ฉบับที่ 181 อตีตา : ประวัติศาสตร์ชาตินิยมในประชาคมอาเซียน

“ประวัติศาสตร์” คืออะไร สำคัญอย่างไร และทำไมตั้งแต่เรายังเด็ก จึงถูกโรงเรียนบังคับให้ศึกษาเล่าเรียนวิชาประวัติศาสตร์กันด้วย     นิยามของประวัติศาสตร์นั้น ดูจะตั้งอยู่บนทางสองแพร่งของความหมาย โดยในทางแพร่งแรกได้แก่นิยามของกลุ่มนักคิดที่เชื่อว่า ประวัติศาสตร์คือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในอดีต และเพราะอดีตนั้นมีอยู่จริงๆ หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์จึงเป็นการขุดค้นให้เห็นว่า ข้อเท็จจริงและการใช้ชีวิตของผู้คนในอดีตเป็นเยี่ยงไร     ส่วนในทางอีกแพร่งหนึ่งนั้น กลับอธิบายว่า ประวัติศาสตร์เป็นบทสนทนาระหว่าง “คนในปัจจุบัน” กับ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต” หรือกล่าวแบบชิคๆ กิ๊บเก๋ว่า ประวัติศาสตร์มีสถานะเป็นเพียงเรื่องเล่าที่ “based on a true story” เท่านั้น     และเพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเล่าที่มีเค้าจากเรื่องจริง ข้อเท็จจริงจากอดีตจึงอาจจะมีอยู่บ้างในระดับหนึ่ง (หรือในบางครั้งก็อาจไม่มีข้อเท็จจริงบ้างเลยด้วยซ้ำ!!!) และนักประวัติศาสตร์ก็คือผู้ที่สร้างเรื่องเล่าที่คนปัจจุบันกำลังสนทนา รับรู้ และตีความเพื่อบอกเล่าเก้าสิบถึงเหตุการณ์ในอดีตสู่บุคคลอื่น     ทัศนะต่อประวัติศาสตร์แบบทางแพร่งที่สองนี้เอง ที่ดูจะเหมาะกับการทำความเข้าใจบรรดาเรื่องแต่งที่ “based on a true story” อย่างละครพีเรียดและละครแนวอิงประวัติศาสตร์ อันหมายรวมถึงละครโทรทัศน์เรื่อง “อตีตา” ที่ฝ่ากระแสประชาคมอาเซียนด้วยการย้อนภาพสงครามไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในช่วงศึกคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง     ภายใต้นิยามที่ว่า ประวัติศาสตร์คือบทสนทนาที่คนปัจจุบันมีต่ออดีตของตนเอง ละคร “อตีตา” จึงวางพล็อตเรื่องให้เกิดการซ้อนทับในมิติของเวลาระหว่างอดีตกาลกับปัจจุบันกาล โดยให้ตัวละครในอดีตได้มาสัมผัสชีวิตที่ผันเปลี่ยนไปของผู้คนในปัจจุบัน และให้ตัวละครอนุชนยุคปัจจุบันได้ย้อนกลับไปสัมผัสบทเรียนชีวิตของบรรพชนรุ่นก่อน     หากลึกๆ แล้วมนุษย์เชื่อว่า จังหวะเวลาของอดีตกับปัจจุบันจะมีวงโคจรมาบรรจบกันได้ “เมืองใจ” หนึ่งในวีรชนบ้านบางระจันในยุคกรุงศรีอยุธยา ก็ได้ก้าวผ่านมิติของเวลา 200 กว่าปีมาสู่ห้วงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และเพราะมีมิสชั่น (ที่ดูจะอิมพอสสิเบิ้ล) ในการตามหาปืนใหญ่เพื่อไปใช้รบกับ “ข้าศึก” ทำให้เมืองใจมีเหตุบังเอิญทะลุมิติเวลา จนมาพบกับ “ศิโรตม์” หนุ่มหัวสมัยใหม่ทายาทเจ้าของบริษัทออร์แกไนเซอร์ใหญ่ของเมืองไทย     แม้จะก้าวข้ามเวลามาสู่ยุคกาลสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับเมืองใจแล้ว ความทันสมัยสะดวกสบายนั้นไม่อาจยั่วยวนล่อใจให้เขาดื่มด่ำหลงใหลไปได้ เหมือนกับที่เมืองใจเคยกล่าวว่า “เมืองสวรรค์ อะไรก็ดี อยู่สบาย จะกินก็ไม่ต้องออกไปหว่านไถเอง เสกมาได้ทั้งนั้น ผู้คนก็หามีใครเป็นศัตรูกันไม่ หากใจข้า กลับหาความสุขมิได้เลย...”     เพราะความสะดวกสบายทันสมัยไม่อาจแทนที่จิตสำนึกรักชาติยิ่งชีพของชาวบ้านบางระจันได้เลย เมืองใจจึงยังคงเพียรปฏิบัติการตามล่าหาปืนใหญ่ เพื่อเอาไปกอบกู้บ้านเมืองและรบทานข้าศึกศัตรู     และเพราะประวัติศาสตร์เป็นบทสนทนาระหว่างกันของอดีตกับปัจจุบัน เมื่อเมืองใจก้าวข้ามประตูกาลเวลามาด้วยสำนึกรักชาติยิ่งชีพ อีกด้านหนึ่งละครก็ผูกเรื่องให้ศิโรตม์ต้องมีอันหลุดทะลุมิติเวลา กลับไปสู่ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยายุคสมัยเดียวกับที่เมืองใจและวีรชนบ้านบางระจันกรำศึกสงครามอยู่     อาจด้วยเพราะต้องการโหนกระแสที่รัฐร่วมสมัยชวนคนไทยร้องเพลงว่า “บ้านเมืองจะเดินต่อไป จะมีหวังได้เพราะสามัคคี” สายตาที่ศิโรตม์สัมผัสภาพวีรกรรมของตัวละครต่างๆ ในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเมืองใจ หรือขุนพลผู้นำศึกบ้านบางระจันทั้งหลาย ไปจนถึง “จันกะพ้อ” และ “กาหลง” สองสาวพี่น้อง ที่ทุกคนต่างฮึกเหิมด้วยความรักชาติ ทำให้คนยุคปัจจุบันอย่างศิโรตม์สามารถหลอมหล่อสำนึกความรักชาติของตนเข้ากับวีรชนบ้านบางระจันได้ในที่สุด     แม้ว่าศิโรตม์ (รวมทั้งคนปัจจุบันทั่วไปที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยากันมาตั้งแต่เด็ก) จะรับรู้บทสรุปสุดท้ายของศึกบางระจันว่า จบลงด้วยโศกนาฏกรรมและการเสียสละชีวิตเพื่อรักษาอธิปไตยแห่งสยามประเทศ แต่ฉากจบแบบนี้ก็คือ การขีดเส้นใต้ย้ำเตือนให้คนยุคนี้ตระหนักในสำนึกชาตินิยมที่ละครนำเสนอสืบเนื่องให้เห็นตั้งแต่ยุคบรรพชน     แต่ที่น่าสนเท่ห์ใจยิ่งเห็นจะเป็นว่า เพราะประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่ “based on a true story” ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คำถามก็คือ “a true story” ที่ประวัติศาสตร์แบบ “อตีตา” เขียนขึ้นมาหรือ “based on” นั้น เป็นมุมมองจากสายตาแบบใด     ในกรณีนี้ หากเป็นประวัติศาสตร์ที่ผ่านสายตาแบบ “ชาตินิยม” ที่ถ่ายทอดผ่านตัวละครเมืองใจ มาสู่คนร่วมสมัยแบบศิโรตม์ คำว่า “ชาติ” หรือ “ความรักชาติ” เยี่ยงนี้ จึงเป็นรูปธรรมที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้สร้างประวัติศาสตร์ชาตินิยมก็น่าจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจการเมืองบางอย่างกำหนดอยู่เบื้องหลัง     และที่แน่ๆ การสร้างชาติหรือเขียนประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบที่สังคมไทยทำกันอยู่เนืองๆ ก็มักจะใช้การแบ่ง “เรา” และ “เขา” ออกจากกัน ไปจนถึงการสร้าง “เขา” ให้เป็นตัวละครศัตรูร่วมของ “เรา” ขึ้นมา เพื่อให้สำนึกของ “เรา” มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงหนึ่งเดียวไปโดยปริยาย     ภายใต้ประวัติศาสตร์ชาตินิยมเช่นนี้ บทสนทนากับอดีตของศิโรตม์กับคนทั่วไป จึงเลือกย้อนกลับไปยังช่วงสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีตะเข็บชายแดนติดกับเมืองไทย และกลายเป็นเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้แต่กับยุคกระแสอาเซียนภิวัตน์ ที่ไปที่ไหนหรือทำอะไร ใครๆ ก็ต้องกล่าวขานกันถึงแต่การรวมตัวของชาติต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว แต่ทว่าประวัติศาสตร์ชาตินิยมแบบ “อตีตา” และตัวละครเมืองใจกับศิโรตม์ก็มิได้เลือนหายไปเลย     หลังศึกบางระจันจบลงด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของหลากหลายตัวละคร คำถามที่ชวนสงสัยก็คือ แล้ววิสัยทัศน์อาเซียนแบบ “One Vision, One Identity, One Community” กับสำนึกลึกๆ ที่ยังคงแบ่ง “เรา” และ “เขา” ในประวัติศาสตร์ชาตินิยม จะหาจุดลงตัวมาบรรจบลงได้ ณ ตำแหน่งแห่งที่แบบใดกันหนอ         

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point