ฉบับที่ 177 ประกันฯ ที่ไม่มั่นคง

คปภ.และบริษัทประกันภัย โหมรณรงค์ให้คนไทยทำประกันภัยกันอย่างครึกโครม  โดยที่จริงๆ แล้วเรื่องประกันภัย ประกันสุขภาพ  ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่รอให้ “คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) แก้ไขอย่างจริงจัง   วันก่อนพี่จิ๋ม(นามสมมุติ) มาร้องเรียนว่า  ถูกบริษัทประกันภัยชื่อดัง  ส่งหนังสือมาบอกเลิกสัญญา  ทั้งๆ ที่ได้ซื้อประกัน ในราคา 2 หมื่นกว่าบาทต่อปี มาตั้งแต่ ปี 2552 และซื้อต่อเนื่องมาจนถึง  ตุลาคม 2558   ก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญา(พร้อมแนบเงินที่เหลือปีสุดท้ายส่งมาด้วย)   เมื่อถามต่อก็ได้ทราบว่าเหตุผลที่ถูกบอกเลิกสัญญาคือ  กล่าวหาว่าผู้ซื้อประกันปกปิดข้อมูลการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆมากมาย   ทั้งเบาหวาน ความดัน ฯลฯ ทั้งที่ตอนทำประกันผู้ซื้อยังไม่ได้เป็นโรคเรื้อรังอะไร   ผู้ร้องทุกข์เล่าให้ฟังอีกว่า ในหนังสือที่ส่งมาแจ้งอีกว่า รู้ข้อมูลการเป็นโรคของผู้ซื้อแล้วตั้งแต่เดือน มีนาคม 2558  แต่ไม่มีการแจ้งให้ผู้ซื้อประกันทราบ   นอกจากไม่แจ้งให้ผู้ซื้อทราบแล้ว  ยังเรียกเก็บเงิน   ไปอีกเมื่อ 30 กันยายน 2558   แล้วก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญาในเดือนตุลาคม  ในปีเดียวกัน  ที่เจ็บใจมากคือ  ลงเงินซื้อประกันฯไปตั้งแต่ปี  2552  จนถึงปัจจุบัน รวมๆ แล้วประมาณ 150,000  บาท แต่บริษัทคืนให้เฉพาะเงินที่ลงไปปีล่าสุดเท่านั้น  อย่างนี้เท่ากับหรอกให้เราซื้อประกัน  พอเราเป็นโรคก็ไม่ ก็ปฏิเสธการดูแล  ด้วยการบอกเลิกสัญญาดื้อๆ แบบนี้ เรื่องลักษณะนี้ไม่ได้เกิดกับคุณจิ๋มคนเดียว แต่เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ คน  คำถามคือเรื่องแบบนี้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือฉ้อโกงกันแน่(เรื่องนี้คงต้องรอคำตอบจากคำสั่งศาล) หากอ้างกฎหมายผู้ซื้อประกันหากสู้ยาก เพราะกฎหมายประกันวินาศภัย ข้อหนึ่ง เขียนไว้กว้างๆ ว่า “หากบริษัทเห็นว่ามีความเสี่ยงสามารถบอกเลิกสัญญาได้”  ดังนั้นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องร่วมกันผลักดันคือ  ต้องให้ คปภ. กำหนดระเบียบกติกาที่ชัดเจน  ในการบอกเลิกสัญญาประกันภัยฯ  ว่าลักษณะไหนบ้างที่บริษัทจะบอกเลิกสัญญาได้  และลักษณะไหนที่ห้ามบอกเลิกสัญญา   ถ้าบริษัทฯ ใดละเมิดต้องจัดการให้เป็นตัวอย่าง  ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อ  และเบื่อการซื้อประกันฯ เพราะไม่เป็นผลดีทั้งผู้ซื้อประกันฯ และบริษัทประกันภัย  ก็ขอเรียกร้องให้ คปภ.ขยับเรื่องนี้ให้จริงจังเสียที

อ่านเพิ่มเติม >