อมแซมกัน แบบเต็มวงเงินคือ 1 ล้านบาท โดยบ.ประกันโอนเงินดังกล่าวให้กับสามีของคุณชนิกาซึ่งเป็นเจ้าของรถ เมื่อโอนเงินแล้วก็ยกเลิกกรมธรรม์ไป และระบุว่า ไม่รับผิดชอบใดๆ หลังโอนเงินเต็มทุนประกันแล้ว         ดังนั้นเธอและสามีจึงต้องเป็นคนติดตามการซ่อมแซมดังกล่าว ซึ่งพบปัญหาหลายประการ เช่น การจัดหาอะไหล่ที่ไม่ตรงกับรุ่น มีการนำอะไหล่มือสองไม่มีคุณภาพมาเปลี่ยนและมีการแปลงสภาพรถ เธอกับสามีพยายามติดต่อเพื่อขอให้ใช้อะไหล่ที่ได้มาตรฐาน แต่ทางอู่ไม่ยอมรับฟังข้อเสนอ เธอและสามีจึงขอยุติการซ่อมกับ อู่ ช. และตั้งใจจะนำรถไปซ่อมที่อู่อื่นแทน ทางบ.ประกันก็ทำหนังสือยุติการซ่อมมาให้ในเดือนธันวาคม 2562 เมื่อเธอกับสามีจะไปนำรถออกจากอู่ ต้องพบกับท่าทีคุกคามของเจ้าของอู่และพนักงานของอู่ ช. เพื่อเลี่ยงการทะเลาะวิวาทเธอและสามีจึงไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ และไปร้องเรียนต่อ คปภ.และแจ้งให้บริษัทประกันภัยช่วยเข้ามาเคลียร์ให้ จึงมีการนัดเจรจากันขึ้น ผลการเจรจาคือ อู่ขอเก็บเงินค่าซ่อมแบบเหมา 850,000 บาท โดยไม่มีการชี้แจงค่าใช้จ่ายในส่วนของอะไหล่ต่างๆ หากไม่ยินยอมจ่ายอู่จะใช้สิทธิกักรถไว้ คุณชนิการู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เพราะอู่ชี้แจงไม่ได้ว่า จำนวนเงิน 850,000 มีที่มาอย่างไร อู่จึงยึดรถไว้ ทำให้คุณชนิกาขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ ไปถึง 93 วัน เธอจึงปรึกษามาว่าควรทำอย่างไร แนวทางการแก้ไขปัญหา         หลังจากโทรมาปรึกษา คุณชนิกาตัดสินใจฟ้องร้องอู่ ช. โดยทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ให้คำแนะนำว่า แม้จะเป็นการซ่อมรถตามที่ซื้อประกันไว้ แต่การซ่อมก็ยังคงต้องทำตามหลักเรื่องสัญญา หากซ่อมแล้วมีการปกปิดและแอบนำเอาอะไหล่มือสองมาอ้างเป็นอะไหล่แท้ อาจเข้าข่ายเป็นการฉ้อโกง หรือการคิดการซ่อมแซมแบบเหมาจ่ายโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมก่อน ผู้บริโภคมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากค่าขาดประโยชน์ได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 213 รถมือสองต้องระวัง

หนึ่งเดือนถัดมา รถเริ่มมีปัญหาสตาร์ทไม่ติด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด เมื่อนำเข้าอู่เพื่อตรวจอาการช่างแจ้งว่า มีปัญหาไดสตาร์ทต้องเปลี่ยนใหม่ มีค่าใช้จ่าย 4,000 บาท คุณพิภพจึงติดต่อพนักงานขายที่เคยแจ้งว่าทางเต็นท์รับประกันสามเดือนเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาให้ ทางพนักงานขายแจ้งกลับว่า จะช่วยซ่อมรถยนต์ให้แต่ต้องมาซ่อมกับอู่ของทางเต็นท์เท่านั้น รถมือสองต้องระวัง      สำหรับยุคปัจจุบัน รถเป็นปัจจัยสำคัญไม่ด้อยกว่าปัจจัยสี่ ช่วยให้การเดินทางสะดวกสบาย และหลายคนก็มีไว้เพื่อการประกอบอาชีพ แต่เพราะพาหนะชนิดนี้มีราคาสูงมาก การจะเป็นเจ้าของรถใหม่สักคันจึงต้องมีทุนทรัพย์พอสมควร สำหรับผู้ที่ทรัพย์ไม่มากแต่จำเป็นต้องมีรถ รถยนต์มือสองจึงเป็นทางเลือกที่เพิ่มโอกาสในการเป็นเจ้าของ แต่ก็มีข้อพึงระวังหลายอย่าง เช่นที่ผู้ร้องรายนี้กำลังปวดหัวอยู่      คุณพิภพกับคุณปานวาด ได้ติดต่อกับเต็นท์รถยนต์มือสองแถวถนนกาญจนาภิเษก เพื่อซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต รุ่นแคปติวา โดยคุณปานวาดเป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อกับทางไฟแนนซ์ ในราคาประมาณ 400,000 บาท ส่วนผู้ใช้งานตัวจริงคือคุณพิภพ ซึ่งวันที่ไปดูรถก็ได้ทดสอบรถที่บริเวณเต็นท์รถเท่านั้น โดยไม่พบปัญหาใด ในการทำสัญญาพนักงานขายแจ้งว่า มีการรับประกันเกียร์ แอร์และเครื่องยนต์ 3 เดือน และจะติดฟิล์มรถยนต์ เปลี่ยนยางขอบ แบตเตอรี่ พร้อมถ่ายน้ำมันเครื่องให้ใหม่ ซึ่งมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในเอกสาร ยกเว้นแต่การรับประกัน 3 เดือน ที่พนักงานแจ้งด้วยวาจา      ประมาณหนึ่งเดือนถัดมา รถเริ่มมีปัญหาสตาร์ทไม่ติด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด เมื่อนำเข้าอู่เพื่อตรวจอาการช่างแจ้งว่า มีปัญหาไดสตาร์ทต้องเปลี่ยนใหม่ มีค่าใช้จ่าย 4,000 บาท คุณพิภพจึงติดต่อพนักงานขายที่เคยแจ้งว่าทางเต็นท์รับประกันสามเดือนเพื่อให้ช่วยแก้ปัญหาให้ ทางพนักงานขายแจ้งกลับว่า จะช่วยซ่อมรถยนต์ให้แต่ต้องมาซ่อมกับอู่ของทางเต็นท์เท่านั้น ซึ่งคุณพิภพตอบตกลง แต่เมื่อรถยนต์ซ่อมเสร็จ พอนำมาใช้งานกลับพบปัญหาเพิ่มคือ รถมีเสียงดังเมื่อเหยียบคันเร่งหรือเบรก และยังมีการแจ้งรหัสปัญหาหลายอย่างบนหน้าจอแสดงผลของรถยนต์ ซึ่งคุณพิภพได้ลองสอบถามไปทางศูนย์รถเชฟโรเลต ทำให้ทราบว่ารหัสที่ขึ้นมานั้น แจ้งปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า เซนเซอร์ที่ล้อเกิดปัญหา 1 ล้อ กล่อง ETU และโช้คมีปัญหา หากจะซ่อมต้องเสียค่าใช้จ่ายในหลักแสนบาทขึ้น ทางคุณพิภพจึงปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เขาต้องการให้เต็นท์รับผิดชอบซ่อมแซมรถให้มีสภาพปกติ เพราะรับประกันไว้สามเดือน ควรทำอย่างไรดี แนวทางแก้ไขปัญหา      เมื่อพิจารณาปัญหาของคุณพิภพแล้ว ทางศูนย์ฯ แนะนำว่า ควรรีบไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจเพราะเข้าข่ายว่าเต็นท์รถฉ้อโกง และเนื่องจากอายุความกรณีฉ้อโกงมีระยะเวลาเพียงสามเดือน นับแต่ที่รู้ว่าถูกฉ้อโกงจึงควรดำเนินการเรื่องนี้ก่อน อย่างไรก็ตามทางคุณพิภพอยากให้เริ่มจากการเจรจา หากไม่เป็นผลจึงจะดำเนินการแจ้งความต่อไป     ในการติดต่อประสานงานเพื่อให้เกิดการเจรจานั้น ทางฝ่ายเต็นท์ยินดีที่จะไกล่เกลี่ยกับทางผู้ร้อง แต่ปรากฏว่า เมื่อถึงวันที่นัดหมายทางฝ่ายผู้ร้องติดธุระสำคัญที่ต่างจังหวัดไม่สามารถมาตามนัดได้ จึงเปลี่ยนเป็นการแจ้งความไว้ก่อนเพื่อไม่ให้กระทบอายุความ ดังนั้นขอพักเรื่องนี้ไว้ก่อน เมื่อมีความคืบหน้าอย่างไรจะได้นำมาเสนอต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2554 9 พฤษภาคม 2554 คุมเข้มเต็นท์รถมือสอง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้จัดการ ประชุมสัมมนาในหัวข้อ “แนวทางการปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจรถยนต์ใช้แล้ว” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์ใช้แล้ว (เต็นท์รถมือสอง) ประชาชนผู้ซื้อรถ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาผู้บริโภคไม่มีข้อมูลในการเลือกซื้อ และมักจะถูกหลอกให้ซื้อรถมือสองที่ไม่ได้คุณภาพ พร้อมกันนี้ สคบ.จะประกาศให้ธุรกิจการขายรถยนต์มือสองเป็นธุรกิจควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ.2550 และต้องจัดทำฉลากให้ถูกต้องตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 24 พ.ศ.2550 โดยจะต้องจัดให้มีหลักฐานการรับเงินหรือใบเสร็จรับเงินที่ถูกต้อง และการติดฉลากรายละเอียดของรถยนต์ใช้แล้วให้ถูกต้องตามกฎหมาย -------------------- 20 พฤษภาคม 2554 มิจฉาชีพแฝงตัวไกด์ทัวร์ – บริษัทนำเที่ยว ทำนักท่องเที่ยวทุกข์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยผลการสำรวจล่าสุดพบว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2551 จนถึงปัจจุบัน มีนักท่องเที่ยวมาร้องเรียนถึง 228 ราย ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนหลักๆ จะเป็นเรื่องการหลอกลวงโดยประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่มีใบอนุญาต และชำระเงินค่าบริการแล้วแต่เดินทางท่องเที่ยวไม่ได้ รวมถึงการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในธุรกิจนำเที่ยว ซึ่งบริษัททัวร์ที่ถูกร้องเรียนมี 77 บริษัท บางบริษัทถูกร้องเรียนซ้ำถึง 6 ครั้ง   ซึ่งเรื่องที่ถูกฟ้องร้องเป็นคดีความส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการโกงตั๋วเครื่องบินและที่พัก โดยหลายคดีไกล่เกลี่ยกันได้ โดยเป็นจากฟ้องจากชาวต่างชาติประมาณ 10% ซึ่งก็ถือว่าสร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของประเทศ กรมการท่องเที่ยวจะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและสมาคมโรงแรมไทย จะรวมกันพยายามดูแลกวดขันเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับนักท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของประเทศ   หากผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวคนไหนถูกหลอกลวงจากไกด์หรือบริษัทนำเที่ยว สามารถร้องเรียนได้ที่กรมการท่องเที่ยว 0-2219-4010-17 หรือกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว 0-2134-0521

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 179 รถมือสอง สภาพ(ภายนอก)เยี่ยม

ตาดีได้ตาร้ายเสีย สำนวนนี้คงใช้ได้ดีกับผู้ที่กำลังจะซื้อรถยนต์มือสอง เพราะหากเราเลือกผิดคันก็ต้องคอยตามซ่อมปัญหาจุกจิกต่างๆ จนพาให้เหนื่อยใจได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาการซ่อมถี่ ผู้ขับส่วนมากจึงมักทดลองขับก่อนตกลงซื้อ เพราะลำพังแค่คำโฆษณาจากผู้ขายอย่างเดียว ก็ไม่ได้รับประกันว่ารถจะดีจริง อย่างไรก็ตามหากเราเจอคันที่ชอบสุดๆ แต่เจ้าของเต็นท์ ไม่ยอมให้ทดลองขับ เราควรทำอย่างไรผู้ร้องรายนี้ถูกใจรถมือสอง ยี่ห้อ Nissan CEFIRO จากเต็นท์รถแห่งหนึ่งย่านลาดปลาเค้า 28 เมื่อพูดคุยสอบถามกับเจ้าของเต็นท์ก็ได้รับการโฆษณาว่า รถคันดังกล่าว อยู่ในสภาพดี เครื่องยนต์พร้อมใช้งาน ไม่ต้องซ่อมหรือทำอะไรเพิ่มเติมเลย ซึ่งหากต้องการรถก็เพียงแค่มัดจำไว้จำนวน 5,000 บาทเท่านั้นอย่างไรก็ตามก่อนมัดจำผู้ร้องต้องการทดสอบสภาพรถก่อน แต่เจ้าของเต็นท์กลับแจ้งว่า ไม่ให้มีการทดลองขับแต่อย่างใด ด้วยความที่ถูกใจรถคันดังกล่าว เพราะสภาพภายนอกดูดีสมคำบอกเล่าของเจ้าของ และเชื่อว่าสภาพภายในก็คงดีเช่นนั้นจริงๆ จึงตกลงมัดจำไว้ และมารับรถในไม่อีกกี่วันถัดมา ซึ่งเหตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด เพราะหลังจากขับรถคันดังกล่าวออกมาจากเต็นท์ไม่ถึง 500 เมตร ห้องเครื่องของรถส่งเสียงดังและสั่นสะเทือนแรงมาก ทำให้วิ่งกระตุกตลอดเวลา เมื่อโทรศัพท์ไปสอบถามเจ้าของก็ได้รับคำตอบว่า ให้ลองเติมน้ำมันกับแก๊สดูก่อน ซึ่งผู้ร้องก็ได้ทำตาม โดยเสียค่าน้ำมันและแก๊สไปจำนวน 1,000 และ 550 บาท ตามลำดับ อย่างไรก็ตามอาการของเครื่องยนต์ก็ยังคงเหมือนเดิม และรถก็เริ่มวิ่งต่อรอบต่ำมาก ขับได้ไม่เกิน 80 – 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทั้งๆ ที่เป็นเครื่องยนต์ 3,000 ซีซี 6 สูบ  ผู้ร้องจึงโทรศัพท์กลับไปสอบถามเจ้าของเต็นท์รถคันดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งก็ได้แนะนำวิธีแก้ไขปัญหาว่า ให้ขับรถไปก่อน แล้วไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่องกับน้ำมันเกียร์ ซึ่งหากอาการยังไม่ดีขึ้นค่อยโทรศัพท์ติดต่อกลับมาใหม่เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ ผู้ร้องจึงตัดสินว่าจะขอคืนรถคันดังกล่าว และโทรศัพท์ไปเลิกสัญญากับไฟแนนซ์ โดยให้เหตุผลว่า รถไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตามที่เจ้าของเต็นท์กล่าวอ้าง ต่อมาวันรุ่งขึ้นจึงนำรถเจ้าปัญหานี้กลับมาคืนที่เต็นท์ และขอเงินมัดจำจำนวน 5,000 บาทคืน แต่เจ้าของเต็นท์ดังกล่าวไม่ยอมคืนเงินให้ บอกเพียงว่าจะตรวจซ่อมให้เอง ผู้ร้องก็ตกลง ซึ่งหลังจากช่างประจำเต็นท์ตรวจสอบแล้วเรียบร้อย ก็ยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ว่าอาการดังกล่าวเกิดจากอะไร แต่ก็ยังยืนยันที่จะไม่คืนเงินค่ามัดจำให้ ดังนั้นผู้ร้องจึงมาขอให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์พิทักษ์สิทธิ์แนะนำให้ผู้ร้องทำจดหมาย ขอคืนรถยนต์กับทางเต็นท์พร้อมทั้งคืนเงินค่ามัดจำ เพราะมีการหลอกลวงผู้บริโภคด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่า รถอยู่ในสภาพดี พร้อมใช้ พร้อมให้ถ่ายรูปรถคันดังกล่าวเป็นหลักฐาน และแจ้งไปความลงบันทึกประจำวัน จากนั้นจึงนัดเจรจาไกล่เกลี่ย หลังการเจรจา ไม่สามารถตกลงกันได้ เพราะเจ้าของเต็นท์อ้างว่า รถคันดังกล่าวน่าจะหัวเทียนมีปัญหา ซึ่งน่าจะเกิดจากการล้างเครื่องแล้วน้ำเข้าไป หากเปลี่ยนหัวเทียนก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งผู้ร้องเกิดความไม่ไว้วางใจเสียแล้ว จึงไม่ต้องการรถยนต์คันดังกล่าว ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์จึงแนะนำให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป แต่ผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีอาจยืดเยื้อและเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม จึงขอยุติเรื่อง โดยต้องจำใจเสียเงินให้กับกลโกงของเจ้าของเต็นท์รถรายนี้ไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 โดนหลอกให้ซื้อของมือสอง

"กระทู้เตือนภัย ระวังร้านมือถือขายส่งในห้างดัง / ระวังโดนหลอกซื้อเครื่องย้อมแมว…”เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับข้อความเหล่านี้ เมื่อกำลังหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเพื่อเลือกซื้อมือถือใหม่สักเครื่อง แต่ก็อย่างที่เรารู้กันดีกว่าหากไม่ได้เป็นเซียนมือถือจริงๆ การแยกแยะความต่างระหว่างเครื่องจริงกับเครื่องปลอม หรือการตรวจสอบว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งจริงหรือไม่ นับวันยิ่งเป็นเรื่องที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ดังเหตุการณ์ต่อไปนี้ที่ผู้ร้องต้องการซื้อมือถือมือหนึ่ง แต่โดนต้มจนเปื่อยได้เครื่องมือสองมาใช้ ซึ่งหมดประกันไปแล้วเมื่อ 1 ปีก่อนคุณดวงพรต้องการโทรศัพท์ยี่ห้อ iPhone 4s สีดำมือหนึ่งเครื่องใหม่มาใช้งาน เมื่อเดินเลือกตามร้านตู้ (ร้านตู้กระจกค้าปลีกมือถือ) ในห้างดังแถวอนุสาวรีย์ชัยไปเรื่อยๆ ก็พบร้านที่ถูกใจ หลังตรวจสอบเครื่องและอุปกรณ์ต่างๆ ก็พบว่าอยู่ในสภาพดี อีกทั้งทางร้านยังบอกว่าเครื่องรับประกันศูนย์อีก 1 ปี เธอจึงตกลงใจซื้อมาในราคา 10,900 บาท โดยใช้การผ่อนชำระด้วยบัตรเครดิต เหตุการณ์ก็ดำเนินไปได้ด้วยดีจนกระทั่งผ่อนเครื่องหมด ปัญหาจึงเริ่มมาเยือน ผู้ร้องพบว่าเวลาเปิดลำโพงแล้วไม่ได้ยินเสียง หรือเวลารับสายและโทรออกก็ไม่ได้ยินเสียงของฝั่งตรงข้าม จึงนำกลับไปซ่อมที่ร้านเพราะรู้ว่ายังอยู่ในช่วงเวลาการรับประกันตามที่ร้านบอกไว้ อย่างไรก็ตามทางร้านกลับแนะนำว่า ให้เธอนำไปซ่อมที่ศูนย์บริการของโทรศัพท์ iPhone เองจะรวดเร็วกว่า ดังนั้นเธอจึงไปที่ iCare ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลหลังการขายของโทรศัพท์ยี่ห้อดังกล่าว แต่แล้วก็ต้องตกใจเมื่อพนักงานนำเครื่องไปตรวจสอบระยะเวลาการรับประกันแล้วพบว่า โทรศัพท์เครื่องนี้ได้มีการเปิดใช้งานตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน และหมดอายุการรับประกันไปกว่า 1 ปีแล้ว! คุณดวงพรจึงกลับมาที่ร้านเดิมและแจ้งเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็ได้รับคำตอบที่บ่ายเบี่ยงจากทางร้านว่า ถ้าผู้ร้องไปดำเนินการซ่อมที่ศูนย์เองไม่ได้ ก็จะส่งเครื่องซ่อมที่ศูนย์ให้เอง เพียงแต่อาจจะต้องรอนานกว่าเดิมเท่านั้น เมื่อเหตุการณ์กลายเป็นแบบนี้ ผู้ร้องจึงมั่นใจว่าถูกร้านหลอกให้ซื้อเครื่องมือสองแล้วแน่นอน และที่สำคัญคือทางร้านไม่มีท่าทีจะรับผิดชอบต่อเรื่องนี้เลย เธอจึงมาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธ์เพื่อขอความช่วยเหลือแนวทางการแก้ไขปัญหาโชคดีที่ผู้ร้องมีใบเสร็จการชำระเงินด้วยบัตรเครดิตเก็บไว้ จึงสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้ ซึ่งสำหรับกรณีนี้ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์โทรศัพท์เจรจาไกล่เกลี่ยให้ โดยขอให้รับเครื่องคืนพร้อมคืนเงินให้ผู้บริโภคในราคาที่เป็นธรรม เพราะการที่ผู้ขายไม่บอกความจริงกับผู้ซื้อตั้งแต่ทีแรก อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา ฐานฉ้อโกงหรือหลอกลวงผู้บริโภคแม้ตอนแรกร้านดังกล่าวจะบ่ายเบี่ยงไม่ยอมทำตามข้อเสนอ แต่เพื่อเป็นการยุติไม่ให้ปัญหาบานปลาย และเสื่อมเสียชื่อเสียงของร้านไปมากกว่านี้ จึงยินยอมคืนเงินให้ผู้ร้องจำนวน 7,000 บาท ด้านผู้ร้องก็ยินดีรับเงินจำนวนนั้นไป เพราะไม่อยากเสียเวลาฟ้องร้อง พร้อมสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ซื้อโทรศัพท์มือถือที่ร้านตู้อีก แหม…ใครจะไปซื้อลง มาหลอกกันซะอย่างนี้ข้อแนะนำ ทั้งนี้แม้ไม่ใช่ร้านตู้ทุกร้านที่จะหลอกลวงผู้บริโภค แต่เราก็ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ โดยเบื้องต้นหากต้องการซื้อเครื่องมือหนึ่งก็ต้องตรวจสอบอายุการรับประกัน ซึ่งมีวิธีง่ายๆ ด้วยการตรวจสอบรหัส Serial number (SN) หรือหมายเลข IMEI (อีมี่) หลังเปิดเครื่องที่เบอร์ *#06# โดยบนหน้าจอจะแสดงเลขจำนวน 15 หลัก เราก็นำเลขเหล่านี้ไปกรอกในเว็บไซต์ต่างๆ ที่สามารถตรวจสอบอายุการรับประกันมือถือได้ ซึ่งจะรู้ทันทีว่าเราได้ของมือหนึ่งหรือมือสองมาครอบครอง เพราะหากทางร้านหลอกลวงเราก็แค่คืนเครื่องนั้นไป โดยไม่ต้องเสียทั้งเงินทั้งเวลานั่นเองอย่างไรก็ตามสำหรับการตรวจสอบอื่นๆ เช่น วิธีตรวจสอบของแท้หรือของปลอม หรือเครื่องหิ้วเป็นอย่างไร เราก็ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดจากเว็บไซต์ต่างๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ หรือสำหรับกรณีที่เราตรวจสอบดีแล้วแต่เครื่องก็ยังมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อใดเราสามารถนำกลับไปเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ภายใน 7 วัน พร้อมกับไม่ลืมหลักฐานสำคัญต่างๆ เช่น ใบเสร็จรับเงิน เพราะสามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันทางกฎหมายได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 รถมือสองถูกปรับแก้ไมล์หลอกขายผู้บริโภค

คุณณัฐสุดา ได้ติดต่อซื้อรถยนต์มือสองยี่ห้อโตโยต้า ฟอร์จูนเนอร์ รุ่นปี 2006 ผ่านทางเว็บไซต์ตลาดรถดอทคอม ผู้ประกาศขายรถคือนายณรงค์ศักดิ์ ลงโฆษณาว่าเป็นรถบ้านเจ้าของขายเอง และแจ้งว่ารถใช้งานวิ่งได้ระยะทางเพียงแค่ 75,000 กิโลเมตร “เมื่อดิฉันได้ไปดูสภาพรถ ปรากฏเลขไมล์ที่ระยะทางประมาณ 76,000 กิโลเมตร ก็ได้ต่อรองราคาจากราคาโฆษณา 820,000 บาท เหลือราคา 815,000 บาท” หลังจากนั้นคุณณัฐสุดาได้ติดต่อขอสินเชื่อจากไฟแนนซ์แห่งหนึ่ง จนสามารถทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับไฟแนนซ์ได้สำเร็จในเดือนตุลาคม 2553 และมีการรับมอบโอนกันเรียบร้อยที่ขนส่งทางบก กรุงเทพฯ คุณณัฐสุดาจึงนำรถกลับบ้าน ต่อมาในเดือนมกราคม 2554 รถมีปัญหาเร่งไม่ขึ้นและสัญญาณเตือนถอยหลังไม่ทำงาน คุณณัฐสุดาจึงนำรถไปเข้าศูนย์โตโยต้าที่จังหวัดปทุมธานี ช่างได้ทำการตรวจเช็คและมาแจ้งคุณณัฐสุดาว่า รถถูกปรับแก้ไมล์จากระยะทางจริงคือ 240,000 กิโลเมตร/ไมล์ และรถต้องทำการเปลี่ยนซ่อมหลายอย่าง ความลับของรถยนต์ที่ถูกเปิดเผยทำให้คุณณัฐสุดา ต้องจ่ายค่าซ่อมไปร่วม 2 หมื่นกว่าบาท คุณณัฐสุดาได้โทรศัพท์ติดต่อไปที่นายณรงค์ศักดิ์ผู้ขายรถ แต่นายณรงค์ศักดิ์ปฏิเสธความรับผิดชอบ คุณณัฐสุดาจึงต้องร้องเรียนมาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในท้ายที่สุด แนวทางแก้ไขปัญหา มีหลักฐานค่าหนังคาเขา ว่ารถถูกปรับแก้ไมล์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ให้คำแนะนำแก่คุณณัฐสุดาว่า สามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้ คุณณัฐสุดาบอกว่าจะลองให้โอกาสแก่ผู้ขายอีกสักครั้งเพื่อให้แสดงความรับผิดชอบ หากไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จะใช้สิทธิฟ้องร้องอย่างแน่นอน พอคุณณัฐสุดาบอกว่าจะฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคและฟ้องเป็นคดีอาญาด้วยที่หลอกขายสินค้าแน่ๆ หากไม่รับผิดชอบ ทางผู้ขายจึงเสนอที่จะชดใช้เงินให้จำนวน 1 แสนบาท คุณณัฐสุดาจึงตกลงและได้รับเงินชดใช้ในความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นที่เรียบร้อยเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 รองเท้ามือสอง เสน่ห์หรือภัยเงียบ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า สินค้ามือสอง มีเสน่ห์สำหรับหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นแบบที่ถูกใจหรือราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับคุณภาพของสินค้า โดยเฉพาะรองเท้ามือสอง ซึ่งคงไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นเท่านั้นที่นิยมรองเท้ามือสอง คนอีกหลายวัยก็นิยมเช่นกัน เพราะสินค้ารองเท้ามือสองนั้นมีความหลากหลายของรูปแบบที่เข้าได้กับทุกกลุ่ม เพศ วัย ไม่ว่าจะเป็นผ้าใบยี่ห้อดัง รองเท้าหนังเท่ๆ หรือส้นสูงสุดเฉี่ยว   ถึงจะเป็นที่นิยมมากแค่ไหน แต่รองเท้ามือสองกำลังเป็นคำถามสำคัญที่ผู้บริโภคต้องใส่ใจมากขึ้น ว่าจะยังตระเวนซื้ออย่างสนุกสนานต่อไป หรือว่าควรมีรองเท้ามือสองไว้ในครอบครองแต่พอดี   เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่เรื่อง ขยะรองเท้ามือสองกองสูงเป็นภูเขา(ฝ่ายที่กองไว้อ้างว่าอยู่ระหว่างรอการกำจัด) เป็นปัญหาเดือดร้อนรำคาญและก่อผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ที่จังหวัดสระแก้ว ใกล้ตลาดโรงเกลือ ซึ่งถือเป็นแหล่งค้ารองเท้ามือสองที่ใหญ่สุดในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ขยะดังกล่าวได้ถูกกำจัดไปส่วนหนึ่งแต่ก็ไม่ทันกับปริมาณของตัวขยะ(ใหม่)ที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ วัน เพราะตลาดของรองเท้ามือสองนั้นติดลมบนและมีมูลค่ามหาศาลไปแล้ว คำถามก็คือ เราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาขยะรองเท้ามือสองต่อไป หรือเราจะเปลี่ยนตัวเอง ด้วยการซื้อรองเท้ามือสองให้น้อยลงหรือแม้แต่รองเท้าใหม่ก็เช่นกัน และถนอมใช้รองเท้าที่เรามีอยู่ไปจนเปื่อยขาดหมดสภาพแล้วจึงค่อยซื้อใหม่ดี   “ปัจจุบันมีโรงเท้ามือสองถูกนำเข้ามาจากต่างประเทศ กระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ภายในตลาดโรงเกลือ อ.อรัญประเทศ วันละ 6-10 ตัน เพื่อนำไปซ่อมแซม และตกแต่ง เพื่อจำหน่ายต่อไป ซึ่งจะมีชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่ต้องทิ้งเป็นขยะ ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ของรองเท้าทั้งหมด”  นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว     พิสูจน์ความสะอาดของรองเท้ามือสอง ฉลาดซื้อฉบับนี้ไปช้อปปิ้งรองเท้ามือสองจากตลาดนัดที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งของรองเท้ามือสองจำนวน 9 แห่ง โดยเลือกรองเท้าที่ไม่เหมาะกับการซัก แต่อาจต้องทำความสะอาดด้วยวิธีอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อส่องดู เชื้อโรคและเชื้อรา(standard plate count และ Mold) ว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหน  การทดสอบทำโดย บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด (Standard plate count / วิธีตรวจนับจุลินทรีย์มาตรฐาน) ผลการทดสอบ   วิธีทำความสะอาดรองเท้ามือสอง 1.ถ้าเป็นรองเท้าที่ซักด้วยน้ำและผงซักฟอกได้ เมื่อซื้อมาแล้วให้ซักล้างทำความสะอาด ตากแดดให้แห้งสนิท ก่อนสวมใส่ 2.รองเท้าที่ซักด้วยน้ำและผงซักฟอกไม่ได้ ควรเช็ดถูด้านในรองเท้าด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคหรือแอลกอฮอล์ และนำไปผึ่งแดดจัดๆ แต่ถ้าเป็นรองเท้าหนังไม่ควรผึ่งแดดจัด เพราะจะทำให้เสื่อมสภาพไวขึ้น ควรผึ่งในที่ร่มที่มีลมพัดผ่าน 3.ถ้าภายในรองเท้าเปียกชื้น การซับด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์จะช่วยดูดความชื้นออกไปได้ 4.ควรหมั่นซัก ล้าง ทำความสะอาดรองเท้าอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขอนามัยอันดีและป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์   -------------------------------------------------------------------------------------------- สิ่งที่อาจมากับของใช้มือสอง 1.อาการภูมิแพ้ ทั้งจากวัสดุ ฝุ่น เชื้อโรคหรือแม้แต่น้ำยาปรับผ้า น้ำยารีดผ้า 2.โรคจากเชื้อรา ชื่นชอบอากาศและความอับชื้นเป็นพิเศษ จึงเจริญเติบโตได้ดีในรองเท้าที่ไม่ค่อยได้ซักทำความสะอาด กรณีรองเท้ามือสอง หากไม่ทำความสะอาดให้ดีก่อนสวมใส่ อาจก่อให้เกิดอาการเท้าเป็นเชื้อรา คันตามบริเวณง่ามเท้า ฝ่าเท้า 3.โรคผิวหนัง เชื้อโรคเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังต่างๆ และเมื่อแบคทีเรียรวมตัวกับความเปียกชื้นจากเหงื่อก็จะทำให้เกิดปัญหากลิ่นอับ ซึ่งเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 144 กระแสต่างแดน

  บัตรของเรา เรทของเรา บริษัทบัตรเครดิตวีซ่างานเข้า เมื่อถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียฟ้องในข้อหาพยายามใช้อำนาจทางการตลาดผูกขาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ   ข่าวบอกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานั้น นักท่องเที่ยวที่ถอนเงินจากตู้กดเงินอัตโนมัติด้วยบัตรวีซ่าจะต้องใช้อัตราแลกเงินที่วีซ่าเป็นผู้กำหนดเท่านั้น   แม้คุณจะเลือกจ่ายค่าสินค้าบริการด้วยบัตรเครดิต บริษัทเขาก็กำหนดให้ร้านค้าต่างๆ ที่เปิดรับการจ่ายเงินด้วยบัตรวีซ่าใช้อัตราแลกเปลี่ยนของเขาอยู่ดีนั่นแหละ   คณะกรรมการฯ เป็นห่วงว่าจะเกิดการผูกขาดในธุรกิจบริการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และเจ้าอื่นจะพากันล้มหายตายจาก ไม่เหลือทางเลือกให้ผู้บริโภคในที่สุด  นั่นสินะ.. เวลาจะแลกเงินเรายังต้องเสาะหาว่าจะไปแลกเงินกับเจ้าไหนดีให้ได้อัตราสูงที่สุด แต่เวลาใช้บัตรเรากลับหมดทางเลือกไปซะอย่างนั้น     ภาษีที่เลี่ยงได้ คือกำไรของเรา? เว็บไซต์ www.ethicalconsumer.org ของอังกฤษกำลังชักชวนให้ผู้บริโภคบอยคอตอเมซอน ร้านหนังสือออนไลน์ที่เรารู้จักกันดี เพื่อกดดันให้บริษัทจ่ายภาษีให้สมน้ำสมเนื้อกับผลกำไรมหาศาลเสียที   อเมซอนไม่ใช่บริษัทเดียวที่เลี่ยงภาษี แต่ที่ถูกเพ่งเล็งหนักเพราะเว็บนี้เขาเชื่อว่าอเมซอนใช้การเลี่ยงภาษีเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของการทำธุรกิจ   รายงานในหนังสือพิมพ์ The Guardian ระบุว่า 1 ใน 4 ของลูกค้าของบริษัทอยู่ในอังกฤษ คิดเป็นยอดขายในประเทศนี้ถึง 7,500 ล้านปอนด์ (350,000 ล้านบาท) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา   แต่บริษัทไม่ได้เสียภาษีจากผลกำไรดังกล่าวให้กับรัฐบาลอังกฤษเลย เขาคาดว่าการสูญเสียครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 100 ล้านปอนด์ (4,600 ล้านบาท)   เมื่อพ.ศ. 2551 นิตยสาร Business Week ระบุว่าอเมซอนจ่ายภาษีให้รัฐบาลอเมริกันเพียงร้อยละ 4 ของผลกำไรเท่านั้น ... น้อยกว่าอีก 488 บริษัทที่อยู่ใน 500 อันดับบริษัทที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ   ถัดมาอีก 3 ปี อเมซอนใช้เงิน 5 ล้านเหรียญ(ประมาณ 150 ล้านบาท) สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายภาษีของรัฐแคลิฟอร์เนียให้เป็นประโยชน์ต่อบริษัทมากขึ้นด้วย       ใครอยากบอยคอตก็ให้ไปซื้อหนังสือจากเว็บของสำนักพิมพ์โดยตรง หรือไม่ก็อุดหนุนร้านหนังสือแถวบ้านดีกว่า(แต่ใครจะเข้าไปเปิดดูตัวอย่างหนังสือจากเว็บของอเมซอนฟรีๆ อันนี้ไม่ว่ากัน)     เมื่อสตาร์บัคส์ชักจะไม่หอมกรุ่น หลังจากสตาร์บัคส์อังกฤษถูกเปิดโปงในรัฐสภาว่ามีมาตรการเลี่ยงภาษีที่ “ไร้จริยธรรม” บริษัทจึงรีบแก้ไขสถานการณ์ด้วยการออกนโยบายลดเงินเดือนและสวัสดิการพนักงานเสียเลย โดยให้เหตุผลว่าต้องลดรายจ่ายเพื่อให้มีเงินเหลือมาจ่ายภาษีมากขึ้น   นโยบายนี้มีผลต่อพนักงานประมาณ 7,000 คน ของร้านกาแฟสตาร์บัคส์กว่า 750 สาขาในอังกฤษ ที่ต่อไปนี้จะไม่ได้ค่าจ้างในช่วงพักกลางวัน 30 นาที ค่าจ้างในวันแรกของการลาป่วย เงินโบนัสพิเศษ หรือแม้แต่คูปองกินฟรีในวันเกิด   พนักงานบอกว่าพวกเขามีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ หนึ่งเซ็นรับทราบข้อตกลง/เงื่อนไขการจ้างงานใหม่ แล้วทำงานต่อไปเงียบๆ อย่าหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาคุยเป็นอันขาด สองไม่เซ็นก็ได้ แต่ต้องลาออกไปโดยพลัน   สตาร์บัคส์แถลงว่า รายจ่ายของธุรกิจร้านกาแฟของบริษัทหมดไปกับค่าจ้างและสวัสดิการพนักงานมากที่สุด บริษัทจึงใช้เวลาในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมาปรับโครงสร้างรายจ่ายให้สมดุลกับการพัฒนาธุรกิจ   บริษัทบอกว่าได้ทำความเข้าใจกับพนักงานแล้ว โดยบางคนได้รับคำอธิบายจากผู้จัดการว่าสตาร์บัคส์ขาดทุนค่อนข้างมากในยุโรป จึงต้องหาวิธีลดรายจ่ายลง   แต่รายงานข่าวในช่วงก่อนหน้านี้บอกว่า ด้วยวิธีการอันซับซ้อนซ่อนเงื่อน ทำให้สตาร์บัคส์เสียภาษีเพียง 8.6 ล้านปอนด์ (403 ล้านบาท) จากรายได้ทั้งหมด 3,100 ล้านปอนด์ (145,200 ล้านบาท) ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา   ด้านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษก็ตั้งข้อสงสัยว่า มันเป็นไปได้อย่างไรที่บริษัทนี้จะขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอดเวลา 15 ปีที่เปิดกิจการในอังกฤษ ทั้งๆ ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่าร้อยละ 30   และที่สำคัญยังแถลงต่อผู้ถือหุ้นว่าบริษัททำกำไรได้ร้อยละ 15 ต่อปีด้วย   ตกลงมันยังไงกันแน่? แล้วทำไมภาระภาษีถึงมาตกอยู่กับพนักงานรายได้น้อยไปเสียได้?     บอกแล้วให้ซื้อรถใหม่ เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งของ สมาคมผู้บริโภคแห่งสิงคโปร์สิงคโปร์ (คล้ายๆ สคบ.บ้านเรา) ปีนี้ได้แก่ “รถมือสอง” ที่เบียดแชมป์เก่าอย่าง “ผลิตภัณฑ์ความงาม” ตกถนนไปเลย   ข่าวบอกว่าเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับรถมือสองที่เคยครองอันดับ 9 ในปีที่แล้ว ขึ้นจากมาครองตำแหน่งแชมป์ในปีนี้ ด้วยสถิติเรื่องร้องเรียนถึง 2,255 กรณี (เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 80)   สาเหตุเพราะปัจจุบันการจะซื้อรถใหม่ที่สิงคโปร์นั้นต้องมีค่าใช้จ่ายเรื่อง “ใบรับรองการเป็นเจ้าของรถ” ที่สูงถึง 92,100 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 2 ล้านกว่าบาท ... โอ้แม่เจ้า ... นี่ยังไม่ได้รวมราคารถเลยนะ) ที่สำคัญเขาบอกว่าใบรับรองฯ ที่ว่านี้ยังสามารถแพงได้อีก   ก็คงมีแต่เศรษฐีเท่านั้นที่จะซื้อรถใหม่ได้ ส่วนครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางก็ต้องพึ่งรถมือสองซึ่งนอกจากจะเกเรอยู่บ่อยๆ แล้วยังจะฝ่าฝืนนโยบายลดมลพิษด้วยการพ่นควันดำกระจาย...ให้รัฐบาลปวดหัวอีกด้วย     เวียดนามร้องซีพีขายไข่ไก่แพง หลังจากชาวบ้านร้องเรียนกันเข้ามามากว่าราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี   กรมอุตสาหกรรมและการค้าแห่งนครโฮจิมินห์เรียกตัวแทนของซีพีเวียดนามเข้าชี้แจงนโยบายการตั้งราคาไข่ไก่ของบริษัทโดยด่วน   กรมฯ บอกว่า ไข่ที่นำเข้าตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้วก็ยังเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ  ราคาอาหารไก่ก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง แล้วเหตุใดซีพีท่านจึงขึ้นราคาเสียเล่า   ซีพีออกมายอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับราคาไข่ไก่ขึ้นหลายครั้ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนเทศกาลเต๊ดหรือตรุษจีนของเวียดนาม ที่ความต้องการสูงเป็นพิเศษ แต่สัญญาว่าต่อไปนี้จะตั้งราคาให้เป็นธรรมขึ้น   เกษตรกรขายไข่ให้ซีพีในราคาฟองละ 1550 ด็อง (2.2 บาท)  รวมค่าขนส่งค่าบรรจุหีบห่อแล้วก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,700 ด็อง (2.4 บาท) แต่ ณ วันที่ 15 มกราคม ซีพีเวียดนามขายที่ราคา 2,500 ด็อง (3.5 บาท)   ตามกฏหมายเวียดนาม การฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้ามีความผิด ต้องเสียค่าปรับร้อยละ 5 – 10 ของรายได้บริษัท   ปี 2011 ซีพีเวียดนามมีรายได้ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (44,670 ล้านบาท) //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 กระแสต่างแดน

แดดไม่แจ่ม เราจ่าย บริษัททัวร์หัวใสในประเทศฝรั่งเศสมีโปรโมชั่นใหม่มาเอาใจลูกค้าที่นิยมสายลมแสงแดด คือถ้าคุณซื้อทัวร์ของบริษัท Pierre et Vacances หรือ FranceLoc ไป แล้วต้องขาดโอกาสในการอาบแดดเพราะไปติดฝนอยู่ไม่ต่ำกว่า 4 วันต่อหนึ่งสัปดาห์ บริษัทจะรับผิดชอบด้วยการจ่ายเงินคืนให้ด้วยวงเงินประกันสูงสุด 400 ยูโร (ประมาณ 20,000 บาท) คุณอาจสงสัยว่าแล้วจะพิสูจน์กันยังไง ถ่ายรูปตัวเองตอนเปียกปอนเพราะสายฝนแล้วส่งไปให้บริษัทดูอย่างนั้นหรือ ข่าวบอกว่านักท่องเที่ยวไม่ต้องทำอะไร บริษัทจะเป็นฝ่ายส่งอีเมล์หรือเอสเอ็มเอสไปหาเองถ้าเขาตรวจสอบข้อมูลกับรูปถ่ายจากดาวเทียมของกรมอุตุของฝรั่งเศสแล้วว่ามีฝนตกจริงๆ ในสถานที่ที่ลูกค้าซื้อทัวร์ไป จากนั้นก็จะส่งเช็คมาให้ภายใน 3 วันหลังจากลูกค้ากลับถึงบ้าน เงินที่จะคืนให้กับลูกค้าแต่ละรายนั้นเขาจะดูตามปริมาณฝนที่ต้องเผชิญด้วย (สงสัยว่าคนที่จะได้ 400 ยูโรเต็มๆ นี่คงจะเป็นพวกที่ต้องหลบฝนอยู่ในโรงแรมทั้ง 7 วันเลยแน่ๆ) ไอเดียนี้ ททท. สนใจจะนำมาใช้โปรโมทการชวนคนไทยเที่ยวไทยบ้างก็น่าจะดี ว่าแต่จะประกันเรื่องอะไรดี เราก็ไม่ใช่ชนชาติที่นิยมแสงแดดเหมือนเขาเสียด้วย คิวบา ประกาศรัดเข็มขัด ประธานาธิบดี ราอูล คาร์ลอส ของคิวบาบอกกับประชาชนว่า ขณะนี้ประเทศกำลังอยู่ในช่วงวิกฤติขั้นรุนแรง ขอให้ทุกคนขยันกันให้มากขึ้น และเตรียมพร้อมกับการรัดเข็มขัดระดับชาติกันได้แล้ว ฤดูร้อนปีที่ผ่านมา คิวบาก็เผชิญกับพายุเฮอริเคนถึงสามครั้ง เป็นความเสียหายทั้งหมดกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และจนถึงวันนี้ก็ยังซ่อมบ้านของประชาชนไปได้เพียงร้อยละ 43 ของบ้านที่เสียหายทั้งหมดจำนวน 260,000 หลัง ที่สำคัญคิวบาสูญเสียเสบียงอาหารและสินค้าเกษตรที่รัฐบาลเก็บตุนไว้เพื่อประกันราคาด้วย เมื่อต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คิวบาซึ่งประชากรแทบทุกคนเป็นลูกจ้างของรัฐ ด้วยเงินเดือนเฉลี่ยต่อหัวประมาณ 20 เหรียญ (ประมาณ 700 บาท) ได้ประกาศยกเลิกอาหารกลางวันเอื้ออาทรที่เคยมีไว้บริการพนักงานในโรงงานแล้ว และตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นมา คิวบา (ซึ่งผลิตน้ำมันเองได้ และยังได้ใช้น้ำมันฟรีจากเวเนซูเอล่า) ก็ประกาศนโยบายประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนลดรายจ่ายของประเทศลงให้ได้ร้อยละ 6 ด้วย เดี๋ยวนี้รัฐประกาศให้ข้าราชการมาทำงานแค่ 8 โมงเช้า ถึง 3 โมงเย็นเท่านั้น บางแห่งให้มาทำอาทิตย์ละ 2 วัน ที่สำคัญที่ทำการรัฐหลายๆ แห่งก็ห้ามเปิดเครื่องปรับอากาศด้วย ข่าวบอกว่าโรงงานที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายลดการใช้พลังงานไปแล้วได้แก่ โรงงานผลิตยางรถยนต์ และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากนมวัว ช่วงนี้ยางรถยนต์ที่คิวบาขาดตลาด ในขณะที่โยเกิร์ตในเมืองหลวงฮาวาน่านั้น กลายเป็นของหายากและราคาแพงลิบลิ่ว มีขายเฉพาะในห้างหรูๆ หรือแหล่งท่องเที่ยวเท่านั้น คนคิวบาตาดำๆ ไม่สามารถซื้อหามากินได้ แบนร้านฟาสต์ฟู้ด อีกไม่นานนิวยอร์คอาจมีประกาศห้ามเปิดร้านฟาส์ตฟู้ดในระยะ 1.6 กิโลเมตรจากที่ตั้งของโรงเรียนรัฐกระแสการตื่นตัวเรื่องโรคอ้วนในเด็กกับอาหารฟาสต์ฟู้ด ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจร้านอาหารฟาส์ต์ฟู้ดรายใหญ่ได้ไม่น้อยทีเดียว เช่น แมคโดนัลด์ หรือเบอร์เกอร์ คิง และบริษัทฟาสต์ฟู้ดในอเมริกาอีก 13 ราย (ในกลุ่มนี้ไม่มี เคเอฟซี พิซซ่าฮัท เอแอนด์ดับบลิว และทาโก้ เบลล์) ได้ทำข้อตกลงร่วมกันว่า จะต้องมีข้อความที่พูดถึงอาหารที่ดีต่อร่างกายอย่างน้อยครึ่งหนึ่งในโฆษณาที่มีเป้าหมายเป็นเด็ก ลดการใช้ตัวการ์ตูนที่เด็กๆ รู้จัก และไม่ทำการโฆษณาในเขตโรงเรียน อย่างไรก็ตามกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องนี้ยังเป็นห่วงว่า มาตรการต่างๆ นั้นอาจไม่เป็นผลเมื่อบริษัทเหล่านี้ก็จะยังคงเปิดสาขาเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับลูกค้าเด็กๆ ในบริเวณที่ใกล้กับสถานศึกษา เพิ่มขึ้นทุกวัน จากผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่า เด็กแคลิฟอร์เนียที่เรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีร้านเบอร์เกอร์และเฟรนช์ฟรายส์ อยู่ใกล้ๆ นั้นมีอัตราการเป็นโรคอ้วนสูงกว่าเด็กจากที่อื่นๆ ร้อยละ 5.2 เจนนิเฟอร์ แฮริส นักวิชาการด้านโรคอ้วนและนโยบายด้านอาหารจากมหาวิทยาลัยเยล บอกว่าความพยายามของผู้ประกอบการนั้นยังไม่อาจนับเป็นอะไรได้ สิ่งที่ควรจะมีขึ้นคือการใช้กฎหมายเพื่อจำกัดการเข้าถึงอาหารฟาสต์ฟู้ดไปเลย เหมือนอย่างที่ทำกับสินค้าอย่างบุหรี่หรือเหล้านั่นเอง ว่าแล้ว เอริค โจยา สมาชิกสภาเมืองนิวยอร์ค ก็เตรียมยื่นร่างกฎหมายที่ห้ามเปิดกิจการร้านฟาสต์ฟู้ดในระยะ 1.6 กิโลเมตรจากโรงเรียนไปเสียเลย เขาบอกว่าถึงบรรดาพ่อแม่จะมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการเลือกรับประทานอาหารของลูก แต่รัฐเองก็มีหน้าที่รับผิดชอบในการช่วยให้พ่อแม่สามารถเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพดีขึ้นด้วยเช่นกัน รถมือสอง ... เรื่องร้องเรียนอันดับหนึ่งของคนอังกฤษ คอนซูเมอร์ ไดเร็ค หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคของประเทศอังกฤษ ออกมาแถลงสถิติจำนวนเรื่องร้องเรียนว่าปัญหาที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุดในช่วงครึ่งปีแรกของ พ.ศ. 2552 ได้แก่ ปัญหาจากการซื้อรถมือสองนั่นเอง โดยมีกรณีร้องเรียนทั้งหมด 24,672 กรณี จากทั้งหมด 414,000 กรณีส่วนอันดับสองได้แก่ สัญญาการใช้โทรศัพท์มือถือ อันดับสามคือโทรทัศน์ และตามด้วยโทรศัพท์มือถือ (หมายถึงตัวเครื่อง) โดยรวมแล้วปีนี้มีคนร้องเรียนน้อยลงร้อยละ 3 โดยถ้าแยกแยะเป็นประเด็นแล้วหนึ่งในสามของเรื่องร้องเรียนเหล่านั้น เป็นเรื่องของสินค้าชำรุด บกพร่อง ในขณะที่หนึ่งในสี่เป็นการได้รับบริการที่ไม่ดีจากร้านหรือจากพนักงานขาย อังกฤษมีการใช้ พรบ.การขายสินค้า ค.ศ. 1979 ที่ระบุว่า ถ้าของที่เราซื้อมามีความบกพร่อง ทางร้านจะต้องรับผิดชอบด้วยการคืนเงินหรือซ่อมหรือเปลี่ยนสินค้าชิ้นใหม่ให้ แต่ถ้าความบกพร่องดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการใช้งานโดยผู้บริโภคแล้ว ถ้ายังอยู่ในช่วงหกเดือนแรกหลังการซื้อ ทางร้านจะต้องรับภาระการพิสูจน์ข้อบกพร่องดังกล่าว แต่ถ้าหกเดือนผ่านไปภาระการพิสูจน์จะเป็นของผู้บริโภค จองได้ ไม่ต้องจ่ายเพิ่งรู้เหมือนกันว่าที่ประเทศจีนนั้นจะพบแพทย์กันครั้งหนึ่งเราต้องไปเข้าคิวขอนัดหมอ และการเข้าคิวอย่างเดียวก็ใช้เวลาหลายชั่วโมงแล้ว ที่เพิ่งจะรู้อีกอย่างหนึ่งคือคนจีนที่เบื่อรอ เขานิยม (หรือจำเป็นก็ไม่แน่ใจ) ไปเสียเงินใช้บริการของตัวแทนรับจองนัดพบแพทย์อย่าง www.91985.com เป็นต้น ข่าวไม่ได้บอกว่าค่าบริการครั้งละเท่าไร แต่คงไม่สำคัญแล้วเพราะกระทรวงสาธารณสุขของจีนซึ่งอยู่ในระหว่างการปฎิรูปบริการสาธารณสุขมีแผนจะห้ามโรงพยาบาลใช้บริการจากตัวแทนดังกล่าว แล้วบังคับให้โรงพยาบาลเหล่านั้นให้บริการรับนัดฟรีให้กับประชาชนด้วยตนเอง ขณะนี้แผนการดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาและมีการเปิดให้ประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นได้ในเว็บไซต์ของกระทรวงฯ โรงพยาบาลใหญ่ๆ อย่างโรงพยาบาลรุยจินและโรงพยาบาลหัวซานได้ประกาศยกเลิกการรับนัดผ่านตัวแทน www.91985.com ไปแล้ว และทางตัวแทนดังกล่าวก็บอกว่าจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจขายข้อมูลด้านสุขภาพแทน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 ซื้อบ้านมือสอง บ้านเกิดชำรุดบกพร่อง ผู้ขายต้องรับผิดไหม ?

ในทุกวันนี้ ราคาของบ้านพัก คอนโด มีราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคจึงหันไปหาบ้านมือสองราคาถูก แต่เมื่อเลือกซื้อแล้ว อยู่ได้ไม่นานบ้านมีปัญหา เกิดความชำรุดต้องซ่อมแซม ผู้ขายมักจะอ้างว่าขายไปแล้ว บ้านเป็นของผู้ซื้อตนเองไม่เกี่ยว ส่วนผู้ซื้อก็มองว่า ตอนซื้อบ้านไม่เห็นความเสียหาย มันเกิดชำรุดจากภายใน ตรวจสอบไม่ได้ ขายของไม่ดี ต้องรับผิดชอบซ่อมให้ใช้อยู่อาศัยได้ เช่นนี้ใครจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ เคยมีผู้บริโภคฟ้องคดีต่อศาล ฟ้องว่าซื้อบ้าน แล้วพบว่าบริเวณชั้นสองของบ้าน เหล็กเส้นมีสนิมกัดกินคานบ้านชั้นสอง ทำให้บ้านเสียหาย เสื่อมราคาและประโยชน์ใช้งาน ฟ้องให้ผู้ขายรับผิด และศาลก็ได้ตัดสินว่าผู้ขายต้องรับผิดชอบ โดยไม่ต้องพิจารณาว่า ขณะที่ขายผู้ขายรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของบ้านนั้นหรือไม่ ตามคำพิพากษาฏีกา ดังต่อไปนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้านเป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)อีกเรื่อง เป็นกรณีที่ผู้บริโภคซื้อบ้าน แล้วพบภายหลังว่าผนังบางส่วนแตกร้าว เมื่อฝนตกมีน้ำซึมเข้ามาทำให้บ้านเสียหาย เช่นนี้ ศาลเคยตัดสินให้ผู้ขายต้องรับผิดชอบ แม้ว่าก่อนผู้บริโภคจะรับโอนบ้านได้มีการว่าจ้างบริษัทมาตรวจบ้านแล้วก็ตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2544ความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการที่ผนังบางส่วนมีรอยแตกร้าวบริเวณระหว่างกำแพงที่เป็นปูนหรือส่วนที่เป็นพื้นกับวงกบอะลูมิเนียมของบานประตูหน้าต่างมีรอยต่อไม่สนิทหรือบางส่วนยาซิลิคอนไม่ทั่วทำให้น้ำฝนสามารถซึมเข้ามาได้นั้น เป็นความชำรุดบกพร่องอันไม่เห็นประจักษ์ในเวลาส่งมอบ เมื่อมีน้ำฝนตกหนักน้ำฝนซึมเข้ามาจึงจะรู้ว่ามีการชำรุดบกพร่องดังกล่าว แม้ตัวแทนโจทก์เข้าไปสำรวจตรวจสอบแล้ว ก็เป็นการตรวจสอบเพียงว่ามีทรัพย์สินใดเสียหายบ้าง แต่บุคคลดังกล่าวไม่มีความรู้เกี่ยวกับการก่อสร้าง การที่ตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์หาผู้เชี่ยวชาญมาทำการตรวจสอบและโจทก์ได้ว่าจ้างบริษัท อ. เข้าไปตรวจสอบจึงเป็นการกระทำที่สมควร จะถือว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องแล้วแต่เวลานั้นยังไม่ได้ เมื่อต่อมาบริษัท อ. ตรวจสอบเสร็จและเสนอรายการซ่อมให้โจทก์ทราบ จึงถือได้ว่าโจทก์พบเห็นความชำรุดบกพร่องนับแต่เวลานั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่พ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันดังกล่าวคดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความจากคำพิพากษาของศาลฏีกาทั้งสองตัวอย่างข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า ผู้ขายจะต้องรับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความชำรุดที่ไม่สามารถเห็นได้โดยง่าย แต่ต้องระวังว่า ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันพบเห็นความชำรุดบกพร่อง ไม่งั้นจะเสียสิทธิในการดำเนินคดี ซึ่งศาลเคยตีความว่าการทำบันทึกข้อตกลงว่าผู้ขายจะซ่อมแซมบ้านที่ชำรุด ถ้าผู้บริโภคไม่ติดใจฟ้องร้องคดีกับผู้ขาย โดยไปทำกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ถือว่าเป็นการทำหนังสือรับสภาพหนี้ เพราะไม่ได้ทำกับผู้บริโภค เป็นผลให้อายุความไม่หยุดนับ เมื่อฟ้องเกิน 1 ปี จึงขาดอายุความ ตามตัวอย่างฎีกาต่อไปนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7053/2540การให้ถ้อยคำของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.18 และ จ.19 เป็นการยอมรับจะซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่องอันเป็นการแสดงเจตนาจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้คือโจทก์แล้ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ คดีจึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า การที่นายวิชัย รังนกใต้ผู้แทนของจำเลยได้ทำบันทึกต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคคือโจทก์ว่า จำเลยยอมรับจะซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่องให้แก่ผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ร้องเรียน ถ้าผู้บริโภคไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลย เป็นเพียงหนังสือบันทึกถ้อยคำหรือคำให้การของจำเลยในฐานะผู้ถูกร้องเรียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งเป็นองค์กรปกครองที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค อันเป็นกรณีที่จำเลยให้ถ้อยคำไปตามหน้าที่ที่ถูกร้องเรียนและมิใช่กระทำต่อเจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ ทั้งยังเป็นการยอมรับจะชำระหนี้ คือ ซ่อมแซมบ้านส่วนที่ชำรุดบกพร่อง โดยมีเงื่อนไขว่าผู้บริโภคต้องไม่ติดใจฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลย ซึ่งถือไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาจะชำระหนี้แก่เจ้าหนี้อีกด้วย กรณีจึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ซึ่งใช้บังคับขณะยอมรับจะชำระหนี้ (มาตรา 193/14(1) ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งการนำกฎหมายเอกชนมาปรับใช้กับกรณีนี้เพราะฟ้องโจทก์ในส่วนนี้ที่ให้จำเลยชำระหนี้นั้นเป็นการฟ้องร้องที่โจทก์อ้างอิงสิทธิเรียกร้องของผู้บริโภคเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้บริโภคตรวจพบความชำรุดบกพร่องของบ้านที่จำเลยก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2533 ซึ่งเป็นวันเริ่มนับสิทธิเรียกร้อง แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2534 จึงเกิน 1 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601  

อ่านเพิ่มเติม >