ฉบับที่ 242 สรุปความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน

คนไทยป่วยไบโพลาร์กว่าล้านคน        สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุ คนไทยมีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 10 ล้านคน เป็นผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ถึง 1 ล้านคน แต่ทุกวันนี้สังคมไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และมีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่เข้ารับการรักษา         โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์แปรปรวน หรือโรคอารมณ์สองขั้ว เกิดจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ และอาจเกิดในผู้ที่มีความเครียดสะสม ทำให้อาการเปลี่ยนแปลงไปจากนิสัยหรือบุคลิกเดิมของคนๆ นั้น ลักษณะอาการเด่นของโรคนี้คืออารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างช่วงที่อารมณ์ดีมากกว่าปกติ (mania หรือ hypomania) สลับกับอาการอารมณ์ซึมเศร้า (major depressive episode) หรืออาจมีอาการแมเนียเพียงอย่างเดียวก็ได้ โดยอาการในแต่ละช่วงอาจเป็นอยู่นานเป็นสัปดาห์ หรือหลายๆ เดือนก็ได้ ทั้งนี้ โรคไบโพลาร์จะเริ่มแสดงอาการเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น แต่คนไม่รู้ และคิดว่าเป็นเพียงอารมณ์แปรปรวนตามประสาวัยรุ่น หรือบางรายที่มีอารมณ์ซึมเศร้าเด่นกว่าแมเนีย จึงมักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นโรคซึมเศร้า ทำให้เสียโอกาสในการวินิจฉัย         สำหรับแนวทางการรักษาโรคจิตเวช และโรคไบโพลาร์ อันเป็นที่ยอมรับแล้ว คือ วิธีรักษาด้วยการใช้ยา ร่วมกับการบําบัดทางจิตสังคม (Psychosocial therapy) และการบําบัดที่เน้นครอบครัว และการให้สุขภาพจิตศึกษาร่วมกับการรักษาด้วยยามีประสิทธิภาพในการช่วยลดความรุนแรงของอาการและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ดี รัฐบาลเตรียมกฎหมายควบคุมร้านจำหน่ายแก๊ส         รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทร้านจำหน่าย พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เพื่อเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยให้เหมาะสมกับสภาพการประกอบกิจการในปัจจุบัน ทั้งนี้ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับที่ตั้ง แผนผัง รูปแบบ และลักษณะของสถานที่เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวประเภทร้านจำหน่าย การเก็บรักษาและการจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประกอบไปด้วย           - ห้ามตั้งร้านจำหน่ายถังก๊าซหุงต้มในอาคารชุด อาคารสรรพสินค้า อาคารแสดงสินค้า หรือสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว           - ร้านจำหน่ายที่อยู่ห่างจากอาคารอื่นไม่เกิน 6 เมตร ให้เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ไม่เกิน 2,400 ลิตร ถ้าอยู่ห่างจากอาคารอื่นเกิน 6 เมตรขึ้นไป ให้เก็บรักษาก๊าซปิโตรเลียมเหลวได้ไม่เกิน 12,000 ลิตร           - ร้านจำหน่ายลักษณะที่ 2 (ร้านจำหน่ายที่มีการเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลวเกิน 500 ลิตรขึ้นไป) ต้องมีระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยแบบกระจายน้ำดับเพลิงที่สามารถฉีดน้ำครอบคลุมบริเวณที่เก็บถังก๊าซหุงต้มหรือกระป๋องก๊าซ        สำหรับร้านจำหน่ายที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนที่กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้ ขณะที่ร้านจำหน่ายที่ตั้งอยู่ในตึกแถวที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้มีกรรมสิทธิ์ในตึกแถวข้างเคียงที่มีผนังร่วมกัน  ผลตรวจน้ำมะพร้าวไม่พบยาฆ่าแมลงแต่โพแทสเซียมสูงผู้ป่วยโรคไตต้องระวัง         นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่สรรพคุณของน้ำมะพร้าว ในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศของผู้ชาย และทำให้เกิดกระแสการบริโภคน้ำมะพร้าวนั้น กรมวิทยาศาสตร์ฯ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ได้ศึกษาคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำมะพร้าวสดและน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท ชนิดละ 7 ตัวอย่าง โดยนำมะพร้าวสดเก็บจากร้านค้าในพื้นที่ จ.ราชบุรี จ.นนทบุรี จ.นครปฐม จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรสงคราม และ น้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท 7 ยี่ห้อ เก็บจากร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้า เพื่อตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ ได้แก่ แร่ธาตุ วิตามิน น้ำตาล ฮอร์โมน ความเป็นกรดด่าง และการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช         “ผลการตรวจวิเคราะห์ พบแคลเซียม แมกนีเซียม โซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แมงกานีส เหล็ก สังกะสี ซีลีเนียม และคลอไรด์ในน้ำมะพร้าวสดมากกว่าน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิท โดยเฉพาะโพแทสเซียมและคลอไรด์ในปริมาณเฉลี่ย 133.81 – 215.20 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม พบวิตามิน บี 2 ในน้ำมะพร้าวสดน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ตรวจไม่พบในน้ำมะพร้าวที่ผ่านการแปรรูป เนื่องจากวิตามิน บี 2 ละลายน้ำได้ดีและถูกแสงสว่างทำลายได้ง่าย และวิตามิน บี 3 ในปริมาณเฉลี่ย 0.04 – 0.1 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม เนื่องจากวิตามิน บี 3 ทนความร้อนและแสงสว่างได้ดีกว่า พบน้ำตาล 3 ชนิด ประกบด้วย กลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ในปริมาณเฉลี่ย 1.28 – 2.61 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร และพบฮอร์โมนเอสตราไดออล (estradiol) ซึ่งอยู่ในกลุ่มของเอสโตรเจน (estrogen) ทุกตัวอย่าง โดยมีปริมาณน้อยกว่า 1.0 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร และเทสโทสเตอโรน (testosterone) น้อยกว่า 0.2 นาโนกรัมต่อมิลลิลิตร สำหรับค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) พบอยู่ในช่วง 4.9 – 5.4 และตรวจไม่พบการตกค้างของสารเคมี กำจัดศัตรูพืชทุกตัวอย่าง” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว         จากการศึกษาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าน้ำมะพร้าวมีแร่ธาตุและเกลือแร่ในปริมาณสูง ส่วนน้ำตาลกลูโคส ฟรุกโตส และซูโครส ที่พบในน้ำมะพร้าวสด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยพบว่า น้ำมะพร้าวสดจะมีกลูโคสสูงกว่าน้ำตาลชนิดอื่น (ประมาณร้อยละ 50 ของน้ำตาลทั้งหมด) และปริมาณน้ำตาลจะขึ้นอยู่กับอายุของลูกมะพร้าว โดยมะพร้าวอ่อน จะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่ามะพร้าวแก่ ส่วนน้ำมะพร้าวในภาชนะบรรจุปิดสนิทจะมีซูโครสสูง อาจเพราะมีการเติมน้ำตาลทรายในกระบวนการผลิตเพื่อปรุงแต่งรสชาติหรือเพิ่มความหวาน การบริโภคน้ำมะพร้าว 1 ผลหรือ 1 ขวด (ประมาณ 200 – 300 มิลลิลิตร) จะได้รับน้ำตาล 7-25 กรัม ซึ่งกรมอนามัยได้แนะนำว่า ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 32 กรัมต่อวัน ดังนั้น การบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 1 ผลต่อวัน จะช่วยในการรักษาระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ดี         “น้ำมะพร้าวจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคไตเสื่อม เพราะน้ำมะพร้าวจะไปกระตุ้นการขับปัสสาวะ ถ้าร่างกายขาดน้ำ คนที่เป็นโรคไตอาจจะหัวใจวายได้ และคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไป อาจสร้างปัญหาให้หัวใจ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม” นพ.ศุภกิจ กล่าว ศาลปกครองรับคำฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรณี กขค.         ศาลปกครองมีคำสั่งลงวันที่ 22 มีนาคม 2564 รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอีก 36 องค์กรผู้บริโภค รวมถึงผู้บริโภคจากทั่วประเทศ กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวล ลอปเม้นท์จำกัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จำกัด ที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย        โดยที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้พิจารณาโดยเร่งด่วน และสั่งให้ทำคำชี้แจง รวมถึงส่งเอกสารประกอบว่า​ หากไม่มีคำสั่งให้ชะลอหรือระงับตามคำสั่งทางปกครองในเหตุพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อน​นั้นจะเกิดความเสียหายและยากแก่การเยียวยาแก้ไขอย่างไร​         ทั้งนี้ ศาลได้เรียกบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัดเข้ามาเป็นคู่กรณีฝ่ายที่สาม โดยกำหนดให้บริษัท ซี.พี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดเป็นผู้ร้องสอดที่ 1 และบริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ร้องสอดที่ 2 (ซึ่ง บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564         ส่วนในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษานั้น ศาลขอให้ผู้ฟ้องจัดทำคำชี้แจง พร้อมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นต่อศาลภายใน 7 วัน หลังจากที่ได้รับหมาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ห้ามรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซลวิ่งในหลายๆ เมืองของประเทศเยอรมนี !!!

       มีข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ประเด็น “สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังชีพได้อย่างปลอดภัย เป็นสิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการป้องกันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคแต่ละคนไม่สามารถควบคุมได้เอง สิทธินี้ต้องยอมรับถึงความต้องการที่จะได้รับการคุ้มครองและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ตลอดชั่วอายุเราไปจนชั่วอายุลูกหลานอีกด้วย”       โดยที่ ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (Court of European Union) พิพากษายืนยันมาตรการ การห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมือง ที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่ ในหลายๆ เมืองของประเทศเยอรมนี โดยก่อนหน้านี้ ศาลปกครองสูงสุดของเยอรมนี ก็ได้มีคำพิพากษาห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมือง ใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็น ฮัมบวร์ก  มิวนิค สตุ๊ตการ์ต โคโลญจน์  ดึสเซลดอร์ฟ เบอร์ลิน ดอร์ตมุน ฯลฯ และอีกกว่า 20 เมืองที่จะมีกฎหมายห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งในเมืองเหล่านี้ เนื่องจากเมืองใหญ่ประสบปัญหา มีปริมาณ NOx  (ออกไซด์ของไนโตรเจน) เกินค่ามาตรฐาน  มาตรการการห้ามรถยนต์ดีเซล โดยเฉพาะรถบรรทุกวิ่งในเขตเมือง คือ การแบ่งโซนนิง พื้นที่ที่มีความเข้มข้นของ ก๊าซ NOx ที่มีค่าสูงจนเกิดความเสี่ยงและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเมือง พื้นที่ที่ได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามผ่าน จะมีผลต่อรถยนต์ที่ใช้เครื่องดีเซล ต่ำกว่ามาตรฐาน EUEO 4 และตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ก็จะขยายมาตรการห้ามรถยนต์ที่เครื่องดีเซล ต่ำกว่ามาตรฐาน EURO 5 วิ่งในพื้นที่ ที่ได้ประกาศไว้ด้วยเช่นกัน       อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อยกเว้น สำหรับ ผู้พิการที่จำเป็นต้องใช้รถเก่า และประชาชนที่อาศัยในเขตห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งผ่าน แต่อาจต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในกรณีพิเศษ โดยจะพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆ ไป นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตั้งเป้า การห้ามรถยนต์ดีเซลที่มีมาตรฐานต่ำกว่า EUEO 6  วิ่งในพื้นที่ห้ามวิ่ง ภายในปี 2564 เพิ่มเติมอีกด้วยรัฐบาลมีมาตรการอย่างไรในการรับมือกับคำพิพากษาของศาลปกครอง-  รัฐบาล ไม่ห้ามรถยนต์ดีเซล มาตรฐาน Euro 4 และ Euro 5 แต่รถต้องปล่อย NOx ไม่เกิน 270 mg/ km -  รัฐบาลมีงบสนับสนุนการเปลี่ยนรถใหม่ (Exchange Premium) ในกรณีที่รถยนต์ต่ำกว่ามาตรฐาน Euro 4 และ Euro 5 ที่ปล่อยก้าซ NOx เกินกว่า 270 mg/km โดยมีเงื่อนไขว่า เงินสนับสนุนนี้จะให้กับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ ห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่ง หรือต้องขับรถเข้ามาทำงาน ในพื้นที่ห้ามวิ่งและครอบครองรถยนต์มาตรฐานดังกล่าว ซึ่งเงินสนับสนุนของรัฐบาลนี้มีวัตถุประสงค์ในการชดเชย มูลค่ารถที่เสียไปจาก มาตรการทางกฎหมายห้ามรถยนต์ดีเซลมาตรฐานต่ำๆ วิ่งในพื้นที่ต้องห้ามวิ่ง-  มาตรการการเปลี่ยนชิ้นส่วน หรือระบบกรองอากาศ มาตรการนี้ ผู้ผลิตรถยนต์หลายเจ้าได้ยกเลิกการพัฒนาระบบกรองอากาศ แต่ บริษัทรถยนต์ชั้นนำไม่ว่าจะเป็น Mercedes, Volkswagen และ BMW พร้อมที่จะสนับสนุนมาตรการนี้ให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในวงเงินไม่เกิน 3000 ยูโร ถ้า ลูกค้าไม่สนใจในมาตรการรับเงินสนับสนุน (Exchange Premium) จากรัฐบาล          ในกรณีที่ประชาชนละเมิดกฎหมาย ฝ่าฝืนมาตรการการห้ามรถวิ่งผ่านพื้นที่ดังกล่าว จะต้องเสียค่าปรับ ประมาณ 80 ยูโร หรือ อาจต้องเสียค่าปรับถึง 160 ยูโร หากทางเจ้าหน้าที หรือ ศาลเห็นว่าจงใจฝ่าฝืนมาตรการหรือคำสั่งดังกล่าว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้จักกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตอนที่ 2

บทเรียนการทำคดีผู้บริโภคก่อนมีกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่มทุกวันนี้ปัญหาของผู้บริโภคที่เกิดมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแบบปัจเจกคือ เกิดกับคนๆ เดียว แต่ปัจจุบันมีปัญหาหลายกรณีที่เป็นปัญหาที่เกิดกับผู้บริโภคหลายคนในเวลาเดียวกัน เช่น กรณี สถานออกกำลังกายแคลิฟอร์เนีย ว้าวปิดตัวโดยไม่แจ้งลูกค้า หรือ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสาร หรือ กรณีปัญหาสาธารณูปโภคบ้านจัดสรร ซึ่งเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว กระบวนการใช้สิทธิเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายของผู้บริโภค จะมีความแตกต่างกันตามสภาพของแต่ละบุคคลคือ ต้องแยกกันฟ้อง บางกรณีฟ้องคนละศาล ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งของคำพิพากษา หรือการไม่สะดวกต่อกระบวนการใช้สิทธิดังกล่าว ขอยกกรณีศึกษา จากการฟ้องคดีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ผ่านมาดังต่อไปนี้ กรณีแคลิฟอร์เนีย ว้าวมีผู้บริโภคมากกว่า 600 ราย มาร้องเรียนต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าได้รับความเสียหายจากการปิดกิจการของบริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฯ  โดยไม่แจ้งให้สมาชิกทราบล่วงหน้า เป็นเหตุให้สมาชิกจำนวนมากได้รับความเสียหาย ไม่สามารถใช้บริการได้ตามสัญญา ทั้งที่ยังมีอายุสัญญาใช้บริการอยู่  และได้จ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้วอีกทั้งยังพบว่า กรณีนี้มีการกระทำผิดหลายอย่าง เช่น การฝ่าฝืนประกาศ สคบ. เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา โดยกำหนดห้ามทำสัญญาเป็นสมัครสมาชิกเกิน 1 ปี แต่ทางแคลิฟอร์เนียเปิดรับสมัครสมาชิกตลอดชีพ เพื่อระดมเงินค่าสมัครของผู้ใช้บริการ ก่อนที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปต่างประเทศ และทยอยปิดกิจการลงจนหมดสิ้น ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการทั่วประเทศกว่า 1 แสนราย ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ กรณีอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะกรณีรถยนต์โดยสารประจำทางบริษัท เปรมประชาขนส่ง จำกัด วิ่งระหว่างเส้นทาง อ.แม่สะเรียง – จ.เชียงใหม่ แล้วรถเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำระหว่างทาง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกว่า 40 คน  ผู้เสียหายแต่ละรายต้องใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลแยกเป็นรายคดี เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย  ซึ่งผู้เสียหายที่เจ็บมากและเจ็บน้อย ต่างก็ต้องแยกฟ้องคดีส่วนของตนเอง ในทางปฏิบัติอาจฟ้องหลายๆ คนรวมกันได้ แต่มีความยุ่งยากค่อนข้างสูงกรณีรถยนต์ชำรุดบกพร่อง (เชฟโรเล็ต)  จากกรณีความชำรุดบกพร่องของสินค้ารถยนต์เชฟโรเลต ที่พบปัญหาในระบบส่งกำลัง ระบบเกียร์  ของรถยนต์รุ่นครูซ และแคปติว่า ของรถยนต์เชฟโรเลต โดยปัญหาที่เกิดขึ้นมีมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ซื้อรถจนถึงปัจจุบัน แต่บริษัทก็ไม่สามารถแก้ไขให้รถมีสภาพปกติเหมาะกับการใช้งานได้แต่เมื่อคดีไม่สามารถเจรจาตกลงการเยียวยาได้ ผู้เสียหายทั้ง 7 ราย จึงตัดสินใจฟ้องบริษัท บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย ,  บริษัทผู้ขายรถยนต์ (ดีลเลอร์) และบริษัทเช่าซื้อ เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแพ่ง โดยฟ้องแยกเป็น 7 คดี เรียกค่าเสียหาย ทั้งนี้ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง 4 ประเด็น คือ1.ขอให้รับผิดชอบคืนเงินดาวน์และค่างวดการเช่าซื้อที่ชำระไปแล้วทั้งหมด2.ขอให้บริษัทฯ รับผิดชอบค่าใช้สอยรถยนต์ต่อผู้ให้เช่าซื้อเต็มจำนวนแทนผู้บริโภค เนื่องจากสาเหตุที่ต้องบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและเรียกเงินคืนนั้นเพราะสินค้าชำรุดบกพร่องจากการผลิต ไม่ใช่จากการใช้งานปกติของผู้บริโภค3.ขอให้ศาลห้ามบริษัทฯ จำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาท และให้เรียกเก็บสินค้าดังกล่าวจนกว่าจะได้เปลี่ยนแปลงให้มีความปลอดภัย แต่หากแก้ไขไม่ได้นั้นห้ามผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่าย4.ขอเรียกค่าเสียหายต่อจิตใจที่ต้องหวาดกลัว วิตกกังวล ตลอดเวลาในการใช้รถยนต์พิพาทวันที่ 9 ตุลาคม 2558  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ 6 คดี ชนะคดีโดยศาลพิจารณาตามหน้าที่ของบริษัทที่ต้องชำระคืน ทั้งเงินดาวน์และเงินที่ผ่อนชำระค่างวดไปแล้ว นั้นก็คือผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ของบริษัทเชฟโรเล็ต คืนเงินดาวน์ทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่ชำระคืนให้ผู้บริโภคจนเสร็จ และให้บริษัทไฟแนนซ์ ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์คืนเงินค่าเช่าซื้อที่ผ่อนไปทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันรับฟ้องคดีนกว่าจะชำระหมด  และให้โจทก์ชำระเงินค่าใช้รถยนต์ให้กับบริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์วันละ 100 บาท ตั้งแต่วันรับรถจนกว่าจะคืนรถ  แต่อีกคดี ปรากฏว่า แม้ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ กลับพิพากษายกฟ้องโจทก์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างโจทก์ขออนุญาตฎีกา ดังนั้น จะเห็นได้ว่าจากการฟ้องคดีรถยนต์ดังกล่าวนี้  แม้ข้อเท็จจริงจะเป็นการฟ้องคดีที่ผู้เสียหายมีความเสียหายแบบเดียวกัน มีจำเลยคนเดียวกัน ในปัญหาข้อเท็จจริงแบบเดียวกัน แต่ก็ศาลก็อาจมีผลคำพิพากษาที่แตกต่างกันได้   จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาของผู้บริโภคหลายครั้งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดกับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะโดยสภาพของการทำธุรกิจ ย่อมเข้าถึงผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาจากการบริโภคสินค้าและบริการ จึงทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคจำนวนมาก บางครั้งการร้องเรียนหรือฟ้องคดีเพื่อให้ได้รับการชดเชยเยียวยา อาจไม่ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมกัน และผู้บริโภคที่เสียหายแต่ละรายก็ไม่มีกำลังทรัพย์หรือความรู้ที่เท่าทันมากพอที่จะคุ้มครองสิทธิของตนเอง จึงจำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มของผู้เสียหายเพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง มีตัวแทนกลุ่มในการเรียกร้องสิทธิ รวมถึงมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองประโยชน์ของคนจำนวนมากจากความเสียหายเดียวกัน[1] จุฬารัตน์  ยะปะนัน. หนังสือจุลนิติ พ.ค. - มิ.ย. 53[2] เกรียงศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์. สรุปสาระสำคัญการดำเนินคดีแบบกลุ่ม[3] ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “บทเรียน 10 ปี ศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 รู้จักกฎหมายดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) ตอนที่ 1

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action คืออะไร        การดำเนินคดีแบบกลุ่ม หรือ Class Action เป็นหนึ่งในวิธีพิจารณาความ เพื่อเยียวยาความเสียหายให้แก่กลุ่มผู้เสียหายที่มีจำนวนหลายคน  ให้ทั่วถึง รวดเร็ว เป็นธรรม  สร้างภาระและค่าใช้จ่ายแก่ภาครัฐน้อยที่สุด  โดยมีรูปแบบการดำเนินคดีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจำนวนมากได้ในการทำคดีเพียงครั้งเดียว และสามารถอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีเพื่อตนเองได้ หรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจำนวนเพียงเล็กน้อย หลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนในการฟ้องคดี และป้องกันความขัดแย้งกันของคำพิพากษา ตลอดจนเป็นมาตรการในการลดปริมาณคดีที่จะขึ้นสู่ศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยประเทศไทย ได้ออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2558 ว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2558 เป็นต้นมา[1]คดีอะไรบ้างที่ฟ้องคดีแบบกลุ่มได้   การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะใช้ในกรณีที่มีผู้ถูกโต้แย้งสิทธิเป็นจำนวนมาก เช่น ในคดีคุ้มครองผู้บริโภคที่มีผู้เสียหายจำนวนมากจากการใช้สินค้าและบริการ ซึ่งเกิดจากผู้ประกอบการรายเดียวกัน หรือในคดีละเมิดที่มี ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำเป็นบุคคลจำนวนมาก   ซึ่งบ่อยครั้งความเสียหาย อาจเกิดจากอุบัติเหตุต่างๆ ไม่ว่าจะทางบก ทางน้ำหรือทางอากาศ ซึ่งแต่ละครั้ง ที่มีเหตุละเมิดดังกล่าวจะมีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำนั้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่พบปัญหามากขึ้นในปัจจุบัน เพราะการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในแต่ละครั้งนั้น จะมีผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกันนอกจากนี้ ยังรวมถึง คดีอื่นๆ เช่น คดีแรงงาน คดีเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์   การแข่งขันทางการค้า  เป็นต้น[i] ศาลที่มีอำนาจรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีแบบกลุ่มได้   ศาลที่มีอำนาจรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีแบบกลุ่มได้  คือ ศาลยุติธรรมทุกศาล(ยกเว้น ศาลแขวง) ทั้งศาลแพ่ง  ศาลจังหวัด  ศาลภาษีอากร  ศาลแรงงาน  ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการ ค้าระหว่างประเทศ  เป็นต้น(แต่ไม่รวมไปถึงศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ) หลักการสำคัญของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม·ผู้ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกันจะอยู่ในฐานะเป็นสมาชิกกลุ่ม และเฉพาะสมาชิกกลุ่มที่เป็นโจทก์  เท่านั้นที่จะมีฐานะเป็นคู่ความในคดี·โจทก์และทนายความโจทก์ในการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติที่จะทำหน้าที่เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ให้กับสมาชิกกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม โดยศาลจะต้องคัดเลือกผู้ที่จะเป็นโจทก์และทนายความฝ่ายโจทก์อย่างละเอียดรอบคอบ·การเริ่มดำเนินคดีแบบกลุ่มจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลเสียก่อน  เมื่อเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎหมายและตามข้อกำหนดที่จะออกตามมาที่จะสามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ทุกประการแล้ว  การดำเนินคดีนั้นๆ ในศาลจะไม่เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มโดยอัตโนมัติ  แต่โจทก์จะต้องยื่นคำร้องขออนุญาตดำเนินคดีแบบกลุ่มต่อศาลเสียก่อน  และเมื่อศาลอนุญาตแล้ว  จึงจะให้ถือว่าการดำเนินคดีในคดีนั้นเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม การยื่นคำร้องฝ่ายโจทก์จะต้องเป็นฝ่ายยื่นคำร้องไปพร้อมกับการยื่นคำฟ้อง·การออกจากลุ่ม โดยสมาชิกกลุ่มมีสิทธิแสดงเจตนาต่อศาลในการขอออกจากการเป็นสมาชิก และไม่ประสงค์จะผูกพันในคำพิพากษาคดีแบบกลุ่ม เพื่อไปฟ้องคดีของตนเองได้·ผลของคำพิพากษาสมควรผูกพันบุคคลอื่นที่ไม่ได้เข้ามาในคดีโดยวิธีการแจ้งหรือประกาศเพื่อให้สมาชิกกลุ่มทราบถึงความเคลื่อนไหวของคดีและทราบถึงสิทธิของตน·โจทก์ ต้องมีความสามารถทำแทนคนอื่นได้ กล่าวคือ โจทก์จะต้องทำหน้าที่แทนสมาชิกกลุ่มทั้งหมดซึ่งอาจมีจำนวนมากโดยที่ไม่เคยพบปะกันมาก่อน และการทำหน้าที่ของโจทก์จะส่งผลกระทบต่อสมาชิกกลุ่มคนอื่นๆ โจทก์จึงเป็นตัวละครที่มีความสำคัญมาก จึงมีความจำเป็นที่ศาลจะต้องควบคุมตรวจสอบผู้ที่เป็นผู้แทนกลุ่มโดยเคร่งครัด ·กลุ่มบุคคล แม้ความเสียหายต่างกันก็ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้  หมายถึง บุคคลที่มีสิทธิอย่างเดียวกัน เนื่องจากข้อเท็จจริงและกฎหมายอย่างเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าลักษณะของความเสียหายจะแตกต่างกันก็ตาม เช่น นางสาวแดง ฟ้า และส้ม ซื้อเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่ง จากห้างสรรพสินค้าคนละที่ คนละจังหวัดกันไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ปรากฎว่าพอทุกคนใช้เครื่องสำอางเกิดอาการเป็นผื่นแดง ผิวลอกลาย ต้องไปหาหมอเสียค่ารักษาพยาบาล กรณีเช่นนี้ทั้งสามคนถือว่าเป็นกลุ่มบุคคล เมื่อมาร้องเรียนและรวมกลุ่มกัน ก็สามารถตกลงกันให้ใครคนหนึ่งเป็นตัวแทน ฟ้องร้องและดำเนินคดีแบบกลุ่มกับบริษัทเครื่องสำอางได้ โดยคนที่เหลือก็เป็นสมาชิกกลุ่ม แม้แต่ละคนจะมีความเสียหายต่างกันก็ตาม ·ทนายความฝ่ายโจทก์ ต้องรับผิดชอบสูงจึงมีสิทธิได้รับเงินรางวัล หลังจากที่ศาลอนุญาตให้มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว ทนายความของโจทก์จะทำหน้าที่เป็นทนายความของกลุ่มด้วย ซึ่งบทบาทของทนายความฝ่ายโจทก์นี้ก็มีความสำคัญไม่แพ้ตัวโจทก์ เพราะทนายความจะเป็นผู้รวบรวมผู้ที่ได้รับความเสียหาย รวบรวมพยานหลักฐาน รวมทั้งจ่ายเงินทดรองในการดำเนินคดีทั้งหมดไปก่อน เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแสวงหาพยานหลักฐานและค่าใช้จ่ายในการติดต่อประสานงานสมาชิกกลุ่ม เป็นต้น ซึ่งกฎหมายได้กำหนดความสามารถของทนายความฝ่ายโจทก์ไว้ว่า ต้องสามารถดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของกลุ่มได้อย่างเพียงพอและเป็นธรรม และต้องไม่มีผลประโยชน์ขัดหรือแย้งกับสมาชิกกลุ่ม หากปรากฏว่าทนายความไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม หรือเมื่อทนายความถอนตัว สมาชิกกลุ่มสามารถร้องขอต่อศาลให้มีการเปลี่ยนตัวทนายความฝ่ายโจทก์ได้  ทนายความของกลุ่มจึงมีภาระหน้าที่สูงกว่าทนายความคดีทั่วไป เนื่องจากต้องดูแลรักษาผลประโยชน์ให้คนเป็นจำนวนมากและต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงในการออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปก่อน ดังนั้น เพื่อเป็นค่าตอบแทนและแรงจูงใจ กฎหมายจึงกำหนดให้ทนายความกลุ่มมีสิทธิได้รับเงินรางวัลทนายความ ศาลจะเป็นผู้กำหนดเงินรางวัลทนายความให้เมื่อการดำเนินคดีสิ้นสุดแล้ว โดยพิจารณาจากความยากง่ายของคดี และระยะเวลาการทำงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินแบบกลุ่ม  แต่ไม่เกินจำนวนร้อยละ 30 ของจำนวนค่าเสียหายที่สมาชิกกลุ่มมีสิทธิได้รับ โดยจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินรางวัลให้ทนายความ·ศาล ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงแบบเชิงรุก ในระบบวิธีพิจารณาปกติ ศาลจะดำเนินกระบวนการพิจารณาด้วยระบบกล่าวหา คือ โจทก์และจำเลยนำเสนอพยานหลักฐานของตนต่อศาล ศาลมีหน้าที่ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานและตัดสินไปตามที่ปรากฏ แต่ในการพิจารณาคดีแบบกลุ่มนั้น ศาลจะมีบทบาทในเชิงรุกโดยใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณา กล่าวคือ ศาลมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้เอง ไม่ผูกพันอยู่เฉพาะแต่พยานหลักฐานที่คู่ความนำเสนอเท่านั้น  โดยมีเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มทำหน้าที่ช่วยเหลือศาล·เมื่อมีการพิจารณาคดีแบบกลุ่มแล้ว หากศาลเห็นว่าสมาชิกในกลุ่มได้รับความเสียหายต่างกัน ศาลก็สามารถแบ่งสมาชิกในกลุ่มออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้ เพื่อความสะดวกในการพิสูจน์เรื่องจำนวนค่าเสียหาย[2] สิทธิของสมาชิกกลุ่ม (ที่ไม่ได้เป็นโจทก์ผู้เริ่มคดี)       มีสิทธิดังนี้ 1. เข้าฟังการพิจารณาคดี2. ร้องขอต่อศาลถ้าเห็นว่าโจทก์ไม่มีคุณสมบัติหรือส่วนได้เสียในคดี3. ขอตรวจเอกสารหรือขอคัดสำเนาเอกสารในสำนวนความ4. จัดหาทนายคนใหม่แทนทนายที่ขอถอนตัวหรือที่ศาลสั่งเปลี่ยนทนาย5. ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์6. คัดค้านสมาชิกอื่นในกลุ่มที่ร้องขอเข้าแทนที่โจทก์7. คัดค้านการที่โจทก์ขอถอนฟ้อง8. คัดค้านการตกลงหรือการประนีประนอมยอมความ9. คัดค้านการตกลงเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด10.ตรวจและโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของสมาชิกอื่น11. แต่งตั้งทนายความให้เป็นผู้ดำเนินการแทนตนตาม 1 ถึง 10 ข้างต้นได้ประโยชน์ของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม·ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี·เป็นมาตรการที่เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมให้มากขึ้น·ทำให้การดำเนินคดีในปัญหาอย่างเดียวกันได้รับผลเป็นอย่างเดียวกันโดยจำเลยจะไม่ได้รับผลกระทบจากคำพิพากษาที่แตกต่างกัน·ทำให้ผู้ที่จะฝ่าฝืนกฎหมายเกิดความยับยั้งชั่งใจในการที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย·เป็นมาตรการที่ได้รับความคุ้มครองผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผู้ที่ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยให้ได้รับการเยียวยาแก้ไขตัวอย่างคดีผู้บริโภคที่มูลนิธิฟ้องเป็นคดีแบบกลุ่มนับตั้งแต่มีกฎหมายฟ้องคดีแบบกลุ่มประกาศใช้ในประเทศไทยในปี 2558  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเห็นความสำคัญของการดำเนินคดีแบบกลุ่ม จึงมีการสนับสนุนผู้บริโภคให้เกิดการรวมกลุ่ม และฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่มในหลายกรณี ที่สำคัญ ดังนี้ 1.ฟ้องคดีสินค้าไม่ปลอดภัย กรณีเครื่องสำอางเมื่อวันที่   18  กันยายน  2560   กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเป็นคดีผู้บริโภค และขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551  คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลย เป็นผู้จำหน่ายเครื่องสำอางใช้ชื่อการค้าว่า “เมย์โรว”  โดยผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง คือ เพิร์ลลี่ อินแทนซีพ ไวท์ โลชั่น เป็นเครื่องสำอางประเภทผลิตภัณฑ์บำรุงผิวกาย เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป ด้วยการโฆษณา และจำหน่ายสินค้าทางสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ค ตัวแทนจำหน่าย และอื่นๆ โดยได้โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเชื่อถือเมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ของจำเลยว่า “ผิวขาวสวย ปัง ปัง ปัง”  “ขาวสุดพลัง ขาวได้มง อยากขาว ต้องลอง” และอื่นๆจากการโฆษณาชวนเชื่อของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่ และผู้บริโภครายอื่นอีกหลายรายเชื่อว่าสินค้าของจำเลยเป็นจริงตามที่โฆษณา ปลอดภัยต่อสุขภาพ และร่างกาย จึงซื้อสินค้าของจำเลยมาใช้กับตนตามที่จำเลยโฆษณา แต่เมื่อมีการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายของจำเลยเป็นประจำทุกวัน ปรากฏว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา อันเกิดจากการแพ้สารเคมีที่ผสมอยู่ในเครื่องสำอางของจำเลย เมื่อไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย แพทย์วินิจฉัยว่าสาเหตุที่ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม สารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้  ผลการดำเนินการ  ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ทั้งสี่ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ยกคำร้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 9 อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และมีการประกาศแจ้งการดำเนินคดีแบบกลุ่มลงหนังสือพิมพ์ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่าง นัดพร้อมและนัดไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว2.ฟ้องคดีสินค้าโฆษณาเกินความเป็นจริงเมื่อวันที่   30  มิถุนายน 2560   กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องบริษัท เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน  ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืน และเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน  1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา   คดีนี้สืบเนื่องจากจำเลย เป็นผู้จำหน่าย “กระทะโคเรียคิง (KOREA KING)” โดยจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคทั่วไป ด้วยการโฆษณา และจำหน่ายสินค้าของจำเลยทางสื่อโฆษณาทางช่องโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ เฟสบุ๊ค และอื่นๆ โดยได้โฆษณาชวนเชื่อในลักษณะเชิญชวนให้ผู้บริโภคทั่วไปเกิดความเชื่อถือว่าผลิตภัณฑ์ของจำเลยเป็นกระทะไม่ใช้น้ำมัน ทำอาหารไม่ติดกระทะ ราคาถูก เหมาะสำหรับทำอาหารคลีน หรืออาหารเพื่อสุขภาพ เป็นกระทะที่ขายดีที่สุดในประเทศไทย  จากการโฆษณาชวนเชื่อของจำเลยดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสอง และผู้บริโภครายอื่นๆ อีกจำนวนมากหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยมีราคาแพง แต่จำเลยจัดรายการส่งเสริมการขาย(PROMOTION) จำหน่ายในราคาพิเศษ และสินค้ามีคุณสมบัติเป็นจริงตามที่โฆษณา รวมทั้งปลอดภัยต่อสุขภาพ และร่างกาย จึงสำคัญผิดในสาระสำคัญของราคา และคุณสมบัติของสินค้าจำเลย จึงซื้อสินค้าจำเลยมาใช้กับตนและครอบครัวตามที่จำเลยโฆษณา  เมื่อโจทก์ทั้งสองและผู้บริโภครายอื่นๆ ได้ใช้สินค้าของจำเลยตามวิธีการที่จำเลยโฆษณาไว้ ผลปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่จำเลยโฆษณาไว้ เช่น กระทะดำไหม้  อาหารติดกระทะ ไม่ทนความร้อน ฯลฯ           ผลการดำเนินการ  ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างไต่สวนคำร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม3.ฟ้องคดีบริษัทคิดค่าโทรศัพท์เกินจริง   เมื่อวันที่   15 พฤษภาคม  2561   ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากการที่ผู้เสียหายถูกคิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาทีเป็นนาที ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากการคิดค่าบริการเกินจริงเป็นวงกว้าง  มีการแยกฟ้องเป็นสามคดี ตามค่ายมือถือ คือ เอไอเอส ดีแทคและทรู  เรียกค่าเสียหายรวมไม่น้อยกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้จ่ายให้ชดเชยและเยียวยาแก่ผู้ใช้มือถือทุกคนกว่า 90 ล้านเลขหมายในประเทศไทย กำหนดโจทก์ผู้ฟ้องคดี  เป็นแกนนำคดีละ 2 คน  แบ่งตามผู้ใช้บริการแบบรายเดือนกับเติมเงิน  โดยแบ่งเป็นสองศาล คือ คดีดีแทค ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ.527/2561 ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม ในวันที่  18  มิถุนายน  2561 เวลา 9.00 น. ส่วนเอไอเอสและทรู  ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง (รัชดา) โดยเอไอเอสเป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 2023/2561  และทรู เป็นคดีหมายเลขดำที่ ผบ. 2031/2561  และมีการแถลงข่าวต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561  ณ สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคผลการดำเนินการ   โดยทั้งสามคดีอยู่ระหว่างศาลนัดไต่สวนคำร้องดำเนินคดีแบบกลุ่ม[3] 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ใครบ้าง มีสิทธิร้องศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด

เรื่องน่าสนใจคราวนี้เกี่ยวกับขั้นตอนการบังคับคดีหลังศาลมีคำพิพากษากันนะครับ  หลายคนอาจไม่ทราบ แต่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นประโยชน์ เพราะหากวันหนึ่งเราตกเป็นลูกหนี้ แล้วถูกฟ้อง จนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้รับผิด เราจะถูกบังคับคดี ซึ่งเราก็ควรรู้ขั้นตอนการบังคับคดีของศาลหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีไว้ ซึ่งในตอนนี้เป็นคดีที่มีผู้ร่วมรับผิดมากกว่าหนึ่งราย รู้ไว้เผื่อต้องใช้สิทธิต่อสู้ในชั้นบังคับคดีได้นะครับ   โดยประเด็นที่หยิบยกมาเล่า เป็นคดีที่มีเจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยสี่คนร่วมรับผิดใช้เงิน ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสี่รับผิดชำระเงิน หากผิดนัดยอมให้ยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 4 ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ แต่ปรากฎว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำยึดที่ดินเพื่อนำออกขายทอดตลาด และโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดได้ ต่อมาจำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่าการยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 จำนวน 131 แปลง เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศเรื่องการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้ส่งให้แก่จำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 3 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ย่อมถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียต้องรับภาระหนี้ส่วนที่เหลือ ขอให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาด ซึ่งต่อมาคดีนี้ได้ขึ้นสู่ศาลฏีกา โดยมีประเด็นที่ศาลฏีกาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาด ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งการขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 3 ทราบ และมีเหตุให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่  โดยศาลฏีกาได้ตัดสินว่า กรณีมีจำเลยหลายคนที่ต้องร่วมรับผิดกับโจทก์ เฉพาะจำเลยที่เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดเท่านั้น ที่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ เมื่อที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาดมีจำเลยที่ 1 เท่านั้นเป็นเจ้าของไม่ปรากฎชื่อจำเลยที่ 3 เป็นหรือร่วมมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึด แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นลูกหนี้ที่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1   ก็ตาม ดังนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่จำต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีทรัพย์ที่ยึดโดยวิธีขายทอดตลาดไปเพียงแจ้งวันขายทอดตลาดและสถานที่ที่กำหนดไว้ในประกาศให้จำเลยที่ 1 ผู้มีชื่อตามทะเบียนผู้เดียว จึงเป็นการขายทอดตลาดโดยชอบแล้วไม่มีเหตุเพิกถอน ตามคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 19419/2557คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19419/2557 คำร้องของจำเลยที่ 3 ระบุชัดว่าประสงค์จะให้มีการเพิกถอนการขายทอดตลาดเพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดให้ตนทราบ เท่ากับเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดเพราะจำเลยที่ 3 เห็นว่าเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติในภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยเรื่องการบังคับคดีตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 ที่กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งคำสั่งของศาลที่อนุญาตให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดเห็นได้ว่าในมาตราดังกล่าว กำหนดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งการขายทอดตลาดให้เจ้าของหรือผู้มีส่วนเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ยึดได้ทราบถึงการขายทอดตลาดเท่านั้น หมายความว่า หากมีกรณีจำเลยหลายคนที่ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ เฉพาะจำเลยที่เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดเท่านั้นที่ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีนี้ ด้วยเหตุนี้ ความในมาตรา 306 จึงบัญญัติไว้เพียงว่าให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียน มิได้หมายความรวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดในวิธีบังคับคดีตามมาตรา 280 แต่อย่างใด จำเลยที่ 3 รับมาในคำร้องว่าทรัพย์ที่ยึดเป็นของจำเลยที่ 1 ทั้งทราบได้จากเอกสารท้ายคำร้องและเอกสารในสำนวนว่า ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อขายทอดตลาดมีจำเลยที่ 1 เท่านั้นเป็นเจ้าของไม่ปรากฎชื่อจำเลยที่ 3 เป็นหรือร่วมมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึด แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นลูกหนี้ที่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ก็ตาม ผู้มีส่วนได้เสียที่ต้องแจ้งวัน เวลา และสถานที่ในการขายทอดตลาดจึงมีเพียงจำเลยที่ 1 ดังนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่จำต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้แก่จำเลยที่ 3 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีทรัพย์ที่ยึดโดยวิธีขายทอดตลาดไปเพียงแจ้งวันขายทอดตลาดและสถานที่ที่กำหนดไว้ในประกาศให้จำเลยที่ 1 ผู้มีชื่อตามทะเบียนผู้เดียว จึงเป็นการขายทอดตลาดโดยชอบแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 การกำหนดวิธีพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมในเยอรมนี : กรณีศึกษาการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากบริษัทโฟล์คสวาเก้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย

จากเหตุการณ์ที่กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา( EPA) ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โฟล์คสวาเกน  (VW) ว่า จงใจที่จะหลอกลวงเกี่ยวกับการแสดงข้อมูลการวัดค่าไอเสียจากรถยนต์ดีเซลรุ่น Jetta, Beatle, Passat และ Audi A 3 เนื่องจากซอฟท์แวร์แสดงผลการวัดต่ำกว่าค่าความเป็นจริงถึง 10- 40 เท่า ในสภาวะการขับแบบปรกติ ซึ่งเกินกว่าค่าที่ทางกรมควบคุมมลพิษของอเมริกากำหนด ต่อกรณีดังกล่าวนี้ ตามกฎหมายเยอรมัน ให้สิทธิผู้บริโภคในการจัดการกับเรื่องดังกล่าว หากรถยนต์ที่ซื้อมามีปัญหาชำรุด บกพร่อง นอกจากนี้ ยังให้สิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อยของโฟล์คสวาเก้น เป็นผู้บริโภคที่สามารถฟ้องร้องคดีเพื่อขอเงินคืนต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมูลค่าหุ้นที่ตกลงอย่างฮวบฮาบในช่วงเวลาข้ามคืนได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนในมุมมองของการคุ้มครองผู้บริโภคที่อีกบทบาทหนึ่งคือ เป็นนักลงทุนรายย่อยกรณีของผู้ที่ถือหุ้นตามกฎหมายหลักทรัพย์ของเยอรมัน มีสิทธิที่จะได้รับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีที่มูลค่าหุ้นลดต่ำลง โดยที่ทางบริษัทไม่ได้แจ้งถึงผู้ถือหุ้นให้ทันการณ์จากการการฟ้องคดีที่กรมควบคุมมลพิษของอเมริกา( EPA) ที่ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่อ บ. โวล์กสวาเกน (VW) และทางโฟล์คสวาเก้นก็ได้ยอมรับต่อข้อกล่าวหาดังกล่าว จากเหตุการณ์นี้ มีความเป็นไปได้สูงที่ทางผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมูลค่าหุ้นที่ร่วงลงมา (Schadenersatz fÜr Kursverlust) และ ความเสียหายที่เกิดจาก ผลต่างมูลค่าหุ้น (Kursdifferenzschaden) อย่างไรก็ตามผู้ถือหุ้นต้องฟ้องคดีต่อศาลเพื่อพิสูจน์ว่า ทางบริษัทได้ละเมิดต่อผู้ถือหุ้นโดยแจ้งสถานการณ์ล่าช้าต่อสาธารณะในประเทศเยอรมนีการคำนวณความเสียหายสำหรับผู้ถือหุ้นผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายสองประเภท ซึ่งแต่ละประเภทจะมีมูลค่าต่างกัน สำหรับการคิดค่าเสียหายแบบแรก  คือ ความเสียหายจากผลต่างมูลค่าหุ้น(Kursdifferenzschaden) ซึ่งจะคิดคำนวณสำหรับผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 20 กันยายน 2015 ซึ่งมูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่าง 56- 60 ยูโรต่อหุ้น แล้วแต่ว่าศาลจะกำหนดให้เป็นมูลค่าเท่าใดสำหรับการคำนวณความเสียหายอีกประเภทหนึ่ง คือ แบบ(Kursverlustschaden) ฐานคิดค่าเสียหายแบบนี้ จะคิดจากความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายสูงกว่าแบบแรก แต่จะคำนวณได้ยากกว่า เพราะต้องใช้การพิสูจน์ และขึ้นอยู่กับคำพิพากษาคดีเป็นรายๆ ไป เนื่องจากในระบบกฎหมายเยอรมันไม่มีการฟ้องคดีแบบกลุ่ม( Class action)ถึงไม่มีการพิจารณาคดีแบบกลุ่มศาลก็อำนวยความสะดวกในการฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ทางศาลสูงแห่งเมืองบราวชไวก์ ( Braunschweig)  ได้กำหนดแนวทางการฟ้องคดีโดยใช้กระบวนการ  ดำเนินคดีหุ้น ที่เป็นแบบอย่าง(Kapital Musterverfahren) โดยที่มีบริษัทลูกของธนาคารออมสิน คือ บริษัท Deka Investment ที่เป็นแม่แบบในการฟ้องคดี มีลูกค้าผู้ถือหุ้นที่ประสงค์จะฟ้องคดี 1502 ราย และมีมูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า 2000 ล้านยูโร และผู้เสียรายอื่นก็สามารถมาร้องสมทบได้เช่นกัน กรณีที่ศาลมีคำพิพากษาเป็นคุณ กับผู้ร้อง การชดใช้ค่าเสียหายกับผู้เสียหายราบอื่นก็มีผลผูกพันด้วยเช่นกันผู้เสียหายรายอื่นสามารถยื่นความจำนงในการร้องสอดคดีได้กำหนดเวลาสำหรับการยื่นเรื่องขอฟ้องร้องสอดคดีนี้ คือ 8 กันยายน 2017 การที่ศาลอำนวยความสะดวกด้วยการกำหนด การฟ้องร้องพิจารณาคดีแบบนี้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการพิจารณาคดีรายบุคคลมากบทสรุปที่ได้จากกรณีการฟ้องร้องคดีแบบนี้ คือ การอำนวยความสะดวกที่ให้อำนาจศาลในการกำหนดพิธีพิจารณาคดี สำหรับมีผู้เสียหายจากการละเมิดเป็นจำนวนมาก แม้ว่า ในระบบกฎหมายของเยอรมันจะไม่มีการพิจารณาคดีแบบกลุ่ม แต่ก็เปิดช่องให้ศาลสามารถใช้กระบวนการพิจารณาคดีความลักษณะนี้ในการอำนวยความสะดวกในกระบวนการยุติธรรมให้กับประชาชน(ที่มา นิตยสาร Finanztest 6/2017)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ศาลโซเชียลกับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทกับภาคสังคมและภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตจึงได้รับความนิยมมาก ในอดีตการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ต่างๆ นั้น สามารถแสดงเพียงเนื้อหาอย่างเดียวเท่านั้น บุคคลไม่สามารถติดต่อหรือโต้ตอบซึ่งกันและกันได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการพูดคุยโต้ตอบกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถทำได้ รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่ส่งผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเว็บไซด์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเฟซบุ๊ค ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถแสดงความคิดเห็นและโต้ตอบถึงกันได้  จึงเกิดเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์  “เครือข่ายสังคมออนไลน์”  หมายถึงช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคมที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ข่าวสาร หรือการพูดคุยโต้ตอบระหว่างกัน รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่สามารถส่งผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้  การสื่อสารประเภทนี้มีอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมากทั้งในด้านดีและไม่ดี ในด้านดี กล่าวคือใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวในด้านการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย การจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อความบันเทิง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย กล่าวคือในด้านการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร และสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลส่วนตัว ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมด้านสังคม เป็นต้นดังนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงเปรียบเสมือนผู้ควบคุมช่องทางในการผ่านเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งหลังจากที่ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้แล้วก็จะสามารถเข้าถึงการใช้งานใดในระบบอินเทอร์เน็ตได้ และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ได้บัญญัติความหมายของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการคือ  "ผู้ให้บริการ" หมายความว่า (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น  (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น "ผู้ใช้บริการ" หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการ ไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม          ปัจจุบันเกิดสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างมากมาย ซึ่งสามารถแยกประเภทพิจารณาออกได้สามกรณีกรณีที่หนึ่ง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบ    เช่น การเข้าไปในเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมและเข้าไปนำเอาข้อมูล  ภาพ หรือคลิป  ของผู้ใช้บริการมาเก็บไว้เพื่อเฝ้าติดตามคุกคามความเป็นส่วนตัว หรือนำไปใช้เผยแพร่แสวงหาประโยชน์  ดังนี้ อาจจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2560 มาตรา 16 ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง กรณีที่สอง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยชอบ เช่น การได้ข้อมูลส่วนบุคคลมาโดยได้รับความยินยอมจากผู้ใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตามผู้เป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าวอาจให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดต่อสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ผู้ได้รับข้อมูลส่วนบุคคลนั้นนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อการนำมาใช้เพื่อการขายตรงหรือโฆษณาสินค้าหรือบริการ ดังนี้ ดังนี้ อาจจะมีความว่าผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2)พ.ศ.2560 มาตรา11ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง         กรณีที่สาม การนำเสนอข่าวของสื่อประเภทโซเชียล ซึ่งทำตัวเป็นเสมือนศาลที่พิพากษาให้บุคคลที่ตกเป็นข่าวเป็น”คนผิด” ในทันที โดยที่เจ้าตัวอาจจะยังไม่มีโอกาสชี้แจ้งใดๆ เลย เช่น ข่าวผู้ว่าราชการแม่ฮ่องสอนมีชื่อพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ สื่อทุกสื่อร่วมใจกันตีแผ่เรื่องนี้ยาวนานหลายสัปดาห์ แต่ต่อมาเมื่อความจริงปรากฏว่าท่านผู้ว่าฯ ไม่ได้ทำ มลทินที่ท่านได้รับจากศาลโซเชียล ก็ยังไม่ถูกบรรเทาลงไปแต่อย่างใด หรือกรณีการส่งรูปภาพที่ได้รับมาจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งเป็นทอดๆ โดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของภาพจนทำให้บุคคลในภาพได้รับผลกระทบ ทั้งสามกรณี หากนำข้อมูลส่วนบุคคล ภาพ หรือคลิป ออกมาเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะมีการชี้นำให้คิดตามหรือไม่ก็ตาม  ย่อมอาจจะทำให้บุคคลนั้นถูกละเมิดเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง  หรือได้รับความอับอายได้  ประเด็นเหล่านี้ ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์  หากจะใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหา “อิทธิพลศาลโซเชียล” ได้อย่างแน่นอน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 หากถูกเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

ทำงานอยู่ดีๆ เกิดนายจ้างเลิกสัญญาจ้างแรงงานขึ้นมาโดยไม่บอกให้รู้ล่วงหน้า เราจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง เราลองมาดูตัวอย่างกันค่ะปกติเมื่อนายจ้างต้องการจะเลิกสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้าง ในสัญญาจ้างจะกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ในการบอกกล่าวลูกจ้างล่วงหน้าก่อนหรือเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้าง และจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างในงวดถัดไป แต่ถ้าในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว และไม่ประสงค์จะให้ลูกจ้างทำงานแล้ว นายจ้างจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้าง ตามจำนวนให้ครบจนถึงวันที่เลิกสัญญา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 สำหรับกรณีตามตัวอย่างคราวนี้ ลูกจ้างโดนนายจ้างซึ่งปิดประกาศเลิกจ้างหน้าบริษัทฯ โดยไม่ระบุถึงสาเหตุในการเลิกจ้างในประกาศ ลูกจ้างจึงได้เป็นโจทก์ฟ้องนายจ้าง เรื่องการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และเรียกให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมตามคำพิพากษาฎีกาที่ 3407/2552 ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาว่า “จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยให้เหตุผลว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 และมาตรา 583 หรือตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้วแต่กรณี มิได้บัญญัติไว้ว่า ถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้ว นายจ้างจะยกเหตุผลแห่งการเลิกจ้างขึ้นมาอ้างภายหลังไม่ได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่กรณีการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย ดังนั้นแม้จำเลยไม่ได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างจำเลยก็ย่อมยกเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อเป็นข้อต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้”นอกจากนี้ ยังมีคำให้การของนายจ้างว่า ลูกจ้างใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวพ่วงกับอุปกรณ์ของบริษัทฯ เพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตัวในเวลาทำงานเป็นประจำ และออกไปติดต่อทำการค้าขายในกิจการส่วนตัวโดยไม่แจ้งให้นายจ้างทราบ นายจ้างได้ตักเตือนในที่ประชุมแล้วแต่ลูกจ้างยังคงปฏิบัติเช่นเดิม นายจ้างจึงมีหนังสือตักเตือนลูกจ้างครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2549 หลังจากนั้นลูกจ้างได้กระทำความผิดอีกในวันที่ 3 พฤษภาคม 2549 จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลย สำหรับในประเด็นนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานเห็นว่า “จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานก็ย่อมมุ่งหวังจะได้รับประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างให้คุ้มกับค่าจ้างที่เสียไป การที่โจทก์ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนตัวต่อพวงกับอุปกรณ์ของจำเลยในเวลาทำงานเพื่อทำการค้ากับบุคคลภายนอก นอกจากจะเป็นการแสวงหาประโยชน์อันมิชอบจากการใช้กระแสไฟฟ้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ของจำเลยเพื่อเป็นประโยชน์ส่วนตัวแล้วยังเป็นการเบียดบังเวลาทำงานของจำเลยอีกด้วย ย่อมทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยตักเตือนและสั่งห้ามในที่ประชุมแล้ว โจทก์ยังกระทำเช่นนั้นอีกจนต้องมีการตักเตือนเช่นนั้นถึง 5 ครั้ง ย่อมถือได้ว่าโจทก์ละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณและเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และตามพฤติการณ์การกระทำของโจทก์ดังกล่าวนอกจากจะแสวงหาประโยชน์อันมิชอบและเบียดบังเวลาทำงานของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแล้ว ยังยากแก่การบังคับบัญชา หากจ้างโจทก์ทำงานต่อไปก็มีแต่จะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมากขึ้น จำเลยย่อมมีเหตุผลที่จะไม่ไว้วางใจให้โจทก์ทำงานต่อไป ถือได้ว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุผลอันสมควร จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์” เพราะฉะนั้น หากใครที่ใช้เวลาทำงานในการหาประโยชน์ส่วนตัว หรือใช้เวลาทำงานเล่นอินเตอร์เน็ตหรือทำให้นายจ้างเสียประโยชน์ อาจจะโดนบอกเลิกสัญญาจ้างทันที และไม่ได้รับเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 168 คดีประวัติศาสตร์ ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน ซอยร่วมฤดีกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวจริง

 ย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน  เคยเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารภายในซอยร่วมฤดีขึ้น ในครั้งนั้นรถดับเพลิงไม่สามารถเข้ามาในซอยเพื่อดับเพลิงได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากสภาพของซอยร่วมฤดี เป็นซอยขนาดเล็กในใจกลางเมืองใหญ่ มีความกว้างของถนนเพียงรถยนต์วิ่งไปได้กลับ 2 เลน เท่านั้น ทำให้รถดับเพลิงที่มีขนาดใหญ่ เข้าไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังเป็นภาพของความหวาดกลัว และวิตกกังวลถึง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาอัคคีภัย และการจราจรที่แออัดจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนผู้อยู่อาศัยภายในซอยร่วมฤดีจวบจนปัจจุบันจนกระทั่งในปี 2548 เริ่มมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่จำนวน 2 อาคาร โดยมีอาคารที่มีความสูง 18  ชั้น ของบริษัท ลาภประทาน และ อาคารที่มีความสูง 24 ชั้น ของบริษัท ทับทิมทร  ของบริษัทเอกชน ขึ้นบริเวณปากซอยร่วมฤดี 2 ภายในซอยร่วมฤดี  โดยอ้างเอกสารการรับรองความกว้างของถนนว่าซอยร่วมฤดีมีความกว้างของถนน 10 เมตรตลอดแนวของสำนักงานเขตปทุมวันซึ่งต่อมาชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบเขตก่อสร้างอาคารดังกล่าว ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขตปทุมวัน และสำนักงานโยธากรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารดังกล่าว เนื่องจากความกว้างของถนนในซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว ซึ่งการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าวจึงขัดกับกฎกระทรวงฉบับที่ 33 พ.ศ. 2535  ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แต่การก่อสร้างก็ยังคงดำเนินการต่อไป เมื่อการร้องเรียนไม่เป็นผล กลุ่มผู้ร้องเรียน โดยนายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ กับพวก 24 คน ได้มอบอำนาจให้นายเฉลิมพงษ์  กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นคดีปกครองต่อศาลปกครองกลาง  ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการในราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นผู้ใช้อำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครองในเขตปกครองท้องที่สำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครและยังเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชนก่อสร้างอาคารสูงใหญ่เกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551ซึ่งต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลปกครองกลางได้พิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานที่ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องได้นำเสนอแล้วพิจารณาเห็นว่า ซอยร่วมฤดีซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์และเป็นสถานที่ตั้งอาคารที่พิพาทมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวจริง ตามข้อมูลการรังวัดของกรมที่ดิน ซึ่งได้ทำการรังวัดรังวัดสอบเขตทางตามคำสั่งของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 จึงเป็นการขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ จึงได้มีคำสั่งพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง คือ ผู้อำนวยการเขตปุทมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง แต่คู่กรณีทั้งสามฝ่ายอุทธรณ์และต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557  ศาลปกครองสูงสุดออกอ่านคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ใช้อำนาจตามตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชาบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ดำเนินการกับผู้ร้องสอด คือ บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดทั้งนี้นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า     " คำพิพากษานี้ถือเป็นบทเรียนชี้ชัดถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ รวมถึงซอยร่วมฤดีที่มีถนนความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว  และแม้ว่าการต่อสู้ของประชาชนจะยาวนานกว่าจะได้รับความเป็นธรรม เพราะต้องต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด อย่างน้อยก็เป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ท้ายที่สุดอยากเรียกร้องให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น"    นายแพทย์สงคราม  ทรัพย์เจริญ   ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า  “ การที่กทม.อนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารสูงและมีขนาดใหญ่บนถนนที่มีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวได้นั้นขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ถือว่าไม่คุ้มครองประชาชน เนื่องจากกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร จึงต้องออกกฎกระทรวงกำหนดความกว้างเขตทางสำหรับการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าว ดังนั้น จากคำพิพากษานี้ ข้าราชการกทม.และในภูมิภาคอื่นๆ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในการอนุมัติโครงการต่างๆด้วย ไม่ใช่เพียงคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 บิ๊กซีแพ้ซ้ำ คดีลูกค้าตกร่องน้ำในห้าง ศาลอุทธรณ์สั่งจ่ายเพิ่มอีก 2 หมื่น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีลูกค้าตกร่องระบายน้ำในห้าง บิ๊กซีประมาทจริง เปิดร่องระบายน้ำไม่มีเครื่องป้องกันเป็นเหตุให้ลูกค้าเดินตกจนข้อเท้าหัก สั่งจ่ายค่าขาดประโยชน์เพิ่มอีก 2 หมื่น หลังจากที่ศาลชั้นต้นได้สั่งบิ๊กซีให้จ่ายค่าเสียหายแก่ผู้บริโภครายนี้ไปแล้วร่วม 5 แสนบาทจากคดีที่คุณจุฬา สุดบรรทัด เดินตกร่องน้ำที่ไม่มีฝาปิดบริเวณห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาลำปาง เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 จนได้รับบาดเจ็บกระดูกข้อเท้าขวาหลุดและแตก เสียค่ารักษาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องไปหลายบาท แต่ห้างบิ๊กซีฯ ปฏิเสธความรับผิดชอบศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2551 ให้บิ๊กซีต้องชำระเงินจำนวน 405,808.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 มกราคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่เกิดเหตุจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องไม่เกิน 81,275 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท แต่ไม่พิพากษาค่าขาดประโยชน์ให้เพราะรายได้ไม่สม่ำเสมอและไม่แน่นอนภายหลัง คดีสิ้นสุดในศาลชั้นต้น คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างใช้สิทธิอุทธรณ์ คุณจุฬาในฐานะโจทก์ยื่นอุทธรณ์ในประเด็นเรื่องค่าขาดรายได้ในช่วงที่บาดเจ็บต้องพักรักษาตัว ส่วนบิ๊กซีอุทธรณ์ว่าตนไม่ได้เป็นฝ่ายประมาท เหตุที่เกิดเป็นเพราะความประมาทของคุณจุฬาเองในที่สุด ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 และได้อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 54 โดยมีคำวินิจฉัยที่น่าสนใจในคดีนี้หลายประเด็น ขอยก มาให้ศึกษาเรียนรู้ร่วมกันเฉพาะที่สำคัญ ดังนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ห้างบิ๊กซีเป็นเจ้าของสถานที่ เป็นผู้ทำรางระบายน้ำรูปตัววีและเกาะกลางถนนเอง ควรจะทราบถึงความเป็นไปได้ในการที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้นแก่ผู้ที่เข้าไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าในการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ ห้างฯ ควรดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ เช่น การติดไฟส่องสว่าง การติดป้ายเตือนให้ระมัดระวังในการเดินในพื้นต่างระดับที่ติดต่อกับรางระบายน้ำรูปตัววีที่ห้างฯ ทำขึ้น แต่ห้างฯ กลับไม่ได้กระทำการดังกล่าว เพิกเฉย ละเลยในการป้องกันหรือบรรเทาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น การกระทำของห้างฯ จึงเป็นการกระทำโดยประมาท และละเมิดต่อโจทก์ คือคุณจุฬา ที่เดินผ่านบริเวณที่เกิดเหตุแล้วประสบอุบัติเหตุลื่นล้มจนได้รับบาดเจ็บ คุณจุฬาจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากห้างฯ ได้กรณีที่ห้างฯ อุทธรณ์อ้างว่า ห้างฯ ไม่ต้องรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลเพราะคุณจุฬาสามารถเบิกค่ารักษาจากส่วนราชการได้ ศาลอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยในส่วนนี้ว่า แม้คุณจุฬาจะเบิกค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการได้ ก็ไม่ทำให้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของคุณจุฬาที่จะเรียกร้องเอาจากห้างฯ ต้องระงับไป ห้างฯ ต้องรับผิดชดใช้ค่ารักษาพยาบาลให้แก่คุณจุฬากรณีค่าเสียหายในอนาคต ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แก่คุณจุฬา จำนวน 100,000 บาท ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว อีกทั้งห้างฯ ให้การและนำสืบแต่เพียงว่า คุณจุฬานำค่าใช้จ่ายในอนาคตมาคำนวณรวมไว้ด้วย แต่ไม่ได้ปฏิเสธหรือนำสืบให้เห็นว่าคุณจุฬาไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในอนาคตแต่อย่างใด และไม่ได้ปฏิเสธโต้แย้งว่า รายการสรุปค่าเสียหายไม่ถูกต้อง ทำขึ้นโดยไม่ชอบหรือรับฟังไม่ได้ด้วยเหตุใดแล้ว จึงต้องถือว่ารายการสรุปค่าเสียหายนั้นรับฟังได้ว่า คุณจุฬามีค่าเสียหายในอนาคตที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดจริงประเด็นสำคัญสุดท้าย กรณีที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนค่าขาดประโยชน์วันละ 2,000 - 5,000 บาท ให้แก่คุณจุฬานั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คุณจุฬาจะยกเอาเรื่องการได้เงินค่าเบี้ยประชุมจากการเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือกรรมการให้หน่วยงานราชการ และองค์กรสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาเป็นเพียงบางครั้งบางคราว จำนวนเงินไม่แน่นอน มาอ้างเป็นรายได้ประจำและนำมาคำนวณเป็นค่าขาดรายได้เพื่อเรียกค่าเสียหายไม่ได้ อย่างไรก็ตามก็ยังต้องถือว่าเป็นรายได้ของคุณจุฬาที่เคยได้รับก่อนเกิดเหตุ ที่ศาลชั้นต้นไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้คุณจุฬาเลยจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลอุทธรณ์ เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้ให้คุณจุฬาจำนวน 20,000 บาทศาลอุทธรณ์ จึงมีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดรายได้ให้โจทก์(คุณจุฬา) เป็นเงิน 20,000 บาท ด้วย โดยที่ก่อนหน้านี้ห้างบิ๊กซีฯ ต้องจ่ายค่าเสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีเดียวกันเป็นเช็คเงินสดจำนวน 570,000 บาทมาแล้ว      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ถูกฟ้องศาลเพราะลิเบอร์ตี้ประกันภัยไม่ยอมจ่ายเงินให้คู่กรณี

คุณภูษิต หนุ่มวัย 39 ทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 กับบริษัท ลิเบอร์ตี้ ประกันภัย จำกัด ซึ่งเขาไม่ทราบเลยว่าในขณะนั้นบริษัทประกันภัยรายนี้เริ่มมีภาวะการเงินที่ง่อนแง่น เหตุการณ์เริ่มขึ้นในวันที่ 4 มกราคม 2553 คุณภูษิตขับรถยนต์โตโยต้าคู่ใจไปทำธุระที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จนเวลาเกือบ 2 ทุ่มจึงขับรถเพื่อจะออกจากห้าง ขณะที่ขับรถมาตามถนนภายในห้างสรรพสินค้าที่มีอยู่ 2 ช่องทางการจราจรเพื่อออกถนนใหญ่ มุ่งหน้าไปแยกประตูน้ำ ด้วยความใจร้อน คุณภูษิตนั้นขับอยู่ช่องทางด้านขวาขนาบคู่มากับรถเก๋งอีกคันหนึ่ง ซึ่งมีคุณสุมาลีขับอยู่โดยวิ่งไปในทิศทางที่จะออกจากห้างเหมือนกัน เมื่อรถทั้งสองคันแล่นมาถึงบริเวณทางออกถนนหน้าห้าง แทนที่คุณภูษิตจะยอมให้รถคันซ้ายเลี้ยวออกไปก่อน กลับขับรถตัดหน้ารถของคุณสุมาลีทันที ผลของการขับรถ “ปาด” กัน ทำให้รถยนต์ของคุณสุมาลีทั้งไฟหน้า กันชนและบังโคลนมีรอยครูด ได้รับความเสียหาย คุณสุมาลีนั้นทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 ไว้กับบริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด (มหาชน) จึงเรียกพนักงานของบริษัทประกันภัยมาจัดการปัญหา ซึ่งคุณภูษิตหลังจากตั้งสติได้ก็ยอมทำบันทึกยอมรับผิดที่ตนเองไปขับรถปาดหน้าคู่กรณีให้กับบริษัท ประกันคุ้มภัยฯ โดยเข้าใจว่า เดี๋ยวบริษัทลิเบอร์ตี้ จะรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแทนตามสัญญาประกันภัยรถยนต์ประเภทที่ 3 ที่ได้ทำไว้ ปรากฏว่าหนึ่งปีให้หลัง วันที่ 4 มกราคม 2554 คุณภูษิตถูกบริษัทประกันคุ้มภัยฯ ซึ่งรับช่วงสิทธิมาจากคุณสุมาลี ในฐานะผู้เสียหายตัวจริงฟ้องเรียกค่าซ่อมรถที่ประกันคุ้มภัยฯ จ่ายซ่อมในฐานะผู้รับประกันเป็นเงินประมาณ 11,000 บาทเศษ พอโดนฟ้องอย่างนี้คุณภูษิตต้องรีบมาถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร้องถามเสียงหลงว่า “ทำไมถึงทำกับผมได้” แนวทางแก้ไขปัญหา คุณภูษิตก็เหมือนลูกค้าลิเบอร์ตี้ประกันภัยอีกหลายราย ที่ไม่เคยทราบเลยว่าบริษัทประกันแห่งนี้มีปัญหาด้านการเงินไม่ต่างจากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย ซึ่งถูกสั่งปิดกิจการไปแล้ว เมื่อมีปัญหาด้านการเงินก็ไม่มีการบอกกับลูกค้า เอาแต่เงินเข้ากระเป๋ารับทำประกันอย่างเดียว แต่พอถึงเวลาเคลมไม่ยอมมาเคลมและปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมหลายรายที่ไม่รู้ช่องทางการร้องเรียน มูลนิธิฯ จึงได้แนะนำให้คุณภูษิตไปแจ้งเรื่องร้องเรียนกับสำนักงานส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยโดยตรง หลังจากนั้นไม่นานบริษัท ลิเบอร์ตี้ประกันภัย เมื่อได้รับเรื่องแล้วจึงได้ประสานกับทางฝ่ายกฎหมายของบริษัท ประกันคุ้มภัย เพื่อดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมให้ เมื่อสองบริษัทประกันคุยกัน ท้ายที่สุดยอมยุติตกลงรับค่าสินไหมกันที่ 9,670 บาท จากที่ฟ้องมา 11,000 บาทเศษ และได้ทำการถอนฟ้องคุณภูษิตในท้ายที่สุด นับเป็นความรับผิดชอบของบริษัทประกันภัยชื่อดังที่ล่าช้าไปเป็นปี แต่ก็ยังดีที่มีความรับผิดชอบหลงเหลืออยู่บ้างทำให้คุณภูษิตรอดจากคำพิพากษาไปแบบหวุดหวิด สำหรับบริษัทลิเบอร์ตี้ประกันภัยนั้น กระทรวงการคลังได้ มีคำสั่ง ที่ 709 /2554 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2554 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ไปเป็นที่เรียบร้อยโรงเรียน คปภ.แล้ว เนื่องจากบริษัทฯ มีฐานะการเงินดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย โดยมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 จำนวน 65.78 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 สื่อลามกกับ 3G เอาไงกันดี

ขณะที่ผู้เขียนนั่งเขียนบทความนี้ เรื่องที่ศาลมีคำสั่งว่า กทช. ไม่มีอำนาจจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G  อันเป็นเหตุให้การประมูล 3G เป็นอันชะงักไป  และทำให้แฟนคลับที่รอคอย ฝันค้างไปตามๆ กัน  เพราะหลายคนคิดว่าประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนาการสื่อสารให้เท่าเทียมนานาอารยะประเทศไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วย  แต่...มีวันหนึ่งผู้เขียนนำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์รถบริษัทหนึ่ง และมีโอกาสหยิบหนังสือดารา(ไม่เคยอ่านหนังสืออย่างนี้)ที่ชื่อทีวีพูลมาอ่าน  อ่านไปๆ ก็ไม่มีอะไรมีแต่เรื่องราวของดาราก็อ่านไปเพลินๆ จนถึงท้ายเล่ม  เห็นแล้วรู้สึกตกใจมาก  เฮ้ย...นี่มันอะไรกัน เพราะหลายแผ่นด้านหลังซึ่งเป็นภาพสี่สีสวยงาม มีแต่การโฆษณาเชิญชวนให้โหลดคลิปโป๊ มีทั้งภาพพร้อมคำบรรยาย เร่าร้อนประกอบ ทั้งคลิปร่วมเพศ ชายรักชาย หญิงกับหญิง ชาย-หญิง ภาพโป๊เปลือยมากมาย ทั้งภาพจริงภาพการ์ตูน เห็นแล้วตกใจมากนี่เขาเล่นกันอย่างนี้เลยหรืออดไม่ไหวเลยไปหยิบอีกหลายเล่มมาดู ทั้งหนังสือกอสซิป ดาราภาพยนตร์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับดารามากมาย ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่ คู่สร้าง- คู่สม  และการ์ตูนขายหัวเราะเชื่อว่าการ์ตูนอื่นๆ ก็น่าจะมี(ขออภัยหนังสือที่เอ่ยชื่อไปคือที่เห็น ณ วันนั้น)   นี่มันอะไรกัน...หนังสือเหล่านี้ ส่วนใหญ่ตลาดของหนังสือเหล่านี้อยู่ที่กลุ่มเยาวชนทั้งนั้น หนังสือเหล่านี้เขาต้องการสื่อสารอะไรกับเยาวชนเนี้ย...ตอนที่เห็นครั้งแรกบอกตรงๆ ว่ารู้สึกโกรธหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้มาก...  โดยเฉพาะเจ้าของหนังสือที่เราขอประณามว่า “ขาดจิตสำนึกของคำว่าสื่ออย่างสิ้นเชิง”   เพราะการลงโฆษณาเยี่ยงนี้ ไม่เกิดผลดีกับฝ่ายใดเลย  มีแต่ส่งผลร้ายต่อเยาวชนและสังคม  จึงกลับมาคิดว่าการประมูล 3G ยังไม่เกิดก็ดีเหมือนกัน  เพราะประเทศไทย ไม่เคยเตรียมความพร้อมในเรื่องการป้องกันใดๆ เลยมีแต่จะตะลุยไปข้างหน้า ตามข้ออ้างต้องให้ทันประเทศเพื่อนบ้าน  แต่การออกมาตรการมาป้องกัน  “ไม่มี” เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศถูกทำร้ายถูกมอมเมาด้วยเรื่องเหล่านี้อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่เรามีหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องมากมาย     หลายคนบอกว่าตนเองเป็นเครือข่ายพ่อ-แม่  เป็นเครือข่ายพัฒนาการศึกษา เครือข่ายเฝ้าระวังสื่อ  สมาคมสื่อ  แต่กลับละเลยปล่อยให้มีการโฆษณาสิ่งเหล่านี้เกลื่อนตลาดหาซื้อได้ง่ายกว่าลูกอมเสียอีก  กระทรวงวัฒนธรรมก็เที่ยวได้ทำอะไรไม่รู้ ดีแต่ลุกขึ้นมาพูดเรื่องการใช้ภาษาของเยาวชนกลัวจะใช้ไม่ถูกต้อง หรือตามแบนละครหนังก็ว่าไปตามเรื่อง   แต่กลับปล่อยให้มีการโฆษณาเว็บโป๊เว็บลามกอนาจารบนหน้าผาก(ปลายจมูกมันน้อยไป) จนเกิดคดีทางเพศในกลุ่มเยาวชนมากมาย  แต่ถ้าให้ยุติธรรมจริงจะโทษหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเดียวก็ไม่ได้ ประชาชนผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็ควรมีส่วนช่วยแจ้งเบาะแส ไม่ใช่เห็นแล้วเฉยๆ กันอย่างนี้   เขียนเรื่องนี้แล้วทั้งเหนื่อยและสะท้อนใจจริงๆ ฉันจะฝากใครดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 108 ถูกตัดบัญชีเงินเดือนทั้งหมดโดยยังไม่มีหมายศาล

ต้องเรียกว่า 100% เต็มครับที่เป็นลูกหนี้ของธนาคารกรุงเทพทั้งนั้นและได้ร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่าถูกธนาคารดอกบัวหลวงยึดเงินในบัญชีไปโดยไม่มีการบอกกล่าวหรือมีหมายบังคับคดีจากศาลแต่อย่างใด ที่สำคัญคือบัญชีที่ถูกยึดเป็นบัญชีเงินเดือนวันที่ 24 ธันวาคม 2552 เป็นวันสุดช็อคของคุณสุวรรณ(นามสมมติ) เพราะอยู่ดีๆ เงินในบัญชีร่วมสี่หมื่นกว่าหายกลายเป็นศูนย์โดยไม่มีการบอกกล่าว“วันนั้นดิฉันไปกดเงินจากบัญชีธนาคารกรุงเทพซึ่งเป็นบัญชีสำหรับโอนเงินเดือนเข้าแต่พบเงินในบัญชีมียอดเงินเป็นศูนย์บาท ตกใจมากค่ะทีแรกคิดว่าเงินหายจึงโทรสอบถามไปที่คอลเซนเตอร์ ได้รับแจ้งให้ติดต่อไปอีกหมายเลขหนึ่ง ก็กดโทรไปถามจึงได้รับแจ้งว่า ธนาคารเป็นผู้หักเงินในบัญชีไปทั้งหมดจริงเพื่อนำไปชำระหนี้บัตรเครดิตของธนาคารกรุงเทพที่ดิฉันติดค้างชำระอยู่  เจ้าหน้าที่แจ้งว่าธนาคารมีสิทธิจะทำได้เนื่องจากดิฉันทำสัญญาไว้”คุณสุวรรณงงเหมือนเพลงไก่นาตาฟาง ว่าตนเองไปทำสัญญาบ้าๆ แบบนี้ตอนไหนที่ไปอนุญาตให้ธนาคารหักเงินซะหมดเกลี้ยงจนไม่มีจะกิน…คุณวรพลเป็นลูกหนี้บัตรเครดิตของธนาคารกรุงเทพอีกรายที่ประสบชะตากรรมในลักษณะเดียวกัน โดยเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2552 ญาติของคุณวรพลได้โอนเงินมาใช้หนี้ของพี่ชายจำนวน 12,500 บาท เข้ามาบัญชีของคุณวรพล พอวันที่  29 ธันวาคม 2552 คุณวรพลจะไปกดเงินมาให้พี่ชาย แต่ว่าไม่มีเงินอยู่แม้แต่บาทเดียว ไปสอบถามทางธนาคารบอกคุณเป็นหนี้บัตรเครดิต ทางบัตรเครดิตได้หักเงินไปแล้ว สุดท้ายคือคุณสมคิด ถูกธนาคารกรุงเทพอายัดเงินในบัญชีเงินเดือนไปทั้งหมด เพื่อชำระหนี้บัตรเครดิต จำนวนสองหมื่นกว่าบาท โดยคุณสมคิดเข้าใจว่า การที่ธนาคารจะทำเช่นนี้ได้จะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของบัญชีเสียก่อนการยึดเงินในบัญชีเพื่อนำไปชำระหนี้โดยไม่มีการบอกกล่าวกับลูกหนี้ของธนาคารแห่งนี้ ทำให้ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก อย่างกรณีของคุณสุวรรณเธอบอกว่า เงินที่ถูกยึดไปนั้นเป็นเงินเดือนและโบนัสที่ได้มาและจะนำมาเคลียประนอมหนี้เจ้าหนี้ที่มี  และเป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะในแต่ละเดือนของครอบครัว และเมื่อไม่มีเงินเหลือเลยแม้แต่บาทเดียว ทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินญาติพี่น้องเพื่อมาประทังชีวิตแนวทางแก้ไขปัญหาการที่ลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้จะถูกยึดทรัพย์ อายัดเงินทั้งที่เป็นเงินเดือนหรือเงินในบัญชีที่ฝากไว้กับธนาคารได้นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เจ้าหนี้จะทำได้โดยพลการ เพราะตามกระบวนการทางกฎหมายแล้วเจ้าหนี้จะต้องไปฟ้องร้องต่อศาลจนมีคำพิพากษาออกมา หากลูกหนี้ก็ยังไม่มีปัญญาหาเงินมาชำระหนี้ได้นั่นแหละ ทางเจ้าหนี้ถึงจะไปร้องขอต่อศาลอีกครั้งเพื่อออกหมายบังคับคดี อายัดเงินเดือน ยึดทรัพย์ หรือยึดบัญชีฝากเงินในธนาคาร ที่ว่ามานี้เป็นกรณีที่ไม่มีข้อสัญญาผูกกันไว้แต่ต้น แต่ถ้ามีสัญญาผูกพันกันไว้ว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้จะยอมให้เจ้าหนี้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ได้และลูกหนี้ลงนามยินยอมให้เจ้าหนี้ทำเช่นนั้นได้ก็เสร็จเจ้าหนี้แน่นอนในการทำสัญญาเป็นสมาชิกบัตรเครดิตกับธนาคารกรุงเทพหรือกับสถาบันการเงินอื่นๆ ต้องยอมรับว่ามีผู้บริโภคน้อยรายที่จะสนใจอ่านข้อสัญญากันทุกบรรทัดก่อนลงลายมือชื่อเข้าทำสัญญา แต่ถ้าใครมีบัญชีเงินเดือนอยู่กับธนาคารกรุงเทพและถูกแนะนำให้ทำบัตรเครดิตด้วย ขอแนะนำว่าต้องอ่านครับหากจะทำบัตรเครดิตกับธนาคารแห่งนี้ เพราะในสัญญามีการระบุข้อความสำคัญว่า “ข้าพเจ้า(ผู้ถือบัตรเครดิต) ตกลงว่า หากข้าพเจ้าไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของธนาคาร อันเป็นเหตุให้ธนาคารยกเลิกบัตร ข้าพเจ้ายินยอมให้ธนาคารมีสิทธินำเงินในบัญชีเงินฝากทุกประเภทของข้าพเจ้า มาชำระหนี้บัตรเครดิตที่มีอยู่กับธนาคารได้” ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ธนาคารยึดเงินในบัญชีไปชำระหนี้บัตรเครดิตที่ค้างได้จนกว่าจะหมดเนื่องจากผู้บริโภคได้ให้ความยินยอมไว้แล้วนั่นเอง และสามารถหักได้แม้จะอายุความของหนี้บัตรเครดิตจะขาดไปแล้วก็ตามข้อสัญญาในลักษณะดังกล่าวนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีการพิจารณาเห็นว่าเป็นข้อสัญญาที่มีลักษณะหรือมีผลให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ เนื่องจากการไม่ชำระหนี้บัตรเครดิตอาจมีสาเหตุหลายประการ เช่น บัตรสูญหาย  บัตรถูกลักขโมย  ซึ่งยังไม่ได้พิสูจน์ความรับผิดประกอบกับเป็นการใช้ข้อสัญญาที่เลี่ยงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ไปใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลเพื่อพิสูจน์ความผิดเสียก่อน  การกำหนดข้อสัญญาเช่นนี้ จึงน่าจะเป็นกรณีที่กำหนดข้อสัญญาที่ให้ผู้บริโภคต้องรับผิดชอบ หรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด  ซึ่งอาจถือได้ว่าทำให้ได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควร  ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 และยังขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2542 อีก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อหาแนวทางกำหนดนโยบายและมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไปแต่ผู้บริโภคอย่างคุณสุวรรณ คุณวรพล คุณสมคิดที่โดนยึดเงินไปแล้วคงจะรอมาตรการของ สคบ. ไม่ไหว ข้อแนะนำที่มีให้คือให้ไปขอเจรจากับธนาคารเพื่อขอลดหย่อนการหักเงินในบัญชีลงส่วนหนึ่งซึ่งธนาคารจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป และที่สำคัญต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้บัตรเครดิตของธนาคารที่ตนมีสมุดบัญชีเงินเดือนหรือสมุดบัญชีเงินฝากอยู่อย่างเด็ดขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 วิธียื่นฎีกาต่อศาลฎีกาในคดีผู้บริโภค

ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ได้เปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาสำหรับคดีผู้บริโภคโดยให้ศาลฎีกามีอำนาจกลั่นกรองเฉพาะคดีผู้บริโภคที่มีความสำคัญหรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะขึ้นสู่ศาลฎีกาเท่านั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาจากเดิมในคดีแพ่งสามัญ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.)มาตรา 248 ที่ใช้ “ ระบบสิทธิ” ซึ่งถือหลักว่า การฎีกาเป็นสิทธิของคู่ความ การห้ามฎีกาเป็นข้อยกเว้นมาเป็น “ ระบบอนุญาต “ ซึ่งถือว่า การฎีกาเป็นสิ่งที่กฎหมายห้าม คู่ความจะสามารถฎีกาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา เหตุผลก็เนื่องจากระบบการฎีกาแบบเดิมคู่ความที่แพ้คดีมักใช้สิทธิฎีกาเป็นช่องทางในการประวิงคดี ทั้งๆ ที่คดีนั้นไม่เป็นสาระอันควรขึ้นสู่ศาลฎีกา ทำให้การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาเกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็นและก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่คู่ความที่สุจริต ดังนั้น มาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ จึงได้กำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะยื่นฎีกาต้องขออนุญาตจากศาลฎีกาก่อนคดีนั้นจึงจะขึ้นสู่ศาลฎีกาได้ ส่วนวิธีการยื่นฎีกาต่อศาลฎีกานั้นจะต้องทำอย่างไรนั้นก็ศึกษาได้จากกรณีศึกษาดังนี้   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5344/2554 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยฎีกา และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภคฯ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 8 ว่าด้วยฎีกา ไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ในการยื่นฎีกาคดีผู้บริโภคจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเหล่านั้น บทบัญญัติใน มาตรา 248 แห่ง ป.วิ.พ. จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับในคดีผู้บริโภคได้ และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้คดีที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วคู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาทหรือในปัญหาข้อกฎหมายภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค โดยในวรรคสองได้บัญญัติไว้อีกว่า การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้คู่ความยื่นฎีกาไปพร้อมกับคำร้องนั้นด้วย โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นแล้วให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว กับมาตรา 52 บัญญัติว่า ศาลฎีกาอาจอนุญาตให้ฎีกาตาม มาตรา 51 ได้ เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย จากบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า เมื่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว คู่ความจะยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีนั้นต้องมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาทหากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินกว่าสองแสนบาท คู่ความก็ไม่อาจฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เลย ส่วนฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้น ไม่ว่าคดีนั้นจะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพียงใดก็ตาม คู่ความสามารถยื่นฎีกาได้เสมอ ไม่มีข้อจำกัดห้ามฎีกาแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้คดีที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถยื่นฎีกาได้ คู่ความที่ฎีกาต้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาพร้อมกับฎีกาด้วย ศาลชั้นต้นจะด่วนมีคำสั่งรับฎีกาของคู่ความโดยที่คู่ความมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวเสียก่อนให้ครบถ้วนหาได้ไม่ คดีนี้แม้โจทก์จะฎีกาอ้างว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและในปัญหาข้อกฎหมายโดยทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาทก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาดังกล่าวโดยที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาพร้อมกับฎีกา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฎีกาโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการรับฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย หมายเหตุ ต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5359/2554 วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 พลิกแฟ้มประวัติศาสตร์ 10 ปี กับ “คดีฟ้อง” ของผู้บริโภค

  “ฟ้องร้อง” “ขึ้นโรงขึ้นศาล” ... แน่นอนว่า สำหรับประชาชนคนเดินดินธรรมดาๆ ย่อมไม่มีใครอยากข้องแวะกับเรื่องแบบนี้ ไม่ว่าจะในสถานะ “โจทก์” หรือ “จำเลย” ก็ตามที แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในปีที่ผ่านมา “คดีผู้บริโภค” มีมากกว่า 3 แสนคดี!!! อะไรหรือที่ทำให้ผู้บริโภคอดรนทนไม่ได้จนต้องลุกขึ้นมา “ฟ้อง”? โจทย์ตั้งต้นที่ต้องไข ”ไฉนจึงต้องฟ้อง”? เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะเก็บเงียบไว้ บ่นกับเพื่อน หรือหากคิดว่าถ้าดำเนินการแล้วไม่คุ้มก็จะเลิกดำเนินการ การฟ้องคดี มักเป็นหนทางสุดท้ายที่ผู้บริโภคใช้เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับตนเอง  หลังจากที่เริ่มต้นจากการคุยกับผู้ประกอบการ การร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคาดหวังว่าหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคจะเป็นตัวกลางในการเจรจา และช่วยเหลือให้ปัญหาถูกแก้ไขได้โดยเร็ว รวมทั้งพัฒนามาตรการในการป้องกันปัญหาเหล่านี้ แต่หลายครั้งกลับพบว่าหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ดูแลกำกับการใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ ต้องประนีประนอมมากกว่าการจัดการขั้นเด็ดขาด การเจรจาแก้ไขปัญหาส่วนใหญ่จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หรือหากมีผลสำเร็จ ผู้บริโภคก็ต้องทนยอมรับมากกว่าจะต่อสู้เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดกลับมา นอกจากนี้ การให้องค์กรผู้บริโภคช่วยเหลือ มีหลายครั้งที่เจรจาไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ สภาพเหล่านี้นำมาซึ่งการตัดสินใจฟ้องร้องดำเนินคดีในที่สุด   ----------------------------------------------------------------------------------------------   “สิทธิสุดขอบฟ้า” มี...แต่คว้าไม่ถึง แม้ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย แต่การตัดสินใจฟ้องคดีกับการคลี่คลายปมไม่เป็นธรรมนั้นมีเส้นทางที่ห่างไกลกันอย่างยิ่ง ข้อมูลจากประสบการณ์รับเรื่องร้องทุกข์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อผู้บริโภคลุกขึ้นมาใช้สิทธิร้องเรียน ส่วนใหญ่จะต้องเจอกับอุปสรรคหลายประการ  จนทำให้การทวงถามความเป็นธรรมจากระบบยุติธรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก ยากลำบากเพียงไร...ค้นหาคำตอบบางส่วนได้จากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับ บังอร มีประเสริฐ ที่สรุปอย่างย่นย่อได้ดังนี้ ต้นเดือนเมษายน 2545 บังอร มีอาการอึดอัด แน่นท้อง และท้องโตขึ้นเรื่อยๆ  แต่เนื่องจากกินยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาประมาณ 9 ปีเศษ โดยไม่มีประจำเดือนตลองช่วงเวลานั้น จึงไม่คิดว่าตนเองตั้งครรภ์ได้ สถานีอนามัยได้ตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้น แต่เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์ตรวจปัสสาวะเพื่อทดสอบการตั้งครรภ์ จึงใช้การคลำท้อง พบก้อนเนื้อ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเนื้องอกหรือตั้งครรภ์ จึงแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลให้ทราบผลแน่ชัด ที่โรงพยาบาล แพทย์ตรวจปัสสาวะ ตรวจปากมดลูก เอกซเรย์ปอด แล้ววินิจฉัยว่า เป็นเนื้องอก จึงนัดมาผ่าตัด เมื่อถึงวันผ่าตัด กลับพบว่า “ก้อนเนื้องอก” ในท้องเป็นทารกแฝด จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บังอร ได้ร้องต่อกระทรวงสาธารณสุข ขอความเป็นธรรมให้ชดเชยความเสียหายที่ถูกผ่าท้องฟรี ตามสิทธิในพระราชบัญญัติความรับทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการวินิจฉัย จำนวน 6 คน ซึ่งลงความเห็นและมีคำสั่งในขั้นสุดท้ายว่า “การผ่าท้องเป็นการวินิจฉัยโรค” หลังจากนั้น เธอฟ้องต่อศาลปกครองกลาง 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ การผ่าท้องเป็นการกระทำละเมิด ขอให้กระทรวงสาธารณสุขเยียวยาความเสียหาย ประเด็นที่สอง คือ ขั้นตอนที่กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาข้อร้องเรียนไม่ให้โอกาสผู้เสียหายได้ชี้แจงและมีส่วนร่วมในกระบวนการ ผลคือ บังอรแพ้คดี เนื่องจากศาลปกครองมีคำสั่งว่า กระบวนการที่กระทรวงสาธารณสุขวินิจฉัยเรื่องนี้ดีแล้ว แต่ไม่ได้พิจารณาว่า เป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ ต่อมา บังอร ได้อุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด โดยยืนยันว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่    โดยศาลปกครองสูงสุด พิพากษาว่า คดีนี้เป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่จริง แต่เรื่องนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ให้โอนคดีไปที่ศาลยุติธรรมหรือจังหวัดสมุทรสงครามแทน ขั้นตอนเพื่อพิสูจน์ว่าการผ่าตัดฟรีเป็นการกระทำละเมิดหรือไม่ ใช้เวลาถึง 7 ปี นับตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนลูกแฝดไปโรงเรียนชั้นประถม และภาระต่างๆ ในการการพิสูจน์ความเสียหาย การหาข้อมูล หาพยานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้รับบริการจากระบบบริการสาธารณสุข ตกเป็นของบังอรแต่ผู้เดียว สภาพเช่นที่เกิดขึ้นกับบังอรเป็น “เรื่องธรรมดาสามัญ” ที่พบได้ในแฟ้มคดีผู้บริโภค นั่นคือ ก่อนฟ้องคดีมักเริ่มต้นจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อฟ้องแล้ว ยังพบมีขั้นตอนมากมาย และใช้ระยะเวลานาน...โดยไม่เกิดอะไรขึ้นเลย นี่คือเหตุสำคัญอันนำไปสู่ผลที่สอดคล้องกับงานวิจัยของ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ที่พบว่า การใช้สิทธิของผู้บริโภคมีเพียง ร้อยละ 2 เท่านั้น ที่มีการดำเนินการจนถึงกระบวนการสุดท้ายของการใช้สิทธิอันพึงมีพึงได้ของตน ---------------------------------------------------------------------------------------------- ถามหาความเป็นธรรม เส้นทางแสนทุรกันดาร ความทุกข์ของผู้บริโภคในการใช้ “สิทธิอันพึงมีพึงได้” นั้นมีอยู่มากมายหลายด้าน ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ประมวลและสรุปออกมาได้ 5 ข้อหลัก ดังนี้ • ไม่รู้จะไปร้องที่ไหน ระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ หรือแม้แต่หน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนที่มีจำนวนมาก จนยากที่ผู้บริโภคธรรมดาจะรู้เท่าทันว่าจะต้องใช้สิทธิกับหน่วยงานใด • ไม่ใส่ใจนำพา ความไม่โปร่งใส ความไม่เป็นธรรม และไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้การช่วยเหลือเมื่อผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ • ไม่มีปัญญาเดินเรื่อง การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมเนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และระยะเวลาในขั้นตอนต่าง ๆ ที่ล่าช้า ภาระในการพิสูจน์ความผิดความเสียหาย การเข้าถึงข้อมูลของผู้ผลิตและผู้ให้บริการ รวมทั้งขาดพยานผู้เชี่ยวชาญ (ก่อนมีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551) • ไม่ได้รับการชดเชยความเสียหาย ถึงแม้จะชนะคดีก็ยังพบปัญหานี้บ่อยๆ  เช่น เมื่อซื้อบ้านแล้วเจ้าของโครงการล้มละลายบ้านนั้นถูกขายทอดตลาด นับว่ามีโอกาสน้อยมากที่ผู้บริโภคจะได้รับการชดเชยแถมบางคนถูกไล่ออกจากบ้านของตนเอง สามีติดคุกเพราะตนเองดื้อเพ่งที่จะอยู่บ้านที่ซื้อมากับมือ • ไม่ถือประโยชน์ผู้บริโภคใหญ่ ปัญหาความทุกข์ ความเสียหายของผู้บริโภคในปัจจุบัน มาจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น รัฐคุ้มครองผู้ประกอบธุรกิจบริษัทสัมพันธ์ประกันภัยมากกว่าผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคที่เสียหายจากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัยจำกัดไม่น้อยกว่าล้านคน และเกิดผลต่อเนื่องทั้งผู้บริโภคทุกฝ่าย อู่คู่สัญญา และกลุ่มพนักงานบริษัท   “ฟ้องแทนผู้บริโภค” บทบาทอีกด้านของ มพบ. เมื่อปี 2544 ได้เกิดปัญหาและข้อร้องเรียนของผู้บริโภค กรณีการควบรวมกิจการของธุรกิจเคเบิ้ลทีวี 2 รายใหญ่ คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ “ไอบีซี” และ บริษัทยูทีวี เคเบิ้ล เน็ตเวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ “ยูทีวี” ได้รวมตัวเป็น กลุ่มบริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอเปอร์เรชั่น จำกัด หรือ “ยูบีซี” ทำให้เกิดปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องคุณภาพบริการ ราคาแพง และมีโฆษณาในผังรายการเหมาจ่ายรายเดือน มูลนิธิ ฯ จึงร่วมมือกับ โครงการสื่อสันติภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร้องเรียนต่อ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และต่อมา เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้ส่งต่อข้อร้องเรียนนี้ไปยังศาลปกครองกลาง ข้อร้องเรียนกล่าวถึง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท.) ทำให้เกิดผู้ให้บริการรายเดียว และ อสมท.ได้ประโยชน์จากการอนุมัติให้ขึ้นราคา เพราะได้ส่วนแบ่งรายได้โดยไม่ต้องหักค่าใช้จ่าย ข้อร้องเรียนนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการปรับเพิ่มราคาค่าสมาชิกของ อสมท. แม้ท้ายที่สุดศาลได้มีคำพิพากษาว่า เป็นอำนาจที่ อสมท.สามารถทำได้ และโจทย์เป็นฝ่ายแพ้คดี แต่ศาลปกครองกลางก็ได้พิพากษาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นผู้เสียหายในการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้ กรณีที่เกิดขึ้นนี้คือจุดเริ่มต้น ที่ทำให้มูลนิธิฯ เริ่มต้นเดินหน้าในการ “ฟ้องคดีเพื่อผู้บริโภค” อย่างจริงจังมาจนถึงวันนี้ หรืออาจกล่าวได้ว่า คดีปฐมบท “พ่ายแพ้” แต่กลายเป็น “อิฐก้อนแรก”   404 คดี ประสบการณ์ที่ทรงคุณค่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิฯ “ฟ้องคดีเพื่อผู้บริโภค” เป็นจำนวน 404 คดี แม้ดูเหมือนเป็นจำนวนไม่น้อย แต่หากพิจารณาคดีผู้บริโภคทั้งหมดที่มีอยู่ประมาณ 336,549 คดี  ในปีที่ผ่านมาของศาลแล้ว คดีที่มูลนิธิฯฟ้องแทนผู้บริโภค จำนวน 404 คดี คิดเป็นเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น! การดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ของมูลนิธิฯ เกี่ยวข้องกับ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคจำนวนมาก เช่น กรณีการถูกเรียกเก็บเงิน 107 บาท จากบริษัทโทรคมนาคม เมื่อผู้บริโภคไม่จ่ายค่าบริการโทรศัพท์ติดต่อกันสองเดือน อันจะทำให้ถูกตัดสัญญาณโทรศัพท์ ต่อเมื่อไปจ่ายค่าบริการและขอใช้บริการใหม่จะถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มทันทีจำนวน 107 บาท ทั้งๆ ที่ประกาศมาตรฐานสัญญาในการให้บริการของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เดิม ระบุไว้ชัดเจนว่า บริษัทฯ ไม่สามารถเก็บเงินเพื่อการนี้ได้ นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังฟ้อง คดีที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ปัญหาสาธารณะ อีกหลายต่อหลายคดี เช่น กรณีการรณรงค์เรื่องความปลอดภัยของบริการรถโดยสารสาธารณะ เพื่อสร้างความตื่นตัวให้แก่ผู้บริโภคจำนวนมากที่ยังไม่รับรู้สิทธิของตนเองในฐานะผู้ใช้บริการ และเมื่อเกิดปัญหา แทนที่จะได้รับการเยียวยาหรือชดเชยอย่างเป็นธรรม กลับมักถูกผู้ให้บริการรถโดยสารข่มขู่หรือหาทางปิดคดีโดยเร็ว รวมทั้ง การฟ้องคดีเพื่อให้ปรับปรุงมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หรือยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งยังมีการฟ้อง คดีสาธารณะเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค เช่น การอนุญาตให้เอกชนขึ้นค่าทางด่วนจาก 50 บาทเป็น 85 บาท โดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐ หรือการฟ้องคดีเพื่อสนับสนุนการทำงานของขบวนการทำงานขององค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ในการกรณีการผลักดันการเข้าถึงยาจำเป็นต่อชีวิต เช่น การฟ้องศาลปกครองกลางกรณีคำสั่งสำนักงานแข่งขันทางการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่มีมติว่า การกระทำของบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด (มหาชน)(ABBOTT) จากสหรัฐอเมริกา ที่ได้ขอให้บริษัทในประเทศถอนทะเบียนยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพจำนวน 10 รายการจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่ขัดต่อกฎหมายแข่งขันทางการค้า เนื่องจากบริษัทไม่พอใจที่รัฐบาลไทยใช้มาตรการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร ทำให้สามารถมียาราคาถูกในบัญชียาหลักแห่งชาติเพิ่มขึ้น จึงเป็นเหตุในการถอนทะเบียนยา ปัจจัยในการฟ้องคดีต่างๆ ข้างต้น เกิดจากการละเมิดสิทธิผู้บริโภคโดยธุรกิจข้ามชาติ ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ หรือแม้แต่ผู้ประกอบธุรกิจในประเทศ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นข้อพิพาทของผู้บริโภค ที่ได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายจากนโยบายและการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ซึ่งกระทบต่อสาธารณประโยชน์ ทำให้มีผู้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับข้อพิพาทส่วนใหญ่มีความสลับซับซ้อน ยากที่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจะมีโอกาสและความสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเอง บางกรณีเป็นเรื่องผลกระทบที่เกิดจากผลประโยชน์ทางนโยบายของรัฐ นักการเมือง หรือภาคเอกชน ที่มีอำนาจและอิทธิพลเหนือผู้บริโภค และเป็นฝ่ายที่มีความรู้และสถานะที่เหนือกว่าในเรื่องข้อมูลข่าวสารและความเชี่ยวชาญ รวมถึงการพิสูจน์ข้อเท็จจริงแห่งคดี มากกว่าผู้บริโภค   “แพ้ชนะ” ไม่ใช่เป้าหมายสิ่งที่ได้คือก้าวไปข้างหน้า เมื่อถอดบทเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในเรื่องของการฟ้องคดีของผู้บริโภค พบว่า ผลคดีไม่ว่าลงเอยด้วยการแพ้หรือชนะก็ตาม ได้สั่งสมเป็นคลังประสบการณ์ ที่ส่งผลในภาพรวมให้ขบวนการผู้บริโภคไทยก้าวไปข้างหน้าในหลายด้าน ที่เห็นได้ชัดคือ สามารถหยุดกระบวนการที่ทำให้รัฐและสาธารณะประโยชน์เสียหาย หรือเกิดผลเสียต่อผู้บริโภค รวมทั้งปกป้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ สาธารณะและประชาชน เช่น กรณีการฟ้องการแปลงสภาพการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่สามารถหยุดการกระจายหุ้น กฟผ.ในตลาดหลักทรัพย์ และทำให้ต้องยกเลิกนำการไฟฟ้าเข้าจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ หรือการมีคำสั่งให้ บริษัท ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินที่ใช้อำนาจมหาชน รอนสิทธิ เวนคืนหรือใช้เงินลงทุนของรัฐคืนให้กับกระทรวงการคลัง ประการต่อมาคือ ทำให้สิทธิของผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเป็นจริงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการได้รับการชดเชยความเสียหาย เช่น สิทธิของคนเล็กคนน้อยที่ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะมักจะไม่รู้ว่าตนมีสิทธิ หรือหากลุกขึ้นมาใช้สิทธิก็จะต้องยุ่งยาก ที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ เกิดบรรทัดฐานในการคุ้มครองผู้บริโภค ในกรณีที่ได้รับความเสียหายแบบเดียวกัน สำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังทำให้ ผู้บริโภคเท่าทันข้อมูลและมาตรการที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคถูกบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม และไม่ถูกละเมิดสิทธิ เช่น การเก็บเงิน 107 บาท ในการต่อสัญญาณโทรศัพท์ หรือการรับรู้ว่าการขึ้นรถโดยสารสาธารณะเป็นผู้บริโภคสามารถฟ้องคดีโดยใช้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และตัวอย่างของการฟ้องคดีที่ประสบความสำเร็จ ภายใต้ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ยังทำให้ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ กล้าที่จะลุกขึ้นหรือใช้สิทธิหรือใช้การฟ้องคดีในการดำเนินการเพื่อให้ได้รับการเยียวยาเพิ่มขึ้น เพราะขั้นตอนและการใช้สิทธิไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องพิสูจน์ความเสียหาย ไม่ต้องใช้เงินในวางศาล และไม่จำเป็นต้องใช้ทนาย ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจและมีความกล้าในการพิทักษ์สิทธิตนเอง ผลด้านอื่นๆ ก็คือ บทบาทในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐ ทำให้เกิดความระมัดระวังในการดำเนินงานของข้าราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การฟ้องคดีปกครองกรุงเทพมหานคร และที่ไม่อาจมองข้ามได้ คือ บทเรียนการฟ้องคดีสาธารณะในหลายกรณี นำมาซึ่งการยกระดับนโยบาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดมาตรการหรือกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสมจริงจัง เช่น กรณีการฟ้องคดีเพื่อให้ปรับปรุงมาตรการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข หรือกรณีการถอนทะเบียนยาของบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด เป็นต้น   ประมวลอุปสรรคที่ผ่านมาเมื่อ “ฟ้องคดีแทนผู้บริโภค” การดำเนินการฟ้องคดีของมูลนิธิฯ แทนผู้บริโภค เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการมูลนิธิ ฯ ดำเนินการโดยอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายนักวิชาการ นักกฎหมายและกลุ่มต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมา ประมวลปัญหา อุปสรรค เพื่อใคร่ครวญยกระดับงานด้านนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ได้ดังนี้ • แม้ว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะมีบทบาทต่อสังคม ในฐานะองค์กรสาธารณะประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ดำเนินการปกป้องสิทธิผู้บริโภคในทุกๆด้าน รวมถึงการฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภคได้อย่างชัดเจนและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่ในทางกฎหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ยังไม่เป็นองค์กรที่สามารถฟ้องคดีได้แทน ตามมาตรา 40 ให้เป็นองค์กรหรือสมาคมให้มีสิทธิและอำนาจฟ้องคดีได้ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันหรือตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 เป็นต้น • ขาดนักกฎหมายหรือทนายความที่ปฏิบัติงานภายในองค์กร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีเจ้าหน้าที่ประจำไม่น้อยกว่า 20 คน แต่ไม่มีนักกฎหมายและทนายความในระดับเจ้าหน้าที่ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เป็นระบบอาสาสมัครที่เข้ามาสนับสนุนการฟ้องคดีของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำให้เกิดความจำกัดในการดำเนินคดีด้วยตนเอง รวมทั้งขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการดำเนินคดี เช่นการเงินการธนาคาร บริการสาธารณะ สื่อและโทรคมนาคม ผลิตภัณฑ์สุขภาพ บริการสุขภาพ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินคดีให้ประสบความสำเร็จ • งบประมาณที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากเป็นงบประมาณโครงการ ที่ไม่ต่อเนื่อง แต่ขณะที่การดำเนินคดีใช้ระยะเวลาที่ยาวนาน ถึงแม้มูลนิธิฯ จะใช้ระบบทนายอาสาที่ใช้ระบบค่าตอบแทนที่เป็นเพียงค่าตอบแทนวิชาชีพ แต่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากต่อปีในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทนวิชาชีพ การสืบค้นข้อมูลในการดำเนินคดี การคัดถ่ายเอกสาร ค่าพาหนะที่เกี่ยวข้อง รวมถึงขั้นตอนในการดำเนินคดี การวางแผนการประชุมผู้เชี่ยวชาญ และหากเป็นการดำเนินคดีสาธารณะ หรือผู้บริโภคที่ยากจนก็ต้องรับภาระในส่วนนี้แทนทั้งหมด • นโยบาย กฎหมาย และมาตรการต่างๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ก้าวหน้าและทันสมัยยังขาดความเข้าใจและรับรู้โดยหน่วยงาน หรือบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  อาทิ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ที่มุ่งหมายจะก่อให้เกิดระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่สมบูรณ์ทั้งในด้านการป้องกันความเสียหาย และเยียวยาความเสียหาย เช่น การระงับการจำหน่ายสินค้าอันตราย ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการคุ้มครองตนเองของผู้บริโภค การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ไม่ต้องใช้ทนาย ไม่ต้องจ่ายค่าวางศาล การพิจารณาคดีเชิงลงโทษ ความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินคดี แต่ข้อเท็จจริงในทางปฏิบัติกลับยังมีข้อติดขัดหลายประการ ที่ยังไม่สามารถใช้ได้จริงตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หรือพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ถูกคัดค้านจากผู้ประกอบวิชาชีพ จนกระทั่งต้องออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย หรือรวมถึงปัญหาการยอมรับและการร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรเอกชนต่างๆ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในการสนับสนุนข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่อการแก้ไขปัญหาผู้บริโภค ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยสำคัญในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน   แปลงปัญหา สู่ ปัญญานำพาพลังแห่งการ “ฟ้อง” จากประสบการณ์ การประมวลบทเรียนที่ผ่านมา และการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่มีอยู่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มีข้อเสนอแนะต่อการฟ้องคดีสาธารณะเพื่อผู้บริโภคในอนาคต ดังนี้ ประการแรก เร่งให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 61 บัญญัติไว้ว่า “ สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐ ในการตราและบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภครวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระด้วย ประการที่สอง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคควรมีอำนาจในการฟ้องคดี เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินคดีโดยผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค ยังขาดแคลนทั้งความเชี่ยวชาญ ทรัพยากรบุคคล และงบประมาณ    ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องมีองค์การอิสระที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ในการเยียวยาความเสียหาย ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชน ไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชน หรือนักการเมือง ที่จัดตั้งขึ้น และสามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ  และมีบทบาทในการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้อย่างโปร่งใส และมีความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาการดำเนินคดีแทนผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และการบังคับใช้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้  และเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้มีสามารถคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและผลประโยชน์ของสาธารณะได้จริง ไม่ใช่เป็นหน่วยงานที่ไม่มีอำนาจในการดำเนินการใด ๆ ประการที่สาม หน่วยงานรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำคดีผู้บริโภค ข้อเสนอระยะสั้น รัฐมีมาตรการที่ชัดเจนว่า หากมีการดำเนินคดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดๆ ของรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ฯลฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดีนั้นควรสนับสนุนงบประมาณให้แก่ องค์กรผู้บริโภค หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยผู้บริโภคดำเนินการฟ้องร้องคดี ในอัตราที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ และสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคเกิดความเข้มแข็งและช่วยเหลือฟ้องคดีสาธารณะแทนผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ประการที่สี่ เร่งอุดช่องโหว่ปัญหาการบริหารกิจการของรัฐโดยไม่ตอบสนองประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง จากกรณีคดีตัวอย่างที่กล่าวมาทั้งหมดสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านมาตรการหรือนโยบายของรัฐ การกำกับดูแล และการใช้กฎหมายที่ถูกละเลย รวมถึงการไม่ให้ความสำคัญกับประโยชน์สาธารณะ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่มุ่งเน้นประโยชน์ของคนบางกลุ่มหรือผลประโยชน์กับธุรกิจบางประเภท   โดยที่หลายคดีทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐและประชาชนในประเทศอย่างมหาศาล   หรือเป็นคดีที่มีผลกระทบต่อคนบางกลุ่มบางประเภท แต่ภาพโดยรวมของความเสียหายแล้วเกิดได้กับคนทุกคน จะเห็นได้ว่า ปัญหาหรือข้อพิพาทต่างๆ ล้วนเกิดขึ้นจากการละเมิดสิทธิผู้บริโภค โดยองค์กรของรัฐเอง และส่งผลต่อระบบธรรมาภิบาลของการบริหารราชการแผ่นดิน และมีผลต่อทุกภาคส่วนในสังคมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นผลทางตรงหรือทางอ้อม ที่เป็นผลจากนโยบาย หรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ละเลยการใช้กฎหมาย ที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์สาธารณะ ประการสุดท้าย เผยแพร่บทเรียนสู่สังคมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมกันเผยแพร่บทเรียน ความสำเร็จในคดีสำคัญเพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภค ให้เกิดความเข้าใจ ปลุกกระแสความตื่นตัว เป้าหมายปลายทาง คือ เพื่อให้เกิดความเท่าทันในการคุ้มครองตนเอง และให้ทุกๆ ฝ่ายมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และร่วมกันตรวจสอบ นโยบายและการดำเนินการของรัฐ และหยุดการดำเนินการที่เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ รวมถึง การยกระดับคุณภาพการให้บริการของภาคเอกชนที่มีผลต่อประโยชน์สาธารณะด้วย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point