นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 175 เสียงผู้บริโภค

ประกันสุขภาพ อยากได้แต่ไม่อยากเสีย
แม้โฆษณาการประกันภัยของบริษัทต่างๆ จะมุ่งเน้นให้ผู้ซื้อบริการเห็นถึงการรับประกันความเสี่ยงให้กับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน เพราะอย่างน้อยหากเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตหรือทรัพย์สิน ผู้ซื้อก็จะไม่ต้องเป็นคนรับผิดชอบค่าเสียหายต่างๆ เหล่านั้นเพียงผู้เดียว แต่อีกด้านหนึ่งที่ผู้ซื้อไม่ค่อยได้รู้หรือบริษัทไม่เคยบอกอย่างชัดเจนก็คือ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่แฝงอยู่ในข้อสัญญากรมธรรม์ต่างๆ ที่ทำให้ใครหลายคนเคยต้องผิดหวังกับความไม่เป็นธรรมดังกรณีของผู้ร้องรายนี้

“บริษัทฯ ใคร่ขอแจ้งให้ท่านทราบว่า บริษัทฯ ขออภัยที่จะต้องขอบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าวตามเงื่อนไขทั่วไปและข้อกำหนด โดยกรมธรรม์มีผลบังคับสิ้นสุดลงวันที่…”

ข้อความดังกล่าวถูกส่งมาในจดหมาย เพื่อระงับการเอาประกันของภรรยาผู้ร้องที่ซื้อประกันภัย “HIP MediCare1” ของบริษัทกรุงไทยพาณิชย์ประกันภัย โดยผู้ร้องได้ชี้แจงว่าเขาซื้อประกันภัยแบบเหมาจ่ายให้กับตนเอง ภรรยาและลูก 1 คน ตั้งแต่เมื่อปี 2554 ซึ่งจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยปีละ 6 งวด งวดละ 1,102 บาท (รวมภาษีและอากรแล้ว) มีข้อตกลงและความคุ้มครองที่สำคัญคือ การชดเชยรายได้ระหว่างการเข้าพักรักษาตัวแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาลเนื่องจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 365 วัน ต่ออุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยแต่ละครั้ง จำนวน 3,000 บาท ซึ่งในระหว่างที่ทำประกันภัยนั้น ภรรยาของเขาได้มีการเบิกเคลมค่าสินไหมจำนวน 4 ครั้ง รวมทั้งสิ้นจำนวน 26,000 บาท สำหรับการป่วยที่เกิดจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลซึ่งเป็นโรคทั่วไปที่ไม่ใช่โรคร้ายแรง ได้แก่ อาการจากเยื่อบุจมูกอักเสบ กระเพาะอักเสบและน้ำในหูไม่เท่ากัน

ประเด็นที่สำคัญ คือภรรยาของผู้ร้องไม่ได้เบิกเคลมเกินกว่าจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญากรมธรรม์ และไม่ได้ผิดสัญญาการชำระเบี้ยประกันเลย ดังนั้นเมื่อได้รับหนังสือแจ้งการบอกเลิกจากบริษัทและให้กรมธรรม์มีผลสิ้นสุดโดยไม่ได้แจ้งเหตุผล จึงทำให้ผู้ร้องไม่เข้าใจว่าตนเองผิดสัญญาข้อไหน และรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

แนวทางการแก้ไขปัญหา
หลังจากผู้ร้องได้ทำหนังสือสอบถามสาเหตุการยกเลิกประกันภัย แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงนัดเจรจา โดยบริษัทประกันภัยนำเอกสารใบกรมธรรม์มาชี้แจงว่า สามารถบอกยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ตามสัญญาข้อ 12.1 ที่ระบุว่า “บริษัทจะบอกเลิกกรมธรรม์ฉบับนี้ได้ด้วยการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรไม่น้อยกว่า 15 วัน โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้เอาประกันภัย ตามที่อยู่ครั้งสุดท้ายที่แจ้งให้บริษัททราบ และกรมธรรม์ประกันภัยจะสิ้นสุดโดยอัตโนมัติในวันสุดท้ายที่เบี้ยประกันภัย ซึ่งได้รับชำระมาแล้วสามารถซื้อความคุ้มครองได้ โดยบริษัทไม่ต้องคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด”

อย่างไรก็ตามจากข้อความในสัญญากรมธรรม์ รวมทั้งตัวแทนของบริษัทดังกล่าวก็ยังไม่สามารถชี้แจงให้ผู้ร้องทราบถึงเหตุผลที่ชัดเจนว่า เพราะเหตุใดถึงต้องบอกยกเลิกการเอาประกันของภรรยาเขาได้ ทางศูนย์ฯ จึงต้องดำเนินการหาช่องทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีต่อไป เพราะการที่บริษัทฯ บอกยกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน ถือเป็นการกระทำที่สร้างความไม่เป็นธรรมกับผู้ร้อง และอาจเข้าข่ายเรื่องข้อสัญญาไม่เป็นธรรม ที่กำหนดว่าการบอกเลิกสัญญาต้องมีเหตุผลให้บอกเลิก รวมทั้งต้องไม่เป็นการบอกเลิกฝ่ายเดียวดังเช่นในกรณีนี้ด้วย



พบปัญหานมเสียก่อนวันหมดอายุ อย่าเพิ่งทิ้ง
เรื่องนมบูดเสียก่อนวันหมดอายุที่ระบุไว้ข้างกล่องไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกล่องที่บรรจุเครื่องดื่มนั้นอาจมีรอยรั่วเล็กๆ ที่สามารถทำให้อากาศเข้าไปทำปฏิกิริยากับน้ำนมจนเสียได้ แต่วิธีการจัดการปัญหาใกล้ตัวเพื่อรักษาสิทธิของตนเองที่เป็นผู้บริโภคนั้นกลับเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่า ดังเช่นกรณีต่อไปนี้

ผู้ร้องพร้อมเพื่อนซื้อน้ำนมข้าวโพดยี่ห้อ เนเจอรี่ มาดื่ม จำนวน 6 แพค บรรจุแพคละ 3 กล่อง รวมเป็นเงิน 174 บาท จากท็อปส์ ซูเปอร์มาเก็ต ในห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ บางแค เมื่อวันที่ 4 เม.ย.58 และเมื่อดูวันหมดอายุข้างกล่อง ก็ระบุว่าเป็นวันที่ 5 ธ.ค.58  (051215)  หรืออีก 8 เดือนจึงจะหมดอายุ แต่พอนำกลับมาดื่มเช้าวันถัดมากลับพบว่า กล่องหนึ่งมีรสเปรี้ยวต่างไปจากที่เคยซื้อมารับประทาน นอกจากนี้เมื่อให้คนรอบข้างชิมก็รู้สึกเปรี้ยวตรงกัน จึงได้ลงความเห็นว่านมข้าวโพดกล่องนี้ต้องเสียแน่ๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่หมดอายุ อย่างไรก็ตามผู้ร้องก็ไม่ได้ทิ้งน้ำนมข้าวโพดกล่องนั้นไปเฉยๆ เพราะคิดว่าผู้ผลิตควรรับผิดชอบในการผลิตอาหารและเครื่องดื่มให้มีความปลอดภัย จึงได้มาร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

แนวทางการแก้ไขปัญหา
ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ แจ้งให้ผู้ร้องถ่ายภาพผลิตภัณฑ์  วันหมดอายุ เลขครั้งการผลิต ใบเสร็จรับเงินการซื้อสินค้า เพื่อส่งข้อมูลเพิ่มเติมมาให้มูลนิธิทางอีเมล์ พร้อมแนะนำให้แจ้งความลงบันทึกประจำวัน และทำหนังสือหรือไปแจ้งปัญหาที่ห้างสรรพสินค้าด้วยตัวเอง โดยนำหลักฐานต่างๆ พร้อมพยานไปด้วย ซึ่งหากสำนักงานใหญ่ของท็อป ซูเปอร์มาเก็ต ต้องการเอกสารเพิ่มเติม หรือในกรณีที่ไม่รับเรื่องร้องเรียน ศูนย์ฯ ก็จะติดตามความรับผิดชอบให้อีกครั้ง

ปรากฏว่า เมื่อผู้ร้องได้ดำเนินการตามคำแนะนำ บริษัทผู้ผลิตนมดังกล่าวได้ติดต่อมาเพื่อขอเจรจากับผู้ร้องที่มูลนิธิ โดยทางศูนย์ฯ ได้แจ้งผลการทดสอบเบื้องต้นให้ทราบว่า กล่องบรรจุภัณฑ์มีรอยชำรุดที่ไม่ทราบสาเหตุบริเวณด้านบนของกล่อง จึงคาดว่าอากาศน่าจะเข้าไปและทำให้น้ำข้าวโพดเสียได้ บริษัทจึงขอกล่องนมดังกล่าวไปตรวจสอบเพิ่มเติม และจะแจ้งผลการทดสอบให้ทราบภายใน 7 วัน ซึ่งผลการทดสอบก็พบว่ากล่องที่พบปัญหานมข้าวโพดเสียก่อนวันหมดอายุ มีรอยชำรุดจากการถูกของมีคมกรีดจริง จึงยินดีรับผิดชอบโดยการชดเชยค่าเสียหายให้เป็นจำนวน 10,000 บาท เรื่องราวยุติลงได้แบบนี้ผู้ผลิตก็สามารถรักษาลูกค้าเดิมไว้ได้ รวมทั้งผู้บริโภคเองก็ดีใจที่ได้รับความเป็นธรรมจากการรักษาสิทธิของตนเอง



โฆษณาลดราคา แต่จ่ายเงินจริงเต็มจำนวน
การส่งเสริมการขายด้วยการลดราคาสินค้า สามารถกระตุ้นความสนใจให้กับผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้เสมอ แต่หากเราตัดสินใจซื้อสินค้าเหล่านั้นแล้ว กลับพบว่าการลดราคาเป็นเพียงลมปากเท่านั้น เราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

ผู้ร้องซื้อเชอร์รี่แดง 1 แพค จากร้าน ท็อปส์ ซูเปอร์มาเก็ต สาขาเทพารักษ์ เพราะเห็นว่าลดราคาเหลือ 199 บาทจาก 499 บาท แต่เมื่อมาชำระเงินพนักงานได้แจ้งว่าถ้าซื้อเชอร์รี่แดงเพิ่มอีก 1 แพค จะลดราคาอีก 120 บาท (เน้นขายลดราคาเป็นแพคคู่) ได้ยินดังนั้นผู้ร้องจึงตัดสินใจซื้อมาเพิ่มอีกรวมเป็นทั้งหมด 6 แพค ซึ่งเขาคิดว่าควรจะมีราคาทั้งหมด 834 บาท (199 x 2 = 398 บาท ลดราคาแพคคู่ละ 120 บาท เหลือคู่ละ 278 ถ้า 6 แพค = 834 บาท)

แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นไปตามที่ผู้ร้องคิดไว้ เพราะพนักงานคิดเงินรวมทั้งหมด 1,194 บาท หรือคิดเป็นราคาแพคละ 199 บาทเท่าเดิม เมื่อทักท้วงกับพนักงานก็ได้รับการยืนยันว่าทำตามป้ายโฆษณาที่มีอยู่ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมระบบถึงคิดเงินจำนวนเท่านี้ ผู้ร้องจึงขอเงินส่วนต่างคืนแต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ทำให้ได้รับความเสียหายและร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอความช่วยเหลือ

แนวทางการแก้ปัญหา
ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ได้แนะนำให้ผู้ร้องส่งรายละเอียดใบเสร็จและภาพป้ายราคา เพื่อร้องเรียนต่อกรมการค้าภายใน และทำหนังสือร้องเรียนถึง ท็อปส์ สำนักงานใหญ่ให้มีการตรวจสอบกรณีดังกล่าว พร้อมการแนวทางการจัดการปัญหานี้ในระยะยาว ซึ่งหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนผู้จัดการใหญ่ก็ขอเจรจาและแสดงความยินดีที่จะปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ยังมอบกระเช้าของขวัญและคืนเงินส่วนต่างให้จำนวน 360 บาทอีกด้วย



มะเร็งร้ายหายแต่ได้ภาวะแทรกซ้อนมาแทน
ภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดเป็นเรื่องที่ไม่พึงปรารถนา โดยให้เราลองคิดกันดูเล่นๆ ว่าถ้าหากผ่าตัดแล้วจะทำให้เราปัสสาวะเองไม่ได้นานเป็นปี เรายังจะตัดสินใจรับการผ่าตัดนั้นอยู่หรือไม่

ผู้ร้องอายุ 48  ปี ไปตรวจสุขภาพประจำปีที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ แล้วพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก ระยะแรก หมอจึงแนะนำให้ผ่าตัดเฉือนบางส่วนออกเพื่อหยุดยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็ง โดยไม่ได้ชี้แจงหรืออธิบายเพิ่มเติมถึงภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัด ทำให้เธอตัดสินใจทำตามโดยใช้สิทธิประกันสังคม ซึ่งหลังการผ่าตัดนั้นก็พบว่าสามารถตัดเซลล์มะเร็งออกไปได้หมดจริงๆ แต่กลับทำให้เธอไม่สามารถปัสสาวะเองได้อีกเลย

หลังจากพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่า 9 วันโดยการใช้ถุงเพื่อปัสสาวะมาตลอด เธอก็กลับบ้านและพบว่าชีวิตประจำวันของตัวเองต้องเปลี่ยนไป เพราะคนในครอบครัวต้องหยุดงานเพื่อมาช่วยกันดูแล สำหรับการสวนปัสสาวะทุกๆ 4 ชั่วโมง โดยอาการยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น แม้จะไปตรวจอาการที่โรงพยาบาลหลายครั้ง แต่แพทย์ก็ไม่ได้อธิบายข้อมูลเพิ่มเติมเพียงแต่แจ้งว่าเป็นผลจากการผ่าตัด ต้องใช้ระยะเวลาและฝึกฉี่เองอีกครั้ง และให้ถุงฟอเล่ หรือถุงฉี่กลับบ้านมาเท่านั้น

การสวนปัสสาวะเองทุกครั้งก็ทำให้เธอติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ และถูกส่งตัวไปรักษาต่อตามสิทธิประกันสังคมที่โรงพยาบาลกล้วยน้ำไทโดยการใช้ยาฆ่าเชื้อ ซึ่งต่อมาก็ทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันภายหลังเธอจึงไปตรวจอาการอีกครั้งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงทำให้พบความจริงว่าการผ่าตัดครั้งนั้นมีผลกระทบทำให้เส้นประสาททางเดินปัสสาวะโดนผ่าออกไปด้วย เพราะเส้นประสาทดังกล่าวผสานอยู่กับเนื้อเยื่อข้างเคียงของปากมดลูก ซึ่งมีสิทธิทำให้เซลล์มะเร็งที่ปากมดลูกลุกลามได้ เป็นเหตุให้เธอเกิดภาวะปัสสาวะคั่ง (ไม่สามารถควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะได้) ซึ่งหมอก็ไม่ยืนยันว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้

เมื่อพบว่า เหตุการณ์เป็นเช่นนี้ จึงทำให้เธอรู้สึกว่า ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน เพราะหากทราบก่อนการผ่าตัดว่าจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นนี้ ในตอนนั้นเธออาจจะเลือกไม่รับการรักษาด้วยวิธีนี้ก็ได้ เพราะนอกจากจะปัสสาวะเองไม่ได้แล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆ เธอยังต้องรับผิดชอบเองทั้งหมด ซึ่งหากคิดแล้วก็ตกที่เดือนละกว่า 10,000 บาท ทั้งยังต้องเดินทางไปหาหมอตามสถานที่ต่างๆ เองอีกด้วย จึงทำให้เธอตัดสินใจมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความเป็นธรรม โดยหวังว่าอย่างน้อยแค่ให้หมอมาดูแลค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอุปกรณ์เพื่อสวนปัสสาวะบ้างก็ยังดี

แนวทางการแก้ปัญหา
ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะผู้ร้องใช้สิทธิตามประกันสังคม จึงทำให้เธอไม่เข้าใจว่าทำไมต้องออกค่าอุปกรณ์ที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนเองด้วย ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของการรักษา อีกทั้งทำไมหมอที่ดูแลอาการถึงไม่ชี้แจงภาวะแทรกซ้อนให้เธอทราบก่อนการผ่าตัด เพราะการผ่าตัดมะเร็งปากมดลูกมีความเสี่ยงสูงอยู่แล้วที่จะทำให้เส้นประสาทปัสสาวะได้รับความเสียหาย รวมทั้งไม่ได้อธิบายว่าจะแก้ปัญหาต่อไปอย่างไร

ศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ จึงแนะนำให้มีการเจรจากับโรงพยาบาล โดยตัวแทนของศูนย์ฯ ไปร่วมเจรจาด้วย และให้ผู้ร้องทำรายการค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะค่าอุปกรณ์ที่ต้องใช้รักษาหลังการผ่าตัดออกมา (ย้อนหลังไปประมาณ 8 เดือน) ซึ่งผลก็คือหมอที่ดูแลอาการได้ขอโทษผู้ร้อง ที่ไม่ได้ชี้แจงภาวะแทรกซ้อนตั้งแต่ก่อนผ่าตัด พร้อมเยียวยาเบื้องต้นโดยให้ผู้ร้องสามารถรับอุปกรณ์สำหรับสวนปัสสาวะฟรี รวมทั้งชดเชยค่าเสียหายที่ผู้ร้องเสียไปแล้วจำนวน 1 แสนบาท ผู้ร้องจึงยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว

 

150 point

LINE it!





  เรื่องเกี่ยวข้อง:

รวมข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหักลดหย่อนอะไรได้บ้าง?

ท่านใดที่กำลังคิดว่ารายได้ของท่านจะต้องเสียภาษีเท่าไร และมีอะไรมาหักลดหย่อนได้บ้าง เราเลยนำเสนอข้อมูลในท่านตามลิงค์ด้านล่าง เพื่อเป็นแนวทางในการเตรียมตัวเสียภาษีปีนี้นะคะ :) การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ 2560   By กรมสรรพากร  https://goo.gl/Y5GxhZโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่ ปีภาษี 2560 ค่าลดหย่อน  By Kapook.com   https://goo.gl/MEgCYUวางแผนลดหย่อนภาษีปี 60 ฉบับบุคคลธรรมดา มีอะไรหักได้บ้าง  By plus.co.th  https://goo.gl/Nyfi5Uครม.ไฟเขียวลดหย่อนภาษีเพิ่มเท่าตัว มีผลปีภาษี 2560 ช่วยค่าครองชีพมนุษย์เงินเดือน  By matichon  https://goo.gl/JQAukmปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแจกถ้วนหน้า By thaipublica https://goo.gl/5c25X4ขอบคุณข้อมูลกรมสรรพากร Kapook.complus.co.th matichonthaipublica

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 จ่ายจริงมากกว่าราคาที่แสดงไว้

สินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ มักมีราคาติดไว้ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าหากต้องการซื้อสินค้าดังกล่าว ต้องจ่ายเงินเท่าไร อย่างไรก็ตามหากเรานำสินค้านั้นๆ ไปจ่ายเงินที่พนักงานคิดเงิน แล้วพบว่าราคาไม่ตรงตามป้าย สิ่งที่เราควรทำคือ ปกป้องสิทธิของตัวเอง ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องรายนี้คุณจอห์นเป็นชาวต่างชาติที่มักซื้อสินค้าจากร้านค้าวิลล่า มาร์เก็ต (Villa market) เป็นประจำ เพราะร้านดังกล่าวจำหน่ายสินค้าต่างๆ มากมาย ทั้งของสด ของแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศต่างๆ วันหนึ่ง ภายหลังจากการเลือกซื้อขนมคบเขี้ยวยี่ห้อหนึ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งป้ายแสดงราคาว่า 49 บาทต่อถุง แต่เมื่อนำไปชำระเงินกลับพบว่ากลายเป็น 59 บาทต่อถุง คุณจอห์นไม่แน่ใจว่าตัวเองดูราคาผิดไปหรือไม่ ดังนั้นเมื่อชำระเงินเสร็จเรียบร้อย เขาจึงกลับไปถ่ายรูปราคาสินค้าจากชั้นวางขายเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน พร้อมสอบถามไปกับผู้จัดการสาขา ผู้จัดการสาขาได้ชี้แจงกลับมาว่าราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นเก่า อย่างไรก็ตามเมื่อออกมาจากร้านเขาก็ตัดสินใจโทรศัพท์ไปสอบถามที่ร้านดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งพบว่าคำตอบกลับไม่เหมือนเดิม ครั้งนี้ผู้จัดการร้านคนเดิมกลับแจ้งว่า ราคา 49 บาทเป็นโปรโมชั่นล่าสุดสำหรับวันนี้ดังนั้นคุณจอห์นจึงตัดสินใจแวะไปร้านค้าดังกล่าว ในอีกสาขาหนึ่งและซื้อสินค้าชนิดเดียวกัน ซึ่งพบว่าบนชั้นวางขายก็ติดราคาไว้ที่ 49 บาท แต่เมื่อนำมาชำระเงินก็ถูกคิดราคา 59 บาทเช่นเดิม เขาจึงเชื่อว่าการกระทำของร้านค้าดังกล่าว ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค จึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ได้ส่งเอกสารการร้องเรียนไปยังกรมการค้าภายใน เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของร้านค้า โดยขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับร้านค้า และขอให้แจ้งผลการดำเนินการกลับมายังศูนย์ฯ โดยสำหรับกรณีนี้ผู้ร้องมีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจน คือ ใบเสร็จรับเงิน และรูปถ่ายราคาสินค้าจากชั้นวางขาย ทำให้ภายหลังได้รับเรื่อง กรมการค้าภายในจึงดำเนินการสั่งปรับ นิติบุคคลของร้านค้า วิลล่า มาร์เก็ต 3,000 บาท และผู้จัดการร้านทั้ง 2 สาขา คนละ 1,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลนำจับให้ผู้ร้องอีก ร้อยละ 25 ของราคาปรับ คือ 1,500 บาท

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 โดนเชิดเงินหนีหลังจองรถ

แม้คนส่วนใหญ่ต่างมั่นใจว่าการเช่าซื้อรถยนต์ที่ศูนย์บริการจะมีความปลอดภัย แต่หากเราประมาทเพียงเล็กน้อยก็สามารถโดนเชิดเงินจองรถ ที่จ่ายให้กับตัวแทนของบริษัทไปแล้วก็ได้ คุณสุชาติเช่าซื้อรถยนต์มือหนึ่ง รุ่น พรีเมล่า (Premera) จากศูนย์นิสสัน ราคาประมาณ 530,000 บาท โดยจ่ายค่าจองรถไว้ก่อนจำนวน 5,000 บาท ถัดมาอีก 2 วัน พนักงานของบริษัทได้ติดต่อมาว่า ตอนนี้มีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่จองรถ ซึ่งหากต้องการรับสิทธิดังกล่าวต้องโอนเงินมาเพิ่มอีก 5,000 บาท เมื่อผู้ร้องได้รับข้อมูลดังนั้นและเชื่อว่าเป็นโปรโมชั่นของบริษัทจริง จึงโอนเงินไปเพิ่ม แต่เหตุการณ์ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะอีก 1 อาทิตย์ถัดมา พนักงานคนเดิมก็โทรศัพท์เข้ามาอีกครั้งเพื่อแจ้งว่า ทางบริษัทต้องการคำยืนยันที่ชัดเจนว่าผู้ร้องยังต้องการรถ ซึ่งทางบริษัทจะนำเข้าหรือสั่งมาให้ตามจำนวนที่ลูกค้าต้องการ โดยสามารถยืนยันสิทธิได้ด้วยการโอนเงินมาเพิ่มอีก 22,000 บาท หลังจากตัดสินใจสักพัก ผู้ร้องก็หลงเชื่อและโอนเงินไปอีกครั้ง ซึ่งหากรวมๆ แล้ว จำนวนเงินที่ผู้ร้องโอนให้พนักงานคนดังกล่าวเป็นจำนวนทั้งสิ้น 32,000 บาทเวลาต่อมาคุณสุชาติก็ได้นัดหมายกับไฟแนนซ์ และพนักงานของบริษัทรถที่เขาโอนเงินไปให้ เพื่อให้มาตกลงเรื่องการส่งค่างวดรถ อย่างไรก็ตามพนักงานคนดังกล่าวกลับบ่ายเบี่ยง และอ้างว่าไม่สะดวกทุกครั้งที่เขานัด ทำให้คุณสุชาติเริ่มไม่พอใจและติดต่อกลับไปยังบริษัทฯ เพื่อสอบถามปัญหา ภายหลังการพูดคุยและสอบถามถึงจำนวนเงินที่โอนไปก่อนหน้านี้ ทางบริษัทฯ กลับแจ้งว่า ไม่เคยได้รับเงินที่คุณสุชาติโอนเข้ามาก่อนหน้านี้เลย และเมื่อติดต่อไปยังพนักงานคนดังกล่าวก็พบว่า เขาได้ลาหยุดมาหลายวันแล้ว และไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ตามเมื่อคุณสุชาติถามถึงการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางบริษัทฯ ก็ตอบกลับว่า ไม่สามารถรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ คุณสุชาติต้องเป็นคนจัดการเอง ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ เขาจึงไปแจ้งความเพื่อเป็นหลักฐาน และมาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือ แนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ผู้ร้องเข้ามาปรึกษาที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อต้องการทราบว่าการที่บริษัทฯ ปฏิเสธการรับผิดชอบเช่นนี้ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ชี้แจงกฎหมายที่เกี่ยวข้องสำหรับเหตุการณ์เช่นนี้ คือ ตามหลักกฎหมายตัวการตัวแทน กำหนดไว้ว่า ตัวการย่อมมีความผูกพันกับบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลาย อันตัวแทนหรือตัวแทนช่วงได้กระทำไปในขอบเขตแห่งฐานตัวแทนนั้น หมายถึง การที่ตัวแทนได้ไปกระทำการในนามของบริษัท โดยได้กระทำในขอบเขตที่บริษัทให้ทำ ก็ต้องถือว่าทางบริษัทต้องรับผิดชอบกับตัวแทนนั้นด้วย ปกติบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จะต้องมีตัวแทนคนหนึ่งหรือหลายคนกระทำการแทนบริษัท ตามกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้น1. พนักงานของบริษัท เมื่อได้มีการกระทำแทนบริษัทในกิจการภายในวัตถุประสงค์ของบริษัท พนักงานบริษัทจึงถือเสมือนเป็นตัวแทนของบริษัท2. หากทางพนักงานได้ทำการแทนบริษัท โดยได้รับเงินภายในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทางบริษัทย่อมมีความผูกพัน ในจำนวนเงินที่พนักงานนั้นได้รับ แต่ถ้าหากพนักงานได้ทำการแทนนอกวัตถุประสงค์แล้ว ก็ไม่ถือว่าเป็นผลผูกพันต่อบริษัท3. ตามที่ผู้ร้องได้ทำการโอนเงินให้กับพนักงาน โดยผู้ร้องเข้าใจว่าพนักงานนั้นเป็นตัวแทนและเป็นผู้มีอำนาจเรียกเก็บเงินของบริษัท จึงถือว่าผู้ร้องได้โอนเงินนั้นไปโดยสุจริต โดยถือว่าบริษัทได้ทำการยอมรับให้พนักงานนั้น เป็นตัวแทนของตนในการรับหรือเก็บเงินของผู้ร้อง เพราะฉะนั้นทางบริษัทจึงต้องรับผิดชอบต่อผู้ร้อง ซึ่งถือเป็นบุคคลภายนอกโดยสุจริต จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ร้อง4. หากพนักงานบริษัทได้กระทำการใดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตรงตามวัตถุประสงค์ของบริษัท ถือว่าเป็นการกระทำแทนบริษัท บริษัทจึงต้องรับผิดชอบในการที่พนักงานนั้นได้กระทำแทนบริษัทไป เสมือนกับทางบริษัทได้กระทำการนั้นด้วยตนเอง จากหลักกฎหมายดังกล่าวจึงแสดงให้เห็นว่า บริษัทฯ ไม่สามารถปัดความรับผิดชอบจากการกระทำของพนักงานคนดังกล่าวได้ นอกจากนี้ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ เอกสารการจองรถที่ผู้ร้องนำมาเป็นหลักฐานนั้น ไม่ใช่เอกสารการจองฉบับจริงของบริษัท แต่เป็นสำเนาการถ่ายเอกสาร ซึ่งผู้ร้องให้ข้อมูลว่า พนักงานนำใบจองรถที่ถ่ายสำเนามาให้เซ็นชื่อ ซึ่งเขาเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นเอกสารการจองรถของบริษัทจริงๆ โดยมารู้ภายหลังว่าพนักงานคนดังกล่าว ได้แอบนำใบจองฉบับจริงไปถ่ายเอกสาร ซึ่งหากเราไม่สังเกตก็อาจทำให้โดนหลอกได้ง่ายๆ  

อ่านเพิ่มเติม>

นิตยสารออนไลน์ ฉบับที่ 186 แก้ปัญหารถยนต์ใหม่มือหนึ่งชำรุดบกพร่อง

เมื่อเราซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่ง ย่อมต้องคาดหวังในประสิทธิภาพที่คุ้มค่ากับราคา อย่างไรก็ตามใช่ว่ารถยนต์ใหม่มือหนึ่งทุกคันจะไม่มีปัญหากวนใจ ซึ่งเราควรแก้ไขปัญหาอย่างไรลองมาดูเหตุการณ์นี้กันคุณสุนีย์ต้องการซื้อรถยนต์ใหม่มือหนึ่งยี่ห้อ วอลโว่ รุ่น S60 T4F จากบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคาเกือบ 2 ล้านบาท อย่างไรก็ตามภายหลังเธอสังเกตเห็นว่าในใบสั่งจองรถยนต์คันดังกล่าว ประทับตราข้อความว่า “รถทดลองขับ/รถผู้บริหารใช้แล้ว” เมื่อสอบถามไปยังผู้จัดการฝ่ายขายก็ได้รับคำตอบว่า ที่ต้องประทับตราข้อความเช่นนั้น เนื่องจากเป็นโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อให้ผู้ร้องผ่อนได้ศูนย์เปอร์เซ็นต์ ทำให้เธอไม่ติดใจอะไรและตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าวมาอย่างไรก็ตามเมื่อรับรถมาแล้วประมาณ 4 เดือน เธอพบว่ารถยนต์มีอาการสั่นรุนแรงและสตาร์ทไม่ติด ทำให้ต้องส่งเข้าศูนย์ซ่อม ซึ่งภายหลังศูนย์ได้เปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ เพราะมีปัญหาเกิดจากแบตเตอรี่เสื่อม ทำให้เธอข้องใจว่า ทำไมรถยนต์ใหม่ถึงมีปัญหาเช่นนี้ เมื่อสอบถามข้อมูลจึงพบว่ารถคันดังกล่าวผลิตในปี 2014 ทำให้อาจมีปัญหาแบบนี้ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คุณสุนีย์จึงมาร้องเรียนยังศูนย์พิทักษ์สิทธิ เพื่อขอคำปรึกษา เนื่องจากก่อนหน้าที่เธอจะตกลงซื้อรถยนต์คันดังกล่าว ได้แจ้งกับพนักงานแล้วว่าต้องการรถรุ่นใหม่ล่าสุด หรือรุ่นที่ผลิตในหรือ 2015 ไม่ใช่รุ่นเก่าเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องขอข้อมูลการซ่อมที่ผ่านมาทั้งหมดจากศูนย์บริการ เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับรุ่นและประวัติต่างๆ พร้อมส่งจดหมายถึง บริษัท วอลโว่ คาร์ ประเทศไทย เพื่อให้ช่วยตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งภายหลังก็ได้รับการยืนยันว่า รถคันดังกล่าวไม่ใช่รุ่นที่ผู้ร้องต้องการ ดังนั้นตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาจองรถ พบว่าหากบริษัทมีการส่งรถไม่ตรงตามสัญญา เช่น ผิดรุ่นดังกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ร้องสามารถคืนรถคันดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเจรจากับทางบริษัทก็ได้รับการชี้แจงว่า รถยนต์รุ่นนี้ไม่มีการผลิตในปี 2015 ซึ่งรถคันนี้เป็นรถใหม่ แต่อาจจอดทิ้งไว้นานจนทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น แต่ยินยอมรับผิดชอบด้วยการคืนเงินที่ลูกค้าจ่ายไป พร้อมปิดไฟแนนซ์ให้ โดยขอหักค่าเสื่อมจำนวน 60,000 บาท ด้านผู้ร้องยินดีรับข้อเสนอดังกล่าวจึงยุติการร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม>

ความคิดเห็น (0)