ฉบับที่ 147 แอร์การ์ดทรู เรียกเก็บค่าบริการไม่เป็นธรรม

เรื่องมีอยู่ว่า...เมื่อเดือนธันวาคม 2555 ผมเดินทางไปเชียงใหม่ จำเป็นต้องส่งข่าวกลับ กทม.ผมจึงซื้อแอร์การ์ดของทรูมาใช้ในราคา 990 บาท ตอนซื้อมานึกว่าจะใช้ได้เลย ก็กลับใช้ไม่ได้ทันที โดยต้องสมัครอะไรไม่รู้วุ่นวาย จากนั้น Call Center 1331 แนะนำว่าถ้าจะใช้งานทันที ต้องสมัครแบบคิดค่าบริการรายเดือน..ผมต้องการรีบส่งข่าวก็เลยยอมเวลาผ่านไปการใช้งานแอร์การ์ด ก็ดีบ้างไม่ดีบ้าง..โดยวันที่ 21 ธันวาคม 2555 ผมโทรไป 1331 อีกครั้ง เพื่อถามว่า..จะขอยกเลิกบริการต้องทำอย่างไร เจ้าหน้าที่บอกว่า..โปรโมชั่นจากยอด 990 ที่ซื้อมาสามารถใช้ได้ถึงเดือนมิถุนายน โดยถ้าไม่ใช้ก็ไม่มีค่าบริการ ซึ่งผมก็คิดว่า..ใกล้ๆ เดือนมิถุนายนค่อยไปยกเลิกก็ยังทันปรากฏว่าเดือนมีนาคมมีบิลมาเรียกเก็บค่าบริการ 4 ร้อยกว่าบาท ทั้งๆ ที่ไม่ได้ใช้แอร์การ์ดเลยตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ผมโทรไป 1331 สอบถาม ได้คำตอบว่า...ค่าใช้จ่ายมีเดินทุกเดือน แต่ที่ไม่ส่งบิลมาให้ เพราะจะใช้วิธีหักจากยอด 990 บาทให้หมดก่อน เมื่อยอดเกินค่อยส่งใบเรียกเก็บ กรณีนี้..ทรูส่อพฤติกรรมซุ่มเงียบตีกินโดยไม่รู้ตัว เพราะถ้าส่งใบเสร็จมาให้ตั้งแต่เดือนธันวาคมหรือมกราคม ถึงแม้จะเป็นยอดที่หักจาก 990 บาท ก็ควรส่งใบเรียกเก็บทุกเดือนให้ลูกค้าเข้าใจได้ว่ามีค่าใช้บริการเดินอยู่ เพราะอย่างน้อยถ้ามีการเรียกเก็บเงินตั้งแต่แรกผมก็จะได้ไปดำเนินการปิดบริการตั้งแต่เดือนมกราคมแล้วหลังจากนั้น..ผมพยายามติดต่อทั้งทาง 1331 ทั้งทางเว็บไซต์ เพื่อขอฟังเทปสนทนาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ถ้าผมผิดจริงก็ยินดีจ่ายให้ แต่ถ้าพนักงานแนะนำไม่ให้ปิดบริการจริง ทางทรูก็ต้องรับผิดชอบโดยไม่คิดค่าบริการส่วนเกินที่เรียกเก็บ..ก็เท่านั้น ซึ่งระหว่างหาเทปสนทนามายืนยันไม่ได้ ผมก็ขอให้ทรูระงับค่าบริการไม่ให้เดินหน้าต่อไปอีก ซึ่งคำตอบก็คือ..ต้องจ่ายค่าบริการที่ค้างอยู่ก่อนจึงจะปิดบริการได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตอบได้แค่เบสิกพื้นฐานตามระเบียบอย่างเดียวแล้วถ้าผมยอมจ่ายส่วนเกินที่ไม่เป็นธรรมแล้วให้ปิดบริการ ก็เท่ากับผมยอมรับยอดเงินส่วนเกินอย่างงั้นเหรอ..มันไม่ถูกต้อง ถึงจะไม่กี่ร้อยบาท แต่ถ้าลูกค้าเจอแบบนี้เข้าไปหลายๆ ราย..จะเป็นเงินเท่าไหร่(เคยตัว) จนป่านนี้..ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ระดับตัดสินใจได้หรือแก้ปัญหาเป็น มาแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จ คงปล่อยให้เวลาเนิ่นนานไปเรื่อยๆ..ถ้าเดาไม่ผิด เพื่อจะเอาค่าบริการที่ยังเดินอยู่นั่นเอง แนวทางแก้ไขปัญหาหลักการในการแก้ไขปัญหาสำหรับคนที่เจอปัญหาการบอกเลิกสัญญาบริการโทรคมนาคมในลักษณะเดียวกันนี้...เมื่อผู้บริโภคไม่ประสงค์จะใช้บริการอีกต่อไป และไม่มีค่าบริการติดค้างกันอยู่ ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะบอกเลิกการใช้บริการได้ทุกเมื่อ ส่วนใหญ่มักจะถูกสาวคอลเซนเตอร์หรือพนักงานบริการปฏิเสธไว้ก่อนว่าบอกเลิกไม่ได้ ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาบริการโทรคมนาคมที่ดีที่สุดคือ การบอกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรส่งไปถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ของผู้ให้บริการ แล้วเก็บรายละเอียดการบอกเลิกสัญญาไว้เป็นหลักฐาน หากผู้ให้บริการยังมาเรียกเก็บอีก ผู้บริโภคอาจจะเรียกร้องค่าเสียหายกับผู้ให้บริการได้ โทษฐานเบาะๆ คือ การก่อความเดือดร้อนรบกวนรำคาญ แต่หากระหว่างการบอกเลิกสัญญากันนั้น หลังจากที่ได้หักค่าบริการที่ได้ใช้บริการกันไปแล้ว ยังมีค่าบริการเหลืออยู่ ผู้บริโภคสามารถเรียกร้องให้ผู้ให้บริการคืนค่าบริการที่เหลืออยู่ได้อีกด้วยนอกจากปัญหาทำนองนี้แล้ว ปัญหาในบริการของทรูที่มีการร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิฯ จนเป็นเรื่องร้องเรียนที่ซ้ำซากเอามากๆ คือ ซิมทรูมูฟแจกฟรี แล้วมาลักไก่เก็บค่าบริการรายเดือนในภายหลัง เมื่อผู้บริโภคเจอปัญหาแบบนี้คำตอบเดียวคือ ไม่ต้องจ่ายเงินครับ และให้มีหนังสือแจ้งไปที่ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของทรูด้วยตัวเองได้เลย ทางจดหมาย (Mail) ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเลขที่ 1252 ชั้น 14 อาคารทรูทาวเวอร์2 ถนนพัฒนาการ แขวงสวนหลวง เขตสวนหลวง กทม.10250 ทางโทรศัพท์ (Call Center) (ไม่คิดค่าบริการ) ผ่านเลขหมาย 0-2900-8088 เวลาทำการ: ทุกวัน เวลา 08.00น.-20.00น. ไม่มีเวลาพัก ทางโทรสาร (Fax) (คิดอัตราค่าใช้จ่ายตามอัตราปกติ) ผ่านเลขหมาย 0-2699-4338 ทางจดหมายอิเลคทรอนิคส์ (Email) Email Address: voc@truecorp.co.th ทางเว็บไซต์ (Website) www.trueinternet.co.th ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกรายถูกกำหนดขึ้นตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง “กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่อง ร้องเรียนของผู้ใช้บริการ” ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2549 ได้กำหนดไว้ในข้อ 20 บทเฉพาะกาลว่า “ ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีหลักเกณฑ์การรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน...” และในข้อ 15 วรรคหนึ่งได้ระบุว่า “ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นแยกออกจากหน่วยงาน ตอบคำถามหรือข้อสงสัยทั่วไป เพื่อทำหน้าที่ดูแลการรับเรื่องร้องเรียนและการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน” และในวรรคที่ 2 ระบุต่อว่า “การดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ผู้ได้รับใบอนุญาตอาจดำเนินการด้วยตัวเองหรือจัดจ้างให้บุคคลอื่นดำเนินการ โดยผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายอาจร่วมกันจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นเพื่อทำหน้าที่ก็ได้…”  

อ่านเพิ่มเติม >