ฉบับที่ 180 จะเป็นอย่างไรเมื่อ(ร่าง) รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

หลายท่านที่ติดตามข่าวคงได้เห็นแล้วว่าภาคประชาชนมีแอคชั่นทวงสิทธิผู้บริโภคที่หายไปในรัฐธรรมนูญ กับกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกว่า 150 คน ได้ไปยื่นหนังสือคัดค้านการประชุมของสคบ.และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่มีมติไม่สนับสนุนกฎหมายอ้างเหตุซ้ำซ้อน และขอให้สนับสนุนกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยมี นายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีสำนักนายกฯ เป็นผู้รับหนังสือแทน ทุกคนมีสิทธิฉบับนี้ จึงขอพาไปติดตามสองความคิดเห็นของ ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และนางสาว สารี อ๋องสมหวัง ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค...

สมาชิกอ่านต่อ...

แหล่งข้อมูล: กองบรรณาธิการ

250 point

LINE it!

  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ ไพบูลย์ช่วงทอง

ฉบับที่ 186 สันติ โฉมยงค์ “ถ้าเราไม่ทำแล้วจะมีใครไปทำงาน”

สันติ โฉมยงค์ เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ข้าราชการตัวเล็กๆ ที่ทำงานคุ้มครองอย่างเข้มแข็งและเต็มไปด้วยสีสัน ต้องมาสะดุดเมื่อถูกผู้ประกอบการฟ้องหมิ่นประมาท เรื่องราวการทำงานแต่ละช่วงเวลาเป็นตลกร้ายที่พวกเราอาจหัวเราะไม่ออก แต่เมื่อเราถามว่าเขาเริ่มงานคุ้มครองผู้บริโภคตั้งแต่เมื่อไหร่ แววตาคู่นั้นกลับมีประกายอีกครั้ง สันติดเล่าย้อนกลับไปว่า “เริ่มงานด้านผู้บริโภคตอนมาเป็นเภสัชนี่ละครับ  ผมเห็นปัญหาเรื่องของการบริโภคแล้วก็เห็นปัญหาเรื่องของการใช้ยาของชาวบ้าน  แต่ก่อนก็เป็นภสัชที่โรงพยาบาลชุมชน รพ.บ้านหมอ ตอนนั้น รพ.มีวิกฤติ คือเป็นช่วงที่ รพ.เข้าสู่ระบบ 30 บาทใหม่ๆ (ยุคแรกของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) งานมันมากมาย พองานมากๆ เข้าแพทย์ก็เริ่มลาออก ทันตแพทย์ เภสัชก็ลาออกกันหมดเลย ผมก็เป็นรุ่นที่ไปแทน ตอนนั้นเป็นข่าวดังมากที่มีบุคลากรทางการแพทย์ลาออกกันหมด ย้ายหนีกันหมด เราก็พยายามทำงานเชิงรุก เพราะเราเจอปัญหามากเนื่องจากวันหนึ่งๆ มีคนไข้ประมาณ 600 คน มีเตียง 30 เตียง คือบางทีมันจ่ายยาคนเดียวไม่ไหว เราก็พยายามออกไปเยี่ยมบ้าน และให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพตัวเอง แล้วเราก็รู้ ก็ไปเจอว่ามันมีปัญหา ปัญหาที่ซับซ้อนในการใช้ยาของชาวบ้าน เช่น มีกลุ่มทุนในหมู่บ้านที่ต้มยาขายเอง หรือกลุ่มพระสงฆ์ที่ซื้อยาแผนปัจจุบันไปบดทำยาสมุนไพร ก็เลยคิดว่าการไปทำงานเชิงรับในโรงพยาบาลมันช่วยอะไรไม่ได้ ตอนนั้นรู้จักพี่ภาณุโชติ(ภก.ภาณุโชติ ทองยัง) แกก็เลยชวนมาทำปัญหาเรื่องยาไม่เหมาะสมในชุมชน  ซึ่งมันก็พอดีกับที่เจอเราก็เลยออกมาทำเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค เลยเริ่มที่ รพ.ชุมชนก่อน   แต่ทำงานใน รพ.ชุมชนก็จะมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา คือต้องหลังจากที่แพทย์เลิกตรวจแล้ว เวลาหลังบ่ายสองโมงเราถึงจะออกไปทำงานกับชาวบ้านได้ก็ทำอยู่แบบนั้นได้ประมาณสักสามปีก็เลยย้ายไปทำงานที่ฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภคที่อุทัยธานี ตอนนั้นก็ทำเต็มตัวเลยนะ ไปทำหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่ เรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร  ผมเจอเคสหนึ่งตกใจมากเลย คือมีเด็กป่วยแล้วทิ้งเจลแปะหน้าผากลงไปในน้ำ พอดีฝนตกน้ำมันก็ไหล ชาวบ้านไปเจอแล้วเข้าใจว่ากินได้ เขาก็ไปจับมาแล้วก็หุงข้าวเตรียมจะกินละ  ตอนนั้นคิดว่าชาวบ้านเขาไม่รู้จริงๆ เรื่องราวเป็นข่าวใหญ่โตมากเลย เราก็ไปดูเห็นว่านี่มันเจลแปะลดไข้ธรรมดา เลยคิดว่าเราต้องทำงานเชิงรุกให้มากยิ่งขึ้น อยู่ที่นั่น(อุทัยธานี) ก็ทำเรื่องแก้ปัญหาหน่อไม้ปี๊บ เรื่องการฉีดยาฆ่าแมลงแตงกวาก่อนการเก็บเกี่ยว เช่นพรุ่งนี้จะเก็บเย็นวันนี้ก็จะฉีด เราก็เข้าไปให้ความรู้ ซึ่งตอนหลังพบว่า เราเข้าไปต่อสู้กับระบบทุนใหญ่ บางพื้นที่เขาทำขนาด 50 ไร่  ใช้เครื่องฉีด ใช้รถพ่น เราก็เลยคิดว่าเรื่องการให้ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ พอย้ายมาอยู่ที่จังหวัดอยุธยา จึงทำเรื่องเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจังหลักๆ มีอะไรบ้างคะมีเครือข่ายโรงเรียน เช่น งาน อย.น้อย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักอยู่แล้ว แต่แทนที่เราจะทำกับเด็กอย่างเดียว ผมเข้าไปทำกับชุมชนด้วย แล้วผมก็ไปชวนชาวบ้านมาเป็นเครือข่ายผู้บริโภคด้วย มาให้ช่วยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่เป็นปัญหาของชุมชน ผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาใหม่ๆ แล้วคนในชุมชนก็ตอบปัญหาไม่ได้ อันแรกจำได้แม่นว่า มีตัวดูดน้ำ อันนี้เด็กๆ และอาจารย์ที่โรงเรียนจะเป็นคนที่แจ้งมา ตอนแรกคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ ผมไปอยู่โรงเรียนหนึ่งเห็นเข้าตกใจมาก เพราะว่าทุกคนในโรงเรียนเล่นไอ้ตัวนี้อยู่ คุณครูก็จะไม่รู้เพราะว่าเด็กจะซ่อนเอาไว้ใต้โต๊ะในลิ้นชัก ครูไม่รู้ แล้วก็กลัวว่าถ้าบอกออกไปจะเป็นความผิด เราเลยไปหาผู้บริหาร ผู้บริหารก็บอกว่าใครมีเอาออกมานะ ไม่เอาออกมาจะมีความผิดปรากฏว่าทั้งโรงเรียน หรือมีอยู่โรงเรียนหนึ่งคือ เด็กกลัวความผิด เลยเอาไปทิ้งไว้ในชักโครก พอเปิดชักโครกมา โอ้โห มันพองเต็ม กลายเป็นส้วมตันทั้งโรงเรียน เราเลยต้องให้ความรู้ว่ามันอันตรายอย่างไร โดยเฉพาะพวกเด็กเล็กๆ ที่ยังรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ยังเอามากินยังอม  พอพยายามให้ความรู้กับชาวบ้าน เพราะมีเอาไปเล่นที่บ้านด้วย ตอนหลังก็รู้ว่ามันเป็นสินค้าที่ห้ามจำหน่ายอยู่แล้วเพราะผิดกฎหมาย ตอนนั้น สคบ.ออกประกาศมาแล้ว พอเราแจ้งไป สคบ.ก็มากวาดล้างที่อยุธยา แต่ถ้าถามว่าทุกวันนี้ยังมีไหมก็ยังมีอยู่นะแต่มันก็ลดน้อยลง เหมือนชุมชนมีความรู้เพิ่มมากขึ้น เวลาผมไปทำงานแบบนี้ผมไม่ได้ไปคนเดียว จะพาชาวบ้านเครือข่ายในชุมชนนั้นไปด้วยให้เขาเห็นว่าเรื่องนี้มันเป็นปัญหา ต่อไปพอเขาเห็นว่าสิ่งใดผิดสังเกตก็จะแจ้งเรา อีกอันที่เราเจอก็คือ เครื่องแช่น้ำน่ะครับ สปาเท้า ที่ต้องเอาเท้าแช่ลงไปแล้วจะมีเครื่องไฟฟ้าอะไรสักอย่างใส่ที่เอวเวลาเปิดกระแสไฟฟ้าจะผ่านตัวน้ำ แล้วน้ำจะเปลี่ยนสี น้ำจะแต่ละสีจะมีการบอกเล่าหรือวินิจฉัยโรคที่ต่างกัน เป็นใบเหมือนเสี่ยงเซียมซี เช่น ถ้าน้ำออกเป็นสีแดงสนิม อันนี้จะเป็นโรคเกี่ยวกับเลือด ถ้าน้ำออกเป็นสีเขียวเป็นโรคตับเป็นน้ำดี ถ้าเป็นเหลืองๆ โรคน้ำเหลือง ชาวบ้านก็ไปทำสปาเท้ากันเต็มเลย  มีลงพื้นที่แล้วไปเจออยู่วัดหนึ่ง เขาลงทุนซื้อเลยนะครับ วัดก็มีรายได้ คนก็มานั่งแช่กันเป็นชั่วโมง เราก็ไม่ได้นะครับน้ำที่คุณแช่มันไม่สะอาด แล้วมันไม่ใช่ว่าเป็นโรคตับแล้วน้ำมันไหลมาจากเท้า ตอนนั้นถึงขนาดมีปัญหากับวัดเพราะไปทำให้วัดเขาสูญเสียรายได้ แต่ที่หนักสุดของพระนครศรีอยุธยา เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานบริการสุขภาพ(คลินิก) เพราะว่าจังหวัดนี้มีนิคมอุตสาหกรรมมาก ประเด็นแรกๆ ที่เราเข้าไปดู เป็นเรื่องของยาลดความอ้วน ประมาณสักปี 52 หรือ 53 มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐท่านหนึ่ง กินยาลดความอ้วนจนเสียสติ กินจนเป็นบ้าเลย ทางสำนักงานต้นสังกัดก็ไม่จ้างต่อ (ทุกวันนี้ก็ยังคล้ายๆ คนสติไม่ดีขายผักอยู่ที่ตลาด) เราเห็นแล้วรู้สึกว่า “ปล่อยให้มีอยู่ได้อย่างไร” เลยคิดว่าน่าจะทำอะไรสักอย่าง ผมเริ่มจากการสำรวจก่อนเลยว่ามีแหล่งจำหน่ายกี่แหล่ง แล้วมีช่องทางอะไรบ้าง ไปเจอช่องทางหนึ่ง น่ากลัวมาก คือเจ้าของคลินิกเป็นแพทย์ แพทย์จริงๆ นะครับ เขาใช้วิธีนี้ คือเวลาคนมารักษา เขาจะจ่ายยาให้ ให้คนรักษาเอายาไปขายต่อได้ มันก็เหมือนว่าตัวหมอไม่ผิด เพราะจ่ายยาตามใบสั่ง ถูกไหมฮะ ยาพวกนี้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท คนที่ซื้อไปก็เอาไปขายต่อ เป็นยาชุดเลย เช่นยาชุดละ 250 บาท ก็ไปขายต่อชุดละ 300 ช่วงนั้นระบาดไปทั่วอยุธยาเลย “ยาชุดลดความอ้วน” มีน้องคนหนึ่งที่ใช้ยาตอนชุดนี้ตอนเรียนหนังสือน้ำหนัก 50 กิโลกรัมกว่าๆ เขากินยาพวกนี้ 2 ปีกว่าจะจบ เพราะกลัวว่าตอนรับปริญญาแล้วจะไม่สวย พอจบแล้วตอนนี้เลิกกิน แต่น้ำหนักขึ้นมาถึงประมาณ 120 กิโลกรัม  หรือมีอีกคลินิกหนึ่ง ตอนแรกแสดงตนว่าเป็นแพทย์แล้วมีใบประกอบโรคศิลปะด้วย มีบัตรมีอะไรครบ แต่ผมสังเกตว่าบัตรมันไม่เหมือนบัตรแพทย์ แต่เขาก็มาขออนุญาตที่เรานะ คือผมดูแลงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่ได้ดูเรื่องการออกใบอนุญาต แต่ผมมาเห็นว่ามันผิดสังเกต คิดว่าบัตรนี้มันไม่ใช่แน่ แต่เราก็ยังทำอะไรเขาไม่ได้ เพราะหมอส่วนใหญ่ต้องบอกว่าเส้นใหญ่ พอดีมีเหตุสาวโรงงานคนหนึ่งกินยาลดน้ำหนักแล้วเสียชีวิต เราเลยได้เข้าไปสืบข่าว ตอนนั้นขอดูหมดเลย ปรากฏว่าเป็นอะไรที่ซับซ้อนมาก คือเขาเคยเป็นนักเรียนแพทย์แล้วเลขที่ติดกันกับเพื่อนซึ่งชื่อเดียวกัน แต่คนละนามสกุล แต่คนที่มาเปิด(คลินิก)ที่นี่น่ะเรียนไม่จบแพทย์ เลยไปเรียนต่อต่างประเทศพอกลับมาก็มาทำธุรกิจแบบนี้ โดยที่เอาใบประกอบวิชาชีพของเพื่อน เพราะชื่อเดียวกันไง ที่นี้เขาก็ถ่ายเอกสารแล้วเปลี่ยนตรงนามสกุล เราก็เลยบอกนี่มันผิดหมดเลยนะ เราจับสังเกตจากเรื่องยา เนื่องจากใช้ยาไม่มีทะเบียน พอมีคนเสียชีวิตเราก็เลยเข้าไปตรวจสอบเอกสารทั้งหมด เลยถึงบางอ้อว่าบัตรประชาชนก็คนละอย่าง ใบประกอบวิชาชีพตัวจริงก็คนละอย่าง สุดท้ายเราก็แจ้งไปที่ตัวแพทย์จริงๆ ที่อยู่ชลบุรี(ทางเราสอบถามไปที่แพทย์ชื่อนี้ก่อนว่ามีการสั่งซื้อยาเป็นล้านๆ บาทเลย ทางนั้นไม่รู้เรื่อง เราเลยอ๋อแบบนี้ ) จึงให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกัน เรื่องคดีนั้นผมไม่ได้ตามต่อ ส่วนคลินิกก็ถูกปิดไปแล้ว ในส่วนของ สสจ.เราจะเช็คมาตรฐานว่ามีตามเกณฑ์หรือไม่  หากมีการเปิดคลินิก จากนั้นจะมีตรวจประจำปี ปีละครั้งจากนั้นผมก็คิดว่าจะทำอะไรสักอย่างกับยาลดความอ้วนในจังหวัดอยุธยาดี เลยคิดว่าต้องใช้การส่งสายลับไป พวกคลินิกที่มีปัญหาเพิ่งปิดได้หมดเมื่อประมาณสักปีที่แล้ว กว่าจะเข้าไปควบคุมได้มันยาก เพราะยาพวกนี้ต้นทุนต่ำ เขาแค่สั่งของจริงที่มันถูกต้อง 1 กระปุก แต่ที่เหลือก็สั่งจากตลาดมืดมา เวลาเราไปตรวจก็จะนับแค่นี้ 30 เม็ด อ้อ ไม่มีจ่ายเลยนะ แต่ทำไมคนเดินเข้าเดินออกเยอะจังเลย ตั้งแต่วันนั้นมาวันนี้ 10 ปีแล้วผมคิดว่าเราควบคุมได้แล้ว แต่ตอนนี้มาในรูปแบบใหม่ คือไปขายส่งตามอินเทอร์เน็ต เรื่องที่ยังต้องเฝ้าระวัง หลังจากเรื่องยาลดความอ้วน ก็มีเรื่องธุรกิจตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนเสริม ตอนแรกไม่อยากยุ่งเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นธุรกิจของแพทย์ เหมือนจะคุยกันยาก แต่พอเป็นเรื่องฉีดวัคซีนเสริม ผมเริ่มรับไม่ได้ เหมือนกับว่าเขาต้องการระบายวัคซีนที่ใกล้จะหมดอายุ แล้วโรงพยาบาลที่ทำแบบนี้เป็น รพ.เอกชนใหญ่ๆ ที่อยู่ชานเมืองทั้งนั้นเลย วิธีการคือจะสต็อกของไว้ พอ 3 เดือนหมดอายุก็จะไปเดินสายฉีดตามโรงเรียน คิดดูนักเรียนในเกาะเมืองอยุธยาประมาณ 20,000 คน ต้องมารับการฉีดวัคซีนใกล้หมดอายุน่ะ ไข้หวัด สมองอักเสบ ประมาณนี้ เข้าใจว่าเป็นการระบายของเพราะตอนมาเห็นใส่กล่องโฟมมา ซึ่งมันไม่ได้อยู่แล้วน่ะครับ ผมเจอโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีกลุ่มบุคคลนำวัคซีนที่อีก 1 เดือนจะหมดอายุ แล้วใส่กล่องโฟมเปล่าๆ ไม่มีน้ำแข็งอะไรเลยนะ สนนราคาเข็มละ 700 บาท มานำเสนอ เคยเรียกเซลล์มาสอบถาม เขายอมรับว่าเป็นการระบายของ แต่ตัวเขาเองจะทำโดยตรงไม่ได้ก็ต้องไปหาโรงพยาบาลหรือคลินิกมาพักของไว้ก่อน แล้วให้ รพ.เหล่านี้ทำโครงการตรวจสุขภาพกับโรงเรียน ส่วนโรงเรียนทำเรื่องแจ้งกับผู้ปกครองว่า แล้วแต่ความสมัครใจ แต่ถ้าจะฉีดก็เข็มละ 700 บาท แต่ส่วนใหญ่ด้วยความไม่รู้และไว้ใจผู้ปกครองก็จะให้เด็กได้รับการฉีดวัคซีนพวกนี้ เราก็สงสารเด็กที่ต้องมาเจ็บตัวโดยใช่เหตุ ตอนนั้นเราก็ออกประชาสัมพันธ์เลยเพื่อเตือนเรื่องพวกนี้ แต่ก็มีเรื่องที่กระทบกระทั่งกันนะ เพราะบางโรงเรียนเขาได้ส่วนแบ่งหรือเปอร์เซ็นต์ เช่น หัวละร้อย นักเรียนจำนวนสองพันก็กินนิ่มเลย เราต้องใช้วิธีการเข้าไปคุย ทำความเข้าใจ ทำหนังสือแจ้งเตือนอย่างเป็นทางการไปให้ และเรียกพนักงานขายของบริษัทมาปราม ก็ควบคุมได้ระดับหนึ่ง หลังๆ หนักกว่า พอไม่มีการวัคซีนแล้ว คราวนี้เป็นการตรวจสุขภาพนักเรียนเลย เช่น เด็กมัธยมต้องเสียเงินค่าตรวจสุขภาพปีละ 100 บาท ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเรื่องแบบนี้เริ่มมาตอนไหน ผมนำเรื่องนี้ไปเสนอในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเลย เสนอต่อท่านรัฐมนตรีว่า เราควรสร้างเกณฑ์มาตรฐานการตรวจสุขภาพตามช่วงวัยนะ เด็กวัยไหนควรทดสอบอะไร เช่น ทดสอบสมรรถภาพ สำหรับนักศึกษาทดสอบอะไร ต้องตรวจอะไร เช่น โรคร้ายแรง ก่อนเข้างานตรวจอะไร ผู้สูงอายุตรวจอะไร แต่มันเป็นประเด็นที่ “เงียบ” มากเลย เจอปัญหาแบบนนี้เข้ากับตัวเอง เลยถึงบางอ้อว่า “ประชาชนนี่ละเป็นเหยื่อ” เรื่องราวของเภสัชกรสันติ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ที่บอกเล่าผ่านฉลาดซื้อ ยังคงมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผลจากการทำงานอันเข้มข้นของเขา จนโดยผู้ประกอบการฟ้องหมิ่นประมาท โปรดติดตามในฉบับหน้า

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 181 ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี “เอายาปฏิชีวนะออกจากอาหารของเรา ; Antibiotics off the menu”

เพื่อให้รับกับสถานการณ์ปัญหาเรื่อง เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ  ฉลาดซื้อจึงไปสัมภาษณ์ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานฯ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) อีกครั้ง โดยในวันผู้บริโภคสากล ปีนี้ซึ่งตรงกับวันที่ 15 มีนาคม สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ที่มีองค์กรสมาชิกถึง 240 องค์กรใน 120 ประเทศ ได้กำหนดประเด็นในการรณรงค์ร่วมกันในเรื่อง “การเอายาปฏิชีวนะออกจากอาหารของเรา; Antibiotics off the menu” “คืออยากให้ได้ในมิติที่ผู้บริโภคจริงๆ ว่าประสบปัญหาอะไร แล้วไม่รู้อะไร ตอนนี้เราแยกเป็นสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งมีทั้งหมด 8 ข้อ เรื่อง Information เป็นเรื่องสำคัญมากในการตัดสินใจ เรื่องที่ 2 ที่เชื่อมร้อยกันก็คือเรื่อง Consumer education การให้การศึกษา และอันที่ 3 ที่เกี่ยวข้องแล้วมาหลุดไปนั้น คืออยากจะโยงถึง เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย หน่วยงานรัฐก็จะต้องรับรองให้มีผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยเพียงพอ แต่พอเราได้เข้ามาดูตรงนี้แล้ว พบว่าปัญหายิ่งใหญ่อันหนึ่งของผู้บริโภคไทยก็คือ ข้อมูลพวกนี้มันไม่ถึงมือประชาชนและระบบไปเฝ้าระวังเรื่องนี้ไม่เพียงพอ พอเราบ่นไปก็จะได้รับคำตอบกลับมาว่า “มีกำลังไม่เพียงพอ เงินไม่มีเลยทำได้แค่นี้”  ผู้บริโภคเราจึงไม่มีข้อมูลที่จะทำให้สามารถตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อได้ ประกอบกับความรู้ผู้บริโภคก็น้อยด้วย ดังนั้นทำให้ดูเหมือนผู้บริโภคไทยเองอ่อนแอและได้รับแต่สิ่งที่มีปัญหา ขอกล่าวถึงคำศัพท์หลายคำศัพท์อยู่ที่เราอาจจะคุ้นเคยกัน 1. ยาปฏิชีวนะ ที่เราคุ้นกันอยู่ แต่มีผู้รู้หลายคนที่บอกว่ายาปฏิชีวนะ 100 % ถ้าเราจำได้ ยาต้านไวรัสก็คือไปทำอะไรกับไวรัส ยาต้านเชื้อราก็คือไปทำอะไรกับเชื้อรา ดังนั้นก็ควรจะเป็น ยาต้านแบคทีเรียว่าไปทำอะไรกับแบคทีเรีย อาจจะตรงกว่าคำว่ายาปฏิชีวนะ ที่เซอร์ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง ค้นพบเมื่อไม่นานนี้ ไม่ถึง 100 ปี (เฟลมมิงค้นพบจากเชื้อราเพนนิซิลเลียม (Penicilliam) เขาเลยตั้งชื่อว่า  Antibiotics) แล้วต่อมายาหลายตัวที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียมันไม่ได้สร้างจากเชื้อมีชีวิตแล้ว มันสร้างจากเคมีก็ได้ บางทีเราก็ใช้ศัพท์ ยาต้านแบคทีเรียหรือเท่ากับ  Antibiotic เพื่อให้คนคุ้นเคย 2 คำนี้เอาไว้     ทำไมเราจึงสนใจเรื่อง  Antibiotics เพราะว่าอันที่ 1. โดยรวมเราเรียกมันว่ายาฆ่าเชื้อหรือยาต้านจุลชีพ ยาต้านจุลชีพทั้งหมดนั้นเป็น  Antibiotics(ต้านแบคทีเรีย) อยู่ประมาณ 50 % ดังนั้นจึงมีผลกระทบเยอะและเรามีแบคทีเรียเยอะ ซึ่งอาจจะเกิดปัญหา คือเกิดการดื้อยา คือเชื้อไวรัสก็ดื้อ การดื้อนั้นเชื้อทั้งหลายมันดื้ออยู่แล้วแต่การกินที่ไม่ถูกต้องจะทำให้ดื้อเร็วขึ้น มากขึ้น คนที่จะใช้ยาต้านไวรัสได้ต้องตรวจให้ชัวร์ว่าเป็นไวรัสก็จะได้ยาต้านไวรัส คนที่เป็นเชื้อราก็ต้องตรวจให้ชัวร์ว่าเป็นเชื้อราจึงได้ยาต้านเชื้อรา แต่ปัญหาคือว่า พอไม่ใช่การติดเชื้อแบคทีเรียแล้วไปจ่ายยาต้านแบคทีเรียให้กิน เรื่องแบบนี้มันเยอะไง เชื้อมันเลยดื้อยา การดื้อยามีขนาดใหญ่และเป็นปัญหา เนื่องจากการกินผิดเยอะ ก็ทำให้เมื่อติดเชื้อจำนวนมากก็ดื้อยามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อัตราการอยู่เตียงนานขึ้น ตายมากขึ้น กลุ่มคนที่เฝ้าระวังเรื่องนี้จึงกลัวว่าต่อไปจะไม่มียาใช้เพราะว่าทุกวันนี้มันเริ่มวิจัยยาใหม่ๆ น้อยลง ดังนั้นต่อไปเวลาป่วยเราก็จะกลับไปเป็นโรคระบาดที่เป็นโรคติดเชื้อเหมือนสมัยก่อน ไม่มียาที่สามารถปราบเชื้อได้ นี่คือสิ่งที่กลัวกัน ซึ่งถ้าได้ดูข่าวจะเห็นว่าคนดังๆ ติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงขั้นเสียชีวิตเพราะเมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในกระแสเลือดแล้วเชื้อมันดื้อ ให้ยาไปแล้วไม่หาย เกิดการเรื้อรัง ปัญหาคือถ้าคนไข้อาการทรุดอยู่แล้วก็จะเสียชีวิตเร็วขึ้น เราจึงกลัวว่าต่อไปจะไม่มียาใช้ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลกระทบต่อสุขภาพในวงกว้าง     สาเหตุที่ดื้อยาหลักๆ เกิดจากการกินเกินจำเป็น การที่เราได้รับ Antibiotics เข้าร่างกายมันก็มีอยู่ 3 รูปแบบ 1. หมอสั่งให้กิน หมอสั่งก็อาจจะวินิจฉัยผิดหรือหมอมั่วก็เยอะสั่งโดยไม่มีความจำเป็น ส่วนใหญ่ก็ 3 โรคที่เรารณรงค์ไม่ให้ใช้ (3 โรคที่สามารถหายได้เองด้วยภูมิต้านทานของร่างกายโดยไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะคือ 1.หวัดเจ็บคอ 2.ท้องเสีย 3.แผลเลือดออก และยาปฏิชีวนะที่เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียนั้น ประกอบด้วย เพนนิซิลินอะม็อกซิลลิน เตตร้าซัยคลิน ซึ่งไม่มีฤทธิ์ลดการอักเสบแต่อย่างใด) หรืออีกอย่างคือหมอสั่งถูกแล้ว แต่คนไข้กินผิด หมอให้กินต่อเนื่อง 5 วันแต่กิน 2 วันก็เลิกกิน อย่างนี้เป็นต้น   2. ไปซื้อกินเอง ซึ่งบางครั้งไม่ได้เป็นอะไรมาก ปวดฟันก็ไปซื้อมา 2 เม็ดเพราะไปเรียกกันว่ายาแก้อักเสบก็เลยซื้อมากิน อันนี้เป็นเรื่องเข้าใจผิดมากๆ และปัญหาข้อ 1 กับข้อ 2 นั้นบางทีเกิดเพราะหมอก็ไม่เขียนชื่อยามาให้อีก ทำให้ขาดความรู้ตรงนี้ไป และ 3. กินโดยไม่รู้ตัว ข้อสุดท้ายนี่แย่มากเพราะมันอยู่ในอาหารที่เรากินเข้าไปโดยไม่รู้ตัว หรืออยู่ในยาชุดที่ยังมีคนนิยมซื้อกิน     ถ้าถามว่า เราจะมีข้อเรียกร้องอะไรบ้างเรื่องสิทธิผู้บริโภคในประเด็นนี้ ข้อที่ 1. คือเราจะกินยาอะไรต้องได้รู้จักชื่อยาที่เราใช้ เพราะ Antibiotics มันแพ้กันเยอะ แพ้ตั้งแต่กลุ่มเพนนิซิลิน เกิดการช็อก หมดสติ เสียชีวิต หายใจหอบ และพวกกลุ่มซัลฟา(Sulfonamides) ที่จะมีอาการไหม้ทั้งตัว ถ้าเราไม่รู้ชื่อยา บางคนบอกว่าตัวเองแพ้ซัลฟากล่องสีเขียวๆ แต่พอไปซื้ออีกครั้งก็กล่องสีเขียวเหมือนกันแต่ไม่ใช่ซัลฟา จึงทำให้ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วที่แพ้นั้นแพ้อะไรกันแน่เพราะมันไม่ชัดเจน เพราฉะนั้นนอกจากเราจะเรียกร้องเรื่องสิทธิคือต้องรู้จักชื่อยาแล้วเราต้องได้รับการคุ้มครองด้วยว่ารัฐต้องจัดหายา ขึ้นทะเบียนยาที่เหมาะสม เพราะยากล่องสีเขียวในท้องตลาดมีกล่องสีเขียวตั้ง 4 กล่องตัวยาก็คนละตัวกันเลย การแพ้ก็คนละแบบ รัฐต้องให้ความคุ้มครองเรื่องการที่ต้องมียาให้ถูกต้อง กลุ่ม Antibiotics รัฐต้องคุ้มครองในเรื่องของโฆษณา เราได้ยินโฆษณาของเสียงตามสายทีซี-มัยซินมาตลอด ซึ่งยากินนั้นเขาไม่ให้โฆษณา Antibiotics ที่เข้าร่างกายไม่อนุญาตให้โฆษณายกเว้นยาสามัญประจำบ้านหรือยาบรรจุเสร็จ ทีซี-มัยซิน ออยนท์เมนท์ (T.C. Mycin Ointment) อยู่ในกลุ่มยาบรรจุเสร็จ สามารถโฆษณาได้แต่เวลาโฆษณาในทีวีบนกล่องจะมีรูปแคปซูลด้วย คนก็สับสน และโฆษณาก็เป็นอีกเรื่องที่เราเรียกร้องให้งดโฆษณา Antibiotics ทั้งหมด ข้อที่ 2. รัฐจะต้องทำการถอนทะเบียนที่ไม่เหมาะสมออกให้หมด ข้อที่ 3. รัฐจะต้องควบคุมการกระจายยาที่มี Antibiotics ให้ถูกต้อง และข้อที่ 4. รัฐจะต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องกับประชาชนด้วย   อีกจุดหนึ่งที่ต้องได้รับการคุ้มครองแต่มันไม่ได้อยู่ในสิทธิผู้บริโภคไทย คือ สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ปัญหาที่อาจารย์เดือดร้อนมากและกำลังค้นคว้า คือการที่สิ่งแวดล้อมมีเชื้อโรคที่ดื้อยาและสายพันธุกรรมที่ดื้อยาอยู่ในสิ่งแวดล้อม Antibiotics ตกค้างในสิ่งแวดล้อมนี่เป็นเรื่องใหญ่มากที่ต้องลุกขึ้นมาจัดการเป็นเรื่องเป็นราว ในร่างกายเรามีจุลชีพที่ดีอยู่เยอะ จุลชีพใช้ย่อยอาหาร ช่วยในการสร้างวิตามินเค ช่วยหลายๆ อย่างในร่างกายเพราะฉะนั้นจุลชีพที่ดีเราต้องสงวนเอาไว้ การกิน Antibiotics บ่อยๆ ทำให้จุลชีพเสียไปได้และทำงานผิดปกติทำให้เกิดเป็นโรคได้เยอะแยะ แล้วเมื่อจุลชีพข้างนอก Bio diversity ถ้ามันเจอ Antibiotics หรือสารพิษมันก็เสีย เพราะฉะนั้นรัฐต้องมีการควบคุมไม่ให้ Antibiotics ไปตกค้างในสิ่งแวดล้อมนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก ตอนนี้ก็เริ่มมีการวิจัยทั่วโลกแล้วเรื่องนี้และการมีสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อดื้อยาหรือสายพันธุกรรมเยอะๆ นั้นมันก็จะส่งผลกระทบต่อจุลชีพในท้องที่ด้วย เช่น เราควรจะมีจุลชีพที่ดีในทุ่งนามันก็จะเสียไปหรือเกิดการเพี้ยนมากขึ้น เราพบว่ามีการใช้ Antibiotics ในการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งใช้ในพืชด้วย ในในการเลี้ยงสัตว์ไม่ว่าจะสัตว์บกหรือสัตว์น้ำมีหมด มีน้องที่รู้จักอยู่อยุธยาบอกว่า มีการโรยลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาเลยในการเลี้ยงปลากระชัง หลายคนถามว่ามันละลายไปหมดจะได้ผลหรือ ลองคิดดูเมื่อหย่อนไปตรงที่เลี้ยงอย่างน้อยตรงนั้นมันก็ได้แล้วที่เหลือก็ลอยไป หรือการเลี้ยงไก่เลี้ยงหมูมันก็ตกไปอยู่ที่ดินแล้วดินตรงนั้น เราก็เอาขี้หมูขี้ไก่ไปทำปุ๋ยใส่ผักต่อ ผักออแกนิกเกิดมามีเชื้อดื้อยาเต็มเลย อธิบายเพิ่มเติมนิดหนึ่งคือ สิ่งที่เราพบเห็นของการตกค้างนั้น 1. ตกค้าง Antibiotics ในอาหารเช่นเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ กุ้ง ปลา 2. เมื่อมันตกค้างแล้วอาจจะมีเชื้อดื้อยาตกค้างด้วยและมีสายพันธุกรรมของเชื้อดื้อยาตกค้างอันนี้คือน่ากลัวที่สุด เพราะว่าสายพันธุกรรมก็คือ DNA ซึ่งบางชนิดมันทนต่อความร้อน เราเชื่อกันว่าเชื้อโรคโดนต้มก็ตายแต่ Antibiotics ต้มไม่ตาย บางทีตายหรือไม่ตาย ไม่รู้ เมื่อเรากินเข้าไปก็ทำให้ดื้อได้ การที่มีขนาด Antibiotics น้อยๆ ในร่างกายนั้นมีผลอยู่ 2 – 3 อย่างคือเด็กที่กิน Antibiotics ตั้งแต่เล็กๆ จะเกิดภูมิแพ้และโรคอ้วน เด็กอ้วนพอไม่สบายหมอก็ให้ Antibiotics เรื่อยๆ แล้วการที่อ้วนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า โกรทโปรโมเตอร์ (Growth Promoter) ให้น้อยๆ สัตว์จะอ้วน โตเร็ว มันจะทำให้การดื้อยาเป็นไปได้เร็วขึ้นและถ้าสายพันธุกรรมดื้อยาไปปะปนกับอาหาร คนกินก็จะรับสายพันธุกรรมและสายพันธุกรรมบ้าเนี่ยนะ มันเข้าไปอยู่ในจุลินทรีย์ได้ทุกอย่างทั้งคนและสัตว์ อาจารย์เคยตั้งคำถามในการประชุมวิชาการครั้งหนึ่งว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาหารที่เรากินนั้นไม่มีสายพันธุกรรม มีข้อกำหนดหรือยังว่าต้องให้ตรวจ คำตอบก็คือไม่มี ข้อกำหนดที่มีอยู่อย่างเดียวตอนนี้คือ 1. ปริมาณ Antibiotics ไม่เกินลิมิต  2. เชื้อไม่เกินลิมิต แต่มันไม่ได้พูดว่าดื้อยาหรือเปล่า และการที่พูดว่าไม่มี Antibiotics ในผลิตภัณฑ์ ในอาหารเกินลิมิตหมายความว่ามันมีการใช้ แต่อยู่ในระยะพัก แต่เมื่อมีการใช้นั่นหมายความว่ามันมีโอกาสเกิดการดื้อยาเกิดขึ้นได้ เพราะอาจจะมีสายพันธุกรรมดื้อหรือที่มันตกอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เลี้ยงมันก็ต้องดื้อและคนที่เลี้ยงก็มีสายพันธุกรรมดื้อยา คือค่อนข้างพบเยอะแล้วว่าคนที่เลี้ยงโดยใช้ Antibiotics นั้นตัวคนเลี้ยงจะมีเชื้อดื้อยาเยอะ จะติดเชื้อไม่สบายอยู่เรื่อยๆ พอไปตรวจก็พบว่ามันมีจริงและถ้ามันอยู่ในอาหารที่เรากินแล้วต้มไม่ตายทุกคนก็มีความเสี่ยงต่อการรับทั้งนั้น การต้มนั้นแบคทีเรียตายแต่สายพันธุกรรมนั้นมีงานวิจัยว่าไม่ตาย ความร้อนไม่ช่วยเลยนั่นคือสิ่งที่เป็นห่วง ดังนั้นนี่คือข้อเรียกร้องว่า เราต้องได้รับข้อมูลสถานการณ์จริงและเราต้องได้รับการปกป้องให้ได้รับผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย และเมื่อผู้บริโภคไปเรียกร้องสิทธิ ผู้บริโภคเองก็ต้องมีหน้าที่เมื่อคุณได้รับสั่งกินยาคุณต้องมีสิทธิถาม มีตัวอย่างหนึ่งเขาเป็นสื่อมวลชนอยู่ที่เชียงใหม่ พวกเราเป็นคนให้ความรู้เขาแล้วให้เขาทำละครชุมชน พอเขาทำแล้วเขาอินกับเรื่องนี้ ตอนที่ลูกเขาไม่สบายมีน้ำมูกใสๆ จึงพาไปหาหมอ หมอจะจ่ายยา Antibiotics เขาก็ถามเลยว่า ตกลงลูกเขาติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียครับ หมอก็อึ้งแล้วบอกว่า ต้องตรวจดู เขาจึงบอกว่ารอได้ให้ตรวจเลย พอผลตรวจออกมาหมอพูดอ้อมแอ้มบอกว่า ไม่ใช่แบคทีเรียมันเป็นไวรัสเพราฉะนั้นไม่ต้องสั่งยาต้านหรือ Antibiotics ดังนั้นต้องกล้าที่จะถามว่าเป็นแบคทีเรียหรือไวรัส ถามว่ายานี้เป็นอันตรายไหม กินแล้วจะเกิดอาการอะไรขึ้นไหม นี่คือสิทธิที่เราต้องรู้ และขณะเดียวกันเรามีหน้าที่ที่ต้อง 1.อย่าไปเรียกร้องหมอขอยาแก้อักเสบนี่ไม่ควรทำ 2.ถ้าต้องกินก็กินให้ครบ 3. ต้องดูแลภายในบ้าน เพราะบางคนหมาไม่สบายก็เอายาตัวเองให้หมากินอย่างนี้เป็นต้น คือมันถ่ายทอดทั้งเขาและเราอยู่ตลอดเวลารวมทั้งการดื้อยาด้วย และถ้าต้องเลี้ยงสัตว์เป็นเกษตรกรด้วยคุณต้องมีความห่วงใยโลก ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ห่วงใยผู้ที่จะกินอาหารจากเรา มีเกษตรกรที่เลิกใช้  Antibiotics มาพูดคุยกับเราในงานวันสิทธิผู้บริโภคสากล 15 มีนาคม 2559 นี้ด้วยหลายกลุ่มเลย ---------ข้อสรุปของการประชุมเนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล “World Consumer Rights Day 2016” วันที่ 15 มีนาคม 2559 มีดังนี้     ปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาฯ มีสาเหตุสำคัญมาจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่เกินจำเป็น จากข้อมูลของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของยาปฏิชีวนะที่ผลิตขึ้นในโลกนี้ นำไปใช้ในการเกษตร โดยนำไปเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ (Growth Promoter) ใช้ป้องกันการติดเชื้อมากกว่าจะใช้เป็นยารักษาโรค คาดการณ์กันว่า ภายในปี ค.ศ.2030 จะมีการเพิ่มขึ้นของการใช้ยาปฏิชีวนะ จาก 63,200 ตัน ในปี ค.ศ.2010 เป็น 105,600 ตันในปี ค.ศ.2030       การรณรงค์เรียกร้องที่ดำเนินการทั่วโลกในปีนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ บริษัทอาหารฟาสต์ฟู้ดทั่วโลกให้สัญญาต่อผู้บริโภคว่าจะหยุดการขายเนื้อสัตว์ที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสม  โดยถือเป็นหน้าที่ของผู้บริโภคทุกคนที่จะมีส่วนช่วยในการเรียกร้องให้เกิดความปลอดภัยในอาหารที่เราบริโภค ดังนั้นในการจัดประชุมเนื่องในวันสิทธิผู้บริโภคสากล เครือข่ายภาคประชาชนภายใต้สภาผู้บริโภคแห่งชาติ มีความตระหนักและให้ความสำคัญในปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น จึงมีข้อเรียกร้องต่อทุกภาคส่วน ดังนี้ 1.เรียกร้องให้ทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ และเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในประเด็น “วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” โดยมีกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพหลัก ในการดำเนินการจัดการปัญหาวิกฤติแบคทีเรียดื้อยาอย่างบูรณาการ ผ่านโครงสร้างและกลไกต่างๆ ที่ต้องจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบจัดการปัญหาในระดับประเทศ ระดับพื้นที่ ตลอดจนระดับสถานพยาบาลและในชุมชน โดยครอบคลุมทั้งการนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในมนุษย์ และในการเกษตร 2.เรียกร้องให้รัฐ กำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการที่มีการนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในการเกษตร ต้องเปิดเผยข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะทั้งหมด และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ต้องมีมาตรการในการควบคุมไม่ให้มีการตกค้างในอาหารและสิ่งแวดล้อม 3.เรียกร้องให้ผู้ประกอบการด้านเกษตรและปศุสัตว์ ดำเนินการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น ทั้งในเกษตรกรรายย่อย และการเกษตรพันธะสัญญา รวมทั้งเปิดเผยข้อมูลการใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการตัดสินใจบริโภคได้อย่างปลอดภัย  และลดผลกระทบไม่ให้เกิดปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาตามมา 4.เรียกร้องให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการนำเนื้อสัตว์มาจำหน่ายแก่ผู้บริโภค4.1ขอให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ที่นำมาประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภค       4.2 ขอให้บริษัทมีแผนปฏิบัติการลดและยุติการใช้เนื้อสัตว์ที่มีกระบวนการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ4.3 ขอให้มีตัวแทนจากนักวิชาการภายนอกตรวจสอบแผนปฏิบัติการลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์และรายงานต่อสาธารณะทุก 3 เดือน 5.เรียกร้องให้บุคลากรสุขภาพทุกคน มีส่วนในการรณรงค์เพื่อให้เกิดการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล ทั้งในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน 6.เรียกร้องให้ผู้บริโภคทุกคน พึงตั้งคำถามทั้งต่อตนเองและต่อบุคลากรสุขภาพว่า มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะจริงหรือไม่ ก่อนการตัดสินใจบริโภค 7.เรียกร้องให้สื่อดำเนินการให้ข้อมูลต่อผู้บริโภคให้ตระหนักในปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยา และ ความจำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็น    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 179 Documentary Club เรานำหนังสารคดีทั่วโลกมาฉายเพื่อทุกคนที่รักหนังสารคดี

ถ้าถามคอหนังทางเลือก หนึ่งคนที่คอหนังนึกถึง ต้องเป็น “ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Bioscope และหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Documentary Club” หลังจาก ภาพยนตร์สารคดี เรื่อง  "Finding Vivian Maier : คลี่ปริศนาภาพถ่ายวิเวียน ไมเออร์" ออกฉายเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อเกือบปลายปี 2557  Documentary Club ได้รับการตอบรับจากคนดูจำนวนมาก ซึ่งคุณธิดาเล่าให้ฉลาดซื้อฟังว่า หลังจากที่เริ่มโปรเจ็คท์เดือนสิงหาคม 2557 และฉายหนังตอนเดือนพฤศจิกายน  มาถึงตอนนี้ก็ปีกว่า ในแง่ของผลตอบรับมันก็ไปไกลกว่าคิดไว้ เพราะตอนแรกคิดว่าคนดูแค่ 10 คน 500 คน คือพยายามบริหารให้ก้อนคนดูมันอยู่แค่นั้นแต่ว่าตอนนี้คนดูเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ถ้ามองในเชิงความมั่นคงนี่เล็กมากๆ แต่ถ้าเป็นสเกลของหนังที่เข้าโรงเดียวรวมทั้งหมดแค่สิบกว่ารอบถือว่าตอบโจทย์ ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นนั้นมันค่อนข้างจะต่างกัน เห็นได้ชัดคือพอเราเอาหนังใหม่มาเมื่อประชาสัมพันธ์ออกไป ก็จะมีฐานคนดูจำนวนมากประมาณหนึ่งที่พร้อมจะเข้ามาดู โดยที่เราไม่ต้องบิ้วท์คนดูใหม่จากศูนย์แล้วก็เหมือนเป็นฐานที่ช่วยให้หนังมันมีตลาดประมาณหนึ่ง แต่หน้าที่ของเราก็คือทำอย่างไรให้เรื่องมันขยายตลาดกว้างออกไปมากกว่านั้นและค่อยๆ สร้างกลุ่มขึ้นเรื่อยๆ  ฉะนั้นหลังจากทำมาปีกว่าสิ่งที่พูดได้เลยว่า เป็นความสำเร็จ คือมันมีกลุ่มคนดูที่ยอมรับการเข้าฉายของหนังสารคดี อย่างน้อยที่สุดคือคนเหล่านี้ไม่ได้ตั้งคำถามว่า ทำไมเขาจะต้องมาเสียเงินเท่ากับที่เขาดูสตาร์วอร์ส ทำไมเขาต้องมาดูสารคดี เขาสามารถรู้สึกได้ว่าถ้ามันเป็นเรื่องที่เขาชอบเขาก็พร้อมจะดู ไม่ได้รู้สึกว่าสารคดีต้องดูฟรี เราคิดว่าเราพาคนดูไปด้วยกัน พาข้ามความรู้สึกเหล่านี้ไปได้ การเริ่มต้นของการตั้ง Documentary Club เนื่องจากก่อนที่จะมาทำ Documentary Club นั้นเคยทำงานอยู่ที่หนังสือ Bioscope ซึ่งเป็นหนังสือที่พูดถึงหนังทางเลือก แล้วเราก็ติดตามความเคลื่อนไหวของหนังต่างประเทศแล้วก็รู้สึกว่าทำไมแม้แต่ในตลาดอเมริกา ซึ่งมีโมเดลคล้ายๆ กับตลาดเมืองไทยมาก แล้วคนไทยก็รับเอาวิธีคิดการผลิตภาพยนตร์แบบอเมริกา คือการทำร่วมกับสตูดิโอ แล้วก็นึกถึงเมนสตรีม แต่อเมริกาเองก็ยังมีทางเลือกในเชิงความหลากหลายของหนัง เครือข่ายโรงหนังก็ยังมีหลายแบบเพื่อที่จะตอบสนองพฤติกรรมคนดูหลายๆ แบบและโดยธุรกิจของฮอลลีวูดเองก็พยายามหล่อเลี้ยงหนังทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กเพราะทุกอย่างขับเคลื่อนเป็นฟันเฟือง ไม่ว่าจะตัวเล็กตัวน้อยก็ต้องมีที่ยืนเพราะว่าต้องหมุนไปด้วยกันในเชิงธุรกิจ แต่บ้านเราไม่มีแบบนี้ นับวันความหลากหลายของหนังมันยิ่งน้อยลง หนังเล็กเข้ามาก็ขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ คนทำหนังอิสระไทยนั้นโอกาสคืนทุนน้อยมากเพราะมันไม่มีเอาท์เล็ทที่หล่อเลี้ยงให้เขาอยู่กับคนดูเพื่อสร้างวัฒนธรรมการดู เพราะฉะนั้นไม่มีใครช่วยเรื่องพวกนี้ และอีกแง่หนึ่งโดยส่วนตัวชอบดูหนังสารคดีก็รู้สึกว่า หนังประเภทนี้ไม่เคยมีพื้นที่ในบ้านเราเลยจะถูกจัดเป็นอินดี้ของอินดี้อีกที ดังนั้นจึงรู้สึกว่ามันน่าลอง อยากจะลองสร้างตลาดอันนี้ขึ้นมาก็นึกถึงทางเลือกอีกทางหนึ่งของคนกรุงขึ้นมา  ขั้นตอนการหาหนัง การซื้อเข้ามาเป็นอย่างไรบ้างDocumentary Club นั้นเกิดจากการระดมทุนขึ้นมาเพราะหนึ่งคือเราไม่มีทุนและสองเรามีความรู้สึกลึกๆ ว่าเรื่องแบบนี้เราคนเดียวผลักดันมันคงไม่สำเร็จ ถ้าจะผลักดันมันต้องอาศัยแรงสนับสนุนของคนที่คิดคล้ายๆ กันแต่เราก็เหมือนเราชูธงว่าเราออกหน้า ดังนั้นพอเราโยนไอเดียลงไปนั้นก็พบว่ามันก็มีคนจำนวนหนึ่งเห็นด้วยกับการทดลองทำอะไรแบบนี้ เขาก็ช่วยเหลือในการระดมทุนทำให้มีทุนในการทำแต่ว่าสิ่งที่ต้องทำต่อมาคือการหาพื้นที่ให้กับมัน จริงๆ แล้วเราไม่ได้มีความเชื่อในการเอาหนังเข้าโรงเพียงอย่างเดียว แต่ว่าถ้ามันมีช่องทางอื่นที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่ได้และคนดูได้ดูโดยไม่ต้องเข้าหาโรงนั้นเป็นทางเลือกที่ดี  แต่ว่าในระบบตลาดมันก็ยังต้องใช้โรงเพื่อผลทางรายได้หรือว่าผลทางประชาสัมพันธ์อะไรก็ตาม และสองคือรู้สึกว่าหนังสารคดีมันไม่มีพื้นที่ในทางธุรกิจเลยเราจึงจำเป็นต้องพิสูจน์ว่า มันมีตลาดด้วยการเข้าสู่ตลาดเพื่อให้มีที่ยืนในเชิงการตลาดที่เขาทำกันอยู่จริงๆ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำเมื่อเริ่มต้นโปรเจ็คท์ก็คือการคุยกับโรงว่าให้เปิดพื้นที่ซึ่งตอนที่ไปฉายครั้งแรกก็คุยทั้ง 2 เครือแต่ว่าเครือหนึ่งไม่เอาเพราะว่าไม่มีความเชื่อในหนังอะไรแบบนี้เลย ในขณะที่เครือ SF นั้นเขายังอยากที่จะทดลองสร้างตลาดเฉพาะเพราะเขาคงมองว่ามันก็เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้แบรนด์ของเขาแตกต่างจากคู่แข่ง ก็โชคดีที่พอไปคุยแล้วเขาให้ลองดูแต่แน่นอนสิ่งที่เราต้องทำคือการพิสูจน์ให้เห็นว่าทำแล้วมันอยู่ได้จริงๆ มันมีคนดู มีรายได้กลับมา เขาพอใจ เราพอใจ คนดูแฮปปี้ นั่นคือสิ่งที่ต้องพิสูจน์มาเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาปีกว่าที่ผ่านมาการเลือกหนังเลือกอย่างไร ต้องทำรีเสิร์ทก่อนไหมคงไม่ขนาดนั้นแต่ว่าเบื้องต้นคือเลือกจากความชอบเพราะว่าจริงๆ เราก็ไม่ได้เป็นแบบข้างใดข้างหนึ่งมาก เราไม่ได้ตลาดสุดขั้วและเราก็ไม่ได้ฮาร์ดคอร์มากเลยรู้สึกว่าถ้าเรื่องนี้มันมาทำงานกับเราก็เชื่อว่ามันมีคนดูที่รู้สึกแบบเดียวกับเป้าหมายช่วงต้นนั้นก็เน้นเลือกหนังที่มันมีความสนุกอยู่ ไม่ถึงขนาดดูแล้วต้องเครียดมากหรือว่าหลับเพราะมันน่าเบื่อสุดๆ ก็เลือกหนังที่คนดูแล้วน่าจะมีความบันเทิงอยู่ในความเป็นหนังสารคดีของมันอะไรแบบนี้ ส่วนที่สองคือเลือกประเด็นที่มันค่อนข้างหลากหลาย เบื้องต้นก็เลือกประเด็นทีคิดว่าคนต้องสนใจเรื่องแบบนี้อยู่ จริงๆ สิ่งนี้ตอนเริ่มต้นเราก็ไม่รู้ เริ่มต้นเรื่องแรกที่ฉายคือเรื่อง Finding Vivian Maier ซึ่งเป็นหนังเกี่ยวการถ่ายภาพสตรีท ตอนนั้นก็นึกแค่ว่าหนังมันดัง ใจเราดูแล้วรู้สึกสนุกก็คิดแค่นั้น แต่พอตอนเริ่มเอาเข้ามาโปรโมท เริ่มฉายก็พบว่ามันมีประเด็นอื่นที่มากกว่านั้น เช่นคนที่มีความคลั่งไคล้เรื่องการถ่ายภาพ คนที่มีความคลั่งไคล้ของวิถีชีวิตของตัวละครแบบนี้ เรารู้สึกเลยว่าที่จริงหนังสารคดีแต่ละเรื่องนั้นมีประเด็นที่มันสัมผัสกับคนในหลายๆ แบบหรือสัมผัสกับไลฟ์สไตล์หลายๆ แบบเพราะฉะนั้นสิ่งที่สังเกตได้จากตอนที่เอา Finding Vivian Maier มาฉายก็เลยสังเกตเรื่องแบบนี้มากขึ้น หนังเรื่องนี้มีไลฟ์สไตล์ตรงกับคนกลุ่มไหน หาหนังที่มันตอบสนองคนหลายๆ กลุ่มประมาณนี้โรงฉายสนับสนุนอย่างไรบ้าง เขาจัดโรงฉายให้เราอย่างไรมีทั้ง 2 แบบคือจากที่คุยแล้วมันเป็นหนังแบบ Exclusive SF ในแง่ของสาขานั้นเขาจะล็อกไว้เลยว่า Positioning ของหนัง Exclusive นั้นเขาต้องการให้ปักหลักอยู่ที่เซ็นทรัลเวิลด์ เพราะเขาอาจต้องการสร้างแบรนด์ให้สาขานั้นเป็นแบบนั้นและเขาก็อาจจะมองว่าโดยตำแหน่งอยู่ใจกลางเมือง บางทีก็มาจากเราด้วยที่คิดว่าบางทีหนังเรื่องหนึ่งอาจจะไม่กว้างมาก กลุ่มอาจจะแคบหน่อยก็อาจจะไม่ต้องเปิดโรงกว้างให้เรานะเพราะว่าทั้งเราและเขาความต้องการอย่างหนึ่งของโรงหนัง คือถึงแม้ว่าหนังเราจะเป็นหนังเล็ก ยอดรายได้ต่ำเมื่อเทียบกับหนังปกติแต่ว่าสิ่งที่เป็นความสุขของโรง คือการเห็นว่าทุกรอบมันไม่ได้เสียเปล่า ดังนั้นเมื่อเราเห็นว่าหนังเรื่องนี้กว้างได้ เรื่องนี้ไม่ต้องกว้าง บางครั้งก็คือมาจากเราที่อยากเอาโรงขนาดเล็กๆ พอเพราะภาพที่อยากเห็นคือมีคนเยอะทุกรอบ โรงก็จะให้ความสำคัญกับสิ่งนี้เพราะการฉายทีหนึ่งมีคนดู 5 คน 10 คนมันสิ้นเปลืองผลของการฉายที่ผ่านมานี่คือเป็นที่น่าพอใจไหมค่อนข้างดี ในเชิงธุรกิจก็บริหารจัดการให้เป้าง่ายๆ คือทุกเรื่องอย่าขาดทุน ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ตอนฉายโรงเลยเพื่อที่แง่หนึ่งคือเราก็ไม่ใช่นักธุรกิจที่ทำอันนี้เต็มตัว แต่เราก็ทำหล่อเลี้ยงจิตใจด้วยดังนั้นถ้าทำให้มันไม่แบกรับความเครียดต้องเป็นหนี้สะสมอะไรแบบนั้น ดังนั้นในช่วงเวลาที่ผ่านมาทั้งหมดโดยเฉพาะครึ่งปีหลังนั้นค่อนข้างจะเข้าที่ อย่างที่บอกว่าคนดูก็สนับสนุนเพราะฉะนั้นแต่ละเรื่องก็ค่อนข้างจะโอเค ก็มีเรื่องที่ได้มากบ้างน้อยบ้างแต่ในเรื่องที่น้อยก็ยังรอดตัว เรามองในเชิงที่ว่าในเรื่องที่มันน้อยนั้นเพราะคอนเทนต์มันยากขึ้น มันเฉพาะกลุ่มแต่เราก็มองในเชิงที่ว่ามันก็คือการสร้างกลุ่มคนที่หลากหลายขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเราหวังแค่นั้น ที่ปกติคนที่ไม่ดูหนังสารคดีเลยหรือบางคนเลิกดูหนังโรงไปแล้วเราก็หวังว่าจะสร้างคนกลุ่มนี้มาเป็นคนดูเรื่อยๆ ตอนนี้มีเทรนด์ที่น่าสนใจ คือเริ่มมีกลุ่มคนดูที่รวมตัวกันเอง ตอนนี้มีขึ้นมา 3 เพจคือเพจคนขอนแก่น เพจชาวเชียงใหม่และเพจชาวหาดใหญ่ ซึ่งก็มาจากพวกเรายุกันให้เปิดตัวขึ้นมา ซึ่งคนพวกนี้สำคัญซึ่งเขาก็จะรวมตัวกันเรียกร้องโรงหนัง และบางเพจก็จัดฉายเองตามหอประชุมมหาวิทยาลัยบ้าง ถือว่าเทรนด์แบบนี้ต้องกระพือขึ้นมาไม่อย่างนั้นในวงการก็จะถูกรายใหญ่แช่แข็งอยู่แบบนี้(อุปสรรคคือรอบน้อย วันน้อย โรงน้อย)ใช่ น้อยทุกอย่างเลย (หัวเราะ) ตอนนี้จะเพิ่มไปที่เซ็นทรัลพระราม 9 หรือไม่ก็เซ็นทรัลลาดพร้าว อนาคตของ Documentary Club ต่อไปจะเป็นอย่างไรตอนนี้สิ่งที่อยากทำคือพยายามหาช่องทางให้มันได้ออกไปกว้างขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ภายใต้ระบบเดิมหรือการพยายามให้มันได้ไปฉายในโรงต่างจังหวัดด้วยวิธีใดก็ตามแต่ กับการพยายามทำงานกับกลุ่มคนดู เราก็พยายามกระตุ้นคนดู รวมทั้งมองหาช่องทางอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะ TV VOD (Video on demand) จึงคิดว่าเราต้องมองหาช่องทางที่จะทำให้หนังเราไปถึงคนดูแบบนี้ได้แล้วเพราะว่าจริงๆ ตอนนี้ฉายอยู่ในโรงเดียวคือทำไมมันถึงแคบขนาดนี้  ในส่วนของการเลือกหนังมาฉายตอนนี้กำลังพยายามหาเพิ่มเข้ามา ในปีนี้ช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มมีสารคดีจากอินโดนีเซียและกลางปีจะมีญี่ปุ่น เพิ่งคุยกับหอศิลป์ว่าอยากจัดสารคดีอาเซียนด้วยกัน ต้องเริ่มขยายมาทางนี้บ้าง ปัจจุบันมีช่องทางให้ผู้บริโภคดูฟรีเยอะ พฤติกรรมของคนไทยแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อวงการหนังหรือการเอาหนังเข้ามาฉายอย่างไรบ้าง หรือผู้บริโภคจะมีทางเลือกอย่างไรคือพี่ไม่มีปัญหาในการดูบิทอะไรเลยหรือแม้แต่ดู Netflix(บริการดูหนังออนไลน์) เองคือในแง่คนทำหนังเราเองก็กระทบนะอย่างเรื่อง Iris (Iris เปรี้ยวที่ใจ วัยไม่เกี่ยว) นั้นยังฉายในโรงอยู่แต่เปิด Netflix มาก็มี ซึ่งเราก็ได้ผลกระทบแต่ถ้ามองในภาพรวมจริงเราค่อนข้างรู้สึกยินดีกับสิ่งเหล่านี้เพราะธรรมชาติของคนเสพทุกอย่างต้องการทางเลือก ต้องการความสะดวก ต้องการสิ่งที่มันคำนึงถึงพฤติกรรมของเราและตอนนี้เราอยู่บ้านดูได้เราไม่ต้องการถูกโรงบังคับว่าต้องดูแต่หนังที่เขาเอามาฉาย คือรู้สึกว่าพวกนี้มันคือการสร้างวัฒนธรรมการดูเพราะว่าในที่สุดเราต้องการให้ทุกคนดูสิ่งที่หลากหลาย และอยากให้ทุกคนเลือกเสพและมีโอกาสที่จะเข้าถึง แต่ถามว่าพฤติกรรมการดูของคนจะเปลี่ยนไหม หมายถึงว่าคนจะเลิกดูหนังโรงเหรอ จะดูแต่หนังอยู่บ้านเหรอ จะโหลดบิทอย่างเดียวเหรอ พี่คิดว่าไม่ใช่ คนเราไม่มีพฤติกรรมที่มันสุดขั้วเพราะว่าในที่สุดแล้วเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดูหนังโรงมันก็เป็นความสนุกอยู่ดีหรือการที่มีสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ได้เจอเพื่อน กินข้าว ดูหนัง มันมีสิ่งอื่นที่ห่อหุ้มพฤติกรรมเหล่านั้นมันจะยังอยู่ต่อไป แล้วค่ายหนังก็มีหน้าที่ปรับตัวเองต้องทำหนังให้มันน่าสนใจขึ้น ให้คนรู้สึกว่าเขาต้องออกจากบ้านเพื่อมาดูก็เป็นหน้าที่ ที่คุณต้องปรับตัว  แต่คิดว่าสิ่งที่ปรับตัวช้าที่สุดในบรรดาเหล่านี้ก็คือโรงหนัง คิดว่าโรงหนังไม่ได้ไหวตัวกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของคน เพราะทุกวันนี้คนมาดูหนังโรงนั้นไม่ได้ต้องการแค่มาดูในโรง มี 3 มิติ มีควันแค่นี้จบ แต่ที่คนมาดูเพราะว่าเขาโหยหาการอยู่ในสังคม ไม่อย่างนั้นคนก็นั่งดูหนังอยู่บ้านหมดสิ ที่ยังออกมาดูหนังโรงเพราะมันมีสิ่งอื่นตอบสนองอยู่ ซึ่งโรงปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนไป โรงยังคิดว่าคำตอบคือการที่คุณขายป็อบคอร์น ขายโค้ก แต่เรารู้สึกว่าจิตวิญญาณของคนดูหนังมันแห้งลงเรื่อยๆ คิดว่าสิ่งที่จะกระทบมากที่สุดในระยะยาวคือโรงหนัง เพราะคนจะหมดอารมณ์ที่จะไปดูแล้วคุณก็จะบีบให้คนต้องไปดูอย่างอื่นซึ่งจริงๆ เขาก็ไม่ได้อยากดูสถานการณ์ของการดูหนังปัจจุบันที่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภคสำหรับคนดูทั่วๆ ไปที่คิดว่าเป็นปัญหาและได้ยินบ่อยก็คือเรื่องราคาเพราะค่าตั๋วโดยเฉลี่ยนั้นถ้าเป็นโรงใจกลางเมืองมันคือ 160 – 180 บาทขึ้นไป ซึ่งโรงก็พยายามเพิ่มฟังก์ชั่นตามค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเป็นโรงหนัง 4 มิติ เป็นแพ็กเกจโซฟาคู่ ซึ่งอาจจะมีคนพูดว่า ไม่อยากเลือกแบบนี้ก็ดูโรงธรรมดาแต่ฟังก์ชั่นของแบบธรรมดาราคามันก็ขึ้นเรื่อยๆ ตามโลเคชั่น และยังไม่รวมพวกสิ่งต่อพ่วงทั้งหลาย ค่าเครื่องดื่ม ป็อบคอร์น มีคนบอกว่าเวลาไปดูหนังทีหมดเงินเป็นพัน เนื่องจากโรงหนังมันอยู่ในห้าง จึงไม่มีทางเลือกที่จะบริโภคอย่างอื่น ซึ่งราคามันก็แพง โดยทั่วไปโรงหนังมักจะมีข้ออ้างว่าลงทุนสูง เป็นความบันเทิงราคาถูกที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับคอนเสิร์ตหรืออะไรก็ตาม แต่ในความจริงแม้จะเป็นความบันเทิงราคาถูกก็ตามมันก็ยังแพงสำหรับผู้บริโภคอยู่ดี โดยเฉพาะในปัจจุบันมีทางเลือกมากขึ้น เช่นล่าสุดการเข้ามาของ Netflix ซึ่งสามารถจ่ายเงินเดือนละ 100 – 200 กว่าบาทเดือนหนึ่งดูหนังได้ไม่เลือก แม้การดูหนังที่ในโรงภาพยนตร์ เราก็ยังรู้สึกว่ามันเป็นความบันเทิงที่สำคัญในชีวิตอยู่ แต่เราก็มีความรู้สึกว่าเราเลือกมากขึ้น อันนี้คือในแง่ของค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันในแง่ของคนดูในเชิงวัฒนธรรมจะเป็นปัญหาที่เจอเยอะที่สุดเลยคือ โรงหนังนั้นเป็นทางเลือกที่ไม่ดีพอสำหรับคนดูหนังในเชิงวัฒนธรรม หมายความว่าตอนนี้เวลาที่มีหนังใหญ่เปิดตัวทีหนึ่งนั้นหนังใหญ่กินพื้นที่โรง 80 - 90 %  ของจำนวนโรง พื้นที่ส่วนใหญ่หมดไปกับการให้หนังกระแสหลัก หนังทางเลือกในเชิงวัฒนธรรมนั้นก็ไม่มีพื้นที่รองรับ ปัญหาที่เจอกันตอนนี้คือว่า หนังเล็กนั้นโรงไม่เหลียวแล โรงให้รอบแบบพอเป็นพิธี แล้วพอมันไม่มีคนดูตอบสนองด้วยตัวเลขที่มากพอในความคิดของเขาก็โดนตัดรอบ มันจึงเป็นวงจรทางธุรกิจที่แก้ไขไม่ได้ โรงก็ผูกขาดขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ก็เหลือ 2 ค่ายใหญ่ที่แข่งกันแล้วเบียดบี้จนรายเล็กรายน้อยตายหมด คือไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจหรือเชิงวัฒนธรรมนั้นการดูหนังเป็นทางเลือกที่หดแคบลงทุกทีสำหรับคนดู

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 178 กฎหมายเครื่องสำอางกับก้าวที่ยังไม่ทันกลยุทธ์การขาย

ตอนแรกผมมองปัญหาเครื่องสำอางเป็นปัญหาเล็กๆ แต่พอได้ศึกษาดูแล้วมันกลายเป็นปัญหาที่ผมมองว่าเป็นระดับชาติและมูลค่าเศรษฐกิจตรงนี้ปีหนึ่งเป็นพันล้าน เพราะคิดต่อคนต่อเดือนประมาณ 2,000 บาทเป็นอย่างน้อย พ.ร.บ.เครื่องสำอางฉบับใหม่ได้รับการปรับปรุงและประกาศในราชกิจจานุเบกษา 8 กันยายน2558ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ด้วยเหตุผลหนึ่งคือการที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กรณีการประกอบธุรกิจเครื่องสำอางในสื่อโซเชียลและการคุ้มครองผู้บริโภคยังมีเรื่องสำคัญที่น่าพิจารณา และเพื่อให้มองรอบด้าน เราจึงไปขอความรู้จาก อัครเดช มณีภาค* ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ความสนใจและลงมือศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องของกฎหมายเครื่องสำอางเป็นพิเศษ ทำไมถึงมาสนใจเรื่องเครื่องสำอางกฎหมายเครื่องสำอางของบ้านเรานับว่า ทันสมัย ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 4 – 5 ปีที่แล้วมีแนวความคิดว่าเรากำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดทำกฎหมายเครื่องสำอางให้เป็นไปตามบทบัญญัติอาเซียน ซึ่งล่าสุดเรามี พ.ร.บ. เครื่องสำอางฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว นับว่าทันสมัยยิ่งขึ้น แต่กว่าจะผ่านก็ใช้เวลานานพอสมควร ส่วนเหตุผลที่ทำให้ผมสนใจเรื่องนี้เพราะในสังคมปัจจุบันการซื้อขายเครื่องสำอางมันมีวิวัฒนาการก้าวกระโดด จากที่แต่เดิมการเลือกใช้เครื่องสำอางเราจะเลือกซื้อของที่ตลาด ตามห้างสรรพสินค้าปลีกย่อยต่างๆ นี่คือวิถีในการเลือกซื้อทั่วไป แต่ 5 – 6 ปีที่ผ่านมานั้น มีสื่อในโลกโซเชียลเพิ่มมากขึ้น การซื้อขายกรณีเครื่องสำอางนั้นจึงมีหลากหลาย ใครก็สามารถเข้าถึงได้รวดเร็วไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊คหรือไลน์ นี่คือสังคมปัจจุบันที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วและนำไปสู่อาชีพใหม่เกิดขึ้นมานั่นคือ อาชีพของนักศึกษาในการเข้าสู่วงการธุรกิจเครื่องสำอาง *อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์และผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและกิจการพิเศษ รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม   ในฐานะอาจารย์ผมเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้ นั่นคือ นักศึกษาไม่เพียงแค่เป็นคนซื้อ แต่พวกเขาได้เข้าสู่โลกของการเป็นคนขาย จากเดิมเป็นคนซื้อและทดลองใช้ พอใช้ได้ผลดี(กับตัวเอง) ก็ผันตัวเองมาเป็นคนขายและจัดจำหน่ายในรั้วมหาวิทยาลัย ในห้องเรียนห้องหนึ่งสมมุติมีนักศึกษาจำนวน 100 คน มีคนขายประมาณ 20 คนและอีก 50 คนเป็นคนซื้อ เรื่องนี้มีข้อที่พึงระวัง เพราะลักษณะนี้มันเป็นการขายตรงรูปแบบหนึ่งต้องถูกกำกับดูแลของ พ.ร.บขายตรงและตลาดแบบตรง ข้อที่ควรระวังมากกว่านั้นจากการสัมภาษณ์และสอบถามนักศึกษาคือ เขาไม่ได้สนใจว่าจะมี อย. หรือไม่คือไม่ได้สนใจความปลอดภัยเลย สนใจแต่ความขาว เด้ง ฟรุ้งฟริ้ง คนที่ขายก็ต้องลองกับตัวเอง(ได้ผล)เพื่อให้คนซื้อเชื่อ   ประเด็นนักศึกษาซื้อขายกันเองกฎหมายที่กล่าวมานั้นจะดูแลตรงส่วนนี้ได้อย่างไรบ้างถ้าเกิดความเสียหายก็ต้องไปเรียกร้องกับผู้จำหน่ายและบริษัท ทีนี้ผู้จำหน่ายก็คือเพื่อนเราใช่ไหมที่ขายสินค้ามา คือต้องย้อนกลับไปทฤษฎีเดิม ซึ่งเกิดจากการเลือกใช้ต้องไปเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้จำหน่าย ปัญหาที่ตามมาคือว่า โรงงานที่ผลิตไม่ใช่โรงงานใหญ่ เป็นโรงงานขนาดเล็กและตัวสินค้าไม่มี อย. เท่ากับว่าผู้ซื้อนั้นเสี่ยงภัย ประเด็นนี้มีเยอะเลย ซึ่งไม่ได้เกิดกับของที่สั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ตเท่านั้น เป็นการซื้อขายตรง พอมีเรื่องเกิดขึ้นเกิดผลกระทบคนขายเขาก็บอกหน้าเขาใช้ไม่เคยมีปัญหาอะไร คือว่าเครื่องสำอางถูกกับใบหน้าของคนหนึ่งแต่ไม่ถูกกับอีกคนหนึ่งอันนี้ก็เป็นอีกประเด็น คนขายก็เลยกลายเป็นว่าไปโทษปัจจัยอื่น หาว่าคนที่ซื้อไปนอนดึกเลยใช้ไม่เห็นผล ประเด็นนี้เคยมีกรณีคนที่ถูกฟ้องต่อสู้กันจนถึงศาลฎีกา เป็นประเด็นว่าคนที่ซื้อไปใช้ไปตากแดดไม่ได้เกี่ยวกับเครื่องสำอางโดยตรง   กรณีเครื่องสำอางที่นักศึกษาไม้ค่อยมาร้องเรียนคิดว่าเป็นเพราะอะไรปัญหาคือคนใช้(ยอม)เสี่ยงภัย แล้วบ้านเราเป็นประเภทไม่กล้าที่จะขายความโง่ของตัวเอง ไม่บอกใครเก็บเรื่องไว้คนเดียว นี่คือพูดกันตรงๆ ทุกวันนี้ตัวผมเองไม่ว่าจะไปซื้อสินค้าอะไรมาใช้รวมถึงพวกโทรศัพท์ พลาดไปก็ไม่กล้าบอกใคร   เครื่องสำอางที่เด็กๆ ขายกันนั้นฉลากน่าจะไม่สมบูรณ์ด้วยหรือเปล่า เช่น คำเตือนว่าใช้แล้วห้ามทำแบบนั้น ห้ามทำแบบนี้ มี แต่ฉลากก็ทำขึ้นมาเองและบางกรณีก็ไม่มีฉลากส่วนใหญ่ไม่มี ซึ่งโรงงานผลิตทุกวันนี้เกิดขึ้นมากและบางทีตั้งในกลางกรุงด้วยซ้ำล่าสุด(อย)สคบและตำรวจกองปราบ จับโรงงานใหญ่ที่วังหิน เป็นโรงงานเถื่อน และเดี๋ยวนี้มีรอบๆๆมหาวิทยาลัยน่าจะมีเกือบทุกมหาลัยเลยแต่น่ายังไม่มีใครศึกษาเราเคยได้ยินแต่ร้านเหล้ารอบๆๆมหาลัย ประเด็นนี้น่าคิด ตอนแรกผมมองปัญหาเครื่องสำอางเป็นปัญหาเล็กๆ แต่พอได้ศึกษาดูแล้วมันกลายเป็นปัญหาที่ผมมองว่าเป็นระดับชาติและมูลค่าเศรษฐกิจตรงนี้ปีหนึ่งเป็นพันล้าน เพราะคิดต่อคนต่อเดือนประมาณ 2,000 บาทเป็นอย่างน้อย ผมเคยสัมภาษณ์มาแล้ว แล้วโรงงานเล็กๆ ลงทุน 10 ล้านแต่เขาขายได้กำไร 50 ล้านบาทต่อเดือน โคตรคุ้มเลย แล้วไม่ต้องไปขายเองด้วยผลิตอย่างเดียวแล้วจะมีนายหน้าเข้ามารับแล้วก็ใช้นักศึกษาเป็นคนปล่อยสินค้า   แล้วคนขายไม่ต้องขออนุญาตหรือเป็นเรื่องคนขอผลิต เพราะขอผลิตไปแล้วนั้นผลิตแล้วผลิตเลย หมายความว่าสมมุติผมเป็นเจ้าของยี่ห้อเครื่องสำอางยี่ห้อหนึ่งก็ไปจ้างผลิต ผมก็เป็นเจ้าของแบรนด์แล้วก็ไปจดแจ้ง โรงงานก็ต้องไปจดแจ้งด้วย ซึ่งมันง่ายมากในการที่ใครสักคนอยากจะมีแบรนด์เครื่องสำอางของตัวเอง ทุกคนก็ยังสามารถที่จะเป็นเจ้าของแบรนด์ได้ มีเงินสัก 50,000 บาทก็ทำได้ ค่าธรรมเนียมจดแจ้งก็ไม่แพงแล้วก็รอ อย. ประกาศ ซึ่งบ้านเราเป็นลักษณะแบบนี้ คือควบคุมบวกส่งเสริม มันไม่ได้เป็นเหมือนสินค้าควบคุมแบบเครื่องมือแพทย์หรือยา   ในมุมมองของอาจารย์คือเรื่องเครื่องสำอางก่อนที่จะได้เกิดการซื้อขายมันต้องเข้มขึ้นกว่าเดิมใช่ มุมมองผมคือให้ไปควบคุมกระบวนการผลิตส่วนผสม สารเคมี ไม่ใช่ควบคุมที่การโฆษณา คือควบคุมโฆษณานั้นมันจะควบคุมเฉพาะบริษัทยักษ์ใหญ่เพราะเขาจ้างโฆษณาแต่โฆษณารายย่อยอย่างสื่อโซเชียลเช่น เฟสบุ๊ค/Lineทุกวันนี้เปิดขึ้นมาขายของทั้งนั้นเลย แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ไม่ค่อยทำผิดกฎหมายในเรื่องกระบวนการผลิตอยู่แล้ว แต่บริษัทเล็กๆ นั้นจะมีปัญหาด้านการผลิต ส่วนผสมที่เป็นเคมี สารต้องห้าม คือผลิตลงทุน 5 – 10 ล้านบาทแค่นั้นเอง ได้กำไรเกือบ50ล้าน ควบคุมการโฆษณาเหมือน กสทช.และอย/สคบ. นั้น ผมมองว่ามันเป็นปลายเหตุ เพราะมันช้ากว่าจะประกาศยกเลิก กว่าจะดำเนินการอะไรต่างๆ นั้นคนขายรวยไปแล้ว และตอนนี้เขาไม่ได้ไปโฆษณาที่ไหนแล้วเขาขายตรงถึงมือเลย เอาไปทดลองใช้ชึ้งเกิดในหมู่วัยรุ่นวัยมัธยมแล้ว และเรื่องนี้ก็ยังไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจัง ผมเคยขึ้นไปสอบ คณะกรรมการถามว่าจะเอาไปเป็นอาชญากรรมหรือ? ก็น่าคิดนะ เพรารัฐบาลสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ แต่เราก็มองถึงความปลอดภัย   อย่างนี้คนจะไม่ว่าว่าเป็นการตัดช่องทางทำมาหากินของบริษัทเล็กๆ เหรอไม่ใช่ คือมองว่าความปลอดภัยของผู้บริโภคต้องมาก่อนอันดับหนึ่ง ตอนนี้กลายเป็นว่ามันเป็นธุรกิจช่องทางหนึ่ง ซึ่งไม่ได้มองถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค นานๆ ทีจะได้เห็นทลายแหล่งผลิตเครื่องสำอางปลอมซึ่งเป็นเรื่องที่ดี   แล้วมีอีกช่องทางหนึ่งคือไม่ได้ผลิตแต่บอกว่านำเข้าจากเกาหลีมันคืออันนี้เลย มันไม่ได้เกาหลีมันคือที่นี่ ผลิตที่เมืองไทย เป็นฉลากปลอมและทุกวันนี้สินค้าที่บางคนบอกว่าเป็นสินค้าปลอดภาษีแต่นั่นคือของปลอม คือบ้านเรามีแบบผลิตเอง ทำเอง แบรนด์ตัวเอง แบบที่สองคือแบรนด์ต่างประเทศผลิตในเมืองไทยนี้แหล่ะแต่ปลอมมา แล้วทำเนียนด้วย เหมือนเลย รู้สึกว่าสินค้าที่ได้รับการปลอมมากที่สุดคือยี่ห้อชิเซโด้ มีการปลอมเยอะมาก ลูกศิษย์ผมก็เอามาขายผมยังซื้อไว้เลยซื้อให้แฟน แฟนบอกของปลอม คนที่เคยใช้เขาเปิดดูแล้วรู้เลย คือมันไม่ใช่สินค้าปลอดภาษีแต่นี่คือของปลอม แต่กลยุทธ์ทางการขายคือบอกว่ามันถูกเพราะ Duty Free แล้วคนที่ไม่เคยใช้ก็คิดว่ามันเป็นของแท้ ในมุมมองของนักกฎหมายคิดว่าผู้บริโภคไทยได้ใช้สิทธิ ได้ทำหน้าที่ของตนเองได้ดีพอหรือยัง การใช้สิทธิของตนเอง ในทุกเรื่องเลยนะผมว่าน้อย ยกตัวอย่างคดีข่มขืนกระทำชำเรานั้นมีการไปแจ้งความร้องทุกข์น้อยมาก ใน 1 ปีมีคดีแบบนี้เป็นพันแต่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้นไม่ถึงหลักร้อย อย่าคดีคุ้มครองผู้บริโภคผู้ได้รับผลการกระทบสิทธิใช้สิทธิของตัวเองน้อยมาก การทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เจาะไปที่เรื่องเครื่องสำอางก็ได้ ณ ปัจจุบันนี้คือ สิทธิของเราถูกปกป้องน้อยมากและตัวคนที่เลือกซื้อเครื่องสำอางเองก็ตามมีความอับอาย ผู้ซื้อยอมเสี่ยงภัยเข้าไปซื้อเอง คือรู้ว่ามีความเสี่ยงแต่ก็ยอมเพื่อความสวย ความงาม มันก็เลยเกิดความอับอาย   ยกตัวอย่างให้ฟังได้ไหมคดีอันเกิดจากเครื่องสำอางเอาเคสที่เป็นคดีเลยละกันนะ ผมขอเรียกว่าเคสคุณปัญญาได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องสำอางลักษณะใบหน้าผุผัง ลอก ดำ ซึ้งผมได้ไปสัมภาษณ์และได้พูดคุยและให้ความช่วยเหลือในระดับหนึ่งและก็ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นจาก(อย)ในค่าใช้จ่ายเดินทางไปหาหมอ เกือบ 10 ปีศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหาย ยังไม่ได้เงินเยียวยา ทุกวันนี้คดียังอยู่ในศาลฎีกาเกือบ10 ปียังไม่ได้รับเงินเยียวยา   อาจารย์คิดว่าอยากให้มีอะไรเพิ่มเติมในกฎหมาย พอประกาศใช้กฎหมายเครื่องสำอางฉบับใหม่เราไปอิงในบทบัญญัติอาเซียนซึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นเขาก็ยังไม่มีทีท่าที่จะทำให้มันเป็นไปตามบทบัญญัติอาเซียน ยกเว้นไทยและสิงคโปร์ และ ในอนาคตมีเรื่องพิจารณา 2 เรื่องคือการเยียวยาข้ามแดนและการเลือกซื้อเครื่องสำอางข้ามแดน เช่น เราซื้อเครื่องสำอางจากพม่ามาใช้แล้วเกิดความเสียหายก็เอาผิดกับใครไม่ได้ แต่ถ้าคนพม่ามาซื้อเรา เรามีความคิดว่าจะเยียวยาข้ามแดนให้เขาซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการเยียวยาผู้บริโภคข้ามแดนกรณีนี้ก็มีการจัดสัมมนาและพูดคุยกันอยู่ในประเด็นนี้   อาจารย์มีอะไรที่จะฝากในช่วงท้าย ปัญหาเรื่องเครื่องสำอางจะถูกพูดถึงน้อยกว่าเรื่องอื่นๆอาจเป็นเพราะผลกระทบต่อผู้บริโภคนั้นไม่ได้เกิดในทันทีทันใดแต่พอใช้เครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐานไปนานๆๆนั้นจะกระทบต่อร่างกายเหมือนตายผ่อนส่ง ซึ่งคิดว่าควรเอาเรื่องนี้มาเป็นประเด็นมากขึ้นเอาไปเป็นนโยบายเลย การคุ้มครองผู้บริโภคด้านเครื่องสำอางควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการผลิต ส่วนผสม และกระบวนการกำกับดูแลติดตามตรวจสอบหลังจำหน่ายให้มีประสิทธิภาพ ควรมีกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องสำอาง และเน้นให้ความรู้ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายผู้ประกอบการเครื่องสำอางรายเล็กๆๆให้มีประสิทธิภาพ การควบคุมและกำกับดูแลเครื่องสำอางในปัจจุบันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นได้บูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กสทช. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ถือว่าเป็นหลักประกันสิทธิผู้บริโภค อันนี้ส่วนราชการยังมีองค์กรหรือหน่วยงานที่มาช่วยขับเคลื่อนสิทธิของผู้บริโภค เช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์กรอิสระเพื่อผู้บริโภค มาบูรณาการการทำงานร่วมงาน เพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและส่งเสริมเครื่องสำอางไทยให้มีคุณภาพและปลอดภัย  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ความคิดเห็น (0)