นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 97 เสียงผู้บริโภค

เสียงผู้บริโภค
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
complaint@consumerthai.org

เขาหาว่าผมค้างค่างวดรถ
คุณเดชาเดินทางมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยสีหน้าบอกบุญไม่รับ พร้อมกับยื่นกระดาษแผ่นหนึ่งให้เจ้าหน้าที่ของศูนย์พิทักษ์สิทธิมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “พี่ช่วยผมด้วยครับ”

เจ้าหน้าที่รับกระดาษมาอ่านในรายละเอียด เห็นหัวกระดาษเป็นชื่อและที่อยู่ของบริษัทกรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด เนื้อหาแจ้งว่า คุณเดชาได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น M’TX ตอนเดียว จำนวน 1 คัน จากบริษัท กรุงไทย ออโต้ลีส จำกัด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2547 หรือเมื่อ 5 ปีที่แล้ว หนังสือแจ้งว่าคุณเดชาไม่เคยชำระค่าเช่าซื้อเลยสักงวด จึงมีหนังสือฉบับนี้มาถึงคุณเดชาเพื่อให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญา

หนี้ที่คุณเดชาจะต้องจ่ายคือค่างวดเช่าซื้อ 48 งวดเป็นเงิน 254,976 บาท ค่าเบี้ยปรับโดยคิดจากยอด ณ วันที่ออกหนังสือ เป็นเงิน 401,954 บาท และค่าผิดสัญญาค่าติดตามอีก 10,000 บาทรวมเป็นเงิน 666,930 บาท

เมื่อเจ้าหน้าที่อ่านรายละเอียดในกระดาษเสร็จจึงเงยหน้าขึ้น

“จะให้เราช่วยยังไงครับ ไม่ใช่จะให้เราช่วยชำระหนี้แทนนะครับ” เจ้าหน้าที่เอ่ยถามด้วยอาการเสียวๆ เพราะมีคนเป็นหนี้หลายรายคิดว่ามูลนิธิฯเป็นแหล่งปล่อยเงินกู้

“ไม่ใช่อย่างงั้นครับพี่ คือไอ้สัญญาฉบับที่ไฟแนนซ์เขาอ้างมาในจดหมายทวงหนี้น่ะ ผมไม่เคยเห็นมันมาก่อนเลยครับ ไม่รู้เคยไปเซ็นอะไรไว้ตรงไหน คนค้ำประกันผมก็ไม่รู้จักตอนนี้ผมอายุ 27 ปี ถ้าผมไปทำสัญญาจริงๆ ตอนนั้นผมก็อายุแค่ 22 ปียังเดินเตะฝุ่นหางานทำอยู่เลยครับ ไฟแนนซ์หน้าไหนจะปล่อยเงินให้ผมไปซื้อรถ อยู่ดีๆ ก็มีจดหมายทวงหนี้โผล่มาที่บ้าน...แม่ผมแทบช็อกตาย หนี้ตั้ง 5 แสน 6 แสน บ้านผมทำนาคงไม่มีปัญญาจะหาเงินไปใช้หนี้เขาได้หรอกครับ ช่วยผมที”

“เอ้า...ช่วยก็ช่วย” เจ้าหน้าที่รับปาก

แนวทางแก้ไขปัญหา
ในเรื่องของการเช่าซื้อรถยนต์นั้น คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้ประกาศให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ.2543 โดยมีสัญญาข้อหนึ่งที่ให้สิทธิผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้หากมีการผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวด 3 งวดติดๆ กัน...แต่กรณีนี้บริษัทปล่อยให้หนี้ค้างอยู่ได้ตั้ง 48 งวด แถมไม่เคยมีการติดตามทวงถามกันมาก่อนเลย เมื่อสอบถามกับคุณเดชาว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเคยได้รับใบแจ้งหนี้ ใบทวงหนี้มาก่อนหรือเปล่า ได้รับคำตอบว่ามีโทรศัพท์มาทวงหนี้อยู่ครั้งเดียว ก่อนที่จะได้รับจดหมายทวงหนี้ฉบับดังกล่าวเท่านั้น แปลกไหมล่ะครับ

ถ้าผู้บริโภคท่านใดเจอหนี้แปลกพิสดารแบบนี้ สิ่งที่ควรทำโดยทันทีคือการทำจดหมายทักท้วงปฏิเสธหนี้ดังกล่าวโดยทันทีส่งเป็นไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและเก็บใบตอบรับไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งหากบริษัทไฟแนนซ์ยืนยันที่จะเรียกเก็บหนี้ต่อไปก็ต้องมั่นใจในเอกสารที่เกี่ยวข้องในการทำสัญญาว่า เป็นเอกสารที่ได้มาโดยชอบ และดำเนินการฟ้องต่อศาลต่อไป

แต่หากเป็นการ “ลักไก่” เรียกเก็บหนี้กับคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เมื่อเรารู้ทัน เขาก็ต้องยุติการติดตามทวงหนี้ไปโดยปริยาย กรณีของคุณเดชา มูลนิธิฯ ได้ทำหนังสือทักท้วงแจ้งปฏิเสธการชำระหนี้ดังกล่าวส่งไปถึงบริษัทฯ ซึ่งขณะนี้สัญญาณตอบรับจากบริษัทยังคงเงียบฉี่ ติดต่อไม่ได้ในขณะนี้


ขอปิดใช้บริการมือถือ แต่ทำไมยังมีหนี้อยู่
“ซิมฟรีครับพี่ ซิมฟรี 1 ชั่วโมง จ่ายแค่ 5 นาที แถมนาทีละหกสลึง ถูกอย่างนี้มีที่ไหนครับพี่...”

เสียงประกาศเชิญชวนของหนุ่มนักขายซิมมือถือ ร้องเรียกผู้คนที่เดินผ่านไปมาบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง

คุณนิสาอยากรับขวัญลูกชายที่ไปเรียนอยู่ต่างประเทศและหยุดปิดเทอมกลับมาพักผ่อนที่เมืองไทยเป็นเวลา 1 เดือน จึงเดินเข้าไปยื่นบัตรประชาชนเพื่อขอรับซิมฟรี กะเอาไปให้ลูกชายใช้ระหว่างที่อยู่เมืองไทย ซึ่งเป็นซิมมือถือของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส

ตอนแรกคุณนิสาเข้าใจว่า เป็นซิมฟรี แต่เมื่อมาดูรายละเอียดแล้วถึงได้รู้ว่าตัวเองเสียค่าโง่ เพราะซิมตามโปรโมชั่นดังกล่าวจะต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนๆ ละ 99 บาท ส่วนค่าโทรนั้นคนขายซิมก็ดันพูดไม่หมด ก็เข้าใจว่าใช้ชั่วโมงหนึ่งจ่ายแค่ 5 นาทีเท่านั้น ทีนี้ล่ะฉันจะใช้โทรเท่าไหร่ก็ได้เพราะจ่ายแค่ 5 นาที นาทีละ 1.50 บาทเอง แต่ความจริงก็คือ โปรโมชั่นนี้เขาให้ส่วนลดเพียงแค่ 1 ชั่วโมงแรกที่เปิดใช้บริการเท่านั้นที่จะคิดค่าบริการเพียงแค่ 5 นาที แต่หลังจากชั่วโมงนั้นแล้วก็คิดค่าบริการนาทีละ 1.50 บาททุกๆ นาทีที่ใช้ ซึ่งก็ไม่ถือว่าเป็นอัตราค่าโทรที่ถูกนักเมื่อเปรียบเทียบกับโปรโมชั่นบางตัวที่คิดค่าโทรเพียงแค่นาทีละ 1 บาท หรือ 50 สตางค์

“อ๊ะ.. ไหน ๆ ก็ได้มาแล้วและก็ให้ลูกใช้แค่เดือนเดียว คงไม่เป็นไร” คุณนิสาคิดกับตัวเอง ก่อนที่จะนำซิมที่ได้มาให้ลูกชายเปิดใช้บริการ

ซิมนี้ถูกเปิดใช้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และคุณนิสาได้ไปแจ้งขอปิดใช้บริการที่ศูนย์บริการในอีกเดือนถัดมาหลังจากที่ลูกชายเดินทางกลับไปต่างประเทศ โดยชำระค่าบริการที่ค้างจ่ายทั้งหมดให้กับพนักงาน

เรื่องน่าจะจบไม่มีปัญหาอะไร แต่ปรากฏว่าต่อมาในเดือนเมษายน มีใบเรียกเก็บค่าบริการโทรมือถือหมายเลขที่ได้แจ้งปิดไปแล้วมาถึงคุณนิสาจำนวน 1,070.54 บาท คุณนิสาก็เป็นงง เพราะตั้งแต่วันที่แจ้งยกเลิกก็ไม่ได้ใช้บริการหมายเลขโทรศัพท์นั้นอีก แล้วจะมียอดหนี้มาได้อย่างไร จึงได้ติดต่อไปที่ศูนย์บริการ AIS Shop สาขาเดิมเพื่อขอตรวจสอบข้อมูลการใช้บริการตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งพนักงานได้แจ้งว่าให้รอเอกสารการตรวจสอบภายใน 15 วัน แต่รอจนแล้วจนเล่าก็ไม่เห็นมีคำชี้แจงใดๆ กลับมา ซ้ำในเดือนพฤษภาคมยังมีบิลเรียกเก็บเงินอีก 95.34 บาท เมื่อไม่มีความชัดเจนคุณนิสาจึงไม่ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้กับเอไอเอส

ทีนี้ล่ะครับงานเข้าครับงานเข้า...ปรากฏว่าในเดือนธันวาคม มีจดหมายทวงหนี้จากสำนักงานกฎหมาย เซนิท ลอว์ จำกัด แจ้งว่าคุณนิสายังมีหนี้ค้างกับ เอไอเอส อยู่ 1,165.88 บาท แถมยังมีข้อความในลักษณะข่มขู่คุกคามที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอีก เช่น ขู่ว่าถ้าไม่ชำระหนี้ภายใน 48 ชั่วโมง จะถูกฟ้องดำเนินคดีอย่างถึงที่สุด , จะส่งรายชื่อเข้าข้อมูลเครดิตกลาง จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาล ค่าทนายความ ดอกเบี้ยค้างชำระ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการออกหมายอายัดรายได้ และหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์ออกขายทอดตลาด

คุณนิสารู้สึกโกรธมากอะไรจะปานนั้น หนี้แค่พันกว่าบาท จะยึดทรัพย์กันเลยหรือ จึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำปรึกษา

แนวทางแก้ไขปัญหา
บริการโทรศัพท์มือถือนั้น ถือเป็นบริการโทรคมนาคมประเภทหนึ่งที่อยู่ภายใต้กฎหมายประกอบกิจการโทรคมนาคมที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) เป็นผู้กำกับดูแล กรณีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาว่า ค่าบริการที่บริษัทมือถือเรียกเก็บมานั้นถูกต้องหรือไม่ ผู้ใช้บริการสามารถที่จะร้องเรียนโดยตรงได้กับบริษัทมือถือ และถือเป็นหน้าที่ของบริษัทที่จะต้องเป็นผู้พิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความถูกต้องในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมค่าบริการต่าง ๆ และจะต้องแจ้งข้อมูลให้กับผู้ใช้บริการทราบโดยเร็วแต่ต้องไม่เกินหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ใช้บริการมีคำขอ หากผู้ให้บริการไม่ดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้ให้บริการสิ้นสิทธิในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการในจำนวนที่มีการโต้แย้งโดยทันที

ข้อกฎหมายเขาเขียนไว้อย่างนั้นครับแต่ในทางปฏิบัติคนละเรื่องเลย ผู้ใช้บริการเขาอุตส่าห์ไปขอให้ตรวจสอบค่าบริการที่เรียกเก็บตั้งแต่เดือนเมษายน แต่บริษัทกลับแจ้งยอดหนี้เพิ่มและส่งจดหมายทวงหนี้ที่ไร้มารยาทมาให้อีก มูลนิธิฯ จึงได้ทำจดหมายร้องเรียนไปถึงเอไอเอสโดยทันที

หลังจดหมายออกไปประมาณ 1 เดือน เอไอเอสถึงได้มีจดหมายตอบกลับแจ้งว่า ไม่พบเอกสารการขอยกเลิกการใช้บริการแต่อย่างใดในวันที่คุณนิสาไปแจ้งขอยกเลิก (แสดงว่าแจ้งไปแล้วแต่พนักงานไม่ยอมยกเลิกให้ ?) และหนี้ที่เรียกเก็บในเดือนเมษายนนั้นเป็นค่าบริการที่มีการใช้โทรจริง และเนื่องจากระบบข้อมูลยังคงเห็นว่าคุณนิสายังอยู่ในสถานะใช้บริการอยู่จึงมีค่ารายเดือนต่อมาอีก 1 เดือน เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้เอไอเอสจึงดำเนินการมอบส่วนลดค่าใช้บริการให้จำนวน 783.72 บาท (รวมภาษี) จากยอดที่เรียกมาทั้งหมด 1,165.88 บาท ยังมียอดคงเหลืออีก 382.16 บาท ซึ่งคุณนิสาตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นค่าโทรที่ลูกชายใช้จริงจึงยินดีที่จะจ่ายเงินส่วนนี้ให้ ปัญหาหนี้ค่าโทรจึงเป็นอันยุติ

ข้อเตือนใจสำหรับคนใช้มือถือ ต้องจำไว้ว่ามือถือแบบจดทะเบียนเป็นบริการที่เข้าง่ายออกยากประเภทหนึ่ง หากคิดจะบอกเลิกสัญญาอย่าแจ้งทางวาจาเพียงอย่างเดียว ต้องมีเอกสารการบอกเลิกสัญญาลงลายมือชื่อเราให้ชัดเจนส่งถึงบริษัท ทำอย่างนี้จะไม่มีปัญหาในภายหลังครับ



หมูยำพรานทะเล หมดอายุแล้วยังต่อได้
เรื่องนี้เหตุเกิดขึ้นที่ห้างเทสโกโลตัส สาขาซิตี้พาร์ค บางพลี เวลาประมาณสองทุ่มของวันที่ 12 มกราคม 2552

คุณปานกับแฟนหนุ่มได้ไปเดินหาซื้ออาหาร เดินกันสักพักใหญ่มาประสบพบเจอกับชุดยำหมูกึ่งสำเร็จรูปของพรานทะเลวางจำหน่ายอยู่ เห็นป้ายแจ้งว่า ลดราคาเพียงแค่ชุดละ 20 บาท ไม่รอช้าสายตากวาดไปที่ป้ายราคาเพื่อมองหาวันผลิต-วันหมดอายุ ตามคำแนะนำของ อย. โดยทันที

ฉลากระบุวันผลิตเป็นวันที่ 12 มกราคม 2552 มีวันหมดอายุถัดไปอีก 2 วันคือคือวันที่ 14 มกราคม 2552 เห็นแล้วมั่นใจว่า “ยังสดใหม่” คุณปานกับแฟนหนุ่มจึงตัดสินใจหยิบใส่ตะกร้า 2 ชุดทันทีเพื่อนำไปแบ่งรับประทานคนละชุด กลับมาถึงบ้านยัดใส่ตู้เย็นไว้ก่อน มาเปิดอีกทีก็เข้าวันที่ 14 มกราคม เพราะเกรงว่าของจะหมดอายุเสียก่อน ความจริงถึงได้ปรากฏ เพราะเมื่อแกะห่อชั้นนอกก็พบห่อชั้นในที่เป็นห่อเนื้อหมูแดงที่จะใช้ทำยำ มาตกใจกับป้ายฉลากของพรานทะเลที่ระบุวันผลิตวันหมดอายุอีกชิ้นหนึ่งแปะอยู่บนซองเนื้อหมูแดง เพราะระบุวันที่ผลิตเป็นวันที่ 17 กันยายน 2551 และวันหมดอายุเป็นวันที่ 2 ตุลาคม 2551

“ตายแล้ว นี่มันหมดอายุไปตั้ง 3 เดือนแล้วนี่” คุณปานอุทานกับตัวเองด้วยความตกใจ พร้อมกับหยิบเปลือกห่อด้านนอกที่ฉลากเป็นของห้างเทสโกโลตัสมาดูอีกที.... วันที่ผลิต วันที่หมดอายุไม่ตรงกันจริงๆ

คุณปานจึงโทรไปต่อว่าที่โลตัส พนักงานรับสายบอกว่า “มันเป็นของพรานทะเลไม่ใช่ของโลตัส” เจอคำตอบแบบนี้ไฟที่แค่คุก็ลุกเป็นเพลิงทันที เพราะเป็นการปฏิเสธความรับผิดชอบชัดๆ

คุณปานจึงจูงมือแฟนหนุ่มในฐานะพยานไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐานกับสถานีตำรวจท้องที่ ก่อนจะย้อนกลับไปยื่นสำเนาใบแจ้งความที่ห้างโลตัสสาขาดังกล่าวในวันเดียวกับที่พบความผิดปกติของสินค้านั่นเอง

วันรุ่งขึ้นจึงได้รับการติดต่อจากพรานทะเลเพื่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมคำขอโทษ และได้รับอีเมล์ชี้แจงตอบกลับมาใจความสรุปได้ว่า

“การที่ซองหมูแดงที่แพ็คอยู่ด้านในระบุวันหมดอายุวันที่ 2 ตุลาคม 2551 แต่ที่แพ็คของสินค้ายำระบุวันหมดอายุวันที่ 14 มกราคม 2552 นั้น เกิดจากพนักงานบรรจุสินค้าเป็นพนักงานใหม่ทำให้หยิบสินค้าสลับแพ็ค โดยนำหมูแดงที่ใช้สำหรับจัดเป็นชุดชิมรสชาติมาใส่เป็นชุดยำ ที่มาของหมูแดงชุดนี้ เดิมเป็นสินค้าที่ตั้งใจผลิตแบบ chilled หรือหมูสดแช่เย็น เพื่อนำไปขายในร้านสะดวกซื้อ มีอายุการเก็บ 15 วัน และมีสินค้าเหลือจากยอดสั่งเกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง ทางพรานทะเลจึงนำไปผ่านกระบวนการ freeze หรือแช่แข็งเพื่อยืดวันหมดอายุออกไป พรานทะเลอ้างว่าเก็บได้นานถึง 18 เดือน แต่ไม่ได้มีการแก้ไขวันผลิตและวันหมดอายุ เนื่องจากตั้งใจใช้หมูแดงเหล่านี้จัดเป็นชุดสำหรับให้ชิมรสชาติเท่านั้น ไม่คิดจะเอามาใส่ลงในชุดยำ”

จากคำชี้แจงทำให้คุณปานและแฟนหนุ่มถึงกับอึ้ง แม้ว่าพรานทะเลจะแจ้งว่าได้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับคุณปาน แฟนหนุ่ม รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่หลงซื้อสินค้าเพราะคิดว่าใหม่สดตามฉลากที่แจ้ง ทั้งเทสโกโลตัสและพรานทะเลยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนใดๆ คุณปานจึงได้ร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ

แนวทางแก้ไขปัญหา
จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ เป็นลักษณะของการนำอาหารที่ไม่สดแล้วมาแสดงฉลากว่าเป็นอาหารสดใหม่ ถือเป็นแสดงฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในคุณภาพของผลิตภัณฑ์สินค้า ผู้ผลิต และผู้จำหน่าย อาจมีความผิดฐานผลิตและจำหน่ายอาหารปลอมตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปีและปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 10,000 บาท ซึ่งผู้เสียหายควรแจ้งความดำเนินคดี ส่วนการเรียกค่าเสียหายทางแพ่งนั้น มูลนิธิฯ ได้ส่งจดหมายเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนอยู่ในขณะนี้ หากไม่มีการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียนตามสมควร ผู้ร้องเรียนสามารถมอบอำนาจให้มูลนิธิฯ ดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่งครับ


ประกันภัยสินค้าใหม่ผ่านสายโทรศัพท์
เรื่องโดย บุญยืน ศิริธรรม

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ผู้เขียนกำลังจะตักข้าวใส่ปาก(มื้อเช้า) เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น(เล่นเอาสะดุ้ง) จึงวางช้อนลงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมารับสายเพราะคิดว่าอาจมีเรื่องสำคัญ เมื่อรับสายจึงรู้ว่าเป็นการโทรมาเพื่อขายประกัน (โอ้ย..รำคาญจริงๆ) แต่ก็ทนฟังเพราะอยากรู้ว่าเขาจะให้ข้อมูลอะไรบ้าง โอ้ย..จะบอกให้นะ หากใครตัดสินใจฟังคำบรรยายสรรพคุณความดีงามของการประกันภัย ถ้าจิตไม่แข็งพอ ต้องตกหลุมทำประกันกับเขาแน่ๆ เสียงก็เพราะแล้วยังพูดหวานหว่านล้อมสารพัด แต่ผู้เขียนฟังแล้วรู้สึกว่ามันเป็นการให้ข้อมูลฝ่ายเดียวแล้วยังเป็นการละเมิดสิทธิ สิทธิส่วนบุคคลของเราชัดๆ เพราะเราไม่เคยแสดงความจำนงว่าต้องการซื้อประกัน แล้วมาเสนอขายเราทำไม

นอกจากนั้นระหว่างสนทนายังบันทึกเสียงเราอีก นึกๆ แล้วก็ควันออกหู คนจะกินข้าว ดันดั้นๆๆๆๆ โทรมาขายของน่าเกลียดจริงไอ้ธุรกิจพรรค์นี้ ก็เลยตอบกลับไปว่า “ไม่สนใจแล้วอย่าโทรมาอีกเป็นอันขาดเดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน” (โทรมาจะด่าให้) หันกลับมาที่จานข้าวใหม่เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้นอีก (ไงเนี่ย..ตกลงจะได้กินข้าวไหม) แต่เห็นเบอร์โทรแล้วแสนจะดีใจ เพราะเป็นเบอร์ของเพื่อน และเพื่อนคนนี้เราไม่ค่อยมีเวลาเจอกันซักเท่าไร เพราะต่างคนต่างมีงาน เมื่อเพื่อนโทรหาเราก็พร้อมจะคุย เพื่อนบอกว่าพอดีได้อ่านหนังสือฉลาดซื้อเมื่อเดือนที่แล้ว ในกรณีเสาไฟฟ้าบ้านลุงชุบ พอดีมีเรื่องจะขอปรึกษาเรื่อง การขายประกันทางโทรศัพท์หน่อยได้ไหม(ทำไมจะไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นร้อยพันยังช่วยได้นี่เพื่อนเรานะทำไมจะช่วยไม่ได้)

จากการพูดคุยก็ได้รายละเอียดว่า เมื่อต้นเดือนมกราคม ตัวเพื่อนและภรรยา(โทรคนละครั้งเพราะใช้โทรศัพท์คนละเบอร์) ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่บริษัทประกันกรุงเทพประกันภัย จำกัด มาชักชวนให้ลงประกัน เพื่อนและภรรยาปฏิเสธไป แล้วก็คิดว่าคงไม่มีอะไรอีกแล้ว แต่เรื่องไม่เป็นเช่นนั้น ปรากฏว่าไปรษณีย์ได้นำจดหมายมาส่งวันที่ 26 มาราคม 2552 หัวจดหมายเป็นชื่อของบริษัทที่เคยโทรมาชวนให้เขาและภรรยาลงประกัน จึงรีบเปิดซองออกดูปรากฎว่า เป็นกรมธรรม์ประกันภัยระบุชื่อผู้เอาประกัน คือลูกสาวของเขาเอง และระบุวันคุ้มครอง วันที่ 23 มกราคม 2552 ด้วยความตกใจ จึงเรียกลูกสาวมาสอบถาม จึงได้ทราบว่าบริษัทประกันนอกจากจะโทรหาเขาและภรรยาแล้ว ยังโทรหาลูกสาวเขาอีก (อุแม่เจ้า นี่มันอะไรกันนี่มันเล่นโทรขายทั้งบ้านเลยหรือเนี่ย....) จึงถามลูกสาวว่าทำอย่างไรเขาถึงส่งกรมธรรม์มาให้ถึงบ้านได้ ลูกสาวก็บอกว่าก็ “เขาบอกว่าทำแล้วดีตั้งหลายอย่างก็เลยตอบตกลงเขาไป ก็ไม่รู้ว่าตกลงปากเปล่าทางโทรศัพท์นี่ จะเป็นจริงเป็นจังขนาดนี้” เพื่อนยังบอกต่ออีกว่าเมื่อเห็นว่าลูกสาวไม่ได้ลงนามในสัญญา สัญญากรมธรรม์ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร เพราะการทำสัญญาต้องมีการลงนามทั้งสองฝ่ายหากขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดสัญญานั้นก็ไม่น่าจะสมบูรณ์ เมื่อคิดอย่างนั้นก็เลยปล่อยเรื่องไว้เฉยๆโดยไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรตามมา แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันเจ้าหน้าที่บริษัทประกันได้โทรติดต่อกลับมาหาลูกสาวเขาอีกพร้อมบอกให้ลูกสาวโอนเงินงวดแรกจำนวน 1,000 บาท (3 งวด)ไปยังบริษัท ลูกสาวได้ตอบไปว่า พ่อไม่ยอมให้ทำจึงขอยกเลิกการทำประกัน บริษัทตอบกลับมาว่ายกเลิกไม่ได้เพราะบริษัทได้ส่งกรมธรรม์มาให้แล้ว ตามคำยืนยันของลูกค้าที่ทางบริษัทได้บันทึกเสียงไว้ที่ตกลงไว้แล้วทางโทรศัพท์ และจากนั้นก็ได้รับโทรศัพท์ข่มขู่ว่าหากไม่จ่ายเงินบริษัทจะฟ้องเพราะถือว่าลูกค้าทำผิดสัญญา จึงได้โทรมาเพื่อขอคำปรึกษาว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถยกเลิกการทำประกันได้

เมื่อได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมดแล้ว จึงได้ส่งเรื่องไปยังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้ค้นหาข้อมูลเพื่อช่วยเหลือและตอบข้อหารือ ในเบื้องต้นศูนย์ฯ ได้แนะนำผู้ร้องไปว่า ถ้าผู้ซื้อไม่พอใจ ผู้บริโภคมีสิทธิปฏิเสธได้หรือบอกเลิกสัญญาได้ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้ง ดังนั้นเรามีสิทธิยกเลิกการเอาประกันได้ และไม่ต้องกลัวคำขู่ของบริษัทที่ขู่จะฟ้องร้อง แน่จริงก็ให้เขาฟ้องมาเลยศูนย์ฯ จะดำเนินการให้ไม่ต้องกลัว

จากนั้นศูนย์ฯได้ดำเนินการสืบค้น พบว่าการที่บริษัทประกันโทรมาขายประกันผ่านโทรศัพท์ได้ เป็นเพราะคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ) กรมการประกันภัยเดิม ได้ออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางโทรศัพท์ พ.ศ. 2551 จึงได้ข้อสรุปว่า คปภ. คือต้นเหตุของความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ คปภ ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นผู้ออกประกาศมาสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งประชาชนสามารถใช้สิทธิตาม พรบ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภคฟ้องบริษัทและ คปภ. ต่อศาลประจำจังหวัด ฐานที่ส่งเสริมให้บริษัทสร้างความเสียหายต่อจิตใจ และสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ รบกวนสิทธิส่วนบุคคล

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง:

รวมข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?

ท่านใดที่กำลังคิดว่ารายได้ของท่านจะต้องเสียภาษีเท่าไร และมีอะไรมาหักลดหย่อนได้บ้าง เราเลยนำเสนอข้อมูลในท่านตามลิงค์ด้านล่าง เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวเสียภาษีปีนี้นะคะ :) การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ 2560   By กรมสรรพากร  https://goo.gl/Y5GxhZโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ปีภาษี 2560 ค่าลดหย่อน  By Kapook.com   https://goo.gl/MEgCYUวางแผนลดหย่อนภาษีปี 60 ฉบับบุคคลธรรมดา มีอะไรหักได้บ้าง  By plus.co.th  https://goo.gl/Nyfi5Uครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีเพิ่มเท่าตัว มีผลปีภาษี 2560 ช่วยค่าครองชีพมนุษย์เงินเดือน  By matichon  https://goo.gl/JQAukmปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจกถ้วนหน้า By thaipublica https://goo.gl/5c25X4ขอบคุณข้อมูลกรมสรรพากร Kapook.complus.co.th matichonthaipublica

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 จ่ายจริงมากกว่าราคาที่แสดงไว้

สินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักมีราคาติดไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าหากต้องการซื้อสินค้าดังกล่าว ต้องจ่ายเงินเท่าไร อย่างไรก็ตามหากเรานำสินค้านั้นๆ ไปจ่ายเงินที่พนักงานคิดเงิน แล้วพบว่าราคาไม่ตรงตามป้าย สิ่งที่เราควรทำคือ ปกป้องสิทธิของตัวเอง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณจอห์นเป็นชาวต่างชาติที่มักซื้อสินค้าจากร้านค้าวิลล่า มาร์เก็ต (Villa market) เป็นประจำ เพราะร้านดังกล่าวจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ วันหนึ่ง ภายหลังจากการเลือกซื้อขนมคบเขี้ยวยี่ห้อหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งป้ายแสดงราคาว่า 49 บาทต่อถุง แต่เมื่อนำไปชำระเงินกลับพบว่ากลายเป็น 59 บาทต่อถุง คุณจอห์นไม่แน่ใจว่าตัวเองดูราคาผิดไปหรือไม่ ดังนั้นเมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย เขาจึงกลับไปถ่ายรูปราคาสินค้าจากชั้นวางขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมสอบถามไปกับผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสาขาได้ชี้แจงกลับมาว่าราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นเก่า อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาจากร้านเขาก็ตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งพบว่าคำตอบกลับไม่เหมือนเดิม ครั้งนี้ผู้จัดการร้านคนเดิมกลับแจ้งว่า ราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นล่าสุดสำหรับวันนี้ดังนั้นคุณจอห์นจึงตัดสินใจแวะไปร้านค้าดังกล่าว ในอีกสาขาหนึ่งและซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งพบว่าบนชั้นวางขายก็ติดราคาไว้ที่ 49 บาท แต่เมื่อนำมาชำระเงินก็ถูกคิดราคา 59 บาทเช่นเดิม เขาจึงเชื่อว่าการกระทำของร้านค้าดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ส่งเอกสารการร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของร้านค้า โดยขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้า และขอให้แจ้งผลการดำเนินการกลับมายังศูนย์ฯ โดยสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ ใบเสร็จรับเงิน และรูปถ่ายราคาสินค้าจากชั้นวางขาย ทำให้ภายหลังได้รับเรื่อง กรมการค้าภายในจึงดำเนินการสั่งปรับ นิติบุคคลของร้านค้า วิลล่า มาร์เก็ต 3,000 บาท และผู้จัดการร้านทั้ง 2 สาขา คนละ 1,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลนำจับให้ผู้ร้องอีก ร้อยละ 25 ของราคาปรับ คือ 1,500 บาท

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 โดนเชิดเงินหนีหลังจองรถ

แม้คนส่วนใหญ่ต่างมั่นใจว่าการเช่าซื้อรถยนต์ที่ศูนย์บริการจะมีความปลอดภัย แต่หากเราประมาทเพียงเล็กน้อยก็สามารถโดนเชิดเงินจองรถ ที่จ่ายให้กับตัวแทนของบริษัทไปแล้วก็ได้ คุณสุชาติเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่ง รุ่น พรีเมล่า (Premera) จากศูนย์นิสสัน ราคาประมาณ 530,000 บาท โดยจ่ายค่าจองรถไว้ก่อนจำนวน 5,000 บาท ถัดมาอีก 2 วัน พนักงานของบริษัทได้ติดต่อมาว่า ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่จองรถ ซึ่งหากต้องการรับสิทธิดังกล่าวต้องโอนเงินมาเพิ่มอีก 5,000 บาท เมื่อผู้ร้องได้รับข้อมูลดังนั้นและเชื่อว่าเป็นโปรโมชั่นของบริษัทจริง จึงโอนเงินไปเพิ่ม แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะอีก 1 อาทิตย์ถัดมา พนักงานคนเดิมก็โทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งเพื่อแจ้งว่า ทางบริษัทต้องการคำยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้ร้องยังต้องการรถ ซึ่งทางบริษัทจะนำเข้าหรือสั่งมาให้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ โดยสามารถยืนยันสิทธิได้ด้วยการโอนเงินมาเพิ่มอีก 22,000 บาท หลังจากตัดสินใจสักพัก ผู้ร้องก็หลงเชื่อและโอนเงินไปอีกครั้ง ซึ่งหากรวมๆ แล้ว จำนวนเงินที่ผู้ร้องโอนให้พนักงานคนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 32,000 บาทเวลาต่อมาคุณสุชาติก็ได้นัดหมายกับไฟแนนซ์ และพนักงานของบริษัทรถที่เขาโอนเงินไปให้ เพื่อให้มาตกลงเรื่องการส่งค่างวดรถ อย่างไรก็ตามพนักงานคนดังกล่าวกลับบ่ายเบี่ยง และอ้างว่าไม่สะดวกทุกครั้งที่เขานัด ทำให้คุณสุชาติเริ่มไม่พอใจและติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ เพื่อสอบถามปัญหา ภายหลังการพูดคุยและสอบถามถึงจำนวนเงินที่โอนไปก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ไม่เคยได้รับเงินที่คุณสุชาติโอนเข้ามาก่อนหน้านี้เลย และเมื่อติดต่อไปยังพนักงานคนดังกล่าวก็พบว่า เขาได้ลาหยุดมาหลายวันแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสุชาติถามถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทฯ ก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คุณสุชาติต้องเป็นคนจัดการเอง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เขาจึงไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อต้องการทราบว่าการที่บริษัทฯ ปฏิเสธการรับผิดชอบเช่นนี้ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทน กำหนดไว้ว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันกับบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้กระทำไปในขอบเขตแห่งฐานตัวแทนนั้น หมายถึง การที่ตัวแทนได้ไปกระทำการในนามของบริษัท โดยได้กระทำในขอบเขตที่บริษัทให้ทำ ก็ต้องถือว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบกับตัวแทนนั้นด้วย ปกติบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จะต้องมีตัวแทนคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการแทนบริษัท ตามกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น1. พนักงานของบริษัท เมื่อได้มีการกระทำแทนบริษัทในกิจการภายในวัตถุประสงค์ของบริษัท พนักงานบริษัทจึงถือเสมือนเป็นตัวแทนของบริษัท2. หากทางพนักงานได้ทำการแทนบริษัท โดยได้รับเงินภายในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทางบริษัทย่อมมีความผูกพัน ในจำนวนเงินที่พนักงานนั้นได้รับ แต่ถ้าหากพนักงานได้ทำการแทนนอกวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นผลผูกพันต่อบริษัท3. ตามที่ผู้ร้องได้ทำการโอนเงินให้กับพนักงาน โดยผู้ร้องเข้าใจว่าพนักงานนั้นเป็นตัวแทนและเป็นผู้มีอำนาจเรียกเก็บเงินของบริษัท จึงถือว่าผู้ร้องได้โอนเงินนั้นไปโดยสุจริต โดยถือว่าบริษัทได้ทำการยอมรับให้พนักงานนั้น เป็นตัวแทนของตนในการรับหรือเก็บเงินของผู้ร้อง เพราะฉะนั้นทางบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ร้อง ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกโดยสุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ร้อง4. หากพนักงานบริษัทได้กระทำการใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ถือว่าเป็นการกระทำแทนบริษัท บริษัทจึงต้องรับผิดชอบในการที่พนักงานนั้นได้กระทำแทนบริษัทไป เสมือนกับทางบริษัทได้กระทำการนั้นด้วยตนเอง จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบจากการกระทำของพนักงานคนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เอกสารการจองรถที่ผู้ร้องนำมาเป็นหลักฐานนั้น ไม่ใช่เอกสารการจองฉบับจริงของบริษัท แต่เป็นสำเนาการถ่ายเอกสาร ซึ่งผู้ร้องให้ข้อมูลว่า พนักงานนำใบจองรถที่ถ่ายสำเนามาให้เซ็นชื่อ ซึ่งเขาเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเอกสารการจองรถของบริษัทจริงๆ โดยมารู้ภายหลังว่าพนักงานคนดังกล่าว ได้แอบนำใบจองฉบับจริงไปถ่ายเอกสาร ซึ่งหากเราไม่สังเกตก็อาจทำให้โดนหลอกได้ง่ายๆ  

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 แก้ปัญหารถยนต์ใหม่มือหนึ่งชำรุดบกพร่อง

เมื่อเราซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่ง ย่อมต้องคาดหวังในประสิทธิภาพที่คุ้มค่ากับราคา อย่างไรก็ตามใช่ว่ารถยนต์ใหม่มือหนึ่งทุกคันจะไม่มีปัญหากวนใจ ซึ่งเราควรแก้ไขปัญหาอย่างไรลองมาดูเหตุการณ์นี้กันคุณสุนีย์ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ วอลโว่ รุ่น S60 T4F จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอสังเกตเห็นว่าในใบสั่งจองรถยนต์คันดังกล่าว ประทับตราข้อความว่า “รถทดลองขับ/รถผู้บริหารใช้แล้ว” เมื่อสอบถามไปยังผู้จัดการฝ่ายขายก็ได้รับคำตอบว่า ที่ต้องประทับตราข้อความเช่นนั้น เนื่องจากเป็นโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อให้ผู้ร้องผ่อนได้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ ทำให้เธอไม่ติดใจอะไรและตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาอย่างไรก็ตามเมื่อรับรถมาแล้วประมาณ 4 เดือน เธอพบว่ารถยนต์มีอาการสั่นรุนแรงและสตาร์ทไม่ติด ทำให้ต้องส่งเข้าศูนย์ซ่อม ซึ่งภายหลังศูนย์ได้เปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ เพราะมีปัญหาเกิดจากแบตเตอรี่เสื่อม ทำให้เธอข้องใจว่า ทำไมรถยนต์ใหม่ถึงมีปัญหาเช่นนี้ เมื่อสอบถามข้อมูลจึงพบว่ารถคันดังกล่าวผลิตในปี 2014 ทำให้อาจมีปัญหาแบบนี้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อขอคำปรึกษา เนื่องจากก่อนหน้าที่เธอจะตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ได้แจ้งกับพนักงานแล้วว่าต้องการรถรุ่นใหม่ล่าสุด หรือรุ่นที่ผลิตในหรือ 2015 ไม่ใช่รุ่นเก่าเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องขอข้อมูลการซ่อมที่ผ่านมาทั้งหมดจากศูนย์บริการ เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับรุ่นและประวัติต่างๆ พร้อมส่งจดหมายถึง บริษัท วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งภายหลังก็ได้รับการยืนยันว่า รถคันดังกล่าวไม่ใช่รุ่นที่ผู้ร้องต้องการ ดังนั้นตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาจองรถ พบว่าหากบริษัทมีการส่งรถไม่ตรงตามสัญญา เช่น ผิดรุ่นดังกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ร้องสามารถคืนรถคันดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเจรจากับทางบริษัทก็ได้รับการชี้แจงว่า รถยนต์รุ่นนี้ไม่มีการผลิตในปี 2015 ซึ่งรถคันนี้เป็นรถใหม่ แต่อาจจอดทิ้งไว้นานจนทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น แต่ยินยอมรับผิดชอบด้วยการคืนเงินที่ลูกค้าจ่ายไป พร้อมปิดไฟแนนซ์ให้ โดยขอหักค่าเสื่อมจำนวน 60,000 บาท ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)