ฉบับที่ 147 คนรักษ์อนุสาวรีย์ ...แผนปฏิบัติการเมืองแห่งความสุขที่ทุกคนออกแบบได้

บางคนอาจจะไม่ทราบว่า “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” เป็นจุดเริ่มต้นกิโลเมตรแรกของกรุงเทพมหานคร  เป็นทั้งศูนย์กลางและจุดเชื่อมต่อการเดินทางทั่วทุกสารทิศของกทม.และปริมณฑลโดยระบบขนส่งมวลชน เป็นที่พักอาศัยและที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ โรงพยาบาลจำนวนมาก หน่วยราชการ ศูนย์การค้า สถานประกอบการ สถานศึกษา ศาสนสถาน โบราณสถาน(วังพญาไท) และที่สำคัญยิ่งคือ อนุสรณ์สถาน (อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) กลุ่ม “คนรักษ์อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” เกิดขึ้นจากความรักในท้องถิ่นของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง จากการรวมตัวขององค์กรต่างๆ รอบอนุสาวรีย์ชัยฯ ได้แก่ ภาคประชาชน นักธุรกิจ ผู้ประกอบการ โรงพยาบาล สถานศึกษา ศาสนาและองค์กรสาธารณะ เช่น สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นต้น ต่างก็มีความผูกพันและห่วงใยต่อบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและพื้นที่ใกล้เคียงต้องการให้มีการดูแลรักษาและพัฒนาพื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยแห่งนี้ จนกรุงเทพมหานครโดยปลัดกรุงเทพมหานครได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงแต่งตั้งให้กลุ่ม “คนรักษ์อนุสาวรีย์ชัยฯ”เข้าร่วมเป็นคณะทำงานกับกรุงเทพมหานครเพื่อร่วมกันพัฒนาและฟื้นฟูบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ ให้เป็นพื้นที่ที่สร้างสรรค์ประโยชน์สุขร่วมกันของทุกภาคส่วน  เรามาดูกันว่าเราจะรักษ์อนุสาวรีย์กันในรูปแบบใดบ้าง   คุณรัชพล ไกรจิรโชติ    กรรมการผู้จัดการห้างสรรพสินค้าเซ็นเตอร์วัน เราไม่อยากให้อนุสาวรีย์ชัยมันเป็นที่โล่งๆ หรอกๆ แต่ว่าเราอยากจะให้มันมีการอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนฝ่ายอื่นเกินไป คุณค้าขายในจุดที่เหมาะสมคุณก็ค้าขายของคุณไป ผมก็ค้าขายของผมไป ใครใช้ชีวิตยังไงก็ใช้ชีวิตอย่างนั้นไป ก็อยู่ร่วมกันได้แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมันเริ่มไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุมมันเริ่มกินเข้าไปในพื้นที่คนอื่น นานไปปัญหามันก็จะหนักข้อไปเรื่อยๆ อยากทราบที่มาและแนวคิดของ คนรักษ์อนุสาวรีย์ชัยฯ? จริงๆ เกิดจากการพูดคุย  ตอนแรกไม่ได้คิดถึงการตั้งเป็นกลุ่มแบบนี้ ก็เป็นการพูดคุยและปรับทุกข์เรื่องความไม่เป็นระเบียบแถวนี้ ก็อย่างที่ทราบว่าเราก็อยู่แถวนี้มานานนะครับ เดินไปเดินมาอยู่แถวนี้นานพอสมควร แล้วเราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงสามสี่ปีหลังนะว่าเมืองโดยเฉพาะอนุสาวรีย์ชัยนี่มันไร้ระเบียบขึ้นทุกวันๆ มันไม่มีใครใส่ใจ หมายถึงเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องนี้ก็ปล่อยปะละเลยจนกระทั่งเรารู้สึกว่าเหมือนกับโดนละเลย ที่เรามองกันอย่างแรกคือเรื่องของความสะดวกสบายที่เราเดินใช้รถใช้ถนน ที่เราเดินบนฟุตบาทหรือว่าในพื้นที่ที่มันไม่ควรจะเป็นหาบเร่แผงลอยเต็มไปหมด หรือว่าพื้นที่ที่เป็นซอยแล้วรถควรจะวิ่งไปวิ่งมาได้ แต่ว่ามันกลายเป็นรถตู้ยึดเต็มไปหมด ความจริงรถตู้ไม่ได้เพิ่งมีแต่มีมานาน เมื่อก่อนนี้มันอยู่ในกรอบ ในที่ของมันเพิ่งจะมามีในช่วงสามสี่ปีหลังนี้ที่แบบขยายเติบโตขึ้นมาโดยที่ไม่มีการควบคุม แล้วก็ทำให้สร้างปัญหาอื่นตามขึ้นมา เราเองเป็นคนเดินนี่เรารู้สึกได้เลยว่ามันเป็นปัญหา การเดินบนฟุตบาทยากมาก พื้นที่ที่มันควรจะเป็นพื้นที่สาธารณะก็โดนจัดสรรให้ไปเป็นอะไรก็ไม่รู้แล้วก็ถามใครก็ไม่มีใครตอบได้ เราก็เลยคิดว่าเราไม่อยากให้พื้นที่ที่เราใช้ชีวิตอยู่มันเป็นอย่างนี้ ก็เลยมีการพูดคุยกัน พอพูดไปมันเหมือนมันอยู่ในใจของทุกคน ทุกคนรู้สึกเออคิดเหมือนกันเหรอ ทุกคนก็เลยมารวมตัวกันว่ามาร่วมกันผลักดันกันดีกว่า ก็เรียกกลุ่มของเราว่ากลุ่มคนรักษ์อนุสาวรีย์ และก็มีการพูดคุยปัญหา เลือกว่าปัญหาไหนของพวกเราที่ต้องการได้รับการแก้ไขปัญหาเร็วหน่อย ก็เลือก 3 ประเด็น แล้วก็พยายามที่จะช่วยกันที่จะผลักดันเรื่องพวกนี้ไปที่หน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นเรื่องฟุตบาท เรื่องทางเท้าก็ต้องเป็น กทม.เรื่องเกี่ยวกับรถตู้ก็ต้องไปที่การจราจรหรือกรมขนส่งทางบก เราก็พยายามเหมือนกับเป็นตัวขับเคลื่อนคอยติดตามแล้วก็อยากจะรวบรวมเสียงของคนในชุมชน ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนมีความรู้สึกเดือดร้อนคล้ายๆ กัน เพราะจำนวนคนยิ่งมากมันก็จะเป็นทิศทางที่เป็นทิศทางของคนส่วนใหญ่จริงๆ แล้วพลังในการขับเคลื่อนมันก็จะเต็มที่   ปกติเป็นนักธุรกิจก็ต้องอยากให้มีคนมาห้างเยอะๆ จากการเป็นชุมทางรถตู้ แต่พอรณรงค์แบบนี้เหมือนสวนทางกับคนทั่วไป มีแนวคิดเรื่องนี้อย่างไร? ผมเองเชื่อว่า ถ้าทุกคนอยู่ในกรอบอยู่ในพื้นที่ของตัวเองไม่ไปเบียดเบียนในที่คนอื่น มันจะทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ หน้าห้างเซ็นเตอร์วันก็เป็นเขตผ่อนผันเราไม่เคยไปเรียกร้องให้ยกเลิกเขตผ่อนผัน เพราะผมคิดว่าการที่มันมีคนคึกคัก มันมีคนอยู่ที่นี่มันไม่ใช่ปัญหา แต่การที่กีดขวางการเดินทางไปมานี้มันเป็นปัญหาแน่ๆ เอาว่าตรงๆ เลยลูกค้าที่จะมาที่ห้างนี้แต่เขาต้องใช้ความพยายามเดินเบียดเสียด ต้องเสี่ยงการโดนล้วงกระเป๋า ต้องลงไปเดินบนถนนอย่างนี้มันไม่ใช่แล้ว ซึ่งแนวผ่อนผันนี่มันจะไม่เกิดปัญหานี้หรอกแต่ที่มันเกิดปัญหาเพราะมาตั้งนอกแนวผ่อนผัน พอตั้งนอกแนวผ่อนผันก็ตั้งกันตามอิสระ อยากจะตั้งยังไง จะวางยังไงก็แล้วแต่ ซึ่งตรงนี้ผมว่ามันเริ่มเบียดเบียนแล้ว คนเดินถนนโดนเบียดเบียนแน่นอน รถตู้จริงๆ แล้วการมีของรถตู้มันทำให้อนุสาวรีย์ชัยคึกคักส่งผลดีกับธุรกิจแต่การที่มันมีมากจนเกินไปมันเริ่มส่งผลเสียในด้านอื่นๆ การที่มันคึกคักน่ะไม่เป็นไรหรอกแต่พอมันมากๆ เข้าไปมันกลายเป็นกีดขวางแล้ว ไอ้คนที่มีบ้านอยู่มีร้านค้าอยู่ในส่วนที่รถตู้มาจอดก็เริ่มมีปัญหาแล้วว่ารถออกมาเข้าบ้านไม่ได้ หรือว่าคนที่เดินในซอยก็รถตู้เฉี่ยวไปเฉี่ยวมาอย่างนี้มันก็เกินไป อย่างที่ผมบอกว่าเราไม่อยากให้อนุสาวรีย์ชัยมันเป็นที่โล่งๆ หรอกๆ แต่ว่าเราอยากจะให้มันมีการอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนฝ่ายอื่นเกินไป คุณค้าขายในจุดที่เหมาะสมคุณก็ค้าขายของคุณไป ผมก็ค้าขายของผมไป ใครใช้ชีวิตยังไงก็ใช้ชีวิตอย่างนั้นไป ก็อยู่ร่วมกันได้แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมันเริ่มไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุมมันเริ่มกินเข้าไปในพื้นที่คนอื่น นานไปปัญหามันก็จะหนักข้อไปเรื่อยๆ   คุณปารีณา  ประยุกต์วงศ์ กรรมการและผู้จัดการเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ The NETWORK (Thailand) เรื่องของเรื่องคือเราถามถึงพื้นที่สาธารณะของคนสัญจร การจัดวางพื้นที่ในการขายของให้มันมีสุขลักษณะ เอื้ออำนวยความปลอดภัยต่อการเดินท้องถนน การเดินซื้อของ แล้วก็มีพื้นที่ให้คน  เพราะอนุสาวรีย์ชัยเป็นชุมทาง ต้องมีพื้นที่มากพอที่จะรับปริมาณประชาชนที่มาต่อรถ  ที่มีแนวโน้มว่าคนจะเยอะขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหน้า รพ.ราชวิถี มีรถตู้จอดทำให้รถพยาบาลฉุกเฉินไม่สามารถเข้าได้ ทำไมถึงเข้ามาร่วมงานกับกลุ่มคนรักษ์อนุสาวรีย์ชัยอย่างไร ปัญหารอบ ๆ อนุสาวรีย์มีอะไรบ้าง ? เริ่มต้นจากเซ็นเตอร์วันที่ชวนกันประชาคม พอดีพี่เองอยู่องค์กรที่ชื่อว่าเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ The NETWORK เราชวนกันกับภาคธุรกิจมารวมตัวกันเพื่อจะสร้าง community practice หรือเครือข่ายการเรียนรู้เรียกว่าเครือข่ายจิตอาสาพัฒนาองค์กรธุรกิจ เราก็ตั้งเป็นเน็ตเวิร์ค ทีนี้หนึ่งในสมาชิกในเครือข่ายของเราเรื่องของจิตอาสาก็มีเซ็นเตอร์วัน เนื่องจากเราอยู่ area ใกล้กัน ปัญหาของอนุสาวรีย์ฯ เกิดขึ้นเพราะ กทม.นี่ ได้ให้สัมปทานกับเอกชน 4 เกาะรอบอนุสาวรีย์ชัย ก็จะมีเกาะพญาไทซึ่งอยู่ตรงภัตตาคารพงหลี เกาะราชวิถีอยู่ตรงโรงพยาบาลราชวิถี เกาะพหลโยธินซึ่งอยู่ตรงบ้านเซเวียร์ที่เป็นทางด้านที่จะไปสะพานควาย และที่จะมาทางดินแดงเรียกว่าเกาะดินแดง ทีนี่เกาะพญาไทกับเกาะราชวิถีมันมีป้ายว่าจะมีการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ประเด็นที่เราสงสัยคือว่าจากเดิมสิบปีที่ผ่านมานี่ เรามีความรู้สึกว่าเราต้องแบกรับความอดทนของอนุสาวรีย์ชัยที่มันเปลี่ยนสภาพไปโดยที่ไม่มีคนจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหาบเร่ แผงลอย เรื่องของพื้นที่ใช้สอยในการเดินเท้าซึ่งมันเปลี่ยนสภาพไปหมดเลย แล้วก็การใช้พื้นที่สาธารณะมันเพี้ยนๆ เปลี่ยนไป ไม่มีสุขอนามัย แล้วอยู่ดีๆ ก็มีป้ายขึ้นมาว่าปิดเกาะ 4 เกาะเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ ที่จริงแล้วพื้นที่สาธารณะแบบนี้โดยหลักการมันต้องทำการประชาพิจารณ์การขอความเห็นจากภาคประชาชน เป็น Public openion นะคะไม่ใช่ Public hearing ว่าพื้นที่สาธารณะทั้ง 4 อันนี้จะมีการต่อสัมปทาน แล้วจะมีการออกแบบใหม่ แต่มันไม่มีการเรียกประชาชนเข้ามาคุยกัน มันก็เลยเป็นที่มาของพวกเราที่มารวมตัวกันแล้วตั้งคำถาม ว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไง ก็ทำเรื่องไปตั้งแต่เดือนตุลาคม ตั้งแต่รู้ว่ามีป้ายมาเริ่มสัญญา โดยที่ตั้งแต่เดือนตุลาคมเราก็ขอให้ยุติการก่อสร้างแต่ก็ไม่มีผลในการรับฟัง กทม.เรียกประชุมแล้วก็รับฟัง พอดีช่วงนั้นเป็นช่วงที่กำลังจะเลือกตั้งผู้ว่าใหม่ ก็เลยเกิดความขรุขระตรงที่ว่าอำนาจตัดสินใจข้าราชการการเงินอาจจะยังมีประเด็นหลักที่ต้องซีเรียสกับมัน การให้ความสำคัญก็ลดน้อยลงไปก็เป็นที่มา หลังจากนั้นเราก็ชวนกันคุยการแก้ปัญหาอันนี้มันไม่ใช่เฉพาะ กทม. มันจะต้องมีส่วนร่วมของหลายส่วน   ตอนนี้ดำเนินการไปถึงช่วงไหนแล้วบ้างคะ ? ตอนนี้ก็คือการตกลงขั้นพื้นฐานเรื่องของพื้นที่ต่างๆที่อยู่รอบ 4 เกาะ เราจะทำยังไง เราตกลงกันยังไง ก็ในขั้นตอน ตอนนี้  เนื่องจากว่าถ้าเขาหยุดก่อสร้างตั้งแต่ตอนแรกที่เราบอกเราจะยังออกแบบปรับปรุงอะไรได้ใหม่ แต่เขาไม่รอฟัง ในส่วนของผู้รับสัมปทานเองก็ทำเป็นไม่รับรู้ว่ามีคนมาเรียกร้อง เขาก็เลยทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งในสิ่งที่เราขอนี่คือการขอพื้นที่สาธารณะ อย่างเช่น ฟุตบาท พื้นที่การเดิน ช่องไฟของร้านค้าที่จะมาตั้ง ความปลอดภัย อย่างเช่น การขึ้น - ลงบันไดเลื่อน มันมีความสุ่มเสี่ยงของอันตราย เช่นถ้าเด็กขึ้นบันไดเลื่อนไฟฟ้าจากด้านพงหลีเพื่อจะไป BTS เนี่ย มันมีหลังคาของร้านค้าเหลื่อมเข้ามา เนื่องจากมันเป็นอันตราย  เราก็เรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยน ห้องน้ำให้มีการย้ายให้มันมีภูมิทัศน์ที่สวยงามอะไรอย่างนี้ค่ะ แล้วก็มีเรื่องของต้นไม้ จำนวนของต้นไม้ เรื่องของเรื่องคือเราถามถึงพื้นที่สาธารณะของคนสัญจร การจัดวางพื้นที่ในการขายของให้มันมีสุขลักษณะ เอื้ออำนวยความปลอดภัยต่อการเดินท้องถนน การเดินซื้อของ แล้วก็มีพื้นที่ให้คน  เพราะอนุสาวรีย์ชัยเป็นชุมทาง ต้องมีพื้นที่มากพอที่จะรับปริมาณประชาชนที่มาต่อรถ  ที่มีแนวโน้มว่าคนจะเยอะขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหน้า รพ.ราชวิถี มีรถตู้จอดทำให้รถพยาบาลฉุกเฉินไม่สามารถเข้าได้ เพราะว่า รพ.ราชวิถีเป็นศูนย์นเรนทรด้วย ศูนย์ที่จะประสานกับหลายๆโรงพยาบาล มันก็เลยเป็นปัญหา จริงๆ เราไม่ได้เรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของใคร เพราะว่าควรจะมีเมืองที่น่าอยู่ ให้มีพื้นที่ที่คนอยู่แล้วสบายใจ ให้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มันเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต ไม่ได้เอารัดเอาเปรียบกันเกินไป แล้วก็สิ่งที่เราต้องการก็คือเราไม่ต้องการทำให้ใครเดือดร้อน เราต้องการให้การอยู่ด้วยกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยและเห็นใจกัน เพราะฉะนั้นธีมของคนรักษ์อนุสาวรีย์ชัยคือคนรักอนุสาวรีย์ชัยที่เห็นใจกัน นั้นเราจะไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่าว่าเอารถตู้ออกไป(เสียงดัง) เราไม่ได้ประท้วงแบบนั้น เราต้องการให้เกิดการฟื้นฟูกับกลุ่มรถตู้ จัดสรรกับ กทม. กทม.ต้องเป็นพ่อบ้านที่ดูแลบ้านหลังนี้ มีใครมารุกล้ำเขาก็ต้องมีหน้าที่ที่จะไปหาคนที่รับผิดชอบโดยตรงมานั่งคุยกันว่าเราจะจัดสรรเรื่องนี้อย่างไร คือเราจะปล่อยให้เมืองพัฒนาไปอย่างไร้ทิศไร้ทางอย่างนี้หรือไม่   แล้วอย่างคนที่เค้าเดินไปเดินมาหรือคนที่ใช้อนุสาวรีย์เป็นที่มาต่อรถ เราจะชวนพวกเขามามีส่วนร่วมอย่างไร คนในพื้นที่เราก็ต้องช่วยรณรงค์ว่าพวกเราจะรักพื้นที่นี้ด้วยกันอย่างไร เราจะมาเป็นพลเมืองที่จะรักพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยที่เป็นบ้านเราอย่างไร   ส่วนประชาชนทั่วไป เราหวังว่าสิ่งที่เราพูดเนี่ยเขาจะเห็นคุณค่าของมัน กระบวนการเราจะเน้นคนในชุมชนก่อนเป็นตัวตั้งเพราะว่าถ้าคนในชุมชนไม่ทำ ไม่สนใจ คำว่าคนในชุมชนนี้ไม่ได้หมายถึงคนที่พักอาศัยหมายถึงคนที่ทำค้าขายคนที่มาจากที่อื่นแล้วมาค้าขายตรงนี้ได้ประโยชน์จากพื้นที่ตรงนี้เรียกได้เป็นคนในชุมชนของเราเพราะฉะนั้นจะบอกว่าเฉพาะคนที่พักอาศัยไม่ได้ ที่นี่ก็เกิดประเด็นว่าเรื่องหลักๆ คือทำยังไงให้เป็นพลเมือง มีมิติของการเป็นพลเมืองกันได้มากขึ้นไหม มันก็เลยนำมาสู่เรื่องของการเป็น consumer Awareness การตระหนักในเรื่องของผู้บริโภค ประโยชน์ของผู้บริโภค ความจริงก็เป็นเรื่องของผู้บริโภคโดยตรงเพราะเค้าเองเป็นทั้งผู้บริโภคและเป็นผู้ให้บริการด้านการบริโภค   ------------------------------------------------------------------------------------- รศ.ดร.วดี  เขียวอุไร    นายกสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิในอดีต เท่าที่เราอยู่ตั้งแต่เดิมเนี่ยมันก็ไม่รกรุงรัง คือ มันมีต้นไม้และไม่มีของขายจนไม่เห็นอะไรเลย มองเห็นอนุสาวรีย์เด่นชัด เห็นสถานที่อะไรต่อมิอะไร เห็นสมาคมเก่าๆ ของเราก็เห็นสวยงาม ตอนนี้ก็เห็นแต่ของขาย เห็นแต่รถไง รถคนเขาจะเข้าสมาคมก็เข้าไม่ได้ มีแต่รถตู้จอด เราก็หนวกหู รถตู้โหวกเหวกเรียกผู้โดยสารมันไม่น่าดู มันทำให้อนุสาวรีย์ชัยพลอยไม่สง่างามไปด้วย ร้านก๋วยจั๊บนี่ขายทั้งวันทั้งคืน มันก็สกปรก เหม็นเน่า งงมากทำไมขายได้ เมื่อก่อนมันขายแต่ตอนเย็นนะ เดี๋ยวนี้มันขายตั้งแต่เช้าจรดเย็น ขนาดซ่อม(ปรับปรุงภูมิทัศน์)เขาก็ยังขายได้ สิ่งที่ “ คนรักษ์อนุสาวรีย์ชัย ” อยากเห็น •        ใช้พื้นที่รอบเกาะอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตามวัตถุประสงค์ที่กรุงเทพมหานครได้เวนคืนที่ดินเป็นสวนสาธารณะ •        การจัดภูมิทัศน์ที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางและจุดเชื่อมต่อการเดินทางของผู้คนอย่างสะดวกสบายและปลอดภัย •       พื้นที่สาธารณะต้องมีความเป็น Green City ไม่กระตุ้นการบริโภคสูงสุด แต่ควรเป็นพื้นที่สันทนาการและการเรียนรู้ของชุมชน มีความสะอาด ร่มรื่น และปลอดภัย และมีการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนการควบคุมมลภาวะทางอากาศและเสียง •       การบริหารจัดการและการใช้พื้นสาธารณะโดยภาครัฐและประชาชนมีลักษณะ “ร่วมด้วย  ช่วยกัน” •       มีการประชุม ติดตาม และ ประเมินผลทุก 2 เดือน โดยภาครัฐ และประชาชนอย่างเป็นระบบโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการใช้พื้นที่และประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนเป็นที่ตั้ง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point