ฉบับที่ 237 Shonky Award 2020

        ประกาศรายชื่อแล้ว ผลิตภัณฑ์/บริการยอดแย่ประจำปี 2020 ในออสเตรเลีย โดยนิตยสารเพื่อผู้บริโภค CHOICE มาดูกันว่ามีใครบ้างที่สมควร (แต่ไม่อยาก) ได้รางวัลนี้    ·  รายแรกยกให้ “ฮาร์วี นอร์แมน” ห้างเครื่องใช้ไฟฟ้าเจ้าใหญ่ในออสเตรเลีย ที่จับมือกับ “ละติจูดไฟแนนซ์” ออกบัตรเครดิต นัยว่าเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภค   เขาอนุมัติบัตรโดยไม่ตรวจสอบรายได้หรือความสามารถในการใช้หนี้ แถมยังให้วงเงินสูงถึง12,000 เหรียญ (หรือประมาณ 270,000 บาท) โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 21.99 ถึง 24.99 ต่อปี CHOICE คำนวนแล้วพบว่าถ้าผู้ใช้นำบัตรไปรูดปรื้ดใช้จ่าย 5,000 เหรียญ แล้วผ่อนชำระขั้นต่ำเดือนละ 100 เหรียญ (ร้อยละ 2) ก็จะผ่อนหมดใน 29 ปี 8 เดือน และจ่ายดอกเบี้ยไปทั้งหมด 12,909 เหรียญ ... ปัจจุบันเกือบร้อยละ 8 ของคนออสเตรเลียเป็นหนี้บัตรเครดิต    ·  ตามด้วย Revitalife ที่ทำการตลาดแบบอุกอาจไม่เกรงใจใคร เริ่มจากชักชวนให้ร่วมตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับสุขภาพทางอินเทอร์เน็ตหรือทางโทรศัพท์ จากนั้นก็เริ่มโทรไปขอนัดมาคุยปัญหาสุขภาพที่บ้าน คุยไปคุยมาก็ขายที่นอนที่อ้างว่าสามารถแก้ปัญหาการนอนแบบไม่มีคุณภาพได้  ราคาของที่นอน “อัจฉริยะ” นี้อยู่ระหว่าง 4,000 ถึง 8,000 เหรียญ    ถ้าจะขายว่าที่นอนนุ่มสบายก็ย่อมทำได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าที่นอนไม่สามารถ “บำบัดรักษา” ปัญหาการนอนไม่หลับ นอกจากนี้ผู้ขายยังระบุเงื่อนไขการเปลี่ยน ซ่อม หรือคืนเงิน ว่า “เป็นไปตามวิจารณญาณของทางบริษัท” ... มันใช่หรือ    ·  ส่วนรายนี้ก็ซุกราคาเหลือเกิน ผู้ให้บริการจัดงานศพ InvoCare Funerals ขายแพ็คเกจพิธีศพบนเว็บไซต์ ที่สนนราคาระหว่าง 2,400 – 5,600 เหรียญ โดยไม่ให้รายละเอียดว่ายอดที่เสนอขายนั้นประกอบด้วยค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง โทรถามก็ยังมุบมิบอ้อมค้อม ผู้บริโภคจึงไม่มีข้อมูลพอต่อการตัดสินใจ     ในที่สุดค่ายนี้ (ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึง 1 ใน 4) ก็ถูกคณะกรรมการเพื่อการค้าที่เป็นธรรมของนิวเซาท์เวลส์ บังคับให้แสดงรายละเอียดค่าบริการต่างๆ ในเว็บไซต์ ... บริษัทเขาก็แน่จริง แสดงข้อมูลเฉพาะบริการในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ที่เหลืออีก 5 รัฐ เขาก็ยังทำเนียน แจ้งราคารวมๆ เหมือนเดิม    ·  ยุคนี้อากาศสะอาดเป็นเรื่องใหญ่ ถึงออสเตรเลียจะไม่มีฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5 แต่เขาก็มีไฟป่าอยู่เนืองๆ     การทดสอบเปรียบเทียบเครื่องฟอกอากาศโดย CHOICE พบว่าเครื่อง Green Tech Pure Air 500 ที่ขายในราคาคิดเป็นเงินไทยประมาณ 5,000 บาท นั้นประสิทธิภาพต่ำมาก กรองฝุ่น ควัน หรือสารระเหยไม่ได้เลย และทั้งๆ ที่โฆษณาว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวมันเองกลับใช้พลังงานเปลืองมาก เอาเป็นว่าจากคะแนนเต็มร้อย เจ้าตัวนี้ได้ไป 19 คะแนน ทีมทดสอบบอกว่า “เก็บออกจากตลาดไปเลยจะดีกว่า”     ·  พื้นสะอาดก็เรื่องใหญ่อีกเหมือนกัน เรื่องนี้อาจสะเทือนไปไกลเกินออสเตรเลีย เมื่อทีมทดสอบพบว่าน้ำยาทำความสะอาดพื้นที่ขายอยู่ในท้องตลาด 15 ยี่ห้อนั้น มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดพื้นไม่ต่างอะไรกับน้ำเปล่า! เพียงแต่พื้นบ้านของคุณอาจจะดูแวววาวและมีกลิ่นหอมเท่านั้น    CHOICE บอกว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะสารออกฤทธิ์ที่ผู้ผลิตใส่มาในผลิตภัณฑ์นั้นมันมีปริมาณน้อยเสียจนไม่เกิดผลใดๆ นั่นเอง ... เขาแนะนำให้ใช้น้ำเปล่าไปเลย ประหยัดเงินได้ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 กระแสต่างแดน

ผมแก้บน         ร้อยละ 70 ของวิกผมในตลาดโลกที่มีมูลค่าสูงเกือบ 10,000 ล้านเหรียญ เป็นวิกที่ผลิตในประเทศจีน และหนึ่งในสามของ “ผม” ที่นำมาทำเป็นวิกเหล่านั้นมาจากอินเดียผม “คุณภาพพรีเมียม” เหล่านี้ได้จากญาติโยมที่มา “แก้บน” ด้วยการโกนศีรษะถวายเป็นการบูชาพระนารายณ์ ที่วัดศรีเวงกเฏศวรา ในเมืองติรุปติ รัฐอันธรประเทศร้อยละ 30 – 50 ของผู้คนหลายหมื่นคนที่เดินทางมายังวัดนี้ในแต่ละวันคือผู้ที่มาแก้บนหลังได้รับพรจากพระนารายณ์ให้มีบุตร มีบ้าน มีรถ หรือหายจากอาการป่วย ฯลฯทางวัดมีเจ้าหน้าที่คอยรวมรวมผมที่ถูกโกนทิ้ง แล้วนำไปทำความสะอาด หวีให้เรียบร้อย แล้วจัดเก็บในโกดัง ทุกๆ โดยจะนำออกมาประมูลขายออนไลน์ทุกสองหรือสามเดือน ผู้ที่เข้ามาประมูลซื้อก็คือบริษัทที่ทำธุรกิจส่งออกผมไปยังจีนหรือฮ่องกงนั่นเองผมของผู้คนประมาณ 12 ล้านคนต่อปีนี้ทำให้วัดมีรายได้ประมาณ 17 ล้านเหรียญ ที่วัดนำไปใช้จ่ายในการบริหารโรงเรียน วิทยาลัย โรงพยาบาล บ้านเด็กกำพร้า รวมถึงทำอาหารเลี้ยงญาติโยมที่มาทำบุญหอมซ่อนเสี่ยง         สำนักงานส่งเสริมสุขภาพประชาชนของไต้หวันกำลังเตรียมเสนอให้รัฐบาลประกาศแบน “บุหรี่แต่งกลิ่น” ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่วัยรุ่นมีข้อมูลที่ยืนยันว่าบุหรี่ชนิดนี้เป็นตัวเลือกของร้อยละ 40 ของนักสูบที่อยู่ในวัยทีน และยังเป็นชนิดที่ได้รับความนิยมในหมู่เด็กผู้หญิงค่อนข้างมาก ที่สำคัญผู้สูบมักรู้สึกว่าบุหรี่ที่มีกลิ่นหอมน่ารักแบบนี้มีอันตรายนิ้ยดว่าบุหรี่ธรรมดา ทั้งที่ปริมาณนิโคตินไม่ต่างกัน    จากข้อมูลการขึ้นทะเบียนในไต้หวันเมื่อปีที่ผ่านมา “กลิ่น” ที่ว่านี้มีให้เลือกไม่ต่ำกว่า 1,200 กลิ่น สำนักงานฯ จึงเตรียมเสนอให้มีการจำกัดการใช้สารเคมีในการแต่งกลิ่นยอดนิยมอย่าง วานิลา เมนทอล อัลมอนด์ คาราเมล ในการแก้ไขพรบ. ป้องกันอันตรายจากยาสูบด้วยปัจจุบันมี 39 ประเทศทั่วโลกที่ประกาศแบนบุหรี่แต่งกลิ่น เช่น กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป อเมริกา แคนาดา บราซิล ตุรกี และสิงคโปร์ กินหวานช่วยชาติ         อัตราการบริโภคน้ำตาลโดยเฉลี่ยของคนทั่วโลกอยู่ที่ 23 กิโลกรัมต่อคน/ต่อปี แต่สำหรับอินเดียซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลก (ผลัดกันครองแชมป์กับบราซิล) ผู้คนกลับบริโภคน้ำตาลเพียงคนละ 19 กิโลกรัมต่อปีเท่านั้นอินเดียประสบปัญหาการผลิตน้ำตาลได้เกินความต้องการมาอย่างต่อเนื่อง จากการที่นักการเมืองท้องถิ่นส่งเสริมให้เกษตรกรในชนบทปลูกอ้อยกันมากขึ้นเพื่อแลกกับผลตอบแทนสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลจึงออกมาเรียกร้องให้มีการบริโภคในประเทศมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ควรเท่ากับค่าเฉลี่ยของโลก เพื่อให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในประเทศจะได้เพิ่มเป็น 5.2 ล้านตันต่อปี เหลือส่งออกน้อยลง ประหยัดเงินที่รัฐต้องใช้อุดหนุนการส่งออกได้ไม่น้อยผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับสามของโลกได้แก่ สหภาพยุโรป อันดับสี่คือประเทศไทย ส่วนจีนนั้นเข้ามาที่อันดับห้าจากข้อมูลล่าสุด อัตราการบริโภคน้ำตาลของคนไทยอยู่ที่คนละ 43.4 กิโลกรัมต่อปี ช้อปล้างแค้น         งานช้อปออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในวันที่ 11 เดือน 11 หรือ “วันคนโสด” ปีนี้เป็นความหวังของผู้ประกอบการว่าผู้บริโภคคงจะ “ช้อปล้างแค้น” ที่อดไปเที่ยวเพราะการระบาดของโควิด-19 งานนี้เขาเตรียมพนักงานไว้กว่า 3 ล้านคน เครื่องบินและเรือสินค้ารวมกันไม่ต่ำกว่า 4,000 ลำ และรถโมบายล็อคเกอร์อีก 10,000 คัน  จากสถิติปีที่แล้วมียอดขาย 210,000 ล้านหยวน (สองเท่าของยอดขายในวันแบล็คฟรายเดย์และวันไซเบอร์มันเดย์รวมกัน) โดยสินค้าที่มีคนสั่งซื้อมากที่สุดได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงามแม้จะเข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว แต่งานช้อปแห่งปีของจีนแผ่นดินใหญ่ปีนี้คึกครึ้นยิ่งกว่าเคย และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับความนิยมมากได้แก่ วิตามิน เครื่องฟอกอากาศ หุ่นยนต์ดูดฝุ่น และกล่องเครื่องมือ DIY หรือแม้แต่สินค้าแบรนด์เนมก็คาดว่าขายดีขึ้นเช่นกันงานนี้ยังมีบ้าน/คอนโด ลดราคาท้าโควิดให้เลือกซื้อกันถึง 800,000 แห่ง และรถอีก 200,000 คันคิดบวก         งานวิจัยล่าสุดโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไม่พบความแตกต่างทางสุขภาพอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างคนที่ทานวิตามินทุกวันกับคนที่ไม่ได้ทานจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างมากกว่า 20,000 คน (ประกอบด้วยผู้ที่ทานวิตามินเป็นประจำ 5,000 คน และผู้ที่ไม่ทาน 16,660 คน) ในเรื่องสุขภาพ กิจกรรมในชีวิตประจำวัน และประวัติทางการแพทย์ แล้วนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับตัวชี้วัดทางสุขภาพ 5 รายการ นักวิจัยพบว่าคนสองกลุ่มนี้ไม่แตกต่างกันที่น่าสนใจคือเขาพบว่าผู้บริโภควิตามินนั้นเป็นกลุ่มที่มีความสนใจและความกังวลเรื่องสุขภาพมากทั้งๆ ที่ตนเองมีสุขภาพดีอยู่แล้ว และร้อยละ 30 ของกลุ่มที่ทานวิตามินนั้น “รู้สึก” ว่าตัวเองสุขภาพดีขึ้น   “ประโยชน์” ที่เกิดขึ้นนี้จึงน่าจะเป็นเพราะพวกเขาคาดหวังเช่นนั้นนักวิจัยย้ำว่าการรับประทานวิตามินนั้นมีประโยชน์จริงกับคนที่ร่างกายขาดวิตามินส่วนคนที่ไม่ได้ขาดวิตามินก็ถือว่าช่วยทำประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมมูลค่าหลายแสนล้านก็แล้วกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 กระแสต่างแดน

ลดช่องว่าง    สถิติเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศจีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 940 ล้านคน หรือร้อยละ 20 ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งโลกรายงานจากศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแห่งชาติจีน ยังบอกอีกว่าอัตราการเข้าถึง อินเทอร์เน็ตของจีนสูงถึงร้อยละ 67 (ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกคือร้อยละ 62) และที่สำคัญกว่านั้นคือช่องว่างหรือความได้เปรียบเสียเปรียบทางดิจิทัลระหว่างคนเมืองกับคนชนบทลดลงอย่างมาก เพราะร้อยละ 98 ของหมู่บ้านในชนบทห่างไกลมีอินเทอร์เน็ตผ่านไฟเบอร์ออปติกให้ชาวบ้านใช้แล้วขณะนี้จีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการเรียนการสอนออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 380 ล้านคน และยังมีการใช้ประโยชน์ในการทำงานจากบ้าน หรือ “พบแพทย์” ออนไลน์เพื่อขอคำปรึกษามากขึ้นสาเหตุที่ชาวจีนทุกเพศทุกวัยหันมาใช้อินเทอร์เน็ตกันมากขึ้นก็เพราะการระบาดของโควิด-19 นั่นเอง มีลูก มีรางวัล    รัฐบาลสิงคโปร์พยายามแก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำมากว่าหนึ่งทศวรรษ ด้วยแผนให้เงินช่วยเหลือ 10,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 230,000 บาท) กับคู่สามีภรรยาที่มีบุตร แถมด้วยโบนัสอื่นๆ อีกมากมาย แต่ดูเหมือนจะยังไม่ประสบความสำเร็จข้อมูลปี 2018 ระบุว่าค่าเฉลี่ยการให้กำเนิดบุตรของสิงคโปร์อยู่ที่ 1.14 คนต่อผู้หญิง 1 คน และปีนี้การระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีกเมื่อคู่แต่งงานพากันยกเลิกแผนมีบุตร เพราะกังวลเรื่องปัญหาการเงินหรือการถูกเลิกจ้าง รัฐบาลจึงเตรียมประกาศแพ็กเกจใหม่ที่น่าดึงดูดใจกว่าเดิมเรื่องราวช่างตรงข้ามกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งมีประชากรหนาแน่นเป็นอันดับสี่ของโลกคาดว่าจะมีจำนวนเด็กเกิดมากกว่าปกติถึง 400,000 คน ในขณะที่ฟิลิปปินส์ซึ่งปัจจุบันมีประชากรไม่ต่ำกว่า 108 ล้านคน มีแนวโน้มจะมีเด็กเกิดใหม่อีก 2.6 ล้านคน หากมาตรการล็อกดาวน์ยังมีอยู่จนถึงสิ้นปี คนท้องถิ่นต้องมีที่อยู่    การขยายตัวของการท่องเที่ยวและแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาเป็นสื่อกลางระหว่าง “เจ้าของบ้าน” ในเมืองยอดนิยมกับบรรดานักท่องเที่ยวที่ต้องการประหยัดเงิน ทำให้คนท้องถิ่นที่ต้องการหาที่อยู่ใกล้ที่ทำงานหรือที่เรียนกลายเป็นกลุ่มที่ “ไร้ที่พักอาศัย” เพราะไม่สามารถจ่ายค่าเช่าห้องซึ่งแพงขึ้นได้เทศบาลของ 22 เมืองยอดนิยมในยุโรปจึงรวมตัวกันเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎระเบียบควบคุมแพลตฟอร์มหรือแอปฯ อย่าง Airbnb ให้แชร์ข้อมูลกับรัฐบาลท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยบริการดิจิทัลกลุ่มพันธมิตรเมืองในยุโรป (Eurocities Alliance) ต้องการให้เทศบาลสามารถกำกับดูแลได้ ว่าเจ้าของบ้านไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการหรือไม่  หรือมีรายใดปล่อยเช่าห้องพักต่อปีกับแอปฯ เหล่านี้เกินจำนวนวันที่ได้รับอนุญาตหรือเปล่า และแอปฯ ต้องร่วมรับผิดชอบหากเกิดการฝ่าฝืนจะอ้างว่าเป็นเพียงตัวกลางไม่ได้เมืองในพันธมิตรดังกล่าวได้แก่ ลอนดอน ปารีส มิลาน เบอลิน เวียนนา พอร์โต เฮลซิงกิ บาเซโลนา และอัมสเตอร์ดัม เป็นต้น เตรียมเลิกรถใช้น้ำมัน    แคลิฟอร์เนียซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในอเมริกา (39.5 ล้านคน) ออก “คำสั่งผู้บริหาร” ห้ามใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ภายในปี 2035 แน่นอนว่าคำสั่งนี้ไม่ถูกใจค่ายรถยนต์และสร้างความหงุดหงิดให้ลุงทรัมป์เป็นอย่างมาก แต่ผู้ว่าการรัฐฯ เขาก็เล่นใหญ่ ถึงกับเซ็นคำสั่งดังกล่าวบนฝากระโปรงรถพลังงานไฟฟ้ารุ่น Ford Mustang Mach E ออกสื่อมันเสียเลย แต่ก็ยังต้องรอลุ้นกันต่อไปว่าคำสั่งนี้จะถูกล้มล้างโดยรัฐบาลหรือไม่  นอกจากการแบนรถใช้น้ำมันแล้ว แคลิฟอร์เนียยังมีแผนพัฒนาการขนส่งระบบราง การปรับปรุงทางเท้า และทางจักรยาน  กว่าร้อยละ 50 ของมลภาวะที่เกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนียมาจากการเดินทางขนส่ง จึงตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกให้เหลือเพียงร้อยละ 80 ของปริมาณทีเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน ภายในปี 2050นอกจากมลภาวะบนท้องถนนแล้ว ปีนี้แคลิฟอร์เนียยังเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายเพราะไฟป่าที่ กินพื้นที่ถึง 14,600 ตารางกิโลเมตรอีกด้วย ไม่ขาดก็เกิน    ในปี 2018 อินโดนีเซียใช้เงินถึง 155,000 ล้านเหรียญเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพ ซึ่งมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับ “อาหาร” โดยร้อยละ 48 เป็นความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน ในขณะที่ร้อยละ 26 เป็นปัญหาการขาดอาหารในเด็ก ร้อยละ 20 เกิดจากมลภาวะ ที่เหลืออีกร้อยละ 6 คือการได้รับสารอันตรายจากยากำจัดศัตรูพืชนักวิจัยจากโครงการแนวร่วมอาหารและการใช้ที่ดิน (Food and Land Use Coalition) บอกว่ารัฐบาลยังใช้เงินอีก 137,000 ล้านเหรียญเพื่อลดผลกระทบของการเกษตรที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 55 เพื่อแก้ปัญหาก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 40 แก้ปัญหาภัยแล้ง และอีกร้อยละ 5 ในการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพและนักวิจัยยังขอร้องให้คนอินโดนีเซียปรับปรุงนิสัยการบริโภค ด้วยการกินผักให้มากขึ้น (คนอินโดฯ กินผักเพียงวันละ 122 กรัม จากปริมาณที่แนะนำ 300-400 กรัม) และบริโภคน้ำตาลให้น้อยลง (จากมากกว่า 50 กรัมควรเหลือเพียงไม่เกิน 40 กรัม) เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 กระแสต่างแดน

มันจะมากไปแล้ว        ปัจจุบันร้อยละ 20 ของเด็กมัธยมฯ ในอังกฤษเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน รัฐบาลจึงตั้งเป้าจะดึงตัวเลขดังกล่าวลงมาให้ต่ำกว่าร้อยละ 2 และแผนแรกที่จะลงมือคือการเรียกเก็บภาษีจากอาหารที่มีไขมันสูงคาดการณ์ว่าภาษีอาหาร “มันจัด” ในอัตราร้อยละ 8 นี้จะช่วยประหยัดงบสาธารณสุขได้ถึง 66,000 ล้านปอนด์ต่อปี เป็นที่รู้กันดีว่าโรคอ้วนจะนำไปสู่โรคอื่นๆ และในกรณีของโควิด-19 คนที่มีโรคอ้วนจะติดไวรัสง่ายกว่าและมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคนี้สูงกว่านายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ซึ่งมีประสบการณ์ตรงจากการเป็นผู้มีภาวะโรคอ้วนที่ติดเชื้อโควิด-19 กำลังเตรียมประกาศเปิดตัวแอปฯ ช่วยลดน้ำหนัก ที่ทุกคนสามารถดาวน์โหลดฟรี และสั่งแบนโฆษณาอาหารจังก์ฟู้ดช่วงก่อนสามทุ่มด้วยรายได้จากภาษีนี้จะถูกนำไปใช้ในโครงการสนับสนุนอาหารกลางวันนักเรียนในอัตราหัวละ 21 ปอนด์ (ประมาณ 900 บาท) ต่อสัปดาห์เพื่อให้เด็กๆ ได้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่รับใบเสร็จ        ทุกวันนี้เวลาจะซื้อภาชนะใส่น้ำใส่อาหาร เราจะมองหาสัญลักษณ์ที่บอกว่าปราศจาก BPA (บิสฟีนอลเอ) เพื่อความปลอดภัย แต่เรื่องยังไม่จบเพราะในภาชนะบรรจุอาหาร/เครื่องดื่มกระป๋อง (ที่เราหลายคนต้องพึ่งพาในช่วงที่กักตัวอยู่กับบ้าน) ก็มีสารนี้เคลือบอยู่เช่นกันนอกจากขวดโพลีคาร์บอเนต (พลาสติกชนิดแข็ง) บรรจุน้ำที่สามารถปล่อย BPA ลงน้ำดื่มได้แล้ว อีกอย่างที่เราลืมระวังคือใบเสร็จรับเงินแบบกระดาษร้อน ซึ่งก็คือใบเสร็จทั่วไปที่ได้จากซูเปอร์มาร์เก็ต ที่สำคัญสารที่ว่านี้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าปกติถึง 10 เท่าเมื่อเราใช้เจลแอลกอฮอลล้างมือศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ ระบุว่า การสุ่มตรวจปัสสาวะของผู้ใหญ่ในอเมริกา พบการปนเปื้อนแทบทุกตัวอย่าง ในขณะที่งานวิจัยล่าสุดก็พบว่าคนที่มีปริมาณ BPA ตกค้างในปัสสาวะสูง มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตภายใน 10 ปี มากกว่าคนทั่วไปถึงร้อยละ 49 วิกฤติอเมซอน         องค์กร Igarape Institute ของบราซิล ซึ่งติดตามสำรวจคดีสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคอเมซอนเรียกร้องให้มีการเปิดเผยตัวข้าราชการเช่น ตำรวจ ทนาย เจ้าหน้าที่ศุลกากร และนักการเมืองที่มีส่วนเอื้อให้เกิดการทำลายป่าโดยอาชญากรและเครือข่ายธุรกิจมืด  ปีนี้ในบราซิลมีการทำลายป่ามากขึ้นร้อยละ 34 และหากคุณซื้อเนื้อวัวในตลาด ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเนื้อดังกล่าวมาจากวัวที่เลี้ยงในพื้นที่ๆ รุกป่า แต่ความซับซ้อนในสายการผลิตทำให้ผู้บริโภคไม่ทราบที่มาที่แท้จริงองค์กรนี้ยังระบุว่า แม้บราซิล โคลอมเบีย เปรู โบลิเวีย เอกวาดอร์ กายอานา ซูรินาม และเวเนซูเอลา จะมีสนธิสัญญาความร่วมมืออเมซอนมาไม่ต่ำกว่า 40 ปี แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่สำเร็จเพราะไม่เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก อีกทั้งหน่วยงานรัฐในแต่ละประเทศก็ไม่จริงจังกับการติดตาม สืบสวน ฟ้องร้อง หรือลงโทษผู้กระทำผิดข้อมูลจาก MapBiomass ระบุว่าร้อยละ 90 ของการตัดไม้ในเขตอเมซอน เป็นการตัดอย่างผิดกฎหมาย เร็วกว่า ราคาเดิม        การรถไฟอินเดียตั้งเป้าเพิ่มรายได้ต่อปีให้ได้ 15,000 ล้านรูปี (ประมาณ 65,000 ล้านบาท) โดยไม่ขึ้นค่าโดยสารสิ่งที่เขาจะทำคือรื้อตารางการเดินรถใหม่ หมายความว่าจะมีการยกเลิกรถไฟประมาณ 500 กว่าเที่ยว ซึ่งวิ่งผ่านกว่า 10,000 สถานีทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังจะเพิ่มเที่ยวขบวนรถสินค้าร้อยละ 15 ในเส้นทางที่สามารถใช้ความเร็วสูงได้ รวมถึงการใช้ความเร็วในขบวนรถโดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ด้วยนอกจากนี้ยังมีแผนจะยกเลิกรถไฟเที่ยวที่เมื่อเฉลี่ยทั้งปีแล้วมีผู้โดยสารน้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่ง รวมถึงการไม่กำหนดป้ายหยุดในระยะ 200 กิโลเมตรสำหรับรถทางไกล เว้นแต่จะเป็นเมืองใหญ่แผนดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ทันทีที่สิ้นสุดการระบาดของโควิด-19 และอินเดียกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ความจริงแล้วสิ่งที่ทำให้การรถไฟอินเดียเริ่มคิดใหม่ทำใหม่ก็คือภาวะล็อกดาวน์ทั่วประเทศนั่นเอง แต่จะได้ผลตอบรับจากผู้บริโภคอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป ต้นทุนที่แท้ทรู        งานวิจัยโดยห้างค้าปลีก Penny ในเยอรมนีพบว่า ราคานม เนื้อสัตว์ และชีสในปัจจุบัน ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่เกิดจากการผลิตอาหาร และหากคนรุ่นเราไม่จ่าย ต้นทุนนี้ก็จะตกเป็นของคนรุ่นต่อไปตัวอย่างเช่น ราคาเนื้อบดครึ่งกิโลกรัมที่ขายอยู่ 2.79 ยูโรนั้น หากคำนวณโดยนำปัจจัยเรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ การตกค้างของปุ๋ยในดิน รวมถึงพลังงานที่ใช้ มารวมกับต้นทุนปกติ จะมีราคาถึง 7.62 ยูโร (แพงขึ้นร้อยละ 173) เช่นเดียวกับนมวัวที่จะแพงขึ้นร้อยละ 122ในขณะที่ผักผลไม้แพงขึ้นไม่ถึงร้อยละ 20 รวมถึงหากเป็นเนื้อวัวที่เลี้ยงแบบออกานิกราคาก็จะแพงขึ้นจากเดิมร้อยละ 126 เท่านั้น อาหารมังสวิรัตและออกานิกจึงอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะห้าง Penny สาขาในเบอลินก็เริ่มทดลองติดป้ายแสดงทั้งราคาปกติ และราคาแบบ “ร่วมรับผิดชอบ” ในสินค้าเฮาส์แบรนด์บางชนิด ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน ... ผลจะเป็นอย่างไรต้องติดตาม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 กระแสต่างแดน

ขอความคุ้มครอง        เวียดนามคือตลาดอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน รัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าร้อยละ 50 ของประชากรจะหันมาใช้บริการ “ซื้อของออนไลน์” ภายในปี 2025 และคาดการณ์ว่าการซื้อขายแบบดังกล่าวจะมีมูลค่าถึง 35,000 ล้านเหรียญ         สถิติในปี 2018 ระบุว่าเวียดนามมีนักช้อปออนไลน์ถึง 40 ล้านคน (จากประชากรทั้งหมด 90 ล้านคน) มีการใช้จ่ายเฉลี่ยคนละประมาณ 6,300 บาท         แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกำลังเรียกร้องคือการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น กฎหมายเดิมที่ใช้มา 10 ปีนั้นไม่เพียงพอที่จะรับมือกับอีคอมเมิร์ซในยุคนี้ ขณะเดียวกันตัวผู้บริโภคเองก็ยังรู้สิทธิน้อยมาก         สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคแห่งเวียดนามบอกว่า จากการสำรวจมีคนเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่รู้จักกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค จึงไม่แปลกที่มีเรื่องร้องเรียนน้อยมากแม้จะเกิดปัญหาบ่อย ที่พบเป็นประจำคือหลังจากชำระเงินแล้ว ผู้ซื้อไม่ได้ของขวัญ ของแถม หรือโบนัสตามที่ผู้ขายบอก        คุมเข้มอีคอมเมิร์ซ        เวียดนามอาจยังไม่พร้อมแต่อินเดียพร้อมแล้ว ด้วยการประกาศข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ที่ละเมิดจะได้รับโทษตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค 2019         ตามข้อกำหนดที่มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ผู้ขายต้องรับผิดชอบต่อสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและสินค้าปลอม โดยจะปฏิเสธการขอคืนสินค้าไม่ได้ ทั้งผู้ขายและแพลตฟอร์ม (เช่น Amazon Flipcart และ Paytm)จะต้องจัดให้มีคนรับเรื่องร้องเรียนและตอบกลับในเวลาที่เหมาะสม         นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการแสดงราคา ค่าใช้จ่ายอื่นๆ วันหมดอายุ ประเทศต้นทางของสินค้า รวมถึงรายละเอียดในการคืน/เปลี่ยนสินค้า คืนเงิน การรับประกัน วิธีชำระเงิน และกลไกการร้องเรียนและการชดเชยเยียวยาด้วย         ทั้งนี้สินค้าต้องเป็นไปตามที่โฆษณา โดยแพลตฟอร์มต้องเก็บข้อมูลเพื่อให้รู้ว่าผู้ขายรายไหนหลอกลวงผู้บริโภคซ้ำซาก และที่ห้ามเด็ดขาดคือ “รีวิวปลอม”        ขอตรวจซ้ำ เรื่องนี้ย้อนไปเมื่อปี 2016 ที่มีผู้เสียชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก) ไม่ต่ำกว่า 700 คน จากการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในเครื่องเพิ่มความชื้น ซึ่งเป็นอุปกรณ์ประจำบ้านของคนเกาหลีส่วนใหญ่ โดยตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบในขณะนั้นคือ 3,642 คน         ถึงปี 2017 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 1,553 คน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการ) จึงนำไปสู่การตั้ง “คณะกรรมการวิสามัญ” ขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2018 และการทำงานของกรรมการชุดนี้กำลังจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมปีนี้ แต่ดูเหมือนยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก         กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจึงออกมาเรียกร้องให้มีคณะกรรมการชุดใหม่ทำหน้าที่ตรวจสอบกระทรวงสิ่งแวดล้อม หน่วยงานที่ดูแลด้านการค้าที่เป็นธรรม รวมถึงบรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนประกอบของโพลีเฮกซาเมธิลีนกัวนิดีน ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อปอดของมนุษย์ด้วย        อย่าจัดหนัก        ในช่วงล็อกดาวน์ยอดขายสระน้ำเป่าลมในสเปนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 350 เพราะใครๆ ก็ต้องอยู่บ้าน และฤดูร้อนที่นั่นก็อุณหภูมิสูงใช่เล่น ผู้เชี่ยวชาญจึงออกมาเตือนให้ใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 2 ใน 3 ของประชากรอาศัยอยู่ในแฟลตหรืออพาร์ตเมนท์         OCU องค์กรผู้บริโภคของสเปนแนะนำว่าเพื่อความปลอดภัยไม่ควรเติมน้ำในสระจนระดับน้ำสูงเกิน 20 เซนติเมตร เพราะนั่นเท่ากับแรงกด 200 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ซึ่งอาจทำให้พื้นด้านล่างถล่มลงมา และไม่ควรใช้บนอาคารเก่า         ในกรณีของบ้านเดี่ยวที่มีสนาม เขาแนะนำให้วางสระน้ำห่างจากตัวบ้านหลายเมตรเพื่อป้องกันผนังบ้านด้านที่อยู่ใกล้สระพังลงมา         ก่อนหน้านี้เกิดเหตุเพดานบ้านถล่มเนื่องจากสระน้ำเป่าลมที่ระเบียงชั้นบน...ก็เล่นเติมน้ำไปตั้ง 8,000 ลิตร อะไรจะทนไหวอยากให้เหมือนเดิม        ธุรกิจรับจัดงานศพเป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลนอร์เวย์ เพราะผลพลอยได้จากมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 คือการเจ็บป่วยที่ลดลง เดือนมิถุนายนมีผู้เสียชีวิตน้อยลงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว         บริษัทรับจัดงานศพแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของนอร์เวย์ซึ่งเปิดกิจการมาแล้วสามรุ่นบอกว่า ปกติเคยได้จัดเดือนละ 30 งาน แต่หลังล็อกดาวน์กลับมีไม่ถึง 10 งาน บริษัทได้เงินช่วยเหลือ 32,000 โครน (ประมาณ 100,000 บาท)         อีกบริษัทในเมืองออสโล ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือ 37,000 โครน (ประมาณ 127,000 บาท)ไป บอกว่ากรณีของเขา ลูกค้าไม่ได้ลดลง เพียงแต่การจัดงานในรูปแบบใหม่นั้นมีแขกเข้าร่วมน้อยลงและเจ้าภาพมักปรับลดพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นร้อยละ 60-70 ของรายได้         แต่เขาก็หวังว่า “ธุรกิจจะกลับมาเป็นปกติในฤดูใบไม้ร่วง ที่โรคหวัดหรือโรคอื่นๆ เริ่มระบาดอีกครั้ง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 กระแสต่างแดน

ดาวหลอกคุณ        การทดลองโดย which? นิตยสารคุ้มครองผู้บริโภคของอังกฤษพบว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะเลือกสินค้ารุ่นที่ "ไม่ควรซื้อ" มากขึ้นเมื่อได้เห็นรีวิวสวยหรู ประกอบจำนวน "ดาว" ที่มากเกินจริง และการเป็น "สินค้าโปรโมท" ของเว็บ        ผู้บริโภค 10,000 คนได้รับโจทย์ให้เลือกซื้อ หูฟัง กล้องติดหน้ารถ หรือเครื่องดูดฝุ่นไร้สายอย่างใดอย่างหนึ่ง (สถิติระบุว่าสามอย่างนี้เป็นสินค้าที่มี “เฟครีวิว” มากที่สุด) จากเว็บ “อเมซอน” ที่นิตยสารทำขึ้นมาเอง เว็บดังกล่าวนำเสนอสินค้าประเภทละ 5 รุ่น ซึ่ง which? เลือกมาแล้วให้มีทั้ง น่าซื้อ (1) พอทน (3)  และไม่ควรซื้อ (1)         จากผู้บริโภคที่ถูกแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม แยกตามข้อมูลที่ได้รับ เขาพบว่ากลุ่มที่เห็นดาวและรีวิวเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะกดซื้อสินค้ารุ่นที่ “ไม่ควรซื้อ" มากเป็นอันดับสอง รองจากกลุ่มที่ได้ข้อมูลสินค้าพร้อมเห็นดาวระยิบระยับ รีวิวอวยสุดๆ และการโปรโมทโดยแพลตฟอร์มสวิสวิถีใหม่        นอกจากการเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย และค่าธรรมเนียมโควิด-19 ที่ร้านอาหารจะเรียกเก็บจากลูกค้าหัวละ 2 ฟรังก์ (ประมาณ 65 บาท) แล้ว คนสวิตเซอร์แลนด์จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเรื่องการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมในประเทศด้วย         ความลำบากในการจัดหาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากประเทศอื่นในช่วงของการระบาดทำให้ทั้งรัฐบาลและประชาชนชาวสวิสตระหนักและเห็นตรงกันว่าต่อไปนี้จะต้องมีนโยบายพึ่งตนเอง         นอกจากราคาสินค้าในสวิตเซอร์แลนด์จะแพงสุดๆ เพราะต้องนำเข้า (คนที่อยู่ตามชายแดนนิยมขับรถข้ามไปซื้อในออสเตรีย อิตาลี เยอรมนี และฝรั่งเศส) คนสวิสยังต้องปวดใจที่มีเงินแต่ไม่สามารถซื้อหาสินค้าจำเป็นมาใช้ได้ เพราะประเทศอื่นๆ ต่างก็ปิดชายแดนหรือเก็บสต็อกใว้ใช้เอง         การสำรวจความเห็นพบว่าร้อยละ 94 ของประชากรอยากให้อุตสาหกรรมยากลับมามีฐานการผลิตในประเทศ ร้อยละ 90 บอกว่าบริษัทเหล่านั้นควรมีสต็อกยา เวชภัณฑ์ ถุงมือ หน้ากากอนามัย หรือแม้แต่เครื่องช่วยหายใจไว้สำหรับคนสวิสด้วยขั้นตอนฝ่าวิกฤติ        โอ้คแลนด์กำลังจะเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง ปริมาณน้ำในเขื่อน 9 แห่งที่หล่อเลี้ยงเมืองนี้ลดน้อยลงทุกทีเนื่องจากปริมาณฝนลดลงไปกว่าร้อยละ 50 ตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว หากฝนยังไม่ตกในฤดูใบไม้ผลิโอ้คแลนด์จะมีน้ำใช้เพียงวันละ 200 ล้านลิตร         พวกเขาจึงเตรียมใช้มาตรการเดียวกับที่นิวซีแลนด์ใช้รับมือกับวิกฤติโควิด-19 นั่นคือการกำหนดแนวปฏิบัติที่แบ่งออกเป็นระยะ แผนประหยัดน้ำแบบ 4 เฟส ได้แก่          เฟสแรก (เริ่มเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม) ให้ทุกครัวเรือนงดการใช้สายยางหรือเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง และสมาชิกในครัวเรือนอาบน้ำฝักบัวได้คนละไม่เกิน 4 นาที โดยรวมจำกัดการใช้น้ำไม่เกินวันละ 410 ลิตร         เฟสที่สอง เพิ่มการประหยัดน้ำให้ได้วันละ 20 ลิตร และธุรกิจ/โรงงานต่างๆ ต้องลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10         เฟสสาม ประหยัดน้ำให้ได้วันละ 30 ลิตร/คน ธุรกิจ/โรงงานลดการใช้น้ำลงร้อยละ 15           เฟสสี่ ประหยัดน้ำให้ได้วันละ 40 ลิตร/คน ธุรกิจ/โรงงานลดการใช้น้ำลงร้อยละ 30เบรกเบบี้บูม         หน่วยงานด้านประชากรและการวางแผนครอบครัวของอินโดนีเซีย ซึ่งมีหน้าที่แจกจ่ายยาคุมกำเนิดให้กับคู่สมรส ระบุว่ามีผู้มารับบริการน้อยลงร้อยละ 10 หรือประมาณ 2 – 3 ล้านคนในช่วงการระบาดของไวรัสและเขาคาดการณ์ว่าร้อยละ 15 ของคนกลุ่มนี้จะตั้งครรภ์         นั่นหมายความว่าจะมีจำนวนสตรีตั้งครรภ์เพิ่มจากที่คาดไว้ก่อนหน้านี้อีก 300,000 ถึง 450,000 คนและทารกเหล่านี้จะออกมาดูโลกในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนมารับมือกับการระบาด        รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้แต่ขอร้องให้ครอบครัวงดการตั้งครรภ์ในช่วงล็อกดาวน์ แต่คำขอนี้อาจมาช้าเกินไป เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาสื่อท้องถิ่นรายงานว่าเมืองทาสิกมาลายา บนเกาะชวา มีอัตราการตั้งครรภ์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 105        แต่อีกรายงานหนึ่งบอกว่าปัญหาอาจไม่รุนแรงอย่างที่คิด เพราะผู้หญิงส่วนหนึ่งเลือกไปรับยาคุมจากหน่วยงานเอกชนเนื่องจากไม่มีทะเบียนสมรสเป็นหลักฐานในการรับยาฟรีจากรัฐบาลเธอเปลี่ยนไป         เรื่องปวดหัวของธุรกิจหลังการมาเยือนของโควิด-19 คือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ... ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมสักเท่าไร         สมาคมผู้ค้าปลีกของอังกฤษยืนยันว่าผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงหลังช่วงล็อกดาวน์ เลือกของถูกเป็นหลัก ใช้จ่ายเฉพาะของจำเป็นและออมเงินมากกว่าเดิม         ที่ประเทศจีน แม้คนจะเดินห้างมากขึ้น ช้อปออนไลน์มากขึ้น (ด้วยคูปองที่ได้รับแจกจากรัฐบาล) แต่ยอดขายสินค้าฟุ่มเฟือยที่เป็นความหวังช่วยดึงการเติบโตของการใช้จ่ายในครัวเรือนกลับลดลง         ในอเมริกาบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างเฮอร์ชีย์และคอลเกต ก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้บริโภคสนใจแต่ตัวเลือกราคาถูก ร้านสินค้าราคาประหยัดมีลูกค้าเพิ่มขึ้นและคนอเมริกันยังเลือกออมถึงร้อยละ 33 ของรายได้ เช่นเดียวกับคนยุโรปที่เพิ่มอัตราการออมจากร้อยละ 13 เป็นร้อยละ 19         รัฐบาลแต่ละประเทศจึงต้องหาทางผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ลดดอกเบี้ยเงินฝากและอัดยาแรงช่วยกู้เศรษฐกิจนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 กระแสต่างแดน

โอกาสทอง        หลุยส์ วิตตอง และชาแนล ในเกาหลีถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักเมื่อลูกค้าที่ไปต่อแถวเข้าร้านหลังพ้นช่วงล็อกดาวน์ต้องเซอร์ไพรซ์กับสินค้า “ราคาใหม่”         ค่ายแบรนด์เนมมองว่าผู้บริโภคมีเงินเหลือใช้มากขึ้นเนื่องจากไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ ชาแนลปรับราคาสินค้าในร้านขึ้นร้อยละ 7 -18 ในขณะที่หลุยส์ วิตตองก็ปรับราคาขึ้นเป็นครั้งที่สามในรอบ 7 เดือน ขึ้นอีกร้อยละ 5 - 10 เช่นกัน         นี่ยังไม่นับเรื่องความ (ไม่) รับผิดชอบต่อสังคมของค่ายหลุยส์ ที่ไม่จัดอบรมแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อลดการระบาดของไวรัสให้กับพนักงานเหมือนบริษัทอื่นๆ และเมื่อพบว่าพนักงานติดเชื้อจากการไปกินดื่มในย่านอินแทวอน ก็ยังเปิดดำเนินการต่อไปโดยไม่แจ้งให้ลูกค้าที่เข้าร้านสาขาตึกล็อตเต้เวิล์ดในช่วงที่พนักงานดังกล่าวอยู่ประจำร้าน ได้ทราบว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย           แต่เขาก็คาดการณ์ไม่ผิด ยอดขายสินค้าแบรนด์เนมหลังช่วงล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นจริงๆ     ขยะเราต้องมาก่อน        โปรตุเกสเป็นปลายทางของขยะจำนวนมากจากประเทศอื่นๆ ในยุโรป เพราะคิดค่าธรรมเนียมการจัดการขยะเพียงตันละ 11 ยูโร (ประมาณ 400 บาท) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ 80 ยูโร (ประมาณ 2,800 บาท)          แต่รัฐบาลได้ประกาศหยุดรับขยะจากต่างประเทศชั่วคราว เพื่อให้แน่ใจว่ามีศักยภาพเพียงพอต่อการรับมือกับขยะในประเทศที่เพิ่มขึ้นมหาศาลในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ชุดและอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคไปจนถึงกล่องพลาสติกใส่อาหารจากบริการเดลิเวอรี         รวมถึงลดกำลังการรีไซเคิล เพื่อไม่ให้พนักงานต้องสัมผัสกับขยะพลาสติกที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อไวรัส         ข้อมูลจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมโปรตุเกสระบุว่าในปี 2018 มีขยะจากต่างประเทศเข้ามาถึง 330,000 ตัน หนึ่งในสามถูกจัดการโดยการฝังกลบ และตั้งแต่ต้นปี 2020 โปรตุเกสปฏิเสธขยะต่างประเทศไปแล้วกว่า 246,000 ตัน  มุมทำงาน        ในเยอรมนี หากคุณมีห้องที่จัดไว้เป็น “ออฟฟิศในบ้าน” คุณจะสามารถขอลดหย่อนภาษีได้ สถิติก่อนการล็อกดาวน์ระบุว่าร้อยละ 12 ของคนเยอรมันทำงานจากบ้าน แต่ช่วงที่รัฐบาลขอให้ทุกคนอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ มีคนเยอรมันถึงร้อยละ 25 ที่ทำงานที่บ้าน และแนวโน้มนี้อาจกลายเป็น “นิวนอร์มอล”         ที่ผ่านมาร้อยละ 40 ของนายจ้างในเยอรมนีเปิดโอกาสให้พนักงานทำงานจากบ้านได้ ในขณะที่ร้อยละ 60 ของคนเยอรมันก็เห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงแรงงานที่จะให้พนักงานเลือกได้ว่าจะทำงานจากบ้านวันไหนบ้าง หรือทำทุกวันไปเลยหากลักษณะงานเอื้อให้ทำได้            สมาคมผู้เสียภาษีแห่งเยอรมนีเสนอว่าคนที่ใช้โน้ตบุ๊คนั่งทำงานที่โต๊ะกินข้าวหรือมุมใดมุมหนึ่งของบ้านควรมีสิทธิขอลดหย่อนภาษีเช่นกัน เพราะไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน การใช้ทรัพยากรน้ำ ไฟฟ้า รวมถึงการสร้างขยะก็เพิ่มขึ้นเหมือนกัน อย่างน้อยๆ ร้อยละ 20 ของค่าเช่าบ้านควรนำไปขอลดหย่อนภาษีได้     เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง        คนแคนาดาเกือบร้อยละ 50 เชื่อ “ข่าวโคมลอย” เกี่ยวกับโรคโควิด-19           การสำรวจโดยคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน ระหว่างวันที่ 5-8 พฤษภาคม ที่สอบถามคนแคนาดา 2,000 คน พบว่าร้อยละ 46 เชื่อข่าวลืออย่างน้อยหนึ่งข่าวจากข่าวที่แชร์กันทางออนไลน์มากที่สุดสี่อันดับแรก         ข่าวลืออันดับหนึ่งได้แก่รายงานที่บอกว่าต้นกำเนิดโรคนี้มาจากไวรัสที่พัฒนาขึ้นโดย “แล็บแห่งหนึ่งในประเทศจีน” ร้อยละ 26 ของคนแคนาดาเชื่ออย่างนั้น         ร้อยละ 23 เชื่อว่ายาไฮดร็อกซีคลอโรควินสามารถรักษาโรคโควิด-19 ได้ ตามที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของอเมริกาบอก         ร้อยละ 11 เชื่อว่าโรคนี้ไม่ได้ร้ายแรงอะไร อาการต่างๆ เป็นผลจากเทคโนโลยี 5G ต่างหาก ตำรวจกำลังสืบสวนว่าความเชื่อนี้เป็นเหตุให้เสาสัญญาณโทรศัพท์หลายแห่งในควิเบกถูกเผาทำลายหรือไม่         แต่ที่เด็ดสุดคือร้อยละ 57 ของคนเหล่านี้เชื่อว่าตนเองสามารถแยกแยะข่าวจริงและข่าวลวงได้   มันอยู่ในตลับ        แอสเบสทอสหรือแร่ใยหินหายหน้าจากสื่อไปนาน เพราะผู้คนตระหนักถึงอันตรายและเลิกใช้มันไปแล้ว คราวนี้มันแฝงมากับเครื่องสำอางที่มีทัลคัมเป็นส่วนประกอบ ที่สามารถหาซื้อได้ในเว็บอเมซอน         การทดสอบพบว่า อายชาโดว์ Jmkcoz 120 Colors Eyeshadow Palette  มีแร่ใยหินถึง 3.9 ล้านใยต่ออายชาโดว์1 กรัม และพบในร้อยละ 40 จาก 45 เฉดสีที่ทดสอบ           ในขณะที่อีกรุ่น ได้แก่ Jmkcoz Beauty Glazed Gorgeous Me Eye Shadow Tray Palette มีถึง 3.5 ใยต่ออ่ายชาโดว์ 1 กรัม พบในร้อยละ 20 จาก 55 เฉดสีที่ทดสอบ         ก่อนหน้านี้มีการพบแร่ใยหินใน “ชุดเมคอัป” ของเล่นเด็กมาแล้ว และในเดือนตุลาคม 2019 จอห์นสันแอนด์จอห์นสันก็ประกาศเรียกคืนแป้งเด็ก หลังจาก อย.สหรัฐพบแร่ใยหินในแป้งดังกล่าวแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจเข้าไปสะสมในปอด และผู้ที่สูดดมเข้าไปอาจไม่แสดงอาการในทันที ทั้งนี้ผู้เชียวชาญย้ำว่าไม่มี “ระดับที่ปลอดภัย” ของการรับแร่ใยหินไม่ว่าประเภทใดเข้าสู่ร่างกาย       

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 กระแสต่างแดน

ปิดช้าไป        สมาคมผู้บริโภคแห่งออสเตรีย VSV เปิดเผยว่าผู้ใช้บริการสกีรีสอร์ตในแคว้นไทโรล (อาณาเขตติดต่อกับอิตาลีและเยอรมนี) ประมาณ 400 คนกำลังเตรียมฟ้องหน่วยงานรัฐที่ดูแลแคว้นดังกล่าว ที่ไม่สั่งปิดบาร์ในรีสอร์ตแห่งหนึ่งโดยทันที หลังพบพนักงานติดเชื้อไวรัสโคโรนาในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์         สมาคมฯ กำลังรวบรวมคำให้การของพยานเพื่อการฟ้องคดีแบบกลุ่ม พวกเขามองว่าการสั่งปิดบาร์ ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวลำดับต้นๆ ล่าช้าออกไปสองสัปดาห์ เป็นเพราะความประมาทและห่วงผลประโยชน์ทางธุรกิจ         และนั่นนำไปสู่การติดเชื้อของผู้คนหลายร้อยคนจากออสเตรีย เยอรมนี อังกฤษ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก และแคนาดา          ประชากร 750,000 คนในแคว้นดังกล่าวจึงถูกกักกันตัวจนถึงวันที่ 6 เมษายน ขณะนี้ออสเตรียมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 15,000 คน และมีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 500 คน  ทำไงดีไม่มีแฟกซ์        เมื่อญี่ปุ่นประกาศภาวะฉุกเฉินและขอให้คนทำงานจากบ้าน ก็เกิดการรวมตัวกันของผู้คนที่ร้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันที         ประชากรในประเทศที่มีหุ่นยนต์ช่วยงานและแกดเจ็ตล้ำๆ กลับไม่พร้อมสำหรับการทำงานที่บ้าน เพราะสิ่งนี้ไม่เคยอยู่ในวิธีคิดของพวกเขา         ขณะที่วิถีตะวันตกแบ่งแยกภาระงานชัดเจน พนักงานจึงสามารถแยกย้ายกันไปทำได้ แต่เจแปนสไตล์นั้นคาดหวังให้ทุกคนมารวมตัวเป็นทีมที่สำนักงาน จึงไม่จำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่บ้าน แล้วไหนจะความจำเป็นต้องใช้แฟกซ์ และตราประทับส่วนตัวในเอกสารต่างๆ อีก         การสำรวจโดย YouGov พบว่ามีเพียงร้อยละ 18 ของมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นเท่านั้น ที่พร้อมทำงานที่บ้าน บริษัทที่ทำได้คือค่ายใหญ่ๆ อย่างโตโยต้าและโซนี่ ที่เหลืออีกร้อยละ 70 ซึ่งเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กยังต้องเครียดกับการปรับตัวต่อไป  ไม่ลดก็ไม่ซื้อ        จีนตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศลงให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50         ในการประมูลยาเข้าระบบสาธารณสุขปีนี้ รัฐบาลจึงกำหนดเพดานราคายาต่ำลงกว่าเดิมเกือบเท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งยา 33 ชนิดที่ใช้กันมากในประเทศ         บริษัทยาข้ามชาติที่เคยทำกำไรได้มหาศาลจากตลาดจีนจึงต้องลดราคาเพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตในท้องถิ่นได้ เช่น ไบเออร์ ต้องลดราคายารักษาโรคเบาหวานลงร้อยละ 80 หรือไฟเซอร์ที่ต้องลดราคายาลิปิเตอร์ที่ใช้ในผู้ที่มีความดันสูงลงร้อยละ 74 เช่นกัน        รัฐบาลหวังว่าการ “กดราคา” จะทำให้ยาสิทธิบัตรเหล่านี้ถูกแทนที่ด้วยยาชื่อสามัญที่จีนสามารถผลิตเองในประเทศได้อย่างแพร่หลายตั้งแต่ปี 2018          จีนต้องการลดค่าใช้จ่ายด้านยาเพื่อนำเงินไปทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาวิธีการรักษาใหม่ๆ ตกที่นั่งลำบาก        กลุ่มอุตสาหกรรมการบินในยุโรปยื่นจดหมายให้ความเห็นกับคณะกรรมาธิการยุโรปว่า มาตรการเว้นระยะห่างเพื่อลดการติดเชื้อในห้องโดยสารเครื่องบินเป็นสิ่งที่ “ไม่จำเป็น และทำไม่ได้จริง”         สิ่งที่สายการบินอย่าง แอร์ฟรานซ์ เคแอลเอ็ม และลุฟทันซา ต้องการคืออุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลสำหรับผู้โดยสาร เช่น หน้ากากอนามัย และยังบอกอีกว่ารัฐบาลแต่ละประเทศควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นธุระจัดหาและจ้างงานบุคลากรผู้เชี่ยวชาญการมาตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง         ซีอีโอของไรอันแอร์ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าจะเว้นระยะห่างระหว่างกันในเครื่องบินให้ได้ 2 เมตร เราจะต้องนั่งห่างกันถึง 7 ที่นั่ง ซึ่งถ้าทำอย่างนั้น บินเท่าไรก็ไม่พ้นภาวะขาดทุน         รอติดตามแนวปฏิบัติสำหรับสายการบินโดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้ กลางเดือนพฤษภาคมนี้ เบื่อสะสม        เมื่อต้องกักตัวอยู่ในบ้านนานๆ หลายคนก็เริ่มหันมาทำกับข้าว ทำงานบ้าน งานฝีมือ ช้อปออนไลน์  เต้นติ๊กต่อก ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ยังสู้วิธีรับมือกับความเบื่อของคนจีนไม่ได้        ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงพีคของการระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีน ยอดการใช้แอป “So Young” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสำหรับผู้นิยมการทำศัลยกรรมความงาม เติบโตขึ้นถึงร้อยละ 134 และมีคนที่ “เบื่อหน้าตัวเอง” เข้ามาปรึกษาผ่านวิดีโอคอลถึง 40,000 ราย        ข้อมูลจากแอปโซยัง ซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการศัลยกรรมความงาม ยังระบุว่า ฟังก์ชัน “บิวตี้ไดอารี” ที่เปิดให้ผู้ใช้เข้ามาบันทึกประสบการณ์การทำศัลยกรรมและการฟื้นตัวนั้นมีผู้ใช้มากขึ้น จนขณะนี้มีให้เปิดอ่านถึง 3.5 ล้านเล่ม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 กระแสต่างแดน

 งานด่วน        ยักษ์ใหญ่ในวงการผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดกำลังแข่งกันว่าใครจะส่งสินค้าที่ “สามารถฆ่าไวรัสโคโรนาได้” ออกสู่ตลาดได้ก่อนกัน         เรกคิทท์ เบนคีเซอร์ (เจ้าของแบรนด์เดทตอล) แถลงเป็นรายแรกว่าได้ซื้อสเตรนของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จากห้องปฏิบัติการอิสระมาแล้ว         ตามข้อกำหนดของยุโรปและอเมริกา ต้องมีผลการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองโดยหน่วยงานควบคุมมายืนยันว่าผลิตภัณฑ์นั้นฆ่าไวรัสได้ร้อยละ 99.99 จึงจะสามารถโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ “ฆ่าไวรัสได้”         ผลทดสอบจะออกปลายเดือนเมษายนนี้ แต่ยังต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่าหกเดือนสำหรับการทดสอบอย่างเข้มข้นโดยหน่วยงานควบคุมอีกหลายครั้ง (ซึ่งมีค่าใช้จ่ายหนึ่งถึงสองแสนเหรียญ (3.2 ล้านถึง 6.4 ล้านบาท)         ข่าวไม่ได้ระบุราคาของไวรัส แต่แหล่งข่าวคาดการณ์ว่าอีกสามค่าย (โคลร็อกซ์, ยูนิลเวอร์, และ พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล) คงจะซื้อสเตรนไวรัสสุดเฮี้ยนนี้มาแล้วเช่นกันคนจีนไม่ถูกใจสิ่งนี้        เป็นธรรมเนียมปกติสำหรับศิลปินดาราจีนที่จะต้อง “แทนคุณแผ่นดิน” ที่ผ่านมามีหลายคนมอบเงินบริจาคเพื่อสู้กับวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น ชาวเน็ตจึงรวบรวมรายชื่อดาราและเงินบริจาคมาแชร์กันในโลกออนไลน์        งานนี้หลายคนได้รับการชื่นชมมาก เช่น เจย์ โชว์และภรรยาที่บริจาคให้มูลนิธิแห่งหนึ่งในมณฑลหูเป่ยเป็นเงิน 3 ล้านหยวน (13.7 ล้านบาท) หรือเจ้าเปิ่นชาน เจ้าพ่อแห่งวงการบันเทิงที่บริจาคให้กับเทศบาลเมืองอู่ฮั่นถึง 10 ล้านหยวน ( 45.8 ล้านบาท)         แต่บางรายโดนถล่มยับเพราะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของชาวจีน เช่น หวงเสี่ยวหมิงและภรรยา ที่มอบเงินให้มูลนิธิแห่งหนึ่ง 200,000 หยวน (917,000 บาท)         โดนหนักที่สุดคือ คริสตัล หลิว นางเอกภาพยนตร์เรื่องมู่หลาน นอกจากถูกหาว่าขี้เหนียวเพราะบริจาคแค่ 200,000 หยวนแล้วเธอยังโดนประณามว่า “ไม่มีสำนึกรักบ้านเกิด” ด้วย  ไหนว่าไม่มี        คอนแทค เอนเนอร์ยี ผู้ประกอบการด้านพลังงานที่ใหญ่เป็นอันดับสองของนิวซีแลนด์ถูกสั่งปรับเป็นเงิน 245,000 เหรียญ (4.8 ล้านบาท) เนื่องจากทำผิด พ.ร.บ.การค้าที่เป็นธรรม ถึงเจ็ดข้อหา          บริษัทยอมรับผิดกรณีที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญของโปรโมชัน Fuel Rewards Plans ในปี 2017 ที่โฆษณาว่าลูกค้าจะได้ส่วนลดลดค่าน้ำมัน 10 ถึง 50 เซนต์ต่อลิตรทุกเดือน และยังคำนวณให้ด้วยว่าใครที่เลือกโปรฯ แบบหนึ่งปีจะประหยัดเงินได้ถึง 180 เหรียญ (3,500 บาท) สิ่งที่ไม่บอกให้ชัดคือ ผู้บริโภคมีสิทธิได้ส่วนลดที่ว่านี้เพียงเดือนละครั้ง และจำกัดที่ไม่เกิน 50 ลิตรแต่ที่น่าตีที่สุดคือบริษัทยังมั่นหน้าชูสโลแกน “ไม่ตุกติก ไม่ต้องรอ ไม่มีเซอร์ไพรซ์”          คณะกรรมการพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการฟ้องบริษัทนี้บอกว่า การกระทำเช่นนั้นส่งผลให้ผู้บริโภคลดความระมัดระวังในการอ่านเงื่อนไขตัวเล็กๆ ก่อนตัดสินใจ น้องหมางานเข้า        มาตรการล็อกดาวน์ในสเปนที่สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้คนไม่สามารถออกมาสูดอากาศนอกบ้านได้เลย          เฉพาะคนที่มีสุนัขเท่านั้นที่ได้สิทธิพามันออกมาเดินเล่นในระยะเวลาสั้นๆ ให้มันได้ทำธุระส่วนตัว         แต่คุณจะพากันออกมาทั้งครอบครัวไม่ได้ เขาให้โควตาน้องหมาหนึ่งตัวต่อคนจูงหนึ่งคน นอกจากจะต้องมีถุงเก็บมูลสุนัขแล้ว คนจูง (ซึ่งต้องจูงสุนัขตลอดเวลา) ต้องเตรียมน้ำยาทำความสะอาดละลายน้ำใส่ขวดมาราดทำความสะอาดบริเวณที่สุนัขอึหรือฉี่ด้วย         เมื่อใครๆ ก็อยาก “จูงน้องหมา” ความฮาจึงบังเกิดในโลกโซเชียล... เราได้เห็นคลิปชายคนหนึ่งแอบจูงตุ๊กตาน้องหมาออกมานอกบ้าน หรือคุณพ่อที่จับลูกสาวแต่งเป็นดัลเมเชียนเพื่อจะพาเธอไป “เดินเล่น”         เรายังได้เห็นโฆษณา “ให้เช่าสุนัข” และภาพล้อเลียนที่น้องหมาในสภาพอิดโรยกำลังโอดครวญว่า “วันนี้แม่พาผมเดินไป 38 รอบแล้วนะ”  พักหรูสู้โควิด        หลายโรงแรมอาจเลือกปิดกิจการชั่วคราวในช่วงการระบาดของโควิด-19 แต่ไม่ใช่ที่โรงแรม Le Bijou ในเมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์         โรงแรมแห่งนี้เสนอ “แพ็คเกจสุดหรู ที่ควรคู่กับการกักตัวเพื่อป้องกันการแพร่ไวรัสโคโรนา” ที่นอกจากห้องพักหรูเลิศ ซาวนาและยิมส่วนตัวแล้ว คุณยังสามารถเลือกบริการเสริมต่อไปนี้ได้ตามใจชอบ          มาดูกันว่าคุณชอบค่าใช้จ่ายของแต่ละบริการหรือไม่         บริการตรวจหาเชื้อไวรัส  500 ฟรัง (17,000 บาท)  การเยี่ยมโดยพยาบาลวันละสองครั้ง 1800 ฟรัง (61,000 บาท)  หรือออปชันแบบมีพยาบาลส่วนตัวดูแล 24 ชั่วโมง 4,800 ฟรัง (164,000 บาท)         รวมๆ แล้ว ถ้าคุณพักที่นี่จนครบช่วงเวลากักตัว 14 วัน ก็เตรียมควักกระเป๋าอย่างน้อย 80,000 ฟรัง (2.7 ล้านบาท)  โอ... มันช่างเป็นประสบการณ์ที่เลอค่าจริงๆ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 กระแสต่างแดน

หยุดมลพิษปรอท        แอนดริว เลวิทัส ผู้กำกับภาพยนตร์ “Minamata” เรียกร้องให้ออสเตรเลียหยุดเพิกเฉยต่อปัญหาพิษปรอทในสิ่งแวดล้อมทั้งๆ ที่ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะเมื่อ 7 ปีก่อน        ภาพยนตร์เรื่องนี้เกี่ยวกับการเปิดโปงให้โลกได้รับรู้สิ่งที่เกิดกับผู้คนในหมู่บ้านชาวประมงแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของญี่ปุ่น โดยยูจีน สมิธ (รับบทโดย จอหน์นี่ เดปป์) ช่างภาพของนิตยสาร Life ที่เสี่ยงตายเข้าไปถ่ายภาพเหยื่อ “โรคมินามาตะ” เมื่อปี 2514        ตัวการที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียที่มีสารปรอทลงสู่อ่าวมินามาตะก็คือโรงงานสารเคมีชิสโสะ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บริเวณนั้นนั่นเอง        ที่น่าเศร้าคือแม้จะพบโรคดังกล่าวตั้งแต่ปี 2499 แต่กลับต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าบริษัทชิสโสะจะยอมชดเชยเยียวยาให้กับเหยื่อ 10,000 กว่าราย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีคนที่ยังไม่ได้รับการชดเชย        สารปรอทส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหายใจ ระบบย่อย และระบบภูมิคุ้มกัน รวมถึงทำให้เกิดโรคไตและโรคหัวใจด้วย ขณะที่ทารกในครรภ์ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดมาพร้อมความผิดปกติและอาจมีไอคิวต่ำ        เลวิทัสกล่าวในเทศกาลภาพยนตร์เบอลินว่าเขาหวังว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะสร้างกระแสให้คนออสซี่ลุกขึ้นมากดดันให้รัฐบาลออสเตรเลียจัดการกับปัญหามลพิษปรอทโดยด่วน        ออสเตรเลียมีการปล่อยสารปรอทเข้าสู่สิ่งแวดล้อมปีละ 18 ตัน หากคิดเฉลี่ยต่อหัวประชากร อัตราการได้รับปรอทของคนออสเตรเลียสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึงสองเท่า ส่วนใหญ่เป็นการรับปรอทเข้าสู่ร่างกายผ่านอาหารทะเลและปลาแม่น้ำ (สถิติการบริโภคอาหารทะเลของคนออสซี่ก็สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเช่นกัน)        นอกจากนี้ปรอทยังเป็นผลพลอยได้จากโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน และปัจจุบันยังถูกใช้ในสารเคมีฆ่าเชื้อราในต้นอ้อยด้วย           หมายเหตุ ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอทเช่นกันเตรียมลงดาบ        คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลีย ACCC ประกาศว่าปีนี้จะจับตาและลงดาบธุรกิจรับจัดงานศพ หลังพบว่าเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอมานาน        ธุรกิจรับจัดงานศพในออสเตรเลียซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 1,600 ล้านเหรียญ (ประมาณ 33,000 ล้านบาท) ทั้งๆที่มีผู้ประกอบการน้อยราย มักถูกร้องเรียนเรื่องค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมและการผิดสัญญากับลูกค้า           ปลายปีที่แล้ว InvoCare ถูกเปิดโปงโดยนิตยสาร CHOICE ว่าเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมการชำระเงินเกินเวลา” ทั้งๆ ที่ลูกค้าจ่ายเงินตรงเวลา        บริษัทนี้เป็นบริษัทแม่ของธุรกิจงานศพอีกสองแบรนด์ (White Lady Funerals และ Simplicity Funerals) รวมถึงแบรนด์อื่นๆ ในแต่ละรัฐของออสเตรเลียอีก 40 แบรนด์ ในปี 2561 InvoCare จัดงานศพ 36,000 งาน ทำรายได้ไป 290 ล้านเหรียญ (ประมาณ 5,900 ล้านบาท)        อีกเรื่องที่ ACCC ต้องตั้งรับคือการหาผลประโยชน์จากวิกฤติ เช่น การระดมทุนทางโซเชียลมีเดียเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไฟป่า หรือผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา รวมถึงพวกที่กักตุนหน้ากากอนามัยไว้ขายเกินราคาด้วยบริการเสริมจากไปรษณีย์        แม้การส่งจดหมายจะลดลงเช่นเดียวกับที่อื่นๆ ในโลก แต่ไปรษณีย์ฝรั่งเศส (La Poste) ยังไปได้สวยด้วยบริการ V.S.M.P หรือบริการเยี่ยมผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง          นอกจากส่งจดหมายหรือพัสดุแล้ว พนักงานไปรษณีย์จะเข้าไปเยี่ยมผู้สูงอายุในบ้าน ถามสารทุกข์สุกดิบ นำยาตามใบสั่งแพทย์มาส่ง ช่วยสั่งซื้อของออนไลน์ นำหนังสือไปคืนห้องสมุด ซ่อมแซมปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในบ้าน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ด้วยค่าบริการรายเดือน 37.90 ยูโร (ประมาณ 1,300 บาท)        พนักงานจะบันทึกข้อมูลต่างๆ ลงในแอป และเมื่อผู้รับบริการพอใจแล้ว (ส่วนมากใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที) ก็จะลงชื่อในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นระบบจะแจ้งความคืบหน้าไปยังลูกหลาน          บริการนี้มาได้ถูกที่ถูกเวลา ขณะที่คนวัยหนุ่มสาวต้องย้ายถิ่นฐานไปหางานทำในเมืองใหญ่ ตามเมืองเล็กๆ ก็มีคนอายุมากกว่า 75 ปีอีกหลายล้านคนอยู่บ้านคนเดียว และใน 15 ปีข้างหน้า ประชากรหนึ่งในสามของฝรั่งเศสจะมีอายุมากกว่า 60 ปี        จุดเริ่มของโครงการนี้คือเหตุการณ์คลื่นความร้อนเมื่อ 7 ปีก่อน เมื่อรัฐบาลขอความร่วมมือจากที่ทำการไปรษณีย์ท้องถิ่นให้ส่งพนักงานออกไปตรวจเช็คความปลอดภัยของผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียว ต่อมาบริการนี้ได้รับความสนใจจากบริษัทประกันและเทศบาลท้องถิ่นว่าจ้างให้ทำงานแทนให้ และตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมาก็พัฒนามาเป็นบริการผ่านแอปฯ สำหรับคนทั่วไป        La Poste ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นองค์กรร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนเมื่อ 10 ปีก่อน มีจดหมายให้ส่งน้อยลงเกือบ 8,000 ล้านฉบับ ปัจจุบันรายได้บริการนี้เป็นเพียงแค่ร้อยละ 28 ของรายได้รวมเท่านั้น        ข่าวร้ายสำหรับคนที่ยังรักจดหมาย ปีนี้ค่าแสตมป์ภายในประเทศปรับขึ้นจาก 78 เป็น 86 เซนต์ (ประมาณ 30 บาท) แล้ว

อ่านเพิ่มเติม >