นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 168 เสียงผู้บริโภค

คดีประวัติศาสตร์ ศาลปกครองสูงสุดตัดสิน

 

ซอยร่วมฤดีกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวจริง

ย้อนกลับไปเมื่อเกือบสิบปีก่อน  เคยเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้อาคารภายในซอยร่วมฤดีขึ้น ในครั้งนั้นรถดับเพลิงไม่สามารถเข้ามาในซอยเพื่อดับเพลิงได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากสภาพของซอยร่วมฤดี เป็นซอยขนาดเล็กในใจกลางเมืองใหญ่ มีความกว้างของถนนเพียงรถยนต์วิ่งไปได้กลับ 2 เลน เท่านั้น ทำให้รถดับเพลิงที่มีขนาดใหญ่ เข้าไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ยังเป็นภาพของความหวาดกลัว และวิตกกังวลถึง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาอัคคีภัย และการจราจรที่แออัดจนทำให้ประชาชนเกิดความไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนผู้อยู่อาศัยภายในซอยร่วมฤดีจวบจนปัจจุบัน

จนกระทั่งในปี 2548 เริ่มมีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่จำนวน 2 อาคาร โดยมีอาคารที่มีความสูง 18  ชั้น ของบริษัท ลาภประทาน และ อาคารที่มีความสูง 24 ชั้น ของบริษัท ทับทิมทร  ของบริษัทเอกชน ขึ้นบริเวณปากซอยร่วมฤดี 2 ภายในซอยร่วมฤดี  โดยอ้างเอกสารการรับรองความกว้างของถนนว่าซอยร่วมฤดีมีความกว้างของถนน 10 เมตรตลอดแนวของสำนักงานเขตปทุมวัน

ซึ่งต่อมาชาวบ้านที่อาศัยโดยรอบเขตก่อสร้างอาคารดังกล่าว ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเขตปทุมวัน และสำนักงานโยธากรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ตรวจสอบการก่อสร้างอาคารดังกล่าว เนื่องจากความกว้างของถนนในซอยร่วมฤดีมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว ซึ่งการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าวจึงขัดกับกฎกระทรวงฉบับที่ 33 พ.ศ. 2535  ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แต่การก่อสร้างก็ยังคงดำเนินการต่อไป

เมื่อการร้องเรียนไม่เป็นผล กลุ่มผู้ร้องเรียน โดยนายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ กับพวก 24 คน ได้มอบอำนาจให้นายเฉลิมพงษ์  กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นคดีปกครองต่อศาลปกครองกลาง  ในฐานะเป็นผู้บริหารราชการในราชการส่วนท้องถิ่นและเป็นผู้ใช้อำนาจหรือออกคำสั่งทางปกครองในเขตปกครองท้องที่สำนักงานเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครและยังเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยออกเอกสารรับรองความกว้างของถนนซอยร่วมฤดีเกินกว่าความเป็นจริง และปล่อยให้เอกชนก่อสร้างอาคารสูงใหญ่เกินกว่ากฎหมายกำหนด โดยได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

 

ซึ่งต่อมาในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555 ศาลปกครองกลางได้พิเคราะห์ข้อมูลหลักฐานที่ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องได้นำเสนอแล้วพิจารณาเห็นว่า ซอยร่วมฤดีซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์และเป็นสถานที่ตั้งอาคารที่พิพาทมีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวจริง ตามข้อมูลการรังวัดของกรมที่ดิน ซึ่งได้ทำการรังวัดรังวัดสอบเขตทางตามคำสั่งของศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 จึงเป็นการขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ที่ห้ามมิให้มีการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ จึงได้มีคำสั่งพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง คือ ผู้อำนวยการเขตปุทมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง แต่คู่กรณีทั้งสามฝ่ายอุทธรณ์

และต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557  ศาลปกครองสูงสุดออกอ่านคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ใช้อำนาจตามตรา 40 มาตรา 41 มาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชาบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 ดำเนินการกับผู้ร้องสอด คือ บริษัท ลาภประทาน จำกัด และบริษัท ทับทิมทร จำกัด แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด

ทั้งนี้นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า     " คำพิพากษานี้ถือเป็นบทเรียนชี้ชัดถึงปัญหาการก่อสร้างอาคารสูงในซอยแคบ รวมถึงซอยร่วมฤดีที่มีถนนความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนว  และแม้ว่าการต่อสู้ของประชาชนจะยาวนานกว่าจะได้รับความเป็นธรรม เพราะต้องต่อสู้กันอย่างถึงที่สุด อย่างน้อยก็เป็นบทเรียนที่ทุกฝ่ายต้องตระหนักถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ท้ายที่สุดอยากเรียกร้องให้มีระบบการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบให้ชัดเจนมากขึ้น"    นายแพทย์สงคราม  ทรัพย์เจริญ   ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่า  “ การที่กทม.อนุญาตให้มีการก่อสร้างอาคารสูงและมีขนาดใหญ่บนถนนที่มีความกว้างไม่ถึง 10 เมตรตลอดแนวได้นั้นขัดกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ.2535) ในข้อ 2 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ถือว่าไม่คุ้มครองประชาชน เนื่องจากกฎหมายนี้มีเจตนารมณ์ เพื่อประโยชน์เกี่ยวกับความมั่นคงแข็งแรง ความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัย การสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง การสถาปัตยกรรม และการอำนวยความสะดวกแก่การจราจร จึงต้องออกกฎกระทรวงกำหนดความกว้างเขตทางสำหรับการก่อสร้างอาคารสูงดังกล่าว ดังนั้น จากคำพิพากษานี้ ข้าราชการกทม.และในภูมิภาคอื่นๆ ควรคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในการอนุมัติโครงการต่างๆด้วย ไม่ใช่เพียงคำนึงถึงผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น ”

 

ซื้อของออนไลน์   “สะดวก”  หรือ “เสี่ยง”

เมื่อสื่อออนไลน์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจขายสินค้าบนโลกออนไลน์พลอยได้รับความนิยมมากขึ้นไปด้วย บรรดาผู้ประกอบธุรกิจทั้งที่เป็นผู้ผลิตสินค้าเองหรือตัวแทนจำหน่ายสินค้า ต่างล้วนให้ความสำคัญกับช่องทางนี้ จนเกิดเว็บไซต์ขายสินค้าต่างๆ มากมาย เพราะว่าการขายสินค้าบนเว็บออนไลน์นั้น ค่าบริหารจัดการต่ำ  และไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องมีค่าเช่าร้าน ยิ่งถ้าทำงานเอง  ค่าจ้างคนงานก็ยิ่งไม่ต้องมี การดำเนินการก็สะดวกทั้งฝ่ายผู้ขายและผู้บริโภค ผู้บริโภคเองไม่ต้องพาตัวเองไปสำรวจสินค้าอะไร ก็สามารถซื้อสินค้าได้โดยใช้ปลายนิ้วสัมผัสคอมพิวเตอร์  หรือมือถือ  ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางและยังโอนเงินทางอินเทอร์เน็ตได้อีกด้วย   สะดวกขนาดนี้ใครจะอดใจไหว

แต่การซื้อของแบบนี้แม้จะ “สะดวก” แต่ก็ “เสี่ยง”  เพราะจากปัญหาร้องเรียน เว็บดังหลายๆ แห่งที่ผ่านมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อย่าง  LAZADA  ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าหลากหลาย เช่น  โทรศัพท์มือถือ  คอมพิวเตอร์  สินค้าสุขภาพและความงาม  ฯลฯ ก็สามารถทำให้ผู้ซื้อสินค้าสองท่านต้องกุมขมับ

คุณณชพล สั่งซื้อ Power bank  32000 mAh  ด้วยโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม 1 ราคา 820   บาท เพราะเห็นว่าราคาถูกดีเลยสั่งซื้อ กะว่าเอามาขายต่อเพื่อนๆ ด้วย โดยสั่งจำนวน 10 ชุด  ซึ่งต้องได้สินค้า 20 ชิ้น  แต่ปรากฏว่า สินค้าได้มาเพียงแค่ 10 ชิ้น

เมื่อติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ ทั้งทางโทรศัพท์และอีเมล์ เพื่อทวงสินค้าให้ครบ ก็พบว่า ติดต่อยากมาก   พอติดต่อได้บริษัทฯ ก็บอกผัดผ่อนว่าจะรีบส่งให้ครบ  แต่ก็เงียบหายไป  ไม่ว่าจะพยายามติดต่อก็กลับไปกี่ครั้งๆ ทุกครั้งจะอ้างแต่ว่าติดต่อบริษัทผู้ขายไม่ได้  ถึงต้องนี้ คุณณชพลต้องบอกว่า งงมาก แล้วเอามาขายตามที่ตั้งใจไว้แต่แรกได้อย่างไร

อีกท่านหนึ่งคือ คุณอภิรักษ์ ซื้อ Alcatel One Touch Link 3G+Wi-Fi Hot Spot  โฆษณาว่ารองรับ 3G  ได้ พอรับสินค้ามากลับใช้ไม่ได้จริงตามที่โฆษณา  จึงต้องคืนสินค้ากลับไปเพื่อเปลี่ยนของ   แต่ติดต่อคืนสินค้าแล้วไม่ได้เงินคืนภายใน 14 วัน ตามที่โฆษณาไว้ในเว็บไซต์ เพราะอ้างว่าเมื่อรับคืนแล้วต้องใช้เวลาตรวจสอบนานมาก อ้าว! ทำไมไม่ง่ายเหมือนตอนซื้อล่ะ

กว่าที่ผู้ร้องจะติดต่อกับบริษัทฯ  ได้  ก็พบปัญหามากมายเช่นเดียวกับรายแรก เช่น  โทรศัพท์ติดต่อยาก  ต้องส่งข้อมูลทางอีเมล์ที่ไม่รู้ว่าจะตอบเมื่อไร  เฮ้อ!  ตอนสั่งซื้อง่ายมากจริง เพียงดูแคตตาล็อค  เลือกสินค้า  ชำระเงิน   แต่พอมีปัญหากลับติดต่อยากที่สุด  ผู้ร้องทั้งสองเลยต้องหาตัวช่วย

เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิได้รับเรื่องร้องเรียน   จึงทำการตรวจสอบไปที่เว็บไซต์เบื้องต้นพบว่าช่องทางการติดต่อเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค เบอร์โทรศัพท์ที่ให้ไว้ ติดต่อยากจริงๆ     ทั้งการติดต่อทางอีเมล์ก็พบว่า ล่าช้ามาก  กว่าบริษัทฯ จะติดต่อกลับมา  อย่างไรก็ตามเมื่อได้พยายามพูดคุยกับทางเว็บไซต์ดัง โดยเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ได้แจ้งข้อร้องเรียนเรื่องปัญหาไปยังบริษัทฯ เพื่อให้แก้ไขปัญหาให้กับผู้ร้องทั้งสองราย    รายแรกก็ได้รับสินค้าครบตามจำนวนที่สั่งซื้อ

รายที่สองมีเจ้าหน้าที่ของ LAZADA  ไปรับสินค้าคืน  แต่ต้องรอการตรวจสอบว่าสินค้าที่ได้รับมานั้นอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ก่อนคืนเงิน

ศูนย์พิทักษ์สิทธิจึงขอแจ้งเตือนยังผู้ที่จะซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ ควรตรวจสอบที่มาที่ไปของผู้ขายก่อนว่ามีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  อย่างน้อยหากเกิดความผิดพลาดยังพอมีข้อมูลในการติดตามกับผู้ขายได้

 

9 เทคนิคจับผิดร้านค้าออนไลน์ เพื่อไม่โดนหลอก

โดย Chanika Aranyakanont

ที่มา  http://money.sanook.com/229693/

แม้ว่าการซื้อของผ่านระบบออนไลน์เป็นที่นิยมของคนไทย แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นแหล่งโจรของมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาอีกไม่น้อย S! Money มีเคล็ดลับเล็กๆ น้อย ฝากไว้เป็นข้อสังเกต ก่อนที่จะตัดใจจ่ายเงินซื้อของออนไลน์ ดังนี้

1. นำชื่อ เบอร์โทรศัพท์ หรือ username ของคนขายมา search หาใน google หากชื่อนี้เคยหลอกลวงคนอื่นมาก่อน แล้วกลับมาโพสต์ขายของอีก จะมีคนพูดถึงรายละเอียดคดีความของเขาขึ้นมาเลยด้วย

2. ให้กดค้นหาชื่อร้านค้า หรือคนขาย ใน Facebook หรือ Twitter ตรวจสอบสถานะว่ามีการขายของจริงๆ หรือไม่ เพราะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องมีตัวตัวผ่านเครื่องมือ ต่างๆ ของโซเชียลแน่นอน

3. ลองค้นหาในเว็บไซต์ที่สามารถตรวจสอบตัวตน เช่น  peekyou.com , touchgraph.com/seo หรือ socialmention.com แล้วใส่ชื่อ หรือ username ของผู้ขายลงไป ก็จะเจอข้อมูลมากมายทั้งอีเมล์ ข้อมูลบนเว็บต่างๆ และ Social Network ของเขา

4. ตรวจสอบกับผู้ที่เคยซื้อ ว่าได้รับสินค้าจริงๆ หรือไม่? อาจจะหลังไมค์ไปพูดคุยกับคนที่เคยสั่งซื้อที่มีชื่อปรากฏการจองสินค้า เช่น ถ้าร้านขายใน Facebook เราก็ Inbox ไปสอบถามความรู้สึก ความคิดเห็นว่า สินค้าเป็นอย่างไร เพื่อเก็บเป็นข้อมูลการตัดสินใจได้อีกทาง

5. อย่าเห็นแก่ของราคาถูก! ถ้าพบว่าร้านค้าออนไลน์ขายของถูกเกินจริง ต้องยิ่งสังเกตและระวังเป็นอย่างมาก เพราะโอกาสโดนหลอกสูงมากๆ  และอุทาหรณ์ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในกรณีนี้

6. ลองสั่งซื้อของจำนวนน้อยๆ ก่อน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า คนขายคนนั้น ส่งของจริง และมีตัวตนจริงๆ (หากเป็นคนโกง เค้าจะพยายามให้คุณสั่งของทีละมากๆ ระวังเอาไว้)

7.อย่าไว้ใจแค่ social network ของผู้ขาย เพราะบางคนมีหลายแอ็คเค้า(account)  พยายามขอแอ็คเค้าจริงๆ ที่เขาใช้ ที่สามารถเห็น เพื่อนๆ และพฤติกรรมจริงๆ ได้

8.ตรวจสอบดูความใหม่ของสินค้าหน้าเว็บไซต์ และการอัพเดทเว็บไซต์ หากเว็บไซต์มีการอัพเดทเป็นประจำ เช่นมีสินค้าใหม่ๆ มีการเปลี่ยนแปลงโปรโมชั่น การอัพเดทสินค้าเป็นประจำ ก็แสดงให้เห็นว่าเจ้าของร้านดูแลหน้าร้านออนไลน์ของเขาอยู่จริง ทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น

9. ส่วนการจ่ายเงิน หากจำเป็นต้องโอนผ่านธนาคาร พยายามเลือกร้านที่มีรีวิวการส่งสินค้า การรับสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้ใช้รูปเดิม เพื่อยืนยันว่ามีการส่งสินค้าจริง

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง:

รวมข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?

ท่านใดที่กำลังคิดว่ารายได้ของท่านจะต้องเสียภาษีเท่าไร และมีอะไรมาหักลดหย่อนได้บ้าง เราเลยนำเสนอข้อมูลในท่านตามลิงค์ด้านล่าง เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวเสียภาษีปีนี้นะคะ :) การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ 2560   By กรมสรรพากร  https://goo.gl/Y5GxhZโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ปีภาษี 2560 ค่าลดหย่อน  By Kapook.com   https://goo.gl/MEgCYUวางแผนลดหย่อนภาษีปี 60 ฉบับบุคคลธรรมดา มีอะไรหักได้บ้าง  By plus.co.th  https://goo.gl/Nyfi5Uครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีเพิ่มเท่าตัว มีผลปีภาษี 2560 ช่วยค่าครองชีพมนุษย์เงินเดือน  By matichon  https://goo.gl/JQAukmปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจกถ้วนหน้า By thaipublica https://goo.gl/5c25X4ขอบคุณข้อมูลกรมสรรพากร Kapook.complus.co.th matichonthaipublica

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 จ่ายจริงมากกว่าราคาที่แสดงไว้

สินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักมีราคาติดไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าหากต้องการซื้อสินค้าดังกล่าว ต้องจ่ายเงินเท่าไร อย่างไรก็ตามหากเรานำสินค้านั้นๆ ไปจ่ายเงินที่พนักงานคิดเงิน แล้วพบว่าราคาไม่ตรงตามป้าย สิ่งที่เราควรทำคือ ปกป้องสิทธิของตัวเอง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณจอห์นเป็นชาวต่างชาติที่มักซื้อสินค้าจากร้านค้าวิลล่า มาร์เก็ต (Villa market) เป็นประจำ เพราะร้านดังกล่าวจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ วันหนึ่ง ภายหลังจากการเลือกซื้อขนมคบเขี้ยวยี่ห้อหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งป้ายแสดงราคาว่า 49 บาทต่อถุง แต่เมื่อนำไปชำระเงินกลับพบว่ากลายเป็น 59 บาทต่อถุง คุณจอห์นไม่แน่ใจว่าตัวเองดูราคาผิดไปหรือไม่ ดังนั้นเมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย เขาจึงกลับไปถ่ายรูปราคาสินค้าจากชั้นวางขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมสอบถามไปกับผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสาขาได้ชี้แจงกลับมาว่าราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นเก่า อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาจากร้านเขาก็ตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งพบว่าคำตอบกลับไม่เหมือนเดิม ครั้งนี้ผู้จัดการร้านคนเดิมกลับแจ้งว่า ราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นล่าสุดสำหรับวันนี้ดังนั้นคุณจอห์นจึงตัดสินใจแวะไปร้านค้าดังกล่าว ในอีกสาขาหนึ่งและซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งพบว่าบนชั้นวางขายก็ติดราคาไว้ที่ 49 บาท แต่เมื่อนำมาชำระเงินก็ถูกคิดราคา 59 บาทเช่นเดิม เขาจึงเชื่อว่าการกระทำของร้านค้าดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ส่งเอกสารการร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของร้านค้า โดยขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้า และขอให้แจ้งผลการดำเนินการกลับมายังศูนย์ฯ โดยสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ ใบเสร็จรับเงิน และรูปถ่ายราคาสินค้าจากชั้นวางขาย ทำให้ภายหลังได้รับเรื่อง กรมการค้าภายในจึงดำเนินการสั่งปรับ นิติบุคคลของร้านค้า วิลล่า มาร์เก็ต 3,000 บาท และผู้จัดการร้านทั้ง 2 สาขา คนละ 1,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลนำจับให้ผู้ร้องอีก ร้อยละ 25 ของราคาปรับ คือ 1,500 บาท

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 โดนเชิดเงินหนีหลังจองรถ

แม้คนส่วนใหญ่ต่างมั่นใจว่าการเช่าซื้อรถยนต์ที่ศูนย์บริการจะมีความปลอดภัย แต่หากเราประมาทเพียงเล็กน้อยก็สามารถโดนเชิดเงินจองรถ ที่จ่ายให้กับตัวแทนของบริษัทไปแล้วก็ได้ คุณสุชาติเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่ง รุ่น พรีเมล่า (Premera) จากศูนย์นิสสัน ราคาประมาณ 530,000 บาท โดยจ่ายค่าจองรถไว้ก่อนจำนวน 5,000 บาท ถัดมาอีก 2 วัน พนักงานของบริษัทได้ติดต่อมาว่า ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่จองรถ ซึ่งหากต้องการรับสิทธิดังกล่าวต้องโอนเงินมาเพิ่มอีก 5,000 บาท เมื่อผู้ร้องได้รับข้อมูลดังนั้นและเชื่อว่าเป็นโปรโมชั่นของบริษัทจริง จึงโอนเงินไปเพิ่ม แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะอีก 1 อาทิตย์ถัดมา พนักงานคนเดิมก็โทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งเพื่อแจ้งว่า ทางบริษัทต้องการคำยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้ร้องยังต้องการรถ ซึ่งทางบริษัทจะนำเข้าหรือสั่งมาให้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ โดยสามารถยืนยันสิทธิได้ด้วยการโอนเงินมาเพิ่มอีก 22,000 บาท หลังจากตัดสินใจสักพัก ผู้ร้องก็หลงเชื่อและโอนเงินไปอีกครั้ง ซึ่งหากรวมๆ แล้ว จำนวนเงินที่ผู้ร้องโอนให้พนักงานคนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 32,000 บาทเวลาต่อมาคุณสุชาติก็ได้นัดหมายกับไฟแนนซ์ และพนักงานของบริษัทรถที่เขาโอนเงินไปให้ เพื่อให้มาตกลงเรื่องการส่งค่างวดรถ อย่างไรก็ตามพนักงานคนดังกล่าวกลับบ่ายเบี่ยง และอ้างว่าไม่สะดวกทุกครั้งที่เขานัด ทำให้คุณสุชาติเริ่มไม่พอใจและติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ เพื่อสอบถามปัญหา ภายหลังการพูดคุยและสอบถามถึงจำนวนเงินที่โอนไปก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ไม่เคยได้รับเงินที่คุณสุชาติโอนเข้ามาก่อนหน้านี้เลย และเมื่อติดต่อไปยังพนักงานคนดังกล่าวก็พบว่า เขาได้ลาหยุดมาหลายวันแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสุชาติถามถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทฯ ก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คุณสุชาติต้องเป็นคนจัดการเอง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เขาจึงไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อต้องการทราบว่าการที่บริษัทฯ ปฏิเสธการรับผิดชอบเช่นนี้ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทน กำหนดไว้ว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันกับบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้กระทำไปในขอบเขตแห่งฐานตัวแทนนั้น หมายถึง การที่ตัวแทนได้ไปกระทำการในนามของบริษัท โดยได้กระทำในขอบเขตที่บริษัทให้ทำ ก็ต้องถือว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบกับตัวแทนนั้นด้วย ปกติบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จะต้องมีตัวแทนคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการแทนบริษัท ตามกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น1. พนักงานของบริษัท เมื่อได้มีการกระทำแทนบริษัทในกิจการภายในวัตถุประสงค์ของบริษัท พนักงานบริษัทจึงถือเสมือนเป็นตัวแทนของบริษัท2. หากทางพนักงานได้ทำการแทนบริษัท โดยได้รับเงินภายในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทางบริษัทย่อมมีความผูกพัน ในจำนวนเงินที่พนักงานนั้นได้รับ แต่ถ้าหากพนักงานได้ทำการแทนนอกวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นผลผูกพันต่อบริษัท3. ตามที่ผู้ร้องได้ทำการโอนเงินให้กับพนักงาน โดยผู้ร้องเข้าใจว่าพนักงานนั้นเป็นตัวแทนและเป็นผู้มีอำนาจเรียกเก็บเงินของบริษัท จึงถือว่าผู้ร้องได้โอนเงินนั้นไปโดยสุจริต โดยถือว่าบริษัทได้ทำการยอมรับให้พนักงานนั้น เป็นตัวแทนของตนในการรับหรือเก็บเงินของผู้ร้อง เพราะฉะนั้นทางบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ร้อง ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกโดยสุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ร้อง4. หากพนักงานบริษัทได้กระทำการใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ถือว่าเป็นการกระทำแทนบริษัท บริษัทจึงต้องรับผิดชอบในการที่พนักงานนั้นได้กระทำแทนบริษัทไป เสมือนกับทางบริษัทได้กระทำการนั้นด้วยตนเอง จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบจากการกระทำของพนักงานคนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เอกสารการจองรถที่ผู้ร้องนำมาเป็นหลักฐานนั้น ไม่ใช่เอกสารการจองฉบับจริงของบริษัท แต่เป็นสำเนาการถ่ายเอกสาร ซึ่งผู้ร้องให้ข้อมูลว่า พนักงานนำใบจองรถที่ถ่ายสำเนามาให้เซ็นชื่อ ซึ่งเขาเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเอกสารการจองรถของบริษัทจริงๆ โดยมารู้ภายหลังว่าพนักงานคนดังกล่าว ได้แอบนำใบจองฉบับจริงไปถ่ายเอกสาร ซึ่งหากเราไม่สังเกตก็อาจทำให้โดนหลอกได้ง่ายๆ  

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 แก้ปัญหารถยนต์ใหม่มือหนึ่งชำรุดบกพร่อง

เมื่อเราซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่ง ย่อมต้องคาดหวังในประสิทธิภาพที่คุ้มค่ากับราคา อย่างไรก็ตามใช่ว่ารถยนต์ใหม่มือหนึ่งทุกคันจะไม่มีปัญหากวนใจ ซึ่งเราควรแก้ไขปัญหาอย่างไรลองมาดูเหตุการณ์นี้กันคุณสุนีย์ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ วอลโว่ รุ่น S60 T4F จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอสังเกตเห็นว่าในใบสั่งจองรถยนต์คันดังกล่าว ประทับตราข้อความว่า “รถทดลองขับ/รถผู้บริหารใช้แล้ว” เมื่อสอบถามไปยังผู้จัดการฝ่ายขายก็ได้รับคำตอบว่า ที่ต้องประทับตราข้อความเช่นนั้น เนื่องจากเป็นโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อให้ผู้ร้องผ่อนได้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ ทำให้เธอไม่ติดใจอะไรและตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาอย่างไรก็ตามเมื่อรับรถมาแล้วประมาณ 4 เดือน เธอพบว่ารถยนต์มีอาการสั่นรุนแรงและสตาร์ทไม่ติด ทำให้ต้องส่งเข้าศูนย์ซ่อม ซึ่งภายหลังศูนย์ได้เปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ เพราะมีปัญหาเกิดจากแบตเตอรี่เสื่อม ทำให้เธอข้องใจว่า ทำไมรถยนต์ใหม่ถึงมีปัญหาเช่นนี้ เมื่อสอบถามข้อมูลจึงพบว่ารถคันดังกล่าวผลิตในปี 2014 ทำให้อาจมีปัญหาแบบนี้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อขอคำปรึกษา เนื่องจากก่อนหน้าที่เธอจะตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ได้แจ้งกับพนักงานแล้วว่าต้องการรถรุ่นใหม่ล่าสุด หรือรุ่นที่ผลิตในหรือ 2015 ไม่ใช่รุ่นเก่าเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องขอข้อมูลการซ่อมที่ผ่านมาทั้งหมดจากศูนย์บริการ เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับรุ่นและประวัติต่างๆ พร้อมส่งจดหมายถึง บริษัท วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งภายหลังก็ได้รับการยืนยันว่า รถคันดังกล่าวไม่ใช่รุ่นที่ผู้ร้องต้องการ ดังนั้นตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาจองรถ พบว่าหากบริษัทมีการส่งรถไม่ตรงตามสัญญา เช่น ผิดรุ่นดังกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ร้องสามารถคืนรถคันดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเจรจากับทางบริษัทก็ได้รับการชี้แจงว่า รถยนต์รุ่นนี้ไม่มีการผลิตในปี 2015 ซึ่งรถคันนี้เป็นรถใหม่ แต่อาจจอดทิ้งไว้นานจนทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น แต่ยินยอมรับผิดชอบด้วยการคืนเงินที่ลูกค้าจ่ายไป พร้อมปิดไฟแนนซ์ให้ โดยขอหักค่าเสื่อมจำนวน 60,000 บาท ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)