ฉบับที่ 136 กระแสต่างแดน

ทำเองใช้เอง จะมีสักกี่คนที่รู้จักเมือง อีสต์ ลิเวอร์พูล บนฝั่งแม่น้ำโอไฮโอ ก่อนหน้านี้เคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ “จัดโต๊ะอาหารให้กับอเมริกา” ด้วยโรงงานถ้วยชามในเมือง ที่มีถึง 48 แห่ง แต่ปัจจุบัน เศรษฐกิจที่นี่แตกสลาย ไม่ต่างอะไรกับถ้วยชามที่ถูกทำหล่น เมืองนี้กลายเป็นจุดอับของอเมริกา ประชากร(ซึ่งมีทั้งหมด 11,000 คน) มีรายได้เฉลี่ยเพียง 1 ใน 3 ของรายได้ของผู้คนในรัฐโอไฮโอทั้งหมด คนส่วนใหญ่ข้ามแม่น้ำไปหางานทำในคาสิโน ในเวอร์จิเนียตะวันตก บ้างก็ไปทำงานที่สนามบินพิทส์เบิร์ก อัตราว่างงานที่นี่สูงถึงร้อยละ 10 โรงงานเซรามิกก็เหลืออยู่เพียง 2 เจ้าเท่านั้น หนึ่งในนั้นได้แก่ The American Mug and Stein เกือบจะปิดตัวลงเมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่ผ่านมา   ที่ว่า “เกือบ” ก็เพราะ อูลริค โฮนิกเฮาเซน เจ้าของบริษัทเฮาเซนแวร์ ในคาลิฟอร์เนีย ที่เป็นผู้จัดหาเครื่องถ้วยชามเซรามิกให้กับห้างค้าปลีกรายใหญ่ๆ มีแผนจะให้โรงงานนี้ผลิตถ้วยส่งให้กับร้านกาแฟสตาร์บัคส์ ถ้วยดังกล่าวจะเริ่มวางขายในสาขาต่างๆ ทั่วอเมริกา ในเดือนมิถุนายน ภายใต้แบรนด์ Indivisible ที่เป็นโครงการสร้างงานให้กับคนอเมริกัน ของสตาร์บัคส์นั่นเอง นี่เป็นตัวอย่างการตอบสนองเสียงเรียกร้องให้ผู้ประกอบการทั้งได้มีส่วนช่วยกันแก้ปัญหาการว่างงานในอเมริกา บริษัท GE ก็ตั้งโรงงานเพิ่มอีก 2 แห่งเพื่อผลิตแบตเตอรี่คุณภาพสูง ที่แต่ก่อนเคยสั่งผลิตจากจีน ทำให้มีคนว่างงานน้อยลงไปอีก 800 คน เป็นต้น เรื่องนี้เป็นไปได้ด้วยหลายปัจจัย ตั้งแต่ค่าแรงในสหรัฐฯ ที่ลดลง ในขณะที่ค่าแรงในจีนแพงขึ้น นอกจากนี้ระยะทางและเวลาในการขนส่งที่น้อยกว่าก็มีส่วนจูงใจผู้ประกอบการไม่น้อย (เช่น ถ้าสั่งทำถ้วยที่อีสต์ ลิเวอร์พูล จะใช้เวลารอเพียง 4 วัน ถ้าสั่งจากจีนจะต้องรอถึง 3 เดือน เป็นต้น)   จับไป .. อย่าให้เสีย นักวิชาการเขาบอกว่า ถ้าเราเรียนรู้ที่จะกินปลาชนิดใหม่ๆ กันบ้าง เราจะสามารถรอดพ้นจากวิกฤติอาหารได้ อย่างน้อยๆ ก็ที่ทะเลเหนือ ที่แต่ละปีมีการทิ้งปลาที่จับขึ้นมาได้กลับลงทะเลไป ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน ด้วยวิธีการทำประมงแบบปัจจุบัน ทำให้ชาวประมงมักจะได้ปลาที่ไม่ได้ตั้งใจจับ (เพราะมันนำมาขายใครไม่ได้) ขึ้นมาด้วยเสมอ สถิติบอกว่ามีปลาที่ถูกจับผิดตัวอยู่ประมาณร้อยละ 50 แถมบางประเทศยังมีกฎหมายห้ามจับปลาบางชนิด หรือไม่ก็มีโควตาห้ามจับปลาบางชนิดเกินปริมาณ ก็ต้องจัดการทิ้งปลาพวกนี้ไปซะก่อนจะถึงฝั่ง คำถามคือ ทำไมเราต้องเลือกด้วย? การนำปลาที่ว่ามากินเป็นอาหาร ย่อมดีกว่าปล่อยพวกมันกลับลงทะเลไป รอเวลาสิ้นลม เสียของเปล่าๆ นอกจากเรื่องภาวะเศรษฐกิจ เรื่องฟุตบอลแล้ว ระยะนี้สมาชิกสหภาพยุโรปก็กำลังถกเถียงกันว่าจะประกาศห้ามการจับปลาแบบทิ้งๆ ขว้างๆ นี้ดีหรือไม่ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ค แบนไปแล้ว ในขณะที่ สก็อตแลนด์ ฝรั่งเศส โปรตุเกส และโปแลนด์อยู่ฝ่ายที่ยังไม่ค่อยจะเห็นด้วย นักวิชาการยืนยันว่าต้องแบนเท่านั้นยุโรปถึงจะมีทางรอด และมีปลาบริโภคกันอย่างพอเพียงในอนาคต     ผู้ดีเชิดใส่วันหมดอายุ สิ่งที่สำคัญที่สุดบนฉลากอาหารสำเร็จรูปคือ วันหมดอายุ แต่พักหลังๆ นี่ผู้บริโภคชาวอังกฤษดูเหมือนจะใส่ใจกับมันน้อยลง ต้องกินให้หมด แม้มันจะเสี่ยง องค์การมาตรฐานอาหารของอังกฤษเขาทำสำรวจพบว่าร้อยละ 97 ของผู้บริโภคเชื่อว่าราคาอาหารนั้นเพิ่มขึ้นมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(ข่าวไม่ได้บอกว่านายกอร์ดอน บราวน์ สั่งการให้บรรดา รมต.ไป เดินตลาดสำรวจราคาด้วยตนเองหรือเปล่านะ) และเมื่อถามว่าผู้บริโภคมีมาตรการที่จะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ร้อยละ 47 บอกว่าตนเองใช้วิธี “บริการจัดการ สต๊อค” หรือพูดอีกอย่างคือเก็บของเหลือในตู้เย็นกินให้เกลี้ยงนั่นแหละ ปัญหามันอยู่ที่เขากินทุกอย่างแม้จะเลยวันหมดอายุที่ระบุไว้บนฉลาก คือถ้าดูแล้วยังหน้าตาเหมือนเดิม กลิ่น ยังไม่เปลี่ยน หรือจำได้ว่าเอาใส่ตู้เย็นไว้ไม่นาน ก็เป็นอันว่าลงมือกินได้ แต่ทางการเขาเป็นห่วง เพราะผู้ดีเหล่านี้ลืมใช้วิจารณญาณในการกินไปนิด เพราะอันตรายบางอย่างนั้นไม่สามารถบอกได้ด้วยลักษณะภายนอก เช่น คุณไม่มีทางดมดูแล้วรู้ว่าอาหารนั้นมี อีโคไล หรือซัลโมเนลลา เด็ดขาด ข่าวเขาฝากเตือนมาว่าใครก็ตามที่ไปลอนดอนเพื่อดูกีฬาโอลิมปิกในปีนี้ อย่าลืมสังเกตดูว่ารถเข็นขายอาหารที่เข้าไปรุมซื้อนั้นมีใบอนุญาตและผ่านการตรวจสอบหรือไม่ อาหารเป็นพิษขึ้นมาจะเชียร์กีฬาไม่สนุกซะเปล่าๆ     อีบุ๊คส์ บุกโรงเรียนฮ่องกง ฮ่องกงก็เป็นอีกที่ๆ มีปัญหาเรื่องราคาหนังสือเรียนแพงเหลือหลาย ปีที่แล้ว ก็ออกประกาศห้ามโรงเรียนใช้ระบบการรับแจกคู่มือครูฟรีจากสำนักพิมพ์ เพื่อแลกกับการขายหนังสือฉบับนักเรียนในราคาที่สูงกว่าปกติ แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป รมต.ศึกษาธิการของที่นั้นจึงหันมาชงข้อเสนอให้รัฐส่งเสริมการพัฒนาหนังสือในรูปแบบอิเลคทรอนิกส์แทน เขาบอกว่าตั้งแต่ปีการศึกษาหน้าเป็นต้นไป โรงเรียนประถมและมัธยมในฮ่องกง อย่างน้อย 50 โรงจะเปลี่ยนจากหนังสือในรูปแบบดั้งเดิมมาเป็นอีบุ๊คส์ทั้งหมด ทั้งนี้กำลังรอให้รัฐบาลอนุมัติงบประมาณ 50 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 200 ล้านบาท) ให้มหาวิทยาลัยและองค์กรไม่แสวงหากำไรนำไปเป็นทุนพัฒนาอีบุ๊คส์เล่มใหม่ๆ ขึ้นมาให้ตอบสนองกับหลักสูตรในโรงเรียนมากขึ้น ที่น่าสนใจคือ เขาบอกว่าอุปกรณ์ที่ใช้ในการอ่านอีบุ๊คส์นั้น ไม่จำเป็นต้องมีกันคนละเครื่อง เด็กๆ สามารถใช้อุปกรณ์ร่วมกันเป็นกลุ่มได้ จะได้แบ่งเบาภาระของผู้ปกครองด้วย ไม่น่าเชื่อว่าฮ่องกงที่รวยขนาดนั้น เขาไม่แจกแท็บเล็ตให้เด็กคนละเครื่องเหมือนที่เมืองไทยหรอกหรือนี่     รักคงยังไม่พอ โคลเอตต้า ผู้ผลิตช็อคโกแล็ต สัญชาติสวีเดน โฆษณาว่าในซองขนมหวานรสช็อคโกแลต Mini Plopp ของเขาจะมีถ้อยคำ 4 คำบรรจุอยู่: LOVE HUG KISS และ JOY บรรยากาศรักนะจุ๊บๆ นี้ควรจะทำให้ทุกฝ่ายรื่นรมย์ แต่ปรากฏการณ์รักคุดก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อผู้บริโภคชาวสวีเดนรายหนึ่งร้องเรียนต่อองค์กรผู้บริโภค Konsumentverket ว่าเธอไม่ได้รับความเป็นธรรม(หรือจะบอกว่าไม่ได้รับความรักดี?) จากโคลเอตต้า เพราะเธอลงทุนไปซื้อ Mini Plopps มาหลายห่อ เพื่อนำมาใช้ในงานแต่งของเธอ ซึ่งคิดมาแล้วว่าจะต้องอบอวลไปด้วยความรัก แต่ปรากฏว่าไม่ว่าจะเปิดสักกี่ซอง แขกเหรื่อทั้งหลายรวมทั้งตัวเธอเองก็ยังไม่พบคำว่า LOVE และ JOY เสียที เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปก็พบว่าเกิดความผิดพลาดขึ้นในกระบวนการผลิต ทำให้โรงงานใส่แต่คำว่า HUG และ KISS ลงไปในซองเท่านั้น โฆษกบริษัทออกมาขอโทษ และสัญญาว่าคราวหน้าจะไม่ให้พลาดอีก ... เขาคงหมายถึงการผลิตครั้งต่อๆ ไป ไม่ใช่งานแต่งครั้งหน้าหรอก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 กระแสต่างแดน

ยอมกันไม่ได้จริงๆ ชายนอร์เวย์คนหนึ่งยื่นเรื่องร้องเรียนให้คณะกรรมการผู้บริโภคของสวีเดนทบทวนว่า สโลแกนส่งเสริมการท่องเที่ยว “สต็อคโฮล์ม – เมืองหลวงแห่งสแกนดิเนเวีย” เป็นโฆษณาที่หลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ เขาบอกว่าสโลแกนดังกล่าวจงใจทำให้นักท่องเที่ยวเข้าใจว่ากรุงสต็อคโฮล์มนั้นเป็นเมืองหลวงของคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ที่ความจริงแล้วประกอบด้วย 3 ประเทศด้วยกันได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน เขาสอบถามไปยังเทศบาลเมืองสต็อคโฮล์มและได้คำตอบกลับมาว่า ที่ขนานนามเช่นนั้นเพราะ เมืองของเขาดังกล่าวมีสนามบินนานาชาติถึง 5 แห่ง แถมด้วยประชากรกว่า 3.5 ล้านคน และกว่าร้อยละ 40 ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนสแกนดิเนเวียนั้นจะมาเที่ยวที่นี่   แต่เขายังข้องใจ เพราะสต็อคโฮล์มไม่ได้มีสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในย่านนี้สักหน่อย ไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณศูนย์กลางของภูมิภาค แถมยังไม่ใช่ประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของรางวัลโนเบลอย่างประเทศนอร์เวย์ของเขาซึ่งมีเมืองหลวงชื่อว่าออสโลอีกด้วย สรุปว่าเขาไม่เห็นว่า สต็อคโฮล์ม จะดีไปกว่าเมืองหลวงอื่นๆ ตรงไหน ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งออสโลเองก็ไม่ค่อยปลื้มกับคำขวัญของสต็อคโฮล์มเช่นกัน  เขาเปรยๆ ในการสัมภาษณ์ลงหนังสือพิมพ์ทำนองว่า “สต็อคโฮล์มเขาช่างกล้า” อยู่บ่อยๆ คำขวัญนี้มีใช้มา 7 ปีแล้ว แต่เพิ่งจะกลับมาเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อองค์การท่องเที่ยวของสต็อคโฮล์มเป็นสปอนเซอร์งานสัมมนาส่งเสริมการลงทุนที่จัดที่ฝรั่งเศส สโลแกนดังกล่าวมีอยู่ทั่วทั้งงานทั้งบนป้ายและบัตรเข้าชมงาน ผู้เข้าร่วมสัมมนาจากเดนมาร์กและนอร์เวย์หลายคนรับไม่ได้ ขนาดถึงขั้นฉีกตั๋วทิ้งกันเลยก็มี     จ่ายก่อนจร เมืองใหญ่มักมาคู่กันกับปัญหารถติด หลายๆ ที่จึงต้องใช้วิธีเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนหรือในเขตที่มีการจราจรหนาแน่น เพื่อลดจำนวนรถลงบ้าง เช่น ที่ลอนดอน ซึ่งกำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกในเดือนกันยายนปีนี้ เขามีมาตรการสกัดกั้นรถเข้าเมืองมาเกือบ 10 ปีแล้ว ถ้าใครขับรถเข้าไปในเขต “เซ็นทรัล ลอนดอน” ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ระหว่างเวลา 7 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 10 ปอนด์ในกรณีที่คุณไปจ่ายเงินภายในเที่ยงคืนของวันนั้น แต่ถ้าข้ามวันคุณจะต้องเสียเพิ่มเป็น 12 ปอนด์  ถ้าทำเมินลืมจ่ายก็จะมีค่าปรับ 60 ปอนด์ – 187 ปอนด์ (ประมาณ 3,000 – 9,400 บาท) เขาตามหนี้เราได้ เพราะมีกล้องวงจรปิดบันทึกภาพไว้ สำหรับคนที่ต้องเข้าเมืองในเวลาดังกล่าวเป็นประจำเขาจะใช้วิธีจ่ายล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับ แต่เขาจะไม่เก็บจากรถที่ปล่อยคาร์บอนน้อยกว่า 100 กรัม/กิโลเมตร หรือรถที่มีมากกว่า 9 ที่นั่ง วิธีนี้ทำให้รัฐมีรายได้ปีละเกือบ 150 ล้านปอนด์ ไว้เป็นทุนปรับปรุงระบบการจราจร กลับมาที่เวียดนามเพื่อนบ้านของเราบ้าง ขณะนี้เขากำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะห้ามรถยนต์ส่วนบุคคลจากเขตเมืองชั้นในของฮานอยและโฮจิมินห์ในวันธรรมดา ให้ได้อย่างน้อย 5 ชั่วโมง ก่อนหน้านี้เขาคิดจะแบนรถมอเตอร์ไซค์ แต่มีเสียงคัดค้านว่าควรจะห้ามรถยนต์ส่วนบุคคลมากกว่า  เพราะแม้ว่ารถยนต์จะเป็นเพียงร้อยละ 10 ของยานพาหนะบนท้องถนน แต่มันครอบครองพื้นที่บนถนนกว่าร้อยละ 55 และพื้นที่จอดถึงร้อยละ 65 ข่าวบอกว่า ในที่สุดแล้วเขาอาจจะเลือกใช้ระบบเดียวกับที่ลอนดอน ส่วนที่เมืองออสโล นอร์เวย์ นี่มาแปลก เพราะไม่ได้มีปัญหารถแน่นถนน แต่เป็นปัญหาคนแน่นรถแทน เขาจึงเสนอวิธีการแก้ปัญหาด้วยการขึ้นค่ารถสาธารณะในชั่วโมงเร่งด่วน โดยคิดอัตราค่าบริการตามช่วงเวลาที่เราเดินทาง เพื่อให้คนเปลี่ยนมาเดินทางนอกช่วงเวลาเร่งด่วนกันมากขึ้น แต่สภาผู้บริโภคของเขาไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับวิธีนี้ คนที่อุตส่าห์ช่วยลดปัญหาการจราจรด้วยการหันมาใช้บริการขนส่งมวลชน ควรจะต้องได้รางวัล ไม่ใช่การลงโทษ ... อืม นั่นสินะ     อ่านอย่างพอเพียง มนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย... ใครเคยนับบ้างว่าคุณอ่านอีเมล์ (หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์) วันละกี่ครั้ง งานวิจัยล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียร่วมกับศูนย์วิจัยของกองทัพสหรัฐฯ เขาออกมายืนยันว่า คนที่อ่านอีเมล์ในที่ทำงานน้อยกว่าจะสามารถสร้างผลงานได้มากกว่า ทีมวิจัยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมตามปกติของพนักงานออฟฟิศทั้งหมด 13 คน และขอให้คนเหล่านั้นหยุดอ่านอีเมล์เป็นเวลา 5 วัน เขาพบว่าในช่วงที่คนเหล่านี้พักจากการอ่านอีเมล์นั้น พวกเขาจะมีสมาธิอยู่กับงานเฉพาะหน้าได้นานกว่า แถมยังพบว่าพวกเขามีอัตราการคลิ๊กเปลี่ยนหน้าจอต่ำกว่าด้วย แล้วความเครียดล่ะ ...  เมื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจดูแล้วยังพบว่าระดับความเครียดเวลาที่ไม่เช็คอีเมล์นั้นแตกต่างจากตอนที่อ่านอีเมล์อย่างมาก กลอเรีย มาร์ค อาจารย์ด้านสารสนเทศศาสตร์ ผู้ศึกษาผลกระทบของใช้อีเมล์ในที่ทำงานมาเป็นเวลากว่า 8 ปี  เสนอให้บริษัททั้งหลายลองส่งอีเมล์ถึงพนักงานเพียงวันละหนึ่งหรือสองครั้งต่อวันเท่านั้น เพื่อที่พนักงานจะได้ไม่ต้องกังวลมาคอยเช็คเมล์ทุกๆ 10 นาที เพราะกลัวพลาด ที่สำคัญเธอเสนอให้ผู้คนทดลอง “พักร้อนจากอีเมล์” กันดูบ้าง เพราะว่าได้ผลดีไม่แพ้การลางานไปพักร้อนเลยทีเดียว สถิติน่าสนใจ : คนที่ใช้อีเมล์เป็นประจำจะเปลี่ยนหน้าจอ 37 ครั้งในหนึ่งชั่วโมง ในขณะที่คนอื่นๆ ที่เปิดอ่านอีเมล์น้อยครั้งกว่า จะเปลี่ยนหน้าจอเพียง 18 ครั้งต่อชั่วโมงเท่านั้น   ข้อเสียอีกประการของการเปิด “กล่องจดหมายเข้า” คือการต้องพบกับ “โฆษณาไม่พึงประสงค์” คุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ว่าอะไร แค่กด “delete” ทิ้งมันลงถังขยะไปเฉยๆ ผู้บริโภคที่ฮ่องกงเขาทำมากกว่านั้น จากการสอบถามชาวฮ่องกง 1,046 คน พบว่าเกือบร้อยละ 50 ตอบว่าตัวเองจะตอบโต้ด้วยการ “บอยคอต” แบรนด์สินค้าที่ส่งอีเมล์/SMS  เข้ามาโฆษณาไม่หยุดหย่อน ด้วยการเลิกซื้อไปเลย ที่นั่นเขาคงโฆษณากันหนักจริงๆ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ ได้บอยคอตไปไม่ต่ำกว่า 4 แบรนด์แล้ว แต่บริษัทโฆษณามีหรือจะท้อ เขาบอกว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวจัดให้ใหม่ ที่ผู้บริโภคเซ็งแบรนด์ไปนั้นเป็นเพราะว่ายังสื่อสารไม่ถูกกลุ่มเป้าหมายและไม่ถูกเวลามากกว่า ต่อไปจะต้องเก็บข้อมูลผู้บริโภคให้ละเอียดมากขึ้น เอาล่ะสิ  งานกลับมาเข้าที่ผู้บริโภคอีกแล้ว ทุกวันนี้เรายังถูกเก็บข้อมูลไม่มากพออีกหรือ   เอกสิทธิ์เฉพาะคนจน? ไปดูสถานการณ์น้ำมันที่อินโดนีเซียกันบ้าง คงยังจำกันได้ว่าเขามีประท้วงใหญ่กันไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซีย ประกาศห้ามคนรวยหรือคนชั้นกลางซื้อน้ำมันชนิดที่รัฐช่วยพยุงราคา หมายความว่าใครก็ตามที่ขับรถที่มีขนาดเครื่องยนต์เกินกว่า 1.5 ลิตรขึ้นไป จะไม่สามารถซื้อน้ำมันเกรดต่ำได้ ข่าวบอกว่า แม้จะเป็น “น้ำมันเกรดต่ำ” ที่รัฐช่วยรับภาระไว้ครึ่งหนึ่ง แต่คนที่ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนมีเงิน เพราะคนจนนั้นไม่มีรถให้ต้องเติมน้ำมันอยู่แล้ว  ส่วนกลุ่มที่พอจะมีรายได้(แต่น้อย) ก็มีแต่มอเตอร์ไซค์ซึ่งใช้น้ำมันประเภทอื่น หลังจากประกาศใช้ กฎดังกล่าวจะมีผลภายใน 3 เดือนในจาการ์ตา และจะมีผลทั้งประเทศในอีก 4 เดือนหลังจากนั้น รถยนต์ของหลวงนั้นจะต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวภายใน 7 วันหลังการประกาศใช้ ส่วนรถสาธารณะนั้นไม่เข้าข่าย รถเล็กก็เติมต่อไปได้ตามปกติ องค์กรผู้บริโภคบอกว่านโยบายนี้จะทำให้ปั๊มน้ำมันหัวนอกได้เปรียบ เพราะถ้าจะต้องซื้อน้ำมันแพง ผู้บริโภค ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้ลำบากเรื่องเงิน จะหันไปเติมน้ำมันกับปั๊ม อย่างเชลล์ และโททาล เพราะเชื่อว่าน่าจะดีกว่าปั๊มท้องถิ่นอย่างเพอตามีนาของอินโดนีเซีย     ความผิดแนวตั้ง อย่างที่รู้กันดีว่าสิงคโปร์เมืองสะอาดเอี่ยมเขาเฮี้ยบมากในการจัดการกับพวกทิ้งขยะไม่เป็นที่ แต่มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เขาจัดการไม่ได้เสียทีแม้จะรณรงค์มากว่า 10 ปีแล้ว ด้วยเนื้อที่อันจำกัด คนสิงคโปร์ส่วนใหญ่ต้องอาศัยอยู่ในแฟลตสูง และหนึ่งในปัญหาที่เจออยู่บ่อยๆ คือ “ขยะลอยฟ้า”  ทางการบอกว่าได้รับเรื่องร้องเรียนไม่ต่ำกว่า 100 เรื่องต่อเดือน องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสิงคโปร์จึงทดลองนำกล้องวงจรปิดไปติดตั้งไว้ 10 จุดที่ชั้นบนสุดของแฟลตการเคหะสิงคโปร์ ในบริเวณที่มีผู้คนร้องเรียนมาบ่อยๆ ได้ผลดีทีเดียวสำหรับการลงทุนกล้องตัวละ 25,000 เหรียญ (ประมาณ 620,000 บาท) ที่สามารถเก็บภาพต่อเนื่องได้อย่างน้อย 5 วัน  นับว่าคุ้มมาก จากที่เคยต้องให้คนไปซุ่มรอกันคราวละหลายชั่วโมง เขาจึงวางแผนว่าจะติดเพิ่มอีก 40 จุด ภายในเดือนสิงหาคมนี้ หนุ่มรายหนึ่งถูกเรียกไปศาลและถูกตัดสินให้จ่ายค่าปรับจำนวน 800 เหรียญสิงคโปร์ (เกือบๆ 20,000 บาท) โทษฐานที่ทิ้งขยะในที่สาธารณะ โดยมีหลักฐานจากกล้องวงจรปิด ความละเอียดสูง ที่บันทึกภาพของเขาขณะโยนก้นบุหรี่ออกมาจากห้องพักบนชั้น 3 ของแฟลต เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 134 กระแสต่างแดน

  จับจริงปรับจริง ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไป ดานัง ซึ่งเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่อันดับ 4 ของประเทศเวียดนาม เขาจะเพิ่มความเข้มข้นของการปราบปรามการทำผิดกฎจราจรขึ้นอีกระดับ อย่างแรก ถ้าคุณทำผิดกฎจราจร คุณจะต้องเสียค่าปรับแพง อย่างที่สอง ตำรวจจราจรที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 4 เส้นทางหลักในการเข้า/ออกตัวเมืองดานัง ซึ่งมีความวุ่นวายจอแจไม่ธรรมดา จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอีกคนละ 5 ล้านด็อง (ประมาณ 7,400 บาท) จากอัตราเงินเดือนปกติ 2 ล้านด็อง (ประมาณ 3,000 บาท) ในขณะที่สารวัตรจราจรจะได้เงินเพิ่มอีกเดือนละ 2 ล้านด็อง (ประมาณ 3,000 บาท) แถมด้วยส่วนแบ่งอีกร้อยละ 10 จากค่าปรับที่เรียกเก็บจากพวกที่ทำผิดกฎจราจรอีกต่างหาก เท่านั้นยังไม่พอ เขาจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ตามจุดตรวจเพื่อลดการติดสินบนเจ้าหน้าที่อีกด้วย ใครมีภาพตัวเองรับสินบน ไม่ว่ามากหรือน้อย จะต้องถูกไล่ออกทันที อีกหน้าที่หนึ่งของตำรวจจราจรที่ดานังคือการตรวจคุณภาพของหมวกกันน็อคของบรรดาผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ด้วย เพราะเมืองนี้กำลังมีปัญหาหมวกกันน็อคปลอมระบาด ที่คนนิยมซื้อมาใช้เพราะราคาถูกกว่ากันครึ่งต่อครึ่ง   ข่าวบอกว่าตำรวจเขาจะเชิญสิงห์มอเตอร์ไซค์เข้าไปนั่งรอการตรวจหมวกกันน็อคในที่ร่มๆ ให้สบายใจ ถ้าพบว่าเป็นชนิดที่ต่ำกว่ามาตรฐาน เขาก็จะเก็บไว้ แล้วให้ซื้อหมวกกันน็อค ที่ทั้งคุณภาพดี มีมาตรฐาน และราคาเพียงใบละ 80 บาทใส่กลับบ้านไปด้วย เหตุที่ผลิตออกมาได้ถูกนั้นก็เพราะ เทศบาลเมืองดานังเขาให้เงินกู้แบบไม่คิดดอกเบี้ย (ประมาณ 11.7 ล้านบาท) กับผู้ผลิตหมวกกันน็อค เพื่อเป็นต้นทุนในการผลิตหมวกนิรภัยที่มีมาตรฐาน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องผลิตหมวกนิรภัยให้กับเทศบาล 100,000 ใบ ภายในระยะเวลา 2 ปี   รถไฟสายพิเศษ การรถไฟแห่งประเทศฝรั่งเศส ถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 1,500 ยูโร (ประมาณ 60,000 บาท) ให้กับสาวนางหนึ่งที่ไปทำงานสายถึง 6 ครั้งในช่วงทดลองงาน เพราะรถไฟที่เธอใช้เพื่อเดินทางจากบ้านไปยังสำนักงานในเมืองลียงนั้นมาไม่ตรงเวลา เธอคนนี้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก SNCF หรือ Société Nationale des Chemins de fer Français (ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟเจ้าใหญ่ของยุโรป รวมถึงเป็นเจ้าของกิจการรถไฟความเร็วสูง TGV ด้วย) ไปทั้งหมด 45,000 ยูโร (ประมาณ 1.8 ล้านบาท) โทษฐานที่ทำให้เธอต้องได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และสูญเสียรายได้ที่อาจเกิดขึ้นถ้าเธอผ่านการทดลองงานด้วย เธอบอกว่าระยะเวลาที่ต้องรอนั้นมีตั้งแต่ 10 ถึง 75 นาที และสำนักงานกฎหมายที่เธอเข้าทดลองงานในเดือนมิถุนายน ปี 2010 ก็ยืนยันว่าการมาสายของเธอเป็นผลเสียต่อกิจการของบริษัท ศาลเห็นด้วยว่าการที่รถไฟมาไม่ตรงเวลานั้น ทำให้เธอเกิดความเครียด จึงสั่งให้ SNCF จ่ายเงินชดเฉยให้กับเธอเป็นเงิน 1,500 ยูโร แม้ว่าผู้บริโภคจะไม่ได้ค่าชดเชยทั้งหมดที่เรียกร้องไป แต่ข่าวบอกว่านี่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่การรถไฟฝรั่งเศสจะต้องเตรียมตัวรับมือต่อไป สองปีก่อน การรถไฟฝรั่งเศสเคยถูกศาลสั่งให้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ทนายคนหนึ่งเป็นเงิน 5,000 ยูโร (ประมาณ 200,000 บาท) เพราะรถไฟมาสายและทำให้เขาพลาดรถที่จะต้องต่อไปพบลูกความที่เมืองนีมส์ มาแล้ว     วันนี้ห้ามขาย สำนักงานเทศบาลของ 25 เขตในกรุงโซลลงความเห็นร่วมกันว่า แต่นี้ต่อไป ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และสาขาย่อยที่เรียกกันว่า SSM (super supermarkets) ของห้างเหล่านั้น จะต้องปิดทำการในวันอาทิตย์ที่สองและสี่ของเดือน นี่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะช่วยให้ร้านค้าแบบดั้งเดิม (หรือที่บ้านเราเรียก “โชว์ห่วย”) ให้สามารถอยู่ควบคู่กันไปกับร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องปิดกิจการนั่นเอง กรุงโซลเป็นหนึ่งในหลายๆ เมือง ที่กำลังปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ ที่ให้อำนาจแก่องค์กรท้องถิ่น ในการสั่งให้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่และสาขาย่อย ปิดทำการได้ถึงเดือนละ 2 ครั้ง และการฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 30 ล้านวอน(ประมาณ 800,000 บาท) ทั้งนี้มีข้อยกเว้นสำหรับห้างที่ยอดขายเกินร้อยละ 50 มาจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากการเกษตรและปศุสัตว์ ร้าน Hanaro Club ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกที่ดำเนินงานโดยสหพันธ์สหกรณ์การเกษตรแห่งชาติของเกาหลีก็เข้าข่ายนี้เช่นกัน และแน่นอนที่สุด สมาคมร้านค้าปลีกของเกาหลี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ทบทวนกฎหมายดังกล่าว เพราะ “มันเป็นการละเมิดสิทธิของห้างในการประกอบธุรกิจ และละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในการจับจ่าย”  นอกจากนี้ยังบอกว่าจะล่ารายชื่อ 1 ล้านรายชื่อ เพื่อคัดค้านกฎหมายนี้ สมาคมฯ โอดครวญว่า ทีพวกขายของทางโทรทัศน์หรือทางอินเตอร์เน็ทยังขายได้ทุกวัน วันละ 24 ชั่วโมงเลย (ว่าแต่ร้านโชว์ห่วยเขาขายของแบบเดียวกันกับร้านพวกนี้หรือไงนะ?)     แคลอรี่ บลา บลา? เนื่องจากประชากรของเขามีอัตราการเกิดโรคอ้วนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป รัฐบาลอังกฤษเลยตัดสินใจประกาศแผนลดความอ้วนระดับชาติ ด้วยการกำหนดให้ผู้ผลิตลดปริมาณแคลอรี่ในอาหารสำเร็จรูปลง เบื้องต้นได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ 17 ราย ซึ่งรวมถึง โคคา โคล่าที่ประกาศว่าจะลดปริมาณแคลอรี่ในเครื่องดื่ม (บางชนิด) ของตนเองลงร้อยละ 30 เช่นเดียวกับ Mars ที่บอกว่าจะทำขนมหวานรสช็อคโกแล็ต แต่ละชิ้นให้มีแคลอรี่ไม่เกิน 250 หรือห้าง Asda ที่ประกาศเปิดตัวผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ที่จะผลิตเฉพาะอาหารแคลอรี่ต่ำ เป็นต้น เรื่องนี้จะว่าดีก็ใช่ แต่มันยังไม่ถึงที่สุด พรรคแรงงานออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลว่าทำไมถึงไม่คิดถึงทางเลือกอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากกว่านี้ เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบการปรับปรุงฉลากอาหาร หรือจำกัดการโฆษณาอาหารขยะทั้งหลายที่เด็กๆ พบเห็นบ่อยเกินไปในโทรทัศน์ เป็นต้น อีกความพยายามที่น่าสนใจของรัฐบาลอังกฤษคือการขอให้ผู้ผลิตทำบรรจุภัณฑ์ที่เอื้อต่อการเก็บไว้รับประทานในคราวต่อไปได้ด้วย     ถนนนี้เราจอง คุณอาจเคยได้ยินชื่อ เอมิเรตส์ สเตเดียม ในกรุงลอนดอน หรือถ้าคุณเป็นแฟนของทีมฟุตบอลเลสเตอร์ซิตี้ คุณก็คงจะรู้จักคิง พาวเวอร์ สเตเดียม แต่ “แบรนด์” ต่างๆ สามารถไปได้ไกลกว่านั้น อย่างน้อยๆ ก็ที่รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เพราะเขาประกาศขายสิทธิในการตั้งชื่อถนน ทางหลวง สะพาน ฯลฯ ให้กับใครก็ตามที่ยินดีให้ราคาสูงสุดในการประมูล เวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับที่ 12 ของอเมริกา ตัดสินใจผ่านกฎหมายดังกล่าวเพื่อหางบประมาณมาซ่อมแซมถนน ซึ่งแต่ละสายก็อายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี นักการตลาดบอกว่านี่เป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการในยุคที่ “แบรนด์” ทั้งหลายแข่งกันสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภค แทนที่จะไปทุ่มเทเงินให้กับนักกีฬาหรือทีมกีฬาที่รวยอยู่แล้ว บริษัทต่างๆ ควรใช้เงินเพื่อสนับสนุนการดูทรัพย์สินสาธารณะดีกว่า ในทางกลับกัน ฝ่ายที่คัดค้านมองว่ามันเป็นการใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการค้า ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องถูกแวดล้อมไปด้วยโฆษณาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 133 กระแสต่างแดน

  เที่ยวบินขาขึ้น สายการบินที่ดำเนินงานโดยรัฐบาลแล้วยังอยู่ดีมีแฮงนั้นยังพอมีอยู่ในโลก สายการบินโบลิเวียนา ของรัฐบาลประเทศโบลิเวีย เป็นหนึ่งในนั้น ถ้ายังจำกันได้สายการบินอาลิตาเลีย (Alitalia) ของอิตาลี ถูกขายให้กับเอกชนไปในปี 2551 ตามด้วยสายการบินโอลิมปิก (Olympic) ในปีต่อมา หรือแม้แต่สายการบินแห่งชาติของอาร์เจนตินา ก็ต้องได้รับการต่อลมหายใจด้วยเงินภาษีกว่า 23,000 ล้านบาท เมื่อปีที่แล้ว โบลิเวียนา นั้นนอกจากจะไม่ขาดทุนแล้วยังกลายเป็นผู้ครองส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 50 ของเที่ยวบินในประเทศ เบียดสายการบินเอกชน ไอโรซูร์ (Aerosur) ที่เคยผูกขาดบริการนี้ตกเวทีไปเลย โบลีเวียนาแทรกเข้ามาขอส่วนแบ่งตลาดที่มีลูกค้าประมาณ 1.5 ล้านคนได้เพราะเมื่อ 5 ปีก่อน สายการบิน Lloyd Aereo Boliviano (ซึ่งเป็นของรัฐบาลเช่นกัน) ปิดตัวไปเพราะล้มละลายและไม่มีเอกชนสนใจเข้ามาซื้อกิจการไปทำต่อ ด้วยเงินตั้งต้น 800 ล้านบาท โบลิเวียนาเปิดตัวด้วยโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 และยึดนโยบายขายตั๋วถูกมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังประกาศยกเลิกที่นั่งเฟิร์สทคลาสเพื่อขายตั๋วในราคาเดียวกันหมดทุกที่นั่ง เพื่อให้ตรงกับคอนเซ็ปท์ “ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน” ที่ประธานาธิบดี อีโว โมราเลสเคยประกาศไว้ ตัวอย่างเช่น ตั๋วไปกลับระหว่างเมืองลาปาซกับเมืองซานตาครูส ของสายการบินไอโรซูร์อยู่ที่ 7,500 บาท ในขณะที่โบลิเวียนาขายเพียง 5,800 บาทเท่านั้น  แต่เดี๋ยวก่อน เด็กและผู้สูงอายุยังมีสิทธิได้รับส่วนลดเพิ่มอีก ใจป้ำขนาดนี้เลยขาดทุนไป 185 ล้านบาทในปีแรก แต่ปีต่อมาทำกำไรได้ 123 ล้านบาท (หลังหักภาษีเข้ารัฐไปแล้วกว่า 1,000 ล้าน) โบลิเวียนากำลังเพิ่มเส้นทางการบินและซื้อเครื่องบินเพิ่มอีก 6 ลำ เอาไว้รองรับผู้โดยสารที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกขณะ(สถิติระบุว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จำนวนชาวโบลิเวียที่เดินทางด้วยเครื่องบินเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35) ก็ใครจะไม่อยากบินล่ะ ... ทั้งถูก ทั้งทั่วถึงขนาดนี้ ...   “วัดแห่งนี้สีเขียว” นี่ไม่ใช่ป้ายสติ๊กเกอร์ติดหน้าวัด แต่เป็นคำอธิบายกิจกรรมรักษ์โลกที่เกิดขึ้น ณ วัดฮินดูแห่งหนึ่ง ในเมืองทีรุมาลา รัฐอันตระประเทศของอินเดีย วัดทีรุปาตีแห่งนี้ ติดอันดับท็อปเท็นของวัดที่รวยที่สุดในแดนภารตะ ด้วยรายได้ 10,000 ล้านบาทต่อปี ที่มาจากการบริจาคโดยญาติโยมชาวฮินดู ที่มาสักการะองค์เทพเวงกเฏศวร(อวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์) ประมาณวันละ 50,000 ถึง 100,000 คนนั่นเอง ที่นี่จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการรณรงค์เรื่องการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ในประเทศที่มีความต้องการพลังงานสูงมากอย่างอินเดีย ที่ร้อยละ 45 ของรายได้จากการส่งออกสินค้า ต้องถูกนำไปใช้จ่ายเพื่อการนำเข้าพลังงาน โรงครัวหลังมหึมาที่วัดนี้เปิดบริการอาหารฟรี 24 ชั่วโมง โดยใช้พลังงานที่ส่งลงมาจากแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาตึก ในแต่ละวัน “พลังเบื้องบน” นี้สามารถผลิตไอน้ำอุณหภูมิ 180 องศาเซลเซียส ได้ถึง 4,000 กิโลกรัม จึงช่วยทำให้การหุงข้าวและต้มถั่วประมาณ 50 ตันต่อวัน เป็นไปอย่างรวดเร็วและประหยัด เขาประเมินคร่าวๆ ว่าสามารถประหยัดการใช้น้ำมันดีเซลไปถึง 500 ลิตรต่อวัน เมื่อวัดลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากครัวของตัวเองได้ 1,350 กิโลกรัม จึงนำโควตาดังกล่าวไปขายให้กับรัฐบาลประเทศเยอรมนี มีรายได้เข้าวัดอีกมิใช่น้อย ส่วนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในวัดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากกังหันลมที่บริษัทซูสลอน ของอินเดีย และเอ็นเนอคอน ของเดนมาร์ก ได้ร่วมกันบริจาคตั้งต้นไว้ ทางวัดบอกว่าการใช้วิธีสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนนี้ น่าจะได้ผลดีกว่าการโฆษณาหรือการรณรงค์ของรัฐบาลด้วยซ้ำไป ญาติโยมท่านใดสนใจจะทำทานในรูปแบบของพลังงานหมุนเวียน ก็ซื้อกังหันลมไปบริจาคให้กับทางวัดได้ เขาจะยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะขณะนี้ฟาร์มกังหันลมข้างๆ วัด (ลืมบอกไปว่าวัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนภูเขา) ยังว่างอยู่อีกเยอะ ทำบุญกันมากๆ ก็ช่วยให้โลกเย็นได้นะพี่น้อง   ถ้ารู้ (กู) พกไปนานแล้ว คอกาแฟไต้หวันคงฉุนไปตามๆ กัน ถ้ามารู้ทีหลังว่า ความจริงแล้วตนเองควรจะต้องได้ส่วนลดถ้านำถ้วยพลาสติกที่เคยได้จากทางร้าน กลับมาซื้อเครื่องดื่มที่ร้านนั้นอีกครั้ง เรื่องนี้มีผลสำรวจยืนยัน องค์กรผู้บริโภคของไต้หวันพบว่า ร้อยละ 14 ของบรรดาร้านแฟรนไชส์เครื่องดื่มเหล่านี้ ไม่ได้ติดประกาศแจ้งให้ลูกค้าทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่พวกเขาจะได้ ทั้งๆ ที่อ้างว่าตนเองมีนโยบายส่งเสริมการนำถ้วยกาแฟกลับมาใช้ซ้ำ ข่าวบอกว่าในไต้หวัน มีแก้วพลาสติกถูกทิ้ง (ทั้งๆ ที่ยังใช้ได้) ถึงปีละ 1,500 ล้านแก้ว รัฐบาลจึงออกเป็นกฎหมายว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2554 เป็นต้นไป ร้านฟาสต์ฟู้ด ร้านสะดวกซื้อ และร้านขายเครื่องดื่มทั้งหลายจะต้องให้ส่วนลดกับลูกค้าที่นำแก้วของทางร้านกลับมาซื้อเครื่องดื่มอีก หรือไม่เช่นนั้นก็จ่ายเงิน 1 หรือ 2 เหรียญไต้หวันให้กับลูกค้าที่นำแก้วกลับมาคืนให้ทางร้าน และที่สำคัญ จะต้องติดประกาศแจ้งให้ลูกค้าทราบด้วย กฎหมายกำหนดบทลงโทษไว้ว่าร้านไหนไม่ทำตาม จะมีโทษปรับ 60,000 – 300,000 ดอลล่าร์ไต้หวันแต่ข่าวไม่ได้บอกว่าบรรดาร้านเหล่านั้นโดนปรับกันไปคนละเท่าไร ซื้อสร้างสุข สมาชิกฉลาดซื้อหลายคนคงจะเลือกซื้อช็อกโกแลต โดยอ้างอิงคะแนนความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทผู้ผลิตช็อกโกแลตที่เราเคยลงไว้ในเล่มกุมภาพันธ์เมื่อปีที่แล้ว หลายคนยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อช็อกโกแลตที่ได้รับการรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ออกานิก หรือแฟร์เทรด ซึ่งเราขอบอกว่าคุณทำถูกแล้ว ผลผลิตโกโก้ในตลาดโลก 3 ล้านตันต่อปีนั้น มาจากแรงงานของเกษตรกร 6 ล้านคน ที่มีรายได้เฉลี่ยวันละไม่ถึง 100 บาท ในขณะที่ราคาโกโก้นั้นไม่ต่ำกว่า 700 บาทต่อกิโลกรัม ในไร่โกโก้นั้น มีแรงงานเด็กอยู่ประมาณ 200,000 คน ในกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อย ที่ไม่มีรายได้ใดๆ เพราะถูกซื้อขาดมาจากครอบครัวแล้ว จากการสำรวจพบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของเด็กๆ ที่ทำงานในไร่โกโก้ในไอโวรี่ โคสต์ (ผู้ผลิตโกโก้อันดับหนึ่งของโลก) ถูกใช้งานให้แบกน้ำหนักเกินตัว ส่วนที่ประเทศกาน่า (อันดับสอง) นั้นเกือบร้อยละ 50 ของเด็กๆ ในฟาร์มโกโก้ต้องทำงานที่เสี่ยงอันตราย ที่สำคัญ 1 ใน 4 ของเด็กเหล่านี้ทำงานโดยไม่ได้สวมอุปกรณ์ใดๆ เพื่อป้องกันอันตรายจากสารเคมีเลยด้วย การเลือกสนับสนุนช็อกโกแลต ออกานิก หรือแฟร์เทรด นั้นจะช่วยให้ผู้ผลิตหันมาให้ความใส่ใจดูแล เลือกซื้อเฉพาะเมล็ดโกโก้จากไร่ที่ไม่เอาเปรียบแรงงาน ไม่ใช่สารเคมี และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 132 กระแสต่างแดน

  เมื่อเรือ “ไม่สำราญ”บรรดาผู้โดยสารเรือคอสตา คอนคอร์เดีย ที่ล่มอยู่นอกชายฝั่งเกาะแห่งหนึ่งในอิตาลีกำลังรวมตัวกันฟ้องผู้ประกอบการเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยให้เหมาะสมกับประสบการณ์ “เรือไม่สำราญ” ที่ตนเองได้รับ เบื้องต้นนั้น บริษัทประกาศว่าจะคืนเงินค่าตั๋วให้ พร้อมกับคูปองส่วนลด 30% สำหรับการเดินทางครั้งต่อไป(ถ้ายังจะกล้าไปด้วยกันอีก) แต่นั่นไม่ดีพอ บรรดาองค์กรผู้บริโภคของอิตาลี นำโดยองค์กร “อัลโตรคอนซูโม” ไปต่อรองการชดเชยได้ดีขึ้นอีกระดับ นั่นคือผู้โดยสารทุกคน(รวมถึงเด็กเล็กที่ไม่อยู่ในข่ายต้องเสียค่าตั๋ว) จะต้องได้รับค่าชดเชยคนละ 11,000 ยูโร(ประมาณ 440,000 บาท) และได้รับคืนเงินค่าตั๋ว ค่าภาษีท่าเรือ ค่าเดินทางเพื่อมาขึ้นเรือ(แล้วแต่ว่าใครขึ้นรถยนต์ รถไฟ หรือนั่งเครื่องบินมา) ค่ารักษาพยาบาล และค่าเดินทางกลับบ้าน(ด้วยความผิดหวัง) นอกจากนี้ยังขอให้บริษัทคืนเงินทั้งหมดที่ผู้โดยสารใช้จ่ายในระหว่างที่อยู่บนเรือ(เช่น การใช้บริการสปา บาร์เครื่องดื่ม หรือเล่นพนันในคาสิโนบนเรือ เป็นต้น)  รวมถึงจัดส่งข้าวของทั้งหมดคืนให้กับผู้โดยสารถึงบ้าน โดยบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้วย บริษัทคาร์นิวาล คอร์ป เขาบอกว่าตกลงตามนั้น โดยผู้โดยสารจะได้สิทธินั้น 7 วันหลังลงนามในสัญญา แต่เดี๋ยวก่อน องค์กรผู้บริโภค โคดาคอนส์ เขาประกาศชักชวนบรรดาผู้โดยสารที่เซ็งจิตเพราะอดเดินทางตามทริปในฝัน มาร่วมกันฟ้องผู้ประกอบการ เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งเขาบอกว่าน่าจะอยู่ที่ระหว่าง 125,000 – 1,000,000 ยูโร(ประมาณ 4 – 40 ล้านบาท) ข่าวบอกว่ามีคนสนใจเยอะทีเดียว รายงานข่าวอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 17 ราย และผู้สูญหายอีก 15 คน นี้ทำให้เราได้รู้ว่าธุรกิจเรือสำราญนี้มีระเบียบด้านความปลอดภัยที่หละหลวมมาก เช่นไม่มีการระบุจำนวนเจ้าหน้าที่ที่สามารถดูแลเรื่องความปลอดภัยในยามฉุกเฉิน(เรียกว่า ในบรรดาลูกเรือ 1,023 คน บนเรือคอสตา คอนคอร์เดีย ที่ทำหน้าที่ดูแลสระว่ายน้ำ บาร์ คาสิโน และโรงภาพยนตร์บนเรือนั้น มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือ) หรือแม้แต่การแล่นเรือเข้าไปในระยะ 150 เมตรจากฝั่งนั้น เขาบอกว่าไม่ได้มีข้อห้ามใดๆ และที่เราไม่ค่อยจะได้ยินข่าวคราวเรื่องอุบัติเหตุเรือสำราญก็เพราะเขาถือเป็นข้อมูลที่ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณะอีกต่างหาก ส่วนที่เปิดแง้มๆ ออกมาผ่านฐานข้อมูลขององค์กรสหประชาชาติ International Maritime Database นั้นก็มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ  ออกมาแฉว่าน้อยกว่าตัวเลขจริงหนึ่งเท่าตัว     แอพแยกสี ต้องพึ่งพาตัวเองกันแล้วจริงๆ สำหรับผู้บริโภคในยุคที่การตัดสินใจของรัฐบาลได้รับอิทธิพลจากผู้ประกอบการเป็นหลัก หลังจากที่รัฐบาลไม่ยอมประกาศใช้ฉลาก “สัญญาณไฟจราจร”บนผลิตภัณฑ์อาหาร ทีมงานจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ เขาก็หันไปพัฒนาแอพพลิเคชั่นในไอโฟนออกมาช่วยผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพขึ้นมาเองจนได้ แอพฯ ที่ชื่อว่า “food switch” นี้จะสแกนบาร์โค้ดผ่านกล้องของโทรศัพท์ แล้วบอกคุณได้ว่าบรรดาอาหาร 20,000 รายการที่มีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกตนั้น มีไขมัน น้ำตาล หรือเกลือในประมาณที่ ปลอดภัย ต้องระวัง หรือ เป็นอันตรายต่อร่างกาย หรือไม่ ด้วยการขึ้นเป็นสัญลักษณ์ไฟเขียว เหลือง แดง นั่นเอง เจ้าโปรแกรมที่ว่า มันไม่หยุดแค่นั้น มันสามารถแนะนำอาหารที่ดีกว่าให้คุณได้ด้วย โดยจะอ้างอิงจากฐานข้อมูลที่มีการเก็บข้อมูลโดยสถาบันวิจัย George Institute ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ นั่นเอง บรูซ นีล ผู้อำนวยการสถาบันดังกล่าวบอกว่ากำลังเก็บข้อมูลว่าการใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเลือกของผู้บริโภคได้จริงหรือไม่ ถ้าใช่ก็จะได้นำไปยืนยันกับรัฐบาลในทันใด เผื่อว่าคิดผิดจะได้คิดใหม่ เพราะเขาเชื่ออย่างยิ่งว่าคนเราต้องการเลือกอาหารที่ดี เพียงแต่อาจจะท้อแท้เพลียใจที่จะต้องคอยเพ่งอ่าน หรือคอยคำนวณเปรียบเทียบปริมาณไขมัน น้ำตาล หรือเกลือทุกครั้งที่เลือกซื้อ ทีนี้ก็อยู่ที่รัฐบาลแล้วว่าจะเลือกแบบที่ง่ายสำหรับผู้บริโภค หรือง่ายสำหรับผู้ผลิต    ชอบของเก่า เรื่องกินนี่ไม่เข้าใครออกใครจริงๆ นะคุณผู้ชม บางทีความอร่อยลิ้นก็มาเหนือความสะอาดเสียอย่างนั้น อย่างที่เมืองฉงชิ่ง ซึ่งเป็นถิ่นร้านอาหารหม้อไฟอันลือชื่อของจีนนั้นเกิดกระแสต่อต้านการประกาศห้ามใช้น้ำมันซ้ำจากลูกค้าคนก่อนๆ เรื่องมีอยู่ว่า ที่นี่เขาถือเป็นวิถีปฏิบัติกันมานานแล้ว การเก็บน้ำมันที่เหลือจากภาชนะของลูกค้าที่กินเสร็จแล้ว เพื่อนำมาใช้ต่อกับลูกค้ารายต่อไปนั้น ว่ากันว่ามันช่างได้กลิ่นและรสสะสมจากผัก หรือเนื้อสัตว์ที่เข้มข้นยิ่งนัก เอาเป็นว่าร้อยละ 80 ของร้านในเมืองนี้เขาก็ใช้วิธีนี้แหละ แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่งทางการเขาประกาศห้ามการกระทำดังกล่าวด้วยเหตุผลว่ามันไม่ถูกสุขอนามัย แถมยังมีคนนำคลิปเปิดโปงการ “รีไซเคิล” น้ำมันในร้านพวกนี้ไปโพสต์ลงยูทูบ ทำให้คนบางส่วนตกใจและรับไม่ได้ ที่น่าประหลาดใจกว่าคือ หลังจากประกาศออกไป มีคนในฉงชิ่งกว่า 13,000 คนเข้าไปแสดงความเห็นในเว็บกันอย่างกว้างขวาง มีถึงร้อย 66.5 ที่ไม่เห็นด้วยกับการแบน โดยให้เหตุผลว่ารสชาติจะไม่อร่อยเหมือนเดิม และ “น้ำมัน” ในที่นี้ก็เป็นคนละอย่างกับ “น้ำมัน” ในคลิปที่เห็นพนักงานร้านเก็บออกจากชามที่กินเหลือด้วย ส่วนทางร้านก็แน่นอนว่าไม่เห็นด้วย โดยบอกว่ามันเพิ่มต้นทุนและไม่อร่อยเหมือนเดิม จึงทำให้คนเข้าร้านน้อยลงขาประจำรายหนึ่งบอกว่าเมื่อก่อนมีแค่ 60 หยวนก็กินกันได้ 2 คนแล้ว แต่หลังจากประกาศแบนแล้วต้องมีเงินเป็นร้อยถึงจะพอกินกัน เพราะทางร้านอ้างว่าต้นทุนสูงขึ้น จึงขอเก็บเงินเพิ่มจากค่าน้ำซุปด้วยนั่นเอง   ไวไฟ กรุณาเข้าใกล้ รู้ไว้ให้อิจฉาเขาเล่น ในประเทศฟินแลนด์ เอสโตเนีย  ฝรั่งเศส สเปน และกรีซนั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตนั้นถือเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐานกันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟินแลนด์ ที่การันตีว่าประชาชนของเขาทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วอย่างต่ำ 1 Mbps ด้วย มาเลเซีย เพื่อนบ้านเราก็กำลังตอบรับเทรนด์ดังกล่าวเช่นกัน ตั้งแต่เมษายนนี้เป็นต้นไป รัฐบาลมาเลเซียเขามีวิธีเพิ่มการเข้าถึงสัญญาณไวไฟ WiFi แบบไม่ต้องเสียเงินด้วยการออกกฎให้บรรดา ผับ ร้านอาหารที่มีเนื้อที่เกิน 120 ตารางเมตร ทั้งหมดในกรุงกัวลาลัมเปอร์ จัดบริการไวไฟฟรีแก่ลูกค้า ส่วนศูนย์อาหารในพื้นที่สาธารณะ นั้นรัฐบาลรับเป็นคนจัดหาให้เอง ก่อนหน้านี้เขาก็มี hotspots ไว้ให้ประชาชนได้ใช้ 1,500 จุด แต่กำลังจะหมดสัญญาในไม่ช้า(อันนี้ไม่อยากจะโม้ว่าที่กรุงเทพฯ ของเรานั้นเขามีถึง 20,000 จุดเชียวนะ) ส่วนที่ญี่ปุ่นนั้นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ขายเครื่องดื่มผ่านตู้ขายของ เขาออกมาประกาศว่าในปี 2012 นี้ ตู้ขายน้ำอัตโนมัติของเขา จำนวน 1,000 ตู้ จะปล่อยสัญญาณไวไฟในรัศมี 50 เมตร รอบๆ ตู้ ให้ได้ใช้กันฟรี รอบละ 30 นาที จะเข้านานเท่าไรก็ได้เพียงแต่ต้องกดต่อสัญญาณทุกๆ 30 นาทีนั่นเอง   มีจอดต้องมีดับเมื่อมลพิษทางอากาศส่วนใหญ่ในฮ่องกงมาจากรถยนต์ ทางการเขาก็เลยออกกฎหมายห้ามการจอดรถแบบติดเครื่องค้างไว้เสียเลย ต่อไปนี้ถ้าใครจอดรถโดยไม่ยอมดับเครื่อง(เพราะว่ากำลังรอใคร หรือแอบนอนกลางวัน ก็แล้วแต่) จะต้องโดนปรับเป็นเงิน 320 เหรียญฮ่องกง(ประมาณ 1,300 บาท) แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เขาให้จอดได้ 3 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมง(แต่สงสัยอยู่ว่าใครจะมาคอยจับเวลานะนี่) และเขาอนุโลมให้รถแท็กซี่ที่อยู่ในคิวพร้อมรับผู้โดยสาร และรถมินิบัสที่อยู่ใน 2 คิวแรก สามารถติดเครื่องรอไว้ได้ เขามีตัวเลขอ้างอิงว่าการจอดรถติดเครื่องวันละ 10 นาที จะทำให้สูญเสียน้ำมันไปเปล่าๆ ปีละ 100 ลิตร และสำคัญการกระทำดังกล่าวมันทำให้เครื่องยนต์สึกหรอเร็วกว่าที่ควร แถมยังต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเร็วขึ้นอีก ฮ่องกงเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุดในโลก ปัจจุบันมีรถวิ่งไปมาอยู่ 567,705 คัน บนถนนระยะทางประมาณ 2,000 กิโลเมตร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 กระแสต่างแดน

CHOICE’s Shonky Awards 2011กระแสต่างแดนฉบับนี้ พาคุณไปพบกับงานประกาศรางวัลสินค้า/บริการที่ขัดใจผู้บริโภคชาวออสซี่สุดๆ ในปี 2554 ที่ผ่านมา งานนี้ผู้ได้รับการเสนอชื่อ เขาไม่ได้ปรากฏตัวในเสื้อผ้าหน้าผมที่จัดมาเป๊ะ เพื่อเดินเข้างานบนพรมแดง ... จริงๆ แล้ว เขาไม่ได้มาเลยด้วยซ้ำและไม่ได้ส่งตัวแทนมาด้วย แต่องค์กรผู้บริโภค CHOICE เขาก็ยืนยันที่จะมอบให้อยู่ดี มาดูกันว่ามีใครคว้ารางวัลอันไม่ค่อยจะทรงเกียรตินี้ไปบ้าง รางวัลซ้ำเติมผู้บริโภคยอดเยี่ยมได้แก่ ... ธุรกิจประกันภัยปี 2554 รัฐควีนสแลนด์ นิวเซาท์เวลส์ และวิคตอเรีย ของออสเตรเลีย ก็พบกับปัญหาน้ำท่วมเช่นเดียวกับบ้านเรา ในเดือนเมษายนมีบริษัทประกันกว่า 20 บริษัทออกมาปฏิเสธการจ่ายชดเชยความเสียหายจากน้ำท่วมในทันที  อีก 7 เดือนต่อมาชาวบ้านกว่า 8,660 ครัวเรือน ได้รับจดหมายแจ้งว่าตนเองไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยได้ คนเหล่านี้เชื่อตามที่นายหน้าบอกไว้ตอนมาขายประกันนั้นแล แต่จริงๆแล้วไม่มีการระบุไว้ในกรมธรรม์แต่อย่างใด ส่วนที่มีสิทธิจะได้ก็รอกันเหนื่อยหน่อย เพราะกระบวนการประเมินความเสียหายนั้นช่างยุ่งยากซับซ้อนและเนิ่นนานเหลือเกิน มีผู้เอาประกันจำนวนไม่น้อยที่ต้องรอนานกว่า 6 เดือน ที่สำคัญกรมธรรม์ของเขาก็สร้างความมึนงงได้ยอดเยี่ยม ขนาดทนายความที่ทำงานด้านเคลมประกันน้ำท่วมโดยเฉพาะก็ยังอ่านไม่เข้าใจ รางวัลหลอกกินเงินเด็กยอดเยี่ยม ได้แก่ ... เกมส์หมู่บ้านเสมิร์ฟ ผู้บริโภคโปรดระวัง “เกมฟรี” ที่ลูกๆ หลานๆ ท่านขออนุญาตดาวน์โหลด ดังตัวอย่างเกมส์หมู่บ้านเสมิร์ฟ ที่ได้รางวัลไปหมาดๆ เพราะมันเป็นเกมที่แม้จะโหลดได้ฟรี แต่ถ้าจะเล่นให้สนุก คุณก็ต้องมีเงินเอาไว้ใช้จ่ายในเกมด้วย ในเกมที่ว่านี้ผู้เล่นจะต้องสร้างบ้าน ร้านค้า อาคารต่างๆ สะพาน รวมไปถึงจัดสวน ทำขนม เรียกว่าทุกอย่างต้องใช้เงิน ซึ่งในเกมจะใช้ “เสมิร์ฟเบอรี่” เป็นเงินสมมุติ  แต่เมื่อเงินสมมุติที่ให้มาตอนแรกหมด ผู้เล่นก็จะต้องใช้เงินจริงไปซื้อเจ้าเงินสมมุตินี้ แม้เกมออนไลน์ตัวนี้จะมีคำเตือนขึ้นโดยตลอดเวลาก่อนจะขาย ว่าจะมีการเรียกเก็บเงินจริง แต่เด็กๆ มักจะไม่อ่านหรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็นะ... กำลังเล่นเพลินๆ เงินเสมิร์ฟเบอรี่ ดันมาหมดพอดี อะไรขึ้นมาก็กดโอเคไว้ก่อน เพื่อให้สามารถเล่นต่อได้  ถามว่าไม่ซื้อได้หรือไม่ เด็กๆ และผู้ใหญ่ที่นิยมเกมนี้บอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามันก็ไม่สนุก ว่ากันว่ามีคนจ่ายเงินในเกมนี้ (ไม่แน่ใจว่ารู้ตัวหรือไม่) ไปถึง 30,000 บาทเลยทีเดียว รางวัลผลิตภัณฑ์หลอกลวงซ้ำซาก ได้แก่ ... สเปรย์ลดน้ำหนัก SensaSlim ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักที่อ้างว่าได้ผลแบบมหัศจรรย์จนทั้งจอร์จและซาร่าพากันทึ่ง นั้นมีให้เห็นกันเป็นประจำทางทีวี แต่สเปรย์ SensaSlim เจ้านี้เขาได้รางวัลไปด้วยความหน้ามึนนั่นเอง เพราะถึงแม้จะโดนแพทย์คนหนึ่งร้องเรียนว่าผลิตภัณฑ์นี้กระทำผิดกฎหมายควบคุมโฆษณา และถูกปรับไปแล้วก็ตาม แต่เขาช่างไม่ย่อท้อ ยังเดินหน้าโฆษณาและขายต่อไป แถมฟ้องแพทย์คนดังกล่าวด้วยข้อหาหมิ่นประมาทอีกด้วย แค่นั้นยังไม่พอยังลงข้อความแสดงแสนยานุภาพในเว็บไซต์ว่า นี่แหละเป็นบทเรียน ให้ใครไม่กล้าบังอาจมาแหยมกับเขาอีก แต่โชคไม่เข้าข้าง เรื่องไปเข้าตานักข่าวเลยตามไปขุดคุ้ยต่อ เลยได้รู้ว่าผลการทดสอบที่อ้างว่าทำโดยสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในเจนีวานั้นเป็นเรื่องโม้ทั้งเพ เช่นเดียวกับที่เคยออกข่าวว่ามีชายคนหนึ่งฟ้องบริษัทโทษฐานที่ทำให้เขาน้ำหนักลดมากเกินไป (นายคนนั้นแกน้ำหนักลดไป เกือบหนึ่งกิโลกรัมภายในเวลา 30 นาที จริง แต่ไม่ใช่เพราะผลิตภัณฑ์ที่ว่า) ขนาดแพทย์ของบริษัทเองยังประกาศไม่ขอมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับผลิตภัณฑ์ที่ว่า (คงไม่ต้องบอกว่าขณะนี้บริษัทกำลังฟ้องเขาอยู่เช่นกัน) รางวัลกางเกงหลุดโลก  ได้แก่ กางเกงกระชับสัดส่วน Peachy Pinkเรายังวนเวียนอยู่ในโลกของการลดน้ำหนักกระชับสัดส่วน  ที่ออสเตรเลียเขาก็มีกางเกงกระชับสัดส่วน Peachy Pink ออกมาจำหน่าย เขาว่ากางเกงเขามีทั้งชาเขียว คาเฟอีน และลูกพีช ... ว่าแต่ลูกพีชมาทำอะไรในผลิตภัณฑ์นี้ เขาอ้างว่าถ้าสวมกางเกงที่ว่านี้เป็นเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน ต่อเนื่องกัน 21 วัน  เซลลูไลท์ที่น่องจะลดน้อยลง พร้อมๆ กับไขมัน เขาว่าเขาเป็นเจ้าเดียวเท่านั้นที่ผ่านการรับรองทางการแพทย์  ว่าแต่ใครกันนะที่ทำหน้าที่รับรองให้ เพราะไม่มีการลงผลวิจัยในวารสารทางการแพทย์เล่มใดๆ เลย นอกจากนักวิจัยจะยังไม่สามารถฟันธงเรื่องประสิทธิภาพของคาเฟอีนและชาเขียวในการลดน้ำหนัก งานวิจัยเรื่องการใช้ลูกพีชลดน้ำหนักนี่ยิ่งไม่มีเข้าไปใหญ่  แต่ลองคิดตามที่เขาโม้ดู ... สมมุติว่าขาของเราสามารถดูดซึมคาเฟอีนได้ดีเยี่ยม เราก็จะได้รับคาเฟอีนจากกางเกงที่ว่านี้วันละ 70 มิลลิกรัม (ซึ่งเท่ากับการดื่มชาเขียว 2 ถ้วย)  ชงชามากินจะไม่ดีกว่าหรือ ไม่เสี่ยงเป็นลมเพราะกางเกงรัดด้วย รางวัลติดหรูไม่ดูตาม้าตาเรือ ได้แก่ จุกนมหลอกประดับคริสตัล สำหรับเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยจนไม่รู้จะเอาเงินไปใช้ทำอะไรแล้ว ก็ยังมี “จุกนมหลอก ประดับคริสตัลซวารอฟสกี้ แท้ๆ” มาให้พ่อแม่ได้เลือกซื้อทางอินเตอร์เน็ท จุกนมหลอกนั้นประโยชน์ของมันยังเป็นที่ถกเถียงว่ามีจริงหรือเปล่า นี่ยังจะมีคนเอาไปติดเพชรนิลจินดาประดับประดาให้หรูเริด ทำนอง “เพิ่มมูลค่า” เข้าไปอีก แต่คุณขา ... นี่มันเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กทารก จะติดเมล็ด “คริสตัล” เพื่อเพิ่มอันตรายจากการติดคอ หรือกลืนกินเจ้าสิ่งแปลกปลอมที่ว่านั้นไปทำไมกัน ขณะนี้เขาประกาศห้ามขายในร้านทั่วไปแล้ว แต่ยังมีให้สั่งซื้อกันได้ทางอินเตอร์เน็ท ที่ทำเนียนขายต่อไปพร้อมคำเตือนว่า “สินค้านี้ไม่เหมาะในการนำไปให้เด็กใช้จริง” รางวัลมึนทะลุหลังคา ได้แก่  รถยนต์ Chery J1 พูดกันตรงๆ คนออสซี่เขาก็ไม่ได้คาดหวังมากมายนักจากรถราคา 400,000 บาท อย่างเจ้าคอมแพค 5 ประตู เฌอรี่ เจวัน  จากจีนที่เพิ่งจะเข้ามาทำตลาดในออสเตรเลียได้ประมาณ 1 ปี รถน้อยที่ว่านี้ได้คะแนนความปลอดภัยแค่ 3 ดาว และถูกแบนในรัฐวิคตอเรียเนื่องจากขาดอุปกรณ์จำเป็นที่เขากำหนดไว้ไปหนึ่งตัว แต่นั่นยังไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้มันคว้ารางวัลนี้ไป ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อนะพี่น้อง ว่าเขาช่างกล้าติดสติ๊กเกอร์ไว้ที่ด้านในของราวหลังคา ที่มีข้อความว่า “ราวหลังคานี้มีไว้เพื่อการตกแต่งเท่านั้น ห้ามใช้งาน”   แล้วในกรณีที่เจ้าของอยากขายต่อ (สมมุติว่ารถยังขับได้อยู่แม้สติ๊กเกอร์จะลบเลือนไปแล้ว) แล้วคนที่มาซื้อต่อจะรับทราบข้อมูลสำคัญนี้หรือไม่ ตอนท้ายของโฆษณารถเฌอรี่ จบด้วยคำถามว่า “ทำไมคุณถึงจะยังเลือกรถยี่ห้ออื่น?” ก็ได้เหตุผลมากมายเป็นหางว่าว เริ่มจากข้อนี้แหละ รางวัลเขียวจอมปลอม ได้แก่ อุปกรณ์ประหยัดไฟ Go4Green ในยุคที่ใครๆ ก็อยากจ่ายค่าไฟน้อยลง อุปกรณ์ประหยัดไฟมากหน้าหลายตาจึงออกมาตีตลาด Go4Green อ้างว่าสามารถช่วยประหยัดค่าไฟได้ถึงร้อยละ 10  ด้วยการลงทุนครั้งแรกประมาณ 10,000 บาท เขาบอกว่าแค่ 6 เดือนก็คุ้มแล้ว ทางทีมของ CHOICE ก็เลยลองไปซื้อมาใช้ดู (ด้วยวิธีใช้ตามที่บอกในคำแนะนำการใช้ ของผู้ผลิต) หลังจากทดลองใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องปั่นแห้ง เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้าเล็กๆ อื่นๆ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์อย่างเครื่องดูดฝุ่น สว่าน ด้วย  ผลปรากฏว่านอกจากจะไม่ช่วยลดแล้ว ในการทดสอบบางรอบ ค่าไฟยังเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก รางวัลไข่ครอบจักรวาล ได้แก่ ไข่นกกระทายี่ห้อ Quail Kingdom จะว่ายังไงดีล่ะ เขาอ้างว่าไข่เขาดีจริงๆ รักษาได้ทุกอย่างตั้งแต่ ความดันเลือดสูง วัณโรค เบาหวานชนิดที่1  โรคนิ่ว แถมยังช่วยแก้ปัญหาในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ผมร่วง มีริ้วรอย หรือแม้แต่เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ นี่ยังไม่นับว่า ถ้าคุณบังเอิญไปได้รับกัมมันตรังสี แบบเดียวกับที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้าที่เชอโนบิล กินไข่นี้แล้วก็จะอยู่รอดปลอดภัยอีกต่างหาก มีคำถามเดียวว่า ถ้ามันดีและมีผลทางการรักษาเลิศขนาดนั้นทำไมมันถึงไม่ได้รับการจดทะเบียนเป็นยาไปเสียเลย และที่สำคัญมันหลุดรอดสายตาของนักวิจัยทางด้านเภสัชศาสตร์และการแพทย์ไปได้อย่างไรหนอ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 130 กระแสต่างแดน

  โนซอง ... โนเซอร์วิสเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โรงพยาบาลใหญ่ๆ 5 แห่ง ในเวียดนามออกประกาศห้ามเจ้าหน้าที่ “รับซอง” จากคนไข้ เพราะการกระทำดังกล่าวชักจะกลายเป็นเรื่องปกติขึ้นทุกวัน หน่วยงานหนึ่งของกระทรวงสุขภาพเวียดนาม ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ไว้ เขาบอกว่า ภายใน 1 ปี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของรัฐ จะกลายเป็นโรค “ติดซอง” เรื่องนี้พูดไปก็เหมือนปัญหาไก่กับไข่ไม่รู้อะไรมันเริ่มก่อนกัน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าคนไข้ต้องหยุด “เสนอซอง” ให้พวกตนได้แล้ว ส่วนคนไข้ก็แย้งว่าถ้าไม่เตรียมซองมาให้เจ้าหน้าที่ ก็มีหวังได้รับบริการแบบแย่ๆ แน่นอน รองผู้อำนวยการของโรงพยาบาลเค ซึ่งเป็นหนึ่งใน 5 โรงพยาบาลที่ว่า บอกว่าคนเวียดนามมีนิสัยอยู่อย่างหนึ่ง คือต้องการจะเป็นคนแรกเสมอ เวลามาโรงพยาบาลก็อยากจะได้รับการตรวจก่อนใคร และนั่นเป็นที่มาของวัฒนธรรมให้ซอง ในขณะที่หน่วยงานเจ้าภาพการสำรวจครั้งนี้บอกว่า ปัญหามันอยู่ที่ “3 ไม่” ของบริการสาธารณสุขในเวียดนาม อันได้แก่ ไม่โปร่งใส ไม่ยุติธรรม และไม่มีประสิทธิภาพ (นี่ยังไม่ได้นับว่าเงินเดือนสำหรับหมอและพยาบาล ไม่ค่อยจะพอยังชีพอีกด้วย) จากการสำรวจความพึงพอใจของผู้ป่วยที่มีต่อบริการสาธารณสุข เขาพบว่า ร้อยละ 45 ของผู้มารับบริการ รู้สึกไม่พอใจกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ และหงุดหงิดกับขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ที่พวกเขาต้องเจอในโรงพยาบาลของรัฐ ว่าแล้วก็เสนอทางออกว่าเวียดนามควรจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และแยกระบบสาธารณสุขออกเป็น 3 ส่วน คือส่วนที่รับผิดชอบโดยรัฐบาล ทำหน้าที่หลักคือป้องกันโรค ส่วนที่รับผิดชอบโดยเอกชนซึ่งมีหน้าที่ในการรักษา และมูลนิธิที่คอยช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส สำนักข่าวเวียดนามเน็ทก็เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ความกลัวของคนไปโรงพยาบาล” เช่นกัน เขาพบว่าสิ่งที่คนเวียดนามกลัวเป็นอันดับแรก คือการถูกเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลดุว่า ตามด้วยความกังวลว่าจะไม่ได้รับความเอาใจใส่จากแพทย์ อันดับต่อมาคือกลัวต้องรอนาน และท้ายสุดคือกลัวจะไป “ทำเปิ่น” ที่โรงพยาบาล ป่วยได้ แต่ไม่อยากเปิ่นน่ะ เข้าใจมั้ย   จอดได้อีกเนื่องจากเวียดนามกำลังมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ทุกวันนี้มีรถราออกมาวิ่งกันมากขึ้น แต่พื้นที่จอดรถมันไม่ได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงทำให้เกิดปัญหาการจราจรตามมา ปัจจุบันฮานอยมีรถยนต์ 372,000 คัน มอเตอร์ไซค์อีก 3,800 ล้านคัน ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา มีผู้จอดรถผิดกฎหมายกว่า 4,000 ราย โดนยึดรถไป 200 ราย ที่เหลืออีก 3,800 รายโดนยึดใบขับขี่ ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงเวลาดังกล่าวมีเหตุการณ์รถติดมโหฬารอย่างน้อย 25 ครั้ง ซึ่งสาเหตุล้วนมาจากการจอดรถผิดที่ผิดทางทั้งสิ้น ในแต่ละปี จำนวน “รถส่วนตัว” ในเวียดนามเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 – 15 ในขณะที่ข้อหาจอดรถผิดกฎหมาย (ที่มีค่าปรับครั้งละประมาณ 1,000 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และกว่าร้อยละ 70 ของรถที่ทำผิดกฎจราจร คือรถที่จอดบนทางเท้านั่นเอง กรมการขนส่งของเวียดนามบอกว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา บรรดาสำนักงานเขตต่างๆ ในฮานอยต้องบริหารจัดการเพิ่มที่จอดรถ ด้วยการอนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ทางเท้าในการจอดรถได้ แต่ทำไปทำมาตอนนี้ “พื้นที่จอดรถ” มันเพิ่มมากขึ้นจนเป็นปัญหากับคนเดินเท้าเสียแล้ว ต่อไปนี้เขตจะไม่ออกใบอนุญาตให้มีการใช้พื้นที่ทางเท้าเป็นที่จอดรถอีกต่อไป แต่ที่เคยได้ใบอนุญาต ไปแล้ว เขาก็บังคับให้เหลือเนื้อที่อย่างน้อย 1.5 เมตร เอาไว้ให้คนเดินด้วย ที่เวียดนามเขารู้กันหรือยัง ว่าถ้าหมดที่จอดบนถนนก็ขึ้นไปจอดบนสะพาน บนทางด่วนกันบ้างก็ได้   ขาดทุนแต่ได้ใจนอกจากจะมีโอกาสซื้อรถยนต์ และคอมพิวเตอร์มือถือที่ราคาถูกที่สุดในโลกแล้ว ผู้บริโภคชาวอินเดียยังจะได้ซื้อรองเท้าผ้าใบรีบอคในราคาที่ถูกที่สุดในโลกอีกด้วย บริษัทอาดิดาส ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของรีบอค ประกาศว่าจะทำร้องเท้าผ้าใบยี่ห้อดังกล่าวออกมาขายในราคาคู่ละ 1 เหรียญ (ประมาณ 30 บาท) เท่านั้น จากที่ขายกันอยู่ประมาณคู่ละ 1,500 – 3,000 บาท เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนไป 3 ปีก่อน เมื่อศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ชื่อดังคนหนึ่งของบังคลาเทศได้เสนอแนวคิดรองเท้าเอื้ออาทรนี้กับซีอีโอของอาดิดาส ว่าน่าจะลองทำรองเท้าราคาถูกออกมาให้คนบังคลาเทศได้สวมใส่กันบ้าง ถามว่าทำอย่างไรให้ถูก ก็ตอบว่าทำได้ด้วยการผลิตเป็นจำนวนมากๆ โดยใช้วัสดุและแรงงานในท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุดคือต้องทำใจ เปลี่ยนเป้าหมายจากการทำธุรกิจเพื่อผลกำไร มาเป็นการสร้างธุรกิจเพื่อสังคม พูดง่ายๆ คืออาจจะต้องยอมขาดทุนกันบ้าง อย่างที่บังคลาเทศเขาก็ต้องยอมขายขาดทุนกันไปคู่ละประมาณ 150 บาท (ต้นทุน 195 บาท ขาย 45 บาท) แต่อย่างน้อยๆ ก็ทำให้คนมีงานทำ มีรายได้ และมีคนอีก 5,000 คน ที่ไม่ต้องเดินเท้าเปล่าอีกต่อไป (ข่าวเขาบอกว่า ทำยอดได้ 5,000 คู่) แต่ผู้บริหารรีบอคมั่นใจว่าปัจจัยการผลิตที่อินเดียน่าจะทำให้รองเท้าดังกล่าวมีราคาถูกลงได้อีก บริษัทบอกว่าสิ่งที่ได้กลับมาจากการขายถูกคือการที่แบรนด์ของตนเป็นที่รู้จักในท้องถิ่นมากขึ้น เพราะดูเหมือนวิธีนี้จะเป็นการตลาดที่ได้ผลที่สุดแล้วสำหรับลูกค้ากลุ่มที่ไม่แคร์แม้แต่จะใส่รองเท้าแตะ คุณผู้อ่านคงจะสงสัยว่าจะไปหาซื้อแถวไหน ก็ต้องบอกว่าเขาทำขายเฉพาะในชนบทของอินเดีย และเขาจะส่งขายผ่านเครือข่ายชุมชนเท่านั้น ไม่มีในห้างร้านทั่วไปนะจ๊ะ ... อินิ เสียใจด้วย นะจ๊ะนายจ๋า   ซื้อขายแบบไร้กระดาษเชื่อมั่นว่าผู้บริโภคที่ดีอย่างเราจะต้องเก็บใบเสร็จรับเงินไว้เสมอ และเชื่อมั่นในโชคชะตาที่ชอบเล่นตลกกับเราเช่นกัน ที่ทำให้เราหาของที่เก็บไว้ไม่เจอในเวลาที่ต้องการใช้จริงๆ คาดว่าที่อังกฤษเขาก็มีปัญหาคล้ายๆ กัน จึงเกิดความคิดที่จะใช้ใบเสร็จแบบดิจิตัลกันขึ้นมา (แบบเดียวกับที่ร้าน Apple ใช้อยู่) เรียกว่าซื้อของเสร็จแล้วคุณจะได้รับใบเสร็จรับรองการซื้อขายทางเมล์อิเลคทรอนิกส์นั่นแหละ เพียงแต่เขาจะไม่ได้ส่งไปที่บัญชีจดหมายส่วนตัวของเรา ไม่เช่นนั้นจะเปลี่ยนจากใบเสร็จเต็มกระเป๋ามาเต็มกล่องจดหมายออนไลน์ของเราจนได้ บริษัท Paperless Receipts ที่ใช้เทคโนโลยีของค่ายไอบีเอ็มเขาจะส่งใบเสร็จไปฝากไว้ที่เว็บตู้ไปรษณีย์ ที่ลูกค้าต้องการเปิดดูเมื่อไรก็เรียกดูได้ทันที ตอนนี้บรรดาห้างค้าปลีกที่อังกฤษกำลังศึกษาความเป็นไปได้ของระบบที่ว่านี้อยู่ ภายใน 5 ปี ประมาณร้อยละ 70 ของห้างค้าปลีกที่นั่นจะใช้ระบบที่ว่านี้ ก็น่าจะสะดวกดี สำหรับผู้บริโภคที่มีหนทางเข้าถึงอินเตอร์เน็ทได้ แต่สงสัยว่าเขาจะยังมีระบบไว้สำหรับบรรดาผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้หรือเปล่าน่ะซิ   ปลอดภัยแต่ไม่ส่วนตัว?นานจิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดเจียงซู ประเทศจีน เขาออกกฎให้รถแท็กซี่ทุกคันติดตั้งกล้องวงจรปิด และอุปกรณ์บันทึกเสียง เพื่อความปลอดภัยของทั้งคนขับและผู้โดยสาร เครื่องบันทึกเสียงนั้นจะทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนกล้องวิดีโอนั้นจะเริ่มบันทึกภาพเมื่อคนขับกดปุ่ม “ฉุกเฉิน” โดยภาพที่บันทึกไว้ด้วยความเร็ว 8 ภาพต่อนาทีจะถูกส่งตรงไปยังศูนย์ควบคุม ที่สำนักงานตำรวจ และกรมขนส่ง นั่นเอง มาตรการนี้ก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบเป็นธรรมดา คนที่ชื่นชมก็บอกว่ามันน่าจะทำให้ประสบการณ์การนั่งรถแท็กซี่รื่นรมย์ขึ้นไม่น้อย เพราะคนขับจะต้องพูดจาและให้บริการดีขึ้นเมื่อรู้ว่าสิ่งที่ตนเองพูดออกมาจะถูกบันทึกไว้ อีกฝ่ายยังข้องใจอยู่ว่ามันจะเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคหรือไม่ เพราะอุตส่าห์กระโดดขึ้นแท็กซี่ทั้งทีก็ต้องการจะคุยกันส่วนตัวบ้าง ไรบ้าง เกรงว่าจะเผลอพูดอะไรแล้วโดนบันทึกลงไปด้วย สาวๆ บางคนยังวิตกว่าถ้าโชคร้ายบังเอิญกระโปรงเปิดในขณะที่กล้องบันทึกภาพอยู่จะทำยังไง ทางการเขาให้การรับรองว่าภาพและเสียงที่ว่านี่จะรับชมรับฟังกันในหมู่คนกันเอง เอ๊ย.. ในหมู่ผู้มีอำนาจหน้าที่ซึ่งก็จะต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการเวลาที่มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาเท่านั้น รับรองว่าไม่มีรั่วไหลเด็ดขาด นานจิงมีแท็กซี่ทั้งหมด 9,000 คัน ติดตั้งระบบที่ว่านี้ไปแล้วกว่า 6,000 คัน ผลจะเป็นอย่างไรต้องรอติดตามกันต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 129 กระแสต่างแดน

  น้ำนำเข้า สมาชิกฉลาดซื้อคงจะอึดอัดคับข้องใจ ว่าปีนี้บ้านเราน้ำมากซะเหลือเกิน มาเปลี่ยนบรรยากาศไปดูที่น้ำน้อยกันบ้างดีกว่า ในแต่ละปี ฮ่องกงซึ่งเป็นเขตการปกครองพิเศษของจีน ต้องนำเข้าน้ำจากแม่น้ำตงเจียง ในมณฑลกวางตุ้งประเทศจีนเป็นปริมาณหลายร้อยล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุดฮ่องกงทำสัญญาซื้อน้ำจากแหล่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 3 ปี ปีละ 820 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นมูลค่ารวมทั้งหมด 44,000 ล้านบาท ร้อยละ 80 ของน้ำที่ประชากรฮ่องกงใช้อยู่มาจากแม่น้ำตงเจียง มีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่มาจากอ่างเก็บน้ำในฮ่องกงเอง ถามว่าทำไมฮ่องกงซึ่งเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบมากมาย ถึงไม่ลงทุนตั้งโรงกรองเพื่อเปลี่ยนน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดไว้ใช้เอง ข่าวเขาบอกว่าการทำเช่นนั้นจะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลและต้นทุนในการผลิตก็ค่อนข้างสูง เรียกว่าถ้าจะให้คุ้มก็ต้องขายน้ำในราคาลูกบาศก์เมตรละ 47 บาท ปัจจุบัน ราคาน้ำที่ฮ่องกงนั้นอยู่ที่ 16 บาท ต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร (12 ลูกบาศก์เมตรแรก รัฐให้ใช้ฟรี) นักเศรษฐศาสตร์บอกว่าสิ่งที่รัฐบาลฮ่องกงควรทำก่อนอื่นใดคือรณรงค์อย่างจริงจังให้ผู้คนใช้น้ำอย่างประหยัดกว่าที่เป็นอยู่ และอาจจะต้องขึ้นค่าน้ำกันบ้างเพื่อลดความอยากใช้ด้วย ทั้งนี้เพราะ ใดๆ ในโลกล้วนไม่แน่นอน มณฑลกวางตุ้งเองก็เริ่มพบกับความแห้งแล้งเป็นระยะ และเริ่มมีโควต้าของน้ำที่จะขายให้กับฮ่องกงแล้ว ไม่ใช่ว่ามีเงินก็จะซื้อได้เสมอไป เหตุการณ์นี้คุ้นๆ เหมือนเคยเจอที่ไหนมาก่อน ... แต่ถึงแม้กวางตุ้งจะหมดน้ำส่งออก เราก็ยังมีภาคกลางของประเทศไทย ที่มีน้ำเหลือเฟือเป็นพันล้านลูกบาศก์เมตร ให้ใช้กันได้เหลือเฟือทั้งเกาะเลยนะจะบอกให้   ไปรษณีย์โฉมใหม่ ยุคสมัยที่การส่งจดหมายลดลงเพราะใครๆ ก็พากันส่งแต่อีเมล์ อีการ์ด ฯลฯ บริการไปรษณีย์ของหลายๆประเทศในยุโรป จึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ข่าวจากเมืองดูเซลดอร์ฟ เยอรมนีเขาบอกว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ดอยทช์โพสต์ได้โละสถานที่ทำการไปรษณีย์ จาก 29,000 แห่ง เหลือเพียง 24 แห่ง แถมยังลดอัตราจ้างงานไปอีก 100, 000 คน แม้จะยังรับบริการส่งจดหมายหรือพัสดุ 6 วันต่อสัปดาห์ แต่ไปรษณีย์เยอรมันหรือ “ดอยทช์โพสต์” เขาปรับลดขนาดลงเหลือเพียงเคานท์เตอร์ในมุมหนึ่งของธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านเครื่องเขียนเท่านั้น และถ้าเป็นในชุมชนที่ค่อนข้างเล็ก ก็อาศัยบ้านของชาวบ้านในพื้นที่เป็นศูนย์บริการไปเสียเลย โดยรวมแล้ว การใช้บริการออนไลน์นั้นส่งผลดีต่อผู้บริโภค ทั้งรวดเร็ว สะดวก ประหยัด และยังช่วยลดการสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดตัวลงของที่ทำการไปรษณีย์ได้แก่ บรรดาผู้สูงอายุในเขตที่เคยเป็น “เยอรมันตะวันออก” ที่นอกจากจะไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิตัลแล้ว ยังขาดพื้นที่ ที่เคยได้ใช้เป็นแหล่งชุมนุมพบปะกันอีกด้วย ไม่ใช่มีแต่ไปรษณีย์ไทยเท่านั้นที่มีบริการเสริม เช่น การรับสั่งซื้อสินค้าโอท็อป ไปรษณีย์เยอรมันก็ทำกิจการร้านค้าออนไลน์คล้ายๆ eBay ในขณะที่ “Posten” หรือไปรษณีย์สวีเดน ก็มีบริการเปลี่ยนรูปภาพจากกล้องหรือโทรศัพท์มือถือให้เป็นโปสการ์ดให้บรรดานักท่องเที่ยวได้ส่งกลับบ้านกัน ส่วน “PostNord” หรือที่ทำกิจการไปรษณีย์ทั้งสวีเดนและเดนมาร์ก ก็หันมาทำธุรกิจส่งโบรชัวร์ขายสินค้าตามบ้านไปเสียเลย บ้านเสมือน (คุก)ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกอย่างนี้ จะไปอาศัยกินข้าวฟรีในคุกก็ยังเป็นเรื่องยาก หลายๆ ประเทศในยุโรปกำลังหาวิธีลดค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้กระทำความผิดสถานเบา ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน เช่น เมาแล้วขับ หรือลักเล็กขโมยน้อย ด้วยการกักกันบริเวณให้อยู่ในบ้านตัวเอง วิธีที่ว่านั้นคือการให้ “นักโทษ” สวมกำไลอิเล็กทรอนิกส์ไว้ที่ข้อเท้าตลอดเวลา โดยมีเจ้าหน้าที่เรือนจำคอยควบคุม ผ่านทางสัญญาณที่อุปกรณ์ดังกล่าวส่งกลับมาที่ศูนย์บัญชาการนั่นเอง ในขั้นทดลองนี้มีนักโทษที่ถูก”คุมขัง” ด้วยวิธีดังกล่าวอยู่ 110 คน เขาบอกว่าด้วยระบบนี้ “นักโทษ” ที่มีหน้าที่ออกไปทำงานรับใช้สังคมเป็นเวลา 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จะยังสามารถไปทำธุระ ไปทำงาน ไปเรียน ได้ตามปกติ หรือจะไปเข้าซาวน่า ก็ยังได้ แต่ถ้าออกนอกบริเวณที่ตกลงกันไว้ โดยไม่ขออนุญาตล่วงหน้าเมื่อไหร่ ก็จะถูกย้ายจากเรือนจำเสมือน ไปอยู่เรือนจำจริงๆ ทันที กรมราชทัณฑ์ของฟินแลนด์บอกว่า ระบบดังกล่าวซึ่งจะนำมาใช้จริงในปี ค.ศ. 2014 นั้น สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดูแลนักโทษไปได้มากกว่าครึ่ง ปัจจุบันเรือนจำมีค่าใช้จ่ายต่อหัวในการดูแลนักโทษวันละ 200 ยูโร (8,600 บาท) ในขณะที่ระบบควบคุมผ่านกำไลข้อเท้านั้นใช้งบประมาณเพียง 60 ยูโร (2,500 บาท) ต่อคน เท่านั้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือ มีสถิติที่ระบุว่านักโทษที่ถูกคุมขังทางไกล ในบ้านตัวเองนี้ มีแนวโน้มในการกระทำผิดซ้ำน้อยกว่านักโทษที่ถูกคุมขังในเรือนจำ นั่นเอง และที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือแม้ที่บ้านจะน้ำท่วมก็ไม่เป็นปัญหา เพราะกำไลข้อเท้าที่ว่านั้นสามารถกันน้ำได้ที่ความลึกถึง 5 เมตรเลยเชียว   กินจุเกินไปต้องจ่ายเองสองสามปีมานี้ ที่ไต้หวันเขาจัดการแข่งขันกินจุกันบ่อยเหลือเกิน จนหน่วยงานเฝ้าระวังของรัฐ หรือ The Control Yuan ต้องออกมาเรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพ งดจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับบรรดาพวกที่เอาชีวิตตัวเองเข้าเสี่ยงกับการแข่งขันประเภทนี้ Control Yuan บอกว่า นอกจากผู้เข้าแข่งขันจะทำร้ายร่างกายตัวเองโดยไม่จำเป็นแล้ว การแข่งกินบะหมี่ กินลูกชิ้น หรืออะไรก็ตามในปริมาณมากๆ นั้นยังสร้างภาระให้กับระบบสาธารณสุขที่มีไว้รองรับคนทั้งประเทศอีกด้วย ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งกับคนที่ต้องเจ็บป่วยเพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ หน่วยงานดังกล่าวยังเรียกร้องให้ยกเลิกการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้กับคนที่เข้ารับการรักษาตัวหลังจากเข้าร่วมการแข่งขันกระเพาะเหล็ก และให้รัฐเลิกจัด เลิกเป็นผู้สนับสนุนการแข่งขันดังกล่าว และต้องระบุให้สื่อมวลชนมีคำเตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเสมอเมื่อมีการเผยแพร่ชักชวนผู้คนมาร่วมแข่งขัน เจ้าหน้าที่จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพของไต้หวันบอกว่า ตอนนี้กำลังเจรจากับบรรดาผู้จัดการแข่งขันกินจุทั้งหลาย ให้เป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้เข้าแข่งขันด้วย ไต้หวันเป็นอีกประเทศที่กำลังถูก “ภัยอ้วน” คุกคาม อัตราการเป็นโรคอ้วนของเด็กๆ ที่นั่นเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6 เมื่อ 10 ปีก่อน มาเป็นร้อยละ 25 ในปี ค.ศ.2009 ด้วย สธ. ของไต้หวันคงต้องคิดหนัก เพราะมีผลการสำรวจออกมาว่ากิจกรรมยามว่างที่คนที่นั่นนิยมทำมากที่สุดคือการรับประทานอาหารนอกบ้านนั่นเอง   ไฟดับนานไป มีจ่ายชดเชยอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ชาวบ้านต้องเจอกับไฟฟ้าดับกันแทบทุกวัน จนขณะนี้หลายๆ รัฐต้องประกาศให้มีการจ่ายค่าชดเชยกับผู้บริโภคที่ต้องพบกับภาวะไม่มีไฟฟ้าใช้เป็นเวลานานเกินควร มีตัวอย่างจากรัฐอุตตรประเทศ ที่เขาต่อสู้กันมาถึง 6 ปี ในที่สุดก็ผ่านกฎหมายที่ระบุให้มีการจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน 50 รูปี (35 บาท) ในกรณีที่ไฟฟ้าดับต่อเนื่องเกิน 6 ชั่วโมง แต่ถ้าผ่านไปแล้วเกิน 10 ชั่วโมงก็ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ เขาก็จะให้ 100 รูปี (70 บาท) เขาเน้นว่าต้องต่อเนื่องจริงๆ นะ เขายกตัวอย่างว่า ถ้าดับไป 5 ชั่วโมง แล้วซ่อมกลับมาได้ แม้จะเพียง 5 นาที แล้วดับต่อ ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ แต่ทั้งนี้จะไม่มีการจ่ายเงินชดเชยในกรณีที่ไฟฟ้าดับเนื่องจากพายุหรือฝนฟ้าคะนอง (น้ำท่วมก็คงจะไม่เข้าข่ายเช่นกัน) ข่าวบอกว่ายังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าแผนนี้จะดำเนินการอย่างไรในทางปฏิบัติ เพราะบริษัทผู้ผลิตไฟในแคว้นดังกล่าวออกมาบอกว่า ยังไม่ทราบเลยว่าขณะนี้มีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่กี่ครัวเรือน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 128 กระแสต่างแดน

  เยอรมนีไม่ชอบ ปุ่ม Like อย่างที่รู้ๆ กัน เยอรมันชนเขาถือมากในเรื่องของการละเมิดความเป็นส่วนตัว คงยังจำกันได้ว่าเยอรมนีคือประเทศที่บังคับให้กูเกิ้ล สตรีทวิวทำเบลอหน้าของผู้คนที่ปรากฏในเว็บของตน จนหลายคนที่ใช้บริการเว็บแผนที่ดังกล่าวแอบเรียกประเทศนี้ว่า “เบลอมันนี”  และวันนี้งานก็มาเข้าเครือข่ายออนไลน์ยอดนิยมอย่างเฟสบุ๊ค เจ้าของปุ่ม Like ที่เรารู้จักกันดีนี่แหละ  รัฐเชลสวิก-โฮลสไตน์ ทางตอนเหนือของเยอรมนี ประกาศว่าการทำงานของปุ่ม Like นั้นผิดกฎหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ทั้งในระดับรัฐและระดับประเทศ และต่อไปนี้บริษัทใดก็ตามที่ยังคงใช้ปุ่ม Like เป็นเครื่องมือทางการตลาดออนไลน์ของตนเองหลังสิ้นเดือนตุลาคมนี้ จะถูกปรับ 50,000 ยูโร (ประมาณ 2 ล้านบาท)  กฎหมายของสหภาพยุโรประบุว่า ผู้ที่จะถูกเก็บข้อมูลจะต้องให้ความยินยอมอย่างชัดแจ้งและโดยสมัครใจหลังจากที่ได้รับการแจ้งโดยผู้ประกอบการ แต่สำหรับกฎหมายเยอรมนีนั้นระบุให้ต้องแจ้งจุดประสงค์ในการเก็บและแจ้งด้วยว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งไปให้ใครบ้าง  เฟสบุ๊คออกมาบอกว่าปุ่ม Like ที่ว่านี้มีมาปีกว่าแล้ว แถมใครๆ ก็ชื่นชอบ และข้อมูลที่เก็บก็แค่เป็นการนับจำนวนจากหมายเลขเครื่องคอมพิวเตอร์ (IP address) ที่มีการกดปุ่ม Like เท่านั้น  ในขณะที่หลายผ่ายออกมายืนยันว่าเฟสบุ๊คเก็บข้อมูลมากกว่านั้น แถมยังเก็บข้อมูลทุกคนที่เข้าใช้เว็บดังกล่าว ไม่ว่าจะกดปุ่ม Like หรือไม่ และจะถูกติดตามเก็บข้อมูลไปอีก 2 ปีด้วย   เมื่อความอ้วนเป็นวาระแห่งโลกปัญหาที่ทุกประเทศมีเหมือนๆ กันขณะนี้ คือการมีจำนวนประชากรที่เป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปี และดูเหมือนสถานการณ์จะย่ำแย่ไปได้อีก  นักวิจัยคาดการณ์ว่าในปี ค.ศ. 2030 อังกฤษ ซึ่งปัจจุบันมีคนเป็นโรคอ้วนอยู่ร้อยละ 25 จะมีคนอ้วนถึงร้อยละ 40 โดยที่ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านปอนด์ด้วย ส่วนในอเมริกาจะมีถึงร้อยละ 50 ของประชากรเป็นโรคอ้วนในปีดังกล่าว (ขณะนี้ประชากร 1 ใน 3 ของอเมริกาก็เป็นโรคอ้วนแล้ว)  เลยมีการตั้งคำถามว่าเราน่าจะสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความอ้วนกันดีหรือไม่  นักวิจัยฟันธงว่า ที่ปัญหาโรคอ้วนลุกลามใหญ่โตได้ขนาดนี้ก็เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศเฉื่อยชาเกินไปและไม่ตระหนักว่า ทุกวันนี้สิ่งที่ทำให้ประชากรอ้วนขึ้น คือสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ทำให้การสร้างสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ยากเย็น ทั้งๆ ที่ผลลัพธ์ของมันคือภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของรัฐนั่นเอง  ว่าแล้วก็มีข้อเสนอไปยังองค์การสหประชาชาติ ที่มีการประชุมสูงสุดด้านสุขภาพในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ให้กดดันรัฐบาลของประเทศต่างๆ ให้ลงมือ “ลดความอ้วน” ในระดับนโยบาย เช่น เก็บภาษีจากอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย จำกัดจำนวนโฆษณาอาหารทางสื่อต่างๆ บังคับใช้ฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจร หรือจัดโครงการอาหารกลางวันเพื่อสุขภาพในโรงเรียนของรัฐ เป็นต้น  ถ้าเป็นเช่นนั้นได้จริงก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะการสร้าง “สภาพแวดล้อม” เพื่อการลดความอ้วน น่าจะได้ผลดีกว่าการปล่อยให้ประชาชนต้องหันไปพึ่งพาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่อ้างว่าช่วยลดความอ้วนได้ไม่น้อย ที่สำคัญประหยัดเงินในกระเป๋าเราด้วย   ข้าวจีเอ็มโออีกสองปีข้างหน้าฟิลิปปินส์จะมีข้าวพันธุ์โกลเด้นไรซ์ ภาคสอง(Golden Rice 2) ออกสู่ตลาด ว่ากันว่าถ้ารับประทาน “ข้าวสีทอง” ฉบับปรับปรุงนี้วันละ 1 ถ้วย (8 ออนซ์) ร่างกายเราจะสามารถสร้างวิตามิน A ได้ถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการต่อวันเลยทีเดียว แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีการพิสูจน์  เพราะ “ข้าวสีทอง” ที่ว่านั้นมันเกิดมาเพื่อช่วยลดปัญหาการขาดวิตามินเอในเด็กโดยเฉพาะ จึงถูกดัดแปรพันธุกรรมให้มีเบตาแคโรทีนมากเป็นพิเศษ แต่ขอบอกว่าตัวแรกที่ทำออกมา (Golden Rice 1) โดยบริษัท ซินเจนต้านั้นไม่น่าประทับใจเท่าไร นักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากสหภาพผู้บริโภคของอเมริกา (Consumer Union) ได้ทำการวิเคราะห์สารที่มีอยู่ในข้าวที่ว่านั้นและพบว่ามันก็ช่วยได้จริงๆ ถ้าเด็กกินข้าวที่ว่าวันละ ... 10 กิโลกรัม เครือข่ายต่อต้านการเกษตรแบบใช้สารเคมีในฟิลิปปินส์จึงออกมาแสดงความวิตกเรื่องที่จะมีข้าวชนิดใหม่ออกสู่ตลาดโดยที่ผู้บริโภคยังไม่ได้รับความมั่นใจว่าข้าวชนิดใหม่นั้นดีอย่างไร ปลอดภัยหรือไม่ คุ้มค่าแค่ไหนที่จะเสี่ยงกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการจำกัดสิทธิของเกษตรกร ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าแต่ละปีมีเด็ก 250,000 – 500,000 คนในประเทศโลกที่สาม ต้องสูญเสียการมองเห็นเพราะขาดวิตามินเอ และนอกจากนี้มีร้อยละ 40 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงทำให้มีคนคิดหาทางออกด้วยข้าวชนิดใหม่ แต่เดี๋ยวก่อน เราไม่ได้กินแค่ข้าวอย่างเดียว และข้าวที่ไม่ขัดสีก็มีวิตามินอยู่แล้ว ไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องพึ่งพา “ข้าวสีทอง” นี่เลย ได้เวลาขาย “รถคันแรก”ช่วงนี้ตลาดรถมือสองที่พม่าคึกคักมากๆ ตรงข้ามกับบ้านเราที่ใครๆ ก็พากันมองหาซื้อรถใหม่ป้ายแดง เพราะรัฐบาลพม่ามีนโยบายโละรถเก่าออกจากท้องถนน โดยให้เหตุผลว่ามันสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง ทำให้จราจรติดขัด และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุด้วย ปัจจุบันในพม่ามีรถที่อายุเกิน 40 ปีอยู่ ประมาณ 10,000 คัน และรถที่อายุระหว่าง 30 – 40 ปี อีกประมาณ 8,000 คัน (ที่นี่เขามีรถไม่มากเพราะคนที่จะเป็นเจ้าของรถได้ก็มีแต่ทหารหรือคนใกล้ชิดเท่านั้น)  เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลออกประกาศเชิญชวนให้เจ้าของนำรถยนต์ที่มีอายุเกิน 40 ปี พร้อมกับทะเบียนรถไปมอบให้กับกรมขนส่งทางบกเพื่อแลกกับใบอนุญาตซื้อรถใหม่ (กว่าเดิม) ที่นำเข้าจากไทย ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย มาเลเซีย โดยเขากำหนดว่ารถเหล่านี้จะต้องเป็นรถที่ผลิตหลังปี พ.ศ. 2538 และราคาไม่เกิน 3,500 เหรียญ (ประมาณ 108,000 บาท)  โครงการดังกล่าวทำให้ราคารถเก่าถีบตัวสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะมีคนไม่น้อยอยากจะมาซื้อเพื่อเอาไปแลกกับใบอนุญาต ซึ่งมีราคาแพงลิบลิ่ว ข่าวบอกว่าใบอนุญาตสำหรับรถเอนกประสงค์ (เช่น โตโยต้า แลนด์ครูสเซอร์) ก็คันละ 150 ล้านจ๊าด ถ้าเป็นรถบัสก็ 30 ล้านจ๊าด รถบรรทุกก็ถูกลงมาเหลือ 20 ล้านจ๊าด และเมื่อได้รถใหม่มาแล้วก็สามารถเอามาขายทำกำไรได้มากขึ้นนั่นเอง แผนขั้นต่อไปของกระทรวงอุตสาหกรรมพม่าคือการขายรถมินิซาลูน ที่ร่วมกันผลิตกับบริษัทรถแห่งหนึ่งในจีน ที่ราคา 5.5 ล้านจ๊าด (สองแสนกว่าบาท) ด้วย 100 ปีผ่านไป ยังไม่สายใช้สิทธิ ชาวบ้านจาก 13 หมู่บ้าน 350 ครอบครัวรวมตัวกันฟ้องรัฐบาลอินเดีย โทษฐานที่ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับบรรพบุรุษของพวกเขา หลังจากยึดพื้นที่ทำมาหากินของพวกเขาไปสร้างเมืองใหม่ เมื่อ 100 ปีก่อน  ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นที่ตั้งของอาคารสำคัญๆ อย่างรัฐสภา ศาลสูง บ้านประธานาธิบดี หรือแม้แต่ประตูชัยอินเดียที่เราเห็นรูปกันอยู่บ่อยๆ  ในขณะที่ลูกหลานของคนกลุ่มดังกล่าวต้องอาศัยอยู่อย่างแร้นแค้นในหมู่บ้านที่ห่างออกไป 40 กิโลเมตรจากกรุงเดลลี  ความจริงแล้วคนที่เข้ามาไล่ที่ในสมัยนั้น คือบรรดาขุนนางอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม แต่ที่ฟ้องรัฐบาลอินเดียเพราะถือว่ามารับช่วงต่อตั้งแต่การประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1947 ทั้งนี้เขาบอกว่าถ้ายังไม่ได้เรื่องก็จะเดินหน้าฟ้องรัฐบาลอังกฤษเป็นรายต่อไป  ความจริงแล้วอังกฤษได้จ่ายค่าชดเชยให้กับบางครอบครัวด้วยการฝากเงินเข้าบัญชีธนาคารไว้ แต่ว่าคนสมัยนั้นไม่รู้ถึงสิทธิของตนเองและไม่ได้รับข่าวสาร จึงไม่ได้ไปถอนออกมา  ชาวบ้านกลุ่มนี้บอกว่า การฟ้องร้องครั้งนี้ก็เพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีของ “ชาวเดลลี” และเรียกร้องค่าชดเชยตามที่พวกเขาสมควรได้ (แต่ทั้งนี้เขาขอให้จ่ายเป็นอัตราปัจจุบันนะ)  กฎหมายเวนคืนที่ดินของอินเดียนั้นมีใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1894  และยังถูกนำมาใช้อยู่ เมื่อรัฐบาลต้องการเวนคืนพื้นที่มาทำโครงการสาธารณะ เช่น ถนนหรือโรงไฟฟ้า ซึ่งก็มีมากขึ้นทุกวันตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดีย ซึ่งปีนี้รัฐบาลก็กำลังถูกกดดันให้เพิ่มค่าชดเชยให้กับชาวบ้านด้วย  อังกฤษตัดสินใจย้ายเมืองหลวงของจากกัลกัตตามาที่เดลลี เพื่อหนีปัญหาความไม่สงบทางการเมือง โดยพระเจ้าจอร์จที่ 5 ได้ประกาศตั้งเดลลีเป็นเมืองหลวงใหม่ของอินเดียในปี ค.ศ. 1911  ลดระดับความโปร่งใสสหรัฐฯ มีหน่วยงาน HRSA (Health Resources and Services Administration) ที่เก็บข้อมูลความผิดพลาดของแพทย์ในการรักษาพยาบาล เอาไว้ในธนาคารข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์ หรือ National Practitioners Data Bank คนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ทางอินเตอร์เน็ท ในส่วนที่เรียกว่า Public Use File ซึ่งข้อมูลที่นำมาลงนั้นจะถูกตัดข้อมูลบางอย่างออกไปเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของแพทย์ ส่วนข้อมูลเต็มๆ นั้น กฎหมายถือเป็นความลับและจะเปิดเผยต่อโรงพยาบาล หน่วยงานที่ออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และหน่วยงานด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่อยู่มาวันหนึ่งมีนักข่าวของหนังสือพิมพ์ Kansas City Star นำเอาข้อมูลที่ตัวเองสืบค้น มารวมกับข้อมูลของแพทย์ทางประสาทวิทยาคนหนึ่งที่เขาได้จากฐานข้อมูลข้างต้น แล้วก็เขียนบทความเปิดโปงเรื่องราวการถูกฟ้องร้องจากการรักษาพยาบาลที่ผิดพลาดของหมอคนดังกล่าวโดยเปิดเผยชื่อ เรื่องนี้ทำให้ HRSA ประกาศลดระดับการเข้าถึงข้อมูลเรื่องดังกล่าวโดยคนทั่วไป ส่งผลให้สมาคมผู้สื่อข่าวสาธารณสุขและองค์กรผู้บริโภค Consumer Union ออกมาตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า นี่หรือคือนโยบายเรื่อง “ความโปร่งใส” ที่นายบารัค โอบามา พูดถึง และการช่วยรักษาความลับให้กับแพทย์ มันสำคัญกว่าการรักษาประโยชน์ของสาธารณะอย่างนั้นหรือ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 กระแสต่างแดน

  เมดไม่อยู่ คุณหนูต้องออกเที่ยว เทศกาลวันหยุดหลังการถือศีลอดของชาวมุสลิมที่อินโดนีเซีย เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้คนก็พากันกลับต่างจังหวัด คล้ายๆ กับเทศกาลสงกรานต์บ้านเรา  และเมื่อสาวใช้ในบ้านพากันลากลับบ้านไปใช้เงินโบนัสให้สาสมใจนั้น บรรดาคนมีเงินที่นั่นเขาก็ต้องหาที่ไปเหมือนกันเพราะไม่ถนัดจะอยู่บ้านโดยไม่มีแม่บ้านคอยดูแลจัดการทุกอย่างให้สะอาดเข้าที่เข้าทาง  บ้างก็นิยมไปเที่ยวเมืองนอก เรื่องนี้สมาคมท่องเที่ยวของอินโดนีเซียเขายืนยันมา ว่าแพ็คเกจทัวร์ไป  ประเทศยอดฮิตของคนที่นั่นซึ่งได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง ขายหมดไปแล้วตั้งแต่สองสามเดือนก่อน แอร์เอเชียก็ยืนยันมาว่าขนาดเพิ่มเที่ยวบินเป็น 8 เที่ยวต่อวัน ก็ยังมีตั๋วไม่พอขาย บ้างก็ไม่อยากข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลเพราะเป็นห่วงบ้าน เลยใช้วิธียกครอบครัวไปพักที่โรงแรมแทน สมาคมโรงแรมเขาก็ยืนยันว่าอัตราการจองห้องพักของคนอินโดนีเซียในช่วงวันหยุดดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85  อีกปรากฏการณ์ที่หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ เขารายงานไว้คือ ช่วงเทศกาลดังกล่าวเป็นช่วงที่โรงรับจำนำจะมีลูกค้าหนาแน่นเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่เพราะผู้คนพากันเอาของมีค่ามาจำนำหรอกนะ เขาบอกว่าร้อยละ 70 ของลูกค้าที่เดินเข้ามา จะมาไถ่เครื่องประดับออกมาไว้ใส่ไปอวดใครต่อใครตอนกลับไปเยี่ยมบ้านนี่แหละ หลายคนบอกว่าตอนนี้ทองราคาขึ้น เอาออกมาไว้กับตัวดีกว่า เผื่อจะได้ขายทำเงิน   ได้เวลา … ภาษีลดความอ้วนฮังการี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหนี้มากที่สุดในยุโรปตะวันออก ประกาศนโยบายหารายได้เข้ารัฐด้วยการเรียกเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน หรือเกลือสูงเกินไป ว่ากันว่านี่คือนโยบายเก็บภาษีจากอาหารขยะแบบเข้มที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งนี้ก็แอบหวังเล็กๆ ว่า “ภาษีลดความอ้วน” ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา จะเป็นการช่วยปรับนิสัยการกินของคนฮังกาเรียน ที่หันมาเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น และนำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนไม่น้อย  พูดง่ายๆ ใครเลือกที่จะกินผลิตภัณฑ์อาหารเจ้าปัญหาเหล่านี้ จะต้องเสียเงินเพิ่มจากเดิมประมาณ 1.50 บาทต่อชิ้น/ซอง ส่วนนักดื่ม (น้ำอัดลม) ก็จะต้องจ่ายในราคาที่เพิ่มจากเดิมร้อยละ 10 เป็นต้น ทางการเขาบอกมาว่ามาตรการนี้จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 100 ล้านเหรียญ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท)  ด้านอุตสาหกรรมอาหารก็คัดค้านเป็นธรรมดา เขาอ้างว่าวิธีนี้ปรับปรุงนิสัยการกินไม่ได้หรอก เพราะขนาดประเทศเดนมาร์กที่เก็บ “ภาษีลูกกวาด” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 ก็ยังมีอัตราการเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอยู่ดี แถมยังบอกว่ามาตรการนี้เป็นการเลือกปฏิบัติและจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย  ว่าแต่ผู้บริโภคก็มีทางเลือกที่จะไม่ซื้อขนม(ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ) ในราคาที่แพงขึ้น และรัฐบาลเขาก็ไม่ได้ประกาศห้ามอุตสาหกรรมผลิตขนมที่ดีต่อสุขภาพออกมาขายนี่นา  สถิติบอกว่าคนฮังกาเรียน ใช้เงินประมาณร้อยละ 17 ของรายได้ครอบครัวในการซื้ออาหาร (มากกว่าคนอเมริกันถึงสองเท่า) ทั้งนี้เพราะอาหารและเครื่องดื่มที่นั่นมีภาษีร้อยละ 25 ยกเว้นผลิตภัณฑ์จากนมและผลิตภัณฑ์ขนมปังที่มีภาษีร้อยละ 12  อิสราเอล กด Like “ไม่ซื้อเนยแพง”ผู้คนจำนวนหลายแสนคนที่รวมตัวกันทางเครือข่ายสังคม Facebook ได้ช่วยกันบอยคอตเนยคอทเทจยี่ห้อ Tnuva ที่พวกเขาเห็นว่าราคาแพงขึ้นจนรับไม่ได้   นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศเลิกควบคุมราคา คอทเทจชีสยี่ห้อนี้ก็แพงขึ้นกว่าเดิมถึงร้อยละ 25  เริ่มจากมีผู้บริโภคคนหนึ่งโพสต์กระทู้ลงในเฟสบุ๊ค ชักชวนเพื่อร่วมเครือข่ายให้หยุดซื้อเนยคอทเทจจาก Tnuva ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจ้าใหญ่ที่สุดในอิสราเอล ปรากฏว่าเพียงไม่กี่วันมีคนมาร่วมแจมเป็นแสนคน และจำนวนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคอทเทจชีสนั้นถือเป็นอาหารสามัญประจำโต๊ะกับข้าวของคนที่นั่น  ผลก็คือในที่สุด Tnuva ซึ่งเจ้าของตัวจริงได้แก่ Apax Investment Fund ของอังกฤษ ถึงแม้จะไม่ยอมลดราคากลับมาเท่าเดิม แต่ก็ต้องยอมเพิ่มปริมาณเนยเข้าไปอีกร้อยละ 10  นี่คือผลของการรวมตัวกัน “ไม่ซื้อ” ของผู้บริโภคกว่า 450,000 คน(ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลยสำหรับประเทศที่มีประชากรทั้งหมด 7 ล้านคน) คนกลุ่มนี้มีการศึกษา มีงานทำ และทำงานด้วยความทุ่มเท แต่กลับมีรายได้แทบไม่พอกับการใช้จ่ายพื้นฐานในครัวเรือน พวกเขาจึงรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างแล้ว  สถิติบอกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เงินเดือนของคนอิสราเอลนั้นเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.6 ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25  และพลังผู้บริโภคยังไม่หยุดแค่นั้น การบอยคอตที่ว่ายังขยายไปยังสินค้าจำเป็นอื่นๆ อีกด้วย สมาชิกเครือข่ายนี้จะร่วมกันเสนอชื่อสินค้าที่พวกเขาเห็นว่าตั้งราคาอย่างไม่เป็นธรรม และทุกคนก็จะร่วมมือกันไม่ซื้อสินค้าดังกล่าว  ยอดเยี่ยมจริงๆ ฉลาดซื้อ ขอกด Like ด้วยคน   เอาชีวิตรอดบนถนนในเมืองหลวงการขับรถบนถนนในเมือง มอสโก (เมืองหลวงเก่า) ของรัสเซีย คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะเขาถึงกับต้องมีการเปิดสอนคอร์ส “การเอาตัวรอดบนถนนมอสโก” กันเลยทีเดียว   สภาพถนนส่วนใหญ่ในรัสเซียนั้นเขาว่ากันว่าแย่มากๆ แถมยังไม่ค่อยมีป้ายสัญญาณ และแทบจะไม่มีการวางแผนจราจรด้วย หนำซ้ำอุบัติเหตุส่วนใหญ่ยังเกิดจากการฝ่าฝืนกฎจราจรโดยผู้ใช้รถใช้ถนนนี่แหละ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของรัสเซียบอกว่า ปัญหาหลักอยู่ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าตนเองสามารถทำผิดกฎหมายโดยไม่มีใครทำอะไรได้  เลยต้องเกิดสภาพตัวใครตัวมันขึ้นมาอย่างที่เป็นอยู่ สิบปีก่อน เซอเก้ โมเซเยฟ เป็นเซลส์แมนที่ต้องพบกับประสบการณ์ขนหัวลุกทั้งวันที่เขาต้องขับรถไปหาลูกค้า เขาเลยไปลงเรียนคอร์สดังกล่าว เซอเก้บอกว่าเป็นการตัดสินใจที่นอกจากจะช่วยชีวิตเขาไว้ได้แล้ว ยังช่วยประหยัดเงินและเวลาที่จะต้องไปทำเรื่องที่สถานีตำรวจอย่างน้อย 3 วัน และค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกร้อยละ 10 กรณีที่เขาเป็นฝ่ายผิดอีกด้วย  พูดง่ายๆ ว่า แม้แต่การเฉี่ยวชนเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้ต้องเสียโอกาสทำเงินไปไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท  แล้วเซอเก้ก็ตัดสินใจเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการสมัครเป็นครูที่สถาบันแห่งนั้นเสียเลย    เพราะธุรกิจนี้ดูท่าจะรุ่งเพราะบรรดาบริษัทต่างๆ นิยมส่งพนักงานมาเรียนเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ถูกต้องทันท่วงที ในสถานการณ์คับขันบนท้องถนน แม้แต่พวกที่ซื้อใบขับขี่ในตลาดมืด ก็ยังต้องมาลงเรียนคอร์สนี้  พฤติกรรมแย่ๆ ในการขับรถระบาดมาถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ข่าวบอกว่าพักหลังนี่เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันโดยมีรถตำรวจเข้าไปเป็นคู่ความบ่อยครั้ง จนกระทรวงมหาดไทยของรัสเซียต้องประกาศให้นายตำรวจทุกคนที่ใช้รถลาดตระเวน มาสอบขับรถกันใหม่ ภายใน 1 เดือนนับจากวันออกประกาศ  รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถิติการตายบนท้องถนนมากที่สุดในโลก ปีที่แล้วมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าวถึง 26,000 คน ซึ่งถือว่าดีขึ้นมากจากเมื่อ 6 ปีก่อนที่ตัวเลขสูงกว่านี้เกือบร้อยละ 4  ข่าวบอกว่ามาตรการปราบปรามพวก “เมาไม่ขับ” ของที่นั่นก็ประสบความสำเร็จดีเกินคาด แต่หนังสือพิมพ์เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งอ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อระบุว่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมาตรการเข้มงวดที่ว่านั้นทำให้ “สินบน” ที่ต้องจ่ายให้ตำรวจนั้นถีบตัวขึ้นไปสูงถึง 300,000 บาททีเดียว  จริงเท็จอย่างไร เราพิสูจน์ไม่ได้ เพราะเขาไม่มีใบเสร็จรับรอง 

อ่านเพิ่มเติม >