ฉบับที่ 175 ศราพิพัฒน์ ครุฑรัมย์ มั่นใจคนใช้ฟอร์ดต้องการให้ดูแลเรื่องเกียร์อย่างเป็นธรรม

“ร้องทุกข์ 1 ครั้งดีกว่าบ่น  1,000 ครั้ง”  เป็นวลีที่ยังทันสมัยอยู่เสมอ  แล้วถ้ายิ่งมีการรวมกลุ่มกันร้องทุกข์ พลังของผู้บริโภคก็จะยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นอีก คุณศราพิพัฒน์ ครุฑรัมย์   เป็นอีกหนึ่งเคสที่เริ่มการพิทักษ์สิทธิจากปัญหาของตัวเอง จนเกิดการรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่มีปัญหาเหมือนกัน จนสามารถช่วยเหลือผู้เสียหายท่านอื่นๆ ผ่านทางเฟสบุค ชื่อ“มั่นใจคนใช้ฟอร์ดต้องการให้ดูแลเรื่องเกียร์อย่างเป็นธรรม” และกลุ่ม “ผู้เสียหายจากการซื้อรถใหม่”   คุณศราพิพัฒน์ ปัจจุบันทำงานอิสระเกี่ยวกับการตลาด, โปรโมทเว็ปไซต์และช่วยงานด้านก่อสร้างให้น้องของเขา เรื่องราวของเขาที่เราเก็บมาฝากเริ่มขึ้นเมื่อเขาใช้สิทธิโครงการรถคันแรกเมื่อปลายปี 2012ก่อนที่จะซื้อรถรุ่นนี้มีการศึกษาข้อมูลมากน้อยแค่ไหนก็ศึกษาข้อมูลมาพอสมควร ต้องบอกว่ารถรุ่นนี้ (ฟอร์ดรุ่นเฟียสต้า) ผมตามมาตั้งแต่ยังไม่ได้เข้ามาผลิตในไทยด้วยความที่ชอบเทคโนโลยีของเขาและรูปลักษณ์ดีไซน์ด้วย พอมาขายในเมืองไทยก็ติดตามอยู่ว่ามันมีปัญหาอะไรบ้างไหมเพราะในต่างประเทศก็มีปัญหาอยู่เหมือนกันแต่ก็ถือว่ายังอยู่ในระดับที่รับได้และด้วยเรื่องเทคโนโลยีที่ชอบจึงตัดสินใจซื้อ และอีกข้อที่ตัดสินใจซื้อคือมันผลิตในเมืองไทย รถรุ่นอื่นที่ไม่ได้ผลิตในไทยจะรออะไหล่นาน 1 – 2 เดือนแต่เฟียสต้าผลิตในไทยจึงคิดว่าคงไม่ต้องรออะไหล่นานนั่นคือเหตุผลโดยรวมที่ทำให้ตัดสินใจซื้อตอนที่ไปซื้อดูอะไรบ้างเนื่องจากเราศึกษาข้อมูลมาระยะหนึ่งแล้ว รถรุ่นนี้ผลิตในเมืองไทยปี 2010 ผมซื้อตอนปี 2012 ก็ประมาณปีกว่าๆ ที่ผลิตออกมาซึ่งปัญหาเรื่องเกียร์จะยังไม่ค่อยเจอ และในโบรชัวร์ก็เขียนโชว์คุณสมบัติว่าเปลี่ยนเกียร์ได้อย่างราบเรียบนุ่มนวล ซึ่งตอนที่ซื้อก็ไม่ได้คุยอะไรกับเซลล์มากมายเพราะว่าศึกษาข้อมูลมาก่อนอยู่แล้ว และมั่นใจในเรื่องโครงสร้างด้วยตัวถังที่ใช้เหล็กโบรอนพิเศษ เรื่องช่วงล่างที่ถ้าเทียบกับรถในราคาระดับเดียวกันมันก็ถือว่าดีกว่า ตอนนั้นเรื่องเกียร์มันไม่มีปัญหาหนักๆ เลย ในต่างประเทศก็ยังไม่เจอปัญหาเรื่องนี้ ตอนนั้นยิ่งทำให้มั่นใจว่าเลือกถูก พอซื้อมาแล้วเป็นอย่างไรบ้างใช้มาได้ประมาณ 1 ปีกว่าๆ ส่วนมากจะขับไปต่างจังหวัด ถ้าช่วงที่อยู่ในกรุงเทพฯ จะออกจากบ้านประมาณอาทิตย์ละ 2 ครั้งแค่นั้นเอง ขับออกต่างจังหวัดประมาณ 80 % ของการใช้รถเลย พอผ่านมา 1 ปีอาการเริ่มแรกที่เจอคือเวลาออกตัวที่รอบความเร็วต่ำรู้สึกรถมันจะสั่นเหมือนเวลาขับบนทางที่มีเส้นประบนถนนเลย ครั้งแรกที่เจออาการผมจำได้แม่นว่าตอนนั้นอยู่บนถนนเส้นอโศกซึ่งไม่มีเส้นประเป็นทางเรียบๆ ช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่ม รถค่อนข้างติด พอออกตัวไปรู้สึกรถมันสั่นแต่ไม่ได้คิดอะไรมาก กลัวจิตตกเพราะไม่เคยเจออาการแบบนี้มาก่อนแต่พอขับๆ ไปคืนนั้นมีอาการตลอดเลยเวลาหยุดรถแล้วตอนออกตัวก็จะสั่นทุกครั้ง ผมจึงเอารถไปเข้าศูนย์ฯ ทางศูนย์ฯ แจ้งว่าซีลเกียร์รั่ว น้ำมันรั่วไปโดนชุดคลัทช์ต้องเปลี่ยนชุดคลัทช์ ซึ่งรถยังอยู่ในประกันเพราะประกัน 3 ปีหรือ 1 แสนกิโลเมตร ตอนไปเช็คอาการทางศูนย์ฯ ก็รู้แล้วว่ารถเป็นอะไรจึงออกใบเช็คอาการให้พร้อมใบนัดแต่กว่าจะได้เคลมก็ประมาณ 3 เดือนนั่นหมายถึงผมต้องใช้รถในสภาพนี้ไปอีก 3 เดือน แล้วตัวคลัทช์มันก็เสียหายไปเรื่อยๆ พอถึงวันนัดทางศูนย์ฯ ก็เปลี่ยนชุดคลัทช์ให้แต่วันที่เช็ครถนั้นยังมีอาการหม้อน้ำรั่วอีกอย่างซึ่งข้อมูลนี้ผมลองสอบถามกับช่าง ซึ่งช่างบอกว่าปัญหาเรื่องหม้อน้ำรั่วก็เจอเยอะสำหรับรถรุ่นนี้ ผมคิดว่าตัวหม้อน้ำมันเป็นเรื่องของคุณภาพเพราะปกติทั่วไปถ้าใช้รถจนเกือบพังมันก็ปกติที่หม้อน้ำจะรั่ว แต่นี่เจอกันหลายคันที่เป็นลักษณะเดียวกันนี้ หลังจากเปลี่ยนชุดคลัทช์มาก็ใช้รถมาเรื่อยๆ ได้ประมาณ 1 ปีอาการเดิมก็เริ่มกลับมาเป็นอีก เวลาขับขึ้นทางชันจะออกอาการทันที รถจะสั่น เวลาเหยียบคันเร่งก็จะมีอาการ ซึ่งครั้งนี้ผมยังไม่ได้เอากลับไปให้ศูนย์ฯ เช็คกำลังจะไปเร็วๆ นี้เพราะใกล้จะหมดประกันแล้วด้วยแล้วคนอื่นๆ ที่เจอปัญหานั้นได้มีการคุยกันบ้างไหมกับคนอื่นๆ นั้นมีปัญหากันค่อนข้างเยอะ พวกเราเลยมีการรวมกลุ่มกันเพราะคนที่ใช้รถรุ่นนี้เจอปัญหาลักษณะเดียวกันคือเรื่องเกียร์ เรื่องชุดคลัทช์จึงตั้งกลุ่มขึ้นมาชื่อว่า “มั่นใจคนใช้ฟอร์ดต้องการให้ดูแลเรื่องเกียร์อย่างเป็นธรรม”  ซึ่ง 90 % เป็นคนที่ใช้ฟอร์ดเฟียสต้า ส่วนจำนวนสมาชิกยังไม่ได้มีการลงทะเบียนรวบรวมอย่างเป็นทางการแต่เท่าที่ประเมินจากการที่เข้ามาร่วมพูดคุยกัน สถิติถึงเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 อยู่ที่ประมาณเกือบ 500 คัน ปัญหาที่เจอเหมือนของผมต้องเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีก 3 – 4 ครั้งก็มี ซึ่งรถก็ไม่มีคันไหนอายุการใช้งานเกิน 5 ปีสักคัน ส่วนใหญ่มีปัญหากันตั้งแต่ช่วง 1 – 2 ปีที่ซื้อรถมาแต่บางคันที่โชคไม่ดีเจอปัญหาตั้งแต่ 5,000 กิโลเมตรก็มีนี่คือรถที่ผลิตในช่วงปีเดียวกันหรือเป็นรถรุ่นอื่นๆ บ้างไหมล็อตที่ผลิตนั้นไม่แน่ใจแต่รถที่มีปัญหามีทุกปีตั้งแต่รถที่ผลิตปี 2010 ที่เขาผลิตมาล็อตแรกๆ รวมไปถึงผลิตปี 2011 – 2013 ส่วนของปี 2014 ผมยังไม่ค่อยมีข้อมูลแต่ก็เริ่มมีรถที่มีปัญหาเหมือนกันกิจกรรมของกลุ่มมีอะไรบ้างจะมีอยู่หลายส่วนเหมือนกันเพราะกลุ่มของเรามองว่าปัญหาที่เจอมันคือปัญหาเรื่องคุณภาพของชิ้นส่วนรถยนต์ไม่ได้มาตรฐาน ถึงแม้ว่าศูนย์ฯ จะรับประกันให้เราก็จริงแต่บางคันปัญหามันเกิดแล้วเกิดอีก จึงมองว่าถ้าคุณภาพของชิ้นส่วนรถมันดีมันไม่ควรจะเกิดปัญหาซ้ำบ่อยขนาดนี้ภายในระยะเวลาแค่ 3 ปี ซึ่งกิจกรรมเบื้องต้นที่ทำก็คือรวมกลุ่มกันไปออกรายการของทางช่องไทยพีบีเอส 2 ครั้ง หลังจากนั้นก็รวมตัวกันไปที่สำนักงานใหญ่ของฟอร์ดเพื่อเรียกร้องให้เขารับผิดชอบเยียวยาพวกเรา ซึ่งช่วงนั้นก็มีเป็นข่าวอยู่บ้างก็จะเห็นว่าทางฟอร์ดมีวิธีการต่างๆ นานาที่จะไม่ยอมเจรจา ถ้ามีการเจรจาก็มีการตั้งเงื่อนไขขึ้นมาว่าต้องไม่มีการพกโทรศัพท์ ห้ามบันทึกเสียง ห้ามเผยแพร่ข้อมูลในการพูดคุย ซึ่งผมคิดว่ามันไม่โปร่งใสทำให้การเจอกันเพื่อขอเจรจาในครั้งนั้นจึงล้มเหลว หลังจากนั้นพวกเราจึงนัดรวมตัวกันอีกรอบหนึ่ง วันที่ 17 มกราคม 2558 ซึ่งก่อนวันที่จะรวมตัวทางฟอร์ดก็มีการประกาศขยายเวลารับประกันอะไหล่ที่มีปัญหาคือชุดคลัทช์และอีกอย่างคือ TCM (กล่องควบคุมเกียร์) ที่เริ่มมีปัญหากันเยอะซึ่งมันไม่น่าจะเสียง่ายขนาดนี้ รถบางยี่ห้อใช้เป็น 10 ปียังไม่เสีย แต่ของเราพ้น 3 ปีไปนี่คือต้องคอยลุ้นว่ามันจะเสียเมื่อไรเพราะอาการของมันเราจะสังเกตเองไม่ได้เพราะว่าไม่มีอาการบ่งชี้ อย่างชุดคลัทช์เรายังสังเกตจากการที่รถมันสั่น แต่กล่อง TCM นี้มันเป็นชุดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกซ์ มันจึงไม่มีอาการบอกล่วงหน้ามีแต่สัญลักษณ์ไฟซึ่งก็ไม่แน่นอน เวลาเสียแล้วรถจะวิ่งได้ที่ความเร็ว 20 – 40 กิโลเมตร / ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งมันอันตรายตรงที่เวลาเราขับรถด้วยความเร็วสูงแล้วมันเกิดเสียขึ้นมาความเร็วรถมันจะลดลงทันที ถือว่าอันตรายมากอาจเกิดอุบัติเหตุได้    ย้อนกลับไปตอนที่นัดชุมนุมกันทางฟอร์ดขยายเวลารับประกันชุดคลัทช์กับตัว TCM ให้ซึ่งชุดคลัทช์ขยายให้เป็นรับประกัน 5 ปี หรือ 160,000 กิโลเมตร ส่วน TCM ขยายเป็น 10 ปี อันนี้ไม่แน่ใจว่าฟอร์ดเขากลัวพวกเรารวมตัวกันเยอะๆ หรือเปล่าจึงประกาศการขยายเวลารับประกันออกมาก่อนเพื่อบอกให้รู้ว่าเขาได้ดูแลพวกเราแล้วนะ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ทุกวันนี้พวกเรายังรวมตัวกันอยู่ ทำไมยังไม่สลายตัวคือตอนนี้เขาขยายเวลารับประกันให้แล้ว แต่เราพบว่ามันมีปัญหาที่มันเกี่ยวเนื่องกันเพิ่มขึ้นมาอีกเพราะฉะนั้นเราจึงต้องรวมตัวกันอยู่เพื่อที่จะดูแลซึ่งกันและกัน ให้คำปรึกษาคนที่เขาเพิ่งเจอปัญหา เหมือนการรวมพลังของกลุ่มผู้บริโภคและอีกเหตุผลคือมีการหารือกันถึงเรื่องการฟ้องร้อง ถ้าแยกเป็นแต่ละกรณีนั้นปัญหาค่อนข้างเยอะ บางรายเป็นเยอะมาก ผมขอพูดในนามตัวแทนกลุ่มเลยว่าปัญหาของผมก็เหมือนปัญหาของกลุ่มแต่ว่าบางคนในกลุ่มปัญหาค่อนข้างหนัก ที่ยังรวมกลุ่มกันเพราะพวกเรามองว่าฟอร์ดควรจะรับผิดชอบพวกเรามากกว่านี้โดยเฉพาะรุ่นเฟียสต้าหรือรุ่นที่ใช้พาวเวอร์ชิพ อย่างทุกวันนี้ปัญหาชุดก้ามปูก็เกี่ยวเนื่องมาจากปัญหา 2 อย่างนี้พอเป็นบ่อยๆ ก็ส่งผลกระทบกับก้ามปูซึ่งชุดหนึ่งราคาค่อนข้างแพง ประมาณ 3 – 4 หมื่น ก็มีเป็นกันอยู่หลายราย สมาชิกในกลุ่มเวลาขับรถไปก็ลุ้นกันว่าตัวเองจะเจอเมื่อไร ใครจะเจอแจ๊กพ็อตปัญหาก้ามปูตามมานอกจาก 2 ปัญหาแรกที่เราเจอกันอยู่แล้ว และแนวทางของกลุ่มหลังจากนี้คือจะช่วยกันดูแลกันและกัน ผมมองว่ามีประโยชน์มากเพราะบางรายนั้นไปเข้าศูนย์ฯ ซึ่งพูดได้ว่าศูนย์ฯ บางแห่งไม่ตรงไปตรงมาอย่างเช่นนับอายุประกันรถไม่ครบ พอคนที่เจอปัญหาเข้ามาที่กลุ่มพวกเราก็ให้คำปรึกษาช่วยเหลือกันไป บางรายเจอปัญหาที่ทางศูนย์ฯ สามารถวิเคราะห์ได้อยู่แล้วว่าปัญหามันคืออะไรแต่ศูนย์ฯ พยายามบ่ายเบี่ยงที่จะไม่รับผิดชอบ ซึ่งทางกลุ่มก็ให้คำแนะนำเพื่อให้สมาชิกได้ไปเจรจากับศูนย์ฯ อีกครั้งก็ได้รับการดูแลอย่างดี ไม่อย่างนั้นกรณีที่เคยเจอมาหลายรายคือต้องเสียเงินโดยใช่เหตุ อีกประเด็นคือหลังจากได้คุยกับทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีโอกาสได้ร่วมเสวนากันมาหลายครั้งซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้มีการผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งผมก็เห็นด้วยในแนวทางนี้จึงได้ชวนเพื่อนๆ ในกลุ่มไปร่วมลงชื่อสนับสนุนเยอะพอสมควรและอีกเรื่องคือเรื่องกฎหมาย Lemon Law จากการรวมตัวกันตรงนี้ที่คิดว่าควรจะมีกลุ่มผู้บริโภคในบ้านเราเพื่อผลักดันอะไรก็ได้ที่มันคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้น ซึ่งพวกเราก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่เพิ่งตั้งขึ้นมาได้ไม่ถึงเดือนคือ “ผู้เสียหายจากการซื้อรถใหม่”(กลุ่มทางเฟสบุค) ตอนนี้มีสมาชิกประมาณ 300 คน โดยทางมูลนิธิฯ ได้ตั้งชื่อให้ซึ่งผมก็รู้สึกว่ามันตรงดีเพราะกลุ่มแรกจะเน้นไปที่ผู้ใช้รถฟอร์ด ก็คิดกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะดึงคนที่มีปัญหาเดียวกันแต่เป็นรถยี่ห้ออื่นๆ จึงตั้งอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อจะรวมทุกยี่ห้อจะได้ช่วยเหลือดูแลกันเวลาเจอปัญหาและเพื่อเรียกร้องสิทธิ อีกเรื่องที่รวมตัวคือเพื่อจะร่วมช่วยกันผลักดันกฎหมาย Lemon Law และองค์การอิสระฯ คือทุกวันนี้เรารู้กันอยู่แล้วว่าในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคบ้านเราค่อนข้างมีปัญหา อย่างกลุ่มของเราต้องพูดตรงๆ ว่าเราไม่ค่อยเชื่อมั่นในหน่วยงานของรัฐ จนถึงวันนี้ก็ยังไม่เคยไปร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐเลย เริ่มตั้งแต่รวมตัวกันเรียกร้องกับฟอร์ดโดยการส่งจดหมายไปบริษัทแม่ ส่งไปที่ฟอร์ดประเทศไทย แต่ไม่ไปเรียกร้องกับหน่วยงานรัฐเพราะมีเหตุผลคือไม่เชื่อมั่น จึงเป็นที่มาว่าเราเห็นด้วยกับแนวทางของมูลนิธิฯ ในการผลักดันองค์การอิสระฯ และกฎหมาย Lemon Law ที่คุ้มครองเรื่องสินค้าชำรุดโดยตรง     ตอนนี้แนวทางของกลุ่มคนใช้รถฟอร์ดในปลายปีนี้จะมีการรวมตัวกันดูประเด็นแล้วอาจมีการฟ้องร้องกลุ่มกับฟอร์ดประเทศไทย เพราะบางคนปัญหาหนักแล้วเขาก็ไม่ต้องการใช้รถคันนั้นแล้ว จะขายราคาก็ตก มันมีหลายๆ ปัญหา ทางฟอร์ดควรรับผิดชอบมากกว่านี้ ควรรับซื้อคันที่มีปัญหาเดิมเกิดขึ้นหลายๆ ครั้งคืนไป ส่วนเงื่อนไขอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยกันอีกทีซึ่งตอนนั้นคงเป็นเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ส่วนกิจกรรมของกลุ่ม “ผู้เสียหายจากการซื้อรถใหม่” ก็คงมีกิจกรรมร่วมกับมูลนิธิฯ เรื่อยๆ เพื่อช่วยกันผลักดันกฎหมายและผลักดันแนวทางกลุ่มเพื่อดูแลคนที่ซื้อรถมาใหม่ๆ เกิดปัญหาควรจะทำอย่างไรไม่จำเป็นต้องเป็นรุ่นหรือยี่ห้อเดียวกัน นี่เป็นแนวทางกว้างๆ ของกลุ่ม ช่วยแนะนำคนที่จะซื้อของไม่ว่าจะเป็นรถหรือสินค้าอื่นๆ ในฐานะที่มีประสบการณ์เจอปัญหามาผมว่าผู้บริโภคไม่ว่าจะเกี่ยวกับสินค้าอะไรนั้น เมื่อเกิดปัญหาควรจะรวมตัวกันให้ได้ อย่างเช่นกลุ่มคนใช้มือถือ อย่างน้อยเวลาเกิดปัญหาจากกการที่สินค้าไม่ได้มาตรฐานจะได้มีพลังในการเรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิของเรา และยังสามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้เวลาเกิดปัญหา อย่างกลุ่มของผมค่อนข้างมีประโยชน์มากๆ เวลาเพื่อนสมาชิกมีปัญหาแล้วเขาไม่มั่นใจในการวิเคราะห์ของศูนย์ฯ บางทีช่างอาจจะรู้แต่เขาไม่อยากรับผิดชอบจึงวิเคราะห์อาการมาแบบไม่ตรงเพราะบางศูนย์ฯ ก็มีเล่ห์เหลี่ยมเพื่อจะขายของเพิ่ม รถเป็นนิดเดียวแต่ให้เปลี่ยนนู่นเปลี่ยนนี่เพิ่มเพื่อจะให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเงิน ซึ่งเรื่องนี้พอมีกลุ่มขึ้นมาก็สามารถแนะนำกันได้ว่าปัญหาแบบนี้มันควรจะแก้ไขอย่างไรเพราะคนในกลุ่มมีการใช้งานที่หลากหลาย แก้ไขปัญหากันมาหลากหลายจึงสามารถแนะนำกันได้ ไม่อย่างนั้นอาจทำให้เราเสียเปรียบผู้ผลิตและได้รับการดูแลที่ไม่ดีพอ การร้องเรียนด้วยตัวเองบางทีมันก็เหนื่อยหรือไม่มีพลังมากพอ ถ้าเรามีหลายๆ กลุ่มพอมีนโยบายที่เป็นระดับชาติเราก็มารวมตัวกันอีกที อย่างเช่นปัญหาเรื่องบ้านก็เข้าใจว่าพวกเขาคงมีกลุ่มเหมือนกัน ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าพอมีปัญหาก็โทษหน่วยงานรัฐว่าทำงานไม่เต็มที่โดยลืมไปว่าบางทีผู้บริโภคเองก็หละหลวมที่จะปกป้องสิทธิของตนเอง เราควรรวมตัวกันเพื่อให้เป็นพลัง ถ้าหน่วยงานรัฐทำงานไม่เต็มที่ก็มีกลุ่มพวกนี้ที่คอยกระตุ้นให้รัฐทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point