ฉบับที่ 112-113 "17 ปี คนฉลาดซื้อ"

17 คน 17 ปี นิตยสารฉลาดซื้อ

1.พัชรศรี เบญจมาศ นักข่าว / พิธีกร รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง


1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร
แมร์ว่าคนเราบริโภคกันดุเดือดมากขึ้นนะ เพราะมันมีทั้งแรงโฆษณา กระแส ค่านิยม ซึ่งมันทำให้คนบริโภคกันอย่างดุเดือด อะไรที่ใครบอกว่าดี ก็อยากจะลอง ทั้งใช้ทั้งกิน จนบางครั้งก็ลืมถามตัวเองไปเลยว่า
‘มันจำเป็นกับตัวเราหรือเปล่า’ ‘แค่นี้พอหรือเหมาะสมกับตัวเราแล้วหรือยัง’

อีกอย่างที่แมร์คิดว่าสำคัญก็คือคนเราขาดข้อมูลในการเลือกซื้อ เลือกใช้ หรือขาดข้อมูลที่จะสนับสนุนว่าอะไรดี อะไรที่เหมาะกับชีวิตของเรา ที่เป็นข้อมูลที่เชื่อถือได้

 

2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน
แน่นอนค่ะ มันตามชื่อเลย “ฉลาดซื้อ” ทำให้คนฉลาดมากขึ้น การซื้อของไม่ใช่แค่มีเงินอย่างเดียวนะ เอ้อ..มันก็ต้องมีอะไรที่มันประกอบกันเข้าไปด้วยใช่ม้ะ…มันก็ต้องคิดบ้างล่ะว่าของสิ่งนี้มันเหมาะกับเราไหม รายได้เราเท่านี้ แบบไหนถึงจะเหมาะกับเรา มันก็น่าจะมีหน่วยงานอะไรที่มาบอกกับเรา คอยเป็นหูเป็นตาแทนเรา เป็นปากเป็นเสียงแทนเรา ว่าอะไรที่ไม่ยุติธรรมกับเรา หรือบอกเราว่า “อะไรที่คุ้มค่ากับเรา” ก็น่าจะมีหน่วยงานตรงนั้น

3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ
อืมม..ได้รับเกียรติอย่างยิ่งค่ะ อ้อ..แน่ล่ะรูปลักษณ์มันต้องดูดี แพคเก็จต้องดูดี คนถึงจะหยิบจับไปใช้ ไปหาความรู้ การจัดวางหน้า ปกต้องดูดี รูปแบบตัวหนังสือ ภาพประกอบต้องดูดี หรือแม้แต่เนื้อหาในหนังสือก็ต้องปรับให้ทันยุคทันสมัย เข้าใจง่าย ใช้ภาษาที่เป็นเพื่อนกับคนอ่าน เข้าถึงง่าย พอเขาอ่านได้ง่าย และเกี่ยวกับเขา การที่จะถูกเลือกให้เป็นหนังสือประจำบ้านก็จะง่ายมากขึ้น อย่างคอลัมน์สัมภาษณ์ทำให้ดีไปเลยนำเสนอวิถีและแนวคิดของคนที่ไปสัมภาษณ์ให้คนอ่านได้เห็น อาจจะเป็นกลุ่มคนที่น่าสนใจ เพราะใครๆ ก็จะสนใจว่าคนเหล่านั้นเขาคิด กิน เลือกใช้อะไรกันอย่างไรนะ.


 

2.สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าวโทรทัศน์

1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร
คำว่าบริโภคนิยมมันก็ชัดเจนอยู่แล้ว เพราะอยู่ในรูปแบบของสื่ออย่างเต็มรูปแบบ สมัยนี้ถ้าอะไรที่มันติดหรือเกิดกระแสก็จะเกิดในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ผมว่าปัจจุบันคนเรามีความรู้ดีขึ้นนะ คนเราต้องมีการกรองในตัวของมันพอสมควร เพราะเดี๋ยวนี้สินค้าไม่ใช่แค่ขายคุณภาพของสินค้าหรือบริการเพียงอย่างเดียว แต่ขายด้วยความหลากหลาย บางทีก็ขายรสนิยม ขายเทรนด์หรือบางตัวก็แบ่งผู้บริโภคออกเป็นกลุ่มๆ ซึ่งตรงนี้เราก็ไม่ว่ากัน มันขึ้นอยู่ที่ความคุ้มค่า นี่ผมพยายามมองอย่างเป็นกลางนะ อย่างสินค้าบางตัวซื้อด้วยอารมณ์ ซื้อเพราะอยากได้มากกว่าซื้อเพราะประโยชน์ เราก็ขอแต่เพียงว่าอย่าให้มันเป็นโทษก็พอ

2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มากน้อยแค่ไหน
นี่เป็นตัวสำคัญเพราะสามารถหาคำตอบได้เลยทั้งในแง่วิทยาศาสตร์ แต่เป็นปัญหาตรงที่จะทำอย่างไรให้เกิดการเผยแพร่อย่างกว้างขวาง ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มคนโดยทั่วไป

ฉลาดซื้อมีการเปรียบเทียบสินค้าที่ไม่ใช่การแนะนำให้ซื้อในด้านอารมณ์ความรู้สึก น่าเสียดายตรงที่อยู่ในวงแคบไปหน่อย ที่จะได้ให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มค่าในการเลือกซื้อสินค้า อย่างผงซักฟอก เราจะเห็นการโฆษณาผงซักฟอกที่มีการทดลองซักผ้าขาว ยี่ห้อนี้ซักคราบกาแฟ ซักคราบซอสออก แข่งกันโฆษณา แบบนี้เราน่าจะแยกออกมาให้ผู้บริโภคเห็นกันชัดๆ ไปเลยว่ายี่ห้อไหนดี ยี่ห้อไหนเด่นเรื่องอะไร หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟตอนนี้ไปใครๆ ก็บอกแต่ให้ซื้อแต่เบอร์ 5 ซึ่ง ผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็อยากจะรู้ว่ามันมี 5.1 5.2 อีกหรือเปล่า หรือเตารีดใช้งานแบบเดียวกันยี่ห้อนี้ดีอย่างไร ดีกว่าแบบอื่นตรงไหน ให้เปรียบเทียบสินค้ากันให้เห็นไปเลย น่าเสียดายที่ไม่ค่อยเป็นที่น่ารู้จัก เข้าใจนะว่าการทดสอบแต่ละครั้งต้องใช้เงินเยอะ

3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ
ผมว่าก็ดีอยู่แล้วนะ ถ้าเป็นผม ผมก็จะทำแบบนี้ล่ะ เพียงแต่ว่าผมจะมองเพิ่มในเรื่องของสื่อ อาจจะทำให้ประเด็นหวือหวาขึ้น เช่นเอาตัวคนที่มีชื่อเสียงเข้ามาใส่ เช่นการทดลองอะไรบางอย่างก็นำเอาคนที่มีชื่อเสียงเข้ามา หรือประเด็นวิชาการ ลองเขียนให้อ่านง่ายขึ้นหน่อยน่าจะดี คือพอเรานำเสนอข้อมูลให้น่าสนใจ ไม่ว่าข้อมูลจะยากหรือซับซ้อนแค่ไหน มันก็จะง่ายขึ้น คนอ่านก็จะติดตามเราเอง


3. รองศาสตราจารย์ ดร. ปาริชาต สถาปิตานนท์   ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร
นับวันสังคมไทยเป็นสังคมที่บริโภคกันสูงขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าเป็นสังคมบริโภคนิยมมากๆ คนจะอยากได้ อยากมี อยากเป็น และอยากเปลี่ยน และไม่ได้คิดถึงคุณค่าของอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกันกับตัวผู้ประกอบการที่ผลิตเพื่ออายุสั้น ไม่ได้ผลิตเพื่อให้ของนั้นสามารถใช้ได้อายุยาวชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งเป็นภาพที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและสังคมโลก

2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน
การเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์ที่รวดเร็วและหลากหลาย ทำให้เกิดการซื้อเยอะขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือการสร้างกระแสให้เกิดลัทธิการบริโภค ลัทธิการเอาอย่าง ซึ่งตรงนี้เป็นตัวอันตราย และ
ฉลาดซื้อเป็นสื่อหนึ่งที่ช่วยได้ เป็นตัวที่ช่วยเทียบให้เห็นถึงความหลากหลายให้คนได้ชะลอตัวเองมากขึ้น ให้ได้คิดมากขึ้น คิดเรื่องคุณสมบัติต่างๆ ของสินค้าที่จะซื้อ ไม่ใช่ซื้อเพราะชอบยี่ห้อนี้ไม่ได้ดูเหตุผลประกอบ
อีกอย่างก็คือฉลาดซื้อมีคอลัมน์ที่หลากหลายทำให้เรามีมุมมองที่หลากหลาย มาแบ่งปันประสบการณ์ทำให้เรารู้เท่าทันว่ามันเกิดอะไรขึ้นในสังคมบริโภคบ้าง

3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ
อยากเห็นซีรี่ส์ที่หลากหลายในฉลาดซื้อ ซึ่งตอนนี้ฉลาดซื้อสื่อออกมาในแนววิชาการที่น่าอ่านและน่าเก็บ แต่อยากเห็นฉลาดซื้อในเวอร์ชั่นสำหรับเยาวชน อยากเห็นจริงๆ ค่ะ อยากเห็นการเชิญชวนให้เยาวชนรุ่นใหม่กล้าคิด กล้าวิเคราะห์ คิดนานๆ เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธสังคมบริโภคนิยม ปฏิเสธลัทธิการเอาอย่างได้ เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้เราและเยาวชนเท่าทันได้อย่างไร และนั่นล่ะคือสิ่งที่อยากเห็น อีกอย่างที่อยากเห็นคือการใช้พื้นที่ในส่วนของสังคมออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ เพราะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจและจะเป็นการส่งต่อที่รวดเร็วด้วย


4.ภัทรีดา ประสานทอง นักวาดภาพประกอบหนังสือ

1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร
ถามหน่อยว่าใครที่กลับบ้านโดยไม่ซื้ออะไรบ้าง เหมือนความสุขที่หาได้ตอนนี้คือการได้ซื้อแล้วค่ะ บางครั้งซื้อไปแล้วก็ไม่ได้ใช้ แต่มีความสุขที่ได้ซื้อ หรือตอนนี้อาจจะกลายเป็นการติดการซื้อไปแล้ว

2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน
ตอนได้เห็นหนังสือฉลาดซื้อที่แผง เปิดอ่านดู ต้องบอกก่อนนะคะว่า คำว่า“ฉลาดซื้อ” เหมือนทุกคนต้องป้องกันตัวเองในการซื้อน่ะ เรามีความสุขแค่การซื้อ จ่ายตังค์แล้วก็แค่ได้ของมาบางทีก็ลืมไปเลยว่าเราซื้อของนั้นมา เพราะฉะนั้นมันต้องมีเส้นแบ่งว่า ซื้อจ่ายตังค์แล้วมีความสุข ตอนนี้ความสุขไม่ได้จบลงแค่ของแล้วค่ะ แต่กลายเป็นมีความสุขที่ได้ซื้อ แล้วก็ซื้อไปเรื่อยๆ แต่ใน “ฉลาดซื้อ” ไม่มีโฆษณาเพื่อจูงใจให้ซื้อ อ่านแล้วต้องขอบคุณคนทำเลยค่ะ มีทั้งการเปรียบเทียบของแต่ละอย่าง คือทำให้เราอ่านเลยค่ะ มันต้องอ่านน่ะ

3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ
อยากให้หนังสือมีภาพประกอบที่โมเดิร์น เช่นนำภาพคนที่วาดการ์ตูนในหนังสือ 100 สิ่งที่ไม่ต้องทำฯ มาประกอบ หรือทำสีข้างในให้ดูสดใส ปรับฟ้อนท์อีกนิดหน่อย เนื้อหาข้างในดีอยู่แล้วค่ะ อยากให้ทุกบ้านมีฉลาดซื้อติดบ้านไว้ค่ะ เป็นนิตยสารที่ทุกคนต้องอ่านค่ะ


5.นที เอกวิจิตร์ - หนึ่งในสมาชิก วงบุดดาเบลส

1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร
ตามหลักพุทธศาสนาเลย ต้องใช้สติอย่างมาก เพราะปัจจุบันเราเห็นอะไรปุ๊บก็ซื้อเลย ยิ่งมีบัตรเงินสดสารพัดบัตร กด รูดกันปุ๊บปั๊บ เห็นโฆษณาเดี๋ยวนี้ก็สมเพชนะครับ ทำให้คนอยากได้ของ มีทั้งเอารถไปดาวน์ เปลี่ยนเป็นเงินสด คือของฟุ่มเฟือยน่ะ มันไม่มีมันก็ไม่ตายหรอกนะ ตรงข้ามกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง มันสวนกระแส ผมว่ามันเป็นทาง ฉิบหายเลยล่ะ เป็นทางสนับสนุนกิเลสโดยไม่เกิดผลเลยชัดๆ ไม่ได้เกิดประโยชน์กับคนหมู่มากเลย ถึงแม้จะทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจมันดีขึ้น คือตัวเลขมันวัดได้ก็จริง แล้วไม่ใช่ตัวเลขหรอกเหรอที่ทำให้เกิดฟองสบู่แตกมาไม่รู้กี่ครั้ง ในต่างประเทศก็เป็น อเมริกาก็เป็น IMF เป็นคนบอกให้เราด้วยซ้ำว่าต้องทำอย่างไร แต่ตัวมันเองยังจะเอาตัวไม่รอด

ผมว่าอย่างที่ในหลวงท่านพูด มันถูกทุกอย่าง เอาดัชนีความสุขมาวัดดีกว่า อย่ามาใช้ตัวเลขวัดกันเลย ตัวเลขมันก็เป็นแค่ตัวเลขน่ะ รวยแล้วเป็นอย่างไรมีความสุขไหม เศรษฐกิจดีแล้วไง มีความสุขอย่างไร ความสุขก็คือความทุกข์ที่มันยังมาไม่ถึง ฟังแล้วมันอาจดูเวอร์นะ แต่ผมว่าปล่อยให้มันค่อยไปจะดีกว่าไม่เห็นจะต้องตัวเลข GDP สูงกระฉูดเลย แค่ให้อยู่กลางๆ ให้ทุกคนไม่มีใครสุขหนักและทุกข์หนัก แบบนั้นผมว่ามันยังดีนะ เพราะว่าผมว่าบริโภคนิยมเดี๋ยวนี้ทำให้คนที่มีความสุขก็สุขสุดๆ ไปเลย อะไรอยากได้ก็ซื้อ ไม่มีปัญญาซื้อก็ดาวน์ก่อนผ่อนทีหลัง พอใช้หนี้ไม่ไหวก็ทุกข์หนักมีปัญหาตามมาค่อยว่ากัน คือมันสุขหนักกับทุกข์หนักไปเลย

2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน
ผมว่าฉลาดซื้อนำเสนอเรื่องที่เราไม่เคยรู้ให้ได้รู้ คือถ้ามีคนมาทดลองให้เราดู ให้เรารู้ว่าสารนี้มีผลอะไรต่อร่างกาย ต้องกินเท่าไร กินอย่างไรไม่เป็นอันตราย ช่วยเราได้เยอะนะ อีกอย่างผมว่าฉลาดซื้อจะช่วยให้เราประหยัดได้นะ อย่างเรื่องเครื่องดื่มที่ทำให้สวย พอรู้แล้วว่าเอ้ย…ยย มันไม่มีอะไร แค่เรากินอาหารให้ครบ 5 หมู่ก็สวยและสุขภาพดีได้แล้ว ไม่ต้องไปเสียเงินซื้ออะไรแบบนี้แล้ว

3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ
ผมอยากให้ทำสรุปผลการทดสอบออกมาเลย ว่าอะไรที่อันตราย หรือบอกว่าควรจะกินอย่างไร เดือนหนึ่งควรจะกินกี่ห่อ อะไรกินแล้วดี เพราะดูในตารางแล้วมันงง ไหงจะต้องมาสรุปเอง มันจะงง
สรุปให้มันง่ายคนก็จะเข้าใจง่ายขึ้น

อีกอย่างเรื่องความเชี่ยวชาญอย่างเรื่องกล้อง ผมก็ไม่แน่ใจนะว่าจะเชี่ยวชาญมากกว่าที่อื่นหรือเปล่า น่าจะลงส่วนที่ทดสอบหรือห้องปฏิบัติการลงไปด้วย จะสร้างความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นครับ


6.ประกิต หลิมสกุล คอลัมนิสต์กิเลนประลองเชิง นสพ.ไทยรัฐ


1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร
สินค้าหรือของมีการออกมามากมายพัฒนาไปเยอะ ในขณะที่คนไทยภาพรวมในความคิดผมนะยังมีความรับรู้และเข้าใจต่อสิ่งที่จะเข้ามาไม่พอ ยังเลือกที่จะบริโภคของเพื่อตัวเองได้ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลย อย่างเรื่องราวของธุรกิจขายตรง ผมอยู่ในวงการหนังสือพิมพ์มานานก็จะเห็นเรื่องราวซ้ำซากอย่างแชร์ลูกโซ่ มันมีการเปลี่ยนรูปแบบไปเท่านั้นอย่างแจกรถยนต์ มันก็คล้ายๆแชร์แม่ชะม้อยนั่นล่ะ ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ หรือแม้แต่เรื่องราวของการตกทอง เป็นการต้มตุ๋นอย่างเห็นได้ชัด ก็ยังมีอยู่ หรือแม้แต่การใบ้หวยปัจจุบันก็ยังมีอยู่ เรื่องที่นอนแม่เหล็กที่เน้นไปที่ความกตัญญูให้ลูกซื้อรักษาโรคให้พ่อแม่ ทั้งที่มันเป็นเรื่องราวการต้มกันชัดๆ ก็ยังมีอยู่ จะเห็นได้ว่าการเรียนรู้การบริโภคเราแย่มาก ยังไปไม่ทัน

2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน
จากจำนวนสมาชิกฉลาดซื้อปัจจุบัน พอเทียบกับจำนวนคนในประเทศถือว่าน้อยมากนะ คิดเป็นจุดต่ำกว่าศูนย์กี่ตัว คนไทยควรจะอ่านนิตยสารฉลาดซื้อสักครึ่งหนึ่งของประเทศ แล้วสิ่งที่ฉลาดซื้อหวังไว้ถึงจะได้ ฉลาดซื้อก็ดีนะ ผมเห็นแล้วก็จะเปิดดู ผมว่าเก่งนะที่กล้าเปิดเผยรายชื่อผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างไทยรัฐก็เปิดคอลัมน์ “มันมากับอาหาร” หรือมีข่าวมีเรื่องร้องเรียนเข้ามา เราก็เลี่ยงที่จะไม่เปิดเผยชื่อผลิตภัณฑ์ อย่างจิ้งจกในนม หรือสื่อของหน่วยงานภาครัฐเองก็ได้แต่ออกมาเตือน ให้ระวังนะ แต่ก็ไม่ได้กล้าจะเปิดเผยชื่อ เพราะติดเรื่องกฎหมายอาจจะถูกฟ้องกลับได้ แต่ฉลาดซื้อทำได้ ฉลาดซื้อกล้าที่จะทำ กล้าที่จะบอกว่าอะไรดี อะไรไม่ดี ในขณะที่สื่อหลักอาจจะติดปัญหาเรื่องกฎหมาย

หนังสือชื่อดีนะถ้าทำอะไรในทางการค้า จะขายได้และร่ำรวยเลย แต่ว่าทำโดยไม่แสวงประโยชน์ จึงไม่ร่ำรวย ถ้าฉลาดซื้อตกอยู่ในมือมารนะรวยแย่เลย

3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ
ฉลาดซื้อทำดีกว่าสื่ออื่นนะ ทำอย่างมีหลักมีเกณฑ์ มีทนายคอยช่วยเหลือ มีหน่วยงานทดสอบ เรื่องราวการนำเสนอเป็นเรื่องราวมีประโยชน์ เป็นเรื่องราวของปัญญาชน แต่ไม่ค่อยมีคนชอบอ่าน เพราะเป็นเรื่องของคนที่ต้องใช้ปัญญา เขาถึงจะอ่านกัน ต้องใช้เวลา และถ้านำข้อมูลแบบฉลาดซื้อมาลงในไทยรัฐ เราก็จะขายได้แค่ 10,000 เล่มเท่านั้นละ มีคนมาดูงานที่ นสพ.ไทยรัฐนะแล้วก็ถามว่าทำไมทำหนังสือแบบนี้ ทำเรื่องนุ่งน้อยห่มน้อย ทำข่าวฆ่ากันตาย เพราะบ้านเรายังมีคนหลายกลุ่ม คนที่เป็นปัญญาชนบ้านเรายังน้อย คนที่หาแต่สาระยังมีน้อย ถ้ากล้าที่จะทำเรื่องที่ท้าทาย ฉลาดซื้อก็จะขายได้เยอะ แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา


7. ดร.ไพบูรณ์ ช่วงทอง

1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร
ตามความคิดและประสบการณ์ส่วนตัวของผมนะครับ ผมว่าขายกันทั้งวันทั้งคืน ทั้งของข้างนอกและในทีวี เราจะเห็นว่ามีโฆษณาที่กระตุ้นให้อยากซื้ออยากได้อยู่ตลอดเวลา เรียกว่าขายกัน 24 ชั่วโมง ถ้าหากเราไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศอย่างเยอรมันเขาจะมีวันว่างหนึ่งวันไว้ทำอะไร เล่นกีฬาออกกำลังกาย หรือมีเวลาให้กับครอบครัว แต่ของเรานี่ขายกันอย่างเดียวเลย มีตลาดนัดเกือบทุกที่ กระตุ้นกันอยู่ตลอดเวลา

2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน
ผมมองว่าเป็นหนังสือที่เปิดมุมมองใหม่ให้กับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมด้วย และที่สำคัญคือไม่มีโฆษณาทำให้ไม่ตกอยู่ในอิทธิพลของสินค้าหรือภาคเศรษฐกิจ
ผมว่าสังคมเราน่าจะเห็นความสำคัญของฉลาดซื้อ จะสนับสนุนแบบไหนก็อีกค่อยว่ากันอีกที

ภาครัฐเองก็น่าจะสนับสนุนบางส่วน อย่างเยอรมันก็จะมีนิตยสารตัวหนึ่งที่ทำคล้ายๆ กับฉลาดซื้อทุกอย่างแต่ว่าของเขาจะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งเป็นการสนับสนุนที่ถูกเขียนไว้ในกฎหมายที่รัฐจะต้องสนับสนุน เหมือนตั้งเป็นมูลนิธิที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสินค้าแล้วก็เผยแพร่ความรู้สู่ผู้บริโภค อย่างที่เยอรมันเขาจะทำการทดสอบสองเล่มคือ ทดสอบสินค้า กับทดสอบผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับทางด้านการเงิน คนที่นั่นจึงมีแหล่งข้อมูลและอาวุธในการเลือกซื้อเลือกใช้สินค้า ซื้อรถยนต์ หรือแม้แต่เรื่องทัวร์ต่างประเทศเขาก็ใช้ข้อมูลนี้

3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ
ก็คงจะเพิ่มเติมในส่วนวิชาการมากกว่าครับที่ทำอยู่ดีอยู่แล้วครับ ทางภาควิชาการก็จะเป็นหน่วยงานที่สนับสนุน เพราะจริงๆ แล้วฉลาดซื้อเป็นองค์กรผู้บริโภคและต้องเล่นบทนำ นักวิชาการเล่นบทสนับสนุน งานคุ้มครองผู้บริโภคความจริงมีหลายด้านนะครับ จึงต้องมีหลายส่วนสนับสนุนและต้องมีภาคสังคมเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความเป็นธรรม อีกส่วนที่ฉลาดซื้อน่าจะเพิ่มเข้าไปก็คือ News Letter ไม่ต้องรอบอกในหนังสือก็ได้ เพราะบางข่าวส่งถึงสมาชิกได้เลย อาจจะทางอีเมลล์ก็ได้ครับสะดวกดี หรือส่งทาง SMS ก็ได้

ด้านรูปเล่มผมว่าดูน่าอ่านมากขึ้นนะ แต่น่าจะนึกถึงผู้สูงอายุด้วยนะ เพราะบางทีตัวเล็กมากก็ลำบากเหมือนกันครับ


8.จุฑา สังขชาติ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้

1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร
มองในฐานะของคนที่ทำงานองค์กรผู้บริโภคนะ เรียกสังคมว่าตอนนี้เป็นสังคมบริโภคนิยมแบบเต็มตัวไปแล้ว ปัญหาต่างๆ ที่เราเจอก็จะเกิดจากการบริโภคที่เกินตัว และเกินความจำเป็น ทั้งการโฆษณาชวนเชื่อ อย่างเรื่องการแจกซิมการ์ด คือทั้งที่มันก็ไม่จำเป็นอะไรเลย แล้วปัญหาก็ตามมา แล้วไม่ใช่แค่ใช้บริการหรือใช้สินค้าแล้วมันปัญหา แต่มันเกิดปัญหาสังคมโดยภาพรวมตามมาเพราะมันมีความอยากได้ที่มากเกินกำลังของตัวเอง

ตอนนี้กับเด็กจะเกิดปัญหามาก อยากมีให้เหมือนเพื่อน ต้องดีกว่าเพื่อน เพราะเขาถูกกระตุ้นความอยากได้ แล้วเขาก็ต้องหาให้ได้มา หรือก็ไปซื้อมาใช้โดยขาดข้อมูลหรือวุฒิภาวะการซื้อไม่เพียงพอ หรือไม่ก็ไปขอเงินพ่อแม่มา แล้วก็ซื้อหามาได้ง่ายๆ อาจจะไปสำแดงฤทธิ์กับพ่อแม่ ที่นี้พ่อกับแม่ก็ไปกู้สถาบันการเงิน นำเงินในอนาคตออกมาใช้

คนแก่ก็มีปัญหานะเพราะขาดข้อมูลในการเลือกซื้อ ก็จะถูกหลอก เช่นมีคนเอาเก้าอี้รักษาโรคไปขาย ให้นั่ง 24 ครั้งแล้วหายจากอัมพาต ราคาเหยียบแสน ผู้ร้องยินดีที่จะขายที่ดินเพื่อจะซื้อเลยนะ เขาก็ยังจะซื้อเพราะเขาทุกข์ทรมานกับโรคมานาน หรือปัญหาโทรศัพท์มือถือจะมี SMS ไปรบกวน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เขาไม่ต้องการเลย เราจะเห็นความพยายามเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการในวิถีทางต่างๆ นานา

2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน
ฉลาดซื้อช่วยได้เยอะนะคะ ฉลาดซื้อเหมือน “คัมภีร์ผู้บริโภค” บางคนอ่านแล้วก็บอกว่านี่ล่ะที่เขาหามานาน เป็นคู่มือผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลประกอบการเลือกซื้อ เลือกใช้สินค้าต่างๆ หรือบางเรื่องก็จะเป็นข้อมูลเตือนให้เขาระวัง ทำให้พวกเขาได้เท่าทันการบริโภคปัจจุบัน

ในขณะที่เราทำงานผู้บริโภคฉลาดซื้อก็เหมือน “ยาสามัญประจำบ้าน” ที่ต้องมีเพราะเราสามารถหยิบเอาไปพูดในรายการวิทยุชุมชน พูดในเวที หรือเป็นเครื่องมือในการจัดนิทรรศการกับหน่วยงาน กับชาวบ้าน ก็จะหยิบฉลาดซื้อไปจัดนิทรรศการด้วยเป็น “นิทรรศการฉลาดซื้อ” ให้คนที่มาดูได้เห็นว่า ยังมีนิตยสารผู้บริโภคที่ทำเรื่องผู้บริโภคทุกอย่างที่เป็นปัญหา ซึ่งเราจะเห็นว่าเรื่องเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ฉลาดซื้อก็นำมาเสนออีกเราจะเห็นว่าปัญหามันแรงขึ้นกว่าเดิม เหมือนประเด็นของฉลาดซื้อทันสมัยตลอดเวลา ไม่เคยล้าสมัย

3.ถ้าคุณเป็น บก.ฉลาดซื้อ คุณคิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ
รูปเล่มหน้าตาดูดีขึ้น มีการปรับปรุงให้ทันสมัยตลอด ก่อนที่จะปรับรูปเล่มเคยได้ยินคนบอกว่า “ฉลาดซื้อ อ่านได้ทั้งเดือน” คือมันไม่ล้าสมัย อ่านมันได้ตลอด แต่พอเป็นเล่มเล็กก็จะง่ายขึ้น เร็วขึ้น น่าสนใจมากขึ้น

อยากให้เพิ่มข่าวหรือสถานการณ์จากเครือข่ายลงไปด้วย เพราะจะได้เห็นความเคลื่อนไหวของเครือข่ายและเรื่องผู้บริโภคในส่วนภาคอื่นๆ ด้วย


9.พระไพศาล วิสาโล

1.มองสังคมปัจจุบันที่เป็นสังคมบริโภคอย่างไร
สังคมไทยในปัจจุบันเป็นสังคมบริโภคที่เข้มข้นมาก คือไม่ได้เป็นแค่สังคมของผู้บริโภคหรือสังคมที่เต็มไปด้วยคนที่บริโภคในสิ่งที่ตนไม่ได้ผลิตเท่านั้น แต่ยังเป็นสังคมที่ถูกกระแสบริโภคนิยมครอบงำสูงมาก กล่าวคือผู้คนมีความเชื่ออย่างแพร่หลายว่าความสุขอยู่ที่การบริโภคหรือการมีวัตถุเยอะ ๆ ที่น่าสนใจคือเดี๋ยวนี้คนไม่ได้บริโภคเพราะหวังความสะดวกสบายหรือความเอร็ดอร่อยทางตา หู จมูก ลิ้น และกายเท่านั้น แต่ยังต้องการมีตัวตนใหม่จากการบริโภคด้วย เช่น บริโภคเพื่อเป็นคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นผู้หญิงเก่ง เพื่อเป็นคนทันโลก ฯลฯ ด้วยเหตุนี้สินค้าแบรนด์เนมจึงสำคัญมาก เพราะมันช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดีและทำให้รู้สึกว่ามีตัวตนใหม่ที่โก้เก๋

นี้ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วกับสังคมบริโภคอย่างอเมริกาหรือญี่ปุ่น แต่สังคมไทยแตกต่างจาก 2 ประเทศตรงที่ว่า ขณะที่คนอเมริกันและญี่ปุ่นแม้จะใฝ่เสพใฝ่บริโภค แต่เขาก็ใฝ่ผลิต คือมีความขยันขันแข็งด้วย ส่วนคนไทยนั้นไม่ค่อยมีความใฝ่ผลิต อยากได้อะไร ก็คิดแต่ว่าทำอย่างไรถึงจะได้มาโดยไม่เหนื่อย ไม่ต้องออกแรง ก็เลยนิยมทางลัด เช่น เล่นพนัน เล่นหวย พึ่งพาไสยศาสตร์ หนักกว่านั้นคือขโมย โกง หรือคอร์รัปชั่น สรุปคือเป็นสังคมบริโภคที่ล้าหลังมาก

2. คิดว่านิตยสารฉลาดซื้อมีความหมายกับสังคมบริโภคนิยมมากน้อยแค่ไหน
นิตยสารฉลาดซื้อมีประโยชน์ตรงที่ช่วยให้คนบริโภคอย่างฉลาด คือซื้อของอย่างรู้ค่าและเหมาะสมกับราคา ทำให้มีสติยั้งคิด ไม่หลงไปตามกระแสโฆษณา และหันมาช่วยเหลือกันเอง ประเด็นหลังนี้สำคัญมาก เพราะบริโภคนิยมมีแนวโน้มให้ผู้คนอยู่อย่างตัวใครตัวมัน ไม่ช่วยเหลือกัน ไม่รวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่นิตยสารฉลาดซื้อช่วยให้ผู้บริโภคมีเวทีและพื้นที่ที่จะแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์ และปรึกษาหารือกัน

3.หากท่านเป็นบก.ฉลาดซื้อ คิดว่าจะปรับปรุงหรือเพิ่มเติมอะไรให้กับฉลาดซื้อ
หากเป็นบก.ฉลาดซื้อ อาตมาจะเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับ “สุขได้แม้ไม่ซื้อ” คือนอกจากซื้ออย่างฉลาดแล้ว เราควรฉลาดที่จะไม่ซื้อด้วย อาตมาจะเพิ่มคอลัมน์เรื่อง “หนึ่งสัปดาห์ในชีวิตที่ไม่ซื้อ” เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ของคนที่ไม่ซื้ออะไรเลยตลอดหนึ่งอาทิตย์ แล้วเขาอยู่อย่างไรโดยที่มีความสุขด้วย อาจจะเชิญชวนคนดังหรืออาสาสมัครมาทดลองอยู่แบบนี้ ต่อไปก็อาจเพิ่มเป็น “หนึ่งเดือนในชีวิตที่ไม่ซื้อ” นอกจากนั้นก็จะมีคอลัมน์เกี่ยวกับการผลิตสิ่งของด้วยตัวเอง ที่เหมาะกับคนในเมือง จากนั้นก็จะขยายไปสู่แนวคิดเรื่อง “สุขได้เพราะไม่ซื้อ” คือลงเรื่องราวเกี่ยวกับคนที่มีความสุขเพราะไม่หลงติดในบริโภคนิยม สุขเพราะปลอดจากความอยากซื้อ


10. หมอวิชัย โชควิวัฒน์ ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม

1.มองสังคมปัจจุบัน ที่เป็นสังคมบริโภคนิยม อย่างไร
เป็นสังคมบริโภคนิยมเกือบจะสุดขั้วเลย ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกานี่นะ เขาเป็นบริโภคนิยม แต่เขาก็ส่งเสริมคนให้ผลิตด้วย แต่ของไทยเราเนี่ยนะส่งเสริมคนให้บริโภค แต่ไม่ส่งเสริมการผลิต แล้วการส่งเสริมการบริโภคนั้นก็เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ท่ามกลางระบบการคุ้มครองประชาชนด้านบริโภคที่อ่อนแอมาก

2.คิดว่า นิตยสารฉลาดซื้อ มีความหมายกับสังคมบริโภคนิยม มาก น้อยแค่ไหน
มีความหมายน้อย สังคมไทยเป็นสังคมที่เน้นการพูดคุยไม่เน้นอ่าน เพราะอากาศมันร้อนคนก็ไม่อยากอุดอู้อยู่ในบ้านอ่านหนังสือ ไม่เหมือนประเทศหนาวที่หลบหนาวอยู่ในบ้าน เพราะฉะนั้นเขาก็จะส่งเสริมการอ่านมากกว่าบ้านเรา ถ้ามองย้อนไปในอดีตบ้านเราแต่โบราณ วัฒนธรรมการถ่ายทอดความรู้เป็นแบบมุขปาฐะ คนที่รู้เยอะเขาจะเรียกว่าพหูสูตร เป็นพวกที่ฟังมาก ไม่ใช่อ่านมาก

เพราะฉะนั้

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

250 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ 17คน 17 ปี นิตยสารฉลาดซื้อ

ฉบับที่ 278 ทันตกรรมต้องเท่าเทียม เมื่อสิทธิผู้บริโภคก็คือสิทธิมนุษยชน

        ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของกองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ถูกพูดถึงมาอย่างยาวนานในสังคมไทย           ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดตัวอย่างหนึ่งคือ สิทธิทางทันตกรรม ซึ่งสำนักงานประกันสังคมกำหนดเพดานให้ทั้งการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด จำกัดในวงเงินเพียง 900 บาท ต่อคนต่อปี ตัวเลขดังกล่าวย่อมไม่อาจทำให้ประชาชนไทยมีคุณภาพทันตกรรมที่ดีได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกองุทนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ 'บัตรทอง' และระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ที่ต่างกำหนดให้เบิกได้ตามความจำเป็นจริง         ล่าสุด ความเดือดร้อนนี้ประชาชนได้นำเข้าร้องเรียนกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแล้ว สุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รับเรื่องไว้ตั้งแต่วันแรกและยังคงส่งเสียงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันยกระดับสิทธิของผู้ประกันตนในประกันสังคม เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติ สร้างความเป็นธรรมในสังคมไทย  คุุณสุภัทราช่วยแนะนำตัวให้ หลายๆ คนได้รู้จักหน่อยค่ะ         ปัจจุบันทำงานเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก็เป็นกรรมการสิทธิในสายเรียกว่า เป็นผู้มีประสบการณ์ ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ไม่น้อยกว่า 10 ปี พื้นฐานพี่เป็นนักกฎหมาย  เป็นทนายความ เริ่มต้นทำงานเป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม ตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ได้เป็นมูลนิธิ แล้วก็ได้ไปทำงานที่กลุ่มเพื่อนหญิง ในปี 2536 มาทำงานทางด้านเอช ไอวี  จนตั้งองค์กร ชื่อว่า ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ซึ่งทำงานกับคนหลายกลุ่มทั้งผู้ใช้ยาเสพติด แรงงานข้ามชาติ แล้วทำเรื่องนี้มาจนกระทั่งมาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเลย         การได้เข้ามาร่วมในงานคุ้มครองผู้บริโภคก็เป็นพันธมิตรอยู่แล้ว ทำด้วยกันมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่ผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระด้านสิทธิผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญ พี่ได้เข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ แล้วก็มาช่วยเครือข่ายผู้บริโภคขับเคลื่อนเรื่องกฎหมาย จนสุดท้ายออกมาเป็น พ.ร.บ. จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เราก็ทำงานกับผู้บริโภคมาโดยตลอด พี่มองว่าสิทธิผู้บริโภคก็คือสิทธิมนุษยชน  มีประชาชนเข้าไปใช้สิทธิร้องเรียนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนไม่น้อยและหลากหลายเรื่อง         ใช่ ต้องเริ่มจากการเข้าใจ บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติก่อน เรามีอำนาจตาม พระราชบัญัติประกอบรัฐธรรมนูญปี 2560 ให้อำนาจในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนมาทั้งจากคนมาร้องเรียนหรือกรรมการสิทธิฯ จะยกขึ้นมาเองก็ได้เช่น เรื่องทหารตายในค่าย หากเราสงสัยว่าเป็นการซ้อมทรมานหรือเปล่า เราอาจจะเขียนเป็นข่าวเสนอให้ยกขึ้นมาตรวจสอบก็ได้ ถ้าพบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็จะต้องมีรายงานการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนออกมา และมีข้อเสนอแนะไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา หรือใครก็ตามเพื่อให้ป้องกัน แก้ไข  เยียวยา ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก         การทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทำมากกว่ากฎหมายภายในประเทศ ในมาตรา 4  เขียนว่ากฎหมายสิทธิมนุษยชนมากกว่ากฎหมายภายในประเทศ เป็นพันธะกรณีกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยให้การรับรองทั้งหมด จึงไม่ได้หมายความว่า ไม่มีกฎหมายภายในประเทศแล้วเราจะไม่คุ้มครอง เราก็อาจจะยื่นข้อเสนอให้มีการตรากฎหมายให้มันสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนก็ได้  บทบาทที่หนึ่งจึงเป็นการคุ้มครองสิทธิ  ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ สอง คือการส่งเสริมสังคมเคารพสิทธิมนุษยชน  เรามีหน้าที่ส่งเสริมหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สร้างการเรียนรู้  เรื่องสิทธิมนุษย์ชนเพื่อให้คนเคารพกัน ไม่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อกัน และสาม คือเรามีหน้าที่ศึกษาและจัดทำข้อเสนอ ไม่ว่าจะเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบข้อบังคับ ใด ๆ ที่มีคนร้องว่า กฎระเบียบนี้ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เช่นที่เขาจะเลือกตั้งกรรมการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมออกประกาศว่า  ผู้เลือกตั้งประกันสังคมต้องมีสัญชาติไทย เรากรรมการสิทธิจึงเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ชี้แจงสอบถาม สุดท้ายก็เป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะผู้ที่ส่งเงินสบทบที่ไม่ใช่สัญชาติไทยมีอยู่กว่า 1,400,000 คน เป็นการกีดกัน         กรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบัน มี 7 ท่านแต่ละท่านก็จะแบ่งงานกันงานกันไปในประเด็นต่าง ๆ พี่ดูเรื่องสิทธิผู้บริโภค สิทธิแรงงาน สิทธิของกลุ่มเปราะบาง ความหลากหลายทางเพศ เราแบ่งงานกันดูแลแต่เมื่อจะออกรายงานหรือมีข้อเสนอออกไป เราก็ได้คุยกันทุกคน จนมีมติร่วมกันเรื่องล่าสุดที่เพิ่งออกรายงานไป คือเรื่องประกันโควิด   มีผู้เสียหายหลายหมื่นคน และความเสียหายประมาณ 68,000 ล้าน  ต้องใช้เวลาประมาณ 40 ปี ถึงจะใช้หมด แล้วเราก็เชิญหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยกันหาทางออก   เมื่อปี 2566 มีประชาชนได้เข้าไปร้องเรียนเรื่องสิทธิทันตกรรม ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร         ใช่ค่ะ  มีคนมาร้องว่าเขาเป็นผู้ประกันตน มีสิทธิประกันสังคม แล้วไปใช้สิทธิในการทำฟัน แล้วปรากฎว่า เขาก็ได้แค่ 900 บาท ซึ่งเมื่อเทียบแล้วน้อยกว่าสิทธิบัตรทอง เมื่อเทียบแล้วเขาจ่ายเงินสมทบด้วย แต่ทำไมเขาได้สิทธิน้อยกว่า บัตรทอง แล้ว 900 ครอบคลุมแค่ 4 อย่าง ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และถอน/ผ่าฟันคุด นอกนั้นไม่ครอบคลุม เขารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม เขาเลยอยากให้เราตรวจสอบ เราจึงเชิญ กรมบัญชีกลาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม สำนึกทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ทันตแพทยสภา เชิญชุมชนผู้ประกันตน  องค์กรผู้บริโภค เชิญทุกฝ่ายมาชี้แจงให้ข้อมูล         มุมมองของสำนักงานประกันสังคมเขามองว่าปฏิบัติต่อผู้ประกันตนเสมอเหมือนกัน ไม่ได้เลือกปฏิบัติหรือกีดกัน ความหมายของเขาคือในกลุ่มผู้ประกันตน เขาปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันคือได้แค่ 900/คน / ปี ผู้ประกันตนทุกคนก็ได้เหมือนกัน แต่การออกประกาศกำหนดให้ผู้ประกันตน  มีสิทธิเบิกค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด จำกัดในวงเงินเพียง 900 บาทต่อคนต่อปี ขัดกับพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่จะต้องได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน และเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน         ผู้ที่มาร้องเรียนเขายังมองอีกว่า ในสิทธิประกันสังคมยังเป็นกลุ่มที่เขาจ่ายเงินตนเองเข้าไปสมทบ แต่สิทธิยังได้น้อยกว่า คนประกันสังคมเป็นคนกลุ่มเดียวที่ยังต้องจ่ายค่าสุขภาพของตัวเอง ขณะที่สิทธิของประชาชนในบัตรทองสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐเป็นการใช้เงินภาษีของประชาชนมันจึงเป็นความเหลื่อมล้ำ สิทธิของประกันสังคมไม่ควรจะต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง เพราะว่าประกันสังคมยังมีการจ่ายเงินเพิ่มเข้าไปอีก         หลังจากฟังได้ข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติรับรองว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องใดจะกระทำมิได้และบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ  โดยรัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและบัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งสอดคล้องกับกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) เราจึงถือได้ว่า สำนักงานประกันสังคมกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ประกันตน ปัจจุบันเรื่องนี้ ดำเนินการอยู่ในขั้นตอนไหน         เราจัดวงที่รับฟังข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายไปเมื่อช่วงต้นปีนี้ หลังจากนั้นเรามีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปยังคณะกรรมการประกันสังคม (ผู้ถูกร้อง) และคณะกรรมการการแพทย์  ให้ปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย อันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โดยยกเลิกการกำหนดเพดานค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานในวงเงินไม่เกิน 900 บาท ต่อคนต่อปี และกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมให้ไม่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง         นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้คณะกรรมการประกันสังคมและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันดำเนินการให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ตามมาตรา 5 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว มีข้อเสนอที่เราออกไปเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 และเราได้ส่งรายงานและข้อเสนอแนะไปให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานประกันสังคมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)         หลังจากนี้คณะกรรมการสิทธิเรามีคณะกรรมการติดตามข้อเสนอแนะว่า หลังจากมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว เขาได้ดำเนินการต่อไปอย่างไร ได้ดำเนินการหรือไม่ ติดขัดหรือมีอุปสรรคอะไรที่เราจะเข้าไปช่วยได้ เราก็อยากให้ข้อเสนอเราเป็นจริงในทางปฏิบัติ ไม่ได้แค่เสนอไป ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงของการติดตามการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ  ความเหลื่อมล้ำในการได้รับสิทธิเข้ารับบริการสาธารณสุขของทั้ง 3 กองทุนมีมานานแล้ว เป็นไปได้ไหมที่จะมีความเปลี่ยนแปลงให้เท่าเทียมกัน หรือพูดง่ายๆ ว่ารวมกันหมด         พี่เชื่อว่าทำได้ ถ้าพูดในหลักการ เชิงการบริหารจัดการแต่การทำได้ต้องมีความกล้าหาญทางการเมือง เพราะจุดเริ่มต้น มาจากสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการเริ่มมีก่อน แล้วมีประกันสังคม แล้วมีบัตรทอง จริงๆ แต่ถึงสิทธิบัตรทองจะเกิดขึ้นภายหลัง แต่ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติย่อมต้องการให้ประชาชนไทยทุกคนได้สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว การที่แยกบริหารมันก็เป็นความสิ้นเปลือง   แต่ไม่ได้หมายความว่าให้ยุบสำนักงานประกันสังคมแต่ประกันสังคมก็ไม่ได้มีความชำนาญ ไม่ได้มีหมอเป็นของตนเอง อย่างน้อยที่สุด ไม่รวม 3 กองทุน ก็รวม 2 คือรวมประกันสังคมกับบัตรทอง  แล้วรัฐบาลก็จ่ายค่าหัวให้เหมือนกับบัตรทองส่วนสำนักงานประกันสังคมก็ดูแลอีก 6 สิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนเหมือนเดิม แต่สิทธิทางด้านการรักษาพยาบาลด้านสาธารณสุขนำมารวมกัน แล้วอาจทำให้เงินที่เราจะได้จากสำนักงานประกันสังคม เพื่อเอามาใช้ตอนแก่ มีมากขึ้นก็ได้ สิทธิการรักษาของข้าราชการหลายคนก็อาจจะมองว่าดี แต่ทุกสิทธิมีช่องโหว่นะ สิทธิการรักษาของข้าราชการ เมื่อใช้สิทธิฉุกเฉินก็ทำให้ต้องจ่ายเงินเองเยอะได้ ส่วนสวัสดิการบัตรทองมีกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อเข้ารับการรักษาแล้วได้รับความเสียหายที่ไม่ใช่จากพยาธิสภาพของโรค เช่นไปผ่าตัดแต่มีอะไรหลงลืมไว้ในท้อง ส่วนของข้าราชการไม่มีกองทุนช่วยเหลือเบื้องต้นแบบนี้มีอะไรต้องไปฟ้องศาลกันอย่างเดียวเลย   ปัจจุบันคุณสุภัทรามองว่ามีสถานการณ์อะไรที่ผู้บริโภคควรจะต้องตื่นตัวหรือตื่นรู้ให้เท่าทันบ้าง         คือในปัจจุบันพี่คิดว่า โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ ปัญหามันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ตอนนี้โจทย์เรื่องการทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็งเป็นโจทย์ใหญ่  ซึ่งเหตุผลของการมีสมาชิกของสภาองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าเป็นเหตุผลสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้บริโภค มันเป็นเรื่องที่ถูกพิสูจน์มาทั้งโลก จากการที่เราไปประชุมระดับโลกมาแล้ว เขาพบว่า ต่อให้มีกฎหมายดีเข้มแข็งแค่ไหนแต่ถ้าผู้บริโภคไม่เข้มแข็งก็ไม่ค่อยจะมีผลอะไรมากนัก  ฉะนั้นการทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็งจึงมีความสำคัญมากๆ          แล้วความเข้มแข็งคืออะไร ก็คือการที่ผู้บริโภครู้สิทธิ รู้ช่องทาง ร้องเรียนและมีการรวมกลุ่ม เพราะการไปสู้กับผู้ประกอบการ ประชาชนตัวเล็กๆ ควรต้องรวมตัวกัน เมื่อรวมกลุ่มแล้วจะได้ช่วยกันส่งเสริมต่อรอง เรียกร้องสิทธิ เผยแพร่เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ขณะเดียวกันเราก็ต้องดูด้วยว่ากฎหมายของเรามีช่องว่างอะไรที่อาจทำให้ไม่เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ ก็ต้องทำให้เป็นมาตรฐานสากล   การใช้สิทธิร้องเรียนของผู้บริโภค คุณสุภัทราเชื่อว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร         แน่นอน คือเราไม่มีทางรู้เลยนะว่าปัญหาของผู้บริโภคคืออะไร ถ้าผู้บริโภคไม่มาร้องเรียนซึ่งปัจจุบันเราก็มีตัวเลขชัดเจนเลยนะว่า สถิติการร้องเรียนของผู้บริโภคยังมีแค่ 2 % เท่านั้นที่มาร้องเรียน กลุ่มสองเปอร์เซ็นต์นี้เขาเป็นหน่วยกล้าตายมากเลยเพราะถ้าไม่เหลือทนจริงๆ เขาก็ไม่มาร้องเรียนหรือว่าดำเนินการถูกไหม ดังนั้นการร้องเรียนสำคัญมาก ไม่อยากให้เก็บไว้ บางเรื่องมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่เมื่อนับจำนวนคนที่ต้องมาเจอปัญหาหรือมาถูกหลอกก็เป็นมูลค่ามหาศาล อยากจะให้ผู้บริโภคทุกคนตระหนักถึงสิทธิของเรา เรามีสิทธิที่จะได้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน เพียงพอในการตัดสินใจในการซื้อหรือไม่ซื้อบริการ และเมื่อเราซื้อสินค้าและบริการไปแล้วมันไม่ตรงปก เราก็ไม่ควรจะเก็บเรื่องเอาไว้ว่า ช่างมันเถอะ แค่ 50 บาท 80 บาท 100 บาท แต่รวมแล้วกี่คนที่ต้องมาถูกหลอก การที่บอกว่าร้องเรียนหนึ่งครั้ง ดีกว่าบ่นพันครั้ง  มันก็ยังจริง  บ่นแล้วมันไม่เกิดประโยชน์อะไร การร้องเรียนคือ การเดินออกมาบอกว่ามันเกิดอะไรขึ้นและจะไม่ปล่อยให้ปัญหามันอยู่ต่อ จะต้องมีการแก้ไข  เพื่อไม่ให้ปัญหามันเเกิดขึ้นต่อไป         มีเรื่องหนึ่งที่่อยากจะแชร์มาก นานแล้วมีกรณีที่โรงพยาบาลจะเก็บเงินค่าบำรุง  20 บาท มีใบเสร็จให้ด้วยแล้วมีประชาชนเอาเรื่องนี้ไปฟ้องศาลปกครองว่า การเก็บเงินค่าบำรุงแบบนี้ใช้อำนาจตามกฎหมายอะไร แล้วเงินบำรุงมันควรจ่ายตามความสมัครใจไหม ไม่ใช่การเก็บอัตโนมัติ  เขาก็ไปฟ้องศาลปกครอง ศาลก็พิจารณาอยู่เป็นปี คนอื่นอาจมองว่ามันแค่ 20 บาท แต่สุดท้ายศาลมีคำวินิจฉัยว่าไม่ได้มีอำนาจตามกฎหมายใด ที่ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเก็บเงินบำรุงได้ แล้วเงินบำรุงไปดูระเบียบโรงพยาบาลมันเหมือนเงินบริจาคมันต้องสมัครใจไม่ใช่การเก็บแบบแบบอัตโนมัติแบบนี้  พอศาลมีคำพิพากษาแบบนี้โรงพยาบาลต่างๆ  ก็ยกเลิกการเก็บเงินบำรุงทั้งหมด คนที่ไปอาจเริ่มจากตนเอง แต่คุณอาจไม่รู้ว่ามันจะนำไปสู่อะไรบ้าง นี่คือตัวอย่างที่เกิดขึ้น เรื่องเล็กๆ ก็เป็นฐานของเรื่องใหญ่ๆ ถ้ามันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง มันก็ส่งผลให้คนอีกหลายคน อาจทั้งสังคมได้รับประโยชน์ด้วย  

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 277 อยู่ยากไหมในวันที่ “เอไอ” ล้อมเมือง

        วันที่ 15 มีนาคมของทุกปีเป็นวันผู้บริโภคสากล และในปี 2024 นี้สหพันธ์องค​กรผู้บริโภคสากล หรือ Consumers International ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วโลกรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ในเรื่องผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ต่อการใช้ชีวิตของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งแง่มุมของการใช้เทคโนโลยีนี้อย่างเป็นธรรมและมีความรับผิดชอบ         ในโอกาสดังกล่าว สภาองค์กรของผู้บริโภค ประเทศไทย ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “เราจะช่วยกันยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคไทยได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต และ ฉลาดซื้อ ได้มีโอกาสคุยกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.โซธี ราชการ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนิไล (Nilai University) ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรที่ได้รับเชิญมาในงานเสวนาดังกล่าว______ เรามีประเด็นที่น่าสนใจจากวงเสวนาและการพูดคุยมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ความท้าทายของผู้บริโภคในยุค AI         ผมตั้งข้อสังเกตว่า ใน “ระเบียบโลกใหม่” ที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทำธุรกิจแทบทุกประเภท เราจะพบความเหลื่อมล้ำมากขึ้นระหว่างคนที่สามารถและคนที่ไม่สามารถเข้าถึงถึงเทคโนโลยี ยกตัวอย่างที่มาเลเซียซึ่งการประปาฯ ได้ยกระดับการบริหารจัดการและนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาจัดการทั้งหมด รวมถึงเรื่องการแจ้งข่าวสารเรื่องการให้บริการ/การหยุดจ่ายน้ำ แต่ปัญหาคือการแจ้งอัตโนมัตินี้มันจะส่งไปยังผู้ใช้สมาร์ตโฟนเป็นหลัก คำถามคือแล้วคนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนจะรู้ข่าวนี้ได้อย่างไร         แล้วเทคโนโลยีก็เปลี่ยนแปลงอัปเกรดอยู่ตลอดเวลา พอเราเริ่มเข้าใจ เริ่มจะเชี่ยวชาญการใช้ มันก็เปลี่ยนไปอีกแล้ว ขณะเดียวกันรูปแบบตลาดก็เริ่มเปลี่ยนจากการซื้อขายแลกเปลี่ยน “สินค้า” เป็นการซื้อขาย “บริการ” มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตเมือง         นอกจากความไม่แน่นอนเรื่อง “ความเสถียร” ของระบบที่ทำให้มันง่ายต่อการเจาะ ผู้บริโภคก็มีโอกาสพบปัญหามากขึ้น เช่น มีแนวโน้มจะถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวมากขึ้น หรืออาจถูกมิจฉาชีพหลอกลวงได้ง่ายขึ้น โฆษณาที่เราเห็นก็ถูกออกแบบมาให้ตรงความต้องการของเรามากขึ้น หรือแม้แต่เมื่อเราจะทำ “สัญญา” กับผู้ประกอบการ เราแต่ละคนก็อาจได้สัญญาที่เนื้อหาสาระไม่เหมือนกัน (ทั้งที่ซื้อผลิตภัณฑ์เดียวกัน) ซึ่งเป็นผลงานของอัลกอรึธึม นั่นเอง         ที่น่ากังวลอีกอย่างคือผู้บริโภคยังมีความเข้าใจค่อนข้างน้อยในเรื่อง “ตัวตนดิจิทัล” ที่เราใช้ในการซื้อสินค้าออนไลน์ ทั้งๆ ที่ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับตัวเรา ธุรกรรมของเรา ถูกบันทึกจัดเก็บอยู่ตลอดเวลา ทำให้ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการรายใหญ่มีอำนาจเหนือเรามากขึ้น เราควรทำอย่างไร         ก็ต้องยอมรับความจริงว่าเราต้องอยู่กับเทคโนโลยีนี้ หลีกเลี่ยงมันไม่ได้ สิ่งที่ควรจะต้องมีก็คือการกำกับดูแลที่ดีขึ้นด้วยการ “คิดใหม่ทำใหม่” เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ในยุคของการซื้อขายสินค้าออนไลน์ เราจะเห็นว่ามีธุรกิจทั้งรายใหญ่รายเล็กเพิ่มจำนวนขึ้นตลอดเวลา ถามว่าหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคจะรับมือกับผู้ประกอบการเป็นล้านรายเหล่านี้ได้อย่างไร ไม่ว่าประเทศไหนก็ไม่สามารถจัดหาบุคลากรมารับมือกับเรื่องนี้ได้เพียงพอหรอก ต่อให้คุณมีเจ้าหน้าที่สักหมื่นคน คุณคิดว่าจะจัดการพวกนี้ได้หมดไหม         ที่เราทำกันอยู่ตอนนี้คือการออกไปสุ่มตรวจเป็นครั้งคราว หรือจัดการแก้ไขเรื่องที่ผู้บริโภคมาร้องเรียน ส่วนตัวผมมองว่าเราต้องเพิ่มบทบาทของมาตรฐานหรือจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ การรายงานต่อสังคมโดยบริษัท         เราต้องมีวิธีที่ดีขึ้นในการที่จะทำให้คนเหล่านี้ปฏิบัติตามกฎหมาย และสร้างวัฒนธรรมที่ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องมาร้องเรียนพฤติกรรมแย่ๆ ของผู้ประกอบการไปเลย         ผมมองว่าสิ่งที่เราต้องการคือ การเปลี่ยน “วัฒนธรรม” ในเรื่องนี้ ไม่ใช่ใครทำผิดก็ตามปรับมันไปเรื่อย แปลว่าใครจ่ายค่าปรับได้ก็ทำผิดได้อย่างนั้นหรือ ผมยกตัวอย่างกรณีของออสเตรเลีย ถ้าคุณไปซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วราคาที่ปรากฎตรงแคชเชียร์มันแพงกว่าที่แสดงไว้บนชั้นวาง คุณจะได้ของชิ้นนั้นกลับบ้านไปเลยโดยไม่ต้องจ่ายเงิน ไม่ต้องให้ใครโทรเรียกผู้จัดการให้ลงมาเคลียร์ หรือต้องกรอกแบบฟอร์มร้องเรียนอะไรให้ยุ่งยาก มันต้องทำให้ธุรกิจมีกฎระเบียบในการจัดการตัวเองเมื่อทำผิด ไม่ใช่แค่มีหน่วยงานรัฐมาบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย         แล้วหลังจากนั้นเราค่อยมาพูดกันเรื่องการให้ความรู้กับผู้บริโภค การรับเรื่องร้องเรียนยังสำคัญไหม         แน่นอน อีกประเด็นที่ผมอยากพูดคือ เรื่องที่คนเขาร้องเรียนเข้ามาก็สำคัญนะ มันควรจะมีการ “ออดิท” ข้อมูลเรื่องร้องเรียนโดยบุคคลภายนอกด้วย ถ้าองค์กรหนึ่งเคลมว่าสามารถแก้ไขเรื่องร้องเรียนได้ร้อยละ 98 ร้อยละ 99 ผมว่าทำใจให้เชื่อได้ยากเหมือนกันนะ เขาอาจจะทำได้จริงก็ได้ แต่เราก็ควรมีคนนอกมาตรวจสอบ แล้วคำว่า “แก้ไข” หมายถึงอะไร หรือแม้แต่ “เรื่องร้องเรียน” มันหมายความว่าอะไร ถ้าผมโทรมาแจ้งว่าไฟฟ้าที่บ้านดับแพราะมีอุปกรณ์บางอย่างเสีย แล้วเขาก็ส่งคนมาซ่อมให้ แบบนี้เรียกว่าเรื่องร้องเรียนไหม หรือว่าเรื่องร้องเรียนในที่นี้คือกรณีที่ผมต้องรอถึงสามวันกว่าจะมีช่างมาซ่อมให้           หลักๆ คือ เราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่าเรื่องแบบไหนถือเป็นเรื่องร้องเรียน         ขั้นที่สองคือต้องแยกแยะว่าเรื่องร้องเรียนที่เข้ามาเป็นชนิดไหน แล้วสาม ซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ผู้ร้องเรียนเป็นใคร คนจนร้องเรียนเข้ามาไหม คนเปราะบางร้องเรียนไหม คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลร้องเรียนเข้ามาไหม หรือว่าคนที่ร้องเรียนก็คือคนเดิมที่ร้องเข้ามาเป็นประจำ ความจริงอาจจะมีคนที่ไม่ได้ร้องเข้ามาเพราะไม่ถนัดเขียนอีเมล ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีสมาร์ตโฟน ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีปัญหา         แล้วหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนเองก็มีทรัพยากรจำกัด ไม่ว่าจะด้านเงิน บุคลากร หรืออื่นๆ เราต้องตั้งคำถามว่าเรากำลังใช้ทรัพยากรเหล่านั้นเพื่อช่วยเหลือคนที่ “จำเป็น” ต้องได้รับความช่วยเหลือจริงหรือเปล่า ถ้าเรามีข้อมูลรอบด้านทั้งที่เกี่ยวกับปัญหาที่ร้องเรียน รวมถึงตัวผู้ร้องเรียน ก็จะตอบคำถามนี้ได้ การคุ้มครองผู้บริโภคในมาเลเซีย         โดยรวมแล้วมาเลเซียมีกฎหมายที่ดี ครอบคลุม มีการปรับปรุงแก้ไขให้เท่าทันสถานการณ์ปัญหามาโดยตลอด เช่น ล่าสุดมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งผมมองว่าทำได้ดีก่อนหน้านี้กฎหมายเราไม่ครอบคลุมการซื้อขายออนไลน์ ก็แก้ไขให้ครอบคลุม แต่น่าเสียดายที่เรายังไม่ได้เพิ่มเขี้ยวเล็บให้กับกฎหมายอีคอมเมิร์ซมากเท่าที่ควร         ในเรื่องของอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตอนนี้มาเลเซียให้อำนาจกับเจ้าหน้ารัฐที่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวน ในการเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงซอร์สโค้ดได้         ส่วนเรื่องของความยั่งยืน ตอนนี้รัฐกำหนดให้มีการให้ความรู้ประชาชนเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืน รวมถึงด้านผู้ประกอบการก็ต้องมีการผลิตที่ยั่งยืนด้วย เรามีกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทส่งรายงานประจำปีว่าด้วยความยั่งยืน (ทางสิ่งแวดล้อม สังคม และการพัฒนา)         ผู้ประกอบการต้องแสดงข้อมูล “รอยเท้าคาร์บอน” แต่เรื่องนี้ก็มีผลทางลบเหมือนกัน สายการบินในมาเลเซียขอขึ้นค่าโดยสารโดยอ้างว่าบริษัทต้องมีการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม         เราได้เห็นความพยายามที่จะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ประกอบการมากขึ้น แต่ผมสงสัยว่ามันจริงแค่ไหน หรือเป็นแค่การกล่าวอ้างให้เป็นไปตามเทรนด์เราทุกคนล้วนเปราะบาง         “เมื่อก่อนนี้พอพูดถึง “กลุ่มเปราะบาง” เราจะนึกถึงคนยากจน ผู้ป่วย หรือผู้พิการ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองดูแลเป็นพิเศษ แต่ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลถูกนำมาใช้ในการทำธุรกิจมากขึ้น “เราทุกคน” มีความเปราะบางในบริบทที่แตกต่างกัน เช่น คนมีการศึกษาที่ไม่ถนัดเรื่องไอที หรือ คนรู้กฎหมายที่ไม่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีการเงินการธนาคาร ก็อยู่ในกลุ่มเปราะบางเช่นกัน”         อีกเรื่องที่ผมมองว่าเป็นปัญหาในปัจจุบันนี้คือดูเหมือนเราจะไม่ได้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในแบบที่มีมนุษยธรรมมากพอ เราทำให้คนอื่นต้องอับอาย ด่าว่าเขาออกสื่อ มีแต่เรื่องลบๆ ในโซเชียลมีเดียที่สร้างความเกลียดชัง อาจเป็นความเกลียดชังระหว่างชุมชน เชื้อชาติ เราต้องช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร ที่น่าเป็นห่วงคือนักการเมืองก็กำลังหาประโยชน์จากเรื่องแบบนี้        เรื่องดีเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งที่อินโดนีเซียที่ผ่านมาคือ ไม่มีผู้สมัครคนไหนเอาเรื่องที่ผู้คนโจมตีกันในโซเชียลมีเดียมาใช้ในการหาเสียงเลย เขาพูดกันแต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการพัฒนา ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะมีการกำหนดกติกาอย่างจริงจังโดยหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการเลือกตั้ง หรือแม้แต่กรณีที่ผู้บริโภคที่ใช้วิธีโพสต์ต่อว่าผู้ประกอบการออกสื่อ ทั้งที่ความจริงแล้วการแก้ไขปัญหาจริงๆ ควรเป็นการพูดคุยกับผู้ประกอบการโดยตรง เอาข้อเท็จจริงมาคุยกันมากกว่า         เราไม่มี “ผู้หลักผู้ใหญ่” ในโซเชียลมีเดียที่ออกมาพูดอะไรเรื่องนี้บ้างหรือ ผมว่ามันแปลกมาก ผู้คนในภูมิภาคนี้เวลาเจอกันตัวต่อตัวก็สุภาพตามวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา แต่ทำไมตัวตนออนไลน์ของพวกเขาถึงได้ร้ายกาจขนาดนั้น หรือเพราะความห่างเหิน ห่างไกล ในสื่อสารผ่านเทคโนโลยีก็เป็นได้

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 276 ผังเมืองกรุงเทพต้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคน

        ช่วงระยะ 10 ปีที่ผ่านมา หลายปัญหาได้วิกฤตขึ้นในกรุงเทพมหานคร ทั้งปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ลุกลามมาถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด และปัญหาฝุ่น PM 2.5  ทั้งหมดนี้ ล้วนส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร         ปัจจุบัน เมื่อกรุงเทพมหานคร ได้กำลังจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ภาคประชาสังคมในวันนี้ได้ตื่นตัว ให้ความสนใจเพราะอยากให้ผังเมืองฉบับใหม่เอื้อให้คนกรุงเทพมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เกิดขึ้นจริงๆ  ปฐมพงศ์ เจียมอุดมสิน ประธานสภาองค์กรผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในผู้ที่ ติดตามการพัฒนาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่เริ่มจัดทำตั้งแต่ในปี 2562 ปฐมพงศ์สนใจและเข้ามาเกี่ยวข้อง เคลื่อนไหวด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ช่วงปี 2540 ที่เขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการอยู่อาศัยในคอนโดโดยตรง การทำงานที่ผ่านมาจากในบทบาทผู้อยู่อาศัยคนเล็กๆ ในเมืองใหญ่ สู่การเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาการสร้างอาคารสูงในซอยแคบที่ส่งผลเดือดร้อนต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม วันนี้เขายืนยันว่ายังคงต้องคัดค้านผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ฉบับนี้ หากยังไม่มีการเริ่มต้นจัดทำใหม่ด้วยการเปิดรับฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง   ขอเริ่มคำถามง่ายๆ ก่อนว่า ผังเมือง คืออะไร เพราะหลายคนอาจยังไม่ทราบ และจะได้เข้าใจว่า กฎหมายผังเมืองจะเกี่ยวข้องกับชีวิตของตนเองอย่างไร         ถ้าพูดให้เห็นภาพว่า ผังเมืองคืออะไรให้ลองนึกถึงว่า สมมุตว่าเรามีบ้านหลังหนึ่ง บ้านหลังนี้เราก็จะผังบ้านของเราว่ากว้างยาวเท่าไหร่ มีคอกสัตว์ แปลงผัก ไปจนถึงขอบเขตรั้วบ้านอยู่ตรงไหน แผนผังนี้คือกระดาษที่เหมือนเวลาเรามองลงมาจากที่สูง จะบอกทุกอย่างว่ามีอะไรบ้างซึ่งตรงนี้แค่บ้านหลังหนึ่ง พอใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้าน ตำบลย่อมต้องมีแผนที่แบบนี้แน่นอน ที่สำนักงานเขตเขาก็จะมีแผนที่ แผนที่ทุกคนคงจะนึกออก แต่ผังเมือง  จะมีรายละเอียดข้างในด้วยที่กำหนดให้อะไรอยู่ตรงไหน ศูนย์การค้าอยู่ตรงนี้ ที่อยู่อาศัยอยู่ตรงนี้ ผังเมืองคือแผนที่อันหนึ่งที่จะบอกว่าในเมืองๆ นั้นมีอะไรบ้าง           แต่นอกจากผังเมืองจะบอกว่า อะไรอยู่ตรงไหนแล้ว ผังเมืองยังมีข้อกำกับลงไปด้วยว่า ไม่ให้มีอะไร หรือ ห้ามสร้าง ห้ามปลูกอะไร ปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอาจมาจากตรงนี้คือห้ามสร้าง เมื่อมาสร้างจึงผิดกฎหมาย         กฎหมายผังเมืองจึงเป็นกฎหมายลิดรอนสิทธิของประชาชนด้วยเช่นกัน หากเป็นบ้านเราเองจะปลูกต้นไม้ ดอกไม้ หรือจะตั้งถังขยะตรงไหน ย่อมทำได้ แต่พอเป็นเมืองแล้ว ผังเมืองจะกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนที่อยู่อาศัยในเมือง จึงกำหนดข้อห้ามสำคัญเช่นพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ห้ามสร้างตึกสูงใดๆ  ตรงนี้ห้ามสร้างตึกสูงเกินเท่าไหร่ ในแต่ละจังหวัดตอนนี้มีผังเมืองจังหวัด  ผังเมืองกรุงเทพ ก็เป็นอีกจังหวัดหนึ่ง           ผังมืองรวมกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา เรามีมาแล้วทั้งสิ้น 4 ฉบับ ทั้ง 4 ฉบับเป็นไปตามพระราชบัญญัติผังเมืองปี 2518  ครั้งนี้เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 4 หากมีการประกาศใช้จะเป็นฉบับที่ 5  ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 เริ่มมีปัญหาจากจุดไหน         ต้องบอกว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพ เรามีมาตั้งแต่ปี 2556 และทุก 5 ปี กฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำใหม่ และหลังจากประกาศใช้ทุก 2 ปี จะให้มีการประเมิน ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำมาเช่นนี้ แต่การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพที่ถึงกำหนดในปี 2561 มีกฎหมายสำคัญคือรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่กำหนดว่ากฎหมายที่ลิดรอนสิทธิประชาชนในด้านต่างๆ ก่อนจะดำเนินการต้องไปทำประชาพิจารณ์ก่อน  นอกจากนี้ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับที่ปรับปรุงในปี 2561 กว่าจะทำเสร็จยังมีการประกาศใช้ของ พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562 มาแทนฉบับปี 2518         การปรับปรุงผังเมืองรวมกรุงเทพ ครั้งที่ 4 ครั้งนี้ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2562  สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจาก พ.ร.บ. การผังเมือง ปี 2518 ที่กำหนดให้มีการจัดทำผัง 4 ประเภท ได้แก่ 1) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ได้นำแนกประเภท 2) แผนผังแสดงที่โล่ง 3) แผนผังแสดงโครงสร้างคมนาคมและขนส่ง และ 4) แผนผังโครงการกิจการสาธารณูปโภค ขณะที่ พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 กำหนดให้มีการจัดทำผัง 6 ประเภท โดยเพิ่มแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำเข้ามาด้วย         พ.ร.บ. การผังเมืองปี 2562 ยังกำหนดให้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น การปรึกษาหารือ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมก่อนที่จะมีการจัดทำร่างผังเมืองรวม                ดังนั้นการที่กรุงเทพมหานคร นำร่างผังเมืองรวมที่ทำมาตั้งแต่ปี 2561 - 2562 มาเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเลย จึงเป็นการทำมาแล้ว ว่าอยากให้อะไรอยู่ตรงไหน  ไม่ได้เป็นการเปิดรับฟังเสียงจากประชาชนเพื่อทำขึ้นใหม่จริงๆ   ความเดือดร้อนนี้ที่ทำให้ประชาชนออกมาคัดค้านจำนวนมาก         ใช่ กฎหมายผังเมืองเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั้งหมด และกรุงเทพมีพื้นที่ 50 เขต แต่ละเขต มันต่างกันมาก บางขุนเทียนเป็นพื้นที่มีชายฝั่งทะเล  เราไม่อยากให้มีการกัดเซาะ จึงไม่ค่อยมีการตั้งอุตสาหกรรม  ส่วนพื้นที่หนองจอกส่วนใหญ่ทำนา การพัฒนาการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เดิมต้องคำนึงสภาพที่เป็นและข้อจำกัดด้วย         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นี้ยังจะมีการขยายพื้นที่ถนน พื้นที่แก้มลิง พื้นที่รับน้ำ ทำให้ประชาชนถูกเวนคืนที่ดิน บางพื้นที่หมู่บ้านหายไปหมด ถนนจาก 4 เมตร จะขยายเป็น 12 เมตร  คนจะเดือดร้อนมาก เรามองว่า ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้มุ่งเน้น เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์   การขยายถนน การกำหนดพื้นที่ให้เปลี่ยนจากพื้นที่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นปานกลาง จากหนาแน่นปานกลางเป็นหนาแน่นสูง หรือให้เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม  ทั้งหลายนี้เหล่านี้ทำให้เกิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่ในความเป็นจริง กรุงเทพไม่อาจขยายตัวได้มากแล้ว จึงเกิดอาคารสูงกระจุกตัวอยู่ส่วนกลาง แต่เมืองนี้เราไม่ได้มีแต่คนรวย  ยังมีคนเข็นผักในตลาด รปภ. ตำรวจ พยาบาล ทหาร บุรุษไปรษณีย์ การถูกเวนคืนที่  การเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง เป็นความเดือดร้อนที่ค่อยบีบคนอยู่อาศัยธรรมดาให้ออกจากเมือง  การที่ยังให้มีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ในซอยแคบทั้งที่สร้างไม่ได้ ได้สร้างความเดือดร้อนให้ทุกคนในซอย รถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่แค่ช่วงเข้าไปสร้าง ก็เดือดร้อนแล้ว อาคารที่สูงมากๆ ก็จะสร้างขยะเยอะ ใช้ไฟเยอะ  น้ำเสีย มันเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยทั้งหมด            แล้วข้อความเห็นว่าเหมือนบีบคนออกจากเมือง เขาก็บอกว่าก็มีการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ขยายออกไปเรื่อยๆ แต่ระบบรถ BTS ของเรามันไม่ได้เชื่อมต่อกัน ประชาชนยังแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูงมาก         ผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4  ยังมีโบนัสให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายเรื่องมากๆ ที่ดำเนินการแล้ว เขาสามารถนำไปเพิ่มพื้นที่การสร้างอาคารให้สูงขึ้นได้  ช่วยขมวด 3 เรื่องสำคัญที่ประชาชนควรช่วยกันเฝ้าระวังในผังเมืองรวมกรุงเทพ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ครั้งนี้           หนึ่ง ผังเมืองรวมฉบับนี้ทำให้ กรุงเทพมีพื้นที่หนาแน่นขึ้น เดิมความหนาแน่นของกรุงเทพตอนนี้คือราว  3,500 คน/ ตร.กม แต่หากรวมประชากรแฝงเราคาดว่าน่าจะถึง 10,000 คนต่อ / ตร.กม เมื่อคนอยู่อาศัยกันแน่นขึ้น ปัญหาอีกสารพัดจึงจะตามมาอีกมาก  สอง ผังเมืองรวมฉบับนี้ยังไม่ได้คิดถึงเรื่องการระบายน้ำ  เรามีน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 มาแล้ว ยิ่งคนเข้ามาแน่น ปัญหาน้ำท่วมเราจะยิ่งวิกฤต เพราะตอนนี้ฝนตกหนักครั้งเดียว เราก็แย่แล้ว สาม เมื่อนำผังเมืองที่เขาทำไว้แล้วในปี 2562  มารับฟังความเห็นจากประชาชน  ผังเมืองรวมกรุงเทพฉบับนี้ ยังไม่คิดตอนที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 กับเรื่องโรคระบาด         เราเป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้การอยู่อาศัยของคนในเมืองแย่ลง ทั้งน้ำท่วม การจราจร ฝุ่นPM2.5  โรคระบาด สิ่งแวดล้อมมันแย่ลงมากกว่าดีขึ้น สิ่งที่เราบอกว่ามันจะมีปัญหา เราไม่ได้จินตนาการเอาเอง ปัญหามีประจักษ์มาแล้ว เรื่องโรคระบาด ตอนเป็นโควิดเราเห็นแล้วว่า เราต้องการพื้นที่ปลอดภัย ต้องการพื้นที่จะระยะห่างบ้าง  เราเป็นห่วงคนในชุมชนคลองเตยมาก เพราะเขาต้องอาศัยกันอย่างแออัด  เขาบอกว่า เมืองว่าเมืองจะเจริญ แต่ตอนนี้สภาพแวดล้อมเราออกห่างจากคำว่าธรรมชาติมากขึ้นทุกที คนต้องหนีออกจากเมืองมากกว่าจึงจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้         การระบายน้ำ ขยะ การจราจร โรคระบาด ทั้งหมดนี้คือคุณภาพการใช้ชีวิตของคน  เราไม่สามารถอยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ว่าห้องจะหรูหรา มีเครื่องฟอกอากาศดีแค่ไหน แล้วเราไม่ออกไปไหน เราต้องออกไปข้างนอก         เรากังวล เป็นห่วงว่า ผังเมืองฉบับนี้จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนในเมืองแย่ลง   เราอยากให้มีผังเมืองที่ตอบโจทย์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนทุกกลุ่ม ทุกวัย รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เป็นอยู่แล้วยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาด้วย อยากให้ประชาชน สังคมโดยทั่วไป ร่วมกันมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง         อย่างที่ผมบอกว่า ผังเมืองเกี่ยวข้องกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกมิติ หลายคนที่เขายังรู้สึกว่า เขาไม่ได้รับผลกระทบ เขาอาจะวางเฉยได้ หรือเขาอาจจะรู้ว่า มีผลกระทบมาถึงตัวได้แต่ยังคิดว่า อาจไม่ใช่เร็วๆ นี้ ต้องออก พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน ยังรอได้  แต่ผมคาดว่ามันไม่ได้นาน หลายพื้นที่ตอนนี้เริ่มโดยเวนคืนที่ดินแล้ว และผังเมืองรวมกรุงเทพยังส่งผลกระทบกับปริมณฑล  เครือข่ายถนนทั้งหมดเชื่อมโยงกับพื้นที่ใกล้เคียง นนทบุรี สมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี  ฉะเชิงเทรา  สมุทรปราการ              การต่อสู้เรื่อง เราต้องศึกษาเรื่องกฎหมายด้วย เพราะเราสู้เรื่องกระบวนการที่ต้องดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายด้วยเราอาจะต้องสู่กันกันถึงศาลปกครอง แล้วหากเราตื่นตัว ร่วมกันลงชื่อเยอะๆ ผมคิดว่ามันมีผลกระทบ มันมีพลังที่จะทำให้เราสามารถทำให้หน่วยงานรัฐเริ่มทำผังเมืองกรุงเทพใหม่ได้ ผมก็สื่อสารเรื่องนี้ อยู่ตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 275 องค์กรผู้บริโภคต้องทำงานแบบเสริมพลังกัน

        การรวมตัวกันเพื่อการทำงานคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิผู้บริโภค เริ่มมาอย่างยาวนานและชัดเจนตั้งแต่ปี 2526 กว่า 40 ปี ระบบนิเวศของการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคจึงเต็มไปด้วยความเบ่งบานของกลุ่มองค์กรหลากหลายรูปแบบทุกระดับทุกพื้นที่ที่ต่างล้วนทำงานมีเป้าหมายเดียวกันคือ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้มแข็งสิทธิได้รับการพิทักษ์คุ้มครอง การเติบโตอย่างเข้มข้นนี้เป็นรูปธรรมชัดเจนโดยเกิดการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้สำเร็จ ในปี 2563 หลังจากเริ่มต้นผลักดันมาตั้งแต่ปี 2540          รศ.ภญ.ดร.วรรณา  ศรีวิริยานุภาพ  ผู้จัดการศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส) และผู้อำนวยการวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) มีบทบาทอย่างสำคัญในการส่งเสริม สร้างความเข้มแข็งของผู้บริโภคโดยเฉพาะด้านยาและสุขภาพมาตั้งแต่ต้น สะท้อนมุมมองว่าในทศวรรษปัจจุบันและต่อไปหลังจากนี้ การเกิดขึ้นของสภาองค์กรของผู้บริโภคได้สำเร็จก็ยังไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในปัจจุบัน การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรผู้บริโภคในระดับพื้นที่เข้มแข็ง มีคุณภาพยังเป็นเรื่องสำคัญที่ รศ.ภญ.ดร.วรรณา เลือกทำมาตั้งแต่ต้นและยังจะทำต่อไปอย่างแน่นอน      ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  คือหน่วยงานอะไร         ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ หรือ คคส. เราเป็นศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เป็นศูนย์วิชาการที่เราทำงานกันมานานตั้งอยู่ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2549 และปัจจุบันเราขยายงานเป็นวิทยาลัยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านยาและสุขภาพแห่งประเทศไทย (วคบท) ด้วย         คคส. เป็นโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ สสส. ดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เมื่อพูดถึง คคส. เราไม่ได้ทำงานแต่เฉพาะองค์กรผู้บริโภค  เราทำงานกับผู้ประกอบการวิชาชีพเภสัชกรรม  นักวิชาการสาธารณสุขเยอะมาก งานของเราจึงออกเป็นลักษณะแผนงานวิชาการที่มีหลายเรื่อง งานวิชาการ งานพัฒนาศักยภาพคน จัดการพวกสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และติดตามเรื่องของกฎหมายด้วย  ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส)  ทำงานอะไรบ้าง         เรามีแผนงานส่งเสริมพัฒนาความเข้มแข็งระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่  มีวัตถุประสงค์ในการทำงาน 4 เรื่อง หนึ่ง คือพัฒนากลไกและศักยภาพเครือข่าย เพื่อขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับพื้นที่ สอง พัฒนาฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาระบบงานคุ้มครองผู้บริโภคระดับพื้นที่ สาม จัดการความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพและบริการสุขภาพเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และสี่ ติดตามอย่างมีส่วนร่วมในการพัฒนาแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เราทำงานด้วยเราอยากเห็นผลลัพธ์ที่เรามุ่งหวังคือ ชุมชน องค์กรผู้บริโภค ภาคี เครือข่ายมีศักยภาพในการคุ้มครองผู้บริโภค  มีการจัดการสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย   นิยามองค์กรผู้บริโภคไว้อย่างไร         องค์กรผู้บริโภคที่เราทำงานด้วยต้องบอกว่า เป็นกลุ่มคนที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ใช่เฉพาะการทำงานประจำตามหน้าที่ เป็นราชการเราไม่ได้สนใจเฉพาะตรงนั้น เราทำงานทั้งกับผู้บริโภค อาสาสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้บริโภค เราคิดว่าทุกคนเป็นผู้บริโภคตลอดเวลา แต่เป็นข้าราชการบางเวลาเพราะฉะนั้นการก้าวเข้ามาทำงานคุ้มครองผู้บริโภค คคส. เราถือว่าถ้ารวมกลุ่มกัน เป็นองค์กรผู้บริโภคหมด       ที่จุฬาเองตั้งแต่อดีต  เรามีอดีตอาจารย์กับนิสิตเภสัชศาสตร์ รวมตัวกันมา ตั้งกลุ่มเฝ้าระวังเรื่องยา อาจารย์ในเวลาก็เป็นเป็นข้าราชการสอนหนังสือ แต่อาจารย์ยังนำความรู้ของอาจารย์มาทำงานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้วย จึงเกิดการรวมตัว รวมกลุ่มและกิจกรรมต่างๆ ขึ้นจนถึงปัจจุบันตอนนี้ก็มีข้าราชการทั้งเกษียณและไม่เกษียณทำงานคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ เราก็เรียกตัวเองว่าเป็นองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีเจ้าหน้าที่ทำงานเต็มเวลา ไม่ใช่ข้าราชการก็เป็นองค์กรผู้บริโภคด้วย น้องๆ เภสัชที่อยู่ตามต่างจังหวัด รวมตัวกันเป็นเภสัชชนบทก็เป็นองค์กรผู้บริโภคในนิยามของ คคส.  ภาพรวมขององค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศที่ คคส. ทำงานร่วมด้วยเป็นอย่างไร           ภารกิจของ คคส. เราทำงานส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ เราจึงทำงานเข้มข้นได้ไม่ทุกเรื่อง เรามองว่าการทำงานกับองค์กรผู้บริโภค เราทำทั้งทางตรงและทางอ้อม  งานที่ทำทางตรงกับองค์กรผู้บริโภค เช่น การพัฒนาศักยภาพ การอบรม การตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคเครือข่าย แต่ถ้าเป็นลักษณะของการที่ทำงานเฝ้าระวัง บางจุดหรือประเด็นที่เขาต้องการ เราก็จะพัฒนาศักยภาพน้องๆ เภสัชกรที่เขาก้าวเข้ามาด้วยความสนใจให้เป็นเภสัชกรที่คุ้มครองผู้บริโภคหรือนักวิชาการสาธารณสุขที่ขยับมาทำเรื่องการจัดการสินค้าไม่ปลอดภัย งานจึงมีทั้งทางตรงและทางอ้อม  แบ่งองค์กรผู้บริโภคเป็นแบบไหนบ้าง กี่ประเภท แต่ละประเภทมีความเข้มแข็งแตกต่างกันมากน้อย อย่างไร         ถ้าตามกฎหมาย เราแบ่งเป็น 2 กลุ่ม  คือกลุ่มองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562  คือตามเกณฑ์ เงื่อนไขและกลุ่มที่ 2 คือ องค์กรผู้บริโภคแต่ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน         แต่ถ้ามองในมุมของ คคส. เรามีการพัฒนาเกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพขึ้น ซึ่งเราทำมานานก่อนที่จะมีสภาองค์กรผู้บริโภคอีกเพื่อไปตรวจประเมิน และรับรององค์กรผู้บริโภคว่าการทำงานอย่างมีคุณภาพ มีโครงการสร้างองค์กร  กระบวนการทำงาน และผลลัพธ์ของการทำงานที่พัฒนาขึ้นต่อเนื่อง คคส. จึงตั้งเป็นเกณฑ์ผู้บริโภคคุณภาพ และ MOU กับหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เราได้รับการยอมรับ เกิดความเชื่อมั่นเมื่อเราเดินสายไปตรวจและรับรอง หากใช้เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพเป็นตัวตั้ง  ก็จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ผ่านการรับรองตัวประเมิน และจัดเป็นองค์กรผู้บริโภคคุณภาพ กับองค์กรทั่วไปที่เขาอาจยังไม่พร้อมให้เราประเมิน หรือว่าเพิ่งเริ่มต้นทำงาน เกณฑ์องค์กรผู้บริโภคคุณภาพจะมีมากกว่าเกณฑ์ตามกฎหมาย    ส่วนที่สมาชิกของสภามักจะไม่ค่อยผ่านคือเรื่องของผลงาน และกระบวนการทำงาน  ปัญหาที่พบตอนที่ลงไปทำงานกับองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ ได้เสริมจุดแข็งหรืออะไรไปบ้าง         แน่นอนว่าพอเราลงไปตรวจ เราจะเจอทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง  แต่เราก็บอกเลยว่า เราพร้อมตรวจใครที่คิดว่ามีความเข้มแข็งให้เราไปตรวจ เราก็พร้อม แต่เท่าที่ลงไปตรวจแล้วเราจะเห็นข้อบกพร่องของเขา เช่น เรื่องของการที่ไม่มีรายงานการประชุม ไม่มีการบันทึกเลย คือคนทำงาน เขาทำงานแต่การเก็บบันทึก รายละเอียดงานยังน้อยทำให้มีปัญหาคนภายนอกอาจมองว่าไม่มีผลงานกิจกรรมเลย ก่อนมี พ.ร.บ. สภาฯ  เราตรวจไป 226 องค์กร  พวกนี้เขาก็มีความพร้อมพอสมควร พอมีสภาองค์กรของผู้บริโภคเกณฑ์ของเราถูกนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินองค์กรของผู้บริโภคตามกฎหมายด้วยบางส่วน แต่บางอันในเรื่องของคุณภาพยังไม่ได้นำไปใช้  การทำงานของเราตอนนี้พอลงตรวจแล้วรู้แล้วว่าขาดอะไร เช่นยังขาดส่วนวิชาการในลักษณะของการนำเสนอนโยบายซึ่งมีความสำคัญเวลาเข้าไปมีส่วนร่วมในการนำเสนอนโยบายในการประชุมเป็นคณะกรรมการ อนุกรรมการ ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอหรือระดับประเทศ พอตรงนี้ขาดเราก็พัฒนาหลักสูตร เปิดอบรม ขอแค่สนใจอยากพัฒนาตัวเองเราจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมดเพราะเรามีความร่วมมือกับ สสส.         องค์กรผู้บริโภคเล็กๆ จากที่เราไปตรวจราว 300 – 400 องค์กร เราเห็นแล้วว่าบางทักษะอย่าง การ เขียนรายงานการประชุม เขียนโครงการของบประมาณแบบนี้ยังไม่เป็น การจัดทำบัญชีรับจ่าย การทำทะเบียน วัสดุและครุภัณฑ์ต่างๆ เขายังไม่ทำ เขาบอกว่าเขาเป็นจิตอาสา ไม่ต้องใช้ทรัพยากรอะไร ไม่มีการทำบัญชี แต่การเป็นองค์กรที่ทำงานได้ด้วยการสนับสนุน เราสู้เพื่ออะไรหลายเรื่อง เราต้องมีความโปร่งใส  การทำงานกิจกรรมต่างๆ หากไม่รวบรวมเป็นเอกสารข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบวันนี้ เมื่อจะขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรโดยกฎหมายขอสภาองค์กรของผู้บริโภค  สำนักนายกก็ตั้งคำถามแล้วเพราะผลงานกิจกรรมไม่มีแสดง ซึ่งไม่แปลกเพราะเขาไม่ได้ลงมาคลุกคลีใกล้ชิด         เราจะเติมส่วนขาดตรงนี้ลงไปในพื้นที่ เพราะองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดเขาอยู่ในพื้นที่ เขาจะดูแลกัน ตลอดไปเป็นอะไรที่ยั่งยืน ขณะที่บางครั้งเราเข้าไปอบรมแล้วกลับมา มันไม่เกิดอะไร เราจึงสร้างคนโดยการให้เข้าอบรม 8 เดือน แล้วเป็นเภสัชกรสาขาคุ้มครองผู้บริโภค  ภายใต้วิชาชีพเภสัชกรรมตอนนี้ เรามี นคบส. หรือผู้ผ่านการอบรมทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ 100 กว่าคนที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทย เราเหมือนเป็นพี่เลี้ยง คอยสนับสนุน ส่วนน้องๆ เภสัชเขาเองอยู่ในระบบราชการ เขาก็ทำหน้าที่ราชการด้วย หลายคนไปเป็นที่ปรึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิประจำองค์กรผู้บริโภค ในหน่วยงานประจำจังหวัด เราต่างหนุนเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภค เรามองว่าช่วยกันทำงาน  มันเป็นความงดงาม ความเก่งขององค์กรผู้บริโภค และความเก่งของเภสัชช่วยกันทำงานไร้รอยต่อ สามารถส่งต่ออะไรที่ดีๆ ให้กันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในจังหวัดของตัวเอง  อันนี้มันก็เป็นอะไรที่มันเห็นการขับเคลื่อน  ตัวอย่างของงานที่เป็นความสำเร็จขององค์กรผู้บริโภคและแนวโน้ม         เรื่องของความสำเร็จพี่มองว่าคือการจัดตั้ง สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นการการต่อสู้ยาวนานตั้งแต่ ปี 2540 จนนำมาสู่การจัดตั้งสภาฯ องค์กรได้ แต่การมีอยู่ตอนนี้ยังไม่ถือว่าสำเร็จ เป็นช่วงเริ่มต้น เพราะความสำเร็จที่แท้จริง คือต้องทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็ง สามารถคุ้มครองตัวเองได้  ซึ่งตอนนี้มีเรื่องของการโฆษณา เรื่องของอะไรที่มันหลอกลวงมากขึ้น  ถ้าผู้บริโภคเข้มแข็งสามารถที่จะคุ้มครองตัวเองได้  ไม่ว่ามีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามนี่คือสุดยอด แต่การทำงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคตอนนี้มีองคาพยพที่ใหญ่ขึ้น และต้องเคลื่อนไปด้วยกัน และยังเข้มแข็งในบางจังหวัดด้วย เรายังต้องช่วยหนุนเสริมกันอีกมาก  การเกิดของสภาองค์กรผู้บริโภคเพียงพอหรือไม่ต่อการสนับสนุนองค์กรของผู้บริโภค         สภาองค์กรผู้บริโภค อย่างที่บอกว่าเพิ่งเริ่มต้น ตอนนี้ยิ่งมีองคาพยพเยอะขึ้น  การทำงานยังต้องกระจายให้ได้ ครอบคลุมทุกจังหวัด ตอนนี้เรายังพบว่ายังไม่ทั่วประเทศและยังเป็นการกระจุก  บางจังหวัดที่มีองค์กรของผู้บริโภคเกิดขึ้นมาก เราวิเคราะห์ว่าเพราะสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา สาธารณสุขจังหวัด เภสัชกร โรงพยาบาล ชมรม อสม. รพสต. องค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ไม่ว่าจะรูปแบบ ชมรม ทั้งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนหรือไม่ เขามีความร่วมมือกัน การลงไปตรวจประเมิน เราทำจริงจังเราได้เห็นทุกอย่าง พื้นที่ที่เขาพร้อม ทำงานจริง ลงไปทุกครั้ง เราจะเห็นคนที่ทำงานอยู่ตลอด หลายครั้งทำให้เราได้เจอคนที่มีศักยภาพเป็นเพชรเป็นแกนได้ เราสามารถพัฒนาส่งเสริมเขาต่อได้ด้วยหลายคนมากแล้ว เราจะไม่มีวันเจอถ้าเราไม่ได้ออกไปทำงาน ออกไปติดตามโครงการแลกเปลี่ยนพูดคุย  เราได้คนที่เราไม่รู้จักเยอะเป็นน้องเภสัชที่ประกาศตัวและก้าวเท้าเข้ามาฝึกอบรมเป็นเภสัชกรเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแล้วหลายคน  สิ่งที่อยากฝาก         วันนี้องค์กรผู้บริโภคต้องมีทักษะทั้งขับเคลื่อนได้ งานวิชาการได้  แต่ยังมีหลายจุด ทักษะที่เขายังขาด แต่เขาต้องทำงานหลายด้าน  หน่วยงานต่างๆ ที่ช่วยกันหนุนเสริมองค์กรผู้บริโภคเราต้องทำให้เขาเข้มแข็งจริงๆ  ความเข้มแข็งจะต้องไม่อยู่ที่หน่วยงานของเราเพียงอย่างเดียว จะต้องไม่ได้อยู่แต่ที่สภาองค์กรของผู้บริโภค อย. แต่ต้องอยู่ที่หน่วยงานประจำจังหวัดและองค์กรสมาชิกด้วย สมาชิกต้องเข้มแข็งเพราะพื้นที่ หากเราทำให้ระดับจังหวัดเข้มแข็ง เขาจะต่อยอดในพื้นที่ได้ เป็นในระดับอำเภอ ตำบล  วันนี้เรามองว่าแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ วันนี้คนในจังหวัดที่เขามีหน่วยงานประจำจังหวัด ถ้ามีเขามีทุกข์ แล้วหน่วยงานรัฐไม่ตอบโจทย์เขาได้ การเป็นหน่วยงานประจำจังหวัดตอบโจทย์เขาได้แต่จังหวัดที่ไม่มีก็แสดงว่าเขายังขาดอีกหลายจุด และเมื่อมีแล้ว เราฝากว่าการทำงานร่วมกัน  การช่วยกันทำงานมันควรเหมือนยา ช่วยกันทำงานต้องเสริมพลังกัน เราต้องรู้ว่าเราเก่งกันคนละแบบ เราต้องให้กำลังใจกัน หากเข้าขากัน ผลลัพธ์ประสิทธิภาพมันไม่ใช่ 1 บวก 1 แล้ว 2 มันอาจจะเป็น 3 หรือ 4  หรืออาจจะมากกว่านี้ได้มากๆ 

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)