ฉบับที่ 188 อาหารวิตถาร

การเข้าดูข้อมูลเกี่ยวกับอาหารและโภชนาการในอินเทอร์เน็ตนั้น ทำให้ผู้เขียนได้พบว่า นับวันที่ผ่านไปมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลของอาหารต่อสุขภาพของผู้บริโภคเยอะมาก บ้างก็เชื่อได้(นิดหน่อย) และบ้างก็ไม่น่าเชื่อเลยจนถึงเข้าขั้นเรียกว่า อาหารวิตถารที่มาของคำว่า อาหารวิตถาร นั้นผู้เขียนแปลเองจากคำว่า food fad หรือ food faddism ซึ่งมีปรากฏให้เห็นในอินเทอร์เน็ตทุกครั้งที่สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับการบริโภคอาหาร และหลายท่านอาจเคยพบคำอีกคำคือ fad diet ซึ่งก็ไม่น่าจะต่างกันนักคำว่า Fad นั้นเป็นคำที่ใช้เมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่กลุ่มชนนิยมอย่างรวดเร็วและเลิกนิยมเร็วในลักษณะเดียวกับตุ๊กตาลูกเทพ (พจนานุกรมแปล อังกฤษ-ไทยของ อ. สอ เสถบุตร ให้ความหมายคำว่า fad คือ ความคิดวิตถาร, เซี้ยว, บ้า, วิตถาร, สิ่งที่นิยมกันจนคลั่ง) ดังนั้นในกรณีของคำว่า food fad นั้นจึงน่าจะหมายถึง อาหารที่มีคนนิยมกินกันเพื่อวัตถุประสงค์ใด ๆ ที่อาจดูเป็นเรื่องราวบ้างหรือไร้สาระโดยสิ้นเชิงในวันใดวันหนึ่ง จากนั้นความนิยมนั้นก็หายไปอย่างรวดเร็ว มีผู้พยายามอธิบายถึงองค์ประกอบที่เป็นลักษณะเฉพาะของ fad diet ดังนี้1. เว่อร์เกินจริง เช่น การอวดอ้างสรรพคุณของอาหารเกินจริงในด้านการปรับปรุงสุขภาพ หรือการครอบงำทางความคิดเกี่ยวกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งทางโภชนาการ ตัวอย่างเช่น เรื่องของธัญพืชทั้งเมล็ดที่มีการแนะนำว่า กินแล้วสุขภาพดี จึงมีผู้หวังเงิน(ในกระเป๋าคนอื่น) บางคนนำไปเว่อร์ว่า สินค้าที่เขาขายนั้นรักษาโรคได้สารพัดโรคธัญพืชที่เคยถูกเว่อร์มาแล้วคือ เมล็ดแฟลกซ์(Flaxseed) ซึ่งหมายถึงเมล็ดจากต้นลินิน (Linseed) พืชที่ลำต้นนั้นเป็นแหล่งที่มาของใยผ้าลินิน ในความเป็นจริงแล้วเมล็ดแฟลกซ์นี้มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี แต่มันก็ไม่ได้ดีกว่าเมล็ดพืชอื่น ที่เรากินกันมานานแล้วในชีวิตประจำวัน แบบว่ารู้วิธีกินที่ไม่ก่อโทษ (ตัวอย่างเช่น พืชตระกลูถั่วถ้าปรุงไม่สุก เมื่อกินแล้วจะท้องอืดท้องเฟ้อ เพราะเมล็ดถั่วที่สุกไม่พอยังมีสารพิษอยู่หลายชนิดที่ทำให้เกิดปัญหาในการย่อยสารอาหารที่เรากินเข้าไป ดังนั้นนักวิชาการจึงมักแนะนำให้ปรุงถั่วต่าง ๆ ให้สุกเสมอก่อนกิน)ที่น่าสนใจคือ เมล็ดแฟลกซ์นั้นมีการขายกันค่อนข้างแพง(ในช่วงที่มีความนิยมสูง) และมีเว็บหนึ่งซึ่งขายเมล็ดพืชนี้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อควรระวังต่อผู้ซื้อเมล็ดพืชชนิดนี้ว่า “เนื่องจากองค์ประกอบของเมล็ดมีสารที่ลดการจับตัวของเกล็ดเลือด จึงควรระมัดระวังเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น warfarin สำหรับผู้ที่จะเข้ารับการผ่าตัดหรือทำฟัน ควรหยุดกินอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์”2. ความเชื่อเอาเองส่วนตัว ประเด็นนี้มักมีการนำมาใช้อวดอ้างประโยชน์ทางการแพทย์แบบที่ยังไม่มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์สนันสนุน ผู้ที่มักใช้ความเชื่อส่วนตัวในการขายสินค้าอาหารเพื่อบำบัดโรคหรือบำรุงร่างกายนั้น มักเป็นผู้ที่มีความรู้ การศึกษาสูง เป็นที่รู้จักทางสังคม อยู่ในหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ สื่อวิทยุและโทรทัศน์ทั้งที่เป็นดิจิตอลภาคพื้นดินและดาวเทียมลักษณะของอาหารวิตถารนั้นมักหนีไม่พ้นประเด็นต่อไปนี้คือ 1.) อาหารที่บอกว่าวิเศษสามารถบำบัดโรคได้ครอบจักรวาล เช่น โรคอ้วน อาการซึมเศร้า อาการเซ็กส์เสื่อม อาการเหี่ยวย่น ฯลฯ 2.) อาหารที่มีการกินกันทั้งที่ไม่ควรกินเนื่องจากอาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ (เช่น นมวัวจากเต้าหรือ raw cow milk ที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอไรส์) และ 3.) อาหารที่ผลิตขึ้นพิเศษเพื่อสุขภาพที่คิด(เอาเอง) ว่า น่าจะดีอาหารวิตถารกลุ่มหนึ่งที่มีการหลอกหลอนอยู่ในสังคมตะวันตก โดยปัจจุบันนี้ฝรั่งได้บัญญัติศัพท์คำหนึ่งว่า superfoods ซึ่งมีคนไทยเขียนบทความในอินเทอร์เน็ตแล้วใช้คำ ๆ นี้ในความหมายที่ว่า superfoods คือ อาหารที่มีแคลอรีต่ำ ซึ่งอาจมีสารอาหารไม่ครบแต่มีสารอาหารบางอย่างมากมายจนช่วยบำรุงผิวกาย ต้านโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะต้านความแก่ ซึ่งได้แก่ ผัก น้ำผึ้ง สมุนไพร ผลไม้ ถั่ว และสาหร่ายทะเล (อาหารเหล่านี้เป็นอาหารธรรมดาที่ดีตามสิ่งที่มันมี แต่ต้องกินรวมกับอาหารอื่นในลักษณะอาหารห้าหมู่เพื่อให้ได้คุณค่าทางโภชนาการครบ การกินเดี่ยวหรือมากเกินไปย่อมก่ออันตรายต่อสุขภาพได้)ในขณะที่เว็บภาษาอังกฤษเว็บหนึ่งกล่าวว่า superfoods เป็นอาหารที่น่าสงสัยเป็นอย่างมากเนื่องจากไปเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหรือความเชื่อส่วนตัว มีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ นมวัวดิบ ซึ่งมีคนทั้งไทยและฝรั่งบางกลุ่มเชื่อว่า เป็นนมที่ประเสริฐสุด ทั้งที่การดื่มนมลักษณะนี้เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อหลายชนิด ศูนย์ควบคุมโรค (Centers for Disease Control หรือ CDC) ของสหรัฐอเมริกากล่าว ในระหว่างปี 1998 ถึง 2011 นั้น ร้อยละ 79 ของโรคระบาดที่เกิดขึ้นเนื่องจากการดื่มนม (148 ครั้ง มีผู้ป่วย 2,384 คน ซึ่งต้องนอนที่โรงพยาบาล 284 คน และตาย 2 คน) เกี่ยวข้องกับการดื่มนมดิบเรื่องของนมวัวดิบนี้ เริ่มมีการเผยแพร่ความเชื่อในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 1929 โดยมีการลงบทความเรื่อง Milk Cure ในวารสาร Certified Milk Magazine ซึ่งอ้างว่า นมวัวดิบนั้นบำบัด มะเร็ง ลดความอ้วน โรคไต อาการเหนื่อยง่าย ปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง ปัญหาของระบบปัสสาวะและต่อมลูกหมาก ทั้งที่ตราบจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ว่าจริงแต่อย่างใดในสหรัฐอเมริกานั้น มีกระบวนการกินอาหารลักษณะหนึ่งเรียกว่า อาหารจีเอ็ม หรือ GM diet (ย่อมาจาก General Motor diet) ซึ่งเป็นแผนการลดน้ำหนักคนงานของบริษัทรถยนต์ ซึ่งหวังทำให้คนงานของโรงงานที่ทำงานนั่งโต๊ะมีหุ่นดี พร้อมประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น(ท่านผู้อ่านสามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ www.gmdietworks.com)อาหารจีเอ็มนั้นเป็นโครงการปฏิบัติการ 7 วัน โดยในวันแรกกำหนดให้กินแต่ผลไม้ (ยกเว้นกล้วยหอม) และดื่มน้ำ 10-12 แก้ว จากนั้นในวันที่สองก็กินแต่ผัก โดยยอมให้กินมันฝรั่งอบในมื้อเช้าเพื่อกระตุ้นให้มีพลังงานในวันนั้น ส่วนวันที่สามให้กินผักและผลไม้ผสมกันพร้อมด้วยน้ำ 10-12 แก้ว (ห้ามกินกล้วยหอมเหมือนเดิม) สำหรับวันที่ 4 ผู้เข้าร่วมโครงการได้กินกล้วยหอมและนมไปพร้อมกับ wonder soup (ซึ่งประกอบด้วย หอมหัวใหญ่ 6 หัว พริกหยวก 2 หัว มะเขือเทศ 3 ผล กระหล่ำปลี 1 หัว ผักเซเลอรี 1 กำ ผสมน้ำ 22 ออนซ์ แล้วต้มให้สุก) หรือซุบผักอย่างอื่นก็ได้ พอถึงวันที่ 5 ผู้เข้าร่วมถูกกำหนดให้กินข้าวกล้อง ลิ่มน้ำนม (curd) หรือเต้าหู้ หรือเนยแข็ง และมะเขือเทศ ส่วนในวันที่ 6 นั้นกำหนดให้กินข้าวกล้องและผักหรือโปรตีนที่ใช้แทนเนื้อสัตว์ที่สามารถกินเข้ากันได้กับผัก ในวันนี้ห้ามกินมันฝรั่งแต่ยอมให้ผสมเนยแข็งหรือเต้าหู้ในชามผัก จนถึงวันที่ 7 ก็ยังคงกำหนดให้กินข้าวกล้อง 2 ถ้วย พร้อมกับผักและผลไม้ไม่จำกัด สามารถดื่มน้ำผลไม้ไปพร้อมกับน้ำดื่ม 8-10 แก้วท่านผู้อ่านบางท่านคงพอมองเห็นว่า อาหารจีเอ็มนั้นดูคล้ายกับอาหารที่เรียกว่า อาหารล้างพิษ ซึ่งผู้เสียเงินเข้าโครงการล้างพิษที่มีการโฆษณาทางเน็ตบางท่านได้เอ่ยกับผู้เขียนว่า เป็นการพาไปบังคับให้กินอาหารอดๆอยากๆ แบบมังสวิรัติโดยไม่เต็มใจนั่นเอง และถ้าพิจารณาสูตรการลดน้ำหนักแบบอาหารจีเอ็มนี้ให้ถ่องแท้จะพบว่า ไม่ได้มีความคำนึงถึงการกระจายตัวของสารอาหารแต่ละวันในแง่ของอาหารห้าหมู่เลย บางเว็บกล่าวว่า โดยหลักการแล้วโครงการนี้มุ่งให้ผู้เข้าร่วมใช้พลังงานมากกว่าที่กินเข้าไปเพื่อให้ลดน้ำหนักให้ได้ (อาจเนื่องจากได้สารอาหารไม่ครบในแต่ละวัน) ซึ่งผู้เขียนค่อนข้างกังวลในแง่ของสุขภาพโดยรวมของผู้เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับการขาดโปรตีนมากไปในบางวัน จนภูมิต้านทานต่ำและร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมส่วนสึกหรอได้ดีพอ

อ่านเพิ่มเติม >