ฉบับที่ 117 เมื่อ “ผู้หญิง” กลายเป็น “ผี”…บรื๋อ!!!

ในอดีต ศาสนาพุทธเคยมีการให้คำอธิบายเอาไว้ว่า ผู้ที่เกิดมาเป็นผู้หญิงในชาตินี้ คือผู้ที่ทำบุญไว้น้อยนิดในชาติก่อน เพราะฉะนั้น หากในชาตินี้ผู้หญิงรู้จักทำบุญเอาไว้เยอะๆ แล้ว ชาติหน้าเธอก็จะได้ไปเกิดเป็นผู้ชายในที่สุด วิธีให้คำอธิบายแบบนี้ โดยนัยหนึ่งก็คือ รูปแบบการจัดวางสถานภาพที่ว่า สังคมพุทธมีการจัดลำดับให้บุรุษเพศมีสถานะที่สูงกว่าอิตถีเพศ โดยมีเรื่องของ “กรรม” หรือการสั่งสม “เนื้อนาบุญ” เป็นเงื่อนไขกำหนดสถานภาพดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ถ้าในสมัยก่อน กรรมหรือเนื้อนาบุญเป็นเครื่องจัดวางลำดับสถานภาพทางสังคมของสตรีให้สูงหรือต่ำได้แล้ว ในสมัยนี้ อะไรบ้างที่จะทำหน้าที่กำหนดสถานภาพที่สูงและต่ำให้กับคุณ ๆ ผู้หญิง??? สำหรับผมแล้ว คำตอบก็อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลไปจากตัวของคุณผู้หญิงทั้งหลายเองนัก นั่นก็คือ เงื่อนไขที่มาจากเม็ดสิวที่ผุดพรายขึ้นบนใบหน้าของพวกเธอนั่นเอง แล้วทำไมผมจึงเชื่อว่าเม็ดสิวมีอานุภาพ...

สมาชิกอ่านต่อ...

แหล่งข้อมูล: สมสุข หินวิมาน

250 point

LINE it!

  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ โฆษณา ผู้หญิง ผี

ฉบับที่ 126 ดีใจจัง…คนข้างหลังก็บ้านเฮา

  “เมือง” เป็นคำที่มีความหมายหลายด้านด้วยกัน บ้างก็ว่าเมืองเป็นดินแดนแห่งความทันสมัยและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ บ้างก็ว่าเมืองเป็นศูนย์รวมแห่งอารยธรรมอันล้ำยุคล้ำสมัย บ้างก็ว่าเมืองเป็นสถานที่แหล่งทำกินของคนจำนวนมากมายมหาศาล   แต่ที่แน่ๆ คำตอบอีกหนึ่งข้อของความเป็น “เมือง” ก็คือ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยสภาวะแปลกแยกและสายสัมพันธ์อันเปราะบาง   กล่าวกันว่า นับแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ผลพวงหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ทำให้เกิดเมืองใหญ่ๆ ขยายตัวออกไปอย่างมากมาย และเมื่อเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายตัว เมืองเหล่านั้นก็ต้องการแรงงานปริมาณมหาศาล ที่จะมาเป็นปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน   ด้วยเหตุดังกล่าว เมืองต่างๆ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างถิ่น โดยเฉพาะจากชนบท เพื่อเข้ามาหมุนฟันเฟืองการผลิตในสังคมเมือง อันเป็นที่มาของการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนจากชายขอบ เข้าสู่ศูนย์กลางของเมืองใหญ่ จนทำให้เมืองยิ่งโตวันโตคืน แต่ชนบทก็ยิ่งโทรมลงๆ   ปรากฏการณ์เดียวกันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากกรณีของสังคมไทยเท่าใดนัก ภายหลังจากที่เมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานครและอีกหลายๆ มุมเมืองขยายตัวขึ้นมา ชุมชนเมืองใหม่เหล่านี้ก็กลายเป็นแหล่งรองรับการอพยพของแรงงานพลัดถิ่น ที่ละทิ้งภาคชนบทเพื่อเข้ามาแสวงหาความเจริญก้าวหน้าในส่วนกลาง ริ้วรอยเช่นนี้ปรากฏอยู่ในโฆษณาโทรทัศน์ ที่โปรโมทขายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่ง กับพรีเซ็นเตอร์ดาราหนุ่มที่เปิดตัวมาในฐานะลูกอีสานบ้านเฮาอย่าง คุณณเดชน์ คูกิมิยะ ฉากเริ่มต้นของโฆษณาเปิดด้วยเสียงดนตรีคลอเบาๆ ให้ความรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว และมีเสียงลอยๆ ของคุณณเดชน์พูดขึ้นว่า “พวกเรามาตามหาความฝันในเมืองใหญ่ ฝันว่าลูกอีสานคนหนึ่งกำลังเติบโตขึ้น ฝันว่าจะทำให้ชีวิตคนในครอบครัวเราดีขึ้น ฝันที่เราจะได้เป็นในสิ่งที่ฝัน ฝันที่จะทำให้ฝันของใครอีกคนเป็นจริง...” ภาพที่ตัดขนานมากับเสียงคลอนั้นก็คือ ภาพมุมกว้างของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เป็นฉากรถยนต์ที่ติดโยงยาวกันเป็นแพ สลับกับรถยนต์อีกจำนวนหนึ่งที่แล่นผ่านไปมา มีผู้คนเดินขวักไขว่กันอยู่เต็มท้องถนน แต่ก็ดูเหมือนว่า จะเป็นท้องถนนที่ไม่มีใครสนใจใคร   จากนั้นก็มีภาพของคุณณเดชน์พระเอกหนุ่มเดินอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่มากมาย แต่ก็ดูแปลกแยกขาดสายสัมพันธ์กับสัญจรชนคนอื่นๆ   ตัดสลับกับภาพของแม่ค้าส้มตำที่กำลังเว้าภาษาอีสานคุยโทรศัพท์อยู่ที่แผงส้มตำที่มีป้ายเขียนติดกระจกว่า “คิดฮอดบ้านเฮา” ภาพของโชเฟอร์แท็กซี่ที่เหม่อมองดูรูปถ่ายของเมียและลูกที่ติดไว้หน้ากระจกรถ มองเห็นกระจกหลังเป็นผู้โดยสารชายอีกคนที่คุยโทรศัพท์เว้าโลดด้วยภาษาถิ่นอีสานอีกเช่นกัน  คุณณเดชน์เดินทางมาพบกับคุณหมออีกคนหนึ่ง ซึ่งก็โทรศัพท์คุยภาษาถิ่นอีสานกับบิดาที่ต่างจังหวัด  ด้านนอกนั้น ผู้คนถ้าไม่ง่วนกับการคุยโทรศัพท์ ก็ยังคงเดินขวักไขว่กันเต็มตั้งแต่ท้องถนนถึงบนสะพานลอย ข้างทางมีทีวีจอยักษ์เป็นภาพ “นักล่าฝัน” ที่เข้ามาประกวดร้องเพลงใน กทม.  คุณณเดชน์แวะมาพักกินข้าวเที่ยงในร้านอาหารญี่ปุ่น แววตาของเขาดูฉงนสนเท่ห์ เขาจับตะเกียบคีบก้อนซูชิเอาไว้ในมือ ขณะที่เหม่อมองดูพ่อครัวกำลังคุยโทรศัพท์อย่างออกรสชาติเป็นภาษาอีสานด้วยเช่นกัน  ภาพตัดกลับมาที่รถไฟฟ้าบีทีเอสแล่นผ่านไป มีหนุ่มวินมอเตอร์ไซค์ยืนเปลี่ยวเหงาอยู่ใต้สถานีรถไฟฟ้า คนบางคนเหม่อลอยมองออกไปนอกสะพาน ขณะที่คุณณเดชน์ก็คงเดินต่อไปท่ามกลางชีวิตคนกรุงที่แสนจะเปลี่ยวเปล่าและแปลกแยกยิ่งนัก ก่อนที่จะมีคำพูดความในใจของคุณณเดชน์ที่กล่าวต่อไปว่า “พวกเราต้องไกลบ้าน ไกลพ่อแม่พี่น้อง แต่มีบางสิ่งที่ทำให้พวกเราไม่เคยไกลกัน...” และทันใดนั้น เสียงโทรศัพท์มือถือก็ดังขึ้น ปลายสายเป็นภาพเพื่อนชาวอีสานตะโกนมาทักทายคุณณเดชน์ด้วยสำเนียงเสียงภาษาถิ่นแบบคิดฮอดม่วนชื่น  ปิดท้ายโฆษณา คุณณเดชน์ก็เลยหยุดอยู่กลางท้องถนนที่แปลกแยก และยืนเซิ้งตามจังหวะหมอลำเสียงแคนที่ลอยมาจากแอ่งอารยธรรมอีสานบ้านเฮา ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่แม้หมู่เฮาจะอยู่ไกลกัน แต่ก็ช่วยขยับให้ทุกชีวิตในทุกภูมิภาคได้มาอยู่ใกล้ชิดกัน  นักทฤษฎีสังคมวิทยาบางกลุ่มเคยอธิบายไว้ว่า ไม่มีสังคมใดที่ผู้คนจะแปลกแยกระหว่างกันและกันมากเท่ากับสังคมแห่งความเป็น “เมือง” ยิ่งหากเป็น “เมืองหลวง” หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า “capital city” อันแปลว่า เมืองแห่งการระดมทุนทุกชนิดด้วยแล้ว อาการเปลี่ยวเหงา ว้าเหว่ หรือโหยหาสายสัมพันธ์บางอย่าง ก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นเป็นทวีคูณ กรุงเทพมหานครของเราก็คงไม่แตกต่างไปจากสัจธรรมข้างต้นเท่าใดนัก เพราะแม้ความเจริญและทุนทางเศรษฐกิจจะกระจุกตัวรวมศูนย์อยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ แต่ทว่า กทม. ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ “มีผู้คนอยู่รอบกาย เหมือนไม่มีไม่เห็นใคร...”  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ก็ในเมื่อจุดเริ่มต้นของเมืองเกิดจากการดูดซับทรัพยากรต่างๆ เข้าสู่ส่วนกลางแล้ว ผู้คนแบบร้อยพ่อพันแม่จากถ้วนทั่วทุกสารทิศก็จะมุ่งเข้าสู่การตามล่าหา “ความฝัน” กันในสังคมเมืองเป็นหลัก แบบเดียวกับที่คุณแม่ค้าส้มตำ คนขับรถแท็กซี่ คุณพี่วินมอเตอร์ไซค์ คุณนักร้องนักล่าฝัน พ่อครัวร้านซูชิ ไปจนถึงคุณณเดชน์พระเอกหนุ่ม ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนพลัดถิ่นที่เข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีขึ้นในชีวิตกันในเมืองหลวง  ด้วยเหตุดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงกลายเป็น “เมืองใหญ่” แต่ก็ “ไร้ราก” เพราะ “รกราก” ดั้งเดิมของผู้คนที่อพยพจากทั่วทุกทิศทุกภาคนั้น มีจุดกำเนิดมาแต่ชนบทมากกว่า เมื่อคนที่หยั่ง “รกราก” ในถิ่นอื่น ต้องจับพลัดจับผลูมาอยู่ในเมืองใหญ่ต่างถิ่นที่ “ไร้ราก” เช่นนี้ ก็ไม่น่าแปลกที่คุณณเดชน์และบรรดาตัวละครลูกอีสานใหญ่น้อยทั้งหมด จึงเกิดอาการ “lost in translation” หรืองุนงงสงสัยว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่” มาเดินขวักไขว่กันเต็มท้องถนนและสถานีรถไฟฟ้า แต่ก็ไม่มีใครสนใจใครกันเลย แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ ที่มีความพยายามจะต่อเส้นสายสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ตลอด เพื่อสลายความแปลกแยกและว้าเหว่ในเมืองเปลี่ยวเหงา  ด้านหนึ่ง โทรศัพท์มือถืออาจจะทำให้ผู้คนในเมืองหลวงยิ่งแปลกแยกจากกันมากยิ่งขึ้น เพราะแม้จะอยู่บนถนนหรือบนรถไฟฟ้า ผู้คนเหล่านั้นก็คุยโทรศัพท์โดยยิ่งไม่ต้องสนใจคนรอบข้างได้มากขึ้น แต่อย่างน้อย พวกเขาก็อาจจะไม่ได้แปลกแยกไปกับบรรดาเพื่อนสนิทมิตรสหายหรือครอบครัวที่ยังอยู่ใน “รกราก” ของชนบทห่างไกล หากครั้งหนึ่งบรรดาคุณพี่โชเฟอร์แท็กซี่เคยติดสติ๊กเกอร์แสดงความรู้สึก “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” แล้ว ทุกวันนี้เครือข่ายมือถือก็ช่วยให้คุณณเดชน์และบรรดาลูกอีสานใน กทม. ทั้งหลาย ได้รู้สึกว่า “ดีใจจังคนข้างหลังก็บ้านเฮา” เหมือนกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 123 เสน่ห์ปลายจวัก...แต่อย่าลืมเหยาะผงปรุงรสด้วยล่ะ

  คนโบราณเคยกล่าวเอาไว้ว่า เสน่ห์ที่ปลายจวัก จะทำให้ผัวรักผัวหลงกันเลยทีเดียว อันอุปมาอุปไมยเปรียบเปรยแบบนี้ ก็น่าจะมีที่มาอยู่ว่า ผู้หญิงที่จะมัดใจสามีเอาไว้ได้ ในอดีตนั้นต้องอาศัยรสมือปรุงอาหาร และจัดสำรับคาวหวานไว้ให้เพียบพร้อม ไม่ต้องดูอื่นใดไกลเกิน แม้แต่ในตำนานของนางนาคพระโขนง ที่เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น ขนาดว่านางได้เสียชีวิตเพราะคลอดลูกตายทั้งกลมไปแล้ว แต่ดวงวิญญาณของนางก็ยังพันผูกว่ายเวียนคอยปรุงสำรับน้ำพริกให้กับพี่มากผู้เป็นสามีด้วยใจภักดียิ่ง   และฉากคลาสสิกของตำนานนางนาคพระโขนง ที่ใครๆ ต่างก็จดจำและพูดถึงกันอยู่เสมอ ก็คงหนีไม่พ้นฉากที่นางเอื้อมมือยาวๆ ไปเก็บลูกมะนาวที่กลิ้งหล่นไปอยู่ใต้ถุนเรือน ขณะตำน้ำพริกมื้อเย็นให้กับพี่มากสุดที่รัก   แต่ก็นั่นแหละครับ เมื่อเวลาเปลี่ยน กาลสมัยเปลี่ยน นางนาคพระโขนงที่เคยเป็นตำนานเรื่องเล่าก็มีเหตุให้ต้องปรับเปลี่ยนตาม   เพราะฉะนั้น เมื่อนางนาคให้ต้องมาปรากฏตัวอยู่ในโฆษณาโทรทัศน์ของยุคปี 2011 ในวันนี้ แม้แต่เสน่ห์ปลายจวักที่เคยมัดใจพี่มากไว้แต่ครั้งโบราณกาล ก็มีเหตุให้ต้องปรับตัวตามความเป็นไปของยุคสมัยปัจจุบัน   โฆษณาในปี ค.ศ.2011 ได้แปลงเรื่องเล่าของนางนาคที่เคยสยองขวัญแกมรักโรแมนติก ให้กลายเป็นเรื่องโรมานซ์ในแบบฉบับชวนหัวชวนขัน  โฆษณาเปิดฉากมาด้วยนางนาคในชุดห่มสไบนั่งอยู่ในเรือนไทยโบราณ แม่นาคกำลังบรรจงปรุงเสน่ห์ปลายจวักลงในมื้อสำรับอาหาร และแสดงฝีมือทำสะตอผัดกุ้งให้กับชายคนรัก โดยมีชายหนุ่มอย่างอ้ายมากแอบดูเจ้าหล่อนผ่านร่องประตู ด้วยแววตาชื่นชมความเป็นเบญจกัลยาณีของศรีภรรยา  ไฟในเตาที่ลุกโชน บวกกับรอยยิ้มของนางที่บรรจงจัดเตรียมสำรับเย็นอยู่นั้น ยิ่งชายหนุ่มได้สัมผัสเห็นและสูดกลิ่นอายของอาหารเข้าไปเต็มปอด เขาก็ยิ่งดื่มด่ำในรสเสน่ห์ปลายจวักและรสชาติแห่งภักษาหารอันปรุงผ่านรสมือของนาง แต่สักพัก นางนาคก็บังเอิญทำซองผงปรุงรสหล่นลงในร่องพื้นเรือน และก็มาถึงฉากคลาสสิกที่เธอเอื้อมมือยาวๆ ลงไปใต้ถุนเรือน แต่คราวนี้ไม่ใช่เพื่อเก็บลูกมะนาวมาตำน้ำพริก แต่เป็นมือยาวที่เอื้อมไปเก็บซองผงปรุงรส อันเป็นเคล็ดลับความอร่อยคู่ครัวของเธอ  โดยพลันทันใดนั้น พี่มากก็ถึงกับออกอาการตกใจ ผมตั้งฟูกับภาพตรงหน้าของนางนาคที่หันมาทำหน้าตาน่าชวนหัวลุก และแล้วนางนาคก็เปิดประตูเรือนเข้ามา พร้อมถือสำรับอาหารน้อยใหญ่มาเสิร์ฟให้กับสามี ชายหนุ่มลูบศีรษะตัวเองไป และชิมอาหารที่เปี่ยมด้วยผงปรุงรสบรรจุซอง ก่อนจะพูดขึ้นว่า “อร่อยจัง ขอทานอีกสิ...” จากนั้น แม่นาคก็ปิดท้ายโฆษณาด้วยการยื่นมือยาว ๆ ของนางไปหยิบซองผงปรุงรสสำเร็จรูป ก่อนจะพูดขึ้นด้วยเสียงที่ลากโหยหวนว่า “จัดให้...”  แม้จะล่วงเลยมาจนถึงปี 2011 แล้วก็ตาม แต่ทว่าดวงวิญญาณของนางนาคก็มิอาจหลุดพ้นไปสู่สัมปรายภพได้เลย ตรงกันข้าม ในโฆษณาโทรทัศน์นั้น ก็ยังมีการจำลองภาพของเธอมาใช้ “เสน่ห์ปลายจวัก” ผัดผักต้มแกงและตำน้ำพริกป้อนปรนเปรอภัสดาสามีอยู่ไม่สิ้นสุด  แต่อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเวลาที่เปลี่ยนไป กับรูปแบบวัฒนธรรมงานครัวแบบใหม่ที่เอื้อให้ชีวิตคนยุคนี้สะดวกสบายมากขึ้น โฆษณาก็เลยเนรมิตซองผงปรุงรสมาช่วยเพิ่มรสเสน่ห์ปลายจวักที่ประทินแต่งอาหารได้อย่างสำเร็จรูปมากยิ่งขึ้น ทั้งรวดเร็วขึ้น แถมยังสะดวกทันใจแม่บ้านยุคใหม่ที่ชีวิตเร่งรีบยิ่งกว่าศรีภรรยาในอดีตยิ่งนัก  แม้บรรยากาศของฉากในโฆษณาจะถูกวาดให้เป็นเรือนไทย ที่ดูเหมือนกับสถาปัตยสถานในยุคโบราณกาลนานมา แต่ทว่า ด้วยซองผงปรุงรสที่หลุดเข้ามาเป็น “prop” หรือของประดับที่แปลกปลอมอยู่ในฉากบ้านเรือนไทยนั้น ก็ทำให้นางนาคแห่งปี 2011 ได้กลายเป็นวิญญาณแม่นาคที่ทั้งทันสมัยและก้าวล้ำนำมาตรฐานการปรุงสำรับอาหาร ไม่ต่างจากแม่บ้านร่วมสมัยในยุคนี้  หรือพูดอีกนัยหนึ่ง นางนาคผู้มากับซองผงปรุงรส ดูจะไม่แตกต่างจากตัวแทนของวิญญาณสตรีไทย ที่กำลังจะบุกเบิก “ครัวไทย” ให้เดินทางก้าวไกลไปสู่ “ครัวโลก” เพราะฉะนั้น จากยุคหนึ่งที่ “คาถามัดใจ” ให้สามีหลงรักหัวปักหัวปำ จะเกิดเนื่องมาแต่ “รสมือ” ในการปรุงสำรับคาวหวานมาปรนเปรอความสุขให้ทุกคนในครอบครัว แต่มาสู่ทุกวันนี้ที่การปรนเปรอเมนูอาหารหลากรส ไม่ได้มาด้วยรสมือนางล้วนๆ แต่ต้องมาด้วยผงปรุงสำเร็จรูปคลุกเคล้ารวมกันเข้าไป  เพียงเหยาะผงปรุงจากซองลงไป นอกจากจะไม่ต้องรอนานเหมือนกับการเคี่ยวซี่โครงไก่หรือกระดูกหมูกันเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมงแล้ว ยังได้รสรักแบบปรุงสำเร็จรูปได้ในชั่วกระพริบตาเท่านั้น  แม่นาคที่ว่ากันว่าฝีมืองานครัวเป็นเลิศ ขนาดเป็นผีแล้ว เธอก็ยังต้องยอมสยบให้กับซองผงปรุงรสอันแสนวิเศษด้วยเช่นกัน เพราะในขณะที่ต้นฉบับดั้งเดิมของตำนานนางนาคกับพี่มากนั้น ต้องพลัดพรากกันอีกครั้งในตอนจบ เพียงเพราะค่านิยมที่ว่า “ผีพึงอยู่ส่วนผี คนก็ต้องอยู่ส่วนคน ผีกับคนไม่มีวันบรรจบกันได้”  แต่แม่นาคในยุครักสำเร็จรูปนั้น เพียงแค่ใช้ผงปรุงเหยาะไปไม่กี่ซอง เธอก็ทำให้พี่มากเลิกเป็นกังวล แถมยังช่วยปรับเปลี่ยนค่านิยมใหม่ให้กลายเป็น “คนกับผีอยู่ด้วยกันได้” ร่วมเรียงเคียงคู่แบบไม่มีอุปสรรคแต่อย่างใด หรือกลายเป็นรักมั่นอมตะนิรันดรระหว่างผีกับคนไปโน่นเลย สำหรับผมเองแล้ว ก็ไม่รู้หรอกนะครับว่า เจ้าผงปรุงรสที่บรรจุอยู่ในซอง จะมีพลังอำนาจสร้างรักแท้สำเร็จรูปได้ขนาดนั้นจริงหรือเปล่า และรสชาติอาหารที่ได้จากผงปรุงรสจะอร่อยจริงหรือไม่ เพราะในโฆษณาโทรทัศน์นั้น คนดูจะไม่เคยได้ชิมอาหารที่เสิร์ฟใส่จานอยู่หน้าจอได้จริง ๆ หรอก แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ถ้าปรุงอาหารไป และกินอาหารกันไป แล้วทำให้ผีกับคนต้องมากินอยู่คู่เรียงเคียงหมอนเป็น “รักไม่มีวันตาย” กันในแบบโฆษณาด้วยแล้วล่ะก็ คราวนี้ท่าทางจะตัวใครตัวมันกันแล้วนะครับ!!!

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 122 กระดาษพิมพ์หนึ่งแผ่นกับความยับยู่ยี่ของคุณภาพงาน

  มีคำอธิบายว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เรามีอารยธรรมก้าวหน้ากว้างไกลมาได้จนถึงทุกวันนี้นั้น สืบเนื่องมาจากการเริ่มต้นประดิษฐ์คิดค้นแผ่นกระดาษตั้งแต่ครั้งโบราณกาลนานมา   ย้อนกลับไปเมื่อราว 2,200 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากที่ชาวอียิปต์โบราณได้ค้นคิดการผลิตกระดาษปาปิรุสขึ้นมา นับจากนั้นมนุษยชาติก็ได้เริ่มรู้จักกับวัฒนธรรมการสื่อสารแบบใหม่ที่ผ่านการเขียนลงบน “แผ่นกระดาษ” อันผิดแผกแตกต่างจากแต่เดิมที่มีแต่เพียงการจารึกลงบนแผ่นหินหรือการตอกลิ่มลงบนก้อนดินเหนียวที่ปั้นขึ้นไว้เท่านั้น   แล้วกระดาษแผ่นเบาๆ เล็กๆ หนึ่งแผ่นที่คิดค้นขึ้นมาเช่นนี้ ส่งผลอันใดต่ออารยธรรมของมนุษย์เราบ้าง?   คุณูปการของแผ่นกระดาษนั้นมีมากอนันต์ ตั้งแต่การเปิดโอกาสให้มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารได้แบบข้ามพื้นที่ข้ามพรมแดน เพราะความที่เบาและพกพาสะดวกกว่าการบันทึกลงบนแผ่นศิลาจารึก   กระดาษยังช่วยให้มีการจดบันทึกความทรงจำทุกอย่างมิให้สูญหายไป และที่สำคัญ กระดาษยังช่วยให้มนุษย์เราสามารถสั่งสมความรู้สืบต่อไว้จากรุ่นหนึ่งไปสู่อนุชนอีกรุ่นหนึ่ง และความรู้ที่สั่งสมเอาไว้เช่นนี้ ต่อมาก็ค่อยๆ ก่อรูปก่อร่างเป็นอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์จนถึงปัจจุบัน   คิดง่ายๆ นะครับว่า มนุษย์เราต้องรู้จักคิดประดิษฐ์แผ่นกระดาษขึ้นมาก่อน เราจึงจะค่อยมีสมุด หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน มีการเขียนบันทึก เขียนจดหมาย เขียนรายงาน เขียนภาพวาด มีการสร้างแบบแปลนทางสถาปัตยกรรม และมีอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ฉะนั้น จากกระดาษแผ่นแรกในยุคอียิปต์โบราณ ก็สามารถพลิกโฉมหน้าอารยธรรมโลกได้อย่างมากมายมหาศาล   และที่สำคัญ เมื่อแผ่นกระดาษจากยุคปาปิรุส เริ่มไหลมาสู่ยุคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ มนุษย์ในทุกวันนี้ก็ได้สร้างสรรค์ธรรมเนียมปฏิบัติใหม่ๆ มารองรับกับอารยธรรมแผ่นกระดาษแห่งยุคปัจจุบันกาล   ลองดูตัวอย่างในโฆษณากระดาษพิมพ์ยี่ห้อหนึ่งก็ได้นะครับ โฆษณานี้ได้ผูกเรื่องราวของชีวิตผู้คนในสังคมอุตสาหกรรมยุคใหม่ โดยเปิดเรื่องมาในบริษัทแห่งหนึ่งที่เลขานุการิณีสาวได้ยื่นแฟ้มผลประกอบการประจำปีให้กับบอสใหญ่ เมื่อบอสใหญ่เปิดแฟ้มออกดู ก็แสดงทีท่าพิโรธโกรธกริ้วกับเอกสารรายงานที่เส้นกราฟต่าง ๆ ดูเลอะเทอะไปด้วยหมึกสี และมีเสียงบรรยายชายพูดขึ้นว่า “ถ้างานเลอะเทอะ คุณก็จะกลายเป็นคนเลอะเทอะ”   และเมื่อเสียงโองการสวรรค์ได้พูดจบลง ภาพโคลสอัพใบหน้าของคุณเลขาสาวก็กลายเป็นใบหน้าที่ยับยู่ยี่ คอสเมติกเมคอัพก็เลอะเลือน และผมเผ้าของเธอก็ยุ่งเหยิงยิ่งนัก ไม่ต่างไปจากคุณภาพกระดาษที่เธอใช้พิมพ์เอกสารใส่แฟ้มให้กับเจ้านายใหญ่   เมื่อบิ๊กบอสขยำต้นฉบับรายงานในแฟ้มทิ้ง ใบหน้าของเธอก็ยิ่งยับเยินยู่ยี่มากขึ้น พร้อมกับเสียงเพลงบรรเลงที่คลอด้วยความเศร้า และคุณเลขาสาวก็ต้องมานั่งคอตกหดหู่เหม่อมองดูกระดาษที่ถูกขยำทิ้งไปต่อหน้าต่อตา สักพักหนึ่ง เสียงโองการสวรรค์ก็พูดแนะนำขึ้นว่า “ลองใช้กระดาษยี่ห้อ xxx ดูสิ...คมชัดทุกเฉดสี” แล้วภาพกระดาษพิมพ์ก็ไหลออกมาจากเครื่องพริ้นเตอร์   จากนั้น เมื่อเจ้านายได้รับรายงานแฟ้มชุดใหม่ กระดาษรายงานที่พิมพ์ได้อย่างคมชัดด้วยสีสัน ก็ทำให้ใบหน้าอันยับยู่ยี่ของเลขาสาวค่อยๆ คลี่ออก กลายเป็นวงพักตร์ที่ผุดผ่องสดใสขึ้นมา เจ้านายใหญ่ได้ส่งสายตาหวานฉ่ำให้กับเธอ พร้อมกับเสียงสวรรค์ที่พูดตบท้ายว่า “งานดี คุณก็ดูดี...กระดาษไม่ดี คนใช้กระดาษก็ดูไม่ดีด้วย”   ตามที่ผมได้เบิกประเด็นเอาไว้ตั้งแต่ต้นว่า การเกิดขึ้นของแผ่นกระดาษได้เปลี่ยนแปลงอารยธรรมโลกเป็นอย่างมาก และทุกวันนี้มนุษย์เราก็ได้ปรับเปลี่ยนคุณค่าใหม่ๆ ในการสื่อสารด้วยแผ่นกระดาษออกไป   ย้อนกลับไปในยุคเก่าก่อน คุณค่าของมนุษย์จะถูกตัดสินด้วยความรู้ที่บันทึกบนแผ่นกระดาษ และคุณค่าจากการอ่านออกเขียนได้ จนคนไทยสมัยก่อนเองก็มีคำพูดที่ว่า “ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ” อันแปลว่า ความรู้ที่ผ่านการอ่านออกเขียนได้เป็นสิ่งที่ใช้ตัดสินคุณค่าที่แท้จริงของคนในยุคนั้น   ผมจำได้ว่า สมัยเมื่อตอนเด็กๆ นั้น ตนเคยถูกบังคับให้เรียนทั้งวิชาเขียนไทยและคัดไทย คัดเขียนกันตั้งแต่ตัวอักษรไทยธรรมดา ตัวเลขไทย ไปจนถึงการฝึกเขียนอักษรแบบตัวอาลักษณ์ซึ่งยากเย็นแสนเข็ญยิ่ง แต่นั่นก็เพราะว่ามาตรวัดคุณค่าของคนยุคนั้นเขาตัดสินกันจากลายเส้นอักขระที่เราเขียนลงบนแผ่นกระดาษ  จนถึงขนาดที่นักร้องลูกทุ่งสมัยก่อนเอาไปร้องเป็นเพลงว่า “ลายมือไม่ดีต้องขอโทษทีเพราะความรู้ต่ำ” ประมาณนั้น แต่มาถึงทุกวันนี้ ที่เทคโนโลยีการพิมพ์ก้าวหน้ามากขึ้น “ลายมือไม่ดี” ยังไม่สำคัญเท่ากับ “คุณภาพกระดาษที่ไม่ดี” เพราะการพิมพ์งานให้ออกมาดูสวยงามได้นั้น ต้องอาศัยคุณภาพแผ่นกระดาษที่ทนความร้อนจากเครื่องพิมพ์ได้ เพราะฉะนั้น คงไม่ใช่ “ลายมือ” ที่จะถูกใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าและความรู้ของคนอีกต่อไป หากแต่เป็นคุณภาพของกระดาษที่เราเลือกใช้มากกว่า ที่จะบ่งบอกว่า “ผลของงาน” นั้นจะมีคุณภาพแค่ไหนและเพียงใด   ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมเจ้านายใหญ่ที่รับแฟ้มรายงานประจำปีมาอ่าน จึงแทบจะไม่สนใจเนื้อหาและกราฟสถิติที่สรุปผลไว้ในรายงานชิ้นดังกล่าวเลย แต่กลับตัดสินคุณค่าของงานจากแผ่นกระดาษที่เลขาสาวเลือกมาใช้พิมพ์เป็นลำดับแรก   กระดาษที่ดีและไม่ทำให้สีผิดเพี้ยนนั้น ได้กลายมาเป็น “คุณค่า” แบบใหม่ในสังคมอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต ผิดกับกระดาษอันยับยู่ยี่ที่จะถูกนำมาใช้ตัดสิน “คุณค่า” ของคุณเลขานุการิณีสาวว่า คุณภาพของผลงานที่เธอทำขึ้นมา ก็ยับยู่ยี่ไม่ต่างไปจากกระดาษที่เธอเลือกใช้แต่อย่างใด   ถ้าใช้แผ่นกระดาษดี แล้วแปลว่าผู้เลือกใช้จะดูดีตามแล้วไซร้ ผมว่าต่อไป หากคุณเลขานุการสาวจะลองเลือกพิมพ์งานด้วยกระดาษปาปิรุสดูบ้าง ก็อาจจะดูดี ดูคลาสสิก และดูโดดเด่นแตกต่างไปจากแฟ้มงานแบบอื่น ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีไม่น้อย...  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 121 อะไรเอ่ย...คนกินไม่ได้ปลูก คนปลูกไม่ได้กิน?

  อะไรเอ่ย คนกินไม่ได้ปลูก แถมคนปลูกก็อาจจะไม่เคยแม้แต่จะได้กิน?... คำเฉลยก็คือ “กาแฟ” ไงล่ะครับ เป็นเรื่องที่น่าแปลกไหมครับว่า ทำไมกาแฟที่ผู้คนดื่มจิบกันอยู่ทุกวันจึงกลายเป็นสิ่งที่พวกเขาได้แต่ดื่ม แต่ไม่เคยลงมือปลูกเอง ในขณะที่คนปลูกเองก็แทบจะไม่มีใครได้ดื่มเป็นกิจวัตรวิสัย   ในโฆษณากาแฟสำเร็จรูปแบบ 3 in one ยี่ห้อหนึ่ง ได้ผูกเล่าภาพเรื่องราวของพระเอกหนุ่มซุป’ตาร์รูปงามในชุดสเวตเตอร์สีแดงนายหนึ่ง เดินทางเข้าไปเยือนธรรมชาติของหุบเขาทางภาคเหนือกลางฤดูใบไม้ที่กำลังเปลี่ยนสี   ดนตรีคลอเบา ๆ ฟังสบาย ๆ และเขาก็กำลังรื่นรมย์ชมชื่นอยู่กับทัศนียภาพรอบตัว (ด้วยแววตาตกอยู่ในภวังค์แห่งธรรมชาติที่งดงามยิ่งนัก) ทันใดนั้น เสียงเอคโค่แทนความในใจของเขาก็ก้องดังขึ้นมาว่า “…(กับบรรยากาศดี ๆ แบบนี้) ถ้ามีกาแฟหอม ๆ สักถ้วยก็คงดี...”   ฉับพลัน เด็กน้อยชาวเขานางหนึ่งที่แอบอยู่หลังต้นไม้ก็ปรากฏตัวออกมา เด็กหญิงเดินเข้ามาสะกิดตัวของซุป’ตาร์หนุ่ม และเอ่ยกล่าวกับเขาที่กำลังต้องมนตราแห่งใบไม้เปลี่ยนสีว่า “...พี่ ๆ ตัวจริงหล่อกว่าในทีวีอีกนะคะ...”   คุณพี่พระเอกส่งยิ้มหวานให้กับน้องชาวเขาตัวน้อย และราวกับจะรู้และได้ยินเสียงเอคโค่ความในใจของคุณพี่พระเอกสุดหล่อ เด็กหญิงได้หยิบซองกาแฟ 3 in one ส่งให้ เขาอ่านออกเสียงชื่อยี่ห้อข้างซองกาแฟให้ผู้ชมได้ยิน แล้วเสียงเพลงคลอกีตาร์โปร่งก็เริ่มดังขึ้นว่า “...มีเวลาดี ๆ ก็บอกให้ฉันได้ฟัง ไม่มากเกินไปกว่านั้น...”   ภาพตัดสลับมาที่เมล็ดกาแฟยอดดอยซึ่งคั่วจนหอมแล้ว กำลังร่วงกราวลงมาที่หน้าจอโทรทัศน์ มีมือของคนงานที่กำลังกวาดเกลี่ยเมล็ดกาแฟให้แห้งทั่วกัน ก่อนที่จะกลายเป็นภาพของเมล็ดกาแฟเหล่านั้นได้แปรสภาพเป็นกาแฟผงสำเร็จรูปแบบ 3 in one ที่เทออกจากซองระเรี่ยไหลลงในถ้วยกาแฟของพระเอกหนุ่ม ชายหนุ่มสูดกลิ่นอายของกาแฟ แกล้มกับการสูดอนุภาคของโอโซนเข้าไปเต็มปอด เขาจิบกาแฟในถ้วย และแสดงแววตาตื่นตะลึงออกมา ประหนึ่งว่าได้ “ค้นพบ” บางสิ่งบางอย่างที่วิเศษเลอเลิศที่สุดในชีวิต พร้อมกับชูถ้วยกาแฟบอกกับผู้ชมทางบ้านว่า “หอม...นี่แหละรสชาติดี ๆ ที่ผมค้นพบ” ปิดท้ายโฆษณาด้วยภาพคุณพี่พระเอกกับคุณน้องชาวเขานั่งเคียงคู่กัน ก่อนจะถ่ายภาพคู่เพื่อเก็บความทรงจำอันดีและมนต์เสน่ห์ในการจิบกาแฟกลางขุนเขาของคุณพี่พระเอกเอาไว้แบบเป็นนิรันดร์   ก็อย่างที่ทราบ ๆ กันนะครับ ด้วยทำเลที่ดีทางภูมิประเทศและภูมิอากาศ ภาคเหนือของเราได้กลายมาเป็นดินแดนที่เหมาะสมกับการทำกสิกรรมไร่กาแฟ ยิ่งประกอบกับยุคสมัยหนึ่งที่ทางภาครัฐได้รณรงค์ส่งเสริมให้ชาวเขาชาวดอยปลูกกาแฟแทนการปลูกฝิ่น การผลิตกาแฟจึงกลายเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเบ่งบานมากจนถึงปัจจุบัน แต่ที่น่าประหลาดใจก็คือ ในขณะที่ชาวเขาประกอบอาชีพกสิกรในไร่กาแฟเป็นจำนวนมาก แต่ผลผลิตของกาแฟกลับไม่ใช่เป็นไปเพื่อการบริโภคโดยชาวเขาเองเป็นหลัก ทว่า กาแฟหลากหลายตันต่อปีได้ถูกแปรรูปไปเป็นผลิตผลเพื่อการดื่ม(ด่ำ)ของผู้บริโภคที่อยู่นอกพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ดื่มที่อยู่ตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ   ก็คล้าย ๆ กับในโฆษณานั่นแหละครับ เมื่อคุณพระเอกหนุ่มปรารถนาจะหากาแฟหอม ๆ สักถ้วยมาดื่มท่ามกลางบรรยากาศใบไม้ร่วงบนยอดเขา เขาก็ไม่ได้เลือกจะลงมือปลูกกาแฟเอาไว้เพื่อดื่มเอง   ตรงกันข้าม คุณพี่พระเอกกลับเลือกชงกาแฟที่หยิบยื่นให้จากมือน้อย ๆ ของคุณน้องผู้หญิงชาวเขา โดยบอกกับผู้ชมว่า นี่แหละคือสิ่งดี ๆ ที่ตน “ค้นพบ” พร้อม ๆ กับที่คนดูเองก็ค้นพบคำตอบด้วยว่า เรื่องของกาแฟนั้น คนปลูกเขาจักไม่ดื่ม เฉกเช่นเดียวกับที่คนดื่มเองก็จักไม่ใช่ผู้ที่ลงสองมือปลูก รวมไปถึงคั่ว ตาก เก็บ และบดออกมาเป็นผงกาแฟปรุง 3 in one แบบที่ผมถามอะไรเอ่ยเล่น ๆ ในตอนต้นนั่นเอง อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ว่าชาวเขาปลูกกาแฟแต่ไม่ได้ดื่มเองนั้น ปัญหาไม่ใช่อยู่แค่เพราะว่า เขาดื่มกาแฟไม่เป็นกันหรอกนะครับ แต่น่าจะเป็นเพราะว่าพวกเขาเป็นชนชายขอบหรือแรงงานชายขอบที่มี “อำนาจน้อย” ตั้งแต่การไร้อำนาจที่จะเป็นเจ้าของไร่กาแฟ (ซึ่งนายทุนเจ้าของส่วนใหญ่ก็เป็นคนนอกพื้นที่) การไม่มีอำนาจในการเป็นเจ้าของเม็ดเงินที่จะลงทุนเพาะปลูกเมล็ดกาแฟ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขาดอำนาจในการกำหนดกฎเกณฑ์ว่า “ใครพึงควรเป็นผู้ปลูก” และ “ใครพึงควรเป็นผู้ดื่ม” ในวงจรการผลิตสินค้ากาแฟ    เพราะฉะนั้น เมื่อมีอำนาจน้อย โฆษณาก็เลยทำให้ตัวละครชาวเขากลายสภาพเป็น “เด็กน้อยตัวกระเปี๊ยก” ไปเสียเลย แถมยังเป็นเด็ก “บ้านป่าบ้านเขา” ที่ชื่นชมความหล่อเหลาของพระเอกทีวี และเอื้ออารีมากพอที่จะส่งมอบกาแฟรสหอมแบบ 3 in one ให้กับคุณพี่พระเอก ที่แสดงความในใจว่าอยากดื่มกาแฟหอม ๆ เพื่อแกล้มเคล้ากับโอโซนกลางขุนเขา ชาวเขาผู้ผลิตกาแฟที่กลายเป็นเด็กน้อย “น่ารัก” และ “น่าชัง” จึงมีสถานะเป็นได้แค่คนชายขอบของอำนาจในกระบวนการผลิตและบริโภคกาแฟไปโดยปริยาย   ท้ายสุด ผมลองคิดเล่น ๆ ว่า จะเกิดอะไรขึ้นหนอ ถ้าโฆษณาเกิดนำเสนอภาพขึ้นมาใหม่ว่า ให้คุณพี่พระเอกหนุ่มลงมือปลูกกาแฟและตากคั่วเมล็ดกาแฟเองเลย ในขณะที่คุณน้องหนูชาวเขามานั่งจิบกาแฟชมทัศนียภาพแห่งขุนเขาในฤดูใบไม้เปลี่ยนสีแทน กับบทบาทผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สลับกันดังกล่าวนี้ หลาย ๆ คนก็คงจะบอกว่า เป็นภาพที่สลับขั้วสลับข้าง และคงจะดูแปลกประหลาดหรือชวนตะหงิด ๆ ใจผู้ชมอยู่ไม่น้อย???  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ความคิดเห็น (0)