ฉบับที่ 102 หญิงแกร่งแห่งวงการยา “ผศ.ภญ.สำลี ใจดี”

ทุกคนมีสิทธิ

สัมภาษณ์โดย อวยพร แต้ชูตระกูล และ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
ถ่ายภาพโดย อนุชิต นิ่มตลุง
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ 'หลังประติมาสาธารณสุข' 2552

ในแวดวงเรื่องยา น้อยคนที่จะไม่รู้จัก อ.สำลี ใจดี ผู้หญิงแกร่งที่สร้างคุณูปการมากมายให้ประเทศนี้ ทั้งในทางแจ้งและทางลับ ธรรมดา อ.สำลี ไม่ชอบการให้สัมภาษณ์ จึงไม่ค่อยมีใครได้เคยอ่านบทสัมภาษณ์แบบเต็มรูปแบบเกี่ยวกับเรื่องราวในชีวิตของท่านมาก่อน แต่…กรรณิการ์ กิจติเวชกุล สามารถ และนำเรื่องราวของท่านมาเป็นบรรณาการแก่ผู้อ่านฉลาดซื้อ

 

การส่งเสริมสวัสดิภาพการใช้ยาของประชาชน ศึกษาวิจัยการใช้ยาของชุมชน การใช้ยาซองยาชุด รณรงค์ต่อต้านการใช้ยาชุด-ยาซองแก้ปวดควบคู่กับการยกเลิกสูตรตำรับยาที่ไม่เหมาะสม...ส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสม ...รณรงค์การใช้ยาสมุนไพร (ตั้งแต่สมัยที่ไม่มีใครเหลียวแล)... คัดค้านการแก้ไข พรบ.สิทธิบัตร เปิดโปงทุจริตยา 1,400 ล้านบาท ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หนุนหลังให้กระทรวงสาธารณสุขประกาศซีแอล (การประกาศใช้สิทธิตามสิทธิบัตร) นำเข้าในยาต้านไวรัสเอดส์, ยาโรคหัวใจ และยามะเร็ง ในชื่อสามัญให้คนไทยเข้าถึงยาจริงๆ นี่เป็นเพียงผลงานบางส่วนของ “ผศ.ภญ.สำลี ใจดี” หญิงแกร่งที่เป็นทั้งนักวิชาการผู้มั่นคง และเอ็นจีโอผู้มุ่งมั่นที่อยู่เบื้องหลังของเกือบทุกเรื่องที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการสาธารณสุขร่วมสมัย

 

อยากทราบว่าทำไมอาจารย์ถึงเลือกเรียนเภสัช
จริงๆ แล้ว ทีแรกไม่ได้อยากเลือกเภสัชนะ อยากเรียนวารสารศาสตร์มากกว่า แต่พ่อบอกว่าควรจะสืบทอดมรดก คือที่บ้านปู่ทวดเป็นหมอพื้นบ้าน เวลาเข้าบ้านที จะหอมฟุ้งทั้งบ้านเลย เราก็เลยมีหน้าที่สืบทอดการช่วยชีวิตคนต่อไป ตอนนั้นคิดว่าเป็นหมอช่วยชีวิตคนได้เยอะที่สุดแล้ว สมัยก่อนใช้วิธีสอบตรง ก็สอบได้หลายที่

แต่ปีก่อนหน้านั้น สอบได้บัญชี ธรรมศาสตร์ เรียนอยู่ครึ่งเทอม ก็ทนเรียนไม่ได้ สอบวิชาบัญชี เราได้ B+ เกือบ A หมด อยู่ในเกณฑ์ท็อป 20 % แรกของชั้นปี แต่สอบตกอยู่ 1 วิชา คือวิชาเลขานุการ วิชานี้คนที่สอบตกมีแต่พวกไม่เรียน (คือมันง่ายมาก) แต่เราตก เพราะข้อสอบเขาสั่งให้แสดงความเห็นว่า เป็นเลขานุการคุณควรจะประพฤติตัวอย่างไร ต้องเก็บความลับ รวมทั้งมุสาด้วย ต้องออเซาะเจ้านาย เรารับไม่ได้มันผิดศีลธรรม ก็เลยเขียนด่าลงไปในข้อสอบ แล้วก็เลยเลิกเรียนตั้งแต่ตอนนั้น พักเรียนไปครึ่งปีเพื่อติวตัวเอง สอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ คราวนี้เลือกหมอ และเภสัชเป็นอันดับ 2 ก็ได้เภสัช

สอบได้เภสัช ตรงกับที่อยากเรียนไหม
เฉยๆ เพราะมันไม่ใช่ที่ชอบที่สุด เป็นคนชอบอ่านหนังสือ เราก็ไปเสพสุขด้านนั้นมากกว่า การเรียนไม่มีปัญหา แต่ก็มีเรื่องขำขัน ตอนนั้นมาเรียนที่เภสัช จุฬาฯ เขามีบันไดขึ้น 2 ทาง เขาจะขึ้นทางลงทางหรือสวน พอไปถึงวันแรก รุ่นพี่ก็บอกว่ารุ่นน้องต้องให้พี่ขึ้นก่อน เราก็หันขวับ สวนไปเลย “พ่อแม่ไม่เคยสอน” รับมันไม่ได้เลย เพราะที่บ้านมีแต่สอนให้พี่ยอมให้น้อง เหมือนอยู่คนละโลก พอรับน้องก็ถูกยิงหัวเลย เขาว่า เราปากจัดมาก คือสมัยรับน้องจะมีการทาแป้งแกล้งรุ่นน้อง เราก็เลยหัวขาวมากที่สุด ปกติ เรายอมให้เฉพาะครูเท่านั้น

สมัยนั้น ระเบียบจัดมาก ผู้ชายต้องผูกเนคไท ผู้หญิงต้องผูกโบว์ เราก็บ่นมากตอนผูกโบว์ว่าไม่เห็นจะทำให้ฉลาดขึ้นตรงไหนเลย

สมัยที่อาจารย์เรียน มันมีอะไรที่ทำให้เกิดความคิดเชิงสังคมบ้างไหม
เราเป็นพวกสัตว์ประหลาด ที่เรามีความคิดแต่หาอะไรไม่ค่อยได้ แต่เนื่องจากเป็นคนที่อ่านเยอะ อ่านหนังสือพิมพ์ตอนนั้นก็มีอยู่ 2-3 ฉบับ เช่น สยามรัฐทั้งรายวัน รายสัปดาห์ สมัยนั้นคึกฤทธิ์ยังแม่นประเด็น ปี 05-06 หนังสือในห้องสมุดเราอ่านหมดแล้วไม่มีอะไรเหลือ

เรื่องอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่บ้านอาจารย์เน้นมาก บ้านที่บ้านนอก สมัยก่อน พอพ่อมากรุงเทพฯ หนังสือพิมพ์ห่อของ 1 แผ่น เราก็อ่าน เพราะหนังสือมันหายยากมาก มีแค่ไม่กี่เล่ม คุณต้องอ่านรามเกียรติ์ คุณต้องอ่านสามก๊ก คุณต้องอ่านพระอภัยมณี อันนี้เป็นที่พ่ออ่าน ย่าอ่าน เราก็ต้องอ่าน เรียนรู้มาแบบนี้ แล้วเราก็จะเข้าใจตัวระบบผู้ชายเป็นใหญ่เป็นยังไง แต่ที่บ้านอาจารย์เขาสอนแบบ ไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้ เนื่องจากพ่ออาจารย์มีลูกสาว 4 คน ส่วนลูกชายเป็นคนเล็กตามมาทีหลัง ซึ่งที่พ่อสอนก็คือไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้ เพราะผู้หญิงมีความอดทนมากกว่า อย่างพี่สาวอาจารย์ก็เป็นช่างไม้

เพราะฉะนั้นเมื่ออาจารย์อ่านหนังสือหมด ก็เลยทำให้คุยกับใครไม่รู้เรื่อง ต้องคุยกับครู แต่บางคนนะที่รู้เรื่อง อย่าง อ.พัทศรี อนุมานราชธน สอนที่โรงเรียนศึกษานารี แล้วก็ อ.ประดิษฐ์ หุตะกูล ก็คุยการเมือง ตอนนั้นก็คุยได้อยู่ไม่กี่คน

ตอนที่ไปสอบทุนปริญญาโท อาจารย์จาก Rockefeller มาเพื่อสัมภาษณ์เด็กชิงทุน พอดีเพื่อนร่วมชั้นของอาจารย์ เขาเป็นนักเรียนเหรียญทอง เข้าสัมภาษณ์ อาจารย์เขาบ่นว่า ทำไมนักเรียนเหรียญทองตอบไม่ได้ พออาจารย์เข้าไป คะแนนเราก็ค่อนข้างแย่นะ เมื่อเทียบกับนักเรียนเหรียญทอง สิ่งที่เขาถาม เป็นเรื่องสถานการณ์บ้านเมือง คุยการเมือง คุยเรื่องงบประมาณ คุยเรื่องแนวโน้มของสังคม อาจารย์คุยได้หมดทุกประเด็น เขาชอบมาก ถามว่า Why do you know everything? Why do you have a dozen Ds? เกรด D เต็มไปหมด (หัวเราะ) ก็เลยได้ทุน

ที่ คณะเภสัชฯ จุฬาฯ อาจารย์สอนอะไร
เริ่มแรกสอน สรีรวิทยา (Physiology) เพราะน่ารัก (หัวเราะ) เป็นเรื่องกลไกการทำหน้าที่ของสิ่งมีชีวิต... ร่างกายเราประกอบด้วยเซลล์เยอะแยะ เป็นสังคมใหญ่ อาจารย์สนใจว่าเซลล์เยอะแยะมากมายอยู่กันอย่างสันติสุขได้อย่างไร ธรรมชาติมีการแบ่งระบบอย่างดี มีกลไกควบคุมตัวเอง (Negative Feedback Mechanism)ให้อยู่ในภาวะสมดุลบนฐานของการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จะเห็นความสมดุล (Balance) ของเซลทั้งหลายที่ธรรมชาติไม่เห็นแก่ตัว กินใช้เฉพาะส่วนที่จำเป็น ที่เหลือให้ส่วนรวม (เลือกปิด-เลือกเปิด เลือกรับ-ปรับใช้) เป็นความน่ารักที่ชอบมาก...

สังคมเล็กๆ ของสิ่งมีชีวิตตั้งแต่เซลล์เดียว หลายเซลล์รวมกันจนในที่สุดเป็นร่างกายเป็นสังคมมนุษย์ ...คล้ายๆ สังคมในอุดมคติ มีวิธีการทำงานที่เหมือนทำสมาธิแล้ว Control ตัวเองได้ รู้อะไรผิดอะไรถูก อะไรควรไม่ควร และที่พอเหมาะอยู่ตรงไหน ถ้ามากเกินไปก็เป็นมะเร็ง ถ้าน้อยเกินไปก็ตีบตัน อันนี้ชัดเจนมากในเชิงระบบ ถ้าเปรียบก็เหมือนหลักทางสายกลางของพระพุทธเจ้า เรียนแบบนี้ก็เข้าใจไม่ต้องท่องจำมากนัก เพราะ “ตัวเองต้องควบคุมตัวเอง ให้คนอื่นคุมไม่ได้”…

ต่อมาก็สอนสุขภาพอนามัย สาธารณสุข เภสัชสาธารณสุข ระบบยา นโยบายยา จริยธรรมเภสัชกร ฯลฯ

กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) มาจากไหน ตั้งกลุ่มก่อน หรือเห็นปัญหาก่อน
เห็นปัญหาก่อน ต่อมามีเพื่อนครูกะลูกศิษย์มาร่วมก่อตั้ง กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) เมื่อเสาร์ 10 มีนาคม 2518 คือเห็นปัญหามานานแล้ว แต่ไม่ได้ จังหวะ... ต้องรู้ปัญหา-ต้องแก้ที่ต้นเหตุ เพราะชาวบ้านเจ็บไข้ต้องพึ่งตัวเองไปซื้อยามากิน...กินแล้วเป็นโรคกระเพาะ คนไข้ไปโรงพยาบาลเกิดอาการกระเพาะทะลุเยอะมาก เลือดจาง เพราะยาที่ชาวบ้านซื้อมาเป็นยาไม่เหมาะสมทั้งสูตรตำรับ รูปแบบ คุณภาพมาตรฐาน รวมทั้งวิธีใช้ไม่ถูกต้อง ฯลฯ

อาจารย์ก็ชักชวนลูกศิษย์มาตั้งกลุ่ม
ที่จริงมีทั้งเพื่อนครูและลูกศิษย์ ที่เห็นปัญหาเองในช่วงไปออกค่ายตั้งแต่ปี 2513 ต่อมา ปี 2516-2517 มีกลุ่มที่รู้สึกเบื่อมากๆ ว่า หลักสูตรเภสัชที่เรียนมาตั้ง 5 ปี นั้นไม่สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพของคนไทย... พวกนิสิตเภสัชก็ก่อการดีขอให้มีการพัฒนาหลักสูตร แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ คือผู้บริหารไม่เข้าใจ ...นิสิตทำการประท้วง หยุดเรียน หยุดสอบ ไล่คณบดี.... กลุ่มอาจารย์ที่สนใจพัฒนาชนบท ก็เดินสายพูดคุยกับนิสิตนักศึกษา ชี้ให้เห็นปัญหา ช่วยกันสร้างกลไกให้ไปทำงานในชนบทได้มากขึ้น

สำหรับอาจารย์ คิดว่าอะไรเป็นตัวแทนที่จะบอกได้ว่านิสิตประสบความสำเร็จ
หนึ่ง ต้องไม่ถือเตารีดและคันไถไปรีดไถประชาชน อันนี้เป็นคาถาที่พูดเลยนะ เอาเปรียบ หลอก โกหกหรือทำอะไรที่ไม่ดี ถือว่าใช้ไม่ได้หมด สอง ต้องทำหน้าที่บัณทิตเต็มมาตรฐาน ตอนนั้น กฎหมายยา 2510 กำหนดให้เภสัชต้องทำงานอยู่ประจำทั้งในโรงานผลิตยาและร้านยา แต่เภสัชบางคนไม่รับผิดชอบ ขี้เกียจ...

ตอนนั้นนิสิตนักศึกษาเริ่มมีกิจกรรมศึกษาอะไรบ้าง
ช่วงปี 2513-2515 ทำค่ายในแนวบำเพ็ญประโยชน์กันเยอะมาก แรกๆ ก็ช่วยสร้างที่อ่านหนังสือ ต่อเติมโรงเรียน ซ่อมศาลาวัด สร้างสะพาน ช่วยสอนหนังสือนักเรียนในชนบท ฯลฯ

ต่อมาหลัง 14 ตุลา 2516 ก็เริ่มปฏิวัติความคิด เช่น สายสาธารณสุขไปทำค่ายสาธารณสุข (โดยรวมกันทุกคณะในจุฬาฯ ก็มีแพทย์ เภสัช ทันตะ ทำเป็น “ค่ายสาธารณสุขร่วมสมัย” ) เป็นค่ายที่เข้าไปศึกษาสภาพปัญหา (ไม่ก่อสร้างถาวรวัตถุ) ไปสำรวจว่าชาวบ้านเจ็บไข้อะไร รักษาตัวอย่างไร ถ้าเป็นเรื่องยาต้องไปสำรวจว่าชาวบ้านเคยกินยาใช้ยาอะไรบ้าง พบชาวบ้านกิน ยาชุด ยาซอง แก้ปวดเมื่อยกันมาก เช่น ทัมใจ บวดหาย (เป็นยาซองแก้ปวดสูตรผสม ประกอบด้วย แอสไพริน+ฟีนาซีติน+คาฟีอีน: Aspirin + Phenacetin + Cafeine /APC) แล้วทิ้งซองไว้เกลื่อนคันนา โดย “กินดิบ” คือ กินทัมใจแบบฉีกซองแล้วกรอกผงใส่ปากกลืนเลยโดยไม่กินน้ำ” ทั้งๆ ที่จริงยาพวกนี้ต้องกินน้ำเยอะ ไม่เช่นนั้นจะกัดกระเพาะ เป็นโรคกระเพาะ กระเพาะทะลุ เลือดจาง ยังพบคนไม่มีตังค์ซื้อก็เก็บเอาซองมาเลีย อยากยาติดยา (เหมือนคนเก็บก้นบุหรี่ที่ทิ้งตามถนนมาสูบ) ก็ต้องมาวิเคราะห์ว่าทำไมถึงติดยานี้กันมากนัก

จากปัญหาที่เห็นแล้ว ตอนนั้นเริ่มทำอย่างไร
จับปัญหาเป็นตัวตั้ง ตอนแรกก็ส่งลูกศิษย์ที่สนใจชนบทไปขอเรียนรู้และฝึกงานที่โรงพยาบาลอำเภอ พอลงชุมชนก็จะเห็นสภาพอย่างนี้ ดูปัญหา ดูทีละขั้นทีละตอน ก็รู้ว่าต้องจัดระบบทำความเข้าใจในการค้นหาต้นเหตุแห่งปัญหา พบว่าชาวบ้านใช้ยาไม่ถูกต้อง ก็ไปช่วยแนะนำชาวบ้านถึงวิธีใช้ยา-กินยาที่ถูกต้อง กินก่อนอาหาร หลังอาหารทำอย่างไร นิสิตช่วยกันทำนิทรรศยาการเผยแพร่ความรู้ ร่วมกันทำโครงการ “ตู้ยาสู่ชนบท” ยาอะไรผลิตเองได้ ก็ช่วยกันผลิตยาหม่อง ยาธาตุ แล้วส่งต่อไปให้ชาวบ้าน ตู้ยาก็ไปขอลังไม้มาจากกรมศุลกากร ไปจ้างผู้ต้องขังในเรือนจำทำ แล้วก็แบกตู้ยาไปหมู่บ้านชนบท กลับมาอีก 2 เดือนไม่แบกแล้ว เพราะชาวบ้านเขาทำตู้ยาเข้าท่ากว่า สวยกว่า (หัวเราะ) ต่อมาก็ประสานงานขอยาที่จำเป็นจากรุ่นพี่ในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้

กศย. ช่วยทำสื่อเผยแพร่ความรู้ เช่น ปฏิทินส่งเสริมสวัสดิภาพการใช้ยาของประชาชน โปสเตอร์ สไลด์ประกอบเสียง ทำหนังสือเรื่องยาเป็นพิษ พิษของยา ไข้เด็ก การใช้ยาสมุนไพร ฯลฯ อบรมถ่ายทอดความรู้ให้ชาวบ้านดูแลรักษาตนเอง ให้ใช้สมุนไพร เลิกใช้ยาชุดยาซอง

ต่อมา ชาวบ้านก็ย้อนกลับมาว่า ซองยาเป็นของหลวง คือ ซองยาทัมใจมีตราครุฑ...ขลังมาก เขานึกว่าของในหลวง หลวงอนุญาตให้ทำ ถ้าไม่ดี ทำไมหลวงไม่บอก การสอนเพียงกินยาใช้ยาให้ถูกต้องนั้นไม่ทันกับการโฆษณาของบริษัทขายยา เราก็มาตรวจสอบทั้งระบบวิเคราะห์ว่า ทำไมถึงติดยากันงอมแงม ทำไม อย.ให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาแปลกๆ ยาสูตรผสม ยาที่ถูกเพิกถอนในต่างประเทศแล้ว เช่น ฟินาซีติน เพราะทำลายไตแต่ส่งออกมาขายเมืองไทย พบว่า ยาซองแก้ปวดทั้งหลาย เป็นยาสูตรผสม มี แอสไพริน + ฟินาซีติน + คาเฟอีน ทำให้ติด แม้ไม่ปวดเมื่อยก็อยากกิน ทางออกต้องเสนอให้ ยกเลิกเพิกถอนยาสูตรผสมที่ไม่เหมาะสมทั้งหมด โดยให้ผลิตเป็นยาเดี่ยวเฉพาะยาที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น

เราก็เริ่มอย่างสุภาพ โดยส่งจดหมายเปิดผนึกไปบอก อย. เขาตอบกลับมาว่าไง รู้ไหม บอกว่า อาจารย์ก็สอนลูกศิษย์ไป ...เรื่องในสังคมอย่างนี้ นี่เป็นเรื่องของ อย. ไม่ใช่เรื่องของอาจารย์ ...

แล้วอาจารย์ทำอย่างไรต่อไป
ก็รู้ชัดว่า ต้องแก้ไขเชิงระบบทุกระดับด้วย เริ่มต้นเน้นให้ความรู้ แค่นี้ไม่พอ ต้องมีทางเลือกด้วย เรื่องยาสมุนไพรก็เข้ามา เรื่องใช้นวดไทยแก้ปวดแทนยาก็เข้ามา ฉะนั้นงาน 10 ปีแรกของกลุ่มศึกษาปัญหายา เน้นในเรื่องใช้ยาให้ถูกต้อง มีอะไรที่ทำกินเอง-ใช้ได้เอง -ไม่ต้องซื้อ เน้นพึ่งตัวเอง สู้ในเชิงจากปัจเจกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสู้ในเชิงระบบและหาเพื่อนให้มากขึ้น … การทำวิจัยทำให้คนที่เข้ามาช่วยทำงานมีประสบการณ์ โดยเฉพาะพวกนิสิตเภสัชจุฬาๆ จะกระตือรือล้นมาก ช่วยกันทำให้เป็น Student Center ถือเป็นขบวนการเรียนรู้ภาคสังคม วิชาชีพต้องทำอะไรเพื่อช่วยกันพัฒนาคนและช่วยกันแก้ไขปัญหาสาธารณสุข และเมื่อทำแล้วก็จะเจอปัญหาต่อเนื่องอีก

คนบางส่วนจะรู้สึกว่า พวก กศย.ช่างอารมณ์อ่อนไหวเสียจริง โน่นก็เป็นปัญหา นี่ก็เป็นปัญหา เห็นอะไรก็เป็นปัญหาไปหมด แต่ทั้งหมดมาจากการทำวิจัย ทำให้เรามีความรู้จริงมิใช่ความรู้สึก เราเห็นปัญหา ทุกอย่างเป็นระบบมีหลักฐานอ้างอิง

ต่อมาจึงก่อตั้ง มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา(มสพ.) ปี 2526 มูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย(มพท.) ปี 2534 เพื่อรองรับการทำงานที่ขยายเพิ่มขึ้น

งานวิจัยชิ้นแรกๆ ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่อนโยบาย คืองานวิจัยเรื่องอะไร
เรื่อง การใช้ยาซอง APC การใช้ยาของชุมชน การใช้ยาชุด กรณียาชุดให้นิสิตสวมบทบาท (ปลอมตัว) เป็นผู้ป่วยหรือญาติ ไปซื้อยาตามอาการป่วยที่กำหนด ในพื้นที่ที่กำหนด ... ซักถามคนขาย ขอคำแนะนำ แล้วก็นำมาวิเคราะห์ว่าเป็นยาอะไร ส่วนการใช้ยาของชุมชน ทั้งครูและศิษย์เข้าหมู่บ้านในชนบทสัมภาษณ์ชาวบ้าน

ในที่สุดก็ได้งานวิจัยที่เขาบอกว่าสั่นสะเทือนมาก
ประเด็น ยาซอง เรื่อง APC แก้สูตรตำรับจากยาสูตรผสมเป็นยาเดี่ยว ส่วนยาชุดต้องแก้ พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 แต่กว่าจะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมาย ก็ใช้เวลาเกือบ 10 ปี ซึ่งถือว่าเร็ว เพราะในสังคมไทยความเปลี่ยนแปลงใช้เวลาประมาณ 20 ปี

ทำไมอาจารย์คิดว่า เวลา 10 ปีไม่นานเกินไปที่จะรอให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
ปัญหาซับซ้อนหมักหมมมานาน ต้องตรวจสอบและเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสม ธรรมะก็สอนอยู่แล้ว ไม่ใช่กดปุ๊บติดปั๊บ ผลย่อมเกิดจากเหตุ พระพุทธเจ้าก็สอนอย่างนี้แหละ ถ้าหวังผลตรงนี้ ก็ต้องทำอะไรอื่นๆอีกกว่า 4-5 เรื่อง จึงบรรลุ ... ก็แค่นี้

งานในช่วงทศวรรษที่ 2 ของกลุ่มศึกษาปัญหายา เริ่มตั้งแต่ปี 2528 เน้นทำงานเชิงระบบมากขึ้น ลงพื้นที่ไปเจาะปัญหา พร้อมๆ กับที่รัฐบาลสหรัฐฯ มากดดันเรื่องแก้ พรบ.สิทธิบัตร เพราะฉะนั้นจึงร่วมกันลุยงานทุกระดับ อ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ และ อ.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ศึกษาวิจัย เรื่องนโยบายและกลยุทธ์ในการควบคุมราคายา และ การใช้ยาในโรงพยาบาล ส่วน อ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล ทำงานพัฒนาและวิจัยในชุมชน โดยลงพื้นที่ อ.ด่านขุนทดเข้าหมู่บ้าน มี ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี, เพียงพร พนัสอำพล ฯลฯ เป็นกระบี่มือหนึ่ง ลุยปัญหาในพื้นที่ แล้วนำเสนอการแก้ปัญหาเชิงระบบ ทำกันแบบองค์รวม เพราะทำเรื่องสุขภาพอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ ระบบและขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องยาเหล่านี้ถือเป็นต้นแบบของขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคในสังคมไทย

ทำไมอาจารย์จึงให้ความสำคัญกับงานคุ้มครองผู้บริโภค
งานคุ้มครองผู้บริโภค คือ การถ่วงดุลเพื่อให้เท่าทันลัทธิบริโภคนิยม อันที่จริงเรื่องค่านิยมบริโภคนี้ ไม่ใช่มิติของวัฒนธรรมไทย เป็นเรื่องการนำเข้า ที่เกิดจากกระแสไหลบ่าจากทางตะวันตก โดยเฉพาะกระแสทุนนิยม ลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งมีกลยุทธ มีเครื่องมือต่างๆ เย้ายวนให้ผู้คนหลงใหลการบริโภค จนลืมสำนึกและกำพืดของตนเอง ที่ว่ามนุษย์ควรคิดผลิตได้เอง แล้วค่อยบริโภค แต่ตอนนี้ถูกกระตุ้นให้ซื้อเพื่อความโก้เก๋ พ่อค้าทำทุกอย่าง เพื่อให้สินค้าขายหมดและทุกอย่างเป็นสินค้า

ลัทธิบริโภคนิยมเสนอการเสพสุขจากภายนอก เช่นโฆษณาความสุขที่คุณดื่มได้ ทำให้คนซื้อภูมิใจว่าได้ซื้อสินค้านั้นๆ แล้วหน้าจะใหญ่ แทนที่จะภูมิใจว่าการผลิตได้เองเป็นเรื่องดี เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่เชื่อโฆษณา เชื่อความรู้สึกมากกว่าเชื่อความรู้จริง... ฉะนั้น จึงต้องร่วมกันสร้าง ขบวนการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองตัวเอง และคนไทยทั้งหลาย ให้ได้รับความเป็นธรรมจากระบบโฆษณา การส่งเสริการขายที่ทำให้ทุกคนบริโภคเหมือนกันหมด วิ่งตามกันเป็นแฟชั่น ฉะนั้นต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้เกิดขึ้น เมื่อเข้าใจแล้ว จะได้มีสติ ยั้งคิด รู้ว่าควรจะจัดการกับตัวเองอย่างไร ดังนั้นต้องวิจัยเพื่อสร้างความรู้ให้เท่าทัน ให้รู้จริง จึงต้องมาก่อน ซึ่งปัญหามีทุกระดับ ทั้งปัญหาในเรื่อง ระบบสังคม เรื่องการค้า เรื่องนโยบายภาครัฐ เรื่องกฎหมาย เหล่านี้ต้องรู้ให้จริงก่อนขับเคลื่อน

ทำงานกันอย่างไร
กศย.เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในแนวหน้า ปรับเปลี่ยนวิธีการขับเคลื่อน เพื่อทำให้รู้ทั่วกัน ใช้วิธีเชิญนักข่าวมาคุยเรื่องเหล่านี้ ทำงานกับนักข่าวหนังสือพิมพ์ค่อนข้างมาก นักข่าวต้องการข้อมูลอะไร ก็เอาข้อมูลที่รู้มาดูกันก่อน มาดูของจริง จะได้เข้าใจปัญหาด้วยกัน ทุกคนก็จิตใจดีมาก ที่อยากทำความจริงให้ประจักษ์ต่อสาธารณชน อะไรก็ตามถ้าเป็นประเด็นสาธารณะ ถ้าทำให้คนรู้ทั่ว ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ชาว กศย.ก็เลย เป็นนักวิชาการแนวใหม่ที่ทำวิจัยและรณรงค์ควบคู่กันว่า มีเรื่องนั้นเรื่องนี้ต้องแก้ไข โดยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อมวลชนพร้อมกับทำจดหมายเปิดผนึกถึงคนที่เกี่ยวข้อง เริ่มตั้งแต่ ระดับอธิบดี ระดับปลัด สำเนาส่งสื่อมวลชน พอหลังๆ ทำถึงนายกฯเลย (หัวเราะ) แล้วสำเนาถึงรัฐมนตรี จดหมายถึงนายกฯเนี่ย นายกฯ ตอบนะ ส่วน อย.ไม่ค่อยตอบ เราก็พยายามมากในการช่วยชี้ให้เห็นปัญหา ซึ่งมีเต็มไปหมด ทุกฝ่ายต้องทำหน้าที่ของตนให้ครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งการทำอย่างนี้ ได้การตอบรับเพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนได้มากขึ้น แล้วทำงานรณรงค์กับประชาชน คือ ชาวบ้านต้องรู้ รู้แล้วช่วยกันแก้ไขต่อในระดับนโยบาย ฐานคิดนี้ก็ยังอยู่เป็นหลัก แต่ไม่ได้เป็นตัวชี้ขาด ทั้ง 2 ด้านนี้ต้องทำไปด้วยกัน

คราวสู้เรื่องสิทธิบัตรเป็นการรณรงค์ที่ใหญ่มากทำอย่างไร
อันนี้นักวิชาการเข้าช่วยกันเยอะมากนะ มีฝ่ายก้าวหน้าที่คุยกันรู้เรื่อง เห็นปัญหา เชื่อมถึงกัน เน้นช่วยกันศึกษาวิจัยเพื่อหาคำตอบและช่วยกันขับเคลื่อน มีกัลยาณมิตรมากมายหลายฝ่ายมาช่วยกัน มีนิสิตนักศึกษาหลายสถาบัน ช่วยกันคิดออกแบบ คิดว่าจะทำยังไงถึงจะรู้ทั่วกัน ช่วยกันรณรงค์ทุกรูปแบบ มีเพื่อนเยอะจริงๆ บทเรียนก็เยอะ ตั้งแต่ช่วง 14 ตุลา 2516 ตอนนั้น มีกลุ่มศึกษาหลายกลุ่มต้องคุยทุกเย็น หรือทุกศุกร์ เสาร์ อาทิตย์

เขาว่า อาจารย์ค้านระบบสิทธิบัตร
แน่นอนต้องค้าน เพราะเอาเปรียบกันมากเกินไป แต่เดิมยังยอมรับในแง่คุ้มครองเฉพาะกรรมวิธีผลิต ควบคู่กับถ่ายทอดเทคโนโลยี และคุ้มครองผู้บริโภค เช่น กำหนดควบคุมราคาและคุณภาพ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของระบบสิทธิบัตร ที่ต้องการคุ้มครองคนที่ประดิษฐ์คิดค้นจริง (Invention) ซึ่งเป็นพวกที่น่าคุ้มครอง จึงต้องมีระบบคุ้มครองสติปัญญา เพราะพวกนี้เป็นคนไม่แสวงกำไร สนใจแต่จะคิดค้น แต่พอกลุ่มที่เป็นพวกแสวงหากำไรเข้ามา คนคิดค้นกลายเป็นลูกจ้าง ไม่ได้เป็นแบบอิสระแบบดั้งเดิม การถ่ายทอดเทคโนโลยีก็ไม่ถ่ายทอด คุ้มครองผู้บริโภคเรื่องควบคุมราคาก็ไม่ทำ กลายเป็นสนองผลประโยชน์นายทุน อันนี้ยอมรับไม่ได้ ซึ่งตรงนี้เราเห็นความเลวร้าย ความใจร้ายของระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่นายทุนนำมาใช้กับทาสทางการค้า เพราะฉะนั้นจุดยืนของเราก็ต้องรู้เท่าทัน เรายอมรับให้สิทธิบัตรกับเทคโนโลยีที่ใหม่จริง ในช่วงเวลาและราคาที่เหมาะสม

ช่วงปี 2532-2542 เรามีเพื่อนทั่วโลกมากขึ้นจึงร่วมกันสู้เป็นทีมเอเชีย สร้างพลังต่อรอง ตอนนั้นเรียกร้องให้ยกเลิกสิทธิบัตรอยู่ตลอดเวลานะ ต่อสายกับ Health Action International ไปขับเคลื่อนในการเจรจาขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่โดฮา ตอนนั้นเป็นครั้งแรกๆ ที่ประเทศกำลังพัฒนารวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรองเรื่องสุขภาพ จากนั้นเราก็ตรวจสอบสิทธิบัตรยา ddI ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่เราคิดถึงการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ (CL) ขบวนการสู้ก็สู้กันตลอด มีการปรึกษากันตลอดว่า ทำได้ไหม ทั้งประเด็นข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง ประเด็นทางสังคม ทางวิชาการ การเมือง ดูทั้งหมดทั้งขบวน ฉะนั้นต้องเลือกใช้เครื่องมือ กลวิธี ที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่ชัดเจน คือ ชาวไทยทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนต้องมียาที่จำเป็นใช้ ต้องเข้าถึงยา ถ้าใหม่จริงจ่ายแพงเราก็จะจ่าย ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่จ่าย ถ้าแพงเกินก็ต้องควบคุมราคาหรือใช้ CL ต้องเตรียมทำการเฝ้าระวังข้อมูลสำคัญมาก

สู้เรื่องการแก้ไข พรบ.สิทธิบัตร ยันมาได้ตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.เปรม จนถึงรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย แต่มาแพ้ตอนช่วงรัฐบาล รสช. ในปี 2535 อาจารย์รู้สึกอย่างไร
ก็ไม่เชิงแพ้นี่

อาจารย์ไม่เคยพูดว่า แพ้เลย ทำไมอาจารย์ถึงคิดว่าไม่แพ้
ก็ไม่แพ้ เพราะตัวเราไม่แพ้ มันเป็นปัจจัยภายในกับปัจจัยภายนอก ถ้าเราแพ้ก็คือเลิกทำงาน ซึ่งเราไม่แพ้ เราต้องมีจังหวะก้าว เราก็เข้าใจว่าไม่ได้แพ้ เราก็ต้องสู้ต่อไง ไม่มีเวลาหยุด เพราะบริษัทยาคิดล้ำหน้าตลอด ต้องคิดดักทาง ปัญหาที่เกิดเป็นแรงผลักดัน (drive) ของเรา ชัยชนะมีขั้นตอน ก็รู้อยู่ว่าบริษัทได้มากกว่าที่ประชาชนได้ อันนี้เข้าใจ แต่เราไม่แพ้ เราไม่ถอดใจ

แล้วหลังจากที่ พรบ.สิทธิบัตร ออกมาเป็นแบบที่เราคัดค้าน ตอนนั้นอาจารย์คิดถึงอะไร
ตอนนั้นปี 2535 เราคิดกันว่า เสียนิ้วรักษามือ เสียแขนรักษาหัว ก็โอเค เมื่อยอมรับกัน เราก็มีกำลังในการคิด เรื่องสิทธิบัตรต่อ เห็นว่า ยังมี คณะกรรมการสิทธิบัตรยา อยู่ในกฏหมายสิทธิบัตร ฉบับแก้ไข พ.ศ.2535 เพราะฉะนั้นเรายังติดตามตรวจสอบเรื่อง การจดทะเบียนสิทธิบัตร เรื่องควบคุมราคายาได้ เราทำใจได้ว่า ถ้ายาใหม่จริงๆ ก็ให้การคุ้มครองในราคาและช่วงเวลาที่เหมาะสมควบคู่กับการถ่ายทอดเภสัชกรรมเทคโนโลยี โดยไม่ให้บรรษัทยาข้ามชาติเอาไปหมดทุกอย่าง

แต่ปรากฏว่า คนไทยถูกหลอกหรือรัฐบาลไทยสมยอมให้บรรษัทยาข้ามชาติต้ม เพราะต่อมาพบว่ามี side letter สมัยรัฐบาล ปี 2535 บอกว่าอีก 5 ปีจะแก้ไขให้อีก โดยตัดคณะกรรมการสิทธิบัตรยาออกไป

พอปี 2542 กระทรวงพาณิชย์ก็แก้ไขกฎหมาย โดยตัดคณะกรรมการสิทธิบัตรยาออกไป ตอนนั้นอาจารย์คิดจะทำยังไงต่อไป

คิดอยู่ตลอด เคลื่อนไหวตลอด กลับมาดูปัจจัยภายในว่าจะทำอะไรได้บ้าง จากผลการวิจัยเรื่องการใช้ยาในโรงพยาบาล เห็นพฤติกรรมของแพทย์ที่ “ถูกติดสินปนน้ำใจ” หันไปใช้ยาชื่อทางการค้า (trade name / brand name) ยาราคาแพง มากกว่าการใช้ยาชื่อสามัญ (generic)... ทางออกต้องจัดระบบส่งเสริมแพทย์ เภสัชกร และประชาชนให้ใช้ยาชื่อสามัญ ปฏิเสธการใช้ยาชื่อทางการค้า ควบคู่กับการส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสม และจัดระบบควบคุมราคายา จึงช่วยกันทำโครงการ โรงพยาบาลปลอด Trade name คือรณรงค์ให้แพทย์-เภสัชกรสั่งใช้-สั่งจ่ายยาด้วยชื่อสามัญ สนับสนุนการพัฒนานโยบายแห่งชาติด้านยา บัญชียาหลักแห่งชาติ เน้นการร่วมกันสร้างปัจจัยภายในให้เข้มแข็ง ให้เป็นภูมิคุ้มการรุกรานจากปัจจัยภายนอก

อาจารย์มีคนที่เป็น Insider ตามจุดต่างๆ คอยให้ความช่วยเหลือเยอะมาก
ต้องให้เครดิตเพื่อนๆ หลายคนมาก โดยเฉพาะ Insider ทั้งหลาย และที่สำคัญยิ่งคือ ชาวไทยที่รักและหวังดีต่อแผ่นดินไทย บางทีก็เป็นผู้อาวุโส เป็นสายวิชาการคนละรุ่น ที่ทำเอกสารสำคัญตกหล่นมาให้ประชาชน เพราะฉะนั้นขบวนการต่อสู้ ถ้าไม่ออกข่าวในสื่อมวลชนว่า สิ่งนี้เป็นหายนะของชาติ ก็ไม่มีวันชนะ เพราะนักการเมืองนั้นต้องสร้างกระแสสังคมกดดัน

อาจารย์ทำอย่างไร Insider เหล่านั้นจึงช่วยงานอาจารย์ตลอด
อันนี้ตอบไม่ได้ ต้องถามพวกเขานะ (หัวเราะ) เราเคารพแหล่งข่าวมาก เขาจะต้องปลอดภัยไม่ถูกเปิดเผย เราเองก็ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงมีคนมาทำ “ของตก” ไว้ให้ รู้สึกได้ว่ามีคนดีๆ ที่น่ารัก ไว้วางใจเราให้ข้อมูลจริงแก่กลุ่มของเรา

หากย้อนเวลากลับไปได้ อาจารย์อยากจะเปลี่ยนหรือแก้เรื่องอะไรมากที่สุด
ที่ทำมาถูกต้อง ไม่มีอะไรผิด

แล้วต้องการทำอะไรอีก
ยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องคุณภาพคน คือ เรายังไม่อยู่ในสังคมที่เป็นสันติ หรือไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ยังมีปัญหาโกงกันให้เห็นทุกวัน ปัญหามีเสมอ ความทุกข์ยากยังปรากฏ การเอารัดเอาเปรียบยังปรากฏ ก็ชัดเจนว่ายังต้องช่วยกันแก้ปัญหาต่อไป ...ฉะนั้นต้องเตรียมประเด็นให้พร้อม... เมื่อมีจังหวะก้าวที่ถูกต้อง ก็จะบรรลุเป้าหมาย

แล้ว 42 ปีของความเป็นครู อาจารย์อยากบอกอะไร
ในแง่เป็นครู เราตั้งใจสร้างลูกศิษย์ให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นอกจากถ่ายทอดศิลปวิทยาการความรู้ ให้ไปทำมาหากิน จนเป็นบัณฑิตแล้ว ก็อยากสร้างให้เขาเป็น บัณฑิตที่แท้ ที่ออกไปดำเนินชีวิตอย่างดีงามด้วย นี่ถือเป็นหน้าที่ปกติ ที่ทำอยู่ตลอดชีวิต ตั้งแต่สมัยที่มหาวิทยาลัยไม่ค่อยให้ความใส่ใจ เรื่องจริยธรรม ก็คุยเรื่องนี้กันมาก มีข้อเสนอตอนปรับปรุงหลักสูตรเภสัช ปี 26-27 ให้เพิ่มเรื่องจริยธรรมในหลักสูตร ตอนนั้น ถกเถียงกันว่า เรื่องจริยธรรม สอนกันได้หร

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

250 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ สำลีใจดี

ฉบับที่ 275 องค์กรผู้บริโภคต้องทำงานแบบเสริมพลังกัน

        การรวมตัวกันเพื่อการทำงานคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้บริโภค เริ่มมาอย่างยาวนานและชัดเจนตั้งแต่ปี 2526 กว่า 40 ปี ระบบนิเวศของการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคจึงเต็มไปด้วยความเบ่งบานของกลุ่มองค์กรหลากหลายรูปแบบทุกระดับทุกพื้นที่ที่ต่างล้วนทำงานมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้มแข็งสิทธิได้รับการพิทักษ์คุ้มครอง การเติบโตอย่างเข้มข้นนี้เป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเกิดการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้สำเร็จ ในปี 2563 หลังจากเริ่มต้นผลักดันมาตั้งแต่ปี 2540          รศ.ภญ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ  ผู้จัดการศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส) และผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) มีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งเสริม สร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคโดยเฉพาะด้านยาและสุขภาพมาตั้งแต่ต้น สะท้อนมุมมองว่าในทศวรรษปัจจุบันและต่อไปหลังจากนี้ การเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้สำเร็จก็ยังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบัน การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคในระดับพื้นที่เข้มแข็ง มีคุณภาพยังเป็นเรื่องสำคัญที่ รศ.ภญ.ดร.วรรณา เลือกทำมาตั้งแต่ต้นและยังจะทำต่อไปอย่างแน่นอน      ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  คือหน่วยงานอะไร         ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หรือ คคส. เราเป็นศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เป็นศูนย์วิชาการที่เราทำงานกันมานานตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2549 และปัจจุบันเราขยายงานเป็นวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) ด้วย         คคส. เป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สสส. ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เมื่อพูดถึง คคส. เราไม่ได้ทำงานแต่เฉพาะองค์กรผู้บริโภค  เราทำงานกับผู้ประกอบการวิชาชีพเภสัชกรรม  นักวิชาการสาธารณสุขเยอะมาก งานของเราจึงออกเป็นลักษณะแผนงานวิชาการที่มีหลายเรื่อง งานวิชาการ งานพัฒนาศักยภาพคน จัดการพวกสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และติดตามเรื่องของกฎหมายด้วย  ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  ทำงานอะไรบ้าง         เรามีแผนงานส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่  มีวัตถุประสงค์ในการทำงาน 4 เรื่อง หนึ่ง คือพัฒนากลไกและศักยภาพเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่ สอง พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่ สาม จัดการความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และสี่ ติดตามอย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เราทำงานด้วยเราอยากเห็นผลลัพธ์ที่เรามุ่งหวังคือ ชุมชน องค์กรผู้บริโภค ภาคี เครือข่ายมีศักยภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค  มีการจัดการสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย   นิยามองค์กรผู้บริโภคไว้อย่างไร         องค์กรผู้บริโภคที่เราทำงานด้วยต้องบอกว่า เป็นกลุ่มคนที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่เฉพาะการทำงานประจำตามหน้าที่ เป็นราชการเราไม่ได้สนใจเฉพาะตรงนั้น เราทำงานทั้งกับผู้บริโภค อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภค เราคิดว่าทุกคนเป็นผู้บริโภคตลอดเวลา แต่เป็นข้าราชการบางเวลาเพราะฉะนั้นการก้าวเข้ามาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คคส. เราถือว่าถ้ารวมกลุ่มกัน เป็นองค์กรผู้บริโภคหมด       ที่จุฬาเองตั้งแต่อดีต  เรามีอดีตอาจารย์กับนิสิตเภสัชศาสตร์ รวมตัวกันมา ตั้งกลุ่มเฝ้าระวังเรื่องยา อาจารย์ในเวลาก็เป็นเป็นข้าราชการสอนหนังสือ แต่อาจารย์ยังนำความรู้ของอาจารย์มาทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้วย จึงเกิดการรวมตัว รวมกลุ่มและกิจกรรมต่างๆ ขึ้นจนถึงปัจจุบันตอนนี้ก็มีข้าราชการทั้งเกษียณและไม่เกษียณทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ เราก็เรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา ไม่ใช่ข้าราชการก็เป็นองค์กรผู้บริโภคด้วย น้องๆ เภสัชที่อยู่ตามต่างจังหวัด รวมตัวกันเป็นเภสัชชนบทก็เป็นองค์กรผู้บริโภคในนิยามของ คคส.  ภาพรวมขององค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่ คคส. ทำงานร่วมด้วยเป็นอย่างไร           ภารกิจของ คคส. เราทำงานส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เราจึงทำงานเข้มข้นได้ไม่ทุกเรื่อง เรามองว่าการทำงานกับองค์กรผู้บริโภค เราทำทั้งทางตรงและทางอ้อม  งานที่ทำทางตรงกับองค์กรผู้บริโภค เช่น การพัฒนาศักยภาพ การอบรม การตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคเครือข่าย แต่ถ้าเป็นลักษณะของการที่ทำงานเฝ้าระวัง บางจุดหรือประเด็นที่เขาต้องการ เราก็จะพัฒนาศักยภาพน้องๆ เภสัชกรที่เขาก้าวเข้ามาด้วยความสนใจให้เป็นเภสัชกรที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือนักวิชาการสาธารณสุขที่ขยับมาทำเรื่องการจัดการสินค้าไม่ปลอดภัย งานจึงมีทั้งทางตรงและทางอ้อม  แบ่งองค์กรผู้บริโภคเป็นแบบไหนบ้าง กี่ประเภท แต่ละประเภทมีความเข้มแข็งแตกต่างกันมากน้อย อย่างไร         ถ้าตามกฎหมาย เราแบ่งเป็น 2 กลุ่ม  คือกลุ่มองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562  คือตามเกณฑ์ เงื่อนไขและกลุ่มที่ 2 คือ องค์กรผู้บริโภคแต่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน         แต่ถ้ามองในมุมของ คคส. เรามีการพัฒนาเกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพขึ้น ซึ่งเราทำมานานก่อนที่จะมีสภาองค์กรผู้บริโภคอีกเพื่อไปตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคว่าการทำงานอย่างมีคุณภาพ มีโครงการสร้างองค์กร  กระบวนการทำงาน และผลลัพธ์ของการทำงานที่พัฒนาขึ้นต่อเนื่อง คคส. จึงตั้งเป็นเกณฑ์ผู้บริโภคคุณภาพ และ MOU กับหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เราได้รับการยอมรับ เกิดความเชื่อมั่นเมื่อเราเดินสายไปตรวจและรับรอง หากใช้เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพเป็นตัวตั้ง  ก็จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ผ่านการรับรองตัวประเมิน และจัดเป็นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ กับองค์กรทั่วไปที่เขาอาจยังไม่พร้อมให้เราประเมิน หรือว่าเพิ่งเริ่มต้นทำงาน เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพจะมีมากกว่าเกณฑ์ตามกฎหมาย    ส่วนที่สมาชิกของสภามักจะไม่ค่อยผ่านคือเรื่องของผลงาน และกระบวนการทำงาน  ปัญหาที่พบตอนที่ลงไปทำงานกับองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ ได้เสริมจุดแข็งหรืออะไรไปบ้าง         แน่นอนว่าพอเราลงไปตรวจ เราจะเจอทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง  แต่เราก็บอกเลยว่า เราพร้อมตรวจใครที่คิดว่ามีความเข้มแข็งให้เราไปตรวจ เราก็พร้อม แต่เท่าที่ลงไปตรวจแล้วเราจะเห็นข้อบกพร่องของเขา เช่น เรื่องของการที่ไม่มีรายงานการประชุม ไม่มีการบันทึกเลย คือคนทำงาน เขาทำงานแต่การเก็บบันทึก รายละเอียดงานยังน้อยทำให้มีปัญหาคนภายนอกอาจมองว่าไม่มีผลงานกิจกรรมเลย ก่อนมี พ.ร.บ. สภาฯ  เราตรวจไป 226 องค์กร  พวกนี้เขาก็มีความพร้อมพอสมควร พอมีสภาองค์กรของผู้บริโภคเกณฑ์ของเราถูกนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินองค์กรของผู้บริโภคตามกฎหมายด้วยบางส่วน แต่บางอันในเรื่องของคุณภาพยังไม่ได้นำไปใช้  การทำงานของเราตอนนี้พอลงตรวจแล้วรู้แล้วว่าขาดอะไร เช่นยังขาดส่วนวิชาการในลักษณะของการนำเสนอนโยบายซึ่งมีความสำคัญเวลาเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำเสนอนโยบายในการประชุมเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอหรือระดับประเทศ พอตรงนี้ขาดเราก็พัฒนาหลักสูตร เปิดอบรม ขอแค่สนใจอยากพัฒนาตัวเองเราจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดเพราะเรามีความร่วมมือกับ สสส.         องค์กรผู้บริโภคเล็กๆ จากที่เราไปตรวจราว 300 – 400 องค์กร เราเห็นแล้วว่าบางทักษะอย่าง การ เขียนรายงานการประชุม เขียนโครงการของบประมาณแบบนี้ยังไม่เป็น การจัดทำบัญชีรับจ่าย การทำทะเบียน วัสดุและครุภัณฑ์ต่างๆ เขายังไม่ทำ เขาบอกว่าเขาเป็นจิตอาสา ไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไร ไม่มีการทำบัญชี แต่การเป็นองค์กรที่ทำงานได้ด้วยการสนับสนุน เราสู้เพื่ออะไรหลายเรื่อง เราต้องมีความโปร่งใส  การทำงานกิจกรรมต่างๆ หากไม่รวบรวมเป็นเอกสารข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบวันนี้ เมื่อจะขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรโดยกฎหมายขอสภาองค์กรของผู้บริโภค  สำนักนายกก็ตั้งคำถามแล้วเพราะผลงานกิจกรรมไม่มีแสดง ซึ่งไม่แปลกเพราะเขาไม่ได้ลงมาคลุกคลีใกล้ชิด         เราจะเติมส่วนขาดตรงนี้ลงไปในพื้นที่ เพราะองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดเขาอยู่ในพื้นที่ เขาจะดูแลกัน ตลอดไปเป็นอะไรที่ยั่งยืน ขณะที่บางครั้งเราเข้าไปอบรมแล้วกลับมา มันไม่เกิดอะไร เราจึงสร้างคนโดยการให้เข้าอบรม 8 เดือน แล้วเป็นเภสัชกรสาขาคุ้มครองผู้บริโภค  ภายใต้วิชาชีพเภสัชกรรมตอนนี้ เรามี นคบส. หรือผู้ผ่านการอบรมทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ 100 กว่าคนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เราเหมือนเป็นพี่เลี้ยง คอยสนับสนุน ส่วนน้องๆ เภสัชเขาเองอยู่ในระบบราชการ เขาก็ทำหน้าที่ราชการด้วย หลายคนไปเป็นที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิประจำองค์กรผู้บริโภค ในหน่วยงานประจำจังหวัด เราต่างหนุนเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภค เรามองว่าช่วยกันทำงาน  มันเป็นความงดงาม ความเก่งขององค์กรผู้บริโภค และความเก่งของเภสัชช่วยกันทำงานไร้รอยต่อ สามารถส่งต่ออะไรที่ดีๆ ให้กันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดของตัวเอง  อันนี้มันก็เป็นอะไรที่มันเห็นการขับเคลื่อน  ตัวอย่างของงานที่เป็นความสำเร็จขององค์กรผู้บริโภคและแนวโน้ม         เรื่องของความสำเร็จพี่มองว่าคือการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นการการต่อสู้ยาวนานตั้งแต่ ปี 2540 จนนำมาสู่การจัดตั้งสภาฯ องค์กรได้ แต่การมีอยู่ตอนนี้ยังไม่ถือว่าสำเร็จ เป็นช่วงเริ่มต้น เพราะความสำเร็จที่แท้จริง คือต้องทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง สามารถคุ้มครองตัวเองได้  ซึ่งตอนนี้มีเรื่องของการโฆษณา เรื่องของอะไรที่มันหลอกลวงมากขึ้น  ถ้าผู้บริโภคเข้มแข็งสามารถที่จะคุ้มครองตัวเองได้  ไม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามนี่คือสุดยอด แต่การทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคตอนนี้มีองคาพยพที่ใหญ่ขึ้น และต้องเคลื่อนไปด้วยกัน และยังเข้มแข็งในบางจังหวัดด้วย เรายังต้องช่วยหนุนเสริมกันอีกมาก  การเกิดของสภาองค์กรผู้บริโภคเพียงพอหรือไม่ต่อการสนับสนุนองค์กรของผู้บริโภค         สภาองค์กรผู้บริโภค อย่างที่บอกว่าเพิ่งเริ่มต้น ตอนนี้ยิ่งมีองคาพยพเยอะขึ้น  การทำงานยังต้องกระจายให้ได้ ครอบคลุมทุกจังหวัด ตอนนี้เรายังพบว่ายังไม่ทั่วประเทศและยังเป็นการกระจุก  บางจังหวัดที่มีองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นมาก เราวิเคราะห์ว่าเพราะสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สาธารณสุขจังหวัด เภสัชกร โรงพยาบาล ชมรม อสม. รพสต. องค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไม่ว่าจะรูปแบบ ชมรม ทั้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือไม่ เขามีความร่วมมือกัน การลงไปตรวจประเมิน เราทำจริงจังเราได้เห็นทุกอย่าง พื้นที่ที่เขาพร้อม ทำงานจริง ลงไปทุกครั้ง เราจะเห็นคนที่ทำงานอยู่ตลอด หลายครั้งทำให้เราได้เจอคนที่มีศักยภาพเป็นเพชรเป็นแกนได้ เราสามารถพัฒนาส่งเสริมเขาต่อได้ด้วยหลายคนมากแล้ว เราจะไม่มีวันเจอถ้าเราไม่ได้ออกไปทำงาน ออกไปติดตามโครงการแลกเปลี่ยนพูดคุย  เราได้คนที่เราไม่รู้จักเยอะเป็นน้องเภสัชที่ประกาศตัวและก้าวเท้าเข้ามาฝึกอบรมเป็นเภสัชกรเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแล้วหลายคน  สิ่งที่อยากฝาก         วันนี้องค์กรผู้บริโภคต้องมีทักษะทั้งขับเคลื่อนได้ งานวิชาการได้  แต่ยังมีหลายจุด ทักษะที่เขายังขาด แต่เขาต้องทำงานหลายด้าน  หน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยกันหนุนเสริมองค์กรผู้บริโภคเราต้องทำให้เขาเข้มแข็งจริงๆ  ความเข้มแข็งจะต้องไม่อยู่ที่หน่วยงานของเราเพียงอย่างเดียว จะต้องไม่ได้อยู่แต่ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค อย. แต่ต้องอยู่ที่หน่วยงานประจำจังหวัดและองค์กรสมาชิกด้วย สมาชิกต้องเข้มแข็งเพราะพื้นที่ หากเราทำให้ระดับจังหวัดเข้มแข็ง เขาจะต่อยอดในพื้นที่ได้ เป็นในระดับอำเภอ ตำบล  วันนี้เรามองว่าแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ วันนี้คนในจังหวัดที่เขามีหน่วยงานประจำจังหวัด ถ้ามีเขามีทุกข์ แล้วหน่วยงานรัฐไม่ตอบโจทย์เขาได้ การเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดตอบโจทย์เขาได้แต่จังหวัดที่ไม่มีก็แสดงว่าเขายังขาดอีกหลายจุด และเมื่อมีแล้ว เราฝากว่าการทำงานร่วมกัน  การช่วยกันทำงานมันควรเหมือนยา ช่วยกันทำงานต้องเสริมพลังกัน เราต้องรู้ว่าเราเก่งกันคนละแบบ เราต้องให้กำลังใจกัน หากเข้าขากัน ผลลัพธ์ประสิทธิภาพมันไม่ใช่ 1 บวก 1 แล้ว 2 มันอาจจะเป็น 3 หรือ 4  หรืออาจจะมากกว่านี้ได้มากๆ 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 274 สิริลภัส กองตระการ: จากวันที่หัวใจแบกรับความเจ็บปวดไม่ไหวสู่การเป็นเสียงเพื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

        โรคซึมเศร้าเป็นเรื่องส่วนบุคคลจริงหรือ? มันเป็นความอ่อนแอก็แพ้ไปของคนคนหนึ่งเท่านั้นหรือไม่? คนที่ฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้าเป็นคนคิดสั้นหรือ? ฯลฯ ในสังคมไทยมีคำถามมากมายที่ผลักไสโรคซึมเศร้าให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ไม่เข้มแข็ง เปราะบาง เป็น loser เป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ ยังมีตราประทับอีกอย่างชิ้นที่สังคมและคนที่ไม่เข้าใจพร้อมจะแปะให้ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า         ถ้าเป็นอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เหตุใดจึงยังมีมหาเศรษฐี ดารา นักร้องที่ประสบความสำเร็จฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้า สิ่งนี้อาจบอกเป็นนัยๆ ว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคของคนขี้แพ้หรืออ่อนแอ แต่มีปัจจัยที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก         “คนไม่ป่วยไม่รู้ มันเป็นทั้งความรู้สึกที่ทั้งอัดอั้นทั้งเจ็บปวด” เป็นคำพูดของ สิริลภัส กองตระการ ส.ส.พรรคก้าวไกล กรรมมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร กล่าว         เธอคือผู้ที่ลุกขึ้นอภิปรายงบประมาณประจำปี 2567 ด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าว่าจำนวนเงินไม่สอดคล้องกับขนาดของปัญหาที่ดำรงอยู่ เนื่องจากงบประมาณส่วนนี้มุ่งให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวชจากยาเสพติด แต่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ น้อยเกินไป สิริลภัสอภิปรายในสภาว่า ผู้ป่วยสุขภาพจิตที่เกิดจากสารเสพติดมีจำนวน 2 แสนกว่าคน ขณะที่ผู้ป่วยทางสุขภาพจิตอื่นๆ มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านคน แตกต่างกันถึง 5 เท่า โดยในส่วนผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ปีล่าสุดมีมากถึง 360,000 คน         อีกทั้งงบประมาณปี 2567 ของกรมสุขภาพจิตได้รับก็เป็นเพียงร้อยละ 1.8 ของงบกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ทั้งที่กรมสุขภาพจิตของบประมาณไป 4,300 ล้านบาท แต่ได้รับจัดสรรงบมาเพียง 2,999 ล้านบาท เรียกว่าโดนตัดไปมากกว่าร้อยละ 69.4         ทำไมสิริลภัสผู้เคยครองตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 มิสทีนไทยแลนด์ ประจำปี 2546 ผ่านเข้ารอบ 12 คนสุดท้ายบนเวทีการประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2552 และนักแสดง ก่อนจะผันตัวสู่สนามการเมืองจึงใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ         นั่นก็เพราะเธอเคยผ่านประสบการณ์การเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่พยายามฆ่าตัวตาย โรคที่คนไม่เป็น (อาจ) ไม่มีวันเข้าใจความเจ็บปวดของโรคนี้         “หมิวยังจำวันที่ทำร้ายตัวเอง วันที่พยายามจะจบชีวิตตัวเองได้เป็นอย่างดี เพราะเราไม่อยากเจ็บที่ใจอีกแล้ว เจ็บที่ใจไม่ไหวแล้ว หมิวขอไปโฟกัสความเจ็บตรงอื่นบ้างได้มั้ย เราแบกรับความรู้สึกอารมณ์ที่บีบอัดในใจเราไม่ไหวอีกแล้ว เราพยายามตะเกียกตะกายเอาชีวิตรอดจากความรู้สึกที่ดําดิ่งแล้ว เหมือนคนที่กําลังจมน้ำแล้วมีหินถ่วงตลอดเวลา แต่ ณ วันนั้นเรารู้สึกว่าเราแบบตะเกียกตะกายยังไงเราก็ขึ้นมาหายใจไม่ได้สักทีก็เลยอยากปล่อยทุกอย่างไปเลย” ในวันที่หม่นมืด         สิริลภัสได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าจากกรรมพันธุ์ที่ถูกส่งต่อมาจากมารดา ในที่สุดเธอก็ต้องเผชิญกับมันด้วยตัวเองจริงๆ เธอเข้ารับการรักษามาเกือบ 10 ปีแล้ว นับจากวันที่เริ่มมีอาการนอนไม่หลับ ใจหวิว เครียดจนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หลังจากทานยาและรับการบำบัดผ่านไประยะหนึ่งอาการก็ดีขึ้นเธอจึงหยุดยาเอง ซึ่งนี่เป็นข้อห้ามที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่รู้หรือรู้แต่ก็เลือกที่จะหยุด มันทำให้อาการของเธอเหวี่ยงไหวกลับมาหนักหน่วงกว่าเดิม         “ภายในระยะเวลาประมาณหนึ่งปีก็ทําให้อาการแย่ลงกว่าเดิม แล้วก็ไปเจอกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาณตอนนั้น เลยทําให้อาการกลับมาค่อนข้างแย่ลงกว่าเดิมในช่วงประมาณสามถึงสี่ปีที่แล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่หนักมาก ไปหาหมอบ่อยมาก ค่าใช้จ่ายสูง”        เธอจึงหาคลินิกเอกชนที่คิดค่าบริการถูกลงเพื่อลดภาระส่วนนี้ ทานยาต่อเนื่อง รับการบำบัด สร้างแรงจูงใจโดยการหาเป้าหมายให้ชีวิต อาการของเธอจึงดีขึ้นถึงปัจจุบัน         “แต่ก็ยังต้องทานยาเพื่อที่จะเมนเทนตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วก็พูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อให้คอยประเมินเพราะบางทีเรามาทํางานการเมืองด้วยนิสัยเราเป็นคนชอบกดดันตัวเองว่าอยากให้ประสิทธิภาพของงานออกมาดี เราอยากแก้ปัญหานี้ให้ได้ มันก็จะมีความใจร้ายกับตัวเองอยู่บ้าง คุณหมอก็ให้ยามาเพื่อช่วยลดความเครียด คลายวิตกกังวล ซึ่งตอนนี้หมิวรู้สึกว่ามันค่อนข้างคงที่แล้ว ส่วน pain point ที่เราเจอน่าจะเป็นเรื่องค่ารักษานี่แหละเพราะว่าครั้งหนึ่งก็เกือบหลักหมื่น ต่ำสุดก็เป็นหลักหลายพัน” สวัสดิการสุขภาพเชื่องช้าและไม่ครอบคลุม         ‘ฉลาดซื้อ’ ถามว่าทำไมเธอจึงไม่ใช่สิทธิสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่ คำตอบที่ได้คงเหมือนกับผู้ป่วยคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคใดนั่นคือต้องใช้ระยะเวลารอนานกว่าจะได้พบแพทย์เฉพาะทาง เธอยกตัวอย่างแม่ของเธอที่ใช้สิทธิข้าราชการในโรงพยาบาลรัฐ เมื่อพบจิตแพทย์ครั้งหนึ่งแล้ว นัดครั้งต่อไปคืออีก 6 เดือนข้างหน้า แต่ยาที่ได้รับมีผลข้างเคียงค่อนข้างมากจนต้องเลือกว่าจะหยุดยาหรือจะทานต่อไปอีก 6 เดือนเพื่อพบจิตแพทย์         จากประสบการณ์ข้างต้นเธอจึงเลือกใช้บริการคลินิกเอกชนที่ไม่ต้องรอนานและได้พบแพทย์เพื่อติดตามอาการทุกอาทิตย์ เพราะด้วยอาชีพนักแสดงสภาวะจิตใจย่อมส่งผลต่อการทำงาน เธอจึงไม่สามารถรอและอยู่กับยาที่ส่งผลข้างเคียงได้ ซึ่งต้องแลกด้วยค่ารักษาพยาบาลที่สูงกว่าเพื่อแลกกับประสิทธิภาพในการรักษา         แน่นอนว่าสำหรับคนที่ไม่มีกำลังพอก็ต้องเลือกรับการรักษาตามสิทธิที่ตนมี แต่สิทธิประโยชน์ที่ได้ก็ยังไม่ครอบคลุม สิริลภัสยกตัวอย่างสิทธิประกันสังคมว่า บางครั้งการรักษาที่มีประสิทธิภาพผู้ป่วยจะต้องพบจิตแพทย์และนักจิตวิทยาควบคู่กัน แต่สิทธิที่มีนั้นครอบคลุมเฉพาะการพบจิตแพทย์เท่านั้น ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ออกแบบมาอย่างเหมาะสม         “หมิวอภิปรายให้เห็นตัวเลขไปแล้วว่าจํานวนผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดกับจํานวนผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ มันต่างกันยังไง พอไปดูในงบโครงการต่างๆ ก็เป็นโครงการบําบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยที่เกี่ยวกับยาเสพติดโครงการป้องกันไม่ให้เยาวชนเค้าถึงยาเสพติด คือโครงการต่างๆ เน้นหนักไปที่ผู้ป่วยจิตเวชที่เกิดจากยาเสพติด แต่ผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ ก็เป็นปัญหาเหมือนกัน อย่างที่ได้อภิปรายไว้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงหลายหลายครั้งสาเหตุเกิดจากผู้ป่วยจิตเวชและผู้ป่วยคนนั้นขาดยา มีอาการหลอนแล้วก็ออกมาก่อความรุนแรง” โรคซึมเศร้าไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล         นอกจากนี้ ตัวเลขอัตราการฆ่าตัวตายสําเร็จก็สูงขึ้นทุกปี กลุ่มสํารวจที่พยายามฆ่าตัวตายจำนวนมากเป็นวัยรุ่นต่อด้วยคนวัยทํางาน         “กลุ่มคนเหล่านี้กําลังจะเป็นบุคลากรที่ทํางานจ่ายภาษีให้กับรัฐเพื่อนำเงินมาพัฒนาประเทศต่อไป เราเห็นรัฐบาลชุดนี้ส่งเสริมเรื่องการมีบุตรเพื่อเติบโตมาเป็นบุคลากรทางสังคม ทํางาน เสียภาษี ในขณะที่มีผู้สูงวัยเยอะขึ้น แต่ปัจจุบันคุณไม่ได้มองปัญหาว่าเรามีบุคลากรที่เป็นวัยรุ่น วัยทํางาน ที่กําลังเสียภาษีให้คุณอยู่ แต่กลุ่มคนเหล่าส่วนหนึ่งที่ป่วย มีปัญหาสุขภาพจิต และจํานวนหนึ่งมีความพยายามฆ่าตัวตาย”         สิริลภัสเสริมว่าในการสำรวจกลุ่มวัยรุ่นใช้เกณฑ์อายุที่ 15 ปี แต่ปัจจุบันเด็กอายุตั้งแต่ 14 ลงไปที่ต้องพบกับการกลั่นแกล้งรังแก ความรุนแรงในครอบครัว ความกดดันและความคาดหวังจากครอบครัว และสังคมรอบข้างที่ทุกคนต่างพยายามนำเสนอชีวิตด้านดี ด้านที่ประสบความสำเร็จของตนผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็ยิ่งเพิ่มแรงกดดันลงบนบ่าของวัยรุ่นกลุ่มนี้โดยที่พวกเขาอาจไม่รู้ว่าเบื้องหลังภาพชีวิตกินหรูอยู่ดี 1 ภาพอาจไม่ได้สวยหรูดังที่เห็น         แต่ภาพที่เสพมันได้หล่อหลอมให้พวกเขาต้องพยายามผลักดันตัวเองให้เป็นเช่นภาพที่เห็น อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น ตั้งเป้าหมายไว้สูง ตามค่านิยมต่างๆ ในสังคม กลุ่มวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 15 ลงไปจึงอาจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าที่ตกสำรวจ หมายความว่าตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าอาจมีมากกว่าที่ปรากฏในผลสำรวจ         “ส่วนวัยทํางานก็เช่นเดียวกัน ตื่นเช้ามาฝ่ารถติดไปทํางาน ทํางานเสร็จหมดวันต้องฝ่ารถติดกลับบ้าน แล้วก็วนลูปเป็นซอมบี้ในทุนนิยม แล้วบางคนต้องส่งเงินกลับไปเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ที่บ้าน อย่างหมิวมีครอบครัว เราต้องดูแลครอบครัวเราด้วย ดูแลพ่อแม่ด้วย นี่คือภาวะแซนด์วิช ทุกอย่างมันกดทับเราไว้หมดเลย สุดท้ายแล้วบางคนหมดแรงจูงใจในการใช้ชีวิต ไม่มีเวลาแม้กระทั่งนั่งนิ่งๆ แล้วหายใจกับตัวเองดูว่าวันนี้ฉันทําอะไรบ้าง ฉันเหนื่อยกับอะไร เพราะแค่ต้องฝ่าฟันรถติดกลับบ้านก็หมดพลังแล้ว”         เมื่ออยู่ในภาวะเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล และหมดไฟเป็นเวลานาน คนกลุ่มนี้ก็เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยจิตเวช แต่ถ้ารับการดูแล ป้องกัน และรักษาแต่เนิ่นๆ หรือมีความรู้สามารถดูแลตัวเองได้ก่อนย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ปัญหาคือขณะนี้ระบบสาธารณสุขมีบุคลากรด่านหน้าไม่เพียงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ด่านหน้ายังอ่อนแอ         แม้ทางภาครัฐจะพยายามพัฒนาและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้เข้าใจและเข้าถึงการใช้บริการแอปพลิเคชั่นอย่างหมอพร้อม มีแบบประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเอง แต่จากประสบการณ์ของสิริลภัสพบว่าระบบไม่เป็นมิตรต่อการใช้งาน        “ขอโทษนะคะหมิวพยายามเข้าแอปหมอพร้อมแล้วนะ ต้องลงลงทะเบียน ใส่รหัสเลขประจําตัวประชาชน หมิวไม่รู้ว่าของคนอื่นเป็นยังไงนะ แต่จะต้องลงทะเบียนว่าแบบเกิดปีที่เท่าไหร่ต้องไปไล่ปีเอาเอง บางทีก็รู้สึกว่ามันตอบโจทย์หรือเปล่า มันออกแบบมาได้โอเคแล้วหรือยัง แต่เขาบอกว่ามีแบบประเมินในหมอพร้อมก็ถือเป็นเรื่องดี”นะคะอะย้อนกลับมาตรงบุคลากรสายด่วนสุขภาพจิต”         ส่วนสายด่วนสุขภาพจิต สิริลภัสเล่าว่าเคยให้ทีมงานที่ทําข้อมูลทดลองโทร กว่าจะมีคนรับสายต้องรอนานถึง 30นาที เธอบอกว่าคนกําลังจะตัดสินใจฆ่าตัวตายแล้ว แค่นาทีเดียวเขาอาจจะไม่รอแล้ว อีกทั้งค่าตอบแทนของบุคลากรสายด่วนสุขภาพจิตก็ได้รับเพียง 50 บาทต่อครั้งและเงื่อนไขว่าจะจ่ายเฉพาะรายที่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ หมายความว่าผู้ที่โทรเข้าไปต้องบอกชื่อนามสกุล หมายเลขบัตรประจําตัวประชาชนถ้าผู้ใช้บริการเพียงแค่ต้องการปรึกษา ไม่สะดวกแจ้งข้อมูล แสดงว่าบุคลากรด่านหน้าจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใช่หรือไม่         ยังไม่พูดถึงประเด็นคุณภาพในการให้บริการ เพราะถ้าผู้ให้บริการให้คําปรึกษาแบบลวกๆ จะเกิดอะไรขึ้น จากการตรวจสอบเสียงสะท้อนการใช้บริการสายด่วนสุขภาพจิตพบปัญหาว่า หนึ่ง-รอนาน สอง-โทรไปแล้วรู้สึกดิ่งกว่าเดิมหรือได้รับการให้คําปรึกษาที่ไม่ได้ทําให้ดีขึ้น เธอจึงเสนอให้ต้องพัฒนาทักษะความสามารถของบุคลากรด่านหน้าและเพิ่มตอบแทนเพื่อสร้างแรงจูงใจ เพิ่มบุคลากร         “และมันไม่ควรจบแค่นี้ ควรจะมีเซสชั่นอื่นๆ ที่ทําให้คนที่รู้สึกว่าชั้นอยากจะได้รับการรักษาหรือได้รับการบําบัด มีทางเลือกให้เขาเข้าถึงด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีน้อยมาก ทีนี้พอผ่านบุคลากรด่านหน้าไปแล้วถ้าจะต้องส่งถึงจิตแพทย์จริงๆ ก็พบอีกว่าจิตแพทย์ในประเทศไทยก็มีน้อยมากและกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ”         ตัดมาที่ภาพในต่างจังหวัด กรณีต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศูนย์ซึ่งอาจอยู่ไกลจากบ้านมาก ทำให้มีต้นทุนด้านค่าเดินทางสูงเพราะระบบขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดไม่ครอบคลุม         “เสียค่าเดินทางไม่พอยังเสียเวลาอีก กว่าจะหาหมอได้แต่ละครั้งคือรอคิวนานมาก ย้อนกลับไปที่ประเด็นแรกเลยว่าถ้ายามีเอฟเฟคก็ต้องเหมือนรีเซ็ตระบบการรักษาตัวเองใหม่ ซึ่งทําให้การเข้าถึงบริการการรักษาปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนมีน้อยและจํากัดมาก ทําให้จํานวนตัวเลขผู้ป่วยที่มีอยู่เพิ่มมากขึ้น เพราะเราต้องมองว่าผู้ป่วยหนึ่งคนกว่าที่เขาจะเข้ารับการบําบัดรักษาฟื้นฟูมันไม่สามารถประเมิน เพราะมันคือเรื่องความรู้สึก มันต้องประเมินร่วมกันระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่จะต้องทํางานควบคู่กันไป ซึ่งต้องใช้เวลา”         ทันทีที่ผู้ป่วยหลุดออกจากระบบเท่ากับว่าอัตราการป่วยยังคงอยู่หรือแม้แต่ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูจนสามารถใช้ชีวิตปกติได้ก็ใช่ว่าจะไม่กลับมาป่วยอีก เพราะหากเจอเหตุการณ์ที่กระตุ้น (trigger) อารมณ์ความรู้สึกก็สามารถป่วยซ้ำได้ สิริลภัสจึงเห็นว่าถ้าสามารถเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือบุคลากรด่านหน้าได้มากก็จะช่วยป้องกันไม่ให้จํานวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นและเพิ่มจำนวนผู้ที่กลับมาใช้ชีวิตปกติได้มากขึ้น โดยต้องคำนึงถึงว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเองก็มีความหลากหลายทั้งด้านเพศ อายุ สถานภาพ ชาติพันธุ์ การศึกษา การมีบุคลากรที่เพียงพอจึงเป็นแนวทางแรกที่จะโอบรับความหลากหลายได้         สิริลภัสได้รับข้อมูลล่าสุดจากรองอธิบดีกรมสุขภาพจิตว่าจะมีทุนเพื่อผลิตจิตแพทย์เพิ่มขึ้นเป็น 50-70 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มจำนวนจิตแพทย์เป็น 1.8 คนต่อประชากรแสนคนจากเดิมที่อยู่ประมาณ 1.2 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขข้างต้นก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่ควรจะเป็น ยังไม่นับว่าต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานกว่าจะผลิตจิตแพทย์ได้ 1 คน         นอกจากปัญหาการผลิตบุคลากรสาธารณสุขแล้ว ปัจจุบันยังมีนักบำบัดที่สามารถดูแลสุขภาพจิตให้แก่ผู้มาใช้บริการได้ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีการมอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้แก่คนกลุ่มนี้ทำให้ไม่สามารถตั้งสถานประกอบวิชาชีพเองได้ ทั้งที่นักบำบัดเหล่านี้ถือเป็นด่านหน้าอีกด่านหนึ่งที่ช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพจิต         ถึงกระนั้น การบำบัดหลากหลายรูปแบบที่มีอยู่ตอนนี้ก็มีราคาค่อนข้างสูง สิริลภัสคิดว่าถ้าสามารถนำการบำบัดต่างๆ เข้าสู่ระบบสวัสดิการสุขภาพได้ย่อมดีที่สุดสําหรับผู้ป่วย เธอยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการที่ค่าบริการการบำบัดยังสูงอยู่เพราะผู้ให้บริการยังมีน้อย ขณะที่ผู้ต้องการใช้บริการมีมาก ราคาจึงเป็นไปตามกลไกตลาด         “หมิวเชื่อว่าราคาจะถูกลงกว่านี้ได้ถ้ามีมากขึ้น การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจะทําให้ซัพพลายเพิ่มมากขึ้น คือตอนนี้เรามีนักบําบัด แต่เขาต้องไปแปะตัวเองอยู่กับคลินิกหรือสถานที่ใดสักที่หนึ่งเพราะเขาไม่สามารถเปิดสถานที่บําบัดของตนได้ พอเป็นแบบนี้มันก็จะนําไปสู่การเกิดลัทธิต่างๆ เพราะเมื่อเข้าเซสชั่นบำบัดไปขุดเจอปมในใจเข้า ผู้ใช้บริการก็รู้สึกว่าคนนี้นี่แหละที่นําแสงสว่างมาให้ แล้วก็กลายเป็นลัทธิบูชาตัวบุคคลไปเลย” ความหวัง         สิริลภัสแสดงความเห็นอีกว่าต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรับฟังเสียงจากประชาชน เพื่อตอบสนองให้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง เช่น ควรเพิ่มยาที่มีประสิทธิภาพและมีอาการข้างเคียงน้อยกว่าเข้าไปในบัญชียาหลักแห่งชาติซึ่งจะช่วยลดภาระค่ายาของผู้ป่วย         จากทั้งหมดนี้จึงกล่าวได้ว่าระบบสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่เวลานี้ไม่เพียงพอในการรับมือปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนที่กำลังเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงต้องผลักดันทั้งเชิงนโยบายของภาครัฐและการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สังคมในวงกว้าง         “เราอยากเห็นการจัดสรรงบที่ตรงจุด ตอนนี้เราควรให้ความสําคัญกับการทํายังไงก็ได้ให้ประชาชนที่เป็นแล้วเข้าถึงการรักษาได้มากที่สุด ไม่เพิ่มจํานวนผู้ป่วย และลดจํานวนผู้ป่วยที่มีอยู่เดิม”         โรคซึมเศร้าไม่ใช่ปัญหาเชิงปัจเจกเพียงลำพัง หากมีปัจจัยแวดล้อมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ระบบบริการสาธารณสุข หรือแม้กระทั่งระบบขนส่งสาธารณะ การจะจัดการปัญหาทั้งระบบพร้อมๆ กันย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย         สิ่งที่เราต้องการมากๆ เวลานี้อาจจะเป็น ‘ความหวัง’ เพราะหัวใจมนุษย์แตกสลายเองไม่ได้หากไม่ถูกทุบทำลายจากภายนอก

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 273 คนนครนายกไม่ต้องการเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

        หาก สวนลุมพินีคือพื้นที่ปอดของคนกรุงเทพมหานคร จังหวัดที่ยังเป็นพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ให้คนทั้งประเทศได้พักผ่อน เชื่อว่าหลายคนย่อมคิดถึง จังหวัดนครนายก ที่มีทั้งน้ำตกและภูเขา แต่ปัจจุบัน สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) ได้กำหนดให้จังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่ตั้ง โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ตั้งแต่ปี 2536  แม้ประชาชนในพื้นที่จะเคลื่อนไหวคัดค้านมาตั้งแต่ต้น และโครงการมีการทุจริตจนชะงักลง แต่ปัจจุบันโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยกลับมาดำเนินการอีกเป็นครั้งที่ 3 เพิ่มขนาดจาก 10 เป็น 20 เมกะวัตต์โดยจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนยังคงเดินหน้า คัดค้านอย่างหนัก เช่นเดิม         ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และนายกสมาคมพลเมืองนครนายก เป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่ายคัดค้านฯ ที่เริ่มรณรงค์ เคลื่อนไหวเพื่อยุติโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน    คุณหมอเริ่มคัดค้านโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย มาตั้งแต่ตอนไหน        ไม่ได้เริ่มคัดค้านแต่แรก  โครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย เริ่มเลยมีมาตั้งแต่ช่วงรัฐบาลชาติชาย ปี 2531-2533 เขาบอกว่า เครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย ขนาด 2 เมกะวัตต์เพียงแห่งแรกและแห่งเดียวที่บางเขน กรุงเทพฯ อยู่ในเมือง เขตชุมชนไม่ควรจะอยู่แบบนี้ควรเอาออกจากเขตชุมชน เขาเลยจะหาที่ใหม่ ต่อมาปี 2536 รัฐบาลอนุมัติโครงการฯ เราในพื้นที่ นักวิชาการต่างๆ ก็คัดค้านกันมาตลอด แล้วโครงการฯ ก็มีการทุจริต จนมีคดีความ ก็ชะงักไป  ในช่วงปี 2549  จนถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ โครงการฯ นี้ก็ถูกนำกลับมาอีก  ผมเข้าไปคัดค้านอย่างเต็มตัวในช่วงปี 2556 ตอนนั้นยังเป็นขนาด 10เมกะวัตต์  แล้วต่อมาเขาเปลี่ยนเป็น 20 เมกกะวัตต์  ในช่วงปี 2560         เขามีการทำประชาพิจารณ์ครั้งที่ 1 เลย ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าเขาจัดที่ไหน ครั้งที่ 1 คือผ่านหลักการไปแล้วเรียบร้อย ว่า โอเค ยอมรับให้ไปทำประชาพิจารณ์ต่อในวาระ 2 และ 3 เขาให้กำนันผู้ใหญ่บ้านพาชาวบาน ทั้งหมดเกือบ 600 คน มีการให้เงินคนละ 200 บา เขาบอกว่ามันคือค่าเดินทาง ปกติเราไม่จ่ายเงินในการประชาพิจารณ์ มันคือผิดกฎหมายนะ เพราะหลักการของประชาพิจารณ์ต้องอิสระ เสรี  แล้วต้องแจ้งล่วงหน้า  เหตุผลที่ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) เลือกพื้นที่จังหวัดนครนายก เพราะอะไร         ผมยังไม่ทราบเลย ถามเขาก็ไม่มีคำตอบ คือพื้นที่องครักษ์ จังหวัดนครนายกเหมาะสมอย่างไร ปกติการจะเลือกพื้นที่มันจะต้องมีการสำรวจก่อนเปิดเผยข้อมูลในสาธารณะว่าในประเทศไทย มีพื้นที่ที่ไหนเหมาะสมบ้าง มีกี่แห่ง แต่ละที่มีข้อดี ข้อเสียอย่างไรแล้วค่อยมาเลือกว่าสุดท้ายจะเลือกที่ไหน เอกสารนี้เราขอเขาไปนานมาก ไม่เคยได้เลย อยู่ๆ มาบอกว่าจะทำที่องครักษ์เลย มันผิดขั้นตอนขององค์การระหว่างประเทศในการคัดเลือกสถานที่ที่จะตั้งนิวเคลียร์นะครับ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่         คือการเลือกพื้นที่ เขาตัดสินใจมาตั้งแต่ปี 2533 ผ่านมา 33 ปีแล้ว เอกสารขอไปเราก็ไม่เคยมีให้ชาวบ้านได้ดูเลยทั้งที่ข้อมูลนำมาวางเลยสิ่งเหล่านี้เขาไม่สามารถที่จะตอบโจทย์ต่างๆ ได้ และการกำหนดพื้นที่ควรดูความเหมาะสมของพื้นที่เดิมยุทธศาสตร์จังหวัดนครนายกเป็นเมืองไข่แดงที่รอบด้าน ล้อมด้วยจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมหมดแล้ว ทั้งสระบุรี ปราจีนบุรี  สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปทุมธานี กทม.  อยุธยา ลพบุรี เหลือแต่จังหวัดนครนายกที่ยังไม่มีอุตสาหกรรม ในปี 2558 เราก็ต่อต้านคัดค้านผังเมืองอุตสาหกรรมไปซึ่งเราทำได้สำเร็จ แต่อยู่ๆ คุณจะมาสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ผมว่ามันข้ามขั้นเกินไปมากๆ เลยกับพื้นที่ที่ยังมีความสมบูรณ์ของธรรมชาติแบบนี้    เรื่องนิวเคลียร์ หลายประเทศมีการดำเนินการไปแล้ว และเราก็มีประวัติศาสตร์ที่เกิดอุบัติภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นหลายแห่งเช่นเดียวกัน หากมีการเลือกพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม หรือโครงการมีการทุจริตแบบนี้ มีองค์กรระหว่างประเทศใดๆ ที่จะเข้ามาตรวจสอบไหม         มี ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือชื่อย่อคือ IAEA เป็นองค์การระหว่างประเทศนะ เราก็เคยพูดเรื่องนี้ว่าการจะทำอะไร ต้องใช้แนวทางสากล เขาก็บอกว่าเป็นแนวทางเฉยๆ ไม่ใช่กฎหมายไทย ผมมองดูเขาไม่ได้จริงจังกับเรื่องนี้มากทั้งที่ควรจะซีเรียส เหมือนกันเวลาที่เราจะปกป้องพื้นที่ เพราะเราบอกว่า ทั่วโลกเขายกให้เป็นพื้นที่ มรดกโลกนะ ไม่ควรสร้างเขื่อน เขาบอกว่า มรดกโลกไม่ใช่กฎหมาย เป็นแบบนั้น ปัจจุบันโครงการจัดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัย มีความคืบหน้าอย่างไรหลังจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 ที่ผ่านมา      ก็ยังไม่ได้มีอะไรที่ชัดเจน คือวันที่จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 10 กันยาน 2566 เรากับชาวบ้านก็คัดค้าน เขาส่งจดหมายตอบกลับมาว่า ทำทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมายทั้งหมด ไม่มีอะไรที่ขัด ทั้งที่เราถามเขาไปหลายเรื่องแต่ไม่ได้คำตอบเลย อย่างแรกเลยคือพื้นที่จังหวัดนครนายกเหมาะสมอย่างไรยังไม่มีคำตอบ สอง พื้นที่ตั้งของโครงการฯอยู่ไม่ห่างจากแม่น้ำนครนายก  อาจห่างไม่ถึงกิโลด้วย ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้นมามีโอกาสที่จะรั่วไหลลงแม่น้ำได้ ด้วยสภาพความเป็นดินอ่อน น้ำท่วมถึง เตาซีเมนต์ เหมือนตุ่มใบหนึ่งหากตั้งแล้วโคลงเคลงก็แตกได้แล้วเป็นพื้นที่น้ำท่วมถึง  การปนเปื้อนจะกระจายลงแม่น้ำนครนายก ลงบางประกง คลองรังสิต เข้า กทม. ปทุมธานี เจ้าพระยาได้เลย นอกจากนี้โครงการฯ ยังอยู่ติดชุมชน ตลาดสดองครักษ์ พอเราคัดค้านเรื่องนี้ เขาเลยประกาศยกเลิกกฎเกณฑ์นี้ไป ซึ่งในต่างประเทศเขาดูผลกระทบกว้างมาก เป็นระยะรัศมี 5 กิโลเมตรเลย ซึ่งในพื้นที่ของโครงการฯ ในระยะ 5 กิโลเมตรของเรา เราจะมีโรงพยาบาล มศว. มีคนไข้วันหนึ่งราว 2,000 กว่าคน มีนักศึกษา มศว. 10,000 คนขึ้นไปชุมชนรอบนั้นมีวิทยาลัยกีฬา มีวิทยาลัยการอาชีพ บ้านพักผู้สูงอายุ เดี๋ยวเรือนจำไปตั้งอีก ผมคิดว่า ไม่ใช่พื้นที่ที่โครงการฯ จะมาตั้งหากมีสารเคมีรั่วกระจายลงแม่น้ำนครนายก ปลาของชาวบ้านจะกิน หรือจะขายได้ไหม ความมั่นคงในอาหาร เราจะเสียไปทันที         อีกความเคลื่อนไหว คือสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) ได้เชิญประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยไปดูงานนิวเคลียร์ของเขา เมื่อเดือนที่แล้ว ผมก็ได้เข้าด้วย พอไปดูแล้ว ผมมองว่ายังไม่ได้มีประสิทธิภาพอะไรเลย  ชื่อโครงการเต็มๆ ว่า โครงการจัดตั้ง เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์วิจัยเครื่องใหม่ เพื่อการแพทย์ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม  จริงๆ ประเทศไทยมีความจำเป็น ต้องมีพลังงานนิวเคลียร์ไหม         คือรังสีมีประโยชน์ เราใช้ทั้งในการแพทย์ วินิจฉัยโรค ใช้รักษาโรคมะเร็ง อันนี้เราทราบกันดีอยู่แล้ว ใช้ในอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าอัญมณี ใช้วิเคราะห์การปนเปื้อนในอาหาร ทำให้พืชพันธุ์ทนต่อสภาพแวดล้อม แต่แบบนี้ครับ ประเด็นเลย คือปัญหาใหญ่ของประเทศเราพอบอกว่า อยากได้รังสีนิวเคลียร์ก็คิดถึงเตานิวเคลียร์ อยากได้น้ำก็นึกถึงเขื่อน เป็นสูตรสำเร็จขนาดนั้น จริงๆ ต้องบอกว่าพลังงานนิวเคลียร์มันถูกสร้างได้หลายแบบ หลายวิธี และเราไม่ต้องสร้างเองทั้งหมด หากเราสร้างสารได้ 5 ตัว เราสามารถใช้การแลกเปลี่ยนกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เราไม่จำเป็นต้องผลิตเองทั้งหมด ทุกตัว         ประเด็นต่อมาคือ เราต้องมีคำตอบว่า ทำไมถึงต้องการตัวไหน เพราะอะไร ความต้องการมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ซึ่งเคยมีผู้เชี่ยวชาญที่จุฬาประเมินเมื่อ 5- 6ปี แล้วเขาบอกว่าถ้าเราไม่ทำนะ เราจะสูญเสีย โอกาสปีละเป็นพันล้าน รายงานการประเมินตัวนี้เราไม่เคยได้เห็น จนเมื่อร้องเรียนอย่างหนัก เขาเลยปล่อยรายงานหลายร้อยหน้าให้ชาวบ้านได้ดูเมื่อใกล้จะจัดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 3 ก่อนหน้านี้เขาไม่เคยประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้เราได้ทราบเลย ทั้งที่เขาเพิ่มขนาดเป็น 20 เมกะวัตต์ จนถึงวันนี้ครบ 3 เดือน หลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ไปแล้ว  คุณหมอจะเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไร            ผมส่งเสียงตลอด ในทุกเวที ทุกสื่อที่มีโอกาส  แล้วเมื่อเขาทำหนังสือตอบเรามาว่าเขาทำตามขั้นตอนกฎหมาย โครงการก็ยังไม่ได้ยุติ ตอนนี้หลังจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 10 ก.ย. จะครบ 3 เดือน ยังไม่มี ความชัดเจนเลย เราอาจจะทำจดหมายซักถามและคัดค้านจดหมายที่เขาตอบกลับเรามา   อยากฝากอะไรกับสังคมบ้าง          หนึ่งนะครับ การสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใช้งบประมาณเกือบกว่า 2 หมื่นล้าน เป็นเงินของทุกคน ไม่ใช่ของใครคนใด คนหนึ่ง ตอนนี้ประเทศของเรายากจน งบขัดสนการจะนำเงินไปใช้ต้องมีความหมายต่อเวลานี้อย่างมาก สอง โครงการควรสร้างความกระจ่างเรื่องการทุจริตก่อน ตอนนี้ยังจับตัวคนผิดไม่ได้ ยังฟ้องร้องกันอยู่  โครงการของรัฐใหญ่ๆ ต้องมีเหตุผลที่หนักแน่น มีที่มา ที่ไปชัดเจน และให้ทุกคนได้รับรู้ อะไรที่มันไม่ชัดเจนแบบนี้ ไม่มีที่มา ที่ไป มันคือการใช้เงินภาษีไม่คุ้มค่า  และปัญหาใหญ่สุดคือการทิ้งกากนิวเคลียร์อายุร้อยปี พันปี หมื่นปี ทิ้งไว้บนฝั่งแม่น้ำนครนายกของเรา เพราะย้ายไม่ได้ ทุบไม่ได้ หนีไม่ได้  ผมมองว่า จังหวัดนครนายกเป็นพื้นที่ที่มาพักผ่อนได้ เป็นสวนหย่อมของประเทศแห่งหนึ่งเลย จึงอยากให้ช่วยกันรักษาไว้ ช่วยกันจับตาโครงการฯ นี้ และเอาความจริงให้กับชาวบ้านให้ได้มากที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 272 บำนาญแห่งชาติ สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย

        กว่า 20 ปีแล้วที่ประเทศไทยได้มีการพูดถึงสังคมสูงวัย เริ่มตั้งแต่ ในปี 2548 จนถึงปัจจุบันในปี 2566 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปจำนวน 12 ล้าน 6 แสนคนหรือคิดเป็นจำนวนร้อยละ 19.21 ของประชากรทั้งหมด 66 ล้านคน ... และคาดการณ์กันว่า ในปี พ.ศ. 2573 ประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 26.9  หรือการเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น         ผู้สูงอายุของไทยจะมีความเป็นอยู่อย่างไร นี่คือน้ำเสียงแห่งความกังวลที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังในทุกครั้ง ทุกโอกาสที่มีการพูดถึงสถานการณ์สังคมสูงวัย เมื่อเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังไม่เพียงต่อต่อการดำรงชีพและยังไม่มีความแน่นอนดังที่ล่าสุดได้มีการปรับเกณฑ์กันอีกครั้งในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา         เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ เริ่มรณรงค์สื่อสารเพื่อยกระดับ ‘เบี้ยยังชีพ’  ให้เป็น  ‘บำนาญถ้วนหน้า’ ตั้งแต่ระยะแรกที่ประเทศไทยเริ่มมีการพูดถึงเรื่องสังคมสูงวัย ผ่านมากว่า 17 ปี ข้อกังขาต่อความเป็นไปได้เริ่มแผ่วเสียงลง การเลือกตั้งที่ผ่านมายังเป็นนโยบายสำคัญที่พรรคการเมืองหลายต่อหลายพรรคส่งเสียงยืนยันสิทธิที่ผู้สูงอายุไทยควรได้อย่างพร้อมกันที่ตัวเลข 3,000 ต่อเดือน ความสำเร็จครั้งนี้ คุณแสงสิริ ตรีมรรคา  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่ายังมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย...ที่ในวันนี้สถานการณ์ทางสังคมได้ฟูมฟักให้ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป จุดเริ่มต้นที่เริ่มผลักดันเรื่อง บำนาญถ้วนหน้า            เราเริ่มกันช่วงปี 2551 – 2552 ตอนนั้น เราเริ่มมีการพูดถึงกันแล้วว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัย เราก็คิดว่า แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรเพราะเราไม่มีหลักประกันทางรายได้เลยซึ่งสำคัญมากที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี  ตอนนั้น เราจึงมีการยกร่าง พ.ร.บ. ภาคประชาชน ยกระดับ ‘เบี้ยยังชีพ’ ให้เป็นบำนาญถ้วนหน้า  มีการระดมรายชื่อ 10,000 รายชื่อเสนอเข้าไปที่รัฐสภา ตอนนั้นคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีเรื่องก็ค้างไว้ ไม่ได้เซ็นต์ ไม่ได้รับการพิจารณาเข้าสภาแต่เราก็ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เราปรับปรุง พ.ร.บ. ฉบับนี้ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2562 มีประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 14,000 รายชื่อ ในรัฐบาลประยุทธ์ แต่ก็ตกไป ไม่ได้เซ็นต์ เพราะเป็นกฎหมายการเงินต้องผ่านนายกรัฐมาตรีถึงจะเข้าสภาได้         จนถึงรัฐบาลปัจจุบันขณะนี้  ต้องบอกว่ารัฐสภาก็มีการศึกษาเรื่องนี้และเราได้เข้าไปเป็นอนุกรรมการฯ ด้วย ทางรัฐสภาได้มีรายงานหนึ่งฉบับหนึ่งออกมาและมีการยกร่าง การแก้ไข พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ เป็น พ.ร.บ. ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เราเลยนำร่างของกรรมาธิการเป็นตัวยกร่างฉบับที่ 3 ของเรา และปรับปรุงให้เป็นตามแนวทางของฉบับประชาชนที่เรายืนยันหลักการสำคัญเลยคือ หนึ่ง ให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เป็นสิทธิพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป สอง เราใช้เกณฑ์เส้นความยากจนเป็นหลัก เราจึงเสนอที่ 3,000 บาท มาโดยตลอด เงินตรงนี้ควรจะต้องให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต สถานการณ์ตอนที่เริ่มผลักดันเรื่องนี้ เป็นอย่างไร          ช่วงปี 2552 – 2553 เมื่อเราพูดถึงบำนาญถ้วนหน้า รัฐสวัสดิการ คนยังไม่เข้าใจ ไม่ติดหู จนถึงไม่อยากได้  มีการตั้งคำถามเยอะ แต่ประสบการณ์ที่ผ่าน เราพบว่าคนตั้งคำถามเยอะที่สุดเพราะกลัวแทนรัฐว่าจะ ‘เอาเงินมาจากไหน’ ‘เป็นไปไม่ได้หรอก ถ้าเราจะต้องเก็บภาษีให้สูงๆ เหมือนต่างประเทศ’  มีเสียงที่บอกเลยว่า  ทำไมรัฐต้องให้สวัสดิการประชาชน ประชาชนต้องขวนขวายทำงานเก็บเงินเอง แต่เราก็เคลื่อนไหวและสื่อสารถึงความจำเป็นมาตลอด ช่วง ปี 2560 - 2561  คนเริ่มพูดถึงเรื่องรัฐสวัสดิการมากขึ้น  นักวิชาการจากเมื่อก่อนที่ไม่ได้สนับสนุนเต็มตัวก็มีนักวิชาการหลายคนเข้ามาสนับสนุน เพราะเขามองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำได้ มีงานวิจัยออกมาทั้งในและต่างประเทศว่า การให้หรือการสนับสนุนเรื่องหลักประกันรายได้ ไม่ว่าจะกับคนกลุ่มไหนจะช่วยทำให้ผู้คนสามารถออกแบบชีวิต วางแผนชีวิต และนำเงินเหล่านั้นไปต่อยอดได้  บริษัทใหญ่ๆ อย่าง อเมซอนก็เคยทดลองให้เงินทางประชาชนในแถบแอฟริกาแบบให้เปล่าต่อเนื่องผลก็เป็นไปตามแบบที่งานวิจัยบอกมา            กระแสการพูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่หลังรัฐประหารมีขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียน คนรุ่นใหม่  นักศึกษา ยิ่งมีพูดถึงเยอะมากเพราะคนเริ่มเห็นปัญหาในเชิงโครงสร้างว่า นโยบายของรัฐไม่ได้เอื้อให้คนหลุดพ้นจากวงจนความยากจนได้ ไม่ได้เอื้อให้คนมีโอกาสที่จะมีชีวิตที่ดี คนเลยคิดว่าสิ่งที่ควรเป็นสิทธิและรัฐต้องคิด มีเจตนา เจตจำนงที่จะต้องให้กับประชาชนก็คือเรื่องการมีสวัสดิการ ทั้งหมดนี้ทำให้เรื่องรัฐสวัสดิการถูกพูดถึงมากขึ้น ขณะที่คำถามเรื่องความเป็นไปได้ต่างๆ ก็ลดลง มีงานวิจัย มีข้อมูลออกมาเยอะมากว่าจริงๆ แล้วประเทศของเราควรจัดสรรงบประมาณแบบใดได้บ้าง ในภาพรวมของประเทศตอนนี้ เรามีสวัสดิการให้ประชาชนเรื่องอะไรบ้างและมีปัญหาอย่างไร            สวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชน มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ประชาชนทั่วไป ราว 66 ล้านคน เท่าที่เราทำข้อมูล  สวัสดิการที่รัฐจ่ายตรงไปให้กับประชาชนราว 66 ล้านคน ตรงนี้ เช่นเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดที่ให้กับครอบครัวที่ยากจน อุดหนุนอาหารกลางวันเด็ก สิทธิเรียนฟรี กองทุนเสมอภาค อยู่ที่ 73,000 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพมากที่สุดคือ 1.4 แสนล้านบาท ประกันสังคม เบี้ยผู้สูงอายุ กองทุนการออมแห่งชาติ  ซึ่งใช้เงินน้อยมากเพียง  300 กว่าล้าน ทั้งหมดนี้เป็นงบประมาณกว่าร้อยละ14.12 ของรายจ่ายรัฐบาล แม้ดูว่าหลากหลายแต่สวัสดิการที่เป็นถ้วนหน้า มี 2 เรื่องเท่านั้น คือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กับสิทธิเรียนฟรี นอกนั้นจะเป็นการให้แบบเลือกให้         ขณะที่อีกกลุ่มคือกลุ่มข้าราชการ มีประมาณ 5 ล้านคนได้สวัสดิการจากรัฐคิดแล้วเป็นงบประมาณกว่า ร้อยละ 15.36 เป็นค่ารักษาพยาบาล เงินช่วยเหลือข้าราชการ และสวัสดิการต่างๆ           งานวิจัยที่ผ่านมาเราได้เห็นว่า การเลือกให้เฉพาะกลุ่มหรือคนที่ยากจน เช่น งานวิจัยอย่างของ อาจารย์สมชัย หรือของ  TDRI  บอกชัดเจนว่าจะทำให้คนที่ควรได้จะตกหล่นมากกว่าร้อยละ 20 แล้วคนที่ไม่จำเป็นต้องได้ก็ได้ แล้วต้องใช้งบประมาณเพื่อคัดกรองมากพอๆ กับที่ใช้เพื่อจ่ายสวัสดิการ จริงๆ อาจจะน้อยกว่า แต่ก็เป็นเงินจำนวนที่ไม่น้อยที่ต้องนำมาใช้จ่ายตรงนี้   จึงมีหลักการที่ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าต้องเป็นสวัสดิการแบบ ‘ถ้วนหน้า ’ เท่านั้น         ใช่ และเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละสมัยมากๆ  เช่น นโยบายของนรัฐบาล ถ้านายกสั่งวันนี้เลย 3,000 บาทเขาก็ต้องจ่าย 3,000 บาท ถ้าวันนี้ปรับเกณฑ์ลด ก็ลดลง และหลายปีมาแล้ว เรายังให้แบบขั้นบันได 600 – 1,000 บาทและไม่ได้เป็นถ้วนหน้า          เราผลักดันเรื่องนี้โดยใช้ประสบการณ์จากจากการร่วมผลักดันหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือผลักดันให้เป็นกฎหมายเฉพาะ แล้วจะมีความแน่นอน ความเสมอภาค คือคุณอาจจะทำให้เป็น 3,000  ได้ไหม ถ้าไม่ได้ ได้ 1,500 แล้วค่อยๆ ขยับไปก็ได้แต่ชีวิตประชาชนก็จะมีหลักประกันที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้เหมือนตอนนี้  ดังนั้นเราตั้งใจว่าจะระดมรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายกว่า 10,000 รายชื่อให้ทันภายในสิ้นปี 2566 นี้  คิดว่าอะไรทำให้สังคมพูดถึงเรื่อง รัฐสวัสดิการและบำนาญถ้วนหน้ากันมากขึ้นแล้วในตอนนี้         เราเป็นสังคมสูงวัยแล้ว และในปี 2572 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุประมาณ 20 ล้านคน ตอนนี้อยู่ที่ 12 ล้านคน แต่เบี้ยยังชีพ ยังเป็นปัญหามาก เรามีความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลประชาชน  รัฐบาลใช้งบประมาณกว่า ร้อยละ14 เพื่อจัดสวัสดิการดูแล ผู้คนในสังคมกว่า 66 ล้านคน เมื่อเทียบกับ ข้าราชการและครอบครัวที่มีราว 5 ล้านคนใช้งบประมาณร้อยละ 15.3 งบตรงนี้เมื่อรวมกับ รายจ่ายบุคลากรของกลุ่มข้าราชการอีกเป็น ร้อยละ 40 ของบประมาณเลยแล้วยังเพิ่มอยู่อย่างต่อเนื่อง เราคิดว่า ไม่ใช่ปัญหาว่ามีงบไม่พอแต่เป็นเรื่องที่ไม่บาลานซ์ เป็นปัญหาเรื่องการจัดสรรงบประมาณของประเทศเรา ยืนยันว่าเรื่องนี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงในบ้านของเรา         คือทุกวงสนทนาที่เราจัดมา ถามถึงความเป็นไปได้หมด และมีคำตอบที่เหมือนกันอยู่กันอย่างหนึ่งคือ การที่จะมีสวัสดิการนี้ได้ต้องเริ่มเจตจำนงที่รัฐอยากจะทำก่อน รัฐต้องมีไมด์เซ็ตที่ดีว่า สวัสดิการจะเข้ามาช่วยสร้างเศรษฐกิจได้ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่ถ้ารัฐไม่มีเจตจำนงจะทำ ก็จะไม่เกิดสักที อย่างเรื่องหลักประกันสุขภาพ เราเริ่มต้นจากหัวละ1,200 บาท  ตอนนี้ขยับมาที่ 4,000 ต่อหัว มันค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไปได้ งบประมาณเป็นเรื่องที่จัดการได้ รีดส่วนที่ไม่จำเป็นออก เพิ่มการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่หรือในรูปแบบเก่าที่มีอยู่แต่ว่ายังไม่มีประสิทธิภาพก็ปรับปรุง             งบประมาณที่จะนำมาจัดสวัสดิการมาได้จากหลายแบบ ทั้งปฏิรูปสิทธิประโยชน์  BOI เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี  ลดงบกลาง ลดโครงการที่ไม่จำเป็น เหล่านี้จะทำให้มีเงินเข้ามาจัดสวัสดิการได้ถึง 650,000 ล้านบาท ความเป็นไปได้มีอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่า รัฐต้องตั้งต้นแล้วต้องทำ หากรัฐไม่มีเจตจำนง ไม่กล้าทำ ก็ไม่เกิด         ประชาชนเราเลยต้องไปตั้งต้น ที่ระบบโครงสร้างทางการเมืองว่าเราจะตัดสินใจให้ใครขึ้นมาบริหาร เราจะทำยังไงที่จะทำให้รัฐไม่โกหก คนที่เป็นรัฐบาลขึ้นไปแล้วจะไม่สับขาหลอกก็เป็นหน้าที่ประชาชนที่จะต้อง ตรวจสอบ ถ่วงดุล และเรียกร้อง คือภาคประชาชนเองการได้มาของสวัสดิการประชาชนไม่เคยได้มาด้วยตัวรัฐเองเลย ถ้าดูประวัติศาสตร์เกิดจากการเรียกร้องของประชาชนเอง อย่างเราเองก็ลุกขึ้นมาขับเคลื่อน ข้อมูลล่าสุดเป็นผลการศึกษาของนักวิชาการหลายท่าน ในคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาบอกว่า การจัดให้มีบำนาญถ้วนหน้า จะทำให้ GDP โตไปถึง 4 % ข้อมูลนี้มาจากไหน           ใช่ เป็นการศึกษาโดยการใช้ตัวคูณทางการเงิน การคลัง ว่าถ้าทดลองจ่ายเงินบำนาญ ในจำนวนเท่านี้ๆ กี่คนจะส่งผลต่อ GDP แบบไหน อย่างไร ซึ่งเป็นวิธีวิจัย วิธีศึกษาของเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปอยู่แล้ว           ในงานวิจัย เราให้โจทย์นักวิจัยว่า ถ้าเรามีเป้าหมายที่จะจ่ายบำนาญให้ผู้สูงอายุทุกคน คนละ 3,000  บาท จะส่งผลกระทบอะไรในเชิงเศรษฐกิจบ้าง และเราได้เห็นจากงานวิจัยว่า ถ้าให้แบบถ้วนหน้า ไม่เลือกว่าจะให้ใครจะใช้งบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท พอคำนวณแล้วพบว่าจ่ายปีแรกยังไม่ส่งผลต่อ GDP ชัดเจน ปีที่ 2 – 3 เริ่มเห็น หลังจ่ายไปปีที่ 5 เห็นผลชัดเจนที่สุด เปรียบเหมือนเราโยนหินลงไปในน้ำก็จะเกิดแรงสั่นสะเทือนเป็นวงกระเพื่อม ถ้าเราโยนลงไปทุกปี มันจะมีแรงกระเพื่อมตลอดจนเมื่อจ่ายถึงปี 9 จะมี GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 4%   แล้วประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการแล้วมีสถานการณ์ที่ดีหรือเสียอย่างไรไหม         จากงานวิจัยที่มีออกมา มีข้อดีเยอะพอสมควร เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ ประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศด้วย อย่างประเทศในสแกนดิเนเวียเกิดขึ้นในตอนที่เขาประเทศมีวิกฤตทั้งนั้น คือประเทศไม่ได้รวย มีวิกฤต แต่รัฐบาลก็มองว่า การที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ได้  รัฐต้องเข้าไปสนับสนุนบางอย่างเข้าไป  มันเลยเกิดเป็นวิธีคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ แล้วการเป็นประเทศประชาธิปไตยที่การทุจริตน้อยมากๆ ประชาชนเขาก็ไว้วางใจเชื่อมั่น ว่าจ่ายแล้วรัฐบาลของประเทศเขานำไปจัดสวัสดิการจริงๆ         ข้อดีที่แน่นอนอีกอย่างคือ การจัดสวัสดิการเหล่านี้จะช่วยทำให้ คนไม่ต้องไปกังวลต่อปัจจัยพื้นฐาน เขาจะออกแบบชีวิตได้ เขารู้ว่าอยากจะเรียนอะไร โดยไม่สนใจว่ามีรายได้ เท่าไหร่  เราจึงได้เห็นว่ามีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมากในประเทศเหล่านี้ เช่น  ฟินแลนด์  ประเทศเหล่านี้สามารถจัดการศึกษาที่มีคุณภาพดี เพราะว่ามีสวัสดิการจริงๆ         บำนาญถ้วนหน้ายังส่งผลลดความยากจนจากรุ่นสู่รุ่นข้อนี้คือแน่นอนมาก  คือคนสูงอายุไม่ต้องกังวลว่า 60 ไปแล้วจะอยู่อย่างไร คุณจะได้ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้แน่ๆ                  ข้อเสียก็มี ที่ประเทศญี่ปุ่นพอจำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วคนทำงานน้อยลงกองทุนเขาก็มีปัญหามีการเสนอว่าจะลดการจ่ายบำนาญลงเพื่อที่จะทำให้กองทุนมีเสถียรภาพแต่เรามองว่า เป็นปัญหาที่เป็นโจทย์ในการทำงานออกแบบมากกว่า เป็นปัญหาที่วัดฝีมือของรัฐบาล กลับมาที่บ้านเราที่ยังไม่เริ่มทำสักที ที่อื่นเขาเริ่มทำไปกันเรื่อยๆ เจอวิธีการ เจอปัญหาก็แก้ไข เรียนรู้และพัฒนาให้ดีขึ้นแต่ของบ้านเราสวัสดิการต่างๆ ยังจ่ายแบบเบี้ยหัวแตก ไม่แน่นอน มีคนตกหล่น แล้วไม่ได้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ลดความยากจนของประชาชนลงได้ สิ่งที่อยากฝาก          เราทำหลายทาง ทั้งจัดเวทีสาธารณะ นำเสนองานวิชาการ เข้าไปผลักดันกับคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม รัฐสภา ที่มีการตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อทำข้อเสนอเรื่องนี้ เราสร้างกระแสสังคมให้ประชาชนร่วมกันลงรายชื่อเพื่อสนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ เราพูดซ้ำๆ เพื่อให้คนเข้าใจมากขึ้นว่า เป็นสิทธิของประชาชนไม่ต้องไปกังวลแทนรัฐ           หนึ่ง ทุกคนต้องยึดหลักการ ยึดมั่นว่าภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 60 ที่มองว่าไม่ดีเลยแต่ก็ยังกำหนดว่าประชาชนควรจะมีสิทธิขั้นพื้นฐานเรื่องอะไรบ้างซึ่งยังเป็นการเลือกจ่าย เราจึงต้องช่วยกันยืนยันหลักการทำให้เป็นสวัสดิการของประชาชนครอบคลุมถ้วนหน้า         สอง ระหว่างทางที่ผลักดันเรื่องรัฐธรรมนูญใหม่ เรายืนยันที่จะเสนอกฎหมายประชาชนเรื่องบำนาญถ้วนหน้า ดังนั้นฝากให้ทุกคนที่เชื่อมั่นในหลักการนี้ร่วมกันลงชื่อได้ที่ ‘เพจบำนาญแห่งชาติ ’ ซึ่งมีรายละเอียดบอกไว้ทุกอย่าง เรามีความหวังว่าจะรวบรวมให้ได้ 10,000 รายชื่อเพื่อยื่นต่อรัฐสภาภายในสิ้นปีนี้    ร่วมลงลายมือเสนอ ร่าง พรบ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติฯ ได้ที่เพจ บำนาญแห่งชาติ  https://www.facebook.com/pension4all

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)