ฉบับที่ 277 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2567

เตือน อินฟลูฯ ดาราไทย อย่ารับรีวิวอาหารเสริมเกินจริง        สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เปิดเผยว่า ได้มีการตรวจพบการรีวิวสินค้า ประเภทอาหารเสริมโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง มีการอ้างรักษาโรค ลดความอ้วน ซึ่งมีการใช้ดารา นักแสดง พิธีกร ผู้ประกาศข่าว อินฟลูเอนเซอร์ แพทย์ รวมถึงเภสัชกรจำนวนมากมารีวิว         อย. ได้เตือนว่าการกระทำดังกล่าว มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ดังนี้        ·     มาตรา 40 ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท ทั้งจำทั้งปรับตามมาตรา 70         ·     มาตรา 41 ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณ ของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์อื่น หรือด้วยวิธีอื่นใดเพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้นให้ผู้อนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้ ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท ตามมาตรา 71         หากตรวจพบจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทันที  บขส. แจ้งกรณีปิดพื้นที่ขาเข้าหมอชิต แต่ “ถูกแท็กซี่เรียกค่าบริการเพิ่ม”         มีนาคม 2567 ทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ประกาศชี้แจงกรณีที่ทาง บขส. ปิดพื้นที่ทางขาเข้าสถานีหมอชิต 2 ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งได้ให้รถโดยสารทุกคันเข้าจอดส่งผู้โดยสารที่บริเวณชานชาลาขาออก ช่องที่ 112-130 นั้น พบว่ามีแท็กซี่บางรายฉวยโอกาสเรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม 50 บาทกับผู้โดยสาร ดังนั้น ทาง บขส. ขอแจ้งว่าไม่มีนโยบายดังกล่าวสำหรับการให้รถแท็กซี่เรียกเก็บค่าบริการเพิ่ม อย่างไรก็ตาม หากพบเห็นจะมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด สามารถแจ้งเรื่องเรียนได้ที่สายด่วน 1584 ลูกหลานใส่ใจ ระวังมิจฉาชีพพุ่งเป้าผู้สูงอายุ         เพจเฟซบุ๊ก ตำรวจสอบสวนกลาง ออกมาเตือนกรณีพบว่ามีผู้สูงอายุและข้าราชการเกษียณจำนวนมากมักตกเป็นเป้าหมายในกลุ่มมิจฉาชีพ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) ซึ่งใช้กลลวงหลอกเอาเงิน เช่น การแอบอ้างเป็นประกันสังคม หลอกเอาเงินบำเหน็จ-บำนาญ รวมถึงแอบอ้างเป็นสรรพากร ทางตำรวจสอบสวนกลางจึงได้แนะนำวิธีป้องกันผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ ดังนี้          1. อย่ารีบเชื่อทันที หาเหตุและผลให้ดีก่อนว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่         2. เปรียบเทียบข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง หาข้อมูลให้ได้มากที่สุด นำมาชั่งน้ำหนักดูว่าเป็นเรื่องเท็จจริงหรือไม่         3. เช็กข้อมูลให้ชัวร์ก่อนแชร์ ว่าเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง การแชร์ในสิ่งที่ผิดเป็นผลเสียตามเสมอ        4. เลือกดูสื่อที่น่าเชื่อถือเท่านั้น โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ พิจารณาให้ถี่ถ้วนก่อนเข้าไปอ่าน        5. หากมิจฉาชีพอ้างถึงหน่วยงานต่างๆ ให้โทรไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงด้วยตัวเองว่าจริงหรือไม่        6. ควรปรึกษาคนใกล้ตัว ลูก-หลาน ก่อนที่จะเชื่อกลอุบายต่างๆ ที่มิจฉาชีพนำมาหลอก เพื่อจะได้ให้ช่วยกันหาข้อมูลว่าจริงหรือไม่         ทั้งนี้ ตำรวจสอบสวนกลางจึงอยากให้ลูกหลานคอยระวังผู้สูงอายุและผู้ใหญ่อย่างสม่ำเสมออีกด้วย จับแล้วทุจริต “โครงการสามล้อเอื้ออาทร”         จากกรณีกลุ่มผู้เสียหาย 200 ราย ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อตำรวจสอบสวนกลาง ให้ดำเนินคดีกับสหกรณ์ชื่อดังแห่งหนึ่ง สืบเนื่องจากสหกรณ์ดังกล่าว ได้เป็นผู้ประสานการขอสินเชื่อระหว่างสมาชิกและธนาคาร เพื่อทำโครงการสินเชื่อพัฒนาองค์กรชุมชน แต่ภายหลังพบว่าทางสหกรณ์กลับนำเงินฝากของสมาชิกไปชำระสินเชื่อกับธนาคาร ทำให้ธนาคารขาดสภาพคล่อง จนเป็นเหตุให้สมาชิกถูกธนาคารฟ้องร้องเนื่องจากผิดชำระหนี้และผิดสัญญาค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงที่ทางสหกรณ์ไม่สามารถจัดซื้อรถสามล้อได้ตรงตามคุณภาพที่กำหนดไว้ และติดต่อจ้างอู่หลายแห่งให้ประกอบสามล้อแล้วนำมาจำหน่ายให้สมาชิก และเพิ่มค่าส่วนต่างถึง 75,000-180,000 บาท สุดท้ายแล้วมีการนำเงินส่วนต่างดังกล่าวไปเป็นของตนเอง มูลค่าความเสียหายกว่า 8 ล้านบาทนั้น         ล่าสุดตำรวจสอบสวนกลาง ได้นำกำลังเข้าจับกุม นายสุรชัย อายุ 43 ปี ตามหมายจับศาลอาญาที่ 487/2567  ฐานความผิด “ร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามที่นายทะเบียนสหกรณ์สั่งการตาม มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2562” เพื่อนำตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ผู้บริโภค เฮ! คดีหลอกขายเครื่องนอนยางพารา ชนะศาลฎีกา         จากกรณีผู้เสียหายหลายราย ฟ้องร้องเพจเฟซบุ๊กออนไลน์ที่อ้างว่าขายที่นอนยางพารา แต่เมื่อสั่งของมากลับพบว่าได้รับของที่ไม่ได้คุณภาพ หรือ ไม่ได้สินค้าเลย กว่า 10 เพจนั้น และได้มาร้องเรียนทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค         ล่าสุดวันที่ 15 มีนาคม 2567 ณัฐวดี เต็งพาณิชกุล ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า คดีนี้ต่อสู้กันมาตั้งแต่ปี 2563 ตั้งแต่ศาลชั้นต้นถึงศาลอุทธรณ์ จนกระทั่งมกราคม 2567 ศาลฎีกาได้พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) ลงโทษจำคุก 3 ปี ซึ่งการนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์อยู่บ้าง เห็นควรลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ศาลให้จำเลยชำระเงิน 6,400 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กันยายน 2562 นับจากวันที่จำเลยกระทำละเมิดเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม         อย่างไรก็ตาม อีกคดีศาลฎีกาได้พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ภาค 1 โดยให้จำเลยมีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน โดยเป็นชัยชนะของผู้บริโภค 2 ราย ในจำนวน 120 ราย ที่ได้มาร้องต่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เมื่อปี 2563 ในส่วนของการได้เงินคืนทางโจทก์ต้องไปทำการสืบทรัพย์จำเลยตามกระบวนการบังคับคดีตามเงื่อนไขของคดีแพ่งต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 215 วิธีจัดการเมื่อบ้านเอื้ออาทรกำลังถูกยึด

          แม้บ้านเอื้ออาทรจะมีราคาไม่สูง แต่สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งเป็นกลุ่มคนรายได้น้อย ไม่มีรายได้ประจำ ทำให้พวกเขาอาจขาดส่งค่างวดได้บ่อย อีกทั้งยังขาดข้อมูลเพื่อการจัดการที่ดี ทำให้หลายคนที่ซื้อบ้านเอื้ออาทรไว้ อาจถูกยึดบ้านไปโดยไม่รู้ตัว        คุณเดียร์มีอาชีพขายก๋วยจั๊บ ทำสัญญาซื้อบ้านในโครงการเอื้ออาทรที่รังสิต คลองเก้าไว้ ตั้งแต่ปี 2555 ในราคา 600,000 บาท ผ่อนค่างวดเดือนละ 3,000 บาท คุณเดียร์ไม่ได้พักอยู่ในโครงการฯ เพราะไม่ใช่ทำเลของการค้าขาย แต่ต้องการมีบ้านไว้สำหรับอยู่ตอนที่ชราค้าขายไม่ไหวแล้ว        ในระยะแรกคุณเดียร์สามารถผ่อนชำระได้ตามปกติโดยให้ทางการเคหะแห่งชาติ หักบัญชีธนาคาร แต่เมื่อการค้าขายไม่ค่อยดี คุณเดียร์ก็ขาดส่งบ้าง งวดถึงสองงวด แต่ก็ยังรวบรวมเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ที่ค้างไว้ได้ จนล่าสุดขาดสภาพคล่อง คุณเดียร์ค้างชำระไป 5 เดือน และตกใจมากเมื่อคนรู้จักกันนำประกาศของการเคหะฯ มาให้ที่ร้าน บอกว่าเป็นประกาศที่ปิดไว้ที่บ้านในโครงการฯ  เนื้อหาคือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเนื่องจากขาดส่งเกินสามเดือนและให้มอบคืนบ้านภายใน 7 วัน เมื่อติดต่อไปเพื่อขอชำระหนี้ทั้งหมดและต่อสัญญา ทางเจ้าหน้าที่การเคหะฯ บอกว่า “ทำไม่ได้แล้ว เพราะบ้านได้ขายไปแล้ว”         คุณเดียร์จึงขอคำปรึกษามาว่าพอจะทำอะไรได้บ้าง เพราะหนึ่งไม่มีจดหมายแจ้งถึงตน แต่ทางการเคหะฯ อ้างว่า ส่งหนังสือไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 แต่ไม่มีผู้รับหนังสือจึงถูกตีกลับมา ซึ่งคุณเดียร์สอบถามทางบ้านแล้วไม่มีใครเห็นหนังสือดังกล่าว สอง ถ้ายกเลิกตั้งแต่เดือนมกราคม ทำไมตอนที่ผู้ร้องชำระเงินค่างวดไปเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม ทางการเคหะฯ ก็ยังคงหักเงินในบัญชีออกไป แนวทางการแก้ไขปัญหา        ขณะนี้เรื่องของคุณเดียร์ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา แต่มีประเด็นที่อยากฝากไว้คือ ผู้บริโภคไม่ควรละเลยกับเรื่องของการผ่อนค่างวด หากพบว่าตนเองไม่มีสภาพคล่อง ควรหาวิธีการจัดการเพื่อไม่ให้ค้างชำระเกินสามงวดติดกัน และควรใส่ใจเรื่องข้อมูลที่ทางการเคหะฯ แจ้งแก่ผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ผลงานดีๆ เพื่อผู้บริโภคไทยของ คอบช.

คอบช. คือใครคอบช. เป็นชื่อย่อของ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำลองรูปแบบของ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 โดยเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านผู้บริโภค 302 องค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อทดลองทำหน้าที่ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการให้ความเห็น ข้อเสนอแนะด้านนโยบายและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในปี 2558-2559 มีผลงานที่โดดเด่นจำนวนมาก ท่านสามารถติดตามผลงานและดาวน์โหลดรายงานประจำปีของ คอบช. ได้ที่ www.indyconsumer.org--------------------------------------------------------------------------3 ผลงานดีๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในปี 2559• ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ• ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา การฟ้องขับไล่กรณีบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ จากสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย • ผลักดันด้านนโยบาย ให้ อย.ออกประกาศฉบับใหม่เพื่อควบคุมการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากพืชดัดแปรพันธุกรรม1 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐาน แม้ดูเหมือนมีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลและเฝ้าระวังปัญหาน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น คนไทยยังเสี่ยงต่อการบริโภคน้ำดื่มไม่ปลอดภัยจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่กำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบันดังนั้นในปี 2559 คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับนักวิจัยอิสระทำการศึกษา เรื่อง “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร” โดยสำรวจลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 855 ตู้ พื้นที่ 17 เขตของกรุงเทพฯ ซึ่งผลการศึกษามีดังนี้ด้านการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่า มีผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพียงร้อยละ 8.24 เท่านั้นเรื่องสถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มฯ พบว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถูกวางไว้ใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก (ริมถนน ริมฟุตบาท) ร้อยละ 76.3 วางอยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย/น้ำขัง ร้อยละ 28.3 และวางอยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะ ซึ่งมีสัตว์พาหะนำโรคอย่าง หนู แมลงสาบ แมลงวัน ร้อยละ 22 วิธีการติดตั้งพบว่า มีตู้ที่ยกระดับให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร ร้อยละ 52.3 และมีจุดวางพักภาชนะบรรจุน้ำร้อยละ 88.9เรื่องการติดฉลากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2553 โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) พบว่า มีการแสดงรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำเพียง ร้อยละ 6 แสดงรายงานการเปลี่ยนไส้กรอง ร้อยละ 7 มีการแสดงข้อแนะนำในการใช้ตู้ ร้อยละ 20 มีการแสดงคำเตือน “ระวังอันตรายหากไม่ตรวจวัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ” ร้อยละ 26.1 และแสดงเบอร์ติดต่อกรณีเครื่องมีปัญหาร้อยละ 50.5เมื่อดูลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตัวตู้ไม่สะอาด ร้อยละ 55.2 หัวจ่ายน้ำไม่สะอาดร้อยละ 42.9 ตู้เป็นสนิม ร้อยละ 29.4 มีการผุกร่อนร้อยละ 21.1 ตู้มีรูรั่วซึม ร้อยละ 11.2 สำหรับในส่วนของเรื่องการบำรุงรักษาและการทำความสะอาดตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนั้น พบว่า มีการล้างถังเก็บน้ำภายในตู้ทุกเดือน เพียงร้อยละ 43.3สำหรับแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มหยอดเหรียญ จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ใช้น้ำประปาในการผลิตร้อยละ 93.8 ส่วนที่เหลือไม่ทราบแหล่งน้ำที่ใช้สู่ความร่วมมือคอบช. ได้นำผลการศึกษาพร้อมข้อเสนอจากงานวิจัยเรื่อง “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร” ส่งต่อให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ หลายหน่วยงานต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดให้มีการตรวจติดตามตู้น้าดื่มหยอดเหรียญไว้ในแผนการตรวจสอบฉลากสินค้าแล้ว กรณีที่พบการกระทำความผิดจะส่งเปรียบเทียบความผิดตามกฎหมายทันที และในส่วนของแผนการตรวจสอบฉลากสินค้าในส่วนภูมิภาคประจำปีงบประมาณ 2559 ทาง สคบ.จะกำหนดให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการตรวจสอบด้วยสำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รับผลการศึกษาของ คอบช.เพื่อนำไปประกอบการทำร่างเทศบัญญัติการควบคุมกิจการผลิตน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายตู้น้ำดื่มอัตโนมัติขณะที่รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ยินดีที่จะนำผลการศึกษาไปพัฒนา และจัดทำความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เรื่องการควบคุมมาตรฐานน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญ โดยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อหาแนวทางการบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญต่อไปนอกจากนี้ ข้อเสนอจากผลการศึกษายังได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องน้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ในปี 2559 ด้วยสรุปข้อเสนอจากงานวิจัย • ข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตฯ และจัดสถานที่ให้เหมาะสมก่อนการติดตั้งตู้ และปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง• ข้อเสนอต่อหน่วยงานสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ต้องติดตามและตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด ถ้าพบว่าไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องเรียกเจ้าของตู้ให้มาดำเนินการตามกฎหมาย หากไม่สามารถติดต่อได้รื้อถอนตู้ และเสนอให้ติดสติกเกอร์ทุกตู้ที่ได้ใบอนุญาตฯ ถูกต้องสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ควรมีแผนการเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้น้ำดื่มไปตรวจวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ หากน้ำที่ผลิตจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ต้องติดตามกำกับดูแลเครื่องผลิตน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องบังคับให้ผู้ประกอบที่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องขออนุญาตการติดฉลาก ตามประกาศฯ ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2553 รวมถึงติดตามการติดฉลากของผู้ประกอบการว่ากระทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าดำเนินการไม่ถูกต้อง ควรลงโทษให้เด็ดขาด2 บ้านเอื้ออาทรกับการบอกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่อยู่อาศัยคือปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไม่เพียงแค่ใช้พักผ่อนหลับนอน แต่ยังเป็นศูนย์รวมของครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับประเทศไทยการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะกับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งในอดีตรัฐเองก็ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า การเคหะแห่งชาติ ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่จัดให้มีเคหะขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้มีรายได้น้อย ได้มีที่อยู่อาศัย ทั้งในแบบเช่าซื้อและซื้อ โดยโครงการบ้านเอื้ออาทร ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่การเคหะฯ เป็นผู้ดำเนินการ ตามนโยบายของรัฐบาลในยุค พ.ศ. 2546บ้านเอื้ออาทร ในนิยามของการเคหะฯ คือ เป็นที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและอยู่ในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีระดับราคาที่กลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (รายได้ปี 2546) และปรับเป็นรายได้ครัวเรือนไม่เกินเดือนละ 40,000 บาท สามารถรับภาระการผ่อนชำระได้ต่อมาโครงการนี้ ถูกเรียกขานว่า เป็นนโยบายประชานิยมมีนัยเพื่อซื้อใจคนที่มีรายได้น้อย ให้มีความหวังกับการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่จากระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า แม้จะมีการวางแผนไว้อย่างดีสำหรับโครงการนี้ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีช่องว่างมากมายจนทำให้เกิดการทุจริต (ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น) และท้ายที่สุดก็เกิดปัญหาดีมานด์เทียมขึ้น จนก่อให้ซัพพลายหรือตัวอาคารที่สร้างเสร็จค้างไว้ ไม่มีผู้มารับโอนตามจริง เป็นภาระหนักให้การเคหะฯ ต้องขวนขวายหากลยุทธ์ในการระบายสต็อกในโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีค้างอยู่ให้หมด และยังมีปัญหาที่ผู้ซื้อมือแรกไปต่อไม่ไหว กลายเป็นหนี้สูญ หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสินเชื่อ เพราะผู้มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่จะมีรายได้ไม่แน่นอนทำให้เกิดปัญหาในการชำระค่างวดให้ตรงเวลา หรือขาดส่งค่างวดตามที่สัญญาระบุไว้ติดๆ กัน จนนำไปสู่การบอกเลิกสัญญาการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมปัญหาการถูกการเคหะแห่งชาติบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค จนนำไปสู่การฟ้องร้องขับไล่ เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากดำเนินงานช่วยเหลือผู้บริโภคของ คอบช. พบว่า ปัญหาเกิดจากข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเมื่อผู้บริโภคตัดสินใจเข้าร่วมโครงการบ้านเอื้ออาทร จะมีสัญญาเกิดขึ้น 3 ฉบับ คือ สัญญาจะซื้อจะขาย สัญญากู้ยืมเงิน และสัญญาค้ำประกัน โดยผู้บริโภคทำสัญญาจะซื้อจะขายกับการเคหะแห่งชาติ ผู้บริโภคทำสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงิน และการเคหะฯ ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้บริโภคและยอมรับผิดร่วมกับสถาบันการเงินสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อผู้บริโภคผิดพลาดในการส่งเงินค่างวดตามสัญญากู้เงิน สถาบันการเงินจะส่งเรื่องให้ผู้ค้ำประกัน คือการเคหะฯ ทราบเรื่องเพราะถือเป็นลูกหนี้ร่วม การเคหะฯ จะดำเนินการจ่ายหนี้แทนผู้บริโภคและส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายให้กับผู้บริโภค ซึ่งหากผู้บริโภคไม่ยินยอมออกจากบ้าน(ที่บางคนก็อยู่มาหลายปีแล้ว) ก็ตามมาด้วยการฟ้องขับไล่ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากได้พิจารณาในตัวสัญญาที่เกิดขึ้นทั้งสามฉบับ กลับพบว่า มีจุดที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก จนทำให้หลายคนเสียบ้านไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวทาง คอบช. จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อกรณีการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมของการเคหะฯ ดังนี้1.ขอให้การเคหะแห่งชาติแก้ไขสัญญาเรื่องผู้ขายบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน 2.ขอให้การเคหะแห่งชาติ บังคับใช้ข้อสัญญา เรื่องห้ามให้เช่าช่วงอย่างเคร่งครัด 3.ขอให้การเคหะแห่งชาติกับสถาบันการเงิน ปฏิบัติตามสัญญากู้เงินในเรื่องการให้แก้ไขข้อผิดสัญญาก่อนบอกเลิกสัญญา“ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจกู้ยืมเงินเพื่อให้ผู้บริโภคของสถาบันการเงิน เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2544 ข้อ 3 (2) ระบุว่า การผิดสัญญาเรื่องใดของผู้กู้ที่ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะต้องให้ผู้ให้กู้ระบุไว้เป็นการเฉพาะ ด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำ หรือตัวเอนที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป และก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งหนังสือไปยังผู้กู้ และควรกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขดังกล่าว แต่สัญญากู้ยืมเงินในโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ผู้กู้หรือผู้บริโภคทำกับสถาบันการเงินไม่มีข้อสัญญาที่ให้ผู้ให้กู้ต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้และไม่มีการกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขก่อนการบอกเลิกสัญญา จึงเป็นการขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ข้อ 3 (2) และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 35 ตรี”หลังการนำข้อเสนอข้างต้นเข้าหารือ การเคหะแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อการคุ้มครองผู้ซื้อหรือผู้บริโภคโครงการบ้านเอื้ออาทร ดังนี้1.หากผู้ซื้อผิดนัดและไม่มีเงินชำระก็ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อ ที่จะนำเงินที่เหลือมาผ่อนชำระกับการเคหะแห่งชาติในรูปแบบสัญญาเช่าซื้อได้2.การเคหะแห่งชาติได้ประชาสัมพันธ์ข้อห้ามต่างๆ ให้ผู้ซื้อทราบก่อนทำสัญญา และปัจจุบันมีการโอนกรรมสิทธิ์บ้านให้ผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก3.การเคหะแห่งชาติได้ประสานกับสถาบันการเงิน และตกลงให้สถาบันการเงินมีหนังสือแจ้งผู้ซื้อที่ผิดนัดชำระหนี้ ได้ทราบเรื่องการผิดสัญญาและให้ผู้ซื้อได้แก้ไขข้อผิดสัญญาในระยะเวลาอันสมควร ก่อนถูกบอกเลิกสัญญา และก่อนที่สถาบันการเงินจะมีหนังสือแจ้งการเคหะแห่งชาติให้ชำระหนี้แทน3 การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคพันธุวิศวกรรม(จีเอ็มโอ) ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงที่มาของอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งอาหารดัดแปรพันธุกรรมหรือที่ใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม(จีเอ็มโอ) เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ยังมีข้อกังขาในเรื่องความปลอดภัยแต่ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ ไม่อาจสังเกตได้ในระดับปกติ ต้องใช้การทดสอบเป็นการเฉพาะ เนื่องจากไม่มีความแตกต่างในทางกายภาพ การแจ้งบนฉลากอาหารจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยแจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคได้ ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องฉลากอาหารจีเอ็มโอ แต่มีอยู่ใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 251 พ.ศ. 2545 แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาครอบคลุมเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่วเหลืองและข้าวโพด เท่านั้นฉลากจีเอ็มโอต้อง ‘ชัดเจน’ ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ ไม่เฉพาะถั่วเหลือง-ข้าวโพดสิ่งนี้คือข้อเสนอที่ คอบช. ได้พยายามผลักดันเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ได้ เพราะการปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจีเอ็มโอ ที่นอกเหนือจากถั่วเหลืองและข้าวโพด วางจำหน่ายตามท้องตลาด ย่อมไม่ทันสถานการณ์จีเอ็มโอซึ่งปัจจุบันอาหารจีเอ็มโอในนั้นก้าวหน้าไปอย่างมาก มีมากกว่าถั่วเหลืองกับข้าวโพดแล้ว เช่น มันฝรั่ง มะเขือเทศ แป้งมันสำปะหลัง มะละกอ และปลาแซลมอล (Salmon) ซึ่งยังไม่มีข้อกำหนดต้องติดฉลากจีเอ็มโอแต่อย่างใดในประเทศไทย กรณีเช่นนี้จึงไม่เป็นธรรมกับอาหารจีเอ็มโอ ทั้งถั่วเหลืองและข้าวโพด ตลอดจนผู้บริโภคที่ปฏิเสธอาหารประเภทดังกล่าว เพราะไม่มีโอกาสเลือก หรือรับรู้ข้อมูลจากฉลากที่ชัดเจนในปี 2559 คอบช.ได้ทำข้อเสนอแนะต่อการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยชีวภาพ พ.ศ. ....(พืช GMOs) โดยคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษากฎหมายเพื่อกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมเพื่อพิจารณา ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งยังได้เสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการออกประกาศควบคุมฉลากแสดงสินค้าพืชดัดแปรพันธุกรรม (GMOs ) ที่ก้าวหน้ากว่าบทบัญญัติ ปี พ.ศ.2545-----------------------------------------------------ปัจจุบันมี ถั่วเหลือง และข้าวโพด เท่านั้นที่แสดงฉลาก จากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมที่ต้องมีการแสดงฉลากอาหาร 22 รายการ ได้แก่1. ถั่วเหลือง 2. ถั่วเหลืองสุก (cooked soybean) 3. ถั่วเหลืองคั่ว 4. ถั่วเหลืองบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned soybean) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์ อ่อนตัว (retort pouch) 5. ถั่วหมัก (natto) 6. เต้าเจี้ยว (miso) 7. เต้าหู้ เต้าหู้ทอดน้ำมัน 8. เต้าหู้แช่แข็ง กากเต้าหู้ (ฟองเต้าหู้และผลิตภัณฑ์) 9. นมถั่วเหลือง 10. แป้งถั่วเหลือง (soybean flour) 11. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 1-10 เป็นส่วนประกอบหลัก 12. อาหารที่มีโปรตีนจากถั่วเหลือง (soybean protein) เป็นส่วนประกอบหลัก13. อาหารที่มีถั่วเหลืองฝักอ่อนและยอดอ่อน (green soybean) เป็นส่วนประกอบหลัก 14. อาหารที่มีถั่วงอกที่ได้จากถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบหลัก 15. ข้าวโพด 16. ป๊อปคอร์น (pop corn) 17. ข้าวโพดแช่เยือกแข็ง (freeze) หรือแช่เย็น (chill) 18. ข้าวโพดบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned corn) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (retort pouch) 19. แป้งข้าวโพด (corn flour/corn starch) 20. ขนมขบเคี้ยวที่ผลิตโดยใช้ข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลัก 21. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 15-20 เป็นส่วนประกอบหลัก 22. อาหารที่มีข้าวโพดบดหยาบ (corn grits) เป็นส่วนประกอบหลัก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 เมื่อบ้านเอื้ออาทร ไม่อาทรต่อคนจน

สำหรับคนมีรายได้น้อย การอยากมีบ้านเป็นของตัวเองสักหลังหนึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่าย  “ ฉัตร”  คือเป็นหนึ่งในนั้น แต่เธอเริ่มมีความหวัง เมื่อรัฐมี “โครงการบ้านเอื้ออาทร” ที่ตั้งขึ้นเพื่อจัดหาบ้านให้คนมีรายได้น้อยได้มีที่บ้านเป็นของตนเอง ต่อเมื่อเวลาผ่านไป เธอถึงรู้ว่า บ้านเอื้ออาทร นั้นไม่ได้อาทรต่อคนมีรายได้น้อยเลย…เมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ฉัตรตัดสินใจเข้าทำสัญญาซื้อบ้านเดี่ยว 2 ชั้น โครงการเอื้ออาทรจังหวัดบุรีรัมย์ กับการเคหะแห่งชาติในราคา 390,000 บาท โดยมีเงื่อนไขที่ต้องทำสัญญากู้ยืมเงินกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อนำมาชำระหนี้เป็นค่าซื้อบ้านให้แก่การเคหะฯ  โดยมีการเคหะฯ เป็นผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาด้วยผ่อนมาปีกว่าเธอเริ่มผิดนัดบางงวด เพราะการเงินเริ่มยอบแยบ แต่เธอก็พยายามเก็บเงิน เพื่อไปชำระยอดที่ค้างชำระกับธนาคารให้ได้ โดยที่ธนาคารยังคงรับชำระเงินของผู้ร้องไว้ตามปกติเรื่อยมาจนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 เมื่อเธอไปจ่ายค่างวดที่ธนาคารตามปกติ ธนาคารปฏิเสธรับเงินจากเธอ และแจ้งให้เธอทราบว่า บ้านที่เช่าซื้ออยู่ได้ถูกบอกเลิกสัญญา เพราะผิดนัดค้างชำระเกินกำหนด และการเคหะแห่งชาติได้มาซื้อคืนไปแล้ว โดยที่เธอไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งเตือน หรือหนังสือบอกเลิกสัญญาใดๆ มาก่อนเลย “เราเลือกซื้อบ้านเอื้ออาทรกับการเคหะฯ เพราะเชื่อมั่นว่า การเคหะ ฯ จะดูแลเราที่เป็นคนมีรายได้น้อย ให้มีบ้านเป็นของตัวเองได้ เราขาดส่งบางงวดจริง แต่เราก็พยายามแก้ไขปัญหานี้มาตลอด เราไม่รู้ว่าทำไมอาคารสงเคราะห์ ถึงไม่แจ้งเตือนเราตามสัญญาก่อน  ทั้งที่ธนาคาร ธอส. ก็ยังรับเงินที่เราไปจ่ายทุกครั้ง แต่อยู่ดีๆ บอกว่าเราถูกบอกเลิกสัญญา บ้านถูกยึดคืนไปแล้ว มาบอกกันแบบนี้ เราจะทำยังไง  แล้วเราจะไปอยู่ที่ไหน ” นี่คือเสียงสะท้อนเล็กๆ ที่อยากให้หลายคนได้รับรู้.... แนวทางแก้ไขปัญหากรณีนี้ ฉัตร เธอเข้ามาร้องเรียนกับสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ระหว่างร้องเรียน เธอก็ถูกฟ้องให้ตกเป็นจำเลยในคดีที่การเคหะแห่งชาติ ฟ้องขับไล่ให้ออกจากที่พักอาศัยเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย“เราไม่รู้มาก่อนเลยว่า สัญญาที่เราทำกับการเคหะฯ และธนาคาร ธอส. จะเอาเปรียบเรามากขนาดนี้ นี่มันเอื้ออาทรจริงแน่เหรอ สัญญายิ่งกว่าบริษัทเอกชนซะอีก”กรณีนี้แม้ฉัตรจะผิดนัดชำระหนี้จนเป็นเหตุให้การเคหะฯ มีอ้างสิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาซื้อขายได้นั้น แต่ก็มีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิผู้บริโภค การบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของการเคหะแห่งชาติและธนาคารอาคารสงเคราะห์อยู่ด้วยหลายรายการ มูลนิธิฯ จึงให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย เพื่อให้เป็นกรณีตัวอย่างให้กับผู้บริโภคที่เจอปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้หลังจากผู้บริโภคแพ้คดีในศาลชั้นต้น ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน 2556 ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้มีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ สรุปสาระสำคัญดังนี้ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้กู้ยืมเงินเพื่อให้ผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2544 ข้อ 3 (2) บัญญัติ ว่าการผิดสัญญาเรื่องใดของผู้กู้ที่ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญา จะต้องเป็นข้อที่ผู้ให้กู้ระบุไว้เป็นการเฉพาะด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำ หรือตัวเอน ที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไปและก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้และควรกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขดังกล่าวประกอบกับตามสัญญากู้ยืมเงินระหว่าง ฉัตร ผู้กู้ กับ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ผู้ให้กู้ ในข้อ 18 ระบุว่า “ในกรณีผู้กู้ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญา  ผู้ให้กู้จะแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้ให้ดำเนินการแก้ไขการผิดสัญญาดังกล่าวภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 วัน หากผู้กู้ไม่ดำเนินการแก้ไขจนพ้นระยะเวลาที่ผู้ให้กู้กำหนด ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้เรียกให้ผู้กู้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่ค้างชำระอยู่ทั้งหมดคืนได้ทันที”ธนาคารจึงต้องมีหนังสือแจ้งให้จำเลยผู้กู้ชำระหนี้ที่ค้างชำระภายในระยะเวลาที่กำหนดก่อนที่จะบอกเลิกสัญญา ธนาคารจึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าธนาคารได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างชำระภายในกำหนดก่อน มิฉะนั้นจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ธนาคารคงมีเพียงหนังสือขอให้ชำระหนี้ ซึ่งเป็นหนังสือแจ้งเตือนให้ลูกหนี้ชำระเงินตามปกติเท่านั้น ธนาคารจึงยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย อีกทั้งยังไม่สามารถเรียกให้การเคหะแห่งชาติมาซื้อทรัพย์คืนได้ด้วยพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ และให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทรระหว่างโจทก์กับจำเลยยังมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามสัญญากู้ระหว่างจำเลยกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ให้แก่โจทก์แทนธนาคารอาคารสงเคราะห์ นับแต่งวดที่ชำระครั้งสุดท้ายเป็นต้นไปคดีนี้ จึงจบลงที่ การเคหะแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คือให้ ฉัตร กลับเข้าไปทำสัญญาเดิมใหม่ได้โดยไม่มีเงื่อนไข !!  นับเป็นคดีตัวอย่าง ที่ถือว่าเป็นชัยชนะของผู้บริโภคอีกก้าวหนึ่ง ที่จะเป็นส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงระบบการคุ้มครองผู้บริโภคไทยได้แน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >