ฉบับที่ 128 กลรักลวงใจ : เมนูบุฟเฟ่ต์ของเจ้าหญิงในเทพนิยาย

 

เมื่อสักสองเดือนก่อน ผมได้มีโอกาสคุยผ่านทางโลกออนไลน์กับ บก. นิตยสารฉลาดซื้อ และ บก. ได้ปรารภขึ้นมาว่า ช่วงนี้กระแสของละครโทรทัศน์บ้านเรากำลังมาแรงเสียเหลือเกิน ผมจะสนใจลองเปลี่ยนสลับมาเขียนวิจารณ์หรือเชิญชวนให้คุณผู้อ่านได้รู้เท่าทันละครโทรทัศน์กันบ้างหรือไม่ ผมก็ได้ตกปากรับคำคุณ บก. เธอไปว่าจะเริ่มต้นจากนิตยสารฉลาดซื้อฉบับนี้ก็แล้วกัน

 

ด้วยเหตุดังกล่าว ผมจึงขออนุญาตสลับฉากสลับอารมณ์ของคุณผู้อ่านมาวิเคราะห์ละครโทรทัศน์กันบ้าง โดยเลือกเรื่อง “กลรักลวงใจ” ที่หลายคนหลายบ้านติดกันงอมแงมในขณะที่ผมกำลังนั่งปั่นต้นฉบับส่งกอง บก. ชิ้นนี้ ก็เพราะทั้งความน่ารักของคุณเจนนี่ในบทของบัวระวง และความหล่อเหลาของคุณเคนธีรเดชในบทของพี่รัญ กับทัศนียภาพวิวสวยๆ ในดินแดนฝันอย่างกรุงปรากของสาธารณรัฐเชค

 

อันที่จริง โครงเรื่องของละครนั้นก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก เป็นเรื่องราวสไตล์โรแมนติกคอมเมดี้ของบัวระวงลูกสาวเศรษฐีโรงงานซีอิ๊วที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย กับเลขานุการเอกอัครราชทูตหนุ่มไทยประจำกรุงปรากอย่างพี่รัญ ทั้งคู่ได้ถูกทางบ้านจับคลุมถุงชนกับคนที่ตนเองไม่ได้รู้จักรักกันมาก่อน น้องบัวเธอก็เลยต้องระเห็จปลอมตัวมาเป็นสาวขายบริการ เพื่อไปรับจ้างเป็นภรรยาของพี่รัญถึงอีกฟากหนึ่งของโลก

 

ด้วยความที่บัวระวงเธอทั้งสวย ฉลาดหลักแหลม และเป็นแม่ศรีเรือนที่ดี จึงทำให้พี่รัญแอบหลงรักเธอตั้งแต่แรกเห็นเป็น “love at the first sight” แต่ทว่า กว่าที่ทั้งคู่จะฝ่าด่าน “กลรัก” มากมายที่มา “ลวงใจ” ได้นั้น ก็ต้องมีบททดสอบจากผู้คนรอบข้างเพื่อพิสูจน์ว่า “รักแท้” ต้องมาจากการพิสูจน์ของชายหญิงเท่านั้น


แม้ว่าโดยธีมหลักของเรื่องจะเป็นการเปิดโปงให้ผู้ชมเห็นว่า มนุษย์เราทุกวันนี้ ไม่ใครก็ใคร หรือแม้แต่จะเป็นพ่อแม่ลูกและญาติพี่น้องผองเพื่อนกันเอง ก็ไม่ได้แปลว่า คนเหล่านั้นจะปลอดจากการเสกสรรปั้นแต่งหน้ากาก “กลลวง” มาล่อหลอกจิตใจของกันและกัน


แต่อีกด้านหนึ่ง ละครเรื่องนี้ก็ยังได้สะท้อนให้เห็นกลวิธีตัดสินใจของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะบรรดาผู้หญิงชนชั้นกลางยุคนี้ ว่า เมื่อพวกเธอต้องมาเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่รุมล้อมรอบตัว เธอเหล่านั้นจะกากบาททับตัวเลือกทางเดินชีวิตเยี่ยงไร

 

ก็แบบเดียวกับบัวระวง ที่พอถูกจับคู่คลุมถุงชนกับลูกชายรัฐมนตรีที่เธอไม่ได้เลือกเองอย่างฉัตรชัย แถมเขายังเป็นผู้ชายที่เจ้าชู้เป็นเบอร์หนึ่ง เธอเองก็เลือกกากบาทที่การหลบลี้หนีปัญหาไปตามล่าหาชายในฝันแบบพี่รัญ ซึ่งเธอเองเคยแอบหลงรักมาตั้งแต่ครั้งเมื่อเป็นวัยรุ่น

 

หนีแล้วก็ไม่หนีเปล่า...บัวระวงก็ได้พาผู้ชมเข้าไปชิม “บุฟเฟ่ต์ยำใหญ่” ของการ “ตัดแปะ” ผสมเอา fairy tales เรื่องนั้นเรื่องนี้ มาสร้างเป็นจินตนิยายแบบที่เธอเองจะได้สนุกสนานจากการหลบเร้นหนีปัญหานั้นไปเสียเลย

 

เริ่มตั้งแต่ที่หญิงสาวเก็บกระเป๋าออกจากคฤหาสน์โรงงานซีอิ๊วไปเป็นคุณโดโรธีที่ “follow the yellow line” บินลัดฟ้าตามกระต่ายไปสู่ดินแดนมหัศจรรย์แห่ง Oz ที่ไกลโพ้นถึงกรุงปราก ที่บรรยากาศก็ช่างดูไม่แตกต่างจากเทพนิยายแฟนตาซีแต่อย่างใด

 

และถ้าจะให้ดูเป็นเทพนิยายจริง ๆ แล้ว “Beauty” แบบน้องบัวระวง ก็ต้องไปพบกับเจ้าชายในฝันที่รูปหล่อเลิศเลอเพอร์เฟ็ค (หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นเจ้าชายที่หาได้ยากยิ่งในโลกความจริง) ซึ่งเลขานุการหนุ่มของท่านทูตไทยอย่างคุณพี่รัญก็คือเขาคนนั้นที่เป็น “The Best” ของ “Beauty” อย่างน้องบัว

 

ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจ ที่ในเทพนิยายแบบนี้ บัวระวงก็ต้องจำแลงกายอีกครั้งเป็นคุณอลิซผู้ท่องวันเดอร์แลนด์ ควงแขนพี่รัญพากันเดินเที่ยวชมทัศนียภาพของกรุงปรากโดย “ไม่สนสายตาใคร” ไล่เลาะกันเรื่อยไปตั้งแต่ย่านโอลด์ทาวน์สแควร์ ผ่านสะพานชาร์ลส์บริดจ์ ไปจนถึงปราสาทแห่งปรากที่มองเห็นแม่น้ำไหลผ่านอยู่ไกลๆ

 

เมื่อท่องเที่ยวเป็นอลิซอินวันเดอร์แลนด์แล้ว บัวระวงก็มาเป็นซินเดอเรลล่าคอยทำงานบ้าน ปรนนิบัติพัดวี กวาดบ้านถูบ้าน ซักผ้า ล้างถ้วยล้างชาม และสร้างสรรค์เมนูอาหารตำรับนานาชาติมาบำรุงบำเรอพระเอกหนุ่มเลขาท่านทูต

 

เพราะฉะนั้น ถ้าไม่นับฉากการเดินท่องเที่ยววนรอบกรุงปรากกันแล้ว บัวระวงก็มักจะปรากฏกายในชุดคอสตูมผ้ากันเปื้อน และสาละวนอยู่กับการใช้ชีวิตในห้องครัว รังสรรค์เมนูนานานาชนิดอยู่ตลอดเวลา

 

และเมื่อ “พ่อแง่” มาเจอกับ “แม่งอน” ในดินแดนในฝันแบบนี้ ที่จะขาดเสียไม่ได้เลย ก็ต้องมีฉากประเภทที่บัวระวงในอารมณ์งอนง้อพี่รัญ และหนีออกไปจากบ้าน จนไปพานพบกับคนร้ายหรือบรรดาปีศาจที่จะเข้ามาทำมิดีมิร้ายกับเธอ และก็ต้องเป็นเจ้าชายอย่างพี่รัญนั่นแหละที่เข้ามาช่วยเธอจัดการกับเจ้าปีศาจเพื่อพิสูจน์ว่ารักแท้ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว

 

รวมไปถึงฉากคลาสสิคแบบที่พี่รัญอาบน้ำอยู่แล้วบังเอิญทำสบู่เข้าตา ก็ต้องเป็นบัวระวงนี่เองที่เอาน้ำมาล้างตาให้เขา และแอบสำรวจตรวจสอบเรือนร่างของเจ้าชายหนุ่มที่กำลังสรงสนานอยู่นั้น


และไหนๆ ก็สร้างแฟนตาซีในฝันกันมาเสียขนาดนี้ ถ้าจะให้ครบเรื่องกันแล้ว ละครก็ต้องสร้างตัวละครผู้หญิงที่ร้ายกาจอย่างอ้อมคู่หมั้นของพี่รัญขึ้นมา ให้เป็นประหนึ่งนางแม่มดที่คอยหาเรื่องหาราวสโนว์ไวท์บัวระวงกับเจ้าชายรัญรูปงามไม่ให้ “they live happily ever after” กันได้ง่าย ๆ จนกว่าจะถึงตอนจบ


กว่าที่สโนว์ไวท์บัวระวงจะฝ่าด่านแม่มดอ้อมตัวร้ายไปได้ เธอก็แทบจะงอมพระรามกันไปเลย เพราะบังเอิญในโลกจินตนาการนั้น สโนว์ไวท์กลับลืมพาบรรดาเพื่อนคนแคระทั้งเจ็ดมาเป็น “ตัวช่วย” ไปเสียนี่ ก็เลยต้องเป็นเธอเองที่ประมือกับนางแม่มดกันโดยตรง

 

“กลรัก” ที่ “ลวงใจ” ของน้องบัวระวงและพี่รัญนั้น ดูแล้วช่างไม่แตกต่างจากการซื้อตั๋วไปดู “ฮอลิเดย์ออนไอซ์” ที่ผู้สร้างบทได้ “ตัดแปะ” ปรุงบุฟเฟ่ต์เจ้าหญิงในเทพนิยายหลาย ๆ เรื่องที่ลากพาผู้หญิงชนชั้นกลางให้หลีกหนี มากกว่าจะหันกลับไปเผชิญกับปัญหาในชีวิตจริง และที่สำคัญ ยิ่งผู้หญิงกลุ่มนี้หนีจากปัญหาไปมากเท่าไร เธอก็จะยิ่งรู้สึกสนุกสนานกับการท่องโลกแฟนตาซีกันไปอย่างไม่สิ้นไม่สุด


ดูชีวิตหญิงชนชั้นกลางแบบบัวระวงที่เลือก “หลบหนี” ปัญหาไปเช่นนี้แล้ว ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่า แล้วถ้าเป็นกรณีของผู้หญิงชายขอบบ้างล่ะ เมื่อพวกเธอต้องเผชิญกับปัญหาในชีวิต เธอจะเลือกสร้างเทพนิยายท่องวันเดอร์แลนด์หรือไม่ หรือเธอจะเลือกครวญเพลงว่า “ก็ฉันเองก็เป็นหมือนคนอื่นทั่วไป ไม่ใช่ดังเจ้าหญิงในนิยาย”…???


แหล่งข้อมูล: สมสุข หินวิมาน

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง: นิตยสารออนไลน์ กลรักลวงใจ

ฉบับที่ 127 เวทีนี้ไม่มีแพ้คัดออก

  เมื่อวันก่อน ขณะที่ผมกำลังเผชิญชะตากรรมรถติดเป็นแพอยู่บนท้องถนนของกรุงเทพมหานครอยู่นั้น ผมได้เหลือบไปเห็นป้ายสติ๊กเกอร์ท้ายรถแท็กซี่คันหนึ่ง เขียนข้อความว่า “ไม่ต้องเร่ง...กูก็รีบ”  ผมอ่านสติ๊กเกอร์แผ่นนั้นไป ก็ขำไป ทำไมมนุษย์เราช่างมีอารมณ์ขันจนสร้างสรรค์ข้อความเสียดสีล้อเลียนบรรยากาศที่เกิดทุกช่วงเช้าและเย็นในเมืองหลวงของเรากันได้ขนาดนี้???  แต่ในขณะเดียวกัน แผ่นสติ๊กเกอร์ก็สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งด้วยว่า สังคมไทยทุกวันนี้ น่าจะทำให้มนุษย์เราอยู่ในวังวนของ “การแข่งขัน” ที่จะเอาชนะกันอย่างสูง แข่งขันกันในภาระหน้าที่การงาน แข่งกันกินแข่งกันอยู่ แข่งกันดังแข่งกันเด่น แข่งกันในทุกที่ทุกเวลา ไม่วายเว้นแม้แต่จะแข่งขันเร่งรีบกันอยู่บนท้องถนนขนาดนี้  แต่อย่างไรก็ดี คำว่า “แข่งขัน” ที่แปลว่า ต่อสู้ช่วงชิงชัยเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง และเพื่อจะไม่เราต้องกลายเป็น “the weakest link” ที่จะถูก “กำจัดจุดอ่อน” ออกไปเช่นนี้ ดูเหมือนจะไม่ใช่นิยามเดียวที่ผูกขาดความหมายของคำว่า “การแข่งขัน” เสมอไปนะครับ ในระบบวิธีคิดของคนไทย เรายังมีชุดความหมายอื่นๆ ของคำว่า “แข่งขัน” ได้อีกเช่นกัน ในโฆษณาน้ำอัดลมอัดกระป๋องยี่ห้อหนึ่ง ได้ผูกเล่าเรื่องราวการแข่งขันประชันเสียงดนตรีร็อคของคนสองกลุ่มเอาไว้ กลุ่มแรกเป็นคณะนักดนตรีร็อคชื่อก้องอย่างวงบอดี้สแลม ที่นำโดยพี่ตูนและคณะ กับอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ที่นำโดยดาราหนุ่มสุดหล่ออย่างน้องเก้าจิรายุและผองเพื่อน  เปิดฉากมา พี่ตูนและคณะนักดนตรีบอดี้สแลมเดินทางมาที่เขาชนไก่ พร้อมอาวุธเครื่องดนตรีครบมือ และระหว่างทางนั้น ทั้ง 4 ชีวิตก็มาพานพบเจอกับกลุ่มศิลปินรุ่นน้องอีก 4 คนที่ดักรออยู่  จากนั้น เสียงดนตรีร็อคก็ดังกระหึ่มขึ้น เมื่อศิลปินทั้งสองกลุ่มต่างประชันกันด้วยอาวุธในมืออย่างเป็นพัลวัน ไม่ว่าจะเป็นการดีดกีต้าร์ไฟฟ้า การรัวไม้กลองห้ำหั่น หรือการกระหน่ำยิงเสียงดนตรีใส่กัน ประหนึ่งการโคจรมาเจอกันในสนามเล่นบีบีกันยังไงยังงั้น  ต่างฝ่ายต่างวิ่งหลบเข้าหลังบังเกอร์บ้าง หลบหลังกำแพงอิฐบ้าง ในหลืบตึกบ้าง หรือหลบอยู่หลังหอคอยกระโดดสูงบ้าง พร้อมๆ กับที่ทุกชีวิตต่างก็สาดกระสุนตัวโน้ตดนตรีร็อคกระจายไปทั่วสนามฝึกที่เขาชนไก่ หลังจากที่พี่ตูนและน้องเก้าหลบออกมาจากหลังบังเกอร์กำแพงแล้ว ต่างก็รัวกีตาร์ไฟฟ้าสาดห่ากระสุนตัวโน้ตเข้าใส่กัน ศิลปินรุ่นพี่ใช้ไหวพริบหลอกล่อรุ่นน้องวิ่งตามไปจนติดกับบ่วงเชือกที่กระตุกขาของเขาขึ้นไปห้อยติดอยู่บนต้นไม้ ก่อนที่พี่ตูนจะยกนิ้วเป็นสัญญาณว่า “เป็นต่อ” อยู่ในขณะนั้น   ภาพตัดมาที่พี่ตูนและศิลปินบอดี้สแลมทั้งวงวิ่งตรงมายังเวทีคอนเสิร์ตกลางแจ้ง พี่ตูนกระโดดขึ้นไปบนเวทีและเตรียมเริ่มต้นการแสดงของพวกเขา แต่ปรากฏว่าสี่เท้ายังรู้พลาด นักดนตรีร็อคยังรู้พลั้ง พี่ตูนของมิตรรักแฟนเพลงกลับเผลอลืมหยิบปิ๊กเล่นกีตาร์ไฟฟ้าขึ้นมาเวทีเสียนี่  น้องเก้าจิรายุที่คราวนี้มายืนเชียร์อยู่ด้านล่างเวที ก็เลยเปิดฝากระป๋องน้ำอัดลม แล้วโยนฝาขึ้นไปบนเวที ให้พี่ตูนได้ใช้แทนปิ๊กเล่นกีตาร์ ก่อนโฆษณาจะจบลงด้วยภาพศิลปินทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้องโดดขึ้นไปร่วมแจมดนตรีกันบนเวทีอย่างมีความสุข  ในขณะที่คนเราทุกวันนี้อาจจะรับรู้ว่า “การแข่งขัน” ก็คือ การพยายามเอาชนะหรือห้ำหั่นกันให้ตายไปข้างหนึ่ง แต่ทว่า ความหมายอีกชุดหนึ่งของ “การแข่งขัน” แบบในโฆษณา ก็อาจจะแปลความได้ด้วยว่า เป็นการประชันฝีมือ ลับเหลี่ยมลับคมอย่างมีมิตรภาพ  บนเวทีของระบบการผลิตแบบทุนนิยมสมัยใหม่นั้น พยายามทำให้คนจำนวนมากเชื่อว่า วิธีคิดเรื่อง “การแข่งขัน” นั้นมีอยู่เพียงความหมายเดียว นั่นคือ ในสนามแข่งขันนั้น “ม้าตัวสุดท้าย” ต้องถูกคัดออกเสมอ เพราะฉะนั้น หากใครก็ตามคิดจะมาลงแข่งขันกันในสนามของระบบนี้แล้วล่ะก็ ต้องพยายามถีบตัวเองให้เป็นเบอร์หนึ่งที่เข้าวิน และต้องทำทุกวิถีทางแม้จะต้องห้ำหั่นทำลายกันเพื่อไม่ให้ตนตกเป็น “ม้าตัวสุดท้าย” ที่จะวิ่งเข้าสู่เส้นชัยในการแข่งขัน  แต่ทว่า ในอีกแง่หนึ่ง หากเราย้อนกลับยังวิถีการผลิตของสังคมในยุคก่อนทุนนิยมแล้วนั้น คำว่า “การแข่งขัน” อาจมิได้เป็นไปเพื่อการประหัตประหารกันและกันให้ม้วยสิ้นไปข้างหนึ่ง ตรงกันข้าม การแข่งขันถือเป็นกิจกรรมทางสังคม เพื่อลับเหลี่ยมลับคมลับฝีมือกันมากกว่าจะทำลายกัน  ตัวอย่างศิลปินในสมัยก่อนนั้น กว่าที่จะมีชื่อเสียงขจรขจายขึ้นมาได้ พวกเขาไม่ใช่แค่จะร่ำเรียนฝึกฝนความรู้อยู่กับตัวเองเท่านั้น แต่พวกเขามักจะชอบออกตระเวนท่องยุทธภพไปแสวงหาความรู้และฝึกฝนประชันกับศิลปินที่มีความสามารถสมน้ำสมเนื้อหรือพอเหมาะพอฝีมือกัน   ด้านหนึ่ง การออกไปตระเวนร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำของบรรดาศิลปินโบราณ ก็เพื่อสานมิตรสร้างเครือข่ายของศิลปินด้วยกัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็คงเป็นเพราะว่า การได้ประชันฝึกฝีมือกับศิลปินคนอื่น ๆ ก็เหมือนกับการเอามีดไปฝนลับกับหิน ยิ่งลับก็จะยิ่งคมมากขึ้นเรื่อยๆ  ก็เหมือนกับศิลปินร่วมสมัยรุ่นพี่รุ่นน้องที่อยู่ในโฆษณานั่นแหละครับ ที่นานๆ ครั้งก็ต้องมีจังหวะท้าดวลท้าประลองดนตรีร็อคกันให้สนั่นภูเขา ทั้งนี้ก็เพราะฝีมือกีตาร์ไฟฟ้ากับการรัวไม้กลองดนตรีนั้น จะ “คม” ขึ้นไม่ได้เลย หากขาดการ “ลับ” ฝีมืออยู่เป็นเนืองๆ  ไหวพริบ ลีลา และตัวโน้ตที่บรรเลง จึงต้องมาจากการฝึกฝนกันอยู่ในสนามประลอง ผลัดกันรุกผลัดกันรับ หรือแม้แต่การพลาดท่าติดบ่วงเชือกไปห้อยอยู่บนต้นไม้ ก็เป็นบทเรียนที่ดีของศิลปินรุ่นน้องที่จะใช้ความผิดพลาดเป็นครูที่ดี ก่อนจะขึ้นเวทีเติบใหญ่เป็นศิลปินที่เข้มแข็งในอนาคต  และที่สำคัญ หลังจากสาดกระสุนตัวโน้ตกันจนเขาชนไก่แทบแตกแล้ว เกมจบก็คือการแข่งขันก็ต้องจบลงเช่นกัน เพราะเป้าหมายของการประชันในเกมนี้ก็คือ การสร้างสายสัมพันธ์และมิตรภาพ มิใช่การพยายามทำลายล้างกันและกันจนราบกันไปทุกๆ ฝ่าย “ไม่คิดจะลงแข่ง แย่งความเป็นหนึ่ง ไม่ดึงดันกับใคร...” แบบที่โฆษณาน้ำอัดลมก็บอกเราด้วยว่า หากทุกวันนี้ เราลองย้อนกลับไปหาความหมายเก่าๆ ความหมายดีๆ ของ “การแข่งขัน” แบบที่เคยมีมาในอดีตบ้าง ต่อไปสติ๊กเกอร์ท้ายรถแท็กซี่ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นเขียนข้อความใหม่ว่า “คุณไม่เร่ง...ผมก็เลยไม่รีบ” เพราะเวทีนี้เขาไม่มีการแพ้คัดออกกันอีกแล้ว  

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 126 ดีใจจัง…คนข้างหลังก็บ้านเฮา

  “เมือง” เป็นคำที่มีความหมายหลายด้านด้วยกัน บ้างก็ว่าเมืองเป็นดินแดนแห่งความทันสมัยและความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ บ้างก็ว่าเมืองเป็นศูนย์รวมแห่งอารยธรรมอันล้ำยุคล้ำสมัย บ้างก็ว่าเมืองเป็นสถานที่แหล่งทำกินของคนจำนวนมากมายมหาศาล   แต่ที่แน่ๆ คำตอบอีกหนึ่งข้อของความเป็น “เมือง” ก็คือ พื้นที่ที่เต็มไปด้วยสภาวะแปลกแยกและสายสัมพันธ์อันเปราะบาง   กล่าวกันว่า นับแต่ปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ผลพวงหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป ทำให้เกิดเมืองใหญ่ๆ ขยายตัวออกไปอย่างมากมาย และเมื่อเมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ขยายตัว เมืองเหล่านั้นก็ต้องการแรงงานปริมาณมหาศาล ที่จะมาเป็นปัจจัยการผลิตทางเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน   ด้วยเหตุดังกล่าว เมืองต่างๆ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานจากต่างถิ่น โดยเฉพาะจากชนบท เพื่อเข้ามาหมุนฟันเฟืองการผลิตในสังคมเมือง อันเป็นที่มาของการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนจากชายขอบ เข้าสู่ศูนย์กลางของเมืองใหญ่ จนทำให้เมืองยิ่งโตวันโตคืน แต่ชนบทก็ยิ่งโทรมลงๆ   ปรากฏการณ์เดียวกันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากกรณีของสังคมไทยเท่าใดนัก ภายหลังจากที่เมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพมหานครและอีกหลายๆ มุมเมืองขยายตัวขึ้นมา ชุมชนเมืองใหม่เหล่านี้ก็กลายเป็นแหล่งรองรับการอพยพของแรงงานพลัดถิ่น ที่ละทิ้งภาคชนบทเพื่อเข้ามาแสวงหาความเจริญก้าวหน้าในส่วนกลาง ริ้วรอยเช่นนี้ปรากฏอยู่ในโฆษณาโทรทัศน์ ที่โปรโมทขายเครือข่ายโทรศัพท์มือถือยี่ห้อหนึ่ง กับพรีเซ็นเตอร์ดาราหนุ่มที่เปิดตัวมาในฐานะลูกอีสานบ้านเฮาอย่าง คุณณเดชน์ คูกิมิยะ ฉากเริ่มต้นของโฆษณาเปิดด้วยเสียงดนตรีคลอเบาๆ ให้ความรู้สึกอ้างว้างเปล่าเปลี่ยว และมีเสียงลอยๆ ของคุณณเดชน์พูดขึ้นว่า “พวกเรามาตามหาความฝันในเมืองใหญ่ ฝันว่าลูกอีสานคนหนึ่งกำลังเติบโตขึ้น ฝันว่าจะทำให้ชีวิตคนในครอบครัวเราดีขึ้น ฝันที่เราจะได้เป็นในสิ่งที่ฝัน ฝันที่จะทำให้ฝันของใครอีกคนเป็นจริง...” ภาพที่ตัดขนานมากับเสียงคลอนั้นก็คือ ภาพมุมกว้างของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร เป็นฉากรถยนต์ที่ติดโยงยาวกันเป็นแพ สลับกับรถยนต์อีกจำนวนหนึ่งที่แล่นผ่านไปมา มีผู้คนเดินขวักไขว่กันอยู่เต็มท้องถนน แต่ก็ดูเหมือนว่า จะเป็นท้องถนนที่ไม่มีใครสนใจใคร   จากนั้นก็มีภาพของคุณณเดชน์พระเอกหนุ่มเดินอยู่ท่ามกลางฝูงชนที่มากมาย แต่ก็ดูแปลกแยกขาดสายสัมพันธ์กับสัญจรชนคนอื่นๆ   ตัดสลับกับภาพของแม่ค้าส้มตำที่กำลังเว้าภาษาอีสานคุยโทรศัพท์อยู่ที่แผงส้มตำที่มีป้ายเขียนติดกระจกว่า “คิดฮอดบ้านเฮา” ภาพของโชเฟอร์แท็กซี่ที่เหม่อมองดูรูปถ่ายของเมียและลูกที่ติดไว้หน้ากระจกรถ มองเห็นกระจกหลังเป็นผู้โดยสารชายอีกคนที่คุยโทรศัพท์เว้าโลดด้วยภาษาถิ่นอีสานอีกเช่นกัน  คุณณเดชน์เดินทางมาพบกับคุณหมออีกคนหนึ่ง ซึ่งก็โทรศัพท์คุยภาษาถิ่นอีสานกับบิดาที่ต่างจังหวัด  ด้านนอกนั้น ผู้คนถ้าไม่ง่วนกับการคุยโทรศัพท์ ก็ยังคงเดินขวักไขว่กันเต็มตั้งแต่ท้องถนนถึงบนสะพานลอย ข้างทางมีทีวีจอยักษ์เป็นภาพ “นักล่าฝัน” ที่เข้ามาประกวดร้องเพลงใน กทม.  คุณณเดชน์แวะมาพักกินข้าวเที่ยงในร้านอาหารญี่ปุ่น แววตาของเขาดูฉงนสนเท่ห์ เขาจับตะเกียบคีบก้อนซูชิเอาไว้ในมือ ขณะที่เหม่อมองดูพ่อครัวกำลังคุยโทรศัพท์อย่างออกรสชาติเป็นภาษาอีสานด้วยเช่นกัน  ภาพตัดกลับมาที่รถไฟฟ้าบีทีเอสแล่นผ่านไป มีหนุ่มวินมอเตอร์ไซค์ยืนเปลี่ยวเหงาอยู่ใต้สถานีรถไฟฟ้า คนบางคนเหม่อลอยมองออกไปนอกสะพาน ขณะที่คุณณเดชน์ก็คงเดินต่อไปท่ามกลางชีวิตคนกรุงที่แสนจะเปลี่ยวเปล่าและแปลกแยกยิ่งนัก ก่อนที่จะมีคำพูดความในใจของคุณณเดชน์ที่กล่าวต่อไปว่า “พวกเราต้องไกลบ้าน ไกลพ่อแม่พี่น้อง แต่มีบางสิ่งที่ทำให้พวกเราไม่เคยไกลกัน...” และทันใดนั้น เสียงโทรศัพท์มือถือก็ดังขึ้น ปลายสายเป็นภาพเพื่อนชาวอีสานตะโกนมาทักทายคุณณเดชน์ด้วยสำเนียงเสียงภาษาถิ่นแบบคิดฮอดม่วนชื่น  ปิดท้ายโฆษณา คุณณเดชน์ก็เลยหยุดอยู่กลางท้องถนนที่แปลกแยก และยืนเซิ้งตามจังหวะหมอลำเสียงแคนที่ลอยมาจากแอ่งอารยธรรมอีสานบ้านเฮา ผ่านเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ที่แม้หมู่เฮาจะอยู่ไกลกัน แต่ก็ช่วยขยับให้ทุกชีวิตในทุกภูมิภาคได้มาอยู่ใกล้ชิดกัน  นักทฤษฎีสังคมวิทยาบางกลุ่มเคยอธิบายไว้ว่า ไม่มีสังคมใดที่ผู้คนจะแปลกแยกระหว่างกันและกันมากเท่ากับสังคมแห่งความเป็น “เมือง” ยิ่งหากเป็น “เมืองหลวง” หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า “capital city” อันแปลว่า เมืองแห่งการระดมทุนทุกชนิดด้วยแล้ว อาการเปลี่ยวเหงา ว้าเหว่ หรือโหยหาสายสัมพันธ์บางอย่าง ก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นเป็นทวีคูณ กรุงเทพมหานครของเราก็คงไม่แตกต่างไปจากสัจธรรมข้างต้นเท่าใดนัก เพราะแม้ความเจริญและทุนทางเศรษฐกิจจะกระจุกตัวรวมศูนย์อยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ แต่ทว่า กทม. ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ “มีผู้คนอยู่รอบกาย เหมือนไม่มีไม่เห็นใคร...”  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น? ก็ในเมื่อจุดเริ่มต้นของเมืองเกิดจากการดูดซับทรัพยากรต่างๆ เข้าสู่ส่วนกลางแล้ว ผู้คนแบบร้อยพ่อพันแม่จากถ้วนทั่วทุกสารทิศก็จะมุ่งเข้าสู่การตามล่าหา “ความฝัน” กันในสังคมเมืองเป็นหลัก แบบเดียวกับที่คุณแม่ค้าส้มตำ คนขับรถแท็กซี่ คุณพี่วินมอเตอร์ไซค์ คุณนักร้องนักล่าฝัน พ่อครัวร้านซูชิ ไปจนถึงคุณณเดชน์พระเอกหนุ่ม ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มคนพลัดถิ่นที่เข้ามาแสวงหาโอกาสที่ดีขึ้นในชีวิตกันในเมืองหลวง  ด้วยเหตุดังกล่าว กรุงเทพมหานครจึงกลายเป็น “เมืองใหญ่” แต่ก็ “ไร้ราก” เพราะ “รกราก” ดั้งเดิมของผู้คนที่อพยพจากทั่วทุกทิศทุกภาคนั้น มีจุดกำเนิดมาแต่ชนบทมากกว่า เมื่อคนที่หยั่ง “รกราก” ในถิ่นอื่น ต้องจับพลัดจับผลูมาอยู่ในเมืองใหญ่ต่างถิ่นที่ “ไร้ราก” เช่นนี้ ก็ไม่น่าแปลกที่คุณณเดชน์และบรรดาตัวละครลูกอีสานใหญ่น้อยทั้งหมด จึงเกิดอาการ “lost in translation” หรืองุนงงสงสัยว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่” มาเดินขวักไขว่กันเต็มท้องถนนและสถานีรถไฟฟ้า แต่ก็ไม่มีใครสนใจใครกันเลย แต่มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์ ที่มีความพยายามจะต่อเส้นสายสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ตลอด เพื่อสลายความแปลกแยกและว้าเหว่ในเมืองเปลี่ยวเหงา  ด้านหนึ่ง โทรศัพท์มือถืออาจจะทำให้ผู้คนในเมืองหลวงยิ่งแปลกแยกจากกันมากยิ่งขึ้น เพราะแม้จะอยู่บนถนนหรือบนรถไฟฟ้า ผู้คนเหล่านั้นก็คุยโทรศัพท์โดยยิ่งไม่ต้องสนใจคนรอบข้างได้มากขึ้น แต่อย่างน้อย พวกเขาก็อาจจะไม่ได้แปลกแยกไปกับบรรดาเพื่อนสนิทมิตรสหายหรือครอบครัวที่ยังอยู่ใน “รกราก” ของชนบทห่างไกล หากครั้งหนึ่งบรรดาคุณพี่โชเฟอร์แท็กซี่เคยติดสติ๊กเกอร์แสดงความรู้สึก “ดีใจจังคันข้างหลังก็เป็นลาว” แล้ว ทุกวันนี้เครือข่ายมือถือก็ช่วยให้คุณณเดชน์และบรรดาลูกอีสานใน กทม. ทั้งหลาย ได้รู้สึกว่า “ดีใจจังคนข้างหลังก็บ้านเฮา” เหมือนกัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 125 ความอิหลักอิเหลื่อกับความแรงของพัดลม

  คุณผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าวัตถุแห่งยุคสมัยหนึ่งๆ ต้องมาปรากฏอยู่ในอีกช่วงเวลาหนึ่ง ที่ผิดฝาผิดตัวและไม่น่าจะเป็นไปได้  ตัวอย่างเช่น ถ้าเรานั่งชมละครโทรทัศน์แนวย้อนยุคหรือนั่งดูละครจักรๆ วงศ์ๆ ทางโทรทัศน์ แล้วอยู่ดีๆ ก็มีรถยนต์คันหนึ่งแล่นผ่านเข้ามาในฉาก เราในฐานะผู้ชมก็คงจะรู้สึกตะขิดตะขวงหรืออิหลักอิเหลื่อใจพิกลๆ อยู่  ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่า รถยนต์เป็นวัตถุจากโลกร่วมสมัยในปัจจุบัน และไม่น่าจะเป็นไปได้ที่วัตถุอย่างรถยนต์จะไปปรากฏอยู่ในโลกที่โพ้นสมัยแบบที่เขาจำลองไว้ที่หน้าจอเช่นนั้น  แต่ทว่า ความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อที่เวลาต่างกันมาซ้อนทับกันเฉกเช่นนี้ กลับไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด หากไปปรากฏอยู่ในโลกแห่งโฆษณาโทรทัศน์!!!  ตัวอย่างโฆษณาพัดลมไฟฟ้ายี่ห้อหนึ่ง ที่จำลองฉากท้องพระโรงของละครจักรๆ วงศ์ๆ เอาไว้ ได้เริ่มต้นด้วยการใช้กล้องจับภาพพระสาโท(เหงื่อ)ที่ผุดพรายจับใบหน้าตัวละครพระราชา ก่อนที่พระองค์จะตรัสกับมุขอำมาตย์ว่า “ร้อน...” ข้างๆ พระราชา มีนางกำนัลในชุดสไบสีบานเย็นคอยนั่งหน้าไร้อารมณ์แต่ก็ยังปรนนิบัติ “พัดวี” โชยลมแห่งความสุขไปให้กับพระราชา แต่ดูเหมือนว่า ลมจากพัดวีโบกและแรงงานมนุษย์อาจไม่มากพอจะสนองพระหฤทัยหรือไม่ช่วยบรรเทาความร้อนให้กับตัวละครพระราชาได้ จึงทรงตรัสกับปุโรหิตต่อไปว่า “ขอเบอร์ 3 สิ”  จากนั้น ภาพก็ตัดมาที่ท่อนแขนนางกำนัล ซึ่งปรากฏให้เห็นปุ่มกดสามระดับตามสปีดของแรงลม และเมื่อปุโรหิตกดเปลี่ยนเป็นปุ่มเบอร์ 3 นางกำนัลก็เร่งสปีดของการพัดวีให้แรงขึ้น จนนางนั้นช็อคหยุดนิ่งและควันดำคลุ้งไหลออกมาทางจมูก เหมือนกับเครื่องมอเตอร์ในตัวของนางได้น็อคพังลง  มหาดเล็กยกนางกำนัลที่มอเตอร์ชำรุดออกไปจากท้องพระโรง ก่อนจะยกพัดลมไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดเข้ามาแทน พระราชาที่ออกอาการเซ็งก็ถามขึ้นว่า “แล้วพัดลม...มันดียังไง”  ว่าแล้ว ปุโรหิตก็กดปุ่มเปิดพัดลม เป่าได้แป็บเดียวเท่านั้น เล่นเอาตัวละครพระราชากระเด็นออกไปทางพระบัญชรของท้องพระโรงนั่นเลย ก่อนที่จะมีเสียงบรรยายพูดปิดท้ายกล่าวชื่นชมสรรพคุณของพัดลมรุ่นใหม่นี้ว่า ทั้ง “ใหญ่กว่า” และ “แรงกว่า” ก็ดังที่เราๆ ท่านๆ คงทราบกันดีว่า พื้นที่ของละครจักรๆ วงศ์ๆ หรือบรรดานิทานพื้นบ้านทั้งหลายนั้น เป็นพื้นที่ที่มิติเรื่อง “เวลา” มีความคลุมเครือยิ่งนัก กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เรื่องเล่าพื้นบ้านต่างๆ มักเริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า “กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...” ซึ่งผู้ฟังหรือผู้ชมเองก็มิอาจทราบได้ว่า เป็นกาลครั้งหนึ่งเมื่อไร เป็นกาลสมัยยุคไหน เนื่องจากไม่มีความชัดเจนของศักราชที่จะระบุชี้ชัดได้แน่นอน แต่ที่แน่ๆ ก็คือ น่าจะต้องเป็นอดีตกาลที่ “ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว” ด้วยเหตุดังกล่าว วัตถุต่างๆ ในละครจักรๆ วงศ์ๆ หรือที่ภาษาเทคนิคการผลิตโทรทัศน์เขาเรียกว่า “props” นั้น ก็ต้องเป็นอะไรก็ตามที่บ่งบอกนัยว่า “นานมาแล้ว” นั่นเอง ตั้งแต่โต๊ะตั่งเตียงแท่นบัลลังก์ ตัวท้องพระโรง เสื้อผ้าของมุขอำมาตย์ รวมไปถึงสไบสีบานเย็นและพัดวีพัดโบกที่อยู่ในมือของนางกำนัล  แต่ที่น่าแปลกก็คือ ท่ามกลางบรรยากาศของกาลครั้งหนึ่งที่ผ่านพ้นมานานแล้วนั้น โฆษณาได้อนุญาตให้นวัตกรรมอย่างพัดลมไฟฟ้า เข้ามาแทรกเป็นส่วนหนึ่งในเรื่องเล่าพื้นบ้านหรือนิทานจักรๆ วงศ์ๆ ได้เช่นนี้  ทั้งๆ ที่พัดลมเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนของยุคสังคมสมัยใหม่ แต่ก็น่าประหลาดใจว่า “ความอิหลักอิเหลื่อ” ของช่วงเวลาที่แตกต่างกันแต่ก็มาซ้อนทับกันได้นั้น กลับถูกทำให้เป็นเรื่องปกติธรรมดาหรือปกติวิสัยในพื้นที่ของโฆษณา  อันที่จริงแล้ว เหตุการณ์ที่ตัวละครถูกลมหอบพัดปลิวไปที่นั่นที่นี่นั้น ไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่ในเรื่องเล่าพื้นบ้านแต่อย่างใด ผมจำได้ว่า สมัยเมื่อเด็กๆ ตอนเรียนวิชาวรรณคดีไทยนั้น จะมีเรื่องเล่าพื้นบ้านอยู่หลายเรื่องที่ใช้ลมหอบตัวละครจากดินแดนหนึ่งไปยังดินแดนอื่นที่ไกลๆ เพื่อสร้างความรู้สึกถึงการพลัดพรากให้กับตัวละครเอก และเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งบางอย่างในท้องเรื่อง  แต่อย่างไรก็ดี ลมพายุที่หอบพัดเอาตัวละครให้พรากพลัดจากกันในวรรณคดีโบราณนั้น มักเกิดเนื่องมาแต่การดลบันดาลจากเทพยดา หรือมาจากบัญชาของอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือมนุษย์ทั้งปวง และที่แน่ๆ คงไม่ใช่ลมหอบจากพัดลมไฟฟ้าหน้ากว้างรุ่นใหม่ แบบที่เราสัมผัสเห็นได้จากโฆษณาโทรทัศน์แบบนี้ เพราะฉะนั้น จะมีเหตุผลอันใดกันเล่าที่โฆษณาจึงต้องนำเสนอภาพ “ความอิหลักอิเหลื่อ” ด้วยการหยิบจับเอาสองช่วงเวลาที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ให้มาอยู่ที่หน้าจอโฆษณาในเวลาเดียวกันเช่นนี้ ?  ผมเดาเอาว่า คำตอบข้อแรกก็น่าจะเป็นเพราะว่า โฆษณาพัดลมรุ่นใหม่ชิ้นนี้ได้อาศัยเทคนิคการเล่าเรื่องแบบ “ขบขัน” หรือที่เรียกว่า “humour” เป็นพื้นฐาน และการที่จะทำให้ผู้ชม “ขบ” จน “ขัน” ได้นั้น ก็ต้องทำให้คนดูเกิดคำถามบางอย่างถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างบางสิ่งบางอย่างที่เราเห็นหน้าจอโทรทัศน์  ตอนเด็กๆ ผมจำได้ว่า ทุกครั้งเวลาดูละครจักรๆ วงศ์ๆ แล้วเห็นภาพนางกำนัลนั่งโบกพัดวีอยู่ในท้องพระโรงนั้น จะเกิดความสงสัยอยู่เสมอว่า ถ้าพัดกันทีละพรึ่บๆ แบบนี้แล้ว พระราชาบนบัลลังก์จะเย็นไหมเนี่ย ??? ความสงสัยเช่นนี้ทำให้ดูละครกี่ครั้ง ก็ “ขบ” จน “ขัน” ขึ้นมาได้ทุกที  แต่พอมาถึงปัจจุบัน ความรู้สึกขบขันคงไม่ใช่เหตุที่เกิดแบบไม่ตั้งใจของคนดู(เช่นที่ผมรู้สึกในวัยเด็กแบบนั้น) แต่เกิดมาจากความจงใจของนักโฆษณาที่จะใช้เทคนิคบางอย่างในการเล่าเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตั้งใจสร้างความอิหลักอิเหลื่อให้สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ บังเกิดกลายเป็น “ความเป็นไปได้” ขึ้นมา ตัวอย่างของความอิหลักอิเหลื่อแบบนี้ก็เช่น การสร้างภาพนางกำนัลสไบบานเย็น ซึ่งมีท่อนแขนแบบหุ่นยนต์เป็นปุ่มกดบังคับสปีดการโบกพัด รวมไปถึงการจับวัตถุสมัยใหม่อย่างพัดลมมาวางไว้ในท้องพระโรงของฉากเรื่องเล่าแบบโบราณ ส่วนคำตอบอีกประการหนึ่งก็คือ ถ้าพัดลมเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของวัตถุในโลก “สมัยใหม่” และถ้านางกำนัลสไบบานเย็นกับ “พัดวี” ที่อยู่ในมือของเธอ เป็นตัวแทนของโลก “โบราณ” โฆษณาเองก็คงบอกคนดูเป็นนัยว่า ความโบราณคือความเชย ล้าหลัง และไม่มีประสิทธิภาพแต่อย่างใด สู้บรรดาวัตถุในโลกสมัยใหม่อย่าง “พัดลม” ไม่ได้ ทั้ง “ใหญ่กว่า” ทั้ง “แรงกว่า” เป็นนวัตกรรมที่ทรงประสิทธิภาพของผู้คนในยุคนี้  เพราะฉะนั้น ในขณะที่ด้านหนึ่ง ความอิหลักอิเหลื่อในความแตกต่างของเวลา ถูกใช้เพื่อสร้างความรู้สึกขบขัน แต่ในอีกด้านหนึ่ง โฆษณาก็ใช้ความอิหลักอิเหลื่อเพื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่าง “เก่า” กับ “ใหม่” และลดทอนคุณค่าของความเก่าให้ดูด้อยค่ากว่าความใหม่นั่นเอง วันนี้ หากคุณเปิด “พัดลม” คุณอาจจะรู้สึกว่าได้ลมเย็นๆ เต็มที่ยิ่งกว่า “พัดวี/พัดโบก” แบบโบราณ แต่ก็อย่าลืมด้วยนะครับว่า พัดลมอาจพัดไปพัดมา แต่ก็เป่าให้คุณกระเด็นออกไปนอกหน้าต่างได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม>

ฉบับที่ 124 ความสุขของเรา...กับใครที่เป็นคนสร้าง?

  พุทธศาสนาเคยมีคำกล่าวว่า “ความสุขแท้จริงนั้นอยู่ที่ใจ” และดูเหมือนว่า โฆษณาในสังคมบริโภคทุกวันนี้ก็พยายามจะให้คำตอบแก่เราเหมือนกันว่า “ความสุขนั้นอยู่ที่ตัวเราจริงๆ” หลังจากที่ผู้ชมโทรทัศน์เคยเห็นภาพของคุณเรย์ แมคโดนัลด์ สะพายเป้แบ็คแพ็คเดินทางถือวีซ่าไปที่นั่นที่นี่แบบ around the world กันมาหลายปีดีดักแล้ว โฆษณากาแฟผงยี่ห้อหนึ่งก็จับเอาคุณเรย์ แบ็คแพ็คเกอร์ มาเดินทางท่องเที่ยวเมืองไทยกันบ้าง พร้อมกับประโยคที่เขาพูดเปิดต้นเรื่องโฆษณาขึ้นว่า “ไม่ต้องไปไกลถึงซีกโลก ความสุขก็มาหาเราได้เสมอ...”   ว่าแล้ว ภาพก็ตัดมาที่คุณเรย์กำลังพายเรือแคนนูอยู่ท่ามกลางทะเลที่เงียบสงบ และสะท้อนประกายแดดอยู่กลางหมู่เกาะน้อยใหญ่ สลับมาที่ภาพของคุณเรย์ที่หยิบขวดกาแฟผงขึ้นมาสูดดม ก่อนจะตักกาแฟมาชงและคนในถ้วย พร้อมกับมีไอควันกรุ่นๆ ลอยออกมาจากถ้วยกาแฟ   คุณเรย์ แบ็คแพ็คเกอร์ กล่าวต่อไปว่า “แค่ได้อยู่กับสิ่งที่เราชอบ อยู่กับกลิ่นหอมๆ อยู่กับรสชาติกาแฟ xxx ที่เป็นตัวเรา แค่นี้ความสุขก็มาอยู่ตรงหน้า”   คุณเรย์ยกถ้วยกาแฟสีแดงขึ้นมาจิบ และมองออกไปที่ฉากหลังของท้องทะเลที่ไกลสุดลูกหูลูกตา ก่อนจะแสดงสีหน้าเอมอิ่ม แล้วเดินออกไปชื่นชมชะง่อนผาริมทะเล   ภาพตัดมาที่คุณเรย์ว่ายน้ำเล่นกับฝูงปลาทะเลหลากสี แล้วก็โคลสอัพถ้วยกาแฟสีแดงวางอยู่ข้างเคียงกับหนังสือหนึ่งเล่ม และมีแว่นกันแดดวางอยู่บนชายหาด ก่อนที่จะฉายให้เห็นภาพคุณเรย์นอนแช่น้ำทะเลอยู่ริมหาด พร้อมกับเสียงของเขาที่พูดด้วยว่า “ถ้าถามผมว่า ที่ไหนสวยที่สุดในโลก ผมว่าที่นี่...ความสุขที่เราสร้างเอง”   แล้วโฆษณาก็จบลงด้วยภาพกว้างของเวิ้งทะเลของหาดไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ ก่อนจะตัดมายังภาพของนักเดินทางอย่างคุณเรย์ นั่งจิบกาแฟบนแพ มีขวดกาแฟและขวดครีมเทียมวางอยู่เคียงข้าง โดยมีข้อความเป็นตัวอักษรขึ้นว่า “ความสุขที่เราสร้างเอง...”  เพื่อนๆ หลายคนของผมบอกว่า ดูโฆษณาชิ้นนี้แล้วรู้สึกชอบ เพราะว่าให้ความรู้สึกอบอุ่นสบายใจ ซึ่งผมเองก็คิดเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่เพียงแต่การได้เห็นท้องทะเลและธรรมชาติไกลๆ ที่โอกาสน้อยมากสำหรับชีวิตคนเมืองอย่างผมจะได้สัมผัสภาพแบบนี้แล้ว การได้เห็นภาพวิวสวยๆ ของเมืองไทย โดยที่ “ไม่ต้องไปไกลถึงซีกโลก” แบบที่คุณเรย์บอกแก่เรา ก็ให้ความรู้สึกดีๆ ไม่น้อยทีเดียว ยิ่งได้ยินเสียงดนตรีประกอบ และภาพกิจกรรมของตัวละครแบบที่สร้างความแปลกตาแปลกใจไปจากชีวิตประจำวันด้วยแล้ว ภาพของการพายเรือแคนนูหรือภาพการว่ายน้ำเริงเล่นกับฝูงปลาเล็กปลาน้อยในทะเลเหล่านี้ ก็คงเป็นสิ่งที่ผู้ชมหลายๆ คนอยากจะปลีกวิเวกไปใช้ชีวิตแบบนั้นเป็นบางครั้งบางคราว   อย่างไรก็ดี ผมอาจจะเห็นด้วยกับสิ่งที่โฆษณาบอกไว้แค่ครึ่งเดียวว่า “ความสุขนั้นไม่ต้องไปแสวงหาให้ไกลถึงอีกซีกโลก” แต่ทว่า ความคิดเรื่อง “ความสุขมาหาตัวเราได้เสมอ” นั้น กลับเป็นเรื่องที่ผมเองก็สงสัยเหมือนกันว่าจะเป็นจริงได้เยี่ยงนั้นเลยหรือ??? หากเทียบสิ่งที่โฆษณานำเสนอกับชีวิตของตนเองดูแล้ว ผมว่า ในวันหนึ่งๆ นั้น คงเป็นไปไม่ได้กระมังที่อยู่ดีๆ เราจะได้แว่บไปพายเรือแคนนูหรือนอนแช่น้ำทะเลเล่นอยู่ที่จังหวัดกระบี่ หรือคงเป็นไปได้ยากที่อยู่ดีๆ เราจะมีฝูงปลาการ์ตูนมาแหวกว่ายอยู่รอบตัวเรา หรือแม้แต่ว่าอยู่ดีๆ เรามีจะมีกาแฟสักถ้วยมายกดื่ม   วัตถุแห่งการบริโภคมากมายหลายหลากนี้ ไม่ใช่ว่า “อยู่ดีๆ” วัตถุดังกล่าวจะกลายเป็น “ความสุขที่เข้ามาหาเราได้เสมอ” แต่ตรงกันข้าม วัตถุเหล่านั้นจะมอบ “ความสุข” ให้แก่เราได้ ก็ต่อเมื่อเราเองต้องไปเสาะแสวงซื้อหามาเสพมาบริโภคดื่มกิน นั่นก็หมายความว่า หากนักเดินทางอย่างคุณเรย์จะได้อยู่กับ “สิ่งที่เราชอบ” อยู่กับ “กลิ่นหอมๆ” หรืออยู่กับ “รสชาติกาแฟแบบที่เป็นตัวเรา” ก็คงต้องเป็นตัวของคุณเรย์เองที่ออกไปสืบเสาะค้นหาเอาสิ่งเหล่านั้นมาให้กับตัวเสียก่อน แล้วจึงค่อยผันเปลี่ยนรสนิยมในการบริโภควัตถุต่างๆ เหล่านี้ให้กลายมาเป็น “ความสุขที่วางไว้ตรงหน้า” ท่ามกลางเวิ้งทะเลครามแห่งคาบสมุทรอันดามัน เมื่อย้อนกลับไปสู่วิธีคิดแบบศาสนาพุทธที่ว่า “ความสุขแท้จริงนั้นอยู่ที่ใจ” แล้ว และดูเปรียบเทียบกับสิ่งที่โฆษณาสื่อสารให้กับเรา ผมก็เลยเริ่มสงสัยว่า อัน “ความสุขที่วางไว้ตรงหน้า” ดังกล่าว ก็อาจจะเริ่มไกลห่างไปจากความหมายของ “ความสุขที่แท้จริง” ตามหลักแห่งพุทธธรรมเสียแล้ว   ทำไมน่ะหรือครับ? เพราะในขณะที่ทางพุทธศาสนาเห็นว่า “ใจ” เป็นที่มาของความสุขอันเกิดมาแต่ “ภายใน” แต่ทว่า หากเป็นกาแฟผงชงดื่มผสมครีมเทียมแล้วนั้น กลับถือเป็นความสุขอันเกิดมาแต่การเสพวัตถุที่มาจาก “ภายนอก” ตัวของเรามากกว่า ดังนั้น แม้ในโฆษณาจะบอกว่า การดื่มกาแฟเป็น “ความสุขที่เราสร้างเอง” แต่ก็ดูเหมือนว่า เป็นความสุขที่เราสร้างผ่านการบริโภควัตถุที่จัดสรรไว้ให้โดยเจ้าของสินค้าบางกลุ่ม ที่จะหยิบยื่นให้เราทั้งกลิ่นอาย รสชาติ และทัศนียภาพบางอย่างที่เราควรจะเสพไปพร้อมกับซึมซับผลิตภัณฑ์กาแฟที่ “เป็นตัวเรา” ยิ่งไปกว่านั้น หากความสุขจากกาแฟที่เสพเป็นความสุขที่มาจาก “ภายนอก” ความสุขเยี่ยงนี้ก็มีแนวโน้มจะเป็นความสุขแบบ “ชั่วครั้งชั่วคราว” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เป็นความสุขตราบเท่าที่กาแฟยังไม่ได้หมดไปจากถ้วย เพราะฉะนั้น เมื่อกาแฟหยดสุดท้ายถูกจิบเข้าคอไปแล้ว ทั้งกลิ่นอายและรสชาติแห่งความสุข ก็อาจจะมีอันต้องดับไปตามการเกิดแก่เจ็บตายของกาแฟในถ้วย จนกว่าเราจะชงกาแฟถ้วยใหม่ขึ้นมาซดดื่มแทนนั่นเอง ในยุคหนึ่ง โฆษณาสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่ง เคยนำเสนอสโลแกนทางการตลาดที่ว่า “ความสุขที่คุณดื่มได้” มาถึงทุกวันนี้ โฆษณากาแฟได้เริ่มตั้งคำถามต่อไปด้วยว่า ความสุขที่เราจะดื่มเข้าไปได้จริงๆ นั้น อาจจะเป็นใครบางคนกันหนอที่มีอำนาจสร้างให้เราดื่มสินค้านั้นด้วยความสุขจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)