นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 160 เสียงผู้บริโภค

โดนขโมยบัตรเดบิตไปรูด  ธนาคารพิสูจน์ไม่ได้ ต้องคืนเงิน !!!

เมื่อเดือนมกราคม 2554 เจฟฟรี จี เอเลน หนุ่มใหญ่ชาวออสเตรเลีย พร้อมภรรยา ได้เข้ามาร้องเรียนที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า ถูกขโมยรหัสบัตรเดบิตไปใช้ซื้อสินค้าที่สหรัฐอเมริกา ทั้งที่ตนไม่ได้เป็นผู้ใช้ เมื่อติดต่อไปที่ธนาคาร ธนาคารก็ไม่รับผิดชอบ อยากขอให้มูลนิธิฯ ช่วยเหลือ

เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ สอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้ความว่า เจฟฟรี ได้ย้ายมาอาศัยอยู่กินกับอาจารย์ทิพย์รัตน์ ภรรยาชาวไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยได้เปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารกรุงไทย สาขาแม่สะเรียง ตั้งแต่วันที่ 13  ตุลาคม 2548 เพื่อฝากเงินที่ได้รับจากสวัสดิการผู้สูงอายุประเทศออสเตรีย และสมัครเป็นผู้ถือบัตรเดบิตและทำสัญญาเป็นผู้ใช้บัตรเดบิต เพื่อนำไปใช้ชำระค่าซื้อสินค้าและบริการต่างๆ แทนเงินสด และในการเบิกถอนเงินจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ หรือ เอทีเอ็ม

ต่อมาประมาณวันที่ 27 กันยายน 2554 เจฟฟรีพบความผิดปกติของจำนวนเงินในบัญชีที่ลดลงจำนวนมาก จึงติดต่อไปธนาคารกรุงไทยสาขาแม่สะเรียง เพื่อขอให้ตรวจสอบความผิดปกตินี้ เจ้าหน้าที่ธนาคารตรวจสอบแล้วแจ้งว่า มีรายการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2554  ถึงวันที่ 5 กันยายน 2554 รวมเป็นเงิน 120,599.35 บาท ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว เจฟฟรี และภรรยา ยืนยันว่าทั้งคู่อยู่ในประเทศไทย ไมได้เดินทางออกนอกประเทศไปที่ไหน และไม่เคยให้บัตรหรือรหัสกับผู้ใดไปใช้แน่นอน เจฟฟรีพยายามทักท้วงและให้เหตุผลกับธนาคารเพื่อให้คืนเงินกลับเข้าบัญชี แต่ธนาคารแจ้งว่าไม่พบความผิดปกติ คือธนาคารไม่เชื่อว่าเจฟฟรีไม่ได้ใช้นั่นเอง ธนาคารจึงไม่คืนเงินให้

 

แนวทางแก้ไขปัญหา

ทางศูนย์ฯ ได้แนะนำให้ เจฟฟรี เตรียมพยานหลักฐานที่สำคัญเพื่อแก้ข้อกล่าวหาของธนาคารคือ หนังสือเดินทาง ที่ยืนยันว่าในช่วงเวลาดังกล่าว เจฟฟรีอยู่ในประเทศไทย  และให้ทำหนังสือถึงธนาคารเพื่อยืนยันว่าตนไม่ได้เป็นผู้ใช้และไม่ได้มอบบัตรให้บุคคลใดไปใช้ และขอให้ธนาคารแก้ไขคืนเงินในบัญชีโดยทันที เพื่อเป็นหลักฐานการร้องเรียนเสียก่อน

ต่อมาธนาคารปฏิเสธการคืนเงินให้กับเจฟฟรี โดยให้เหตุผลน่าเชื่อว่า เจฟฟรีเป็นผู้ใช้บัตรเอง จึงไม่คืนเงิน

เมื่อตกลงกันไม่ได้ เจฟฟรี จึงจำเป็นต้องฟ้องธนาคารกรุงไทย เป็นคดีผู้บริโภค ต่อศาลแขวงพระนครใต้ เรียกค่าเสียหาย 125,357.11 บาท

ในชั้นพิจารณาคดี เจฟฟรีและภรรยา เป็นพยานเบิกความว่า ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2554 ถึง วันที่ 5 กันยายน 2554 เจฟฟรีอยู่กับภรรยา ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอนและที่จังหวัดเชียงใหม่ เจฟฟรีไม่เคยมอบบัตรเดบิตให้ผู้อื่นนำไปใช้และมิได้เป็นผู้ใช้หรือยินยอมให้ใครนำไปใช้แต่อย่างใด

ส่วนจำเลยมีนายอรรนพ ชื่นบุญ พนักงานจำเลยเบิกความพบว่า ในช่วงวันที่ 8 สิงหาคม 2554 ถึง วันที่ 5 กันยายน 2554 บัตรเดบิตของโจทก์ถูกนำไปใช้ซื้อสินค้าและบริการต่างๆ แบบซื้อสินค้าทั่วไปตามปกติ เช่น อาหาร หรือ ร้านสะดวกซื้อ ไม่ใช่ลักษณะของพวกมิจฉาชีพ และยืนยันว่ารายการดังกล่าวเป็นการใช้บัตรของโจทก์เองหรือตัวแทน โจทก์จึงต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น เพราะถือว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ เนื่องจากโจทก์มีหน้าที่เก็บรักษาบัตรและรหัสไว้เอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้คืนโจทก์ตามที่ฟ้อง

แต่พยานจำเลยเองก็ได้เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ในการนำบัตรเดบิตไปซื้อสินค้าและบริการต่างๆ จะต้องมีเซลส์สลิปและลายมือชื่อของลูกค้าทุกครั้ง ซึ่งพยานจำเลยอ้างว่า ได้ทำเรื่องไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อขอหลักฐานแล้วแต่ไม่ได้อ้างศาลและจากประสบการณ์การทำงานของพยานจำเลยที่ทำงานมานาน สันนิษฐานได้ว่าบัตรเดบิตของโจทก์ถูกขโมยไปใช้ที่สหรัฐอเมริกา

ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้นำบัตรเดบิตไปใช้ด้วยตนเองหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำไปใช้ แต่กลับไปนำความจากทางนำสืบของจำเลยว่าบัตรเดบิตของโจทก์น่าจะถูกขโมยไปใช้ โดยไม่ปรากฎว่าเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงเชื่อว่าบัตรเดบิตของโจทก์ถูกขโมยไปใช้ที่สหรัฐอเมริกา กรณีจึงมิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้ใช้บัตรเองหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำไปใช้ตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จำเลยจึงไม่มีสิทธินำรายการการซื้อสินค้าและใช้บริการดังกล่าวมาหักเงินจากบัญชีของโจทก์ได้ จึงพิพากษาให้ จำเลยต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โจทก์

“ส่วนตัวตอนแรกไม่คิดว่าจะต้องฟ้องเป็นคดีความต่อศาล เพราะคิดว่าธนาคารจะคืนเงินให้กับตน เพราะตนไม่ได้เป็นผู้ใช้ แต่เมื่อธนาคารไม่สนใจจะแก้ไขปัญหานี้ก็ต้องฟ้องคดี ซึ่งผลคดีที่ออกมา ตนรู้สึกพอใจกับคำพิพากษา ที่ท่านให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภค ตนเชื่อว่านอกจากตนแล้ว น่าจะมีผู้บริโภครายอื่นที่เจอปัญหาแบบนี้ ก็อยากฝากให้คนที่เจอปัญหาแบบตนลุกขึ้นมาใช้สิทธิร้องเรียนให้ถึงที่สุด ตนเชื่อว่าทุกคนจะรับความเป็นธรรมอย่างแน่นอน” คุณเจฟฟรีกล่าวทิ้งท้ายไว้

 

เจ็บป่วยฉุกเฉิน สิทธิการรักษาที่สร้างความสับสน

นิยาม “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน”   คงจะใช้ไม่ได้ในหลายกรณี เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายนี้   คุณสายันห์  อายุ 61 ปี อาศัยอยู่แถว ซ.ประชาอุทิศ 19  ทุ่งครุ  เกิดอาการล้มหมดสติ เวลาประมาณ 23.00 น ในวันที่ 3 มกราคม 2557  ญาติได้นำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน   ระหว่างที่นำส่งญาติทราบดีว่าสิทธิของผู้ป่วยอยู่ รพ.ตากสิน แต่ขณะที่อยู่บนรถ คุณสายันห์ เกิดอาการหยุดหายใจ ญาติจึงเร่งนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งแพทย์ได้ทำการรักษาผู้ป่วยอย่างเร่งด่วนในห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน จนกระทั่งอาการดีขึ้น

ต่อมาเมื่อเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่ารักษาคุณสายันห์ เป็นเงิน 148,324 บาท  ญาติถึงกับตกใจ ภรรยาคุณสายันห์ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี จึงได้ขอให้ทางโรงพยาบาลย้ายคุณสายันห์ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลตากสินตามสิทธิ  แล้วจึงไปกู้เงินนอกระบบเพื่อนำกลับมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้กับโรงพยาบาลแรกที่ช่วยรักษาคุณสายันห์ ปัญหาคือ ทำไมโรงพยาบาลจึงไม่แจ้งเรื่องสิทธิฉุกเฉิน 3 กองทุนที่ผู้ป่วยสามารถใช้ได้ ทำไมต้องมาแบกรับภาระค่ารักษาทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่ได้รับสิทธิตามหลักประกันสุขภาพ

เมื่อมารักษาที่โรงพยาบาลตากสิน จนอาการดีขึ้นแพทย์อนุญาตให้กลับไปรักษาต่อที่บ้านได้ แต่ญาติๆ พบว่าผู้ป่วยไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้ เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากช่วงที่หัวใจหยุดเต้นก่อนถึงโรงพยาบาล  ปัจจุบันต้องมีคนคอยดูแลตลอดเวลา

ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน”  อาจเป็นเพียงภาพลวงตาที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ เช่นกรณีคุณสายันห์ป่วยฉุกเฉินด้วยอาการหยุดหายใจเฉียบพลัน ซึ่งเข้าตามเกณฑ์ที่สภาพยาบาลได้ให้ไว้  แต่สุดท้ายก็ต้องจ่ายเงิน(อย่างตกใจ)ไปก่อน พอได้ทราบเรื่องสิทธิและตามเบิกตามสิทธิแห่งตน ก็ได้รับการอนุมัติเงินคืนค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปก่อนหน้านั้นเพียง 16,543  บาท  หากเทียบกับยอดค่าใช้จ่ายที่ญาติผู้ป่วยจ่ายไป 148,324 บาท ยังไม่ได้ถึง 20% ของจำนวนเงินดังกล่าวเลย

คำถามจึงเกิดขึ้นมาว่า อะไรคือมาตรฐานในการพิจารณาค่ารักษากรณีฉุกเฉิน  แล้วทำไมสถานพยาบาลจึงไม่มีข้อมูลแจ้งต่อผู้ป่วยหรือญาติ ในการอธิบายหรือช่วยประสานงานกับหน่วย EMCO หรือหน่วยดูแลกองทุนฉุกเฉิน ของ สปสช. ทำให้ผู้ป่วยหลายรายต้องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อตัดสินใจเข้ารักษาที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุดจากกรณีป่วยฉุกเฉิน ด้วยหวังว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยลดทอนค่าใช้จ่ายลงได้ แต่กลับพบว่ามันไม่เป็นจริง

แนวทางแก้ไข

  1. ประสานสำนักงานหลักประกันสุขภาพเพื่อตรวจสอบกรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่ 1330 ได้แจ้งให้ประสานไปยังโรงพยาบาลเอกชนที่เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยเพื่อทำเรื่องเคลมค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ศูนย์ EMCO
  2. ประสานโรงพยาบาลที่ทำการรักษาให้ทำเรื่องเคลมค่ารักษาพยาบาลไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ศูนย์ EMCO
  3. เมื่อได้รับการอนุมัติค่ารักษาแล้วพบว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม สามารถยื่นเรื่องร้องเรียนได้ ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือ สปสช.

 

นโยบายรัฐให้คำจำกัดความเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินว่า

เจ็บป่วยฉุกเฉิน หมายถึง  ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ หรือมีอาการบ่งชี้ว่าจะเป็นอาการที่คุกคามต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญ ได้แก่ หัวใจหยุดเต้น หอบหืดขั้นรุนแรงมีอาการเขียวคล้ำของปากและเล็บมือ หมดสติ ไม่รู้สึกตัว สิ่งแปลกปลอมอุดกั้นหลอดลมทั้งหมด อุบัติเหตุรุนแรง  มีเลือดออกมาก ภาวะช็อกจากการเสียเลือดหรือขาดน้ำอย่างรุนแรง แขน ขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด ชักตลอดเวลา หรือชักจนตัวเขียว มีไข้สูงกว่า 40 องศา ถูกสารพิษ สัตว์มีพิษกัด หรือได้รับยามากเกินขนาด ถูกสุนัขกัดบริเวณใบหน้าหรือลำคอ

รักษาทุกที่ หมายถึง สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที ทุกรพ.ทั้งรัฐและเอกชนที่ใกล้ที่สุดโดยไม่ถูกถามสิทธิก่อนการรักษา ไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ไม่ถูกบ่ายเบี่ยงการรักษา และได้รับการดูแลรักษาจนกว่าอาการจะทุเลาลง

ทั่วถึงทุกคน หมายถึง  ผู้ที่มีสิทธิของ 3 กองทุน ประกอบด้วย

  1. กลุ่มข้าราชการและครอบครัว (ประมาณ 5 ล้านคน) จากกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการกรมบัญชีกลาง
  2. กลุ่มลูกจ้างพนักงาน (ประมาณ 10 ล้านคน) จากกองทุนประกันสังคม
  3. กลุ่มประชาชนที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (ประมาณ 48 ล้านคน) จากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

 

สิ่งที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคเวลาที่เจ็บป่วยฉุกเฉินต้องปฏิบัติดังนี้

ข้อควรปฏิบัติในการนำผู้ป่วยฉุกเฉินไปโรงพยาบาล

  1. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน

1)       ต้องเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนผู้ป่วยไปด้วยทุกครั้ง ถ้าอยู่ในวิสัยที่ทำได้

2)       เข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

หากเลือกได้ ขอให้เป็นโรงพยาบาลของรัฐ เพราะโรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพ

3)       ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย (ถ้ามี) พร้อมแจ้งการขอใช้สิทธิฉุกเฉินกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล

หากไม่มีบัตรประชาชน ให้แจ้งชื่อ-สกุลผู้ป่วย แล้วรีบนำบัตรประชาชนมายื่นภายหลัง

4)       หากโรงพยาบาลเรียกเก็บเงิน ให้ยืนยันการใช้สิทธิฉุกเฉินตามสิทธิที่มี และอ้างนโยบายรัฐบาล

แต่หากเจ้าหน้าที่ยังยืนยันจะเก็บเงิน ซึ่งส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นเงินมัดจำ แล้วจะคืนให้เมื่อเบิกจาก สปสช. ได้  ให้โทรไปสายด่วน 1330 สปสช. เพื่อให้เจราจากับโรงพยาบาล

5)       เมื่อแพทย์แจ้งว่าผู้ป่วยพ้นวิกฤตและสามารถเคลื่อนย้ายได้แล้ว ให้ประสานโรงพยาบาลตามสิทธิเพื่อย้ายผู้ป่วยเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง

6)       หากได้รับความเสียหายในการใช้สิทธิ สามารถแจ้งเรื่องได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สปสช.) สายด่วน 1330  และกรณีอยู่ต่างจังหวัด ให้แจ้งเรื่องไปที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)

7)       กรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการ ผู้มีสิทธิบัตรทอง สามารถยื่นเรื่องขอรับการเยียวยา

ความเสียหาย จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 41   ภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่

วันที่ทราบถึงความเสียหาย

 

 

เจอค่าอาหารโครตแพง ทำอะไรได้บ้าง

คุณขิ่ม (สุทธินันท์) โทรมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคว่า ตนเองและครอบครัวไปฉลองวันเกิดให้คุณพ่อที่ภัตตาคารแถวปิ่นเกล้า ซึ่งเป็นภัตตาคารอาหารจีน  เมื่อไปถึง พบว่าตัวเองเป็นลูกค้าโต๊ะแรก  พนักงานเข้ามาต้อนรับและแนะนำเมนูให้หลายอย่าง เช่น หูฉลามน้ำแดง กระเพาะปลาน้ำแดง  ฯลฯ  แต่ที่ได้ยินเสียงเชียร์ว่า เป็นอาหารขึ้นชื่อมาก ลูกค้าที่เป็นข้าราชการมักจะแวะมาทานกันบ่อยๆ    คืออาหารประเภทก้ามปูและปลากระพง จึงสั่งก้ามปูผัดน้ำพริกเผาจานเล็กมาลองชิมกัน  และปลากะพงนึ่งซีอิ๊ว  หูฉลามน้ำแดง กระเพาะปลาน้ำแดง  ผัดหมี่ ต้มยำกุ้ง  ข้าวผัดปู ปอเปี๊ยะทอด คะน้าผัดน้ำมันหอย  รวมแล้วประมาณ 9  อย่างเพราะไปกันเกือบ 10 คน

หลังจากรับประทานอาหารเสร็จเช็คบิล แทบเป็นลมเพราะเจอราคาอาหารเข้าไป 10,150   บาท  สอบถามราคาอาหารทุกจาน ก็พอรับได้ แต่เจอก้ามปูผัดน้ำพริกเผาจานเดียว 3,500  บาท ถามว่าทำไมถึงคิดราคานี้ในเมื่อจานเล็กแค่ 800  บาท  พนักงานก็ตอบว่า เฉพาะเมนูนี้คิดราคาเป็นก้าม  ก้ามละ 400 บาท  เพราะใช้ปูคัดสรรอย่างดี อ้าวเมนูไม่เห็นเขียนบอกไว้ เถียงกันไปมา  สรุปก็ต้องยอมจ่ายเงินไปเพราะกินไปแล้ว เสียทั้งเงินและความรู้สึก  แต่ที่มาร้องเรียนเพราะไม่อยากให้คนที่ไปรับประทานแล้วพบเจอปัญหาแบบตนเองอีก

 

แนวทางการแก้ไข

หลังจากรับเรื่องร้องเรียนศูนย์พิทักษ์สิทธิ ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ร้านอาหารดังกล่าว ด้วยการไปสั่งอาหารรับประทานบางอย่าง พบว่าราคาอาหารนั้นมีเขียนบอกไว้ทุกรายการ  เช่น ปลากะพงนึ่งซีอิ๊วนั้น บอกราคาขายเป็นขีด ขีดละ 140 บาท  ส่วนอาหาร ประเภทอื่นจะระบุราคาตามขนาด เล็ก กลาง ใหญ่   โดยเฉพาะเมนูก้ามปู ที่ทีมศูนย์ฯ ไปลองสั่งพบว่า พนักงานจะพยายามเชียร์และอธิบายให้ฟังว่าจานเล็กจะไม่พอทาน เพราะมี 2 ก้าม ควรสั่งให้ครบตามจำนวนคนที่ไปจะได้รับประทานกันทั่วถึง ซึ่งจะคิดก้ามละ 400 บาท  ที่แพงเพราะเป็นปูที่ไปสั่งจากผู้เลี้ยงเฉพาะไม่ได้ซื้อจากตลาดทั่วไปเพราะไม่ได้ขนาดที่ต้องการ  อีกทั้งช่วงเศรษฐกิจขาลง ทำให้ลูกค้าในร้านน้อยเพราะราคาอาหารค่อนข้างสูง

เมื่อทราบข้อเท็จจริง ศูนย์ฯ ได้กลับมาสอบถามคุณขิ่มเพิ่มเติม จึงได้รับทราบว่าทางร้านพยายามเชียร์ให้สั่งอาหารแบบเดียวกันและวันนั้นมีลูกค้าอยู่โต๊ะเดียวแต่วิธีการไม่เหมือนกัน

ภายหลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด  ศูนย์ฯ ได้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการเพื่อแก้ไขปัญหา เรื่องเมนูที่ไม่ได้แสดงรายละเอียดให้ชัดเจน    ซึ่งทางร้านได้มีหนังสือชี้แจงว่า ได้ปรับเปลี่ยนเมนูใหม่ เพื่อให้ชัดเจนขึ้น

 

 

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง:

รวมข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?

ท่านใดที่กำลังคิดว่ารายได้ของท่านจะต้องเสียภาษีเท่าไร และมีอะไรมาหักลดหย่อนได้บ้าง เราเลยนำเสนอข้อมูลในท่านตามลิงค์ด้านล่าง เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวเสียภาษีปีนี้นะคะ :) การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ 2560   By กรมสรรพากร  https://goo.gl/Y5GxhZโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ปีภาษี 2560 ค่าลดหย่อน  By Kapook.com   https://goo.gl/MEgCYUวางแผนลดหย่อนภาษีปี 60 ฉบับบุคคลธรรมดา มีอะไรหักได้บ้าง  By plus.co.th  https://goo.gl/Nyfi5Uครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีเพิ่มเท่าตัว มีผลปีภาษี 2560 ช่วยค่าครองชีพมนุษย์เงินเดือน  By matichon  https://goo.gl/JQAukmปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจกถ้วนหน้า By thaipublica https://goo.gl/5c25X4ขอบคุณข้อมูลกรมสรรพากร Kapook.complus.co.th matichonthaipublica

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 จ่ายจริงมากกว่าราคาที่แสดงไว้

สินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักมีราคาติดไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าหากต้องการซื้อสินค้าดังกล่าว ต้องจ่ายเงินเท่าไร อย่างไรก็ตามหากเรานำสินค้านั้นๆ ไปจ่ายเงินที่พนักงานคิดเงิน แล้วพบว่าราคาไม่ตรงตามป้าย สิ่งที่เราควรทำคือ ปกป้องสิทธิของตัวเอง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณจอห์นเป็นชาวต่างชาติที่มักซื้อสินค้าจากร้านค้าวิลล่า มาร์เก็ต (Villa market) เป็นประจำ เพราะร้านดังกล่าวจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ วันหนึ่ง ภายหลังจากการเลือกซื้อขนมคบเขี้ยวยี่ห้อหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งป้ายแสดงราคาว่า 49 บาทต่อถุง แต่เมื่อนำไปชำระเงินกลับพบว่ากลายเป็น 59 บาทต่อถุง คุณจอห์นไม่แน่ใจว่าตัวเองดูราคาผิดไปหรือไม่ ดังนั้นเมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย เขาจึงกลับไปถ่ายรูปราคาสินค้าจากชั้นวางขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมสอบถามไปกับผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสาขาได้ชี้แจงกลับมาว่าราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นเก่า อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาจากร้านเขาก็ตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งพบว่าคำตอบกลับไม่เหมือนเดิม ครั้งนี้ผู้จัดการร้านคนเดิมกลับแจ้งว่า ราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นล่าสุดสำหรับวันนี้ดังนั้นคุณจอห์นจึงตัดสินใจแวะไปร้านค้าดังกล่าว ในอีกสาขาหนึ่งและซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งพบว่าบนชั้นวางขายก็ติดราคาไว้ที่ 49 บาท แต่เมื่อนำมาชำระเงินก็ถูกคิดราคา 59 บาทเช่นเดิม เขาจึงเชื่อว่าการกระทำของร้านค้าดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ส่งเอกสารการร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของร้านค้า โดยขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้า และขอให้แจ้งผลการดำเนินการกลับมายังศูนย์ฯ โดยสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ ใบเสร็จรับเงิน และรูปถ่ายราคาสินค้าจากชั้นวางขาย ทำให้ภายหลังได้รับเรื่อง กรมการค้าภายในจึงดำเนินการสั่งปรับ นิติบุคคลของร้านค้า วิลล่า มาร์เก็ต 3,000 บาท และผู้จัดการร้านทั้ง 2 สาขา คนละ 1,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลนำจับให้ผู้ร้องอีก ร้อยละ 25 ของราคาปรับ คือ 1,500 บาท

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 โดนเชิดเงินหนีหลังจองรถ

แม้คนส่วนใหญ่ต่างมั่นใจว่าการเช่าซื้อรถยนต์ที่ศูนย์บริการจะมีความปลอดภัย แต่หากเราประมาทเพียงเล็กน้อยก็สามารถโดนเชิดเงินจองรถ ที่จ่ายให้กับตัวแทนของบริษัทไปแล้วก็ได้ คุณสุชาติเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่ง รุ่น พรีเมล่า (Premera) จากศูนย์นิสสัน ราคาประมาณ 530,000 บาท โดยจ่ายค่าจองรถไว้ก่อนจำนวน 5,000 บาท ถัดมาอีก 2 วัน พนักงานของบริษัทได้ติดต่อมาว่า ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่จองรถ ซึ่งหากต้องการรับสิทธิดังกล่าวต้องโอนเงินมาเพิ่มอีก 5,000 บาท เมื่อผู้ร้องได้รับข้อมูลดังนั้นและเชื่อว่าเป็นโปรโมชั่นของบริษัทจริง จึงโอนเงินไปเพิ่ม แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะอีก 1 อาทิตย์ถัดมา พนักงานคนเดิมก็โทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งเพื่อแจ้งว่า ทางบริษัทต้องการคำยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้ร้องยังต้องการรถ ซึ่งทางบริษัทจะนำเข้าหรือสั่งมาให้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ โดยสามารถยืนยันสิทธิได้ด้วยการโอนเงินมาเพิ่มอีก 22,000 บาท หลังจากตัดสินใจสักพัก ผู้ร้องก็หลงเชื่อและโอนเงินไปอีกครั้ง ซึ่งหากรวมๆ แล้ว จำนวนเงินที่ผู้ร้องโอนให้พนักงานคนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 32,000 บาทเวลาต่อมาคุณสุชาติก็ได้นัดหมายกับไฟแนนซ์ และพนักงานของบริษัทรถที่เขาโอนเงินไปให้ เพื่อให้มาตกลงเรื่องการส่งค่างวดรถ อย่างไรก็ตามพนักงานคนดังกล่าวกลับบ่ายเบี่ยง และอ้างว่าไม่สะดวกทุกครั้งที่เขานัด ทำให้คุณสุชาติเริ่มไม่พอใจและติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ เพื่อสอบถามปัญหา ภายหลังการพูดคุยและสอบถามถึงจำนวนเงินที่โอนไปก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ไม่เคยได้รับเงินที่คุณสุชาติโอนเข้ามาก่อนหน้านี้เลย และเมื่อติดต่อไปยังพนักงานคนดังกล่าวก็พบว่า เขาได้ลาหยุดมาหลายวันแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสุชาติถามถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทฯ ก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คุณสุชาติต้องเป็นคนจัดการเอง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เขาจึงไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อต้องการทราบว่าการที่บริษัทฯ ปฏิเสธการรับผิดชอบเช่นนี้ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทน กำหนดไว้ว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันกับบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้กระทำไปในขอบเขตแห่งฐานตัวแทนนั้น หมายถึง การที่ตัวแทนได้ไปกระทำการในนามของบริษัท โดยได้กระทำในขอบเขตที่บริษัทให้ทำ ก็ต้องถือว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบกับตัวแทนนั้นด้วย ปกติบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จะต้องมีตัวแทนคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการแทนบริษัท ตามกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น1. พนักงานของบริษัท เมื่อได้มีการกระทำแทนบริษัทในกิจการภายในวัตถุประสงค์ของบริษัท พนักงานบริษัทจึงถือเสมือนเป็นตัวแทนของบริษัท2. หากทางพนักงานได้ทำการแทนบริษัท โดยได้รับเงินภายในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทางบริษัทย่อมมีความผูกพัน ในจำนวนเงินที่พนักงานนั้นได้รับ แต่ถ้าหากพนักงานได้ทำการแทนนอกวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นผลผูกพันต่อบริษัท3. ตามที่ผู้ร้องได้ทำการโอนเงินให้กับพนักงาน โดยผู้ร้องเข้าใจว่าพนักงานนั้นเป็นตัวแทนและเป็นผู้มีอำนาจเรียกเก็บเงินของบริษัท จึงถือว่าผู้ร้องได้โอนเงินนั้นไปโดยสุจริต โดยถือว่าบริษัทได้ทำการยอมรับให้พนักงานนั้น เป็นตัวแทนของตนในการรับหรือเก็บเงินของผู้ร้อง เพราะฉะนั้นทางบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ร้อง ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกโดยสุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ร้อง4. หากพนักงานบริษัทได้กระทำการใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ถือว่าเป็นการกระทำแทนบริษัท บริษัทจึงต้องรับผิดชอบในการที่พนักงานนั้นได้กระทำแทนบริษัทไป เสมือนกับทางบริษัทได้กระทำการนั้นด้วยตนเอง จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบจากการกระทำของพนักงานคนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เอกสารการจองรถที่ผู้ร้องนำมาเป็นหลักฐานนั้น ไม่ใช่เอกสารการจองฉบับจริงของบริษัท แต่เป็นสำเนาการถ่ายเอกสาร ซึ่งผู้ร้องให้ข้อมูลว่า พนักงานนำใบจองรถที่ถ่ายสำเนามาให้เซ็นชื่อ ซึ่งเขาเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเอกสารการจองรถของบริษัทจริงๆ โดยมารู้ภายหลังว่าพนักงานคนดังกล่าว ได้แอบนำใบจองฉบับจริงไปถ่ายเอกสาร ซึ่งหากเราไม่สังเกตก็อาจทำให้โดนหลอกได้ง่ายๆ  

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 แก้ปัญหารถยนต์ใหม่มือหนึ่งชำรุดบกพร่อง

เมื่อเราซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่ง ย่อมต้องคาดหวังในประสิทธิภาพที่คุ้มค่ากับราคา อย่างไรก็ตามใช่ว่ารถยนต์ใหม่มือหนึ่งทุกคันจะไม่มีปัญหากวนใจ ซึ่งเราควรแก้ไขปัญหาอย่างไรลองมาดูเหตุการณ์นี้กันคุณสุนีย์ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ วอลโว่ รุ่น S60 T4F จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอสังเกตเห็นว่าในใบสั่งจองรถยนต์คันดังกล่าว ประทับตราข้อความว่า “รถทดลองขับ/รถผู้บริหารใช้แล้ว” เมื่อสอบถามไปยังผู้จัดการฝ่ายขายก็ได้รับคำตอบว่า ที่ต้องประทับตราข้อความเช่นนั้น เนื่องจากเป็นโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อให้ผู้ร้องผ่อนได้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ ทำให้เธอไม่ติดใจอะไรและตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาอย่างไรก็ตามเมื่อรับรถมาแล้วประมาณ 4 เดือน เธอพบว่ารถยนต์มีอาการสั่นรุนแรงและสตาร์ทไม่ติด ทำให้ต้องส่งเข้าศูนย์ซ่อม ซึ่งภายหลังศูนย์ได้เปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ เพราะมีปัญหาเกิดจากแบตเตอรี่เสื่อม ทำให้เธอข้องใจว่า ทำไมรถยนต์ใหม่ถึงมีปัญหาเช่นนี้ เมื่อสอบถามข้อมูลจึงพบว่ารถคันดังกล่าวผลิตในปี 2014 ทำให้อาจมีปัญหาแบบนี้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อขอคำปรึกษา เนื่องจากก่อนหน้าที่เธอจะตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ได้แจ้งกับพนักงานแล้วว่าต้องการรถรุ่นใหม่ล่าสุด หรือรุ่นที่ผลิตในหรือ 2015 ไม่ใช่รุ่นเก่าเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องขอข้อมูลการซ่อมที่ผ่านมาทั้งหมดจากศูนย์บริการ เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับรุ่นและประวัติต่างๆ พร้อมส่งจดหมายถึง บริษัท วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งภายหลังก็ได้รับการยืนยันว่า รถคันดังกล่าวไม่ใช่รุ่นที่ผู้ร้องต้องการ ดังนั้นตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาจองรถ พบว่าหากบริษัทมีการส่งรถไม่ตรงตามสัญญา เช่น ผิดรุ่นดังกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ร้องสามารถคืนรถคันดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเจรจากับทางบริษัทก็ได้รับการชี้แจงว่า รถยนต์รุ่นนี้ไม่มีการผลิตในปี 2015 ซึ่งรถคันนี้เป็นรถใหม่ แต่อาจจอดทิ้งไว้นานจนทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น แต่ยินยอมรับผิดชอบด้วยการคืนเงินที่ลูกค้าจ่ายไป พร้อมปิดไฟแนนซ์ให้ โดยขอหักค่าเสื่อมจำนวน 60,000 บาท ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)