ฉบับที่ 169 กระแสต่างแดน

I’m burning it! องค์กร Fight for 15$ ที่ต่อสู้เพื่อสภาพการทำงานที่ดีและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม สร้างความฮือฮาอีกครั้งด้วยการเปิดโปง “เรื่องในครัว” ของแม็คโดนัลด์ ร้านฟาสต์ฟู้ดที่มีสาขามากเป็นอันดับสองของอเมริกา องค์กรนี้รายงานว่ามีพนักงานร้านแม็คโดนัลด์ 28 คน จากสาขาใน 19 เมือง เคยได้รับบาดเจ็บจากอุปกรณ์ที่มีอันตรายและมาตรการความปลอดภัยที่หละหลวมในครัวของแม็คโดนัลด์ US Occupational Safety and Health Administration (OSHA) หน่วยงานที่ดูแลเรื่องอาชีวะอนามัยและความปลอดภัยของสหรัฐฯ ยอมรับว่าได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจริงในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา โฆษกของ OSHA กล่าวว่ากำลังสืบสวนหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้อยู่ ถ้าพบว่าผิดจริง บริษัทอาจเสียค่าปรับระหว่าง 7,000 ถึง 70,000 เหรียญ (230,000 – 2,300,000 บาท) แล้วแต่ความรุนแรงของข้อหา ก่อนหน้านี้ OSHA เคยสำรวจความเห็นของพนักงานในร้านฟาสต์ฟู้ดในอเมริกาจำนวน 1,426 คน และพบว่าในปีที่ผ่านมา เกือบร้อยละ 80 เคยได้รับบาดเจ็บจากบาดแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก และหนึ่งในสามของคนเหล่านี้ได้รับคำแนะนำจากหัวหน้างานให้ใช้ของใกล้ๆ มืออย่าง เนย มัสตาร์ด มายองเนส หรือซอสมะเขือเทศ ทาแผลบรรเทาปวด! แม็คโดนัลด์ อเมริกา(ซึ่งมีทั้งหมด 14,000 สาขา) บอกว่า บริษัทคำนึงถึงสภาพการทำงานที่ปลอดภัยสำหรับพนักงานเสมอมา แต่ก็พร้อมที่จะพิสูจน์ข้อกล่าวหาดังกล่าว   ทางเลือกที่น้อยลง? Greenpeace Energy ผู้ประกอบการพลังงานหมุนเวียนที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี เตรียมฟ้องร้องคณะกรรมการสหภาพยุโรป ที่อนุมัติให้ประเทศอังกฤษสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ได้ บริษัทดังกล่าวทำการศึกษาในรายละเอียดและพบว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการฯ ไม่ได้เป็นไปอย่างรอบคอบ ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อราคาพลังงานในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อราคาของพลังงานทางเลือกที่มีต้นทุนสูงกว่าเนื่องจากเป็นการรับซื้อพลังงานจากผู้ผลิตรายย่อยในราคาคงที่ ในขณะที่ไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ได้รับเงินสนับสนุนต้นทุนการผลิตจากรัฐ ในปี 2006 อังกฤษประกาศสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ฮิงค์ลี่ย์พ้อยนท์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ มูลค่าการลงทุนทั้งหมด 40,000 ล้านยูโร ตามแผนการลดการปล่อยคาร์บอน ตามกำหนดการเดิมเขาจะสร้างโรงไฟฟ้า 2 โรงให้เสร็จพร้อมใช้งานก่อนคริสต์มาสปี 2017 แต่เนื่องจากมีผู้คัดค้านจำนวนมาก แผนดังกล่าวจึงยังไม่ได้เริ่ม และในที่สุดรัฐบาลอังกฤษจึงลงขันช่วยเหลือผู้ประกอบการ 22,000 ล้านยูโร การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างบริษัทพลังงานด้วยกัน เพราะการคิดค่าไฟฟ้าไม่ได้คิดจากต้นทุนที่แท้จริงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั่นเอง รายงานดังกล่าวยังระบุว่า เยอรมันจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะปัจจุบันรัฐบาลเยอรมันเป็นผู้จ่ายส่วนต่างระหว่างราคาพลังงานในตลาดกับราคาพลังงานทางเลือก ที่มีต้นทุนการผลิตสูงกว่า แม้ว่าในเบื้องต้นรัฐบาลเยอรมันอาจจ่ายเพียง 17 ล้านยูโร จากกองทุนพลังงานทางเลือกมูลค่า 20,000 ล้านยูโร ของประเทศ แต่การตัดสินใจของคณะกรรมการฯ อาจทำให้ โปแลนด์ โรมาเนีย หรือลิทัวเนีย อาจเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วย และนั่นจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของตลาดพลังงานทางเลือกในเยอรมนีมากขึ้น ใครเอาเนยแข็งของฉันไป? อิตาลีเป็นต้นตำหรับพาเมซานชีส ที่ผู้คนทั่วโลกนิยมชมชอบ แต่เชื่อหรือไม่ว่าปีที่ผ่านมาอิตาลีผลิตชีสดังกล่าวได้เพียง 295,000 ตัน ในขณะที่อเมริกาผลิตออกมาได้มากกว่า 300,000 ตัน กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตพาเมซานชีสในอิตาลี นำโดย Coldiretti ออกมารวมตัวกันที่เมืองโบโลญญา เพื่อประท้วง “ชีสปลอม” เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดอุตสาหกรรมการผลิตชีส ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในแคว้นอิมีเลีย โรมัญญา เมื่อสามปีก่อน และปีที่แล้วราคาส่งก็ลดลงร้อยละ 20 จนเหลือเพียงกิโลกรัมละประมาณ 250 บาท   เอาเป็นว่าตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา มีหนึ่งในสี่ของเกษตรกรรายย่อยที่ผลิตชีสดังกล่าวเลิกกิจการไปแล้ว ความจริงแล้ว ชีส “Parmigiano Reggiano” และ “Grana Padano” ได้รับการคุ้มครองการตั้งชื่อจากแหล่งกำเนิดสินค้าจากสหภาพยุโรปอยู่แล้ว เช่น ถ้าจะเรียกตัวเองว่าเป็น Parmigiano Reggiano ของแท้ ต้นตำรับ ก็ต้องเป็นชีสที่ผลิตจากฟาร์มในเมืองพาร์มาหรือพื้นที่รอบๆ เท่านั้น แต่ตอนนี้เกษตรกรอิตาลีทำได้แค่ประท้วง เพราะจะไปเอาผิดกับบริษัทอเมริกันว่าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็คงไม่ได้ เพราะคุณพี่เขาทำชีสที่ว่าออกมาขายในชื่อภาษาอังกฤษว่า Parmesan Cheese ซึ่งไม่ได้อยู่ในการคุ้มครอง อันนี้ผู้บริโภคต้องเลือกแล้ว ... ถ้าคุณอยากกินของอร่อยจากอิตาลี ก็ต้องดูชื่อให้ดีนะจ๊ะ   จำกัดเนื้อ ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายโจโค วิโดโด ต้องการให้ประเทศของเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ทางอาหาร เขาจึงเริ่มจากการจำกัดการนำเข้าเนื้อวัวจากต่างประเทศ ปีที่แล้วอินโดนีเซียนำเข้าเนื้อวัวถึง 170,000 ตัน แต่ปีนี้ในไตรมาสแรก มีการนำเข้าเพียง 12,000 ตันเท่านั้น ผลกระทบต่อประชากร 240 ล้านคนคือราคาเนื้อวัวที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมกิโลกรัมละ 80,000 รูเปียอินโดนีเซีย (ประมาณ 200 บาท) ขึ้นเป็น 105,000 (ประมาณ 260 บาท) และอาจขึ้นไปอีกเมื่อราคาน้ำมันกลับมาเหมือนเดิม นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าราคาเนื้ออาจเพิ่มขึ้นเป็น 150,000 รูเปียอินโดนีเซีย (370 บาท) ในเดือนรอมฎอนด้วย รัฐบาลเริ่มการจำกัดการนำเข้า แต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมการส่งเสริมการทำฟาร์มวัวเนื้อในประเทศมากนัก และภาวะอาหารแพงนี้อาจนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อในที่สุด ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียเคยมีความพยายามเช่นนี้และประสบความล้มเหลวมาแล้ว นอกจากจะขาดแคลนเนื้อวัวเพื่อการบริโภคยังมีปัญหาการคอรัปชั่นของนักการเมืองด้วย(ร้อยละ 40 ของเนื้อวัวที่บริโภคในอินโดนีเซียถูกนำเข้าจากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่อันดับสามของโลก)   ความสุขของกิมจิ เด็กเกาหลีเครียดกับการเรียนไม่แพ้ชาติใดในโลก เรื่องนี้มีตัวเลขการสำรวจมายืนยัน สถาบันสุขภาพและสังคมของเกาหลีได้ทำการเปรียบเทียบความรู้สึกของเด็กในวัย 11,13 และ 15 ปี ในเกาหลีกับเด็กๆ ในประเทศอื่นๆ โดยใช้ข้อมูลของรัฐบาลเกาหลีในปี 2013 ประกอบกับรายงานของยูนิเซฟว่าด้วยการสำรวจความรู้สึกเป็นสุขของเด็กๆ ในประเทศที่ร่ำรวย 29 ประเทศที่ทำขึ้นในปี 2009 และ 2010 เมื่อให้เด็กๆ จัดอันดับความกดดันเรื่องการเรียนระหว่างเลข 0 ถึง 4 โดยคนที่เลือกหมายเลข 3 ขึ้นไป จะถือว่าเป็นกลุ่มที่เครียดมาก พบว่า เกาหลีมีเด็กถึงร้อยละ 50 ที่รู้สึกว่าตัวเองเครียดมาก ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของการสำรวจคือร้อยละ 33.3  และเด็กที่เครียดเรื่องเรียนน้อยที่สุดคือเด็กในประเทศเนเธอร์แลนด์(ร้อยละ 16.8) ในทางกลับกัน มีเพียงร้อยละ 18.5 ของเด็กๆ ที่เกาหลีเท่านั้นที่ตอบว่า ชอบชีวิตการไปโรงเรียน เป็นอันดับห้าจากล่างสุด รองจากสาธารณรัฐเช็ค ฟินแลนด์ อิตาลี และเอสโตเนีย ส่วนประเทศที่มีเด็กชอบการไปโรงเรียนมากที่สุดได้แก่ ไอร์แลนด์ (ร้อยละ 42.5) แล้วความสุข ความพึงพอใจในชีวิตน้อยๆ ของพวกเขาล่ะ? มีเพียงร้อยละ 60.3 ของเด็กเกาหลีเท่านั้นที่ตอบว่าพึงพอใจ ในขณะที่เด็กๆมากกว่าร้อยละ 80 ในประเทศอื่นๆ ตอบว่าพวกเขาพึงพอใจกับชีวิตของตัวเอง ยกเว้นโปแลนด์ (79.7) และโรมาเนีย (76.6) นักวิจัยของเกาหลีให้ข้อสรุปว่า เด็กๆ ของพวกเขามีสุขภาพกายดีเยี่ยม แต่สุขภาพจิตยังต้องปรับปรุงอีกมาก สืบเนื่องจากการเป็นสังคมที่เอาจริงเอาจังกับการประสบความสำเร็จทางการเรียนนั่นเอง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 153 กระแสต่างแดน

มาดริดอาจต้องคิดใหม่ ช่วงนี้ชาวเมืองมาดริดมีเรื่องให้ได้เซ็งกันอย่างต่อเนื่อง เพิ่งจะได้ทราบข่าวร้ายว่าไม่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2020 ไปได้ไม่นาน ล่าสุดพนักงานกวาดถนนและเก็บขยะในเมืองก็พากันประท้วงหยุดงานอีก ผู้ประท้วงไม่พอใจที่เทศบาลประกาศปลดพนักงานกว่า 1,135 คน (จากทั้งหมด 7,000 คน) และลดเงินเดือนพนักงานที่ยังได้ทำงานต่อลงไปเกือบร้อยละ 40  รวมถึงบริษัทที่รับเหมางานจากเทศบาลก็บอกเลิกจ้างคนงานไป 350 คนแล้วเช่นกัน ทั้งหมดเป็นผลจากการที่ส่วนหน่วยงานราชการต้องรัดเข็มขัดตัดงบประมาณ   หลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นการบริหารจัดการที่แย่มากของนายกเทศมนตรี อนา โบเทลลา เธอเลือกที่จะไม่พูดถึงการแก้ปัญหาเรื่องการจ้างงานหรือการเพิ่มค่าแรง แต่กลับขู่ผู้ประท้วงว่าถ้าไม่กลับไปจับไม้กวาดมาทำงานต่อภายใน 48 ชั่วโมง เธอจะเลิกจ้างพวกเขาไปเลย เนื่องจากไม่มีการกวาดถนนหรือเก็บขยะมาตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน ภาพเมืองหลวงของสเปนที่มีประชากร 3.2 ล้านคนที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลกจึงเป็นภาพเมืองที่มีขยะกองเกลื่อนเต็มถนนหนทาง คนมาดริดอาจเซ็งต่อได้อีกถ้าผู้ว่าฯ และทีมงานยังไม่เริ่มคิดใหม่ทำใหม่ ก่อนการประท้วง จำนวนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนมาดริดลดลงไปร้อยละ 7.7 ทั้งๆ ที่จำนวนคนที่เดินทางมาสเปนนั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 คงจะถึงเวลาแล้วที่มาดริดจะต้องทำให้เหมือนกับในคลิปวิดีโอที่ส่งเข้าประกวดชิงตำแหน่งเจ้าภาพโอลิมปิกที่ย้ำว่า “Madrid makes sense” ไม่เช่นนั้นมาดริดอาจจะถูกปฏิเสธเป็นครั้งที่ 4   มีขึ้น แต่ไม่มีลง ข่าวบอกว่าคอกาแฟที่เดนมาร์ก (และอาจจะที่บ้านเราด้วย) ยังจ่ายเงินซื้อกาแฟในราคาเท่าเดิมทั้งๆ ที่ราคาเมล็ดกาแฟต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ปัจจุบันราคาเมล็ดกาแฟอาราบิกาในตลาดโลกอยู่ที่กิโลกรัมละ 14 โครน (80 บาท) แต่ราคาที่คนเดนมาร์กรับรู้ยังคงเป็นราคากาแฟในช่วงที่อากาศในอเมริกาใต้ไม่เป็นใจกับการเพาะปลูก ซึ่งสูงถึง 34 โครน (195 บาท) ต่อกิโลกรัม ผู้เชี่ยวชาญบอกว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาในประเทศตะวันตกที่ผู้ประกอบการมักได้ประโยชน์จากการที่ผู้บริโภคไม่รู้ความเป็นไปในตลาด และมักให้เหตุผลเดิมๆ เรื่องค่าใช้จ่ายในการขนส่ง บรรจุหีบห่อ ภาษีและค่าจ้างพนักงานเวลาที่ตั้งราคาสินค้า แสดงว่าถ้าภาษีลด ราคาสินค้าก็จะลดลง? มันอาจไม่เป็นเช่นนั้นเพราะหลังจากที่รัฐบาลเดนมาร์กประกาศลดภาษีเบียร์และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ลงร้อยละ 15 ราคาขายปลีกของสินค้าเหล่านี้ก็ยังคงเท่าเดิม ในเดือนมีนาคมปี 2012 เทศบาลโคเปนเฮเกนประกาศลดค่าธรรมเนียมการประกอบการร้านอาหารกลางแจ้ง เพื่อช่วยผู้บริโภคให้สามารถซื้อเครื่องดื่มในราคาที่ถูกลง แต่ผลการสำรวจปรากฏว่าแทบไม่มีร้านไหนปรับราคาเครื่องดื่มลงเลย ในทางกลับกัน ผู้ประกอบการกลับใช้โอกาสที่รัฐเรียกเก็บภาษีมาเป็นเหตุผลในการขึ้นราคาสินค้า คงยังจำกรณีภาษีไขมันที่เรียกเก็บจากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวเป็นส่วนประกอบมากกว่าร้อยละ 2.3 กันได้ งานสำรวจโดยหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและกระทรวงภาษีของเดนมาร์กพบว่ามีการตั้งราคาสินค้าเกินจากส่วนที่ต้องเสียภาษีไขมันเพิ่มไปมากทีเดียว เช่น ราคาซาวครีมน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.6 เมื่อรวมภาษีแล้ว แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตตั้งราคาขายแพงขึ้นจากเดิมไปถึงร้อยละ 17.3 และที่ตลกที่สุดคือ ปัจจุบันภาษีดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ราคาสินค้าเหล่านั้นก็ยังไม่ถูกลง ค่อยๆ เรียน ไม่ได้มีแต่เมืองไทยที่ปรับลดเวลาเรียนลง หลักสูตรประถมศึกษาของเวียดนามหลังปี 2015 ก็จะทำให้เด็กๆ ได้มีเวลาเล่นมากขึ้น ระยะเวลาเรียนจะลดลงจาก 37 สัปดาห์เป็น 35 สัปดาห์ และวิชาเรียนจะมีเพียง 3 วิชาเท่านั้น จากปัจจุบันที่เรียนอยู่ 8 วิชา สถาบันวิจัยการศึกษาเวียดนามเสนอหลักสูตรใหม่สำหรับระดับประถมศึกษาเพราะเชื่อว่าเวียดนามควรมีระบบการศึกษาที่เน้นการบูรณาการและให้ความสนใจกับความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน มากกว่าการให้เพียงความรู้ทางวิชาการแบบเมื่อก่อน ปัจจุบันเด็กชั้นประถมปีที่ 1 ต้องเรียนทั้งหมด 8 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ ภาษาเวียดนาม ศีลธรรม ธรรมชาติและสังคม ดนตรี ศิลปะ งานฝีมือ และพลศึกษา รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาอีก 2 กิจกรรม แต่หลังจากปี 2015 พวกเขาจะเรียนแค่ คณิตศาสตร์ ภาษาเวียดนาม และวิชา “ชีวิตรอบตัวเรา” ซึ่งคาดว่าจะเป็นวิชาที่บูรณาการความรู้ในเรื่องธรรมชาติและสังคม รวมกับกิจกรรมเสริมหลักสูตรอย่าง ศิลปะและกีฬา เป็นต้น เด็กๆจะได้เรียนภาษาต่างประเทศเมื่อพวกเขาขึ้นชั้นประถมปีที่ 3  ส่วนนักเรียนชั้นประถมปีที่ 4 – 5 นั้นจะมีวิชาเรียนไม่เกิน 6 วิชา แต่ปัญหาหลักของเวียดนามขณะนี้คือการไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่รวบรวม/จัดทำตำราเรียน หนังสือที่ใช้กันอยู่เป็นตำราที่เขียนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือครูผู้สอน ซึ่งแม้จะมีความรู้ความชำนาญในสาขาต่างๆ แต่ก็ยังไม่เชี่ยวชาญการเขียนตำราเรียน เห็นมากับตา โฆษณามาสคาร่ามักจัดเกินเสมอเพราะรู้ว่าขนตาหนางอนงามในสามโลกเป็นสิ่งที่สาวๆ ปรารถนา และนั่นคือสิ่งที่เมย์เบลลีนใช้กับโฆษณามาสคาร่ารุ่น Volume Express the Rocket ในนิตยสารแฟชั่น ที่นางแบบมีขนตาหนาสุดๆ ด้วยมาสคาร่า ... และขนตาปลอม หลังจากที่มีการร้องเรียน หน่วยงานที่ดูแลเรื่องโฆษณาของออสเตรเลีย National Advertising Division ได้ออกข้อกำหนดว่าต่อไปนี้ห้ามใช้ขนตาปลอมในโฆษณามาสคาราเด็ดขาด หรือถ้าจะใช้ก็ต้องแจ้งในตัวโฆษณาให้ผู้บริโภคมองเห็นได้ชัดเจน โฆษณาดังกล่าวที่อ้างว่าผลิตภัณฑ์สามารถทำให้ขนตาหนาขึ้น 8 เท่านั้น มีตัวหนังสือเล็กๆ ระบุไว้ด้านล่างว่านางแบบใช้ขนตาปลอม แต่คำตัดสินฟันธงว่าการมีข้อความที่ขัดต่อหรือเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสิ่งที่ต้องการสื่อในโฆษณานั้น ไม่สามารถแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้บริโภคได้ เมย์เบลลีนกำลังอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบโฆษณาแห่งชาติ National Advertising Review Board ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบการควบคุมกันเองโดยความสมัครใจของภาคธุรกิจ ผู้ใหญ่ของบริษัทลอรีอัลซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์เมย์เบลลีน ยืนยันว่าเขียนตัวเล็กๆ ก็พอแล้ว สาวๆ เขารู้ดีว่าผลจากการใช้ผลิตภัณฑ์มันแตกต่างกันตามรูปลักษณ์และเทคนิคการแต่งหน้าของแต่ละคน พวกเธอไม่ได้คาดหวังว่าจะตัวเองจะมีขนตาเหมือนนางแบบหรอก ด้านเลขาธิการขององค์กร Truth in Advertising องค์กรไม่แสวงหากำไรที่รณรงค์คัดค้านการโฆษณาหลอกลวง ตั้งคำถามว่า “ถ้าคุณจะขายของผ่านโฆษณาที่เป็นภาพถ่าย อย่างน้อยๆ ภาพถ่ายนั้นก็ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงมิใช่หรือ?” ใครเอาเนยแข็งของร้านไป? การขโมยของในห้างที่อังกฤษเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 จากเมื่อสองปีก่อน ร้อยละ 36 ของการขาดทุนของร้านค้าปลีกในอังกฤษก็เกิดจากการถูกมือดีมาขโมยของในร้านนั่นเอง ข่าวบอกว่าอาจเป็นเพราะความกดดันที่เกิดขึ้นกับภาวะการเงินครอบครัวในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ มีข้อสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ผู้กระทำผิดมักเป็นคนรายได้น้อย แต่เดี๋ยวนี้คนชั้นกลางจำนวนหนึ่งก็หันมาลักขโมยกับเขาด้วยเพราะยังอยากมีวิถีชีวิตแบบเดิมแม้รายได้จะลดลง ร้านค้าปลีกและซูเปอร์มาร์เก็ตพบว่าปัจจุบันสินค้าที่ถูกขโมยมากขึ้นคือ อาหารราคาแพง เช่น เนื้อสด แฮม เบคอน อกไก่ เนยแข็ง กาแฟ ไวน์ และว้อดกา ถ้ารวมมูลค่าความเสียหายแล้วก็ตกประมาณ 3,400 ล้านปอนด์ (1.7 แสนล้านบาท) นอกจากนี้ Euromonitor International ยังระบุว่าหนึ่งในสามของการลักขโมยสินค้าในร้าน เกิดจากพนักงานของทางร้านเอง ความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะในอังกฤษเท่านั้น ข้อมูลจาก Global Retail Theft Barometer ระบุว่าการขโมยสินค้าในห้าง ทั้งโดยคนทั่วไปและโดยขบวนการต่างๆ นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกแห่งในโลก พูดง่ายๆ คือมีคนลงมือขโมยกันมากขึ้น และแต่ละครั้งที่ขโมยก็จะขโมยในปริมาณมากขึ้นด้วย ทางออกของห้างร้านเหล่านี้ก็คงจะหนีไม่พ้นการลงทุนกับระบบรักษาความปลอดภัยให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งนั่นหมายความว่าราคาสินค้าก็คงจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กลุ้มกันไปทุกฝ่าย เพราะดูเหมือนว่าสาเหตุที่เนยแข็งหายไปนั้น เป็นเพราะรายได้ที่หายไปนั่นเอง   //

อ่านเพิ่มเติม >