ฉบับที่ 277 ‘ร่างผังเมืองกรุงเทพ’ รัฐธรรมนูญท้องถิ่นที่ไม่มีประชาชนอยู่ในนั้น

        “การที่ผังเมือง คือ ธรรมนูญท้องถิ่นนี้ ผังเมืองจึงไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์วิจารณ์ไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของความเป็นมืออาชีพของผู้จัดทำ แต่ความเป็นมืออาชีพของการจัดทำเป็นเรื่องของการตอบคำถามได้ไหมว่าประชาชนอยู่ตรงไหนของโครงสร้างอำนาจในการกำหนดทิศทางและควบคุมการพัฒนาเมือง”         พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เขียนอธิบายเรื่องผังเมือง ผังเมืองกรุงเทพฯ (1) โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ไว้ในเว็บไซต์มติชนได้น่าสนใจและเป็นคำถามสำคัญว่า ‘ประชาชนอยู่ตรงไหนของโครงสร้างอำนาจในการกำหนดทิศทางและควบคุมการพัฒนาเมือง’         ผังเมืองกรุงเทพฯ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นผังเมืองที่ทำมาตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งโดยปกติแล้วควรมีการปรับปรุงทุกๆ 5 ปี แต่กลับล่วงเลยมา 10 กว่าปี การปรับปรุงผังเมืองกรุงเทพรอบนี้มี 2 คำถามใหญ่ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเห็นพ้องกัน นั่นก็คือการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและผังเมืองใหม่ดังกล่าวกำลังเอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนหรือไม่ เมื่อคนกรุงฯ ไม่มีสิทธิในผังเมืองของตนเอง         “ถูกเวนคืนบ้านเพื่อไปสร้างถนน 6 เลน 1,400 หลังคาเรือนกับโครงการสร้างถนนลอยฟ้าแค่ 20 กิโลเมตร ถัดมาปัจจุบันเรามีถนนวงแหวนรอบนอกกาญจนาภิเษก มีถนนราชพฤกษ์ มีถนนกัลปพฤกษ์ คนฝั่งธนฯ ไม่ได้ข้ามไปฝั่งธน คนฝั่งธนฯ ข้ามไปฝั่งพระนคร เรามีสถานีรถไฟฟ้าประมาณ 3 สาย ถ้าท่านยังอ้างว่ารถติดอยู่ แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหนคะ คำนึงถึงประชาชนบ้างมั้ย ทางขึ้น ทางลง บริเวณเอกชัยโดนหน้ากว้างทั้งหมด 250 เมตร ประมาณ 10 หลังคาเรือนที่โดนแค่หน้ากว้างแล้วก็โดนตลอดทั้งซอย อีกกี่ชีวิตคะ แล้วทำไมไม่ฟังเสียงการขยายถนนท้องถิ่นที่มีอยู่” คำบอกเล่าของ ดาลิน สิริสุวรรณกิจ ผู้ได้รับผลกระทบจากร่างผังเมือง         เธอยังกล่าวอีกว่าถนนท้องถิ่นที่ใช้เชื่อมต่อกับเส้นหลักเพื่อความคล่องตัวในการเดินทางกลับไม่ถูกสร้าง แต่กลับจะสร้างถนนลอยฟ้าที่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์ ซ้ำยังถูกไล่ที่โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ.2566 โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ         อีกฝากหนึ่งของเมืองกรุง ภูวนันท์ ภูวนัตตรัย ตัวแทนชุมชนซอยสุขุมวิท 53 ซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการอาคารสูงที่จะมาสร้างในซอยแคบไม่เกิน 10 เมตร ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่าในซอยที่กว้างไม่เกิน 10 เมตรสามารถสร้างอาคารได้ไม่เกิน 8 ชั้น หากจะสร้างสูงกว่านั้นถนนต้องมีความกว้าง 10 เมตรขึ้นไป และถ้าจะสร้างอาคารใหญ่ที่สูงเป็นพิเศษถนนต้องเกิน 18 เมตร แต่ปัจจุบันกลับมีความพยายามเลี่ยงกฎหมาย เขากล่าวต่อว่า         “แล้วการที่จะประกาศแก้ผังเมืองตรงนี้มีสิ่งที่ผมห่วงกังวลเป็นพิเศษเพราะมีแผนที่จะขยายถนนหลายสายเพิ่มความกว้างจากเดิมให้กลายเป็น 12 เมตร 18 เมตร เป็นความกังวลที่ผมขออนุญาตไม่ไว้วางใจ ท่านนายกฯ ปัจจุบันก็มาจากบริษัทอสังหาฯ ท่านผู้ว่าฯ ก็เคยอยู่บริษัทอสังหาฯ ที่ปรึกษากรุงเทพมหานครก็อยู่บริษัทอสังหาฯ เพราะมีความเป็นไปได้ที่ความพยายามที่จะขยายถนนเหล่านี้อาจจะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และเมื่อสร้างก็จะสร้างผลกระทบมากกับประชาชนทั่วทั้งกรุงเทพ”         นอกจากนี้ ประเด็น FAR (Floor Area Ratio) BONUS หรือมาตรการสร้างแรงจูงใจแก่ภาคเอกชนในการพัฒนาเมืองด้วยการทำโครงการให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกำหนด โดยประชาชนได้รับประโยชน์แลกกับสิทธิประโยชน์ในการก่อสร้างพื้นที่อาคารเพิ่มเติมตามที่กฎหมายกำหนด ภูวนันท์ยังกล่าวว่าไม่ไว้ใจและไม่เชื่อว่านักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะทำจริง เนื่องจากที่ผ่านมามีกรณีจำนวนมากตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่เกิดการทำผิดกฎหมาย แต่ผู้บังคับกฎหมายทั้งกรุงเทพมหานครและหน่วยงานอื่นๆ ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดได้ เช่น กรณีโรงแรมเอทัส ซอยร่วมฤดี ที่สร้างในซอยแคบ หรือหลายโครงการในซอยทองหล่อที่ไม่สร้างถนนรอบโครงการสำหรับรถดับเพลิงแต่ใช้ประโยชน์เป็นที่ส่วนตัวก็ไม่มีการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายทั้งที่ศาลสั่งตัดสินเกิน 10 ปีแล้ว ผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้ผ่านการศึกษาอย่างรอบด้าน         ปัญหาสำคัญของร่างผังเมืองกรุงเทพคือไม่มีการมีส่วนร่วมของประชาชนมาตั้งแต่ต้น แต่มีการร่างผังขึ้นก่อนแล้วจึงเปิดรับฟังความเห็นประชาชนว่าจะรับหรือไม่รับร่างผังเมืองฉบับนี้ คนกรุงเทพฯ ทั้งที่มีที่อยู่ในกรุงเทพฯ และเป็นประชากรแฝงที่เข้ามาทำงานจึงเหมือนถูกมัดมือชก วีระพันธ์ จีนะวัฒน์ สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า         “ร่างผังเมืองที่ทำออกมาก่อน พ.ร.บ.ปี 2562 ชอบหรือไม่ ไม่ได้ผ่านกระบวนการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านและผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วจะใช้เป็นฐานในการทำกระบวนการต่อได้อย่างไร ทำไม่ออกแบบผังเมืองเพื่อประชาชน เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง คุณภาพชีวิตของประชาชนอยู่ตรงไหน จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดความหนาแน่นได้อย่างไร”        วีระพันธ์ยังชี้ให้เห็นจุดอ่อนต่างๆ ของร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ที่ขาดการมีส่วนร่วมนี้อีกหลายจุด เช่น ไม่ควรให้ผู้พัฒนาเลือกใช้พื้นที่ได้อย่างอิสระในทุกพื้นที่เพราะพื้นที่แต่ละพื้นที่มีปัญหาไม่เหมือนกัน, ต้องมีการระบุโซนพื้นที่ที่จะให้ FAR Bonus ที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละพื้นที่และควรเพิ่มมาตรการ FAR Bonus ส่งเสริมและอุดหนุนด้านการเกษตรในพื้นที่ที่ต้องการรักษาพื้นที่สีเขียวทั้งสองด้านของผังเมืองกรุงเทพ หรือแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เขาไม่เห็นด้วยเพราะไม่มีมาตรการสนับสนุนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเอื้อต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาพรวม โดยเฉพาะในระยะเวลา 5-7 ปีจากนี้ไป เพราะหากดำเนินการตามร่างที่กำหนดมาจะเร่งให้เกิดความหนาแน่นของเมืองเพื่อสนับสนุนการพัฒนามากกว่าสนับสนุนพื้นที่เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นต้น         “ต้องมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน” วีระพันธ์กล่าวสรุป “มีมาตรการสนับสนุนให้เกิดคุณภาพชีวิต มีพื้นที่สีเขียวเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างเพียงพอ มีพื้นที่ย่านชุมชนท้องถิ่นเพื่อรักษาเอกลักษณ์ของย่าน มีพื้นที่ในการรักษาสิทธิธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นให้พอเหมาะกับสิทธิการพัฒนา มีระบบสาธารณูปโภคอย่างเพียงพอ มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยกระจายอยู่ในพื้นที่เมือง ต้องทำผังเฉพาะให้เสร็จสิ้นหลังทำผังเมืองรวมแล้ว” ร่างผังเมือที่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะกับคนที่ไม่มีอำนาจ         ด้านพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอข้อคิดที่สำคัญในการทำผังเมืองซึ่งดูจะเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจในการร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้คำนึงถึง เขากล่าวว่าผังเมืองเปรียบได้กับรัฐธรรมนูญฉบับท้องถิ่นซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าใครมีอำนาจในเมือง ขณะที่ผังเมืองเป็นสิ่งที่ต้องคุ้มครองประชาชนได้ซึ่งผังเมืองที่มองเห็นแต่สีต่างๆ ปะปนกันไม่สามารถบอกได้เลยว่าจะคุ้มครองหรือจะให้อำนาจประชาชนได้อย่างไร         โดยหลักการแล้วผังเมืองต้องทำหน้าที่ 2 ประการคือกำหนดทิศทางการพัฒนาและควบคุมการพัฒนาซึ่งร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ไม่มี และเมื่อผังเมืองคือรัฐธรรมนูญท้องถิ่นก็ย่อมต้องทำให้ประชาชนทุกคนอ่านเข้าใจ สามคือผังเมืองต้องมีความศักดิ์สิทธิ์บางประการ พิชญ์ลงรายละเอียดว่าร่างผังกรุงเทพฯ ที่เป็นอยู่ศักดิ์สิทธิ์เฉพาะกับคนที่ไม่มีอำนาจ ขณะที่คนมีอำนาจเมื่ออ่านผังนี้จะรู้ทันทีว่าตนจะแสวงหาประโยชน์อย่างไร         “บ้านผมอยู่ดีๆ ก็มีใบมาบอกว่าจะมีคอนโดมาสร้าง จะสร้างได้ยังไงในซอยที่มีถนนอยู่แค่สี่เลน แต่จะสร้างคอนโด 30 ชั้น ประเด็นคือเราจะมีสิทธิเมื่อมันมากระทบเราและนี่คือหัวใจของผังเมืองไทย ทุกอย่างจะขึ้นกับคำว่าเจ้าของที่ดิน ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าของที่ดินคุณไม่มีสิทธิอะไรเลยในเมืองแห่งนี้ซึ่งมันมีปัญหาอยู่ การไม่มีสิทธิอะไรเลยไม่ใช่เพราะเราไม่มีประโยชน์ต่อเมืองนี้ เมืองนี้มันโตได้ด้วยการที่ไม่ให้สิทธิ์เรา โดยการเอาประโยชน์จากเรา คนจำนวนมากในเมืองนี้ไม่ใช่คนที่อยู่ในกรุงเทพแต่ได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าเขาอยู่เขาไม่มีโฉนดที่ดิน ไม่มีความเป็นเจ้าของที่ดิน แต่เขามีสิทธิที่จะอยู่ในเมืองนี้ได้เพราะเขาทำประโยชน์ให้เมือง เขาขายของก็ทำให้ต้นทุนในเมืองถูกลง ประชากรแฝงไม่ใช่คนที่ซื้อของในเมืองนี้และจ่ายภาษีบริโภคซึ่งเป็นแกนของภาษีเมืองหรือครับ อันนี้คือพื้นที่ที่คุณจะเคลมได้ว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะอยู่ในเมืองนี้”         พิชญ์ยังตั้งคำถามอีกว่าร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ฉบับนี้สามารถควบคุมและกำหนดทิศทางการพัฒนาได้จริงหรือไม่และอะไรคือศูนย์กลางหรือมูลค่าที่ดินหรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ถ้ามองในแง่มูลค่าที่ดินจะพบว่าผังเมืองใหม่จะเพิ่มมูลค่าที่ดินเพราะมันเพิ่มและอนุญาตให้มีการพัฒนาที่ดินในบริเวณตึกสูงได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีการกำหนดพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น ไม่มีการกำหนดสิทธิของประชาชนที่จะมีโอกาสอยู่ในเมืองมากขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือถ้าเพิ่มพื้นที่ที่มีความหนาแน่เพิ่มขึ้น คนที่เคยเช่าก็ต้องออกหรือต้องไปแอบซุกอยู่ตามที่ต่างๆ         พิชญ์กล่าวย้ำอีกครั้งว่าผังเมืองคือรัฐธรรมนูญท้องถิ่นที่กำหนดความสัมพันธ์ของประชาชนทุกคน ประชาชนจึงต้องเป็นจุดตั้งต้นว่าอยากได้เมืองแบบไหน ต้องพูดคุยกันก่อน แล้วคนที่เขียนผังต้องเขียนตามความต้องการของประชาชน ไม่ใช่เขียนเสร็จแล้วให้ประชาชนบอกว่าเอาหรือไม่เอา         “เพราะฉะนั้นหัวใจสำคัญตอนนี้คือต้องยุติการปรับปรุงผังเมืองกรุงเทพฯ แล้วเขียนใหม่บนหลักคิดที่ว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตร่วมกัน” ประชาชนต้องจับปากกาและขีดผังเมืองเอง         ด้านอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ซึ่งกล่าวในนามภาคประชาชนก็คิดไม่ต่างจากคนอื่นๆ ที่เห็นว่า การจัดทำร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่กลับรับฟังธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาอย่างกรณีการขยายซอยเล็กให้ใหญ่ขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างคอนโดมีเนียมขนาดใหญ่          “ส่วนเรื่องที่มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว อย่างเช่นบึงรับน้ำคู้บอนในโซนเขตคันนายาว อันนี้ใช้งบประมาณแผ่นดินเลยในการเข้าไปรับฟังความคิดเห็น พี่น้องประชาชนโหวตว่าอยากได้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่รับน้ำจำนวน 130 ไร่ รับน้ำได้ 870,000 ลูกบาศก์เมตร ปรากฏว่าบึงรับน้ำคู้บอนไม่อยู่ในผังเมือง แล้วตอนนี้กลายเป็นบ้านจัดสรรที่ถูกจัดสรรไปแล้ว กำลังจะเตรียมการก่อสร้าง”         อรรถวิชช์เห็นว่าภาคประชาชนจะต้องมีสิทธิ์จับปากกาและขีดสีเมืองกรุงเทพมหานคร เขายกตัวอย่างว่าเขตพื้นที่อนุรักษ์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีเพียง 2 ประเภทคือเขียวลายสำหรับอนุรักษ์ชนบทและเกษตรและสีน้ำตาลอ่อนสำหรับการอนุรักษ์เพื่อศิลปวัฒนธรรม จะสังเกตเห็นว่าไม่มีสีที่ขีดขึ้นเพื่ออนุรักษ์พื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยของเขตเมือง สิ่งนี้ทำให้เห็นการเติบโตของเมืองที่พิสดารอย่างการขยายถนนเพื่อสร้างบ้านหรือคอนโดมีเนียมได้         จากกระแสและการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ทำให้คณะกรรมาธิการของรัฐสภาได้เชิญผู้ว่าราชาการกรุงเทพมหานครไปสอบถามเรื่องนี้ทำให้การประกาศร่างผังเมืองกรุงเทพฯ ถูกเลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 30 สิงหาคม โดยทางผู้ว่าฯ ระบุว่าระหว่างนี้จะให้ทุกเขตเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมในเขตของตนเอง         ในส่วนของภาคประชาชน นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายกำลังเดินหน้าให้ข้อมูลและความรู้แก่ประชาชน รวมถึงการทำงานความคิดผ่านกับเครือข่ายผู้บริโภคและร่วมสังเกตการณ์ว่าแต่ละเขตมีการรับฟังความคิดเห็นหรือไม่ ถ้ามี มีการให้ข้อมูลเพียงพอหรือเปล่า ซึ่ง ณ ตอนนี้เท่าที่ทราบยังไม่มีเขตใดเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 277 กระแสต่างแดน

เมืองอยู่ยาก        นายกเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์ยอมรับว่าเมืองของเขาได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวแบบไร้การควบคุม         ขณะนี้อัตราค่าเช่าบ้านในเมืองดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 84 ของเงินเดือน เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่าระหว่างปี 2016 – 2023 ค่าเช่าบ้านในเมืองฟลอเรนซ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 ในขณะที่จำนวนที่พักในแอป Airbnb ก็เพิ่มจาก 6,000 เป็น 15,000 ห้อง/หลัง         ล่าสุดเรื่องนี้ส่งผลกระทบให้บรรดาช่างฝีมือจำนวนมากถูก “ไล่ที่” ออกจากบริเวณทำเลทอง เพราะเจ้าของพื้นที่ต้องการเปลี่ยนจาก “โรงงาน” เป็นโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว         รัฐบาลอิตาลีได้ร่างระเบียบห้ามเปิดที่พักเพิ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถประกาศใช้เพราะเสียงค้านจากผู้ที่จะได้ประโยชน์ ในขณะที่แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองก็ยังไม่เป็นมรรคผล เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีเวลาไม่เกินสามวัน จึงต้องการไปเยี่ยมชมเฉพาะสถานที่ยอดนิยมเท่านั้น  เยียวยาจิตใจ         คณะกรรมการแก้ไขข้อพิพาทผู้บริโภคแห่งเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย มีคำสั่งให้ Flipkart แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของอินเดีย จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้บริโภค 10,000 รูปี (4,400 บาท) ฐานบกพร่องในการให้บริการและทำธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม         เดือนกรกฎาคม ปี 2022 ผู้บริโภคสั่งซื้อไอโฟนจากร้านค้าแห่งหนึ่งบนแพลตฟอร์มดังกล่าว และชำระเงินด้วยบัตรเครดิตในราคา 39,628 รูปี (17,300 บาท) หกวันต่อมาเขาได้รับข้อความสั้นจาก Flipkart ว่าคำสั่งซื้อถูกยกเลิก เนื่องจากผู้ให้บริการขนส่งติดต่อผู้รับไม่ได้         เมื่อติดต่อไปยังแพลตฟอร์มก็ได้รับคำอธิบายว่าบริษัทจะคืนเงินให้เต็มจำนวนและขอให้เขาทำการสั่งซื้อเข้ามาใหม่ แต่คราวนี้ไอโฟนรุ่นที่เขาอยากได้มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม 7,000 รูปี         คณะกรรมการฯ มองว่าบริษัทจงใจหากำไรเพิ่มด้วยการยกเลิกออเดอร์ของลูกค้า และสร้างความทุกข์ทรมานทางจิตใจให้กับผู้บริโภคด้วยการยกเลิกโดยไม่ถามความยินยอมของเขาก่อน  ต้องจ้างเด็ก         เยอรมนีกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ผู้ประกอบการขนส่งออกมาเตือนว่าอาจต้องลดจำนวนรถที่ให้บริการลงเพราะหาคนทำงานไม่ได้ หลายรายบอกว่าตำแหน่งที่ประกาศรับยังเหลือว่างถึงร้อยละ 30         เมื่อไม่มีพนักงานเพิ่ม คนที่ทำงานอยู่ก็หยุดงานประท้วงบ่อยเพราะต้องแบกภาระหนักเกินไป         บริษัทขนส่งมวลชน VAG ของเทศบาลเมืองนูเร็มเบิร์ก (ซึ่งต้องการพนักงานขับรถสาธารณะอย่างรถไฟ รถรางและรถเมล์ รวมกันปีละ 160 อัตรา) จึงใช้วิธีติดประกาศจ้างงานตามมหาวิทยาลัย ชักชวนให้นักศึกษาใช้เวลาว่างเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ขับรถราง สัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง        คุณสมบัติได้แก่เป็นผู้มีใบขับขี่ อายุเกิน 21 ปี มีความรับผิดชอบ รักงานขับรถ และทำงานเป็นกะได้ ผู้ผ่านการคัดเลือกก็จะได้รับการอบรมภาคทฤษฎี ฝึกปฏิบัติกับเครื่องจำลองการขับ จากนั้นจึงฝึกกับรถรางจริง เนื่องจากอยู่ในภาวะเร่งด่วน การฝึกจึงใช้เวลาน้อยกว่าปกติเท่าตัว ขอก่อนรื้อ         กระทรวงแรงงานเดนมาร์กประกาศห้ามการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินโดยไม่ได้รับอนุญาต และกำหนดโทษปรับไว้ไม่ต่ำกว่า 30,000 โครน (ประมาณ 160,000 บาท)         รายงานข่าวระบุว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะสามารถเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมปีนี้ โดยมีระยะเวลาผ่อนผัน 6 เดือน         พูดง่ายๆ คือ “เจ้าของบ้าน” จะรื้อถอนเองไม่ได้ เพราะการรื้อถอนต้องดำเนินการโดยบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น บริษัทเหล่านี้จะมีระบบควบคุมคุณภาพ และมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมมาสำหรับการนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นแร่ใยหินซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ        แร่ใยหินถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเดนมาร์กมา 35 ปีแล้ว แต่ปัญหานี้ยังไม่หมดไปเนื่องจากยังมีการใช้ในงานก่อสร้างต่อเติมอาคาร และยังมีอาคารจำนวนไม่น้อยที่สร้างก่อนปี 1989 (พ.ศ. 2532) ส่วนกรณีของประเทศไทย เรายังไม่อยู่ในกลุ่ม 56 ประเทศที่ประกาศแบนแร่ใยหินแล้ว รีบใช้เงิน         คนเกาหลีไต้มีแนวโน้มจะขอรับเงินเกษียณก่อนกำหนดกันมากขึ้น เพราะต้องการเงินไว้ใช้ในวันที่ค่าครองชีพแพงเหลือใจ         ข้อมูลทางการระบุว่าปีที่แล้วมีคนเกษียณก่อนกำหนด 849,744 คน นับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งเป็นปีแรกที่อนุญาตให้มี “early retirement” และคาดว่าปี 2024 นี้จะมีถึง 960,000 คน        ก่อนหน้านี้รัฐบาลเกาหลีได้ประกาศขยับอายุเกษียณจาก 62 เป็น 63 ปี เพื่อให้มีเงินเหลืออยู่ในระบบนานขึ้น แต่คนจำนวนมากไม่อยากรอจนตัวเองอายุ 63 พวกเขารู้สึกอุ่นใจกว่าถ้าได้ถือเงินก้อนไว้เลย หลายคนก็ต้องการเงินมาลดความฝืดเคืองในชีวิตประจำวัน         การขอรับเงินก่อนเวลาเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้รับจะถูกหักเงินบางส่วน เช่นถ้ารับก่อนกำหนดหนึ่งปี จะถูกหักร้อยละ 6 หรือถ้าขอรับก่อนเวลาห้าปีจะถูกหักร้อยละ 30 เป็นต้น          สหภาพแรงงานเกาหลีกำลังผลักดันให้การขยายเวลาการจ้างงาน เพื่อให้โอกาสผู้สูงอายุมีรายได้เพิ่มก่อนจะต้องออกไปหางานใหม่ เพราะเงินที่ได้จากการเกษียณมันน้อยเกินไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 276 ผังเมืองกรุงเทพต้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

        ช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา หลายปัญหาได้วิกฤตขึ้นในกรุงเทพมหานคร ทั้งปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ลุกลามมาถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด และปัญหาฝุ่น PM 2.5  ทั้งหมดนี้ ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร         ปัจจุบัน เมื่อกรุงเทพมหานคร ได้กำลังจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ภาคประชาสังคมในวันนี้ได้ตื่นตัว ให้ความสนใจเพราะอยากให้ผังเมืองฉบับใหม่เอื้อให้คนกรุงเทพมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เกิดขึ้นจริงๆ  ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในผู้ที่ ติดตามการพัฒนาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่เริ่มจัดทำตั้งแต่ในปี 2562 ปฐมพงศ์สนใจและเข้ามาเกี่ยวข้อง เคลื่อนไหวด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ช่วงปี 2540 ที่เขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการอยู่อาศัยในคอนโดโดยตรง การทำงานที่ผ่านมาจากในบทบาทผู้อยู่อาศัยคนเล็กๆ ในเมืองใหญ่ สู่การเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการสร้างอาคารสูงในซอยแคบที่ส่งผลเดือดร้อนต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม วันนี้เขายืนยันว่ายังคงต้องคัดค้านผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ฉบับนี้ หากยังไม่มีการเริ่มต้นจัดทำใหม่ด้วยการเปิดรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง   ขอเริ่มคำถามง่ายๆ ก่อนว่า ผังเมือง คืออะไร เพราะหลายคนอาจยังไม่ทราบ และจะได้เข้าใจว่า กฎหมายผังเมืองจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองอย่างไร         ถ้าพูดให้เห็นภาพว่า ผังเมืองคืออะไรให้ลองนึกถึงว่า สมมุตว่าเรามีบ้านหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้เราก็จะผังบ้านของเราว่ากว้างยาวเท่าไหร่ มีคอกสัตว์ แปลงผัก ไปจนถึงขอบเขตรั้วบ้านอยู่ตรงไหน แผนผังนี้คือกระดาษที่เหมือนเวลาเรามองลงมาจากที่สูง จะบอกทุกอย่างว่ามีอะไรบ้างซึ่งตรงนี้แค่บ้านหลังหนึ่ง พอใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้าน ตำบลย่อมต้องมีแผนที่แบบนี้แน่นอน ที่สำนักงานเขตเขาก็จะมีแผนที่ แผนที่ทุกคนคงจะนึกออก แต่ผังเมือง  จะมีรายละเอียดข้างในด้วยที่กำหนดให้อะไรอยู่ตรงไหน ศูนย์การค้าอยู่ตรงนี้ ที่อยู่อาศัยอยู่ตรงนี้ ผังเมืองคือแผนที่อันหนึ่งที่จะบอกว่าในเมืองๆ นั้นมีอะไรบ้าง           แต่นอกจากผังเมืองจะบอกว่า อะไรอยู่ตรงไหนแล้ว ผังเมืองยังมีข้อกำกับลงไปด้วยว่า ไม่ให้มีอะไร หรือ ห้ามสร้าง ห้ามปลูกอะไร ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอาจมาจากตรงนี้คือห้ามสร้าง เมื่อมาสร้างจึงผิดกฎหมาย         กฎหมายผังเมืองจึงเป็นกฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชนด้วยเช่นกัน หากเป็นบ้านเราเองจะปลูกต้นไม้ ดอกไม้ หรือจะตั้งถังขยะตรงไหน ย่อมทำได้ แต่พอเป็นเมืองแล้ว ผังเมืองจะกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนที่อยู่อาศัยในเมือง จึงกำหนดข้อห้ามสำคัญเช่นพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ห้ามสร้างตึกสูงใดๆ  ตรงนี้ห้ามสร้างตึกสูงเกินเท่าไหร่ ในแต่ละจังหวัดตอนนี้มีผังเมืองจังหวัด  ผังเมืองกรุงเทพ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง           ผังมืองรวมกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา เรามีมาแล้วทั้งสิ้น 4 ฉบับ ทั้ง 4 ฉบับเป็นไปตามพระราชบัญญัติผังเมืองปี 2518  ครั้งนี้เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 4 หากมีการประกาศใช้จะเป็นฉบับที่ 5  ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 เริ่มมีปัญหาจากจุดไหน         ต้องบอกว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพ เรามีมาตั้งแต่ปี 2556 และทุก 5 ปี กฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำใหม่ และหลังจากประกาศใช้ทุก 2 ปี จะให้มีการประเมิน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำมาเช่นนี้ แต่การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพที่ถึงกำหนดในปี 2561 มีกฎหมายสำคัญคือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดว่ากฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชนในด้านต่างๆ ก่อนจะดำเนินการต้องไปทำประชาพิจารณ์ก่อน  นอกจากนี้ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับที่ปรับปรุงในปี 2561 กว่าจะทำเสร็จยังมีการประกาศใช้ของ พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562 มาแทนฉบับปี 2518         การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพ ครั้งที่ 4 ครั้งนี้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562  สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจาก พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2518 ที่กำหนดให้มีการจัดทำผัง 4 ประเภท ได้แก่ 1) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้นำแนกประเภท 2) แผนผังแสดงที่โล่ง 3) แผนผังแสดงโครงสร้างคมนาคมและขนส่ง และ 4) แผนผังโครงการกิจการสาธารณูปโภค ขณะที่ พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 กำหนดให้มีการจัดทำผัง 6 ประเภท โดยเพิ่มแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำเข้ามาด้วย         พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 ยังกำหนดให้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวม                ดังนั้นการที่กรุงเทพมหานคร นำร่างผังเมืองรวมที่ทำมาตั้งแต่ปี 2561 - 2562 มาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเลย จึงเป็นการทำมาแล้ว ว่าอยากให้อะไรอยู่ตรงไหน  ไม่ได้เป็นการเปิดรับฟังเสียงจากประชาชนเพื่อทำขึ้นใหม่จริงๆ   ความเดือดร้อนนี้ที่ทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านจำนวนมาก         ใช่ กฎหมายผังเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั้งหมด และกรุงเทพมีพื้นที่ 50 เขต แต่ละเขต มันต่างกันมาก บางขุนเทียนเป็นพื้นที่มีชายฝั่งทะเล  เราไม่อยากให้มีการกัดเซาะ จึงไม่ค่อยมีการตั้งอุตสาหกรรม  ส่วนพื้นที่หนองจอกส่วนใหญ่ทำนา การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดิมต้องคำนึงสภาพที่เป็นและข้อจำกัดด้วย         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นี้ยังจะมีการขยายพื้นที่ถนน พื้นที่แก้มลิง พื้นที่รับน้ำ ทำให้ประชาชนถูกเวนคืนที่ดิน บางพื้นที่หมู่บ้านหายไปหมด ถนนจาก 4 เมตร จะขยายเป็น 12 เมตร  คนจะเดือดร้อนมาก เรามองว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้มุ่งเน้น เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์   การขยายถนน การกำหนดพื้นที่ให้เปลี่ยนจากพื้นที่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นปานกลาง จากหนาแน่นปานกลางเป็นหนาแน่นสูง หรือให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม  ทั้งหลายนี้เหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ในความเป็นจริง กรุงเทพไม่อาจขยายตัวได้มากแล้ว จึงเกิดอาคารสูงกระจุกตัวอยู่ส่วนกลาง แต่เมืองนี้เราไม่ได้มีแต่คนรวย  ยังมีคนเข็นผักในตลาด รปภ. ตำรวจ พยาบาล ทหาร บุรุษไปรษณีย์ การถูกเวนคืนที่  การเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เป็นความเดือดร้อนที่ค่อยบีบคนอยู่อาศัยธรรมดาให้ออกจากเมือง  การที่ยังให้มีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบทั้งที่สร้างไม่ได้ ได้สร้างความเดือดร้อนให้ทุกคนในซอย รถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่แค่ช่วงเข้าไปสร้าง ก็เดือดร้อนแล้ว อาคารที่สูงมากๆ ก็จะสร้างขยะเยอะ ใช้ไฟเยอะ  น้ำเสีย มันเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยทั้งหมด            แล้วข้อความเห็นว่าเหมือนบีบคนออกจากเมือง เขาก็บอกว่าก็มีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ขยายออกไปเรื่อยๆ แต่ระบบรถ BTS ของเรามันไม่ได้เชื่อมต่อกัน ประชาชนยังแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4  ยังมีโบนัสให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายเรื่องมากๆ ที่ดำเนินการแล้ว เขาสามารถนำไปเพิ่มพื้นที่การสร้างอาคารให้สูงขึ้นได้  ช่วยขมวด 3 เรื่องสำคัญที่ประชาชนควรช่วยกันเฝ้าระวังในผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ครั้งนี้           หนึ่ง ผังเมืองรวมฉบับนี้ทำให้ กรุงเทพมีพื้นที่หนาแน่นขึ้น เดิมความหนาแน่นของกรุงเทพตอนนี้คือราว  3,500 คน/ ตร.กม แต่หากรวมประชากรแฝงเราคาดว่าน่าจะถึง 10,000 คนต่อ / ตร.กม เมื่อคนอยู่อาศัยกันแน่นขึ้น ปัญหาอีกสารพัดจึงจะตามมาอีกมาก  สอง ผังเมืองรวมฉบับนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการระบายน้ำ  เรามีน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 มาแล้ว ยิ่งคนเข้ามาแน่น ปัญหาน้ำท่วมเราจะยิ่งวิกฤต เพราะตอนนี้ฝนตกหนักครั้งเดียว เราก็แย่แล้ว สาม เมื่อนำผังเมืองที่เขาทำไว้แล้วในปี 2562  มารับฟังความเห็นจากประชาชน  ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้ ยังไม่คิดตอนที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 กับเรื่องโรคระบาด         เราเป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้การอยู่อาศัยของคนในเมืองแย่ลง ทั้งน้ำท่วม การจราจร ฝุ่นPM2.5  โรคระบาด สิ่งแวดล้อมมันแย่ลงมากกว่าดีขึ้น สิ่งที่เราบอกว่ามันจะมีปัญหา เราไม่ได้จินตนาการเอาเอง ปัญหามีประจักษ์มาแล้ว เรื่องโรคระบาด ตอนเป็นโควิดเราเห็นแล้วว่า เราต้องการพื้นที่ปลอดภัย ต้องการพื้นที่จะระยะห่างบ้าง  เราเป็นห่วงคนในชุมชนคลองเตยมาก เพราะเขาต้องอาศัยกันอย่างแออัด  เขาบอกว่า เมืองว่าเมืองจะเจริญ แต่ตอนนี้สภาพแวดล้อมเราออกห่างจากคำว่าธรรมชาติมากขึ้นทุกที คนต้องหนีออกจากเมืองมากกว่าจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้         การระบายน้ำ ขยะ การจราจร โรคระบาด ทั้งหมดนี้คือคุณภาพการใช้ชีวิตของคน  เราไม่สามารถอยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ว่าห้องจะหรูหรา มีเครื่องฟอกอากาศดีแค่ไหน แล้วเราไม่ออกไปไหน เราต้องออกไปข้างนอก         เรากังวล เป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองแย่ลง   เราอยากให้มีผังเมืองที่ตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่แล้วยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาด้วย อยากให้ประชาชน สังคมโดยทั่วไป ร่วมกันมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง         อย่างที่ผมบอกว่า ผังเมืองเกี่ยวข้องกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกมิติ หลายคนที่เขายังรู้สึกว่า เขาไม่ได้รับผลกระทบ เขาอาจะวางเฉยได้ หรือเขาอาจจะรู้ว่า มีผลกระทบมาถึงตัวได้แต่ยังคิดว่า อาจไม่ใช่เร็วๆ นี้ ต้องออก พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ยังรอได้  แต่ผมคาดว่ามันไม่ได้นาน หลายพื้นที่ตอนนี้เริ่มโดยเวนคืนที่ดินแล้ว และผังเมืองรวมกรุงเทพยังส่งผลกระทบกับปริมณฑล  เครือข่ายถนนทั้งหมดเชื่อมโยงกับพื้นที่ใกล้เคียง นนทบุรี สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี  ฉะเชิงเทรา  สมุทรปราการ              การต่อสู้เรื่อง เราต้องศึกษาเรื่องกฎหมายด้วย เพราะเราสู้เรื่องกระบวนการที่ต้องดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายด้วยเราอาจะต้องสู่กันกันถึงศาลปกครอง แล้วหากเราตื่นตัว ร่วมกันลงชื่อเยอะๆ ผมคิดว่ามันมีผลกระทบ มันมีพลังที่จะทำให้เราสามารถทำให้หน่วยงานรัฐเริ่มทำผังเมืองกรุงเทพใหม่ได้ ผมก็สื่อสารเรื่องนี้ อยู่ตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2565

5 ข้อมูลส่วนบุคคลที่เสี่ยงถูกจารกรรม        สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เตือนประชาชนระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นรวมถึงทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และหลีกเลี่ยงร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่ให้เปิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการรับรหัส ATM นำโชคต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อที่กำลังเป็นที่นิยม โดย 5 ข้อมูลสำคัญที่ไม่ควรเปิดเผย ได้แก่ 1.ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 2. ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ อีเมล 3.ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน เลขบัญชี รหัส ATM เลขบัตรเครดิต 4.ข้อมูลชีวมิติ ลายนิ้วมือ ข้อมูลแสดงม่านตา 5.ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ IP Address MacAddress Cookie ID        นอกจากนี้ควรระวังส่วนของข้อมูลทรัพย์สินของบุคคล จำพวกทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ข้อมูลใดๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลตนเองได้ เช่น วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา หรือข้อมูลบันทึกอื่นๆ อีกด้วย สปสช.ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการ 9 แห่ง        สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกการให้บริการสาธารณสุขรพ.เอกชน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บัตรทอง 30 บาท 9 แห่ง มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เหตุจากการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง         ทั้งนี้ สปสช.มีแผนการรับรองผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวโรงพยาบาล 9 แห่ง หลัง 30 กันยายน 2565 ยังไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล สามารถรักษาตัวต่อไปได้ทาง สปสช.จะรับผิดชอบค่าใช้ให้ 2) ผู้ป่วย 5 กลุ่ม เช่น สตรีใกล้คลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัดและรังสีรักษา ผู้ป่วยมีนัดทำอัลตราซาวนด์ ทำซีทีสแกน และทำ MRI  ยังคงรักษาตัวตามนัดเดิมได้ 3) ผู้ป่วย 9 รพ.ที่ได้รับใบส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นยังได้รับสิทธิส่งตัวไปรักษาตามปกติ 4) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้เข้ารับการรักษาตัวต่อได้ที่ คลินิกเวชกรรม คลินิกอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา พร้อมจัดระบบบริการรูปแบบใหม่ คือ ระบบบริการแพทย์ทางไกลที่ใดก็ได้ 5) ผู้ป่วย HIV และวัณโรคให้เข้ารับการรักษาเหมือนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 6) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต ผ่าตัดหัวใจ ทำบอลลูนหัวใจ ใส่สายสวนหัวใจ ยังคงได้รับการรักษาได้ตามโรงพยาบาลเดิม สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งแต่ไม่ได้เป็นผู้ป่วย สามารถเข้าเลือกหน่วยบริการใหม่ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. แค่เดือนสิงหา ปชช.แจ้งความออนไลน์แล้ว 1.7 หมื่นคดี        จากสถิติ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  มีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์จำนวนสูงถึง 59,846 เรื่อง ในส่วนของเดือนสิงหาคม 2565 พบสถิติประชาชนแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ถึง  17,254 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3,317 ล้านบาท โดยประเภทที่มีการแจ้งความมากที่สุด ได้แก่ ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า (34.09%) หลอกให้ลงทุน (19.21%) หลอกให้ทำงานออนไลน์ (13.20%) หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (12.48%) และ ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวหรือคอลเซนเตอร์ (6.08%)           ดังนั้นเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ เพจ PCT Police, เพจ ตำรวจสอบสวนกลาง, เพจ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. – CCIB นัดพิจารณานัดแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้องกรณีแอชตัน อโศก        20 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีแอชตัน อโศก ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณานัดแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นหลังจากฟังแถลงข้อเท็จจริงว่า กรณี รฟม.อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืนเพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่ง รฟม.ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบคำอุทธรณ์ฟังขึ้น ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี         อย่างไรก็ตาม คําแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นความเห็นโดยอิสระ ไม่ผูกพันองค์คณะในการจัดทําคําพิพากษาในคดี จึงต้องรอคำตัดสินทั้งองค์คณะต่อไป         ตุลาการผู้แถลงคดี คือตุลาการศาลปกครองที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำและเสนอคำแถลงการณ์ต่อองค์คณะ ผู้เป็นตุลาการผู้แถลงคดีต้องไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้นๆ ตู้น้ำดื่ม-รถเมล์-ผังเมือง สามเรื่องสภาผู้บริโภค กทมฯ ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากทม ฯ         19 กันยายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเวทีเสวนา การคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง โดยคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า หลังจากที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2563  ได้มอบหมายให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นสำนักงานเลขาสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ ดำเนินงานในวัตถุประสงค์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและจัดเวทีเสวนาระดมแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้เครือข่ายการทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น         ทั้งนี้จากการรวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขนั้น หน่วยงานประจำจังหวัดและเครือข่าย สรุป 3 ปัญหาสำคัญคือ บริการรถเมล์สาธารณะ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และการจัดการผังเมืองอย่างมีส่วนร่วมและมอบหมายให้ตัวแทนทั้ง 3 เรื่องยื่นข้อเสนอต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในงานเสวนาดังกล่าว         นายชัชชาติได้ตอบรับและกล่าวขอบคุณที่ให้ตนได้มีโอกาสมารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทั้ง 3 เรื่อง เรื่องบริการรถเมล์สาธารณะ แม้ภารกิจหลักจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ขสมก. แต่ กทม. อาจสามารถจัดบริการเสริมได้ในบางเส้นทาง ตู้น้ำดื่มอาจมีการพิจารณานำเรื่องน้ำดื่มฟรีที่ กทม. เคยทำมาแล้วกลับมาอีกครั้ง ส่วนผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่คงต้องพูดคุยกันอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่ได้มารับฟังปัญหาตนเองเห็นถึงสัญญาณที่ดี นั่นคือภาคประชาชนตื่นตัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 จากแอชตัน อโศกถึงหมิงตี้ จากผังเมืองถึงชีวิตของเรา

ถ้าให้สรุปประเด็นปัญหาเกี่ยวกับผังเมืองเพียงประโยคเดียวก็คงได้ประมาณนี้...        ‘ระบบราชการรวมศูนย์ ทุนใหญ่ และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง’         การก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่สักแห่งไปจนถึงผังเมืองที่กำหนดว่าพื้นที่ต่างๆ จะถูกใช้สอยอย่างไรนั้นใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด แต่ด้วยข้อกฎหมายอันซับซ้อน เรื่องราวเชิงเทคนิคที่ยากเข้าใจ บวกกับชีวิตประจำวันก็ไม่ได้เข้าไปข้องเกี่ยวอะไรด้วยยิ่งทำให้มองไม่เห็นความเชื่อมโยงที่จะส่งผลกระทบต่อตัวเรา         กรณีแอชตัน อโศกถึงการระเบิดของโรงงานหมิงตี้เป็นตัวอย่างที่ดีประโยคสรุปปัญหาข้างต้น ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ทั้งผู้บริโภคและชุมชนรอบข้าง กรณีแอชตัน อโศกเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ขณะที่ พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ.2518 เกี่ยวพันกับกรณีโรงงานหมิงตี้ เหมือนเป็นคนละเรื่อง กฎหมายคนละฉบับ แต่...ไม่ใช่เลย จากแอชตัน อโศก...         กล่าวถึงกรณีแอชตัน อโศกอย่างรวบรัดได้ว่า กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร กำหนดให้อาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตรต้องมีด้านใดด้านหนึ่งของที่ดินกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตรติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร และยาวต่อเนื่องไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยกรณีเกิดเพลิงไหม้หรือภัยพิบัติ แต่แอชตัน อโศกไม่มีพื้นที่นี้ตามที่กฎหมายกำหนด ศาลปกครองจึงวินิจฉัยให้เพิกถอนใบอนุญาต         ทั้งนี้ทางฝ่ายแอชตัน อโศก ชี้แจงว่าเดิมทีที่ดินดังกล่าวมีพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากเจ้าของเดิมถูกเวนคืนที่ดินโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อสร้างรถไฟฟ้าจนกลายเป็นที่ดินตาบอด เจ้าของเดิมจึงฟ้องร้องและศาลฎีกาตัดสินให้ทำทางจำเป็นกว้าง 6.4 เมตร ผ่านที่ดินเวนคืนสำหรับออกสู่ถนนอโศก         เจ้าของโครงการแอชตัน อโศกจึงซื้อที่ดินผืนนี้โดยทำสัญญากับ รฟม. เพื่อสร้างทางเข้าออกโครงการให้มีความกว้างตามที่กฎหมายกำหนดโดยจ่ายผลประโยชน์ให้ รฟม. แต่ศาลเห็นว่าการกระทำดังกล่าวขัดกับวัตถุประสงค์การเวนคืนและไม่ใช่การใช้เพื่อกิจการรถไฟฟ้าจึงถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งที่ดินของ รฟม. ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของแอชตัน อโศก จึงทำให้การก่อสร้างโครงการไม่ชอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 ข้อ 2 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร คือไม่มีทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะ นั่นเอง         “กรณีของแอชตันมีประเด็นที่น่าสนใจคือการเวนคืน” ภูดิท โทณผลิน ทนายความและกรรมการสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิ์และสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็น “ศาลจึงวินิจฉัยว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์เพราะการที่หน่วยงานรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเวนคืนที่ดินและไปให้เอกชนเช่า ถึงแม้จะเป็นเงินเข้ารัฐก็ตาม แต่ศาลมองว่าไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ รฟม. เพราะไม่อย่างนั้นจะเปิดช่องให้หน่วยงานรัฐทำแบบนี้โดยอ้างว่าเงินเข้ารัฐ แต่จะต้องให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุดด้วย จึงน่าสนใจว่าการที่เขาเอาที่ดิน รฟม. มารวมเพื่อขอใบอนุญาตผมเห็นด้วยในทางกฎหมายว่ามันไม่ตรงตามเจตนารมณ์และจะทำให้เกิดบรรทัดฐานที่หน่วยงานรัฐไปดำเนินการแบบนี้”         ภูดิทแนะนำผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายว่า ถ้ากรณีแอสตัน อโศกถูกห้ามใช้อาคารและต้องดำเนินการรื้อถอนโดยไม่สามารถขอใบอนุญาตได้แล้ว ผู้เสียหายสามารถฟ้องเพื่อเรียกร้องเงินที่ได้ชำระไปคืนกับทางเจ้าของโครงการพร้อมดอกเบี้ย 2 ส่วน ส่วนแรกคือดอกเบี้ยผิดนัดจากการผิดสัญญา ส่วนที่ 2 คือดอกเบี้ยธนาคารที่ผู้บริโภคกู้มา ตึกสูง ผังเมือง และเสียงที่ไม่ถูกได้ยิน         ยังมี พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 อีกฉบับที่เข้ามาพัวพันกับคนที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน กลุ่มคัดค้านร่างผังเมืองรวม กทม. อดีตเครือข่ายคนคอนโดเล่าว่า ปัญหาคอนโดมิเนียมเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เช่น ปัญหาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายจนถึงปัญหาระหว่างผู้ซื้อกับนิติบุคคล ประเด็นที่เขาพบมาตลอดการทำงาน 2 ทศวรรษคือ         “พระราชบัญญัติอาคารชุดปี 2522 ซึ่งเป็นฉบับแรกที่มีการแก้ไขฉบับที่ 2 ฉบับที่ 3 ไม่ได้มีบทลงโทษกรณีที่ผู้จัดการนิติบุคคลไม่ปฏิบัติหน้าที่อย่างถูกต้อง รวมทั้งเจ้าของโครงการมีการประกันทรัพย์ต่ำมากหรือไม่มีเลย ช่วงนั้นเครือข่ายคนคอนโดก็พยายามผลักดันให้มีการแก้กฎหมายพระราชบัญญัติอาคารชุดเป็นฉบับที่ 4 ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษแล้วและให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการได้ สมัยก่อนที่บอกว่าไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่เนื่องจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่อาจจะมองว่าไม่มีการเขียนไว้ในพระราชบัญญัติอาคารชุดให้เจ้าหน้าที่ทำอะไร เขียนไว้แค่ให้เจ้าหน้าที่รับจดทะเบียนเท่านั้น”         ในช่วงหลังปฐมพงศ์ตระหนักว่าการกระจุกตัวของอาคารสูงในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผังเมือง ทำให้เขาต้องหันมาสนใจเรื่องนี้ด้วย         “ถ้าเราโฟกัสเฉพาะในกรุงเทพฯ ผังเมืองจะพยายามเพิ่มความหนาแน่นของประชากร เขากำหนดเป็นนโยบายระดับจังหวัดว่าเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พื้นที่ให้มากขึ้น แต่กลายเป็นว่ามันไปเพิ่มความหนาแน่นตั้งแต่ฉบับที่ 1 จนที่จะเป็นฉบับที่ 4 นี้ จำนวนประชากรต่อพื้นที่มันสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับการสร้างรถไฟฟ้าแล้วดันไปวางว่าพื้นที่สถานีรถไฟฟ้าอนุญาตให้สร้างตึกสูงได้เกินกว่าที่พระราชบัญญัติควบคุมอาคารหรือผังเมืองกำหนดไว้เพราะฉะนั้นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็สร้างกัน”          และแม้ว่าจะมีการรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อนำมาพิจารณา แต่กฎหมายก็ไม่ได้ระบุให้ต้องนำความเห็นของประชาชนมาดำเนินการแต่อย่างใด หน่วยงานรัฐยังคงดำเนินการไปตามที่ตนเห็นชอบอยู่ดี โดยทางกลุ่มไม่เห็นด้วยที่กรุงเทพฯ จะเต็มไปด้วยอาคารสูง ซึ่งเวลานี้ก็ถือว่ามีมากเกินความจำเป็นแล้ว เพราะจะส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การกระทบกระทั่งระหว่างคนข้างล่างกับคนข้างบน การแย่งกันใช้สาธารณูปโภค เป็นต้น แต่ควรใช้โครงข่ายรถไฟฟ้าให้เป็นประโยชน์ในการขนคนเข้ามาในเมืองเพื่อลดความแออัด         ก้องศักดิ์ สหะศักดิ์มนตรี สถาปนิกและตัวแทนชุมชนย่านศาลาแดงจากการสร้างอาคารผิดกฎหมาย เล่าจากประสบการณ์ของตนว่า         “เจ้าของโครงการไม่ได้รู้ลึกเรื่องกฎต่างๆ เขาก็โยนมาให้ผู้รู้เป็นคนศึกษาซึ่งก็คือสถาปนิก พอปฏิบัติจริงๆ เราต้องไปปรึกษากับพี่ใหญ่ซึ่งก็คือกรมโยธาธิการและผังเมือง เราก็ไปปรึกษาตามโยธาเขตขึ้นอยู่กับว่าอาคารนั้นๆ ขออนุญาตที่เขตหรือที่ กทม. ผมเรียกพวกนี้ว่าเป็นลูกพี่และเราก็ให้ความเคารพพวกนี้มาตลอดเพราะเราเข้าใจว่าสิ่งที่เขาตีความชี้ช่องบอกเรามาปฏิบัติได้ ถูกกฎหมาย สถาปนิกทำให้เกิดพื้นที่ขายให้เขาได้มากเท่าไหร่ คุณก็ได้ประโยชน์มากเท่านั้น สิ่งสำคัญคือจรรยาบรรณในวิชาชีพ ก็เจ้าหน้าที่บอกว่าทำได้ ขออนุญาตก็ผ่าน แล้วผิดตรงไหน”        ต้นตอสาเหตุปัญหาที่สำคัญ​คือ​ การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่กทม.เกือบทั้งหมด ทั้งเรื่องการตรวจแบบ​ อนุมัติตีความตัดสินข้อบัญญัติ​ กฏหมาย​ กฏระทรวงต่างๆ​ การตรวจสอบทั้งระหว่างการก่อสร้าง​ ตั้งแต่เริ่มจนถึงสร้างเสร็จ​ และตรวจสอบเมื่อสร้างเสร็จ​ส่งมอบ​ เปิดใช้งาน​ ทำให้เกิดช่องว่างที่ไม่มีใครจะสามารถตรวจสอบได้ ดังนั้น​ จึงเห็นว่าควรต้องแยกอำนาจในขั้นตอนต่างๆดังที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงการประชุมรับฟังความเห็นจากชุมชน​ประชาชนที่มีการตรวจสอบผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) และต้องเพิ่มการตรวจสอบ​ การมีส่วนร่วม​ จากภาคประชาชน​  และตัวแทนหน่วยงานวิชาชีพที่เกี่ยวข้องโดยตรง​ ทั้งจากสภาสถาปนิกและวิศวกรรม​ เข้าร่วมรับฟัง​ แสดงความเห็น​ และตรวจสอบได้​ในแต่ละขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนถึงการเปิดใช้อาคาร เพื่อให้เกิดความโปร่งใส   ถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย​ ที่ผ่านการตรวจสอบขั้นตอนต่างๆมาตั้งแต่ต้น กฎหมายผังเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์          นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าเมื่อดูข้อกำหนดผังเมืองกรุงเทพฯ พบว่าไม่ได้มีการกำหนดโซนอาคารสูงในกรุงเทพฯ เอาไว้ ทำให้มีการก่อสร้างอาคารสูงผิดกฎหมายเกิดขึ้นจำนวนมาก        “พื้นที่พาณิชย์ในกรุงเทพฯ ถูกป้ายเป็นสีแดงทั้งหมด เพราะพยายามทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เจริญ แล้วค่อยสร้างสาธารณูปโภค แต่ก่อนเขาบอกว่าเมืองต้องเจริญก่อน สาธารณูปโภคถึงจะมา ซึ่งมันไม่ใช่ หลักการคือเมื่อใดที่สาธารณูปโภคไปถึง เมืองจะเจริญเอง แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น อาศัยว่าถ้าคุณลงทุนในกรุงเทพฯ ได้คุณจะเป็นอภิมหาเศรษฐี เพราะในกรุงเทพฯ สาธารณูปโภคคุณไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องทำถนนเข้าโครงการหมู่บ้าน ไม่ต้องทำอาคารจอดรถ ทำแค่ 25 เปอร์เซ็นต์ก็ได้เพราะกฎหมายล่าสุดที่แก้บอกว่าอาคารจอดรถให้ 25 เปอร์เซ็นต์ของอาคาร เขาบอกว่าเป็นการบังคับให้คนที่ซื้อคอนโดฯ ไม่มีรถ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้”         เพราะผังเมืองเป็นนโยบายสาธารณะที่กำหนดการพัฒนาเชิงพื้นที่ของแต่ละพื้นที่ โดยก่อนจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.การผังเมืองในปี 2562 การทำผังเมืองเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญที่เน้นเชิงเทคนิค มุ่งประมาณการในอนาคต และนำมาวางแผนการพัฒนาพื้นที่ เป็นเหตุให้ประชาชนมักไม่ให้ความสนใจผังเมือง จนในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา การวางผังเมืองเพื่อพัฒนาเขตอุตสาหกรรมทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจึงมีการรวมกลุ่มของประชาชนติดตามการทำผังเมือง         “กฎหมายผังเมืองบ้านเราไม่ค่อยศักดิ์สิทธิ์เท่าไหร่คือไม่ค่อยมีผลในเชิงการบังคับใช้สำหรับการลงทุนขนาดใหญ่” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการบูรณะนิเวศ กล่าว “แต่อาจจะมีผลในการบังคับใช้กับประชาชนทั่วไป แต่ในต่างประเทศกฎหมายผังเมืองค่อนข้างมีความศักดิ์สิทธิ์และเฉียบขาดในการบังคับใช้เพราะเขาจะให้ความสำคัญกับภูมิทัศน์ การพัฒนาเมือง การขยายตัวของเมือง แต่สำหรับประเทศไทยมันขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลพูดอย่างไรแล้วผังเมืองก็พร้อมจะเปลี่ยนตาม”ถึงหมิงตี้...         ไม่เพียงกฎหมายผังเมืองเท่านั้น ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่ามีกฎหมายหลายฉบับและหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่งยิ่งทำให้การบังคับใช้กฎหมายผังเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์ กรณีโรงงานหมิงตี้ที่กิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ระเบิดเป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนเรื่องนี้         เพ็ญโฉมอธิบายว่าผังเมืองจังหวัดสมุทรปราการประกาศประมาณปี 2536 ขณะที่โรงงานหมิงตี้สร้างปี 2534 โดยได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ต่อมาเมื่อผังเมืองประกาศใช้พื้นที่ดังกล่าวถูกกำหนดเป็นพื้นที่สีแดงหมายถึงเป็นเขตพาณิชยกรรมและสีส้มคือเขตที่อยู่อาศัยของประชาชน เท่ากับว่าผังเมืองประกาศทับที่ตั้งของโรงงาน ตามกระบวนการทางจังหวัดต้องจ่ายค่าชดใช้และทำการย้ายโรงงานไปยังพื้นที่สีม่วงหรือเขตอุตสาหกรรม แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ         เมื่อมีโรงงานบวกกับเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัย ชุมชนจึงขยายตัวหนาแน่นขึ้น มีการสร้างบ้านจัดสรรเข้าไปชิดโรงงาน ซึ่งเพ็ญโฉมเห็นว่าเป็นความผิดร่วมกันระหว่างจังหวัดสมุทรปราการกับสำนักโยธาธิการและผังเมืองที่ไม่บังคับใช้กฎหมายผังเมืองระหว่างชุมชนกับโรงงานที่ต้องมี Buffer Zone         “แล้วการออกใบอนุญาตให้มีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สร้างหมู่บ้านจัดสรรก็เป็นความผิดของหน่วยงานใดก็แล้วแต่ที่อนุญาตให้มีการสร้างหมู่บ้านขนาดใหญ่อยู่ใกล้กับโรงงานโดยไม่พิจารณาในแง่ความปลอดภัยจึงคิดว่ามันเป็นความผิดร่วมกันของผู้ออกใบอนุญาต นอกจากนี้ เริ่มแรกที่หมิงตี้ประกอบกิจการมีกำลังการผลิตที่ 24,000 ตัน แต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมมาออกใบอนุญาติให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 36,000 ตันในปี 2562 เท่ากับคุณรู้อยู่แล้วว่าผังเมืองไม่ใช่สีม่วงและชุมชนก็หนาแน่นมากขึ้นเรื่อยๆ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มกำลังการผลิตให้เขาโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ถือว่าไม่ถูกต้อง นั่นหมายความว่าทางโรงงานจะต้องมีการเก็บสารเคมีอันตรายไว้ภายในโรงงานเยอะมากซึ่งอันตรายต่อชุมชนที่อยู่รายล้อม”         การบังคับใช้ไม่ศักดิ์สิทธิ์ไม่พอ กฎหมายผังเมืองปัจจุบันปี 2562 ยังขัดหลักการที่ควรจะเป็น กล่าวคือไม่แยกเรื่องทางเทคนิคกับนโยบายออกจากกัน เพ็ญโฉมอธิบายว่า เพราะโดยปกติการประกาศพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นเรื่องของนโยบายรัฐบาล ไม่ควรผูกรวมกับกฎหมายผังเมือง เนื่องจากประชาชนอาจไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐ แต่เมื่อนำนโยบายมาอยู่ภายใต้กฎหมายผังเมืองย่อมเท่ากับว่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่กำลังทำผิดกฎหมายผังเมือง         จากแอชตัน อโศกถึงโรงงานหมิงตี้ จากอาคารแห่งหนึ่งถึงผังเมือง ผูกรัดกันอย่างวุ่นวายด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ หน่วยงานรัฐ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคดังที่แสดงให้เห็นแล้ว ทั้งหมดนี้ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราโดยไม่รู้ตัว หากจะแก้ไขคงต้องมุ่งตัดรากเหง้าของปัญหา...         ‘ระบบราชการรวมศูนย์ ทุนใหญ่ และการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง’

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องมี “สื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค”

        ชื่อนี้อาจดูแปลกใหม่ไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าเป็นสื่อสายสังคม การเมือง เศรษฐกิจ หรือบันเทิง คงคุ้นเคยผ่านตากันมากกว่า ขณะที่ภาพของสื่อมวลชนทุกวันนี้อาจทำให้หลายคนนึกถึง นักเล่าข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว พิธีกร หรือนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น แต่จริงแล้วสื่อมวลชนมีความหมายที่น่าสนใจมากกว่าแค่ตัวบุคคลนั่นคือ หมายถึง การกระจายข้อมูลข่าวสารจากบุคคลหนึ่งหรือจากองค์กรหนึ่งไปยังมวลชนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนรับรู้ได้เป็นการทั่วไป         ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เข้าถึงสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ หนังสือพิมพ์ ได้ง่าย เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ทุกครัวเรือนทุกเพศทุกวัย แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ก้าวหน้า สภาพปัญหาของสังคมที่เปลี่ยนไป และการเข้ามาของ Social Media หรือ สื่อออนไลน์ ทำให้สื่อมวลชนหลายแขนงโดยเฉพาะสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ ต้องปรับตัวตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงไปด้วย           การมาของสื่อออนไลน์หรือสื่อใหม่แบบนี้ ทำให้มิติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น เพราะมีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องเปิดโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์แบบสมัยก่อน ส่งผลตรงต่อสื่อหลักที่ถูกลดทอนบทบาท สื่อหลายรายจึงต้องรีบปรับตัวเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ทันต่อเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น          แม้ว่าปัจจุบันภาพรวมของสื่อหลักจะปรับเปลี่ยนบ้างแล้ว แต่รูปแบบการนำเสนอข่าวสารที่เป็นอยู่ก็ยังไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ต่างเน้นประเด็นที่กำลังเป็นกระแสเรื่องใกล้ตัว เรตติ้งดี เช่น ข่าวการเมือง อาชญากรรม และรายการบันเทิง รวมถึงข่าวกระแสสังคม ความเชื่อ ความศรัทธา ส่งผลให้พื้นที่และโอกาสการติดตามประเด็นปัญหาของผู้บริโภคมีน้อย เพราะต้องทำตามนโยบายแหล่งทุนผู้สนับสนุน และหากวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของสื่อมวลชน จะพบว่าเกิดจากนโยบายองค์กร หรือการให้ความสำคัญของแต่ละสื่อว่าเห็นความสำคัญ หรือสนใจประเด็นมากน้อยเพียงใด รวมถึงพฤติกรรมของสื่อมวลชนหรือนักข่าวในปัจจุบันที่ลงพื้นที่น้อย เน้นเก็บข่าวออนไลน์ ตลอดจนประเด็นข่าวสารรายวันที่ไหลไปมาอย่างรวดเร็วทำให้สื่อมวลชนต้องตามให้ทันกระแส ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้สื่อมวลชนสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคได้ไม่เต็มที่ หลายกรณีจึงพบเพียงการรายงานข่าวเหตุการณ์แต่บทบาทเรื่องการตรวจสอบอาจจะมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น         จากข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ ปัญหาของผู้บริโภคจึงกลายเป็นประเด็นทางเลือกของสื่อมวลชน ทั้งที่หลายกรณีเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ และมีผลกระทบกับประชาชนวงกว้าง เช่น กรณีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ หรือล่าสุดกับประเด็นเรื่องระบบขนส่งมวลชน กรณีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีความซับซ้อน ซึ่งแทบจะไม่เห็นข่าวเชิงลึกแบบนี้ผ่านสื่อกระแสหลักให้เห็นเลย         โดยเฉพาะกรณีปัญหาการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ภายหลังประเด็นข้อถกเถียงของสังคมขยับมาอยู่ที่ราคาค่าโดยสารว่าเท่าไหร่ถึงเหมาะสม เมื่อ กทม. เสนอตัวเลขราคาค่าโดยสารตลอดสายหลังต่อสัญญาสัมปทานให้ BTS อีก 30 ปีอยู่ที่ 65 บาท ขณะที่ตัวเลข 65 บาท ที่ กทม. เสนอนั้นไม่สามารถอธิบายหรือชี้แจงได้ว่ามีหลักคิดคำนวณอย่างไร ทำไมถึงกำหนดราคาที่ 65 บาท ขณะที่กระทรวงคมนาคมเสนอตัวเลขค่าโดยสาร 49.83 บาท และองค์กรผู้บริโภคเสนอตัวเลขค่าโดยสารที่ 25 บาท ซ้ำร้ายผู้แทน กทม. ได้ให้ข้อมูลในการประชุมคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรว่า กรุงเทพมหานครไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลต้นทุน ผลกำไร และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการคำนวณหาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อคณะกรรมาธิการได้         ยิ่งทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าเหตุใดข้อมูลที่เป็นประโยชน์สาธารณะแบบนี้กลับไม่ถูกขุดคุ้ยหรือเปิดเผยโดยสื่อมวลชน  ทั้งที่สื่อมวลชนควรทำข้อมูลให้ประชาชนเห็นถึงกระบวนการระหว่างทางที่ไม่ชอบมาพากล สะท้อนเรื่องสิทธิของประชาชนที่ถูกละเลย และถูกละเมิดออกมาให้ได้  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รู้จากการข้อมูลเชิงลึกหรือตีแผ่ได้ในหลายแง่มุมจากกระบวนการทำงานของสื่อมวลชน แน่นอนว่าความคาดหวังของประชาชนต่างมุ่งตรงไปที่การทำงานของสื่อมวลชน ขณะที่ความพร้อมของสื่อเองยังมีจำกัดเช่นเดียวกัน อีกทั้งปัญหาของผู้บริโภคก็มีความหลากหลายและบางเรื่องเข้าใจยากมีความซับซ้อน แต่อย่าลืมว่าสื่อมวลชนมีต้นทุนทางสังคมสูง หากขยับตัวเกาะติดประเด็นใด ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกด้าน         เพราะสุดท้ายแล้ว สื่อมวลชนต้องเป็นผู้นำทางความรู้มากกว่าเพียงตามกระแสในสังคม คือ สื่อมวลชนต้องกล้าที่จะนำเสนอข้อมูลความรู้ ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ และนำความรู้นี้ถ่ายทอดไปยังประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ทำเรื่องเงียบให้เป็นเรื่องดัง ทำประเด็นคนสนใจน้อยให้กลายมาเป็นกระแสสังคมให้ได้ นี่แหละ คือ บทบาทของสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง !!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 บอกเลิกสัญญา Work & Travel เพราะโควิด-19

วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยอยากไป Work & Travel ในต่างประเทศ เพราะนอกจากการทำงานระยะสั้น ๆ หาประสบการณ์แล้ว ยังได้ท่องเที่ยวในประเทศนั้นๆ ด้วย เช่นเดียวกับคุณกันตพล ที่อยากให้ลูกชายได้เปิดประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ จึงตัดสินใจส่งลูกชายเข้าโครงการ Work & Travel ในประเทศสหรัฐอเมริกากับบริษัทตัวแทนแห่งหนึ่งระยะเวลา 3 เดือน โดยคุณกันตพลได้ผ่อนค่าใช้จ่ายเป็นรายงวด รวมเป็นเงินทั้งหมดแล้วเกือบ 80,000 บาท         แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้กำหนดการการเดินทางไปทำงานและท่องเที่ยวที่อเมริกาของลูกชายคุณกันตพลต้องพับลง บริษัทที่จัดโครงการ Work & Travel ได้แจ้งกับคุณกันตพลว่า ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น โดยทางบริษัทจะคืนเงินให้ประมาณ 50,000 บาท         คุณกันตพลทราบดังนั้น ก็คิดว่าเงินที่บริษัทคืนให้นั้นน้อยเกินไปหรือไม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นคุณกันตพลได้ชำระไปแล้วล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าโครงการ ค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่ามัดจำตั๋วเครื่องบิน การที่บริษัทหักเงินไปเกือบ 30,000 บาทนั้นดูไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย แนวทางการแก้ไขปัญหา                 กรณีที่บริษัทแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสนั้น เท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญา ซึ่งจะต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคโดยทันที หากจะมีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องชี้แจงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน มีการแสดงเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงให้ได้ทราบอย่างครบถ้วน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องได้         ทั้งนี้ ผู้บริโภคเองสามารถบอกเลิกสัญญากับบริษัทที่จัดทำโครงการในลักษณะ Work & Travel ได้ โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับ หากทางบริษัทเอเจนซี่จะหักค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องชี้แจงและแนบหลักฐานให้ผู้บริโภคได้รับทราบด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ซ่อนเงารัก : และแล้วการเมืองก็เป็นเรื่องของคนต่างวัย

                ไม่มีพื้นที่ใดในอาณาบริเวณทางสังคมที่จะปราศจาก “การเมือง” หรอก เพราะแม้แต่ในพื้นที่ที่ดู “ปลอดการเมือง” ที่สุดอย่างโลกบันเทิงคดีเฉกเช่นละครโทรทัศน์ ก็ยังเป็นสนามที่คลุกเคล้าไว้ด้วยภาพ “การต่อสู้ทางการเมือง” อย่างเข้มข้นทีเดียว        แม้ในทางรัฐศาสตร์มักจะเชื่อกันว่า การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการและจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ดำรงอยู่ในปริมณฑลกว้างๆ เช่น ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีตัวแสดงหลักคือภาครัฐและนักการเมืองทั้งหลาย แต่ทว่าในบางครั้งเอง การเมืองก็ปรากฏอยู่ได้แม้แต่กับเรื่องเล็กๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา         และรูปธรรมหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองในสนามเล็กๆ ก็ฉายออกมาผ่านสมรภูมิความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนต่างรุ่น ต่างวัย หรือต่างเจนเนอเรชัน แบบที่เราได้รับชมผ่านความบันเทิงของละครโทรทัศน์เรื่อง “ซ่อนเงารัก” นี่เอง        โดยโครงของละครแนวโรแมนติกดราม่าเรื่องนี้ ผูกเรื่องราวของ “เพียงขวัญ” หญิงสาวผู้มีอดีตอันเลวร้ายที่ถูกกระทำจาก “แทนไท” ที่ขืนใจจนเธอตั้งท้องโดยไม่เต็มใจ และ “เจ้าสัวธำรง” พ่อของแทนไทเอง ก็ยังเป็นตัวแปรหลักที่สั่งฆ่ามารดาของเพียงขวัญ เธอจึงหลบหนีจากคฤหาสน์ของเจ้าสัวธำรง และเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่เป็น “นลิน” เพื่อลบความทรงจำในอดีตทิ้งไปจนหมดสิ้น        แต่ปมของเรื่องได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อนลินคลอดลูกฝาแฝดชายหญิงออกมา และยิ่งเมื่อเธอตระหนักว่า เจ้าสัวธำรงกดดันให้แทนไทมีทายาทชายไว้สืบตระกูลและสืบต่อธุรกิจกลุ่มทุนจีน นลินจึงต้องการแก้แค้นโดยปกปิดความจริงเรื่องลูกชาย และจงใจเลี้ยงลูกทั้งสองให้เป็นฝาแฝดหญิงทั้งคู่ โดยตั้งชื่อลูกว่า “ขวัญเอย” กับ “ขวัญมา” พร้อมอำพรางไม่ให้ใครรู้ว่าขวัญเอยมีโครโมโซมแบบ XY         เพียงเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์และความปรารถนาในอำนาจของกลุ่มคนรุ่นก่อน ได้ก่อกลายเป็นชนวนที่ขยายไปสู่ “การเมือง” ชนิดใหม่ อันเป็นความไม่ลงรอยกันระหว่างคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายกับตัวละครรุ่นลูกหลานอย่างขวัญเอย ขวัญมา รวมไปถึง “ดุจดาว” น้องสาวต่างมารดาของฝาแฝดชายหญิง        เพราะความต้องการเอาชนะบิดาของลูกฝาแฝดกลายเป็นทิฐิที่แบกเอาไว้อยู่บนบ่า ภายหลังจากให้กำเนิดหนึ่งในบุตรแฝดเป็นเพศชาย นลินก็เลือกที่จะไม่เลี้ยงลูกในสิ่งที่ลูกเป็น เธอเข้ามาเข้มงวดกับชีวิตขวัญเอย ไม่ให้เขาได้เข้าโรงเรียนหรือไปพบปะกับโลกภายนอก ล่วงจนถึงบังคับให้ขวัญเอยกินยาคุม เพื่อเปลี่ยนให้ร่างของลูกชายกลายสภาพเป็นผู้หญิง         ในแง่ดังกล่าวนี้ ยาคุมที่บังคับให้ขวัญเอยกิน จึงไม่เพียงถูกใช้เป็นกุศโลบายที่จะเอาชนะแทนไทและเจ้าสัวธำรงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลไกควบคุมเพศสรีระ เพื่อที่แม่จะได้มีอำนาจปกครองร่างกายและจิตใจของลูกชายให้อยู่ใต้อาณัติบงการนั่นเอง         แต่เพราะปัจเจกบุคคลไม่ได้มีด้านที่ยอมจำนนแก่อำนาจเสมอไป ดังนั้น แม้จะถูกมารดากำหนดบงการร่างกาย แต่จิตวิญญาณอันเสรีก็ทำให้ขวัญเอยดิ้นรนต่อสู้กับสภาวะดังกล่าวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการแอบเอายาคุมไปทิ้ง การแอบไปเล่นเตะฟุตบอลแบบเด็กผู้ชายกับ “อนุชิต” คุณลุงข้างบ้าน รวมไปถึงการสืบค้นจนพบเจอกับแทนไทบิดาผู้ให้กำเนิดของตน         ภายหลังเมื่อได้ย้ายมาอยู่กับบิดาและเจ้าสัวธำรงผู้เป็นอากง ทั้งขวัญเอยและขวัญมาก็ยิ่งตกไปอยู่ท่ามกลางการสัประยุทธ์กันของบุพการีและญาติผู้ใหญ่ โดยมี “เหนือเมฆ” พระเอกหนุ่มของเรื่องถูกลากโยงเข้ามาเป็นหมากอีกตัวหนึ่งบนกระดานการเมืองของคนรุ่นก่อน         และเพราะคนรุ่นก่อนสนุกสนานกับการขับเคี่ยวช่วงชิงชัยชนะระหว่างกัน โดยไม่สนใจเลยว่า การต่อสู้ห้ำหั่นกันดังกล่าวจะสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงชะตากรรมหรืออนาคตของลูกหลานแต่อย่างใด ถึงที่สุดแล้ว ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองที่คนรุ่นก่อนต้องหันมาเผชิญหน้ากับคนรุ่นใหม่ที่ต่างวัยไปโดยปริยาย         เหมือนกับที่ขวัญมามิอาจรับได้ที่นลินพยายามพรากชายคนรักอย่างเหนือเมฆให้ไปคบหากับขวัญเอย โดยปิดบังความลับเรื่องเพศกำเนิดไม่ให้พระเอกหนุ่มรับรู้ ดังฉากที่เธอระเบิดอารมณ์ใส่มารดาว่า “แม่ตั้งใจจะแก้แค้นป๊า ตั้งใจจะให้ป๊าเจ็บ...แม่ไม่เคยห่วงความรู้สึกของเอยเลย ปากแม่ก็บอกว่ารักเราสองคน แต่ดูสิ่งที่แม่ทำสิ แม่ทำลายชีวิตของเราสองคน...แม่ทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น...”         เฉกเช่นเดียวกับที่เจ้าสัวธำรงบริภาษต่อว่าขวัญเอยที่ “ลดศักดิ์ศรี” ของบุรุษเพศไปแต่งตัวเป็นหญิง จนดุจดาวน้องสาวต่างมารดาปะทุอารมณ์ใส่คุณปู่เจ้าสัวว่า “สมัยนี้นะคะอากง ผู้ชายจะแต่งตัวเป็นผู้หญิงก็ได้ ผู้หญิงจะแต่งตัวเป็นผู้ชายก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องลดศักดิ์ศรีหรืออะไรเลย แล้วอากงรู้หรือยังว่า ผู้หญิงกับผู้ชายมีค่าความเป็นคนเท่ากัน ไม่มีใครด้อยกว่าใคร แต่ดาวว่าอากงไม่รู้หรอกค่ะ เพราะว่าอากงโลกแคบใจแคบ...”         และแม้ในภายหลัง ขวัญเอยจะเลือกหนีจากเกมการเมืองของคนรุ่นก่อน โดยไปแต่งงานอยู่กินกับ “ริต้า” สาวน้อยรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจอดีตหรือเพศวิถีของสามี เพียงเพราะ “ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม” แต่นลินก็ยังเดินเกมกีดกันความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง และขัดขวางไม่ให้ริต้ามีหลานไว้สืบสกุล จนมุมมองของผู้ชมหลายคนอาจจะต้องเลือกติดแฮชแท็ก “#saveริต้า” กันเลยทีเดียว        ภาพของการเมืองระหว่างเจนเนอเรชันที่ละครได้ฉายให้เห็นอยู่เป็นระลอกแล้วระลอกเล่าเยี่ยงนี้ แท้จริงแล้วก็สะท้อนความขัดแย้งของกลุ่มคนสองฝักฝ่าย ที่ฝั่งหนึ่งคือคนรุ่นก่อนอย่างนลินผู้อ้างความชอบธรรมว่า “ฉันอุ้มท้องให้แกเกิดมา...” หรือ “แม่เลี้ยงของแม่มา...” และคุณปู่เจ้าสัวผู้สำทับวิธีมองโลกแบบที่ว่า “คนในตระกูลชั้น ชั้นจะทำอะไรก็ได้...” กับอีกฝั่งหนึ่งของคนต่างรุ่นที่พยายามจะสื่อความว่า ชะตาชีวิตของตนหรือคนรุ่นใหม่ ก็น่าจะเป็นพวกเธอและเขาที่มีสิทธิ์และอำนาจจะกำหนดเดินได้เอง         ความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างถือตรรกะอันแตกต่างกันคนละขั้วเช่นนี้ ในที่สุดแล้ว ละครก็เลือกเสนอทางออกของปัญหาด้วยโศกนาฏกรรมการจบชีวิตลงของขวัญเอยในตอนท้ายเรื่อง กว่าที่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะได้ย้อนหวนกลับมาคิดทบทวนตนเอง         หากละครโทรทัศน์เป็นแอ่งรองรับประสบการณ์ร่วมกันแห่งยุคสมัยของผู้คนที่ชัดเจนที่สุดแล้ว การเมืองระหว่างคนต่างรุ่นต่างวัยที่มีตัวแสดงเป็นฝาแฝดพี่น้อง ก็อาจเป็นบทเรียนให้เราลองหันมาสะท้อนย้อนคิดถึงความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ในสถาบันครอบครัว ไปจนถึงภาพที่กว้างขึ้นของสังคมไทยโดยรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 220 ทำไมต้องคัดค้าน ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและตัวแทนชุมชนประชาชนในกรุงเทพมหานคร อาทิ  ชุมชน สุขุมวิท 28 และ 30 ชมรมอนุรักษ์พญาไท และ ชุมชนซอยมหาดเล็กหลวง 1-2 และ 30 ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)  เพื่อขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาทบทวนกฎกระทรวง ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)   ให้มีหลักเกณฑ์และมาตรการที่ควบคุมอย่างเข้มงวด และมีบทกำหนดโทษขั้นสูงหากมีการฝ่าฝืนกฎหมายทั้งผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เพื่อป้องปรามมิให้เกิดการกระทำผิดและขอให้มีมาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาในปัจจุบันทั้งระยะสั้นและในระยะยาว ดังที่ข่าวกระแสหลักได้เสนอไปแล้วนั้น ทีมงานฉลาดซื้อขอพามาอ่านความคิดของตัวแทนชุมชนท่านหนึ่งกันแบบเจาะลึก        คุณมานิต ศรีวิชภูมิ  เป็นตัวแทนชุมชนสุขุมวิทชอย 28 กับ 30 เล่าว่า พวกเขารวมกลุ่มกันเนื่องจากมีปัญหาการสร้างตึกสูง และคอนโดในพื้นที่ชุมชน        เรารวมตัวเพราะว่าเราเจอประเด็นเรื่องการสร้างคอนโด    ครั้งแรกที่รวมตัวกันน่าจะ 3 ปี ได้แล้ว    เพราะเกิดเหตุว่ามีคอนโดมาสร้าง แล้วก็พบว่าคอนโดที่สร้างเริ่มทำให้มีปัญหาในซอยจากผังเมืองอันเก่า พบว่ามีการใช้ใบอนุญาตผิดประเภท มีการไม่ตรงไปตรงมาของเจ้าหน้าที่รัฐ เรารวมตัวกันเพราะมันผิดปกติ มีการอนุญาตให้สร้างในที่ซอยเล็ก มีข่าวว่าจะมีการสร้างตึกในซอยแคบ  8 เมตร 10 เมตร สร้าง 30 ชั้น ดูแล้วว่าไม่ได้แล้ว ก็เลยเกิดการรวมตัวกันแล้วก็ไม่ยอม  รวมตัวกันโดยคนในพื้นที่    ที่อยู่กันมาดั้งเดิม ประเด็นต่อมาที่สำคัญก็คือ ขบวนการแบบนี้มันจะผลักดันให้เจ้าของที่ดินเดิม หรือที่อยู่กันมาหลายชั่วคน  ไม่มีที่อยู่ จะต้องออกไปจากพื้นที่  ซึ่งอันนี้ผมคิดว่ามันไม่เป็นธรรมต่อเจ้าของที่ดินเดิม จะอ้างว่าได้ที่ดินราคาสูงขึ้น ซึ่งมันไม่เกี่ยวมันเป็นปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ คุณไม่สามารถเอาปัญหาเศรษฐกิจมาตอบคำถาม มาเป็นข้ออ้างและทำให้คุณสามารถละเมิด หรือทำอะไรก็ได้  แต่ละคนมีทัศนคติต่อเรื่องที่ดินไม่เหมือนกัน   อย่างที่ดินที่บ้านผม  อยู่ต่อกันมาสองสามชั่วคน   เป็นของทวด เพราะฉะนั้นการกระทำแบบนี้มันไม่ถูกต้อง ในกระบวนการพัฒนาเมือง มันต้องไม่ไปละเมิดคนใดคนหนึ่งหรือว่าจะต้องได้รับการเห็นชอบยินยอมสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิด        วันนี้ที่มายื่นหนังสือก็เพราะเห็นว่าผังเมืองอันนี้เขาไม่ได้มาถามเราตอนที่เขาร่าง เท่าที่ฟังดูเหมือนเขาไปถามกันในกลุ่มเอง  ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสายอาชีพนักลงทุนต่างๆ คือเป็นพวกนักพัฒนา ซึ่งมันไม่ใช่   ผมได้ยินพวกคนจนเขามาสะท้อนให้ฟังว่า “เขาเป็นคนจนเขาก็ไม่เคยได้ถูกถามว่าจะให้พวกเขาไปอยู่ไหน” ซึ่งผมคิดว่าการพัฒนาแบบทิ้งคนใดคนหนึ่งมันไม่ถูก แล้วต้องให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแบกรับภาระไป แล้วนักพัฒนาที่ดินได้เงินไปก็ไม่ได้อยู่ที่นั่น ผมสู้มาผมเห็นมาเยอะ   การที่คุณพัฒนาแบบนี้คุณอยู่ในที่ดินหรือเปล่า  คุณก็ไม่ได้อยู่คุณสร้างปัญหาเสร็จแล้วคุณเอาเงินไปไหน คุณเอาเงินไปเข้าบัญชีคุณ แล้วคุณก็ผ่องถ่ายออกไป บางคนมีร่วมลงทุนกับต่างประเทศ เขาได้เงินไปเขาก็ไปอยู่ประเทศเขา แต่เราที่อยู่ที่นี่ เราจะเผชิญกับปัญหา อันนี้คือปัญหาหลักของเมือง ซึ่งการพัฒนาเมืองที่ไม่สมดุล ไม่คำนึงถึงคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ แล้วจะพัฒนาไปเพื่ออะไร คุณอ้างเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวมันไม่ถูก เศรษฐกิจก็ไม่ได้นำความสุขมาให้กับทุกคน คุณพัฒนาเศรษฐกิจแต่คุณกลับสร้างความทุกข์ให้กับคนจำนวนไม่น้อย        ผมคิดว่าเป้าหมายหลักของการพัฒนาที่ กทม. พยายามจะใช้คำว่าเมืองสร้างสุข มันไม่ใช่สโลแกน มันหลอกลวง มันเป็นการโกหกหลอกลวงตัวเอง เพราะว่ากระบวนการที่ เขาทำก็ทำเฉพาะกลุ่มทุน กลุ่มที่มีอำนาจทางด้านการเงินทุนทรัพย์ เข้ามามีบทบาทในการกำหนดว่าประเทศควรพัฒนาไปอย่างไร ซึ่งมันไม่ใช่ ประเทศเป็นของทุกคน เมืองเป็นของทุกคน ควรจะคนทุกภาคส่วน คนทุกเพศทุกวัย ควรจะมีเสียงมีสิทธิ คอนโดต้นตอปัญหานั้นสร้างเสร็จหรือยัง        เขาหยุดสร้างไป มันมีสองคอนโดที่เราสู้ มีคอนโดที่ทำ EIA เราก็สู้โดยใช้ EIA ที่จะสร้าง 30 ชั้น เป็นกลุ่มของเคพีเอ็น อันนี้เราก็หยุดเขาได้คัดค้านได้ แต่สิ่งที่เขาทำก็คือเอาที่ดินนี้ไปขายต่อให้นายทุนกลุ่มอื่น ซึ่งนายทุนกลุ่มอื่น นายทุนกลุ่มใหม่ เขาก็รอผังเมืองใหม่มา เขาถึงจะสร้างเป็นการซื้อไว้เก็ง  มีอีกอันคือคอนโดเก่าซึ่งไม่ได้เก่ามาก เพิ่งสร้างเสร็จแต่ใช้ใบอนุญาตเก่า สร้าง 18 ชั้น ซึ่งใช้ใบอนุญาตเก่าที่ไม่ต้องมีการทำ EIA ไม่ต้องทำเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม  อันนี้เราฟ้องร้อง ตอนนี้อยู่ในศาลปกครอง เพราะเราบอกว่าทำไม่ได้ ที่จะใช้ใบอนุญาตตั้งแต่ปี 35 ปรากฏว่าเขาร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รีบเปิดใช้อาคาร ทำให้มีการเปิดใช้อาคารแล้ว และเราก็ไม่สามารถที่จะหยุดการใช้อาคารของเขาได้ เขาสร้างเสร็จแล้ว เปิดมามีผลกระทบเรื่องน้ำท่วม เรื่องไฟตก เริ่มตั้งแต่เขาสร้างแล้ว เรื่องน้ำท่วมแต่ก่อนเป็นที่ดินเปล่าฝนตกก็รับน้ำ พอเขาสร้างเสร็จน้ำไม่มีที่ไป น้ำก็ลงมาที่ถนน ลงมาในชุมชน คือถ้าเขาปฏิบัติตามกฎหมาย อาคารเขาก็จะไม่สูง พื้นที่คอนกรีตก็จะน้อย ก็จะมีพื้นที่ๆ จะปล่อยให้น้ำซึมลงดินได้มากขึ้น คือเป็นประเด็นที่ชัดเจน ในส่วนของ 30 ชั้นเราก็คิดว่าให้สร้างไม่ได้แล้ว เพราะปัญหาเรื่องจราจรเอง สาธารณูปโภคไม่เพียงพอ ถึงแม้เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าพอ ก็ไม่พอ “เขาก็จะพูดเอาใจช่วยนายทุน แต่เราชาวบ้าน เราอยู่ ฝนตกปุ๊บไฟดับ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยเป็น ไฟดับคือไฟไม่พอ แล้วคุณจะมาเพิ่มการใช้ไฟอีก อีก 30 ชั้นอีก 200 ห้อง 200 ครอบครัวคุณจะเอาไฟที่ไหนมาใช้   คุณเอาหมู่บ้านมาอยู่แนวตั้งมันไม่ได้  การพัฒนาโดยขาดการคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ผมคิดว่ามันไม่ถูกต้อง  เราไม่ได้ต่อต้านการพัฒนา แต่นี่ไม่ใช่เรียกว่าการพัฒนา เรียกว่าการแสวงหาประโยชน์”  เหตุที่มายื่นหนังสือในวันนี้        พอเราทราบข่าวว่าผังเมืองใหม่จะเปลี่ยนพื้นที่จากสีน้ำตาลเป็นสีแดง  ก็คือจะปล่อยผีให้สร้างตึกสูงขึ้นมาได้ เราก็เริ่มไม่สบายใจ เพราะว่ามีคอนโดที่เราสามารถหยุดยั้งเขาได้  ที่เขาพยายามจะสร้างสูงเกินที่กำหนด ซึ่งควรจะเป็น 8 ชั้น แต่ว่าจะสร้าง 30 ชั้น คือเขาจ้องอยู่  วันนี้เขาก็หยุดโครงการ เขาก็รอผังเมืองใหม่ออกมา ให้ถูกกฎหมายแล้วเขาก็จะสร้างได้เต็มที่ ทีนี้จาก 30 ที่เขาวางแผนไว้ก็จะสูงกว่านั้น เพราะว่าถ้าตามแผนนี้เขาก็จะสร้างสูงได้ไม่จำกัดถ้าเป็นสีแดงนี่ก็จะเป็นปัญหา เพราะว่าปกติสภาพการจราจรสุขุมวิทมันก็ติดมาก ขึ้นชื่อว่าเป็นเขตที่รถติดมากเราคิดว่านี่คือประเด็นหลัก ที่เราไม่เห็นด้วยที่จะมาเติมให้พื้นที่ในกรุงเทพฯ มันหนาแน่นขึ้น ซึ่งมันก็หนาแน่นอยู่แล้ว เราก็เลยกลับมาดูว่าผังเมืองนี้โดยภาพรวมแล้ว ถ้ายอมเปิดให้ขยายเส้นสีน้ำตาลมาเป็นสีแดง เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสในการเติมความหนาแน่นเข้าไปอีก จากที่ของเดิมก็แย่อยู่แล้ว ประเด็นที่จะตามมาอีกอันก็คือ ประเด็นของเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเราเห็นว่ามันมีช่องโหว่และมีการคอรัปชัน ดูแล้วทำให้กลับไปคิดว่าเป้าประสงค์ของเขาคืออะไร อดถามไม่ได้ว่าการที่เราปล่อยเส้นสีแดง แล้วก็ไม่ได้ควบคุม ให้สร้างกันได้เต็มที่ในซอยเล็ก ซอยน้อย        ผมคิดว่าประโยชน์มันจะเกิดกับใคร เกิดกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มากกว่าประชาชนส่วนน้อย  แล้วก็ทิ้งปัญหาทั้งหมดให้กับประชาชนธรรมดา ซึ่งไม่มีอะไรที่จะไปต่อรอง   ซึ่งก็ชัดเจนว่าเส้นสีแดงมันไม่ได้ถูกใช้อย่างมียุทธศาสตร์  คือไม่ได้ตอบสนอง ถ้าจะเอาเส้นสีแดงไปใช้ในส่วนของการส่งเสริมให้ความเจริญกระจายออกไปข้างนอก อันนั้นน่าจะเป็นประเด็นที่มีประโยชน์กว่า ควรกระจายออกไป ไม่ควรกระจุกตัวอย่างนี้ เพราะปัญหาเดิมมันไม่ได้แก้ และแก้ไม่ได้ด้วย เพราะด้วยโครงสร้างทางการเมือง โครงสร้างทางหน่วยงานราชการเองก็เป็นปัญหาอยู่ ยังไม่ได้บวกเรื่องของการคอรัปชัน การไม่ซื่อตรงต่างๆ ของเจ้าหน้าที่ๆ บังคับใช้กฎหมาย คิดไหมว่าการยื่นหนังสือจะช่วยเปลี่ยนอะไรได้        คือเรามาสะท้อนให้ผู้ออกแบบให้เขามองในหลายๆ มิติ คือคำนึงในมิติต่างๆ ที่เราได้สะท้อนไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับฟัง การมีส่วนร่วมของประชาชน ประเด็นเรื่องประชากรแฝง ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่ในรูปของคอนโด หรือแม้แต่เรื่องของภาษี ซึ่งเราต้องโดนแน่ๆ เพราะถ้ามาประกาศอย่างนี้ราคาที่ดินก็จะขึ้น เราก็เคยอยู่ดีๆ เราไม่เกี่ยวอะไรจากประโยชน์ของเขา เราก็ต้องจ่ายภาษีที่สูงขึ้น แล้วก็ตามมาด้วยเรื่องอื่นๆ แน่นอน เรื่องสาธารณูปโภคมันไม่พออยู่แล้ว โดยเฉพาะที่จะออกกฎใหม่ที่จะลดจำนวนที่จอดรถยนต์ในคอนโดเหลือ 25 เปอร์เซ็นต์ มันไม่สอดคล้องกับสังคมไทย สังคมไทยเป็นสังคมบูชารถ มันเป็นไปไม่ได้ ไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย คุณให้ 100 เปอร์เซ็นต์เขายังไม่พอ เพราะห้องหนึ่งมีมากกว่าหนึ่งคัน ทุกวันนี้แต่ละคอนโดก็มีปัญหาเรื่องนี้ แล้วก็ทะเลาะกัน คุณจะทำปัญหาเพิ่มขึ้น ตัวนี้ไม่ได้ตอบโจทย์ ถ้าคุณจะจำกัดรถยนต์ เช่น คุณมีมาตรการในเรื่องภาษี รถยนต์ภาษีต้องสูงขึ้น คุณจะต้องมีแผนผังพื้นที่ในการจอดรถด้วยว่าซื้อแล้วจะไปจอดที่ไหน ไม่ใช่ว่าเอาใจมาตรการนายทุน อุตสาหกรรม ทุกวันนี้ไม่รอดอยู่แล้ว ย้ายฐานการผลิตไปหมดแล้ว หลังจากวันนี้ วางแผนอย่างไรต่อไป        คงต้องติดตามแล้วก็รวมกลุ่มผ่านชุมชนต่างๆ ที่ประสานงานโดยมูลนิธิ  คิดว่าเป็นจุดแข็ง เป็นจุดที่ดี  แล้วก็ไปทุกที่ ทุกเวที แล้วก็แสดงให้รัฐเห็นว่า เราไม่ยินยอม เราไม่เห็นด้วยในระดับนี้ จนกระทั่งคัดค้านไปจนถึงที่สุด เมื่อถึงที่สุดของกระบวนการ แล้วมีการไปอนุญาตหรือไปเซ็นโดยมหาดไทย เราก็จะไปถึงศาลปกครองซึ่งขอให้ยับยั้งการออกกฎกระทรวง เขาเรียกกฎกระทรวงซึ่งมันมีผลกระทบกับมหาชนมาก เพราะว่ากฎหมายที่มีผลกระทบกับมหาชนขนาดนี้กับไม่ผ่านสภา กลับไปอยู่กับกระทรวง  ผมคิดว่ามันมีผลกระทบมากแต่ทำไมจะให้แค่ระดับรัฐมนตรีเซ็นผ่านแค่นั้นหรือ น่าจะเป็นระดับประเทศ เพราะว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงเราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมีผลระทบต่อมหภาค เศรษฐกิจและประชากรที่อยู่ในนี้เป็นหนึ่งในสามของประเทศ ดังนั้นผมคิดว่าอะไรที่มีผลกระทบมากๆ จะต้องมีการถกเถียงกันในระดับสภา ทำไมเมืองใหญ่อื่นๆ ถึงทำได้ แต่ประเทศเราทำไม่ได้        ต้องไปดูว่าประเทศที่เขาจัดการได้ เขามีความเข้มแข็งในการจัดการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายเขาศักดิ์สิทธิ์ เขาบังคับใช้ได้ เอาจริง การคอรัปชันน้อย ดังนั้นที่เราเห็นว่าเขาทำได้และอยากทำเหมือนเขานั้น เราไม่สามารถทำได้หรอก เราจะทำแย่กว่าเพราะการบังคับใช้กฎหมายเราต่ำมากต้องแก้  กทม เอง ปัญหาในวันนี้ก็คือตัว กทม  ผู้ที่ต้องบังคับใช้กฎหมายกลับปล่อยปละละเลย หรือมีส่วนรู้เห็นในการที่จะให้เมืองมันพัฒนาไปอย่างบิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามผัง อย่างที่บอกคือวันนี้ที่เรามาเราถามว่าแผนเดิมของปี 56 ผังเดิมมันมีความบกพร่องตรงไหน คุณมีข้อศึกษาไหม คุณก็ไม่มี แทนที่จะเริ่มใหม่ อันเก่าคุณพัฒนาเต็มศักยภาพหรือยัง อันเก่าคุณยังทำไม่เต็มที่แล้วคุณยังมาขยับอีกเพื่ออะไร นี่มันก็คือการตอบโจทย์นายทุนทั้งนั้นอยากฝากถึงคนที่มีผลกระทบคนอื่นๆ หรือผู้อ่านอย่างไร        คือผมคิดว่าวันนี้เราจะปล่อยปละละเลยให้สิ่งต่างๆ ผ่านไป โดยที่เราไม่ใส่ใจมันคงไม่ได้อีกแล้ว เพราะว่าการที่เราปล่อยให้คนอื่นเขาละเมิดเรา เรายินยอมให้เขาทำ แล้วเราก็บอกว่าเราไม่อยากไปยุ่ง มันเลยทำให้ปัญหาลุกลามใหญ่โต ถ้าทุกคนทำหน้าที่คนละเล็กละน้อย แบ่งเบาภาระกันไป  ก็จะไม่ต้องมีคนใดคนหนึ่งทำหนัก แล้วท่านจะเดือดร้อนจนกระทั่งไปสู่วิกฤต เช่น ถ้า ทุกคนช่วยกันปัดกวาดขยะในบ้านและหน้าบ้านตัวเองมันก็จะไม่มีขยะสะสม จนกระทั่งทำให้บ้านเมืองดูไม่ดี ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือก็จะไม่มีปัญหาที่จะต้องมาทำแบบนี้ เพราะฉะนั้นจะบอกว่าขยะหน้าบ้านไม่ใช่ของฉัน ฉันจะทำเฉพาะในบ้านตัวเอง ในท้ายที่สุดขยะหน้าบ้านของคุณมันก็จะมาเป็นปัญหาของคุณด้วย เพราะคุณออกจากบ้านคุณก็จะเจอขยะ เมื่อเราต้องอยู่กันเป็นชุมชนเราก็ต้องดูแลชุมชนด้วย เราอย่านิ่งดูดาย เพราะถ้านิ่งดูดายผลักภาระให้คนอื่นที่เขาใส่ใจมันไม่ค่อยยุติธรรม        การแบ่งเบาภาระซึ่งกันและกันมันจะทำให้เราทำให้ชุมชนเดินหน้าไปด้วยกันได้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดการขาดสมดุลเพราะความไม่ใส่ใจของเรา ที่เราไปดำเนินการตามที่ต่างๆ ก็เป็นเงินส่วนตัว การที่เราออกมาเคลื่อนไหว เราใช้เงินตัวเองไม่มีใครมาว่าจ้าง เราคิดว่าถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีใครทำให้เรา บ้านเราเองถ้าเราไม่ดูแลใครจะมาดูแลให้เรา “เราต้องช่วยกัน คืออย่าไปคิดว่าเวลาคนออกมาเรียกร้อง อย่าไปมองเชิงลบ ต้องดูเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ว่าเขามีปัญหาอะไร บางคนเขาออกมาเพราะปล่อยไปแบบนี้ไม่ได้ เราปล่อยให้บ้านเมืองเป็นแบบนี้ไม่ได้ถ้าเราทุกคนนิ่งดูดายมันก็ไม่ไม่รอด อย่าไปคิดอะไรเชิงลบ มันไม่สร้างสรรค์และมันก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ ยิ่งถ้าเขามาทำให้เรา ถ้าเราช่วยได้ก็ส่งเสริมเขา เป็นกำลังใจ สนับสนุนได้ทางใดได้ก็ทำ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 นโยบายหาเสียงพรรคการเมืองเยอรมัน (ตอนจบ)

อีกนิดนะครับ ตอนนี้จะเริ่มด้วยนโยบายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ การจัดเก็บภาษี พร้อมบทสรุปนโยบาย home care insurance (สำหรับการดูแลคนป่วย คนไร้สมรรถภาพ)พรรค SPD เสนอนโยบาย ให้เงินช่วยเหลือเป็นเงินชดเชยเงินเดือน 3 เดือนแก่ญาติและครอบครัว ที่ต้องดูแลคนป่วย หรือคนไร้สมรรถภาพ ในระยะเวลา  6 เดือน พรรค The Left ต้องการระบบประกัน Home care insurance ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด พรรค CDU เสนอนโยบาย ระบบประกัน ที่ คุ้มครองรายได้ของ พ่อ แม่ ในระหว่างที่ต้องดูแล เด็กพิเศษ (Pflegebedurftige Kinder)นโยบายเงินเกษียณ บำนาญชราภาพ• ประกันเงินบำนาญขั้นต่ำพรรค The Left เสนอนโยบาย เงินบำนาญขั้นต่ำ 1050 ยูโรต่อเดือน พรรค SPD เสนอนโยบายเงินเพิ่มจากเงินบำนาญอีก 10% จากเงินบำนาญพื้นฐานสำหรับคนที่ทำงานที่ทำงานมาเป็นเวลานาน (Solidarrente) พรรค The Greens เสนอแนวความคิด ที่คล้ายกับ การประกันเงินเกษียณ (Garantierrente) พรรค AfD เสนอนโยบาย การเลิกผูกประกันเงินเกษียณกับอายุบางส่วน เพื่อเพิ่มวงเงินเกษียณให้สูงขึ้น.• อายุสำหรับการเกษียณสำหรับคนที่เกิดหลังปี 1964 ตามกฎหมายปัจจุบัน จะเกษียณอายุการทำงานที่ 67 ปี พรรค CDU SPD และ The Greens ยังคงเสนอให้คงรูปแบบการเกษียณอายุการทำงานแบบนี้ไว้พรรค The Greens เสนอนโยบายที่ให้คนทำงานหลังอายุ 60 ปี สามารถเลือก รูปแบบการทำงาน แบบยืดหยุ่นเวลาการทำงานได้ พรรค FDP เสนอนโยบายที่ให้คนอายุ 60 ปีสามารถเลือกเวลาที่ตนเองต้องการเกษียณอายุการทำงานได้เอง ภายใต้เงินบำนาญที่จะได้น้อยลงตามสัดส่วน พรรค The Left เสนอนโยบายที่กลับไป เกษียณอายุการทำงานที่ 65 ปี แต่ถ้าใครเริ่มทำงานเป็นเวลานาน 40 ปี ก็สามารถเกษียณอายุการทำงานที่อายุ 60 ปีได้• เงินบำนาญรายเดือนเงินบำนาญรายเดือนสำหรับ คนทำงานมาแล้ว 45 ปี ที่มีรายได้ สูงเท่ากับค่าเฉลี่ยของคนเยอรมัน ได้เงินบำนาญอยู่ที่ 1200 ยูโรต่อเดือน คิดเป็น 48% ของรายได้เฉลี่ยที่เคยได้รับก่อนเกษียณ จากการวางแผนของระบบการประกันบำนาญชราภาพ ต้องการให้ เงินบำนาญต่อเดือนไม่น้อยกว่า 45 % เทียบกับรายได้เฉลี่ยก่อนเกษียณ ซึ่งคนเยอรมันจะต้องจ่าย เงินประกันบำนาญชราภาพเข้ากองทุนเพิ่มจาก เดิม 18.7% ของรายได้ เป็น 21.8 % ของรายได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรค CDU ต้องการให้คงไว้พรรค FDP ต้องการเสนอแนวความคิดรูปแบบใหม่ใน การคิดสูตรการจ่ายเงินบำนาญ เนื่องจาก คนรุ่นใหม่มีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น พรรค SPD ต้องการคงระดับเงินบำนาญไว้ที่ 48 % และกำหนดเพดานการจ่ายเงินเข้ากองทุนบำนาญชราภาพไม่ให้เกิน 22 % และสร้างระบบการสร้างแรงจูงใจในการจ่ายเงินเข้ากองทุน ด้วยระบบการคืนภาษี พรรค The Left ต้องการเพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณเป็น 53 % แต่ก็เพิ่มอัตราการจ่ายเงินประกันบำนาญชราภาพให้สูงขึ้นเช่นกันนโยบายการจัดเก็บภาษีมีหลากหลายประเด็นในนโยบายการจัดเก็บภาษี จึงขออนุญาต นำมาเล่าในบางประเด็นที่น่าสนใจ• นโยบายการจัดเก็บภาษี ที่เกิดจาก การถ่ายโอน เงินทุน (Finance Transaction Tax)พรรค FDP ค้านการจัดเก็บภาษีลักษณะนี้ ที่จะเกิดขึ้นในการ ซื้อขายหุ้นในตลาดทุน และตลาดหุ้น พรรค The Left ต้องการให้มีการจัดเก็บภาษีลักษณะนี้ ประมาณ 0.1% ของมูลค่าการถ่ายโอน พรรค CDU และ SPD เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีลักษณะนี้ แต่ยังไม่มีรายละเอียดและตัวเลขที่ชัดเจนในการหาเสียง• วงเงินในการลดหย่อนภาษีรายได้ส่วนบุคคลพรรค The Left ต้องการเพิ่มวงเงินในการขอลดหย่อนวงเงินการเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลให้เพิ่มขึ้น จากเดิม รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถหักภาษีได้ไม่เกิน 8,820 ยูโรต่อปี เพิ่มเป็น 12,600 ยูโรต่อปี เพื่อลดภาระของประชาชนที่มีรายได้ เช่นเดียวพรรค The Greens และ พรรค AfD ที่ต้องการเพิ่มวงเงินการขอลดหย่อนภาษีรายได้ส่วนบุคคลให้เพิ่มขึ้น • ภาษีคนรวย (wealth tax)พรรค The Greens เสนอนโยบายการจัดเก็บภาษีคนรวยที่มีทรัพย์สินมากมายเกินความจำเป็น ให้มีประสิทธิภาพ แนวความคิดนี้ พรรค The Left ก็ใช้เป็นนโยบายหาเสียง ในขณะที่พรรค CDU/CSU AfD และพรรค FDP ไม่เห็นด้วย• ภาษีช่วยเหลือเยอรมันฝั่งตะวันออก (Solidarity tax)เป็นภาษีที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1991 หลังการรวมประเทศเยอรมนีตะวันตก และเยอรมนีตะวันออก และแรกเริ่มจะเก็บภาษีนี้เพียงปีเดียว เพื่อที่จะนำเงินภาษีที่ได้ไปบูรณะและพัฒนารัฐเยอรมนีฝั่งตะวันออกพรรค CDU/CSU ต้องการยกเลิกภาษีนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะยกเลิกในปี 2020 พรรค SPD ต้องการคงภาษีนี้ไว้เพื่อนำไปช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง พรรค FDP ต้องการยกเลิกภายในปี 2019นโยบายด้านที่อยู่อาศัยพรรค FDP เสนอนโยบาย ลดหย่อนภาษี ให้กับ บริษัทรับสร้างบ้านและที่อยู่อาศัยขนาดกลาง โดยมูลค่าบ้าน หรือที่อยู่อาศัยไม่เกิน 500,000 ยูโร บริษัทไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเป็นบริษัทที่เป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ มีนโยบายต้องเสียภาษีไม่จำกัดวงเงินของมูลค่าบ้าน ที่อยู่อาศัยพรรค SPD เสนอนโยบายไม่ต้องจ่ายภาษีสำหรับครอบครัวที่ซื้อบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 200,000 ยูโร สำหรับพรรค CDU/CSU มีนโยบายช่วยเหลือด้วยมาตรการทางภาษีให้กับครอบครัวเช่นกัน แต่ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน พรรค AfD มีนโยบายช่วยเหลือเรื่องบ้านและที่อยู่อาศัย โดยยกเลิกการจัดเก็บภาษีการซื้อขายบ้านและที่อยู่อาศัยนโยบายสกัดกั้นค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น(Mietpreisbremse)เป็นนโยบายที่ใช้ในการต่อสู้หาเสียงอย่างหนักหน่วงใน การหาเสียงครั้งนี้ หลักการของแนวทางสกัดกั้นค่าเช่าที่อยู่อาศัยเพื่อไม่ให้สูงเกินไป คือ การให้อำนาจแก่รัฐบาลท้องถิ่นในการประกาศ ภาวะฉุกเฉินในท้องที่ที่มีปัญหาเรื่องค่าเช่าที่อยู่อาศัยราคาแพง เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นประกาศภาวะฉุกเฉินเรื่องราคาค่าเช่าสูงเกินไป แล้ว ผู้ให้เช่าสามารถเพิ่มค่าเช่าจากผู้ขอเช่ารายใหม่ไม่เกิน 110 % ของราคาประเมินแนวคิดนี้ พรรค SPD และ พรรค The Greens ให้การสนับสนุน โดยพรรค SPD ต้องการให้ผู้ให้เช่าเปิดเผย ค่าเช่าก่อนหน้านี้ พรรค The Left ต้องการขยาย ผล ไปยังทุกพื้นที่ ไม่จำกัดเวลา และไม่มีข้อยกเว้นในการดำเนินนโยบายนี้ พรรค CDU AfD และ FDP ไม่ต้องการนโยบายนี้จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา (24 กันยายน 2017) ปรากฏว่า ไม่มีพรรคใดได้รับเสียงข้างมากเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเดียวได้ จึงต้องมีการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วย 3 พรรค คือ พรรค CDU นำโดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แองเจลา แมร์เคิล ที่ได้รับคะแนนเสียง 32.9% (ได้ที่นั่งในสภาบุนเดสท้าก 246 ที่นั่ง) พรรค FDP ได้คะแนนเสียง 10.7 % (80 ที่นั่ง) พรรค The Green ได้รับคะแนนเสียง 8.9% (67 ที่นั่ง) ซึ่งยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ในขณะนี้ (17 ตุลาคม 2017) (ที่มา เว็บไซต์มูลนิธิการทดสอบสินค้าเพื่อผู้บริโภคhttps://www.test.de/Bundestagswahl-Familie-Rente-Steuern-was-die-Parteien-vorhaben-5217841-0/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 นโยบายหาเสียงพรรคการเมืองเยอรมัน (ตอนที่ 2)

ขอรายงานต่อเนื่องเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของเยอรมัน ที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคหลายประเด็น สิทธิของประชาชนในฐานะผู้บริโภค ทั้งนโยบายด้านการคมนาคม การสนับสนุนสถาบันครอบครัว ด้านที่อยู่อาศัย การทำงาน ระบบประกันสุขภาพ ฯลฯ ต่อจากคราวที่แล้วนะครับนโยบายด้านคมนาคม โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งทางบก: รถยนต์ส่วนบุคคลภายในปี 2030 เยอรมนีมีแผนที่จะอนุญาตให้ใช้เฉพาะรถที่ไม่ปล่อยควันจากท่อไอเสียรถยนต์เท่านั้น (emission free auto) ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเขียว (The Greens party) และพรรคฝ่ายซ้าย (The Left Party) ในขณะที่พรรค CDU เน้นในเรื่องการก่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า เพิ่มขึ้น เป็น 50,000 สถานีทั่วประเทศ การจำกัดความเร็วโดยกำหนดความเร็วบนถนน Autobahn ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดความเร็ว) เป็นนโยบายของพรรค The Greens และพรรค The Left Party เรียกร้องให้กำหนดความเร็วในเขตชุมชน ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในขณะที่ พรรค CDU/CSU FDP และ พรรค AfD ต่อต้านนโยบายจำกัดความเร็วบนท้องถนนนโยบายสนับสนุนสถาบันครอบครัว•ที่อยู่อาศัยพรรค CDU มีนโยบายให้เงินสนับสนุนครอบครัวที่จะซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ในวงเงิน 1200 ยูโรต่อลูก 1 คนต่อปี เป็นเวลานาน 10 ปีพรรค SPD ไม่ได้ระบุวงเงินให้ความช่วยเหลือ แต่หาเสียงว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย และรายได้ปานกลางพรรค AfD มีนโยบาย ปลอดดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินในการซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย และมีเงินช่วยเหลือสำหรับค่าภาษี ค่าธรรมเนียมในการซื้อบ้าน•เวลาทำงาน และเงินสนับสนุนสถาบันครอบครัวพรรค SPD มีนโยบายลดเวลาการทำงานของครอบครัวที่มีลูกเล็กที่อายุยังไม่ถึง 8 ขวบ ให้ทำงานไม่เกิน 26-36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เวลาทำงานของคนเยอรมัน ปัจจุบันคือ 43.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และมีเงินช่วยเหลือ เดือนละ 300 ยูโรต่อเดือน เป็นระยะเวลานาน 2 ปี พรรค CDU เสนอนโยบาย ลดหย่อนภาษี สำหรับครอบครัวที่มีลูก 7,356 ยูโรต่อปีพรรค FDP เสนอนโยบาย ให้ลดหย่อนภาษีขั้นสูงสุด (ไม่ได้ระบุจำนวน)พรรค The Greens The Left และ พรรค AfD เสนอการยกเลิก การแยกยื่นภาษีรายได้ส่วนบุคคลของสามีภรรยา เหมือนกับพรรค SPDในขณะที่พรรค FDP ยังคงยืนนโยบายการแยกการยื่นภาษีรายได้ของสามี ภรรยาไว้ พรรค The Left party เสนอนโยบายการจ่ายภาษีที่เป็นธรรมสำหรับครอบครัว แต่ไม่มีรายละเอียด พรรค AfD เสนอนโยบาย การแยกการยื่นภาษีของสามีภรรยา และเสนอรูปแบบการคำนวณการหักภาษีตามฐานรายได้ของครอบครัว โดยคำนึงถึงรายได้ของสมาชิกในครอบครัวทุกคน และพรรคเขียว เสนอนโยบายเงินช่วยเหลือครอบครัวพื้นฐาน (Family Budget) ในกรณีที่มีเด็กที่ต้องเลี้ยงดู•เงินสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัว (Kindergeld)เป็นเงินที่รัฐบาลให้กับครอบครัวที่มีลูก 2 คนแรกได้รับคนละ 192 ยูโรต่อเดือน ลูกคนที่สามได้รับเดือนละ 198 ยูโร และลูกคนที่สี่เป็นต้นไป ได้รับคนละ 223 ยูโรต่อเดือนพรรค CDU/ CSU ต้องการเพิ่มให้อีก คนละ 25 ยูโรต่อคนทุกอัตราพรรค The Left เสนอนโยบายให้เงินสนับสนุนเด็ก 328 ยูโรต่อคนต่อเดือนพรรค SPD เสนอนโยบาย ให้เงินสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็ก ตามฐานรายได้พรรค The Greens เสนอนโยบายให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติม แก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย (Kindergeld-Bonus)พรรค FDP เสนอนโยบายเงินช่วยเหลือเด็ก 2.0 (Kindergeld 2.0) โดยที่แนวความคิดดังกล่าวจะรวมเงินที่ให้ความช่วยเหลือเด็กทุกด้าน มารวมเป็นก้อนเดียวกัน และจ่ายโดยองค์กรส่วนกลาง•ค่าเล่าเรียนใน Kindergartenพรรค SPD The Greens และพรรค The Left ต้องการยกเลิกค่าเล่าเรียนใน Kindergartenนโยบายการประกันสุขภาพพรรค SPD เสนอนโยบายระบบประกันสุขภาพสำหรับทุกสาขาอาชีพ ซึ่งรวมข้าราชการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าไว้ด้วย โดยมีการร่วมจ่ายของนายจ้าง และลูกจ้าง โดยที่ในส่วนของลูกจ้างไม่ต้องจ่ายเงินประกันส่วนเพิ่ม (Zusatzbeitrag der Arbeitsnehmer entfällt) ค่ารักษาพยาบาล ใช้อัตราเดียวกันไม่ว่าจะเป็นการประกันตนแบบภาคบังคับ (Gesetzliche Versicherung) หรือแบบภาคสมัครใจ (Private Versicherung) สำหรับผู้ประกันตนในอนาคตจะไม่มีการแบ่งระหว่าง ประกันภาคบังคับ หรือภาคสมัครใจ (แนวคิดระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว)พรรค The Left และ พรรค The Greens ต้องการยกเลิกการประกันภาคสมัครใจพรรค CDU และ FDP ยังคงต้องการดำรงไว้ระบบประกันทั้งสองระบบยังมีต่ออีกนิด ขอเป็นตอนสุดท้ายฉบับหน้าครับ(ที่มา เว็บไซต์ มูลนิธิการทดสอบสินค้าเพื่อผู้บริโภค https://www.test.de/Bundestagswahl-Familie-Rente-Steuern-was-die-Parteien-vorhaben-5217841-0/)หมายเหตุ พรรค CDU (Christian Democratic Union Party),พรรค CSU (Christian Social Union Party in Bavaria),พรรค SPD (Social Democratic Party),พรรค FDP (Free Democratic Party),พรรค The Greens (Alliance 90/The Greens Party),พรรค The Left (Party of Democratic Socialism Party),พรรค AfD (Alternative for Germany)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 นโยบายหาเสียงพรรคการเมืองเยอรมัน

เดือนกันยายนของปีนี้มีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศเยอรมนี มีพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ คือ พรรคคริสเตียนเดโมแครท(CDU) ที่มีนางแองเจลา แมร์เคิล ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และผู้ท้าชิงจากพรรคฝ่ายซ้าย พรรคโซเชียลเดโมแครท(SPD) คือนายมาร์ติน ชูลซ์ท ซึ่งขับเคี่ยวกันอย่างหนักในด้านนโยบาย สุดท้ายก็ผ่านพ้นไปด้วยชัยชนะของนางแมร์เคิลสิ่งที่น่าสนใจและควรกล่าวถึงคือ เรื่องการดีเบตนโยบายหาเสียงของผู้สมัครจากพรรคใหญ่ทั้งสองท่านนั้น ซึ่งมีประเด็นคำถามต่อนโยบายหาเสียงตามมาอย่างต่อเนื่องว่า ในรายละเอียดการทำนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรมจะเป็นอย่างไร นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในเยอรมันนั้น ต้องแสดงออกมาในรูปของเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตามเพื่อเป็นหลักฐาน และแสดงถึงความโปร่งใส สามารถตรวจสอบจากประชาชนภายหลังได้ โดยมีความหนาถึง 820 หน้าสำหรับบทความครั้งนี้จะขอรายงานเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของเยอรมัน ที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายการเงินการคลัง สิทธิของประชาชนในฐานะผู้บริโภค ระบบสุขภาพ และเรื่องที่อยู่อาศัยนโยบายทางด้าน แรงงาน และการศึกษาในส่วนของสัญญาจ้างการทำงาน หลายๆ พรรคของเยอรมัน โดยเฉพาะพรรคฝ่ายซ้าย (The Left party)พรรคโซเชียลเดโมแครต (SPD: Social Democratic Party) พรรคเขียว (The Green) เสนอว่าให้มีการ ห้ามมีการระบุ การกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างจ้างงาน ถ้าไม่มีเหตุอันจำเป็น ในขณะที่พรรคเสรีนิยม(FDP: the free democratic party) ไม่เห็นด้วยกับการห้ามสัญญาจ้างงานแบบนี้ ปัจจุบันสัญญาจ้างงานที่ระบุเวลาในสัญญาจ้างจะกำหนดที่ระยะเวลา 2 ปีนโยบายเรื่องเวลาการทำงานพรรค CDU ของนางแมร์เคิล เสนอนโยบาย ให้มีสัญญาจ้างแบบ part time working contract  กับบริษัทห้างร้านที่มีขนาดใหญ่ ที่เป็นสัญญาจ้างแบบจำกัดระยะเวลาจ้างงาน เพื่อปูทางนำไปสู่การจ้างงานแบบเต็มเวลา(full time working contract) เป็นการทั่วไป ปัจจุบันการต่อสัญญาว่าจ้างการทำงาน ที่เดิมเป็น part time working contract ขยายมาเป็น full time working contract ใช้ได้กับการต่อสัญญาให้กับพนักงานที่ลางานไปเลี้ยงลูกเท่านั้น(พนักงานเยอรมันมีสิทธิลางานเพื่อไปเลี้ยงลูกได้สามปี)กรณีเรื่องเวลาการทำงานพรรค FDP ต้องการยกเลิก จำนวนชั่วโมงการทำงานรายวันสูงสุดที่กำหนดไว้ว่าไม่เกินวันละ 10 ชั่วโมง เป็นการกำหนดเวลาทำงานเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งกำหนดว่าจำนวนชั่วโมงการทำงานรายสัปดาห์ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้าย(The Left) กำหนดการทำงานรายสัปดาห์อยู่ที่ 30-35 ชั่วโมง และสูงสุดไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับพรรคเขียวต้องการกำหนดเวลาการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และจำนวนชั่วโมงการทำงานอยู่ระหว่าง 30-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นโยบายการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษาพรรค SPD มีนโยบาย เพิ่มเงินช่วยเหลือแก่นักเรียนนักศึกษา และขยายเวลาอายุของผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังขยายโอกาสให้กับนักเรียนนักศึกษาที่เรียน part time study ตลอดจนขยายสิทธิให้กับ กลุ่มที่เรียนการศึกษาต่อเนื่องทางด้านอาชีวะ พรรค The Left Party เสนอนโยบายเพิ่มเงินช่วยเหลือ ระหว่าง 735 ยูโรถึง 1050 ยูโร และเป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่าสำหรับเรื่องทุนเพื่อการกู้ยืมสำหรับการศึกษา (Bafög: Bundesausbildungsförderungsgesetz) ซึ่งเป็นต้นแบบของหลายๆ ประเทศใน การช่วยเหลือทางการเงินสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนนั้น พรรคเขียว ต้องการให้มีการแยกเงินสนับสนุนสำหรับนักเรียนนักศึกษาเพื่อการทั่วไป สำหรับนักเรียนนักศึกษาทุกคน และให้มีเงินพิเศษสำหรับคนที่มีสถานะทางบ้านยากจน และไม่ต้องใช้ทุนคืนในขณะที่พรรค FDP เสนอนโยบายที่ให้ความช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษา โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานะของพ่อแม่ โดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า 500 ยุโรต่อเดือนและหากใครต้องการกู้เงินเพิ่มเติมมากกว่านี้ก็สามารถแสดงความประสงค์ได้ แต่เป็นส่วนที่ต้องใช้ทุนคืนขออนุญาต เล่าต่อในวารสารฉบับหน้าครับ ซึ่งจะมาส่องดูนโยบายเกี่ยวกับด้าน คมนาคม ครอบครัว ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ การจัดเก็บภาษี ที่อยู่อาศัย กันครับ(ที่มา เวบไซต์ มูลนิธิการทดสอบสินค้าเพื่อผู้บริโภค https://www.test.de/Bundestagswahl-Familie-Rente-Steuern-was-die-Parteien-vorhaben-5217841-0/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ขอแก้ด้วยคน

และแล้ว เหตุการณ์น่าระทึกใจจากการชุมนุมประท้วงต่างๆ ทั้งเรื่องสีเสื้อ เรื่องทวงคืนเขาพระวิหาร ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ตามมาด้วยเสียงถอนหายใจดังๆ ที่แสดงถึงความโล่งอกโล่งใจ ของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ก็หายใจได้ชื่นปอดมากขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลยังน่าจะยืนระยะต่อไปได้อีกพักหนึ่งแน่ๆทันทีที่สิ้นเสียงปี่กลองของการชุมนุม พลันก็มีเสียงโหยหวนจากเหล่านักการเมือง เรื่องการขอแก้รัฐธรรมนูญดันแทรกขึ้นมาทันทีทันใด โดยการขอแก้ครั้งนี้มีนัยยะสำคัญว่า คราวนี้ต้องแก้ให้ได้ ใครเอาช้างมาฉุดก็น่าจะยาก หากมีการแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จก็หมายความว่า ปี่กลองการเลือกตั้งต้องดังขึ้นมาอีกครั้งอย่างแน่นอน ดังนั้นหากจะพูดว่าการแก้รัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้งเกือบๆ จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ไม่ผิดเมื่อพูดถึงการเลือกตั้งสำหรับผู้เขียนนั่นหมายถึงการไม่มีทางเลือก เพราะคำว่าเลือกตั้งควรจะหมายถึงสิทธิที่เราจะเลือกใครก็ได้ที่เราชอบ แต่ความจริงคือเราเลือกคนที่เราชอบไม่ได้(ไม่มีคนชอบให้เราเลือก) เราต้องเลือกคนที่พรรคการเมืองจัดมาให้(ผู้ผลิตสินค้า) ถ้าเปรียบนักการเมืองเป็นสินค้าก็เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกไม่ได้ เหมือนถูกบังคับให้ต้องซื้อสินค้าที่คุณภาพต่ำ และไร้มาตรฐานแบบไม่มีทางเลือก และเมื่อเลือกไปแล้วรู้ว่าสินค้าไม่ดี การขอคืนสินค้าขั้นตอนการคืนก็ยุ่งยาก สรุปคือมันคืนไม่ได้ (จริงอยากใช้พรบ.ขายตรงที่บอกว่าสินค้าซื้อแล้วไม่พอใจสามารถคืนเงินได้ใน 7 วัน แฮ่ๆ แต่มันก็ใช้ไม่ได้ง่ะ..)ครั้นเราจะไม่ไปเลือกก็อาจถูกประณามว่านอนหลับทับสิทธิ ไม่ใช่นักประชาธิปไตยอีก(อึดอัดว่ะ) การตัดสินใจเลือกของเราที่มุ่งหวังจะเลือกคนที่เราชอบจึงเป็นไปไม่ได้ จากที่ต้องการเลือกคนที่ดีที่สุด กลายมาเป็นว่าเราต้องเลือกคนที่คิดว่าพอมีความดีหลงเหลือหน่อย(เลวน้อยที่สุด) บางคนใช้วิธีอารยะขัดขืน โดยการฉีกบัตรเลือกเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ต้องการสินค้าที่เขาส่งมา หรือไม่ออกไปใช้สิทธิมันซะเลย ให้มันสิ้นเรื่องสิ้นราวกันไป หรือทางออกสุดท้ายของการใช้สิทธิคือการกาช่องไม่ประสงค์จะเลือกผู้ใด (โนโหวต) และตรงนี้เองคือปัญหา เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้สิทธิตรงนี้ไว้ แต่จริงๆ คือไม่มีสิทธิ เพราะผลที่เกิดขึ้นคือ การกาช่องไม่ใช้สิทธิ มีผลเท่าบัตรเสียเท่านั้น คือไม่มีผลใดๆ ต่อการนับคะแนนเลือกตั้งเลย ไม่รู้ว่าให้สิทธิตรงนี้ไว้ทำไม ? ดังนั้นหากต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ ก็อยากจะเสนอให้ มีการแก้เรื่องผลการโนโหวต ให้มีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่ากับการกาช่องลงคะแนน เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งก็อึดอัดกับการที่ต้องเลือกคนที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอมา และต้องกล้ำกลืนฝืนทนเลือกทั้งๆ ที่ไม่เต็มใจ และเมื่อหากจะแก้รัฐธรรมนูญกันทั้งที ก็เลยอยากขอแก้ด้วยคนโดยขอเสนอแก้ไขให้ผลการโนโหวต จำนวนกี่ % ก็ว่ากันไป ให้มีผลให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นอันโมฆะ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ต้องการสินค้าที่พรรคการเมืองส่งมาให้เลือก โดยให้พรรคการเมือง ส่งคน มาให้เราเลือกใหม่อีกครั้ง...หากอยากจะแก้กันจริงๆ กล้าแก้ตามที่เราเสนอมั้ยล่ะ..ท่านนักการเมือง .......................

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถได้เวลาแก้ใหม่แล้ว

ช่วงนี้หากใครได้ดูข่าวทีวีนอกจากข่าวเรื่องการเมือง เรื่องสนุกสนานของรัฐบาล และเครือข่ายของอดีตนายกทักษินที่ต่อสู้กันด้วยการสาดน้ำลายใส่กันบนหน้าจอทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมถึงการใช้ระบบเทคโนโลยีถล่มกันอย่างเมามันแล้ว ก็ยังมีข่าว(ที่ต้องพยายามดู) ของเครือข่ายผู้บริโภค ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาจากการใช้ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ เพราะ พรบ.ฉบับนี้เป็น พรบ.ที่บังคับทุกคนที่มีรถต้อง ทำพรบ.ทุกคนทุกคัน การบังคับดังกล่าวเป็นการบังคับให้ชาวบ้านอย่างเราๆ ต้องจ่ายเงินให้บริษัทประกันภัยเอกชน ที่เวลารับเงินเราแสนจะอำนวยความสะดวกทุกอย่าง มีตัวแทนไว้คอยรับทำประกันทุกที่ ทุกตรอกซอกซอยมีหมด แต่เวลาจะจ่ายสินไหมคืนเราเมื่อเราประสบอุบัติเหตุ กลับเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีเทคนิคมากมายที่จะประวิงเวลาและทำทุกวิถีทาง ที่จะจ่ายเงินให้น้อยที่สุดหรือไม่ต้องจ่ายเลยก็ยิ่งดี (ว่าไปนั่น)ผู้บริโภคเลยสุดทนกับกฎหมายที่แสนจะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน แต่ชาวบ้านอย่างเราๆแสนจะเสียเปรียบ เสียเปรียบอย่างไรนะหรือ หากพูดไปเรื่อยๆ อาจจะเห็นภาพได้ยาก จึงขอยกตัวอย่างหนึ่งมาเล่าสู่กันฟังเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 มีโทรศัพท์มาร้องทุกข์กับผู้เขียน กรณีคนถูกรถชนตาย 3 ศพ โดย พ่อ-แม่ ตายหมดเหลือลูกสาวคนเดียวน่าสงสารมาก ผู้เขียนได้ขับรถไปฟังเรื่องราว จึงทราบว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2552 ผู้เสียชีวิตคือนายสำเริง จันทร์รอด(ผู้ขับขี่) โดยมีนายสมโภช ณ บางช้าง และนาง ยุวดี ณ บางช้าง ซ้อนท้ายกลับจากตลาดแม่กลอง มาบนถนนวงแหวนรอบนอก ดอนหอยหลอดจังหวัดสมุทรสงคราม(ที่มีรถไม่หนาแน่น) โดยขับมาปกติ แต่จู่ๆ ก็มีรถฟอร์จูนเนอร์(โตโยต้า) ขับสวนมาด้วยความเร็วสูงและแหกโค้งมาชน ทำให้ทั้ง 3 คนตายคาที่ และรถคันดังกล่าวขับหนีไป แต่ถูกตำรวจสกัดจับไว้ได้ในสภาพมึนเมาเต็มที่รถมอเตอร์ไซด์คันที่ถูกชนได้ทำพรบ.ผู้ประสบภัยจากรถไว้กับบริษัทนำสินประกันภัย แต่ที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าเมื่อประสบเหตุอย่างนี้ เขาต้องทำอะไรบ้าง เมื่อผู้เขียนถามว่าตำรวจไม่แนะนำอะไรบ้างหรือ ก็ได้คำตอบว่าไม่มี ไม่เห็นตำรวจบอกอะไรเลย ผู้เขียนถามต่อว่ารู้ไหมว่าพรบ.รถที่เราทำนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วเราจะได้อะไรบ้าง คำตอบคือ ไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องทำพรบ.ไม่อย่างนั้นจะถูกตำรวจจับ ผู้เขียนฟังแล้วสะท้อนใจจริงๆ นี่ล่ะชาวบ้านตัวจริง คือไม่รู้อะไรเลยทั้งๆ ที่เป็นสิทธิของตัวเอง กลายเป็นว่าที่ทำประกันเพราะกลัวตำรวจ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็เพิกเฉย ไม่สนใจทุกข์ร้อนของชาวบ้านเลย ตามพรบ.แล้วผู้ซ้อนซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ต้องได้ค่าปลงศพ ศพละ 100,000 บาท ผู้ขับขี่ต้องได้รับค่าปลงศพเบื้องต้น 35,000 บาทภายใน 7 วัน(ที่เหลือรอพิสูจน์ถูกผิด) แต่นี่ดูรึคนตาย 3 คน 7 วัน แล้วการช่วยเหลือเบื้องต้นจาก พรบ.ยังไม่มีเลยสักบาท (ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงครามได้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องนี้แล้ว) เป็นไงล่ะเรื่องที่เล่ามาพอจะเห็นปัญหากันบ้างหรือยัง อาจจะมีบางคนบอกว่าช่วยไม่ได้อยากโง่เอง ก็ให้ลองคิดดูว่าเด็กผู้หญิงที่อายุแค่ 15 ปี ที่เสียทั้งพ่อและแม่ไปในเวลาเดียวกัน เขาจะเอาสมองที่ไหนมาคิด และนี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ว่าทำไมเครือข่ายผู้บริโภคจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ยกเลิกหรือทบทวน พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ โดยให้มีการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านอย่างเราๆ บ้าง เพราะปัจจุบัน องค์กรกำกับดูแลการประกันภัย เช่น คณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ทำให้เราขาดความเชื่อมั่นในพรบ.ฉบับนี้จะรอรัฐบาลก็ไม่ได้ผู้บริโภคอย่างเราจึงต้องลุกขึ้นมาร่วมกันเขียนกฎหมายในชื่อใหม่คือ “กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ” โดยโอนค่ารักษาพยาบาลไปใช้ตามสิทธิของแต่ละคน โดยพรบ.นี้จะจ่ายเพียงค่าสินไหม กรณีบาดเจ็บต่อเนื่อง ทุพลภาพ เสียชีวิต เท่านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างล่ารายชื่อนะ ใครเห็นด้วยเร่งมาลงชื่อโดยไว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ไม่ให้ไม่ว่า…ขอแค่อย่าทำร้าย

เป็นที่รับรู้กันว่า ประชาธิปไตยบ้านเรา เป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่ก็สนุกดีแบบไทยๆ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นไทยก็ยังเป็นไทยอยู่วันยังค่ำ(จริงไหม?)เสร็จจากการประท้วง สุดฤทธิ์สุดเดช กันไปตามอัธยาศัยแล้ว ถึงการเมืองบ้านเราจะยังมีกรุ่นๆ กันอยู่บ้างแต่ก็ทำให้เราๆ ท่านๆ หายใจได้ทั่วปอดขึ้นใช่ไหมล่ะ เมื่อการเมืองเบาบางลง ก็ตามมาด้วยเสียงเพรียกร้องหาความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ ที่ดังขึ้นมาแทรกแทนเสียงโหยหวน.. ของเหล่านักการเมือง ทั้งกลุ่มหนี้สินชาวนา กลุ่มหนี้สินอื่นๆ และเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่ต้องเรียกร้องกันทุกปี เพราะไม่ว่าพรรคการเมืองพรรคไหนขึ้นมาบริหารประเทศ ก็ไม่มีการวางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องราคาสินค้าทางการเกษตรแบบระยะยาวเลยสักพรรคเดียว มีเพียงการแก้ไข แบบขอไปที น้อง-พี่-ลุง-ป้า จึงต้องออกมาร้องขอความช่วยเหลือกันทุกปีจะว่า น้อง-พี่-ลุง-ป้า เหล่านี้คือเหยื่ออันโอชะของนักการเมืองก็ไม่น่าจะผิด เพราะการแก้ไขแต่ละครั้ง ใช้งบมหาศาลและก็รั่วไหลทุกครั้งที่มีโครงการช่วยเหลือ(ก็อดคิดเสียไม่ได้ว่าเพราะเรื่องนี้ใช่หรือไม่ที่ทำให้เหล่านักการเมืองจึงไม่คิดแก้ไขแบบจริงๆ จังๆ กันเสียที) แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาส่งเสียงมาสู่รัฐ เขาเหล่านั้นไม่เคยร้องขอให้รัฐไปช่วยเหลืออะไร ขอเพียงขอให้เขาได้อยู่กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ที่เขาคุ้นชินเท่านั้น เขาเหล่านั้นคือกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และโรงงานขนาดใหญ่ ที่พวกเขากลัวว่าการก่อสร้างเหล่านั้นจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อาชีพ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ของพวกเขา แก่นแท้ของการร้องขอนั้น เขาไม่เคยขอให้รัฐช่วยอะไร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หรืออื่นๆ เขาขอเพียงรัฐยอมปล่อยให้เขาได้อยู่ในสิ่งที่เขาเคยอยู่เท่านั้นจนได้อ่านข่าวที่ กกต. ชี้ออกมาว่า ท่าน สส.ผู้ทรงเกียรติ หลายท่านน่าจะพ้นสภาพการเป็น สส.เพราะตนเองหรือภรรยาเข้าไปถือหุ้น ในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ ทั้งหุ้น ปตท. หุ้นไฟฟ้า และหุ้นอื่นๆ อ้อ..เพราะอย่างนี้นี่เองนักการเมืองทั้งหลายถึงไม่ใยดีและเพิกเฉยต่อคำเรียกร้อง ของกลุ่มผู้คัดค้านเพื่อสิ่งแวดล้อม ก็ท่านทั้งหลายที่กล่าวถึงมามีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่มากมายนี่เอง อ่านข่าวแล้วรู้สึกสะใจจริงๆ เพราะไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหน ที่สามารถล้างบางนัก การเมืองขี้ฉ้อได้เท่ารัฐธรรมนูญปี 50 นี้เลย(สะใจเจงๆๆ) เพราะการเขียนไว้ว่าห้ามนักการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นถูกต้องแล้ว เพราะนักการเมืองเป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจในการบริหารจัดการในทุกด้าน และนักการเมืองก็เป็นมนุษย์มันก็หนีไม่พ้นที่จะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ความเป็นธรรมจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริงได้ถ้าไม่สามารถกำจัดผลประโยชน์ทับซ้อนออกไปได้(ถึงแม้ออกไม่หมดแต่ก็ดีกว่าไม่ออกเลย) เอาเป็นว่าผู้เขียนชูจั๊ก-กะ-แร้ เชียร์เพื่อนพ้องน้องพี่ พลังบริสุทธิ์ที่ก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว ออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมไว้ให้เป็นของขวัญสำหรับลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป และช่วยยืนยันสโลแกนที่ว่า “ไม่ให้ไม่ว่าขอแค่อย่าทำร้าย” ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนและขอให้ไอ้พวกขี้ฉ้อสูญพันธุ์จากประเทศไทยไปสักที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ตุ๋นออนไลน์

“ผมชื่อ พรชัย เตชะไพบูลย์ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยครับ”คุณธัญชนก รู้สึกปลื้มสุดๆ ที่การเข้าเอ็มเอสเอ็นในวันนั้นทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับนักการเมืองชื่อดังของพรรคการเมืองที่ชื่นชอบ และให้รู้สึกสงสารมากๆ ที่ทราบว่าเขาเป็นหนึ่งในนักการเมือง 111 รายที่ถูกห้ามเล่นการเมืองปกติแล้วคุณธัญชนกจะใช้บริการโปรแกรมรับ-ส่งข้อความทางอินเทอร์เน็ตหรือเอ็มเอสเอ็นโดยผ่านการเป็นสมาชิกกับเว็บไซต์ www.sanook.com ทำให้มีโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาอยู่เสมอ แต่ครั้งนี้ถือว่าพิเศษสุดเพราะผู้ที่อ้างว่าเป็นนายพรชัย เตชะไพบูลย์ ได้บอกว่าในวงคุยเอ็มเอสเอ็นขณะนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ก็กำลังร่วมวงสนทนาอยู่ด้วย“เราคุยกันเรื่องการเมือง เรื่องหุ้น เขาบอกว่านอกจากจะเป็นนักการเมืองแล้ว ยังทำธุรกิจหลายประเภท เช่น ขายเสื้อผ้าส่งออก ทำธุรกิจรังนก และทำรีสอร์ทที่จังหวัดระยอง แต่ที่ทำให้เกิดรายได้เป็นกอบเป็นกำมาจากการเล่นหุ้น ปตท.เขาแนะนำให้เราซื้อหุ้น ปตท.กับเขา เขายกตัวอย่างว่าหากหุ้นราคา 1 บาทถ้าซื้อเราจะได้ค่าตอบแทนถึง 500 บาท และอ้างว่าคุณสุดารัตน์(เกยุราพันธุ์) ก็กำลังเล่นเอ็มเอสเอ็นกับเราด้วย ระหว่างนั้นก็พูดคุยกันเรื่องการเมืองกับเรื่องหุ้น ทำให้เราหลงเชื่อ”“เขาบอกห้ามเราบอกใคร เขาบอกว่าหุ้นนี้เป็นหุ้นนักการเมืองรู้กันเฉพาะวงในเท่านั้นถ้าบอกเขาต้องเดือดร้อนแน่” แค่ระยะเวลาการติดต่อเพียงแค่สองวันแต่ด้วยผลประโยชน์บังตาและคำพูดสำทับที่น่าเชื่อถือเหมือนได้คุยกับนักการเมืองจริงๆ ทำให้เหยื่ออย่างคุณธัญชนกเชื่ออย่างไม่สนิทใจและตกลงขอซื้อหุ้นจากนักการเมืองกำมะลอรายนี้ไป 100,000 หุ้นในราคา 750,000 บาท และโอนเงินเข้าบัญชีให้กับนักต้มตุ๋นรายนี้ในเวลาต่อมา “รอบแรกก็หลงเชื่อโอนไปให้ 50,000 บาท เขาบอกว่าเราต้องลงพอร์ต 3 ครั้ง เขาพูดจาน่าเชื่อถือมากๆ เราก็เชื่ออีก ต่อมาก็โอนเงินให้เขาเรื่อยเป็นครั้งๆ สองแสนห้า สองแสน ห้าหมื่น สองหมื่น เรื่อยมาทั้งหมดก็เจ็ดแสนกว่าได้ ระยะเวลาเพียงแค่สองอาทิตย์เท่านั้นแล้วก็เป็นเงินที่กู้เขาทั้งหมด เขาบอกว่าจะโอนเงินจากการขายได้ให้ในวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2551 สุดท้ายก็เงียบไป”เมื่อสงสัยว่าจะถูกหลอก คุณธัญชนกจึงได้ค้นข้อมูลหาชื่อ “นายพรชัย เตชะไพบูลย์” ในโปรแกรม Google ทำให้พบชื่อนายพรชัย หรือคิม เจริญวัฒนาไพบูลย์ อายุ 40 ปี ซึ่งเคยถูกตำรวจจับกุมในข้อหาแอบอ้างชื่อคนดังฉ้อโกงประชาชนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 8-9 ปีที่แล้ว เมื่อเทียบเคียงรูปการณ์ที่ตนเองประสบ...จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในทันทีผลการดำเนินการ บ่วงกรรมตามทันครับเพราะเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำการจับกุมตัวนายพรชัย หรือคิม เจริญวัฒนาไพบูลย์ ได้พร้อมสมุดเงินฝากธนาคารต่างๆ ซึ่งมียอดเคลื่อนไหวในบัญชี มูลค่านับล้านบาท โดยสามารถจับกุมตัวได้ที่ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเซนจูรี่พลาซ่า ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจากการสอบสวนเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า นายพรชัยผู้ต้องหารายนี้จบการศึกษาแค่ระดับ ม.6 แต่ที่บ้านค่อนข้างมีฐานะเพราะเปิดกิจการขายผลไม้ และเสื้อผ้าย่านโบ๊เบ๊ จึงสามารถซื้อมือถือรุ่นแพง ๆ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมาทำการหลอกลวงผู้เสียหายได้ โดยบางครั้งก็จะอาศัยเช่าชั่วโมงตามร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ลงมือก่อเหตุ ก่อนรายของคุณธัญชนกนั้น นายพรชัยเคยหลอกลวงผู้หญิงรายหนึ่งให้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อจ่ายค่าหุ้นมาแล้วกว่า 300,000 บาท แต่เมื่อผู้เสียหายจะเอาเรื่อง นายพรชัยจึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากบิดา ให้พาทนายความนำเงินไปเคลียร์หนี้ให้จนผู้เสียหายยอมความแต่ครั้งนี้ หลังไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คุณธัญชนกก็ได้มาร้องขอความช่วยเหลือด้านคดีความกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย และมูลนิธิฯ ได้จัดทนายความจากศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคให้ความช่วยเหลือในทางคดี จนทำให้ผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีกับอัยการได้ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 ศาลจังหวัดพระโขนงได้ตัดสินให้นายพรชัย เจริญวัฒนาไพบูลย์ มีความผิดฐานฉ้อโกงลงโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน แต่นายพรชัยให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 3 ปี 9 เดือน และให้จำเลยคืนเงิน 750,000 บาทแก่คุณธัญชนกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 170 กระแสต่างแดน

รถเมล์ในเมืองหลวง กระแสต่างแดนฉบับนี้พาคุณไปดูความเคลื่อนไหวของวงการรถโดยสารสาธารณะในเมืองใหญ่ของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเรียกน้ำย่อย ก่อนจะไปพบกับเรื่องเด่นประจำฉบับที่ว่าด้วยสถานการณ์รถเมล์โดยสารในกรุงเทพมหานครของเรา เริ่มจากสิงคโปร์ ต้องยกให้เขาจริงๆ เรื่องความเป็นเลิศในการจัดบริการสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขนส่งมวลชนที่นักข่าวหลายสำนักจัดให้อยู่ในสิบอันดับที่ดีที่สุดของโลก แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนสิงคโปร์เองยังไม่ค่อยพึงพอใจกับบริการรถเมล์ของเขาเท่าที่ควร เพราะยังต้องรอ “นานเกินไป” รัฐจึงต้องออกมาตรการ “ทำดีได้ ทำร้ายเสีย” เพื่อเพิ่มอัตราการตรงต่อเวลา ซึ่งก็ถือว่าได้ผลดีทีเดียว ผลการประเมินระหว่างเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาพบว่า เวลารอรถเมล์ลดลงประมาณ 12 – 36 วินาที(ย้ำวินาที) บริษัท SBS Transit ได้รับเงินรางวัลประมาณ 17 ล้านบาท จากการทำให้รถเมล์ของบริษัทวิ่งตรงเวลาขึ้น อีกบริษัท คือ SMRT Corp ก็ไม่น้อยหน้า ได้ไปประมาณ 8.3 ล้านบาท เช่นกัน บริษัทจะได้รางวัล 6,000 เหรียญ(ประมาณ 145,000 บาท) ทุกๆ 6 วินาทีของ “เวลารอรถเมล์” ที่ลดลง แต่เดี๋ยวก่อน บริษัทจะถูกปรับ 4,000 เหรียญ(ประมาณ 96,000 บาท ต่อทุกๆ 6 วินาทีที่คนต้องรอนานขึ้นด้วย และเพื่อให้ได้บริการที่ดียิ่งขึ้น รัฐบาลจึงส่งเสริมการแข่งขันด้วยการเปิดให้เอกชนที่มีรถเมล์ในสังกัดไม่ต่ำกว่า 250 คันเข้าร่วมประมูลเส้นทางเดินรถ ในเบื้องต้นมี 3 แพ็คเก็จ เริ่มจากบูลิมแพ็คเก็จที่มี 26 เส้นทาง ซึ่งข่าวระบุว่ามีผู้สนใจร่วมประมูลถึง 11 เจ้า ตั้งแต่เจ้าเก่าอย่าง SBS Transit และ SMRT Corp ไปจนถึงผู้ประกอบการผลงานเยี่ยมจากจีน อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรเลียด้วย ใครจะเป็นผู้ได้เซ็นสัญญาต้องติดตามในปลายเดือนพฤษภาคม มาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์จัดว่ามีเครือข่ายการขนส่งมวลชนที่ดีอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียน แต่ปัญหาเรื่องการวางผังเมือง สภาพการจราจรที่หนาแน่น และความสะดวกในการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัว ก็ยังทำให้การปรับปรุงคุณภาพการเดินทางบนท้องถนนโดยรถสาธารณะเป็นเรื่องยาก ปัจจุบันอัตราการใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้นเพราะผู้คนต้องการลดภาระจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น เลยทำให้ต้องยอมรับสภาพการเดินทางที่ใช้เวลาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ใช้บริการรถเมล์สายต่างๆ (ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ Rapid KL) เพราะยังต้องพบกับสถานการณ์รถขาดช่วง มาช้า หรือวิ่งนอกเส้นทาง แถมยังมีประเด็นเรื่องขาดแคลนพนักงานขับรถด้วย รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2015 นี้จะต้องมีผู้คนใน Klang Valley (รวมตัวเมืองกัวลาลัมเปอร์) ใช้บริการขนส่งมวลชนไม่ต่ำกว่า 750,000 ไปที่อินโดนีเซียกันบ้าง ล่าสุด บริษัททรานส์จาการ์ตา ผู้ประกอบการรถ BRT ในเขตเมืองจาการ์ตาซึ่งเป็นระบบ BRT ที่ยาวที่สุดในโลก(208 กิโลเมตร) ครอบคลุม 12 เส้นทาง จะเป็นผู้ดูแลการขนส่งสาธารณะทางบกทั้งหมด รวมถึงรถเมล์ร่วมบริการด้วย คนขับรถร่วมก็สนับสนุนแผนการปรับปรุงบริการรถร่วมโดยบริษัทที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เพราะปัจจุบันรายได้ของพวกเขาขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสาร จึงเน้นรับคนให้ได้จำนวนมากไว้ก่อน อาจจะละเลยเรื่องบริการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพไปบ้าง แต่ปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารลดลง รายได้ก็ลดลง พขร. รายหนึ่งบอกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนเขาเคยหาได้ถึงวันละ 200,000 รูเปีย(ประมาณ 500 บาท) แต่วันนี้ถ้าได้ 100,000 รูเปีย ก็นับว่าโชคดีมากแล้ว จึงคิดว่าถ้ามีเงินเดือนเหมือนพนักงานบริษัทก็ย่อมดีกว่าแน่นอน(พวกเขาจะได้รับโอกาสเข้าทำงานกับทรานส์จาการ์ตา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องผ่านการอบรมและรับรองก่อน) เงินเดือนพวกเขาจะเป็นเท่าไรข่าวไม่ได้บอก แต่ที่แน่ๆ ค่าแรงขั้นต่ำในจาการ์ตา คือ 6,000 บาท บรูไน ประเทศที่คนส่วนใหญ่มีฐานะดีและนิยมใช้รถส่วนตัวก็ประกาศแผนแม่บทเพื่อยกเครื่องขนส่งมวลชนให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพารถยนต์ส่วนตัวและสร้างความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันขนส่งมวลชนในบรูไนมี 3 ประเภทได้แก่ รถโดยสาร รถแท็กซี่ และเรือแท็กซี่ ซึ่งยังมีจำนวนไม่พียงพอ ไม่ครอบคลุมเส้นทาง และยังขาดประสิทธิภาพและคุณภาพ จึงไม่เป็นที่นิยมทั้งในหมู่คนท้องถิ่นและคนต่างชาติ สิ่งที่จะได้เห็นเป็นอันดับแรกๆ คือเส้นทางรถ BRT จำนวน 4 เส้นทางในเขตบรูไน-มัวรา รวมความยาว 48 กิโลเมตร ที่จะมีรถออกทุก 4 นาที และในนั้นก็มีเส้นทางที่สำรวจพบว่ามีผู้คนใช้มากที่สุดนั่นคือ ระหว่างมัสยิดทอง Masjid Jame'Asr Hassanil Bolkiah Mosque กับโรงพยาบาล Raja Isteri Pengiran Anak Saleha Hospital ที่รองรับผู้โดยสารถึง 60,000 คนต่อวันด้วย ฟิลิปปินส์ กรมการขนส่งและการสื่อสารของฟิลิปปินส์เชื่อว่า ระบบที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในกรุงโซล ประเทศเกาหลีจะใช้ได้ดีกับการปฏิรูปรถโดยสารในกรุงมะนิลา เขาต้องการลดอุบัติเหตุจากรถประจำทางและเพิ่มความคล่องตัวของการจราจร โดยเริ่มจากการทดลองใช้ระบบการประมูลเส้นทางรถเมล์ C5 ในเขตตัวเมืองของมะนิลา ระบบเดิมของเขาคือ คนขับรถจะต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้กับผู้ประกอบการเมื่อจบ “กะ” ของตนเองในแต่ละวัน แต่ในระบบใหม่รัฐจะให้เงินช่วยเหลือกับคนขับในบางเส้นทางเพื่อให้สามารถออกรถตามกำหนดเวลา ไม่ต้องถ่วงเวลาเพื่อรอรับคนหรือขับเร็วขับแซงเพื่อแย่งลูกค้าจากรถคันอื่น  ก่อนหน้านี้เคยมีข้อเสนอจากวุฒิสมาชิกให้จ่ายค่าตอบแทนคนขับรถเป็นเงินเดือนที่แน่นอน และปรับปรุงสภาพการทำงานให้ดีขึ้นเพื่อลดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาแล้ว กัมพูชา กัมพูชาเตรียมเปิดบริการรถสาธารณะอีกครั้ง(หลังจากเมื่อ 13 ปีที่แล้วเปิดดำเนินการได้เพียง 2 เดือนก็ต้องพับไป) เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการจราจรในกรุงพนมเปญ ซึ่งมีประชากร 2 ล้านคน มอเตอร์ไซค์ 1 ล้านคัน และรถยนต์อีก 300,000 คัน เขาหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้คนจะเลิกการใช้มอเตอร์ไซค์แล้วหันมาใช้บริการสาธารณะแทน รัฐมนตรีท่านหนึ่งให้ความเห็นว่าคราวก่อนที่ไม่ประสบความสำเร็จก็เพราะผู้คนยังติดกับการมีรถมาส่งถึงหน้าบ้าน ไม่ชอบเดินไกล จึงไม่ชอบขึ้นรถเมล์ อย่างไรก็ดีตั้งแต่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา มีรถปรับอากาศ 10 คันทดลองให้บริการระหว่าง 5.30 น. – 16.30 น. บนถนนมณีวงศ์ ด้วยค่าโดยสาร 1,500 เรียล (12 บาท) ตลอดสาย ซึ่งถูกกว่าการขึ้นมอเตอร์ไซค์รับจ้าง “โมโตดุ๊บ” ถึง 5 เท่า ถ้าได้ผลตอบรับดีเขาก็จะพิจารณาเพิ่มรถและเพิ่มเส้นทางอีกที เวียดนาม ในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ การขนส่งมวลชนยังพัฒนาไปไม่ถึงเป้า รถส่วนตัวยังเต็มท้องถนน เวียดนามยังไม่มีระบบรถไฟฟ้าหรือรถ BRT ในเขตเมืองและยังขาดความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับรถโดยสารสาธารณะ นักวิจัยจากโครงการลดความแออัดของการจราจร ระบุว่าในช่วงปี 2011 – 2015 การใช้บริการขนส่งสาธารณะในเมืองนี้จะมีไม่เกินร้อยละ 15 ของความต้องการในการสัญจรไปมาเท่านั้น ที่ผ่านมาเทศบาลโฮจิมินห์ซิตี้ มุ่งแต่เรื่องการปรับปรุงสภาพรถ(มีการชงเรื่องขอจัดซื้อรถเมล์ใหม่ 1,670 คัน) แต่ถึงจะปรับปรุงสถานีขนส่งหรือเพิ่มบัสเลนแล้วก็ตาม ในปี 2015 นี้คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการรถเมล์เพียง 707 ล้านคน หรือร้อยละ 11.5 ของความต้องการในการเดินทางเท่านั้น สาเหตุหลักมาจากการไม่จำกัดการใช้รถส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถมอเตอร์ไซค์ กรมการขนส่งจึงเสนอให้มีการเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถใหม่ เพิ่มภาษี คิดค่าจอดรถ รวมถึงจำกัดพื้นที่จอดรถบนทางเท้าด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 178 เมืองไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก

    อันดับ 3 ของโลก ส่งออกอาหารทะเลมากสุด แต่เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนมากสุด ประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลมากเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและนอร์เวย์ อุตสาหกรรมประมงสร้างรายให้ประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 5,400 ล้านเหรียญ ผลพลอยได้คือ เรามีชื่อติดอันดับเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับเขาด้วย อุตสาหกรรมประมงไทยต้องอาศัยแรงงานอย่างน้อย 300,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติที่ลักลอบเข้าเมืองจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยสภาพการทำงานที่ค่อนข้างเลวร้ายจึงทำให้มี “ตำแหน่งงานว่าง” ปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 ตำแหน่ง กระบวนการสรรหาบุคลากรผ่านกระบวนการค้ามนุษย์จึงเกิดขึ้น องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่างก็ออกมาสนับสนุนสหรัฐฯ ที่จัดประเทศไทยไว้ในกลุ่มประเทศที่ยังจัดการเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ต่ำกว่ามาตรฐาน ปลายปีนี้ก็มีลุ้นว่าเราจะได้ใบแดงจากสหภาพยุโรป (ลูกค้ารายใหญ่ที่นำเข้าอาหารทะเลจากไทยเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 700 ล้านยูโร หรือประมาณ 27,000 ล้านบาทในปี 2557) หรือไม่ ระหว่างนี้ผู้บริโภคก็มีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ด้วยการตั้งคำถามให้มากเรื่องที่มาของอาหารทะเล   อันดับ 2 ของโลก อุบัติเหตุบนท้องถนน จากการเก็บสถิติอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลกในปี 2557 ของสถาบันวิจัยด้านคมนาคม มหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในอัตราส่วนประชากร 100,000 คนต่อปี ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุดในโลก คือ นามิเบีย 45/100,000 คน ประเทศไทย 44/100,000 คน ส่วนประเทศที่มีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนน้อยที่สุดคือ มัลดีฟท์ 2/100,000 คนเท่านั้น โดยค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 18/100,000 คน ยืนยันซ้ำโดยทางการไทย กรมการขนส่งทางบก ระบุอัตราการตายที่เกิดจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เฉลี่ยวันละ 25 คน หรือชั่วโมงละ 1 คน โดยเฉพาะอุบัติเหตุที่เกิดจากรถตู้โดยสารสาธารณะ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 มีอุบัติเหตุรถตู้โดยสารสาธารณะรวม 45 ราย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมคนขับถึง 41 ราย และที่เหลือเกิดจากสาเหตุสภาพรถ จำนวน 4 ราย ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุน่าตกใจนี้ มีงานวิจัยพบสาเหตุ 3 ประการ คือ พฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวดพอ และความปลอดภัยของถนนไม่ได้มาตรฐานปีใหม่นี้ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัยทุกคน   อันดับ 3 ของโลก ใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเพื่อประชาชนระบุว่า ประเทศไทยเราถูก องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ยกให้เป็นประเทศที่ใช้น้ำในกระบวนการผลิตต่างๆ ในปริมาณมาก พร้อมทั้งสร้างผลกระทบต่อแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า “Water Footprint” ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าในภาคการผลิตของประเทศไทยเรายังใช้ทรัพยากรน้ำอย่างไม่รู้คุณค่า!!! โดยประเทศไทยมีค่าเฉลี่ย Water Footprint อยู่ที่ 2,223 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่ สหรัฐอเมริกา และ อิตาลี โดยค่าเฉลี่ยของ Water Footprint ของโลกอยู่ที่ 1,243 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี ไทยเรายังมีความรู้เรื่อง Water Footprint ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตภาคเกษตรกรรมที่มีค่าเฉลี่ย Water Footprint สูงถึง 2,131 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี เนื่องจากเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ส่งออกสินค้าเกษตรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ส่วนเรื่องการใช้น้ำในภาคคัวเรือนทั่วไป คนไทยเราก็ทำสถิติใช้น้ำเปลืองด้วยเช่นกัน การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค พบว่าในปี 2557 คนไทยใช้น้ำเฉลี่ยมากถึง 119 ลิตรต่อวันต่อคน เพิ่มจากปี 2555 ที่มีใช้น้ำเฉลี่ยต่อวันต่อคนอยู่ที่ 48 ลิตร สูงขึ้นเกินกว่าเท่าตัว สถิติการใช้น้ำของคนไทย จัดเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากประเทศ สิงคโปร์ที่ 165 ลิตรต่อวันต่อคนและฟิลิปปินส์ 164 ลิตรต่อวันต่อคน ขณะที่ชาวโลก สหรัฐอเมริกามีอัตราการใช้น้ำเฉลี่ยสูงที่สุดในโลกที่ 575 ลิตรต่อคนต่อวัน รองลงมาคือ ออสเตรเลีย 493 ลิตรต่อคนต่อวัน และ ญี่ปุ่น 374 ลิตรต่อคนต่อวัน   อันดับ 5 ของโลก ใช้สารเคมีทางการเกษตรมากปี 2554 ประเทศไทยเราเคยถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการใช้สารเคมีทางการเกษตรมากที่สุดในโลก โดยธนาคารโลก (World Bank) องค์การทางการเงินระหว่างประเทศ ได้จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่ใช้สารเคมีทางการเกษตรสูงที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก ที่ปริมาณ 0.86 กิโลกรัมต่อพื้นที่เกษตร 10,000 ตารางเมตร เป็นรองแค่ ฝรั่งเศส เวียดนาม สเปน และบราซิล (ถ้านำมาวางเรียงกันแล้วจะสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 หรือที่ความสูงประมาณ 304 เมตร) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รายงานตัวเลขปริมาณและมูลค่าการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรของประเทศไทยในปี 2557 มีตัวเลขการนำเข้าทั้งหมดรวม 134,377 ตัน คิดเป็นมูลค่าถึง 19,357 ล้านบาท ส่วนปี 2558 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้มีการสรุปตัวเลขการนำเข้าล่าสุดถึงเดือน มิ.ย. พบว่ามีการนำเข้าสารเคมีทางการเกษตรไปแล้วจำนวน 96,871 ตัน คิดเป็นมูลค่า 12,453 ล้านบาท การใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นจำนวนมากส่งผลต่อสุขภาพ ไม่เฉพาะแค่ผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเกษตรกรด้วย ข้อมูลจากสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ และสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีกําจัดศัตรูพืชเฉลี่ยปีละ 1,734 ราย และในปี 2557 ได้มีการตรวจเลือดเกษตรกรจำนวน 317,051 ราย พบว่ามีเกษตร 107,820 ราย หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ที่มีผลตรวจเลือดอยู่ในระดับไม่ปลอดภัย อันดับ 6 ของโลก ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากทะเลไทยขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามติดอันดับโลก ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติต้องมาสัมผัส แต่ทะเลไทยกำลังจะเปลี่ยนไป น้ำทะเลที่เคยสวยใส สัตว์ทะเลน้อยใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์ อาจจะไม่มีให้เราได้ชื่นชมอีก เพราะทะเลไทยกำลังจะถูกทำลายด้วย “ขยะพลาสติก” สำนักข่าวต่างประเทศชื่อดังอย่าง CNN ได้นำรายงานของ www.sciencemag.org ที่มีชื่อว่า “ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล” (Plastic waste inputs from land into the ocean) มาเผยแพร่ โดยพบว่าในปี 2010 มีพลาสติกมากถึง 275 ล้านเมตริกตัน (1 เมตริกตัน = 1,000 กิโลกรัม) ที่ถูกผลิตและใช้ในประเทศที่มีพื้นที่ติดกับทะเลจำนวน 192 ประเทศทั่วโลก โดยในจำนวนนี้น่าจะมีขยะพลาสติกราว 4.8 – 12.7 ล้านเมตริกตันที่ถูกทิ้งลงทะเล ประเทศไทยเราถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดของโลก โดยในแต่ละปีเราทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากถึง 1.03 ล้านเมตริกตัน ประเทศที่มีการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดคือ จีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้พลาสติกสูงที่สุดของโลกด้วย โดยจีนทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลที่ปริมาณ 8.82 ล้านเมตริกตันต่อปี อันดับ 2 อินโดนีเซีย 3.22 ล้านเมตริกตัน, อันดับ 3 ฟิลิปปินส์ 1.88 ล้านเมตริกตัน, อันดับ 4 เวียดนาม 1.83 ล้านเมตริกตัน และ อันดับ 5 ศรีลังกา 1.59 ล้านเมตริกตัน ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในปี 2015 มีการเก็บขยะจากทะเลและชายฝั่งเป็นจำนวน 5,363.50 กิโลกรัม โดยประเภทของขยะที่พบมากที่สุดคือ ถุงพลาสติก จำนวน 12,971 ชิ้น คิดเป็น 28.21% รองลงมาก็ยังเป็นขยะในกลุ่มพลาสติกอย่าง หลอด, ฝาขวด, ขวดน้ำพลาสติก   ตั้งแต่พลาสติกถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงยุค 90 ว่ากันว่า ขยะพลาสติกชิ้นแรกก็ยังคงมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ ไม่ได้ย่อยสลายหายไปไหน   ละเมิดลิขสิทธิ์ติดอันดับโลกไทยแลนด์ไม่น้อยหน้าใครเรื่องการเป็นแหล่งซื้อหาสินค้า “ทำเหมือน” คุณภาพเยี่ยม ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ และแทบจะในทุกแหล่งจับจ่าย ตั้งแต่ริมทางเท้าไปจนถึงห้างสรรพสินค้าห้องแอร์ นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมาบางคนก็อดใจไม่ไหว ต้องซื้อสินค้าเหล่านี้ติดไม้ติดมือกลับบ้านไป ปีนี้สหรัฐฯ ยังคงจัดให้เราอยู่ในกลุ่มประเทศ PWL (Priority Watch List) หรือ กลุ่มประเทศที่ถูกจับตาเป็นพิเศษ ทั้งเรื่องสินค้าปลอมที่ใช้โลโก้ลิขสิทธิ์ การใช้โลโก้ที่เลียนแบบต้นฉบับ ไปจนถึงการใช้ซอฟท์แวร์ไม่จดทะเบียน สหรัฐฯ ระบุว่าไทยเป็นตลาดสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ขนาดใหญ่ ที่จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายให้จริงจังขึ้น แต่สินค้าปลอมนี้ดูไม่มีทีท่าว่าจะลดน้อยลง แม้จะมีการตรวจจับและนำมาทำลายให้เห็นกันบ่อยครั้ง “ผู้ประกอบการ” นิยมนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากจีน เกาหลี และไต้หวัน กันมากขึ้น โดยนำเข้ามาทางเรือหรือทางรถผ่านชายแดนลาวและกัมพูชา ที่สำคัญ การค้าในแหล่งท่องเที่ยวดูเหมือนจะดีวันดีคืน ถึงขั้นที่ต้องนำเข้า “พนักงานขาย” จากประเทศเพื่อนบ้านที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษด้วย   เจนวายไทย ติดอันดับติดโทรศัพท์มือถือมากสุดในเอเชียการสำรวจพฤติกรรมออนไลน์ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ท 60,000 คน ใน 50 ประเทศทั่วโลกโดยบริษัทวิจัยการตลาด TNS พบว่า คนไทยเจนวาย (คนที่อายุระหว่าง 16 – 30 ปี) เป็นกลุ่มคนที่ติดโทรศัพท์มือถือมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยสถิติ 4.2 ชั่วโมงต่อวัน คนมาเลเซียและสิงคโปร์ใช้วันละ 3.8 และ 3.4 ชั่วโมง ตามลำดับ แม้แต่ฮ่องกงก็ยังมีอัตราใช้เพียงวันละ 2.8 ชั่วโมง ส่วนผู้นำด้านเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นนั้นใช้วันละ 1.6 ชั่วโมงเท่านั้น นี่เรามาเหนือประเทศผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่างจีน (3.9 ชั่วโมง) และประเทศที่ต้นสังกัดของไอโฟนอย่างอเมริกา (3.1 ชั่วโมง) ได้อย่างไร (อัตราเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 3.2 ชั่วโมง) ไม่อยากจะคุยว่าคนไทยถือโทรศัพท์กันคนละ 1.4 เครื่อง (คนอเมริกันและคนจีนมีมือถือคนละ 0.91 และ 0.77 เครื่อง ตามลำดับ) นอกจากนี้ข้อมูลปี 2556 ระบุว่าร้อยละ 56 ของการใช้อินเตอร์เน็ทในเมืองไทยเป็นการเข้าผ่านโทรศัพท์มือถือ สูงกว่าในสหรัฐฯและจีนด้วย (ร้อยละ 40 และร้อยละ 34 ตามลำดับ)   โรงพยาบาลเอกชนไทยดีติดอันดับโลก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล เคยถูกจัดอันดับเป็นสถานพยาบาลติด 1 ใน 10 ของสถานพยาบาลทั่วโลกที่มีมาตรฐานระดับสากลที่ชาวต่างชาตินิยมมาใช้บริการ ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนได้รับการยอมรับในระดับโลก แต่ในบ้านเราก็พบการร้องเรียนเรื่องค่าบริการของโรงพยาบาลเอกชนที่แพงเกินจริง จนเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ได้ล่ารายชื่อจำนวนถึง 33,000 ราย เพื่อยื่นต่อรัฐบาลให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชน ผลการศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล โดยกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พบว่าค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาลเอกชนสูงกว่าค่ารักษาในโรงพยาบาลรัฐเกินกว่า 60 % ยกตัวอย่าง โรคหลอดเลือดหัวใจ ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ประมาณ 139,000 บาท ส่วนในโรงพยาบาลเอกชนจะอยู่ที่ 370,000 บาท โรคหวัด ค่าใช้จ่ายในการรักษากับโรงพยาบาลรัฐจะอยู่ที่ 781 บาท แต่ถ้าเป็นในโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังจะอยู่ที่ 3,069 บาท สูงกว่ากันเกือบ 4 เท่า ว่าไปแล้ว ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็เข้าใจดีว่า ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนย่อมสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ และยอมรับว่า โรงพยาบาลเอกชน ก็คือธุรกิจประเภทหนึ่งที่จะต้องมีการหาผลกำไร มีการลงทุน (ยิ่งโรงพยาบาลเอกชนที่มีหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ยิ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่มีหุ้นเกือบเท่าตัว) แต่การตั้งราคาควรมีความเป็นธรรมและเหมาะสมหรือไม่ หรือว่ามุ่งแต่จะรักษาคนต่างชาติเงินหนา โดยไม่สนใจผู้บริโภคคนไทย กระทรวงสาธารณสุขรับแล้วว่าจะดูแลในเรื่องนี้ ต้องติดตามดูกันต่อไป   อันดับ 1 ของอาเซียน ดื่มสุราสูงสุดองค์การอนามัยโลก ปี 2557 เผยว่า ประเทศไทยบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน มีการดื่มเฉลี่ย 7.1 ลิตรต่อคนต่อปี ส่วนอันดับรองลงมาคือประเทศลาวและฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ตามข้อมูลจากศูนย์การศึกษาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(CAS) ภูมิภาคในประเทศไทยที่มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็นร้อยละ 40 ของประเทศ ในขณะที่อันดับสอง คือภาคเหนือ ร้อยละ 23 ส่วนในกรุงเทพฯ คิดเป็นร้อยละ 8 ในทางเดียวกันกับข้อมูลข้างต้น สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ในปี 2557 จำนวนผู้ดื่มสุราในประเทศไทยคิดเป็นร้อยละ 32 หรือประมาณ 17 ล้านคน อยู่ในช่วงอายุกลุ่มวัยทำงาน 25 - 59 ปี มากที่สุด ซึ่งผู้ชายมีอัตราการดื่มสุรามากกว่าผู้หญิง ประมาณ 4 เท่า โดยสุราที่นิยมเป็นอันดับหนึ่งคือ เบียร์ ทั้งนี้สำหรับ 3 สาเหตุหลัก ในการดื่มแอลกอฮอล์คือ เพื่อเข้าสังคมหรือการสังสรรค์มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 41.9 รองลงมาคือ ทำตามอย่างเพื่อนหรือเพื่อชวนดื่ม คิดเป็นร้อยละ 27.3 และอันดับสุดท้ายคือ อยากทดลองดื่ม ร้อยละ 24.4   ต่ำสุดในอาเซียน เลี้ยงลูกด้วยนมแม่แม้ผลศึกษาวิจัยหลายชิ้นจะชี้ให้เห็นประโยชน์ของนมแม่ ในการพัฒนาสมองหรือภูมิคุ้มกันของทารกให้เพิ่มขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้นมผงเสริม แต่สถิติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของประเทศไทยในช่วง 6 เดือนแรกของทารกก็ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยจากผลการสำรวจขององค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ในปี 2557 พบว่า มีคุณแม่คนไทยเพียงร้อยละ 16 เท่านั้นที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งต่ำกว่าระดับมาตรฐานโลกที่ตั้งไว้ร้อยละ 50 นอกจากนี้ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากอิทธิพลของการโฆษณานมผงต่างๆ   อันดับสองในอาเซียน แม่วัยรุ่นน่าตกใจไหม? ไทยเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนที่มีแม่วัยรุ่น (อายุ 15-19 ปี) มากที่สุด โดยอ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า ในปี 2556 การตั้งครรภ์ของผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 20 ปีทั่วโลก ประเทศไทยมีจำนวนสูงถึง 74 คนต่อ 1,000 คน ซึ่งเป็นอันดับ 2 รองจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นพบว่า ส่วนใหญ่เกิดจากใช้วิธีคุมกำเนิดไม่ถูกต้อง หรือไม่ใช้วิธีป้องกันเนื่องจากขาดความรู้นั่นเอง   ข้อมูลเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์สเตรทไทม์ส์ และนิตยสารมาร์เก็ตติ้งเว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก http://www.dlt.go.th/th/ และข้อมูลสถิติจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน http://deepblue.lib.umich.edu/handle/2027.42/102731http://englishnews.thaipbs.or.th/infographic/alcohol-consumption-thailand และสำนักงานสถิติแห่งชาติ http://service.nso.go.th/nso/web/survey/surveylist.htmlhttp://thaibreastfeeding.org/page.php?id=29 / http://www.hiso.or.th/hiso5/healthy/news2.php?names=06&news_id=8286 / http://www.ipu.org/splz-e/vientiane14/malnutrition.pdf / http://www.ictsilpakorn.com/ictmedia/detail.php?news_id=296#.VmE8fXYrLIU  

อ่านเพิ่มเติม >