ฉบับที่ 153 ตักบาตรให้ได้บุญ

ชาวพุทธส่วนใหญ่มักได้รับการปลูกฝังให้ทำบุญใส่บาตรเพื่อจะได้มีชาติหน้าที่ดี ทั้งที่ไม่เคยรู้เลยว่า ชาติหน้าจะได้เกิดเป็นคนหรือไม่ แต่ต่างก็แอบหวังว่าชาติหน้าน่าจะได้เป็นคน โดยมีบุญที่เกิดจากการทำในชาตินี้ไปรอตอบสนอง ขนาดบางวัดมีการนำเอาเรื่องบุญมาคำนวณว่า ทำเท่าไรได้ขึ้นสวรรค์ชั้นใด ดังนั้นการทำบุญหวังผลจึงเกิดกันทั่วไป สำหรับเรื่องการใส่บาตรนั้น ผู้เขียนก็ทำบ้างไม่ทำบ้างแล้วแต่จังหวะเหมาะ วันหนึ่งในเดือนกันยายน 2556 (ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของการรับราชการของผู้เขียนแล้ว) ก็มีนักข่าวจากโทรทัศน์ช่องหนึ่ง สนใจสัมภาษณ์ผู้เขียนในเรื่องเกี่ยวกับอาหารสำหรับการใส่บาตร จึงทำให้ผู้เขียนต้องมานั่งสำรวจตัวเองว่า เวลาใส่บาตรผู้เขียนทำอย่างไร เท่าที่จำความมา ผู้เขียนมักใส่บาตรพร้อมกับภรรยาเป็นประจำ เพราะผู้หญิงมักเป็นคนคิดถึงบุญกรรม ชาติหน้า ชาติก่อน มากกว่าผู้ชาย ของใส่บาตรนั้นส่วนใหญ่แล้วมักใส่ข้าวสารอาหารแห้งเป็นประจำ โดยหวังว่าพระจะได้มีของไว้ฉันในวันที่มีคนใส่บาตรน้อยเช่น วันฝนพรำ แต่เมื่อถามว่าอาหารที่ใส่นั้นครบถ้วนทางโภชนาการหรือไม่ คำตอบก็เป็นอย่างที่เดากันได้ว่า ไม่น่าครบ ส่วนที่ขาดมักเป็นผักและผลไม้ ซึ่งผู้เขียนได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า จะพยายามแก้ในสิ่งนี้ให้ได้   ก่อนให้สัมภาษณ์นักข่าวนั้นผู้เขียนได้เข้าไปตรวจดูข้อมูลในอินเตอร์เน็ตว่า ประเด็นเกี่ยวกับ พระ โภชนาการ และการใส่บาตร นั้นมีเว็บใดกล่าวถึงกันบ้าง ผลปรากฏว่ามีน้อยมาก ไม่กี่สิบเว็บ แต่ก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า มีการกล่าวถึงชนิดของอาหารที่ควรใส่บาตรให้พระสงฆ์ เพื่อให้พระนั้นมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะบางเว็บได้กล่าวถึงการที่พระสงฆ์มีสุขภาพไม่ค่อยดี มีโรคที่เกิดเนื่องจากความเสื่อมเช่น ความดันสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ เบาหวาน ฯ เร็วกว่าคนธรรมดา ซึ่งสาเหตุนั้นหลายท่านคงเดาได้ว่า คนไทยใส่บาตรนั้นต่างพยายามใส่อาหารที่ตนคิดว่าอร่อยที่สุด (เผื่อชาติหน้า) โดยไม่ค่อยใส่ใจกับคุณค่าทางโภชนาการของอาหาร จากการค้นหาข้อมูลทางโภชนาการว่า อาหารอะไรที่ควรใส่ในบาตรพระนั้น พบว่ามีหนังสืออิเล็คทรอนิค 2 เล่มมีข้อมูลดังกล่าว โดยเล่มแรกนั้นเป็นหนังสือที่เขียนโดย ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล และคณะ(ในช่วงที่อาจารย์ยังไม่เกษียณจากสถาบันโภชนาการ) ชื่อ“คู่มือการเลือกอาหารตักบาตรเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีแด่พระภิกษุสงฆ์” ทุกท่านสามารถเข้าไปอ่านได้ฟรีที่ http://www.inmu.mahidol. ac.th/th/ebook/Book/magazine5/index.html#/0  หนังสือเล่มนี้หนา 166 หน้า ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำบุญทำทานที่มีโภชนาการเข้าไปเกี่ยวข้อง รวมทั้งโรคที่เกิดแก่พระสงฆ์เป็นประจำ ข้อมูลต่างๆ ในหนังสือของอาจารย์ประไพศรีและคณะนั้น ความจริงแล้วเป็นข้อมูลด้านโภชนาการที่คนไทยควรทราบ แต่ก็น่าประหลาดใจว่า เมื่อถามเด็กนักเรียนที่จบหลักสูตร(ที่ปรับแล้วปรับอีก) ของกระทรวงศึกษาเกือบทุกคนเกี่ยวกับความรู้ทางโภชนาการของอาหารที่กินทุกวัน คำตอบมักไม่เป็นเรื่องเป็นราว จนดูเหมือนไม่เคยเรียนมา นอกจากนี้ถ้าท่านผู้อ่านลองถามตนเองเกี่ยวกับความรู้ด้านโภชนาการของท่านแล้วรู้สึกว่า ไม่แน่ใจมันยังอยู่หรือไม่ ขอแนะนำให้ท่านเข้าไปอ่านหนังสือเล่มดังกล่าว แล้วสิ่งที่ตกหล่นหายไปอาจถูกกู้คืนมาได้ ยังมีหนังสืออีกเล่มชื่อ “แนวทางการตักบาตรให้ได้บุญ” ของ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดทำเพื่อให้ประชาชนได้อ่านบนจอคอมพิวเตอร์ หรือจะ download จาก http://nutrition.anamai.moph.go.th/temp/main/public01.php มาเก็บไว้อ่านยามว่าง หนังสือเล่มนี้น่าอ่านมากเช่นกัน เพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับพิธีกรรมในการตักบาตรทำบุญ แถมบอกด้วยว่าทำบุญอย่างไรจึงจะได้บุญมาก และมีเมนูอาหารที่ประสกสีกาควรเลือกมาประกอบเพื่อถวายให้พระสงฆ์มีสุขภาพดี อย่างไรก็ตาม หนังสือก็คือหนังสือ มักมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ต้องอ่านหลายรอบกว่าจะจบ ดังนั้นสิ่งที่ควรกำหนดไว้ในใจเมื่อต้องการทำบุญตักบาตรนั้น ผู้เขียนได้บอกแก่นักข่าวที่มาสัมภาษณ์ว่า ถ้าคิดว่าทำบุญอะไรแล้วจะได้อย่างนั้นในโลกหน้า ก็คงต้องเตรียมบุญให้ถูกหลักโภชนาการหน่อย หลักการคือ เวลาใส่บาตร ถ้าใส่ข้าวกล้องได้จะดีเลิศประเสริฐศรี เพราะนอกจากมีแป้งแล้ว ยังมีใยอาหาร วิตามินบีรวม วิตามินอี เบต้า-แคโรทีน และสารต้านอนุมูลอิสระอีกมากมาย รวมทั้งกรดไขมันไม่อิ่มตัวด้วย และบุญจะมากขึ้นถ้าใส่ข้าวกล้องข้าวหอมนิล ข้าวไรซ์เบอร์รี หรือข้าวเหนียวดำ (ซึ่งผู้เขียนเคยทำวิจัยพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าข้าวหลายชนิด) ในส่วนของอาหารโปรตีนซึ่งมักมาในรูปแกงของไทยนั้น พยายามเลี่ยงแกงกะทิ เพราะกะทินั้นเป็นไขมันที่อร่อยมาก กินแล้วหยุดยาก แต่ถ้าต้องการใส่แกงกะทิจริงแนะนำให้ท่านแบ่งใส่ถุงให้พระฉันเพียง 2-3 คำ หรือถ้าเปลี่ยนเป็นแกงป่าซึ่งมีสมุนไพรและเครื่องเทศมาก ใส่เท่าไรก็ไม่มีปัญหา โปรตีนในรูปเนื้อสัตว์ชุบแป้งทอดหรือทอดโดยไม่ชุบแป้งนั้น ควรใส่บาตรแต่น้อย เพราะเป็นอาหารที่อมน้ำมัน และทราบกันมานานแล้วว่า เนื้อสัตว์ที่ถูกทอดให้กรอบนั้นมักมีสารก่อมะเร็ง สารก่อมะเร็งในอาหารทอด(รวมถึงปิ้งย่างรมควัน) นั้นถ้ากินไม่มากนัก อวัยวะภายในของเราคือ ตับและไตก็คงสามารถทำลายทิ้งได้ โดยมีข้อแม้ว่าเซลล์ของอวัยวะที่ทำลายสารพิษนั้นต้องแข็งแรง ไม่ถูกทำลายด้วยเหล้าหรือบุหรี่เสียก่อน(ควันบุหรี่นั้นนอกจากไปปอดแล้วยังลงไปตับได้ด้วยการกลืนน้ำลายขณะสูบ) ประการสำคัญเราควรคำนึงว่า อาหารครบห้าหมู่หรือไม่ สำหรับคำแนะนำของผู้เขียนคือ ให้มื้ออาหารที่จะใส่บาตรนั้น มีหมู่ผักและผลไม้ดูแล้วประมาณครึ่งหนึ่ง จากนั้นอีกครึ่งหนึ่งที่เหลือมีอาหารแป้ง (ไม่ว่าจะเป็นข้าวหรือเผือกมัน) อยู่ครึ่งหนึ่ง(1 ใน 4 ของอาหารทั้งหมด) ส่วนที่เหลือก็เป็นเนื้อสัตว์ที่มีน้ำมันเป็นองค์ประกอบจากการผัดหรือทอด ขณะที่มองภาพรวมของอาหารที่ใส่บาตร(หรือแม้ใส่ปากเราเองก็ตาม) ควรเห็นภาพว่า อาหารนั้นมีสีหลากหลาย คือ มีสีรุ้ง (ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง) เพื่อประกันว่า ได้องค์ประกอบของอาหารครบตามที่ร่างกายต้องการ ทั้งสารอาหารหลักคือ แป้ง โปรตีน ไขมัน วิตามิน เกลือแร่และใยอาหาร และองค์ประกอบรองคือ สารที่มีประโยชน์จากผัก ผลไม้และเครื่องเทศต่างๆ ซึ่งไม่ช่วยในการซ่อมแซมร่างกาย แต่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายต่างๆ ประการสำคัญในการใส่บาตรอีกประการคือ พระควรได้เดินออกจากวัดมาบิณฑบาต เพื่อเป็นการออกกำลังกายของพระในทางอ้อม ยิ่งถ้าได้เดินสักวันละเป็นกิโลเมตรขึ้นไป สุขภาพพระก็น่าจะดี การนำภัตตาหารไปใส่บาตรที่วัดนั้น ควรกระทำเฉพาะกับพระที่อาพาธ มีอายุมาก หรือน้ำท่วมวัดแล้วเท่านั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point