ฉบับที่ 128 กลรักลวงใจ : เมนูบุฟเฟ่ต์ของเจ้าหญิงในเทพนิยาย

  เมื่อสักสองเดือนก่อน ผมได้มีโอกาสคุยผ่านทางโลกออนไลน์กับ บก. นิตยสารฉลาดซื้อ และ บก. ได้ปรารภขึ้นมาว่า ช่วงนี้กระแสของละครโทรทัศน์บ้านเรากำลังมาแรงเสียเหลือเกิน ผมจะสนใจลองเปลี่ยนสลับมาเขียนวิจารณ์หรือเชิญชวนให้คุณผู้อ่านได้รู้เท่าทันละครโทรทัศน์กันบ้างหรือไม่ ผมก็ได้ตกปากรับคำคุณ บก. เธอไปว่าจะเริ่มต้นจากนิตยสารฉลาดซื้อฉบับนี้ก็แล้วกัน  ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงขออนุญาตสลับฉากสลับอารมณ์ของคุณผู้อ่านมาวิเคราะห์ละครโทรทัศน์กันบ้าง โดยเลือกเรื่อง “กลรักลวงใจ” ที่หลายคนหลายบ้านติดกันงอมแงมในขณะที่ผมกำลังนั่งปั่นต้นฉบับส่งกอง บก. ชิ้นนี้ ก็เพราะทั้งความน่ารักของคุณเจนนี่ในบทของบัวระวง และความหล่อเหลาของคุณเคนธีรเดชในบทของพี่รัญ กับทัศนียภาพวิวสวยๆ ในดินแดนฝันอย่างกรุงปรากของสาธารณรัฐเชค  อันที่จริง โครงเรื่องของละครนั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก เป็นเรื่องราวสไตล์โรแมนติกคอมเมดี้ของบัวระวงลูกสาวเศรษฐีโรงงานซีอิ๊วที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย กับเลขานุการเอกอัครราชทูตหนุ่มไทยประจำกรุงปรากอย่างพี่รัญ ทั้งคู่ได้ถูกทางบ้านจับคลุมถุงชนกับคนที่ตนเองไม่ได้รู้จักรักกันมาก่อน น้องบัวเธอก็เลยต้องระเห็จปลอมตัวมาเป็นสาวขายบริการ เพื่อไปรับจ้างเป็นภรรยาของพี่รัญถึงอีกฟากหนึ่งของโลก  ด้วยความที่บัวระวงเธอทั้งสวย ฉลาดหลักแหลม และเป็นแม่ศรีเรือนที่ดี จึงทำให้พี่รัญแอบหลงรักเธอตั้งแต่แรกเห็นเป็น “love at the first sight” แต่ทว่า กว่าที่ทั้งคู่จะฝ่าด่าน “กลรัก” มากมายที่มา “ลวงใจ” ได้นั้น ก็ต้องมีบททดสอบจากผู้คนรอบข้างเพื่อพิสูจน์ว่า “รักแท้” ต้องมาจากการพิสูจน์ของชายหญิงเท่านั้น แม้ว่าโดยธีมหลักของเรื่องจะเป็นการเปิดโปงให้ผู้ชมเห็นว่า มนุษย์เราทุกวันนี้ ไม่ใครก็ใคร หรือแม้แต่จะเป็นพ่อแม่ลูกและญาติพี่น้องผองเพื่อนกันเอง ก็ไม่ได้แปลว่า คนเหล่านั้นจะปลอดจากการเสกสรรปั้นแต่งหน้ากาก “กลลวง” มาล่อหลอกจิตใจของกันและกัน แต่อีกด้านหนึ่ง ละครเรื่องนี้ก็ยังได้สะท้อนให้เห็นกลวิธีตัดสินใจของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะบรรดาผู้หญิงชนชั้นกลางยุคนี้ ว่า เมื่อพวกเธอต้องมาเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่รุมล้อมรอบตัว เธอเหล่านั้นจะกากบาททับตัวเลือกทางเดินชีวิตเยี่ยงไร  ก็แบบเดียวกับบัวระวง ที่พอถูกจับคู่คลุมถุงชนกับลูกชายรัฐมนตรีที่เธอไม่ได้เลือกเองอย่างฉัตรชัย แถมเขายังเป็นผู้ชายที่เจ้าชู้เป็นเบอร์หนึ่ง เธอเองก็เลือกกากบาทที่การหลบลี้หนีปัญหาไปตามล่าหาชายในฝันแบบพี่รัญ ซึ่งเธอเองเคยแอบหลงรักมาตั้งแต่ครั้งเมื่อเป็นวัยรุ่น  หนีแล้วก็ไม่หนีเปล่า...บัวระวงก็ได้พาผู้ชมเข้าไปชิม “บุฟเฟ่ต์ยำใหญ่” ของการ “ตัดแปะ” ผสมเอา fairy tales เรื่องนั้นเรื่องนี้ มาสร้างเป็นจินตนิยายแบบที่เธอเองจะได้สนุกสนานจากการหลบเร้นหนีปัญหานั้นไปเสียเลย  เริ่มตั้งแต่ที่หญิงสาวเก็บกระเป๋าออกจากคฤหาสน์โรงงานซีอิ๊วไปเป็นคุณโดโรธีที่ “follow the yellow line” บินลัดฟ้าตามกระต่ายไปสู่ดินแดนมหัศจรรย์แห่ง Oz ที่ไกลโพ้นถึงกรุงปราก ที่บรรยากาศก็ช่างดูไม่แตกต่างจากเทพนิยายแฟนตาซีแต่อย่างใด  และถ้าจะให้ดูเป็นเทพนิยายจริง ๆ แล้ว “Beauty” แบบน้องบัวระวง ก็ต้องไปพบกับเจ้าชายในฝันที่รูปหล่อเลิศเลอเพอร์เฟ็ค (หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นเจ้าชายที่หาได้ยากยิ่งในโลกความจริง) ซึ่งเลขานุการหนุ่มของท่านทูตไทยอย่างคุณพี่รัญก็คือเขาคนนั้นที่เป็น “The Best” ของ “Beauty” อย่างน้องบัว   ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจ ที่ในเทพนิยายแบบนี้ บัวระวงก็ต้องจำแลงกายอีกครั้งเป็นคุณอลิซผู้ท่องวันเดอร์แลนด์ ควงแขนพี่รัญพากันเดินเที่ยวชมทัศนียภาพของกรุงปรากโดย “ไม่สนสายตาใคร” ไล่เลาะกันเรื่อยไปตั้งแต่ย่านโอลด์ทาวน์สแควร์ ผ่านสะพานชาร์ลส์บริดจ์ ไปจนถึงปราสาทแห่งปรากที่มองเห็นแม่น้ำไหลผ่านอยู่ไกลๆ  เมื่อท่องเที่ยวเป็นอลิซอินวันเดอร์แลนด์แล้ว บัวระวงก็มาเป็นซินเดอเรลล่าคอยทำงานบ้าน ปรนนิบัติพัดวี กวาดบ้านถูบ้าน ซักผ้า ล้างถ้วยล้างชาม และสร้างสรรค์เมนูอาหารตำรับนานาชาติมาบำรุงบำเรอพระเอกหนุ่มเลขาท่านทูต  เพราะฉะนั้น ถ้าไม่นับฉากการเดินท่องเที่ยววนรอบกรุงปรากกันแล้ว บัวระวงก็มักจะปรากฏกายในชุดคอสตูมผ้ากันเปื้อน และสาละวนอยู่กับการใช้ชีวิตในห้องครัว รังสรรค์เมนูนานานาชนิดอยู่ตลอดเวลา  และเมื่อ “พ่อแง่” มาเจอกับ “แม่งอน” ในดินแดนในฝันแบบนี้ ที่จะขาดเสียไม่ได้เลย ก็ต้องมีฉากประเภทที่บัวระวงในอารมณ์งอนง้อพี่รัญ และหนีออกไปจากบ้าน จนไปพานพบกับคนร้ายหรือบรรดาปีศาจที่จะเข้ามาทำมิดีมิร้ายกับเธอ และก็ต้องเป็นเจ้าชายอย่างพี่รัญนั่นแหละที่เข้ามาช่วยเธอจัดการกับเจ้าปีศาจเพื่อพิสูจน์ว่ารักแท้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว  รวมไปถึงฉากคลาสสิคแบบที่พี่รัญอาบน้ำอยู่แล้วบังเอิญทำสบู่เข้าตา ก็ต้องเป็นบัวระวงนี่เองที่เอาน้ำมาล้างตาให้เขา และแอบสำรวจตรวจสอบเรือนร่างของเจ้าชายหนุ่มที่กำลังสรงสนานอยู่นั้น และไหนๆ ก็สร้างแฟนตาซีในฝันกันมาเสียขนาดนี้ ถ้าจะให้ครบเรื่องกันแล้ว ละครก็ต้องสร้างตัวละครผู้หญิงที่ร้ายกาจอย่างอ้อมคู่หมั้นของพี่รัญขึ้นมา ให้เป็นประหนึ่งนางแม่มดที่คอยหาเรื่องหาราวสโนว์ไวท์บัวระวงกับเจ้าชายรัญรูปงามไม่ให้ “they live happily ever after” กันได้ง่าย ๆ จนกว่าจะถึงตอนจบ กว่าที่สโนว์ไวท์บัวระวงจะฝ่าด่านแม่มดอ้อมตัวร้ายไปได้ เธอก็แทบจะงอมพระรามกันไปเลย เพราะบังเอิญในโลกจินตนาการนั้น สโนว์ไวท์กลับลืมพาบรรดาเพื่อนคนแคระทั้งเจ็ดมาเป็น “ตัวช่วย” ไปเสียนี่ ก็เลยต้องเป็นเธอเองที่ประมือกับนางแม่มดกันโดยตรง  “กลรัก” ที่ “ลวงใจ” ของน้องบัวระวงและพี่รัญนั้น ดูแล้วช่างไม่แตกต่างจากการซื้อตั๋วไปดู “ฮอลิเดย์ออนไอซ์” ที่ผู้สร้างบทได้ “ตัดแปะ” ปรุงบุฟเฟ่ต์เจ้าหญิงในเทพนิยายหลาย ๆ เรื่องที่ลากพาผู้หญิงชนชั้นกลางให้หลีกหนี มากกว่าจะหันกลับไปเผชิญกับปัญหาในชีวิตจริง และที่สำคัญ ยิ่งผู้หญิงกลุ่มนี้หนีจากปัญหาไปมากเท่าไร เธอก็จะยิ่งรู้สึกสนุกสนานกับการท่องโลกแฟนตาซีกันไปอย่างไม่สิ้นไม่สุด ดูชีวิตหญิงชนชั้นกลางแบบบัวระวงที่เลือก “หลบหนี” ปัญหาไปเช่นนี้แล้ว ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่า แล้วถ้าเป็นกรณีของผู้หญิงชายขอบบ้างล่ะ เมื่อพวกเธอต้องเผชิญกับปัญหาในชีวิต เธอจะเลือกสร้างเทพนิยายท่องวันเดอร์แลนด์หรือไม่ หรือเธอจะเลือกครวญเพลงว่า “ก็ฉันเองก็เป็นหมือนคนอื่นทั่วไป ไม่ใช่ดังเจ้าหญิงในนิยาย”…???

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 127 เวทีนี้ไม่มีแพ้คัดออก

  เมื่อวันก่อน ขณะที่ผมกำลังเผชิญชะตากรรมรถติดเป็นแพอยู่บนท้องถนนของกรุงเทพมหานครอยู่นั้น ผมได้เหลือบไปเห็นป้ายสติ๊กเกอร์ท้ายรถแท็กซี่คันหนึ่ง เขียนข้อความว่า “ไม่ต้องเร่ง...กูก็รีบ”  ผมอ่านสติ๊กเกอร์แผ่นนั้นไป ก็ขำไป ทำไมมนุษย์เราช่างมีอารมณ์ขันจนสร้างสรรค์ข้อความเสียดสีล้อเลียนบรรยากาศที่เกิดทุกช่วงเช้าและเย็นในเมืองหลวงของเรากันได้ขนาดนี้???  แต่ในขณะเดียวกัน แผ่นสติ๊กเกอร์ก็สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งด้วยว่า สังคมไทยทุกวันนี้ น่าจะทำให้มนุษย์เราอยู่ในวังวนของ “การแข่งขัน” ที่จะเอาชนะกันอย่างสูง แข่งขันกันในภาระหน้าที่การงาน แข่งกันกินแข่งกันอยู่ แข่งกันดังแข่งกันเด่น แข่งกันในทุกที่ทุกเวลา ไม่วายเว้นแม้แต่จะแข่งขันเร่งรีบกันอยู่บนท้องถนนขนาดนี้  แต่อย่างไรก็ดี คำว่า “แข่งขัน” ที่แปลว่า ต่อสู้ช่วงชิงชัยเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง และเพื่อจะไม่เราต้องกลายเป็น “the weakest link” ที่จะถูก “กำจัดจุดอ่อน” ออกไปเช่นนี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่นิยามเดียวที่ผูกขาดความหมายของคำว่า “การแข่งขัน” เสมอไปนะครับ ในระบบวิธีคิดของคนไทย เรายังมีชุดความหมายอื่นๆ ของคำว่า “แข่งขัน” ได้อีกเช่นกัน ในโฆษณาน้ำอัดลมอัดกระป๋องยี่ห้อหนึ่ง ได้ผูกเล่าเรื่องราวการแข่งขันประชันเสียงดนตรีร็อคของคนสองกลุ่มเอาไว้ กลุ่มแรกเป็นคณะนักดนตรีร็อคชื่อก้องอย่างวงบอดี้สแลม ที่นำโดยพี่ตูนและคณะ กับอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่นำโดยดาราหนุ่มสุดหล่ออย่างน้องเก้าจิรายุและผองเพื่อน  เปิดฉากมา พี่ตูนและคณะนักดนตรีบอดี้สแลมเดินทางมาที่เขาชนไก่ พร้อมอาวุธเครื่องดนตรีครบมือ และระหว่างทางนั้น ทั้ง 4 ชีวิตก็มาพานพบเจอกับกลุ่มศิลปินรุ่นน้องอีก 4 คนที่ดักรออยู่  จากนั้น เสียงดนตรีร็อคก็ดังกระหึ่มขึ้น เมื่อศิลปินทั้งสองกลุ่มต่างประชันกันด้วยอาวุธในมืออย่างเป็นพัลวัน ไม่ว่าจะเป็นการดีดกีต้าร์ไฟฟ้า การรัวไม้กลองห้ำหั่น หรือการกระหน่ำยิงเสียงดนตรีใส่กัน ประหนึ่งการโคจรมาเจอกันในสนามเล่นบีบีกันยังไงยังงั้น  ต่างฝ่ายต่างวิ่งหลบเข้าหลังบังเกอร์บ้าง หลบหลังกำแพงอิฐบ้าง ในหลืบตึกบ้าง หรือหลบอยู่หลังหอคอยกระโดดสูงบ้าง พร้อมๆ กับที่ทุกชีวิตต่างก็สาดกระสุนตัวโน้ตดนตรีร็อคกระจายไปทั่วสนามฝึกที่เขาชนไก่ หลังจากที่พี่ตูนและน้องเก้าหลบออกมาจากหลังบังเกอร์กำแพงแล้ว ต่างก็รัวกีตาร์ไฟฟ้าสาดห่ากระสุนตัวโน้ตเข้าใส่กัน ศิลปินรุ่นพี่ใช้ไหวพริบหลอกล่อรุ่นน้องวิ่งตามไปจนติดกับบ่วงเชือกที่กระตุกขาของเขาขึ้นไปห้อยติดอยู่บนต้นไม้ ก่อนที่พี่ตูนจะยกนิ้วเป็นสัญญาณว่า “เป็นต่อ” อยู่ในขณะนั้น   ภาพตัดมาที่พี่ตูนและศิลปินบอดี้สแลมทั้งวงวิ่งตรงมายังเวทีคอนเสิร์ตกลางแจ้ง พี่ตูนกระโดดขึ้นไปบนเวทีและเตรียมเริ่มต้นการแสดงของพวกเขา แต่ปรากฏว่าสี่เท้ายังรู้พลาด นักดนตรีร็อคยังรู้พลั้ง พี่ตูนของมิตรรักแฟนเพลงกลับเผลอลืมหยิบปิ๊กเล่นกีตาร์ไฟฟ้าขึ้นมาเวทีเสียนี่  น้องเก้าจิรายุที่คราวนี้มายืนเชียร์อยู่ด้านล่างเวที ก็เลยเปิดฝากระป๋องน้ำอัดลม แล้วโยนฝาขึ้นไปบนเวที ให้พี่ตูนได้ใช้แทนปิ๊กเล่นกีตาร์ ก่อนโฆษณาจะจบลงด้วยภาพศิลปินทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องโดดขึ้นไปร่วมแจมดนตรีกันบนเวทีอย่างมีความสุข  ในขณะที่คนเราทุกวันนี้อาจจะรับรู้ว่า “การแข่งขัน” ก็คือ การพยายามเอาชนะหรือห้ำหั่นกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แต่ทว่า ความหมายอีกชุดหนึ่งของ “การแข่งขัน” แบบในโฆษณา ก็อาจจะแปลความได้ด้วยว่า เป็นการประชันฝีมือ ลับเหลี่ยมลับคมอย่างมีมิตรภาพ  บนเวทีของระบบการผลิตแบบทุนนิยมสมัยใหม่นั้น พยายามทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่า วิธีคิดเรื่อง “การแข่งขัน” นั้นมีอยู่เพียงความหมายเดียว นั่นคือ ในสนามแข่งขันนั้น “ม้าตัวสุดท้าย” ต้องถูกคัดออกเสมอ เพราะฉะนั้น หากใครก็ตามคิดจะมาลงแข่งขันกันในสนามของระบบนี้แล้วล่ะก็ ต้องพยายามถีบตัวเองให้เป็นเบอร์หนึ่งที่เข้าวิน และต้องทำทุกวิถีทางแม้จะต้องห้ำหั่นทำลายกันเพื่อไม่ให้ตนตกเป็น “ม้าตัวสุดท้าย” ที่จะวิ่งเข้าสู่เส้นชัยในการแข่งขัน  แต่ทว่า ในอีกแง่หนึ่ง หากเราย้อนกลับยังวิถีการผลิตของสังคมในยุคก่อนทุนนิยมแล้วนั้น คำว่า “การแข่งขัน” อาจมิได้เป็นไปเพื่อการประหัตประหารกันและกันให้ม้วยสิ้นไปข้างหนึ่ง ตรงกันข้าม การแข่งขันถือเป็นกิจกรรมทางสังคม เพื่อลับเหลี่ยมลับคมลับฝีมือกันมากกว่าจะทำลายกัน  ตัวอย่างศิลปินในสมัยก่อนนั้น กว่าที่จะมีชื่อเสียงขจรขจายขึ้นมาได้ พวกเขาไม่ใช่แค่จะร่ำเรียนฝึกฝนความรู้อยู่กับตัวเองเท่านั้น แต่พวกเขามักจะชอบออกตระเวนท่องยุทธภพไปแสวงหาความรู้และฝึกฝนประชันกับศิลปินที่มีความสามารถสมน้ำสมเนื้อหรือพอเหมาะพอฝีมือกัน   ด้านหนึ่ง การออกไปตระเวนร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำของบรรดาศิลปินโบราณ ก็เพื่อสานมิตรสร้างเครือข่ายของศิลปินด้วยกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็คงเป็นเพราะว่า การได้ประชันฝึกฝีมือกับศิลปินคนอื่น ๆ ก็เหมือนกับการเอามีดไปฝนลับกับหิน ยิ่งลับก็จะยิ่งคมมากขึ้นเรื่อยๆ  ก็เหมือนกับศิลปินร่วมสมัยรุ่นพี่รุ่นน้องที่อยู่ในโฆษณานั่นแหละครับ ที่นานๆ ครั้งก็ต้องมีจังหวะท้าดวลท้าประลองดนตรีร็อคกันให้สนั่นภูเขา ทั้งนี้ก็เพราะฝีมือกีตาร์ไฟฟ้ากับการรัวไม้กลองดนตรีนั้น จะ “คม” ขึ้นไม่ได้เลย หากขาดการ “ลับ” ฝีมืออยู่เป็นเนืองๆ  ไหวพริบ ลีลา และตัวโน้ตที่บรรเลง จึงต้องมาจากการฝึกฝนกันอยู่ในสนามประลอง ผลัดกันรุกผลัดกันรับ หรือแม้แต่การพลาดท่าติดบ่วงเชือกไปห้อยอยู่บนต้นไม้ ก็เป็นบทเรียนที่ดีของศิลปินรุ่นน้องที่จะใช้ความผิดพลาดเป็นครูที่ดี ก่อนจะขึ้นเวทีเติบใหญ่เป็นศิลปินที่เข้มแข็งในอนาคต  และที่สำคัญ หลังจากสาดกระสุนตัวโน้ตกันจนเขาชนไก่แทบแตกแล้ว เกมจบก็คือการแข่งขันก็ต้องจบลงเช่นกัน เพราะเป้าหมายของการประชันในเกมนี้ก็คือ การสร้างสายสัมพันธ์และมิตรภาพ มิใช่การพยายามทำลายล้างกันและกันจนราบกันไปทุกๆ ฝ่าย “ไม่คิดจะลงแข่ง แย่งความเป็นหนึ่ง ไม่ดึงดันกับใคร...” แบบที่โฆษณาน้ำอัดลมก็บอกเราด้วยว่า หากทุกวันนี้ เราลองย้อนกลับไปหาความหมายเก่าๆ ความหมายดีๆ ของ “การแข่งขัน” แบบที่เคยมีมาในอดีตบ้าง ต่อไปสติ๊กเกอร์ท้ายรถแท็กซี่ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นเขียนข้อความใหม่ว่า “คุณไม่เร่ง...ผมก็เลยไม่รีบ” เพราะเวทีนี้เขาไม่มีการแพ้คัดออกกันอีกแล้ว  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 ดีใจจัง…คนข้างหลังก็บ้านเฮา

  “เมือง” เป็นคำที่มีความหมายหลายด้านด้วยกัน บ้างก็ว่าเมืองเป็นดินแดนแห่งความทันสมัยและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ บ้างก็ว่าเมืองเป็นศูนย์รวมแห่งอารยธรรมอันล้ำยุคล้ำสมัย บ้างก็ว่าเมืองเป็นสถานที่แหล่งทำกินของคนจำนวนมากมายมหาศาล   แต่ที่แน่ๆ คำตอบอีกหนึ่งข้อของความเป็น “เมือง” ก็คือ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยสภาวะแปลกแยกและสายสัมพันธ์อันเปราะบาง   กล่าวกันว่า นับแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ผลพวงหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ทำให้เกิดเมืองใหญ่ๆ ขยายตัวออกไปอย่างมากมาย และเมื่อเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายตัว เมืองเหล่านั้นก็ต้องการแรงงานปริมาณมหาศาล ที่จะมาเป็นปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน   ด้วยเหตุดังกล่าว เมืองต่างๆ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างถิ่น โดยเฉพาะจากชนบท เพื่อเข้ามาหมุนฟันเฟืองการผลิตในสังคมเมือง อันเป็นที่มาของการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนจากชายขอบ เข้าสู่ศูนย์กลางของเมืองใหญ่ จนทำให้เมืองยิ่งโตวันโตคืน แต่ชนบทก็ยิ่งโทรมลงๆ   ปรากฏการณ์เดียวกันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากกรณีของสังคมไทยเท่าใดนัก ภายหลังจากที่เมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานครและอีกหลายๆ มุมเมืองขยายตัวขึ้นมา ชุมชนเมืองใหม่เหล่านี้ก็กลายเป็นแหล่งรองรับการอพยพของแรงงานพลัดถิ่น ที่ละทิ้งภาคชนบทเพื่อเข้ามาแสวงหาความเจริญก้าวหน้าในส่วนกลาง ริ้วรอยเช่นนี้ปรากฏอยู่ในโฆษณาโทรทัศน์ ที่โปรโมทขายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่ง กับพรีเซ็นเตอร์ดาราหนุ่มที่เปิดตัวมาในฐานะลูกอีสานบ้านเฮาอย่าง คุณณเดชน์ คูกิมิยะ ฉากเริ่มต้นของโฆษณาเปิดด้วยเสียงดนตรีคลอเบาๆ ให้ความรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว และมีเสียงลอยๆ ของคุณณเดชน์พูดขึ้นว่า “พวกเรามาตามหาความฝันในเมืองใหญ่ ฝันว่าลูกอีสานคนหนึ่งกำลังเติบโตขึ้น ฝันว่าจะทำให้ชีวิตคนในครอบครัวเราดีขึ้น ฝันที่เราจะได้เป็นในสิ่งที่ฝัน ฝันที่จะทำให้ฝันของใครอีกคนเป็นจริง...” ภาพที่ตัดขนานมากับเสียงคลอนั้นก็คือ ภาพมุมกว้างของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เป็นฉากรถยนต์ที่ติดโยงยาวกันเป็นแพ สลับกับรถยนต์อีกจำนวนหนึ่งที่แล่นผ่านไปมา มีผู้คนเดินขวักไขว่กันอยู่เต็มท้องถนน แต่ก็ดูเหมือนว่า จะเป็นท้องถนนที่ไม่มีใครสนใจใคร   จากนั้นก็มีภาพของคุณณเดชน์พระเอกหนุ่มเดินอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่มากมาย แต่ก็ดูแปลกแยกขาดสายสัมพันธ์กับสัญจรชนคนอื่นๆ   ตัดสลับกับภาพของแม่ค้าส้มตำที่กำลังเว้าภาษาอีสานคุยโทรศัพท์อยู่ที่แผงส้มตำที่มีป้ายเขียนติดกระจกว่า “คิดฮอดบ้านเฮา” ภาพของโชเฟอร์แท็กซี่ที่เหม่อมองดูรูปถ่ายของเมียและลูกที่ติดไว้หน้ากระจกรถ มองเห็นกระจกหลังเป็นผู้โดยสารชายอีกคนที่คุยโทรศัพท์เว้าโลดด้วยภาษาถิ่นอีสานอีกเช่นกัน  คุณณเดชน์เดินทางมาพบกับคุณหมออีกคนหนึ่ง ซึ่งก็โทรศัพท์คุยภาษาถิ่นอีสานกับบิดาที่ต่างจังหวัด  ด้านนอกนั้น ผู้คนถ้าไม่ง่วนกับการคุยโทรศัพท์ ก็ยังคงเดินขวักไขว่กันเต็มตั้งแต่ท้องถนนถึงบนสะพานลอย ข้างทางมีทีวีจอยักษ์เป็นภาพ “นักล่าฝัน” ที่เข้ามาประกวดร้องเพลงใน กทม.  คุณณเดชน์แวะมาพักกินข้าวเที่ยงในร้านอาหารญี่ปุ่น แววตาของเขาดูฉงนสนเท่ห์ เขาจับตะเกียบคีบก้อนซูชิเอาไว้ในมือ ขณะที่เหม่อมองดูพ่อครัวกำลังคุยโทรศัพท์อย่างออกรสชาติเป็นภาษาอีสานด้วยเช่นกัน  ภาพตัดกลับมาที่รถไฟฟ้าบีทีเอสแล่นผ่านไป มีหนุ่มวินมอเตอร์ไซค์ยืนเปลี่ยวเหงาอยู่ใต้สถานีรถไฟฟ้า คนบางคนเหม่อลอยมองออกไปนอกสะพาน ขณะที่คุณณเดชน์ก็คงเดินต่อไปท่ามกลางชีวิตคนกรุงที่แสนจะเปลี่ยวเปล่าและแปลกแยกยิ่งนัก ก่อนที่จะมีคำพูดความในใจของคุณณเดชน์ที่กล่าวต่อไปว่า “พวกเราต้องไกลบ้าน ไกลพ่อแม่พี่น้อง แต่มีบางสิ่งที่ทำให้พวกเราไม่เคยไกลกัน...” และทันใดนั้น เสียงโทรศัพท์มือถือก็ดังขึ้น ปลายสายเป็นภาพเพื่อนชาวอีสานตะโกนมาทักทายคุณณเดชน์ด้วยสำเนียงเสียงภาษาถิ่นแบบคิดฮอดม่วนชื่น  ปิดท้ายโฆษณา คุณณเดชน์ก็เลยหยุดอยู่กลางท้องถนนที่แปลกแยก และยืนเซิ้งตามจังหวะหมอลำเสียงแคนที่ลอยมาจากแอ่งอารยธรรมอีสานบ้านเฮา ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่แม้หมู่เฮาจะอยู่ไกลกัน แต่ก็ช่วยขยับให้ทุกชีวิตในทุกภูมิภาคได้มาอยู่ใกล้ชิดกัน  นักทฤษฎีสังคมวิทยาบางกลุ่มเคยอธิบายไว้ว่า ไม่มีสังคมใดที่ผู้คนจะแปลกแยกระหว่างกันและกันมากเท่ากับสังคมแห่งความเป็น “เมือง” ยิ่งหากเป็น “เมืองหลวง” หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า “capital city” อันแปลว่า เมืองแห่งการระดมทุนทุกชนิดด้วยแล้ว อาการเปลี่ยวเหงา ว้าเหว่ หรือโหยหาสายสัมพันธ์บางอย่าง ก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นเป็นทวีคูณ กรุงเทพมหานครของเราก็คงไม่แตกต่างไปจากสัจธรรมข้างต้นเท่าใดนัก เพราะแม้ความเจริญและทุนทางเศรษฐกิจจะกระจุกตัวรวมศูนย์อยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ แต่ทว่า กทม. ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ “มีผู้คนอยู่รอบกาย เหมือนไม่มีไม่เห็นใคร...”  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ก็ในเมื่อจุดเริ่มต้นของเมืองเกิดจากการดูดซับทรัพยากรต่างๆ เข้าสู่ส่วนกลางแล้ว ผู้คนแบบร้อยพ่อพันแม่จากถ้วนทั่วทุกสารทิศก็จะมุ่งเข้าสู่การตามล่าหา “ความฝัน” กันในสังคมเมืองเป็นหลัก แบบเดียวกับที่คุณแม่ค้าส้มตำ คนขับรถแท็กซี่ คุณพี่วินมอเตอร์ไซค์ คุณนักร้องนักล่าฝัน พ่อครัวร้านซูชิ ไปจนถึงคุณณเดชน์พระเอกหนุ่ม ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนพลัดถิ่นที่เข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีขึ้นในชีวิตกันในเมืองหลวง  ด้วยเหตุดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงกลายเป็น “เมืองใหญ่” แต่ก็ “ไร้ราก” เพราะ “รกราก” ดั้งเดิมของผู้คนที่อพยพจากทั่วทุกทิศทุกภาคนั้น มีจุดกำเนิดมาแต่ชนบทมากกว่า เมื่อคนที่หยั่ง “รกราก” ในถิ่นอื่น ต้องจับพลัดจับผลูมาอยู่ในเมืองใหญ่ต่างถิ่นที่ “ไร้ราก” เช่นนี้ ก็ไม่น่าแปลกที่คุณณเดชน์และบรรดาตัวละครลูกอีสานใหญ่น้อยทั้งหมด จึงเกิดอาการ “lost in translation” หรืองุนงงสงสัยว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่” มาเดินขวักไขว่กันเต็มท้องถนนและสถานีรถไฟฟ้า แต่ก็ไม่มีใครสนใจใครกันเลย แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ ที่มีความพยายามจะต่อเส้นสายสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ตลอด เพื่อสลายความแปลกแยกและว้าเหว่ในเมืองเปลี่ยวเหงา  ด้านหนึ่ง โทรศัพท์มือถืออาจจะทำให้ผู้คนในเมืองหลวงยิ่งแปลกแยกจากกันมากยิ่งขึ้น เพราะแม้จะอยู่บนถนนหรือบนรถไฟฟ้า ผู้คนเหล่านั้นก็คุยโทรศัพท์โดยยิ่งไม่ต้องสนใจคนรอบข้างได้มากขึ้น แต่อย่างน้อย พวกเขาก็อาจจะไม่ได้แปลกแยกไปกับบรรดาเพื่อนสนิทมิตรสหายหรือครอบครัวที่ยังอยู่ใน “รกราก” ของชนบทห่างไกล หากครั้งหนึ่งบรรดาคุณพี่โชเฟอร์แท็กซี่เคยติดสติ๊กเกอร์แสดงความรู้สึก “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” แล้ว ทุกวันนี้เครือข่ายมือถือก็ช่วยให้คุณณเดชน์และบรรดาลูกอีสานใน กทม. ทั้งหลาย ได้รู้สึกว่า “ดีใจจังคนข้างหลังก็บ้านเฮา” เหมือนกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 125 ความอิหลักอิเหลื่อกับความแรงของพัดลม

  คุณผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าวัตถุแห่งยุคสมัยหนึ่งๆ ต้องมาปรากฏอยู่ในอีกช่วงเวลาหนึ่ง ที่ผิดฝาผิดตัวและไม่น่าจะเป็นไปได้  ตัวอย่างเช่น ถ้าเรานั่งชมละครโทรทัศน์แนวย้อนยุคหรือนั่งดูละครจักรๆ วงศ์ๆ ทางโทรทัศน์ แล้วอยู่ดีๆ ก็มีรถยนต์คันหนึ่งแล่นผ่านเข้ามาในฉาก เราในฐานะผู้ชมก็คงจะรู้สึกตะขิดตะขวงหรืออิหลักอิเหลื่อใจพิกลๆ อยู่  ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่า รถยนต์เป็นวัตถุจากโลกร่วมสมัยในปัจจุบัน และไม่น่าจะเป็นไปได้ที่วัตถุอย่างรถยนต์จะไปปรากฏอยู่ในโลกที่โพ้นสมัยแบบที่เขาจำลองไว้ที่หน้าจอเช่นนั้น  แต่ทว่า ความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อที่เวลาต่างกันมาซ้อนทับกันเฉกเช่นนี้ กลับไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด หากไปปรากฏอยู่ในโลกแห่งโฆษณาโทรทัศน์!!!  ตัวอย่างโฆษณาพัดลมไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง ที่จำลองฉากท้องพระโรงของละครจักรๆ วงศ์ๆ เอาไว้ ได้เริ่มต้นด้วยการใช้กล้องจับภาพพระสาโท(เหงื่อ)ที่ผุดพรายจับใบหน้าตัวละครพระราชา ก่อนที่พระองค์จะตรัสกับมุขอำมาตย์ว่า “ร้อน...” ข้างๆ พระราชา มีนางกำนัลในชุดสไบสีบานเย็นคอยนั่งหน้าไร้อารมณ์แต่ก็ยังปรนนิบัติ “พัดวี” โชยลมแห่งความสุขไปให้กับพระราชา แต่ดูเหมือนว่า ลมจากพัดวีโบกและแรงงานมนุษย์อาจไม่มากพอจะสนองพระหฤทัยหรือไม่ช่วยบรรเทาความร้อนให้กับตัวละครพระราชาได้ จึงทรงตรัสกับปุโรหิตต่อไปว่า “ขอเบอร์ 3 สิ”  จากนั้น ภาพก็ตัดมาที่ท่อนแขนนางกำนัล ซึ่งปรากฏให้เห็นปุ่มกดสามระดับตามสปีดของแรงลม และเมื่อปุโรหิตกดเปลี่ยนเป็นปุ่มเบอร์ 3 นางกำนัลก็เร่งสปีดของการพัดวีให้แรงขึ้น จนนางนั้นช็อคหยุดนิ่งและควันดำคลุ้งไหลออกมาทางจมูก เหมือนกับเครื่องมอเตอร์ในตัวของนางได้น็อคพังลง  มหาดเล็กยกนางกำนัลที่มอเตอร์ชำรุดออกไปจากท้องพระโรง ก่อนจะยกพัดลมไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดเข้ามาแทน พระราชาที่ออกอาการเซ็งก็ถามขึ้นว่า “แล้วพัดลม...มันดียังไง”  ว่าแล้ว ปุโรหิตก็กดปุ่มเปิดพัดลม เป่าได้แป็บเดียวเท่านั้น เล่นเอาตัวละครพระราชากระเด็นออกไปทางพระบัญชรของท้องพระโรงนั่นเลย ก่อนที่จะมีเสียงบรรยายพูดปิดท้ายกล่าวชื่นชมสรรพคุณของพัดลมรุ่นใหม่นี้ว่า ทั้ง “ใหญ่กว่า” และ “แรงกว่า” ก็ดังที่เราๆ ท่านๆ คงทราบกันดีว่า พื้นที่ของละครจักรๆ วงศ์ๆ หรือบรรดานิทานพื้นบ้านทั้งหลายนั้น เป็นพื้นที่ที่มิติเรื่อง “เวลา” มีความคลุมเครือยิ่งนัก กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เรื่องเล่าพื้นบ้านต่างๆ มักเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...” ซึ่งผู้ฟังหรือผู้ชมเองก็มิอาจทราบได้ว่า เป็นกาลครั้งหนึ่งเมื่อไร เป็นกาลสมัยยุคไหน เนื่องจากไม่มีความชัดเจนของศักราชที่จะระบุชี้ชัดได้แน่นอน แต่ที่แน่ๆ ก็คือ น่าจะต้องเป็นอดีตกาลที่ “ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” ด้วยเหตุดังกล่าว วัตถุต่างๆ ในละครจักรๆ วงศ์ๆ หรือที่ภาษาเทคนิคการผลิตโทรทัศน์เขาเรียกว่า “props” นั้น ก็ต้องเป็นอะไรก็ตามที่บ่งบอกนัยว่า “นานมาแล้ว” นั่นเอง ตั้งแต่โต๊ะตั่งเตียงแท่นบัลลังก์ ตัวท้องพระโรง เสื้อผ้าของมุขอำมาตย์ รวมไปถึงสไบสีบานเย็นและพัดวีพัดโบกที่อยู่ในมือของนางกำนัล  แต่ที่น่าแปลกก็คือ ท่ามกลางบรรยากาศของกาลครั้งหนึ่งที่ผ่านพ้นมานานแล้วนั้น โฆษณาได้อนุญาตให้นวัตกรรมอย่างพัดลมไฟฟ้า เข้ามาแทรกเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องเล่าพื้นบ้านหรือนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ได้เช่นนี้  ทั้งๆ ที่พัดลมเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของยุคสังคมสมัยใหม่ แต่ก็น่าประหลาดใจว่า “ความอิหลักอิเหลื่อ” ของช่วงเวลาที่แตกต่างกันแต่ก็มาซ้อนทับกันได้นั้น กลับถูกทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาหรือปกติวิสัยในพื้นที่ของโฆษณา  อันที่จริงแล้ว เหตุการณ์ที่ตัวละครถูกลมหอบพัดปลิวไปที่นั่นที่นี่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่ในเรื่องเล่าพื้นบ้านแต่อย่างใด ผมจำได้ว่า สมัยเมื่อเด็กๆ ตอนเรียนวิชาวรรณคดีไทยนั้น จะมีเรื่องเล่าพื้นบ้านอยู่หลายเรื่องที่ใช้ลมหอบตัวละครจากดินแดนหนึ่งไปยังดินแดนอื่นที่ไกลๆ เพื่อสร้างความรู้สึกถึงการพลัดพรากให้กับตัวละครเอก และเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งบางอย่างในท้องเรื่อง  แต่อย่างไรก็ดี ลมพายุที่หอบพัดเอาตัวละครให้พรากพลัดจากกันในวรรณคดีโบราณนั้น มักเกิดเนื่องมาแต่การดลบันดาลจากเทพยดา หรือมาจากบัญชาของอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ทั้งปวง และที่แน่ๆ คงไม่ใช่ลมหอบจากพัดลมไฟฟ้าหน้ากว้างรุ่นใหม่ แบบที่เราสัมผัสเห็นได้จากโฆษณาโทรทัศน์แบบนี้ เพราะฉะนั้น จะมีเหตุผลอันใดกันเล่าที่โฆษณาจึงต้องนำเสนอภาพ “ความอิหลักอิเหลื่อ” ด้วยการหยิบจับเอาสองช่วงเวลาที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ให้มาอยู่ที่หน้าจอโฆษณาในเวลาเดียวกันเช่นนี้ ?  ผมเดาเอาว่า คำตอบข้อแรกก็น่าจะเป็นเพราะว่า โฆษณาพัดลมรุ่นใหม่ชิ้นนี้ได้อาศัยเทคนิคการเล่าเรื่องแบบ “ขบขัน” หรือที่เรียกว่า “humour” เป็นพื้นฐาน และการที่จะทำให้ผู้ชม “ขบ” จน “ขัน” ได้นั้น ก็ต้องทำให้คนดูเกิดคำถามบางอย่างถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างบางสิ่งบางอย่างที่เราเห็นหน้าจอโทรทัศน์  ตอนเด็กๆ ผมจำได้ว่า ทุกครั้งเวลาดูละครจักรๆ วงศ์ๆ แล้วเห็นภาพนางกำนัลนั่งโบกพัดวีอยู่ในท้องพระโรงนั้น จะเกิดความสงสัยอยู่เสมอว่า ถ้าพัดกันทีละพรึ่บๆ แบบนี้แล้ว พระราชาบนบัลลังก์จะเย็นไหมเนี่ย ??? ความสงสัยเช่นนี้ทำให้ดูละครกี่ครั้ง ก็ “ขบ” จน “ขัน” ขึ้นมาได้ทุกที  แต่พอมาถึงปัจจุบัน ความรู้สึกขบขันคงไม่ใช่เหตุที่เกิดแบบไม่ตั้งใจของคนดู(เช่นที่ผมรู้สึกในวัยเด็กแบบนั้น) แต่เกิดมาจากความจงใจของนักโฆษณาที่จะใช้เทคนิคบางอย่างในการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งใจสร้างความอิหลักอิเหลื่อให้สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ บังเกิดกลายเป็น “ความเป็นไปได้” ขึ้นมา ตัวอย่างของความอิหลักอิเหลื่อแบบนี้ก็เช่น การสร้างภาพนางกำนัลสไบบานเย็น ซึ่งมีท่อนแขนแบบหุ่นยนต์เป็นปุ่มกดบังคับสปีดการโบกพัด รวมไปถึงการจับวัตถุสมัยใหม่อย่างพัดลมมาวางไว้ในท้องพระโรงของฉากเรื่องเล่าแบบโบราณ ส่วนคำตอบอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าพัดลมเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของวัตถุในโลก “สมัยใหม่” และถ้านางกำนัลสไบบานเย็นกับ “พัดวี” ที่อยู่ในมือของเธอ เป็นตัวแทนของโลก “โบราณ” โฆษณาเองก็คงบอกคนดูเป็นนัยว่า ความโบราณคือความเชย ล้าหลัง และไม่มีประสิทธิภาพแต่อย่างใด สู้บรรดาวัตถุในโลกสมัยใหม่อย่าง “พัดลม” ไม่ได้ ทั้ง “ใหญ่กว่า” ทั้ง “แรงกว่า” เป็นนวัตกรรมที่ทรงประสิทธิภาพของผู้คนในยุคนี้  เพราะฉะนั้น ในขณะที่ด้านหนึ่ง ความอิหลักอิเหลื่อในความแตกต่างของเวลา ถูกใช้เพื่อสร้างความรู้สึกขบขัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง โฆษณาก็ใช้ความอิหลักอิเหลื่อเพื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่าง “เก่า” กับ “ใหม่” และลดทอนคุณค่าของความเก่าให้ดูด้อยค่ากว่าความใหม่นั่นเอง วันนี้ หากคุณเปิด “พัดลม” คุณอาจจะรู้สึกว่าได้ลมเย็นๆ เต็มที่ยิ่งกว่า “พัดวี/พัดโบก” แบบโบราณ แต่ก็อย่าลืมด้วยนะครับว่า พัดลมอาจพัดไปพัดมา แต่ก็เป่าให้คุณกระเด็นออกไปนอกหน้าต่างได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 ความสุขของเรา...กับใครที่เป็นคนสร้าง?

  พุทธศาสนาเคยมีคำกล่าวว่า “ความสุขแท้จริงนั้นอยู่ที่ใจ” และดูเหมือนว่า โฆษณาในสังคมบริโภคทุกวันนี้ก็พยายามจะให้คำตอบแก่เราเหมือนกันว่า “ความสุขนั้นอยู่ที่ตัวเราจริงๆ” หลังจากที่ผู้ชมโทรทัศน์เคยเห็นภาพของคุณเรย์ แมคโดนัลด์ สะพายเป้แบ็คแพ็คเดินทางถือวีซ่าไปที่นั่นที่นี่แบบ around the world กันมาหลายปีดีดักแล้ว โฆษณากาแฟผงยี่ห้อหนึ่งก็จับเอาคุณเรย์ แบ็คแพ็คเกอร์ มาเดินทางท่องเที่ยวเมืองไทยกันบ้าง พร้อมกับประโยคที่เขาพูดเปิดต้นเรื่องโฆษณาขึ้นว่า “ไม่ต้องไปไกลถึงซีกโลก ความสุขก็มาหาเราได้เสมอ...”   ว่าแล้ว ภาพก็ตัดมาที่คุณเรย์กำลังพายเรือแคนนูอยู่ท่ามกลางทะเลที่เงียบสงบ และสะท้อนประกายแดดอยู่กลางหมู่เกาะน้อยใหญ่ สลับมาที่ภาพของคุณเรย์ที่หยิบขวดกาแฟผงขึ้นมาสูดดม ก่อนจะตักกาแฟมาชงและคนในถ้วย พร้อมกับมีไอควันกรุ่นๆ ลอยออกมาจากถ้วยกาแฟ   คุณเรย์ แบ็คแพ็คเกอร์ กล่าวต่อไปว่า “แค่ได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบ อยู่กับกลิ่นหอมๆ อยู่กับรสชาติกาแฟ xxx ที่เป็นตัวเรา แค่นี้ความสุขก็มาอยู่ตรงหน้า”   คุณเรย์ยกถ้วยกาแฟสีแดงขึ้นมาจิบ และมองออกไปที่ฉากหลังของท้องทะเลที่ไกลสุดลูกหูลูกตา ก่อนจะแสดงสีหน้าเอมอิ่ม แล้วเดินออกไปชื่นชมชะง่อนผาริมทะเล   ภาพตัดมาที่คุณเรย์ว่ายน้ำเล่นกับฝูงปลาทะเลหลากสี แล้วก็โคลสอัพถ้วยกาแฟสีแดงวางอยู่ข้างเคียงกับหนังสือหนึ่งเล่ม และมีแว่นกันแดดวางอยู่บนชายหาด ก่อนที่จะฉายให้เห็นภาพคุณเรย์นอนแช่น้ำทะเลอยู่ริมหาด พร้อมกับเสียงของเขาที่พูดด้วยว่า “ถ้าถามผมว่า ที่ไหนสวยที่สุดในโลก ผมว่าที่นี่...ความสุขที่เราสร้างเอง”   แล้วโฆษณาก็จบลงด้วยภาพกว้างของเวิ้งทะเลของหาดไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ ก่อนจะตัดมายังภาพของนักเดินทางอย่างคุณเรย์ นั่งจิบกาแฟบนแพ มีขวดกาแฟและขวดครีมเทียมวางอยู่เคียงข้าง โดยมีข้อความเป็นตัวอักษรขึ้นว่า “ความสุขที่เราสร้างเอง...”  เพื่อนๆ หลายคนของผมบอกว่า ดูโฆษณาชิ้นนี้แล้วรู้สึกชอบ เพราะว่าให้ความรู้สึกอบอุ่นสบายใจ ซึ่งผมเองก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่เพียงแต่การได้เห็นท้องทะเลและธรรมชาติไกลๆ ที่โอกาสน้อยมากสำหรับชีวิตคนเมืองอย่างผมจะได้สัมผัสภาพแบบนี้แล้ว การได้เห็นภาพวิวสวยๆ ของเมืองไทย โดยที่ “ไม่ต้องไปไกลถึงซีกโลก” แบบที่คุณเรย์บอกแก่เรา ก็ให้ความรู้สึกดีๆ ไม่น้อยทีเดียว ยิ่งได้ยินเสียงดนตรีประกอบ และภาพกิจกรรมของตัวละครแบบที่สร้างความแปลกตาแปลกใจไปจากชีวิตประจำวันด้วยแล้ว ภาพของการพายเรือแคนนูหรือภาพการว่ายน้ำเริงเล่นกับฝูงปลาเล็กปลาน้อยในทะเลเหล่านี้ ก็คงเป็นสิ่งที่ผู้ชมหลายๆ คนอยากจะปลีกวิเวกไปใช้ชีวิตแบบนั้นเป็นบางครั้งบางคราว   อย่างไรก็ดี ผมอาจจะเห็นด้วยกับสิ่งที่โฆษณาบอกไว้แค่ครึ่งเดียวว่า “ความสุขนั้นไม่ต้องไปแสวงหาให้ไกลถึงอีกซีกโลก” แต่ทว่า ความคิดเรื่อง “ความสุขมาหาตัวเราได้เสมอ” นั้น กลับเป็นเรื่องที่ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่าจะเป็นจริงได้เยี่ยงนั้นเลยหรือ??? หากเทียบสิ่งที่โฆษณานำเสนอกับชีวิตของตนเองดูแล้ว ผมว่า ในวันหนึ่งๆ นั้น คงเป็นไปไม่ได้กระมังที่อยู่ดีๆ เราจะได้แว่บไปพายเรือแคนนูหรือนอนแช่น้ำทะเลเล่นอยู่ที่จังหวัดกระบี่ หรือคงเป็นไปได้ยากที่อยู่ดีๆ เราจะมีฝูงปลาการ์ตูนมาแหวกว่ายอยู่รอบตัวเรา หรือแม้แต่ว่าอยู่ดีๆ เรามีจะมีกาแฟสักถ้วยมายกดื่ม   วัตถุแห่งการบริโภคมากมายหลายหลากนี้ ไม่ใช่ว่า “อยู่ดีๆ” วัตถุดังกล่าวจะกลายเป็น “ความสุขที่เข้ามาหาเราได้เสมอ” แต่ตรงกันข้าม วัตถุเหล่านั้นจะมอบ “ความสุข” ให้แก่เราได้ ก็ต่อเมื่อเราเองต้องไปเสาะแสวงซื้อหามาเสพมาบริโภคดื่มกิน นั่นก็หมายความว่า หากนักเดินทางอย่างคุณเรย์จะได้อยู่กับ “สิ่งที่เราชอบ” อยู่กับ “กลิ่นหอมๆ” หรืออยู่กับ “รสชาติกาแฟแบบที่เป็นตัวเรา” ก็คงต้องเป็นตัวของคุณเรย์เองที่ออกไปสืบเสาะค้นหาเอาสิ่งเหล่านั้นมาให้กับตัวเสียก่อน แล้วจึงค่อยผันเปลี่ยนรสนิยมในการบริโภควัตถุต่างๆ เหล่านี้ให้กลายมาเป็น “ความสุขที่วางไว้ตรงหน้า” ท่ามกลางเวิ้งทะเลครามแห่งคาบสมุทรอันดามัน เมื่อย้อนกลับไปสู่วิธีคิดแบบศาสนาพุทธที่ว่า “ความสุขแท้จริงนั้นอยู่ที่ใจ” แล้ว และดูเปรียบเทียบกับสิ่งที่โฆษณาสื่อสารให้กับเรา ผมก็เลยเริ่มสงสัยว่า อัน “ความสุขที่วางไว้ตรงหน้า” ดังกล่าว ก็อาจจะเริ่มไกลห่างไปจากความหมายของ “ความสุขที่แท้จริง” ตามหลักแห่งพุทธธรรมเสียแล้ว   ทำไมน่ะหรือครับ? เพราะในขณะที่ทางพุทธศาสนาเห็นว่า “ใจ” เป็นที่มาของความสุขอันเกิดมาแต่ “ภายใน” แต่ทว่า หากเป็นกาแฟผงชงดื่มผสมครีมเทียมแล้วนั้น กลับถือเป็นความสุขอันเกิดมาแต่การเสพวัตถุที่มาจาก “ภายนอก” ตัวของเรามากกว่า ดังนั้น แม้ในโฆษณาจะบอกว่า การดื่มกาแฟเป็น “ความสุขที่เราสร้างเอง” แต่ก็ดูเหมือนว่า เป็นความสุขที่เราสร้างผ่านการบริโภควัตถุที่จัดสรรไว้ให้โดยเจ้าของสินค้าบางกลุ่ม ที่จะหยิบยื่นให้เราทั้งกลิ่นอาย รสชาติ และทัศนียภาพบางอย่างที่เราควรจะเสพไปพร้อมกับซึมซับผลิตภัณฑ์กาแฟที่ “เป็นตัวเรา” ยิ่งไปกว่านั้น หากความสุขจากกาแฟที่เสพเป็นความสุขที่มาจาก “ภายนอก” ความสุขเยี่ยงนี้ก็มีแนวโน้มจะเป็นความสุขแบบ “ชั่วครั้งชั่วคราว” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นความสุขตราบเท่าที่กาแฟยังไม่ได้หมดไปจากถ้วย เพราะฉะนั้น เมื่อกาแฟหยดสุดท้ายถูกจิบเข้าคอไปแล้ว ทั้งกลิ่นอายและรสชาติแห่งความสุข ก็อาจจะมีอันต้องดับไปตามการเกิดแก่เจ็บตายของกาแฟในถ้วย จนกว่าเราจะชงกาแฟถ้วยใหม่ขึ้นมาซดดื่มแทนนั่นเอง ในยุคหนึ่ง โฆษณาสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่ง เคยนำเสนอสโลแกนทางการตลาดที่ว่า “ความสุขที่คุณดื่มได้” มาถึงทุกวันนี้ โฆษณากาแฟได้เริ่มตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า ความสุขที่เราจะดื่มเข้าไปได้จริงๆ นั้น อาจจะเป็นใครบางคนกันหนอที่มีอำนาจสร้างให้เราดื่มสินค้านั้นด้วยความสุขจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 123 เสน่ห์ปลายจวัก...แต่อย่าลืมเหยาะผงปรุงรสด้วยล่ะ

  คนโบราณเคยกล่าวเอาไว้ว่า เสน่ห์ที่ปลายจวัก จะทำให้ผัวรักผัวหลงกันเลยทีเดียว อันอุปมาอุปไมยเปรียบเปรยแบบนี้ ก็น่าจะมีที่มาอยู่ว่า ผู้หญิงที่จะมัดใจสามีเอาไว้ได้ ในอดีตนั้นต้องอาศัยรสมือปรุงอาหาร และจัดสำรับคาวหวานไว้ให้เพียบพร้อม ไม่ต้องดูอื่นใดไกลเกิน แม้แต่ในตำนานของนางนาคพระโขนง ที่เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น ขนาดว่านางได้เสียชีวิตเพราะคลอดลูกตายทั้งกลมไปแล้ว แต่ดวงวิญญาณของนางก็ยังพันผูกว่ายเวียนคอยปรุงสำรับน้ำพริกให้กับพี่มากผู้เป็นสามีด้วยใจภักดียิ่ง   และฉากคลาสสิกของตำนานนางนาคพระโขนง ที่ใครๆ ต่างก็จดจำและพูดถึงกันอยู่เสมอ ก็คงหนีไม่พ้นฉากที่นางเอื้อมมือยาวๆ ไปเก็บลูกมะนาวที่กลิ้งหล่นไปอยู่ใต้ถุนเรือน ขณะตำน้ำพริกมื้อเย็นให้กับพี่มากสุดที่รัก   แต่ก็นั่นแหละครับ เมื่อเวลาเปลี่ยน กาลสมัยเปลี่ยน นางนาคพระโขนงที่เคยเป็นตำนานเรื่องเล่าก็มีเหตุให้ต้องปรับเปลี่ยนตาม   เพราะฉะนั้น เมื่อนางนาคให้ต้องมาปรากฏตัวอยู่ในโฆษณาโทรทัศน์ของยุคปี 2011 ในวันนี้ แม้แต่เสน่ห์ปลายจวักที่เคยมัดใจพี่มากไว้แต่ครั้งโบราณกาล ก็มีเหตุให้ต้องปรับตัวตามความเป็นไปของยุคสมัยปัจจุบัน   โฆษณาในปี ค.ศ.2011 ได้แปลงเรื่องเล่าของนางนาคที่เคยสยองขวัญแกมรักโรแมนติก ให้กลายเป็นเรื่องโรมานซ์ในแบบฉบับชวนหัวชวนขัน  โฆษณาเปิดฉากมาด้วยนางนาคในชุดห่มสไบนั่งอยู่ในเรือนไทยโบราณ แม่นาคกำลังบรรจงปรุงเสน่ห์ปลายจวักลงในมื้อสำรับอาหาร และแสดงฝีมือทำสะตอผัดกุ้งให้กับชายคนรัก โดยมีชายหนุ่มอย่างอ้ายมากแอบดูเจ้าหล่อนผ่านร่องประตู ด้วยแววตาชื่นชมความเป็นเบญจกัลยาณีของศรีภรรยา  ไฟในเตาที่ลุกโชน บวกกับรอยยิ้มของนางที่บรรจงจัดเตรียมสำรับเย็นอยู่นั้น ยิ่งชายหนุ่มได้สัมผัสเห็นและสูดกลิ่นอายของอาหารเข้าไปเต็มปอด เขาก็ยิ่งดื่มด่ำในรสเสน่ห์ปลายจวักและรสชาติแห่งภักษาหารอันปรุงผ่านรสมือของนาง แต่สักพัก นางนาคก็บังเอิญทำซองผงปรุงรสหล่นลงในร่องพื้นเรือน และก็มาถึงฉากคลาสสิกที่เธอเอื้อมมือยาวๆ ลงไปใต้ถุนเรือน แต่คราวนี้ไม่ใช่เพื่อเก็บลูกมะนาวมาตำน้ำพริก แต่เป็นมือยาวที่เอื้อมไปเก็บซองผงปรุงรส อันเป็นเคล็ดลับความอร่อยคู่ครัวของเธอ  โดยพลันทันใดนั้น พี่มากก็ถึงกับออกอาการตกใจ ผมตั้งฟูกับภาพตรงหน้าของนางนาคที่หันมาทำหน้าตาน่าชวนหัวลุก และแล้วนางนาคก็เปิดประตูเรือนเข้ามา พร้อมถือสำรับอาหารน้อยใหญ่มาเสิร์ฟให้กับสามี ชายหนุ่มลูบศีรษะตัวเองไป และชิมอาหารที่เปี่ยมด้วยผงปรุงรสบรรจุซอง ก่อนจะพูดขึ้นว่า “อร่อยจัง ขอทานอีกสิ...” จากนั้น แม่นาคก็ปิดท้ายโฆษณาด้วยการยื่นมือยาว ๆ ของนางไปหยิบซองผงปรุงรสสำเร็จรูป ก่อนจะพูดขึ้นด้วยเสียงที่ลากโหยหวนว่า “จัดให้...”  แม้จะล่วงเลยมาจนถึงปี 2011 แล้วก็ตาม แต่ทว่าดวงวิญญาณของนางนาคก็มิอาจหลุดพ้นไปสู่สัมปรายภพได้เลย ตรงกันข้าม ในโฆษณาโทรทัศน์นั้น ก็ยังมีการจำลองภาพของเธอมาใช้ “เสน่ห์ปลายจวัก” ผัดผักต้มแกงและตำน้ำพริกป้อนปรนเปรอภัสดาสามีอยู่ไม่สิ้นสุด  แต่อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเวลาที่เปลี่ยนไป กับรูปแบบวัฒนธรรมงานครัวแบบใหม่ที่เอื้อให้ชีวิตคนยุคนี้สะดวกสบายมากขึ้น โฆษณาก็เลยเนรมิตซองผงปรุงรสมาช่วยเพิ่มรสเสน่ห์ปลายจวักที่ประทินแต่งอาหารได้อย่างสำเร็จรูปมากยิ่งขึ้น ทั้งรวดเร็วขึ้น แถมยังสะดวกทันใจแม่บ้านยุคใหม่ที่ชีวิตเร่งรีบยิ่งกว่าศรีภรรยาในอดีตยิ่งนัก  แม้บรรยากาศของฉากในโฆษณาจะถูกวาดให้เป็นเรือนไทย ที่ดูเหมือนกับสถาปัตยสถานในยุคโบราณกาลนานมา แต่ทว่า ด้วยซองผงปรุงรสที่หลุดเข้ามาเป็น “prop” หรือของประดับที่แปลกปลอมอยู่ในฉากบ้านเรือนไทยนั้น ก็ทำให้นางนาคแห่งปี 2011 ได้กลายเป็นวิญญาณแม่นาคที่ทั้งทันสมัยและก้าวล้ำนำมาตรฐานการปรุงสำรับอาหาร ไม่ต่างจากแม่บ้านร่วมสมัยในยุคนี้  หรือพูดอีกนัยหนึ่ง นางนาคผู้มากับซองผงปรุงรส ดูจะไม่แตกต่างจากตัวแทนของวิญญาณสตรีไทย ที่กำลังจะบุกเบิก “ครัวไทย” ให้เดินทางก้าวไกลไปสู่ “ครัวโลก” เพราะฉะนั้น จากยุคหนึ่งที่ “คาถามัดใจ” ให้สามีหลงรักหัวปักหัวปำ จะเกิดเนื่องมาแต่ “รสมือ” ในการปรุงสำรับคาวหวานมาปรนเปรอความสุขให้ทุกคนในครอบครัว แต่มาสู่ทุกวันนี้ที่การปรนเปรอเมนูอาหารหลากรส ไม่ได้มาด้วยรสมือนางล้วนๆ แต่ต้องมาด้วยผงปรุงสำเร็จรูปคลุกเคล้ารวมกันเข้าไป  เพียงเหยาะผงปรุงจากซองลงไป นอกจากจะไม่ต้องรอนานเหมือนกับการเคี่ยวซี่โครงไก่หรือกระดูกหมูกันเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมงแล้ว ยังได้รสรักแบบปรุงสำเร็จรูปได้ในชั่วกระพริบตาเท่านั้น  แม่นาคที่ว่ากันว่าฝีมืองานครัวเป็นเลิศ ขนาดเป็นผีแล้ว เธอก็ยังต้องยอมสยบให้กับซองผงปรุงรสอันแสนวิเศษด้วยเช่นกัน เพราะในขณะที่ต้นฉบับดั้งเดิมของตำนานนางนาคกับพี่มากนั้น ต้องพลัดพรากกันอีกครั้งในตอนจบ เพียงเพราะค่านิยมที่ว่า “ผีพึงอยู่ส่วนผี คนก็ต้องอยู่ส่วนคน ผีกับคนไม่มีวันบรรจบกันได้”  แต่แม่นาคในยุครักสำเร็จรูปนั้น เพียงแค่ใช้ผงปรุงเหยาะไปไม่กี่ซอง เธอก็ทำให้พี่มากเลิกเป็นกังวล แถมยังช่วยปรับเปลี่ยนค่านิยมใหม่ให้กลายเป็น “คนกับผีอยู่ด้วยกันได้” ร่วมเรียงเคียงคู่แบบไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใด หรือกลายเป็นรักมั่นอมตะนิรันดรระหว่างผีกับคนไปโน่นเลย สำหรับผมเองแล้ว ก็ไม่รู้หรอกนะครับว่า เจ้าผงปรุงรสที่บรรจุอยู่ในซอง จะมีพลังอำนาจสร้างรักแท้สำเร็จรูปได้ขนาดนั้นจริงหรือเปล่า และรสชาติอาหารที่ได้จากผงปรุงรสจะอร่อยจริงหรือไม่ เพราะในโฆษณาโทรทัศน์นั้น คนดูจะไม่เคยได้ชิมอาหารที่เสิร์ฟใส่จานอยู่หน้าจอได้จริง ๆ หรอก แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ถ้าปรุงอาหารไป และกินอาหารกันไป แล้วทำให้ผีกับคนต้องมากินอยู่คู่เรียงเคียงหมอนเป็น “รักไม่มีวันตาย” กันในแบบโฆษณาด้วยแล้วล่ะก็ คราวนี้ท่าทางจะตัวใครตัวมันกันแล้วนะครับ!!!

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 122 กระดาษพิมพ์หนึ่งแผ่นกับความยับยู่ยี่ของคุณภาพงาน

  มีคำอธิบายว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เรามีอารยธรรมก้าวหน้ากว้างไกลมาได้จนถึงทุกวันนี้นั้น สืบเนื่องมาจากการเริ่มต้นประดิษฐ์คิดค้นแผ่นกระดาษตั้งแต่ครั้งโบราณกาลนานมา   ย้อนกลับไปเมื่อราว 2,200 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากที่ชาวอียิปต์โบราณได้ค้นคิดการผลิตกระดาษปาปิรุสขึ้นมา นับจากนั้นมนุษยชาติก็ได้เริ่มรู้จักกับวัฒนธรรมการสื่อสารแบบใหม่ที่ผ่านการเขียนลงบน “แผ่นกระดาษ” อันผิดแผกแตกต่างจากแต่เดิมที่มีแต่เพียงการจารึกลงบนแผ่นหินหรือการตอกลิ่มลงบนก้อนดินเหนียวที่ปั้นขึ้นไว้เท่านั้น   แล้วกระดาษแผ่นเบาๆ เล็กๆ หนึ่งแผ่นที่คิดค้นขึ้นมาเช่นนี้ ส่งผลอันใดต่ออารยธรรมของมนุษย์เราบ้าง?   คุณูปการของแผ่นกระดาษนั้นมีมากอนันต์ ตั้งแต่การเปิดโอกาสให้มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารได้แบบข้ามพื้นที่ข้ามพรมแดน เพราะความที่เบาและพกพาสะดวกกว่าการบันทึกลงบนแผ่นศิลาจารึก   กระดาษยังช่วยให้มีการจดบันทึกความทรงจำทุกอย่างมิให้สูญหายไป และที่สำคัญ กระดาษยังช่วยให้มนุษย์เราสามารถสั่งสมความรู้สืบต่อไว้จากรุ่นหนึ่งไปสู่อนุชนอีกรุ่นหนึ่ง และความรู้ที่สั่งสมเอาไว้เช่นนี้ ต่อมาก็ค่อยๆ ก่อรูปก่อร่างเป็นอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์จนถึงปัจจุบัน   คิดง่ายๆ นะครับว่า มนุษย์เราต้องรู้จักคิดประดิษฐ์แผ่นกระดาษขึ้นมาก่อน เราจึงจะค่อยมีสมุด หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน มีการเขียนบันทึก เขียนจดหมาย เขียนรายงาน เขียนภาพวาด มีการสร้างแบบแปลนทางสถาปัตยกรรม และมีอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ฉะนั้น จากกระดาษแผ่นแรกในยุคอียิปต์โบราณ ก็สามารถพลิกโฉมหน้าอารยธรรมโลกได้อย่างมากมายมหาศาล   และที่สำคัญ เมื่อแผ่นกระดาษจากยุคปาปิรุส เริ่มไหลมาสู่ยุคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มนุษย์ในทุกวันนี้ก็ได้สร้างสรรค์ธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ๆ มารองรับกับอารยธรรมแผ่นกระดาษแห่งยุคปัจจุบันกาล   ลองดูตัวอย่างในโฆษณากระดาษพิมพ์ยี่ห้อหนึ่งก็ได้นะครับ โฆษณานี้ได้ผูกเรื่องราวของชีวิตผู้คนในสังคมอุตสาหกรรมยุคใหม่ โดยเปิดเรื่องมาในบริษัทแห่งหนึ่งที่เลขานุการิณีสาวได้ยื่นแฟ้มผลประกอบการประจำปีให้กับบอสใหญ่ เมื่อบอสใหญ่เปิดแฟ้มออกดู ก็แสดงทีท่าพิโรธโกรธกริ้วกับเอกสารรายงานที่เส้นกราฟต่าง ๆ ดูเลอะเทอะไปด้วยหมึกสี และมีเสียงบรรยายชายพูดขึ้นว่า “ถ้างานเลอะเทอะ คุณก็จะกลายเป็นคนเลอะเทอะ”   และเมื่อเสียงโองการสวรรค์ได้พูดจบลง ภาพโคลสอัพใบหน้าของคุณเลขาสาวก็กลายเป็นใบหน้าที่ยับยู่ยี่ คอสเมติกเมคอัพก็เลอะเลือน และผมเผ้าของเธอก็ยุ่งเหยิงยิ่งนัก ไม่ต่างไปจากคุณภาพกระดาษที่เธอใช้พิมพ์เอกสารใส่แฟ้มให้กับเจ้านายใหญ่   เมื่อบิ๊กบอสขยำต้นฉบับรายงานในแฟ้มทิ้ง ใบหน้าของเธอก็ยิ่งยับเยินยู่ยี่มากขึ้น พร้อมกับเสียงเพลงบรรเลงที่คลอด้วยความเศร้า และคุณเลขาสาวก็ต้องมานั่งคอตกหดหู่เหม่อมองดูกระดาษที่ถูกขยำทิ้งไปต่อหน้าต่อตา สักพักหนึ่ง เสียงโองการสวรรค์ก็พูดแนะนำขึ้นว่า “ลองใช้กระดาษยี่ห้อ xxx ดูสิ...คมชัดทุกเฉดสี” แล้วภาพกระดาษพิมพ์ก็ไหลออกมาจากเครื่องพริ้นเตอร์   จากนั้น เมื่อเจ้านายได้รับรายงานแฟ้มชุดใหม่ กระดาษรายงานที่พิมพ์ได้อย่างคมชัดด้วยสีสัน ก็ทำให้ใบหน้าอันยับยู่ยี่ของเลขาสาวค่อยๆ คลี่ออก กลายเป็นวงพักตร์ที่ผุดผ่องสดใสขึ้นมา เจ้านายใหญ่ได้ส่งสายตาหวานฉ่ำให้กับเธอ พร้อมกับเสียงสวรรค์ที่พูดตบท้ายว่า “งานดี คุณก็ดูดี...กระดาษไม่ดี คนใช้กระดาษก็ดูไม่ดีด้วย”   ตามที่ผมได้เบิกประเด็นเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า การเกิดขึ้นของแผ่นกระดาษได้เปลี่ยนแปลงอารยธรรมโลกเป็นอย่างมาก และทุกวันนี้มนุษย์เราก็ได้ปรับเปลี่ยนคุณค่าใหม่ๆ ในการสื่อสารด้วยแผ่นกระดาษออกไป   ย้อนกลับไปในยุคเก่าก่อน คุณค่าของมนุษย์จะถูกตัดสินด้วยความรู้ที่บันทึกบนแผ่นกระดาษ และคุณค่าจากการอ่านออกเขียนได้ จนคนไทยสมัยก่อนเองก็มีคำพูดที่ว่า “ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ” อันแปลว่า ความรู้ที่ผ่านการอ่านออกเขียนได้เป็นสิ่งที่ใช้ตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของคนในยุคนั้น   ผมจำได้ว่า สมัยเมื่อตอนเด็กๆ นั้น ตนเคยถูกบังคับให้เรียนทั้งวิชาเขียนไทยและคัดไทย คัดเขียนกันตั้งแต่ตัวอักษรไทยธรรมดา ตัวเลขไทย ไปจนถึงการฝึกเขียนอักษรแบบตัวอาลักษณ์ซึ่งยากเย็นแสนเข็ญยิ่ง แต่นั่นก็เพราะว่ามาตรวัดคุณค่าของคนยุคนั้นเขาตัดสินกันจากลายเส้นอักขระที่เราเขียนลงบนแผ่นกระดาษ  จนถึงขนาดที่นักร้องลูกทุ่งสมัยก่อนเอาไปร้องเป็นเพลงว่า “ลายมือไม่ดีต้องขอโทษทีเพราะความรู้ต่ำ” ประมาณนั้น แต่มาถึงทุกวันนี้ ที่เทคโนโลยีการพิมพ์ก้าวหน้ามากขึ้น “ลายมือไม่ดี” ยังไม่สำคัญเท่ากับ “คุณภาพกระดาษที่ไม่ดี” เพราะการพิมพ์งานให้ออกมาดูสวยงามได้นั้น ต้องอาศัยคุณภาพแผ่นกระดาษที่ทนความร้อนจากเครื่องพิมพ์ได้ เพราะฉะนั้น คงไม่ใช่ “ลายมือ” ที่จะถูกใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าและความรู้ของคนอีกต่อไป หากแต่เป็นคุณภาพของกระดาษที่เราเลือกใช้มากกว่า ที่จะบ่งบอกว่า “ผลของงาน” นั้นจะมีคุณภาพแค่ไหนและเพียงใด   ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมเจ้านายใหญ่ที่รับแฟ้มรายงานประจำปีมาอ่าน จึงแทบจะไม่สนใจเนื้อหาและกราฟสถิติที่สรุปผลไว้ในรายงานชิ้นดังกล่าวเลย แต่กลับตัดสินคุณค่าของงานจากแผ่นกระดาษที่เลขาสาวเลือกมาใช้พิมพ์เป็นลำดับแรก   กระดาษที่ดีและไม่ทำให้สีผิดเพี้ยนนั้น ได้กลายมาเป็น “คุณค่า” แบบใหม่ในสังคมอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต ผิดกับกระดาษอันยับยู่ยี่ที่จะถูกนำมาใช้ตัดสิน “คุณค่า” ของคุณเลขานุการิณีสาวว่า คุณภาพของผลงานที่เธอทำขึ้นมา ก็ยับยู่ยี่ไม่ต่างไปจากกระดาษที่เธอเลือกใช้แต่อย่างใด   ถ้าใช้แผ่นกระดาษดี แล้วแปลว่าผู้เลือกใช้จะดูดีตามแล้วไซร้ ผมว่าต่อไป หากคุณเลขานุการสาวจะลองเลือกพิมพ์งานด้วยกระดาษปาปิรุสดูบ้าง ก็อาจจะดูดี ดูคลาสสิก และดูโดดเด่นแตกต่างไปจากแฟ้มงานแบบอื่น ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีไม่น้อย...  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 อะไรเอ่ย...คนกินไม่ได้ปลูก คนปลูกไม่ได้กิน?

  อะไรเอ่ย คนกินไม่ได้ปลูก แถมคนปลูกก็อาจจะไม่เคยแม้แต่จะได้กิน?... คำเฉลยก็คือ “กาแฟ” ไงล่ะครับ เป็นเรื่องที่น่าแปลกไหมครับว่า ทำไมกาแฟที่ผู้คนดื่มจิบกันอยู่ทุกวันจึงกลายเป็นสิ่งที่พวกเขาได้แต่ดื่ม แต่ไม่เคยลงมือปลูกเอง ในขณะที่คนปลูกเองก็แทบจะไม่มีใครได้ดื่มเป็นกิจวัตรวิสัย   ในโฆษณากาแฟสำเร็จรูปแบบ 3 in one ยี่ห้อหนึ่ง ได้ผูกเล่าภาพเรื่องราวของพระเอกหนุ่มซุป’ตาร์รูปงามในชุดสเวตเตอร์สีแดงนายหนึ่ง เดินทางเข้าไปเยือนธรรมชาติของหุบเขาทางภาคเหนือกลางฤดูใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสี   ดนตรีคลอเบา ๆ ฟังสบาย ๆ และเขาก็กำลังรื่นรมย์ชมชื่นอยู่กับทัศนียภาพรอบตัว (ด้วยแววตาตกอยู่ในภวังค์แห่งธรรมชาติที่งดงามยิ่งนัก) ทันใดนั้น เสียงเอคโค่แทนความในใจของเขาก็ก้องดังขึ้นมาว่า “…(กับบรรยากาศดี ๆ แบบนี้) ถ้ามีกาแฟหอม ๆ สักถ้วยก็คงดี...”   ฉับพลัน เด็กน้อยชาวเขานางหนึ่งที่แอบอยู่หลังต้นไม้ก็ปรากฏตัวออกมา เด็กหญิงเดินเข้ามาสะกิดตัวของซุป’ตาร์หนุ่ม และเอ่ยกล่าวกับเขาที่กำลังต้องมนตราแห่งใบไม้เปลี่ยนสีว่า “...พี่ ๆ ตัวจริงหล่อกว่าในทีวีอีกนะคะ...”   คุณพี่พระเอกส่งยิ้มหวานให้กับน้องชาวเขาตัวน้อย และราวกับจะรู้และได้ยินเสียงเอคโค่ความในใจของคุณพี่พระเอกสุดหล่อ เด็กหญิงได้หยิบซองกาแฟ 3 in one ส่งให้ เขาอ่านออกเสียงชื่อยี่ห้อข้างซองกาแฟให้ผู้ชมได้ยิน แล้วเสียงเพลงคลอกีตาร์โปร่งก็เริ่มดังขึ้นว่า “...มีเวลาดี ๆ ก็บอกให้ฉันได้ฟัง ไม่มากเกินไปกว่านั้น...”   ภาพตัดสลับมาที่เมล็ดกาแฟยอดดอยซึ่งคั่วจนหอมแล้ว กำลังร่วงกราวลงมาที่หน้าจอโทรทัศน์ มีมือของคนงานที่กำลังกวาดเกลี่ยเมล็ดกาแฟให้แห้งทั่วกัน ก่อนที่จะกลายเป็นภาพของเมล็ดกาแฟเหล่านั้นได้แปรสภาพเป็นกาแฟผงสำเร็จรูปแบบ 3 in one ที่เทออกจากซองระเรี่ยไหลลงในถ้วยกาแฟของพระเอกหนุ่ม ชายหนุ่มสูดกลิ่นอายของกาแฟ แกล้มกับการสูดอนุภาคของโอโซนเข้าไปเต็มปอด เขาจิบกาแฟในถ้วย และแสดงแววตาตื่นตะลึงออกมา ประหนึ่งว่าได้ “ค้นพบ” บางสิ่งบางอย่างที่วิเศษเลอเลิศที่สุดในชีวิต พร้อมกับชูถ้วยกาแฟบอกกับผู้ชมทางบ้านว่า “หอม...นี่แหละรสชาติดี ๆ ที่ผมค้นพบ” ปิดท้ายโฆษณาด้วยภาพคุณพี่พระเอกกับคุณน้องชาวเขานั่งเคียงคู่กัน ก่อนจะถ่ายภาพคู่เพื่อเก็บความทรงจำอันดีและมนต์เสน่ห์ในการจิบกาแฟกลางขุนเขาของคุณพี่พระเอกเอาไว้แบบเป็นนิรันดร์   ก็อย่างที่ทราบ ๆ กันนะครับ ด้วยทำเลที่ดีทางภูมิประเทศและภูมิอากาศ ภาคเหนือของเราได้กลายมาเป็นดินแดนที่เหมาะสมกับการทำกสิกรรมไร่กาแฟ ยิ่งประกอบกับยุคสมัยหนึ่งที่ทางภาครัฐได้รณรงค์ส่งเสริมให้ชาวเขาชาวดอยปลูกกาแฟแทนการปลูกฝิ่น การผลิตกาแฟจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเบ่งบานมากจนถึงปัจจุบัน แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ ในขณะที่ชาวเขาประกอบอาชีพกสิกรในไร่กาแฟเป็นจำนวนมาก แต่ผลผลิตของกาแฟกลับไม่ใช่เป็นไปเพื่อการบริโภคโดยชาวเขาเองเป็นหลัก ทว่า กาแฟหลากหลายตันต่อปีได้ถูกแปรรูปไปเป็นผลิตผลเพื่อการดื่ม(ด่ำ)ของผู้บริโภคที่อยู่นอกพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ดื่มที่อยู่ตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ   ก็คล้าย ๆ กับในโฆษณานั่นแหละครับ เมื่อคุณพระเอกหนุ่มปรารถนาจะหากาแฟหอม ๆ สักถ้วยมาดื่มท่ามกลางบรรยากาศใบไม้ร่วงบนยอดเขา เขาก็ไม่ได้เลือกจะลงมือปลูกกาแฟเอาไว้เพื่อดื่มเอง   ตรงกันข้าม คุณพี่พระเอกกลับเลือกชงกาแฟที่หยิบยื่นให้จากมือน้อย ๆ ของคุณน้องผู้หญิงชาวเขา โดยบอกกับผู้ชมว่า นี่แหละคือสิ่งดี ๆ ที่ตน “ค้นพบ” พร้อม ๆ กับที่คนดูเองก็ค้นพบคำตอบด้วยว่า เรื่องของกาแฟนั้น คนปลูกเขาจักไม่ดื่ม เฉกเช่นเดียวกับที่คนดื่มเองก็จักไม่ใช่ผู้ที่ลงสองมือปลูก รวมไปถึงคั่ว ตาก เก็บ และบดออกมาเป็นผงกาแฟปรุง 3 in one แบบที่ผมถามอะไรเอ่ยเล่น ๆ ในตอนต้นนั่นเอง อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ว่าชาวเขาปลูกกาแฟแต่ไม่ได้ดื่มเองนั้น ปัญหาไม่ใช่อยู่แค่เพราะว่า เขาดื่มกาแฟไม่เป็นกันหรอกนะครับ แต่น่าจะเป็นเพราะว่าพวกเขาเป็นชนชายขอบหรือแรงงานชายขอบที่มี “อำนาจน้อย” ตั้งแต่การไร้อำนาจที่จะเป็นเจ้าของไร่กาแฟ (ซึ่งนายทุนเจ้าของส่วนใหญ่ก็เป็นคนนอกพื้นที่) การไม่มีอำนาจในการเป็นเจ้าของเม็ดเงินที่จะลงทุนเพาะปลูกเมล็ดกาแฟ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่า “ใครพึงควรเป็นผู้ปลูก” และ “ใครพึงควรเป็นผู้ดื่ม” ในวงจรการผลิตสินค้ากาแฟ    เพราะฉะนั้น เมื่อมีอำนาจน้อย โฆษณาก็เลยทำให้ตัวละครชาวเขากลายสภาพเป็น “เด็กน้อยตัวกระเปี๊ยก” ไปเสียเลย แถมยังเป็นเด็ก “บ้านป่าบ้านเขา” ที่ชื่นชมความหล่อเหลาของพระเอกทีวี และเอื้ออารีมากพอที่จะส่งมอบกาแฟรสหอมแบบ 3 in one ให้กับคุณพี่พระเอก ที่แสดงความในใจว่าอยากดื่มกาแฟหอม ๆ เพื่อแกล้มเคล้ากับโอโซนกลางขุนเขา ชาวเขาผู้ผลิตกาแฟที่กลายเป็นเด็กน้อย “น่ารัก” และ “น่าชัง” จึงมีสถานะเป็นได้แค่คนชายขอบของอำนาจในกระบวนการผลิตและบริโภคกาแฟไปโดยปริยาย   ท้ายสุด ผมลองคิดเล่น ๆ ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหนอ ถ้าโฆษณาเกิดนำเสนอภาพขึ้นมาใหม่ว่า ให้คุณพี่พระเอกหนุ่มลงมือปลูกกาแฟและตากคั่วเมล็ดกาแฟเองเลย ในขณะที่คุณน้องหนูชาวเขามานั่งจิบกาแฟชมทัศนียภาพแห่งขุนเขาในฤดูใบไม้เปลี่ยนสีแทน กับบทบาทผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สลับกันดังกล่าวนี้ หลาย ๆ คนก็คงจะบอกว่า เป็นภาพที่สลับขั้วสลับข้าง และคงจะดูแปลกประหลาดหรือชวนตะหงิด ๆ ใจผู้ชมอยู่ไม่น้อย???  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 120 คืนวันอันพิเศษกับการบริโภคอันล้นเกิน

  คุณผู้อ่านเคยสงสัยกันไหมครับว่า ช่วงเวลาใดในชีวิตที่มนุษย์อย่างเรา ๆ จะบริโภควัตถุกันอย่างเข้มข้นและมากมายที่สุด คำตอบก็คือ ช่วงเวลาพิเศษที่เราปลีกตัวออกไปอยู่ในสภาวะที่แปลกและแตกต่างไปจากชีวิตปกติประจำวัน   และที่สำคัญ ช่วงเวลาพิเศษแบบนี้แหละครับ ที่โฆษณาจะมีอำนาจในการขยายพฤติกรรมการบริโภคของมนุษยชาติให้ล้นเกินไปจากความต้องการพื้นฐานของเรา ก็ดังที่เราได้เห็นจากโฆษณาโลชั่นบำรุงผิวยี่ห้อหนึ่ง ที่นักการตลาดได้ผูกความเรื่องราวของคู่รักข้าวใหม่ปลามันในช่วงเวลาพิเศษอย่างช่วงฮันนีมูนอันแสนหวาน และใช้ฉากในพื้นที่พิเศษที่อยู่ไกลโพ้นถึงนครปารีสดินแดนน้ำหอม   โฆษณาชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยการจับภาพของหอไอเฟล ที่มองผ่านสายตาของคู่ฮันนีมูนจากแดนสยาม และมีเสียงผู้บรรยายกล่าวกับผู้ชมขึ้นว่า “...(ชื่อผลิตภัณฑ์)...ค้นพบคนที่ต้องการมีผิวเนียนนุ่ม...”   แล้วจากนั้น ภาพก็ตัดมาที่ชายหนุ่มซึ่งกุมมือภรรยาสาวอยู่กลางสวนแห่งหนึ่งของกรุงปารีส ภรรยาสารภาพกับกล้องว่า “ช่วงฮันนีมูน ฉันไม่อยากให้ผิวแห้งกร้าน ฉันจึงใช้...(ชื่อแบรนด์ของโลชั่นดังกล่าว)...ผิวจะได้ชุ่มชื่นตลอด 24 ชั่วโมง...” แล้วโฆษณาก็ฉายภาพของเธอกำลังชะโลมโลชั่นให้ผิวกายนุ่มเนียน ภาพโฆษณาตัดสลับไปมาระหว่างทัศนียภาพของกรุงปารีส จากหอไอเฟล ผ่านย่านต่างๆ ในตัวเมือง จนถึงภาพของมหาวิหาร Notre Dame de Paris สลับกับภาพของคู่รักใหม่ที่นั่งกอดเอวกัน กุมมือกัน ควงโอบกันไปชื่นชมราตรีของปารีส ดื่มด่ำกับดนตรีที่บรรเลงริมแม่น้ำ Seines และยืนเต้นรำกันอยู่ริมถนนสายหนึ่ง ภาพที่ตัดสลับกันไปมานี้ก็เหมือนกับจะเป็นการสื่อสารกับผู้ชม ถึงความหมายและความสุขที่คู่ฮันนีมูนได้รับในช่วงเวลาอันเป็นพิเศษสุด และกับคืนวันอันพิเศษเยี่ยงนี้ ชายหนุ่มก็ได้เอ่ยสารภาพกับกล้องว่า “เราสองคนแทบจะไม่อยากปล่อยมือออกจากกันและกันเลย” และสาวเจ้าก็พูดโต้กลับแบบค้อนๆ ว่า “คุณต่างหาก...ไม่ใช่ฉัน...” โฆษณามาจบที่ประโยคของชายหนุ่มที่พูดขึ้นว่า “ผมไม่เคยคิดเลยนะครับว่า ผิวของเธอจะนุ่มอย่างนี้” โดยที่หญิงคนรักได้เอาศอกกระทุ้งเอวเขาเบาๆ ก่อนจะกล่าวว่า “อะไรนะคะ” แล้วภาพก็ปิดลงที่ฉากของมหาวิหาร Notre Dame ที่แสงของวันคืนค่อย ๆ เปลี่ยนไป คุณผู้อ่านนึกฉงนหรือไม่ครับว่า แล้วช่วงเวลาพิเศษอย่างการเดินทางไปฮันนีมูนนั้น สัมพันธ์อย่างไรกับพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์เรา ถ้าสังเกตในโฆษณากันดี ๆ ช่วงเวลาพิเศษถือเป็นช่วงที่ผิดแผกแตกต่างไปจากชีวิตประจำวันของคนเรา เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นห้วงเวลาและพื้นที่ที่แตกต่างออกไป ธรรมเนียมปฏิบัติของเราก็เลยต้องผิดแหวกและหวือหวาเกินไปกว่าภาวะปกติ แบบเดียวกับที่ตัวละครก็จะมีการเดินทางที่มากไปกว่าปกติ(ชนิดข้ามฟ้ากันไปไกลถึงยุโรป) แต่งตัวให้ดูโก้เก๋ไปกว่าชีวิตประจำวัน เกาะกุมมือและเดินโอบเอวกันมากกว่าช่วงเวลาทั่วไป หรือแม้แต่ประกอบกิจกรรมอันใดที่อาจจะไม่เคยได้ทำกันมาก่อนเลยในชีวิต อย่างเช่น การเต้นรำคลอกับแสงจันทร์และเสียงดนตรีอยู่ริมบาทวิถีของนครปารีส   และเพราะอยู่ในช่วงเวลาที่พิเศษกับการสร้างวัตรปฏิบัติที่พิเศษออกไป มนุษย์เราจึงต้องการการบริโภควัตถุบางอย่างที่ออกจะล้นเกินไปจากความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต ด้วยสภาวะอากาศของปารีสที่หนาวและแตกต่างอย่างยิ่งกับภูมิอากาศเมืองร้อนของไทย ประกอบกับมือของคู่รักที่เกาะกุมกันไว้แทบไม่ปล่อยออกจากกันเลยในช่วงแห่งการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ ผิวและมืออันแห่งกร้านก็เลยกลายเป็นอุปสรรคต่อความสุขของคู่วิวาห์มือใหม่ไปโดยปริยาย เพราะฉะนั้น ในการนี้ วัตถุหรือสินค้าต่างๆ จึงได้เสนอตัวออกมาเพื่อขจัดปัดเป่าปัญหา และทำให้ช่วงเวลาพิเศษกลายเป็นสภาวะพิเศษจริง ๆ อันจะส่งผลให้ช่วงเวลาดังกล่าวกลายเป็นความทรงจำที่ทรงคุณค่าของชีวิตไปในที่สุด   ก็เช่นเดียวกับที่คุณผู้อ่านหลายท่านก็คงจะสังเกตได้ว่า ในวาระโอกาสพิเศษอย่างการไปเที่ยวสถานที่ไกลๆ หรือไปท่องเที่ยวฮันนีมูนยังต่างประเทศนั้น มนุษย์เราก็พร้อมจะซื้อ จะจ่าย จะเสพ หรือจะบริโภควัตถุต่าง ๆ รอบตัว ชนิดว่ามากล้นเกินกว่ามาตรฐานการครองชีพทั่วไป ยิ่งเสริมด้วยมนต์เสน่ห์แห่งแม่น้ำ Seines และมหานครปารีสด้วยแล้ว คนรักสาวที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาไกลจากแดนสยาม ก็พร้อมจะชะโลมโลชั่นและอบร่ำประทินผลิตภัณฑ์ปริมาณมหาศาลไปทั่วองคาพยพร่างกาย ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่มีช่วงเวลาใดอีกแล้วที่มนุษย์เราจะยินดีและยินยอมที่จะขยับขยายพฤติกรรมการบริโภคของตนให้เป็นไปอย่างเข้มข้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาพิเศษที่เราสร้างขึ้นให้กับชีวิต(แบบช่วงท่องเที่ยวดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์) อันเป็นจังหวะชีวิตที่สินค้าและบริการต่าง ๆ จะเปล่งประกายอำนาจเข้ามากำกับและชโลมเคลือบอยู่ทั่วสรรพางค์กายของเรา โดยปกติแล้ว ช่วงเวลาพิเศษนั้นเป็นความจำเป็นของชีวิตผู้คนในทุกยุคทุกสมัย ที่จะหาจังหวะโอกาสในการประกอบกิจกรรมหรือออกแบบพฤติกรรมใดๆ ก็ตาม ที่เลี่ยงหลบและตื่นตาไปจากความซ้ำซากของชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น ในวโรกาสพิเศษแบบนี้ การกิน การนอน และการใช้ชีวิต จึงเอื้อให้เราได้มีประสบการณ์แปลกๆ ใหม่ๆ กับโลกที่แตกต่างไปกว่าแค่การตื่นขึ้นมา แต่งตัวไปทำงานและกลับมาบ้าน กินข้าวอาบน้ำ แล้วก็เข้านอน จนซ้ำซากวนเวียนเป็นวัฏจักร แต่ก็นั่นแหละครับ ช่วงเวลาพิเศษเยี่ยงนี้ก็อาจจะกลายเป็นจังหวะเวลาที่เปราะบางของชีวิต ที่มนุษย์เรามักจะถูกยวนเย้าให้เหหันไปหาศิลปะแห่งการบริโภคและปรุงแต่งการใช้ชีวิตแบบใหม่ๆ ขึ้นมา และเราเองก็จะได้ละเลงโลชั่นกันแบบมากล้น การบริโภคไม่ได้มีความผิดอันใดในตัว เพราะมนุษย์ทุกคนก็ต้องเสพวัตถุต่างๆ เพื่อดำรงชีวิตเป็นพื้นฐานกันอยู่แล้ว แต่กับคืนวันอันพิเศษและการบริโภคแบบที่ล้นเกินความจำเป็นนั้น ก็อาจเป็นเรื่องที่น่าคิดยิ่งนักสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกวันนี้เช่นกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 119 “มูลค่า” ในกายทองคำ

  “มูลค่า” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “value” นั้น เป็นหัวใจหลักหรือเป็นคุณค่ามูลฐานที่สำคัญประการหนึ่งของผู้คนในสังคมแห่งการบริโภค  แล้ว “มูลค่า” กลายมาเป็นมูลฐานแห่งชีวิตของผู้บริโภคได้อย่างไร? เราอาจควานหาคำตอบได้จากโฆษณาผลิตภัณฑ์ประทินผิวยี่ห้อหนึ่งที่แพร่ภาพผ่านโทรทัศน์  โฆษณาชิ้นนี้เปิดฉากมาด้วยความอลังการของราชสำนักจีนในอดีตอันไกลโพ้น โดยเริ่มด้วยภาพของขุนนางนายหนึ่งส่งถวายแหวนทองคำให้แด่พระจักรพรรดิ แล้วพระองค์ก็นำแหวนมาร้อยเป็นสร้อยคล้องคอของราชินีรูปงาม ทันใดนั้นพระศอของพระนางก็เปล่งฉัพพันรังสีแห่งทองคำออกมาในบัดดล  เสียงผู้บรรยายสตรีก็พูดขึ้นในโฆษณาว่า “ผู้ใดได้ครอบครองทองคำ ผู้นั้นจะคงความเปล่งประกายแห่งวัยและความรักชั่วนิรันดร์ ด้วยเหตุนี้ ทองคำจึงกลายเป็นสุดยอดปรารถนาของอำนาจมืด…”   ภาพตัดกลับมาที่ราชินีรูปงามขี่ม้าหนีศัตรูที่ตามล่าไปถึงหน้าผาแห่งหนึ่ง เมื่อพระนางจวนตัวและกำลังจะถูกชิงแหวนทองคำไป พระนางจึงกระชากแหวนทองออกจากพระศอ แล้วเขวี้ยงลงไปในหุบผา พร้อมกับเสียงผู้บรรยายกล่าวต่อไปว่า “...และแล้วฟ้าก็ลิขิตให้มันสูญหายไปในกาลเวลา...” จากนั้นโฆษณาก็ตัดมายังภาพแหวนที่กลิ้งลงไปด้านล่างของหน้าผา แล้วสลายกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ประทินความงามบรรจุขวด พร้อมเสียงบรรยายว่า “…จนถึงวันที่อานุภาพแห่งทองคำกลับคืนมาอีกครั้ง เพื่อสานต่อความรักให้คงอยู่ชั่วนิรันดร์...” บัดนี้ราชินีนางนั้นได้กลับมาเกิดในชาติภพปัจจุบัน เธอเดินอยู่ในร้านขายวัตถุโบราณ และเอื้อมไปหยิบแหวนทองคำขึ้นมาเชยชม พร้อมกับมีรัศมีออร่าเปล่งออกมาจากเรือนกายของเธอ ชายหนุ่มเดินเข้ามาในร้านวัตถุโบราณ เขาถึงกับตะลึงงันและสัมผัสได้ถึงอดีตชาติที่แฝงอยู่ในรัศมีทองคำที่เคลือบกายของหญิงสาวนางนั้น แม้กาลเวลาจะผ่านพ้นไป แต่เธอก็ยังมี “ผิวที่เปล่งประกายดุจวัยเยาว์” ก่อนที่โฆษณาจะจบลงด้วยภาพของผลิตภัณฑ์ที่เปล่งรัศมีออร่าสีทองฉานต่อสายตาของผู้ชม จากโฆษณาข้างต้น ดูเหมือนว่า “ทองคำ” มิใช่จะเป็นแค่ “ทองคำ” หรือเป็นแค่ธาตุทางธรณีวิทยาชนิดหนึ่งที่ชำแรกอยู่ในสายแร่เหมือนกับโลหะชนิดอื่น ก่อนที่มนุษย์เราจะเพียรขุดค้นแร่ธาตุดังกล่าวนั้น ขึ้นมาทำเป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย แต่ทว่า “ทองคำ” ดูจะเป็นสิ่งที่มนุษย์เรา “เสกมนตรา” ให้มีมูลค่าบางอย่างที่มากเกินโลหะวัตถุ และจะมีก็แต่เฉพาะมนุษย์บางคนเท่านั้นที่จะเข้าถึงหรือเป็นเจ้าของ เพราะฉะนั้น ทองคำจึงมิใช่วัตถุที่มีไว้สำหรับปัจเจกบุคคลทั่วไป แต่เป็นวัตถุที่จำเพาะไว้ก็แต่ราชินีรูปงามที่จะมีไว้คล้องพระศอของพระนางเท่านั้น และยิ่งเมื่อมาถึงในกาลปัจจุบัน ทองคำจากพระศอของราชินีงามได้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของสาวๆ รุ่นใหม่ ก็ยิ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า มนุษย์เราได้กำหนดมูลค่าบางอย่างที่เพิ่มพูนยิ่งขึ้นให้กับวัตถุอย่างทองคำ ในอดีตนั้น มูลค่าที่มนุษย์ให้ความสำคัญแก่ชีวิตของตนนั้น จะเป็นบรรดามูลค่าที่เกิดจากอรรถประโยชน์ใช้สอยต่างๆ ซึ่งถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็คือ ทุกครั้งที่มนุษย์เราเสพหรือบริโภควัตถุใดๆ เป้าหมายเบื้องแรกสุดของเราก็มักจะเป็นการใช้วัตถุแห่งการบริโภคเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด หรือเพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์บางประการต่อตัวเรา   ตัวอย่างของมูลค่าเชิงอรรถประโยชน์นี้ก็เช่น เรากินข้าวบริโภคอาหารก็เพื่อให้อิ่มท้อง เราสวมเสื้อผ้าก็เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เราใช้ครีมชะโลมผิวก็เพื่อให้ความชุ่มชื่นแก่ผิวกาย เพราะฉะนั้น ในแง่นี้การบริโภคข้าว เสื้อผ้า และครีมบำรุงผิว ก็คือการบริโภคใน “มูลค่าใช้สอย” ของวัตถุต่างๆ ดังกล่าว จนเมื่อยุคสมัยผ่านไป ดูเหมือนว่า การบริโภคเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่ออิ่มท้อง อาจไม่ใช่เป้าหมายเดียวและไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของผู้คนอีกต่อไปแล้ว มนุษย์ยุคนี้เริ่มรู้จักมักคุ้นที่จะพัดพาเอามูลค่าแบบใหม่มาฉาบเคลือบให้กับชีวิตของตนเอง ด้วยเหตุดังกล่าว ทุกวันนี้มนุษย์เราจึงได้สร้างวัตถุอย่างทองคำขึ้นมา ก็เพื่อให้กลายเป็นบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายมากกว่าแค่ทองคำธรรมดาๆ หรือเป็นทองคำที่ผนวกมูลค่าเชิงความหมายหรือ “สัญญะ” ที่จะบอกคนอื่นว่า หากใครได้ครอบครองสัญญะแห่งทองคำแล้ว คนนั้นก็จะ “เปล่งประกายแห่งวัยเยาว์และความรักชั่วนิรันดร์”   ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจที่ตั้งแต่ยุคอาณาจักรจีนโบราณจวบจนถึงปัจจุบัน มนุษย์จึงไม่ได้ไล่ล่าแค่วัตถุแบบทองคำ แต่เป็นการทั้งไล่และทั้งล่าตามหา “สัญญะ” หรือมูลค่าเชิงความหมายที่แนบมาในทองคำ เพราะมูลค่าเชิงสัญญะที่อยู่ในทองคำนี่เอง จะทำให้ผู้ครอบครองมูลค่าดังกล่าวมีอำนาจเปล่งประกายรัศมีเหนือผู้อื่น และเป็นรัศมีออร่าที่ก้าวข้ามผ่านกาลเวลา   และที่น่าสนใจก็คือ ในยุคอาณาจักรจีนโบราณนั้น แม้จะมีการกำหนดคุณค่าแห่งสัญญะเอาไว้ในวัตถุอย่างทองคำ แต่มนุษย์เราหรือราชินีรูปงามก็พร้อมจะสลัดมูลค่าดังกล่าวทิ้งลงหุบเหวไป หากแม้นว่าสัญญะดังกล่าวได้ผันกลายเป็น “สุดยอดปรารถนาของอำนาจมืด” ที่จะเข้ามาครอบงำมวลมนุษย์เอง   แต่ในยุคแห่งการบริโภคแล้ว อำนาจแห่งสัญญะนั้น จะมืดหรือจะสว่างก็คงไม่สำคัญเท่าไรนัก เพราะดูเหมือนว่า จะเป็นมนุษย์เรานั่นเองที่จับเอามูลค่าสัญญะในทองคำมาบรรจุเอาไว้ในขวด ก่อนที่เราเองก็จะเลือกเอาสัญญะนั้นมาฉาบเคลือบชะโลมผิวพรรณให้เปล่งประกาย   มูลค่าเชิงสัญญะที่เคลือบเอาไว้ถ้วนทั่วสรรพางค์กายเช่นนี้ จึงทำให้มนุษย์เราติดกับอยู่ในวังวนของสิ่งปลอมๆ เพราะมันมิใช่การบริโภคของจริงที่เป็นรูปธรรม(แบบข้าวปลาอาหารที่เป็นอรรถประโยชน์ใช้สอยจริง ๆ) แต่ทว่า การบริโภคดังกล่าวเป็นเพียงการเสพความหมายเชิงนามธรรม ที่ยิ่งกินยิ่งประทินยิ่งเสพ เราเองก็จะถูกลวงล่อว่าดูดีมีอำนาจเหนือมนุษย์คนอื่น มนุษย์เรามีต่างเพศต่างผิวพรรณกันเป็นธรรมชาติปกติอยู่แล้ว แต่หากในวันนี้ ผู้หญิงรูปงามบางคนเริ่มใช้ผิวกายที่เปล่งรัศมีทองคำออกมาแสดงความหมายว่า เธอดูดีดูเด่นดูมีคุณค่ากว่าบุคคลอื่น ๆ บางทีเราเองก็อาจต้องกลับมาคิดกันใหม่ว่า แล้วมูลค่าในกายทองคำเป็นมูลค่าอันแท้จริงของอิสตรีกันจริงหรือ?

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point