ฉบับที่ 193 เพชรกลางไฟ : ศักดิ์ศรีของคนอยู่ที่การกระทำ...ไม่ใช่สายเลือด

อันว่าละครโทรทัศน์แนวพีเรียดหรือแนวย้อนยุคนั้น ถือเป็นเนื้อหาละครที่จำลองภาพชีวิตของตัวละครที่เวียนว่ายอยู่ในอดีต หรือช่วงพีเรียดหนึ่งๆ ที่บรรพชนของเราเคยดำเนินชีวิตมาก่อน การจำลองภาพอดีตฉายผ่านละครแนวนี้ ด้านหนึ่งก็คือการย้อนกลับไปดูภาพฝันวันวานที่คนในทุกวันนี้ได้ผ่านพ้นและอาจลืมเลือนไปเสียแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ละครย้อนยุคก็เป็นประหนึ่งบทเรียนให้คนยุคปัจจุบันได้ทบทวนตนเอง โดยมองผ่านกระจกภาพชีวิตของตัวละครที่ถูกวาดขึ้นในยุคสมัยก่อนที่ผู้ชมจะถือกำเนิดขึ้นมาเสียอีก ในท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่ผู้คนมีแนวโน้มจะสนใจสิ่งที่เรียกว่า “เปลือก” มากกว่า “แก่น” หรือชื่นชมกับ “ความผิวเผิน” มากกว่า “ความลุ่มลึก” ละครพีเรียดอย่าง “เพชรกลางไฟ” ก็คืออีกหนึ่งภาพที่ฉายออกมา เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ชมได้ทบทวนความเป็นจริงแห่งยุคสมัยดังกล่าว ละครได้ย้อนยุคกลับไปในราวสมัยรัชกาลที่ 6 ที่แม้ว่าฉากหลังของละครจะเป็นเรื่องราวความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยสมัยนั้น แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เบื้องลึกเบื้องหลังกว่านั้นก็คือฉากความขัดแย้งทางการเมืองที่อยู่ในครอบครัวของชนชั้นนำในยุคดังกล่าว โดยละครได้เลือกนำเสนอภาพผ่านชีวิตตัวละครหลักอย่าง “หม่อมเจ้าหญิงอุรวศี” หรือ “หญิงหลง” ผู้เป็นบุตรีลำดับสุดท้ายของ “เสด็จในกรมฯ” เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ อุรวศีก็ถูก “หม่อมต่วน” ผู้เป็นหม่อมใหญ่กีดกันไม่ให้เธอเข้าไปยุ่งเกี่ยวที่ตำหนักใหญ่ เพราะหม่อมต่วนเกลียดชัง “หม่อมสลวย” มารดาเลือดสามัญชนของอุรวศี ที่มาพรากความรักของเสด็จในกรมฯไปจากเธอ ไม่เพียงเท่านั้น เพราะหม่อมสลวยได้ล่วงรู้ความลับของหม่อมต่วนที่เคยวางแผนฆ่า “หม่อมพิณ” หญิงที่เป็นคนรักอีกคนของเสด็จในกรมฯ จนตายอย่างเหี้ยมโหดทารุณ เธอจึงหาทางฝากฝังอุรวศีไว้กับ “เสด็จพระองค์หญิง” ผู้เป็นเสด็จป้า ในขณะที่หม่อมสลวยเองก็ผูกข้อมือเป็นภรรยาของ “บุญทัน” ไปอยู่ที่ปากน้ำโพ เพื่อหลีกหนีไปจากวังวนอำนาจของหม่อมต่วนเสีย ชะตาชีวิตของอุรวศีที่ขาดซึ่งบิดาและมารดาในเวลาไล่เลี่ยกัน เธอจึงต้องโดดเดี่ยวยืนหยัดต่อสู้กับคลื่นลมและพายุฝนที่ซัดพาเข้ามาหาแบบระลอกแล้วระลอกเล่า เพื่อจะพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้จะอยู่ท่ามกลางความโหดร้ายของโลกรอบตัว แต่ทว่า “เพชรแท้” อย่างอุรวศี ก็ยังคงเป็น “เพชรกลางไฟ” อยู่วันยังค่ำ คลื่นลมระลอกแรกก็คงหนีไม่พ้นมหันตภัยจากตัวหม่อมต่วน ที่แม้จะมั่งคั่งในทรัพย์ศฤงคาร และเติบโตมาในศักดิ์ชั้นที่สูงกว่าหม่อมใดๆ ของเสด็จในกรมฯ แต่เพราะโลภจริตและโมหจริตช่างไม่เข้าใครออกใคร ดังนั้นหม่อมต่วนจึงคอยจองล้างจองผลาญกลั่นแกล้งอุรวศีในทุกทาง แผนการของหม่อมต่วนเริ่มตั้งแต่กีดกันอุรวศีออกจากกองมรดกของเสด็จในกรมฯ และอัปเปหิเธอไปอยู่ที่เรือนปั้นหยาหลังเล็กนอกเขตขัณฑ์ของวังใหญ่ จากนั้นก็ช่วงชิง “หม่อมเจ้าสุรคม” ที่กำลังจะหมั้นกับอุรวศีให้มาเสกสมรสกับ “หม่อมเจ้าหญิงอรุณวาสี” บุตรีคนเล็กของเธอแทน ไปจนถึงการวางแผนให้บ่าวเผาเรือนปั้นหยาจนวอด เพื่อหวังคลอกอุรวศีให้สิ้นชีวิตอยู่ในกองเพลิงนั้น ส่วนคลื่นลมระลอกถัดมาก็คือบรรดาพี่สาวต่างมารดาอย่าง “หม่อมเจ้าหญิงติโลตตมา” หรือ “หญิงกลาง” และ “หม่อมเจ้าหญิงอทริกา” หรือ “หญิงนิด” ที่ “ลูกไม้หล่นใต้ต้น” ของหม่อมต่วน และเฝ้าคอยใส่ความกลั่นแกล้งหาเรื่องอุรวศี เพื่อให้เธอไม่อาจทนอยู่ในวังของเสด็จพระองค์หญิงต่อไปได้ และคลื่นลมระลอกสุดท้าย ก็สืบเนื่องมาแต่ความรักและจิตปฏิพัทธ์ที่อุรวศีมีให้กับ “อนล” พระเอกหนุ่มแสนดีแต่ชาติกำเนิดอยู่ต่างศักดิ์ชั้น และมีผู้หญิงอีกคนอย่าง “ดวงแข” ที่หมายปองครองคู่เขาอยู่ อุรวศีจึงต้องเลือกสงวนท่าทีและเก็บงำความในใจ เพียงเพราะฐานันดรศักดิ์ที่ค้ำคอและเป็นกำแพงขวางกั้นรักของเธอและเขาเอาไว้ แม้จะมีคลื่นลมกระหน่ำซ้ำเข้ามาเพียงใด และแม้อุรวศีจะไม่ได้มีอำนาจหรือทุนทรัพย์โภคทรัพย์มากมายที่จะไปต่อกรกับพลพรรคของหม่อมต่วน หญิงกลาง หญิงนิด หรือแม้กับดวงแข แต่ด้วยที่เธอมีปัญญา มีคารม และมีการกระทำที่ยึดหลักคุณธรรมความดี ก็เป็นประหนึ่งอาวุธให้อุรวศีได้ใช้ต่อสู้เพื่อยืนหยัดอยู่ท่ามกลางพายุวิกฤติที่ถาโถมเข้ามา เพราะพระบิดาปลูกฝังให้รักการอ่านหนังสือตั้งแต่วัยเยาว์ อุรวศีจึงมีปัญญาที่เฉียบคมและวาจาที่เฉียบแหลม จนสามารถเอาตัวรอดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาได้ทุกครั้งครา และเพราะการกระทำที่ตั้งมั่นในความดี อุรวศีก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า คุณค่าแท้ๆ ของ “เพชร” ที่จะเจิดจรัสอยู่ “กลางไฟ” ได้นั้น พึงเป็นเช่นไร เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งอุรวศีได้ใช้คารมย้อนยอกและเชือดเฉือนหม่อมต่วนกับลูกๆ ว่า “ศักดิ์ศรีของคนอยู่ที่การกระทำ...ไม่ใช่อยู่ที่สายเลือดแต่อย่างใด” เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีศักดิ์ชั้นแบบใด มนุษย์เราก็มีทั้งดีและเลวปะปนกันไป ในหมู่บ่าวไพร่ที่มีศักดิ์ชั้นต้อยต่ำ ก็จะมีตัวละครตั้งแต่ “สร้อย” และ “ผิน” ที่ยึดถือคุณธรรมความดีของอุรวศีจนตัวตาย ไปจนถึงตัวละครอีกฝั่งฟากอย่าง “แปลก” ที่จงรักภักดีอยู่ในมิจฉาทิฐิของหม่อมต่วนแบบไม่ลืมหูลืมตา เฉกเช่นเดียวกับในกลุ่มของสตรีที่สูงซึ่งศักดิ์ชั้นอย่างธิดาของเสด็จในกรมฯ ก็มีตั้งแต่ภาพของอุรวศีที่ฉากจบได้เลือกจะมีความสุขในมุมเล็กๆ กับอนล แบบไม่ต้องยึดติดกับลาภยศเงินทองแต่อย่างใด กับภาพที่ตรงข้ามกันของหญิงกลางและหญิงนิดที่เมื่อสิ้นหม่อมต่วน พี่น้องก็ห้ำหั่นกันจนตกอยู่ในวังวนของการแก่งแย่งทรัพย์สมบัติที่บุพการีได้สั่งสมกันมา หากละครย้อนยุคเป็นดั่งกระจกที่ย้อนฉายให้คนปัจจุบันได้ทบทวนอุทาหรณ์จากชีวิตตัวละครในอดีตแล้วนั้น อย่างน้อยเราคงเข้าใจได้ไม่ยากว่า การที่คนยุคนี้จะนับถือกันเพียงเพราะ “เปลือกอันผิวเผิน” อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับ “แก่นอันลุ่มลึก” ที่แฝงฝังอยู่เนื้อในคนแต่ละคนมากกว่า  เพราะบทเรียนของผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างอุรวศีได้ให้ข้อเตือนใจว่า การกระทำของคนต่างหากที่จะบ่งบอกว่า “เพชรกลางไฟ” เยี่ยงไรก็ยังสามารถฉายแสงได้ไม่เสื่อมคลาย

อ่านเพิ่มเติม >